.น้ำตกเจ็ดสาวน้อยอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี น้ำตกเจ็ดสาวน้อย เป็นน้ำตกที่เกิดจากธารน้ำของลำห้วยมวกเหล็ก ที่มาจากลำน้ำขนาดเล็ก ๕ สาย มีต้นน้ำอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้แก่ ห้วยมวกเหล็ก ห้วยแหลม คลองโศกลึก คลองโศกน้อย และคลองโศกใหญ่ ลำน้ำเหล่านี้มีความยาวทั้งสิ้น ๗๒ กิโลเมตร โดยไหลจากต้นน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผ่านอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ไหลลงสู่ลุ่มแม่น้ำป่าสักที่อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี โดยมีระยะทางจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ถึงอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ประมาณ ๔๑ กิโลเมตร และส่วนของลำห้วยมวกเหล็กอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย ๑.๘ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นธารน้ำไหลลดหลั่นบนโขดหิน เกาะแก่ง ขนาดปานกลางถึงใหญ่ กลายเป็นน้ำตก ๗ ชั้น แต่ละชั้นจะมีความสูงประมาณ ๒-๕ เมตร บางชั้นมีแอ่งขนาดกว้างที่สามารถลงเล่นน้ำได้ จึงก่อให้เกิดภูมิประเทศที่สวยงาม ท่ามกลางความสมบูรณ์เขียวขจีของแมกไม้นานาพันธุ์ จึงเป็นอีกหนึ่งเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสำหรับผู้นิยมการผจญภัยท่ามกลางสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
“อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย” เป็นอุทยานแห่งชาติที่ได้รับการยกฐานะมาจาก “วนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้สมัยนั้น
ชื่อเรียก น้ำตกเจ็ดสาวน้อย ได้ชื่อมาจากหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของน้ำตก ชื่อ “บ้านเสาน้อย”
ต่อมา นายถวิล นิระ ข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ ๖ สังกัดกองบำรุง กรมป่าไม้ ได้เข้ามาปลูกป่าในพื้นที่และได้สำรวจพบน้ำตกอยู่ใกล้เคียง จึงได้ตั้งชื่อว่า “น้ำตกเสาน้อย” ตามชื่อหมู่บ้าน
ต่อมาชื่อน้ำตกได้เปลี่ยนเป็น “น้ำตกเจ็ดสาวน้อย” เนื่องจากมีน้ำตกจำนวน ๗ ชั้น
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยมีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ ๒๕,๙๑๘ ไร่ หรือ ๔๑.๕ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๒ จังหวัด คือ จังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยมีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ จัดอยู่ในขั้นปานกลาง มีพันธุ์ไม้หายาก เช่น ต้นจำปีสิรินธร ต้นขะเจ๊าะใหญ่ รวมทั้งสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครองหลายชนิด เช่น เลียงผา ตะกองหรือกิ้งก่าน้ำ เป็นต้นบัวที่แอ่งน้ำตก หน้าศาลฯ (บริเวณนี้เล่นน้ำได้)
ได้ถามเจ้าหน้าที่อุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ว่าบัวขึ้นเองหรือนำมาปลูก
ได้รับคำตอบว่า เป็นบัวที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ (ไม่ค่อยพบค่ะ น้ำตกที่มีบัว...หยั่งกะอยู่ในสระวัด)
สะพานแขวน เชื่อมเขตแดนสองจังหวัด
ฟากหนึ่งเป็นพื้นที่อำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมา อีกฟากหนึ่งเป็นพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
"ท่านกำลังเดินทางเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา"
ศาลริมน้ำตกเจ็ดสาวน้อย มีเครื่องบวงสรวง-แก้บน เป็นชุดไทยแขวนไว้จำนวนมาก
(ขอเรียนตามตรงว่า ศาลน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เป็นศาลเล็กๆ แต่สร้างความหวาดหวั่นให้ไม่ใช่น้อย
เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่สามารถอธิบายได้...รูปนี้ก็อาศัยคนอื่นถ่ายให้..ยกมือไม่ขึ้น! ค่ะ
และคนที่ช่วยถ่ายให้ มาเล่าภายหลังว่าตัวเขาเองก็ไม่อยากก้าวขาเดินไปที่นั่น จึงถ่ายได้แต่เพียงห่างๆ)
กลับมาบ้านแล้ว ยังใจคอไม่สบายไปสองสามวันพยายามค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาถรรพ์หลายเว็บไซต์ แต่ไม่ปรากฏ
หรืออาจจะเป็นเพราะผู้โพสท์ไปน้ำตกแห่งนี้เพียงสามคน ที่นั่นไม่มีนักท่องเที่ยว
เนื่องจากเป็นเวลาเย็นมากแล้ว และฝนเพิ่งหยุดตก...บรรยากาศจึงวังเวง
หวีด้าย (แขวนไว้ที่ผนังเรือนไม้ข้างน้ำตกเจ็ดสาวน้อย)
เป็นเครื่องมือสำหรับหวีเส้นด้าย ลักษณะคล้ายหวีหรือแปรง ทำจากใยของก้านตาล
หรือขนคอหมูป่าที่มีลักษณะเป็นเส้นแข็ง การใช้งาน นำเส้นด้ายมาขึงเรียงแถวบนสะดึง
หรือกรอบไม้สี่เหลี่ยม ใช้หวีรูดไปมาเพื่อให้เส้นด้ายไม่เป็นขน ซึ่งจะทำให้เส้นด้าย
เรียบเสมอกันและสะดวกในการทอผ้า