[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
24 พฤศจิกายน 2567 00:25:09 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๑ อะไรเป็นที่ตั้งแห่งทิพยอำนาจ  (อ่าน 1243 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 18 สิงหาคม 2559 02:50:59 »



ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง



บทที่ ๑

อะไรเป็นที่ตั้งแห่งทิพยอำนาจ


ได้กล่าวเกริ่นไว้ในบทนำว่า ฌาน ๔ เป็นทิพยวิสัย และเป็นที่ตั้งแห่งทิพยอำนาจด้วย ดังนั้นในบทนี้ จึงจะแสดงฌานไว้เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสืบไป.

สมาธิและฌานในพระพุทธศาสนามีมากประเภท แต่ที่ตรัสไว้เป็นมาตรฐานในการเจริญเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งทิพยอำนาจนั้น ได้แก่ฌาน ๔ ประการ ที่เรียกชื่อตามลำดับปูรณะสังขยาว่าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ฌาน ๔ ประการนี้ตรัสเรียกว่า สัมมาสมาธิจัดเป็นองค์หนึ่งของมรรค ๘ และเป็นองค์ประธาน มีองค์ ๗ นอกนั้นเป็นบริขาร คือเป็นส่วนประกอบ แต่เมื่อว่าโดยกิจตัดกิเลสแล้ว สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้าเป็นองค์นำ องค์ ๗ นอกนั้นเป็นส่วนประกอบ.

สมาธิกับฌานมีความหมายกว้างแคบกว่ากัน คือ สมาธิมีความหมายกว้างกว่าฌาน ความสงบมั่นคงของใจตั้งแต่ชั้นต่ำๆ ชั่วขณะหนึ่ง จนถึงความสงบขั้นสูงสุด ไม่มีอารมณ์เป็นเครื่องกำหนด เรียกว่าสมาธิได้ทั้งนั้น เช่น ขณิกสมาธิ สงบชั่วขณะนิดหน่อยมีได้แก่สามัญชนทั่วไป,อุปจารสมาธิ สงบใกล้ต่อความเป็นฌาน คือเฉียดฌาน, อัปปนาสมาธิ สงบแน่วแน่เป็นฌาน,สุญญตสมาธิ สงบว่างโปร่ง, อนิมิตตสมาธิ สงบไม่มีอารมณ์ปรุงแต่ง, อัปปณิหิตสมาธิ สงบไม่มีที่ตั้งลง คือหาฐานรองรับความสงบเช่นนั้นไม่มี สมาธิเหล่านี้เป็นชั้นสูง มีได้แก่บางคนเท่านั้น.

ส่วนฌานมีความหมายจำกัดอยู่ในวง คือ มีองค์หรืออารมณ์เป็นเครื่องกำหนดโดยเฉพาะเป็นอย่างๆ ไป ฌานที่ ๑-๒-๓-๔ นั้นมีอารมณ์ขั้นต้นไม่จำกัด แต่มีองค์เป็นเครื่องกำหนดหมาย คือจิตเพ่งพินิจจดจ่อ อยู่ในอารมณ์อย่างเดียวจนสงบลง มีองค์ของฌานปรากฏขึ้นครบ ๕ ก็เป็นปฐมฌาน, มีองค์ ๓ ครบบริบูรณ์ก็เป็นทุติยฌาน, มีองค์ ๒ ครบบริบูรณ์ก็เป็นตติยฌาน, มีองค์๒ ครบบริบูรณ์ก็เป็นจตุตถฌาน พระอาจารย์ในปูนก่อนท่านเรียกชื่อฌานทั้ง ๔ นี้ไปตามอารมณ์ขั้นต้นก็มี เช่น อสุภฌาน มีอสุภะเป็นอารมณ์, เมตตฌาน มีเมตตาเป็นอารมณ์, สติปัฏฐานฌานมีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์, อนุสสติฌาน มีอนุสสติเป็นอารมณ์ ฯลฯ ฌานชั้นสูงมีอารมณ์เป็นเครื่องกำหนดเฉพาะอย่างๆ ไป เช่น อากาสานัญจายตนะ มีอากาศเป็นเครื่องกำหนด,วิญญาณัญจายตนะ มีวิญญาณเป็นเครื่องกำหนด, อากิญจัญญายตนะ มีความไม่มีอะไรเป็นเครื่องกำหนด, เนวสัญญานาสัญญายตนะ มีความสงบประณีตเป็นเครื่องกำหนด ฯลฯ ฌานชั้นสูงนี้จะไว้กล่าวในบทว่าด้วยอุปกรณ์แห่งทิพยอำนาจข้างหน้า บทนี้จะกล่าวแต่ฌาน ๔ ประการ ซึ่งเป็นฌานมาตรฐานและเป็นที่ตั้งแห่งทิพยอำนาจเท่านั้น.

ก่อนที่จะวินิจฉัยลักษณะของฌาน ๔ ชั้นนี้ จะขอนำพระบาลีอันเป็นหลักฐานแสดงลักษณะฌาน ๔ ชั้นนี้มาตั้งไว้เป็นหลักก่อน พระบาลีอันเป็นหลักฐานแสดงฌาน ๔ นี้มีมากแห่งและแสดงลักษณะไว้ตรงกันหมด ทั้งแสดงว่าฌาน ๔ ชั้นนี้เป็นสมาธิพละ สมาธิสัมโพชฌงค์ และสัมมาสมาธิองค์แห่งมรรคด้วย พระบาลีมีดังต่อไปนี้

๑. ปฐมฌาน – วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ สวิตกฺกํ สวิจารํ วิเวกชํ ปีติสุขํ ปฐมํฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ. สงัดเงียบจากกาม สงัดเงียบจากอกุศลธรรม แล้วเข้าปฐมฌาน ซึ่งมีวิตกมีวิจาร มีปีติ และมีสุขเกิดจากวิเวกอยู่.

๒. ทุติยฌาน – วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา อชฺฌตฺตํ สมฺปสาทนํ เจตโส เอโกทิภาวํ อวิตกฺกํอวิจารํ สมาธิชํ ปีติสุขํ ทุติยํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ. ระงับวิตกวิจาร แล้วเข้าทุติยฌาน ซึ่งมีความผ่องใสในภายใน มีความปรากฏเด่นเป็นดวงเดียวแห่งจิตใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่.

๓. ตติยฌาน – ปีติยา จ วิราคา อุเปกฺขโก จ วิหรติ สโต จ สมฺปชาโน สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํ-เวเทติ ยนฺตํ อริยา อาจิกฺขนฺติ “อุเปกฺขโก สติมา สุขวิหารีติ ตติยํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ” สำรอกปีติ และเข้าตติยฌาน ซึ่งเป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย ที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้วางเฉยมีสติอยู่เป็นสุข ดังนี้.

๔. จตุตถฌาน – สุขสฺส จ ปหานา ทุกฺขสฺส จ ปาหนา ปุพฺเพว โสมนสฺสโทมนสฺสานํอตฺถงฺคมา อทุกฺขมสุขํ อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ จตุตฺถํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ. ละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนนั่นเทียว แล้วเข้าจตุตถฌาน ซึ่งไม่มีสุขไม่มีทุกข์ มีแต่อุเบกขากับสติ และความบริสุทธิ์ของจิตเท่านั้น.


นิวรณ์ ๕

ในเบื้องต้นที่จะทำความเข้าใจลักษณะของฌาน ควรทำความเข้าใจลักษณะของกิเลสที่กั้นกางจิตมิให้บรรลุฌานก่อน เพราะเมื่อกิเลสชนิดที่เรียกว่านิวรณ์ ยังมีอำนาจครองใจอยู่แล้ว จิตจะเข้าถึงฌานไม่ได้ นิวรณ์นั้น มี ๕ ประการ คือ

๑. กามฉนฺโท ความติดใจในกามคุณ

๒. พยาปาโท ความคุมแค้น

๓. ถีนมิทฺธํ ความท้อใจและซึมเซา

๔. อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจํ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ

๕. วิจิกิจฺฉา ความลังเลใจ

กิเลสทั้ง ๕ ประการนี้ แม้แต่ประการใดประการหนึ่งเข้าครองอำนาจในจิตใจ ใจจะเสียคุณภาพอ่อนกำลัง เสียปัญญาไปทันที และจะมีลักษณะหมองมัว คิดอ่านอะไรไม่ได้เหตุผลที่แจ่มแจ้ง บางทีถึงกับมืดตื้อ คิดอะไรไม่ออกเอาทีเดียว.

กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ตรัสเรียกว่า สัมพาธ คือ สิ่งแคบ เมื่อใจไปติดพันอยู่กับสิ่งคับแคบ ก็ย่อมเกิดความรู้สึกคับแคบขึ้นในใจ เหมือนเข้าไปอยู่ในที่แคบฉะนั้นฌานตั้งแต่ปฐมฌานไป ตรัสเรียกว่า โอกาสาธิคม คือ สภาพว่างโปร่ง หรือช่องว่าง ในที่เข้าถึงความสงบ เป็นฌานย่อมรู้สึกปลอดโปร่ง เหมือนเข้าไปอยู่ในที่ว่างโปร่งฉะนั้น เมื่อกามคุณทั้ง ๕ยังมีอำนาจเหนือใจ ยั่วให้ใจเกิดกำหนัดขัดเคืองคุมแค้น ขู่ให้เกิดความท้อใจ อ่อนใจ หมดหวัง ให้เป็นใจอ่อนปั้วเปี้ยซึมกะทือ เผยอหัวไม่ขึ้นหรือกลัวหงอ คำรามให้เกิดความตื่นเต้นตกใจคิดเพ้อไปและให้เกิดรำคาญใจหงุดหงิด ปั่นให้เข้าใจผิด เกิดสองจิตสองใจขึ้น รวนเรไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี เหมือนยืนที่ทางแยก ไม่รู้จะไปทางไหนถูกฉะนั้น กามคุณและกิเลสอันมีลักษณะดังกล่าวนี้ ยังมีอำนาจเหนือจิตใจอยู่เพียงไร จิตใจจะสงบเป็นสมาธิ-เป็นฌานไม่ได้เพียงนั้น เมื่อใดกามคุณและกิลสเหล่านี้สงบลงไป ไม่มีกำลังเหนือจิตใจแล้ว เมื่อนั้นจิตจะสงบเป็นสมาธิและเป็นฌาน จะถึงสภาพโปร่งใจที่เรียกว่า โอกาสาธิคม ทันที ปฐมฌานนั้นท่านกำหนดลักษณะเบื้องต้นว่า สงัดจากกามและอกุศลธรรม ก็หมายถึงสงัดจากกามคุณ ๕ และนิวรณ์ ๕ นั่นเอง แล้วจึงสงบใจลงได้เข้าถึงความเป็นฌานต่อไป ลักษณะของจิตที่สงัดจากกามและอกุศลธรรมนี้ ท่านไม่จัดเป็นองค์ฌาน จัดเป็นเพียงบุพพปโยคฌาน ซึ่งน่าจะได้แก่อุปจารสมาธิ อันเป็นความสงบเฉียดฌาน คือใกล้ต่อความเป็นฌานนั่นเอง ส่วนองค์ของปฐมฌานนั้น ท่านจัดไว้ ๕ คือ วิตก ความตรึก คือความคิด,วิจาร ความตรอง คือ ความอ่าน, ปีติ ความอิ่ม คือความชุ่มชื่น, สุข คือความสบาย, และเอกัคคตา คือความเป็นหนึ่ง ซึ่งหมายถึงสมาธินั่นเอง เมื่อใจเป็นสมาธิประกอบด้วยลักษณะทั้ง ๕นี้แล้ว ชื่อว่าเข้าปฐมฌานได้ องค์ฌาน ๕ ประการนี้ท่านว่าเป็นปฏิปักษ์กันกับนิวรณ์ ๕ ดังนี้

๑. วิตก–ความคิด                   เป็นปฏิปักษ์กับ                 ถีนมิทธะ

๒. วิจาร–ความอ่าน                 เป็นปฏิปักษ์กับ                 วิจิกิจฉา

๓. ปีติ–ความชุ่มชื่น                 เป็นปฏิปักษ์กับ                 พยาปาทะ

๔. สุข–ความสบาย                 เป็นปฏิปักษ์กับ                 อุทธัจจกุกกุจจะ

๕. เอกัคคตา–ความเป็นหนึ่ง     เป็นปฏิปักษ์กับ                 กามฉันทะ

ทั้งนี้ท่านให้อรรถาธิบายไว้ว่า

วิตก = ความคิด ย่อมมีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ และเคล้าคลึงอารมณ์นั้น ซึ่งตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ ซึ่งมีลักษณะหดหู่ท้อถอย ซึมเซา ปล่อยอารมณ์ ไม่อยากคิดอะไร เมื่อความคิดกับความไม่อยากคิดประจันหน้ากัน ก็ย่อมจะมีการต่อสู้หักล้างกันขึ้น และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถึงแก่พ่ายแพ้ไป ฝ่ายชนะก็เข้าครองความเป็นใหญ่ในจิตต่อไป ถ้าความคิดมีกำลังแรงกว่า ความไม่อยากคิดก็จะต้องตกไปจากจิตทันที สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงแนะนำพระมหาโมคคัลลานเถระให้แก้ถีนมิทธะก็ให้ใช้ความคิดนี้เอง เป็นแต่ใช้โวหารว่า สัญญา คือว่าก่อนแต่ยังไม่ง่วงซึมได้กำหนดหมายในอะไร พอความง่วงมาถึงก็พึงใช้สัญญานั้นอีกให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งบ่งความว่าให้ใช้ความคิดเป็นเครื่องแก้ถีนมิทธะ.

วิจาร = ความอ่าน มีลักษณะตรวจตราพิจารณาเหตุผล และข้อเท็จจริงให้ได้ความแน่ชัดย่อมเป็นลักษณะตรงกันข้ามกับวิจิกิจฉา ซึ่งมีลักษณะสงสัย ไม่แน่ใจในเหตุผลหรือข้อเท็จจริงนั้นๆเมื่อลักษณะทั้งสองนี้มาประจันหน้ากันเข้าก็จะเกิดการต่อสู้กัน และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องพ่ายแพ้ไป ถ้าความอ่านมีกำลังเหนือกว่าก็ย่อมชนะ ครองความเป็นใหญ่ในจิตต่อไป ข้อนี้มองเห็นง่าย เราสงสัยในเรื่องใด เมื่อตั้งใจพินิจเรื่องนั้นอย่างเอาจริงเอาจัง เราก็สิ้นสงสัยทันที.

ปีติ = ความชุ่มชื่น มีลักษณะชื่นฉ่ำ สดใส ทำกายให้ผ่องใส จิตใจสดชื่น ย่อมเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับพยาปาทะ ซึ่งมีลักษณะรุ่มร้อน เหี่ยวแห้ง จืดชืด ซีดเผือด เมื่อลักษณะทั้งสองมาประจันหน้ากันเข้า ก็จะต้องเกิดต่อสู้กันขึ้น และจะต้องพ่ายแพ้ไปฝ่ายหนึ่ง ถ้าปีติมีกำลังมากกว่าก็ย่อมชนะ และครองความเป็นใหญ่ในจิตใจต่อไป ความจริงข้อนี้พอมองเห็นได้ คนใจดีนิสัยสดชื่นรื่นเริง ไม่โกรธง่าย ถึงโกรธความถือโกรธคุมแค้นในใจก็มีกำลังอ่อน พลันที่จะจางตกลงไปจากใจ.

สุข = ความสบาย มีลักษณะปลอดโปร่ง ไม่อึดอัดกลัดกลุ้ม เป็นลักษณะตรงกันข้ามกับอุทธัจจะ และกุกกุจจะ ซึ่งมีลักษณะเดือดพล่าน พุพลุ่ง และหลุกหลิก ลุกลน รำคาญ เหมือนน้ำเป็นคลื่นระลอกฉะนั้น เมื่อลักษณะทั้งสองฝ่ายนี้มาประจันหน้ากันเข้า ก็จะต้องเกิดการต่อสู้หักล้างกัน และจะต้องปราชัยไปฝ่ายหนึ่ง ถ้าความสุขสบายมีกำลังเหนือกว่า ก็ข่มอุทธัจจะ และกุกกุจจะลงได้ และเข้าครองความเป็นใหญ่ในจิตใจต่อไป คนมีความสุขย่อมสงบอยู่ได้ ไม่ลุกลนเหมือนคนมีทุกข์ เช่น นั่งสบายก็มักนั่งนานๆ ได้ แต่ถ้าไม่สบายแล้ว แม้เวลานิดหน่อยก็รู้สึกนานถ้าจำเป็นต้องนั่งต่อไปก็เกิดรำคาญหงุดหงิดขึ้นในใจ.

เอกัคคตา หรือ สมาธิ = ความมีใจเป็นหนึ่ง หรือความสงบ มีลักษณะนิ่งๆ เที่ยงตรง ไม่ซัดส่าย หรือสั่นไหว เป็นลักษณะตรงกันข้ามกับกามฉันทะ ซึ่งมีลักษณะกระสับกระส่าย ดิ้นรนกระดุกกระดิกเร้าจิตให้สั่นสะเทือน เมื่อลักษณะทั้งสองนี้มาประจันหน้ากัน ก็จะต้องเกิดการต่อสู้กันขึ้น และจะต้องพ่ายแพ้ไปฝ่ายหนึ่ง เมื่อเอกัคคตามีกำลังกว่า ก็ย่อมชนะและครองอำนาจในจิตเอกัคคตาเป็นลักษณะอย่างอ่อนของอุเบกขา พูดฟังกันง่ายๆ ก็คือว่าเอกัคคตาคืออุเบกขาอย่างอ่อนๆ นั่นเอง พระบรมศาสดาตรัสว่า กามราคะละได้ด้วยอุเบกขา กามฉันทะ กับกามราคะก็มีความหมายอย่างเดียวกัน ฉะนั้น กามฉันทะจึงระงับด้วยเอกัคคตาในปฐมฌาน สมจริงกับพระพุทธอุทานว่า สุขา วิราคตา โลเก กามานํ สมติกฺกโม ความไม่กำหนัดกามคุณ ครอบงำกามราคะได้เป็นความสุข ดังนี้.

เท่าที่อธิบายมานี้ ได้ความว่า

ปฐมฌาน มีลักษณะ ดังนี้

๑. จิตสงบเงียบ กามคุณและอกุศลธรรมสงบไป เป็นใจปลอดโปร่ง วังเวงเหมือนอยู่ป่าเปลี่ยวคนเดียวฉะนั้น.

๒. จิตคิดอารมณ์หนึ่ง คือข้อกัมมัฏฐาน ทำการเคล้าคลึงคลอเคลียอยู่กับอารมณ์นั้น.

๓. จิตอ่านอารมณ์ คือพินิจข้อกัมมัฏฐาน ทำการไต่สวนสืบสวนอยู่ในอารมณ์นั้น.

๔. จิตชุ่มชื่น คือเบิกบานเพราะผ่านพบความสงัดเงียบจากกามคุณ และอกุศลธรรมซึ่งไม่เคยผ่านมาก่อน.

๕. จิตมีความสุข คือสบายใจ โล่งใจ เพราะไม่มีกามคุณ และอกุศลธรรมก่อกวนใจให้วุ่นวาย.

๖. จิตมีความเป็นหนึ่ง คือจิตเป็นอิสระแก่ตัว มีสิทธิ์ทำกิจอันเป็นประโยชน์ตนได้อย่างสบายไม่ต้องพะวงว่า จะมีนายมาบังคับให้ละทิ้งการงานของตนไปเพื่อประโยชน์ของนาย หมายความสั้นๆ ว่า จิตเสรี.

เมื่อได้ความในปฐมฌานเช่นนี้แล้ว จะได้อธิบายลักษณะทุติยฌานสืบไป.


ทุติยฌาน ซึ่งปรากฏตามพระบาลีที่ยกมาตั้งไว้เป็นหลักนั้น และแสดงลักษณะไว้ว่า ระงับวิตกวิจารแล้ว จึงเข้าทุติยฌาน ซึ่งมีความผ่องใสในภายใน ฯลฯ ดังนี้ แปลว่า ทุติยฌาน ละองค์ ๒ข้างต้นของปฐมฌานเสีย เหลือแต่เพียง ๓ องค์ คือ ปีติ สุข กับเอกัคคตา และมีลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้น คือ ผ่องใสกับเป็นหนึ่งเด่นของใจ ซึ่งยังไม่มีในปฐมฌาน เพราะในปฐมฌานนั้น จิตต้องคิดอ่านอารมณ์ คือ ข้อธรรมกัมมัฏฐานง่วนอยู่ ยังไม่วางมือในอารมณ์ได้ จิตจึงต้องสังโยคกับอารมณ์อันเป็นภายนอกอยู่ตลอดเวลา จึงยังไม่มีลักษณะผ่องใส และเป็นหนึ่งเด่นได้ ครั้นมาถึงฌานที่ ๒นี้ วิตกวิจารระงับไป อารมณ์ภายนอกก็ต้องระงับไปด้วย จึงมีแต่จิตดวงเดียวเสวยอารมณ์ภายในคือ ปีติ สุข อันเกิดจากความสงบนั่นเองอย่างชื่นฉ่ำ ผู้ดำรงอยู่ในฌานชั้นนี้จึงเป็นผู้นิ่งๆ ชื่นบานณ ภายในใจ ถ้าจะพูดให้ชัดว่า นั่งอมยิ้มก็ได้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงอธิบายคำว่า อริยดุษณี ก็ทรงชี้เอาอาการของผู้เข้าทุติยฌาน โดยใจความว่า ภิกษุเข้าทุติยฌาน มีใจผ่องใสในภายใน ไม่คิดอ่านอะไร และไม่ส่งใจไปอื่น มีหน้าตาชื่นบาน ไม่พูดจา และไม่เคลื่อนไหวอิริยาบถ หรืออากัปกิริยาใดๆ นั่งนิ่งๆ อยู่อย่างนี้แล เรียกว่า อริยดุษณี ดังนี้ เมื่อว่าตามหลักทุติยฌานในพระบาลีนี้ ต้องว่าประกอบด้วยองค์ ๕ เหมือนกัน แต่พระโบราณาจารย์ท่านกำหนดไว้เพียง ๓ องค์เท่านั้น เป็นอันได้ความว่าทุติยฌานมีลักษณะแห่งจิตที่พึงสำเหนียกไว้ ดังนี้

๑. จิตไม่คิดอ่านอะไร วางความคิดอ่านอารมณ์ คือ กัมมัฏฐานแล้ว เหมือนคนทำธุระเสร็จแล้ว กำลังพักผ่อนฉะนั้น.

๒. จิตผ่องใสและเป็นหนึ่งเด่น คือจิตไม่สังโยคกับอารมณ์อันเป็นภายนอก ที่จะทำให้มีอาการกระเพื่อม เป็นริ้วระลอกน้อยๆ จึงเกิดมีอาการผ่องแผ้วและเด่นชัดขึ้น เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆฉะนั้น.

๓. จิตชื่นบาน ด้วยอำนาจความสงบ.

๔. จิตสบาย ด้วยอำนาจความสงบ.

๕. จิตเป็นหนึ่งยิ่งขึ้น เพราะปราศจากอารมณ์อันเป็นภายนอกเข้าควบคู่กับจิต คงมีแต่อารมณ์ภายใน คือ ปีติ สุข เท่านั้น.

เมื่อได้ความในทุติยฌานแล้วเช่นนี้ จะได้อธิบายลักษณะตติยฌานสืบไป.

ตติยฌาน ตามลักษณะที่ปรากฏในพระบาลีที่อัญเชิญมาตั้งไว้เป็นหลักนั้น คือ สิ้นกำหนัดในปีติแล้ว จึงเข้าตติยฌาน ซึ่งเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย (คือนามกาย)อยู่ โดยนัยนี้เป็นอันว่าต้องละองค์ที่ ๓ ของปฐมฌานเสียอีก คงเหลือแต่ ๒ องค์ คือ สุขกับเอกัคคตา แต่มีลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นในฌานชั้นนี้อีก ๓ คือ อุเบกขา สติ และสัมปชัญญะ ฉะนั้นจึงคงมีองค์ ๕ เหมือนกัน แต่พระโบราณาจารย์ท่านกำหนดไว้เพียง ๒ องค์เท่านั้น.

ทำไมในฌานชั้นนี้จึงต้องกำจัดปีติ เป็นเรื่องที่ควรรู้ไว้ ปีตินั้นมีลักษณะทั้งอ่อนและรุนแรง

ท่านจำแนกตามลักษณะที่พอกำหนดได้ ๕ ลักษณะ ดังนี้

๑. ขุทฺทกาปีติ ปีติเล็กน้อย มีลักษณะชื่นๆ เพียงนิดหน่อย เหมือนฝอยน้ำกระเซ็นถูกกายฉะนั้น.

๒. ตรุณาปีติ ปีติอ่อนๆ มีลักษณะเย็นกาย เย็นใจ ชื่นใจ เหมือนลมอ่อนๆ พัดมาเฉื่อยๆต้องกายพอเย็นสบายฉะนั้น.

๓. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน มีลักษณะชุ่มชื่น แผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กายทั่วทุกเส้นขนเหมือนอาบน้ำเย็นทั่วทั้งตัว ได้รับความชุ่มเย็นดีฉะนั้น.

๔. โอกฺกนฺติกาปีติ ปีติซู่ซ่ามีลักษณะชื่นฉ่ำ ทำให้เกิดอาการขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหลหัวใจเต้นแรงตึ้กตั้ก เหมือนคนลงแช่ในน้ำเย็นนานๆ เกิดอาการหนาวสั่นขึ้นฉะนั้น.

๕. อุพฺเพงฺคาปีติ ปีติตื่นเต้น มีลักษณะฟูขึ้น ทำให้จิตใจเบากายเบาและพองโตขึ้น บางทีถึงกับทำให้ลอยไปในอากาศได้ เหมือนคนที่ได้รับสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต เช่น ได้รับการยกย่องหรือบำเหน็จรางวัลจากผู้หลักผู้ใหญ่โดยไม่นึกไม่ฝัน ย่อมเกิดความตื่นเต้นลิงโลด ถึงกับกระโดดโลดเต้นอย่างเด็กๆ ก็ได้ฉะนั้น.

เมื่อปีติมีลักษณะดังกล่าวมา แม้เพียงปีติเล็กน้อยก็สามารถทำใจให้กระเพื่อมหรือไหวนิดๆเหมือนน้ำใสๆ ที่ใส่ไว้ในภาชนะตั้งไว้ในที่ไม่มั่นคง เมื่อคนเดินไปเดินมาย่อมทำให้น้ำในภาชนะนั้นมีริ้วน้อยๆ ขึ้นได้ ปีติจึงเป็นอันตรายของอุเบกขาสุข ซึ่งเป็นองค์สำคัญของตติยฌาน จำเป็นต้องกำจัดเสีย ปีติดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจความพอใจยินดีรับเสวยอยู่ ไม่ดำรงใจให้เป็นกลางไว้ เมื่อเห็นโทษของปีติแล้ว ต้องการเสวยสุขประณีตสุขุม จึงวางความพอใจในปีติเสีย ทำสติสัมปชัญญะกำกับใจให้เป็นกลางยิ่งขึ้น ปีติก็ค่อยจางไปโดยลำดับ ในที่สุดปีติก็หายหมดไปจากใจ คงยังเหลือแต่สุขสุขุมประณีตกระชับกับอุเบกขา ท่านจึงเรียกว่า อุเบกขาสุข และใช้เป็นชื่อฌานของชั้นนี้ในที่บางแห่งด้วย เมื่อปีติจางไปหมดแล้ว ก็สามารถเข้าตติยฌาน และดำรงฌานไว้ตามต้องการได้.

ส่วนสุขในฌานชั้นนี้ต่างจากสุขในฌานที่ ๑-๒ ซึ่งผ่านมาแล้ว สุขในฌานที่ ๑-๒ เป็นสุขเวทนาชัดๆ แผ่คลุมทั้งทางกายทางใจ ส่วนสุขในฌานที่ ๓ นี้ เป็นสุขเวทนาที่สุขุมใกล้ไปทางอุเบกขา เป็นความสุขทางใจโดยเฉพาะ ไม่คลุมไปถึงรูปกาย ที่ว่าเสวยสุขด้วยกายนั้นหมายนามกาย มิใช่รูปกาย ฌานชั้นนี้พระอริยเจ้าชมเชยว่าเป็น สุขวิหาร ก็โดยฐานที่เป็นสุขประณีตสุขุมในภายใน ไม่กระเทือนถึงรูปกาย สามารถหลบทุกขเวทนาทางกายได้ ทั้งอาจระงับอาพาธได้ด้วย.

เป็นอันได้ความว่า ตติยฌานมีลักษณะเป็นที่สังเกต ดังต่อไปนี้

๑. จิตจางปีติ คือหมดความรู้สึก ดูดดื่มชุ่มชื่นดังในฌานก่อน.

๒. จิตเป็นกลาง คือวางเฉยไม่รับเสวยปีติ.

๓. จิตมีสติควบคุม คือสติมีกำลังแก่กล้าขึ้น มีอำนาจควบคุมใจให้ดำรงเป็นกลางเที่ยงตรง.

๔. จิตมีสัมปชัญญะกำกับ คือจิตมีความรู้สึกตัวเองชัดขึ้น รู้เท่าอาการของจิตใจในขณะนั้นทันทุกอาการ.

๕. จิตเสวยสุขุมสุข คือเสวยสุขประณีต ณ ภายในด้วยนามกาย ปราศจากความรู้สึกทางรูปกาย ตัดกระแสสัมพันธ์ทางรูปกายได้.

๖. จิตถึงความเป็นหนึ่ง คือเป็นจิตดวงเดียว มีอารมณ์น้อย สุขุมประณีต.

เมื่อได้ความในตติยฌานเช่นนี้แล้ว ควรทำความเข้าใจในจตุตถฌานต่อไป.

จตุตถฌาน ตามลักษณะที่ปรากฏในพระบาลี ดังที่ยกมาตั้งไว้เป็นหลักนั้น คือ ละสุข ทุกข์และดับโสมนัส โทมนัส ได้ก่อนแล้ว จึงเข้าจตุตถฌาน ซึ่งไม่มีสุข ทุกข์ มีแต่อุเบกขา กับสติและความบริสุทธิ์ของจิตอยู่.

เป็นปัญหาที่น่าคิดข้อหนึ่ง คือ ทุกข์ และโทมนัส น่าจะละได้ และดับไปตั้งแต่ฌานชั้นต้นๆมาแล้ว ไฉนจึงจะต้องมาละและดับในชั้นนี้อยู่อีก? การที่จะแก้ปัญหาข้อนี้ตก จะต้องนึกถึงความจริงข้อหนึ่งว่า สุข ทุกข์ และโสมนัส โทมนัส เป็นเวทนา ซึ่งมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ เมื่อสุขเวทนามีในที่ใด ทุกขเวทนาก็ต้องมีในที่นั้น โสมนัสมีในที่ใด โทมนัสก็จะต้องมีในที่นั้นด้วย ในเมื่อมันเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นในฌานที่ ๔ นี้ จึงต้องมีการละสุข ทุกข์ และโสมนัส โทมนัส เป็นเบื้องต้นก่อน สุขทุกข์และโสมนัสโทมนัสในเบื้องต้นนี้เกิดมาจากลมอัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า-ออกนั่นเอง เพราะลมหายใจนี้เป็นหนามของจตุตถฌาน คือ คอยเสียดแทงให้เกิดสุขทุกข์ และโสมนัสโทมนัสอยู่เสมอ ถ้ายังระงับลมหายใจเข้า-ออกไม่ได้ตราบใด สุขทุกข์และโสมนัสโทมนัสก็จะต้องบังเกิดมีอยู่ตราบนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงจับจุดได้ว่า ลมหายใจเป็นสิ่งที่ควรผ่อนบรรเทาให้ละเอียดลงไปโดยลำดับ จนกว่ามันจะระงับไป เมื่อลมหายใจระงับไปก็ชื่อว่าละสุขทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสได้โดยปริยาย แล้วย่อมเข้าถึงฌานที่ ๔ ได้ ซึ่งฌานในชั้นนี้ จิตใจจะรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ มีความเป็นกลาง กับความมีสติและความบริสุทธิ์กำกับใจอยู่เท่านั้น เป็นฌานที่มีเวทนาจืดชืด ใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง นิ่มนวล ไม่มีสิ่งยวนใจ ปราศจากหมองมัวในภายใน ควรแก่การน้อมไปเพื่อทิพยอำนาจได้แล้ว เมื่อว่าตามลักษณะที่ปรากฏในพระบาลี จตุตถฌานก็ประกอบด้วยองค์ ๕เหมือนกัน แต่พระโบราณาจารย์กำหนดไว้เพียง ๒ คือ อุเบกขา กับ เอกัคคตา.

เป็นอันได้ความว่า จตุตถฌานมีลักษณะที่ควรสังเกต ดังต่อไปนี้

๑. ละสุข ทุกข์ ได้ คือ ระงับลมหายใจอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขทุกข์ได้.

๒. ดับโสมนัสโทมนัสได้ คือ ระงับลมหายใจเป็นที่ตั้งของมันได้นั่นเอง.

๓. จิตไม่มีทุกข์ คือ จิตเสวยเวทนาที่จืดชืด ซึ่งไม่กวนความรู้สึก.

๔. จิตเป็นกลาง คือ จิตมีความรู้สึกเป็นกลาง เที่ยงธรรม ซึ่งข้อนี้เป็นข้อสำคัญที่สุดในองค์ฌานที่ ๔ นี้ ท่านจึงเรียกชื่อฌานนี้ว่า อุเบกขาฌาน.

๕. จิตมีสติพละกำกับ คือ สติในชั้นนี้เป็นสติพละ สติสัมโพชฌงค์ และสติสัมมาสติ ซึ่งเป็นองค์ของมรรค เข้าควบคุมจิตใจไว้อย่างกระชับที่สุด จึงมีพละกำลังเพียงพอที่จะเป็นบาทฐานแต่งสร้างทิพยอำนาจได้.

๖. จิตมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง.

หมายเหตุ: องค์ ๕ ของจตุตถฌาน ตามลักษณะในพระบาลี คือ

๑. อทุกขมสุขเวทนา รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์.

๒. อุเบกขา ใจเป็นกลางเที่ยงธรรม.

๓. สติ สติมีกำลังควบคุม.

๔. ปาริสุทธิ จิตใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง.

๕. เอกัคคตา จิตใจสงบเป็นหนึ่ง.




จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-03.htm

ลงสำรองไว้อีกที่ http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11751.0.html

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๒ วิธีเจริญฌาน ๔
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1719 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 02:54:12
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๓ บุพพประโยคแห่งฌาน
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1577 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 02:58:14
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๔ อุปกรณ์แห่งทิพยอำนาจ
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 2 1917 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:03:29
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๕ วิธีปลูกสร้างทิพยอำนาจ
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1827 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:07:41
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๖ วิธีสร้างทิพยอำนาจ มโนมัยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 0 1435 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:11:16
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.603 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 16 พฤศจิกายน 2567 14:21:46