[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 20:15:23 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิถีแห่งการบรรเทาทุกข์ คติธรรม ของ ท่านพุทธทาส  (อ่าน 4105 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 11.0.696.65 Chrome 11.0.696.65


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2554 13:14:25 »





วิถีแห่งการบรรเทาทุกข์
คติธรรม ของ ท่านพุทธทาส

หมวดว่าด้วย  วิถีแห่งการบรรเทาทุกข์   

 ๑) ธรรมกถา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อถือ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกฯ

(๒) พระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นของจำเป็นอยู่เสมอไม่ว่าเวลาไหน และไม่ว่าจัดขึ้นโดยใคร หรือแสดงโดยบุคคลใด เพราะธรรมเทศนาทั้งหลายย่อมเป็นอาหารแก่จิตใจ ทำให้ความเป็นมนุษย์ในภายในมีความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์เหมือนต้นไม้ที่เต็มไปด้วยแก่น ฉะนั้นฯ

(๓) บัณฑิต ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาได้มองความเป็นมนุษย์ ของคนบางคน แล้วพากันส่ายหน้าสั่นศีรษะหันหลังกลับ เพราะว่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้น มีความกลวงเป็นโพรงฯ

(๔) ความเป็นมนุษย์แต่ซีกกาย ส่วนภายในคือซีกใจ ปราศจากความเป็นมนุษย์ เพราะขาดอาหารทางใจนั้น ทำให้มีความเป็นมนุษย์แต่เพียงครึ่งเดียว หรือมีความเป็นมนุษย์ ที่กลวงเป็นโพรงฯ

(๕) ความสมบูรณ์ในทางวัตถุ ทำให้ร่างกายเจริญฉันใด ความสมบูรณ์ในทางธรรมก็ทำให้จิตใจเจริญฉันนั้นฯ

(๖) เมื่อเราให้อาหารทางวัตถุ เช่น ข้าว-น้ำ เป็นต้น แก่ร่างกายเป็นประจำอยู่ทุกวัน เราก็ควรให้อาหารทางใจ แก่ใจ ควบคู่กันไปด้วย ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จะเกิดความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง และเกิดผลคือ มีความเจริญแต่ทางกาย ส่วนใจนั้นขาดอาหาร ตีบลีบ ตายไปฯ

(๗) การฟังธรรมเทศนานับเป็นวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้อาหารแก่จิตใจ อย่างสะดวกที่สุด แม้ว่าจะมีทางให้อาหารใจแก่จิตใจ โดยหลายวิธีด้วยกัน มีการสวดมนต์ ภาวนา รักษาศีล ให้ทาน เป็นต้นฯ

(๘) ใจยิ่งมากไปด้วยความสะอาด-สว่าง-สงบขึ้นเพียงใด ก็นับว่าเป็นความเจริญแก่จิตใจเพียงนั้น ใจที่สะอาด-สว่าง-สงบ นั้นแล เป็นความหมายอันแท้จริงของความเป็นมนุษย์ฯ

(๙) ท่านทั้งหลายอย่าได้มีความอิดหนาระอาใจ ในการที่จะต้องฟังธรรมเทศนา ไม่ว่าจะแสดงโดยใคร ที่ไหน และเวลาใด และแม้ว่าจะเป็นการซ้ำซากเพียงใดด้วยฯ

(๑๐) อาหารที่เราบริโภคประจำวันนั้น ซ้ำซาก คือไม่มีอะไรมากไปกว่า ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ เราก็ยังกินกันอยู่ทุกวัน ไม่มีเบื่อ ถึงทีที่จะต้องให้อาหารทางใจอย่างซ้ำซากบ้าง ทำไมเราต้องเบื่อเล่าฯ

(๑๑) อาหารมีข้าวปลาเป็นต้น ที่เราบริโภคอย่างซ้ำซากทุก ๆ วัน แม้จะซ้ำซากอย่างไรมันก็ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ ทั้งที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อาหารใจที่ต้องเป็นอย่างเดียวกัน คือ ทำให้ใจเจริญได้ทั้งที่เป็นการซ้ำ ๆ ซาก ๆ ฯ

(๑๒) อาหารที่บำรุงร่างกายให้เจริญได้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารที่มีรสประหลาดและเอร็ดอร่อย ขอให้เป็นแต่อาหารที่แท้จริง คือ ถูกต้องตามหลักแห่งอาหาร ก็แล้วกันฯ

(๑๓) ธรรมเทศนาที่เป็นอาหารใจ ก็เช่นเดียวกับอาหารกาย ไม่จำเป็นต้องแปลกประหลาดสนุกสนานฟังเพลิน ขอให้เป็นแต่เทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว แม้จะจืดชืดปานใด ก็ย่อมบำรุงใจให้เจริญ ได้ทั้งนั้น ขอแต่ให้ท่านทั้งหลายบริโภคและย่อยให้ได้ก็เป็นพอฯ

(๑๔) จงพยายามทำความเข้าใจ น้อมนำมาพิจารณาจนเห็นความเจริญแห่งธรรมนั้น ๆ เถิด ย่อมทำให้ใจของท่านเจริญงอกงามด้วยความสะอาด สว่าง และสงบเป็นแน่แท้ฯ

(๑๕) จงอย่าได้อิดหนาระอาใจ ในการที่จะต้องฟังธรรมเทศนา ซึ่งที่แท้เป็นการให้อาหารทางใจ ขอให้พยายามบริโภค ให้พยายามย่อยให้ได้ อาหารนั้นก็จะทำหน้าที่ของมันเองโดยไม่ต้องสงสัยฯ


(๑๖) ถ้าปราศจากการแก้ไข ในทางฝ่ายใจ ซึ่งเป็นประธานแห่งสิ่งทั้งหลายแล้ว การแก้ไขอย่างอื่น ย่อมทำไปไม่ได้ ไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ แม้ว่าจะมีความคิดและแผนการ ที่ดีเพียงใดก็ตาม

(๑๗) ปัญหายุ่งยากในการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ นั้น เมื่อมองดูโดยทั่วไปแล้ว คล้ายกับเป็นปัญหาที่มีมากมายหลายปัญหา แต่ที่แท้นั้นมีเพียงปัญหาเดียว คือ การแก้ไขความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนให้ดี ให้ถูกต้องเท่านั้นฯ

(๑๘) ปัญหาของโลกทั้งโลก ปัญหาของประเทศ ปัญหาของบ้านเมือง จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว จนกระทั่งปัญหาส่วนบุคคลเป็นคน ๆ ไป ย่อมรวมอยู่ที่สภาพความตกต่ำในทางฝ่ายจิตใจ ของคนแต่ละคนในโลกนั่นเองฯ

(๑๙) เมื่อแก้ไขปัญหาส่วนตัวสำเร็จ ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาของครอบครัวสำเร็จ ของหมู่บ้าน ของตำบล ของอำเภอ จังหวัด บ้านเมือง ประเทศชาติ ตลอดจนของโลกทั้งสิ้นได้สำเร็จ กล่าวคือ การที่ต่างคนต่างตั้งหน้าแก้ไขสภาพความตกต่ำในทางใจของตน ๆ ให้สูงขึ้นมาได้เท่านั้นฯ

(๒๐) เมื่อทุกคนมีใจสูงพอแล้ว ปัญหาหรือความทุกข์ยากต่าง ๆ ในโลกนี้จะสูญสิ้นไปในพริบตาเดียวกันนั้น ฉะนั้นความตกต่ำในใจของใครมีอยู่ ก็ขอให้คนนั้นแก้ของตนเองเถิด เสร็จแล้วจะเป็นการแก้ปัญหาของโลกทั้งหมด ขึ้นมาได้เองฯ


(๒๑) ปัญหาอันมากมาย ซึ่งเราดูแล้วท้อใจว่าจะแก้กันไม่ไหวนี้ ที่แท้มันเป็นปัญหาเพียงอันเดียว คือ ภาวะความตกต่ำในทางใจ เพราะใจขาดอาหาร ขอให้เราทุกคนช่วยกันแก้ปัญหาอันนี้เถิด จะเป็นการแก้ปัญหาของโลกทั้งหมด ขึ้นมาเองภายหลังฯ

(๒๒) จงช่วยกันแก้ไข ภาวะความตกต่ำในทางใจของตน ๆ เถิด แล้วท่านจะเป็นผู้ชนะในทุก ๆ สภานการณ์ของโลก

(๒๓) ในการที่เราจะร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ของประเทศ หรือของโลกให้ดีขึ้นก็ตาม หรือแก้ไขตัวเราเองโดยเฉพาะก็ตาม เราต้องทราบสมุฎฐานอันแท้จริงของมันฯ

(๒๔) เมื่อถามขึ้นว่า ความทุกข์ยากในโลกเกิดจากอะไร ก็ตอบได้ว่า เกิดมาจากการที่คนในโลกไม่เป็นมนุษย์กันนั่นเอง เป็นกันอย่างมากแต่เพียงคน ไม่สูงขึ้นไปถึงเป็นมนุษย์ฯ

(๒๕) การเป็นคนกับการเป็นมนุษย์นั้น ต่างกันไกลลิบ การเป็นคน พอสักว่าได้เกิดมาเป็นคนได้แล้ว ส่วนการเป็นมนุษย์นั้น หมายเฉพาะผู้มีใจสูง ใจสูงชนิดที่น้ำ กล่าวคือความชั่วและความทุกข์ท่วมไม่ถึงฯ


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 11.0.696.65 Chrome 11.0.696.65


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2554 13:23:19 »



               

(๒๖) คำว่ามนุษย์นี้ แยกศัพท์ออกได้ง่าย ๆ สองคำ คือ มน + อุษย รวมกันเป็นมนุษย์ มนแปลว่าใจ อุษย แปลว่าสูง คำว่ามนุษย์จึงแปลกันได้ง่าย ๆ ว่ามีใจสูงฯ

(๒๗) ส่วนคำว่า คน นั้น มีความหมายมาจากคำว่า ชน ซึ่งแปลได้ง่าย ๆ อีกว่า เกิดมา; เพราะฉะนั้นพอได้เกิดมา ก็ได้เป็นคนแล้วแน่นอน แต่จะเป็นมนุษย์หรือไม่นั้น อีกปัญหาหนึ่งต่างหาก คืออยู่ที่ว่าใจสูงหรือไม่สูงฯ

(๒๘) ถ้าใจสูงก็เป็นมนุษย์ได้ ถ้าใจไม่สูงก็เป็นมนุษย์ไม่ได้ อย่างมากจะเป็นได้ก็แต่เพียงคน ฉะนั้นการเป็นมนุษย์กับการเป็นคนจึงต่างกันเป็นคนละอย่าง เราจงเลิกแปลคำว่า มนุษย์ = คน กันเสียเถิด เอาไว้ให้ลูกเด็ก ๆ ในโรงเรียน เขาแปลมนุษย์ว่าคนกันแต่พวกเดียวฯ

(๒๙) สำหรับผู้ใหญ่ และทั้งอยู่ในสภาพที่เผชิญกันอยู่กับสถานการณ์ อันยุ่งยากของโลกนี้ ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "มนุษย์" ให้ถูกต้องจริง ๆ ความทุกข์ยากในโลกทุกอย่างและทุกยุค มันเกิดจากการที่คนในโลกไม่เป็นมนุษย์กันนั่นเองฯ

(๓๐) ที่ดินที่สูงหรือที่ดอน เราหมายถึงที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง ใจสูงก็เป็นอย่างเดียวกัน คือ หมายถึงใจ ชนิดที่น้ำ กล่าวคือกิเลสหรือความชั่วท่วมขึ้นไปไม่ถึง หัวใจที่น้ำชนิดนี้ท่วมไม่ถึงนั้น ย่อมมีลักษณะ สะอาด สว่าง สงบฯ

(๓๑) ความสะอาด ความสว่าง และความสงบ ของใจนั่นเอง คือความสูงของใจ ใจที่สูงเช่นนี้ ท่านลองคิดดูให้ดี ๆ ว่า จะมีความทุกข์ เกิดขึ้นจากคน ๆ นี้ได้อย่างไร หรือมีปัญหาอะไร ที่คนซึ่งมีหัวใจสูงเช่นนี้จะแก้ไขไม่สำเร็จฯ

(๓๒) พระพุทธเจ้าเป็นยอดมนุษย์ ก็เพราะท่านมีความสะอาด สว่าง สงบของใจมากถึงที่สุดจริง ๆ นั่นเอง พระสงฆ์ สาวก ทั้งหลาย ก็คือผู้ที่มีใจสูงโดยนัยนั้นอย่างเดียวกัน ตามมากตามน้อย เป็นลดหลั่นกันลงมาฯ

(๓๓) กัลยาณปุถุชนนั้น ใจมีความสูงอยู่พอสมควร แก่การที่เรียกตัวเองว่ามนุษย์ ถ้าคนในโลกพากันเป็น กัลยาณชนให้ได้กันทุกคนเท่านั้น ความทุกข์ยากในโลกจะไม่เกิดขึ้นได้เลย และเราจะได้รับสิ่งที่ใฝ่ฝันหากันนัก คือ สิ่งที่เรียกกันว่า สันติภาพอันถาวรฯ

(๓๔) คนในสมัยนี้ ยิ่งไม่เป็นมนุษย์กันมากยิ่งขึ้น อย่าเข้าใจว่าคนในสมัยนี้มีการศึกษานานาชนิดเจริญแล้ว จะมีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ขึ้น เพราะการศึกษาชนิดนั้น ๆ มิได้มีความหมายว่าสามารถทำให้ใจมีความสะอาด สว่าง สงบฯ

(๓๕) เมื่อดำเนินการศึกษาชนิดที่ไม่อาจทำให้ใจสูงนั้น ยิ่งมากเพียงไร ก็มีแต่จะยิ่งทำใจให้สกปรกมืดมัวและเร่าร้อน มากขึ้นเพียงนั้น ขอให้คนในโลกแห่งสมัยนี้ อย่าหลงทะนงตัวว่า มีใจสูงเพราะเหตูที่มีการศึกษากว้างขวางนั้นเลยฯ

(๓๖) ขอให้วัดระดับจิตใจดูด้วยกฎเกณฑ์ อันแท้จริง คือ ความที่ใจสะอาด สว่าง และสงบเสียก่อน เพราะถ้าใจไม่เป็นเช่นเกณฑ์นี้แล้ว ทำอย่างไรเสีย น้ำคือกิเลสหรือความชั่วย่อมท่วมใจนั้นได้เป็นแน่นอนฯ

(๓๗) คนสมัยนี้ พากันเป็นมนุษย์น้อยลง ๆ หรือไม่เป็นมนุษย์กันมากยิ่งขึ้น ๆ นั้น เพราะใจต่ำลง ๆ ใจต่ำลง ๆ เพราะต่างคนต่างหันหลังให้ศาสนาของตน ๆ มากยิ่งขึ้น แล้วแต่คนจะถือศาสนาอะไร แล้วพากันหันหลังให้ศาสนาของตนมากยิ่งขึ้น ๆ ทั้งนั้นฯ

(๓๘) ที่พากันหันหลังให้ศาสนาของตน ๆ มากยิ่งขึ้นนั้น เพราะเหตุที่เห็นได้ง่าย ๆ ๒ อย่างคือ: ความถูกกระทบกระเทือนจากภัยต่าง ๆ มีภัยหลังสงครามเป็นต้น และเพราะในโลกมีสิ่งที่ยั่วยวน ให้คนพากันหันหลังให้ศาสนาของตนมากขึ้น ตามส่วนของการศึกษาที่ยิ่งเจริญไปในทางวัตถุนั่นเองฯ

(๓๙) การหันหลังให้ศาสนานั้นคือ การตามใจตัวเอง ก่อนหน้านี้ เคยตามพระทัย หรือตามใจพระศาสดาของตน ๆ แล้วแต่ว่าพระศาสดาได้ทางสั่งสอนไว้อย่างไร ก็พากันทำตามและอยู่ในกรอบศีลธรรมของศาสนานั้น ๆ ฯ

(๔๐) บัดนี้ คนพากันหันหลังให้พระศาสดา เมินเฉยต่อหลักพระศาสนา เพื่อให้ได้ตามใจในการหาความสุขทางเนื้อทางหนัง ยิ่งตามใจตัวมากขึ้นก็ยิ่งหันหลังให้ศาสนาของตนมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งหันหลังให้ศาสนามากขึ้นเท่าไร ใจก็ยิ่งต่ำลง ๆ เท่านั้นฯ

(๔๑) การตามใจตัวเอง ทำให้ใจต่ำลง เพราะเหตุใด? เพราะเหตุว่าการตามใจตัวเองนั้น คือการตามใจกิเลส สิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั้น คือ สิ่งที่ทำให้ใจสกปรก มืดมัวและเร่าร้อนฯ

(๔๒) ทุก ๆ ศาสนา เรียกกิเลสโดยบุคคลาธิฐานว่าผีปีศาจบ้าง พญามารบ้าง ซาตานบ้าง แล้วแต่จะเรียกตามภาษาแห่งศาสนานั้น ๆ แต่ความหมายก็ตรงกันหมด ฉะนั้นการตามใจตัวเอง เพราะเห็นแก่ความสุขทางเนื้อทางหนัง ก็คือการตามใจภูตผีปีศาจนั่นเองฯ

(๔๓) เมื่อละจากการตามใจพระศาสดา มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น มาตามใจภูตผีปีศาจแล้ว จะไม่ให้ใจต่ำได้อย่างไร เหตุนี้แหละจึงกล้ากล่าวว่า การตามใจตัวเองนั้นทำให้ใจต่ำลงฯ

(๔๔) การบังคับตัวเองย่อมนำมาซึ่งความมีใจสูง อันเป็นความหมายของความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าการบังคับตัวเองไม่ให้ตามใจตัวเองแต่ไปตามใจพระศาสดาของตน ๆ นั้น ทำให้มีใจสะอาด – สว่าง และสงบ ไม่ตกเป็นลูกสมุนของผีปีศาจพญามารหรือซาตานฯ

(๔๕) การบังคับตัวเองนี้คือ คำสอนของทุก ๆ ศาสนาในโลก และโดยเฉพาะพระพุทธศาสนานั้น ย่อมเป็นการสอนให้ทำการบังคับตัวเอง โดยสิ้นเชิง เราอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธวจนะทั้งหมดในพระไตรปิฎกนั้น ทุก ๆ คำสอนให้บังคับตัวเองฯ

(๔๖) ศีล คือ บังคับตัวเองทางด้านกาย และวาจาโดยเด็ดขาด โดยไม่มีช่องทางที่จะตามใจภูตผีปีศาจเหลืออยู่เลยฯ

(๔๗) สมาธิ คือ การบังคับตัวเองในด้านจิตใจโดยเด็ดขาดโดยไม่มีช่องทางที่จะตามใจกิเลส หรือเปิดโอกาสให้กิเลสอีกเหมือนกันฯ

(๔๘) ปัญญา คือ การทำลายรากเง้าของกิเลสอันเป็นเหตุให้ตามใจตัวเองโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับจะงอกเงยเป็นการตามใจตัวเองได้อีกต่อไปฯ

(๔๙) ในพระไตรปิฎกทุก ๆ หน้า มีอะไรมากไปกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เล่า? เราจึงกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนานั้น คือ ศาสนาแห่งการบังคับตัวเองทั้งดุ้นทั้งอันฯ

(๕๐) การตามใจตัวเอง หรือตามใจกิเลสนั้น คือการละทิ้งศาสนาไปสวามิภักดิ์ต่อภูตผีปีศาจ ซึ่งทำหน้าที่ทรมานสัตว์โลก หรือถึงกับล้างผลาญโลกในบางคราวฯ


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 11.0.696.65 Chrome 11.0.696.65


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2554 07:30:33 »


           

๑๐๑) ในสมัยที่คนในโลกอวดกันว่าเจริญด้วยการศึกษานี้ มิได้หมายความว่าจะสามารถหยุดการตามใจตัวเองได้ โดยที่ได้สามารถประดิษฐ์สร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นสนองความอยากของตนจนรู้สึก ว่าอิ่มว่าพอแม้แต่น้อยฯ

(๑๐๒) ยิ่งมีการศึกษามาก ก็ยิ่งรู้จักนึกอยากให้แปลก ๆ วิตถารออกไป ยิ่งประดิษฐ์อะไรขึ้นมาสนองความอยากได้อย่างแปลก ๆ ความอยากก็ยิ่งแล่นออกหน้าสิ่งที่สร้างขึ้นสนองต่อไปอีกฯ

(๑๐๓) สมัยวิทยาศาสตร์ ที่คนสามารถสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นบำเรอซึ่งกันและกัน จนดูคล้ายของทิพย์เข้าไปนั้น ความอยากใหม่ ๆ ในการที่จะตามใจตัวเอง ก็ยิ่งทวีขึ้นตามส่วนฯ

(๑๐๔) การศึกษาอันกว้างขวางของคนในโลกแห่งสมัยนี้ ได้กลายเป็นเพียงเครื่องมือ สำหรับสร้างสรรเหยื่อสำหรับบวงสรวงปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง ไปจนหมดสิ้น ซึ่งมีแต่จะทำตัวให้ตกเป็นทาสแห่งอารมณ์มากยิ่งกว่าแต่ก่อนอย่างน่าสมเพชฯ

(๑๐๕) มติมหาชนสมัยนี้ เอาแต่จะให้ทุกคนได้มีความสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังมากขึ้นไป ไม่มีขีดสุด ภายใต้นามศัพท์อันไพเราะว่า การกินดีอยู่ดี, การศึกษาค้นคว้าก็ต้องหมุนเข็มแห่งความมุ่งหมายมุ่งไปทางนี้, นักการเมือง นักเศรษฐกิจ นักการทหาร ล้วนแต่มีหน้าที่ ทำเพื่อให้สำเร็จ ตามความประสงค์อันนี้ฯ

(๑๐๖) อุบายทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารนั้นเองหากมีโอกาสเมื่อไร คนเราก็ใช้กันไปในทางสำหรับกวาดล้อม เอาประโยชน์ของผู้อื่น มาเป็นของตน ทั้งทางตรงและทางอ้อม, ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เมื่อฝ่ายหนึ่งรู้ทัน ทำการต้านทานหรือป้องกัน, สิ่งที่เรียกว่าสงคราม ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ฯ

(๑๐๗) เมื่อการตามใจตัวเอง เข้ามาเป็นเจ้าเหนือใจคนเราแล้ว การศึกษา ซึ่งควรจะเป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพ ก็มากลายเป็นเครื่องมือของปีศาจ แห่งการตามใจตัวเอง สุมเผาสัตว์โลก ให้รุ่มร้อนไปทุกหัวระแหงฯ

(๑๐๘) ความเดือดร้อนระส่ำระสายเกิดขึ้น หรือมีอยู่ในที่ไหน เราจะค้นพบปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ ในที่นั้นเสมอไปฯ

(๑๐๙) เมื่อปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง ยังสิงใจคนในโลกอยู่เพียงใดแล้ว การศึกษาก็ตาม การค้นคว้าก็ตาม การปฏิบัติงานไปตามหลักแห่งการศึกษาค้นคว้านั้น ๆ ก็ตาม ย่อมกลายเป็นเครื่องทำโลกให้ลุกเป็นไฟอย่างไม่มีวันจะดับได้อย่างผิดตรงกันข้าม จากวัตถุที่ประสงค์ของการศึกษา ที่เราเคยพากันหวังว่าจะเป็นเครื่องนำมาซึ่งสันติภาพอันถาวรฯ

(๑๑๐) ความเจริญก้าวหน้าในทางตามใจตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขทางเนื้อทางหนังอย่างไม่มีการอิ่มการพอนี้เอง เป็นมูลเหตุอันแท้จริงของสงคราม ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตฯ

(๑๑๑) แม้จะได้อวดอ้างว่า สามารถจัดการศึกษาให้ถูกต้อง แนบเนียนฉลาดเฉลียวเพียงไร การเห็นแก่ความสุขทางเนื้อหนังยังคงต้องเป็นบ่อเกิดของความยากเข็ญในโลกอย่างเร้นลับลึกซึ้ง แนบเนียน เพียงนั้นอยู่นั่นเองฯ

(๑๑๒) บัดนี้โลกเราตกลึกเช้ามาในหล่มนี้ ถึงเพียงนี้แล้ว เราก็พากันสอดส่ายตาหาลู่ทางสำหรับแก้ไข, แต่ในที่สุดผลก็จะยังคงเป็นความล้มเหลวอย่างเดียวกันอีก นั่นเอง ในเมื่อผู้ที่จะทำการแก้ไข ยังสมัครที่จะบูชาปีศาจแห่งการตามใจตัวเองอยู่ร่ำไปฯ

(๑๑๓) โรคร้ายเกิดขึ้นจากการตามใจตัวเองแล้ว ยังจะขืนใช้ยาแก้ คือการตามใจตัวเองอีก มันก็เหมือนกับเอาน้ำโคลน มาล้างมือที่เปื้อนโคลน ฉันใดก็ฉันนั้นฯ

(๑๑๔) การที่ความยากเข็ญเกิดขึ้นในโลก และทวียิ่ง ๆ ขึ้นไปตามส่วนแห่งความเจริญของการศึกษาก็ตาม, และการที่เราพากันแก้ไขสิ่งร้ายเหล่านี้ให้กลายเป็นดี ไม่ได้ก็ตาม, ทั้งหมดนี้เป็นเพราะอำนาจของปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง ตัวเดียวกันแท้ฯ

(๑๑๕) ที่ได้เอ่ยชื่อถึงปีศาจแห่งการตามใจตัวเองมานับด้วยสิบ ๆ ครั้งเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากมันมีความสำคัญในการก่อทุกข์เข็ญขึ้นในโลกอย่างใหญ่หลวงกว้างขวาง ทั้งโดยส่วนบุคคลและส่วนรวมจริง ๆ เราจงมาช่วยกันกำจัดศัตรูอันร้ายกาจของโลกตัวนี้กันเถิดฯ

(๑๑๖) ในการที่จะกำจัดปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง อันเป็นศัตรูอันร้ายกาจของโลกตัวนี้ เราต้องใช้อาวุธที่เป็นของตรงกันข้าม กล่าวคือการบังคับตัวเอง, เราต้องเลิกตามใจตัวเอง แล้วหันไปตามใจพระศาสดาของตนฯ

(๑๑๗) การตามใจศาสดาของตน ๆ ก็คือการปฏิบัติตามคำสอนในพระศาสนาอย่างเคร่งครัด, ศาสนาทุกศาสนาตรงกันหมด คือให้บังคับตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ การตามใจตัวเอง ก็สูญหายไปจากโลก และปีศาจร้ายตัวที่สำคัญนั้น ก็จะไม่เยี่ยมกรายมาอีกฯ

(๑๑๘) ในการบังคับตัวเองนี้ จะเป็นทั้งการแก้ไขความทุกข์ที่มีอยู่แล้วให้หมดไป และป้องกันความทุกข์ใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น, ฉะนั้นเราจงตั้งอกตั้งใจในการที่จะอาศัยหลักแห่งพระศาสนา เพื่อการบังคับตัวเอง กันจงทุกคนเถิดฯ

(๑๑๙) ท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท และโดยเฉพาะเป็นฆราวาสด้วยแล้ว นับว่าโชคดีที่สุด ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานธรรมะสำหรับฆราวาสไว้โดยเฉพาะ เพื่อการแก้ไขความทุกข์ ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นแก่ฆราวาสทั้งหลายโดยสิ้นเชิงฯ

(๑๒๐) ฆราวาสธรรม เป็นธรรมสำหรับฆราวาสโดยตรง ในการที่จะแก้ไขปัญหาส่วนตัว ส่วนครอบครัว ปัญหาของบ้านเมือง ของประเทศชาติ หรือของโลกทั้งสิ้นก็ตาม ธรรมะหมวดนี้ย่อมมีอำนาจเพียงพอ ที่จะใช้ได้ในทุกกรณีฯ

(๑๒๑) ท่านจะเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกตามใจตัวในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านก็ต้องใช้ธรรมะหมวดนี้ ซึ่งเป็นแก้วสารพัดนึกสำหรับฆราวาส เราจะบังคับตัวเองให้เว้นอะไร หรือแก้ไขอะไรสำเร็จไม่ได้ ถ้าปราศจากธรรมะหมวดที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม นี้ฯ

(๑๒๒) ฆราวาสธรรม ข้อต้น คือ สัจจะ ความจริงใจ หมายถึงความซื่อตรง ไม่คดโกงต่อบุคคล ต่อเวลา ต่อหน้าที่การงาน ต่อคำพูดของตัวเอง หรือถ้าสรุปความให้สั้นที่สุดแล้ว ก็คือซื่อตรงต่อตัวเอง ซึ่งหมายถึงเกียรติยศ แห่งความเป็นมนุษย์ของตนนั่นเองฯ

(๑๒๓) เมื่อเราเรียกตัวเราว่า มนุษย์ เราก็ต้องซื่อตรงต่อความหมายของคำว่า มนุษย์และเป็นมนุษย์ให้ได้ อย่างถูกต้องตามความหมาย คือ มีใจสูง เพราะใจสะอาด สว่างและสงบฯ

(๑๒๔) หากเราซื่อตรงต่อตัวเอง หรือต่อความเป็นมนุษย์ของเราได้แล้ว ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องกลัว เราย่อมซื่อตรงต่อบุคคล ต่อหน้าที่การงาน ต่อเวลา ต่อคำพูด และต่ออะไรได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นขอให้เราทุกคนจงภาวนาตั้งจิตอธิษฐาน ในการที่จะเป็นมนุษย์ให้ได้จริง ๆ ไม่เป็นแต่เพียงคนฯ


(๑๒๕) ความซื่อตรงต่อตนเองนี้ มิใช่ของง่าย มิใช่จะมีได้ง่าย ๆ อย่างปากพูด, แต่ว่าเราไม่ต้องตกใจ เมื่อใครต้องการจะมีสัจจะให้ได้จริง ๆ ไม่เพียงแต่ปากว่า หรือตั้งใจอยู่แต่ในใจแล้ว ก็มีทางที่จะทำได้สำเร็จ คือมี ธรรมะข้อที่สอง ต่อไป ซึ่งเรียกว่า “การบีบบังคับใจ” หรือเรียกเป็นภาษาบาลีว่า ทมะฯ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 พฤษภาคม 2554 07:44:57 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: ลงใหม่ค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 11.0.696.65 Chrome 11.0.696.65


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2554 08:40:43 »



                   

(๑๒๖) การบีบบังคับใจนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสรุปไว้อย่างไพเราะน่าฟังที่สุดว่า “ท่านทั้งหลาย จงบีบบังคับใจของท่านให้อยู่ในอำนาจของท่าน เหมือนความช้างที่ฉลาดสามารถบังคับช้างที่ตกน้ำมันฉะนั้นฯ

(๑๒๗) คำหนึ่ง ซึ่งท่านจะต้องสนใจจริง ๆ คือ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า “หมอช้างที่ฉลาด” มิได้ตรัสว่าหมอช้างเฉย ๆ หรือหมอช้างที่โง่เขลา. เพราะถ้าเป็นหมอช้างธรรมดา หรือหมอช้างที่โง่เขลาแล้ว ก็รังแต่จะถูกช้างสลัดให้ตกลงมา และเหยียบหรือทำอันตรายให้แหลกราญไปเท่านั้นฯ

(๑๒๘) ใจของคนเรา ที่มีปีศาจแห่งการตามใจตัวเอง เพื่อความสุขทางเนื้อทางหนังเข้าสิงอยู่นั้นมันเป็นสิ่งที่กลับกรอกและดุร้ายยิ่งกว่าช้างที่ตกน้ำมันเป็นไหน ๆ แล้วเราเป็น หมอช้างที่โง่เขลาจะบังคับมันได้อย่างไรฯ

(๑๒๙) การบีบบังคับใจให้อยู่ในอำนาจ เพื่อรักษาสัจจะเอาไว้ให้ได้นั้น เราต้องอาศัยการทำตนให้เหมือนหมอช้างที่ฉลาดสามารถรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของช้างทุกประการฯ

(๑๓๐) มารยาหรือเล่ห์เหลี่ยมของใจที่คอยแต่จะเถลไถล มีอยู่อย่างไรในใจเรา เราก็พอจะรู้ แต่ดูเหมือนเราไม่สมัครที่เป็นหมอช้างที่ฉลาดนั้นมากกว่า โดยหาทางแก้ตัวต่าง ๆ นานา จนได้เป็นหมอช้างที่เหลงไหลไม่ได้เรื่องฯ


(๑๓๑) เมื่อการบีบบังคับใจให้อยู่ในอำนาจแล้ว ก็ย่อมจะต้องเกิดการเจ็บปวดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเราจำต้องมี ธรรมะข้อที่สาม ต่อไป ซึ่งเรียกว่า “ความอดกลั้น” หรือ ขันติ หมายถึงความอดทนได้ รอได้ คอยได้ จนกว่าจะประสบความสำเร็จฯ

(๑๓๒) ขอให้คิดดูเถิดว่า แม้ในกรณีที่ทำชั่วทำเลว ก็ยังต้องอาศัยความอดกลั้นอดทนรอได้ คอยได้เหมือนกัน แล้วเหตุใดในกรณีที่เป็นการทำความดี ซึ่งยากไปกว่าการทำชั่วนั้น จะไม่ต้องมีความอดกลั้นอดทนกันเล่าฯ

(๑๓๓) โจรขโมย ที่พยายามทำการปล้นสดมถ์ หรือตัดช่องย่องเบา เขายังต้องอดทน จนกว่าจะทำโจรกรรมนั้น ๆ ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการอดกลั้นอดทน รอได้คอยได้อยู่ไม่น้อย แม้ในกรณีที่ทำชั่ว, แล้วทำไมมนุษย์ที่จะทำการบีบบังคับใจ เพื่อแก้ไขความทุกข์ยากในโลก ซึ่งนับว่าเป็นความดีอันใหญ่หลวงนี้ จะไม่ต้องพยายามทำการอดกลั้น อดทน รอได้ คอยได้เล่าฯ

(๑๓๔) เนื่องมาจากความปราศจากการอดทน รอได้ คอยได้นี่เอง ที่พาเราพากันไม่สามารถกำจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้สำเร็จลงไปได้. ฉะนั้นในกรณีที่เราจะเป็นผู้บังคับใจให้สำเร็จ เราจะต้องอดกลั้นอดทน แม้จะต้องทน จนเลือดตาไหลฯ

(๑๓๕) เราจะต้องอดกลั้นต่อทุกขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะโรคภัยไข้เจ็บ ; เราต้องอดทนต่อดินฟ้าอากาศความเหนื่อยยากลำบากหรืออุปสรรคอื่น ๆ อันจะเกิดขึ้นในขณะที่เราประกอบการงานอันเป็นหน้าที่ของเรา. เราต้องอดกลั้นต่อคำนินทาว่าร้าย ประมาท ดูหมิ่นของคนจำพวกหนึ่ง ซึ่งจำเป็นจำต้องมีอยู่ในโลกนี้ด้วยเหมือนกันฯ

(๑๓๖) เราต้องอดทนต่อความยั่วเย้าของอารมณ์ซึ่งเป็นเหยื่อล่อของปีศาจแห่งการตามใจตัวเองได้ทุก ๆ อย่าง แล้วเราก็จะเป็นผู้ที่บังคับใจได้สำเร็จ มีความจริงใจในการเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องได้สำเร็จ สมตามความประสงค์ฯ

(๑๓๗) เพื่อมิให้ต้องอดทนมากไป จนถึงกับทนไม่ไหว พระพุทธเจ้าท่านยังได้ทรงประทานธรรมะสำหรับ ฆราวาสข้อที่สี่ ไว้ให้อีก เรียกว่า “การระบายสิ่งชั่วร้ายออกจากใจอยู่เสมอ” หรือเรียกเป็นภาษาบาลีว่า จาคะฯ

(๑๓๘) การระบายสิ่งที่ไม่ควรอยู่ในใจ ให้ออกไปเสียจากใจอยู่เสมอ ๆ นั้น เป็นการช่วยให้มีสัจจะได้โดยง่าย ช่วยให้มีการบีบบังคับใจได้สำเร็จโดยง่าย และช่วยให้ไม่มีอะไรที่ต้องทนจนมากเกินไป เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อสุดท้าย หรือข้อสำคัญที่จะต้องตั้งใจทำกันจริง ๆ โดยไม่มีระยะว่างเว้นฯ

(๑๓๙) จงพยายามซักฟอกใจ เหมือนเราใช้สบู่ซักฟอกผ้าจนผ้าขาวสะอาด. สบู่ซักใจก็คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ตลอดขึ้นไปถึงข้อวัตรปฏิบัติ ตามทางแห่งศาสนา มีการสวดมนต์ภาวนา การควบคุมกายวาจา จิต การนึกถึงโลกหน้า นึกถึงความตาย นึกถึงบุญกุศล นึกถึงบรรพบุรุษ นึกถึงเกียรติของความเป็นมนุษย์อันถูกต้องของเราเองฯ

(๑๔๐) จงพยายามทำการบริจาคสิ่งที่ไม่ควร ที่จะมีอยู่ในใจให้หมดไปจากใจ จนมีใจสะอาด สว่าง และสงบเย็นเถิด สิ่งร้ายก็จะถูกแก้ไขให้กลายเป็นดี และไม่มีสิ่งร้ายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกต่อไป ปัญหาต่าง ๆ ก็จะหมดสิ้นเองฯ


(๑๔๑) การที่ฆราวาส เพียงแต่พยายามทำการบำเพ็ญฆราวาสธรรม ๔ ประการคือ สัจจะ ทมะ ขันติ และ จาคะ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์เท่านั้น จะเป็นการประพฤติธรรมะหมดทั้งพระไตรปิฎกอย่างครบถ้วนทีเดียว, เพราะพระไตรปิฎกมีใจความสำคัญอย่างเดียว กล่าวคือ การบังคับตัวเองได้ ซึ่งหมายความว่า การเอาชนะใจตนเองได้โดยเด็ดขาดฯ

(๑๔๒) บุคคลจะเป็นผู้ชนะทุกอย่าง ทุกประการ ชนะทั้งในโลกนี้และชนะทั้งโลกหน้า ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นข้อบกพร่องได้ ก็เพราะอาศัยฆราวาสธรรม ๔ ประการ. พระพุทธเจ้าจึงทรงท้าของท่านไว้ว่า “ไม่เชื่อก็จงลองไปถามสมณพราหมณ์ พวกอื่นเป็นอันมากดูเถิดว่า มีธรรมะเหล่าไหนอีกเล่า ที่เหมาะสำหรับฆราวาส ยิ่งไปกว่าธรรมะ ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และ จาคะ นี้”ฯ 

(๑๔๓) ฆราวาสจงได้สนใจ ในธรรมะ ๔ ประการ อันเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึกของฆราวาส ที่พระองค์ทรงประทานไว้ เป็นของขวัญอันประเสริฐสุดดวงนี้ ด้วยความไม่ประมาทอย่างยิ่งเถิด ท่านจะสามารถแก้ปัญหายุ่งยากทุก ๆ ชนิดที่เข้ามาเผชิญหน้าท่าน ให้ลุล่วงไปได้ทุกอย่างจริง ๆฯ

(๑๔๔) ผู้ประพฤติธรรม แม้จะประพฤติเพื่อประโยชน์สุขของตนเป็นเบื้องหน้าก็ตาม แต่ผลได้นั้นจะแผ่ซ่านไปทั่วโลก ทำให้กลายเป็นผู้ประพฤติประโยชน์แก่โลกทั้งโลก ไปโดยไม่รู้ตัว


(๑๔๕) โลกทั้งโลกนี้ เปรียบเหมือนเรือลำเดียว ทุกคนที่อยู่ในโลกที่ยังมีจิตใจเป็นอย่างวิสัยโลก ย่อมได้รับผลอันเป็นขะตากรรมของโลกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางร้ายหรือทางดี. เมื่อโลกนี้เร่าร้อนพลโลกก็พลอยเร่าร้อนกันไปหมด ไม่มากก็น้อยฯ

(๑๔๖) หากใครคนหนึ่ง ที่นั่งไปด้วยกันในเรือลำเดียวกันเกิดอาละวาดขึ้นมา จนทำให้เรือลำนั้นจมลงไป หรือเอียงวูบวาบก็ย่อมทำให้คนทุกคนต้องจมน้ำ หรือเวียนศีรษะกันไปทั้งลำเรือไม่ยกเว้นว่าใคร เป็นตัวการหรือนั่งอยู่เฉย ๆ หรือถึงกับพยายามถ่วงป้องกันเอาไว้ไม่ให้เรือเอียงฯ

(๑๔๗) เมื่อใครคนใดคนหนึ่ง พยุงเรือเอาไว้ได้ ไม่ทำให้คว่ำลงไป ทุกคนที่นั่งอยู่ในเรือก็รอดจากการเปียกน้ำ หรือการเวียนศีรษะเพราะเรือโคลง, ไม่ว่าเขาจะเป็นพวกที่เขย่าเรือให้จม หรือเป็นพวกที่นั่งอยู่เฉย ๆ หรือเป็นพวกที่พยายามช่วยพยุงเรือไว้ฯ

(๑๔๘) ผู้ประพฤติธรรมในโลกนี้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติประโยชน์แก่โลก โดยส่วนรวมอยู่เสมอไป. ธรรมะยังมีผู้ประพฤติอยู่ในโลกแม้เพียงคนเดียวอยู่เพียงใด โลกก็ยังชื่อว่ามีธรรมเป็นร่มโพธิ์ไทร คุ้มครองโลกไม่ให้ล่มจม อยู่เพียงนั้นฯ

(๑๔๙) เราไม่ต้องวิตกว่า คนส่วนมากเขาไม่ประพฤติธรรมะกัน, เพราะว่า อธรรม นั้นมีกำลังน้อย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “คนดีแม้มีน้อย ก็สามารถเอาชนะคนไม่ดี แม้มีจำนวนมากได้” ทั้งนี้เพราะว่าธรรมะเป็นสิ่งที่มีกำลัง อธรรมเป็นสิ่งไม่มีกำลังฯ

(๑๕๐) เพียงแต่พวกพุทธบริษัทเรา ซึ่งมีอยู่ในโลกนี้พากันประพฤติธรรมะเท่านั้น ก็จะสามารถเป็นลูกตุ้มถ่วงเรือโลกลำนี้เอาไว้ไม่ให้ล่มจม หรือแล่นไปสู่ความล่มจมช้าเข้าเป็นอย่างน้อย เรือโลกยังไม่ล่มจมหรือล่มจมช้าไปเพียงใด นั่นย่อมเป็นผลแห่งการประพฤติธรรมของพวกพุทธบริษัทในฐานะผู้มีความกรุณาต่อพลโลกทั้งมวลฯ

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 11.0.696.65 Chrome 11.0.696.65


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2554 09:52:48 »



                     

(๑๕๑) จงพากันประพฤติธรรมะเถิด แม้แต่เพียงคนเดียวก็ยังได้ชื่อว่าเป็นลูกตุ้มถ่วงโลก ให้ล่มจมช้าเข้าอยู่นั่นเอง. ผลที่เราได้รับเป็นพิเศษนั้น ก็คือความเป็นปกติสุขอยู่ได้ ไม่ว่าโลกจะหมุนไปสู่สภาวะเช่นไร ถ้าหากเราประพฤติธรรมะของพระพุทธองค์ ให้ขึ้นถึงขั้นสุดได้จริง จนสามารถปล่อยวางความยึดถือในสิ่งทั้งปวงฯ

(๑๕๒) ธรรมะอย่างเดียวเท่านั้น ที่ช่วยได้ไม่ว่ากรณีป้องกัน หรือกรณีแก้ไข และไม่ว่าในกรณีที่คนทั้งโลกพากันประพฤติธรรมะกันทั้งหมด หรือในกรณีที่มีเหลือประพฤติธรรมอยู่แต่เราผู้เดียวเท่านั้น. การประพฤติธรรมะจึงเป็นการถูกโดยประการทั้งปวง ไม่มีทางผิดเลยฯ

(๑๕๓) ฆราวาส เพียงแต่ประพฤติ ฆราวาสธรรม ๔ ประการให้ได้จริง ๆ เท่านั้น จะเป็นการประพฤติธรรมะครบถ้วนหมดทั้งพระไตรปิฎก. ฉะนั้นจึงไม่เป็นการยากเลย ในการที่ฆราวาสคนใดคนหนึ่งประสงค์จะประพฤติธรรม ให้เป็นประโยชน์สุขแก่โลกทั้งหมด โดยส่วนรวมฯ

(๑๕๔) บัดนี้ อาตมาอยากจะระบุอุดมคติ ของคำว่า ข้าราชการ ให้ชัดแจ้ง และเป็นอย่างพุทธบริษัทแท้ คำว่า ข้าราชการ คำนี้ทำอย่างไรเสีย ก็ต้องแปลว่า “ผู้ที่ทำงานของพระราชา” อย่างที่ใครจะเถียงไม่ขึ้นฯ

(๑๕๕) พระราชามิได้หมายถึงผู้มีอำนาจ ตัดคอคน หรือเสกสรรคนให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็หามิได้. นั่นเป็นเพียงส่วนประกอบของการกระทำเพื่อหน้าที่ตามอุดมคติเท่านั้น. ส่วนอุดมคติของคำ ๆ นี้ อยู่ที่ “ทำความยินดี พอใจให้เกิดแก่ผู้อื่น” ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องตัดคอคนเลยก็ได้ฯ


(๑๕๖) เมื่อพระราชา คือผู้ที่ทำความยินดีปรีดาให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองดังนี้แล้ว คำว่าข้าราชการ หรือผู้ที่ทำงานของพระราชา ก็เลยหมายความเป็น “ผู้ที่ทำความยินดีให้เกิดขึ้นทั่วบ้านทั่วเมือง” ตามไปด้วยฯ

(๑๕๗) เมื่อเราตีราคาของความยินดีที่ได้ทำให้เกิดขึ้นในหัวใจของคนทั่วบ้านทั่วเมือง ดูว่ามีราคาสักเท่าไรแล้ว จะรู้สึกว่ามันมากมายเกินกว่าที่จะนำมันมาเปรียบกันกับค่าของเงินเดือนที่ได้รับอยู่เป็นประจำเดือน จนเกินกว่าที่เราจะถูกเรียกว่าลูกจ้าง และที่ถูก ควรจะถูกจัดไว้ในฐานะเป็นปูชนียบุคคล ประเภทหนึ่งฯ

(๑๕๘) เมื่อคนผู้ถูกนับเนื่องไว้ ในวรรณะกษัตริย์หรือข้าราชการเหล่านี้ ทำหน้าที่ของตนจริง ๆ คือเพ่งจ้องแต่จะให้ความยินดีปรีดาเกิดขึ้นในหัวใจคนทั้งหลาย โดยมิได้เพ่งเล็งอยู่แต่ที่เบี้ยเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นของน้อยเกินไปเช่นนั้นแล้ว ความเสียสละของคนเหล่านั้น ย่อมมากพอที่จะถูกจัดไว้ในฐานะเป็นปูชนียบุคคล ของคนทั้งหลายได้จริงฯ

(๑๕๙) ถ้าใครลืมอุดมคติของตนมากขึ้น เพ่งเล็งแต่ผลทางวัตถุมากขึ้น แม้จะมีการอยู่ดีกินดีมากขึ้น แต่ค่าในทางความเป็นปูชนียบุคคล นั้นลดถอยลงไป จนกระทั่งหมดความเป็นปูชนียบุคคล และเลยกลายเป็นลูกจ้าง. นี่แหละ คือผลของการที่ถือเสียว่า “อุดมคติกินไม่ได้ เงินซื้ออะไรกินได้”ฯ

(๑๖๐) พระราชาทางฝ่ายโลก ก็ทำความยินดีปราโมทย์อย่างโลก ๆ ให้เกิดในหัวใจคน เช่น นอนไม่ต้องปิดประตูเรือน. ส่วนพระราชาทางฝ่ายธรรม ทำความยินดีให้เกิดขึ้น ในหัวใจของสัตว์ตามทางธรรมให้ได้ความสงบเย็นทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า ชนิดที่เงินหรืออำนาจใด ๆ ทำให้ไม่ได้ นั่นเองฯ


(๑๖๑) เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงเป็นพระราชาด้วย เช่นนี้แล้ว ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็พลอยเป็นข้าราชการไปด้วย แต่เป็นข้าราชการของพระธรรมราชา มีหน้าที่ทำงานให้เกิดความยินดีตามทางธรรม ขึ้นในหัวใจของเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะคือความมีหัวใจสูงฯ

(๑๖๒) อาตมาและท่านทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นพุทธบริษัทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ด้วยเหตุนี้และท่านทั้งหลายทุกคน จึงเป็นข้าราชการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย แม้ไม่ได้โดยตรง อย่างน้อย ก็โดยทางอ้อมฯ

(๑๖๓) ท่านจะมีข้อแก้ตัวอะไร ในการที่เมื่อท่านทั้งหลายก็เป็นข้าราชการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ด้วยอีกแผนกหนึ่ง แล้วท่านจะไม่เชื่อฟังพระองค์ได้อย่างไรเล่า ในเมื่อทรงมีคำสั่งสอนล้วนแต่จะทำเราทั้งหลาย ให้หลุดจากฐานะของความเป็นลูกจ้าง ขึ้นไปสู่ฐานะของความเป็นปูชนียบุคคลทั้งนั้นฯ

(๑๖๔) เราทั้งหลาย ต้องทำการบังคับตัวเองอย่างเฉียบขาดเพราะคำสอนของพระองค์ทุก ๆ คำเป็นเช่นนั้น. เราทั้งหลายต้องสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ เป็นบริษัทของพระองค์ อย่างเผลอจนปล่อยให้ตกไปเป็นสมุนลูกน้องของปีศาจแห่งการตามใจตัวเองเลยฯ

(๑๖๕) ปีศาจ แห่งการตามใจตัวเองนี้ เขาเรียกกันว่ากิเลสบ้าง พญามารบ้าง ซาตานบ้าง. จงคิดดูเถิด การเป็นสมุนลูกน้องของสิ่งเหล่านี้จะมีเกียรติที่ตรงไหนฯ


(๑๖๖) ของจริงจักยังคงเป็นของจริงอยู่เสมอ ไม่อาจเปลี่ยนเป็นของไม่จริงไปได้ จนตลอดอนันตกาล ขอท่านทั้งหลายจงอย่าได้ลังเลในข้อนี้เลยฯ

(๑๖๗) ของจริงที่เด็ดขาดที่สุด และจำเป็นที่เราทั้งหลายจะต้องยึดถือที่สุดนั้น ก็คือความจริง ข้อที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั่นเอง. ทำดีต้องดี ทำชั่วต้องชั่วเสมอไป จนตลอดกัลปาวสาน หรือยิ่งกว่าเป็นอย่างน้อย, แต่มันมีข้อที่ทำให้เกิดการลังเลหรือเข้าใจผิดอยู่มาก ตรงที่ผลพลอยได้ คือ เงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง และลาภผลอื่น ๆ ที่เป็นวัตถุฯ

(๑๖๘) ความดี มันดีอยู่แล้ว ในตัวการกระทำทางกายวาจาใจนั่นเอง. พอทำเสร็จมันก็ดีเสร็จแล้วเหมือนกัน. เพราะมันดีอยู่ในตัวการกระทำนั้น จึงพอทำเสร็จ มันก็ดีเสร็จแล้วฯ

(๑๖๙) ทางฝ่ายทำชั่ว ก็เป็นเช่นเดียวกันอีก คือชั่วอยู่ในตัวการกระทำทางกาย วาจา ใจ นั่นเอง. พอทำเสร็จ มันก็ชั่วเสร็จแล้ว. มันเป็นของแน่นอนตายตัวเช่นนี้ อย่างไม่มีทางที่จะแปรผัน จนท่านทั้งหลายก็ย่อมจะพิจารณาเห็นได้เองจริง ๆ ฯ

(๑๗๐) การทำดี ดีเสร็จแล้วตั้งแต่เมื่อทำเสร็จ แต่จะได้เงินด้วยหรือไม่ ได้ชื่อเสียงด้วยหรือไม่ นี้มันไม่แน่. บางทีได้ บางทีก็ไม่ได้ การทำชั่ว ก็เหมือนกัน ชั่วเสร็จตั้งแต่เมื่อทำเสร็จ แต่จะได้เงินด้วยหรือไม่ มันไม่แน่ บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ฯ

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 11.0.696.65 Chrome 11.0.696.65


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2554 10:43:12 »



                 

(๑๗๑) การทำชั่ว บางทีก็ได้ชื่อเสียงด้วย ทั้งที่เป็นการทำผิดขนบธรรมเนียมประเพณี หรือบัญญัติแห่งศาสนา แต่เผอิญมันไปตรงกับความนิยมของคน พวกที่เหยียบย่ำขนบธรรมเนียมประเพณี หรือบทบัญญัติของศาสนาด้วยกันเข้า. หรือบางทีได้ชื่อเสียงจากการทำชั่ว เพราะการปรากฏ มันไปปรากฏอีกอย่างหนึ่ง ส่วนความชั่วนั้นถูกซ่อนเอาไว้ฯ

(๑๗๒) ถ้าผลพลอยได้คือเงิน เป็นต้นนั้น มันพลอยได้มาจากการทำดี ก็เป็นผลพลอยได้ที่ดี คือเป็น “เงินดี” ถ้าเงินอย่างเดียวกันนั้นแหละ เป็นผลพลอยได้มากจากการทำชั่ว มันก็เป็นผลพลอยได้ที่ชั่วคือเป็น “เงินชั่ว” มันต่างกันจริง ๆ อย่างไร ขอให้ท่านทั้งหลายลองคิดดูฯ

(๑๗๓) เงินดี ทำให้เจ้าของเงินเป็นคนดี เอามาเลี้ยงร่างกาย ก็เป็นร่างกายดี. เลี้ยงเมียก็เป็นเมียดี เลี้ยงพ่อแม่ก็ทำให้พ่อแม่เป็นพ่อแม่ดี เอาไปบำรุงศาสนา ก็ทำให้ศาสนาบริสุทธิ์ และเจริญ อย่างถูกต้องตามความประสงค์ของพระพุทธองค์ ตายแล้วก็ยังไปสวรรค์ฯ

(๑๗๔) เงินชั่ว ทำให้เจ้าของเป็นคนชั่ว เพราะเงินมันชั่ว. เอาไปเลี้ยงร่างกาย แม้อย่างถูกต้อง มันก็ยังทำให้ร่างกายชั่ว, เลี้ยงลูกก็ทำให้ลูกพลอยชั่ว โดยไม่รู้สึก. เลี้ยงเมียก็พลอยทำให้เมียมีส่วนชั่ว เลี้ยงพ่อแม่แก่เฒ่า ก็พลอยทำให้พ่อแม่ชั่ว เอาไปทำบุญ ก็ทำให้ศาสนาพลอยเศร้าหมองหรือเป็นที่ตั้งแห่งความดูหมิ่นของคนในศาสนาอื่น. ตายแล้วก็ยังไปนรกกันทั้งพวกฯ

(๑๗๕) แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ไม่ทรงสามารถแก้ไขกฎที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เพราะมันมิได้เป็นกฎที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นเหมือนวินัยต่าง ๆ ซึ่งอาจแก้ไขได้, แต่มันเป็นกฎของความจริง, กฎของธรรมชาติอันเด็ดขาด ซึ่งธรรมชาติเองก็ไม่สามารถแก้ไขได้อีกเลย ขอให้พวกเราทั้งหลายจงปราศจากการลังเล ในข้อนี้ โดยสิ้นเชิงเถิดฯ


(๑๗๖) ทำดี ดีเสร็จแล้ว ตั้งแต่เมื่อทำเสร็จ. ทำชั่วก็ชั่วเสร็จแล้ว ตั้งแต่เมื่อทำเสร็จ. ทั้งนี้เพราะว่ามันดีหรือชั่วอยู่แล้ว ในตัวการกระทำ ที่เรากระทำกันทั้งทางกาย วาจาและทางใจฯ 

(๑๗๗) ส่วนผลพลอยได้ที่เป็นเงินทอง หรือชื่อเสียงนั้น มันไม่แน่ บางทีมันก็ได้ บางทีมันก็ไม่ได้ ทั้งฝ่ายการทำดีและทำชั่ว เพราะเหตุว่ามันเป็นผลพลอยได้. แต่มันไปแน่ดักอยู่ข้างหน้าอย่างเด็ดขาดอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าเงินนั้นพลอยได้มาจากการทำดี ก็เป็นเงินดี ถ้าพลอยได้มาจากการทำชั่วก็เป็นเงินชั่วฯ

(๑๗๘) ชื่อเสียง ที่พลอยได้มาจากการทำดี ก็เป็นชื่อเสียงแท้ หรือบริสุทธิ์ ถ้าชื่อเสียงพลอยได้มาจากการทำชั่ว ก็เป็นชื่อเสียงปลอมเทียมฯ

(๑๗๙) เงินดี ทำให้เจ้าของเป็นคนดี ลูกเมียที่พลอยได้รับเลี้ยง ก็พลอยเป็นคนดี. ทำศาสนาให้บริสุทธิ์และเจริญ ในเมื่อเอาไปบำรุงพระศาสนา ตายแล้วก็ไปสวรรค์กันทั้งคณะฯ

                                                 

(๑๘๐) เงินชั่ว ทำเจ้าของให้เป็น “ผีผู้สูบเลือดเพื่อนมนุษย์” เพราะเป็นเงินที่บีบบังคับเอามาจากเจ้าของที่ไม่ประสงค์จะให้, และได้มาโดยวิธีเร้นลับ ทำนองเดียวกับผีที่แอบสูบเลือดมนุษย์ฯ

(๑๘๑) เงินชั่วนั้น เมื่อเอาไปเลี้ยงลูกเมียพ่อแม่ก็พลอยทำให้กลายเป็นผีสูบเลือดมนุษย์กันทั้งพวก, ทำศาสนาให้ถูกดูหมิ่น เมื่อเอาไปบำรุงศาสนา ตายแล้วก็ไปนรกกันทั้งคณะฯ

(๑๘๒) มันจะเอามาสับเปลี่ยนกันได้อย่างไร? ทำดี ดีตลอดไป แต่ต้นจนอวสาน, ทำชั่วก็ชั่ว แต่ต้นจนตลอดอวสาน โดยเด็ดขาดแน่นอนเสมอฯ

(๑๘๓) จงพยายามชำระสะสาง สิ่งที่ไม่ดี ถ้าหากมันมีอยู่, และพยายามทำแต่สิ่งที่ดี ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนถึงที่สุดแห่งความดี และลุถึงพระนิพพานได้ในที่สุด. ขออย่าได้ถือเสียว่าอุดมคตินั้นกินไม่ได้ เงินซื้ออะไรกินได้นั้นเลยฯ

(๑๘๔) อุดมคตินั้น มันยิ่งกว่าสิ่งที่กินได้ อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้เลย อุดมคตินั่นแหละจะอำนวยให้ซึ่งความเป็นมนุษย์ อันถูกต้อง อำนวยให้ซึ่งความเป็นข้าราชการอันถูกต้อง และอยู่ในฐานะอันเป็นปูชนียบุคคลแทนฐานะแห่งการเป็นลูกจ้างฯ

(๑๘๕) อุดมคตินั่นแหละ จะอำนวยให้ซึ่งความเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้อง มีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้าเป็นรางวัล. รวมทั้งอำนวยให้ซึ่งเงินและชื่อเสียงอย่างเหลือหลาย และเป็นเงินดีชนิดที่จะไม่ทำให้เจ้าของกลายเป็นผีผู้สูบเลือดมนุษย์ไปฯ


(๑๘๖) จงอย่าประมาท. จงตั้งอยู่ในเหตุผล จงยึดถือของจริง จงพยายามรักษาอุดมคติแห่งหน้าที่การงานนั้น ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่ต้องมีใครมาอ้างคุณพระรัตนตรัย แล้วอวยพรให้แก่ท่าน เพื่อความสุขความเจริญของท่านดอก ท่านก็จะมีความสุขความเจริญอันสมบูรณ์แท้จริงเองฯ

(๑๘๗) ความดีที่ทำกันนั้น เป็นตัวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เสียเองแล้ว. คนสมัยนี้มัวแต่อะไร ๆ ก็อ้างคุณพระรัตนตรัยแต่แล้วก็มีการกระทำที่ขบถต่อพระรัตนตรัย อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ จึงได้รับแต่การโกลาหลวุ่นวายฯ

(๑๘๘) เราเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง ก็ต้องทำตามคำสอนของพระองค์ คือ ทำดีด้วยการยึดหลัก “ทำดี ได้ดี” แล้วจะต้องไปพึ่งขอพรจากใครทำไมฯ

(๑๘๙) ขอให้ท่านคิดพึ่งตัวเอง ตามคำสอนของพระองค์ แล้วเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ทุกเมื่อเถิด จะประสบสิ่งอันพึงปรารถนาแท้จริงโดยครบถ้วนเอง. ด้วยเหตุนี้แล อาตมาจึงไม่อ้างคุณพระรัตนตรัย แล้วทำการอวยพรแก่ท่านทั้งหลายฯ

(๑๙๐) อาตมาขอยืนยันในที่สุด เป็นเครื่องกันลืมแก่ท่านทั้งหลายว่า ผลที่เราประสงค์จำนงหวังทั้งหมดนั้น จะเกิดเป็นผลสำเร็จขึ้นมาครบถ้วน ก็ด้วยอำนาจที่เราทั้งหลาย ยังคงมีความเชื่อ ความเลื่อมใส ตั้งอยู่ในคุณพระรัตนตรัยไม่คืนคลาย นั้นแลฯ



บันทึกการเข้า
คำค้น: ธรรมโอวาท 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.537 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 19 ธันวาคม 2567 17:39:08