จากปัญหาของคนทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับ "เสียงกรน" ไม่เพียงก่อให้เกิดความรำคาญยังส่งผลต่อสุขภาพกาย สภาพจิตใจ ชีวิตสมรสและสถานภาพทางสังคมของผู้กรน ที่สำคัญเสียงกรนอาจเป็นสาเหตุร่วมของการเกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา อาทิ โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ และนอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยหยุดหายใจขณะหลับและมีปริมาณออกซิเจนลดลงเกินครึ่ง ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดอันตรายขณะทำงานหรือขับรถในตอนกลางวัน ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยผลของโรคนอนกรนที่ตามมาจนไม่อาจนิ่งนอนใจได้ทั้งต่อผู้กรนและคนใกล้ชิด มูลนิธิโรคนอนกรนและการนอนหลับผิดปกติ นำโดย ศ.นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ ประธานมูลนิธิฯ ผนึกกำลังจัดงาน “วันโรคนอนกรน” ณ ห้องประชุมชั้น 10 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นสู่การป้องกันและรักษาอาการกรน โดยได้รับเกียรติจาก พลโทธวัชชัย ศศิประภา ผอ. ศูนย์แพทย์พระมงกุฎเกล้า เป็นประธานเปิดงาน ภายในงานจัดให้มีการบรรยายในหัวข้อ “โรคนอนกรนรักษาได้” จาก พ.อ.นพ.ดร.โยธิน ชินวลัญช์ และ พญ.วิสาข์สิริ ตันตระกูล
ศ.นพ. ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ กล่าวว่า ร้อยละ 90 ของคนนอนกรนจะไม่รู้ว่าตัวเองกรน และมักปฏิเสธว่าตัวเองไม่กรน บางครอบครัวภรรยาทนไม่ได้ต้องรีบพาสามีมารักษา เพราะนอนไม่หลับกันทั้งบ้าน หรือเมื่อต้องไปค้างคืนที่ต่างจังหวัดไม่สามารถนอนร่วมห้องกับผู้อื่นได้ ทำให้เกิดความอับอาย เกิดปัญหาต่อการเข้าสังคมได้ บางรายเป็นหนักถึงขั้นหงุดหงิด ทะเลาะวิวาท เกิดปัญหาครอบครัวตามมา นอกจากนี้ข้อเท็จจริงที่อันตรายที่สุดของโรคนอนกรน คือ ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้กรนและคนรอบข้าง แม้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แต่ไม่ควรเพิกเฉย ส่วนอาการที่บ่งชี้ว่าต้องรับการรักษา คือ เมื่อคนรอบข้างบอกว่า เมื่อเริ่มมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ เกิดอาการง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ และควรสังเกตตัวเองด้วยว่า เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการหายใจไม่ออกและสำลักน้ำลายร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีอาการควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
“อาการกรนพบได้ในทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงาน ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง สำหรับสาเหตุของการกรนก็ได้แก่ โรคอ้วน, ดื่มสุรา, สูบบุหรี่, ลักษณะทางพันธุกรรม, โรคภูมิแพ้, การทำงานและการออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป ส่วนสาเหตุการกรนในเด็กนอกจากจะมีปัจจัยคล้ายๆ ผู้ใหญ่แล้ว โรคต่อมทอนซิล (ต่อมน้ำเหลืองหลังคอ)อักเสบ และ ต่อมอะดีนอยส์ (ต่อมน้ำเหลืองหลังโพรงจมูก) อักเสบ ซึ่งจะทำให้เด็กหายใจยาก ก็เป็นสาเหตุของการกรนได้ง่ายขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ประธานมูลนิธิ ยังกล่าวว่า ผู้ป่วยโรคนอนกรนสามารถใช้หมอนช่วยลดอาการกรนได้ เนื่องจากการหนุนหมอนที่มีระดับความสูงพอเหมาะ จะช่วยให้ทางเดินหายใจไม่พับงอจนเกินไป แต่ในรายที่มีอาการกรนมากควรเริ่มรักษาด้วยการดูแลตัวเอง ลดน้ำหนัก เลิกสุรา งดบุหรี่ ไม่ทำงานหรือออกกำลังกายจนหักโหมเกินไป ควรเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้ง่วงนอน เพราะจะทำให้กรนมากขึ้น นอกจากนี้ยังบริหารช่องคอให้กล้ามเนื้อตึงตัวด้วยการเป่าท่อที่มีความยาว 1.5 เมตร โดยเป่าจนสุดแรงวันละ 20 นาที สำหรับผู้ประสบปัญหานอนกรนเล็กน้อยถึงปานกลาง ลองกำมือหนึ่งข้างให้หลวมพอสำหรับลมผ่านได้ นำมือจ่อที่ริมฝีปาก ก่อนออกแรงเป่าลมค้างไว้ครั้งละ 5-10 วินาที โดยส่งแรงลมให้ผ่านออกทางด้านล่างของมือ ทำติดต่อกันวันละ 20 นาที จะช่วยทำให้ช่องลมกว้างขึ้น
“ถ้าในบางรายอาการหนัก การรักษาก็ต้องอาศัยเครื่องมือและการผ่าตัดร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันการรักษาอาการนอนกรนทำได้ง่ายกว่าที่คิด อย่ามัวรอให้เกิดผลเสียต่อร่างกายจนเกิดโรคอื่นๆ ตามมาแล้วถึงคิดตัดสินใจมาพบแพทย์ อยากให้ทุกคนร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญ ว่ายังมีทางออกสำหรับโรคนอนนกรน โดยที่ไม่ต้องทนอีกต่อไป” ศ.นพ. ชัยรัตน์ กล่าว
ที่มา คมชัดลึก