[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
24 พฤศจิกายน 2567 03:01:04 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๓ บุพพประโยคแห่งฌาน  (อ่าน 1578 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 18 สิงหาคม 2559 02:57:32 »



ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง



บทที่ ๓

บุพพประโยคแห่งฌาน


ท่านที่ได้อ่านบทที่ ๑-๒ มาแล้ว ย่อมทราบว่าภูมิจิตของผู้ได้ฌานสูงยิ่งเพียงไร และห่างไกลจากลักษณะจิตใจของมนุษย์สามัญปานฟ้ากับดิน การที่จะก้าวพรวดพราดจากลักษณะจิตใจของคนสามัญขึ้นไปสู่ลักษณะจิตใจของผู้ได้ฌานนั้น ไม่มีทางจะสำเร็จได้ จำจะต้องปรับปรุงลักษณะจิตใจจากความเป็นมนุษย์ผู้ไร้ศีลขึ้นไปสู่ความเป็นผู้มีศีลเสียก่อน เพราะท่านว่า ศีลเป็นที่ตั้งของสมาธิและฌาน ผู้มีศีลสมบูรณ์ดีจึงจะมีสมาธิและฌานได้ ศีลนั้นเมื่อว่าโดยต้นเค้าได้แก่ความเป็นปกติของจิต คือเป็นจิตที่ปราศจากความคิดร้าย ความคิดเบียดเบียน ความคุมแค้นคิดหาช่องทางทำร้ายคนที่ตนเกลียด เป็นจิตที่ปราศจากความคิดโลภเพ่งเล็งหาช่องย่องเบาเอาทรัพย์สินของผู้อื่น และล่วงกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เขาหวงแหน และเป็นจิตที่ปราศจากความเห็นผิดไปจากคลองของมนุษยธรรม มีความเห็นชอบอย่างมนุษย์ที่ดีเขาเห็นกันอยู่ คือเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โลกนี้มี โลกอื่นมี บิดามารดาผู้ให้กำเนิดมี ผู้เกิดผุดขึ้นเอง (เช่น เทวดา) มี ฯลฯ

การรักษาปกติภาพของจิต เป็นการรักษาต้นศีล ส่วนการรักษาศีลตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้นั้น เป็นการรักษาปลายศีล เพราะต้นเหตุของความดี-ความชั่วอยู่ที่จิต ถ้าจิตชั่วคือมีกิเลสและทุจริตแล้ว ย่อมบังคับกายวาจาทำชั่ว ถ้าจิตดีคือเป็นปกติ กิเลสและทุจริตไม่ครองอำนาจเหนือจิต จิตย่อมไม่บังคับกายวาจาให้ทำชั่ว การรักษาจิตจึงเป็นการรักษาต้นเหตุ การรักษากายวาจาเป็นการรักษาปลายเหตุ แต่ก็เป็นความจำเป็นอยู่เหมือนกัน ที่จะต้องรักษาตามสิกขาบทพุทธบัญญัติ เพื่อปิดกั้นอกุศลบาปธรรม มิให้มันหลั่งไหลออกไปทางกายวาจา และป้องกันอกุศลบาปธรรม มิให้มันได้ช่องเข้ามาครอบงำย่ำยีจิตใจ หากแต่ว่าการรักษาศีลตามข้อห้ามนั้นไกลต่อความเป็นสมาธิ ไม่พอจะเป็นบาทฐานของสมาธิและฌานได้ ต้องรักษาศีลที่จิตใจ คือรักษาความเป็นปกติของจิตใจให้มั่นคงแข็งแรง เมื่อจิตใจดำรงอยู่ในความเป็นปกตินานๆ เข้า ก็ย่อมมีลักษณะผ่องแผ้ว ชื่นบาน เยือกเย็นและมั่นคง ควรแก่ความเป็นพื้นฐานที่ตั้งของสมาธิต่อไปการรักษาศีลอย่างนี้แลเป็นศีลในองค์อริยมรรค ซึ่งเป็นศีลเสมอภาค ผู้เป็นพระอริยบุคคลไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ย่อมมีศีลชนิดนี้เสมอกัน ส่วนศีลที่รักษาตามสิกขาบทพุทธบัญญัตินั้นย่อมไม่สม่ำเสมอกัน เป็นการรักษาศีลให้เหมาะสมกับภาวะที่เป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์เท่านั้น เมื่อรักษาได้ดีก็เป็นทางเจริญปีติปราโมทย์ ทำให้จิตใจผ่องแผ้วขึ้นได้ รักษาศีลตามสิกขาบทมีวิธีอย่างไร ไม่ประสงค์จะกล่าวในที่นี้ ผู้ประสงค์จะทราบโปรดศึกษาจากหนังสืออื่นๆ ซึ่งมีผู้เขียนไว้มากแล้ว.

อนึ่ง การอบรมจิตให้เป็นสมาธิและฌานนั้น ย่อมต้องอาศัยอุบายอันแยบคายจึงจะสำเร็จง่าย อุบายอันแยบคายนั้นท่านเรียกว่า กรรมฐาน ท่านแยกไว้เป็น ๒ ประเภท คือ สมถกรรมฐานประเภทหนึ่ง, วิปัสสนากรรมฐานประเภทหนึ่ง จะกล่าวในบทนี้เฉพาะแต่สมถกรรมฐาน ซึ่งเป็นประเภทอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิและฌาน ส่วนวิปัสสนากรรมฐานอันเป็นประเภทอบรมจิตใจให้เกิดปัญญานั้น จะกล่าวในบทอื่น.

การอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิและฌานตามหลักสมถกรรมฐาน จัดเป็นบุพพประโยคของฌาน จะข้ามเลยไปเสียมิได้ จำเป็นต้องใช้สมถกรรมฐานข้อหนึ่งหรือหลายข้อ เป็นเครื่องอบรมจิตใจเสมอไป จิตใจจึงจะเป็นสมาธิและฌานได้ดังประสงค์.

สมถกรรมฐานนั้น พระบรมศาสดาตรัสไว้ในที่ต่างๆ โดยปริยายหลากหลาย พระโบราณาจารย์ประมวลมาไว้ในที่เดียวกัน มีจำนวนถึง ๔๐ ประการ จัดเป็นหมวดได้ ๗ หมวด คือ

กสิณ ๑๐

อสุภะ ๑๐

อนุสสติ ๑๐

อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑

จตุธาตุววัตถาน ๑

พรหมวิหาร ๔

อรูปกรรมฐาน ๔

มีวิภาคดังจะกล่าวต่อไป การที่แสดงอุบายทำความสงบจิตใจไว้มากเช่นนี้ ก็เพื่อให้เหมาะแก่จริตอัธยาศัยของเวไนย ซึ่งมีจริตอัธยาศัยต่างๆ กัน มิได้หมายให้ทุกคนเจริญทั้ง ๔๐ ประการจนครบ.

กสิณ คือวงกลมทำด้วยวัตถุต่างๆ ขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว สำหรับเป็นเครื่องเพ่งทำจิตใจให้สงบ มี ๑๐ ประการ คือ

๑. ปฐวีกสิณ วงกลมทำด้วยดินบริสุทธิ์สีอรุณ คือ สีเหลืองปนแดง เช่น สีหม้อใหม่ วิธีทำเอาดินบริสุทธิ์สีอรุณมาขยำให้เหนียวดีแล้ว ลาดลงบนแผ่นกระดานวงกลม ขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว ขัดให้เกลี้ยงงาม ปราศจากมลทินเช่นเส้นหญ้า เป็นต้น ทำให้เกลี้ยงเกลา เป็นเงาได้ยิ่งดี.

๒. อาโปกสิณ วงกลมทำด้วยน้ำใสบริสุทธิ์ ปราศจากสีและตะกอน วิธีทำ เอาน้ำบริสุทธิ์ใส่ภาชนะที่มีขอบปากกว้างกลมมน วัดผ่าศูนย์กลางได้คืบ ๔ นิ้ว ใส่น้ำเต็มขอบปาก.

๓. เตโชกสิณ วงกลมทำด้วยไฟ วิธีทำ ก่อไฟด้วยฟืนไม้แก่น ให้ลุกโชนเป็นเปลวสีเหลืองเหลืองแก่ และเอาแผ่นหนังหรือเสื่อลำแพนมาเจาะรูเป็นวงกลม กว้างขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔นิ้ว ตั้งบังกองไฟให้มองเห็นได้โดยช่องวงกลมเท่านั้น.

๔. วาโยกสิณ เพ่งลมที่พัดสัมผัสอวัยวะ หรือพัดยอดไม้ยอดหญ้าให้หวั่นไหว กสิณนี้ทำเป็นวงกลมหรือดวงกลมไม่ได้ ท่านจึงแนะให้เพ่งลมที่พัดอยู่โดยธรรมชาติของมันนั้นเป็นอารมณ์จนมองเห็นกลุ่มลมหรือสายลมที่พัดไปมานั้นติดตา หลับตามองเห็น ท่านห้ามเพ่งลมที่พัดปั่นป่วนเช่น ลมหัวด้วน เป็นต้น.

๕. นีลกสิณ วงกลมทำด้วยสีเขียว วิธีทำ เอาสิ่งที่มีสีเขียวบริสุทธิ์ เช่น ดอกบัวเขียว หรือผ้าเขียว ฯลฯ มาทำ ถ้าเป็นดอกไม้พึงบรรจุลงในภาชนะที่มีขอบปากกลม วัดผ่าศูนย์กลางได้คืบ๔ นิ้ว ให้เต็มขอบปาก อย่าให้ก้านหรือเกสรปรากฏ ให้แลเห็นแต่กลีบสีเขียว ถ้าเป็นผ้าพึงขึงกับไม้วงกลมขนาดนั้นให้ตึงดี อย่าให้ยู่ยี่ ถ้าได้ผ้าเนื้อละเอียดเป็นเหมาะดี สีเขียวนี้หมายเขียวคราม ที่เรียกว่านิลนั่นเอง.

๖. ปีตกสิณ วงกลมทำด้วยสีเหลือง วิธีทำ เอาสิ่งที่มีสีเหลืองบริสุทธิ์ เช่น ดอกกรรณิการ์เหลือง หรือผ้าสีเหลืองเป็นต้น มาทำโดยทำนองเดียวกับนีลกสิณ สีเหลืองนี้ หมายถึงสีเหลืองอ่อนหรือเหลืองนวลสีเขียวใบไม้หรือมรกต เป็นสีที่ใกล้กับสีเหลืองอ่อน ท่านว่าอนุโลมเข้ากับกสิณนี้ได้.

๗. โลหิตกสิณ วงกลมทำด้วยสีแดง วิธีทำ เอาสิ่งที่มีสีแดง เช่น ดอกบัวแดง ผ้าแดง ฯลฯมาทำ โดยทำนองเดียวกันกับนีลกสิณ.

๘. โอทาตกสิณ วงกลมทำด้วยสีขาว วิธีทำ เอาสิ่งที่ขาวสะอาด เช่น ดอกบัวขาว ผ้าขาวฯลฯ มาทำ โดยทำนองเดียวกันกับนีลกสิณ.

๙. อากาสกสิณ วงกลมอากาศ วิธีทำ เจาะฝาเป็นรูปกลม วัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว หรือเจาะเสื่อลำแพนขนาดเดียวกันนั้นก็ได้ เพ่งดูอากาศภายในช่องวงกลมนั้น หรือจะขดไม้เป็นวงกลมขนาดนั้นตั้งไว้บนปลายหลักในที่แจ้ง แล้วเพ่งดูอากาศภายในวงกลมนั้นก็ได้.

๑๐. อาโลกกสิณ วงกลมแสงสว่าง วิธีทำ เจาะก้นหม้อเป็นรูกลม วัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔นิ้ว ตามตะเกียงหรือเทียนไขไว้ภายในหม้อ ให้แสงสว่างส่องออกมาตามรูที่เจาะไว้ และหันทางแสงสว่างนั้นให้ไปปรากฏที่ฝาหรือกำแพง แล้วเพ่งดูแสงสว่างที่ส่องเป็นลำออกไปจากรูที่ไปปรากฏที่ฝาหรือกำแพงนั้น.

อาโลกกสิณนี้ ปรากฏในสมถกรรมฐาน ตามที่พระโบราณาจารย์ประมวลไว้ แต่ที่ปรากฏในพระบาลี ในพระไตรปิฎกหลายแห่งแทนที่ ข้อนี้เป็น วิญญาณกสิณ คือ เพ่งวิญญาณ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะกสิณ ๑-๘ เป็นรูปกสิณ ส่วนกสิณ ๙-๑๐ เป็นอรูปกสิณ ซึ่งใช้เป็นอารมณ์ของอรูปฌานคือ อากาสานัญจายตนะ และ วิญญาณัญจายตนะ ตามลำดับกัน แสงสว่างน่าจะใกล้ต่อเตโช หรือมิฉะนั้นก็ใกล้ต่อวิญญาณ ซึ่งมีลักษณะสว่างเช่นเดียวกัน เมื่อเพ่งลักษณะสว่างแล้วน่าจะใกล้ต่อวิญญาณมากกว่า ถ้าเป็นวิญญาณกสิณจะทำวงกลมด้วยวัตถุไม่ได้ ต้องกำหนดดวงขึ้นในใจที่เดียวให้เป็นดวงกลมขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว อาโลกะและวิญญาณมีลักษณะใกล้กันมาก และอำนวยผลแก่ผู้เพ่งทำนองเดียวกัน คือ นำทางแห่งทิพยจักษุอย่างดีวิเศษ ผิดกันแต่ลักษณะการเพ่งเท่านั้น คือ วิญญาณกสิณต้องเพ่งข้างในไม่ใช่เพ่งข้างนอกเหมือนอาโลกกสิณ และอำนวยตาทิพย์ดีกว่า วิเศษกว่าอาโลกกสิณ.

วิธีปฏิบัติ พึงชำระตนให้สะอาด นุ่งห่มผ้าสะอาด ไปสู่ที่เงียบสงัด ปัดกวาดบริเวณให้สะอาด ตั้งตั่งสูงคืบ ๔ นิ้ว สำหรับนั่งอันหนึ่ง สำหรับวางวงกสิณอันหนึ่ง นั่งห่างจากวงกสิณประมาณ ๕ ศอก นั่งในท่าที่สบาย วางหน้าให้ตรง ทอดตาลงแลดูดวงกสิณพอสมควรแล้วหลับตานึกดู ถ้ายังจำไม่ได้พึงลืมตาขึ้นดูใหม่ แล้วหลับตานึกดู โดยทำนองนี้ จนกว่าจะเห็นวงกสิณในเวลาหลับตาได้ เมื่อได้แล้วพึงไปนั่งเพ่งดวงกสิณในที่อยู่ให้ชำนาญ จนสามารถทำการขยายดวงกสิณให้ใหญ่ และย่นให้เล็กได้ตามต้องการ เพียงเท่านี้ชื่อว่าสำเร็จกสิณแล้ว จิตใจจะสงบเป็นสมาธิตามลำดับ คือ ชั่วขณะ เฉียดฌาน และเป็นฌาน ๑-๒-๓-๔ ตามลำดับไป ในการเลื่อนชั้นของฌานนั้นต้องค่อยๆ เลื่อนไป อย่าด่วนก้าวหน้าในเมื่อฌานที่ได้แล้วตนยังไม่ชำนาญในการเข้าออกการยั้งอยู่ การนึกอารมณ์ของฌาน และการพิจารณาองค์ของฌาน จะพลาดพลั้งแล้วจะเสียผลทั้งข้างหน้าข้างหลัง.

ส่วนวาโยกสิณ เป็นกสิณที่ทำวงกลมไม่ได้ และยกไปมาไม่ได้ ท่านแนะว่าพึงแลดูลมที่พัดไปมาโดยปกตินั้น แล้วจดจำลักษณะอาการเอาไว้ แล้วไปสู่ที่สงัด ปฏิบัติตนโดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่งนึกถึงอาการลมพัด จนอาการนั้นปรากฏชัดแก่ใจ ชื่อว่าได้กสิณข้อนี้แล้ว ต่อไปก็พึงปฏิบัติตามนัยที่กล่าวมาแล้ว.

อสุภะ คือ สิ่งที่ไม่สวยงาม น่าพึงเกลียดพึงหน่าย เมื่อนึกเปรียบเทียบกับอัตภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะทำให้เกิดความสังเวช คือ ซาบซึ้งถึงความจริง อันเป็นลักษณะประจำของสังขารร่างกายเป็นอย่างดี ท่านแนะให้นำมาพิจารณาเป็นอารมณ์ เพื่อเกิดสังเวชและเบื่อหน่าย บรรเทาราคะ คือความกำหนัดในอัตภาพ และบรรเทาอัสมิมานะ คือความสำคัญผิดคิดว่าเป็นตัวตนของตนจริงจัง อสุภะในที่นี้หมายเฉพาะที่เป็นซากศพ หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของคนตายแล้วตลอดถึงของสัตว์ด้วย พระโบราณาจารย์ท่านประมวลมาไว้ ๑๐ ชนิด คือ

๑. อุทธุมาตกะ ศพขึ้นอืด

๒. วินีลกะ ศพขึ้นพองเขียว

๓. วิปุพพกะ ศพเน่าเฟะ น้ำหนองไหล

๔. วิฉินทกะ ศพขาดเป็นท่อนๆ

๕. วิขายิตกะ ศพที่ถูกสัตว์กัดกิน

๖. วิขิตตกะ ศพที่กระจัดกระจาย

๗. หตวิขิตตกะ ศพที่ถูกสับฟันแทง

๘. โลหิตกะ ศพที่มีเลือดแดงๆ ไหล

๙. ปุฬุวกะ ศพที่หนอนไชคลาคล่ำ

๑๐. อัฏฐิกะ กระดูกชนิดต่างๆ

ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย ทรงแสดงไว้ ๙ ลักษณะ คือ

๑. ศพที่ตายแล้วขึ้นอืด พองเขียว-เน่าเฟะ

๒. ศพที่สัตว์มีสุนัขเป็นต้น กำลังกัดกินอยู่

๓. โครงกระดูกสัตว์มีเอ็นรัดยึดไว้ ยังมีเนื้อเลือด

๔. โครงกระดูกสัตว์มีเอ็นรัดยึดไว้ เปื้อนเนื้อเลือด

๕. โครงกระดูกสัตว์มีเอ็นรัดยึดไว้ ปราศจากเนื้อเลือด

๖. กระดูกที่กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง

๗. กระดูกที่เป็นสีขาวๆ

๘. กระดูกที่เป็นสีเหลืองๆ

๙. กระดูกที่ผุยุ่ยเป็นผงละเอียดแล้ว

ส่วนทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ทรงแสดงไว้โดยเป็นสัญญา มี ๕ ลักษณะ คือ

๑. อัฏฐิกสัญญา กำหนดหมายกระดูก

๒. ปุฬุวสัญญา กำหนดหมายหมู่หนอนไชศพ

๓. วินีลกสัญญา กำหนดหมายศพขึ้นพองเขียว

๔. วิฉินทกสัญญา กำหนดหมายศพที่เป็นท่อนๆ

๕. อุทธุมาตกสัญญา กำหนดหมายศพขึ้นอืด

พระโบราณาจารย์คงประมวลเอาลักษณะที่ใกล้กัน รวมเป็นลักษณะเดียว และเพิ่มลักษณะบางอย่างซึ่งน่าจะมี จึงรวมเป็น ๑๐ ลักษณะ อย่างไรก็ตามจุดหมายของการพิจารณาอสุภะอยู่ที่ให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในความจริงของอัตภาพ โดยมีอสุภะเป็นประจักษ์พยานเท่านั้น จะใช้อสุภะในลักษณะใดก็ได้ แม้ที่สุดแต่แผลในตัวของตัว ซึ่งเกิดจากเหตุต่างๆ ก็นำมาพิจารณาเป็นอสุภะได้.

วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ ท่านแนะนำไว้หลายปริยาย ตามสมควรแก่อสุภะนั้นๆ ประมวลแล้วเป็นดังนี้

๑. ไปพิจารณาอสุภะในป่าช้า หรือในที่ใดที่หนึ่งซึ่งมีอสุภะ ถ้าศพนั้นยังบริบูรณ์ต้องเป็นเพศเดียวกันจึงจะไม่เกิดโทษ เมื่อได้นิมิตแล้วพึงกลับมานั่งนึกถึงภาพอสุภะนั้นในที่อยู่ให้แจ่มชัดในห้วงนึกยิ่งขึ้น.

๒. ไปนำเอาอสุภะที่พอนำมาได้ ประดิษฐานไว้ในที่อันสมควรแล้ว เพ่งพิจารณาให้เกิดภาพติดตา นึกเห็นได้โดยนัยข้อ ๑.

๓. นึกหมายภาพอสุภะขึ้นในใจ ให้ปรากฏเป็นภาพที่น่าเบื่อหน่ายในห้วงนึกของตัวเองโดยที่ไม่ต้องไปดูอสุภะก็ได้.

เมื่อจะเจริญกรรมฐาน พึงปฏิบัติตนโดยนัยที่กล่าวไว้ในเรื่องกสิณ.

อนุสสติ คือ การนึกถึงบุคคลและธรรม หรือความจริงอันจะก่อให้เกิดความเลื่อมใส ความซาบซึ้งเหตุผล หรือความสงบใจอันใดอันหนึ่ง เป็นอุบายวิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงวางไว้ให้สาธุชนทั่วไปทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์ ก็ปฏิบัติได้สะดวก แม้จะมีภารกิจในการครองชีพ หรือธุรกิจของหมู่คณะ ของพระศาสนาล้นมือก็อาจปฏิบัติได้ เพราะเป็นอารมณ์ที่หาได้ง่ายสะดวกสบายและทำได้ในที่แทบทุกแห่ง ทั้งในบ้าน ทั้งในป่า ทั้งในที่ชุมชน เว้นอานาปานสติข้อเดียวที่จำต้องทำในที่สงัดเงียบ ปลอดโปร่ง จึงจะสำเร็จผล อนุสสติ มี ๑๐ ประการ คือ

๑. พุทธานุสสติ นึกถึงพระพุทธเจ้า คือบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นผู้มีคุณธรรมสูงสุดน่าอัศจรรย์ และน่าเคารพบูชา เป็นพระบรมศาสดาผู้ชี้มรรคาแห่งความพ้นทุกข์แก่เวไนยนิกร เป็นผู้ส่องโลกให้สว่าง ฯลฯ ให้นึกด้วยความเลื่อมใสไปในพระพุทธคุณต่างๆ ตามที่ตนได้สดับมา โดยเฉพาะที่ขึ้นใจก็คือพุทธคุณ ๙ บท มี อรหํ เป็นต้น บทใดบทหนึ่งหรือทั้งหมด.

๒. ธัมมานุสสติ นึกถึงพระธรรม คือสภาวะที่จริงแท้ อันพระบรมศาสดาทรงค้นพบ แล้วนำมาบัญญัติสั่งสอน เป็นภาวะละเอียดประณีต ดำรงความจริงของตนยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นสภาวะที่เที่ยงธรรมไม่เข้าใครออกใคร ใครปฏิบัติผิดธรรม ก็ได้รับโทษเป็นทุกข์ ใครปฏิบัติถูกธรรมก็ได้รับอานิสงส์เป็นสุข เป็นเช่นนี้ทุกกาลสมัย ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างความจริงอันนี้ได้ฯลฯ โดยเฉพาะแล้วพึงนึกไปตามพระธรรมคุณ อันเป็นที่ขึ้นใจ ๖ บท มี สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโมเป็นต้น บทใดบทหนึ่งหรือทั้งหมด.

๓. สังฆานุสสติ นึกถึงพระสงฆ์ คือชนหมู่หนึ่งซึ่งเป็นพระสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามแบบแผนสิกขาสาชีพของสมณะที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัติไว้เป็นอย่างดี ถึงความเป็นสักขีพยานของพระบรมศาสดาจารย์ในธรรมที่ทรงบัญญัติไว้ คือเป็นผู้ปฏิบัติตามได้ และประจักษ์ผลสมจริงตามที่ทรงบัญญัติไว้นั้น มีอยู่ ๔ จำพวก คือ (๑.) พระโสดาบัน (๒.) พระสกิทาคามี (๓.) พระอนาคามี (๔.) พระอรหันต์ เป็นบุคคลที่น่ากราบไหว้เคารพสักการบูชา เป็นนาบุญของชาวโลก ฯลฯ โดยเฉพาะพึงนึกไปตามคุณบทของพระสงฆ์ ๙ บท มี สุปฏิปนฺโน ภควโตสาวกสงฺโฆ เป็นต้น บทใดบทหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้.

๔. สีลานุสสติ นึกถึงศีล คือคุณชาติอันหนึ่งซึ่งมีลักษณะทำใจให้เป็นปกติ-ให้เย็น-ให้ไม่เดือดร้อนกินแหนงใจ และควบคุมความประพฤติทางกาย ทางวาจาให้ปราศจากโทษ แผ่ความสงบสุข-ความร่มเย็นไปยังผู้อื่น-สัตว์อื่นๆ ทั่วไป แล้วนึกถึงศีลของตนที่ตนได้ปฏิบัติรักษาอยู่นั้นว่าปฏิบัติรักษาได้ดีเพียงไร.

๕. จาคานุสสติ นึกถึงทานบริจาค คือคุณชาติอันหนึ่งซึ่งมีลักษณะทำใจให้กว้างขวาง-ให้เกิดเมตตากรุณา-ให้กล้าสละของรักของหวงแหนเพื่อประโยชน์ เป็นคุณชาติที่ค้ำชูโลกให้ดำรงอยู่ในสันติภาพ-สันติสุข โลกดำรงความเป็นโลกที่มีสุขพอสมควร ด้วยอำนาจความเสียสละของบุคคลแต่ละบุคคลพอสมควร หากโลกขาดทานบริจาคค้ำจุน โลกจะถึงความปั่นป่วนและล่มจม ชีวิตของมนุษย์แต่ละชีวิตที่เป็นมาได้ ก็ด้วยอำนาจทานบริจาคของบิดามารดาหรือผู้อุปถัมภ์ ไม่มีชีวิตใดที่ปราศจากการอุปถัมภ์อุ้มชูของผู้มีเมตตาแล้วดำรงอยู่ได้ แล้วพึงนึกถึงทานบริจาคของตนเองว่า ตนได้สำนึกในคุณทานบริจาคและได้ทำทานบริจาคมาแล้วอย่างไรบ้าง.

๖. เทวตานุสสติ นึกถึงเทวดา หรือบุคคลผู้ทำความดีด้วยกาย-วาจา-ใจ แล้วอุบัติขึ้นในสวรรค์ ถึงความเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ เลิศกว่า ประณีตกว่ากามคุณอันเป็นของมนุษย์ แล้วนึกถึงคุณธรรมที่อำนวยผลให้ไปเกิดในสวรรค์ มีศรัทธาความเชื่อกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น แล้วนึกเปรียบเทียบตนกับเทวดาว่ามีคุณธรรมเหมือนกันหรือไม่.

๗. อุปสมานุสสติ นึกถึงพระนิพพาน คือธรรมชาติอันสงบประณีตอันหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงเข้าแล้ว ย่อมหมดทุกข์-หมดโศก-หมดโรค-หมดภัย มีใจปลอดโปร่งเย็นสบาย หมดความวุ่นวาย-กระเสือกกระสนทุรนทุราย ตัดกระแสวงกลมได้ขาดสะบั้น ไม่ต้องหมุนไปในคติกำเนิดเกิดแก่ตายอีกเลย. ธรรมชาตินั้น พระบรมศาสดาทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาบัญญัติเปิดเผยให้ปรากฏขึ้น และบอกแนวทางปฏิบัติไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้เข้าถึงธรรมชาตินั้น.

ธรรมชาตินั้นเป็น อมตะ-มีสุข-สิ้นสุด ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับโลก โลกมีลักษณะที่เรียกว่า“ตาย” คือความแตก-ขาด-ทำลาย เป็นลักษณะประจำตัว โลกมีลักษณะที่เรียกว่า “ทุกข์” คือความลำบาก-คับแค้นบีบคั้น เป็นลักษณะประจำตัว โลกมีลักษณะที่เรียกว่า “ไม่แน่” คือมีความเปลี่ยนแปลง ไม่สิ้นสุด-ไม่หยุดยั้ง เป็นลักษณะประจำตัว โลกเป็นด้านนอก พระนิพพานเป็นด้านใน คนสามัญมองเห็นแต่ด้านนอกไม่มองด้านใน จึงไม่ได้ความเย็นใจ เมื่อใดบุคคลมามองด้านในศึกษาสำเหนียกด้วยดี พินิจด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์แล้ว เมื่อนั้นเขาจะพบเห็นธรรมชาติอันปราศจากทุกข์ คือ พระนิพพาน.

ในที่ใดมีทุกข์ ความสิ้นทุกข์ก็จะต้องมีในที่นั้น ก็ในที่ใดมีความรุ่มร้อน ความสิ้นแห่งความรุ่มร้อนจะต้องมีในที่นั้น ความย่อคือเมื่อมีร้อนก็ย่อมมีเย็นแก้ มีมืดก็ย่อมมีสว่างแก้ เมื่อมีทุกข์ก็จะต้องมีสุขแก้เป็นแท้.

การนึกถึงพระนิพพานโดยบัดนี้ก็ดี โดยนัยที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากตำราแบบแผนก็ดีจักเป็นอุบายทำใจให้สงบเย็นลงได้.

๘. มรณานุสสติ นึกถึงความตาย คือสภาวะที่จริงแท้อันหนึ่ง ซึ่งเมื่อมาสู่ชีวิตแล้วทำให้ชีวิตขาดสะบั้นลง แต่ก่อนเคยไปมาได้ ดื่มกินได้ นั่งนอนได้ ทำกิจต่างๆ ได้ หัวเราะและร้องไห้ได้ครั้นมรณะมาถึงแล้ว กิริยาอาการเหล่านั้นย่อมอันตรธานไปทันที มรณะนี้มีอำนาจใหญ่ยิ่งที่สุด ไม่มีมนุษย์คนใดเอาชนะมันได้ นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดก็ยังไม่สามารถเอาชนะมันได้ พระบรมครูของเราได้รับยกย่องว่า เป็นยอดปราชญ์มีอำนาจใหญ่ยิ่งกว่าเทวาและมนุษย์หลายเท่าพันส่วน ทรงยืนยันพระองค์ว่า “บรรลุถึงธรรมอันไม่ตาย” ก็ยังทรงต้องทอดทิ้งพระสรีรกายไว้ในโลก ให้เป็นภาระแก่พุทธบริษัทจัดการถวายพระเพลิง มีพระบรมธาตุเป็นสักขีพยานอยู่ในปัจจุบันนี้. ใครเล่าที่ไม่ต้องตาย? ตลอดกาลอันยืดยาวนานของโลกนี้ มีคนเกิดคนตายสืบเนื่องกันมาจนนับประมาณไม่ถ้วนแล้ว มีใครบ้างซึ่งเกิดแต่แรกมีมนุษย์ในโลกยั่งยืนมาจนถึงบัดนี้.

อนึ่ง ความตายนี้ จะมาสู่ชีวิตของบุคคลโดยไม่มีนิมิตบอกเหตุล่วงหน้าด้วย ไม่มีใครกำหนดรู้วันเวลาตายของตนได้ล่วงหน้านานๆ ที่จะได้มีเวลาเตรียมตัว และกะการงานให้ทันกำหนดฉะนั้นจึงไม่ควรวางใจในชีวิต กิจใดที่ควรทำ ควรรีบทำกิจนั้นเสีย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง.

การนึกถึงความตายแล้วเกิดใจฝ่อ หมดเยื่อใยในชีวิต ไม่อยากจะทำกิจอะไร งอมืองอเท้ารอคอยความตายเช่นนี้ ไม่สำเร็จประโยชน์ เป็นการคิดผิด พึงกลับความคิดเสียใหม่ พึงนึกถึงความตายแล้วเตือนสติตนให้ตื่นตัวขึ้น ไม่ประมาทหลับใหลอยู่ รีบทำกรณีย์ที่ควรทำให้ทันเวลา รีบพากเพียรชำระล้างจิตใจของตนให้สะอาด ปราศจากกิเลส ก่อนความตายมาถึง ดังนี้จึงจะสำเร็จประโยชน์ตามความประสงค์ของกรรมฐานบทนี้.

๙. กายคตาสติ นึกถึงสิ่งเป็นกาย คือส่วนหนึ่งๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นอัตภาพร่างกาย ที่เรียกว่า อาการ ๓๒ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับพังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตามันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร สมอง นึกถึงสิ่งเหล่านี้แต่ละส่วนๆ โดย วณฺโณ-สี คนฺโธ-กลิ่น รโส-รส โอโช-โอชะ สณฺฐาโน-สัณฐาน ให้ปรากฏชัดเจนแก่ใจ.



๑. บางอาจารย์ว่า เยื่อในสมอง.

ขั้นแรกพึงท่องจำอาการ ๓๒ นี้ให้แม่นยำ ว่าได้ทั้งตามลำดับ ทั้งทวนลำดับ ขั้นสองสำเหนียกลักษณะของอาการ ๓๒ นั้นแต่ละสิ่ง โดยสี กลิ่น รส โอชะ สัณฐาน ขั้นสามพึงดูของจริงให้เห็นด้วยตาแม้สักอย่างหนึ่งพอให้เป็นภาพติดตาไว้บ้าง ขั้นสี่ทำการนึกถึงอาการ ๓๒ นี้ทั้งหมดไปตามลำดับ แล้วทวนกลับหลายๆ เที่ยว ขั้นห้าเมื่ออาการใดใน ๓๒ นั้นปรากฏชัดเจนแก่ใจ ที่สุดพึงถือเอาอาการนั้นทำการนึกเห็นให้มากติดต่อเรื่อยๆ จนเกิดเป็นภาพชัดเจนที่สุด ขยายให้ใหญ่ให้มากได้ตามต้องการ ชื่อว่าสำเร็จกายคตาสติแล้ว.

กายคตาสตินี้ พระผู้มีพระภาคทรงพรรณนาอานิสงส์ไว้มากมาย มีอำนวยผลให้สำเร็จอภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ เป็นต้น.

๑๐. อานาปานสติ นึกถึงลมหายใจเข้าออก คือสภาพปรุงแต่งกายให้ดำรงสืบต่อไปได้เมื่อใดสภาพนี้หยุดชะงักไป ไม่ทำการสืบต่อ เมื่อนั้นชีวิตก็ขาด ที่เรียกว่าตาย วิญญาณธาตุอันอาศัยอยู่ในร่างกายก็ออกจากร่างไป นี้ว่าโดยลักษณะสามัญ ส่วนลักษณะพิเศษนั้นอาการไม่หายใจย่อมมีได้แก่บุคคล (๑.) ผู้อยู่ในครรภ์มารดา (๒.) ผู้ดำน้ำ (๓.) ผู้สลบชนิดหนึ่ง และ (๔.) ผู้เข้าจตุตถฌาน ในเวลาปกติย่อมต้องมีอาการหายใจ คือ สูดลมเข้าสู่ร่างกาย ผายลมออกจากร่างกายเสมอ แม้ในเวลาหลับ สภาพปรุงแต่งกายนี้ก็ทำหน้าที่อยู่เรื่อยๆ ไป.

วิธีปฏิบัติในกรรมฐานบทนี้ พึงอยู่ในป่าในร่มไม้ หรือในที่ว่าง ซึ่งเป็นที่สงัด อากาศโปร่งเย็นสบาย อาบน้ำชำระกายให้สะอาด นุ่งห่มผ้าสะอาด ปราศจากกลิ่นเหม็นสาบ นั่งในท่าที่เรียกว่าบัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดลมหายใจเข้า-ออก อันเป็นไปอยู่โดยปกตินั้นให้รู้ทันทั้งเวลาลมเข้า เวลาลมออก แล้วกำหนดระยะเวลาลมเข้าออกสั้นยาวให้รู้ทัน ต่อนั้นกำหนดที่ที่ลมสัมผัส คือต้นลมสัมผัสที่ปลายจมูก กลางลมสัมผัสที่ทรวงอก ปลายลมสัมผัสที่ตรงสะดือ ในเวลาลมออกตรงกันข้ามกับที่กล่าวมานี้ คือทวนลำดับออกไป ในระยะแรกๆ สติจะปรากฏประหนึ่งว่าแล่นไปตามอาการของลมเข้าลมออก แต่เมื่อทำไปนานๆ ในระยะต่อๆ ไปสติจะใหญ่โตครอบคลุมร่างกายแม้ทั้งหมดไว้ จะไม่มีอาการแล่นตามอาการอีกต่อไป และลมหายใจก็จะปรากฏละเอียดเข้าทุกที จนปรากฏว่าไม่มีในที่สุด จะเห็นว่าลมปรุงกายซ่านอยู่ทั่วทุกส่วน แม้กระทั่งปลายเส้นขนเมื่อมาถึงขั้นนี้ชื่อว่าได้ผลในการเจริญอานาปานสติกรรมฐานขั้นต้นแล้ว พึงเจริญให้แคล่วคล่องเชี่ยวชาญต่อไป.

อานาปานสติกรรมฐานนี้ สามารถตัดกระแสวิตกได้ดี เหมาะสำหรับคนวิตกจริต คือคนชอบคิดชอบนึก เป็นกรรมฐานสุขุม ประณีต เหมาะสำหรับมหาบุรุษ พระบรมศาสดาทรงบำเพ็ญกรรมฐานข้อนี้มาก เวลาทรงพักผ่อน ที่เรียก “ปฏิสัลลีนวิหาร” ก็ทรงอยู่ด้วยอานาปานสติสมาธิวิหารเสมอ ทรงแสดงอานิสงส์ของกรรมฐานบทนี้ไว้มากมายว่า กายก็ไม่ลำบาก จักษุก็ไม่ลำบากจิตก็พ้นจากอาสวะ ละความคิดเกี่ยวกับเสียงที่เคยชินได้ กำหนดน่าเกลียดในสิ่งไม่น่าเกลียดได้กำหนดไม่น่าเกลียดในสิ่งน่าเกลียดได้ กำหนดน่าเกลียดได้ทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด ทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด กำหนดไม่น่าเกลียดได้ทั้งในสิ่งน่าเกลียด ทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด ได้ฌานสมบัติโดยไม่ยากตั้งแต่ฌานที่ ๑ ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ กำหนดรู้เวทนาได้ดี ได้บรรลุอรหัตตผล หรืออนาคามีในปัจจุบัน ฯลฯ.


ลงสำรองไว้อีกที่ http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11753.0.html

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 18 สิงหาคม 2559 02:58:14 »

อาหารเรปฏิกูลสัญญา กำหนดความน่าเกลียดในอาหาร สิ่งที่เรานำมากลืนกินเข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกายเรียกว่าอาหาร โดยปกติเป็นสิ่งที่เราไม่เกลียด ถ้ารู้สึกเกลียดขึ้นเมื่อไร ก็จะกลืนเข้าไปไม่ได้เมื่อนั้น สิ่งที่เราไม่เกลียดนั้นเป็นเครื่องส่องให้รู้ว่า เรามีฉันทะราคะในสิ่งนั้นอยู่แล้ว อาหารที่เราพอใจเราก็จะอยาก เมื่อความอยากรุนแรงก็ก่อเกิดความโลภและทุจริตเป็นลำดับไป อาหารเป็นสิ่งที่เราต้องกินทุกวัน ถ้าเราไม่พิจารณาให้ดีก็จะเป็นปากทางให้บาปอกุศลไหลเข้าตัวเราทุกวันฉะนั้นจึงควรกำหนดความน่าเกลียดในอาหาร เพื่อตัดต้นเหตุแห่งบาปอกุศลเหมือนตัดต้นไฟแต่หัวลมฉะนั้น ที่จะเห็นความน่าเกลียดของอาหารได้ ต้องกำหนดเทียบเคียงเวลาทั้งสอง คือเวลาเข้ากับเวลาออก ได้แก่เวลากินกับเวลาถ่าย เวลากินรวมหมู่กันกินได้ เวลาถ่ายจะทำเช่นนั้นไม่ได้ น่าเกลียด ฯลฯ พึงเพ่งดูอาหารที่ระคนอยู่ในภาชนะเทียบกับอาหารเก่าในท้อง และในเวจกุฎีว่ามีสภาพเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน แต่นั้นก็จะเกิดปฏิกูลสัญญาขึ้น แทบจะกลืนกินอาหารนั้นไม่ได้แต่ต้องขืนใจกินด้วยนึกเพียงว่า เป็นเครื่องยังชีพให้สืบต่อไป โดยนัยนี้ความอยากความติดรสอาหาร ความโลภอาหารและความทุจริตเนื่องด้วยอาหารก็จะบรรเทาเบาบางลง และหายไปโดยลำดับ จิตใจย่อมสงบระงับไม่ดิ้นรน จัดว่าได้ผลในกรรมฐานข้อนี้ในขั้นต้นแล้ว พึงเจริญให้มาก ให้ชำนิชำนาญสืบไป.

จตุธาตุววัตถาน กำหนดธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อันมีอยู่ในกายของตนโดยกำหนดเอาว่า สิ่งที่มีลักษณะแข้นแข็งในร่างกายรวมเป็นธาตุดิน สิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบซึมซาบไหลไปมาได้ในร่างกายรวมเป็นธาตุน้ำ สิ่งที่มีลักษณะร้อนอบอุ่นในร่างกายรวมเป็นธาตุไฟสิ่งที่มีลักษณะพัดไปมาในร่างกายรวมเป็นธาตุลม กำหนดให้มองเห็นสิ่งนั้นๆ ชัดเจน จนเห็นชัดในใจว่า กายนี้เต็มไปด้วยธาตุทั้ง ๔ หรือเป็นกลุ่มธาตุทั้ง ๔ แล้วกำหนดสิ่งที่มีลักษณะเป็นธาตุดินน้ำ ไฟ ลม ในภายนอก ที่มาสัมผัสเข้ากับกายนี้ หรือที่เราต้องกินดื่มใช้สอยอยู่ทุกวันนั้นว่า เป็นแต่ธาตุทั้งสิ้น จนเห็นชัดขึ้นในใจว่า “ธาตุกินธาตุ” เมื่อใด เมื่อนั้นชื่อว่าปฏิบัติกรรมฐานนี้สำเร็จผลในขั้นต้นแล้ว พึงปฏิบัติให้ชำนิชำนาญต่อไป.

พรหมวิหาร อยู่อย่างพรหม บุคคลจำพวกหนึ่งซึ่งทำความดีแล้วได้อุบัติในพรหมโลกเรียกว่าพรหม พรหมนั้นมีใจสะอาด นิ่มนวล อ่อนโยน ควบคุมใจไว้ในอำนาจได้ดี มีคุณธรรมประจำใจ ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ธรรม ๔ ประการนี้จึงได้นามว่า “พรหมวิหาร” การอบรมใจโดยยึดเอาลักษณะของพรหมเป็นตัวอย่าง และปลูกธรรม ๔ ประการนั้นขึ้นในใจของตน ทำตนให้เหมือนพรหม เรียกว่าเจริญพรหมวิหาร พึงเจริญไปตามลำดับข้อธรรม ๔ ประการ คือ

๑. เมตตา ความรักที่บริสุทธิ์ มีลักษณะมุ่งดี หวังดี ตรงกันข้ามกับความขึ้งเคียดเกลียดชังและเป็นความรักที่ปราศจากกามราคะ (คือความกำหนัด) เป็นชนิดความรักระหว่างมารดาบิดากับบุตรธิดา.

๒. กรุณา ความเอ็นดู มีลักษณะทนดูดายไม่ได้ พอใจช่วยเหลือเกื้อกูลให้เขาได้รับสุข โดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยากและสิ่งตอบแทน ตรงกันข้ามกับความพยาบาทมาดร้าย.

๓. มุทิตา ความชื่นใจ มีลักษณะร่าเริงชื่นบาน พลอยมีส่วนในความสุขความเจริญของผู้อื่น ตรงกันข้ามกับความริษยา ซึ่งไม่อยากให้ใครได้ดีมีสุขกว่าตนหรือเท่าเทียมตน.

๔. อุเบกขา ความเที่ยงธรรม มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ใจหนักแน่น รู้จักสิ่งเป็นได้-เป็นไม่ได้ ดีแล้ว มองเห็นความเป็นไปตามกรรมของสัตว์แจ้งชัดในใจ ควรช่วยก็ช่วย ไม่ควรช่วยก็ไม่ช่วย เป็นผู้รู้จักประมาณ ทำให้คุณธรรม ๓ ข้อข้างต้นสมดุลกันด้วย ใจจะสงบเย็นด้วยคุณธรรมข้อนี้อย่างมากทีเดียว จึงสามารถข่มกามราคะได้อย่างดี.

วิธีปฏิบัติ ปลูกคุณธรรม ๔ ประการนี้ขึ้นในใจทีละข้อก่อน ทำใจให้มีลักษณะตามคุณธรรม ๔ ประการนี้ทีละข้อแล้ว แผ่น้ำใจเช่นนั้นไปยังผู้อื่น ตั้งต้นแต่คนที่เรารักอยู่แล้ว (เว้นคนต่างเพศกัน) ไป คนที่เป็นกลาง – คนที่เกลียดชัง – คนทั่วไป – สัตว์ทั่วไปตลอดสากลโลกทุกทิศทุกทาง เมื่อปฏิบัติได้ถึงขั้นนี้ชื่อว่าสำเร็จอัปปมัญญาเจโตวิมุตติ ใจจะมีอิทธิพลเกิดคาดหมายกำจัดศัตรูภาพได้ดี กรุณาพละกำจัดทารุณภาพได้ดี มุทิตาพละกำจัดความทุกข์โศกของผู้อื่นได้ดีอุเบกขาพละกำจัดกามราคะในเพศตรงกันข้ามได้ดี สตรีกับบุรุษผู้มีอุเบกขาพละจะเป็นมิตรสนิทสนมกันได้ โดยไม่ละเมิดอธิปไตยของกันและกัน.

อรูปกรรมฐาน คือสิ่งมิใช่รูป เป็นนามธรรมที่ปรากฏแก่ใจ หรือที่รู้สึกได้ด้วยใจ ท่านให้นำมาเป็นบทบริกรรม คือเป็นข้ออบรมจิตให้สงบ มี ๔ ประการ คือ

๑. อากาศ ได้แก่ความเวิ้งว้าง-ว่างเปล่า-ปลอดโปร่ง-ไม่มีที่สิ้นสุด-ไม่ติดขัด ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ และไม่อาจสัมผัสได้ด้วยกาย สิ่งที่เห็นได้หรือสัมผัสได้ในอากาศนั้นเป็น อากาสธาตุคือธาตุในอากาศ เช่น ก้อนเมฆ หรือละอองน้ำ ฯลฯ

๒. วิญญาณ ในที่นี้ได้แก่ธาตุรู้ ซึ่งเป็นธาตุวิเศษศักดิ์สิทธิ์ มีรู้เป็นลักษณะ ประกอบด้วยแสงสีคล้ายเปลวไฟฉะนั้น ธรรมดาเปลวไฟย่อมมีความร้อนเป็นลักษณะ ประกอบด้วยแสง-สี คือมีแสงสว่างสีต่างๆ ฉันใด วิญญาณก็มี “รู้” เป็นลักษณะ ประกอบด้วยแสง-สี คือมีแสงสว่าง สีต่างๆฉันนั้น วิญญาณที่ยังมีสี เป็นวิญญาณที่ยังไม่บริสุทธิ์ วิญญาณที่ปราศจากสี เป็นวิญญาณที่บริสุทธิ์ ซึ่งมีลักษณะใสบริสุทธิ์ดุจแก้วมณีโชติ.

๓. ความไม่มีอะไร ได้แก่ความโปร่งใจ ปราศจากความอึดอัด-ความคับแค้น-ความรำคาญเหมือนหนึ่ง ตนคนเดียวอยู่โดดเดี่ยวในสุญญวิมาน ฉะนั้น.

๔. ความสงบ ความประณีต ได้แก่ความดำรงมั่นคงของจิต ละเอียดอ่อน ประณีตสละสลวย ไม่เป็นคลื่นระลอก กระฉอกกระฉ่อนวูบวาบ.

วิธีปฏิบัติ วางสัญญาในอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปและอรูปเสีย กำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์อันเดียว คือ อรูปกรรมฐานนี้อันใดอันหนึ่ง เมื่อวางสัญญาในอารมณ์ต่างๆ ได้ และจิตกำหนดจดจ่ออยู่แต่อารมณ์อันเดียวนี้ได้ แม้จะดำรงอยู่ได้เพียงชั่วขณะหนึ่งก็ชื่อว่าสำเร็จอรูปฌานนี้แล้ว พึงฝึกหัดให้เชี่ยวชาญชำนาญยิ่งขึ้นไป.

อรูปฌานนี้ เป็นฌานประณีตโดยอารมณ์ เรียกชื่อเช่นนี้ตามอารมณ์ที่เป็นอรูปเท่านั้นเข้าใจกันโดยมากว่า ผู้จะเจริญอรูปฌานนี้ได้จะต้องเจริญรูปฌานสำเร็จมาก่อน ความจริงอรูปกรรมฐานนี้ เป็นอารมณ์ของสมถะชนิดหนึ่ง แต่เป็นอารมณ์ละเอียดประณีตกว่ารูปกรรมฐานเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จะจับตั้งต้นเจริญอรูปกรรมฐานทีเดียวก็ย่อมจะได้ เป็นแต่ทำได้ยากสักหน่อย ไม่เหมือนผู้เคยผ่านรูปกรรมฐานมาก่อน.

ความแปลกกันแห่งอากาสกสิณ กับอากาสฌาน นี้อยู่ที่อากาสกสิณ เพ่งวงกลมอากาศ พุ่งออกไปข้างนอก ส่วนอากาสฌานเพ่งอากาศโดยไม่กำหนดข้างหน้าข้างหลัง วางจิตเป็นกลาง ใส่ใจแต่อากาศอย่างเดียว เมื่อจิตสงบก็จะเห็นมีแต่อากาศเวิ้งว้าง ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีอะไรซึ่งเป็นรูปธรรมปรากฏในความรู้สึกในขณะนั้น ปรากฏประหนึ่งว่า ตนคนเดียวอยู่โดดเดี่ยวในนภากาศฉะนั้น อรูปฌานนี้จะไว้กล่าวพิสดารในบทข้างหน้า.

สมถกรรมฐาน ๔๐ ประการนี้ แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ รูปกรรมฐาน และอรูปกรรมฐาน ฌานที่สำเร็จขึ้นโดยอาศัยรูปกรรมฐานเป็นอารมณ์ เรียกว่ารูปฌาน ฌานที่สำเร็จขึ้นโดยอาศัยอรูปกรรมฐานเป็นอารมณ์เรียกว่า อรูปฌาน.

และท่านแบ่งออกโดยกิจเป็น ๒ ประเภทเหมือนกัน คือ กรรมฐานที่เป็นอารมณ์ชนิดใช้ความคิดคำนึงใคร่ครวญเหตุผลเข้าประกอบเพื่ออบรมจิตให้สงบนั้นประเภทหนึ่ง ผู้บำเพ็ญสมถ-กรรมฐานประเภทนี้เรียกว่า “วิปัสสนายานิก” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้บำเพ็ญภาวนาที่อาศัยความเห็นเหตุผลหรือความจริงในกรรมฐานข้อนั้นชัดใจ เป็นพาหนะนำจิตไปสู่ความสงบ อีกประเภทหนึ่ง คือ กรรมฐานที่เป็นอารมณ์สงบ-ประณีตโดยธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ความคิดคำนึงใคร่ครวญเหตุผลเข้าประกอบ เพียงแต่กำหนดนิ่ง สำเหนียกอยู่แต่ในอารมณ์เดียวนั้นเรื่อยไปจนจิตสงบลง ผู้บำเพ็ญสมถกรรมฐานประเภทนี้ เรียกว่า “สมถยานิก” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้บำเพ็ญภาวนาที่อาศัยความสงบเป็นยานพาหนะนำจิตไปสู่ความสงบ ท่านจะเลือกบำเพ็ญประเภทไหนก็แล้วแต่จริตอัธยาศัยของท่านจะเหมาะกับกรรมฐานประเภทไหนเป็นประมาณ จะถือเอาความยากง่ายเป็นประมาณหาได้ไม่ ฉะนั้น ก่อนแต่ท่านจะเลือกกรรมฐานบทใดมาเป็นบทบริกรรม คือ ข้ออบรมจิตนั้น ควรตรวจจริตอัธยาศัยของตนให้รู้แน่ชัดเสียก่อน ดังต่อไปนี้.

จริต ๖

พระบรมศาสดาทรงจำแนกจริต คือ กิเลส และคุณธรรมที่ท่องเที่ยวอยู่ในจิตใจของบุคคลฝ่ายละ ๓ รวมเป็น ๖ ประการ คือ

๑. ราคจริต คนกำหนัดกล้า มีราคะ คือความกำหนัดในกามคุณท่องเที่ยวอยู่ในจิตมากจนเป็นเจ้าเรือน คือ ครองความเป็นใหญ่ในจิตใจ ดลใจให้กำหนัดในกามคุณมาก ติดพันในกามคุณจนถึงลุ่มหลงมัวเมา ราคะเป็นประดุจหนามยอกใจ การแก้ราคะก็ต้องใช้วิราคะ คือ หนามวิเศษเหมือนหนามยอกก็เอาหนามบ่งฉะนั้น ราคะตั้งลงที่กามคุณ คือ รูปสวยงามน่ารักน่าชื่นใจ, เสียงไพเราะ, กลิ่นหอม, รสอร่อย, สัมผัสนุ่มละเอียดอ่อน ราคะทำให้มองไม่เห็นตำหนิที่น่าเบื่อหน่ายของกามคุณ ซึ่งมีอยู่โดยธรรมดาแล้ว วิธีแก้จึงต้องพลิกเหลี่ยมขึ้นมองดูความน่าเบื่อหน่ายน่าเกลียดอันมีอยู่ในกามคุณนั้น ฉะนั้นกรรมฐานเนื่องด้วย อสุภะ-ปฏิกูล จึงเป็นสัปปายะ คือเหมาะแก่คนราคจริต เป็นไปเพื่อความเจริญ แม้ปัจจัยเลี้ยงชีพก็ต้องเป็นสิ่งปอนๆ-เศร้าหมอง-หยาบ จึงจะเป็นไปเพื่อถอนราคะออกจากใจได้.

๒. โทสจริต คนใจร้าย มีโทสะ คือความดุร้ายท่องเที่ยวอยู่ในจิตใจมากจนเป็นเจ้าเรือนคือ ครองความเป็นใหญ่ในจิตใจ ดลใจให้ดุร้าย กริ้วโกรธ แม้ในเหตุเล็กๆ น้อยๆ อันไม่สมควรโกรธก็โกรธ ประดุจผียักษ์สิงใจฉะนั้น ธรรมดาผีย่อมกลัวเทวดาฉันใด อธรรมคือโทสะก็ย่อมพ่ายแพ้แก่ธรรมฉันนั้น ธรรมอันจัดเป็นเครื่องแก้โทสะนั้น ต้องเป็นธรรมฝ่ายเย็น สุภาพ อ่อนโยน จึงมีลักษณะตรงกันข้ามกับโทสะ เมื่อโทสะซึ่งเปรียบเหมือนผียักษ์สิงใจอยู่ จึงควรเชิญธรรมซึ้งเปรียบเหมือนเทวดามาสิงใจแทนที่เสีย เพราะธรรมดายักษ์ย่อมกลัวเทวดาฉันใด ธรรมจะกำจัดอธรรมออกไปฉันนั้น ฉะนั้น กรรมฐานอันเนื่องด้วยคุณธรรมฝ่ายสูง เช่น เมตตา กรุณา ฯลฯ พุทธคุณธรรมคุณ สังฆคุณ ฯลฯ จึงเป็นสัปปายะ คือ เหมาะแก่คนมีโทสจริต เป็นไปเพื่อความเจริญ แม้ปัจจัยเลี้ยงชีพก็ต้องเป็นสิ่งสวยงาม-ประณีต-สุขุม จึงจะเป็นไปเพื่อถอนโทสะออกจากจิตใจ.

๓. โมหจริต คนหลง มีโมหะ คือความหลงท่องเที่ยวอยู่ในจิตใจมากจนเป็นเจ้าเรือน คือครองความเป็นใหญ่ในจิตใจมาก ดลใจให้มืดมัว อั้นตู้ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี แม้มีวัยผ่านมานานควรเป็นวิญญูชนได้แล้ว ก็ยังคงมีลักษณะนิสัยเหมือนเด็กๆ อยู่ และดลใจให้มองเห็นในแง่ที่ตรงกันข้ามกับเหตุผลและความจริงเสมอ ประดุจกลีสิงใจฉะนั้น กลี คือผีชนิดหนึ่ง มีลักษณะมืดดำ ทำให้เป็นคนหลง คลั่งเพ้อไปต่างๆ ปราศจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในเมื่อมันเข้าสิงใจ โมหะท่านเปรียบเหมือนกลีนั้น ผีกลีกลัวแสงสว่าง ฉะนั้นการแก้โมหะจึงต้องอาศัยธรรมะ ซึ่งมีลักษณะสว่าง-กระจ่างแจ้งเป็นปัจจัย เช่น การอยู่ใกล้ได้ปรึกษาไต่ถามท่านผู้พหูสูตเนืองๆ ข้อธรรมที่มีเหตุผลกระจ่างในตัว ไม่มีแง่ชวนให้สงสัย กรรมฐานที่เหมาะแก่คนจำพวกนี้ ต้องเป็นกรรมฐานที่เนื่องด้วยกสิณและอรูป ซึ่งเป็นอุบายเปิดใจให้สว่าง แม้ปัจจัยเลี้ยงชีพก็ต้องเป็นสิ่งโปร่งบาง-เปิดเผย-สะดวก ที่อยู่ถ้าเป็นที่โปร่งๆ หรือกลางแจ้งเป็นเหมาะที่สุด.

๔. สัทธาจริต คนเจ้าศรัทธา มีศรัทธาความเชื่อท่องเที่ยวอยู่ในจิตมากจนเป็นเจ้าเรือน คือครองความเป็นใหญ่ในจิตใจ ดลใจให้เชื่อสิ่งต่างๆ ง่ายจนเกือบจะกลายเป็นงมงายไป ความจริงศรัทธาเป็นคุณธรรม เมื่อมีอยู่ในใจย่อมหนุนให้ทำความดีได้ง่ายเหมือนมีทุนสำรองอยู่แล้ว ย่อมสะดวกแก่การค้าหากำไรฉะนั้น คนเจ้าศรัทธาเป็นคนใจบุญสุนทาน ชอบดี รักงาม ทำอะไรก็ประณีตบรรจง เป็นคนใจละเอียดอ่อน บำเพ็ญกรรมฐานได้แทบทุกอย่าง แต่ที่เหมาะที่สุด คืออนุสสติ และกรรมฐานที่เกี่ยวกับการคิดค้นหาเหตุผล เช่น จตุธาตุววัตถาน ฯลฯ.

๕. พุทธิจริต คนเจ้าปัญญา มีพุทธิคือความรู้ท่องเที่ยวอยู่ในจิตมากจนเป็นเจ้าเรือน คือครองความเป็นใหญ่อยู่ในจิตใจ ดลใจให้รู้อะไรๆ ได้ง่ายๆ จนเกือบจะกลายเป็นคนสู่รู้ไป ความจริง พุทธิ เป็นคุณธรรมนำให้รู้เหตุผล และความจริงได้ง่าย คนจำพวกนี้ชอบทำอะไรๆ ด้วยความรู้และก็มักผิดพลาดเพราะความรู้เหมือนกัน ฉะนั้น กรรมฐานอันเป็นที่สัปปายะแก่คนจำพวกนี้ต้องเป็นกรรมฐานที่ประคับประคองจิตใจไปในเหตุผลที่ถูกต้อง ทำให้ปัญญามีหลักฐานมั่นคง เช่นอุปสมานุสสติ เป็นต้น.

๖. วิตักกจริต คนเจ้าความคิด มีวิตักกะคือความคิดท่องเที่ยวอยู่ในจิตใจมากจนเป็นเจ้าเรือน คือครองความเป็นใหญ่ในจิตใจ ดลใจให้คิดให้อ่านอยู่เรื่อย จนกลายเป็นฟุ้งซ่านหรือเลื่อนลอยไป ความจริงวิตักกะเป็นคุณธรรม เมื่อมีอยู่ในใจย่อมหนุนให้เป็นคนช่างคิดช่างนึกในเหตุผลและความจริงจากแง่ต่างๆ เป็นทางเรืองปัญญา แต่ถ้ามากเกินไปจะตกไปข้างฝ่ายโมหะ กลายเป็นหลงทิศทางไปได้ ที่เขาเรียกว่า “ความคิดตกเหว” ไม่รู้จักแก้ไขตนออกจากความผิด ได้แต่คิดเพ้อไปท่าเดียว กรรมฐานที่เหมาะแก่คนจำพวกนี้ต้องเป็นกรรมฐานที่ไม่ต้องใช้ความคิด เช่น กสิณ-อรูป และที่เหมาะที่สุดคือ อานาปานสติ.

จริต ๑ – ๓ เป็นอกุศลเจตสิก ๔ – ๖ เป็นอัญญสมานาเจตสิก ใกล้ไปข้างฝ่ายกุศล คนมีจริต ๑ – ๓ เป็นเจ้าเรือนจึงมักทำความชั่วให้ปรากฏ ส่วนคนมีจริต ๔ – ๖ เป็นเจ้าเรือนจึงมักทำความดีให้ปรากฏ.


อัธยาศัย ๖

๑. โลภัชฌาสยะ คนมีความโลภเป็นเจ้าเรือน เป็นคนมักได้-ตระหนี่-หวงแหน.

๒. โทสัชฌาสยะ คนมีโทสะเป็นเจ้าเรือน เป็นคนดุร้าย โกรธง่าย ใจร้อนเหมือนไฟ.

๓. โมหัชฌาสยะ คนมีโมหะเป็นเจ้าเรือน เป็นคนหลงง่ายลืมง่าย ใจมืดมัว ซบเซา มึนซึม.

๔. อโลภัชฌาสยะ คนมีอโลภะเป็นเจ้าเรือน เป็นคนใจบุญสุนทาน เอื้ออารี มีใจพร้อมที่จะสละเสมอ.

๕. อโทสัชฌาสยะ คนมีอโทสะเป็นเจ้าเรือน เป็นคนใจดี-เยือกเย็น มีใจพร้อมที่จะให้อภัยเสมอ.

๖. อโมหัชฌาสยะ คนมีอโมหะเป็นเจ้าเรือน เป็นคนใจผ่องแผ้ว-เปิดเผย มีใจปราศจากมายาสาไถย พร้อมที่จะรับผิดอย่างหน้าชื่นใจบาน ในเมื่อทำความผิด.

คนมีอัธยาศัยฝ่ายอกุศล คือ ๑ – ๓ นั้น เป็นคนหยาบ มักทำความชั่วหยาบทางกาย วาจาใจ ให้ปรากฏ คนมีอัธยาศัยฝ่ายกุศล คือ ๔ – ๖ นั้น เป็นคนละเอียด ประณีต มีกิเลสน้อยเบาบางในขันธสันดาน มักไม่ทำความชั่วหยาบทางกาย วาจา ใจ ให้ปรากฏ มีแต่ทำคุณงามความดีให้ปรากฏทางกาย วาจา ใจ เสมอ คนจำพวกนี้ง่ายแก่การอบรมศีลธรรมในขั้นสูง ถ้าไม่ประมาทและได้กัลยาณมิตรแล้ว อาจปฏิบัติบรรลุมรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบันได้ง่าย.

เมื่อรวมจริตและอัธยาศัยเข้ากันแล้ว พิเคราะห์ดูก็จะได้บุคคล ๓ จำพวก คือ

(๑.) พวกจริตอัธยาศัยหยาบ อินทรีย์อ่อน แนะนำในกุศลสัมมาปฏิบัติยาก.

(๒.) พวกจริตอัธยาศัยปานกลาง อินทรีย์ปานกลาง อาจแนะนำในกุศลสัมมาปฏิบัติได้.

(๓.) พวกจริตอัธยาศัยประณีต อินทรีย์กล้า แนะนำในกุศลสัมมาปฏิบัติง่าย.

ปธานิยังคะ ๕

เมื่อได้พิเคราะห์ดูจริตอัธยาศัยแล้ว พึงพิเคราะห์ดูอัตภาพว่าสมบูรณ์พร้อม เกิดมาจากกุศลสมบัติหรือไม่? เพราะถ้าอัตภาพไม่สมบูรณ์พร้อม ธาตุไม่แข็งแรงเนื่องจากอกุศลสมบัติเป็นปัจจัยขืนไปทำความพากเพียรอย่างขะมักเขม้นเข้าเกิดเจ็บป่วยร้ายแรงถึงธาตุพิการ สติวิปลาสขึ้น ก็จะลงโทษข้อปฏิบัติว่าพาให้เป็นเช่นนั้น เรื่องนี้ได้เกิดเป็นข้อหวาดหวั่นแก่สาธุชนอยู่มาก เลยกลายเป็นเครื่องมือขู่อย่างดีของมารไป ความจริงข้อสัมมาปฏิบัติมีแต่ให้คุณ ไม่ให้โทษเลย ผู้ปฏิบัติตามข้อสัมมาปฏิบัติแล้วเกิดเจ็บป่วยขึ้นนั้น มิใช่เป็นเพราะข้อปฏิบัติ เป็นเพราะเหตุอื่นต่างหาก เมื่อได้สอบสวนดูตัวเองแล้ว เห็นว่าสมบูรณ์พร้อม พอที่จะปฏิบัติพากเพียรได้แล้ว ก็ไม่ควรจะหวาดหวั่นว่าจะเป็นบ้าเป็นหลังไป นอกจากพิเคราะห์อัตภาพแล้ว พึงพิเคราะห์องคคุณอันเป็นประธานและเป็นกำลังหนุนในการปฏิบัติอีกด้วย.

หลักที่ควรพิจารณานั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางไว้แล้ว ดังต่อไปนี้

ภิกษุทั้งหลาย องคคุณอันเป็นที่ตั้งแห่งความเพียร มี ๕ ประการ คือ

๑. สทฺโธ โหติ สทฺทหติ ตถาคตสฺส โพธึ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของตถาคต =เชื่อความรู้ของครู.

๒. อปฺปาพาโธ โหติ อปฺปาตงฺโก สมเวปากินิยา คหณิยา สมนฺนาคโต เป็นผู้มีอาพาธน้อยมีความเดือดร้อนน้อย ประกอบด้วยธาตุในร่างกายอันสำเร็จมาแต่วิบากแห่งกรรมสม่ำเสมอ ไม่เย็นเกินไป ไม่ร้อนเกินไป พอปานกลาง ทนทานต่อการพากเพียร.

๓. อสโฐ โหติ อมายาวี เป็นคนไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นผู้เปิดเผยตนตามเป็นจริงในพระศาสดา หรือในสพรหมจารีผู้วิญญูชน.

๔. อารทฺธวิริโย วิหรติ เป็นผู้พากเพียรละอกุศล เจริญกุศล ขยันขันแข็ง บากบั่นมั่นคง ไม่วางธุระในกุศลธรรม.

๕. ปญฺญวา โหติ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันประเสริฐ ที่ให้เกิดความเบื่อหน่าย เห็นความเกิด-ความตาย และให้ถึงธรรมเป็นที่สิ้นทุกข์โดยชอบ.

เมื่อได้พิเคราะห์ตามหลักนี้แล้ว เห็นว่าตนเป็นผู้พรั่งพร้อมเพื่อปฏิบัติพากเพียรแล้ว พึงเลือกกรรมฐานอันเหมาะแก่จริตอัธยาศัย แล้วแสวงหาที่ประกอบความพากเพียรต่อไป.


สัปปายะ ๔

สถานที่ที่เหมาะแก่การพากเพียรนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงไว้หลายปริยาย เมื่อประมวลแล้ว ต้องเป็นที่ซึ่งประกอบด้วยสัปปายะ ๔ ประการ คือ

๑. อาวาสสัปปายะ ที่อยู่เหมาะสม คือที่ซึ่งตนมีอิสระที่จะอยู่ได้สบาย กลางวันปราศจากคนพลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด ปราศจากกลิ่นไอของมนุษย์ เป็นที่ที่อมนุษย์ไม่หวงแหน หรือยินดีให้อยู่ด้วยกันได้โดยปลอดภัย สัตว์ร้ายเช่นยุงไม่ชุม พอทนได้ น้ำใช้น้ำกินมีอยู่ใกล้ หาได้ง่ายโคจรคามไม่ใกล้เกินไป และไม่ไกลเกินไป มีทางไปมาสะดวก มีพระเถระพหูสูตซึ่งอาจแก้ความสงสัยให้ได้ อยู่ใกล้หรือยู่ด้วยกันในที่นั้น สะดวกแก่การไต่ถามข้อสงสัยข้องใจ อากาศปลอดโปร่งถูกกับธาตุ ทั้งอำนวยผลทางใจคือโล่งใจ สงบใจได้ง่าย ได้อุบายปัญญาบ่อยๆ ชวนให้ทำความเพียรและกิเลสไม่ฟุ้ง.



๑. มาใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เล่ม ๒๒ หน้า ๗๔.


๒. บุคคลสัปปายะ บุคคลเหมาะสม คือผู้อยู่ร่วมกันก็ดี ผู้ไปมาหาสู่ชั่วครั้งคราวก็ดี เป็นที่ถูกอัธยาศัยกัน สามารถเกื้อกูลกันในทางสัมมาปฏิบัติได้ อย่างต่ำๆ ก็ต้องไม่เป็นภัยแก่กัน ทั้งผู้ปกครองเขตแดนที่ตนอยู่นั้นเป็นผู้มีอัชฌาสัย อำนวยความสะดวกให้ตามสมควร ไม่เบียดเบียนข่มเหง หรือกล่าวเสียดสีให้เกิดความขุ่นหมองใจ.

๓. อาหารสัปปายะ อาหารเหมาะสม คืออาหารที่ถูกธาตุ กินแล้วไม่ทำให้กิเลสฟุ้ง ไม่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย มึนเมื่อย ง่วงซึม ทำให้ร่างกายมีกำลังแข็งแรง ทนทานต่อการพากเพียร ทำให้จิตใจแจ่ม ไม่ท้อแท้อ่อนแอ ชวนให้ทำความเพียร.

๔. ธัมมสัปปายะ ข้อปฏิบัติเหมาะแก่จริต คือกรรมฐานที่เลือกมาเป็นข้อปฏิบัติเหมาะแก่จริต ข่มปราบกิเลสอันเป็นเจ้าเรือนลงได้ ได้ฟังธรรม ฟังวินัยสะดวก และข้อธรรมข้อวินัยที่ได้ฟังก็ดี อุบายปัญญาที่ปรากฏแก่ใจตนเองก็ดี สามารถข่มปราบกิเลสได้ดี.

สัปปายะ ๔ ประการนี้ ผู้เป็นบรรพชิตสามารถหาให้ครบบริบูรณ์ได้ เพราะมีชีวิตอิสระ ไม่มีธุระกังวล ในการอาชีพผูกพันตนอยู่เหมือนผู้เป็นคฤหัสถ์ แต่ในปัจจุบัน ชีวิตของบรรพชิตก็ใกล้เข้าไปทางฆราวาสมากแล้ว โดยที่ต้องอยู่รวมเป็นหมู่ในอารามภายในละแวกบ้าน ทั้งยังมีภาระกังวลในการบริหารหมู่อีกด้วย ส่วนผู้ไม่มีหน้าที่ในทางบริหารหมู่โดยตรงก็รับภารธุระของครูบาอาจารย์ ของเจ้าอาวาสบางประการ เป็นภาระผูกพันตน เกือบจะเป็นคนหมดอิสรภาพอยู่แล้วเคราะห์ดีอยู่หน่อยที่อารามส่วนมากมีผู้ศรัทธาปลูกสร้างให้พอเพียงที่จะอยู่อย่างไม่คลุกคลีนัก คือสามารถจะอยู่ได้คนละห้อง หรือคนละหลังได้อย่างสบาย พอหายใจสะดวกอยู่บ้าง เวลากลางคืนก็เงียบพอสมควร ถ้าเป็นผู้ไม่ประมาทก็พออาจหาเวลาทำความเพียรได้อยู่ ส่วนคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนเป็นผู้มีชีวิตคลุกคลี มีภาระผูกพันในการอาชีพ ยากที่จะหาสัปปายะให้บริบูรณ์ แต่ก็มิใช่จะไร้โอกาสเสียทีเดียว เวลาว่างงานและเวลาสงบเงียบก็ยังมี พอจะปลีกตนปฏิบัติกิจอันประเสริฐนี้ได้มหาบุรุษคือคนน้ำใจใหญ่ อดทน มีเพียร มีปัญญา อัธยาศัยประณีต มีกุศลมูลแต่งสร้างสังขาร จะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม แม้จะอยู่ในที่เช่นไร ในหมู่ชนหมู่ไหน ได้อาหารถูกธาตุหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมมีอุบาย-ปัญญา ปฏิบัติเอาตนพ้นทุกข์ได้ เป็นแต่ยากลำบากและเนิ่นช้าหน่อย ฉะนั้นเมื่อไม่ได้สัปปายะบริบูรณ์ ก็ไม่ควรท้อถอย พึงอธิษฐานใจให้รู้สึกประหนึ่งว่า ตนคนเดียวอยู่ในโลกแล้วทำความพากเพียรพยายามเถิด.



จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-05.htm

ลงสำรองไว้อีกที่ http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11753.0.html
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๑ อะไรเป็นที่ตั้งแห่งทิพยอำนาจ
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 0 1243 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 02:50:59
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๒ วิธีเจริญฌาน ๔
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1720 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 02:54:12
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๔ อุปกรณ์แห่งทิพยอำนาจ
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 2 1917 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:03:29
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๕ วิธีปลูกสร้างทิพยอำนาจ
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1827 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:07:41
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๖ วิธีสร้างทิพยอำนาจ มโนมัยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 0 1435 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:11:16
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.347 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 27 ตุลาคม 2567 06:39:56