สำหรับ ปลาปิรันย่า ชนิดที่ขึ้นชื่อว่าดุร้ายที่สุด คือ ปลาปิรันย่าแดง หรือปิรันย่าท้องแดง (Pygocentrus nattereri)
เกล็ดมีขนาดเล็ก สีแดงอมชมพูแวววาวดูเหมือนกากเพชร ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 33 เซนติเมตร น้ำหนักราว 3.5 กิโลกรัม
แถมยังสุดอึด สามารถมีชีวิตอยู่บนบกที่ไม่มีน้ำได้นานถึง 2 ชั่วโมง
อย่างไรก็ดี ปลาปิรันย่า มีลักษณะคล้ายคลึงกับปลาเปคู (Pacu) หรือ ปลาคู้ ปลาชนิดนี้ไม่มีความดุร้าย
เท่าและสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งในประเทศไทยถือเป็นปลาเศรษฐกิจและปลาสวยงาม
และด้วยลวดลายสวยงามของ ปลาปิรันย่า ทำให้บางประเทศอนุญาตให้เลี้ยงปลาชนิดนี้ เป็นปลาสวยงามได้
แต่สำหรับประเทศไทย ถือเป็นสัตว์ต้องห้าม คือห้ามนำเข้า หรือมีไว้ในครอบครอง และห้ามนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ
โดยผู้ฝ่าฝืนมีความผิดตาม พ.ร.บ.การประมง ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 6 ปี
หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ สาเหตุที่ ปลาปิรันย่า เป็นปลาต้องห้าม เนื่องมาจาก ปลาชนิดนี้สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
ในพื้นที่เขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย หากหลุดรอดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก
ต่อสัตว์น้ำพื้นเมือง และยังเป็นการคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจ และสุขอนามัย ที่สำคัญ ยังเป็นอันตรายต่อประชาชนที่ลงไปใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอีกด้วย
ดังนั้น แม้ว่า ปลาปิรันย่า จะมีลวดลายสวยงามขนาดไหน แต่การปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติน่าจะดี
และเหมาะสมเป็นที่สุด เพราะหากมีคนลักลอบนำเข้า ปลาปิรันย่า มาเลี้ยงในประเทศไทย ยามใดที่เลี้ยงกันไม่ไหว
แล้วหลุดมาอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติล่ะก็...แค่คิดก็สยองแล้ว
บทความจาก: เวบกระปุก