ความทรงจำ!'ทะไลลามะ'เฝ้าพระสังฆราช : สำราญ สมพงษ์ อดีตผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงศึกษาธิการรายงาน(FB-samran sompong)
ข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อเวลา 19.30น.ของวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2556ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำหรับเผยแพร่ไปทั่วโลก พร้อมกับรายงานเพิ่มเติมว่
า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นสหายขององค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบต โดยทรงยกย่องสมเด็จพระสังฆราชว่าเป็น "พี่ชายของฉัน"
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้รายงานในเวลาต่อมาว่า “ขณะนี้อาตมากำลังร่างหนังสือเพื่อแจ้งไปยังองค์ทะไลลามะอย่างเป็นทางการ เนื่องด้วยองค์ทะไลลามะกับสมเด็จพระสังฆราช มีความผูกพันอย่างใกล้ชิด ทุกครั้งที่องค์ทะไลลามะมาเยือนประเทศก็จะต้องมาเฝ้าและสนทนาธรรมกับสมเด็จพระสังฆราช โดยพระองค์ยกย่องสมเด็จพระสังฆราชว่า"เป็นพี่ชายทางธรรม"
และวันต่อมาพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ เปิดเผยว่า องค์ทะไลลามะได้ส่งสาส์นธรรมสังเวชผ่านเว็บไซต์
http://www.dalailama.com/ แสดงความเสียใจเมื่อทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช มีใจความว่า
"สหายทางจิตวิญญาณที่รักทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจการพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช ในระยะเวลาอันสั้นหลังงานฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา ในระหว่างที่ข้าพเจ้าสวดภาวนาอุทิศถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจมายังมหาเถรสมาคมและศิษยานุศิษย์นับหลายล้านคนของพระองค์ทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก การจากไปของสมเด็จพระญาณสังวรฯนั้น เราทั้งหลายได้สูญเสียสหายทางธรรมอันวิเศษ" พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า สาส์นขององค์ทะไลลามะได้แสดงความชื่นชมอย่างสุดซึ้งต่อวิถีทางที่สมเด็จพระสังฆราชทรงปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบที่มีต่อพระศาสนาได้สมบูรณ์ยิ่งตลอดพระชนม์ชีพอันยาวนานและมีความหมายยิ่ง และยังทรงอุทิศพระองค์ในการสร้างคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างทั่วถึงตลอดมา และจะหาโอกาสส่งผู้แทนมาสวดภาวนาและแสดงความอาลัยต่อประชาชนชาวไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพนับถือด้วย
ทั้งนี้องค์ทะไลลามะเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2510 และได้เสด็จเยือนวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหารด้วย ครั้งนั้นทรงปรารภกับสมเด็จพระสังฆราชขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณว่า "อยากศึกษาการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานแบบเถรวาท" เจ้าหน้าที่จัดการรับเสด็จจึงได้จัดให้สมเด็จพระสังฆราชถวายคำแนะนำในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานแบบเถรวาทแก่องค์ทะไลลามะตามพระประสงค์ ณ สำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง
องค์ทะไลลามะเสด็จเยือนประเทศไทยหลายครั้ง และทุกครั้งได้เสด็จเยือนวัดบวรนิเวศวิหารและทรงพบปะสนทนากับสมเด็จพระสังฆราชเสมอ จึงทรงคุ้นเคยกับสมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างดี
ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 และประทับแรมที่ศาลา 150 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร คำแรกที่องค์ทะไลลามะตรัสทักทายสมเด็จพระสังฆราชเมื่อทรงพบกันในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารก็คือ “พี่ชายคนโตของข้าพเจ้า” อันแสดงถึงความเคารพรักที่ทรงมีต่อกัน
และวันที่องค์ทะไลลามะกราบทูลลาสมเด็จพระสังฆราชได้กราบทูลว่า "เวลาเหลือน้อยเต็มที เมื่อวานนี้กระหม่อมมีโอกาสทูลใต้ฝ่าพระบาทเพียงสั้นๆ กระหม่อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะได้เห็นชาวพุทธทิเบตกับชาวพุทธไทยมีการติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และคงจะได้มีการประชุมสัมมนาร่วมกันเป็นครั้งคราวด้วย เพื่อให้พระภิกษุไทยกับพระภิกษุทิเบตได้สากัจฉากันในเรื่องพระวินัย เรื่องสมาธิ เรื่องอภิธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากทีเดียวด้วยวิธีดังกล่าวนี้ พวกเราชาวทิเบตก็จะได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทยและในทำนองเดียวกันชาวไทยก็จะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากขนบธรรมเนียบประเพณีแบบทิเบต"
สมเด็จพระสังฆราชได้แสดงพระทัศนะเห็นด้วยกับข้อเสนอขององค์ทะไลลามะในครั้งนั้น
และเมื่อต้นปี2556 พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ได้เปิดเผยถึงการร่วมสนทนาธรรม "พระพุทธศาสนาหลังพุทธชยันตี 2600 ปี" กับองค์ทะไลลามะ พร้อมผู้แทนคณะสงฆ์ทิเบต ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียว่า "องค์ทะไลลามะยินดีต้อนรับพระสงฆ์ นักวิชาการ และอาจารย์มหาวิทยาลัยจากประเทศไทย ที่จะไปศึกษาที่สถาบันกลางเพื่อทิเบตศึกษาขั้นสูง หรือที่รู้จักกันในนามว่า มหาวิทยาลัยกลางเพื่อทิเบตศึกษา ที่เมืองสารนาถ ประเทศอินเดีย" ทั้งนี้คงเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างอันดีระหว่างสมเด็จพระสังฆราชกับองค์ทะไลลามะนั้นเอง
การเยือนประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2536 ขององค์ทะไลลามะนี้เอง ผู้เขียนได้มีประสบการณ์โดยตรง เนื่องจากขณะนั้นเป็นผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้แจ้งจากหัวหน้าให้ไปทำข่าวสังเกตบรรยากาศ ก็งงๆเหมือนกันว่าทำไมหัวหน้าถึงใช้ให้ไปทำหน้าที่นี้ทั้งๆไม่สามารถฟังภาษาอังกฤษได้เข้าใจ หรือเป็นเพราะเราเคยเป็นคนวัดมาก่อนก็เป็นได้
เหตุการณ์ที่ได้สัมผัสกับองค์ทะไลลามะโดยตรงนั้นก็คือตอนที่ประทับแรมที่ศาลา 150 ปี ได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษ์ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็มุ่งไปที่ความขัดแย้งระหว่างทิเบตกับจีน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็อยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำหนักเพ็ชรนั้นได้ใช้เป็นสถานที่ประชุมมหาเถรสมาคม เวลาที่มีประเด็นข่าวและเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมก็จะเดินทางไปทำข่าวเสมอ นอกจากนี้ทุกๆปีของวันที่ 3 ตุลาคมเป็นวันประสูติของสมเด็จพระสังฆราช ทางวัดบวรฯก็จะมีการจัดงาน ก็ได้มีโอ
กาสเดินทางทำไปข่าว หลังจากนั้นก็จะได้รับแจกวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ แต่ที่ขึ้นชื่อเห็นจะเป็นพระพิมพ์ไพรีพินาศ แม้นว่าตอนนั้นจะไม่ค่อยนิยมพระเครื่องเท่าใดนัก แต่เมื่อเห็นพิมพ์แล้วถือว่าสวยงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งซุ้มเรือนแก้ว ได้เก็บรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้ไม่ได้นำออกมาแก้จนแต่อย่างใด คงเป็นเพราะประสบการณ์เกี่ยวกับพระเครื่องวัดบวรฯนี้เองทำให้สนใจศึกษาพุทธศิลป์ ลายไทย ลายกนกในเวลาต่อไป
ความจริงแล้วผู้เขียนได้ติดตามศาสนกิจของสมเด็จพระสังฆราชเสมอมา ตั้งแต่สมัยอยู่ในเพศสมณะได้ศึกษาระดับปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต เอกปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเมื่อปี2529 เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ยังได้รับประทานปริญญาบัตรจากพระองค์
จากความทรงจำดังกล่าวทำให้มีความรู้สึกว่าสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระรูปหนึ่งที่มีไม่มากนัก สามารถนำมารำลึกเป็นสังฆานุสสติได้อย่างสนิทใจ
จาก
http://www.komchadluek.net/news/detail/171722http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11741.0.html