[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 พฤศจิกายน 2567 10:36:00 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง แง่คิดจากชีวิตและปรากฏการณ์สังคม  (อ่าน 3120 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2480


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 06 กุมภาพันธ์ 2558 18:21:05 »

.



นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
แง่คิดจากชีวิตและปรากฏการณ์สังคม
โดย พระไพศาล วิสาโล

ย้อนไปปลายศตวรรษที่ ๑๙ หลังการค้นพบรังสีเอกซ์ อิเล็กตรอน กัมมันตภาพรังสี ซึ่งเปิดพรมแดนแห่งความรู้เกี่ยวกับอะตอมอย่างไม่เคยมีมาก่อน  นักฟิสิกส์จำนวนมากมั่นใจว่าไม่มีเรื่องใหญ่ๆ ให้ค้นพบอีกต่อไป  ค.ศ. ๑๘๙๙ อัลเบิร์ต ไมเคิลสัน (Albert Abraham Michelson) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ถึงกับประกาศว่า “กฎพื้นฐานและข้อเท็จจริงของวิทยาศาสตร์กายภาพที่สำคัญๆ ถูกค้นพบหมดสิ้นแล้ว  ทั้งหมดนี้ได้รับการยืนยันมั่นคงจนกล่าวได้ว่าโอกาสที่มันจะถูกแทนที่ด้วยการค้นพบใหม่ๆ มีน้อยนัก”  นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายคนในเวลานั้นเชื่อว่าแม้มีปัญหามากมายที่ยังไม่พบคำตอบ แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ท้าทายความรู้ทางฟิสิกส์ตอนนั้นเลย

ทว่าความเชื่อมั่นนี้มลายไปเมื่อไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เปิดเผยทฤษฎีสัมพัทธภาพ และ มักซ์ พลังก์ (Max Karl Ernst Ludwig Planck) ประกาศทฤษฎีควอนตัมซึ่งต่อยอดโดย นีลส์ บอร์ (Niels Hendrik David Bohr)  การค้นพบดังกล่าวรวมทั้งความก้าวหน้าหลากหลายที่ตามมาทำให้ฟิสิกส์แบบเก่าถึงกาลอวสานและเป็นจุดเริ่มต้นของฟิสิกส์แบบใหม่  ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดคำถามใหม่ๆ ที่สำคัญ ตั้งแต่ระดับอะตอมถึงเอกภพ (หรือพหุภพ ?) ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไขได้ไม่หมด  กล่าวอีกนัยหนึ่งแม้มันจะขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กว้างขึ้น แต่ก็ทำให้เห็นว่าพรมแดนแห่งความไม่รู้ของมนุษย์นั้นใหญ่โตมโหฬารกว่าที่คิดนัก

หลังการค้นพบยาปฏิชีวนะและวัคซีนนานาชนิด โรคติดเชื้อซึ่งเคยคร่าชีวิตมนุษย์นับล้านถูกกำราบจนบางชนิดสูญพันธุ์  ค.ศ. ๑๙๕๔ ดร. ที. พี. แมกิลล์ (Thomas Pleines Magill) แพทย์อเมริกันประกาศกลางที่ประชุมประจำปีของสมาคมนักวิทยาศาสตร์ภูมิคุ้มกันอเมริกัน (The American Association of Immunologists) ว่า “เรามีความยินดีที่สามารถหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงจากความคิดเรื่องวิญญาณชั่วร้าย  เราภูมิใจที่จะอวดอ้างความรู้ของเราเรื่องเชื้อโรค ทั้งมั่นใจว่าความหลุดพ้นและความรู้ดังกล่าวจะช่วยให้กำจัดโรคติดเชื้อได้อย่างสิ้นเชิง”

คำพูดข้างต้นสะท้อนความมั่นใจของแพทย์จำนวนไม่น้อยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วว่า อวสานของโรคติดเชื้อใกล้จะมาถึง ไม่นานจะไม่มีใครตายเพราะโรคเหล่านั้น  แต่ ณ วันนี้ไม่มีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์คนใดกล้าพูดเช่นนี้อีก เพราะนอกจากผู้คนมากมายยังคงล้มตายด้วยเชื้อโรคใหม่ๆ ที่ไม่มีทางรักษา เช่น เอดส์ อีโบลา  โรคเก่าๆ ที่ฝ่อลงก็กลับมาระบาดซ้ำยังดื้อยา เช่น วัณโรค มาลาเรีย  ขณะยาปฏิชีวนะปัจจุบันก็ทำอะไรแบคทีเรียชนิดใหม่ (super bug) ไม่ได้ ทั้งที่มันกำลังคร่าชีวิตผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วโลก

เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๘ ปีเตอร์ เบอร์เกอร์ (Peter Ludwig Berger) นักสังคมวิทยาชื่อก้องโลกได้ทำนายว่า “เมื่อถึงศตวรรษที่ ๒๑ มีแนวโน้มว่าพวกที่เชื่อเรื่องศาสนาจะพบเห็นได้ตามลัทธินิกายเล็กๆ ซึ่งกระจุกอยู่ด้วยกันเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมแบบโลกย์ๆ ที่แพร่ไปทั่วโลก” ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ แอนโทนี วัลเลซ (Anthony Francis Clarke Wallace) นักมานุษยวิทยาศาสนา ซึ่งกล่าวอย่างมั่นใจว่า “อนาคตของศาสนากำลังวิวัฒน์สู่ความดับสูญ ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งฝืนกฎธรรมชาติจะเสื่อมถอยและกลายเป็นเพียงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเท่านั้น… ความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติมีแต่จะสาบสูญทั่วโลก อันเป็นผลจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายและพอเหมาะพอสมขึ้นทุกที… กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

แต่ถึงวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ศาสนานอกจากจะไม่มีแนวโน้มสาบสูญหรือแม้แต่จะเสื่อมถอย กลับมีบทบาทอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันโดยเฉพาะทางการเมือง บางประเทศถูกปกครองด้วยแนวทางศาสนาอย่างอิหร่านหรืออัฟกานิสถานสมัยหนึ่ง  ขณะบางประเทศกลุ่มศาสนามีพลังมากพอจะตัดสินผลการเลือกตั้งผู้นำประเทศได้เช่นสหรัฐอเมริกา  ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการก่อการร้ายอันมีศาสนาเป็นแรงบันดาลใจซึ่งสร้างผลสะเทือนไปทั่วโลกมานานกว่า ๒ ทศวรรษ

การคาดการณ์อนาคตนั้นย่อมมีโอกาสผิดพลาดเสมอ เพราะอนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความผิดพลาดทั้งสามกรณีมีสาเหตุสำคัญจากความมั่นใจในความรู้ของตนมากเกินไป  เนื่องจากเชื่อมั่นว่าตนรู้เห็นความจริงอย่างถี่ถ้วนและทั่วถึง จึงสามารถ “ฟันธง” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำโดยไม่ตระหนักว่าความจริงนั้นมีความซับซ้อนและลึกซึ้งกว่าที่ตนเข้าใจ  เมื่อกาลเวลาผ่านไปและความจริงคลี่คลาย กลับกลายเป็นว่าการคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความรู้อันจำกัดของผู้พยากรณ์ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด  ถึงวันนี้คงไม่มีใครคิดว่าครั้งหนึ่งนักวิชาการชั้นนำจะหาญกล้าคาดการณ์เช่นนั้น

ทั้งสามกรณีชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญรู้นั้นนับว่าเล็กน้อยนักเมื่อเทียบกับความไม่รู้ของตน  ผู้รู้ที่แท้จริงจะตระหนักเสมอว่าความรู้ที่ตนมีเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความจริงที่มีพรมแดนกว้างไกล ยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมายหลายเท่าตัว ดังนั้นจึงมีความถ่อมตนและเปิดใจเรียนรู้เสมอ  นอกจากจะไม่คาดคะเนอนาคตด้วยความมั่นอกมั่นใจยังต้องไม่ด่วนสรุปว่าสิ่งที่ตนรู้เท่านั้นที่เป็นจริง เพราะสิ่งที่คนอื่นรับรู้แม้จะต่างจากตนก็อาจจริงเช่นกัน

ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคสารสนเทศ ใครๆ ก็เข้าถึงความรู้และข้อมูลข่าวสารได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงง่ายที่ใครต่อใครจะเข้าใจว่าตนเองรู้ จนลืมไปว่าความรู้ของคนเรานั้นถึงอย่างไรก็มีน้อยกว่าความไม่รู้เสมอ  หากเราตระหนักถึงความข้อนี้ก็จะฟังคนอื่นมากขึ้น ไม่ด่วนปฏิเสธข้อมูลหรือความเห็นของผู้คิดต่างจากตนว่าผิดหรือไม่ถูกต้อง

เป็นเพราะมนุษย์มีความรับรู้จำกัด พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้เรามีท่าทีที่เรียกว่า “สัจจานุรักษ์” กล่าวคือ เมื่อเชื่อหรือรับรู้อะไรมาก็ไม่ควรปักใจว่าความจริงต้องเป็นอย่างที่ตนเชื่อหรือรับรู้เท่านั้น ดังพุทธพจน์ว่า “บุรุษผู้เป็นวิญญู เมื่อจะคุ้มครองสัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า ‘อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล’”

สาเหตุที่ผู้คนมีความขัดแย้งกันทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมั่นใจในความถูกต้องของตนจนกลายเป็นการผูกขาดความจริงไป  ใครคิดต่างจากตนก็สรุปทันทีว่าเหลวไหล โง่เขลา จึงเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย  หากเพียงแต่คนเราตระหนักว่าสิ่งที่ตนไม่รู้นั้นมีนับอนันต์แม้เป็นเรื่องที่ศึกษามาก็ตาม ความเห็นต่างนอกจากจะไม่นำมาซึ่งการวิวาทบาดหมาง ยังอาจเพิ่มพูนสติปัญญาและขยายพรมแดนแห่งความรู้ของตนให้กว้างขวางขึ้นด้วยแม้นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เราจึงควรเผื่อใจไว้เสมอว่าสิ่งที่เรารู้หรือเชื่ออาจผิดได้



บทความตีพิมพ์ใน นิตยสารสารคดี ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๓๕๔ สิงหาคม ๒๕๕๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.334 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 28 กันยายน 2567 10:13:33