[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
21 ธันวาคม 2567 23:21:49 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บันทึกไว้ในแผ่นดิน  (อ่าน 17335 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 22 สิงหาคม 2556 10:52:51 »

.

http://topicstock.pantip.com/home/topicstock/2009/03/R7607422/R7607422-3.jpg
บันทึกไว้ในแผ่นดิน


ฟ้ารู้ ดินรู้...ข้ารู้ แกรู้

ในหนังสือ คิดอย่างจีน (พิราบสำนักพิมพ์) เรื่องหนึ่งที่ ส.สุวรรณ เรียบเรียงไว้ ชื่อ ฟ้ารู้ ดินรู้ ข้ารู้ แกรู้

หลิวจี (ค.ศ.๑๓๑๑ - ๑๓๗๕) เขียนไว้ในหนังสือ อี้หลีจื่อ สมัยราชวงศ์หมิงว่า ในเมืองเสฉวน มีพ่อค้าขายยาสมุนไพร ๓ คน

คนหนึ่ง รับซื้อแต่สมุนไพรมีคุณภาพดี อาศัยราคาซื้อเป็นเกณฑ์ตั้งเป็นราคาขาย ไม่ตั้งราคาลอย ไม่เอากำไรเกินควร

คนสอง รับซื้อทั้งสมุนไพรคุณภาพดี และคุณภาพเลว ราคาขายมีแพงมีถูกตามความ ถ้าจ่ายแพงก็ได้สมุนไพรดี ถ้าจ่ายถูกก็ได้สมุนไพรเลว

คนที่สาม ไม่รับซื้อสมุนไพรชั้นดีเลย เอามากเข้าว่า แต่ก็ขายในราคาถูก ลูกค้าขอแถมก็แถมให้ไม่ถือสา

ดังนั้น ร้านพ่อค้าคนที่สาม จึงมีแต่ลูกค้ามาแย่งซื้อ ธรณีประตูร้านถูกเหยียบย่ำจนหักพัง ต้องเปลี่ยนเดือนละท่อน

ชั่วเวลาปีเดียว พ่อค้าคนนี้จึงร่ำรวยมหาศาล

พ่อค้าคนที่สอง ซื้อทั้งสมุนไพรดีเลว แม้มีลูกค้ามาอุดหนุนน้อยกว่า แต่สองปีให้หลังเขาก็ร่ำรวยขึ้นมา...เหมือนกัน

มาถึงพ่อค้าคนแรก ที่เลือกซื้อแต่สมุนไพรชั้นดี ขายในราคายุติธรรม การค้าแย่ที่สุด กระทั่งเวลาเที่ยงวัน ร้านค้าเขาเงียบเชียบราวกับยามค่ำคืน

พ่อค้าคนนี้ ยากจนถึงขนาดกินข้าวมื้อเช้าแล้ว มื้อเย็นข้าวไม่พอกิน

อี้หลีจื่อ ยกเรื่องสามพ่อค้าสมุนไพร เป็นตัวอย่างแล้ว ก็ถอนหายใจ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์สามพ่อค้าสมุนไพร ไม่แตกต่างจากสถานการณ์ขุนนางน้อยใหญ่ ในราชสำนักจีน

ที่เมืองฉู่ มีนายอำเภอสามคน แยกย้ายกันทำงานตามเมืองหัวเมืองชายแดน

นายอำเภอคนแรก รับราชการโดยความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต แต่ผู้ใหญ่ไม่ชอบ ฐานะเขายากจนมาก เมื่อพ้นจากตำแหน่ง ค่าเรือเดินทางกลับบ้านก็ไม่มี ผู้คนที่รู้เรื่อง หาว่าเขาซื่อบื้อ รุมเยาะเย้ยไยไพ

นายอำเภอคนที่สอง จ้องหาโอกาส โกยได้ก็โกย มีฐานะร่ำรวย ผู้คนต่างสรรเสริญว่าเขาเป็นคนมีความสามารถ

นายอำเภอคนที่สาม ตั้งหน้าตั้งตากอบโกย เอาเงินที่หาได้ไปคบค้าขุนนางใหญ่ ดูแลลูกน้องเหมือนลูก กับแขกที่ร่ำรวยเขาจะให้เกียรติต้อนรับใหญ่โต

เวลาผ่านไปสามปี นายอำเภอคนนี้ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นถึงเสนาบดีฝ่ายยุติธรรม

“นี่มิใช่เรื่องแปลก ประหลาด หรือ?” นี่น่าจะเป็นคำถาม

ส.สุวรรณ เขียนว่า จริงๆแล้ว เรื่องคอร์รัปชันมีมานานอาจจะตั้งแต่มีมนุษย์ในโลก ที่ว่ากันว่า อาชีพโสเภณีเก่าแก่ที่สุดในโลก เห็นทีจะคลาดเคลื่อน พวกคอร์รัปชันน่าจะเกิดก่อนพวกโสเภณี

แต่หากจะพูดถึงศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีโสเภณีเหนือกว่าพวกคอร์รัปชัน โสเภณีแค่ลงทุนเอาเรือนกายไปแลกเงินมายาไส้ ไม่ได้โกงกินใคร

มีคำพังเพยจีน บทหนึ่ง “เหยียดหยามคนจน ไม่หยามเหยียดดอกทอง” มีความหมายว่า คนที่หาเลี้ยงชีพด้วยความบริสุทธิ์ มักมีฐานะยากจน จะมีแต่คนดูหมิ่นถิ่นแคลน

คนร่ำรวยจะได้รับการยกย่อง โดยไม่ได้คำนึงว่า หาเงินทองมาจากไหน

บทท้าย มีเรื่องเล่าของเอี๋ยงเจิ้น ขุนนางซื่อสัตย์สมัยราชวงศ์ฮั่น...วันหนึ่งมีคนเอาทองคำ ๑๐ ชั่งไปติดสินบน “ท่านรับไว้เถิด ไม่มีใครรู้เห็นดอก” สิ้นคำคะยั้นคะยอ เอี๋ยงเจิ้น โกรธสุดขีด ตวาด


“แกรู้อย่างไรว่า ไม่มีใครรู้ อย่างน้อย เมื่อข้ารู้ แกรู้ ฟ้าก็รู้ ดินก็รู้”....กิเลน ประลองเชิง

หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖



เรื่องจริงๆ ของ "เปาเจิ่ง" หรือ "เปาบุ้นจิ้น"

ส.สุวรรณ เขียนไว้ใน “คิดอย่างจีน” ว่า เรื่องของเปาเจิ่ง หรือเปาบุ้นจิ้น (ค.ศ.๙๙๙–๑๐๖๒) บันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ “ซ่งสื่อ” ไม่กี่บรรทัด

เปาเจิ่ง เป็นคนตรงไปตรงมา รังเกียจข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง กดขี่ขูดรีดประชาชน แต่ไม่ใช่คนดุร้าย เคยให้อภัยคนทำผิดโดยไม่เจตนาเสมอ ไม่คบคนง่ายอย่างไร้หลักการ ไม่เสแสร้งหน้าชื่นป้อนคำหวาน มีชีวิตอยู่อย่างเปิดเผย แม้ยศถาบรรดาศักดิ์สูง แต่ก็ไม่มีฝักมีฝ่าย อาภรณ์เครื่องใช้ อาหารการกินก็ไม่แตกต่าง

เมื่อยังเป็นคนสามัญ เป่าเจิง ไม่ใช่สัตย์ซื่อเฉพาะตัวเอง แต่ก็ยังทำให้ญาติพี่น้อง ซื่อสัตย์ตาม น้าคนหนึ่งเคยแอบอ้างชื่อไปใช้ในทางมิชอบ เปาเจิ่งสั่งจับตัวมาโบย ๗๐ที  หลังจากนั้น ก็ออกคำสั่งประจำครอบครัว ลูกหลานรับราชการ ผู้ใดฉ้อราษฎร์บังหลวง  ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ห้ามกลับหมู่บ้าน เมื่อตายห้ามฝังในสุสานของตระกูล ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ มิใช่ลูกหลานเรา”

เมื่อเรื่องจริง ท่านเปามีแค่นี้ แล้วเรื่อง คดีประหาร พระราชบุตรเขย พระบรมวงศ์ ขุนพลทหาร ฯลฯ ที่คุ้นเคยจากเรื่องเล่า ในงิ้ว ในหนัง... เล่า...เอามาจากไหน?

ส.สุวรรณ เฉลยว่า แผ่นจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง องค์จักรพรรดิอ่อนแอ กลัวขุนศึกหัวเมืองก่อกบฏ ก็สั่งถอด ทำให้ชายแดนเกิดจุดอ่อน ถูกพวกต่างชาติรุกรานบ่อยๆ  ภายในประเทศ ขุนนางก็ฉ้อราษฎร์บังหลวงเต็มที่ ยิ่งพวกที่มีเส้นสายทางพระประยูรวงศ์ ก็ยิ่งทำโดยไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

สมัยราชวงศ์ซ่ง มีกบฏเนืองๆ กบฏที่มีชื่อเสียง คือกบฏเขา-เหลียงซาน (ซ้องกั๋ง)  ประชาชนจีนยุคนั้น จึงมีชีวิตที่สิ้นหวัง หาที่พึ่งไม่ได้ เมื่อมีเปาเจิ่ง ขุนนางซื่อสัตย์ยืนหยัดผดุงความยุติธรรม...ประชาชนจึงแซ่ซ้องสรรเสริญ สนับสนุนเต็มที่  เรื่องเล่า ที่ดูกันในงิ้ว เปาเจิ่ง เป็นขุนนางผู้พิทักษ์ความยุติธรรม แม้แต่องค์จักรพรรดิทำผิด ก็กล้าสอบสวนลงโทษ  หรือคดี พระราชบุตรเขย ทำผิดมหันต์ ก็ถูกประหาร  

“เรื่องทำนองนี้ ไม่มีทางเป็นจริงได้” ส.สุวรรณว่า

เรื่องเล่าเหล่านี้ มีที่มาจาก ความคับแค้น ทุกข์เข็ญอย่างแสนสาหัสในใจประชาชน เมื่อหาทางออกไม่ได้ จึงถูกบีบคั้นออกมาในนิยาย แต่งเป็นบทงิ้ว  แต่ก็ยังมีเรื่องจริงไม่น้อย ถูกบันทึกไว้ นับแต่เปาเจิ่ง เริ่มรับราชการ เมื่ออายุ ๓๕ ปี ตำแหน่งนายอำเภอ ข้าหลวงจังหวัด เสนาบดีฝ่ายตรวจสอบราชการแผ่นดิน ผู้ว่าการนครไคเฟิง และตำแหน่งสุดท้าย เป็นถึงเสนาบดีว่าการคลัง

เปาเจิ่ง ไม่เคยเกรงกลัวอิทธิพลมิชอบใดๆ ไม่ห่วงความปลอดภัยของตัวเอง ใครทำผิดก็พิพากษาลงโทษตรงไปตรงมา มีคนผิดมากมาย ถูกสั่งตัดหัว

มีคนถาม...เปาเจิ่ง ยึดหลักการอะไร ตลอดชีวิตราชการ จึงมีแต่ความซื่อตรงมั่นคง “จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ คือหลักแก้ไขปัญหามูลฐาน ความเที่ยงตรงเป็นหลักในการดำรงชีวิต จงจดจำบทเรียนในประวัติศาสตร์ไว้ อย่าทำตัวให้คนรุ่นหลังเย้ยหยัน”.


ที่มา : คอลัมน์ ชักธงรบ "เรื่องจริงๆ ของท่านเปา" หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖




ศาสตร์ดูคน


หนังสือ คิดอย่างจีน (พิราบสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ ๔) เรื่องหนึ่ง ที่ ส.สุวรรณ เรียบเรียง ชื่อ ดูเหมือนใช่ แต่ไม่ใช่

เรื่องดูคนแม้แต่ขงจื่อ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ยังดูคนผิด อยู่บ่อยๆ

หนังสือ “สื่อจี้” บันทึกว่า ขงจื่อบอกว่า ข้าพเจ้าดูคนจากวาทศิลป์ จึงดูไจอี๋ผิดไป ดูคนจากหน้าตา จึงดูจื่ออี่ผิดไป

ไจอี๋เป็นศิษย์คนหนึ่ง มีไหวพริบเจรจาพาที บุคลิกดี ท่วงท่าเป็นปัญญาชนผู้มีคุณธรรม ขงจื่อชื่นชมมาก แต่ต่อมาไจอี๋แสดงว่า ขาดความกตัญญูต่อบุพการี ไปร่วมมือกับเถียงฉางผู้มีอิทธิพลเมืองฉี ก่อการกบฏชิงอำนาจ  สุดท้ายถูกประหารทั้งโคตร

ขงจื่อเคยพร่ำสอน สังคมจะดี เพราะคนในสังคมทำตัวสมฐานะ กษัตริย์สมเป็นกษัตริย์ ขุนนางสมเป็นขุนนาง พ่อสมเป็นพ่อ ลูกสมเป็นลูก ขุนนางต้องจงรักภักดีกษัตริย์

เรื่องของไจอี๋ ทำให้ขงจื่ออับอายขายหน้า

ส่วนจื่ออี่ศิษย์อีกคน หน้าตาขี้ริ้ว เมื่อมาสมัครเป็นศิษย์ ท่าทีสติปัญญาอ่อนด้อย ไม่มีวี่แววความสำเร็จ แต่เขากลับขยันหาความรู้ ซื่อตรง พูดน้อย ไม่คบคนพาล ไม่สอพลอคนมีอำนาจ

ต่อมา ได้เผยแพร่ลัทธิหยู แพร่หลายทางภาคใต้ของจีน ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง

แต่เรื่องที่ขงจื่อดูคนผิดพลาดมากกว่า เป็นเรื่องต่อไปนี้

ครั้งหนึ่งขงจื่อถูกทหารปิดล้อม ๗ วัน ระหว่างเมืองเฉินกับเมืองไช่ อาหารขาดแคลน ศิษย์ชื่อเอี๋ยนหุยไปหาข้าวมาหุง ข้าวใกล้สุกเอี๋ยนหุยหยิบข้าวใส่ปาก สักครู่ก็นำข้าวที่สุกแล้วมาให้  ขงจื่อเข้าใจว่าเอี๋ยนหุยไม่ซื่อ แสร้งบอก เมื่อครู่ข้าฝันถึงท่านพ่อ ถ้าหากข้าวสะอาดข้าจะเอาข้าวไปเซ่นไหว้ท่านพ่อ “ข้าวหม้อนี้ไม่สะอาด ใช้เซ่นไหว้ไม่ได้” เอี๋ยนหุยบอก

“เมื่อกี้มีสะเก็ดถ่านหล่นลงหม้อ จะเททิ้งก็เสียดาย ข้าพเจ้าจึงหยิบข้าวสกปรกใส่ปาก”

ขงจื่อถอนหายใจ พูดว่า แต่เดิมข้าคิดว่า สิ่งที่เชื่อได้คือดวงตาของข้าเอง แต่มาบัดนี้ เห็นทีจะเชื่อดวงตาไม่ได้ สิ่งที่พึ่งได้คือสมอง เห็นสิ่งใดก็ต้องขบคิดใคร่ครวญให้มาก

ในคัมภีร์หลีซื่อชุนชิว หนังสือปลายยุคจั้นกั๋ว เล่านิทาน เรื่องผีกับคน

ในเมืองเหลียงภาคเหนือของจีน มีผีประหลาดชอบหลอกคนเดินทาง คืนหนึ่งผู้เฒ่าเมามายเดินโซเซกลับบ้าน ผีแปลงเป็นลูกชาย มาหลอกหลอนกลั่นแกล้ง ผู้เฒ่าโกรธมาก  กลับถึงบ้านเจอลูกชาย ก็ด่าโฉงเฉง ลูกชายคุกเข่ากราบ ยืนยันว่า ตัวเองเดินทางไปอีกเมือง คนละทิศทางที่พ่อเจอผี ผู้เฒ่าเชื่อ คืนต่อมาผู้เฒ่าวางแผนแก้แค้นผี เมาเดินกลับเส้นทางเก่า ลูกชายเป็นห่วงพ่อจะถูกผีหลอก ออกมาดักรอ พ่อเจอหน้าก็คว้าดาบฟันลูกชายตาย

หลี่ปู้อุ้ยเขียนไว้ในคัมภีร์ หลีซื่อชุนชิวว่า  สิ่งที่คนเผลอไผล แยกจริงเท็จไม่ได้ ก็คือสิ่งที่ภายนอกดูคล้ายคลึงกัน...นักแกะสลักกังวลว่าจะเห็นหินที่คล้ายหยก เป็นหยก  ธรรมราชากังวลว่า คนพูดเก่งคล้ายมีความรู้ เป็นคนเก่งมีความรู้  ราชาที่ทำให้บ้านเมืองล่มสลาย ดูคล้ายผู้มีสติปัญญา และขุนนางที่ทำให้บ้านเมืองพินาศ ดูคล้ายผู้ฉลาดจงรักภักดี


ที่มา : คอลัมน์ ชักธงรบ "ศาสตร์ดูคน"  หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ



ตักบาตรยามเช้า ที่นครเวียงจันทน์  ประเทศลาว

พระพุทธศาสนาอยู่ได้อย่างไร? ในสังคมคอมมิวนิสต์

ในงานฉลองเจริญพระชันษาครบ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช  มีหลวงปู่พระมหาผ่อง ประธานคณะสงฆ์ลาว หรือที่พวกเราเรียกสะดวกปากว่า สังฆราชลาว เสด็จมาถวายคำอำนวยพรด้วย

หลวงปู่พระมหาผ่อง สุขภาพร่างกายยังแข็งแรง ดวงตาแวววามแจ่มใส เห็นท่านแล้ว ไม่อยากเชื่อว่า วันนี้ท่านอายุ ๙๘ ปี อ่อนกว่าสมเด็จพระญาณสังวร ๒ ปี

ดร.สุภชัย  วีระภุชงค์ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย  นิมนต์ท่านไปวิสัชนา หัวข้อ โฮจิมินห์กับพุทธศาสนา ที่สำนักงานพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เมื่อเย็นวันที่ ๑ ตุลาคม  

เคยว่ากันว่า คอมมิวนิสต์น่ากลัวมาก เข้าบ้านเมืองใดชาวบ้านจะเดือดร้อน พระสงฆ์องค์เจ้าจะถูกจับไปทำนา วัดวาถูกทำลาย  แล้วโฮจิมินห์ คอมมิวนิสต์ตัวพ่อ จะไปกันได้กับพุทธศาสนาอีท่าไหน?

คำตอบนี้ วิสัชนาได้จาก ... หลวงปู่พระมหาผ่อง  

หลวงปู่พระมหาผ่อง แท้จริงท่านเป็นคนไทยเกิดในอำเภอตระการพืชผล  จังหวัดอุบลราชธานี  แต่ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปเติบโตและบวชเรียนที่ฝั่งลาว  บวชเป็นพระเคยอยู่วัดชนะสงคราม... สอบเปรียญ ๖ ประโยคได้ในสมัยรัชกาลที่ ๘

วัดชนะสงครามกับวัดบวรใกล้กัน มีตลาดบางลำพูคั่นกลาง  หลวงปู่ออกบิณฑบาต  สวนกันไปมากับพระมหาเจริญ (สมเด็จพระญาณสังวร) หลายครั้งจนคุ้นหน้า  

สอบเปรียญ ๖ ได้  พระมหาผ่องก็กลับประเทศลาว  

ย้อนหลังไปเรื่องราวของลุงโฮ (จิมินห์)  พระหนุ่ม ปัญญาชนแถวหน้าของลาว ใช้เวลาค้นคว้าหลายปี เล่าเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในการรับรู้ของคนไทยมาก่อน ดังนี้

ตอนโฮจิมินห์มาอยู่ไทย มีข่าวว่า บ้านอยู่ในนครพนม...นั้นแท้จริง ช่วงแรกโฮจิมินห์มาบวชเป็นศิษย์หลวงพ่อบ๋าวเอิง อยู่วัดญวนสะพานขาว กรุงเทพฯ เป็นเวลา ๑ ปี ต่อมาก็เปลี่ยนไปบวชเป็นพระไทยนิกายธรรมยุต ที่จังหวัดอุบลราชธานี  ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอีก ๑ ปี  ต่อมาก็ไปรัสเซีย ศึกษาวิชาคอมมิวนิสต์ จาก เลนิน

เชื่อกันว่า โฮจิมินห์ รักษาศรัทธาของคนเวียดนามไว้ได้ กระทั่งตายแล้ว ยังมีคนเวียดนามเข้าคิวรอ ขอไปคารวะศพลุงโฮ วันละนับพัน เพราะตลอดชีวิตโอจิมินห์ เคร่งครัดในหลักการ ๑๐ ข้อ  ทุกข้อตรงกับทศพิธราชธรรม ธรรมะของผู้นำ ของพุทธศาสนา

หลัง ๒ ธันวาคม ๒๕๑๘ ประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเจ้าเป็นระบอบสังคมนิยม  ถามว่า สถาบันพุทธศาสนาอยู่ได้อย่างไร

หลวงปู่พระมหาผ่อง วิสัชนา พุทธศาสนากับรัฐบาลสังคมนิยม มีเป้าหมายที่ประชาชน จึงผสมกลมกลืนไปกันได้  มีการเขียนธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ ชำระคัมภีร์อานิสงส์ คัมภีร์เก่าทางพุทธศาสนาใหม่  ทำให้สถาบันพุทธศาสนาลาว นอกจากไม่เสียหาย บอบช้ำ ยังอยู่ได้อย่างยืนยงยั่งยืน พระสงฆ์ลาวมีวัตรปฏิบัติน่ากราบไหว้เป็นอย่างยิ่ง

เชื่อแล้วในบัดนั้น คำสอนพระพุทธเจ้า คำสอนของเลนินที่โฮจิมินห์เรียนรู้อย่างเข้าใจ มีผลต่อการกู้ชาติเวียดนาม มีอิทธิพลต่อการพัฒนาสถาบันสงฆ์ในลาว

ผมเข้าไปกราบ หลวงปู่พระมหาผ่อง แทบเท้าท่าน ผมเพิ่งได้รู้ว่า ไม่ได้กราบพระอย่างมีศรัทธาเต็มหัวใจอย่างนี้มานานเต็มที... กิเลน  ประลองเชิง


สรุปจาก : คอลัมน์ ชักธงรบ “ลุงโฮกับมหาผ่อง”  โดย กิเลน  ประลองเชิง  หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๖




พระอาจารย์ล่องหน
(ผู้คายเหยื่อ ตามแบบเซ็น)

พระอาจารย์เซ็น ระดับตำนานของญี่ปุ่นมีหลายท่าน  ท่านหนึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือไปไกลหลายแขวงหลายเขตจังหวัด ท่านชื่อ โตซุย

ท่านโตซุย มีปกติวิสัยชอบธุดงค์ เที่ยวแสดงธรรมไปเรื่อยๆ ไม่ติดวัด ไม่ติดถิ่น ศิษย์หลายแห่งพยายามเอื้อเฟื้อเกื้อหนุน หาที่สะดวกสบาย พยายามหน่วงให้ท่านอยู่ประจำ  แต่ก็ไม่มีแห่งไหนเอาท่านไว้อยู่

ท่านแสดงธรรมที่ไหน พอมีคนแตกตื่นเลื่อมใส ห้อมล้อมติดพัน ท่านก็หนี  ใครฟังธรรมท่านแล้ว ก็มักภูมิใจที่ได้เป็นศิษย์...ก็แตกหน่อขยายกอเพิ่มขึ้นมากมาย

นานหลายปี เริ่มมีคนสงสัย พระอาจารย์โตซุยหายไปไหน ไม่แวะเวียนกลับมาสอนเหมือนที่เคยสอน เริ่มจากถามกันเอง แล้วก็เริ่มรวมตัวกันออกค้นหา

แล้วก็พบว่า จุดสุดท้าย พระอาจารย์สอนอยู่ที่วัดทางใต้... วันหนึ่ง ท่านเรียกอุบาสก อุบาสิกา เหล่าสานุศิษย์มาชุมนุมกัน แล้วท่านก็แสดงธรรม  

จบแล้ว พระอาจารย์ประกาศว่า “ต่อจากนี้ไป ฉันจะไม่แสดงธรรมด้วยปากอีก พวกเธอทั้งหลาย แยกย้ายไปอยู่เสียที่ไหนก็ได้ตามใจ...”

ศิษย์พยายามถาม แล้วท่านอาจารย์จะไปทางไหน ท่านก็ตอบว่า “ฉันไม่รู้”

จากจุดนั้น หลายหลายคน ก็ออกแยกย้ายกันตามหา  

เวลาผ่านไป ๓ ปี ศิษย์คนหนึ่งก็ซอกแซกตามท่านเจอจนได้ ในซอกหลืบใต้สะพานเก่า ในเมืองเกียวโต

พระอาจารย์ใช้ชีวิตปนเปอยู่กับพวกขอทาน

ศิษย์คนนั้นดีใจมาก ทรุดลงกราบ กราบแล้วก็กราบอีก ขอฝากตัวอยู่ด้วย

พระอาจารย์โตซุย วางเฉย บอกว่า “เธออยากอยู่ก็ลองอยู่สักวันสองวัน ถ้าอยู่อย่างฉันได้ ฉันก็ไม่ว่า”

ศิษย์ดีใจ รีบเปลี่ยนชุดขอทาน...ติดตามอาจารย์ วันเดียว ขอทานใต้หลืบสะพานคนหนึ่ง ตายลง...จึงเป็นหน้าที่ของอาจารย์กับศิษย์ จะต้องช่วยกันฝังศพ ให้แล้วเสร็จในเวลาคืนนั้น

กระบวนการหามศพไปฝังที่ภูเขา ศิษย์กับอาจารย์ช่วยกันอย่างยากลำบาก แต่ก็เสร็จก่อนรุ่งสว่าง กลับถึงใต้สะพานเหน็ดเหนื่อยกันมาก

ฟ้าสางพอดี ได้เวลาออกขอทาน

“เออ วันนี้ เราสองคนไม่ต้องออกขอทานก็ได้” พระอาจารย์ว่า “อาหารคนตาย ที่เหลือจากขอทานเมื่อวันก่อน ยังพอมีเหลืออยู่ เราเอามากินกันเถอะ”

ว่าแล้ว พระอาจารย์ก็นั่งกินเอากินเอา ขณะศิษย์นั่งกระอักกระอ่วน กลืนเข้าไปไม่ได้สักคำเดียว

“นั่นไง ฉันว่าแล้ว” พระอาจารย์โตซุย ว่า  “เธอไม่สามารถอยู่อย่างฉันได้ ถ้าอย่างนั้นเธอไปได้แล้ว แล้วอย่าพยามยามมากวนฉันอีก”   เรื่อง “ผู้คายเหยื่อ ตามแบบเซ็น”
...จบลงตรงนี้
 
หักมุมมาที่พระผู้ใหญ่สึกเป็นฆราวาสไปเคล้าคลออยู่กับโยมสีกา และตั้งชื่อเสียใหม่ว่า "ผู้กลืนเหยื่อ" !.

จาก : คอลัมชักธงรบ "พระอาจารย์ล่องหน" โดย กิเลน ประลองเชิง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


พระยาน้อยสึกชี

เรื่องพระระดับสมภารใหญ่สึก...แปลกกว่าการสึกธรรมดา...เพราะถูกพระเจ้าแผ่นดิน ขอร้องให้สึกมาช่วยราชการงานเมือง เป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์พม่า  แต่ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของนวนิยาย ชื่อเรื่อง ราชาธิราช

อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ เลือกคัดตัดตอนที่ไพเราะจับใจ ไว้ในหนังสือสนุก (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย) ลองอ่านกันดู

ครั้นแล้ว พระยาน้อยจึงให้นิมนต์พระอาจารย์มะเปงเข้ามา จึงตรัสว่า บัดนี้ข้าพเจ้าจะยกไปตีเมืองพะโค กระทำการตอบแทนแก้แค้นสมิงมราหู แต่มีความวิตกนัก  ด้วยเมืองตะเกิงนี้เป็นที่สำคัญมั่นคงอยู่ ทั้งข้าวปลาอาหารก็บริบูรณ์ ได้อาศัยตั้งมั่นเป็นที่ชัยภูมิดีอยู่แล้ว ถ้าไปทำศึกขัดสนลงประการใด จะได้กลับมาอาศัยส้องสุมผู้คน  ซึ่งจะวางใจให้ผู้อื่นรักษานั้น ก็ไม่เห็นผู้ใดสมควร เห็นแต่พระคุณเจ้าผู้เดียวมีสติปัญญามาก อาจที่จะอยู่รักษาเมือง ปราบปรามเสี้ยนศัตรูให้ราบคาบ เป็นที่วางใจของข้าพเจ้าได้

นิมนต์พระคุณเจ้าสึกออกมา ช่วยรักษาเมืองด้วยเถิด

อนึ่ง พระคุณเจ้าถือเพศบรรพชิต บวชอยู่ดังนี้ ถ้าบรรลุธรรมวิเศษเป็นพระอรหันต์ ตัดมูลราคะตัณหาขาดเด็ดจากสันดาน ก็จะประกอบด้วยสุขในญาณสมบัติ เป็นบรมสุขอย่างยิ่ง  ถ้าพระคุณเจ้าสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์นั้น ข้าพเจ้าเห็นมีความสุขสองประการ คือจะดูฟ้อนรำ ดูเครื่องดีดสีตีเป่าขับเวลาใดๆ ก็ได้ ไม่มีผู้ห้ามปราม จัดเป็นความสุขของปุถุชนประการหนึ่ง

แลความสุขอีกอย่างหนึ่งนั้น เป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ ถึงเทพยดาอินทร์พรหมก็นับถือเป็นสุข ถ้าจะเรียกว่าเป็นของมีรส ก็เป็นรสอร่อยวิเศษอย่างดี

ถ้าผู้ใดบริโภคแล้ว รสอร่อยก็จะซาบซ่านทุกเส้นขน ราวกับได้บริโภครสทิพย์สุธาโภชน์ของสมเด็จอมรินทร์ในเทวโลก พระคุณเจ้าบวชมานานๆ ดังนี้ ยังไม่เคยพบเห็น ถ้าได้ลองชิมรสอันอร่อยสักครั้งหนึ่งสองครั้งแล้ว ก็จะติดใจไม่รู้อิ่ม

สักหน่อยจะเพลิดเพลิน ลืมความสุขในสมณะเป็นแท้

พระยาน้อยตรัสแนะนัยเป็นสำนวนให้พระอาจารย์มะเปงฟังดังนี้แล้ว ก็ทรงพระสรวล

แต่แรกพระอาจารย์มะเปง ก็อ้างข้อธรรมปฏิเสธจะสึก แต่เมื่อพระยาน้อยยกโวหารแวดล้อมอ้อนวอน พระอาจารย์ก็เริ่มใจอ่อน เมื่อคิดว่าตัวเองเป็นผู้รั้งเมือง คนทั้งปวงจะพึ่งบุญพลอยเป็นสุข ก็จะได้กุศล คิดแล้วจึงถวายพระพรลาสึก

พระยาน้อยจึงตรัสว่าสาธุสะ ดีแล้ว ตรัสสั่งให้จัดเสื้อผ้าอย่างดี แลแหวนเพชรพลอยต่างๆ ซึ่งจะพระราชทานให้พระมะเปง พอหญิงสาวใช้รูปงามสองคน เป็นนางพนักงานเชิญถาดพระสุธารสออกมาถวายพระยาน้อย

พระยาน้อยจึงสั่งให้จัดพระสุธารสของเสวย แบ่งไปถวายพระอาจารย์มะเปง  แลให้หญิงรูปงามทั้งสองนั้น หมอบอยู่ในที่ใกล้พระมะเปง แล้วก็ตรัสว่า พระคุณเจ้าบวชมานาน มิได้รู้จักความสุขของฆราวาส จงพิจารณาดูซึ่งความสุขที่หมอบอยู่ทั้งสองนั้น  

จะเห็นว่าเป็นสุขหรือไม่

แล้วพระยาน้อยก็ทรงพระสรวล  พระมะเปงก็สะเทิ้นใจยิ้มอยู่ จึงเลยฉันน้ำชาแก้ขวยใจ

เรื่องพระสึกเหมือนเรื่อง ฟ้าจะผ่า ลูกจะออก ขี้จะแตก...ไม่ใช่เรื่องแปลก  คนโบราณว่า ห้ามไม่ได้ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาปรากฏตามธรรมชาติ

พระกรณีพระอาจารย์มะเปงสึกไปก็ใช้ชีวิตแบบเจ้าเมืองใหญ่ แต่ทางพระถือว่าการสึก เป็นการเวียนไปทางเลว เวียนไปแล้วก็ไม่วนกลับมาอีก

กรณีพระสึกไปอยู่กับสีกา แล้วก็อยากใช้ชีวิตแบบพระ...อยากเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อ...เรื่องแบบนี้คนไทยไม่คุ้น


จาก : คอลัมชักธงรบ "พระยาน้อยสึกชี" โดย กิเลน ประลองเชิง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

.


พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ในพระอิริยาบถประทับบนพระราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา
 
คืนความสุข ยุคพระเจ้าตาก

ปก...ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ เป็นภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ พระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมคำพาดหัวโมเดล ฟื้นฟูประเทศ “คืนความสุข” ยุคพระเจ้าตาก
 
ปรมินทร์ เครือทอง เขียนนำเรื่องไว้ว่า... พระเจ้าตากแม้จะทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะ “กู้กรุง” ให้เหมือนเดิม แต่เมื่อเห็นสภาพบ้านเมืองแล้ว ถึงกับถอดพระราชหฤทัย
 
“ทอดพระเนตรเห็นอัฏฐิกเฬวระคนทั้งปวง อันถึงพิบัติชีพตายด้วยทุพภิกขะ โจระ โรคะ สุมกองอยู่ประดุจภูเขา แลเห็นประชาชนซึ่งลำบากอดอยากอาหาร มีรูปร่างดุจหนึ่งเปรตปีศาจพึงเกลียด ทรงพระสังเวช มีพระทัยเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติ จะเสด็จไปเมืองจันทบุรี”
 
แต่เมื่อทรงรับเป็นผู้นำกู้กรุง ก็จำเป็นต้องทำการบ้าน ที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้า
 
พระราชภารกิจกู้กรุง เริ่มขึ้นทันที ที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัย ทิ้งกรุงศรีอยุธยา
 
ระหว่างสงครามเสียกรุง ทหารพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้นานนับปี ด้วยนโยบายปักหลักพักค้าง ยึดพื้นที่ไร่นาวัวควาย ให้กองทหารปลูกข้าวเป็นเสบียงกินข้ามปี ทำให้ราษฎรหัวเมืองรายรอบ ทำไร่นาไม่ได้ เกิดสภาวะอดอยากและอดตายกันไปทั้งกรุงศรีอยุธยา
 
ราษฎรบางส่วนถึงกับยอมมอบตัว หนีสภาพอดอยากต่อกองทัพพม่า สภาพเช่นนี้ยืดเยื้ออยู่เกือบ ๒ ปี
 
พระเจ้าตาก ยกพลจากหัวเมืองตะวันออก ตีฐานที่มั่นสุดท้ายของพม่า ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ขับไล่กองสุดท้ายทหารพม่าไปได้ แล้วสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่
 
เมื่อสภาวะสงครามผ่านพ้นไป พระราชภารกิจแรก คือการเยียวยาราษฎร ซึ่งอยู่ในสภาพหมดตัวกันถ้วนหน้า
 
“ราษฎรทั้งหลายซึ่งอดโซอนาถาทั่วสีมามณฑลเกลื่อนกล่น มารับพระราชทานมากกว่าหมื่น บรรดาข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนไทยจีนทั้งปวงนั้น ได้รับพระราชทานข้าวสารเสมอคนละถัง กินคนละยี่สิบวัน”
 
รัฐบาลกรุงธนบุรี ยังแจกเสื้อผ้า เงินสด การแจกแต่ละครั้งใช้งบประมาณไม่น้อย
 
นโยบายเยียวยานี้ ดำเนินไปตลอดช่วงแรกของการสถาปนากรุงธนบุรี ตั้งแต่ปี ๒๓๑๑ จนถึงปี ๒๓๑๔ ทำให้ราษฎรซึ่งหลบหนีสงครามเข้าป่าดง กลับออกมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
 
การที่ราษฎรเชื่อมั่นในรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่เพียงนโยบายแจกข้าว คืนความสุขเพียงอย่างเดียว เพราะฝันร้ายจากสงคราม ยังคงจะหลอกหลอนราษฎรอยู่ไม่น้อย การเรียกความเชื่อมั่น จึงน่าจะรวมถึงการแสดงความแข็งแกร่งของรัฐบาลใหม่
 
ปรมินทร์ เครือทอง เขียนถึงศึกบางกุ้ง ศึกแรกหลังสถาปนากรุงธนบุรีไม่ถึงปี
 
กองทัพพม่ายกมาจากเมืองทวาย เพื่อหยั่งเชิงกองทัพกรุงธนบุรีที่ค่ายบางกุ้ง เขตเมืองสมุทรสงคราม ศึกนี้พระเจ้าตากจึงทรงนำทัพเอง เข้าตีกองพม่าแตกพ่ายไปอย่างไม่ยากเย็นนัก
 
ผลสงครามครั้งนี้ ได้ใจราษฎรเป็นอย่างมาก “พระเกียรติยศก็ลือชาปรากฏ ดุจพระยาไกรสรสีหาราช อันเป็นที่กลัวแห่งสัตว์จัตุบาททั้งปวง”
 
ศึกบางกุ้ง ยังส่งผลให้บรรดาหัวหน้าชุมชน มาเฟียท้องถิ่น ซ่องโจร ที่เคยออกอาละวาดปล้นชิงข้าวปลาอาหารวัวควายของชาวบ้าน...เกิดอาการเกรงกลัวพระเดชานุภาพ สงบราบคาบลงทุกๆ แห่ง ยุติอาชีพปล้นชิงกันสิ้น  “ต่างเข้ามาถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ได้รับพระราชทานเงินทองและเสื้อผ้า และโปรดชุบเลี้ยงให้เป็นขุนนางในกรุงและหัวเมืองบ้าง”
 
นโยบายคืนความสุข ส่งผลดีต่อรัฐบาล “บ้านเมืองก็สงบปราศจากโจรผู้ร้าย และราษฎรก็ได้ทำไร่นา ลูกค้าวานิชก็ไปมาค้าขายทำมาหากินเป็นสุข ข้าวปลาอาหารก็ค่อยบริบูรณ์ขึ้น คนทั้งหลายก็ค่อยให้บำเพ็ญการกุศลต่างๆ ฝ่ายสมณศากยบุตรในพระพุทธศาสนา ก็ได้รับบิณฑบาตจตุปัจจัย เป็นกำลังเล่าเรียนบำเพ็ญเพียรในสมณกิจ”
 
ปัญหาใหญ่ต่อมา คือบรรดาหัวหน้าชุมนุมใหญ่ ต่างตั้งตัวเป็นอิสระ เวลานั้นจึงมีเจ้าแผ่นดินเกิดขึ้น ๕ กลุ่มใหญ่ คือเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพิษณุโลก เจ้าพระฝาง เจ้าเมืองนคร เจ้าพิมาย

ปฏิบัติการคืนความสุขขั้นต่อไป ก็คือการรวบรวมชุมนุมใหญ่ทั้ง ๔ เมือง เข้ามาไว้ในราชอาณาจักรกรุงธนบุรี เพื่อความเป็นเอกภาพ การสลายกลุ่มก๊กชุมนุมต่างๆ ทำสำเร็จสิ้นใน ๓ ปีแรกของกรุงธนบุรี
 
เว้นแต่เมืองประเทศราชที่ยึดได้ในปีถัดมา (ตีได้กรุงกัมพูชา ในปี ๒๓๑๔ เชียงใหม่ ในปี ๒๓๑๗)
 
งานต่อมา ก็คือ จะต้องทำนุบำรุงการพระศาสนา ...ครั้นเมื่อตีเมืองพระนครได้ ก็ทรงให้ยืมพระไตรปิฎกมาคัดลอกจำลองไว้สำหรับกรุงธนบุรี เมื่อตีได้ชุมนุมพระฝาง ก็ทรงจัดระเบียบพระสงฆ์เมืองเหนือใหม่ เช่น พระภิกษุรูปใดปาราชิก ก็จะพระราชทานให้สึกออกมาทำราชการ
 
เมื่อฟื้นฟูพระราชอาณาจักร กลับมายิ่งใหญ่ได้แล้ว รัฐบาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็เดินหน้านโยบายเรียกความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ปรารถนาจะได้รับการรับรองจากพี่ใหญ่ คือรัฐบาลจีน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิง
 
การดำเนินการกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน เริ่มแรกปีสถาปนากรุงธนบุรี และต่อเนื่องหลายปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งรัฐบาลจีนเห็นว่า พระเจ้าตากควบคุมการปกครองไว้โดยเด็ดขาด ในปี ๒๓๑๔ รัฐบาลจีนเริ่มเปลี่ยนนโยบาย ยอมรับพระเจ้าตากมากขึ้น

หลัง พ.ศ.๒๓๑๕ เอกสารราชการของราชสำนักชิง ได้เปลี่ยนการอ้างพระนามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้เรียกขานว่า หัวหน้าเผ่าชนอาณาจักรสยาม หรือ พระยาสิน หรือ กันเอินซือ แต่เรียกขานว่า เจิ้นเจา ซึ่งหมายถึง กษัตริย์เจิ้ง หรือ แต้อ๋อง
 
หลังจากนั้นรัฐบาลจีนก็อนุญาตให้ขายสินค้าต้องห้าม จำพวกยุทธปัจจัยให้รัฐบาลกรุงธนบุรี ปี ๒๓๒๔ คณะทูตรัฐบาลกรุงธนบุรี ออกไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงกรุงปักกิ่ง บรรลุข้อตกลงต่างๆเป็นอย่างดี
 
แต่น่าเสียดาย คณะทูตไม่สามารถนำข่าวดีกลับมากราบบังคมทูลได้ทัน เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแผ่นดินกรุงธนบุรี เป็นกรุงรัตนโกสินทร์เสียก่อน
 ...ที่มาข้อมูล : "บาราย" นสพ.ไทยรัฐ ๒๖ ต.ค. ๕๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 พฤศจิกายน 2560 10:34:13 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 29 ตุลาคม 2556 11:56:14 »

.


ภาพจาก : thaimisc.pukpik.com

แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง
๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ การทรงพระราชยานครั้งสุดท้าย

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น เป็นช่วงเวลาที่อารยธรรมต่างชาติกำลังรุกเข้าไทย กาญจนาคพันธุ์ เล่าว่า ที่สะพานเหล็กมีโรงหนังฝรั่ง แต่ตอนนั้นเรียกกันว่าหนังญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเอาหนังมาฉายในไทยก่อนฝรั่ง

ในแม่น้ำลำคลองมีเรือและคนมากกว่าคนในถนน เรือฝรั่งเรียกว่าเรือไฟ  เรือรบที่ลอยในแม่น้ำใหญ่โตน่าพิศวง เรียกว่าเรือเสือ

สมัยที่ยังไม่เคยเห็นเรือรบ ผู้ใหญ่เล่าว่าคนไทยที่เคยไปเห็นเรือรบฝรั่ง ก็เอามาคุย  เรือรบลำใหญ่ทำด้วยเหล็กทั้งแท่ง คนฟังไม่เชื่อ เพราะเคยเห็นแต่เรือทำด้วยไม้ เหล็กทั้งแท่งจะลอยน้ำได้ยังไง เถียงกัน จนต้องไปขอให้ท่านสมภารวัดตัดสิน สมภารหยิบเอาบาตรเหล็กมาวางในชามอ่างมีน้ำ บาตรลอยปร๋อ...อีกคน เป็นบ่าวท่านเจ้าคุณราชทูต คุยว่าสายตะแล้ปแก๊ปนั้นเล็กนิดเดียว  แต่คนหนึ่งพูดอยู่หัวสายที่เมืองนี้  คนที่อยู่หางสายเมืองโน้น ฟังรู้เรื่อง....คนฟังไม่เชื่อ สายตะแล้ปแก๊ปเล็กแล้วไม่มีรู เสียงมันจะส่งไปถึงเมืองไกลๆได้ยังไง

แต่เรื่องที่กาญจนาคพันธุ์ จำได้แม่นเพราะคุ้นเคยมาก ก็คือรถไอ สมัยเรียนชั้นประถมโรงเรียนวัดมหาธาตุ โรงเรียนเลิกก็คลุกฝุ่นลุยโคลนท้องสนามหลวงจนมาถึงหลักเมือง ก็เกาะรถไอมาลงสะพานหก เกาะกันจนเป็นที่รู้จักกับคนฉีกตั๋ว บางวันเขาก็ปล่อยให้กระโดดโหยงๆ อยู่ท้ายรถ ถึงสะพานช้างโรงสี หมดเขตที่เขายอมให้นั่งรถฟรีแล้ว ก็บอกให้ลง  รถไอที่ว่า ก็คือรถราง ทาสีเหลืองอ่อน

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อเริ่มเดินรถใหม่ๆ ผู้คนที่เคยชินกับรถใช้ม้าลาก เคยมีรถลากสายวังหลวงไปถนนตก เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรถไอ บอกกันว่ามันเดินได้ด้วยไอ พอคนขับเปิดไอมันก็วิ่งได้เอง ผู้คนก็พิศวงมันเดินไปได้ยังไง ลงความเห็นกันว่า เดินได้ด้วยฤทธิ์ผี บางคนถึงขนาดคุกเข่าลงกราบผีล้อ ที่หมุนราวกับจักรผัน  ครั้นเมื่อเห็นว่าเป็นผี ก็เกิดความเกรงกลัวไม่กล้าอาจเอื้อมไปนั่ง

ฝรั่งเจ้าของรถไอกลุ้มใจ...จนวันหนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง กับสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวัง มาขึ้นรถไอที่หลักเมือง ประพาสไปตามถนน นับแต่นั้นมา คนก็กล้าขึ้นรถไอ จนแน่นทุกวัน

เรื่องที่ฟังมาตั้งแต่เป็นเด็ก โตขึ้นแล้วอาจารย์กาญจนาคพันธุ์ ท่านว่า เรื่องสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นรถไอจากหลักเมืองไปถนนตก คือเสด็จเปิดทาง...เห็นจะจริง แต่เรื่องคนกลัวผีรถไอไม่กล้านั่ง ต้องรอให้พระเจ้าแผ่นดินนำเสียก่อน เห็นจะไม่จริง

สมัยนั้นรถยนต์ก็มีแล้ว ทุกคันมีชื่อคล้องจอง เด็กๆ เห็นจนจำชื่อได้ ฟ่องฟ้า ไอยราพต จรดจักรวาฬ วิมานลอย จำปาห้อยหู ชมภูห้อยบ่า หรืออาสน์พระยม รถชื่อนี้ดูเหมือนจะเป็นของท่านเจ้าพระยายมราช  รถยนต์หลวงก็มีหลายคัน กาญจนาคพันธุ์ เป็นเด็กสนุกอยู่กับการเกาะรถไอ โดดคลองหลอด สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเสด็จประพาสบ้านเมืองดูทุกข์สุขของราษฎร คงทรงนั่ง ทั้งรถไอ รถม้า รถยนต์ แทบไม่เคยได้เห็นพระองค์ท่านเต็มตาเลย

แต่ก็มีครั้งหนึ่ง ที่ถนนราชดำเนิน ในคืนมืดขมุกขมัวของวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ นับเป็นบุญตา กาญจนาคพันธุ์ เขียนเรื่องนี้ ตีพิมพ์วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๒ ท่านทิ้งท้ายว่า “วันนั้นไม่รู้จักพระพุทธเจ้าหลวง แต่วันนี้รู้จักพระองค์แล้ว และเพิ่งรู้ว่า นั่นเป็นการทรงพระราชยานครั้งสุดท้าย”.



ภาพจาก : www.gotoknow.org
เงินแผ่นดิน

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงทรงเหน็ดเหนื่อยกับศึกภายนอก คือ พวกฝรั่งที่รุกเข้ามาล่าอาณานิคม ศึกภายใน...กับระบบราชการ ก็มีปัญหาใหญ่ให้ทรงสะสาง ความคับข้องพระทัย ในเรื่องนี้หนักหน่วงเพียงไหน อ่านได้จากพระราชนิพนธ์ วันที่ ๒๗-๒๘ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๗) เรื่อง...เงินแผ่นดิน

เงินพระคลังข้างที่ที่มีมาแต่รัชกาลที่ ๑ คือเงินกำไรค้าสำเภา เหตุเพราะเงินแผ่นดินไม่พอจ่ายราชการ จึงเอาเงินนี้ไปจ่ายราชการ ต่อเนื่องไปถึงรัชกาลที่ ๒  ถึงรัชกาลที่ ๓ บ้านเมืองสมบูรณ์ขึ้น จึงตั้งภาษีขึ้นใหม่ ได้เงินพอใช้ราชการ ทรงเริ่มแต่งกำปั่นไปค้า เงินส่วนค้าขายจึงจัดไว้เป็นพระคลังข้างที่  ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงเริ่มแต่งกำปั่นไปค้า ก็ไม่สู้ดีเหมือนรัชกาลที่ ๓ ผลประโยชน์พระคลังข้างที่ ยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่งคือเงินภาษีอากร เวลานั้นแบ่งขึ้นเจ้านาย...เงินพระคลังข้างที่จึงขึ้นได้น้อย รวมเงินแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ปีเถาะนพศก ๔๐,๐๐๐ ชั่งเท่านั้น

ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบัน เงินพระคลังข้างที่ ในคลังพระมหาสมบัติ กรมวิษณุนารถฯ กรมมเหศวรฯ (๒ พระเจ้าลูกยาเธอ รัชกาลที่ ๔ ก่อนเสวยราชย์) แลหม่อมฉัน เป็นผู้ตรวจตราต่อกันมา คลังสินค้าก็ไปอยู่ในมือกรมหลวงวงษา (กรมหลวงวงศาธิราชสนิท) ซึ่งถือตัวว่าเป็นเสนาบดีองค์หนึ่ง เงินพระคลังข้างที่ที่ได้ในส่วนอื่นๆ นอกจากเงินค่านา จึงมีปีละ ๒๐,๐๐๐ ชั่ง  เงินค่านา ๒,๐๐๐ ชั่งนั้นจึงสำคัญ เพราะได้ตัวเงินมาจริงทันที เมื่อเจ้าพระยาพลเทพตัดเงิน ๒,๐๐๐ ชั่งนี้เสีย เงินพระคลังข้างที่ก็คงเหลือ ๒,๐๐๐ ชั่งตามเดิม

แต่วิบัติอันมีขึ้นแต่รัชกาลที่ ๔ ชาวต่างประเทศเอาสุราเมืองจีนเข้ามาขาย ไม่ยอมเสียภาษี ทำให้เงินอากรสุรากรุงเทพฯ ในกระทรวงกลาโหมลดมากในคลังพระมหาสมบัติ สุราหัวเมืองก็ลดลงบ้าง แต่ไม่สู้มากนัก ภายหลังสมเด็จเจ้าพระยา (บรมมหาสุริยวงศ์ ช่วง บุนนาค) ยกทำเป็นรัฐบาล ก็ตัดเงินพระคลังข้างที่หมด เงินคลังนั้นก็หาได้ส่งไม่ ผลประโยชน์สุราเกิดขึ้นเท่าใด ก็เป็นของเจ้าพระยาสุรวงศ์ (วัยวัฒน์ วร บุนนาค บุตรหมายเลข ๖) หมด  ครั้นเมื่อนายนุชอาหารว่ากรมนา ก็ยกเงิน ๒,๐๐๐ ชั่ง ที่เคยเป็นพระคลังข้างที่ ไปให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ในเวลารุ่งปีต่อมา เงินภาษีอากรก็ลดเกือบทุกอย่าง ลดลงไปเป็นลำดับ  จนถึงปีมะแมตรีศก เงินแผ่นดินที่เคยได้ปีละ ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ชั่งนั้น เหลือเพียง ๔๐,๐๐๐ ชั่ง แต่ไม่ได้ตัวเงินกี่มากน้อย  เงินเบี้ยหวัดปีละ ๑๑,๐๐๐ ชั่งก็วิ่งตาแตก ได้ตัวเงินจริงประมาณ ๒๐,๐๐๐ ชั่ง ไม่พอจ่ายราชการ ต้องเป็นหนี้ตั้งแต่งานพระบรมศพจนถึงปีมะแมนี้ เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ ชั่ง

เพราะเหตุนี้ หม่อมฉันจึงนิ่งอยู่ไม่ได้ จับจัดการคลังพระมหาสมบัติ ลงมือจัดหวยและบ่อนเบี้ย ได้ ๘,๐๐๐ ชั่งในปีแรก  จากนั้นก็ไปจับกรมนา เหตุที่กรมนานั้นรู้ง่าย เข้าออกจากประเทศเท่าใดมีจำนวนชัดเจนอยู่ที่โรงภาษี ที่กินกันเสียในบ้านเมืองไม่คิด ปีแรกได้ ๙,๐๐๐ ชั่ง ปีที่สองได้ ๑๒,๐๐๐ ชั่ง ในเวลานี้เงินขึ้นเจ้านายทุกๆ คนถูกตัด อากรสุราถูกเฉลี่ย ร้องขาดเงินแผ่นดินตก ลูกต้องไปทวงเอง พ่อตาย เจ๊กมันไม่ยำเกรงมันก็ให้บ้าง ไม่ให้บ้าง...เป็นที่น่าสังเวชถึงเพียงนี้.....

รวมเงินแผ่นดิน เมื่อแรกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน กำหนดว่าจะได้ ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ใช้ในราชการทั้งแผ่นดิน แต่หาได้จริงไม่ มาจนปีนี้ เงินแผ่นดินขึ้นเป็น ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

อ่านพระราชนิพนธ์ฉบับนี้แล้ว จึงรู้ว่าต้นรัชกาล พระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์ กระบวนการเก็บภาษีอากร อยู่ในมือขุนนางใหญ่ กว่าราชสำนักจะรวบมาไว้ได้ ก็ต้องใช้ทั้งปัญญาและเวลา โดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อ

เงินที่ได้ ก็ทรงใช้ในการพัฒนาใช้ในการเลิกทาส ฯลฯ ใช้ในการปฏิรูประบบราชการ...นำประเทศไทยไปสู่ความเป็นอิสรเสรี ศิวิไลซ์ รอดปากเหยี่ยวปากกา (ฝรั่ง) มาได้ ด้วยประการฉะนี้.



สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
ภาพจาก : http://topicstock.pantip.com

หนังสือ–เครื่องเพชร

หากจะเทียบราคาเพชรกับหนังสือ เพชรมีราคาสูงกว่า แต่หากเทียบเป็นคุณค่า สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เจ้านายในพระราชวงศ์จักรี ทรงเห็นว่า หนังสือมีคุณค่าสูงกว่าเพชร

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เขียนไว้ใน“วาทะ เล่า ประวัติศาสตร์” (สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๕๖) ว่า สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ทรงซึมซับพระราชดำริอันก้าวหน้าและฉลาดล้ำเกี่ยวกับการศึกษา ทรงเป็นผู้ตอกย้ำรากฐานการศึกษาของสตรีไทย ให้แน่นแฟ้นมั่นคง จนมาถึงปัจจุบัน

ในสมัยนั้น ไทยเริ่มเปิดประเทศคบค้ากับยุโรป คนไทยตื่นตัวรับวัฒนธรรมและวิทยาการของชาวตะวันตก แต่การจะรับมาใช้อย่างถูกต้องและได้คุณประโยชน์ จะต้องมีความรู้เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆอย่างถ่องแท้ โดยการศึกษาเล่าเรียน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงทรงสนับสนุนให้พระ ราชโอรสและกุลบุตรทั้งหลาย ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง

แต่ขนบประเพณียังเป็นข้อกีดกั้นมิให้สตรีได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับบุรุษ

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงยุคสมัยบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลง ทรงมั่นพระทัยในความสามารถของสตรี หากมีโอกาสได้ศึกษา ก็จะร่วมมือกับบุรุษสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ

จึงทรงโปรดให้พระอาจารย์ทั้งไทยและต่างประเทศ ให้มาสอนเจ้าฟ้าหญิงในพระราชสำนักฝ่ายใน ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงแตกฉานในวิชาการและภาษาต่างๆ อย่างดีเลิศ ตั้งแต่ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ภาษาบาลี สันสกฤต

ทรงยังถ่ายทอดและปลูกฝังอุปนิสัยรักการศึกษา ให้ข้าหลวงในพระอุปถัมภ์ ข้าหลวงชั้นเล็กจะมีครูมาสอนหนังสือถึงพระตำหนัก ข้าหลวงโตจะโปรดให้ไปเรียนที่โรงเรียนราชินีสุนันทาลัย

ในส่วนการปฏิบัติตัว โปรดให้วางตัวให้เรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะ บางสถานที่ที่อาจยืนเฝ้า เมื่อจะผ่านเจ้านาย อาจเดินก้มตัว แทนการหมอบคลาน

โปรดให้เรียนรู้วัฒนธรรมบางประการของยุโรป ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นการจัดโต๊ะ วิธีเสิร์ฟ วิธีรับประทานอาหาร

ทั้งยังทรงสนับสนุนให้สตรีทั่วไป ได้รับการศึกษา ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างโรงเรียนราชินีบน โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ และโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ ที่เพชรบุรี

โปรดอุดหนุนค่าใช้จ่ายในโรงเรียนในพระอนุเคราะห์ และยังโปรดให้ข้าหลวงที่สนใจไปเรียนต่อต่างประเทศ ให้กลับมาเป็นกำลังในการศึกษาของเด็กหญิงไทย

ในส่วนพระองค์ ทรงให้ความสนพระทัยในความรู้ ทรงสั่งหนังสือจากต่างประเทศทั้งนิตยสารวิชาการ นวนิยาย แฟชั่น ทรงอ่านทุกเวลาที่ว่าง ก่อนพระบรรทมจะทรงอ่านจนดึก

พระพี่เลี้ยง ต้องแอบเอาหนังสือไปซ่อน เพราะเกรงว่าพระพลานามัย ซึ่งไม่แข็งแรงอยู่แล้ว จะอ่อนแอลงอีก

เคยมีพระราชดำรัส “ของประดับถ้าไม่รู้จักเก็บรักษาก็สูญหายได้ แต่วิชาความรู้นั้น ติดตัวไปจนตลอดชีวิต

และที่ทรงดำรัสย้ำ จนจดจำเล่าขานกันต่อๆมา...

ถ้าเกิดไฟไหม้ไม่ต้องเก็บเครื่องเพชร ให้เก็บหนังสือก่อน

ไปเดินหาซื้อหนังสือ ในงานมหกรรมหนังสือ ที่ศูนย์สิริกิติ์กันนะครับ...ทั้งงานมีเพชรล้ำค่าให้เลือกมากมาย...ตอนหอบหนังสืออาจจะหนัก แต่หากอ่านแล้วก็เบาสบาย โบราณว่า รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม.






ดูก่อน ชาวกาลามะ

กาลามสูตร ฉบับนี้ ผมคัดมาจากพจนานุกรมคำวัด .. พระธรรมกิติวงศ์ (ทองดี  สุรเตโช) ท่านเขียนให้อ่านง่ายๆ ไม่มีกลิ่นอายภาษาบาลีให้เวียนหัว...กิเลน ประลองเชิง

กาลามะ เป็นชื่อคนชาติพันธุ์หนึ่ง รวมตัวกันอยู่ในหมู่บ้านเกสปุตติยนิคม ในเขตแดนแคว้นโกศล แคว้นมหาอำนาจในยุคพุทธกาล

ที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นชุมทางใหญ่ พ่อค้า คนเดินทาง นักบวช หรือกระทั่งศาสดาไม่ว่าสำนักไหน ก็จำเป็นต้องผ่าน  
ตอนที่พระพุทธองค์ทรงเริ่มเผยแผ่พุทธศาสนา มีสำนักเล็ก สำนักใหญ่ มากจนนับไม่ถ้วน  
ชาวกาลามะ เจอมามาก ฟังมาก็มาก ทุกสำนักล้วนแต่ประกาศว่า คำสอนของตัวเองดีกว่า
เมื่อได้เจอพระพุทธเจ้า ก็ตั้งคำถาม จะให้เชื่อคำสอนของสำนักไหน?
 
“ดูก่อน ชาวกาลามะ” พระพุทธองค์ตรัส “มีหลักการพิจารณาความเชื่ออยู่ ๑๐ ประการ”
     ๑. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
     ๒. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
     ๓. อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
     ๔. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
     ๕. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
     ๖. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
     ๗. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดเอาตามแนวเหตุผล
     ๘. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
     ๙. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
     และ ๑๐. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูอาจารย์ของตน

คำสอนแบบนี้ ชาวกาลามะไม่เคยฟังจากศาสดาสำนักไหนมาก่อน แต่ฟังแล้วก็งง
...ตำราก็เชื่อไม่ได้  ทฤษฎีก็เชื่อไม่ได้  กระทั่งครูบาอาจารย์ที่เคยพร่ำสอนกันมาหนักหนา
ให้ตั้งใจเล่าเรียนเขียนอ่านก็ยังไม่ให้เชื่อ.....

ให้หลักแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสต่อว่า ทุกคำสอน เชื่อแบบงมงายไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาพิจารณา
ให้เห็นจริง ถึงคุณโทษ จนแน่ใจว่าดีหรือไม่ดี จึงค่อยปักใจเชื่อ


คัมภีร์พุทธศาสนา บันทึกว่า ชาวกาลามะ ฟังเทศนากัณฑ์นี้แล้ว ก็เห็นเป็นอัศจรรย์
ก้มกราบนับถือพระพุทธเจ้า พวกเขาเชื่อทันที นี่คือพระศาสดาองค์จริง พระอรหันต์องค์จริง.
   จาก : คอลัมชักธงรบ โดย กิเลน ประลองเชิง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ




อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

จุดจบฮิตเลอร์

...หนังสือกำเนิดและจุดจบและโศกนาฏกรรมของฮิตเลอร์ (สำนักพิมพ์ศยาม)  ต่อไปนี้ เป็นบางตอนของตอนที่ ๖๒ นักโทษคนสุดท้าย

โยเซฟ เกิบเบลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อ และภรรยาผูกพันกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชนิดแยกไม่ออก

๑ พ.ค. ๑๙๔๕ เขากับภรรยาจัดการป้อนยาพิษให้ลูกๆ ๖ คนแล้วก็เดินเข้าสวนหลังทำเนียบ สั่งให้เจ้าหน้าที่เอสเอสทำหน้าที่เพชฌฆาต ลั่นกระสุนคนละนัด ปลิดชีวิตทั้งคู่

แล้วก็ราดน้ำมันเผา แบบเดียวกับปฏิบัติการต่อศพฮิตเบอร์ และเอวา เบราน์ ภรรยา

สี่ทุ่มคืนที่ฮิตเลอร์หมดลมหายใจ มีประกาศทางวิทยุถึงประชาชนชาวเยอรมัน  “ท่านผู้นำสิ้นชีวิต ท่านได้ต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์บอลเชวิก เพื่อเยอรมนี จนลมหายใจสุดท้าย”

คำประกาศเดียวกัน แต่งตั้งนายพลเรือคาร์ล โดนิตซ์ เป็นประธานาธิบดี และโยเซฟ เกิบเบลล์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นายพลเรือคาร์ล โดนิตซ์ เป็นประธานาธิบดีได้ไม่กี่วัน ก็ถูกควบคุมตัวเป็นนักโทษขึ้นศาลอาชญากรสงคราม ขณะประชาชนในลอนดอน ปารีส นิวยอร์ค มอสโก ต่างออกมาตามท้องถนน แสดงความยินดีปรีดา

เสียงปืนสงบลง พร้อมกับการสิ้นสุดยุคนาซีเยอรมัน หากนับจากปลายเดือนมกราคม ๑๙๓๓ วันที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา ๑๒ ปี ๓ เดือน

สำหรับชาวเยอรมัน นาทีนั้นมันกลายเป็นความว่างเปล่า สตรีกรุงเบอร์ลินคนหนึ่งกล่าว
“จากนี้ จะไม่มีใครถูกฆ่าโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีการเตือนภัยทางอากาศ ไม่มีการทิ้งระเบิดเพลิง เมื่อไม่เหลืออุดมการณ์นาซี ที่เคยเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง จึงไม่เหลืออะไรในชีวิต พวกเราต่างหาทางอยู่รอดไปวันๆ”

ส่วนชาวยิวและชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เคยถูกจัดว่า “ต่ำกว่ามนุษย์” คนที่รอดจากการถูกสังหารโหด พวกเขาไม่ต้องเดินก้มหน้างุดๆ ด้วยความกลัวเสียงตะโกนให้หยุด

ต่อแต่นี้ พวกเขาไม่ต้องอยู่กับความหิวโหยแร้นแค้น หรือสภาพในเกตโต้ ในค่ายกักกันในโรงงานที่ใช้แรงงานทาส ไม่ต้องกลัวจะถูกยิงเป้า ถูกฝังทั้งเป็น หรือถูกรมให้ตายด้วยแก๊สพิษ

ทั้งที่ไม่มีประเทศให้ใครยึดครอง รวมตัวเลขชาวยิวเสียชีวิตในระหว่างสงครามไปกว่า ๖ ล้านคน

สหภาพโซเวียตสูญเสียยิ่งมากกว่า ทหาร ๗ ล้านคน พลเรือนกว่า ๑๖ ล้าน

บทสรุปคร่าวๆ มีคนเสียชีวิตราว ๕๕-๖๐ ล้านคน พลเรือนกว่า ๖๐ ล้านถูกบังคับให้ทิ้งถิ่นที่อยู่ ในจำนวนนี้ ๑๑ ล้านคน เป็นคนเร่ร่อนไปทั่วยุโรป ไร้จุดหมายปลายทาง

ผู้คนเหล่านี้ถูกนาซีบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส ถูกเกณฑ์ทำงานจิปาถะ ในกองทัพทั้งสองฝ่ายเคยเป็นเชลยศึกหรือเป็นนักโทษในค่ายนรก ในจำนวนนี้รวมทั้งชาวยิวกว่าแสนคนที่รอดตายจากค่ายนรก

ชาวยิวพยายามเดินทางกลับที่อยู่อาศัย พบว่าบ้านถูกคนแปลกหน้ายึดครอง เรื่องนี้เกิดขึ้นในทุกๆ เมืองใหญ่ที่แต่เดิมมีประชากรชาวยิว

เกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นฆ่ากันตาย จากการแย่งที่อยู่อาศัย ต่างฝ่ายต่างอ้างเป็นเจ้าของ

ณ จุดนี้เอง ชาวยิวจึงอ้างความจำเป็นและความชอบธรรม อันจะเดินทางข้ามทะเลไปยังดินแดนปาเลสไตน์ เพื่อก่อตั้งรัฐอิสราเอล จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จนกระทั่งทุกวันนี้...
 จาก : จุดจบฮิตเลอร์ คอลัมชักธงรบ โดย กิเลน ประลองเชิง หน้า ๓ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันพุธที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 พฤศจิกายน 2557 15:07:23 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 03 พฤศจิกายน 2557 15:23:48 »

.



กำเนิดพระนคร

หนังสือชื่อ ๒๒๕ ปี จังหวัดพระนคร พิมพ์โดย คณะสมาชิกสโมสรโรตารีพระนคร (สโมสรโรตารีแม่จัน เจ้าของลิขสิทธิ์) ปี ๒๕๕๐ เนื้อหาส่วนใหญ่ เป็นภาพเก่า ที่บางส่วนได้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ส่วนน้อยเป็นเนื้อหาตัวหนังสือ บทที่ ๑ กำเนิดพระนคร

พระนครถือกำเนิดขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงนำไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโยกย้ายจากกรุงธนบุรี มาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง

พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ว่า กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา

จากนั้นทรงใช้เวลา ๑ ปีเต็ม สร้างพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปคู่พระนคร พร้อมการสร้างเสาชิงช้า ตามธรรมเนียมพราหมณ์

รอบๆ พระบรมมหาราชวัง มีการสร้างวังเจ้านายและบ้านเรือนเสนาบดีผู้ใหญ่ ส่วนบ้านเรือนข้าราชการชั้นผู้น้อยและราษฎร ตั้งอยู่ถัดออกมาเป็นชั้นๆ

สถานที่ราชการ เช่น โรงอู่หลวง ริมน้ำระหว่างคลองมอญกับวัดระฆังฯ ฉางข้าวเปลือก หน้าวัดมหาธาตุ ศาลหลวง ใกล้กับศาลหลักเมือง โรงม้าหลวง คุกของกรมพระนครบาล

ตรงข้ามวัดพระเชตุพนฯ หน้าคุกมีตลาดสด ข้างคุกมีหอกลองสูง ๓ ชั้น แต่ละชั้นมีกลองขนาดใหญ่ ตีเมื่อเกิดศึกสงคราม เพลิงไหม้ บอกเวลา

ยังมีโรงช้างปลูกเรียงรายทั่วไป

ส่วนนอกกำแพงเมือง ขณะนั้นยังมีสภาพเป็นชนบทรกร้างและท้องทุ่ง ราษฎรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามริมน้ำ ปลูกเรือนแพจอดอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ทั้งในและนอกนครหลวง

วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๓๒๘ พระนครก็ได้นามเต็มๆ เป็นทางการ : กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลก ภพนพรัตน์ ราชธานี บุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์

(ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนคำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และใช้กันถึงปัจจุบัน)

แต่ขณะที่พระนครยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ พระเจ้าปดุงแห่งพม่า ก็ยกกำลังเก้าทัพรวม ๑๔๔,๐๐๐ คน ข้ามแดนเข้ามาเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ แต่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้ารัชกาลที่ ๑ ทรงขับไล่ออกไปได้หมดและยังทรงยกทัพต่อไป ตีหัวเมืองใต้ ได้ปืนพญาตานีจากเมืองปัตตานี นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

เมื่อสถานการณ์เป็นปกติสุข ปลอดศึกสงคราม พระนครของเราก็เติบโตรุดหน้า มีการสร้างวัด วัง ป้อมปราการ และขุดคูคลองอีกมากมาย

พ.ศ.๒๓๒๘ นั้นเอง โปรดเกล้าฯให้ตรากฎหมาย ให้ไพร่ฟ้าได้มีเวลาประกอบอาชีพเลี้ยงตน โดยผ่อนผันให้ทำราชการให้แก่หลวง ๑ เดือน ทำงานให้เจ้า ๑ เดือนและประกอบอาชีพของตน ๑ เดือน

พระนครยามนั้นเต็มไปด้วยชีวิตชีวา มีนิคมชนต่างด้าวตั้งอยู่หลายเชื้อชาติ บ้านเขมรอยู่ริมคลองรอบกรุงเยื้องปากคลองหลอด บ้านชาวเหนือ (บ้านหล่อหรือบ้านช่างหล่อ) อยู่ข้างหลังวังหน้า บ้านญวน บางโพ และบ้านทวาย อยู่บริเวณวัดคอกกระบือ (วัดยานนาวาปัจจุบัน)

นิคมมลายูอยู่หน้าวัดชนะสงครามและริมคลองมหานาค

นอกจากนั้น คาดว่ามีพวกมอญตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณคลองคูเมือง เพราะมีสะพานข้ามคลองคูเมืองชื่อ สะพานมอญ

ต่างทำการค้าขายกันตามถนัด โดยเฉพาะชาวจีนจะร่ำรวยเป็นพิเศษ

ส่วนชาวตะวันตก ก็กลับเข้ามาฟื้นฟูความสัมพันธ์ มีราชทูตโปรตุเกสเขามาเจริญสัมพันธไมตรีใน พ.ศ.๒๓๒๙ ตามด้วยชาติอื่นๆ

วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๓๓๑ ราชทูตไทย ชุดที่ ๔ ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าสันตะปาปา อินโนเซนต์ ที่ ๑๑ ถึงกรุงโรม

พระนครไทย ผงาดขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ เป็นที่เกรงขามเหนือทุกพระนครในดินแดนแถบนี้

๑๐ มีนาคม ๒๓๔๕ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากเชียงใหม่มายังพระนคร ปีถัดมา ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคนิ่ว

และต่อมา วันที่ ๗ กันยายน ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จสวรรคต

พระนครก้าวหน้ามาถึงยุคทอง ในรัชกาลที่ ๒ และ ๓ บ้านเมืองมีแต่ความสงบสุข ศิลปะทุกสาขารุ่งเรืองถึงขีดสุด มีบทละครชั้นเยี่ยมออกมาหลายเรื่อง เช่น อิเหนา สังข์ทอง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกวีในราชสำนักมากมาย ร่วมกันสร้างสรรค์

รวมทั้งพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่

ด้านการค้าก็ขยายตัวคึกคักโปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรก ที่ได้ตั้งกงสุลมาประจำการ ในพระนคร เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ - ผูโพสต์).


ที่มา - "กำเนิดพระนคร" โดย บาราย นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ ๙ พ.ย. ๕๙




อนุสาวรีย์เจงกีสข่าน นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ชาวมองโกเลีย

อาหมัด นักเก็บภาษีศพ

ยุคสมัยที่เจงกีสข่าน นำเผ่ามองโกลยึดจีน กดขี่เจ้าของแผ่นดินไว้ใต้เกือกม้า พอมาถึงยุคหลานชาย กุบไลข่าน ก่อตั้งราชวงศ์หยวน ยอมรับวัฒนธรรมศิวิไลซ์ชาวฮั่น  ให้ผู้รู้ชาวฮั่นบริหาร บ้านเมืองก็ทำท่าจะเดินหน้า

ในหนังสือ กังฉิน สิ่งโสโครกทางประวัติศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ ๔ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย) เขียนไว้ว่า

ระหว่างหวางเหวินถ่ง รองนายกฯ ชาวฮั่นเป็นที่โปรดปราน แต่หลังกบฏหลีถ่าน ชาวฮั่น ทีชานตง กุบไลข่านก็เกิดแคลงใจ ปราบกบฏได้แล้ว หวางเหวินถ่งก็ถูกจับตัดคอเสียบประจาน

ในช่องว่างระหว่างชาวฮั่น กับมองโกล ก็เกิดฟ้าผ่ากลางแดด ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

คนฮั่นเรียกชาวอาหรับนับถืออิสลามว่า หวย อาหมัด มีฉายา หวุยหนู แปลว่า บ่าวอาหรับ รับใช้ใกล้ชิดในราชสำนัก  ได้ทียุแยงว่า ชาวฮั่นไม่ซื่อ  กุบไลข่านเชื่อ ตั้งบ่างช่างยุทำงานแทน

อาหมัดเคยเป็นพ่อค้าเก่งทางซื้อถูกขายแพง ปล่อยเงินกู้   กุบไลข่านทดลองใช้ให้เก็บภาษี

ตอนชาวฮั่นเก็บภาษีชาวฮั่นด้วยกันได้ไม่มาก อาหมัดเข้ามาเปลี่ยนระบบเก็บภาษี เงินก็บ่าไหลท่วมท้องพระคลัง

กุบไลข่านเลื่อนอาหมัดเป็นรองนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งสูงสุดของคนที่ไม่ใช่มองโกล

นอกจากภาษีมูลค่ามาเพิ่มแล้ว อาหมัดยังมีเก็บ “ภาษีมูลข้าพวก” เบียดบังเงินคลังหลวง เข้าตัวเองและพวก

ที่จริงอาหมัดมีหัวก้าวหน้า เขาเป็นคนแรกของโลกที่คิดใช้แผ่นกระดาษมาเป็นธนบัตรชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ธนบัตรฉบับแรกมีค่าเท่ากับเงิน (แท่ง) หนัก ๑ ตำลึง

เมื่อ ธนบัตรออกใหม่ๆ กำหนดให้พิมพ์ธนบัตรปีละ ๑๐ หมื่นฉบับ เป็นมูลค่าเงินแท่ง ๑๐ หมื่นตำลึง มีคนเอาธนบัตรไปแลกเงินแท่งได้ทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร อาหมัดถูกเรียก ซาร์เศรษฐกิจ

ต่อมาอาหมัดเล่นไม่ซื่อ พิมพ์ธนบัตรเพิ่มจากปีละ ๑๐ หมื่น เป็นปีละ ๑๙๐ หมื่น ไม่นานธนบัตรก็กลายเป็นเศษกระดาษ ใช้แลกทองแท่งไม่ได้ ชื่ออาหมัด กลายเป็น ซาตานเศรษฐกิจ   เศรษฐกิจสะดุดเก็บภาษีไม่ได้ อาหมัดที่เคยเก็บภาษีของตาย เกลือ เหล็ก ใบชา สุรา น้ำส้มสายชู ล้อเลื่อน  ชาวฮั่นถูกรีดภาษีมากๆ เข้า หลายคนฆ่าตัวตาย เห็นคนตายมากๆ อาหมัดประกาศเก็บภาษีการทำศพคนตาย   กุบไลข่าน ได้เงินไปดูแลกองทัพ ที่แม่ทัพนายกองส่วนใหญ่มีค่านิยมการเลี้ยงม้ามากๆ พอๆ กับการมีเมียมากๆ

๑๙ ปีที่อาหมัดเป็นใหญ่ เขาก็ประกาศศักดิ์ศรีด้วยการมีม้า ๘-๙ พันตัว ส่วนเมียเป็นทางการ ๔๐ คน อีก ๔๐๐ คนเป็นนางบำเรอ

มีเมียน้อยกว่าม้า ลูกน้องอาหมัดเจอสาวสวยที่ไหน ไม่เลือกลูกเขาเมียใคร ก็อุ้มขึ้นรถเอาไปส่งให้นาย

เป็นรองนายกฯ...แต่กุบไลข่านไว้ใจ มองโกลคนไหนมาเป็นนายกฯ ก็ถูกทำลาย ย้ายไปเขตแดนแล้วฆ่า นับวันอาหมัดก็เพาะศัตรูเพิ่ม ในจำนวนศัตรูสำคัญ มีองค์ไท่จือ รัชทายาทกุบไลข่านรวมอยู่ด้วย

แล้วก็ถึงวันนั้น วันลอบสังหาร...โดยการวางแผนซับซ้อน อาหมัดถูกหวางจู้ มือค้อนเหล็ก ทุบหัวแตกตาย  กุบไลข่านสอบสวนไม่นาน ก็พบว่า อาหมัดสมควรตาย สั่งยึดทรัพย์สมบัติที่มีมากกว่าของฮ่องเต้ เข้าคลังหลวง

๔ เดือนหลังวันถูกลอบสังหาร ศพอาหมัดถูกสั่งให้ขุดเอาไปทิ้งที่กองขยะนอกเมือง ปล่อยให้หมาป่ารุมแทะ งานศพนี้ลูกหลานไม่ถูกเก็บภาษี เพราะลูกหลานบริวารงี่เง่า ที่แยกย้ายกันไปกินตำแหน่งทั่วแผ่นดิน ถูกไล่ออกไม่มีเหลือ

ส่วนเมียอาหมัด ถูกลดชั้นเป็นทาส ตามธรรมเนียมมองโกล แจกจ่ายให้ทหารเอาไปใช้ระบายความใคร่

เรื่องราวของอาหมัด ชาวหวุย ผู้เริ่มชีวิตจาก บ่าวเจ้าเล่ห์ จนเป็นผู้มีอำนาจ...มือชุ่มโลหิต จิตโชกโลกีย์ ก็จบลงตรงนี้

                         ฯลฯ

ที่มา - คอลัมน์ ชักธงรบ "อาหมัด นักเก็บภาษีศพ" โดย กิเลน ประลองเชิง นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่อังคารที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

.



จากแซ่ถึงชาติ

งานค้นคว้าเรื่อง แซ่ จากวงศ์ตระกูลสู่ประเทศชาติ ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ถึงตอนที่ ๓ ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๘ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เริ่มต้นว่า แซ่ และระบบตระกูลแซ่ เป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่ง ในการรวมชนชาติจีน ทำให้เกิดความผูกพันกันว่าเป็น เพื่อนร่วมชาติ ญาติร่วมบรรพชน

ระบบตระกูลแซ่ ปกครองคนในวงศ์ตระกูล ประสานกับอำนาจรัฐ เชื่อมร้อยคนจีนเข้าด้วยกัน อย่างกลมกลืนมั่นคง

ความเชื่อพื้นฐานฝังใจคนจีนตลอดมา คือ แซ่เดียวกัน เป็นญาติกัน ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถึงต่างแซ่ก็เป็นลูกหลาน เหยียน-หวง ด้วยกัน เกิดเป็นสำนึกพื้นฐาน ทำให้คนจีนมีพลังสามัคคีกันสูงมาก

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ว่า รวมกันง่าย ไม่ใช่แขก แตกกันง่ายไม่ใช่เจ๊ก  แต่ในความเป็นจริง แซ่ของจีนมีลักษณะเป็น Clan แซ่เดียวกัน มีคนต่างเชื้อสาย หลายพวกมารวมกัน ทั้งยังมีความแปรเปลี่ยนของแซ่อีกมากมาย

คนจีนเกิดจากการผสมผสานของคนหลายโคตรตระกูล หลายแซ่ หลายเผ่า พัฒนาเป็นรัฐสหพันธุ์เผ่า เป็นรัฐอาณาจักร ชนเผ่าผสมกลมกลืนกลายเป็นชนชาติ  

ในยุคซุนชิว คนจีนแคว้นต่างๆ แถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห เรียกตัวเองว่าหัวเซี่ย ผ่านการผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างเผ่ารายรอบอีก ในยุคซุนชิว-จั้นกั๋ว และราชวงศ์ฉิน กลายเป็นชาวฮั่น ในยุคราชวงศ์ฮั่น  ถึงยุคราชวงศ์ถัง ชนต่างเผ่าทางภาคใต้ถูกกลมกลืน กลายเป็นจีน ที่พูดภาษาถิ่นต่างๆ เช่น กวางตุ้ง แคะ (ฮักกา) ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ไหหลำ จีนพวกนี้ เรียกตัวเองว่า ชาวถัง ซึ่งเสียงจีนพื้นบ้านว่า ตึ้งนั้ง

ในหัวข้อ แซ่กับการรวมญาติชนชาติอื่น อาจารย์ถาวร เขียนว่า ถึงปลายยุคจั้นกั๋ว มีผู้เรียบ– เรียงวงศาวลีกษัตริย์โบราณ เอาประมุขยุคโบราณคนสำคัญ ตั้งแต่หวงตี้ กับบรรพชนของราชวงศ์เซี่ย ซาง โจว และแคว้นฉิน กับแคว้นฉู่มาโยงรวมเป็นวงศ์เดียวกัน เริ่มจากหวงตี้ มีลูกหลานแตกสาขาไป เป็นประมุขยุคโบราณ คือ จวนซีว์ ตี้กู เหยาตี้ ซุ่นตี้ และต้นตระกูลของราชวงศ์ เซี่ย ซาง โจว แคว้นฉิน และแคว้นฉู่ สองมหาอำนาจในยุคนั้น

ต่อมาในยุคราชวงศ์ฮั่น พงศาวดารฮั่นซู ได้จัดสายวงศ์กษัตริย์โบราณสืบต่อถึงราชวงศ์ฮั่น เป็นระบบลงตัว

ความจริงแล้ว ประมุขในยุคตำนานปรัมปรา มาจากหลายเผ่า เช่น ซุ่นตี้ กับ ซางทาง มีเชื้อสายเผ่าตงอี๋ทางชายทะเลตะวันออก ราชวงศ์ฉิน มีเชื้อสายเผ่าซี่หรงทางตะวันตก แคว้นฉู่ เป็นพวกเผ่าจิงหมานทางใต้ ซึ่งพวกราชวงศ์โจว เคยรังเกียจว่าเป็นอนารยชน  แต่เมื่อชนหลายเผ่า รวมกันเป็นเผ่าหัวเซี่ย ซึ่งเริ่มมีเค้าตั้งแต่ราชวงศ์เซี่ย ชัดเจนในราชวงศ์โจว สมบูรณ์ในยุคซุนชิว และจั้นกั๋ว  บุคคลในตำนานต่างพวกและต่างเผ่า จึงถูกนำมาโยงรวมเป็นวงศ์เดียวกัน ว่าล้วนเป็นลูกหลานหวงตี้ ส่วนเหยียนตี้เป็นอีกเผ่าหนึ่ง เมื่อรบแพ้ก็ถูกรวมกับเผ่าหวงตี้

ตำนานที่แต่งเติมในยุคหลัง กล่าวว่าหวงตี้กับเหยียนตี้เป็นพี่น้องกัน เป็นบุตรของเส้าเตียนหัวหน้าชนเผ่ายุคโบราณ แต่ต่างมารดาที่เป็นคนละเผ่าเกิดคนละที่ หวงตี้ปกครองชนเผ่าอยู่แม่น้ำจี จึงเป็นต้นแซ่จี เหยียนตี้อยู่ต้นแม่น้ำเจียง เป็นต้นแซ่เจียง

ต่อมาลูกหลานสายหนึ่งแพร่กระจาย ไปเป็นชนเผ่าแถบลุ่มแม่น้ำแยงซี

แซ่จี แซ่เจียง และแซ่อื่นๆ ของประมุขยุคตำนานปรัมปรา แตกสาขาไปเป็น “สื้อ” ต่างๆ แล้วกลายเป็น “แซ่” วัฒนธรรมแซ่ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ บูรณาการชนต่างเผ่าต่างพวก ให้กลายเป็นจีน

วิธีแรก การยอมให้คนต่างเผ่าเข้ามาใช้แซ่ร่วมกับตน เมื่อจีนฮั่นขยายอำนาจไปยึดดินแดนปกครองชนต่างเผ่า มักเปิดโอกาสให้ใช้แซ่ ของคนจีนผู้ไปปกครอง ทำให้คนแซ่นั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด หลินลู่ (ลิ้มลก) ขุนนางราชวงศ์จิ้น ไปปกครองเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ชนพื้นเมืองแถบนั้น ยอมเข้ามาเป็นสมาชิกแซ่ลิ้มกันมาก จนแซ่ลิ้มมีมากที่สุดในมณฑลฮกเกี้ยน และเมื่อเฉินเจิ้ง (ตั้งเจ่ง) กับ เฉินหยวนกวง (ตั้งง่วนกวง) ยกทัพไปปราบชนเผ่าลาว และหลี ในจางโจว และแต้จิ๋ว (เฉาโจว) คนแซ่ตั้งจากจงหยวน ที่ไปกับกองทัพตั้งรกรากอยู่ในเมืองนี้มาก คนพื้นเมืองก็ยอมมาเข้าสังกัดเป็นสมาชิกแซ่ตั้ง  จนแซ่ตั้ง เป็นแซ่ใหญ่ที่สุดในสองเมืองนี้

วิธีที่สอง คือ การเปลี่ยนแซ่ จากแซ่ของคนต่างเผ่า มาเป็นแซ่ของจีน ส่วนมากจะเลือกแซ่ของจีนที่สำเนียงใกล้เคียงกับแซ่เดิมของตน การเปลี่ยนแซ่ในลักษณะนี้ เกิดขึ้นมากในยุคราชวงศ์เหนือ–ใต้ (พ.ศ.๘๕๐–๑๑๓๒) อนารยชนทางเหนือ เข้ามาผสมกลมกลืนกลายเป็นคนจีนมากที่สุดยุคหนึ่ง

อาจารย์ถาวร บอกว่า แซ่เป็นระบบลงตัวสมบูรณ์จริงๆ ในยุคราชวงศ์โจว เกิดระบบตระกูลแซ่แบบจงฝ่า คือระบบศักดินาของแซ่ จัดลำดับของคนในตระกูลแซ่ และการสืบวงศ์ตระกูลตามศักดิ์ ไปจนถึงต้นราชวงศ์ฮั่น แซ่แบบราชวงศ์โจวก็เสื่อม กลายเป็นแซ่แบบใหม่

แบ่งได้เป็น ๒ ยุค ๒ ระบบ คือระบบเหมินฝา-วรรณะของแซ่ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจนถึงกลางราชวงศ์ถัง และระบบเจียจู๋-รวมครอบครัวเป็น ตระกูลแซ่ในยุคราชวงศ์หมิงจนถึงสิ้นราชวงศ์ชิง

นี่คือรากฐานวัฒนธรรมวงศ์ตระกูลของคนจีน ที่สืบมาจนปัจจุบัน.


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ



http://www.matichon.co.th/online/2011/09/13153041781315306987l.jpg
บันทึกไว้ในแผ่นดิน

พระราชวังบวรสถานมงคล ในอดีต

วัด​ร้าง-วังหน้า

มอง​จาก​สนามหลวง ไป​ที่​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไป​สิ้นสุด​ที่​โรงละครแห่งชาติ...อาณา​บริเวณ​ของ​อาคาร​โอ่โถง​ใหญ่​โต​เหล่า​นี้ ใน​วัน​นี้ ครั้ง​หนึ่ง...นาน​มา​แล้ว เคย​ถูก​เปรียบเปรย​ว่า​เป็น “วัด​ร้าง”

ศันสนีย์ วีระ​ศิลป์ชัย เขียน​ไว้​ใน​หนังสือ วาทะ เล่า​ประวัติศาสตร์ (สำนัก​พิมพ์​มติ​ชน ก.ย.๒๕๕๖) ว่า พระ​บวร​ราช​วังหรือ​วังหน้า สร้าง​ขึ้น​พร้อมๆ กับพระบรมมหาราชวัง หรือ​วัง​หลวง  เมื่อ​พระบาท​สมเด็จ​พระ​พุทธ​ยอด​ฟ้า​จุฬา​โลก​มหาราช ปราบดาภิเษก​เสด็จ​เถลิง​ถวัลย​ราชสมบัติ โปรด​ให้​สมเด็จ​พระอนุชา​ธิ​ราช ดำรง​ตำแหน่ง สมเด็จ​พระ​บวร​ราช​เจ้า มหา​สุรสิงหนาท และ​โปรด​ให้​สร้าง​พระ​บวร​ราช​วัง​ขึ้น ใน​ที่ดิน​แปลง​เหนือ​จาก​วัด​สลัก (วัดมหาธาตุ​ยุวราช​รัง​สฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร) เรียก​เป็น​สามัญ​ว่า วังหน้า

ตลอด​พระชนม์​ชีพ​ของ​สมเด็จ​พระ​บวร​ราช​เจ้ามหา​สุรสิงหนาท โปรด​ให้​สร้าง​พระที่นั่ง​ต่างๆ ไว้​อย่าง​สวย​งาม​วิจิตร​บรรจง เช่น​ พระที่นั่ง​พิมาน​ดุสิต พระ​วิมาน​กลาง​สระ พระที่นั่ง​ศิว​โมกข์​พิมาน เป็น​ท้องพระโรง พระที่นั่ง​ว​สัน​ต​พิมาน พระที่นั่ง​วา​ยุสถาน​อมเรศ พระที่นั่ง​พรหม​เมศ​ธาดา เป็น​พระ​วิมาน​ที่​ประทับ​ฤดู​ฝน ฤดู​หนาว และ​ฤดู​ร้อน

เมื่อ​พระองค์​เสด็จ​สวรรคต กรม​พระราชวัง​บวร พระองค์​ต่อ​มา คือ สมเด็จ​พระ​บวร​ราช​เจ้า​มหา​เสนา​นุ​รักษ์ และ​สมเด็จ​พระ​บวร​ราช​เจ้า​มหา​ศักดิ​พล​เสพ ทั้ง ๒ พระองค์​มิได้​มี​การ​สร้าง​พระที่นั่ง​ใหม่ เพราะ​ของ​เดิม​ยัง​อยู่​ใน​สภาพ​ดี  แต่​มี​การ​เปลี่ยนแปลง​เพิ่มเติม​บ้าง เช่น​รื้อ​พระที่นั่ง​พิมาน​ดุสิ​ตา ซึ่ง​ชำรุด​ออก ปรับ​เปลี่ยน​บริเวณ​นั้น​เป็น​สวน​เลี้ยง​นก​เลี้ยง​ปลา เป็น​ที่​ประพาส​สำราญ​อิริยาบถ  และ​สร้าง​พระที่นั่ง​รังสรรค์​จุฬา​โลก​เพิ่มเติม


      กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
     วังหน้าองค์สุดท้าย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 
ครั้ง​ถึง​เวลา​ที่พระบาท​สมเด็จ​พระปิ่น​เกล้าฯ จะ​ต้อง​เสด็จประทับ ณ วังหน้า ขณะ​นั้น พระบวรราชวัง​อยู่​ใน​สภาพ​ชำรุด​ทรุดโทรม​ลง​อย่าง​หนัก ดัง​ปรากฏ​ใน​หลักฐาน​จาก​พระ​ราช​นิพนธ์ ตำนาน​วังหน้าของ​สมเด็จฯ กรม​พระยา​ดำรงราชานุภาพ ความ​ตอน​หนึ่ง​ว่า ซุ้ม​ประตู​แล​ป้อม​ปราการ​รอบ​วัง หัก​พัง​เกือบ​หมด กำแพง​วัง​ชั้น​กลาง​ก็​ไม่​มี ท้อง​สนาม​ใน​วังหน้า ชาว​บ้าน​เรียก​ว่า สวน​พัน​ชาติ ตำรวจ​ใน​วัง​ปลูก​เหย้า​เรือน​อาศัย และ​ขุด​ท้องร่อง​ทำ​สวน ตลอด​ไป​จนถึง​หน้า​พระที่นั่ง​ศิว​โมกข์​พิมาน

สภาพ​วังหน้าเป็น​ที่มา​ของ​คำ​พระ​ราชปรารภ ของ​พระบาท​สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  “...เออ อยู่ดีๆ ก็​ให้​มา​เป็น​สมภาร​วัด​ร้าง”  แต่​เพราะ​เหตุ​เป็น​พระราชประสงค์​ของ​สมเด็จ​พระเชษฐา พระบาท​สมเด็จ​พระปิ่น​เกล้าฯ จึง​ต้อง​ทรง​ปฏิบัติ​ตาม  เมื่อ​จะ​เสด็จเข้า​ไป​ประทับได้​โปรด​ให้​ทำ​พิธี​ฝัง​อาถรรพณ์​ใหม่ เมื่อ​วัน​ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปี​กุน ตรง​กับ​วัน​ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๙๔

พราหมณ์​ได้​ฝัง​หลัก​อาถรรพณ์​ทุก​ป้อม​และ​ทุก​ประตู​แห่ง​พระ​บวร​ราช​วัง รวม ๘๐ หลัก  

ต่อ​จาก​นั้น โปรด​ให้​สร้าง​พระ​ราช​มณเฑียร พระที่นั่ง และ​พระตำหนัก​ต่างๆ เช่น​ พระที่นั่ง​เก๋ง​จีน เป็น​พระ​ราช​มณเฑียร​ที่​ประทับ​ลักษณะ​ศิลปะ​แบบ​จีน พระที่นั่ง​อิศเรศ​ราชา​นุ​สร​ณ์ เป็น​พระ​ราช​มณเฑียร​ที่​ประทับ​ลักษณะ​ศิลปะ​แบบ​ยุโรป พระที่นั่ง​มัง​คลา​ภิเษก พระที่นั่ง​ชล​สถาน​ทิพ​อา​ศน์ พระที่นั่ง​ประพาส​คงคา พระที่นั่ง​ทัศนา​ภิรมย์ พลับพลา​สูง และ​พระตำหนัก​แดง

การ​สถาปนา​พระ​บวร​ราช​วัง ครั้งพระบาท​สมเด็จ​พระปิ่น​เกล้าฯ นับ​ว่า​งดงาม​สมบูรณ์​แบบ ซึ่ง​น่า​จะ​ด้วย​เหตุ ๓ ประการ
๑. สร้าง​เพื่อ​เฉลิม​พระ​เกียรติ​ที่​เสมอ​ด้วย​พระเจ้า​แผ่นดิน
๒. สร้าง​แทน​ของ​เดิม​ที่​ปรักหักพัง​ให้​บริบูรณ์​ดัง​แต่​ก่อน
๓. สร้าง​ตาม​พระ​ราช​อัธยาศัย และ​ตาม​พระ​ราช​หฤทัย​ของ​พระองค์​เอง

พระบาท​สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จ​สวรรคต​เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ กรม​พระราชวัง​บวร พระองค์​ต่อ​มา คือ กรม​พระราชวัง​บวร​วิ​ไช​ย​ชาญ พระ ราชโอรส​องค์​ใหญ่...นับ​เป็น​พระราชวัง​บวร​องค์​สุดท้าย

เพราะ​ใน​รัชสมัย​พระบาท​สมเด็จ​พระ​จุลจอมเกล้าเจ้า​อยู่​หัว มี​พระบรมราชโองการ​ประกาศ​เลิก​ตำแหน่ง​กรม​พระราชวัง​บวรฯ และ​โปรดเกล้าฯ สถาปนาตำแหน่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้น​แทน

ครั้ง​นั้น​โปรดเกล้าฯ​ พระราชทาน​ที่​บริเวณ​พระ​บวร​ราช​วัง ให้​ใช้​ใน​ราชการ​ด้าน​ต่างๆ เช่น ​พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ​ส่วน​หนึ่ง​ใน​สมัย​ต่อ​มา เป็น​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัย​นาฏศิลป์ มี​การ​รื้อ​และ​สร้าง​อาคาร​ที่​จำเป็น คง​เหลือ​พระที่นั่ง​บาง​องค์ไว้​เป็น​อนุสรณ์ สภาพ “วัด​ร้าง” จึง​ถูก​ลบล้าง​ไป คง​เหลือ​แต่​วาทะ​ดัง​กล่าว​ไว้...ให้​เห็น​ร่องรอย​อดีต... ซ้อน​ภาพ​ที่​เห็น​ใน​ปัจจุบัน.



.


ซาเรวิตซ์ (มกุฏราชกุมารนิโคลาส) แห่งรัสเซีย
เสด็จเยือนไทย ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๔


งานรับซาเรวิตซ์
เสด็จเยือนไทย

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ฝรั่งหลายชาติเริ่มเข้ามาทำมาค้าขายในสยาม ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามครั้งใหญ่ โปรดให้เขียนภาพคนรุสเซียเอาไว้ ชื่อที่ใช้เรียกแปร่งหูดูประหลาด...หรูซปีตะสบาก

หรูซ ก็คือ รุส หรือรัสเซีย ปีตะสบาก ก็คือ (เมือง) ปีเตอร์สเบอร์ก

สมัยนั้นคนไทยคงเคยเห็นคนรัสเซียน้อยมาก เพิ่งมาเป็นกระจ่างตา ก็ในสมัยรัชกาลที่ ๕ คราว เจ้าซาร์วิตซ์ หรือซาเรวิตซ์ มกุฎราชกุมารรัสเซีย เสด็จมาเยือนไทย

ส.พลายน้อย เล่าไว้ใน “เกร็ดโบราณคดี ประวัติศาสตร์ไทย” (สำนักพิมพ์รวมสาส์น) ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสด็จออกไปรับเจ้าซาเรวิตซ์ที่สิงคโปร์

ครั้นวันที่ ๔ มีนาคม เวลา ๒ โมงเช้า เรือมกุฎราชกุมาร กับเรือรบรุสเซีย ชื่อ โกริช ออกจากสิงคโปร์ ถึงสันดอนปากน้ำ วันที่ ๗ เวลา บ่าย ๔ โมงเย็น แต่เป็นเวลาน้ำแห้ง ต้องทอดสมอรอจนเวลาตี ๑๑ จงใช้จักรเข้ามากรุงเทพฯ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ แลผู้ที่ประจำรับรอง เชิญแกรนด์ดุกซาร์วิตซ์ มาดูในพระบรมมหาราชวัง เวลาบ่ายเชิญไปดูมิวเซียม แลขึ้นภูเขาทอง เวลาค่ำแกรนด์ดุกซาร์วิตซ์ ขึ้นรถไปลงเรือที่ท่าสุนันทาลัย ไปดูละครบ้านเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง ต้นสกุล เพ็งกุล) ใต้ประตูนกยูง ท่าเตียน

วันที่ ๒๒ เวลาเช้า ๒ โมง เชิญแกรนด์ดุกซาร์วิตซ์ ไปลงเรือพระที่นั่งสุริยมณฑลที่หน้าสุนันทาลัย แล่นขึ้นไปพระราชวังบางปะอิน เวลาเย็นกำหนดว่า จะมีการแห่ราษฎรมาถวายของแกรนด์ดุกซาร์วิตซ์ แลมีแข่งเรือถวายทอดพระเนตร บ่าย ๕ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พร้อมด้วยแกรนด์ดุกซาร์วิตซ์  เสด็จพระราชดำเนินประทับหน้ามุขพระที่นั่ง โปรดเกล้าฯ ให้เดินแห่ราษฎรถวายของซาร์วิตซ์ผ่านหน้าพระที่นั่งไป ราษฎรกระแห่ประมาณสามพันเศษ เดินเป็นตับเป็นพวกกันตามชายหญิง มีของถวายซาร์วิตซ์คนละสิ่งสองสิ่ง คือกระบวนรวงข้าวทำเป็นฉัตร แลชะลอมบรรจุผลไม้ แลกรงสัตว์ต่างๆ มีนก กระต่าย นากกินปลา แลอื่นๆ ทั้งของใช้ เช่น หมอนขวาน โม่แป้ง แห่ราษฎรถวายของแล้ว เสด็จประทับพลับพลาริมน้ำ ทอดพระเนตรแข่งเรืออีก เรือพาย เรือแจวต่างๆ แข่งกันเป็นคู่

เวลาทุ่มครึ่งมีดินเนอร์ไปรเวตที่พระที่นั่งเวหาสจำรูญ ชั้นบน.




ซาเรวิตซ์ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
เป็นซาร์นิโคลาสที่ ๒ แห่งรัสเซีย


วันที่ ๒๓ เวลาเช้า ๒ โมง เสด็จลงเรือพระที่นั่งโสภณภควดี แล่นออกไปทางท้ายเกาะไปพะเนียด ...เสด็จประทับพลับพลาใหญ่มุขกลาง บนกำแพงเพนียด กรมช้างกันช้างในพะเนียด เปิดช้างเล็กออก กันช้างใหญ่ไว้แล้ว เสด็จประทับพลับพลาเล็ก ทอดพระเนตรจับช้างกลางแปลง แล้วเสวยกลางวัน เสร็จแล้วคล้องช้างพลายในพะเนียด

ในวันแรกนี้ คล้องได้แต่ช้างงาตัวใหญ่ตัวเดียว ช้างพลายตัวนี้ เลยได้ชื่อเรียกกันต่อมาว่า พลายซาร์วิตซ์
ในวันต่อมา คล้องช้างได้หลายเชือก ตรัสถามซาร์วิตซ์ว่า จะประทานลูกช้างเล็กๆ ไปเล่นในเรือรบสักตัวหนึ่งจะโปรดหรือไม่..ซาร์วิตซ์ทรงยินดีที่จะได้ จึงโปรดให้ขุนพิชัยกุญชร (แจ้ง) เลือกคล้องลูกช้างรูปร่างงดงามได้ตัวหนึ่ง เพิ่งหย่านม สูงสัก ๒ ศอกเศษ  แต่เกิดเหตุ ด้วยแม่ช้างไม่ยอมพรากจากลูก หาทางแก้เอาลูกช้างกลับเข้าโขลงไปจนได้ ซาร์วิตซ์ทอดพระเนตรเห็นความฉลาดของแม่ช้าง จึงทูลพระพุทธเจ้าหลวง ขอประทานคืนลูกช้างตัวนั้น เป็นบำเหน็จแก่แม่ช้าง ก็ทรงพระกรุณา

เวลาค่ำ กำหนดว่า จะมีการประชุมเดือนหงาย ซึ่งเรียกว่ามูนไลต์? ปาตี ฤาจันทรประภาสโมสร ที่ชาลาพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร คือมีร้านเลี้ยงอาหาร แลของดื่มต่างๆ แลบุหรี่หมาก ทั้งแจกพวงมาลัย แลช่อดอกไม้ ซึ่งทำอย่างประณีต ๔ ร้าน ปลูกอย่างปะรำผูกม่านตกแต่งงดงาม  ผู้เชื้อเชิญดื่มสุรา แลสูบบุหรี่กินหมาก ให้พวงมาลัย แลช่อดอกไม้นั้น จัดหญิงซึ่งพูดอังกฤษได้ ประจำทุกร้าน ร้านละสองคน  เวลาบ่าย เมื่อซาร์วิตซ์กลับจากพะเนียด ยังเห็นทำร้านกันกาหลอยู่ พอค่ำลงจุดไฟฟ้าแลโคมญี่ปุ่น โคมหิ้วสว่างไสวแล้วจัดร้านเสร็จบริบูรณ์ โปรดให้แกรนด์ดุกซาร์วิตซ์ ทั้งพวกรุสเซียแลเจ้านาย ข้าราชการเดินเที่ยวเล่น มีแตรเป่า ๒ วง

เวลา ๒ ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ทรงพระดำเนินพร้อมซาร์วิตซ์ ข้ามสะพานเสาวรสมาทอดพระเนตรแห่คบไฟซึ่งมีกระบวนต่างๆ คือแตรทหารวงหนึ่งนำหน้า คนผู้ชายถือคบเดินเป็นคู่ มังกรเพลงแคนเดินรำแลขับร้องต่าง แลพลทหารเรือถือกิ่งไผ่ติดเทียน แลคนเป่าปี่ ตีฉาบ สิงโตล่อแก้ว ผู้หญิงถือเทียน ลาวเป่าขลุ่ย คนถือพุ่มเทียน  แลละครเรื่องรามเกียรติ์ชุดหนึ่ง รำถวายตัว แลมีทหารถือเทียนโคมบัว เป็นที่สุด

เวลา ๕ ทุ่มเสด็จขึ้น ซาร์วิตซ์แลพวกรุสเซีย เจ้านาย ข้าราชการ ยังนั่งแลเดินเล่นอยู่ จน ๗ ทุ่ม

วันที่ ๒๕ กำหนดซาร์วิตซ์ทูลลากลับ

การต้อนรับเจ้าซาร์วิตซ์ครั้งนั้น ทำกันใหญ่โตมาก จนคนสมัยนั้น หรือในสมัยต่อมา ถ้าทำอะไรกันใหญ่โตมโหฬาร แล้วก็มักพูดติดปากว่า ราวกับรับเสด็จเจ้าซาร์วิตซ์.
 ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 สิงหาคม 2558 09:27:21 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 01 มีนาคม 2558 10:30:16 »

.


เยาวราช
ถนนมังกรไม่เคยหลับ

เยาวราช เป็นย่านชุมชนชาวจีนที่มีทุกอย่างรวมอยู่ในแหล่งเดียวเสร็จสรรพ เป็นทำเลทองของการค้า สามารถประกอบธุรกิจได้แทบทุกชนิด และ...ยังมีซอกมุมที่น่าสนใจ ให้เข้ามาค้นหาอีกมากมาย ยังมีบ้านเรือนและอาคารเก่าแก่ที่น่าค้นหา มีวิถีชีวิตประเพณีที่ยังไม่ตาย ผู้คนยังคงแลกเปลี่ยนค้าขายกันอย่างมีชีวิตชีวา

บรรยากาศการอยู่รวมกันของชุมชนชาวจีนเชื้อสายต่างๆ ที่อยู่อย่างรักใคร่กลมเกลียวกัน รวมถึงความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของความเป็นจีน ตามวิถีเชื้อสายมังกรที่ดำรงสืบทอดมายาวนาน

ตัวอย่างตอนหนึ่ง...ถนนพระราชทานนาม ถนน ๓ “ทรง”

เดินตรงจากถนนเยาวราช ไปถึงสี่แยกเฉลิมบุรี ย่านโรงงิ้วเก่าแก่ ปัจจุบันลาโรงไปหมดแล้ว แยกซ้ายมือเป็นถนนทรงสวัสดิ์ หรือเรียกอีกชื่อว่า ซอยเฉลิมบุรี

ตรงไปเกือบสุดท่าน้ำ เป็นถนนสายสั้นๆ ตรงเข้าไปไม่ไกลนัก ขวามือเป็นที่ตั้งของวัดสัมพันธวงศาวรวิหาร หรือวัดเกาะแก้วลังการาม...วัดนี้แต่ก่อนมีคูคลองล้อมรอบเชื่อมต่อจากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเรียกกันว่าวัดเกาะ

พระอารามเก่าแก่แห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น ทรงมีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสถาพร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ใหม่หลายวัด

ในส่วนของวัดเกาะ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระนามเดิม “จุ้ย” ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเจ้าหลานเธอ ต้นราชสกุลมนตรีกุล ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัด แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดเกาะแก้วลังการาม

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้ง แล้วเปลี่ยนนามวัดใหม่ เป็นวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร

พงศาวดาร กล่าวไว้ว่า
ในคราวเทศกาลถวายผ้าพระกฐิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินที่วัดสัมพันธวงศ์และวัดปทุมคงคารามโดยทางชลมารค เรือพระที่นั่งเทียบที่ศาลาท่าน้ำวัดเกาะ...เยื้องๆ กับวัดเกาะ เป็นที่ตั้งของเจียไต๋กรุ๊ป ต้นตำนานแห่งการค้าเมล็ดพันธุ์ผักในเมืองไทย ต้นตระกูลเริ่มจากแผงค้าขายเมล็ดพันธุ์ผักย่านวัดเกาะ ค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ จนเปลี่ยนจากเช่าแผงมาซื้อตึกแถว เปิดเป็นร้านเจียไต๋ ทำธุรกิจอย่างมั่นคงถาวร

สืบทอดกันจนถึงรุ่นที่ ๓ กลายเป็นเจียไต๋ยุคใหม่ มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับธุรกิจในเครือซีพี เนื่องจากต้นตระกูลเป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน

สุดถนนทรงสวัสดิ์ เป็นวงเวียนขนาดเล็ก ตรงต่อไปเป็นถนนทรงเสริม...นี่คือถนนสายที่สั้นที่สุดในกรุงเทพฯ ด้วยความยาวเพียง ๒๐ เมตร ไปสิ้นสุดที่ท่าน้ำสวัสดี ซึ่งเป็นท่าเรือเล็กๆ ข้ามฟากไปยังอีกฝั่งของริมเจ้าพระยา ตรงไปขึ้นที่ท่าน้ำวัดทองธรรมชาติ ย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรี

เล่ากันว่า ชาวจีนย่านเยาวราชยุคก่อน หลังจากเริ่มก่อร่างสร้างตัวเป็นปึกแผ่นขึ้นบ้างแล้ว เถ้าแก่จำนวนไม่น้อยนิยมซื้อบ้านหลังที่ ๒ ไว้ทางฝั่งคลองสาน

วันทั้งวันทำมาค้าขายเคร่งเครียด ดีดลูกคิดขึ้นลงไปมา วันไหนยอดขายตก ลูกค้าไม่ค่อยเข้าร้าน ขืนอยู่ที่ร้านคงนอนไม่หลับทั้งคืน พอปิดร้านก็นั่งเรือข้ามฟากมานอนที่บ้านหลับสบายทั้งคืน ตื่นเช้ามาค่อยกลับไปค้าขายกันใหม่

จากวงเวียนเลี้ยวมาทางขวา เข้าสู่ถนนอีกสาย คือถนนทรงวาด ๑ ใน ๓ ถนนย่านเยาวราชที่มีชื่อนำหน้าว่า “ทรง” คือ ทรงสวัสดิ์ ทรงเสริม และทรงวาด

เหตุที่เรียกชื่อถนนนี้ว่า ทรงวาด เพราะเป็นถนนที่รัชกาลที่ ๕ ทรงขีดเส้นร่างแนวถนนใหม่เพิ่มเติมลงบนแผนที่ เพื่อตัดถนนเพิ่มเติมขึ้นอีกในย่านเยาวราช บรรเทาปัญหาจากความแออัดของชุมชน ช่วยให้เข้าถึงพื้นที่ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยลดปัญหาความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ถ้าเกิดไฟไหม้ก็จะได้สะดวกในการเข้าไปดับไฟ หรือให้การช่วยเหลืออื่นๆ

เริ่มจากถนนเจริญกรุง ย่านตลาดน้อย ผ่านหน้าวัดปทุมคงคารามราชวรวิหาร ใกล้กับท่าน้ำสวัสดี ลัดตรงไปตัดถนนราชวงศ์ไปออกใกล้ท่าเรือราชวงศ์ ตลอดแนวถนนฝั่งซ้ายที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีท่าเรือขนส่งสินค้ารวมทั้งโกดังเก็บสินค้าของเอกชนอยู่หลายแห่ง

ถนนทรงวาด ถนนสายสั้นๆ จึงมีความสำคัญยืดยาว ยิ่งใหญ่ เป็นไปตามพระราชปณิธาน “ทรงวาด” ไปด้วยประการฉะนี้เองสินค้าของเอกชนอยู่หลายแห่ง.




พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กลุ่มสยามหนุ่ม ต้น ร.๕

ในจำนวนเอกสารสำคัญ ๒๑ แผ่น อันเป็นสมบัติส่วนตัวของ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) แผ่นแรกมีข้อความ “เลขที่ ๓ สมุดคำปฏิญาณ และสำเนาลายพระราชหัตถเลขา”

อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ ผู้เขียนเรื่อง แกนนำของกลุ่มสยามหนุ่ม เมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ (หนังสือจตุศันสนียยาจารย์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กระทรวงวัฒนธรรม) ขอเรียกว่า เอกสารต้นเรื่อง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ ขณะทรงเจริญพระชันษาย่างเข้าปีที่ ๑๖ โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการ

ต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ ทรงเจริญพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ทรงผนวชเป็นเวลา ๑๕ วัน เมื่อลาผนวชก็ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใหม่ หลังขึ้นครองราชย์ครั้งที่ ๒ มีพระบรมราชโองการประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ให้ผู้น้อยเลิกหมอบคลานกราบไหว้เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์

พระบรมราชโองการฉบับนี้ นับว่าเป็นแนวหลักของพระราชดำริปฏิรูปบ้านเมือง และเป็นแก่นสำคัญของอุดมการณ์ของคณะสยามหนุ่ม

ปีเดียวกัน ได้มีประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการ ประกาศ พ.ร.บ.ที่ปรึกษาในพระองค์ ประกาศตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ จัดระเบียบใหม่ในการเก็บภาษีอากร เริ่มประกาศกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการเลิกทาส

ทรงมีพระราชหัตถเลขา...เมื่อแรกได้รับราชสมบัติว่า

“...ขอรวมใจความลงแต่เพียงว่า เมื่อพ่อได้รับราชสมบัติในเวลาอายุเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น เหมือนตะเกียงริบหรี่จวนจะดับ...และอาศัยความอุตสาหะความพิจารณาเนืองนิจ จึงได้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนถึงเพียงนี้”

“ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัว รักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด”

ในสภาวะแวดล้อมนั้น ได้ทรงรวบรวมผู้คนซึ่งพอจะไว้ใจได้ เพื่อเป็นกำลังต่อไปภายหน้า ส่วนใหญ่เป็นพระอนุชา และมีข้าราชการรุ่นหนุ่มหัวสมัยใหม่ รู้จักกันในนามว่า คณะสยามหนุ่ม

ปี พ.ศ.๒๔๑๗ มีนิตยสารที่จัดทำโดยคนไทยเป็นฉบับแรก ชื่อ “ดรุโณวาท” ชื่อ “ดรุโณวาท” แปลตรงตัวว่า โอวาทของเด็ก เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่สอนคนรุ่นเก่า ลงเรื่อง “นิทานการเมือง” กระแหนะกระแหนติเตียนคนแก่เฒ่า ซึ่งอยู่ในตำแหน่งราชการสูงมานมนาน

ผู้ที่ถูกเปรียบเปรยอยู่ตลอดเวลา ก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

รายชื่อคณะสยามหนุ่ม เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ เรียงตามรายพระนามและนาม ดังนี้

พระเจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูเรศธำรงศักดิ์ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เล็ก) พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ พระองค์เจ้าปฤษฏาง นายเสน่ห์ หุ้มแพร

บุคคลเหล่านี้คือแกนนำกลุ่มสยามหนุ่ม ซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤทัยคัดเลือก

บางตอนในคำถวายสัตย์ปฏิญาณ

“ข้อ ๒ ห้ามมิให้ผู้ที่เข้าร่วมความสัตย์ต่อกันนี้ พูดการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นการในพระองค์ ซึ่งทรงตั้งพระราชหฤทัยจะไม่อยากให้ความนั้นๆ แพร่งพรายไป ข้าพเจ้าทั้งหลายจะไม่เอาความนั้นๆ ไปพูดกับผู้หนึ่งผู้ใด ฤาบุตรภรรยาของตัวเองเป็นอันขาด เว้นไว้แต่เพื่อนซึ่งเป็นผู้ร่วมความสัตย์ต่อกันเท่านั้น


http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/04/K9170716/K9170716-4.jpg
บันทึกไว้ในแผ่นดิน

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

มีบันทึกเล่าเรื่องที่น่าสนใจ ไว้ตอนหนึ่งว่า

“...เหตุที่กระทำสัตย์ขึ้นครั้งนี้ เพราะกรมพระราชวังบวร มิสเตอร์น็อค กงสุลอังกฤษ คิดจะเอาพระโอรสองค์ใหญ่ มีพระนามว่า พระองค์เจ้าวิลัยฯ ส่งไปประเทศอังกฤษ เพื่อมิสเตอร์น็อคจะเปิดเผยที่อังกฤษว่า รัชกาลที่ ๕ ไม่มีพระบรมราชโอรส มีแต่พระราชธิดาองค์ใหญ่ คือ กรมขุนสุพรรณ

ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ มีพระโอรส พระโอรสองค์นี้จะเป็นรัชทายาทต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบฯ จึงพระวิตก คิดให้สมเด็จวังบูรพา กำกับให้กรมขุนสุพรรณออกไปเรียนวิชา ณ ประเทศอังกฤษ ความที่ทรงหวังในเวลานั้น จะโปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนสุพรรณเป็นควีนวิกตอเรีย

ในไม่กี่เดือนต่อมา ก็ได้ทราบเกล้าฯ ว่า สมเด็จพระพรรวษามาตุฉาเจ้า ทรงพระครรภ์ ในไม่ช้าก็ประสูติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

พระราชดำริดังกล่าวนี้ จึงเป็นอันระงับไป

แกนนำกลุ่มสยามหนุ่ม ถวายสัตย์ปฏิญาณ เดือน ก.ค.๒๔๒๔ อีกประมาณปีกว่า เมื่อ ม.ค.๒๔๒๕ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็ถึงแก่พิราลัย

พ.ศ.๒๔๒๘ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระชนมายุ ๔๘ พรรษา ทิวงคต ๗ วันต่อมามีพระบรมราชโองการไม่ทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดให้รับตำแหน่งนี้ต่อไป

พ.ศ.๒๔๒๙ ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นตำแหน่งรัชทายาทแทนตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ จบเรื่องนี้ว่า “เมื่อปัญหาเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ได้ยุติลงได้ด้วยความเรียบร้อยเช่นนี้แล้ว ก็นับว่าภารกิจของกลุ่มแกนนำสยามหนุ่มก็เป็นอันหมดสิ้น ถึงกาลอวสานไปด้วย”.


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ





กินรูป

ในด้านศิลปะ คำ “กินรูป" มีความหมายกว้างไกล  อาจารย์ น.  ณ ปากน้ำ อธิบายไว้ในหนังสือ ถามตอบศิลปะไทย (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ) ไว้หลายคำ

เมื่อมีคำ “กินรูป” ก็ต้องมีคำ “ทัศนียภาพวิทยา” สองคำนี้มีส่วนผสมผสานกัน

งานประติมากรรมชิ้นใหญ่โต เช่น พระมงคลบพิตร ที่อยุธยา  เมื่ออยู่บนฐานชุกชี ปั้นตามส่วนสัดโดยขยายจากรูปเท่าตัวจริง ผู้ดูเบื้องล่างจะเกิดอำนาจทัศนียภาพวิทยา คือส่วนที่อยู่สูงและไกลออกไปจะเรียวเล็กลง

ทำให้ผู้มองเบื้องล่าง อาจเห็นผิดสัดส่วนได้

ยิ่งรูปประติมากรรม นั้น  ตั้งอยู่กลางแจ้ง ผู้ดูข้างล่างจะเห็นส่วนบนตัดกับท้องฟ้า แสงสว่างโดยรอบ จะบีบเศียรพระให้ดูเล็กลงอีก  สิ่งนี้แหละ เรียกว่า “กินรูป”

ดังนี้ ผู้ปั้น จึงจำเป็นต้องปั้นเผื่อไว้ ทำให้เศียรโตผิดส่วนสัดเสียตั้งแต่แรก เมื่อมองจากข้างล่าง อำนาจของทัศนียภาพวิทยา ประการหนึ่ง และการกินรูป อีกประการหนึ่ง จะทำให้เศียรโตนั้นถูกสัดส่วนพอดี

น.  ณ ปากน้ำ  อธิบายต่อว่า ในการปั้นอนุสาวรีย์ใหญ่ที่อยู่บนแท่นสูงลิบ ผู้ปั้นจะต้องคำนึงถึงหลัก ๒ ข้อนี้ และจะต้องปั้นเผื่อไว้เสมอ

พระพุทธชินราชพิษณุโลก  นายช่างโบราณเขาปั้นให้ดูงามเฉพาะแต่มองด้านหน้า ซึ่งจะหาตำหนิไม่ได้ เขาจึงต้องมีรั้วกั้นไว้หน้าฐานชุกชี มิให้ล่วงล้ำเข้าไปดูใกล้ๆ หรือไปดูด้านข้าง  หากเราเข้าไปดูด้านข้างเราจะเห็นพระนาสิกโต และส่วนอื่นก็ไม่งามเหมือนดูด้านหน้า   นี่ก็เพราะเขาคำนึงถึงสถานที่ติดตั้งและจังหวะ ระยะในการดูเพื่อให้งาม

การปั้น จึงต้องปั้นเผื่อในบางส่วนไว้เป็นการเน้นโดยประสงค์จะให้ดูงาม จนถึงที่สุดเฉพาะด้านหน้าแต่อย่างเดียว

อาจารย์ น.  ณ ปากน้ำ  พูดถึงพระพุทธรูปปางลีลา ที่ตั้งในที่ราบเรียงรายอยู่กับพระพุทธรูปโบราณหลายยุคหลายสมัยในระเบียงโบสถ์ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ  

นี่คือรูปแบบลีลา ศิลปะสมัยสุโขทัย ที่ยกย่องกันนักหนาว่างามเป็นเยี่ยมในโลก  ดูด้านหน้า เห็นว่าสวย แต่ระดับเสมอตาที่ตั้งพระ  เมื่อไปดูด้านข้าง ก็จะเห็นข้อบกพร่อง งามน้อยไปหน่อย  

ของเดิมนั้น...คนโบราณเขาติดตั้งไว้ในที่บังคับให้ดูแต่ด้านหน้า จึงดูงามจับใจยิ่งนัก” อาจารย์ว่า

ความรู้ที่อาจารย์ น.  ณ ปากน้ำ เป็นความรู้พื้นฐานของช่างปั้นโบราณทุกคน พระพุทธรูป หรืออนุสาวรีย์คนสำคัญ ขนาดใหญ่ๆ ที่มองดูว่างามแสนงาม ไม่ว่าที่ไหน ฝรั่ง แขก ไทย จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ  

ช่างปั้นจากความเข้าหลักการ “กินรูป” และทัศนียภาพวิทยาทั้งสิ้น
                   ฯลฯ


ที่มา : "กินรูป" คอลัมน์ชักธงรบ โดยกิเลน ประลองเชิง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๘

.


ธรรมเนียมแขกแดง
แขกวำปะนัว

     ฯลฯ
ในประเทศอเมริกาเหนือ มีแขกพวกหนึ่ง ผิวพรรณวรรณะแดงๆ เรียกว่า วำปะนัว  และบรรดาแขกวำปะนัวเหล่านี้ มีวิธีปกครองลูกหลานแปลกกว่าประเพณีของคนชาติอื่นๆ

เป็นธรรมเนียมของเขามาแต่ดึกดำบรรพ์นานมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลูกนายหรือลูกไพร่ คนสามัญอย่างไรก็ตาม เขาก็บำรุงเลี้ยงเสมอหน้ากันหมด

แขกวำปะนัวเป็นชาวป่าชาวดง หากินในทางล่าเนื้อกวาง ละมั่ง  จึงให้ลูกฝึกหัดให้ตาไวเท้าไว มือแม่น ใจกล้าฉกาจฉกรรจ์ อดทนต่อความเหนื่อยยากลำบาก ไม่ให้บ่น ไม่ให้รำพัน ร้องทุกข์ อย่างเด็กธรรมดา

ในชั้นแรก เขาฝึกให้ลูกถูกเฆี่ยน ถูกโบยต่างๆ และห้ามมิให้ร้อง ต้องทำหน้าตาหัวเราะยิ้มแย้ม...บางทีเขาให้กระโดด ให้วิ่งทนหนทางไกลเหลือไกล ห้ามมิให้กินน้ำและนั่งผ่อนพักที่ไหนตามทางเลย บังคับให้กลับทันกำหนดเวลาจงได้

บางทีให้คนหนึ่งขี่ม้าวิ่งห้อ และอีกคนหนึ่งนั้นหัดให้วิ่งตามให้ทัน

ทุกปี ถ้าถึงฤดูหนาวเข้าเมื่อไรแล้ว พวกเด็กแขกวำปะนัว ที่มีอายุรุ่นหนุ่ม คือในราวอายุสิบสี่สิบห้าปี ยังต้องถูกทรมานเป็นพิเศษเป็นครั้งที่สุดอีกครั้งหนึ่ง คือถูกพ่อแม่เอาไปปล่อยป่า จะเรียกเป็นพิธีเข้าบวชป่า ก็ว่าได้

พอย่างเข้าหน้าหนาว พ่อแม่ก็หาขวาน หาพร้า กับธนู หน้าไม้ ไว้ให้ลูกเป็นทุนรอนหรือเครื่องบริขาร แล้วเขาก็เอาผ้าพันตาของลูกไว้แน่น เพื่อกันมิให้เห็นอะไรหมด แล้วก็พาเข้าไปในป่าที่ลึกๆ ซึ่งเด็กคนนั้นยังไม่เคยไป

แล้วปล่อยให้อยู่ที่ในป่านั้นแต่ผู้เดียวตลอดชั่วฤดูหนาว

ครั้นย่างเข้าฤดูร้อน พ่อแม่และพี่น้อง ก็ตามไปหา บางทีพบแต่ซากศพ เพราะเด็กนั้นอดอาหารตาย หนาวตาย บางทีสัตว์ร้ายก็เอาไปกินเสีย ไม่เห็นศพเลยก็มี

แต่ข้อที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ บรรดาญาติพี่น้องที่ตามไปหานั้น ดูไม่ค่อยจะอาลัยในเด็กที่ตายหรือหายไปนั้นเท่าไรนัก ที่เขาจะเข้าใจว่ามันตายเสียแล้วก็แล้วกัน เมื่อมันหาเลี้ยงตัวเอง และป้องกันตัวเองไม่ได้แล้ว ถึงจะอยู่ต่อไปข้างหน้าก็จะหาเลี้ยงตัวและปกครองบุตรภรรยาหรือพรรคพวก อย่างไรก็คงไม่ได้  

อยู่ไปก็หนักแผ่นดินเปล่า

แต่ทว่าถ้าเด็กคนใด บึกบึนทนทรกรรมอยู่ในป่าได้ ไม่ตาย พวกญาติพี่น้องและพ่อแม่ก็ดีใจสรรเสริญ ตั้งเป็นกระบวนแห่รับกลับเข้ามาบ้าน ให้นั่งกินนอนกินไม่ต้องทำงาน จัดการทำขวัญกันสนุกสนาน อวยชัยให้พรไปต่างๆ

จบจากเรื่องแขกวำปะนัว ภราดา ฟ.ฮีแลร์ ครูฝรั่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้เล่าเรื่อง “ธรรมเนียมแขกแดง”  ท่านก็สอนว่า แท้จริงควรจะทำอย่างโบราณ รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ลูกจึงจะเป็นคนขยันได้ ถ้าไม่ตีลูกเมื่อเด็กๆ ลูกเติบโตขึ้นอาจกลับตีพ่อแม่เองก็ได้
                   ฯลฯ


ที่มา : "แขกวำปะนัว" คอลัมน์ชักธงรบ โดยกิเลน ประลองเชิง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๘




แรกมีน้ำแข็ง

หนังสือหมายเหตุประเทศสยาม ๗ (สำนักพิมพ์ ๙๕๙ พับลิชชิ่ง พ.ศ.๒๕๔๙) เอนก นาวิกมูล บันทึกเรื่อง “แรกมีน้ำแข็ง” ในสยาม ไว้สองตอน ตอนที่ ๓๐๑ และ ๓๐๒ เขาทิ้งท้ายไว้ว่า...ปัจจุบันเรามีน้ำแข็งให้กินกันอย่างฟุ่มเฟือยทั่วประเทศ มีทั้งน้ำแข็งก้อน น้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งหลอด ทั้งหลอดใหญ่ หลอดเล็ก น้ำแข็งไม่เป็นของประหลาดอีกแล้ว

ตอนที่ ๓๐๒ เอนกเขียนว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไทยยังต้องสั่งน้ำแข็งจากสิงคโปร์เข้ามากินเพราะยังผลิตเองไม่ได้ น้ำแข็งยังเป็นของประหลาดในยุคนั้น

ใน “ความทรงจำ ตอน ๕” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวเพียงว่า หลังจาก ร.๕ เสด็จกลับจากประพาสสิงคโปร์ พ.ศ.๒๔๑๔  “ไอศกรีมเป็นของวิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กๆ ที่เขาทำกันตามเมืองนอก เข้ามาถึงเมืองไทย ทำบางวันน้ำก็แข็ง บางวันก็ไม่แข็ง มีไอศกรีมตั้งเครื่องแต่บางวัน จึงเห็นเป็นของวิเศษ”

แสดงว่าปี ๒๔๑๔ เรายังมีแต่เครื่องทำน้ำแข็งในรูปไอศกรีมขนาดเล็กเท่านั้น ยังไม่มีโรงงานผลิตน้ำแข็งโดยตรง

พ.ศ.๒๔๒๓ ร.๕ เสด็จฯไปทอดพระเนตร ที่สวนที่นา ที่ปทุมวัน จะซื้อพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ไปประทับที่วังปทุมวัน

“พระยานานาจัดเรือสำปั้นไว้ถวายทรงเก็บบัว แล้วถวายเครื่องไอศกรีมและขนมฝรั่งต่างๆ กับกาแฟ”

“นี่ก็ยังไม่ถึงการทำน้ำแข็งอย่างเป็นล่ำเป็นสันแต่ประการใด” เอนกให้ข้อสังเกต

ในสยามไสมย ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๔๒๗ หน้า ๑๘๗ เอนกพบว่าหมอสมิธเริ่มนำโฆษณาขายน้ำแข็งของบางกอกไอซ์ กำปะนี ลิมิเต็ด มาลงพิมพ์

นี่นับเป็นหลักฐานสำคัญช่วยบอกว่า พ.ศ. ๒๔๒๗ เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตน้ำแข็งในเมืองไทยแล้ว

โฆษณาบอกว่า บัดนี้น้ำแข็งซึ่งทำที่ห้างของกำปะนีนี้ บัดนี้จัดพร้อมจะขาย จะไปซื้อที่ห้างหลังโรงสีไฟ ห้างมากวาล แอนด์โก (อยู่แถวยานนาวา) ก็ได้ ซื้อที่บ้านหม้อ ที่เสาชิงช้า หรือที่วัดเกาะ (สัมพันธวงศ์) ก็ได้ราคาขายปอนด์ละ ๓ อัฐ

การซื้อมีหลายวิธี อ่านโฆษณา ต่อไป

“จะซื้อตั๋วสำหรับจะไปเบิกน้ำแข็งที่ออฟฟิศผู้มีชื่อข้างท้ายหนังสือแห่งหนึ่งก็ได้ แลจะไปซื้อที่ซึ่งทำน้ำแข็งนั้น แห่งหนึ่งก็ได้ ทั้งน้ำแข็งและตั๋วสำหรับเบิกน้ำแข็งนั้น ต้องใช้เงินสดจึงซื้อได้”

วันแจ้งความในประโยคท้ายสุด เทียบปฏิทินสากล ได้เท่ากับวันพฤหัสฯ ที่๕ มิ.ย. พ.ศ.๒๔๒๗

ย้อนไปอ่านหมายเหตุประเทศสยาม ตอนที่ ๓๐๑ เรื่องราวของน้ำแข็งในความรับรู้ของชาวบ้าน ...มุมมองต่างออกไป

เสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เกิดที่กรุงเทพฯ วันที่ ๑๔ ธ.ค.๒๔๓๑ เขียนเรื่องน้ำแข็งไว้ในฟื้นความหลัง เล่ม ๑ ว่า “บิดาเล่าว่า เมื่อมีน้ำแข็งใหม่ๆ คนส่วนมากยังไม่เคยเห็น และซ้ำจะไม่เชื่อว่าน้ำแข็งมีจริง จนถึงทางราชการเอาใส่ถาดตั้งไว้ให้ราษฎรดู ที่พิพิธภัณฑสถาน ซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ที่ตึกศาลาสหทัย ราษฎรที่พากันไปดูลางคนคิดถึงคนอื่นที่บ้าน เป็นห่วงว่ายังไม่เคยเห็น ก็ขอก้อนน้ำแข็งซึ่งเขาต่อยไว้แล้ว เป็นก้อนเล็กๆ เอาไปฝาก หรืออวดคนที่บ้าน  เมื่อน้ำแข็งแพร่หลาย...เป็นสินค้านิยม ก็มีเรื่องเจ๊กขายน้ำแข็ง น้ำแข็งที่เจ๊กขายนี้ ที่แรกเมื่อมีขายเป็นถ้วย คือใส่น้ำท่าลงไปค่อนถ้วยแก้ว เติมน้ำเชื่อมลงไปพอให้มีรสหวาน แล้วต่อยน้ำแข็งจากก้อนใหญ่ใส่ลงไปในแก้วนั้นก้อนหนึ่ง มีขนาดโตกว่าหัวแม่มือเล็กน้อย  ขณะดื่ม เมื่อปากถูกน้ำแข็ง ก็รู้สึกเย็นๆ เท่านั้น ถ้าไม่ถูกก้อนน้ำแข็ง ก็ดื่มน้ำท่าตามธรรมดา แต่มีรสหวานๆ เท่านั้นเอง  ภายหลังเจริญขึ้น ก็เปลี่ยนเป็นราดน้ำบนก้อนน้ำแข็งก้อนใหญ่ ให้น้ำไหลลงมาที่ก๊อก แล้วรองรับไว้ และเทกลับราดไปบนก้อนน้ำแข็งอีก ทำอย่างนี้กลับไปกลับมาหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งเห็นว่าน้ำมีลักษณะเย็นมาก ก็กรอกใส่แก้ว เติมน้ำเชื่อมให้ และในที่สุดก็ใช้กบไส (เรียกว่าหวานเย็น) ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“นึกออกอีกนิดหนึ่ง” เสฐียรโกเศศว่า “เมื่อมีน้ำแข็งขึ้นใหม่ ชาวบ้านชั้นผู้ใหญ่ห้ามเด็กไม่ให้กิน บอกว่าแสลง กินเข้าไปแล้วร้อน เห็นจะหมายถึงว่าร้อนใน หาว่ามันใส่ยาอะไรก็ไม่รู้ จึงทำให้น้ำแข็ง”

เอนก นาวิกมูล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามที่เสฐียรโกเศศกล่าวถึงการขายน้ำแข็งแบบที่สอง คือ ราดน้ำลงบนก้อนน้ำแข็ง เพื่อทำให้น้ำเย็นก่อนเติมน้ำเชื่อมนั้น ประหลาดที่ “ผมไปเที่ยวพม่า เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ไปเห็นวิธีการแบบนี้เข้าที่ย่างกุ้ง ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก นึกไม่ถึงว่าพม่ายังอัตคัดน้ำแข็งขนาดนี้ พูดง่ายๆ ไทยเลิกทำไปแล้วตั้ง ๕๐-๖๐ ปี พม่ากลับยังทำกันอยู่เลย”.
 ข้อมูล-นสพ.ไทยรัฐ



เรื่องเล่าของเสาหิน

เสาบอกระยะทางในไทย มีทำกันแต่โบราณนานมา แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานในหนังสือ คือเสาหลักจากกรุงศรีอยุธยา ไปถึงเมืองลพบุรี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อกว่า ๓๐๐ ปีที่แล้ว
 
(เรื่องที่ ๓๑๕ แรกมีเสากิโล หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม ๗ เอนก นาวิกมูล บริษัท ๙๕๙ พับลิชชิ่ง)
 
บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ บันทึกไว้เป็นจดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม ค.ศ.๑๖๘๕-๑๖๘๖ ว่า วันที่ ๑๕ พ.ย. พ.ศ.๒๒๒๘ เดินทางจากอยุธยาไปลพบุรี เดินทางผ่านสุเหร่า แล้วก็ใช้ทางลัดผ่านเข้าทุ่งนา เราได้พบหลักใหญ่ ป้ายสองขีด แสดงว่าเป็นระยะทางสองลิเออ (ลิเออ หรือลี้ สันต์ ท.โกมลบุตร อธิบายว่า ลี้กิโลเมตริก เท่ากับ ๔ กิโลเมตร ลี้บกใช้วัดที่ดินเท่ากับ ๔,๔๔๔ กิโลเมตร ลี้ทะเลเท่ากับ ๕,๕๕๖ กิโลเมตร)

พจนานุกรมฝรั่งเศส-ไทย อธิบายว่า ๑ ลิเออ เท่ากับ ๓ ไมล์ (๑ ไมล์เท่ากับ ๑.๖ กิโลเมตร)
 
ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส เข้าเมืองไทย ระหว่างวันที่ ๒๗ ก.ย. พ.ศ.๒๒๓๐ ถึง ๓ ม.ค. พ.ศ.๒๒๓๑ บันทึกไว้ว่า การซื้อขายผ้าในสยาม วัดกันด้วยแขน หาได้ใช้ไม้หลา  เมื่อพูดถึงการวัดระยะทาง ชาวสยามยังมีไม้วา เท่ากับ ๑ ตัวซ์ หรือ ๑.๙๔๙ เมตร ใช้วัดในการก่อสร้าง หรือรังวัดที่ดิน วัดถนนหนทาง หรือแม่น้ำลำคลอง
 
เวลาพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนิน เช่นจากพระนครศรีอยุธยาไปเมืองละโว้ ทุกๆ ลี้มีไม้หลักปักหมายไว้เป็นสำคัญ มีป้ายตอกเขียนบอกจำนวนลี้ไว้
 
ประเทศของพระมหาราชาแห่งมะหง่ล เขาใช้วัดโกซ หรือกึ่งลี้ ด้วยหลักทูแรต เป็นกองหินน้อยๆ รูปพีระมิด เหมือนกับชาวโรมันกำหนดระยะด้วยหลักหินเมื่อพันปีที่แล้ว
 
ย้อนไปเรื่องที่ ๓๑๔ หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม ๗ เอนก นาวิกมูล บอกว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการปักเสาหินไว้ ๔ ทิศ
 
ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ฉบับที่ ๔๗ วันพฤหัสฯ เดือน ๗ แรมค่ำ ๑ ปีมะโรง อัฐศก พ.ศ.๒๓๙๙ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ตามที่ไทยได้ทำไมตรียอมให้ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน เข้ามาอาศัยในพระราชอาณาจักรสยาม  ชาวต่างชาติเหล่านี้แปลกเพศภาษา ต่างจริตกิริยา ต่างธรรมเนียม  “ครั้นจะยอมให้ไปอยู่ไกล ห่างพระนครไปนัก กลัวคนที่ไกลๆ ไม่เคยพบเห็นฝรั่ง จะสำคัญคิดว่าเป็นคนแปลกมา จะพากันข่มเหงต่างๆ เมื่อเดินทางไกล หรืออยู่ในที่เปลี่ยว....ทรงอยากให้ผู้ที่เพิ่งมาอยู่ใหม่ๆ รวมทั้งคนในบังคับ เช่าที่หรือซื้อที่ใกล้พระเนตรพอสมควร  
 
หลักเกณฑ์ที่ทรงกำหนดและทำข้อตกลงกับทูตทั้ง ๓ประเทศ...สรุปได้ว่า
๑. เข้ามาอาศัยได้แต่ในเขตพระนคร ที่สามารถเดินทางไปถึงด้วยเรือภายใน ๒๔ ชั่วโมง หรือภายใน ๒๐๐ เส้น นับจากกำแพงพระนครออกไป
๒. เช่าที่ในเขตดังกล่าวได้ แต่ซื้อไม่ได้ ยกเว้นอยู่ถึง ๑๐ ปีแล้ว
๓. เมื่อจะซื้อหรือเช่า ให้บอกกงสุลจะได้บอกเจ้าพนักงานฝ่ายไทยไปดูแลปักที่ ทำหนังสือปิดตราให้ไว้เป็นสำคัญ แล้วจะฝากฝังเจ้าเมือง กรมการให้ช่วยดูแลด้วย
 
ในการทำสัญญา ฝ่ายอังกฤษปรึกษากับเสนาบดีไทย...ถ้าประกาศออกไปโดยไม่ได้วัด และทดลองระยะไว้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะไปถึงไหน จะเป็นเหตุให้สงสัยและถกเถียงกัน
 
ฝ่ายไทยจึงให้เจ้าพนักงานกรมเมืองไปกับขุนนางอังกฤษ วัดทางสองร้อยเส้นรอบพระนคร ปักเสาศิลาไว้ ๔ ทิศ เป็นที่หมาย ของวงเวียนรอบพระนคร การปักเสาหินทั้ง ๔ ทิศนี้ มีขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๒๓๙๙
 
น่าเสียดายที่ไม่ได้ระบุว่า ปักเสาหินที่ตำบลไหน ถึงเวลานี้จะไปหาดูที่ไหนก็ยากนัก
 
แต่เสาหินที่ยังหาดูได้ คือเสาหินคลองดำเนินสะดวก
รายละเอียดได้จากการสำรวจของพระครูสิริวรรณวิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม หมู่ที่ ๔ ต.ศรีสุราษฎร์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
 
ท่านพระครูเขียนไว้ในหนังสือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖...ว่า
 
รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขุดคลองดำเนินสะดวก เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙ เพื่อจะได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปราชบุรีได้สะดวก
 
(ตั้งชื่อคลองให้คล้องกับคลองภาษีเจริญ ซึ่งเป็นต้นทางออกจากกรุงเทพฯ)
 
ความยาวของคลอง ๘๔๐ เส้น หรือ ๓๒ กิโลเมตรเศษ เป็นคลองตรง ผ่าน ๓ อำเภอ คือ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
 
หลักหินที่ปักบอกระยะทางห่างกันหลักละ ๑๐๐ เส้น (ราว ๔ กิโลเมตร) เป็นหินแกรนิตสี่เหลี่ยม บนสุดแกะเป็นรูปพระเจดีย์อย่างพระปฐมเจดีย์ ถัดไปแกะเป็นเลขไทย โรมัน จีน เรียงลงไปตามลำดับ
 
หลักทั้ง ๙ ยังอยู่ครบ แต่บางอันอาจชำรุดไปบ้าง บางแห่งเจ้าของบ้านที่มีเสาปักอยู่ในบริเวณบ้าน ก็ช่วยดูแลรักษาไว้
 
หลัก ๐ ใส่เลขศูนย์ตัวเดียว ปักตรงจุดที่เริ่มต้นขุดคลอง ณ ปากคลองบางยาง อ.บ้านแพ้ว ไม่มีเจดีย์ แต่ไม่มีใครเรียก “หลักศูนย์” นิยมเรียกกันว่าประตูน้ำบางยาง
 
เอนก นาวิกมูล กับคณะ เคยเช่าเรือจากบางคนทีไปดูเสาคลองดำเนินสะดวกแต่มีเวลาดูแค่หลัก ๒ หลักเดียว เขาทิ้งท้ายว่า “เสาหินเหล่านี้ถือเป็นของมีค่ามาก นึกไม่ถึงว่าจะมีหลงเหลือให้ชม”.
 ข้อมูล-นสพ.ไทยรัฐ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 มิถุนายน 2558 16:57:36 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 08 เมษายน 2558 13:33:09 »

.



กากี่นั้ง

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เขียนไว้ในหนังสือ แต้จิ๋วจีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่ (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.๒๕๕๔) ว่า ความเข้าใจเรื่อง “กากี่นั้ง” ตามระบบเครือญาติจีน ในหมู่ลูกหลานจีนในไทยมีน้อยมาก

ญาติชั้นกากี่นั้ง สังคมแต้จิ๋ว ใช้บอกลำดับรุ่นชุดเดียวกัน การลำดับญาติลำดับศักดิ์ ทำได้จากคำบอกเล่าการลำดับรุ่น เมื่อเป็นเช่นนี้ คนอายุ ๒๐ ปี อาจมีศักดิ์เป็นปู่ของคนอายุ ๖๐ ปีก็ได้

ใครไม่แน่ใจ ต้องการรู้ก็เปิดดูในบันทึกประจำตระกูล ซึ่งจะมีอยู่ที่ศาลประจำตระกูลทุกหมู่บ้าน

คำบอกเล่าลำดับรุ่น ปกติแต่ละแซ่แยกเป็นหลายสิบชุดหรือนับร้อยชุด เมื่ออพยพย้ายถิ่น แยกสายกันไป ต่างก็ตั้งคำบอกเล่าลำดับรุ่นชุดใหม่ ขึ้นใช้ในสายหรือสาขาของตน

กากี่นั้งยังมีกรณีพิเศษ แยกสาขากันมานานใช้คำบอกเล่าลำดับรุ่นคนละชุด แต่สาขาหนึ่งมีบารมีหรือมีอิทธิพลมาก จนอีกสาขาที่ตกต่ำ ยำเกรง หรือชื่นชม จึงไปขอใช้คำบอกรุ่นชุดเดียวกับที่มีอำนาจบารมีมากกว่า

การเปลี่ยนสายสกุล เปลี่ยนแซ่นี้ ส่วนมากเกิดจากความจำใจมากกว่าเต็มใจ คนแต้จิ๋วเรียกกรณีนี้ว่า เจียะเตี่ยว คือ ถูกกลืน

โบตั๋นอธิบายไว้ในจดหมายจากเมืองไทยว่า ญาติชั้นคนกันเอง เรียกภาษาแต้จิ๋วว่า “กากี่นั้ง” หมายถึงญาติห่างๆ ที่ใช้แซ่เดียวกันมาจากตำบลเดียวกัน แต่ถ้าแซ่เดียวกัน ต้นตระกูลมาจากตำบลอื่น เรียกว่าญาติชั้น “จง”

ญาติชั้นจง หรือญาติร่วมแซ่ จะห่างชิดแค่ไหน ถ้าใช้คำบอกเล่าลำดับรุ่นต่างชุดกันลำดับญาติกันไม่ได้ชัดเจน ถือเป็นญาติ เมื่อนับญาติกันแล้ว หญิงชายที่ใช้แซ่เดียวกัน แม้มิได้เป็นญาติกัน จึงถือกันว่าจะแต่งงานกันไม่ได้

ปัจจุบัน กฎหมายสมรสในประเทศจีน อนุญาตให้ญาติแซ่เดียวกันที่พ้นชุดไว้ทุกข์ ๕ ชุด คือ ๙ ชั่วคน (ตามความหมายจริงคือ ๕ ชั่วคน) แม้จะใช้คำบอกเล่าลำดับรุ่นชุดเดียวกัน แต่งงานกันได้ เพราะไม่มีผลร้ายทางพันธุกรรม

กากี่นั้งแต่งงานกันเองในหมู่บ้าน จึงเป็นเรื่องได้รับความนิยม เพราะเพิ่มความเป็นญาติมาเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

ในหนังสือลูกหลานคนแต้จิ๋ว เหล่าตั๊ง อธิบายไว้ว่า กากี่นั้ง แปลว่าคนกันเองหรือพวกเดียวกัน แต่ถ้าเป็นชิงนั้ง แปลว่าเป็นญาติกันหรือญาติสนิท
กล่าวโดยสรุป การนับญาติของคนจีนมี ๓ ระดับ คือ ชิงนั้ง ญาติสนิทญาติในครอบครัวเดียวกัน กากี่นั้ง ญาติห่างๆ ญาติร่วมสายสกุลย่อยในแซ่ และจง ญาติร่วมแซ่ ญาติห่างมาก

สำหรับลูกหลานจีนในไทย ระบบครอบครัวใหญ่เสื่อมไปญาติร่วมเทียด ร่วมทวดไม่ค่อยถือว่าเป็นคนครอบครัวเดียวกัน หรือชิงนั้ง ไม่ต้องไว้ทุกข์ให้กัน ถือเป็นเพียงญาติชั้นกากี่นั้งต่างครอบครัว

สังคมไทยปัจจุบัน ถ้าพ้น ๓ หรือ ๔ ชั่วคนไปแล้ว ก็ถือเป็นญาติห่าง หรือกลายเป็นคนอื่นไปเลยก็มี กากี่นั้งตามความหมายของจีนแต้จิ๋ว ซึ่งยังเป็นญาติไม่ห่างกันมากนัก ในความรู้สึกของสังคมไทย จึงกลายเป็นญาติห่างไป

อาจารย์ถาวรบอกว่า ความเข้าใจเรื่องกากี่นั้ง ตามระบบเครือญาติจีน ในหมู่ลูกหลานจีนในไทยมีน้อยมาก คำกากี่นั้งในสังคมไทยจึงใช้ในความหมายคนกันเอง

ความหมายในฐานะญาติร่วมสายสกุล ที่ถูกต้องสมบูรณ์เหลือผู้รู้น้อยลงทุกวัน และที่เข้าใจชัดไปถึงความหมายดั้งเดิมว่า กากี่นั้ง คือ คนในครอบครัวเดียวกันแทบจะไม่มี.
 ข้อมูล-นสพ.ไทยรัฐ

.



นับหนึ่ง..นครปฐม..แน่หรือ?
ในหนังสือชื่อสุวรรณภูมิอยู่ที่นี่ ที่แผ่นดินสยาม (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ก.ค. ๒๕๔๕) รวมพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ และ บทความวิชาการเกี่ยวกับสุวรรณภูมิ ของรัชกาลที่ ๔ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ธนิต อยู่โพธิ์ มานิต วัลลิโภดม ชิน อยู่ดี ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม...บางตอนของคำนำเสนอ สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ เขียนไว้...ว่า ประวัติศาสตร์ชาติไทย ยึดมั่นถือมั่นว่า สุวรรณภูมิ คือชื่ออาณาจักรเก่าแก่เริ่มแรกของประเทศ มีราชธานีอยู่ที่เมืองนครปฐมโบราณ แล้วโยงเข้าเรื่องพระเจ้าอโศกจากอินเดีย ส่งพระโสณะ พระอุตระ มาเผยแผ่พุทธศาสนา โดยมี พระปฐมเจดีย์ เป็นพยานอยู่ทุกวันนี้

“ที่เชื่อถือกันมาทั้งหมดนั้น ไม่จริง” สุจิตต์ ฟันธงแล้วอธิบายว่า เพราะสุวรรณภูมิไม่ใช่ชื่ออาณาจักร ไม่มีอาณาจักรสุวรรณภูมิ เมืองนครปฐมโบราณ ที่มีชื่อเรียกในสมัยอยุธยา ว่าเมืองนครชัยศรี ก็ไม่ใช่เมืองเก่าแก่ที่สุดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะยังมีเมืองเก่าแก่กว่า คือ เมืองอู่ทอง (อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี)

ฉะนั้น พระปฐมเจดีย์ ก็ไม่ใช่สถูปเจดีย์แห่งแรก ที่สร้างแต่ครั้งพระเจ้าอโศก

ถึงตรงนี้จึงมีคำถาม สุวรรณภูมิคืออะไร? อยู่ที่ไหน?
ศิลาจารึกที่ศาลเจ้าพระปฐมเจดีย์ เป็นหลักฐานที่รัชกาลที่ ๔ ครั้งทรงผนวช ทรงพระราชนิพนธ์ หลังเสด็จธุดงค์ไปนมัสการสถูปเก่าที่เมืองนครชัยศรี ปี พ.ศ.๒๓๗๔ ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นองค์พระมหาสถูปเจดีย์ของโบราณแรกตั้งพระพุทธศาสนา   ต่อมาค้นพบโบราณวัตถุ เช่น ธรรมจักร พระพิมพ์ ฯลฯ มีข้อความจารึกเป็นคาถา เย ธัมมา  นี่คือจุดเริ่มต้นของความเชื่อเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศก แล้วนำเข้าสู่เรื่องอาณาจักรสุวรรณภูมิ ในช่วงเวลาต่อๆ ไป

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ...ทรงเชื่อว่าเมืองนครปฐมคือสุวรรณภูมิ สมดังที่รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริ  “ผลงานการศึกษาค้นคว้าของนักปราชญ์ราชบัณฑิตยุคบุกเบิกเริ่มแรก ล้วนมีคุณูปการมหาศาล เป็นเหมือนบันไดขั้นแรก ที่ส่งให้ผู้ศึกษาค้นคว้าภายหลังได้ก้าวขึ้นบันไดขั้นต่อไป ไม่ได้หมายความว่ารุ่นเก่าล้าสมัย รุ่นใหม่ทันสมัย”  สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่าหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการขุดค้นทางโบราณคดี พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่บ้านเก่า กาญจนบุรี จนถึงมีการขุดค้นที่เมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี พบหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์กว้างขวางและซับซ้อนมากขึ้น ด้วยเหตุดังนั้น จึงเกิดข้อสงสัย แล้วถกเถียงทักท้วงเรื่องต่างๆ รวมเรื่องสุวรรณภูมิด้วย ผู้รู้บางท่านเสนอหลักฐานค้านว่านครปฐมไม่ใช่สุวรรณภูมิ  แต่สุวรรณภูมิอยู่ที่เมืองอู่ทอง

พ.ศ. ๒๕๑๐ อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร เขียนเรื่องสุวรรณภูมิ ด้วยการยกเอาเอกสารลังกา อินเดีย กรีก-โรมัน ฯลฯ มาตีแผ่ แล้วเพิ่มเติมความเห็นแทรกไว้ วิธีคิดของอาจารย์ธนิตเป็นเพียงการประนีประนอม ระหว่างความคิดเก่ากับหลักฐานที่พบใหม่ คือ เมืองอู่ทอง กับเมืองนครปฐม ต่างเป็นสุวรรณภูมิ
- เมืองอู่ทอง เป็นเมืองสำคัญทางการปกครอง
- เมืองนครปฐม เป็นเมืองสำคัญทางศาสนา

แต่ในงานวิจัย เรื่องยุคเหล็กในประเทศไทย พัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคม...อาจารย์ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ใช้เวลาสำรวจตรวจสอบและศึกษาค้นคว้าเกือบตลอดชีวิต แล้วสรุปว่า บริเวณที่เป็นตำแหน่งสำคัญของสุวรรณภูมิ น่าจะอยู่ที่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ที่ต่อมามีเมืองอู่ทองเป็นศูนย์กลาง งานวิจัยของอาจารย์ศรีศักดิ์ อ้างงานขุดค้นของอาจารย์ชิน อยู่ดี ที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี แสดงหลักฐานชัดเจนถึงการติดต่อกับอินเดียก่อนที่อื่น ร่วมยุคกับพระเจ้าอโศก

สุวรรณภูมิเป็นชื่อดินแดนเก่าแก่ รู้จักกันแพร่หลายในหมู่ชาวอินเดีย-ลังกาโบราณ สุวรรณภูมิไม่ได้เกิดจากจินตนาการเพื่อแต่งนิทาน แต่มีตัวตนอยู่จริงๆ อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาแล้ว มีร่องรอยทางโบราณคดีสนับสนุน  นักโบราณคดีนานาชาติถกเถียงเรื่องสุวรรณภูมิอยู่ที่ไหนมาช้านาน ฝ่ายหนึ่งว่าสุวรรณภูมิอยู่ในพม่า อีกฝ่ายว่าอยู่ในสยามประเทศ

ตำราประวัติศาสตร์ไทยเคยจัดให้สุวรรณภูมิ เป็นอาณาจักรเก่าแก่ในภาคกลางประเทศไทย การค้นคว้านักวิชาการรุ่นใหม่พบว่าสุวรรณภูมิเป็นชื่อรวมๆที่ชาวอินเดียโบราณใช้เรียกภูมิภาคอุษาคเนย์ทั้งหมด ไม่ได้หมายถึงที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะอุษาคเนย์โบราณ หรือสุวรรณภูมิ เป็นแหล่งโลหะและของป่าที่ชาวอินเดียต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทองแดงและทองคำ ซึ่งตรงกับคำว่า สุวรรณ การค้าโลหะและของป่าระหว่างอินเดียกับอุษาคเนย์คงแพร่หลายมาก ทำให้พ่อค้ามั่งคั่งอย่างรวดเร็ว ชาดกและคัมภีร์โบราณ ทั้งของอินเดีย ลังกา จึงกล่าวถึงการค้ากับสุวรรณภูมิเสมอๆ

“สุวรรณภูมิจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่สำคัญ แต่เรื่องสุวรรณภูมิ มีความสำคัญมากต่อพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมยุคแรกๆของอุษาคเนย์ทั้งหมด  สถาบันระดับอุดมศึกษาประเทศต่างๆ น่าจะร่วมกันผลักดันให้เกิด “สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา” ขึ้นมาค้นคว้าความรู้ออกเผยแพร่ เพื่อสร้างสรรค์อนาคตอันดีงามของภูมิภาคและของโลกใบน้อยนี้” สุจิตต์ วงษ์เทศ ทิ้งท้าย.
 ข้อมูล-นสพ.ไทยรัฐ




พิธีลอยเรือชาวเล
ชาวเลในภูเก็ต กระบี่ และสตูล ภาคใต้ของไทย จำแนกตามการใช้ภาษาได้ ๓ กลุ่ม กลุ่มโอรังลาโอด กลุ่มมอแกล๊น และกลุ่มมาซิง (ประเพณีลอยเรือชาวเล สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ หนังสือชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ)

กลุ่มโอรังลาโอด มีคนมากที่สุด ราว ๓,๐๐๐ คน ในภูเก็ตอยู่ที่บ้านแหลมตุ๊กแก ตำบลรัษฎา บ้านราไวย์ บ้านสะปํา ตำบลเกาะแก้ว ในกระบี่ อยู่ที่เกาะพีพีดอน เกาะจำ และเกาะลันตา ในสตูลอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ

กลุ่มมอแกล๊น มี ๕๐๐ คน อยู่ที่บ้านแหลมหลา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และที่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กลุ่มมาซิง มี ๕๐๐ คน อยู่ที่หมู่เกาะสุรินทร์ และเกาะพระทอง จ.พังงา

ชีวิตชาวเลผูกพันกับเรือ ชาวเลกลุ่มโอรัง-ลาโอด และชาวเลมอแกล๊น มีประเพณีลอยเรือ ปีละสองครั้ง ครั้งแรก กลางเดือน ๖ ครั้งที่สอง กลางเดือน ๑๑

ชาวเลโอรังลาโอดบ้านสะปํา ลอยเรือตอนเช้ามืดวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ชาวโอรังลาโอดบ้านแหลม-ตุ๊กแก ลอยเรือเช้ามืดวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ขณะชาวเลมอ-แกล๊นบ้านแหลมหลา ลอยเรือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ

แต่จะลอยเวลา ๑๘.๐๐ น.  ก่อนลอยเรือชาวเลจะจัดเตรียมหาไม้มาทำเรือพิธี ชาวโอรังลาโอดใช้ไม้ทองหลางและไม้ระกำเป็นส่วนประกอบ ชาวมอแกล๊นใช้ไม้สักหิน และต้นกล้วย

ชาวโอรังลาโอดผู้ชายบ้านแหลมตุ๊กแกจะไปตัดไม้ในตอนเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ช่วยกันแบกหามหรือบรรทุกเรือมากองไว้นอกหมู่บ้าน ใกล้เที่ยงจึงช่วยกันตัดถากและกลึงเกลาไม้ทองหลางให้เป็นโครงแกนท้องเรือ หัวเรือ ท้ายเรือ และจังกูด  และที่สำคัญ คือการแกะสลักรูปคนสูงราว ๘ นิ้ว จำนวน ๑๒ คน ไว้เป็นฝีพาย
เศษไม้ทองหลางที่เหลือจะแกะเป็นเครื่องใช้ไม้ สอยในชีวิตประจำวัน เช่น มีด จวัก หม้อ เตา ตะกร้า ฯลฯ

ส่วนไม้ระกำที่ตัดเป็นท่อนยาว ๔-๖ เมตร ราว ๔๐ ท่อน ชาวโอรังลาโอดจะลอกเปลือกทิ้ง ผูกไว้เป็นมัด เพื่อใช้ประกอบเป็นลำเรือ ไม้ไผ่จะช่วยกันเหลาให้เป็นซี่ ใช้แทนตะปู ที่ตอกด้วยก้อนหินแทนค้อน

๑๖.๐๐ น. โต๊ะตามี่ที่หลา หรือศาลพระภูมิ จะนำไก่ย่าง เหล้า น้ำ เปลือกหอย ข้าวตอก และกำยาน รวมทั้งขนมหัวล้าน หมากพลู ยาสูบ ที่ชาวโอรังลาโอดนำมา เริ่มพิธีด้วยการเผากำยานในกะลา ยื่นให้ชาวเลที่อยู่รอบๆ วนไปทางขวา ครบ ๓ รอบแล้วก็จุดเทียนติดไว้บนศาลพระภูมิ โปรยหรือซัดข้าวตอกไปที่ศาลพระภูมิทั้ง ๔ ทิศ เปล่งเสียงไชโย ๓ ครั้ง เมื่อโต๊ะหมอปักธงขาวไว้ทั้ง ๔ ทิศ เป็นอันว่าจบพิธี  จากนั้นจะแจกจ่ายขนมแบ่งกันกินให้หมดในบริเวณพิธี จะนำกลับไปบ้านไม่ได้

เวลาราว ๑๗.๐๐ น. จะช่วยกันขนและแห่วัสดุทำเรือมาในบริเวณพิธีกลางหมู่บ้าน เรือความยาว ๕-๗ เมตร กว้าง ๑ เมตร เสากระโดงขนาดนิ้วหัวแม่มือ ๓ เสา จะประกอบเสร็จในเวลา ๗-๘ ชั่วโมง

เวลา ๐๔.๐๐ น. ชาวโอรังลาโอดจะตัดเล็บ ผม ใส่ไว้ในตุ๊กตาไม้ระกำเท่าจำนวนคนในบ้าน เอาข้าวตอกลูบไล้ตามตัวตั้งแต่หัวจดเท้า ด้วยความเชื่อว่าข้าวตอกจะนำเอาความชั่วร้ายออกจากร่างกาย แล้วก็ซัดข้าวตอกใส่เรือ

เวลา ๐๖.๐๐ น. ผู้ชายจะช่วยกันแบกหามเรือพิธีลงเรือหางยาวแล่นออกทะเลไปปล่อยเรือพิธีในทะเลลึก หากเกิดกรณี
เรือพิธี ลอยย้อนกลับหมู่บ้าน ชาวโอรังลาโอดจะต้องเริ่มกระบวนการทำเรือพิธีใหม่

บ่ายวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ชาวเลโอรังลาโอดจะแห่ไม้ฮาดั๊ก ๗ ต้น ทำเป็นรูปกางเขน ปลายติดใบกะพ้อ ไปปักไว้ที่ชายหาด โดยเชื่อว่าไม้ฮาดั๊กจะช่วยป้องกันและโบกพัดมิให้โรคร้ายไข้เจ็บและผีร้ายทั้งหลายเข้ามาใกล้หมู่บ้าน

ส่วนชาวเลมอแกล๊น ประกอบพิธีเย็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. พิธีกรรมแตกต่างจากชาวเลโอรังลาโอดไปบ้าง

ประเพณีลอยเรือชาวเล...ทำให้ชาวเลที่ปกติเร่ร่อนออกจากกลุ่มเผ่าไปหาเลี้ยงชีพตามเกาะแก่งในท้องทะเลไกลได้กลับมา ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงจะได้พบหน้ากัน หนุ่มสาวพบปะจับคู่เต้นรองเง็ง แล้วเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ มีลูกหลานว่านเครือสืบต่อไป.
 ข้อมูล-นสพ.ไทยรัฐ




ผลไม้...สมัย ร.๕
หนังสือชื่อเรื่องทำสวน เจ้าพระยาภาสกรวงศ (พร บุนนาค) เรียบเรียงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๓๑ และพิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัด อัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อพ.ศ.๒๔๗๑...และเมื่อ...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงสง่า อิงคุลานนท์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๗ พ.ค. พ.ศ.๒๕๕๘  

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือเก่าที่มากคุณค่า อ่านแล้วเห็นภาพสวนผลไม้มากมาย ในสมัย ร.๕ ซึ่งบัดนี้หลายแห่งเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิม...อีกแล้ว

สวนคำนี้ เมื่อเป็นนามศัพท์แล้ว ก็เข้าใจว่าที่แผ่นดินอันยกคันเป็นร่องขึ้นแล้ว ก็เรียกว่าเป็นสวน คู่กับคำว่านา แลมีคำว่าไร่แทรกอยู่เป็นคำกลาง

ในตำบลวัดทองล่างปลูกทุเรียนงอกงามได้ผลมาก มีรสดีกว่าที่ตำบลอื่น จึงมีชื่อทุเรียนเป็นคุณวิเศษของตำบลนี้  แต่ก่อนทุเรียนบางบนในคลองบางกอกน้อย มีบางผักหนามเป็นต้น เป็นทุเรียนดีมีชื่อจำเพาะต้นไม้พรรค์นั้น ผลโตงามพูใหญ่สีเนื้อเหลืองแต่หยาบ รสมันมากกว่าหวาน ซื้อขายกันได้ราคา เรียกว่าทุเรียนบางบน

ครั้นภายหลังมาในถิ่นบางบนนี้ มีน้ำท่วมบ่อยๆ ต้นทุเรียนทนน้ำไม่ค่อยจะไหว ล้มตายเสียแทบหมด ผู้ที่จะเพาะปลูกขึ้นใหม่ก็ระอาไป หาค่อยจะปลูกให้เต็มภูมิไม่ ทุเรียนบางบนจึงเสื่อมทรามลง ไปเจริญงอกงามดีในที่ตำบลบางล่าง เพราะฤดูน้ำท่วมไหลลงเร็ว ชาวสวนคิดยกคันอยู่ได้  แลทุเรียนบางล่างนั้น เนื้อละเอียด แต่บางสีก็เหลืองอ่อนมักจะเป็นสีลาน แต่รสนั้นหวานสนิทดีกว่าบางบน คนชอบใจกินมาก

มะม่วงมีชื่อจำเพาะว่าอกร่อง แลมะม่วงทุเรียนนั้น ที่พาหิรุทยาน ซึ่งเรียกตามสามัญว่าสวนนอก ในแขวงเมืองสมุทรสงคราม มีสวนมะม่วงบางช้าง เป็นที่ซาบซึมอยู่ด้วยเป็นอันมาก มะม่วงดีกว่าสวนใน  

ยังมะม่วงอีกพรรค์หนึ่ง เป็นมะม่วงไร่หรือป่าก็ได้ เรียกว่ากะล่อนเขียว ในแขวงเมืองชลบุรีมีรสหวาน แลประหลาดโอชายิ่งนัก อีกพรรค์หนึ่งเรียกว่ากะล่อนทอง มาแต่เพชรบุรีเป็นอย่างดี แลมักได้กินก่อนฤดู มักจะทันใส่บาตรในเวลาเทศกาลตรุษ แต่รสหาสู้ดีไม่ มักจืดๆชืดๆไป สู้รสมะม่วงอื่นไม่ได้......

มะปรางปลูกที่ตำบลบางท่าอิฐ แขวงเมืองนนทบุรี ฝั่งตะวันตกเยื้องปากเกร็ดล่างหน่อยหนึ่ง เป็นมะปรางมีรสดีเนื้อแน่นไม่ช้ำ ผลก็งามดี

มะปรางปลูกที่ตำบลอื่นถึงผลจะงามเนื้อในมักจะเป็นน้ำแลช้ำ เรียกว่าท้องขึ้น ปากริ้วไม่ค่อยจะได้ รสก็มักจะจืดไม่สู้แหลมเหมือนมะปรางที่ท่าอิฐ

มะปรางนั้นเราแบ่งประเภทไปตามรส มีสองอย่าง คือเปรี้ยวกับหวาน แต่คำที่ชำนาญพูดกันนั้น ประณีตออกไปอีกถึง ๕ อย่างตามรสนั้น คือมะปรางที่มีรสหวานชืดๆ ไม่มีเปรี้ยวแกม เรียกว่ามะปรางหวาน  ที่มีรสเปรี้ยวแกมแต่น้อย มีหวานเข้าประสมเป็นรสประหลาดมาก เรียกว่ามะยงชิด ที่มีรสเปรี้ยวมากกว่าหวาน เรียกมะยงห่าง แลที่เปรี้ยวมีรสหวานรู้สึกแต่เล็กน้อย เป็นมะปรางเปรี้ยวตามธรรมดายังเปรี้ยวแจ๊ดอีกพรรค์หนึ่ง ผลใหญ่งาม บางแห่งก็เท่าฟองไก่ตะเภา เรียกว่า กาวาง เพราะเปรี้ยวเหลือที่จะประมาณ จนนกกาไม่อาจจิกกันได้แล้ว มะปรางอย่างนี้ สำหรับเป็นของกำนัล เป็นที่ดูชมเล่นเท่านั้น

ลางสาดปลูกที่ตำบลคลองสาน มักมีรสหวานเจือหอมพิเศษดีกว่าที่ตำบลอื่น แลพรรค์เมืองชวาหรือบะเตเวีย พรรค์ที่มาปลูกเป็นขึ้นในบ้านเมืองเรา มีผลเขื่องเติบบ้าง พวงใหญ่งามดี สีเนื้อขาวซีด มีรสหวานชืดจืด โอชะไม่ถึงลางสาดของเรา

มังคุดนั้นไม่เป็นตำบลลงได้ มีเรี่ยรายไป สุดแต่ที่ใดปลูกมากก็เรียกว่าสวนมังคุด มีชื่อตำบลปรากฏมาในพงศาวดาร ว่าสวนมังคุดแห่งหนึ่ง คือแถบวังหลัง ซึ่งเป็นมูลราชนิเวศน์ของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปฐมรัชกาลนั้นตำบลหนึ่ง  สวนมังคุดในบ้านเมืองเรามีผลหาค่อยจะพอจำหน่ายไม่ ในเวลาต่อวายจึงต้องบรรทุกเข้ามาแต่เมืองสิงหปุระ ซึ่งกลายไปเป็นสิงคโปร์ก็มี เพราะที่สิงคโปร์มีสวนมังคุดมาก ทั้งไปมาด้วยเรือเมล์กลไฟใกล้เข้า

หมากบางล่าง มีตำบลราชบูรณะบางผึ้งแจงร้อนเป็นต้น เป็นสวนหมากอันมีชื่อเสียงปรากฏมาแต่ก่อน เพราะหมากนั้นน่าฝาดยิ่งเคี้ยวกระชับจับปากดีกว่าตำบลอื่น แต่ที่ฝั่งตะวันตกยิ่งดีกว่าฝั่งตะวันออก  แลไม่สู้ช้านานนักมาเกิดเคี้ยวหมากดิบที่ยังไม่เป็นสง เนื้อขาว เรียกว่าหน้าหวานกันขึ้นมาก ในหมู่ผู้ที่เป็นชั้นสูงถือว่าหมากหน้าฝาดกระชับจับเจ็บปากไป หมากดิบหน้าหวานจึงเป็นที่ชอบใจ มีราคาขึ้นกว่าหมากหน้าฝาดมาก ที่ปลูกในแขวงเมืองฉะเชิงเทรา แลเมืองจันทบุรีที่หน้าขาวซีดก็กลายเป็นหมากดีไปทั้งนั้น

พลูค้างทองหลาง เป็นของเกิดมีมานานตามสวน ปลูกแล้วก็ทิ้งให้เลื้อยขึ้นบนต้นทองหลาง เก็บใบเคี้ยวปนกับหมาก เป็นสีเขียวมีรสเผ็ดมีตามสวนบางบนและสวนนอกมาก ภายหลังมาไม่สู้ช้านานนัก พวกจีนชำนาญในการเพาะปลูก จึงได้คิดปลูกพลูให้เลื้อยขึ้นค้างด้วยต้นโปลง หาใช่เลื้อยขึ้นบนต้นทองหลางไม่

ในสวนพลูบางไส้ไก่แลบางยี่เรือนั้น ชาวสวนพลูเด็ดใบเก็บซ้อนกันเรียกว่า เรียง ๘ ก้าน เป็นเรียงหนึ่ง ไม่ว่าใบเล็กใบใหญ่ แล้วก็มัดเป็นกำ บรรทุกเข่งหาบมาบ้าง บรรจุด้วยเรือเล็กบ้าง มาขึ้นที่ท่าในคลองบางกอกใหญ่ เคียงกับวัดอินทารามจันทาราม ราชคฤห์ เรียกสามัญว่า บางยี่เรือทั้ง ๓ หรือวัดบางเรือไทย ยี่เรือมอญ  ก็เรียกท่าที่บรรทุกพลูลงมาจำหน่ายนั้น ...เป็นตลาดพลูไป.
 ข้อมูล-นสพ.ไทยรัฐ



 
โขนหลวง ละครหลวง

การเล่นโขนของหลวง เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา มาจากการเล่นดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษก พวกมหาดเล็กที่ถูกคัดเลือกให้เล่นโขน ได้รับการยกย่อง มาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
 
(โขนหลวง ละครหลวง เฉลิมศักดิ์ เย็นสำราญ สูจิบัตร การแสดงวิพิธทัศนา ฉลองอายุ ๘๙ ปี ครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ๒๓ พ.ค.๒๕๕๘ โรงละครแห่งชาติ)
 
โขนจึงเป็นการเล่นของผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ จำกัดเฉพาะในพระราชพิธี ผู้ชายที่เล่นโขนยังมีน้อย ต่อมาเริ่มนิยมกันว่า การฝึกหัดโขนทำให้ชายหนุ่มมีความแคล่วคล่องว่องไวในการรบ เป็นประโยชน์ในการต่อสู้ข้าศึก
 
จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หัดโขนได้ ไม่ห้ามปรามเหมือนแต่ก่อน
 
นับแต่นั้น เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงนิยมหัดโขน ส่งผลให้มีคณะโขนเกิดขึ้นมากมาย
 
ส่วนละคร เคยมีประกาศรัชกาลที่ ๔ “การเล่นละครในบ้านในเมืองนี้ แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามหานครเก่ มาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็มีอย่างธรรมเนียมละครซึ่งเล่นเป็นแต่ผู้หญิงทั้งโรง ไม่มีผู้ชายเลย จะมีเล่นได้ก็แต่ในวังหลวงวังหน้าเท่านั้น...ไม่มีในวังเจ้าและบ้านขุนนางแห่งใดแห่งหนึ่ง เพราะเกรงจะปรากฏเป็นมักใหญ่ใฝ่สูงหาผู้หญิงงามๆ เกินวาสนา”
 
จนทรงมีพระบรมราชานุญาต...ว่า พระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยผู้ใดเล่นละครผู้ชายผู้หญิง ก็มิได้ทรงรังเกียจเลย ทรงเห็นว่า มีละครด้วยกันหลายรายดี บ้านเมืองจะได้ครึกครื้น จะได้เป็นเกียรติยศแก่แผ่นดิน
 
นับแต่บัดนั้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เจ้าของคณะโขนและละครผู้ชาย...มาหัดละครผู้หญิงกันมากขึ้น จนถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ตั้งกรมมหรสพ...โขน ละคร และการดนตรีปี่พาทย์ มีความเจริญก้าวหน้า
 
ทรงประดิษฐ์ราชทินนาม พระราชทานศิลปินที่มีฝีมือ ให้เป็นขุนนางจำนวนมาก
 
หลังรัชกาลที่ ๖ สวรรคต ทั่วโลกเจอวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ นโยบายดุลยภาพรัชกาลที่ ๗ โปรดให้ยุบกรมโขนหลวง กรมมหรสพ...อาคารเรียน โรงโขนหลวงสวนมิสกวัน เรือนพักครูและนักเรียนในวังจันทรเกษม
 
พวกโขนละครตกอยู่ในสภาพแพแตก ข้าราชการกรมมหรสพอพยพออกจากบ้านพักหลวง
 
กว่าสองปี ที่ศิลปะด้านนาฏดุริยางค์ซบเซา ขาดที่พึ่ง
 
ราวปี พ.ศ.๒๔๗๐ ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน (ฝรั่งเศส) มาเยือนไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดเลี้ยงต้อนรับที่วังวรดิศ โปรดให้รวบรวมข้าราชการกรมมหรศพ (ที่ตกงาน) มาแสดงโขนเรื่องนารายณ์ปราบนนทุก
 
งานเลี้ยงเลิก ผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสกลับไปไม่กี่วัน ก็ส่งกระเป๋าถือสตรีทำด้วยกระประดับเพชร...ให้เป็นของกำนัล...ยืนยันความประทับใจ คุณหญิงนัฐกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) ผู้แสดงเป็นนนทุก
 
ผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศส ได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๗ กราบทูลความประทับใจให้ทรงทราบ...โปรดให้จัดโขน...ตอนปราบนนทุก แสดงอีกครั้ง แถมด้วยละคร เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ตอนเสนากุฏเข้าเมือง
 
นับแต่นั้น ศิลปะด้านนาฏดุริยางค์ จึงได้รับการเชิดชู เป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัชกาลที่ ๗ ทรงขอความเห็นจากเสนาบดี...หากสมควรที่จะรักษาศิลปะชั้นสูงของชาติเอาไว้ ก็ทรงเต็มพระราชหฤทัยสละพระราชทรัพย์
 
ข้าราชการกรมมหรสพที่ตกงาน ก็ได้งานคืน...นายสง่าครูฝึกโขนหลวง เป็นคนแรกได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ ๒๐ บาท กระบวนการรื้อฟื้นโขนหลวง ละครหลวง เริ่มต้นมาตั้งแต่บัดนั้น...และรุ่งเรืองเฟื่องฟู มาถึงชั้นลูกชั้นหลาน
...นสพ.ไทยรัฐ


http://www.pralanna.com/img/id/dscf4063_resize.jpg
บันทึกไว้ในแผ่นดิน

ตุ๊กตาเสียกบาลจากสุโขทัย
ภาพจาก : เว็บไซต์พระล้านนาดอทคอม

ตุ๊กตาสะเดาะเคราะห์

ข่าวล่า ตอนนี้ นักร้องดาราสาวๆ กำลังเห่อ ตุ๊กตาเทพ
 
ดารามีตุ๊กตา...สวยๆ เอาไว้ ก็เข้าใจ แต่ที่สะดุดก็คือ ตุ๊กตาที่ว่านี้ มีการลงเลขยันต์ จากเดิมที่คบแค่เป็นเพื่อนแก้เหงา ก็กลายเป็นเทพ... คุ้มครองตัว
 
นักวิชาการหญิงท่านหนึ่ง อธิบายว่า อาชีพศิลปิน ดารานั้นจิตใจอ่อนไหว ต้องมีครู เคยครอบครู ครบปีก็ต้องไปไหว้ครู ศิลปินนับถือพระคเณศ หากจะนับถือตุ๊กตาเทพ อีกสักองค์หนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่
 
โดยอาชีพ ดารานักร้อง มีช่วงเวลาขาขึ้นขาลง ความเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องทำใจ การที่ตุ๊กตาเป็นเทวดาคุ้มครองอีกสักตัว...คงช่วยพยุงจิตใจตอนอยู่ในขาลงได้ไม่น้อย
 
การที่ผู้หญิงมีตุ๊กตา ทำให้นึกไปถึงสมัยโบราณ ผู้หญิงนิยมใช้ตุ๊กตาเหมือนกัน
 
สมัยสุโขทัย มีสังคโลกตุ๊กตาเล็กๆ ปั้นเป็นแม่เปลือยอกนั่งอุ้มลูก หรือ ทำรูปลูกกินนม


การออกลูกสมัยโบราณ รู้กันว่าอันตรายมาก หญิงท้องแรก ความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายพอๆ กับผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบทัพ จึงทำตุ๊กตาแม่อุ้มลูกไปต่อยหัวทิ้งที่ทางสามแพร่ง พร้อมกับเครื่องบัตรพลี เวลาโพล้เพล้ ถือว่าตุ๊กตาสะเดาะเคราะห์
 
หรือเคราะห์ร้ายมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ใช้วิธีเดียวกัน เอารูปปั้นไปต่อยหัวที่ทางสามแพร่ง ที่เรียกๆ กันว่า 'ตุ๊กตาเสียกบาล' มาจากกระบวนการนี้แหละ

 
อาจารย์ “พลูหลวง” เขียนไว้ใน รหัสวิทยา พลังเร้นลับ สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง คนโบราณโกรธแค้นใคร...เขาไม่ค่อยจะออกแรงเอง แต่ใช้ “ของ” หรือวิชาไสยศาสตร์ เป็นตัวช่วย
 
วิชาหนึ่ง เรียก การบังฟัน  อาจารย์ที่ขึ้นชื่อในการบังฟันนั้นมีอยู่น้อยคน หาเครื่องบัตรพลี เป็นกระทงใหญ่ ใส่อาหาร ยาสูบ หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ ถ้ามีแต่เครื่องบัตรพลี อาจารย์ท่านมักเมิน ต้องมีค่ายกครู ใส่ไปด้วย
 
ยกเครื่องบัตรพลี ไปทำพิธีที่ทางสามแพร่ง (อีกแล้ว) ที่ดวงวิญญาณชุมนุมกันอยู่
 
อาจารย์ถือดาบลงอาคม เดินเสกคาถารอบกระทงเครื่องบัตรพลี โดยให้ศิษย์ผู้กระทำเดินวนตาม พักหนึ่งอาจารย์ก็ทำเป็นบ่น “คนที่จะเป็น มันไม่ยอมมาสักที” แล้วให้ศิษย์ก้าวออกไปจากทางเดิน
 
จังหวะนั้นจะสมมติเอาเงาคนที่ผ่านหน้า...เงานั้นเดินวนตามอาจารย์ไปหลายรอบ อาจารย์จะหาโอกาส แล้วก็ฟันฉับ
 
“วิธีนี้ร้ายกาจ น่ากลัวมาก” อาจารย์พลูหลวงว่า “ไม่ทันข้ามวัน ผู้ถูกกระทำซึ่งมักจะมีเคราะห์ร้ายเป็นทุนอยู่แล้วมักจะตายทันที โดยมีรอยฟันผ่านหน้าอก ปรากฏให้เห็น”
 
วิธีทางไสยศาสตร์ของคนโบราณ ไม่ว่าจะเรื่อง ตุ๊กตาแม่ลูกอ่อน ตุ๊กตาเสียกบาล หรือ การบังฟัน คนสมัยใหม่อาจมองเป็นเรื่องเหลวไหล...
...นสพ.ไทยรัฐ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 มกราคม 2559 15:15:18 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2558 15:04:26 »

.

ควายหีบอ้อย

หนึ่งใน “วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์” (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2558) “เสนาบดีทุกวันนี้ เหมือนควายที่หีบอ้อย.... ”
 
ตามพระบรมราโชบายความมั่นคงของประเทศชาติ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว...ขณะนั้น เป็นเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในภยันตรายด้านเอกราช จากการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก
 
ประเทศเพื่อนบ้านสูญเสียเอกราชตก เป็นอาณานิคมชาติตะวันตกไปหมดแล้ว
 
มหาอำนาจทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส กำลังพยายามขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมไทย
 
ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะหาหนทางให้รอดพ้นจากภัยคุกคามนั้นเต็มสติกำลัง ดังพระราชดำริปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่มีพระราชทานพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ราชทูตพิเศษ ที่โปรดให้เดินทางไปฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐  “ในเมื่อสยามถูกรังควานโดยฝรั่งเศสด้านหนึ่ง โดยอาณานิคมอังกฤษอีกด้านหนึ่ง... เราต้องตัดสินใจว่าเราจะทำอย่างไร จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อทำตัวเป็นมิตรกับจระเข้ หรือว่าออกทะเลไปเกาะปลาวาฬไว้”  วิธีหนึ่งที่ทรงเร่งดำเนินการแก้ไขวิกฤตการณ์นี้คือ การพัฒนาประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศในทุกๆ ด้าน เพื่อจะได้ไม่มีข้ออ้างในการที่จะเข้ายึดครองประเทศ
 
ทรงเริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาบ้านเมือง ตามพระราโชบาย ทำให้เกิดงานที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าเดิม ก่อให้เกิดความไม่พอใจกับเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเคยชินกับการทำงานแบบเดิมคือเรื่อยเฉื่อย สบายๆ ไม่มีวัตถุประสงค์ใดชัดเจน  นอกจากความไม่เข้าใจ และความไม่พอใจ บางคนยังเกิดความเข้าใจผิด เช่นเมื่อครั้งตั้งโรงเรียนให้การศึกษาแก่เด็กชายชาวบ้าน คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่ารัฐบาลจะเกณฑ์เด็กไปเป็นทหาร
 
เหตุดังกล่าวนี้ ทำให้พระบรมราโชบายด้านต่างๆ...ต้องหยุดชะงัก หรือดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เป็นที่น่าหวั่นเกรงว่าจะไม่ทันกับภัยอันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามาไม่หยุดยั้ง ทำให้ทรงกังวลพระทัย เมื่อทรงประจักษ์ว่า คนรู้ถึงภัยของชาวตะวันตก ละคนมีความรู้ในงานที่ต้องทำนั้นมีน้อยมาก และยิ่งทรงกังวลพระทัยขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อทรงพบว่าประเทศชาติในขณะนั้นไม่มีทั้งกำลังเงิน กำลังอาวุธ และแม้แต่กำลังคน

ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันว่า “ถ้าหากว่าเราพบบ่อทองในประเทศเรา ...พอที่จะใช้ซื้อเรือรบจำนวนร้อยๆ ลำก็ตาม เราก็คงไม่สามารถจะสู้กับพวกนี้ได้ เพราะเราจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธจากประเทศเหล่านี้ พวกนี้จะหยุดขายให้เรา เมื่อไรก็ได้ อาวุธชนิดเดียวซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคต ก็คือวาจาและหัวใจของเราอันกอปรด้วยสติและปัญญา...”
 
อาวุธในพระราชดำริที่ว่า “หัวใจ” นั้นน่าจะทรงหมายถึงคนทั้งประเทศ ทรงเปรียบเทียบสถานการณ์ของบ้านเมืองกับปฏิบัติงานของเสนาบดีเหล่านี้ว่า ถ้าจะเปรียบด้วยเรือก็เหมือนกับเมื่อก่อนเอาขึ้นทิ้งไว้ในอู่ คงอยู่แต่รูปเรือ ท้องนั้นผุรั่วจนจะลอยน้ำไม่ได้ เมื่อจำเป็นต้องเข็นลงน้ำ ก็เอาโคลนปะแทนชัน คนพายก็ไม่เป็น คนหนึ่งยก คนหนึ่งจ้วง ตุ๋มๆ ติ๋มๆ น้ำก็เชี่ยว ลมก็จัด เวลาว่างค่อยปะยาเปลี่ยนไม้ไปทีละแผ่น ๒ แผ่น ตอกหมันยาชันพอเป็นรูป แต่คนที่จะพายล้วนแต่เป็นโรคภัยต่างๆ ตาบอดบ้าง หูหนวกบ้าง การที่จะหาฝีพายให้เต็มเป็นการยากยิ่ง  ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงต้องทรงว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ ในแต่ละแขนงมาเป็นผู้วางพื้นฐานในหน่วยงานต่างๆ ความหวังประการเดียว ก็คือรอคอยคนรุ่นใหม่ ที่ทรงส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามา พร้อมกับความรู้เท่าทันเหตุการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น เข้าใจในพระราชวิเทโศบาย และสามารถที่จะปฏิบัติงานให้เป็นไป
 
ระหว่างรอคอย จำเป็นต้องใช้คนรุ่นเก่า ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติราชการตามที่เคยเป็นมาแต่โบราณ ซึ่งมีลักษณะ... คิดหาความชอบด้วยปาก พอได้เงินได้ทองในปัจจุบัน และหมายจะเป็นสมเด็จเจ้าพระยาในภายหน้า ลักษณะของเสนาบดีผู้ใหญ่ จึงเป็นไปตามที่ทรงเปรียบเปรยเหมือนควายที่หีบอ้อย ถ้าหยุดเตือนแซ่เตือนกระตัก ก็หยุดบดเอื้องกันเสียหมด”.
...นสพ.ไทยรัฐ



เงินถุงแดง

ในงานพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่วัดคงคารามวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี ราวกลางปี พ.ศ.๒๕๕๒ อาจารย์บุญมี พิบูลย์สมบัติ เขียนเรื่อง “เงินถุงแดง” ลงใน นสพ.เพชรภูมิ ฉบับวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑ ไว้ดังต่อไปนี้

รัชกาลที่ ๓ ขณะยังทรงกรม เป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถทั้งด้านกวีนิพนธ์ รัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ การทหาร การปกครอง การศาสนา งานสถาปัตยกรรม การต่างประเทศ โปรดให้ต่อเรือรบกำปั่นไว้ใช้ในราชการเพื่อป้องกันประเทศจากฝรั่งนักล่าอาณานิคม ละใช้ในการค้า

ขณะทรงว่าราชการกรมท่า ในส่วนพระองค์ก็ได้ทรงค้าขายกับจีน ทรงมอบหมายให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (ต้นตระกูลกัลยาณมิตร) ขุนนางไทยเชื้อสายจีน ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย เป็นผู้แทนพระองค์ไปค้าขายกับจีน

ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระราชบิดา ตรัสเรียกขานว่า “เจ้าสัว”

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.๒๓๖๗ เงินกำไรที่ทรงได้มาเป็นส่วนพระองค์ก็มิได้ทรงใช้จ่ายให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงยกให้หรือมอบหมายไว้กับพระราชโอรส-ธิดาพระองค์ใด ทรงนำมาใส่ถุงแดง แยกเป็นถุง ถุงละ ๑๐ ชั่ง ตีตราปิดปากถุง เก็บไว้ในหีบกำปั่นข้างห้องบรรทม

ตลอดพระชนม์ชีพ...รัชกาลที่ ๓ ก็มิได้ทรงห่วงเรื่องผู้สืบสันตติวงศ์ มิได้ทรงมอบกับพระราชโอรสพระองค์ใด เรื่องเดียวที่ทรงห่วงใยที่สุดก็คือเรื่องเอกราชอธิปไตยของบ้านเมือง

จนเมื่อทรงพระประชวรหนัก มีพระบรมราชโองการกับขุนนางและข้าราชบริพารที่อยู่เฝ้าใกล้ชิด...เป็นครั้งสุดท้าย "การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ งานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว”

ต่อมาอีกไม่นานนักศึกข้างพวกฝรั่งที่ทรงพยากรณ์ไว้ก็ได้สร้างความหายนะมาสู่ประเทศไทยอย่างมิมีหนทางใดจะขัดขืน หรือหลีกเลี่ยง นับว่าสายพระเนตรและน้ำพระทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ได้ทรงมีส่วนอย่างยิ่ง ในการช่วยเชิดชูความเป็นไทยให้ดำรงคงอยู่  ประชาชนทั้งชาติจึงเป็นหนี้พระมหากรุณาธิคุณสุดจะประมาณได้

เหตุการณ์สำคัญที่หมิ่นเหม่ต่อการสูญเสียเอกราชในครั้งกระนั้น อาจารย์บุญมี พิบูลย์สมบัติ นำบางส่วนมากล่าวไว้ต่อไปนี้...เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ ไทยมีเรื่องพิพาทกับฝรั่งเศสกรณีดินแดนฝั่งแม่น้ำโขง คือเมืองไล ในสิบสองจุไทย เป็นดินแดนของไทย แต่เมื่อฝรั่งเศสมามีอิทธิพลอยู่เหนือดินแดนลาว ญวน และเขมรแล้ว ก็เตรียมพาลหาเรื่องไทยว่ารุกล้ำดินแดนของญวนและเขมรอยู่เสมอ

พ.ศ.๒๔๓๖ เกิดกรณีพระยอดเมืองขวางต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสที่จะขับไล่ทหารไทยออกจากเมืองคำม่วน ฝ่ายฝรั่งเศสแพ้ นายทหารตาย ๑ คน ทหารญวนตายประมาณ ๒๐ คน  ขณะที่ฝ่ายไทย ตาย ๕-๖ คน

การรบที่ด้านฝั่งแม่น้ำโขงแพ้ ฝรั่งเศสก็รุกทางทะเล ส่งเรือรบโคเมต์และเรือลังกองสตอง สมทบกับเรือลูตอง ปิดน่านน้ำไทยเพื่อข่มขู่ไทย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินนโยบายยอมเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อแก้วิกฤตการณ์โดยนโยบายยอมเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้  ตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสนั้นไทยจำต้องยอมสละสิทธิ์ในดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส

ทั้งยังต้องชดใช้ค่าเสียหายอีก ๓ ล้านบาท  ฝ่ายไทยจำต้องยินยอม แต่แม้ยินยอมแล้วฝรั่งเศสก็ยังแสดงอำนาจบาตรใหญ่เข้ายึดเมืองจันทบุรีและตราดไว้เป็นประกัน อีกนานถึง ๑๐ ปี   การยินยอมของฝ่ายไทย...พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำต้องนำเงิน “ถุงแดง” จำนวนสามหมื่นชั่ง (สองล้านสี่แสนบาท) ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ให้สำหรับแผ่นดิน

แต่จำนวนเงินนี้ ก็ยังไม่พอ...อีก ๖ แสนบาท ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และของพระบรมวงศานุวงศ์เติมให้เต็มจำนวน ๓ ล้าน ตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง

ประเทศไทยจึงรอดจากปากเหยี่ยวปากกาฝรั่งเศสหนึ่งในประเทศนักล่าอาณานิคมมาได้ เงินถุงแดงจึงเป็นเสมือนปาฏิหาริย์ที่ช่วยเชิดชูความเป็นไทยให้ดำรงอยู่สืบมาถึงปัจจุบัน.
...นสพ.ไทยรัฐ



นางนวล อู่เรือ รถราง...บางกระบือ

ความหลังและเรื่องราวของชุมชนบางกระบือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น...ปราณี กล่ำส้ม เล่าไว้ในหนังสือย่านเก่าในกรุงเทพฯ เล่ม ๒ (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ก.ค.๒๕๔๙) โดยเริ่มคำถาม เคยคิดสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมย่านนี้ จึงได้ชื่อว่าบางกระบือ

ผู้เฒ่าเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ในสมัยก่อนนั้นเคยมีกลุ่มนายฮ้อยจากภาคอีสานต้อนวัวต้อนควายมาขายในภาคกลาง ผ่านสะพานกลางทุ่งนากว้าง...ต่อมาเรียกว่าสะพานควาย ต้อนต่อไปจนมาถึงบางกระบือ แหล่งซื้อโคกระบือสำคัญ

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตำบลบางกระบือ มี ๑๓ หมู่บ้าน ขึ้นกับอำเภอบางซื่อ ถือเป็นอำเภอชั้นนอกของกรุงเทพฯ

แต่เดิมคนในชุมชนได้อาศัยคลองบางกระบือ ซึ่งเชื่อมต่อจากแม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบกับคลองเปรมประชากรตรงสะพานวัดบางกระบือ (วัดประชาระบือธรรม) เป็นเส้นทางคมนาคม เป็นทั้งเส้นทางค้าขายพืชผักผลไม้

ก่อนปี ๒๕๐๐ ยังมีเรือพ่อค้าแม่ขายจากอยุธยา สิงห์บุรี พายเข้ามาขายของ จนเมื่อการคมนาคมเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ คลองจึงลดบทบาทลง ไหลผ่านจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เพื่อมาเป็นแหล่งรองรับน้ำจากบ้านเรือนละแวกนั้น...เท่านั้น

ภาพในอดีตที่ผู้เฒ่าหลายคนยังจำได้ย่านบางกระบือบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อไปถึงเกียกกาย เป็นแหล่งพักพิงของนกนางนวล ที่หลบลมหนาวบินมาจากแดนไกล จนกระทั่งสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป บ้านเรือน ร้านค้า ผู้คนหนาแน่นมากขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเปลี่ยนสี นกนางนวลฝูงใหญ่ฝูงนั้นก็จากไป

ปราณี กล่ำส้ม เล่าว่า ภายหลังสยามทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ การค้าขายกับต่างประเทศก็ขยายตัวเติบโตโดยเฉพาะการค้าข้าว จากเดิมที่การสีข้าวตำข้าวทำกันเองในครัวเรือน เมื่อปลูกข้าวได้มากจึงเกิดโรงสีในระดับอุตสาหกรรมขึ้น ต่อมาโรงสีส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรแทนแรงคนจึงเรียกโรงสีไฟ

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ กิจการโรงสีแพร่หลายมีโรงสีสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถึง ๘๔ โรง เฉพาะในย่านบางกระบือมีโรงสีกิมเซ่งหลีของพระโสภณเพชรรัตน์ โรงสีข้าวหวั่งหลี โรงสีกวางซุ่นหลี โรงสีกวางซุ่นไถ ฯลฯ

ความเจริญเริ่มขยายจากในเมืองออกสู่นอกเมือ ทำให้ที่ดินราคาแพงขึ้น หลังโรงสีไฟกิมเซ่งหลีเกิดเพลิงไหม้เสียหายอย่างหนัก เจ้าของเลิกกิจการขายที่ดินให้หลวง

ย้อนหลังไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้ใช้ที่ดินโรงสีกิมเซ่งหลี ตั้งกรมคลอง (เปลี่ยนเป็นกรมทดน้ำ ในสมัยรัชกาลที่ ๖) เป็นกรมชลประทาน มีหน้าที่พัฒนาแหล่งน้ำ ลอกคูคลองต่างๆ ไม่ให้ตื้นเขิน และเพื่อให้ราษฎรมีน้ำเพียงพอเพาะปลูก ทั้งยังใช้เป็นทางสัญจรไปมาได้สะดวกทุกฤดูกาล

ความเจริญของย่านบางกระบือ จึงถึงขนาดที่ต้องมีรถราง...ปราณี กล่ำส้ม เล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ราว พ.ศ.๒๔๓๑ บริษัทฝรั่งขอสัมปทานเดินรถรางสายแรก คือ สายหลักเมือง-ถนนตก

เวลานั้น รถรางยังต้องใช้ม้าลาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า รถรางม้า หรือม้าเหล็ก ต่อมามีการสั่งรถรางไฟฟ้าเข้ามาวิ่งแทนรถรางม้า...ตอนแรกๆ สร้างความแตกตื่นให้ผู้คนเป็นอันมาก เป็นเรื่องประหลาดที่รถรางสามารถแล่นได้เองโดยไม่มีม้าลาก

ต่อจากความประหลาดใจก็กลายเป็นความกลัว กลัวขึ้นรถรางแล้วจะถูกไฟฟ้าดูด ก็ต้องใช้ความพยายามชี้แจงและโฆษณาเชิญชวนให้ขึ้นรถไฟ คนไทยกลัวก็ให้ฝรั่งขึ้นรถรางดูเป็นตัวอย่าง ระยะแรกจึงไม่เก็บค่าโดยสาร

หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเปิดสัมปทานเดินรถรางบนถนนสีลม จากบางรักถึงประตูน้ำอำนวยความสะดวกให้คนเดินทางระหว่างถนนเจริญกรุง ถนนพระราม ๔ ถนนเพชรบุรี รถรางสายนี้แล่นเชื่อมรถรางสายหลักเมือง-ถนนตก ที่ถนนเจริญกรุง เชื่อมรถรางสายบางกระบือ-ศาลาแดง

นอกจากนี้ ยังมีรถรางสายสั้นๆ คือสายบางกระบือ-สถานีรถไฟบางซื่อ

ย่านบางกระบือจึงมีสถานที่เก็บรถรางและบ้านพักพนักงาน เรียกกันว่าซอยรถราง ในซอยมีศาลาพักคนโดยสาร ร้านขายอาหาร ชาวบ้านเรียกศาลานี้ว่า ศาลานกกระจอก เหตุเพราะผู้คนคุยกันเสียงดังมาก

ข้างๆ ซอยรถราง (สามเสน ๒๓) มีซอยคานเรือ (สามเสน ๒๑) สมัยก่อนเป็นอู่ต่อเรือและซ่อมเรือของป้าทิม ซึ่งเล่ากันว่าเป็นพี่น้องกับขุนด่ำ เจ้าพ่อเรือโยง มีเรือไฟนับเป็นร้อยๆ แล่นไปทุกสายน้ำ เรือส่วนใหญ่จอดอยู่ทางฝั่งบางพลัด

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ เห็นว่ารถรางกีดขวางเส้นทางการจราจรของรถประจำทางและรถยนต์ จึงสั่งให้เลิกรถราง ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๑  ถึงวันนี้ไม่มีวี่แววของรถราง อู่เรือ เหลืออยู่ให้เห็น เช่นเดียวกับเรื่องเล่าครั้งหนึ่งริมน้ำบางกระบือ เคยมีฝูงนกนางนวลฝูงใหญ่ ทุกอย่างในอดีตนั้นผ่านเลยไป ไม่มีวันหวนคืนมาเหมือนเดิมอีกแล้ว.
...นสพ.ไทยรัฐ



ตำนานโสเภณี สมัยยายแฟง

ระหว่าง พ.ศ.๒๔๒๐–๒๔๕๐ อาชีพโสเภณียังอยู่ในรูปแบบเก่าคือ “นางประจำสำนัก” (กรุงเทพยามราตรี วีระยุทธ ปีสาลี สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๕๗)
สำนักที่มีชื่อเสียงที่สุด ขึ้นชื่อลือชามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ คือสำนักยายแฟง มีประจักษ์หลักฐานยืนยัน จากการที่ยายแฟงเอาเงินไปสร้างวัด ชื่อว่าวัดใหม่ยายแฟง วัดนี้ มีอีกชื่อว่า วัดคณิกาผล หมายถึงผลที่ได้จากนางคณิกา

สมัยนั้นมีธุรกิจชื่อดัง พูดติดปากอยู่สามแห่ง ยายฟักขายข้าวแกง  ยายแฟงขาย...? สี  ยายมีขายเหล้า

กิจการโสเภณีย่านสำเพ็ง เติบโตมาพร้อมๆ กับการเติบโตของกรุงเทพฯ โสเภณีทุกสำนักต้องเสียภาษีบำรุงถนนให้กับรัฐ ถือได้ว่าโสเภณีเป็นอาชีพถูกกฎหมาย ต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันสัญจรโรค ร.ศ.๑๒๗ ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ สำนักโสเภณีทุกแห่งต้องแขวนโคมเขียวเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้รู้ว่า จดทะเบียนเสียภาษีเรียบร้อย  แต่ก็ยังมีโสเภณีเถื่อน แอบแฝงยืนขายบริการอยู่ตามพื้นที่บันเทิงยามค่ำคืน คือโรงบ่อนและโรงหวย

พ.ศ.๒๔๖๐ กิจการโสเภณี...ก็ยิ่งทวีความเจริญ แอบแฝงอยู่ตามสถานบันเทิงในโลกสมัยใหม่ ได้แก่โรงภาพยนตร์ โรงแรม สถานเริงรมย์ จนกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตยามค่ำคืน

ผู้หญิงขายบริการ สร้างความสมบูรณ์ให้กับความเป็นเมือง พวกเธอถูกเรียกว่า หญิงงามเมือง หนังสือพิมพ์ยุคนั้น รายงานว่าหนึ่งในสิบของถนนหรือตรอกซอกซอยกรุงเทพฯ มีซ่องโสเภณี   สี่แยกถนนราชดำเนิน ตัดถนนดินสอ เคยเงียบเหงาไม่มีผู้คน ปี ๒๔๖๐ มีผู้ไปเช่าที่ปลูกบ้านเรือนจนเต็มไปหมด จนเป็นที่ประชุมชนมีร้านขายของหลายร้าน ยามค่ำคืน พวกหญิงนครโสเภณีเถื่อน ก็ออกมานั่งลอยโฉมหาลูกค้า   

ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างโสเภณีแบบเก่าที่สำเพ็ง (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๖๓) กับโสเภณีแบบใหม่ ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอเมริกา (พ.ศ.๒๔๘๘-๒๕๐๓)  เหตุผลของความเปลี่ยนแปลง นอกจากการปรับตัวเข้ากับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และค่านิยมสมัยใหม่...แล้ว ก็คือความต้องการหลีกเลี่ยงภาษี

พ.ศ.๒๔๕๐ หนังสือพิมพ์สยามออบเซอรเวอร เขียนข่าว...ว่า
เวลานี้ตัวกามโรคเที่ยวพลุกพล่านมากตามแถวหลังโรงหนังญี่ปุ่น ถึงกับฉุดคร่าชวนชายไปสมสู่ พลตำรวจบางคนเห็นเข้าก็ห้ามปราม...พวกร้านเจ๊กขายกาแฟกวางตุ้ง และโรงสูบฝิ่นก็มีผู้หาหญิงไปคอยนั่งอยู่หน้าประตู...พ.ศ.๒๔๗๘ มีข้อห้ามค้าโสเภณี...ราคาโสเภณีเริ่มตกลง หลายคนเปลี่ยนไปเป็นหญิงนักร้อง หมอนวด หญิงนั่งคุยกับแขก คู่เต้นรำตามสถานเริงรมย์ หญิงคู่เต้นรำยุคแรกๆ มีทั้งหญิงไทย และหญิงจีนจากกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้   
ยุคนี้ยังไม่มีหลักฐานคู่เต้นรำชายสำหรับหญิง

พ.ศ.๒๔๗๐ มีข่าวการลักลอบเปิดซ่องเด็กชายรับจ้างทำชำเรา ให้กับผู้ใช้บริการที่มีทั้งแขก จีนเจ้าสัวและจีนบ้าบ๋า นสพ.พาดหัวข่าวว่า ตั้งซ่องโสเภณีเถื่อนอย่างวิตถาร ซ่องนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลตรอกถั่วงอก เขตป้อมปราบ เจ้าของชื่อนายการุญ ผาสุก มีชื่อเล่นว่า ถั่วดำ

วีระยุทธ ปีสาลี ทิ้งท้ายด้วยข้อสังเกตว่า พฤติกรรมของคนรักร่วมเพศ ปรากฏเด่นชัดมากขึ้น ราวปี พ.ศ.๒๕๐๐
ถึงวันนี้ ปีนี้ พ.ศ.๒๕๕๘...อาชีพโสเภณี...ยังเป็นอาชีพคลุมเครือ ใบอนุญาตเปิดสำนักโสเภณีไม่มี มีแต่ใบอนุญาตสถานอาบอบนวด...ซึ่งจำกัดโควตา จึงมีราคาแพงมาก...ราคาแต่ละใบหลายสิบล้าน แพงมากแพงน้อย คิดตามจำนวนห้อง...
     ฯลฯ 




โรงบ่อนเบี้ยในอดีต

     ฯลฯ
วีระยุทธ ปีสาลี เขียนไว้ในหนังสือ กรุงเทพฯยามราตรี (สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๕๗) ว่านอกจากการนอนแล้ว กิจกรรมยามค่ำคืนในบ้านคนชั้นสูง คนชั้นกลาง ก็คือการเล่นการพนัน
รายหนึ่งเล่นกันเอิกเกริก จนเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ว่า...ที่บ้านผู้มีบรรดาศักดิ์แถวโรงศิริราชพยาบาล ได้ลักติดบ่อนไพ่ทั้งกลางวันกลางคืน ภรรยาของท่านเป็นหัวหน้า พวกผู้หญิงลูกเมีย ชาวบ้านพากันเข้าไปเล่น เกิดเป็นหนี้สิน ให้ผัวเมียแถวนั้นวิวาทกันบ่อยๆ
มีหลักฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ในที่พำนักเจ้านาย หลังงานเลี้ยงแขกเหรื่อชาวตะวันตกมีการเล่นไพ่ ส่วนพวกไพร่–ทาส มั่วสุมอยู่ในโรงบ่อนเบี้ย

ระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๐-๒๔๖๐ รัฐพยายามลดบ่อนเบี้ย จนเหลือแต่บ่อนใหญ่ และย้ายทำเลจากริมถนน ให้เข้าไปในตรอกซอกซอยที่ลับตาคน  รอบๆ บ่อนเบี้ย เป็นศูนย์รวมความบันเทิง ละครผู้หญิง ลิเก งิ้ว เพลงฉ่อยวงนายตุ้มแม่พวง ที่บ่อนนางเลิ้ง การแสดงเหล่านี้เล่นกันตั้งเก้านาฬิกาจนเที่ยงคืน แต่บางบ่อนก็เล่นกันทั้งคืน

ติดๆ กับโรงบ่อนก็มีโรงหวย ที่ตั้งโต๊ะเขียนหวย มีโรงรับจำนำ มีโรงโสเภณี โรงสูบฝิ่น ร้านขายเหล้า และที่พักค้างคืน

ปี ๒๔๖๐ รัฐบาลยกเลิกบ่อนเบี้ยถาวร...มีตัวเลขผลกำไรโรงบ่อน ๕ แห่ง...โรงบ่อนสะพานเหล็ก กำไร ๔.๕ แสน โรงบ่อน เล่งบ๊วยเอี๋ย ๔ แสน บ่อนหัวลำโพง ๓ แสน บ่อนนางเลิ้ง บ่อนบางรัก กำไร ๓ แสน

กำไรบางส่วนถูกเจียดแจกชาวบ้าน เป็นเงิน เป็นข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม

หนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯเดลิเมล์ บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า ...ตั้งแต่หวยแลบ่อนเบี้ยได้เลิกมาแล้ว มีผู้ชอบเล่นการพนันมากันติดบ่อนไพ่ (เพิ่มขึ้น ๓ เท่า) ตั้งเล่นตามห้องแถวในตรอกซอกซอยทั่วไป ทุกถนนหนทาง ที่สุดจนบ้านเรือนราษฎร  ครั้นเมื่อรัฐบาลยกเลิกใบอนุญาตเล่นไพ่  นาย บ.นักเขียนแห่ง นสพ.สยามราษฎร์ ก็เขียนวิจารณ์ว่า การเล่นไพ่เป็นการรวมญาติมิตร มีประโยชน์แก่พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ขายของกิน เช่น ก๋วยเตี๋ยวผัด ขนมจีน ข้าวแกง น้ำแข็ง ฯลฯ

เหล่านี้ เป็นบางส่วนของเรื่องราวในอดีต...ที่คุณวีระยุทธ ปีสาลี ค้นคว้ามาให้อ่าน
     ฯลฯ.
...นสพ.ไทยรัฐ


กลอง–กบ
สามพันปีที่แล้ว เราตีมหรทึก เต้นระบำกบ...ขอฝน

เรียกฆ้องหรือกลอง เครื่องตีที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวจ้วง ชนชาติจ้างกวางสี เขตปกครองตนเอง ...มีรูปร่างเหมือนกลอง แต่ทำด้วยโลหะสำริด บางครั้งจึงเรียกว่าฆ้อง

ระหว่างปี ๒๔๓๔-๒๔๓๗ อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม อาจารย์ปรานี วงษ์เทศ สำนักวิชาการมหาวิทยาลัยศิลปากร ไปทำงานวิจัยในหัวข้อ จ้วง พี่น้องเผ่าไทย เก่าแก่ที่สุด เรียกฆ้องหรือกลอง...แบบนั้นว่า มหรทึก

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมหรทึก...สรุปบทบาทของมหรทึกในหมู่ชาวจ้วง และชาวเย้าในกวางสีว่า...เสมือนเทพเจ้าองค์หนึ่ง มักเก็บไว้ในที่ปกปิดมิดชิด หรือฝังไว้ในหุบเขา ก่อนนำมาใช้ตีในวันขึ้นปีใหม่จะมีพิธีเชิญ...เซ่นด้วยไก่ และเหล้า รินเหล้าสาดไปบนหน้ามหรทึก

พิธีศพชาวเย้า...มีมหรทึกกี่ใบในหมู่บ้าน จะต้องเอาตีทั้งวันทั้งคืนเพื่อปลอบขวัญผู้ตาย หนุ่มสาวรักกัน จะอธิษฐานด้วยการเอาปิ่นปักผมไปตีหรือเคาะ พวกเขาเชื่อว่าจะช่วยให้ได้แต่งงานกันและมีความรักต่อกันยั่งยืน

หมู่บ้านใดมีมหรทึกมาก จะทำให้มีความร่มเย็น พืชผลอุดมสมบูรณ์ เมื่อทางการเอามหรทึกไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ ไม่นาน... ชาวบ้านจะพากันไปขอคืนฃ

เทศกาลบูชากบ ชายหนุ่มจะผลัดกันตีมหรทึกตลอดทางที่ชาวบ้าน แยกย้ายกันหากบ เพื่อจับมาทำพิธี ใส่กระบอกไม้ไผ่เอาไปฝังที่ภูเขา พิธีเสี่ยงทาย ดูจากซากกบที่ฝังไว้ปีที่แล้ว
- ถ้ากระดูกมีสีทอง ข้าวปลาจะสมบูรณ์
- ถ้าสีขาว ปลูกฝ้ายจะดีกว่า
- ถ้าสีดำ เป็นลางไม่ดี ปีนั้นน้ำจะท่วม
แต่แม้น้ำท่วมหรือฝนแล้ง มหรทึกช่วยได้...เมื่อน้ำท่วมโยนลงไปในน้ำ น้ำจะลดไปเอง ถ้าฝนแล้ง พิธีขอฝนเริ่มต้นจากแต่งตัวหมาตัวผู้เอาขึ้นขบวนแห่...แล้วตีมหรทึกไปด้วย

ชาวจ้างในกวางสี เมื่อปี ๒๔๓๗ มี ๑๓ ล้านคน (ตอนนี้ ๑๖ ล้านคน) เป็นพี่น้องชนชาติไทยที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาชนชาติไทยทั้งหลาย นอกดินแดนประเทศไทย

ประจักษ์พยานจากมหรทึก...ชี้ชัดถึงการเป็นชาติเก่าแก่ ไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ปี จนกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมเก่าแก่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่มีการรับอารยธรรมจีนและอินเดีย   ขณะชนชาติไทยกลุ่มอื่น เคลื่อนตัวไปสร้างบ้านแปลงเมืองตามแนวทิศเหนือ-ใต้ตามลุ่มแม่น้ำโขง สาละวิน อิรวดี และอื่นๆ ผสมปนเป กับชาติและเผ่าต่างๆ จนเกิดเป็นรัฐและอาณาจักรที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย

ชาติจ้วง ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ตอนใต้ของจีนในกวางสี แต่ชาวจ้วงคือคนจีน เพราะอยู่ในดินแดนประเทศจีน ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีน แต่สำนึกชาวจ้วงก็ยังเป็นไทย รักษาความเป็นไทย ด้วยการใช้ภาษาไทย

มหรทึกสัญลักษณ์ความเป็นจ้าง ในพิพิธภัณฑ์กวางสี มี ๗ ชนิดจาก ๘ ชนิด กลุ่มเก่าที่สุดขุดพบในมณฑลยูนนาน ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ภาพเขียนสีที่ผาลาย หรือที่หน้าผาภูเขาฮวาซัน ริมแม่น้ำหมิงเจียงและจ่อเจียง ผู้คนกำลังทำพิธีกรรม อยู่รอบๆ มหรทึก   บางคนตี แต่หลายคนเต้นรำ ในท่ายืนกางขา และยกแขนสองข้างชูขึ้นฟ้า คล้ายกบกางขาสี่ขา นี่คือพิธีกรรมขอน้ำ ขอฝน กบเป็นสัตว์สัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำและฝน ที่มาของความอุดมสมบูรณ์

ภาพเหล่านี้...บ่งบอกอายุของผู้คน เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีลงมา เป็นรูปธรรม มีตัวตนจริง

นี่คือผลผลิตทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคที่มีความสามารถทำโลหะสำริดและเหล็กแล้ว ไม่ปรากฏพบในอารยธรรมจีนและอินเดีย

ผมอ่านหนังสือ จ้วง พี่น้องเผ่าไทยเก่าแก่ที่สุด แล้วก็พอสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเผ่าจ้วงหรือเผ่าไทย...เรามีวิถีชีวิต ที่คุ้นเคยกับการพึ่งพาฝน ขอฝน มายาวนานเหลือเกิน
       ฯลฯ


 ...นสพ.ไทยรัฐ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 กรกฎาคม 2558 12:45:24 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 01 กรกฎาคม 2558 13:43:29 »

.


ตีกลองร้องฎีกา
ธรรมเนียมจีน การตีกลองร้องทุกข์ ผมจำมาจากหนังทีวีคนตีกลองก็ต้องถูกเฆี่ยนก่อน

เมืองไทยสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามท่านแขวนกระดิ่งไว้ให้ราษฎรตี...

มาถึงสมัยอยุธยา บ้านเมืองขยายใหญ่โต เสียงกระดิ่งอาจไม่ได้ยิน ท่านก็ให้เปลี่ยนมา “ตีกลอง

ส.พลายน้อย เขียนเรื่อง ตีกลองร้องฎีกา ไว้ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย (สำนักพิมพ์คำ พิมพ์ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๓) ว่า กลองแขวนไว้ที่ทิมดาบกรมวัง เมื่อเสียงกลองถึงพระกรรณ ก็โปรดฯให้ราชบุรุษออกมารับ “ฎีกา”

แต่ความจริง ราษฎรไม่กล้าเข้าไปตีกลองนัก มักจะหาโอกาสถวายตอนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนอกพระราชวัง การตีกลองร้องฎีกาจึงขาดหายไประยะหนึ่ง



ทิมดาบ (THIM DAB HALL)
ในพระนารายณ์ราชนิเวศ์ จังหวัดลพบุรี
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙  


ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มิใคร่เสด็จไปไหน ราษฎรถวายฎีกาได้ยาก

มีตำนานเล่าว่า เจ้าพระยาศรีรัตนโกสินทร์ (เจ้าพระยาคลัง) ไปสร้างเมืองที่จันทบุรี ได้ทำกลองใหญ่ด้วยไม้รักโต ๑๓ กำ เข้ามาถวาย เมื่อปีวอก อัฐศก ศักราช ๑๑๙๘ (พ.ศ.๒๓๗๙)

พระราชทานชื่อ กลองวินิจฉัยเภรี ตั้งไว้ทิมดาบกรมวังลั่นกุญแจ เมื่อผู้ใดจะไปร้องถวายฎีกา กรมวังก็ไปไขกุญแจให้ ครั้นตีแล้วตำรวจเวรก็รับเอาตัวและเรื่องราว นำขึ้นกราบบังคมทูล

มีพระราชโองการ สั่งให้ผู้ใดชำระ ก็ส่งไป ลางทีก็ให้ตำรวจชำระบ้าง ไม่ให้เจ้านายและขุนนางมีอำนาจเหนือความในฎีกา ด้วยทรงไล่เลียงไต่ถามอยู่ทุกเวลาเช้าและค่ำ

ตระลาการผู้ชำระ ก็ไม่อาจพลิกแพลงไปได้

ปลายรัชกาลที่ ๓ การตีกลองร้องฎีกาขาดช่วงไป ช่วงเวลานี้มีพระเจ้าลูกเธอและตำรวจใช้อำนาจเที่ยวเกาะกุมราษฎรชาวบ้านมาชำระความตามอำเภอใจ ฉุดคร่าบุตรหลานหญิงสาวชาวบ้านเอาไปเป็น (นาง) ห้าม เนืองๆ

ราษฎรก็ไม่สู้ ได้ความทุกข์ก็ไม่อาจเข้าร้องถวายฎีกา

พฤติกรรมอำนาจบาตรใหญ่เหล่านี้ รัชกาลที่ ๔ ท่านทรงทราบดี เมื่อเสด็จผ่านพิภพจึงเอาพระราชหฤทัยใส่ตลอดรัชกาล เสด็จออกพระราชทานโอกาสให้ราษฎรถวายฎีกาได้สะดวก

ทรงตั้งประเพณีเสด็จออกรับฎีกาด้วยพระองค์เองทุกวันโกน เดือนละ ๔ ครั้ง

เวลาเสด็จออก ก็ให้เจ้าพนักงานตีกลองวินิจฉัยเภรี เป็นสัญญาณให้ราษฎรถวายฎีกา เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นปลายรัชกาลที่ ๓ ก็หมดไป

ทรงเห็นประโยชน์ จึงโปรดให้ประกาศว่ามีพระบรมราชานุญาตต่อออกไปถึงผู้ที่ไม่สามารถมาถวายฎีกาได้เอง

เช่น...ผู้ที่ถูกกักขัง ก็ฝากฎีกาญาติพี่น้องหรือมูลนายมาถวายต่างตัวได้

แต่ในการรับฎีกาของราษฎรนั้น ถ้าปรากฏว่าใครเอาความเท็จมากราบทูลเพื่อจะให้ผู้อื่นเสียหายโดยไม่มีมู ก็ให้ลงพระราชอาญาแก่ผู้ถวายฎีกาตามประเพณีเดิม เป็นการป้องกันผู้ไม่มีผิดมิให้เดือดร้อน

ประเพณีนี้ถือเคร่งครัด จนเมื่อใกล้สวรรคตก็ยังได้มีพระดำรัสแก่กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัย...ขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่

ให้เอาพระราชธุระรับฎีกาทุกข์ร้อนของราษฎรให้ร้องได้สะดวกเหมือนที่ทรงเคยทรงเป็นพระธุระ

       ฯลฯ
 .....นสพ.ไทยรัฐ



ภาพ : พิธีแห่นางแมวขอฝน

วิธีเรียกฝน

มนุษย์ทั้งโลกอยู่ใต้ฟ้า เรียกหาน้ำฝน เวลาฝนแล้ง ต่างก็มีวิธีเรียกฝน
 
อาจารย์ ส.พลายน้อย เขียนไว้ในเกร็ดโบราณคดี ประเพณีไทย (สำนักพิมพ์รวมสาส์น พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๔)

หมู่บ้านใกล้เมืองดอร์ปาท ประเทศรัสเซีย เขาใช้ผู้ชายสามคนปีนขึ้นต้นเฟอร์  คนหนึ่งถือค้อนเคาะถังเล็กๆ ทำเป็นเสียงฟ้าร้อง คนที่สองถือดุ้นฟืนติดไฟสองดุ้น เคาะให้กระทบกัน ไฟจะแตกกระจาย คล้ายฟ้าแลบ คนที่สามถือที่ใส่น้ำ ขึ้นไปโปรยไปมารอบต้นไม้ ทำเหมือนว่า ฝนได้ตกลงมาแล้ว
 
ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเล็ก แต่มีวิธีเรียกฝนแปลกๆ คนตำบลฮิตาคิ จะพากันไปขอน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลราอิชิน เอาน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่กลับหมู่บ้าน จะหยุดพักไม่ได้ เชื่อกันว่าหยุดที่ใดฝนจะตกที่นั่น
 
บางแห่งจะตั้งขบวนไปขอไฟจากพระในวัดบนภูเขา สวดอ้อนวอนแล้วเอาไฟไปโบกตามทุ่งนา...เชื่อว่าฝนจะตก
 
หมู่บ้านริมทะเลสาบรอบภูเขาฟูจี นับถือทะเลสาบว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เอาของสกปรกไปทิ้ง แต่เมื่อต้องการฝนตก เขากลับเอากระดูกวัวกระดูกควายโยนลงทะเลสาบ เชื่อกันว่าจะทำให้เทพเจ้าโกรธ บันดาลฝนให้ตก
 
วิธีที่แปลก ไม่เหมือนใคร...คนในหมู่บ้านนิโนเฮ ถือขวดเหล้าสาเกไปถวายพระที่ศาลเจ้าโกเงน บนภูเขาโอริซูเน เมื่อพระดื่มเหล้าสาเกแล้ว ก็จะช่วยกันจับพระไปผลักตกบ่อน้ำ เมื่อเห็นพระตะเกียกตะกายขึ้นก็จะช่วยกันผลักให้ตกลงไปอีก ว่ากันว่าเจ้าโกเงน ไม่อยากเห็นพระทรมานจึงจะรีบบันดาลให้ฝนตก
 
เมืองไทย มีหลายตำรา บางแห่งมีพิธีแห่ดอกไม้เจ้าพ่อรูปอวัยวะเพศชาย เรียกว่า “ขุนเพ็ด” ทำด้วยต้นกล้วยหรือต้นข่อยใหญ่ แห่ขุนเพ็ดไปตามหมู่บ้านแล้วก็เอาไปเก็บไว้ที่ศาลเจ้าแม่ชายทุ่ง...ฝนจะตกทันที เมื่อเจ้าพ่อกับเจ้าแม่ได้อยู่ด้วยกัน
 
แต่พิธีที่บันทึกไว้ในตำราพิรุณศาสตร์ ใช้วิธีปั้นเมฆ ปั้นรูปชายหญิงเปลือยกาย พิธีนี้ดูจะอุจาด ไม่ให้ทำในพระนคร จึงต้องไปทำกันตามกลางทุ่งนา
 
พิธีขอฝนที่แพร่หลาย...คือการแห่นางแมว เอาแมวตัวเมียใส่ลอบดักปลา หรือใส่ในภาชนะที่เรียกว่า “ตะเหลว” แห่ไปตามหมู่บ้านแล้วก็ร้องเพลง
 
นางแมวเอย มาร้องแจ้วๆ นางแมวขอไก่ ขอไม่ได้ร้องไห้ขอฝน ขอน้ำมนต์ รดแมวข้าที แมวข้าดี มีแก้วในตา ออกมาเดือนหก ฝนตกทุกปี มาปีนี้ไม่มีฝนเลย พ่อตาลูกเขย นอนเกยหน้าผาก พ่อม่ายลูกมาก มันยากเพราะข้าว คนหนุ่มคนสาว
 
คนเฒ่าหัวลง พาเด็กน้อย มาเล่นนางแมว มาร้องแจ้วๆ ฝนเทลงมาๆๆ...
 
ขณะร้องเพลง หน้าบ้านใคร เจ้าของบ้านก็ต้องหาน้ำไปสาดน้ำรดแมว บางหมู่บ้านทำกันวันเดียว บางหมู่บ้านทำกันสามคืน คืนที่สาม ชาวบ้านจะจัดข้าวสาร ผัก พริกปลาร้า และไก่ให้พวกแห่นางแมวได้ทำอาหารเลี้ยงกัน
         ฯลฯ





คนโบราณเชื่อว่า การปักส่วนยอดของตะไคร้ลงดิน ช่วยห้ามฝนไม่ให้ตกได้

พิธีห้ามฝน

นอกจากพิธีเรียกฝน...เช่นแห่นางแมว อาจารย์ ส.พลายน้อย ท่านเล่าไว้ใน “เกร็ดโบราณคดี ประเพณีไทย” (สำนักพิมพ์รวมสาส์น) อาจารย์ท่านยังค้น พิธีห้ามฝน มาให้ได้อ่านกันต่อ
 
พิธีห้ามฝน มีหลายพิธี บางถิ่นนิยมบนเทวดา ในกรณีที่จะทำงานบวช งานแต่ง...แค่ใช้ธูปจุดบอกกล่าว ขอให้ฝนหยุดตกสักวันสองวัน แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือการให้สินบนเทวดา
 
คนร่ำรวยก็ติดสินบน เป็นเหล้ายาปลาปิ้ง หัวหมู เป็ดไก่ แต่รายคนจน บางคนก็บนด้วยปูเค็มตัวเดียว
 
ธรรมเนียมการให้สินบนเทวดา...เท่าที่ทำๆ กันมา เป็นการสื่อสารทางเดียว สิทธิเด็ดขาดเป็นของคนบน
 
ส่วนเทวดานั้น ท่านก็ใช้สิทธิตามประสาของท่าน จะรับหรือไม่รับ จะช่วยมากช่วยน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องของท่าน
 
อาจารย์ ส.พลายน้อย เล่าว่า ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพิธีห้ามฝน เอิกเกริกใหญ่โต ถึงขั้นบันทึกไว้ในพงศาวดาร
 
“ลุศักราช ๑๑๑๗ ปีกุน สัปตศก ถึง ณ เดือนหก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปฉลองวัดนางคำ ครั้งนั้นฝนตกชุกหนัก จึงมีพระราชดำรัสให้สังฆการี ธรรมการ นิมนต์พระอาจารย์วัดพันทาบ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ลงมาให้เข้านั่งสมาธิช่วยห้ามฝน
 
และพระอาจารย์นั้นให้กราบทูลว่ามีธุระอยู่จะถวายพระพรลากลับไปปลูกการเปรียญ จะขอพระผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่งซึ่งชำนาญในทางกรรมฐานมาบอกวิธีให้เข้านั่งสมาธิห้ามฝนแทนอาตมา
 
จึงทรงพระกรุณาให้นิมนต์พระญาณรักขิต พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ อยู่ ณ วัดสังกทานั้น มาเรียนวิชาทางพระกรรมฐาน ในสำนักพระอาจารย์วัดพันทาบ
 
พระอาจารย์วัดพันทาบ บอกวิธีให้แล้วก็ถวายพระพรลากลับไปอาราม
 
และการฉลองวัดนางคำนั้น มีงานมหรสพทั้งวัน ทั้งมีโจนร่มด้วย เพลาเย็นฝนตั้งเค้ามา พระญาณรักขิตเข้านั่งสมาธิบนเตียง มีเพดานและม่านผ้าขาววงรอบ ตั้งอยู่กลางแจ้ง
 
และพระผู้เป็นเจ้าเจริญวาโยกสิณภาวนา เกิดพายุใหญ่พัดฝนเลิกไปทั้งสามฝันหาตกมิได้ เป็นประจักษ์ เป็นอัศจรรย์
 
ต่อถึงวันคำรบสี่ เลิกงานแล้ว ฝนห่าใหญ่จึงตก น้ำนองท่วมที่ทั้งนั้นสิ้น
 
อาจารย์ ส.พลายน้อย เขียนว่า เรื่องราวในพงศาวดาร แสดงว่าคนไทยสมัยโบราณเชื่อถือเรื่องการขอฝน การห้ามฝน อย่างแน่นแฟ้น ถึงกับมีตำราขอฝน ปรากฏต่อๆ กันมา
 
ความเชื่อถือเช่นนี้ ไม่ใช่จะมีแต่เฉพาะคนไทย แม้ชนเผ่าอื่นๆ ที่ทำกสิกรรมต้องอาศัยน้ำฝนบำรุงพืชพันธุ์ ก็มีความเชื่อเหมือนๆ กัน มีเทวดารักษาฝนเหมือนกัน
 
แม้คนไทยจะพูดกันว่า “อยู่ใต้ฟ้าไม่ต้องกลัวฝน” แต่คนไทยอีกนั่นแหละ ที่ชอบบ่นกันจนมีคำกล่าวติดปากว่า
 
“ฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า มนุษย์ขี้เหม็นเคี่ยวเข็ญเทวดา”
 
สำนวนนี้ พูดต่อๆ กันมานาน ผมเองก็เพิ่งรู้จากอาจารย์ ส.พลายน้อย... เป็นคำร้องของพวกยี่เก...
 
โดยปกติพวกยี่เก พวกละคร...มักจะเป็นสื่อสะท้อน...สุขทุกข์ของชาวบ้าน...อย่างในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ พวกจำอวดร้องๆ เล่นๆ หน้าพระที่นั่งว่า “อดอยากยากจน กระทั่งผักบุ้งก็ยังถูกผูกขาดเก็บภาษี”
 
พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์ที่ดูไม่มีอะไรดีเลย เพราะเป็นองค์ที่ทำให้กรุงแตกฯ ทรงฟังแล้วก็สงสัย สอบถามได้ความว่าเป็นฝีมือสองพี่ชายเจ้าจอมหม่อมห้าม...ก็ทรงสั่งให้เลิกเก็บภาษีผักบุ้ง
 
ส่วนจะลงทัณฑ์สองพี่เจ้าจอมนั้นประการใด...หรือไม่ทำอะไรเลย ผมขอติดไว้ จะค้นมาเล่าสู่กันวันหลัง
       ฯลฯ
...นสพ.ไทยรัฐ




ช้างขอฝน
คนโบราณมีวิธีขอฝนหลายวิธี สุดโต่งไปทางทำดี ถือศีลกินเพล...ก็มี สุดโต่งไปทำทางทำโลดโผนพิสดาร แห่นางแมว วิธีสัปดน แห่ขุนเพ็ด ไปจนถึงวิธีปั้นเป็นคนสมสู่กัน เรียกว่า การปั้นเมฆ...ก็มาก
 
คัมภีร์พุทธศาสนา เรื่องพระเวสสันดร...ชาวเมืองกลิงครัฐ เดือดร้อนเพราะฝนไม่ตกติดต่อกันหลายปี เมื่อข้าวไม่พอกิน ก็เกิดโจรขโมยชุกชุมราษฎรทนไม่ไหว เดินขบวนไปหาพระราชา
 
พระราชารับปากว่า ขอเวลา ๗ วัน แล้วก็ตั้งหน้าถือศีลกินเพล ครบกำหนด ฝนก็ยังไม่ยอมตก  ราษฎรก็เดินขบวนมาเรียกร้องอีก
 
วันเวลาเดียวนั้น บ้านเมืองของพระเวสสันดร...ฝนตกต้องตามฤดูกาล ราษฎรอยู่ดีกินดี...ชาวบ้านก็ร่ำลือกันว่า เกิดจากอำนาจของช้างเผือก ชื่อ ปัจจัยนาค
 
ชาวกลิงครัฐ เชื่อข่าวนี้จึงเรียกร้องให้พระราชา ไปขอช้างปัจจัยนาคจากพระเวสสันดร แล้วก็โชคดีที่พระเจ้าแผ่นดินเจ้าของช้างตั้งปรารถนาจะให้ทาน...ทุกอย่าง เมื่อพระราชาต่างเมืองขอช้าง ก็ประทานให้
 
ช้างปัจจัยนาค ไปอยู่กลิงครัฐ ไม่มีเรื่องเล่าว่า ฝนตกหรือไม่ มีแต่เรื่องในเมืองเจ้าของช้าง ราษฎรพากันโกรธแค้น...พระเวสสันดร พระทัยดีเกินไป ให้ช้างเมืองอื่นไป ชวนกันเดินขบวนขับไล่
 
นี่เป็นต้นเรื่อง พระเวสสันดรต้องเดินดง...ไปบำเพ็ญทานบารมี...ต่อให้นางมัทรี พระชายา แก่พระอินทร์ ให้ทั้งพระโอรสธิดา ชาลีกัณหาแก่ชูชกขอทาน
 
เมืองไทยของเรา ก็มีความเชื่อเรื่องนี้...พระราชพงศาวดารเล่าว่าต้นปีฉลู พ.ศ.๒๓๙๖ สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ช้างเผือกแรก...นาม พระพิมลรัตนกิรินี ประจวบเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว...เสด็จพระราชสมภพ
 
ช่วงเวลามหามงคลนั้น ฝนห่าใหญ่ตกอยู่ ๓ วัน ถึงน้ำนองไปทั่ว  นับแต่นั้นฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ต้นข้าวในนาปีนั้นซึ่งมีเค้าจะเจอแล้งก็พ้นอันตราย
 
ปีใดฝนแล้ง จึงโปรดให้ทำพิธีพิรุณศาสตร์ โปรดให้แต่งพระพิมลรัตนกิรินีด้วยเครื่องคชาภรณ์ยืนแท่น และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ท่านก็เสด็จในการพิธีด้วย
 
ความเชื่อเรื่องช้าง...กับฝนนี้...อาจารย์ ส.พลายน้อย เขียนไว้ใน “เกร็ดโบราณคดี ประเพณีไทย” (สำนักพิมพ์รวมสาส์น) ว่า ออกจะเป็นเรื่องแปลก ที่น่าจะเชื่อมโยงมาจากชาวไร่อ้อยในอินเดีย นับถือพระอินทร์เป็นเทพเจ้าแห่งฝน
 
เหตุเพราะพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เมื่อขอฝนจากพระอินทร์แล้ว ก็ต้องขอจากช้างของพระอินทร์ด้วย  แต่ชาวอินเดียบางสมัยก็ไม่นับถือพระอินทร์ หันไปนับถือพระพิรุณ
 
ชาวจีนรับความเชื่อนี้ไปใช้ในลัทธิมหายาน เทพเจ้าแห่งฝนหรือพระพิรุณของเขา ชื่อ “กวางมัก” ซึ่งมีคำแปลว่า “นัยน์ตาใหญ่” ความเชื่อนัยนี้พระพิรุณต้องมีนัยน์ตาเอาไว้ดูเวลาฝนตกหรือไม่ตก...
 
ในหมู่ชาวกรีกโบราณ ยกหน้าที่นี้ให้นกอินทรี นกตัวนี้บินร่อนไปในท้องฟ้ากว้าง สอดส่ายสายตาเห็นได้ทุกที่ จึงยกให้เป็นนกผีที่มีฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกได้หรือบันดาลให้ฟ้าร้องฟ้าผ่าเวลาโกรธ
 
การยกหน้าที่ความรับผิดชอบเรื่องฝนให้เป็นของเทวดา ช้าง หรือนก...จึงเป็นอีกวิธีที่เบี่ยงเบนไปให้พ้นจากความรับผิดชอบของคน โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ

บางสมัย...เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลราษฎรก็เชื่อกันว่าเหตุเพราะผู้นำ...ฯลฯ...
 นสพ.ไทยรัฐ



"ประเพณีปั้นเมฆ"  ปีใดฝนแล้งจะจัดพิธีเรียกฝน
โดยปั้นดินเหนียวเป็นรูปตุ๊กตาดินชาย-หญิงร่วมประเวณี

ภาพจาก : เว็บไซท์ encrypted-tbn2.gstatic.com

ปั้นเมฆเรียกฝน
บทร้องแห่นางแมว มีหลายบท บทหนึ่ง ไม่ค่อยกล้าร้องกัน เพราะมีคำหยาบอยู่คำหนึ่ง อาจารย์พระยาอนุมานราชธน เขียนไว้ในเรื่องประเพณีตายยาก เรื่องแห่นางแมว และเรื่องปั้นเมฆว่า ในเชิงวิชามานุษยวิทยา มีค่ายิ่ง ตัดออกก็เสียทางวิชาการ แต่เพราะกลอนพาไป พอเดาได้ว่าเป็นคำอะไร...ดังต่อไปนี้

นางแมวเอย ขอฟ้าขอฝน ขอน้ำมนต์ รดหัวนางแมว ขอเบี้ยขอข้าว ขอค่าจ้าง หามนางแมวมา ฝนตกสี่ห่า ฟ้าผ่ายายชี แก้ผ้าดู... ฝนก็เทลงมา เทลงมา ท่วมหนองสองตอน มีละครสองวัน จับหัวล้านชนกัน ฝนก็ดันลงมา ดันลงมา

ประโยคฟ้าผ่ายายชี แก้ผ้าดู...ฝนก็เทลงมา อาจารย์พระยาอนุมานท่านบอกว่า เป็นเรื่องทำนองเดียวกับ พระพุทธเจ้านิกายมหายาน พบนางปรัชญาปารมิตา หรือพระเป็นเจ้าของฮินดูนิกายตันตระ พบมเหสีที่เรียกว่า ศักดิ

จะดูเป็นเรื่องหยาบคายก็ได้ ดูให้ลุ่มลึกแสดงรูปธรรม...บางประการ เช่นเดียวกับการกราบไหว้ศิวลึงค์ก็ได้

ในพิธีแห่นางแมว “ลางรายลางท้องถิ่น” นำเอารูปปั้นเมฆแห่ไปด้วย

หมายรับสั่งพิธีขอฝนของหลวงในราวกลางรัชกาลที่ ๕ มีกล่าวไว้

อนึ่ง โปรดเกล้า ให้พระมหาราชครู ไปทำพระราชพิธีมหาสูตเมฆพรุณศาสตร์ ที่ทุ่งส้มป่อยหลังบ้านญวน...ปั้นเมฆรูปบุรุษ ๑ สตรี ๑

แต่เดิม (ราว พ.ศ.๒๕๐๔) อาจารย์พระยาอนุมาน บอกว่า ไม่เคยรู้เรื่องปั้นเมฆมาก่อน จนเมื่อ ๓-๔ ปีล่วงมานี้ มีนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน นำภาพถ่ายชีวิตชนบทไทยมาให้ดูภาพหนึ่ง ที่ท่านคาดไม่ถึง คือภาพประเพณีปั้นเมฆ ที่ยังมีอยู่ในท้องที่ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี กรุงเทพฯนี่เอง

ภาพถ่ายแผ่นนั้น เป็นภาพหญิงหนึ่งชายหนึ่งก่ายกันในท่าอนาจาร เป็นรูปปั้นดินเหนียวติดอยู่กับพื้นดิน ขนาดใหญ่เท่าคนจริง น่าสนใจ เพราะเป็นภาพเกี่ยวกับพิธีความงอกงาม

ต่อมาก็ได้รู้จากคนเคยอยู่หัวเมืองภาคกลางหลายจังหวัด ยังมีรูปปั้นด้วยดินเหนียวอย่างนี้อยู่ มีขนาดต่างๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง รูปยืนบ้าง นอนบ้าง

ปีที่ฝนแล้งจัดหรือฝนมาช้า ก็มักจะพบรูปปั้นอยู่ข้างทางเดินหรือหัวคันนา บางแห่งมีหลายรูปวางเป็นระยะๆ เท่าที่สอบถาม คนปั้นมักเป็นเด็กเขื่อง เวลาปั้นคนแก่คนเฒ่าเห็นก็มักไม่ว่า ซ้ำจะพอใจสนับสนุนให้ทำ เพราะความเชื่อว่า ปั้นแล้วฝนจะตกเทลงมามากๆ ทำให้ไร่นาได้งอกงามอุดมสมบูรณ์

มีคนเห็นรูปปั้นอย่างนี้กันมาก แต่ไม่รู้ว่าเรียกชื่อว่าอะไร จนกระทั่งอาจารย์พระยาอนุมาน ท่านเจอคนอ่างทอง บอกว่าเขาเรียกว่า ปั้นเมฆ ซึ่งตรงกับคำที่มีกล่าวไว้ในหมายรับสั่ง

เวลาปั้น จะต้องท่องว่า “ปั้นเมฆเสกคาถา เผาผ้าบังคน ปั้น-ปั้น-ฝนก็เทลงมา เทลงมา”

ในที่ที่มีพิธีขอฝน เช่นพิธีสงฆ์สวดมนต์เรื่อง พระสุภูตอรหันต์ เรียกว่าสวดคาถาปลาช่อน ก็มักมีรูปปั้นเมฆด้วย แต่เอารูปนี้ไปวางไว้ที่ท่าน้ำ เป็นส่วนหนึ่งแต่แยกห่างจากพิธีสงฆ์ ซึ่งก็คงเป็นเช่นเดียวกับในพระราชพิธีมหาสูตเมฆพรุณศาสตร์

เชื่อกันมาแต่โบราณว่า การปั้นรูปสัปดนอย่างนี้ ทำให้ฝนตกเทลงมาได้ และมนต์ที่ใช้ท่องล้วนแต่มีคำน่าบัดสี คนที่ร้องคำหยาบคาย ไม่ใช่คนหยาบคายแต่ต้องทำไปตามความเชื่อ

ที่ขอนแก่น ปีฝนแล้ง จะมีการปั้นดินเหนียวขนาดเท่าลำแขน ทำเป็นรูปนิมิตทั้งของผู้ชายผู้หญิงวางไว้บริเวณวัดเรียงกันใกล้ชิด

ที่อุบลราชธานี ราว พ.ศ.๒๕๐๔ ปีที่ฝนแล้ง จะเอารูปปั้นเมฆหลายตำบลมารวมกัน วางบนแคร่ เอาด้ายดิบผูกไว้ไม่ให้ล้ม แล้วเอาเข้ากระบวนแห่ มีกลองยาวกลองเถิดเทิง เวียนไปรอบๆบริเวณวัด และตามถนนในละแวกบ้าน ชายหญิงจะรำเซิ้งกันอย่างสนุกสนาน

เสร็จแล้วต่างก็เอารูปปั้นกลับไปตำบลของตน

อาจารย์พระยาอนุมาน ถามคนเล่าซึ่งเป็นหญิงชรา...เวลาปั้นมีคาถามีมนต์อะไร คำตอบตัดบทว่า “มี แต่อย่าให้บอกเลย อายปาก”

หญิงชรายังเล่าว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีทำกันแล้ว เพราะเท่ากับไปยุเด็กให้มันเอากัน เอา...ในภาษาถิ่นอิสาน ไม่ใช่คำหยาบ เช่น เอาผัวเอาเมีย หมายความเพียงว่า ได้เสียกันเท่านั้น

หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนพระราชพิธีเดือนเก้า การพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ตอนหนึ่ง

หน้าโรงพิธีหมายว่าทิศพายัพ ห่างออกไปสามศอก ปลูกเกยสูง ๔ ศอก ๕ นิ้ว มีพนัก บันไดขึ้นลงตรงหน้าเกยออกไป ขุดสระกว้าง ๓ ศอก ยาว ๓ ศอก ลึกศอกหนึ่ง มีรูปเทวดาและนาคและปลา เหมือนสระที่สนามหลวง ยกเสียแต่รูปพระสุภูต

ตรงหน้าสระออกไป ปั้นเป็นรูปเมฆ สองรูป คือปั้นเป็นรูปบุรุษสตรีเปลือยกายแล้วทาปูนขาว

การที่จะปั้นนั้น ต้องตั้งกำนล ปั้นพร้อมกันกับที่หน้าพิธีสงฆ์ มีบายศรีปากชาม แห่งละสำรับ เทียนหนักเล่มละบาทแห่งละเล่ม เงินติดเทียนเป็นกำนลแห่งละบาท เบี้ย ๓,๓๐๓ เบี้ย ข้าวสาวสี่สัด

ผ้าขาวของหลวงจ่ายให้ช่างปั้นช่างเขียนนุ่งห่ม ช่างเหล่านี้ต้องรักษาศีลในวันที่ปั้น

การพิธีพราหมณ์นี้ เป็นอันรอฟังพระราชพิธีสงฆ์ ที่ทำกันอยู่ท้องสนามหลวง เมื่อพิธีข้างในเลิกเมื่อใดก็พลอยเลิกด้วย

อาจารย์พระยาอนุมานทิ้งท้ายว่าต่อไปประเพณีปั้นเมฆเห็นจะหาดูได้ยากแล้ว ถ้าจะยังมีเหลืออยู่ก็คงอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกล...
นสพ.ไทยรัฐ


พระพุทธรูปปางขอฝน
ภาพจาก : เว็บไซท์ encrypted-tbn3.gstatic.com


พระปางขอฝน
ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ ซึ่งมีทั้งพิธีแบบราชสำนักและแบบชาวบ้าน เช่นวิธีปั้นเมฆ ฯลฯ นั้น เฉพาะในส่วนพิธีหลวง...

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดให้ตั้งพระพุทธรูปปางพระคันธารราษฎร์ เป็นประธานพิธี

หนังสือพระพุทธรูปสำคัญ กรมศิลปากร จัดพิมพ์ เมื่อปี ๒๕๔๕ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระคันธารราษฎร์ เมื่อปีเถาะ เบญจศก จ.ศ.๑๑๔๕ พ.ศ.๒๓๒๖ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา เป็นกิริยารับน้ำ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ โดยลงยาสีเหมือนจริง  พระโอษฐ์บางเรียว พระกรรณยาวเกือบจดพระอังสา ขมวดพระเกศาทำเป็นรูปก้นหอย เรียงตลอดถึงพระเมาลี พระรัศมีทำเป็นรูปดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวามีริ้วผ้าที่ด้านหลัง องค์พระพุทธรูปรองรับด้วยฐานบัวคว่ำ บัวหงาย และฐานสิงห์ หน้าตักกว้าง ๕๗.๔๐ ซม.สูงเฉพาะพระพักตร์ ๖๓.๑๐ ซม. สูงรวมฐาน ๘๗.๕๐ ซม.

ลักษณะทั้งหมด เป็นพระราชดำริที่โปรดให้ถ่ายแบบมาจากพระพุทธรูปสมัยโบราณ

เดิมเป็นพระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กะไหล่ทอง และติดเพชรเม็ดใหญ่เป็นพระอุณาโลมที่พระนลาฏ

ประดิษฐานอยู่ที่หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันไม่มีเพชรที่พระนลาฏ ไม่มีบันทึกว่าเพชรเม็ดใหญ่นั้น...หายไปเมื่อใด

พระคันธารราษฎร์นี้ เดิมคงประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง จนเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และสร้างปูชนียสถานเพิ่มเติม ได้สร้างหอพระคันธารราษฎร์ขึ้นที่มุมระเบียงด้านหน้าพระอุโบสถ  เป็นอาคารขนาดเล็กยอดปรางค์ ประดิษฐานพระพุทธรูปและเทวรูปสำคัญ ใช้ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์และพระราชพิธีพืชมงคล ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เขียนไว้ในหนังสือ พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ) ว่า รูปแบบใหม่ในการสร้างพระพุทธรูป ในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือพระพุทธรูปที่สร้างใหม่ ตามแนวคิดเหมือนจริง

ตัวอย่างที่สำคัญ คือพระคันธารราฐ (สะกดตามต้นฉบับ) เป็นการย้อนกลับไปสร้างตามแบบศิลปะคันธารราฐ (คติที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นชาวอินเดีย) กล่าวคือพระคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปที่เลียนแบบมาจากพระพุทธรูปในสมัยคันธารราฐของศิลปะอินเดีย

ในยุคที่แรกเริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นครั้งแรก (พุทธศตวรรษ ที่ ๖-๗)

ศิลปะคันธารราฐ ได้รูปแบบและแนวคิดในการสร้างรูปเคารพมาจากศิลปะ กรีก-โรมัน ซึ่งมีแนวคิดเรื่องเหมือนจริง เช่น การครองจีวรที่เป็นริ้วตามธรรมชาติ

พระพุทธรูปแบบคันธารราฐที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้นหลายองค์

เท่าที่พบ ๓ องค์ ประดิษฐานที่หอพระคันธารราฐ ในพระบรมมหาราชวังองค์หนึ่ง ที่วัดเบญจมบพิตรฯ องค์หนึ่ง และอีกองค์หนึ่ง จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร....
นสพ.ไทยรัฐ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 พฤศจิกายน 2560 10:49:36 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 30 สิงหาคม 2558 10:08:38 »


ภาพจาก : เว็บไซท์ encrypted-tbn3.gstatic.com

รัฐยะไข่ บ้านโรฮีนจา
คนไทยคุ้นเคยเรียก“ยะไข่” ชื่อในพงศาวดารสยามมานาน แต่ภาษาอังกฤษเขียนตามสำเนียงพม่าว่า “Rakhine” เมื่อเปิดฟังการออกเสียง ได้ยินว่า “ยะคาย”

(บทความพิเศษของนิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ง ปัญหาประวัติศาสตร์ของชาว โรฮีนจา แห่งรัฐยะคาย (ยะไข่)

คำยะคาย เชื่อกันว่ามาจากภาษาบาลี “รากขะบุรี” ที่แปลว่า ดินแดนของรากษส ซึ่งอาจจะหมายถึงชนเผ่าดั้งเดิมที่สุด คือ นิกริโต

คำคุ้นเคยรองลงไปคือ “อาระกัน” หรือรัฐอาระกัน ชาวอังกฤษยุคอาณานิคม เรียกดินแดนนี้ว่า อาระกัน ตามสำเนียงโปรตุเกส ที่ถ่ายเสียงยะคายไปผิดๆ

ตำนานชาวยะไข่ เล่ากันว่า รัฐนี้รุ่งเรืองมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ เมื่อเกือบห้าพันปีที่แล้ว มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องกันมา ๒๒๗ องค์ และเพิ่งล่มสลายไปโดยกองทัพพระเจ้าปดุง กษัตริย์เมียนมา ใน ค.ศ.๑๗๘๔

เรื่องดินแดนที่ปกครองในแต่ละยุคตำนานเล่าไว้ต่างกัน บางยุคว่า ครอบครองไปถึงอังวะ แถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี ถึงเมืองตานลยิล หรือเมืองสิเรียม จุดสบกันระหว่างแม่น้ำหงสากับแม่น้ำย่างกุ้ง

เคยเป็นเมืองท่าสำคัญของพ่อค้าโปรตุเกส ข้ามทะเลไปถึงภาคตะวันออกของรัฐเบงกอล

แต่เรื่องเล่าเหล่านี้ ไม่เคยมีเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับใดรองรับยุคประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับมั่นคง คือ ยุคธัญวดี และยุคทองของยะไข่ คือ “ยุคมลุคก อู”

แต่กระนั้นก็ยังมีเรื่องก่อให้เกิดข้อขัดแย้งสำคัญก็คือ ยุคต้นกำเนิดแห่งธัญวดีนั้น ราษฎรที่อาศัยอยู่...เป็นชนเผ่าใด ซึ่งโยงมาถึงปัญหาที่ถกเถียงกันถึงวันนี้...

คนเชื้อสายโรฮีนจาเชื่อว่า พวกเขาเป็นชนพื้นเมืองอยู่ที่ธัญวดีมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ นักวิชาการบางส่วนว่า ชาวโรฮีนจาเชื้อสายอินโด-อารยันปกครองและอยู่อาศัยในดินแดนนี้ นักวิชาการบางส่วนว่า ชาวโรฮีนจาสืบเชื้อสายชาวเปอร์เซีย

A.S.Nayaka เสนอไว้ในบทความว่า อาระกันโบราณ เป็นชาวอินโด-อารยัน จากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา เข้าไปตั้งหลักแหล่งอาศัยในหุบเขากาลดาน โดยก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปอาระกัน ชาวอินโด-อารยันเหล่านี้ แต่งงานเป็นดองผสมผสานกับพวกเผ่ามองโกลอยด์ (ชนผิวเหลือง) ในอินเดียตะวันออก

นักโบราณคดีชาวอาระกัน ชื่อ U san shwe เสนอว่า พวกอินโด-อารยันที่มาอยู่ในอาระกันนั้น ไปจากริมฝั่งแม่น้ำคงคา ไปตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ธัญวดี

Pamera Gutman เสนอความเห็นว่า แหล่งโบราณคดีที่เก่าที่สุดที่ทราบกันคือธัญวดี ตั้งลึกเข้าไปตามแม่น้ำ ห่างชายฝั่งทะเล ๙จ กิโลเมตร อยู่ในเส้นทางคมนาคมระหว่างเขตภูเขาสูงภาคเหนือกับอ่าวเบงกอล

ธัญวดี เป็นศูนย์กลางทางการค้าในยุคโบราณ วัดมหามุนี (พระมหามัยมุนี) น่าจะเป็นแหล่งจารึกแสวงธรรมอันสำคัญในเอเชียอาคเนย์ พระมหามุนี ถูกย้ายออกไปโดยกษัตริย์อาณาจักรข้างเคียง (พระเจ้าปดุง)

รูปแบบประติมานวิทยา แม้จะมีส่วนสัมพันธ์กับศิลปะยุคคุปตะ แต่ก็ไม่มีหลักฐานแสดงชี้ชัดถึงความโยงใยโดยตรงกับศิลปะตระกูลช่างอินเดีย

เป็นไปได้ว่า ช่างประติมากรรมท้องถิ่นจะสร้างสรรค์กันเองโดยตีความจากคัมภีร์ประติมานวิทยาของอินเดีย

การค้นพบทางโบราณคดีในยะไข่ แสดงถึงความสำคัญของยะไข่ที่มีบทบาทเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิ

เมืองธัญวดี ร่วมสมัยกับศรีเกษตร ในลุ่มแม่น้ำอิรวดี แต่ธัญวดีอยู่ใกล้ทะเลมากกว่าศรีเกษตร จึงติดต่อสัมพันธ์กับอินเดียได้สะดวกมากกว่า

Kway Minn Htin เสนอเรื่องธัญวดีไว้ว่า ธัญวดี เป็นเพื่อนบ้านร่วมสมัยกับศรีเกษตร นอกจากมีความแตกต่าง ยังมีลักษณะร่วมกัน ตั้งแต่ลักษณะการก่อสร้างด้วยอิฐตามพื้นที่ภายนอก พื้นที่ภายในและกำแพงเมือง แผนผังเมือง และโครงสร้างอาคารของชาวพยู (ศรีเกษตร) และชาวยะไข่ คล้ายคลึงกัน

แต่เมืองสองเมืองนี้ มีความแตกต่างด้านภูมิอากาศ และขนาดของเมือง

เมืองยะไข่ในช่วงสหัสวรรษแรก ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งทะเล ในขณะเมืองของชาวพยู ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่แห้ง ในหุบเขาอิรวดี เมืองชาวยะไข่ตั้งด้านรับลมของเทือกเขาอาระกันกับโบมา จึงมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าถึงปีละ ๕๐๐ เซนติเมตรต่อปี

ขณะที่เมืองศรีเกษตร ตั้งอยู่ในด้านอับลม และมีปริมาณน้ำฝนเพียงปีละ ๙๐-๑๕๐ เซนติเมตรต่อปี

รัฐอาระกันหรือยะไข่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยะไข่ บางส่วนเป็นชาวอินเดียและบังกลาเทศ ชาวยะไข่เป็นเชื้อสายเดียวกับชาวพม่า ภาษาที่ใช้พูดก็เป็นภาษาพม่า ส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ส่วนน้อยนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่

ชาวยะไข่มุสลิมเหล่านี้เอง ที่เรียกว่า โรฮีนจา ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากชาวอินเดียมุสลิมในเบงกอล อยู่ทางตอนเหนือของยะไข่ ส่วนชาวยะไข่นับถือพุทธฯ อยู่กันมากทางภาคใต้

ปี พ.ศ.๒๕๒๓ มุสลิมจากรัฐยะไข่ หนีเข้าไปบังกลาเทศสองแสนคน รัฐบาลบังกลาเทศกล่าวหารัฐบาลพม่าผลักดันให้มุสลิมเหล่านั้นลี้ภัย เรียกร้องให้พม่ารับคืนไป แต่พม่าไม่ยอม อ้างว่าชาวมุสลิมเหล่านั้นลักลอบเข้าเมือง

เหตุการณ์ทำนองนี้ เกิดขึ้นอีกในปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ ชาวโรฮีนจา กล่าวหาว่าทหารพม่าทำทารุณกรรม...เป็นเหตุให้พวกเขาอีกสามแสนคนต้องหนีไปบังกลาเทศ

ปัญหานี้เรื้อรังมาจนถึงปีนี้ ปี ๒๕๕๘ ชาวโรฮีนจาอพยพไปประเทศอาเซียนมากขึ้นๆ รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามแก้ไขปัญหา โดยวิธีประนีประนอม จนบัดนี้ ปัญหานี้ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ  
นสพ.ไทยรัฐ



เมืองโบราณอู่ทอง
ภาพจาก : เว็บไซท์ oknation.net

อู่ทอง ที่รอการฟื้นคืน
นักอ่านเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่ยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัย...ระหว่างเมืองออกแก้วของญวน และเมืองอู่ทองของไทย...เมืองใดมีอายุเก่าแก่ จนเป็น“ฟูนัน” ตามการสันนิษฐานและถกเถียงของผู้รู้หลายท่าน...มาเนิ่นนานนั้น

หากได้อ่านหนังสืออู่ทองที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัด และพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง-ท่าจีน จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) และมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญญา

แล้วจะเกิดปัญญา ได้ข้อยุติว่า ออกแก้ว ก็คือออกแก้ว อู่ทอง ก็คืออู่ทอง

ในกรอบพื้นที่ที่จำกัด ขออนุญาตคัดย่อ บทนำของ...ศาสตราจารย์ผาสุข อินทราวุธ...บางตอน ดังต่อไปนี้

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเมืองโบราณอู่ทอง ทรงเล่าเรื่องเมืองอู่ทองว่า อาจจะเป็นเมืองที่พระเจ้าอู่ทององค์ที่สร้างกรุงศรีอยุธยาเคยครองราชย์อยู่ก่อน

พ.ศ.๒๔๗๓ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ชักชวน ยอร์ช เซเดส์ ได้เข้าสำรวจขุดค้นศึกษาเมืองโบราณอู่ทอง เซเดส์สันนิษฐานว่า อู่ทองอาจเคยเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ ลงความเห็นต่อมาว่า เมืองอู่ทองเก่าแก่ยิ่งเมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่นๆ เช่น นครปฐมโบราณ และเมืองคูบัว

ศาสตราจารย์ พอล วิทลีย์ ลงความเห็นว่ารัฐ “จินหลิน” ในจดหมายเหตุจีนราชวงศ์เหลียง เป็นรัฐสุดท้ายที่ฟันมัน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรฟูนัน ปราบได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๙ นั้น น่าจะตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง

คำ“จินหลิน” หมายถึงดินแดนแห่งทองหรือสุวรรณภูมิ เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ห่างอาณาจักรฟูนันมาทางตะวันตกประมาณ ๒,๐๐๐ ลี้ (๘๐๐ กิโลเมตร) ซึ่งตรงกับบริเวณเมืองอู่ทอง

ข้อสันนิษฐานในบทความของศาสตราจารย์ ฌอง บัวเซลีเยร์...เมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวงของรัฐทวารวดี เมืองอู่ทองเป็นเมืองเดียวที่พบจารึกกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ทวารวดี คือพระเจ้าหรรษวรมัน อันเป็นพระนามของกษัตริย์ที่ไม่รู้จักกันในราชวงศ์เจนละ

ในหัวข้อเรื่อง ทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับสถานที่ตั้งอาณาจักรฟูนัน ศาสตราจารย์ ฌอง บัวเซ–ลีเยร์ กล่าวว่า ราชธานีของอาณาจักรฟูนัน อาจจะอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเมืองอู่ทอง

ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง เป็นดินแดนที่ถูกปราบปราม เนื่องจากวัฒนธรรมแบบฟูนันที่เมืองออกแก้ว ไม่ได้สืบต่อลงไปในวัฒนธรรมแบบเจนละ แต่ขาดหายไป

เครื่องประดับทองแดง–ดีบุก–ลูกปัดจำนวนมาก และเครื่องปั้นดินเผาแบบต่างๆ ที่พบในเมืองออกแก้ว ไม่ปรากฏมีในอาณาจักรเจนละ

ตรงกันข้ามกับอาณาจักรทวารวดี ซึ่งเป็นผู้สืบต่อโดยตรงจากอาณาจักรฟูนัน มีการสืบต่อในการใช้โบราณวัตถุแบบเดียวกัน เครื่องปั้นดินเผาแบบเดียวกัน ลงไปจนถึงสมัยทวารวดี

ศาสตราจารย์ผาสุข อินทราวุธ บอกว่าผลการศึกษาและตีความจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นประกอบกับหลักฐานด้านโบราณวัตถุโบราณสถานและหลักฐานด้านจารึก นำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า

รัฐทวารวดี ไม่ได้เจริญสืบต่อมาจากรัฐฟูนันตามที่เคยเข้าใจกัน หากแต่รัฐทวารวดีนั้นมีพัฒนาการสืบต่อมาจากชุมชนระดับหมู่บ้านในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคเหล็ก) ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย

ชุมชนดังกล่าวนี้มีความเจริญทางเทคโนโลยีหลายด้าน มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนร่วมสมัยในเวียดนามและจีนตอนใต้ ในขณะเดียวกันได้เริ่มติดต่อค้าขายกับกลุ่มประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะกับชาวอินเดีย

เมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองที่มีความเก่าแก่กว่าเมืองโบราณสมัยทวารวดีเมืองอื่น และเป็นเมืองที่มีบทบาททั้งด้านเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าสำคัญของรัฐทวารวดี และมีบทบาทเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนารุ่นแรกของรัฐทวารวดี

ส่วนเมืองท่าโบราณที่กลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ คือเมืองออกแก้ว ในประเทศเวียดนามตอนใต้ซึ่งมีพัฒนาการมาจากเมืองท่าโบราณจนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญของรัฐฟูนัน และเป็นเมืองที่ศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา

ในประเทศพม่ายังได้พบว่า เมืองเบะถาโน เมืองโบราณและศูนย์กลางการค้าสำคัญของรัฐปยู ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดีตอนกลางของพม่า ได้กลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ไวษณพนิกาย อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (เบะถาโน แปลว่า เมืองของพระวิษณุ)

ศาสตราจารย์ผาสุข อินทราวุธ สรุปว่าข้อสมมติฐานอู่ทองเป็นเมืองหลวงรุ่นแรกของรัฐทวารวดีก็คือการพบแม่พิมพ์เหรียญรูปหม้อปูรณฆฏ สำหรับผลิตเหรียญที่มีจารึกและแม่พิมพ์รูปสังข์และรูปพระอาทิตย์กำลังขึ้น สำหรับผลิตเหรียญที่ไม่มีจารึก ทั้งยังได้พบชิ้นแร่เงิน วัตถุดิบในการผลิตเหรียญ ซึ่งเข้าใจว่านำมาจากรัฐฉานประเทศพม่า

หลักฐานเหล่านี้ช่วยชี้ให้เชื่อว่า เมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวงรุ่นแรกของรัฐทวารวดี เด่นชัดยิ่งขึ้น.
นสพ.ไทยรัฐ



ภาพจาก : เว็บไซท์ siamintelligence.com

ตำนาน...ตำรวจหญิง

อนุสาวรีย์ตำรวจ ที่เคยอยู่หน้ากรมตำรวจ ที่ผมเขียนไปว่าอุ้มผู้หญิงนั้น พ.ต.อ.(พิเศษ) สมพร จารุมิลินท กรุณาบอกมาว่าไม่ใช่ผู้หญิงครับแต่ “อุ้มผู้ชาย”

คุณสมพรอยู่กรมตำรวจมานาน...จนรู้ว่าเดิมทีอนุสาวรีย์เป็นสีดำ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีทอง ตามความชอบความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ของ อ.ต.ร.ท่านหนึ่ง

ตำรวจรุ่นเก่า ไหว้และปฏิญาณตัว จะทำหน้าที่อย่างซื่อตรงกับอนุสาวรีย์ทุกวัน วันเกษียณได้รูปหล่ออนุสาวรีย์ย่อส่วนมาไหว้ต่อที่บ้าน ถึงวันนี้ อนุสาวรีย์ก็ยังมีความหมายกับท่านอยู่

ผมไม่รู้ว่าเมืองไทยเรามีตำรวจหญิงเมื่อไหร่ ตำรวจหญิงมาขึ้นหน้าขึ้นมาเอาก็ตอนผมเป็นนักข่าว ราวปี ๒๕๑๙ สมัย พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ เป็น อ.ต.ร. มีตำรวจหญิงหน้าตาสะสวย เป็นประชาสัมพันธ์

นางหนึ่งสวยมากเก่งมาก ยิงปืนแม่นระดับเหรียญทอง ยูโดสายดำ บ้านอยู่สามพราน ตอนลงรถเมล์เดินกลับบ้าน ตอนสงกรานต์คนเล่นสาดน้ำ ไม่มีใครกล้าสาดน้ำเธอเลย เพราะรู้จักเธอดี

ผมพยายามค้นประวัติตำรวจเก่าสมัยอยุธยา ขุนแผนสะท้าน ปลัดซ้าย คู่กับขุนพิศฉลูแสน ปลัดขวา ศักดินา ๔๐๐ จากหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง แต่หาไม่เจอ

มาเจอ ประวัติตำรวจหญิง ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า “โขลน”


คำ “โขลน” แรกปรากฏในจารึกวัดศรีชุม สมัยสุโขทัย “โขลนลำพง” เป็นคำเรียกคนทำงานประจำเทวสถานสมัยอยุธยา ตำแหน่งโขลนปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน และกฎมณเฑียรบาล

ในกฎหมายตราสามดวง เป็นนักพฤติชรานางสนองพระโอษฐ์ ตำแหน่งท้าวศรีสัจจา นา ๑,๐๐๐ ไร่ มีหน้าที่บังคับบัญชาจ่าโขลนทวาร ตรวจตราดูแลรักษาประตูวัง และเขตพระราชฐานชั้นใน

มีหญิงชาววังอยู่ในบังคับบัญชาตำแหน่งลดหลั่นกันไป นับแต่หลวงแม่เจ้า นา ๕๐๐ จ่าโขลน ๔ คน มีจ่าก้อนแก้ว จ่าก้อนทอง จ่าราชภักดี และจ่าศรีพนม นาคนละ ๔๐๐

นางชาวพระคลังและนางเสมียน นา ๓๐๐ นางราชยานแห่แหน นางใช้ประจำการ และนางทนายเรือน นา ๒๐๐

พนักงานกลางนา ๒๐๐ นาง โขลนและนางนายประตู นา ๘๐ นางเตี้ย นางค่อม นางเทย นางเผือก นา ๕๐ หญิงตักน้ำ หญิงหามวอ และหญิงตีนคลัง นา ๒๐

พวกโขลนและจ่าโขลน นอกจากดูแลรักษาประตูวัง ดูแลความสงบเรียบร้อยในวัง ยังมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่พระสนม หากมีเหตุเจ็บป่วยหรือตาย ต้องกราบบังคมทูลโดยด่วน

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๑๕ มีการจัดราชการโขลนให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น โปรดให้ตรา พ.ร.บ.ฝ่ายใน ใช้บังคับบัญชาจ่าทนายเรือนโขลน พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายใน วางหลักเกณฑ์ราชการโขลนเป็นธรรมเนียมคล้ายโปลิศ

นอกจากดูแลความสงบเรียบร้อย เก็บขยะมูลฝอยแล้วยังต้องป้องกันผู้ร้ายและอัคคีภัย

เมื่อเสด็จกลับจากยุโรป โปรดให้เพิ่มอำนาจการบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายในให้มากขึ้น ทรงตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี เป็นอธิบดีกรมโขลน มีท้าวศรีสัจจาเป็นผู้ช่วยอธิบดี

ตำแหน่งอธิบดีโขลน ต่อมาเรียกว่าอธิบดีฝ่ายใน สังกัดกระทรวงวัง แต่ในทางปฏิบัติขึ้นตรงต่อพระองค์

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินีเสด็จไปประทับกับพระนัดดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่เมืองบันดุง อินโดนีเซีย ปรากฏชื่อกรมโขลน สังกัดศาลาว่าการพระราชวัง

ปีต่อมา หลังประกาศ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๔๘๖ กรมโขลนก็ถูกยุบ

       ฯลฯ


นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘



พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าธีบอ (ขวา) พระราชินีศุภยาลัต (กลาง)
และพระกนิษฐาของพระนางคือพระนางศุภยาคยี (ซ้าย)
ที่พระราชวังหลวง เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
ภาพจาก : เว็บไซท์ วิกิพีเดีย

ความเชื่อ
เห็ด (เมา) บาน อังคาร-เสาร์

พรานป่าหรือนักเดินป่า สั่งสอนสืบต่อกันมา เห็ดเมาในป่านั้นกินได้ แต่เห็ดเมาเดียวกัน บานในวันอังคารหรือวันเสาร์ ขืนไปเก็บกินอาจถึงตายได้

ความเชื่อของนักเดินป่า ไปในทางเดียวกับความเชื่อเดิมๆ ของคนโบราณ หากจะเลือกทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับของมีคมอย่าเลือกวันแข็ง คือวันอังคาร และวันเสาร์

ความเชื่อนี้ คนเกิดวันอังคาร เกิดวันเสาร์ ในกรุงมัณฑะเลย์ของพม่า สมัยพระเจ้ามินดง...จึงเคราะห์ร้าย

“พลูหลวง” เล่าไว้ในหนังสือ รหัสวิทยา พลังเร้นลับ (สำนักพิมพ์ ข้าวฟ่าง พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๔๓) ว่า เมื่อพระเจ้ามินดง หนีการคุกคามจากอังกฤษ ย้ายเมืองหลวงมาอยู่กรุงมัณฑะเลย์ ก็เริ่มสร้างพระราชวังใหม่

ในการก่อฤกษ์กำแพงเมือง ราชสำนักมีคำสั่งลับให้เลือกจับชายหญิงที่เกิดวันอังคารและวันเสาร์ ๕๒ คน เท่ากับจำนวนอายุของพระเจ้ามินดง มาทำอาถรรพ์ ด้วยการฝังทั้งเป็นใต้ปราสาท ใต้พระแท่นในพระที่นั่ง และตามมุมกำแพงเมือง

ชายที่ถูกเลือกต้องมีร่างกายบริสุทธิ์ ไม่มีรอยสักในตัวเป็นมลทิน ผู้หญิงนอกจากเป็นสาวสวยก็ต้องยังไม่เจาะหู

แต่การจะใช้ทหารไปเลือกจับซึ่งหน้า เอาคนมาจากบ้าน กว่าจะได้ครบ ๕๒ คน คงจะทำได้ยาก เพราะเมื่อข่าวแพร่ออกไป ผู้คนจะแตกตื่นหนี

จึงต้องใช้อุบาย หาละครมาเล่นกลางแจ้ง ล่อให้คนมาดู แล้วก็ล้อมจับเอาตามสบาย

คนเคราะห์ดี ชายที่มีรอยสัก หญิงที่เจาะหู ก็รอดตัวไป คนเคราะห์ร้าย คุณสมบัติตรงตามเป้าหมาย ก็ถูกเอาตัวไป

ความโหดร้ายทารุณของพม่าในครั้งนี้ ผลกรรมตามสนองกับพระเจ้ามินดงไม่ทัน แต่กลับตามสนองกับทายาทราชวงศ์

เมื่อพระเจ้าธีบอ พระเจ้าลูกเธอองค์หนึ่ง ขึ้นเสวยราชย์ คนแวดล้อมกษัตริย์องค์ใหม่ เกิดความหวาดระแวงพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่นจะชิงอำนาจ ก็ได้มีคำสั่งจับพระเจ้าลูกเธอ ๘๓ องค์ ไปขังไว้ท้ายพระราชวัง

๒-๓ องค์ หนีรอดไปทางภาคใต้ หลบซ่อนอยู่กับอังกฤษ ที่เหลือ ๘๐ องค์ รอวันประหาร

มีบันทึกเป็นทางการ (๒๐ ก.พ.๒๔๒๒)  พระเจ้าลูกเธอ ๘๐ องค์ ก็ถูกจับยัดเข้ากระสอบสีแดง แล้วเพชฌฆาต ก็เริ่มใช้ท่อนจันทน์ ประหารด้วยการทุบ ทีละองค์ๆ

การประหารเลือกเวลากลางวัน มีการจัดแสดงดนตรีประโคมเสียงดัง *

เรื่องที่ “พลูหลวง” ไม่ได้เขียน แต่คนไทยคงเคยได้อ่านจากพม่าเสียเมือง ของอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช…พระเจ้าธีบอ ถูกเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรละคร มือหนึ่งพระนางสุภยลัต พระมเหสีถวายน้ำจัณฑ์ อีกมือให้สัญญาณดนตรี โหมประโคม กลบเสียงจากลานประหาร

การแสดงละคร การโหมประโคมดนตรี ประสานไปกับกิจกรรมการประหาร จำนวนคน ๘๐ คน ต้องใช้เวลาตลอดวัน

คนที่ถูกตายแล้ว ก็ถูกนำออกจากกระสอบโยนศพลงหลุม เมื่อทุกศพอยู่ในหลุมใหญ่ครบ ก็ใช้กระสอบทับ แล้วก็ใช้ดินกลบ

“การนำราษฎรผู้ไม่มีความผิด มาฝังทั้งเป็น ตามลัทธิไสยศาสตร์อันชั่วร้าย ย่อมสะท้อนถึงทายาทโดยตรง  เรื่องกรรมเรื่องเวรนั้น ไม่เคยละเว้นใคร “พลูหลวง” ทิ้งท้ายสำทับ

เรื่อง คนเกิดวันอังคาร เกิดวันเสาร์ ที่เคราะห์ร้าย ถูกจับไปฝังทั้งเป็น คนเกิดสองวันนี้ คงไม่ได้ก่อกรรมทำเวรกับใครในชาตินี้ แต่ก็มีความเชื่อว่า คงก่อกรรมทำเวรกับใครไว้ในชาติก่อน

ความเชื่อนี้ พิสูจน์ไม่ได้ คล้ายๆ กับความเชื่อเรื่องเห็ดเมาบานวันอังคาร วันเสาร์ กินแล้วอาจถึงตาย แต่ก็ไม่โหดร้ายเหมือนความเชื่อว่า ชีวิตมนุษย์ ช่วยส่งเสริมอำนาจบารมีให้ตัวเอง
       ฯลฯ


นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๘




ย่านตะแลงแกง
ลานประหาร...ย่านประจานผู้กระทำผิด

จากงานเขียนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า ตรงจุดที่ถนนศรีเพชญ์ตัดกับถนนป่าโทนในเกาะเมืองอยุธยาปัจจุบันเป็นสี่แยกเรียกว่า "ตะแลงแกง"

ที่มาของชื่อ "ตะแลงแกง" ศานติ ภักดีคำ อาจารย์แห่งภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เคยบอกไว้ในบทความตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๓ (มกราคม ๒๕๔๖) ว่า มาจากภาษาเขมร "ตรแฬงแกง" อ่าน "ตรอแลงแกง" พจนานุกรมภาษาเขมรฉบับของพุทธศาสนบัณฑิตย์ กรุงพนมเปญ ให้ความหมายว่า "ที่มี ๔ หน้า หรือที่แยกเป็นสี่ (ชื่อปราสาท, วิหาร, หนทาง)"

บริเวณตะแลงแกงเป็นย่านสำคัญที่คนแต่ก่อนถือกันว่าเป็นกลางพระนคร มีถนนสายสำคัญและเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง

ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ เรื่องกรุงเก่ากล่าวว่า "ในกรุงเทพมหานครมีถนนหลวงกว้างห้าวา สำหรับมีการแห่พระกถินหลวงนากหลวงตั้งพยุห์บาตรา สระขนานช้างม้าพระที่นั่งปตูไชย ชักจะเข้ใส่ ศภพระราชาขณะอธิการ"

เนื้อความตอนนี้ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) อธิบายไว้ในหนังสือ อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา กับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ ฉบับชำระครั้งที่ ๒ และภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐

สรุปว่า ถนนหลวงดังกล่าว (ในเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง บอกชื่อว่า มหารัถยา ปัจจุบันคือถนนศรีสรรเพชญ์) คือถนนใหญ่ตรงไปจากหน้าพระราชวัง ไปหักเลี้ยวที่มุมกำแพงพระราชวังด้านใต้แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปทางใต้ถึงประตูไชยที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เป็นถนนที่เคยใช้แห่รับพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กรุงฝรั่งเศส ถนนสายนี้ตามแผนที่เป็นถนนขวางอยู่กึ่งกลางพระนคร แต่เหนือไปใต้และมีถนนรีแต่ด้านตะวันออกตรงไปทางตะวันตกถึงหลังวังหลัง เป็นถนนสายรีที่อยู่กึ่งกลางพระนครเหมือนกัน ตรงที่ถนนสายนี้ผ่านกันเป็นทาง ๔ แพร่ง เรียกว่า ตะแลงแกง




ตรงสี่แยกตะแลงแกงนี้เอง มักถูกใช้เป็นที่ประหารหรือประจานผู้ที่กระทำผิด ดังมีบันทึกไว้ในเอกสารพงศาวดารและระบุลงโทษไว้ในกฎหมายสมัยอยุธยา เช่น ในกฎหมายพระไอยการลักษณะผัวเมีย กล่าวถึงโทษของหญิงมีชู้ว่า

"...ส่วนหญิงนั้นให้โกนศีศะเปน ตะแลงแกง เอาขึ้นขาหย่างประจาน แล้วให้ทเวนรอบตลาดแล้วให้ทวนด้วยลวดหนัง ๒๐ ที" หรือในกฎหมายพระไอยการลักขณโจรว่า "เอาบุตรภรรยาเปนคนน้ำร้อน แล้วให้ฆ่าโจรแลพวกโจรซึ่งลงมือ ตัดศีศะเศียบไว้นะตะแลงแกง..."

หรือแม้แต่วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน นางวันทองก็ถูกนำตัวมาประหารชีวิตที่ตะแลงแกงเช่นกัน

แต่นอกจากการลงโทษแล้ว ย่านตะแลงแกงยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง และเป็นที่ชุมชนมีย่านค้าขาย ดังเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึงว่า "ถนนย่านตะแลงแกงมีร้านขายของสดเช้าเย็น ชื่อตลาดน่าคุก ๑ ถนนย่านน่าศาลพระกาฬ มีร้านชำขายศีศะในโครงในที่ปั่นฝ้ายชื่อตลาดศาลพระกาฬ ๑..."

ย่านตะแลงแกงมีสถานที่สำคัญๆ ได้แก่ หอกลอง คุก ที่ตั้งของคุกนี้พระยาโบราณฯ อธิบายว่า "...ห่างจากหอกลองเข้าไปด้านหลังมีวัดเรียกกันว่าวัดเกศ ต่อจากหลังวัดเกศไปเป็นคุก..." จึงเชื่อกันว่าน่าจะเป็นแถวๆ บริเวณที่ตั้งคุ้มขุนแผนในปัจจุบัน ศาล

"...ข้ากฟากถนนตะแลงแกงทางใต้ด้านตะวันตก มีศาล พระกาฬหลังคาเป็นซุ้มปรางค์ และมีศาลอยู่ต่อกันไปเข้าใจว่าจะเป็นศาลพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ที่ตรงตะแลงแกงเห็นจะถือกันว่าเป็นกลางพระนคร..."

(คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ฯ: ๒๕๓๔) ที่ตั้งศาลทั้งสองแห่งยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าอยู่บริเวณใกล้ๆ กับหัวมุมตะแลงแกงฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ตรงข้ามกับวัดเกศ และสนามจักรวรรดิและลานพระเมรุ

ย่านตะแลงแกงถือกันว่าเป็นย่านกลางพระนคร จึงมีการจัดตั้งสถานที่สำคัญเกี่ยวกับบ้านเมืองดังกล่าว โดยเฉพาะสนามหลวงที่ที่อาจเกี่ยวข้องกับ "ลานกลางบ้าน" ของชุมชนยุคก่อนที่ใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบพิธีกรรมของชุมชนหมู่บ้าน ที่อาจรวมไปถึงสี่แยกตะแลงแกง สถานที่ประหารกลางเมือง ทั้งวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและหรือนัยว่าเป็นการเซ่นสรวงไปด้วยผสมปนเปกัน

สำหรับบริเวณที่เห็นว่าเป็นสี่แยกนี้แต่เดิมอาจเคยเป็นทางสามแพร่งหรือมีความสำคัญอะไรบางอย่าง จึงได้สืบต่อกลายมาเป็นย่านศูนย์กลางสำคัญของพระนครที่เรียกว่าตะแลงแกงแห่งนี้
...หนังสือพิมพ์ข่าวสด


http://upic.me/i/fc/0ixuz.jpg
บันทึกไว้ในแผ่นดิน

ภาพจาก : เว็บไซท์ upic.me/i/fc/0ixuz.jpg

ปริศนาดาบโค้ง วงพระจันทร์

               ฯลฯ
ดูหนังจีนมาหลายเรื่อง เห็นอาวุธพิสดารแปลกตามากมายก็คิดว่าแบบอาวุธเกิดจากจินตนาการของนักเขียน

ลองอ่าน ราชกิจจานุเบกษา ประกาศในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วจะรู้ว่าไม่ใช่

เมื่อเดือนยี่ ปีชวด อัฐศก ๑๒๓๘ พระเทพผลู (ตำรวจ) ได้ความว่ามีอ้ายผู้ร้ายฟันจีนเล็กตาย ให้นายอำเภอกำนันไปสืบจับผู้ร้าย ได้ตัวผู้ร้ายมาคืออ้ายจีนซุนหยู แซ่เหลา อายุ ๓๒ ปี

อ้ายจีนซุนหยูให้การรับสารภาพว่าอาศัยอยู่ในสวนของอีสี ตำบลคลองสาน ฝั่งธนบุรี วันหนึ่งอีสีบอกอ้ายจีนซุนหยูว่า มีอ้ายผู้ร้ายมาฟันต้นทุเรียนเสียเป็นอันมาก ให้อ้ายจีนซุนหยูคอยจับตัวฟันฆ่าเสียให้ได้

ฝ่ายอ้ายจีนซุนหยู รับคำตามที่อีสีสั่ง  อีสีบอกว่า “เหลียนเหล็กมีคมของเรามีอยู่” ให้จีนซุนหยูถือไปสำหรับตัว

พอถึงเวลาพลบค่ำ อ้ายจีนซุนหยูก็ถือเหล็กมีคมออกจากบ้านสวนไปยืนยังที่มืด

ฝ่ายจีนเล็ก อายุ ๓๔ ปี เคราะห์หามยามร้าย ไปซื้อยาฝิ่น ได้ยาฝิ่นแล้ว พอเดินออกจากโรงยามาประมาณ ๙-๑๐ วา  ทันใดนั้น อ้ายจีนซุนหยูก็ตรงเข้าฟันจีนเล็กทีหนึ่ง โดยไม่ทันได้ต่อว่าหรือสอบถามอะไรทั้งสิ้น

ไม่รู้ว่าจีนเล็กเป็นคนมาฟันทุเรียนจริงหรือไม่

ฝ่ายจีนเล็กฉวยได้ผมเปียของอ้ายจีนซุนหยู กระหมวดพันไว้กับมือ พลางร้องเรียกให้ชาวบ้านช่วย ฝ่ายจีนซุนหยูก็เอาเหลียนฟันจีนเล็กอีกเป็นอันมาก จีนเล็กแม้ถูกฟันก็ยังไม่ยอมปล่อยผมเปีย

อ้ายจีนซุนหยูพอได้ยินเสียงจีนเล็กร้องเรียกชาวบ้าน กลัวว่าชาวบ้านจะมาแล้วตัวเองหนีไม่ได้ เพราะจีนเล็กคว้าผมเปียไว้แน่น ก็ตัดสินใจเอาเหลียนตัดผมตัวเองทิ้งเสีย  จากนั้น อ้ายจีนซุนหยู ก็วิ่งหนีไป

ผลปรากฏว่า จีนเล็กถูกฟันถึง ๔๗ แผล ไม่สามารถทนความเจ็บปวดได้ ก็ล้มขาดใจทันที

เรื่องถึงพระเทพผลูๆ สอบถามอีสี  อีสีให้การแบ่งรับว่า ใช้อ้ายจีนซุนหยูไปฟันแต่ต้นทุเรียน หาได้ให้ฟันจีนเล็กไม่

ลูกขุน ณ ศาลหลวง ขุนหลวงพระยาไกรสี เห็นพร้อมกันว่า อ้ายจีนซุนหยูบังอาจกระทำจีนเล็ก ซึ่งไม่เคยมีความผิดหรือเคยวิวาทสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาก่อน อ้ายจีนซุนหยูเป็นคนพาลสันดานหยาบ ไม่เกรงกลัวพระราชอาญา

ต้องด้วยบทพระอัยการให้ริบราชบาตร บุตร ภรรยา ทรัพย์สิ่งของเป็นของแผ่นดิน

กับให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๓ ยก ๙๐ ที แล้วเอาอ้ายจีนซุนหยูไปประหารชีวิตเสียตามบทพระอัยการ ที่วัดพลับพลาชัย อย่าให้คนดูเยี่ยงอย่างสืบไป

ส่วนอีสี ให้การว่า อ้ายจีนซุนหยูไปฟันแต่ต้นทุเรียนเล็ก ลูกขุนถือว่าเป็นใจให้กับอ้ายจีนซุนหยู ยังมีความผิด ขอให้อีสีเสียเบี้ยปลุกตัวจีนเล็ก ตามเกษียณอายุ ๓๔ ปี เป็นเงินตรา ๑๔ ตำลึง  โดยมอบให้จีนแตกผู้เป็นโจทก็เอาไปทำบุญให้จีนเล็ก และให้เฆี่ยนอีสี ๒๕ ที ให้เข็ดหลาบ

หลังการตัดสิน ปรากฏว่าอีสีป่วยตกเลือดตายในที่จองจำ จึงให้ผู้รับมรดกอีสีใช้เบี้ยปรับปลุกตัวแทน

ส่วนโทษนั้นก็เป็นอันแล้วกันไป

เรื่องทั้งหมดนี้ คุณอเนก นาวิกมูล เอารวมพิมพ์ไว้ในหนังสือสยามคดี ๒๔๒๐ (สำนักพิมพ์แสงดาว พ.ศ.๒๕๔๗) คุณอเนก ตั้งข้อสงสัย เหลียน มีคำแปลหรือไม่  หรือช่างเรียง เรียงพิมพ์ผิด หรือ เหลียนเป็นคำเดียวกับแหลน

เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็พบว่า “เหลียน” เป็นคำที่ถูกต้อง มีคำแปลว่า มีดรูปโค้งเล็กน้อย มีด้ามยาวสำหรับใช้หวดหญ้า  อ่านตรงนี้จึงได้รู้ว่า ดาบโค้งวงพระจันทร์ เป็นดาบของชาวบ้านธรรมดา แต่ก็เป็นดาบที่มีอานุภาพ อยู่ในมือจีนหยู ยังฟันจีนเล็กได้ถึง ๔๗ แผล
               ฯลฯ


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "ปริศนาดาบโค้ง วงพระจันทร์" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 พฤศจิกายน 2560 10:56:29 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 09 กุมภาพันธ์ 2559 15:38:36 »


ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา

หลังศึกเจ้าพระฝาง

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม...ธีรวัฒน์ แสนคำ เขียนเรื่อง ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ.๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับการปราบ “พวกสงฆ์อลัชชี” ที่เมืองสวางคบุรี
 
หลังสองกองทัพหน้า ยึดเมืองฝางได้แล้ว พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า
 
เสด็จยกพลพยุหโยธาทัพหลวง โดยทางชลมารคไปตำบลน้ำมืด จึงดำรัสให้ตั้งด่านทางชั้นในชั้นนอก ตั้งเกลี้ยกล่อมลาดตระเวนสืบสาวเอาตัว อ้ายเรือนฝางให้จงได้
 
“ครั้น ณ วันจันทร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นหกค่ำ ทรงพระกรุณาให้สืบเสาะจับพระสงฆ์พวกเหล่าร้าย ได้ตัวพระครูคิริมานนท์หนึ่ง อาจารย์ทองหนึ่ง อาจารย์จันทร์หนึ่ง อาจารย์เกิดหนึ่ง ล้วนเป็นแม่ทัพอ้ายเรือนพระฝางทั้งสี่รูป
 
แต่พระครูเพชรรัตนกับอ้ายเรือนพระฝางนั้น หาได้ตัวไม่
 
จึงดำรัสให้ผลัดผ้าคฤหัสถ์ทั้งสี่คน แล้วจำคงส่งลงมาใส่คุก ณ เมืองกรุง
 
และต่อมา “จึงดำรัสให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดทอง คลองบางกอกน้อยทั้งสิ้น”
 
จัดการพระสงฆ์ระดับแม่ทัพแล้ว พระเจ้าตากทรงเห็นว่าเรื่องของพระสงฆ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ได้ตัดสินพระทัยพระองค์เดียว...พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน กล่าวว่า จึงดำรัสปรึกษาว่า พระสงฆ์บรรดาอยู่ฝ่ายเหนือนี้ เป็นพรรคพวกเพื่อนอ้ายเรือนฝาง ย่อมคิดถือปืนรบศึก ฆ่าคนปล้นเอาทรัพย์สิ่งของแลกินสุราซ่องเสพด้วยสีกา ให้ขาดจากสิกขาบทจัตุปาราชิกเป็นลามกอยู่ในพระศาสนาฉะนี้ จะไว้ใจมิได้
 
อนึ่ง พระสงฆ์ฝ่ายใต้ฝ่ายเหนือ ก็จะแปลกปลอมกันอยู่ มิรู้ว่าองค์ใดดีชั่ว จะได้กระทำสักการบูชา ให้เป็นผลานิสงส์แก่ตนแก่ท่าน เมื่อนิมนต์พระสงฆ์มารวมกันแล้ว ก็พระราชทานโอกาส “ให้พระสงฆ์ให้การไปแต่ตามสัตย์ตามจริง ถ้าได้ผิดในจาตุปาราชิก แต่ประการใดประการหนึ่ง จะพระราชทานผ้าคฤหัสถ์ให้ผลัดสึกออกไปทำราชการ
 
ที่ไม่รับนั้น จะให้ดำนั้นพิสูจน์สู้นาฬิกาสามกลั้น
 
แม้นชนะแก่นาฬิกา จะให้เป็นอธิการและพระครูราชาคณะฝ่ายเหนือโดยสมควรแก่คุณธรรมที่รู้ แม้นแพ้แก่นาฬิกา จะให้ลงพระราชอาชญา เฆี่ยน แล้วสักข้อมือมิให้บวชได้อีก แม้เสมอนาฬิกาจะให้บวชใหม่
 
ถ้าแต่เดิมไม่รับ ครั้นจะให้ลงดำน้ำพิสูจน์ กลับคืนคำว่าได้ทำผิด จะให้ลงพระราชอาชญาประหารชีวิตเสีย
 
อนึ่ง เมื่อพระสงฆ์จะลงดำน้ำนั้น ให้ตั้งศาลกั้นม่านดาดเพดานผ้าขาว แต่งเครื่องพลีกรรมเทพยดาพร้อมแล้ว จึงทรงพระสัตยาธิษฐาน ให้พระบารมีนั้นช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระสงฆ์ทั้งปวง...
 
แล้วเสด็จทรงพระเก้าอี้อยู่ที่หาดทราย ให้พระสงฆ์ลงดำน้ำพิสูจน์ตัวต่อหน้าพระที่นั่ง ก็ปรากฏว่า “ครั้งนั้นพระสงฆ์ที่มีศีลบริสุทธิ์ ก็ชำนะแก่นาฬิกาบ้าง เสมอบ้าง ที่ภิกษุทุศีลก็แพ้แก่นาฬิกาเป็นอันมาก เสนาบดีก็กระทำตามรับสั่ง โดยสมควรแก่คุณและโทษ”
 
พระราชภารกิจ ด้านพระศาสนาของพระเจ้าตาก ยังมีต่อไป
 
“แล้วทรงพระกรุณาให้เย็บผ้าจีวรให้ได้พันไตร บวชพระสงฆ์ไว้ฝ่ายเหนือ และให้ลงมาอาราธนารับพระสงฆ์ราชาคณะและอันดับ ๕๐ รูป ณ กรุงธนบุรี ขึ้นไปบวชพระสงฆ์ไว้ทุกหัวเมือง
 
แล้วพระราชทานราชาคณะไว้อยู่สั่งสอนพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ พระพิมลธรรมอยู่เมืองฝาง พระธรรมเจดีย์อยู่เมืองทุ่งยั้ง พระธรรมราชา พระเทพกระวี อยู่เมืองสวรรคโลกย์ พระธรรมอุดมอยู่เมืองพิไชย พระโพธิวงษ อยู่เมืองพิศณุโลกย์
          ฯลฯ  


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "หลังศึกเจ้าพระฝาง" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพุธที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙


http://www.sookjai.com/external/sookjai-lavender/IMG_0733.jpg
บันทึกไว้ในแผ่นดิน

วาลองโซล(Valansole) แหล่งปลูกลาเวนเดอร์ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส

http://www.sookjai.com/external/sookjai-lavender/IMG_0767.jpg
บันทึกไว้ในแผ่นดิน

การผลิตน้ำหอมของโรงงาน Fragonard Perfumery
ที่เมืองกราซ Grasse  ประเทศฝรั่งเศส

ของหอม

เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ นับพันปี ผู้หญิงรู้จักใช้เครื่องหอมมากกว่าผู้ชาย แต่เรื่องจริงที่จริงยิ่งกว่า ก็คือ ผู้ชายโดยเฉพาะในเมืองฝรั่ง รู้จักทำเครื่องหอมได้เก่งกว่าผู้หญิง

น้ำหอม ที่มีชื่อเสียงที่สุด อยู่ที่เมืองกราสส์ ทางฝรั่งเศสตอนใต้ ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  เมืองนี้ มีคนพวกหนึ่ง เรียกว่า “จมูก” เป็นผู้ชายล้วน ชำนาญในเรื่องกลิ่นหอม สามารถแยกแยะกลิ่นหอมได้ต่างกันถึง ๗,๐๐๐ กลิ่น

“จมูก” ที่รู้จัก ๗,๐๐๐ กลิ่นนี้ ไม่ได้มาจากพรสวรรค์ แต่ได้มาจากการฝึกหัด อย่างน้อย ๑๕ ปี

วิชา “จมูก” เป็นวิชาลับสุดยอดเป็นมรดกตกทอด สืบตระกูล จากพ่อเฉพาะลูกชาย ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงปีนั้น (พ.ศ.๒๕๐๕) ในโลกนี้ มีผู้ชายที่มีวิชาจมูกอยู่แค่ ๑๒ คน

เมืองกราสส์ ที่พวกจมูกชุมนุมอยู่ อุดมไปด้วยดอกมะลิ ดอกมะลิกับดอกกุหลาบ คนวงการเครื่องหอม ถือว่าเป็น “แม่กลิ่น” สำหรับเอามาผสมให้ได้กลิ่นต่างๆ  อาจเอามะลิหรือกุหลาบอย่างหนึ่งอย่างใดมาผสมให้เป็นกลิ่นดอกลำดวน ดอกแก้ว ดอกจำปี ดอกจำปา มหาหงส์...หรือกลิ่นอะไรก็ได้ แต่กับมะลิหรือกุหลาบ จะเอาอะไรมาผสมให้เหมือนไม่ได้

คนทำน้ำหอม ไม่เพียงชำนาญการดมกลิ่น ยังต้องรู้จักรักษากลิ่น รู้จักวิธีที่จะเก็บดอกไม้...ดอกมะลิต้องเก็บก่อนย่ำรุ่ง ไม่ได้ถูกแดด เพราะแดดจะทำให้น้ำมันระเหย

ที่เมืองกราสส์มีดินฟ้าอากาศช่วยอำนวย เวลาสองยาม หมอกทะเลจะกระจายลงคลุมหุบเขา ไอหมอกจะเป็นเหมือนเครื่องอบดอกมะลิให้บานสะพรั่ง

ดอกไม้บางชนิด เช่นคาร์เนชั่น ต้องการแดด ปล่อยให้ตากแดดสามชั่วโมง จึงจะเหมาะต่อการเก็บ

ทำนองเดียวกับดอกกระดังงาของไทย “ไม่ลนไฟเสียก่อนจะหย่อนหอม” ผู้หญิงแต่ก่อน เวลาจะทำน้ำปรุงอบควันเทียนลอยดอกกระดังงา ต้องเอาดอกกระดังงาลนไฟ กลิ่นจะหอมดีกว่า ถ้าใช้ไฟเทียน

นอกจากทำน้ำหอมจากดอกไม้ พวกจมูกยังรู้จักสืบเสาะของหอมหายากมาผสม เช่น อำพันชะมด อำพันเป็นของทะเล ลอยเป็นแพอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ไทยเคยใช้เรียกว่าขี้ปลาวาฬ

กาญจนาคพันธุ์ บอกว่า ชะมดมาจากคำอาหรับว่า “ชะบาด” สมัยโบราณชะมดเมืองอัดเจ (อาเจะห์) มีชื่อเสียงมาก

ของหอมอีกอย่าง เรียกภาษาฝรั่งว่า “มัสก์” มาจากคำสันสกฤตว่า “มุษกะ” ได้มาจากสัตว์จำพวกเนื้อ อยู่ในภูเขาหิมาลัย ตลอดขึ้นไปถึงเสฉวน มองโกเลีย ไซบีเรีย ชาวอินเดียแถบป่าหิมพานต์ เรียกกาสตุริ

ส่วนวิเศษที่เป็นของหอม...ในตัวเนื้อตัวผู้ อยู่ที่ท้อง วิธีฆ่าเนื้อเอาของหอม เขียนไว้หลายตำรา ตำราหนึ่งว่า เวลาจับตัวได้มา ต้องทุบให้ตายไม่ให้เลือดตก แล้วตัดออกเป็นส่วนๆ ชำแหละกระดูกออกเอาเนื้อตากแห้ง และป่นให้เป็นผงหยาบๆ

ตำราอีกเล่มว่า เมื่อได้ตัวมาต้องทำให้เลือดไปรวมกันที่สะดือ ตัดเอาเนื้อตรงนั้นมาตากแห้ง ป่นให้เป็นผง เอาหนังที่แล่จากตัวเนื้อทำเป็นถุงใส่ ผงหยาบๆ หอมๆ ในถุงนี้แหละ เรียกว่า “มัสก์”

ตำราเล่มสามบอกว่า ส่วนหอมในตัวเนื้อ อยู่ใต้หนังหน้าท้อง เป็นก้อนกลมเท่าไข่ เรียกว่า “ไข่ดัน” เมื่อตากแห้งทำเป็นผงแล้ว หอมฉุนมาก เอาไปผสมปรุงเป็นเครื่องหอมชนิดต่างๆ วิเศษที่สุด


ของไทยเราก็มีเรียกชะมดเช็ด ลักษณะเป็นไขข้นๆ เหมือนจาระบี...ได้จากตัวชะมดเช็ดติดไว้ตามซี่กรงที่ขังมัน แต่ก็มีของหอมคล้ายกัน ได้มาจากเสฉวน ของจีน จากสัตว์ที่เรียกว่า “มัสก์” มาถึงไทย เรียกให้แตกต่างชะมดเช็ด...ว่า ชะมดเชียง

ของหอมเป็นสัญลักษณ์ของวาสนา  ผู้หญิงทั้งหลายในโลกนี้ เป็นหนี้บุญคุณพวกจมูก...ชีวิตคู่ที่ได้ปฏิเสธไม่ได้มี “ของหอม” เป็นตัวช่วย

          ฯลฯ  


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "ของหอม" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันอังคารที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๙






การแสดงโขนกลางแปลง ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี
ภาพโดย : Mckaforce

โขนกลางแปลง

ก.ศ.ร.กุหลาบเขียนไว้ใน “สยามประเทศ” โขนกลางแปลง เคยมีครั้งกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) สองครั้ง และในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้ง (วิสาสะ เล่ม ๑ สถิต เสมานิล บริษัทต้นอ้อ แกรมมี่ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๙)

โขนกลางแปลงเป็นโขนสองโรง ปลูกโรงเผชิญหน้ากัน ฝ่ายมนุษย์ รามลักษมณ์ อยู่สุดสนามหญ้าด้านหนึ่ง ฝ่ายยักษ์ทศกัณฐ์ สุดสนามหญ้าอีกด้านหนึ่ง โดยประเพณีนิยมวังหลวงวังหน้า ทรงมีพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งนาฏกรรมและคีตกรรมอยู่แล้ว

ส่วนใหญ่ของเรื่องรามเกียรติ์ ก็คือการรบกันระหว่างทัพมนุษย์กับทัพยักษ์ สมัยที่มีเจ้าแผ่นดินวังหลวง วังหน้า ฝ่ายวังหลวงเป็นทัพมนุษย์ ฝ่ายวังหน้าเป็นทัพยักษ์

โขนกลางแปลงเล่นครั้งแรกในรัชกาลแรก แห่งกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ ๑ ปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ ๑๕ ปี ทรงมีพระราชดำริ ฉลองพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมชนก  โปรดให้ประกอบพิธีเหมือนกับถวายพระเพลิงพระศพ อดีตกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา

ปลูกโรงในที่สนามชัย (ข้างสวนสราญรมย์) หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรจ์ ใช้ช้างจริง ม้าจริงเป็นพาหนะให้มนุษย์กับยักษ์ รวมๆ กัน ราว ๕๐๐-๖๐๐ คน รบกันตามถนนหลวงหน้าพระเมรุ

โขนกลางแปลง เริ่มเล่นตั้งแต่เวลาเย็น ไปเลิกเอาเมื่อยามหนึ่ง (๒๑.๐๐ น.) เมื่อเจ้าพนักงานจุดดอกไม้ไฟเมื่อใด โขนหรือการเล่นต่างก็เลิกเมื่อนั้น

วันหนึ่ง ทัพทศกัณฐ์ ฝ่ายวังหน้าใช้ดอกไม้ไฟไม่สะใจ ใช้ปืนจริง (จดหมายเหตุ เรียก ปืนบาเรียมราง) ทัพพระรามฯ ฝ่ายวังหลวง ก็ใช้ปืนจริงบ้าง เสียงปืนจริงยิงประชัน ดังสนั่นหวั่นไหว

ทำเอาราษฎรขวัญอ่อนตระหนกอกสั่น คิดว่าทัพพม่ายกเข้าประชิดติดกรุง

ระหว่างงานฉลองพระบรมอัฐิ คณะทูตเขมร คณะทูตญวน คุมเครื่องราชบรรณาการเข้าถวายช่วยงาน...ต่างก็พากันชอบและชมว่าโขนกลางแปลงสนุกอย่างเป็นยอด ไม่มีมหรสพใดจะสนุกเทียมเท่า

โขนกลางแปลงครั้งแรกสมัยกรุงศรีอยุธยา เล่นในพระราชพิธีสะเดาะพระเคราะห์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๙ สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๙ ฉลองพระชันษา ครบ ๒๕ ปี เล่นตอน หิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน

ครั้งที่สอง โขนกลางแปลง เรียกในจดหมายเหตุว่า โขนอุโมงค์โรงใหญ่ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

จดหมายเหตุบันทึกว่า เป็นการทำขวัญ สมุหนายก เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน ฝรั่งชาติกรีก)

เรื่องสืบมาจาก ขณะเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กำลังเดินเข้าศาลาลูกขุนในพระราชนิเวศน์เมืองลพบุรี หลวงสุรศักดิ์ ซึ่งรู้กันว่าเป็นพระราชโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์ ได้ปรี่เข้าไปใช้วิชาหมัดมวย ชกปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ฟันหักสองซี่

เรื่องถึงสมเด็จพระนารายณ์ ตรัสสั่งให้หาตัวหลวงสุรศักดิ์ ก็หาไม่พบ เพราะหลวงสุรศักดิ์หนีไปอาศัยอยู่ในบริเวณนิวาสสถานของเจ้าแม่วัดดุสิต

เจ้าแม่พระองค์นี้เป็นที่นับถือยำเกรงของทุกๆ ฝ่าย กระทั่งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กราบกรานในฐานะย่าบุญธรรม

สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดเจ้าพระยาวิชาเยนทร์มาก ตั้งให้เป็นสมุหนายก ใช้ติดต่อทำมาค้าขายกับต่างประเทศ เมื่อหาตัวหลวงสุรศักดิ์ไม่ได้ จึงหันไปให้มีโขนกลางแปลง เป็นการปลอบขวัญ

การที่หลวงสุรศักดิ์แค้นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์หนักหนาก็มีเหตุผลฟังได้  ว่ากันว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ไม่แค่ไม่ยอมรับนับถือพุทธศาสนายังเป็นตัวกลางให้พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสชวนสมเด็จพระนารายณ์เข้ารีต  ระหว่างนั้นก็ใช้อำนาจบังคับให้สึกพระสงฆ์ออกมารับราชการ

เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ตั้งใจใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์ แต่หลวงสุรศักดิ์ เห็นฝรั่งเป็นมิจฉาทิฐิ ไม่ละลายแก่บาปกรรม กราบทูลฟ้องพระนารายณ์ แล้วทรงไม่ทำอะไร หลวงสุรศักดิ์จึงเดินเข้าไปชกปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เป็นการระบายโทสะ

ตอนที่หลวงสุรศักดิ์ ปฏิวัติยึดอำนาจให้พระเพทราชา พงศาวดารเขียนว่า เมื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ถูกเรียกเข้ามาเฝ้าถึงตึกพระเจ้าเหา ก็ถูกจับฆ่า  ฯลฯ  


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "โขนกลางแปลง" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙



การแต่งกายของสตรีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ภาพจาก 2.bp.blogspot.com

วันตาย อำแดงเขียว

      ฯลฯ
เปิดหนังสือ “หญิงชาวสยาม” สำนักพิมพ์แสงดาว พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๗ อเนก นาวิกมูล เขียน ก็เจอเรื่อง อำแดงเขียว ถูกกำหนดวันตาย

เรื่องนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามออฟเซอร์เวอร์ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๕ ติดต่อกันสามวัน

๑๘ พ.ศ.๒๕๕๔* อำแดงเขียว อายุ ๒๐ ปี บุตรจีนบุญ กับนางจีน คนบ้านสระกระเทียม จังหวัดนครปฐม ออกไปนาบข้าวในนาแต่เพียงคนเดียว ชายแปลกหน้าร่างสันทัด นุ่งผ้าสีเขียว ใส่เสื้อสองชั้น มือหนึ่งหิ้วกระเป๋าหนัง อีกมือหนึ่งถือร่มปีกค้างคาว จู่ๆ ก็มายืนตรงหน้า เพ่งดูตั้งแต่หัวถึงเท้า ดูรอยเท้า แล้วบอกว่า

สิ้นแสงตะวัน วันกลางเดือนอ้าย (๕ ธ.๕.๒๕๕๔*) เจ้าจะต้องตาย

ตอนแรก อำแดงเขียวไม่บอกพ่อแม่ เอาแต่เศร้าสร้อยไม่เป็นอันกินอันนอน จนผ่ายผอมผิวพรรณซูบซีด จนพ่อแม่ซักถามจึงยอมเล่า ข่าวก็แพร่ไปทั่วหมู่บ้าน

สี่วันต่อมา ชายแปลกหน้าก็มาอีก บอกย้ำ ถึงวันนั้น เจ้าจะต้องตายแน่ แม้ไปสะเดาะเคราะห์ก็ช่วยไม่ได้

ตอนที่ชายแปลกหน้ามาครั้งที่สอง มีคนในนาใกล้ๆ มองเห็น อำแดงเขียวก็ถาม ท่านมาจากไหน ได้คำตอบ “ข้าอยู่ในทุ่งนี้แหละ”

พระวินัยธรรม วัดสัตตนาถปริวัตร ราชบุรี มาดูงานก่อกำแพงแก้วโบสถ์วัดสระกระเทียม สั่งให้ไปหา ท่านว่าอำแดงเขียวบ้าขอให้ไปอยู่ในกุฏิแม่ชี  คืน ๒๕ พ.ย. ชายคนนั้นก็มาอีก บอกอำแดงเขียวอย่าหนีเลย หนียังไงก็ไม่พ้น

พระวินัยธรรมแก้เกม ให้อำแดงเขียวเข้าพิธีบวชในโบสถ์ต่อหน้าสงฆ์ แล้วประกาศ อำแดงเขียวตายแล้ว เกิดใหม่ เป็นสีกาอ่อนแล้ว

จนถึงวันนั้น ๕ ธ.ค. กำหนดวันตาย ๓ โมงเช้า สีกาอ่อนฟังเทศนาในโบสถ์ จบแล้วก็ก้มกราบพ่อเฒ่าแม่เฒ่า พระวินัยธรรมให้สีกาอ่อนฟังพระเทศน์ทั้งวัน ตกค่ำ เวลาตาย...สีกาอ่อนทุรุนทุราย วิ่งหนีออกจากวัด

พ่อแม่ไปตามก็กลับ ๑ ทุ่ม ขึ้นกุฏิแม่ชีล้มตัวนอน ก็นอนไม่ได้ ห่มผ้าก็ไม่ได้

เหตุการณ์วันนี้ ทั้งพระเณร ชาวบ้านตามมาดูแน่นวัด เห็นอำแดงเขียวนั่งหันหลังพิงฝา ตาจ้องเขม็งตรงหน้า บอกว่ามีคนสองคนกับช้าง ๑ เชือกมารับ

พระวินัยธรรม ใช้ไม้สุดท้าย...สวดมนต์ ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย...อาการอำแดงเขียวก็ผ่อนคลาย ๔ ทุ่ม พระสงฆ์สวดสัพพี แล้วพระท่านก็ลาไป ปล่อยให้ชาวบ้านดูแลต่อ

เช้าวันที่ ๖ ธ.ค.เลยวันตายหนึ่งวัน อำแดงเขียวผมร่วงทั้งหัว เนื้อตัวบวม แต่จิตใจก็สบาย แน่ใจว่าไม่ตายแล้ว

เรื่องนี้จบลงตรงชาวบ้านเล่าลือกัน และเชื่อกันว่า เพราะคุณพระ (รัตนตรัย) ช่วย

ตอนที่พระวินัยธรรมสวดมนต์นั้น คนเขียนข่าวไม่ได้ลงลึกว่าสวดบทโพชฌงค์หรือไม่ บทสวดบทนี้ พระท่านสวดให้คนใกล้ตาย อานิสงค์หนึ่ง ถ้ายังไม่หมดบุญ ก็จะฟื้นคืน  แต่ถ้าถึงเวลาจริงๆ อานิสงส์โพชฌงค์นั้น ว่ากันว่าจะช่วยให้ไม่ทุรนทุราย ตายอย่างสงบ

เรื่องนี้ผมเพิ่งฟังจากปากหมอ บัญชา พงษ์พานิช รู้วาระสุดท้ายคุณแม่ นิมนต์พระมาสวดโพชฌงค์ พระสวดไปๆ กราฟการเต้นหัวใจคุณแม่รัตนา (อายุ ๙๓ ปี) ก็ลดลงๆ

พระสวดจบ หัวใจคุณแม่ก็หยุดเต้น ลูกๆ...ปัญญาชนทุกคน เห็นเป็นอัศจรรย์  

คนไทยไม่น้อยเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์ และไม่น้อยกว่าเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย  ฯลฯ


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "วันตาย อำแดงเขียว" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙

* ปีพ.ศ.๒๕๕๔ เข้าใจว่าน่าจะพิมพ์ผิดไปจากข้อเท็จจริง สันนิษฐานว่าอาจเป็น พ.ศ.๒๔๕๔ หรือ ฯลฯ...Kimleng




ผ้าแดง ผ้าต้องห้าม?

       ฯลฯ
เรื่องการนุ่งห่มผ้าสีแดง โบราณเคยห้าม แต่ต่อมาไม่ห้าม ตกลง ห้ามหรือไม่ห้าม ความจริงยังไงกันแน่ คำถามนี้ อาจารย์ ส.พลายน้อย ท่านตอบไว้ในร้อยแปดเรื่องไทย เรื่องชวนสงสัยที่ไม่มีใครเคยตอบ (สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๔๕)

ในสมัยโบราณมีกฎหมายห้ามราษฎร จะนุ่งผ้าแดงเข้าไปในพระราชวังไม่ได้

หมอสมิทเคยเล่า ครั้งเมื่อสรงน้ำพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมศพใช้ผ้าทรงสีแดง

แต่ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ข้อห้ามนี้เปลี่ยนไป สุนทรภู่ ซึ่งเป็นไพร่วังหลัง เขียนไว้ในสวัสดิรักษา “วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี ใช้เครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล”

สมัยรัชกาลที่ ๖ จมื่นมานิตย์นเรศ เล่าว่า โปรดให้มหาดเล็กนุ่งผ้าม่วงสีตามวัน วันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว วันพฤหัสสีแสด วันศุกร์สีฟ้า หรือสีนกพิราบ สำหรับผู้สูงอายุ วันเสาร์สีกรมท่า ทหารเรือเรียกสีขาบ หรือม่วงแก่ วันอาทิตย์สีแดง

แต่วันที่ต้องนุ่งสีแดง มีเรื่องให้ต้องระวัง

ทราบทั่วกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่นานก่อนเสวยราชย์ ครั้นเสวยราชย์แล้ว พอถึงวันพระจะทรงภูษาสีแดง เพื่อให้ใกล้เคียงกับสีจีวร จึงถือเป็นประเพณีสืบมา

แต่ถ้าวันอาทิตย์ไปตรงกับวันพระ ไม่ว่าวัน ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันธรรมสวนะ ข้าราชบริพารต้องไม่นุ่งผ้าสีแดง เพราะจะไปพ้องกับโบราณราชประเพณี ที่วันพระเจ้านายทรงสีแดง

ดังนั้น พวกมหาดเล็กพวกขุนนาง ก็ต้องเลี่ยงไปใช้สีชมพูบ้าง สีน้ำเงินบ้าง

สีแดงสำหรับภูษาเจ้านาย ก็ไม่เหมือนสีแดงธรรมดา ต้องเป็นสีแดงเลือดนก คือแดงแจ๊ด

แต่ก็มีพวกขุนนางที่ไม่ได้จดจำขึ้นแรม เมื่อล้นเกล้า ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงทอดพระเนตรเห็น ท่านก็จะเสด็จปรี่เข้าไปถึงตัวผู้นุ่งผ้าแดงวันพระ แล้วทรงโค้ง คือคำนับอย่างงาม

แล้วทรงมีพระราชปฏิสันดารแดกดันให้ว่า “ทรงพระสำราญดีหรือ พิจ๊ะค่ะ ฝ่าพระบาท”

ถ้ามีเจ้านายอยู่ใกล้ๆ ก็จะแสร้งทรงแนะนำ “นี่คือพยาธิ์ร่วมพระโลก” คือไม่ใช่พระญาติวงศ์ แต่เป็นพยาธิ์จำพวกตัวตืดหรือพยาธิ์ปากขอ เป็นเชิงล้อๆ

ต่อจากนั้น ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานเทศน์เป็นกัณฑ์ใหญ่ว่า “เรานุ่งผ้าแดงผิด”

วิธีนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ทรงใช้กับคนกันเอง ข้ากับเจ้า บ่าวกับนาย แต่ถ้าเป็นข้าราชการนอกๆ ไม่ได้สังกัดในพระราชสำนัก ไม่ทรงว่ากระไร เป็นแต่มองๆ แล้วก็ค้อนให้เป็นพอ

เป็นอันว่า พอได้คำตอบเรื่องธรรมเนียมนุ่งผ้าแดงแล้ว โบราณว่า รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ไม่หนักไม่เหนื่อยแรง ฯลฯ


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "ผ้าแดง ผ้าต้องห้าม?" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มกราคม 2561 19:11:25 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 16 มกราคม 2561 19:26:06 »



เรือเสือ

สองปีที่เป็นทหาร (เรือ) เกณฑ์ (๒๕๐๙-๒๕๑๑) ผมเคยเป็นฝีพายเรือดั้ง...ลำแรกๆ แถวหน้า...ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีทอดกฐินวัดอรุณฯ ครับตอนนั้นไม่รู้ว่าเรือดั้งทำหน้าที่อะไร ต่อมาอ่านหนังสือจึงพอรู้ว่า เป็นเรือตำรวจหลวง...อยู่ในกลุ่มของเรือคู่...เสือทะยานชล เสือคำรณสินธุ์ และคู่ กิเลน ประลองเชิง

เรือกิเลนยังมีในขบวนเรือฯ สมัยรัชกาลที่ ๕ เสียดาย สมัยต่อมาเลิกราไปเสีย ประสบการณ์นี้ทำให้ผมสนใจ “เรือเสือ” เรือลำหนึ่งในขบวนพยุหยาตราฯ สมัยโบราณ (เกิดในเรือ ส.พลายน้อย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๖๐ สถาพรบุ๊คส์) บทนิพนธ์ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) บทหนึ่ง มีว่า เรือเสือต่ำเตี้ยหน้า ซอนซบ เก็บซากลอยอรรณพ กลิ่นกล้า พนักงานนครบาลพบ พานล่อง ลอยนา แมวหนูสุนัขคว้า ใส่สึ้งเรือเอง

หน้าที่เรือเสือ เมื่อเห็นซากสัตว์ลอยน้ำหน้าขบวน ก็ต้องรีบเก็บใส่ถังสังกะสี แต่บางบางครั้งซากสัตว์เล็กมองไม่เห็น “พนักงานนครบาล” ก็ต้องมีเรือนอกขบวน ตระเวนตรวจล่วงหน้าอ่านโคลงเจ้าพระยาพระคลัง (หน)

ผมได้ความรู้ว่า หน้าที่เก็บซากสัตว์หรือสิ่งปฏิกูลในน้ำเป็นของพนักงานนครบาลมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ฝรั่งเริ่มเข้ามา...ปัญหาเรื่องซากสัตว์ลอยแม่น้ำ ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๓๙๙ มีพระบรมราชโองการมานพรกบันฑูตสุรสิงหนาท ประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลราษฎรทั้งปวงให้รู้ทั่วกันว่า บัดนี้ได้ทราบข่าวคนนอกประเทศ แลคนนอกกรุง เป็นลาวแลเขมร แลชาวหัวเมืองดอน ใช้น้ำบ่ออื่นๆ หลายพวก ย่อมติเตียนว่า คนกรุงเทพฯ นี้ทำโสมมนัก ลงในแม่น้ำลำคลอง ด้วยทิ้งซากศพสัตว์ตาย ให้ลอยไปๆ มาๆ น่าเกลียดน่าชัง แล้วก็ใช้กินแลอาบน้ำอยู่เป็นนิจ

เป็นน่ารังเกียจ เสียเกียรติยศแก่พระมหานคร

แต่นี้ไปห้ามมิให้ใครผู้ใดทิ้งสุนัขตาย แมวตาย และซากศพสัตว์ต่างๆ ลงในแม่น้ำแลคลองใหญ่น้อยทั้งปวง เป็นอันขาด  

แต่นี้ไป ถ้าผู้ใดยังขืนทำมักง่ายอยู่อย่างเก่า ก็จะให้นายอำเภอสืบชาวบ้านใกล้เคียงเป็นพยานชำระ เอาตัวผู้ไม่เอื้อเฟื้อมักง่าย ทำให้โสโครกนั้นมาตระเวนประกาศห้ามผู้อื่นต่อไป

ข้อสังเกต แม้ทรงประกาศห้ามขันแข็ง แต่ไม่ทรงลงโทษรุนแรง แค่เอาตัวมาตระเวน...เป็นการเตือนผู้อื่นไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง

ส.พลายน้อยเล่าว่า มีขุนนางเก่า บ้านอยู่ริมคลองบางลำพู สั่งบ่าวไพร่ให้เก็บซากสัตว์ที่ลอยผ่านหน้าบ้านเอาไปฝังไว้ใต้โคนต้นมะม่วง...ท่านว่าเป็นปุ๋ยดีนักท่านกำชับไม่ให้ใครทิ้งซากสัตว์ลงแม่น้ำลำคลองเด็ดขาด เรื่องของขุนนางท่านนี้ ส.พลายน้อย ทัน น่าเสียดาย...ที่อาจารย์ ลืมชื่อ


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "เรือเสือ" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.847 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 19 ธันวาคม 2567 04:32:49