[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
21 ธันวาคม 2567 21:20:07 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สัทธรรมปุณฑริกสูตร บทที่ 4 อธิมุกติปริวรรต ว่าด้วยการน้อมใจเชื่อ  (อ่าน 3417 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 17 ตุลาคม 2553 12:55:49 »



  

พระสูตรสัทธรรมปุณฑรีกะ
วัดโพธิ์แมนคุณาราม
นายชะเอม แก้วคล้าย แปลจากต้นฉบับสันสกฤต
บทที่ 4
อธิมุกติปริวรรต
ว่าด้วยการน้อมใจเชื่อ


       ครั้งนั้น พระสุภูติ พระมหากาตยายนะ พระมหากาศยปะ และพระมหาเมาทคัลยานะ ผู้มีอายุ ได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟังมาก่อนอย่างนี้ และได้ฟังคำพยากรณ์ว่า พระศาริบุตรผู้มีอายุ จักบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ (ในอนาคตกาล) ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ได้เกิดอัศจรรย์ตื่นเต้น ปลาบปลื้ม ลุกขึ้นจากอาสนะแล้ว ในเวลานั้น ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จนใกล้ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปแล้ว ห่มผ้าเฉวียงบ่า นั่งคุกเข่าลงกับพื้นดิน ประคองอัญชลีเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค เพ่งมองพระผู้มีพระภาค น้อมกายก้มลงกราบ แล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคในเวลานั้นว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นผู้เฒ่า ชรา มีอายุมากแล้ว เป็นผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นเถระในหมู่ภิกษุทั้งหลายนี้ เป็นผู้คร่ำคร่าเพราะชรา เป็นผู้ได้บรรลุพระนิพพานแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย  เมื่อคิดอย่าง(ที่กราบทูล)นี้แล้ว จึงไม่มีกำลัง (ใจ) ที่จะประกอบความเพียร เพื่อบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

แม้ในสมัยใด พระผู้มีพระภาค ทรงประทับนั่งแสดงธรรมอยู่นานๆ ข้าพระองค์ทั้งหลายก็เข้าไปฟังธรรมนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในสมัยนั้น เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายนั่งอยู่นานๆ และรับใช้พระองค์เป็นเวลานาน อวัยวะน้อยใหญ่และข้อต่อ แขน ขาก็เจ็บปวด ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ตั้งแต่นั้น เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมอยู่ ข้าพระองค์ทั้งกลาย ก็ไม่เข้าใจความจริงที่ว่า ทุกสิ่งเป็นศูนยตา (ว่างเปล่า) อนิมิตตา (ปราศจากสภาพ) และอัปรณิหิตา (ไม่มั่นคง) ข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่มีความปรารถนาพุทธธรรม พุทธเกษตรงานของพระโพธิสัตว์ หรืองานของพระตถาคต ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เพราะว่า ข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นผู้แก่เฒ่าแล้ว มีความเชื่อว่าข้าพระองค์ทั้งหลาย พ้นแล้วจากโลกทั้งสาม ถึงพระนิพพานแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เพราะว่าข้าพระองค์ทั้งหลายได้กล่าวสอนและแนะนำพระโพธิสัตว์อื่นๆ  ไว้ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แต่จิตของข้าพระองค์ทั้งหลาย มิได้สัมผัสกับการบรรลุญาณแม้แต่น้อย

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อพระองค์ทั้งหลาย ได้ยินได้ฟังมาว่า เหล่าพระสาวกก็จะได้รับพุทธพยากรณ์ ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณจากพระผู้มีพระภาค จึงเกิดอัศจรรย์ใจ และนับว่าเป็นลาภอันใหญ่หลวง ข้าแต่พระผู้มีพระภาค วันนี้ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้ฟังพระสุรเสียงของพระตถาคต ซึ่งไม่เคยฟังอย่างนี้มาก่อนเลย นับว่า (ข้าพระองค์) ได้รัตนะอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค การได้รัตนะนั้น ไม่มีสิ่งใดจะเปรียบได้ เป็นรัตนะใหญ่ที่ได้มาอย่างไม่ต้องแสวงหา ไม่ได้คาดหวังและไม่ได้ปรารถนา ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นที่กระจ่างแจ้งแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายแล้ว ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นที่กระจ่างแจ้งแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายแล้ว

         ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นก็เหมือนกับบุรุษผู้หนึ่งที่จากบิดาไป ครั้นไปแล้ว ไปอยู่ที่ในชนบทอื่น และอยู่ที่นั่นหลายปี คือ 20 ปี 30 ปี 40 ปี หรือ 50 ปี ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมัยก่อน เขาเป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ แต่ขณะนี้ เขากลายเป็นคนยากจน เขาแสวงหางาน จึงเที่ยวไปทุกสารทิศ เพื่อให้ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มดำรงชีพ  และเขาเที่ยวไปในชนบทอื่นๆ อีกต่อไป ส่วนบิดาของเขา ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านอื่น จนร่ำรวย มีทรัพย์ ข้าวเปลือก ทองแท่ง ยุ้งฉางจำนวนมาก มีทองเงิน มณี มุกดา ไพฑูรย์ สังข์ศิลา ประพาฬ ทองเงินสำหรับใช้สอย มีทาสทาสี กรรมกร และคนใช้จำนวนมาก มีช้าง ม้า รถ วัว แกะ มากมาย มีบริวารมากมาย และเป็นผู้มีทรัพย์มากกว่าใครในชนบททั้งหลาย เขาทำกิจกรรมมากมาย ทั้งทางเกษตรและทางพาณิชย์

       ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขณะนั้น บุรุษผู้ยากจนผู้นั้น เที่ยวไปแสวงหาอาหารและเครื่องนุ่งห่มในหมู่บ้าน นคร นิคม ชนบท เมืองใหญ่และราชธานี จนถึงนครที่บิดาของเขา ซึ่งเป็นผู้ร่ำรวย ทรัพย์ ทอง และยุ้งฉาง อาศัยอยู่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บิดาของบุรุษนั้น เป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทอง และยุ้งฉางมากอยู่ในนครนั้น (เขา) คิดถึงบุตรชายผู้ที่จากไป เป็นเวลา 50 ปี อยู่ตลอดเวลา  ก็แล เมื่อเขาคิดถึงอยู่นั้น ก็มิได้เอ่ยปากบอกแก่ผู้ใด เพียงแต่คิดอยู่ผู้เดียวว่าเราชรา มีอายุมาก แก่เฒ่าแล้ว เงินทอง ทรัพย์สิ้น ข้าวเปลือกยุ้งฉาง ของเราก็มีมาก แต่เราไม่มีบุตร เมื่อเราไม่มีบุตรเช่นนี้ เราตายไป ทรัพย์สมบัติทั้งปวงนี้ ก็จะพินาศไป โดยไร้ประโยชน์ เขาระลึกถึงบุตรชายนั้นอยู่บ่อยว่า โอ้ เราคงจะได้รับความสงบสุข หากลูกของเราได้ใช้กองทรัพย์สมบัตินี้

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขณะนั้นแล บุรุษผู้ยากจนผู้นั้น กำลังเดินแสวงหาอาหารและเครื่องนุ่งห่มอยู่ ได้เดินเข้าไปสู่บ้านของบุรุษผู้เฒ่าผู้หนึ่ง ซึ่งมีทองแท่ง ทองรูปพรรณ เงิน ข้าวเปลือก ยุ้งฉางมากมาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขณะนั้น ที่ใกล้ประตูบ้าน บิดาของบุรุษผู้ยากจนนั้นได้นั่งตระหง่านอยู่ บนที่นั่งรูปสิงห์ใหญ่โต มีตั่งรองเท้า ประด้วยด้วยทองคำ และเงิน มีพวกพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทรหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว กำลังนับทองจำนวนหลายแสนโกฏิ มีคนถือพัดวีอยู่เขานั่งบนที่นั่งใหญ่โต ตั้งอยู่ในที่มีเพดาน กว้างขวาง ประดับด้วยดอกไม้มุกดา มีมาลัยแก้วห้อยระย้าอยู่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุรุษยากจนนั้น ได้เห็นบิดาของตนเอง นั่งอยู่ใกล้ประตูบ้าน ด้วยความสง่างาม แวดล้อมด้วยชนจำนวนมาก กำลังทำการค้าขายอยู่ บุรุษผู้ยากไร้นั้น ครั้นเห็นแล้วก็ตื่นตระหนกตกใจกลัว เกิดขนลุกชูชันไปทั่วทั้งร่างมีจิตใจสับสน ได้คิดว่า เราเข้ามาสู่ (บ้าน) พวกราชาหรือขุนนางผู้ใหญ่ ด้วยความรีบร้อน หน้าที่การงานของเราไม่มีในที่นี้ เราจะไปตามถนนคนยากไร้ ซึ่ง ณ ที่นั้น คงไม่ยากจนเกินไปที่เราจะหาอาหารและเครื่องนุ่งห่ม  เราจะรอช้าอยู่ไม่ได้ มิฉะนั้น เราจะถูกจับขัง หรือไม่ก็จะได้รับโทษอย่างอื่น

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในขณะนั้น บุรุษผู้ยากจนนั้นเดือดร้อนใจ กลัวภัยจะมาถึงตน จึงสาวเท้าก้าวหนีออกไปโดยเร็ว ไม่ยอมยืนอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุรุษผู้มั่งคั่งนั้น ซึ่งนั่งอยู่บนที่นั่งรูปสิงห์ ใกล้ประตูบ้านของตน เมื่อเห็นบุตรชายของตนก็จำได้ ก็แล ครั้นเห็นแล้ว เขาก็พอใจ ยินดี ปลื้มใจ มีปีติโสมนัส  คิดว่า ช่างอัศจรรย์เสียนี่กระไร ลูกของเราจะได้ใช้สอยทองแท่ง ทองรูปพรรณ ทรัพย์ ข้าวเปลือก และยุ้งฉางแล้ว เราระลึกนึกถึงเขาอยู่เนืองนิจ ก็แล เขาได้มาที่นี่ด้วยตนเองแล้ว ขณะนี้ เราก็แต่เฒ่าชราภาพแล้ว

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค กาลครั้งนั้น บุรุษ ผู้นั้น กระวนกระวายใจ ปรารถนาจะพบบุตรมาก จึงส่งชายมีฝีเท้าเร็วหลายคน ไปในทันทีว่า ดูก่อนสหายทั้งหลาย พวกท่านจงรีบไปนำชายผู้นั้นมาเร็ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขณะนั้น ชายเหล่านั้นวิ่งไปโดยเร็วตามไปนำบุรุษยากจนนั้นมา ในตอนนั้น บุรุษผู้ยากจน เกิดความกลัว ตัวสั่นงันงก ชนลุกชันไปทั่วทั้งร่างกายจิตใจไม่เป็นปกติสุข คร่ำครวญร้องไห้ออกมาดังๆ ราวกับถูกทำร้ายอย่างทารุณ

เขากล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทำความผิดอะไรต่อท่านทั้งหลาย นัยว่า ชายทั้งหลายได้ฉุดคร่าบุรุษยากจน ที่กำลังร้องครวญครางอยู่นั้นไปด้วยพละกำลัง ณ ที่นั่น ชายผู้ยากจนนั้น เกิดความกลัว ตัวสั่นงันงก จิตใจไม่เป็นปกติสุข คิดรำพึงว่า ขอให้เรา จงอย่าถูกฆ่าเลย เราคงจะมีโทษทัณฑ์ เราคงจะพินาศดังนี้ เขาได้เป็นลม ล้มลงบนดิน จนสิ้นสติ บิดาของชายยากจนนั้นยืนอยู่ ณ ที่ใกล้เขา จึงกล่าวกะชายเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย จงอย่าฉุดเขาอย่างนั้น เขา(บิดา) เอาน้ำเย็นประพรมบุตรของตนแล้ว ไม่กล่าวอะไรอีกเลย ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะว่า คหบดีผู้นั้น รู้ความต่ำต้อยของชายผู้ยากจนนั้น และรู้ฐานะอันโอฬารแห่งตน ทั้งรู้ว่าผู้นั้นเป็นลูกของตน

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในขณะนั้น คหบดีนั้น เพราะกุศโลบายของตน จึงไม่ได้บอกแก่ใครๆ ว่า นั่นคือบุตรของตน ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คหบดีนั้น ได้เรียกขานคนหนึ่งมา(พูดว่า) ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไป จงบอกแก่ชายผู้ยากไร้นั้นว่า ดูก่อนผู้เจริญ ท่านจงไปตามทางที่ต้องการเถิด ท่านมีอิสระแล้ว ชายผู้นั้น ได้ฟังคหบดีกล่าวอย่างนั้นแล้ว ก็เข้าไปหาชายผู้ยากไร้ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้พูดกับเขาว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านมีอิสระแล้ว ท่านมีปรารถนาจะไปทางไหน ก็ไปได้ตามปรารถนาเถิด ในตอนนั้น ชายผู้ยากไร้นั้น ได้ฟังคำนั้นแล้วรู้สึกอัศจรรย์ใจ เขาได้ลุกจากที่นั้น แล้วเดินไปตามถนนแห่งคนยากไร้ เพื่อแสวงหาอาหารและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อจะดึงบุรุษผู้ยากไร้นั้นไว้

คหบดีจึงใช้กุศโลบายอย่างหนึ่ง เขา จ้างชายสองคน รูปร่างหน้าตาไม่ดีพร้อมกับสั่งว่า ท่านผู้เจริญทั้งสอง จงไปตามชายผู้นั้นมาที่นี่ ท่าน ทั้งสองจงให้เงินแก่เขาสองเท่า ว่าจ้างให้เขามาทำงานในบ้านของฉัน ก็เขาถามว่าจะให้เขาทำงานอะไร ขอให้ท่านตอบเขาว่า จะให้เขากวาดขยะ หลังจากนั้น ชายสองคนนั้น ก็ออกตามหานำบุรุษยากจนนั้นมาและว่าจ้างให้ทำงานดังกล่าวนั้น ตั้งแต่นั้นมา ชายสองคน พร้อมกับบุรุษยากจนนั้น ก็ได้ทำงานกวาดขยะในบ้านของคหบดี โดยรับจ้างจากคหบดีผู้ร่ำรวยนั้น ชายทั้งสามคนนั้น อาศัยอยู่ที่กระท่อมเล็กๆ ที่มุงด้วยฟางใกล้ๆบ้านของคหบดี บุรุษผู้มั่งคั่งนั้น มองดูลูกชายของตนที่กำลังกวาดขยะอยู่ทางหน้าต่าง ครั้นเห็นแล้วเขาก็เกิดความสะเทือนใจขึ้นมาอีก


        ขณะนั้น คหบดี ได้ลงจากบ้านของตน ถอดมาลาและเครื่องประดับ ถอดเครื่องนุ่งห่มอันอ่อนนุ่ม แล้วสวมเสื้อเก่าขาดๆ มือขวาถือตะกร้า เอาฝุ่นมาทาตัว  ร้องทักมาแต่ไกล เข้าไปหา ชายผู้ยากไร้ (ลูกชาย) จนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ จงเอาตะกร้าใบใหม่นี้ไป จงอย่ามัวยืนอยู่ จงปัดฝุ่นออกเสีย" ด้วยอุบายนี้ คหบดี(จึงโอกาสได้) พูดคุยกันบุตรของตน เขาพูดว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เธอจงทำงานที่นี่เถิด อย่าไปที่อื่นอีกเลย ฉันจะให้ค่าจ้างแก่เธอเป็นพิเศษ เธอต้องการอะไรขอให้บอกฉัน ไม่ว่าจะเป็นหม้อใหญ่ หม้อเล็ก เตา ฟืน หรือเงินสำหรับซื้อสิ่งของ มีเกลือ หรือเสื้อผ้า

ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ฉันมีเสื้อคลุมเก่าๆอยู่ตัวหนึ่ง ก็เธอต้องการก็บอกนะ ฉันจะให้เธอ ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เธอต้องการวัตถุอะไร ก็ขอให้บอก ฉันจะให้ ขอย่างได้คิดอะไรอื่น จงคิดเสียว่า ฉันเหมือนพ่อของเธอก็แล้วกัน เพราะเหตุไร เพราะว่าฉันแก่กว่า เธออ่อนกว่า เธอได้ช่วยงานฉันมากในการกวาดขยะ ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ขณะทำงานอยู่ที่นี่ เธอมีความบริสุทธิ์ ไม่คดโกง ไม่ยโสโอหัง ไม่สะสม ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ฉันไม่เห็นเธอประพฤติชั่ว อย่างคนใช้อื่นเลย ตั้งแต่นี้ไป ขอให้เธอจงเป็นเหมือนลูกชายฉันเถิด

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ครั้งนั้น คหบดีนั้น เรียกชายผู้ยากจนว่าลูก และชายยากจนก็เรียกคหบดีว่า พ่อ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คหบดีที่ปรารถนาบุตร และให้บุตรนั้นทำงานกวาดขยะอยู่ถึง 20 ปี ครั้งนั้น ชายผู้ยากจนนั้น สามารถเข้าออกภายในบ้านของเศรษฐี ได้เป็นเวลา 20 ปี แต่เขาก็ยังพักอยู่ที่กระท่อมฟางนั่นเอง

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ต่อมา คหบดีล้มป่วยลง เขา(คหบดี) เห็นว่า มรณะกาลใกล้เข้ามาแล้ว เขาจึงพูดกับบุรุษผู้ยากจนว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านจงมานี่ชิ ฉันมีทองคำ ทองรูปพรรณ ข้าวเปลือก ยุ้งฉาง มากมาย ฉันไม่สบายมาก ฉันปรารถนาจะให้ทรัพย์สมบัตินี้แก่คนที่ควรรับและรักษาทรัพย์นี้ไว้ ท่านจงรับเอาทั้งหมด ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร เพราะต้องการให้ท่านเป็นเจ้าของทรัพย์ เหมือนอย่างที่ฉันเป็นอยู่ ขอท่าน จงอย่าทำให้ทรัพย์นี้สูญหายแม้แต่น้อย

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น ชายผู้ยากจนนั้น รับเอาทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ ทรัพย์ ข้าวเปลือก ยุ้ง ฉาง จำนวนมาก ของคหบดีนั้นโดยปริยายนี้ แต่ตัวเขาเองไม่ติดข้องในสิ่งเหล่านั้น เขาไม่ปรารถนาอะไร แม้เพียงข้าวสาลีกำมือหนึ่ง ตัวเขาเอง ยังคิดว่า ตนเป็นคนยากจนอยู่ และยังอยู่ในกระท่อมมุงฟาง ณ ที่นั้นนั่นแล

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในกาลครั้งนั้น คหบดี เห็นว่าบุตร (ของตน) นั้น เป็นผู้สามารถเก็บรักษาทรัพย์สมบัติได้ เป็นผู้ใหญ่พอควรแล้ว เมื่อคิดถึงความทุกข์ ความอดสูใจ และความยากจน ที่มีใดที่มีในสมัยก่อน และรู้ว่าความเสื่อมสลายจะต้องมีแก่ตน ครั้นเวลาใกล้จะตาย จึงเรียกชายผู้ยากไร้นั้นมา ให้อยู่ข้างหน้าหมู่พวกพ้อง พระราชา มหาอำมาตย์ ตลอดจนชาวนิคมและชาวชนบททั้งหลาย แล้วประกาศว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงฟังชายผู้นี้คือบุตรที่เกิดจากข้าพเจ้าในเมืองโน้น และเขาได้สูญหายไปจากเมืองโน้นมาเป็นเวลา 50 ปี เขามีชื่ออย่างนั้น และแม้ข้าพเจ้าก็มีชื่ออย่างนั้น ตั้งแต่เขาสูญหายไป ข้าพเจ้าได้เที่ยวตามหาเขา จากเมืองนั้นจนมาถึงที่นี่ ผู้นี้เป็นบุตรของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นบิดาของเขา ทรัพย์สินใดๆ ทั้งหมดที่เป็นขอข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอมอบให้แก่ชายผู้นี้ และทรัพย์สินใดๆอันเป็นของข้าพเจ้า ชายผู้นี้ก็รู้หมดแล้ว

       ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขณะนั้น ชายผู้ยากไร้นั้น ครั้นได้ยินเสียงประกาศกึกก็องอย่างนี้แล้ว รู้สึกตระหนกตกใจ และคิดว่าเราได้ทองแท่ง ทองรูปพรรณ ทรัพย์สิน ข้าเปลือก ยุ้งฉางทั้งหลาย โดยมิได้คิดมาก่อนเลย

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในทำนองเดียวกัน ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นเหมือนบุตรของพระตถาคต พระตถาคต ย่อมตรัสกะข้าพระองค์ทั้งหลายว่า "เธอทั้งหลายเป็นบุตรของเรา" เหมือนอย่างคหบดี (พูดกะบุตร) ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ก็แล ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ถูกความทุกข์ 3 ประการบีบคั้นแล้ว ทุกข์3 ประการคืออะไรบ้าง ทุกข์3ประการคือ ทุกขทุกข์ (ทุกข์ขณะเจ็บป่วย) สังสการทุกข์ (ทุกข์เกิดจากผลของกรรมในอดีต) และปรณามทุกข์ (ทุกข์เกิดจากความเปลี่ยนแปลง) และข้าพระองค์ทั้งหลาย พิจารณาธรรมทั้งปวงมากมาย เปรียบเหมือนกองขยะ  

ข้าพระองค์ทั้งหลายได้พิจารณาธรรมทั้งปวงแล้ว พยายามอย่างต่อเนื่องอยู่ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ปรารถนาพระนิพพาน ที่เปรียบเหมือนทรัพย์อันประเสริฐ ซึ่งได้แสวงหาตลอดวันเวลา ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้ยินดีกับพระนิพพานที่ตนได้รับแล้วนั้น และข้าพระองค์ทั้งหลายได้พิจารณาธรรมทั้งปวงเหล่านี้ พยายามอย่างต่อเนื่องใกล้องค์พระตถาคตแล้ว คิดว่า ตนเองได้อะไรต่างๆ จำนวนมาก ก็แล พระตถาคต คงทราบความคิดต่ำๆ ของข้าพระองค์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค จึงทรงวางเฉย มิได้ตรัสว่า "ตถาคตญาณ จักมีแก่เธอทั้งหลาย" แต่พระผู้มีพระภาค ทรงสถาปนาทายาทในตถาคตญาณนี้ แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ด้วยกุศโลบาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย พอใจในตถาคตญาณ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ทราบว่า พวกข้าพระองค์ ได้นิพพานอันเสมือนทรัพย์ที่ประเสริฐ ที่จะจับจ่ายประจำวัน จากพระตถาคต ข้อนั้นนับว่ามากยิ่งแล้วสำหรับพระองค์ทั้งหลาย

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย จักแสดงธรรมอันเกี่ยวกับญาณทัศนะของพระตถาคต แก่พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจากความอยากแล้ว จะพรรณนาแสดง ชี้แจงตถาคตญาณ (นั้น)ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะพระตถาคต ทรงทราบความเป็นไปของข้าพระองค์ทั้งหลาย ด้วยกุศโลบาย ข้าพระองค์ ทั้งหลาย ไม่รู้ ไม่เข้าใจข้อที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นบุตรของพระผู้มีพระภาค  พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึงความเป็นทายาทแห่งตถาคตญาณ ของข้าพระองค์ทั้งหลาย

ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะว่า ข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นบุตรของพระตถาคตก็จริง ถึงกระนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายก็ยังเป็นผู้มีความนึกคิดต่ำอยู่ ก็ว่า พระผู้มีพระภาค ทรงทราบพลังแห่งความนึกคิดของข้าพระองค์ ทั้งหลาย แล้วทรงแสดงญาณของพระโพธิสัตว์ แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายไซร้ พระผู้มีพระภาคชื่อว่า ให้ข้าพระองค์ทั้งหลาย ทำงานสองหน้าที่ คือต่อหน้าพระโพธิสัตว์ ข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นผู้มีฐานะต่ำกว่า แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้สอนพวกเขา ให้เข้าถึงพระโพธิญาณอันประเสริฐ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบพลังแห่งความนึกคิดของข้าพระองค์ทั้งหลายแล้ว ทรงมอบฐานะนี้อีกหรือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้โดยปริยายว่า ข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้เป็นบุตรแห่งพระตถาคต ผู้สิ้นความอยาก ได้รัตนะคือความรู้ทุกอย่างที่ไม่ได้หวังไว้ ที่ไม่ได้แสวงหา ที่ไม่ได้ปรารถนาและไม่ได้คิด โดยพลันนั่นเทียว


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 มิถุนายน 2554 10:27:44 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 17 ตุลาคม 2553 13:38:37 »




ในกาลครั้งนั้น ท่านพระมหากศยปะ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

1      เราทั้งหลาย ได้ฟังพระสุรเสียงแล้ว รู้สึกประหลาดใจ อัศจรรย์ใจ และปลาบปลื้มใจยิ่งนัก  วันนี้ เราทั้งหลาย ได้ฟังพระสุรเสียง อันน่าพึงใจนี้ ของพระตถาคต โดยพลันแล

2      วันนี้ เพียงครู่หนึ่งเท่านั้น เราทั้งหลายได้รัตนะอันประเสริฐกองใหญ่ ที่เราทั้งหลายไม่ได้คิด และไม่ได้ปรารถนา ข้าพระองค์ทั้งปวงได้ฟังพระสุรเสียงนั้นแล้วอัศจรรย์ยิ่งนัก

3      เหมือนคนโง่ถูกคนโง่หลอกลวง (เขา) ได้หนีไปไกลจากบิดา เขาไปยังที่อื่นอันไกลแสนไกล

4      ในเวลานั้น ครั้นบิดาทราบว่า บุตรชายของตนหนีไป ก็เศร้าโศกถึงเขา เขา(บิดา) ผู้เศร้าโศกได้เที่ยวเร่ร่อนไปในทุกทิศ ไม่น้อยกว่า 50 ปี

5      เขา (ผู้เป็นบิดา) ตามหาบุตรชาย จนไปถึงเมืองใหญ่ และได้สร้างที่อยู่อาศัย ณ เมืองนั้น จนสมบูรณ์ด้วยกามคุณ 5 ประการ

6      (เขามี) ทองแท่ง ทองรูปพรรณ ข้าวเปลือก ทรัพย์ สังข์ แก้วประพาฬ ช้าง ม้า ข้ารับใช้ วัว ปศุสัตว์ และแกะทั้งหลายจำนวนมาก

7      เขามีรายได้จากดอกเบี้ย และค่าเช่า เขามีนา ทาส ทาสี คนรับใช้มากมาย คนหลายพันโกฏิ ยกย่องให้เกียรติเขา และเขายังได้เป็นที่โปรดปรานของพระราชาตลอดกาลด้วย

8      ชาวพระนครและชนบทก็ก้มประนมกรให้แก่เขา พ่อค้าวาณิชทั้งหลายจำนวนไม่น้อย มาติดต่อธุรกิจการค้าจำนวนมากกับเขา

9      นรชนที่มั่งคั่งผู้นี้ เป็นคนแก่เฒ่า ชรา มีอายุมาก วันคืนล่วงไป เขามีแต่ความโศก เศร้า เพราะคิดถึงบุตรชายอยู่ตลอดเวลา (ว่า)

10     "บุตรชายของเรา ผู้ประพฤติเช่นนั้น เป็นการคิดผิด ได้หนีไปเป็นเวลา 50 ปี ขณะนี้ทรัพย์สินของเรามีพร้อมบริบูรณ์ และเราใกล้จะตายอยู่แล้ว"

11     บุตรชายของเขานั้นปัญญาน้อย ยากจน มีความเป็นอยู่อย่างทุกข์ทรมานตลอดเวลาในกาลครั้งนั้น (เขา) ได้ท่องเที่ยวไปจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่หมู่บ้านอื่นเพื่อแสวงหาอาหารและเครื่องนุ่งห่ม

12     เขา (บุตรชาย) ขณะที่เที่ยวแสวงหาอยู่ บางครั้งก็ได้ของเล็กน้อย และบางครั้งก็ไม่ได้อะไรเลย เขาเป็นคนโง่เขลา มีพลังน้อย มีร่างกายเต็มไปด้วยผื่นคัน ผอมโซ ดำรงชีพด้วยการอาศัยผู้อื่น

13     เขาเร่ร่อนไปจนถึงเมืองที่บิดาของเขาพำนักอยู่ และไปขออาหารเครื่องนุ่งห่มที่เรือนบิดาของเขาเอง

14     บุรุษ (บิดา) ผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก ได้นั่งอยู่บนที่นั่งรูปสิงห์ ภายใต้สัปทนที่ตั้งตระหง่านอยู่ใกล้ประตู มีประชาชนหลายร้อยคนนั่งแวดล้อมแล้ว

15     มีคนที่เขา(บุรุษนั้น)ไว้ใจยืนอยู่รอบๆ บางคนกำลังนับเงินและทอง บางคนกำลังเขียนบัญชี และบางคนกำลังจัดการเรื่องดอกเบี้ยอยู่

16     ก็แล ชายผู้ยากไร้นั้น เห็นที่อยู่อาศัย ประดับตกแต่งอย่างดีของคหบดีแล้ว (จึงคิดว่า) ขณะนี้ เรามาที่นี่ ที่นี่คือที่ไหนกันหนอ ชายผู้นี้ต้องเป็นพระราชาหรือไม่ก็ขุนนางผู้ใหญ่แน่

17     ขอให้เราอย่าได้รับโทษอะไรเลย และอย่าได้ถูกจับตัวไว้ทำงานที่นี่เลย ชายผู้นั้นเมื่อคิดอยู่(อย่างนี้)ได้ถามถึงถนนที่คนจนอาศัย แล้วรีบเดินออกไป

18     ฝ่ายบุรุษผู้มีทรัพย์ (บิดา) ซึ่งนั่งอยู่บนที่นั่งรูปสิงห์นั้น ครั้นเห็นบุตรชายของตนก็ดีใจ เขาได้สั่งพนักงานทั้งหลาย ไปนำชายยากไร้นั้นมา "พวกท่านจงไปนำชายยากไร้นั้นมา"

19     จากนั้นพนักงานทั้งหลาย ก็ไปจับเขา (ผู้ยากจน) พอถูกจับตัวเท่านั้น เขาก็หมดแรง (คิดว่า) คนพวกนี้คงจะฆ่าเราแน่นอน เครื่องนุ่งห่มและอาหารจะมีประโยชน์อะไรแก่เราอีกเล่า

20     บุรุษผู้มีทรัพย์ (บิดา) นั้น ซึ่งเป็นผู้ฉลาด ครั้นเห็นชายยากไร้นั้น (คิดว่า) คนต่ำต้อย โง่เขลา เบาปัญญานี้ คงไม่ศรัทธาในความมั่งคั่งของเราและคงไม่เชื่อว่าเราเป็นบิดา

21     บุรุษ (บิดา) นั้น จัดชายผู้ต่ำต้อย ร่างดำ หลังค่อม นัยน์ตามืดมัว ร่างพิการ สวมเสื้อผ้าเก่าๆ ให้ไปนำชายผู้ยากไร้นั้น (บุตรชาย) มาทำงาน

22     (บุรุษนั้น) กล่าวว่า "เธอจงทำงานกวาดขยะ ขนของเน่าเสียไปทิ้ง ทำความสะอาดต่างๆในฉัน ฉันจะให้ค่าจ้างแก่เธอเป็นทวีคูณ"

23     ชายยากไร้ ครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว ก็มาทำความสะอาดที่นั้น และเขาได้พักอาศัยอยู่ในกระท่อมฟางใกล้คฤหาสน์ ณ ที่นั้น

24     เศรษฐี (บิดา) เฝ้ามอง ชายผู้ (บุตร) นั้น ทางหน้าต่างอยู่เป็นประจำ ได้คิดว่าบุตรชายของเรานี้ มีความคิดต่ำ กำลังกวาดขยะ ทำความสะอาดอยู่

25     เศรษฐีนั้น เดินลง (จากคฤหาสน์) ถือตะกร้า นุ่งผ้าเก่าๆ เข้าไปหาชายผู้ (บุตร) นั้น พร้อมกับกล่าวดุว่า "เธอยังไม่ทำงานอีกหรือ"

26     ฉันจะให้ค่าจ้างทวีคูณแก่เธอ ให้น้ำมันทาเท้ามากยิ่งขึ้นเป็นสองเท่า จะให้อาหารพร้อมกับเกลือ และจะให้ผักและเครื่องนุ่งห่มแก่เธอ

27     เศรษฐีผู้บัณฑิต ในตอนแรกดุเขา (บุตร) อย่างนั้น ภายหลัง ได้พูดปลอบชาย (ผู้บุตร) นั้นว่า เธอจงทำงานให้ดีเถิด เธอเป็นบุตรชายของฉัน อย่างไม่ต้องสงสัย

28     เศรษฐีนั้น ใช้ชายผู้ (บุตร) นั้น ให้เข้าไปภายในบ้านทีละเล็กทีละน้อย และให้เขา ทำงานอยู่ 20 ปีเต็ม ด้วยระยะเวลาเช่นนั้น เขา (เศรษฐี) สามารถทำให้ชายผู้นั้นเชื่อมั่นได้

29     เศรษฐีเฝ้าคำนึงถึง ทอง ไขมุก แก้วผลึก ภายในบ้านนั้น คำนวณมูลค่าของสิ่งต่างๆ และคิดถึงผลประโยชน์ทั้งปวงอยู่เสมอ

30     ชายผู้เบาปัญญา ซึ่งอาศัยอยู่ในกระท่อม มุงด้วยฝา ภายนอกคฤหาสน์นั้น ครุ่นคิดถึงแต่ความยากจนว่า เราไม่มีสมบัติใดๆเช่นนั้นเลย

31     เศรษฐีทราบว่า บุตรชายของเรา เป็นผู้มีคุณธรรมในจิตใจ เขา (เศรษฐี) จึงเรียกเพื่อนๆ และญาติๆ มาแล้ว (กล่าวว่า) ข้าพเจ้าขอมอบสมบัติทั้งหมดนี้แก่บุรุษผู้นี้ (บุตรชาย)

32     เศรษฐี ให้เชื้อเชิญ พระราชา ชาวนิคม ชาวพระนคร และพ่อค้าทั้งหลายมา แล้วประกาศในท่ามกลางประชาชนเหล่านั้นว่า ผู้นี้คือบุตรชายของข้าพเจ้า ซึ่งได้จากกันไปนานแล้ว

33     เป็นเวลา 50 ปีเต็ม กับ 20 ปีที่ได้พบเขา บุตรชายของข้าพเจ้าผู้นี้ ได้หายไปจากเมืองนั้น และข้าพเจ้าได้ตามหาเขาจนหาถึงที่นี่

34     บุตรชายผู้นี้คือเจ้าของทรัพย์ ข้าพเจ้าขอมอบทรัพย์ทั้งหมดแก่เขา เขาจงทำกิจการด้วยทรัพย์ของบิดา ข้าพเจ้าขอมอบทรัพย์สมบัติในครอบครัวทั้งหมดนี่แก่เขา

35     ชาย (ผู้ยากจน) นั้นรู้สึกอัศจรรย์ใจ ระลึกถึงความยากจนในอดีต และฐานะอันต่ำต้อย (เมื่อ) ได้รับสมบัติทั้งหลายเหล่านั้นของบิดาแล้ว จึงคิดว่า "บัดนี้เรามีความสุขแล้ว"

36     ในทำนองเดียวกัน พระผู้นำแห่งโลก (พระตถาคต) ทรงทราบฐานะอันต่ำต้อยของเรา จึงมิได้ประกาศว่า "เธอทั้งหลายจักเป็นพระพุทธเจ้า" แต่ (ประกาศว่า) เธอทั้งหลายเป็นสาวกและเป็นบุตรของเรา

37     พระโลกนาถ ได้ตรัสกะพวกเราว่า "ดูก่อนกาศยปะ ชนทั้งหลายเหล่าใดพยายามที่จะบรรลุโพธิญาณอันสูงสุด เธอจงสอนอริยมรรค ท่านที่ชนทั้งหลายจะบรรลุเป็นพุทธะได้ แก่ชนเหล่านั้น3

38     เราทั้งหลาย ผู้อันพระตถาคตตรัสสั่งแล้ว แสดงมรรคอันประเสริฐ แก่พระโพธิสัตว์ผู้ทรงพลังจำนวนมาก ด้วยการยกอุทาหรณ์และแสดงเหตุผลมากมายหลายหมื่นโกฏิ

39     บุตรของพระชินเจ้าทั้งหลาย ครั้นได้ฟังพวกข้าพระองค์แล้ว ก็แจ่มแจ้งในอริยมรรคเพื่อโพธิญาณ และเขาเหล่านั้น (ชินบุตร) ได้รับการพยากรณ์ในขณะนั้นว่า เธอทั้งหลายจะเป็นพุทธะในโลกนี้

40     ข้าพระองค์รักษาและแสดงธรรมแก่เหล่าพระชินบุตรอยู่ กระทำหน้าที่อย่างเข็มแข็ง เหมือนกับบุคคลผู้เป็นที่ไว้ใจของคหบดีนั้น

41     แม้พวกข้าพระองค์เผยแผ่พุทธธรรมอยู่ ก็ยังรูสึกว่ายากจนอยู่ พวกข้าพระองค์ไม่ปรารถนาชินญาณ แต่ก็ยังประกาศชินญาณอยู่

42     พวกเราพอใจพระนิพพานอันเป็นเฉพาะตน ญาณ (ความรู้) มีเพียงเท่านี้ ไม่มากขึ้นเลย ในเมื่อฟังเรื่องราวมากมายของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในพุทธเกษตร พวกเราไม่มีความพอใจเลย

43     ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นธรรมสงบ ไม่มีโทษ ปราศจากการเกิดดับ ในธรรมเหล่านั้น ไม่มีกฎใดๆ อย่างไรก็ตาม พวกข้าพระองค์เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว จึงไม่ศรัทธา

44     พวกข้าพระองค์ ละพุทธธรรมอันประเสริฐ เป็นเวลาช้านาน ความตั้งใจจริง (ในพระธรรม) ของพวกข้าพระองค์ก็ไม่เคยมี นี้คือพระดำรัสอันประเสริฐ ครั้งสุดท้าย ที่พระชินเจ้าได้ตรัสแล้ว

45     ในชีวิตอันใกล้จะถึงนิพพานนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้พิจารณาศูนยตาธรรมเป็นเวลาช้านาน (จากความทุกข์) และพวกข้าพระองค์ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระชินเจ้าแล้ว

46     ก็แล ข้าพระองค์ทั้งหลาย ประกาศธรรมใดแก่พระชินบุตรทั้งหลาย ผู้ตั้งอยู่ในพระโพธิญาณ อันประเสริฐธรรมในโลกนี้ และแสดงธรรมใดก็ตาม แก่ชินบุตรทั้งหลายเหล่านั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่เคยมีความต้องการในธรรมนั้นเลย

47     พระผู้ตรัสสอนชาวโลก ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงรอเวลาอยู่ ทรงวางเฉยต่อพวกเรา พระองค์มิได้ตรัสความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย (เพราะ) พระองค์กำลังทรงทดสอบอุปนิสัยของพวกเราอยู่

48     พระองค์ทรงใช้กุศโลบายเช่นเดียวกับในสมัยของมหาเศรษฐีนั้น ที่ตรัสว่า ท่านจงอดทนต่อจิตที่น้อมไป ในทางเสื่อมอย่างต่อเนื่อง แล้วจึงประทานสมบัติ แก่ผู้ที่มีความอดทน

49     พระโลกนาถ เมื่อประกาศอุบายโกศล ฝึกบุตรผู้น้อมจิตไปในทางเสื่อม ชื่อว่าทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง ครั้นฝึกจิตได้แล้ว พระองค์จึงมอบความรู้นี้ให้

50     วันนี้ ข้าพระองค์ได้ประสบกับความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เหมือนกับบุรุษผู้ยากจนได้รับสมบัติ เป็นครั้งแรก ที่ข้าพระองค์ได้รับผลอันประเสริฐ และบริสุทธิ์ ในพุทธศาสนานี้

51     ข้าแต่พระผู้เป็นที่พึ่ง ข้าพระองค์ได้รักษา ศีล ในศาสนาของพระผู้รู้แจ้งโลก มาเป็นเวลาช้านาน วันนี้ ข้าพระองค์ได้ผลของศีล ที่ได้ปฏิบัตินั้นแล้ว

52     พรหมจรรย์ที่ประเสริฐ บริสุทธิ์ ที่เราเคยปฏิบัติในศาสนาของพระผู้นำ วันนี้ เราได้รับผลอันประเสริฐ สงบ ยิ่งใหญ่ และไม่มัวหมอง ของพรหมจรรย์ นั้นแล้ว

53     ข้าแต่พระผู้เป็นที่พึ่ง บัดนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้เป็นสาวก จักประกาศโพธิญาณอันประเสริฐ พวกข้าพระองค์ผู้เป็นสาวก ที่เคร่งครัด จักประกาศคำว่า พระโพธิญาณ ให้ปรากฏ

54     ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่พึ่ง ขณะนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เป็นพระอรหันต์ สมควรได้รับการบูชาจากชาวโลก พร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม และจากสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในทุกแห่งหน

55     ใครเล่า ผู้พยายามหลายโกฏิกัลป์ ที่สามารถเปรียบกับพระองค์ได้พระองค์เป็นผู้เห็นสิ่งที่กระทำได้ยาก และได้กระทำสิ่งทำได้ยาก ในมนุษย์โลกนี้

56     ผู้ใด แม้ดำรงอยู่หลายกัลป์ เท่ากับจำนวนเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา ก็นับว่ายากที่จะกระทำแทน (งานที่พระตถาคตได้ทรงกระทำแล้ว) ด้วยมือทั้งสอง เท้า ศีรษะและบ่า

57     (บางคน) อาจบริจาคอาหารคาวหวาน ขาทนียะ โภชนียะ) ผ้า น้ำ ที่นอน ที่นั่ง และผ้าห่มที่สะอาดเป็นทาน (บางคน) สร้างวัดด้วยไม้จันทร์ ครั้นเสร็จแล้วก็ถวาย  พร้อมทั้งผ้าไหม

58     (บางคน) อาจบริจาคยารักษาโรคต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการบูชา พระตถาคต เป็นนิตย์ เขา (แม้) บริจาคเป็นเวลาหลายกัลป์ เท่ากับจำนวนเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา ก็ไม่สามารถตอบแทน (งานที่พระตถาคตทรงกระทำ)ได้เลย

59     พระชินะพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงมีธรรมเป็นมหาตมัน มีอานุภาพอันหาที่เปรียบมิได้มีฤทธิ์มาก และทรงตั้งมั่นในพลังแห่งขันติ เป็นพระมหาราชา เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมอดทนต่อพฤติกรรมเช่นนี้ของคนพาลทั้งหลาย

60     พระตถาคต เสด็จกลับมาเป็นนิตย์ เพื่อแสดงธรรม แก่ผู้ประพฤติตามพระองค์ พระองค์ทรงเป็นเจ้าของธรรม ทรงเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง เป็นผู้ยิ่งใหญ่และเป็นจอมผู้นำของโลก

61     พระตถาคต ทรงทราบสถานะของสัตว์ทั้งหลาย ได้แสดงธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติที่มีอุปการะมาก พระองค์ครั้นทรงทราบอุปนิสัยต่างๆ ของสัตว์ทั้งหลายแล้ว จึงได้แสดงธรรมด้วยเหตุผล หลายพันอย่าง

62     พระตถาคต ทรงทราบจรรยาแห่งสัตว์และบุคคลทั้งหลาย ดังนั้น เมื่อจะแสดงพระโพธิญาณ อันประเสริฐ จึงทรงแสดงธรรมที่มีอุปการะมากนี้


บทที่4 อธิมุกติปริวรรต ว่าด้วยการน้อมใจเชื่อ
ในธรรมบรรยาย สัทธรรมปุณฑรีกสูตร อันประเสริฐ
มีเพียงเท่านี้



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มิถุนายน 2554 16:48:06 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
คำค้น: พระสูตร ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ตรวจสอบ นายชะเอม แก้วคล้าย แปล  
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.176 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 17 พฤศจิกายน 2567 02:12:00