สุดยอดคาถาป้องกันภัย ของหลวงปู่ขาว แม้แต่เสือป่าที่ว่าดุยังขยาดไม่กล้าผ่านเข้าใกล้ออกพรรษาให้หลัง หลวงปู่ขาวได้ปลีกวิเวกไปอยู่กับพวกชาวเขา (ยาง) บนภูเขา ชาวเขาเหล่านี้รับหน้าที่เป็นโยมอุปัฏฐากหาข้าวปลาอาหารถวายท่านสม่ำเสมอ ด้วยนิสัยของชาวป่าชาวเขาและสภาพของป่าดอยที่ยังอุดมด้วยสัตว์ป่า ช้างป่าออกหาอาหารตามทางเดินจนเผชิญหน้ากับหลวงปู่ขาวก็หลายรอบ เสือโคร่งขนาดใหญ่ออกล่าสัตว์แล้วฝากรอยเท้าขนาดใหญ่ ทิ้งความกลัวจับใจไว้ในหมู่ชาวบ้านรวมถึงพระภิกษุบางรูปที่พรรษายังน้อย หลวงปู่ขาวจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวป่าชาวเขา เวลาคนในหมู่บ้านมีปัญหาอะไรก็มักจะยกโขยงมาให้ท่านช่วยแก้ไขหลายต่อหลายครั้ง
ครั้งหนึ่ง เสือโคร่งออกอาละวาดกัดกินวัวควายจนทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว บ้างก็ไม่กล้าที่จะออกไปทำมาหากิน บ้างก็กลัวว่าเสือโคร่งจะขึ้นกระท่อมลากเอาลูกหลานไปกินในยามค่ำคืน หลวงปู่ขาวเห็นความทุกข์ที่เกิดจากความกลัวของชาวบ้านจึงเมตตามอบคาถาสั้นๆ ให้บทหนึ่ง ไว้ภาวนาเพื่อเป็นเกราะป้องกันภัย
คาถาของหลวงปู่ขาวมีว่า
“อิติปิ โส ภควา พระเจ้าสั่งมา ภควายันติ” โดยให้ท่อง ๓ จบ เสกใส่ก้อนหิน แล้วหว่านไปรอบบ้านเพื่อป้องกันภัยวันต่อมาก็ปรากฏว่า มีเสือมากัดควายของชายคนหนึ่ง โดยทิ้งซากเอาไว้ ยังไม่กิน แต่ยังคงเดินป้วนเปี้ยนไปมารอบซากควายราวกับเป็นอาณาจักรของเสือ ชายคนนั้นกลัวเสือก็กลัว เสียดายเนื้อควายก็เสียดาย แต่จะลงมือแล่เอาเนื้อคนเดียวก็ไม่กล้า จะไปตามเพื่อนบ้านก็คงไม่ทัน จึงต้องทิ้งซากควายเอาไว้ แล้วตัดกิ่งไม้มาปกคลุม เดินวนไปวนมาด้วยความทุกข์ใจเพราะไม่รู้จะจัดการอย่างไร ทันใดนั้นก็นึกขึ้นว่าเพิ่งจะได้รับคาถามาจากหลวงปู่ขาว เขาจึงหยิบก้อนหินมาไว้ในมือ ตั้งจิตคิดถึงหลวงปู่ขาว แล้วท่องคาถา “อิติปิ โส ภควา พระเจ้าสั่งมา ภควายันติ” ๓ จบ จากนั้นก็โปรยก้อนหินรอบๆ ซากควาย ด้วยใจที่เชื่อมั่นศรัทธาในคาถาของหลวงปู่ขาวว่า ซากควายจะไม่ถูกเสือกิน
เมื่อชายคนนี้เดินทางเข้าหมู่บ้านแล้วเล่าเรื่องราวให้เพื่อนบ้านฟัง ทุกคนต่างพากันหัวเราะและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ควายจะถูกเสือกินเหลือแต่โครงกระดูกแน่นอน แต่แม้จะได้ยินเช่นนั้น เขาก็เถียงแทนหลวงปู่ขาวว่า
“ฮาเชื่อหลวงปู่ เปิ้นมีคาถาดี ฮาเพิ่งเรียนมาใหม่ๆ รับรองได้ผลแน่นอน”
เช้าวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านพากันยกโขยงไปดูซากควาย ปรากฏว่า รอบซากควายเต็มไปด้วยรอยเท้าเสือขนาดใหญ่ แต่ซากควายกลับไม่ถูกกัดกิน สร้างความมหัศจรรย์ใจแก่ชาวบ้านยิ่งนัก
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านต่างก็มีความเคารพศรัทธาในหลวงปู่ขาวอย่างมาก ท่านได้อธิบายให้ฟังว่า ทำไมคาถาจึงได้ผล ... “พวกยางซื่อสัตย์ มันเชื่อจริง ทำจริง คาถาจึงศักดิ์สิทธิ์”
ชีวิตพระป่าท่ามกลางชาวบ้าน ป่าเขา สัตว์ป่า ทำให้หลวงปู่ขาวเห็นสภาวะ “ทุกข์” ที่เกิดขึ้นในทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นนก ช้าง เสือ มนุษย์ จากการเลี้ยงชีพ เจ็บป่วย คู่ครอง แม้แต่ท่านเองก็เคยตกอยู่ในภาวะของความกลัวยามเผชิญหน้ากับสัตว์ป่า จึงปรารถนาที่จะพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงให้ได้
เรียบเรียงโดย เธียรนันท์ จากหนังสือ วินาทีบรรลุธรรม 1
ข่าวโดย : กิตติ ทีนิวส์ / สำนักพิมพ์ กรีนปัญญาญาณ/ ทีมข่าวปัญญาญาณ – ทีนิวส์
จาก
http://panyayan.tnews.co.th/contents/213201/