[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
21 ธันวาคม 2567 15:55:16 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ จากพุทธคยาถึงสารนาถ  (อ่าน 5570 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 11 สิงหาคม 2560 17:02:26 »




บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑)
จากพุทธคยาถึงสารนาถ

เคยมีผู้ถามข้อข้องใจเกี่ยวกับพุทธประวัติหลายตอน ตอนหนึ่งว่า หลังจากตรัสรู้พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นโพธิ์และบริเวณปริมณฑลกี่สัปดาห์ และเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง เพราะตำราเขียนต่างกัน

ผมเรียนว่า ตำรามิได้เขียนต่างกัน เพียงแต่เราเอาตำรามาปนกันเลยสับสน

ถ้าถือ ตำราหลัก (คือพระไตรปิฎก) ก็จะได้ความอย่างหนึ่ง ถ้าถือ ตำรารอง (คืออรรถกถา) ก็จะได้ความเพิ่มเติมไปอีกอย่างหนึ่ง พุทธประวัติมีเล่าทั้งในตำราหลักและตำรารอง ผู้ศึกษาต้องกำหนดเป็นเบื้องต้นก่อนว่า ข้อความใดมีในพระไตรปิฎก ข้อความใดเพิ่มเติมมาในอรรถกถา แล้วก็ใช้ข้อความหรือข้อมูลนั้นๆ เสริมกัน

ขอยกข้อมูลจากพระไตรปิฎกมาเล่าก่อน ดังนี้
๑.หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นไม้ที่ตรัสรู้ (ต้นไม้นี้เดิมชื่อ อัสสัตถะ ต่อมาเรียกต้นโพธิ์ เพราะพระพุทธเจ้าได้ โพธิ ใต้ต้นไม้นี้) ๗ วัน ทรงพิจารณาธรรมที่ตรัสรู้แล้วคือ ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา กลับไปกลับมา

ขณะพิจารณาพระพุทธองค์ทรงเปล่งพุทธอุทานว่า เมื่อธรรม (ปฏิจจสมุปบาท) ปรากฏชัดแก่ผู้เพียรเพ่งพินิจ ความสงสัยย่อมหมดไปและขจัดมารพร้อมเสนามารได้ เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ และเพราะรู้การดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย

ปฏิจจสมุปบาท กับ อิทัปปัจจยตา เป็นเรื่องเดียวกัน มิใช่สองเรื่องต่างกัน

อ้อ! พระพุทธองค์ตรัสรู้ อริยสัจ ๔ แต่เวลาพิจารณารายละเอียด ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท นี้ก็อย่าง เป็นเรื่องเดียวกันอีกนั่นแหละ มิใช่คนละเรื่องเดียวกันแต่ประการใด

๒.สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จจากต้นโพธิ์ไปปรับทับใต้ต้น อชปาลนิโครธ

ไทรย้อยต้นนี้ มักจะมีเด็กเลี้ยงแกะมาอาศัยอยู่เสมอ จึงชื่อ อชปาลนิโครธ

ทรงโต้ตอบกับพราหมณ์ผู้มีทิฐิมานะคนหนึ่งที่ชอบตวาดคนอื่นที่มีวรรณะต่ำกว่าตน

๓.สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จไปประทับใต้ต้น มุจลินทร์ (แปลกันว่า ต้นจิก)

ในช่วงเวลานี้มีฝนตกพรำๆ ตลอดสัปดาห์ พญามุจลินทนาคราช ขึ้นมาขดและแผ่พังพานบังลมและฝนให้

เมื่อฝนหายแล้วก็คลายขนดจำแลงร่างเป็นมาณพน้อยยืนประคองอัญชลีนมัสการอยู่

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพุทธอุทานความว่า “ความสงัดของผู้ยินดีในธรรม ผู้สดับธรรมและเห็นธรรมเป็นสุข การระมัดระวังไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย, การละกามคุณได้เป็นสุข, การละอัสมิมานะ (ความถือตัว) เสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง”

๔.สัปดาห์ที่ ๔ สเด็จไปประทับใต้ต้น ราชายตนะ (ต้นเกด) ณ ที่นี้มีพ่อค้าสองคนจากอุกกลาชนบท นามว่า ตปุสสะกับภัลลิกะ มาพบ ถวายสัตตุผง (มันถะ) และสัตตุก้อน (มธุปิณฑิกะ) เปล่งวาจาถึงพระรัตนทั้งสอง คือ ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ (ขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์) ทั้งสองเรียกว่าเป็น เทวฺวาจิกา อุบาสก (อุบาสกที่ถึงพระรัตนะทั้งสอง) เป็นคู่แรก

ตามความในพระบาลีพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุติสุขใต้ต้นไม้ต่างๆ ๔ แห่ง ๔ สัปดาห์ เป็นเวลา ๒๘ วัน

แต่ในอรรถกถา ท่านเพิ่มเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์ ช่วงที่เพิ่มก็คือระหว่างสัปดาห์แรกกับสัปดาห์ที่สอง (เพิ่มเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาด้วย) เป็น ๔ สัปดาห์ แล้วก็เลื่อนสัปดาห์ที่ ๒-๓-๔ เดิม เป็นสัปดาห์ที่ ๕-๖-๗ ตามลำดับ ดังนี้

(๑) สัปดาห์ที่ ๑ อยู่ใต้ต้นโพธิ์ ดังในพระบาลีพระไตรปิฎก
(๒) สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จถอยไปทางทิศอีสานของต้นโพธิ์ ทรงยืนจ้องพระเนตรยังต้นโพธิ์ไม่กระพริบเป็นเวลา ๗ วัน  ณ ที่นี้เองได้เกิด อนิมิสสเจดีย์ ขึ้น
(๓) สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จดำเนินจงกรม (คือเดินกลับไปกลับมา) ระหว่างต้นโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์นั้น เป็นเวลา ๗ วัน
(๔) สัปดาห์ที่ ๔ ประทับขัดสมาธิ พิจารณาพระอภิธรรมตอลด ๗ วัน ณ เรือนแก้วที่มีเทวดานิรมิตให้อยู่ทางเหนือของต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ ๕-๖-๗ ข้อความเหมือนที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก แต่แทรกเหตุการณ์เข้ามาบางเรื่องบางราวให้มีสีสันขึ้นคือ

เหตุการณ์ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ได้แทรกเรื่องราวธิดามาร ๓ ตน นาม ตัณหา ราคา และ อรดี ตามลำดับ รับอาสาพญามารนาม วสวัตตี ผู้พ่อ มายั่วยวนพระพุทธเจ้าหลังจากวสวัตตีพ่ายแพ้พระพุทธองค์ไป ธิดามารทั้ง ๓ มาร่ายรำยั่วยวนพระพุทธองค์อย่างไร ก็มิได้รับความสนพระทัยจากพระองค์แม้แต่น้อย จึงพ่ายแพ้อันตรธานไปในที่สุด

ตรงนี้ทำให้ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแคลงพระทัยว่า ไม่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อพญามารที่มาผจญ เป็นสัญลักษณ์แทนกิเลส เมื่อกิเลสเป็นรากเหง้า คือ โลภ โกรธ หลง พ่ายแพ้ไปโดยสิ้นเชิง พระบรมโพธิสัตว์เป็นพระพุทธเจ้าทรงชนะมารได้เด็ดขาดแล้ว ไฉนยังมีฉากให้ธิดามาร ซึ่งเป็นกิเลส มายั่วยวนพระองค์อีก

แต่หลวงพ่อพุทธทาส ได้เสนอแนวคิดในอีกทางหนึ่งว่า ฉากธิดามารมายั่วพระพุทธองค์ เป็นเพียงการทรงหวนรำลึกถึงความร้ายกาจของกิเลสที่ทรงเอาชนะแล้ว เพียงแต่ทรงย้อนนึกถึงความชั่วร้ายของกิเลสชั่วครู่เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ที่ธิดามารมายั่วชั่วประเดี๋ยวก็หายไปนั้น สมเหตุสมผลแล้ว ท่านว่าอย่างนั้น

เหตุการณ์ใต้ต้นราชายตนะหรือต้นเกด อรรถกถาได้เพิ่มข้อความว่า พ่อค้าสองคนได้กราบทูลขออะไรสักอย่างเป็นที่ระลึก พระพุทธองค์ทรงประทานเส้นพระเกศาให้ สองพ่อค้าได้นำพระเกศธาตุนั้นไปบูชาในประเทศของตน

ตรงนี้อรรถกถามิได้บอกว่า พ่อค้าสองคนนั้นเป็นใคร แต่พม่าได้อ้างว่า พ่อค้าสองคนนี้มาจากประเทศพม่า ได้นำพระเกศธาตุนั้นไปเมืองมาตุภูมิ ก่อพระเจดีย์บรรจุไว้บูชา พระเจดีย์นั้นคือ ชเวดากองในปัจจุบันนี้ ว่าอย่างนั้น นี่ก็ต่อเติมเสริมต่อกันไปไกลโข ฝากไว้พิจารณาด้วย

จากหลักฐานในอรรถกถา พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นโพธิ์และบริเวณปริมณฑลเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน เกือบ ๒ เดือน ถามว่าทำไมท่านจึงเพิ่มเวลาเข้ามาจาก ๒๘ วัน เป็น ๔๙ วัน คำตอบน่าจะเป็นดังนี้ด้วย
(๑) จากวันตรัสรู้ถึงวันทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ ๒ เดือนพอดี ระยะทางจากพุทธคยาไปยังสารนาถ (ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน สมัยโน้น) ประมาณ ๒๐๐ กว่ากิโลเมตร (๒๒๐ กิโลเมตร ประมาณนั้น) ถ้าหากพระพุทธองค์เสด็จออกจากพุทธคยาหลังจากตรัสรู้ ๗ วัน ก็ไม่ทราบว่าจะให้พระพุทธองค์ไปประทับอยู่ที่ไหน จึงจะพอเหมาะพอดีกับเวลา ๕๓ วัน

(เพราะในพระไตรปิฎกมิได้บอกว่าพระองค์ทรงแวะที่ไหนระหว่างทางก่อนจะถึงสารนารถ มีฉากเดียวคือ พบกับอุปาชีวก ซึ่งก็สนทนากันเพียงครู่เดียว แล้วก็เสด็จดำเนินผ่านไป)

จึงเกณฑ์ให้พระพุทธองค์ประทับยับยั้งอยู่ ณ ตำบลพุทธคยา ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน) เหลือเวลา ๑๑ วัน สำหรับการเสด็จดำเนินด้วยพระบาทจากพุทธคยาไปสารนาถ (ให้พระพุทธองค์เสด็จดำเนินไปอย่างช้าๆ วันละประมาณ ๒๐ กิโลเมตร)

ค่อยพอสมเหตุสมผลหน่อย คงเพราะเหตุนี้ประการหนึ่ง พระอรรถกถาจารย์จึงเกณฑ์ให้พระพุทธองค์ทรงยับยั้งอยู่ที่พุทธคยาเป็นเวลานานถึง ๔๙ วัน

(๒) พิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เพิ่มเข้ามาก็น่าคิดไม่น้อย ณ รัตนฆรเจดีย์ นั้น ให้พระพุทธองค์ทรงพิจารณาอภิธรรมตลอด ๗ วัน ตรงนี้นำมาสันนิษฐานได้ว่า ผู้แต่งอรรถกถาคือพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านต้องการจะหาเหตุผลมาแสดงว่า พระอภิธรรมปิฎกนั้น มิใช่เป็นพัฒนาการในยุคหลัง พระอภิธรรมปิฎกนั้นเป็นพุทธวจนะแน่นอน และมีมาพร้อมกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าเมื่อประกาศพระศาสนา ทรงแสดงเฉพาะธรรมกับวินัย แต่อภิธรรมก็มีมาแล้ว และรวมอยู่ในคำว่า ธรรม นั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในราวพุทธศตวรรษที่ ๙ ที่ ๑๐ เป็นต้นมา มีกระแสคัดค้านพระอภิธรรมปิฎกว่า ไม่ใช่พุทธพจน์ เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมมาภายหลัง สมัยพุทธกาลนั้นมีแต่ธรรมกับวินัย

พูดให้ชัดก็ว่า พระสุตตันตปิฎกกับพระวินัยปิฎกเก่าแก่และเป็นพุทธวจนะ ส่วนอภิธรรมปิฎก เพิ่มเติมมาภายหลัง

พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านเป็นพระสำนักอภิธรรม ท่านต้องการแสดงว่า พระอภิธรรมปิฎก นั้นเก่าแก่เช่นเดียวกัน จะว่าไปแล้วมีมาตั้งแต่ตอนที่พระองค์ตรัสรู้ด้วยซ้ำ เพราะพระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระอภิธรรม ณ รัตนฆรเจดีย์ ในสัปดาห์ที่ ๓ หลังตรัสรู้

ท่านเพิ่มเข้ามาเอง ก็เป็นหลักฐานอ้างอิงในภายหลังได้สิครับ ดังฝ่ายเชน เพิ่มพระสูตรว่า พระพุทธเจ้าทรงประทาน “เชน” แก่พระมหากัสสปะ ณ เขาคิชฌกูฏ เพราะฉะนั้น “เชน” จึงเป็น “รหัส” ลับเฉพาะที่พระพุทธเจ้าประทานมา

ถ้าใครถามหาหลักฐาน เขาก็บอกได้ว่า มีพูดไว้ใน “มหาพรหมปัญหสูตร” ตรัส ณ เขาคิชฌกูฏ แก่เหล่าสาวกอันมีพระมหากัสสปะ เป็นหัวหน้า

เมื่อฝ่ายเถรวาทอ้างหลักฐานได้ ฝ่ายเชนเขาก็มีสิทธิ์อ้างได้เช่นกัน จะไปหาว่าเขาแต่งพระสูตรขึ้นภายหลังได้อย่างไร ในเมื่ออรรถกถาของฝ่ายเถรวาทก็แต่งภายหลังเหมือนกัน

ผมคิดว่าที่พระอรรถกถาจารย์ท่านเพิ่มเหตุการณ์ ให้พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาพระอภิธรรมหลังตรัสรู้ ก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมว่า พระอภิธรรมปิฎกก็เป็นพุทธพจน์และมีมาตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับ ธรรม และ วินัย (ซึ่งต่อมากลายเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก)

มองไม่เห็นเหตุผลอื่น หรือใครมองเห็นก็บอกมาก็แล้วกันครับ


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑) จากพุทธคยาถึงสารนาถ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐีรยรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับประจำวันที่ ๑๑-๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐


บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๒)
ฤๅเผ่าศากยะมิใช่อารยัน...?

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงวันเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุติสุขหลังตรัสรู้ ในบาลีพระไตรปิฎกบอกว่า ๔ สัปดาห์ แต่อรรถกถาเพิ่มเข้ามาอีกรวมเป็น ๗ สัปดาห์
ได้พยายามเดาใจพระอรรถกถาจารย์ว่าท่านเพิ่มด้วยเหตุผลอะไร ก็เดาไปแล้วครับ ถูกผิดอย่างไรไม่ทราบ เพราะได้บอกแล้วว่า เดา เมื่อเดามันก็ย่อมมีส่วนผิดมากกว่าถูกเป็นของธรรมดา  

ตอนนี้ขอเสนอข้อมูลอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับพุทธองค์ ขอให้อ่านเพื่อ “รู้ไว้ใช่ว่า” เท่านั้นนะครับ อย่าได้เคร่งเครียดจริงจัง ถึงขนาด “ใส่บ่าแบกหาม” ก็แล้วกัน

เบื้องแรกขอพูดถึงสถานภาพของพวกศากยะ ตระกูลวงศ์ของพระพุทธองค์

พุทธประวัติโดยทั่วไปกล่าวว่า พวกศากยะปกครองตัวเองเป็นเอกราช สืบทอดสันตติวงศ์กันมา ตั้งแต่พระเจ้าโอกกากราชจนถึงพระเจ้าสุทโธทนะ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสโดยไม่แน่พระทัยว่า “นครเหล่านี้ (กบิลพัสดุ์ เทวทหะ รามคาม) มีวิธีปกครองอย่างไรไม่ได้กล่าวไว้ชัด แต่สันนิษฐานตามประเพณี ชนบทเหล่านี้ปกครองโดยสามัคคีธรรม...”

แต่เรื่องเชื้อชาติ ทรงยืนยันว่าเป็นอารยัน (ฝรั่ง) พระผู้มีพระภาคเจ้าพระศาสดาของเราทั้งหลาย ได้เสด็จอุบัติขึ้นในพวกอริยกชาติ ในจังหวัดมัชฉิมชนบท ชมพูทวีป แคว้นสักกะ

ข้อน่าพิจารณาคือ พวกศากยะปกครองแบบใด เท่าที่ปรากฏชมพูทวีปสมัยนั้นมีการปกครองอยู่ ๒ ระบอบ คือ ราชาธิปไตย กับสามัคคีธรรม

แบบแรกเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว

ส่วนแบบที่สองนั้นสภา “สังฆะ” จะเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมขึ้นปกครองประเทศเรียกว่า “กษัตริย์” บ้าง “ราชา” บ้าง อยู่เป็นวาระ กษัตริย์หรือราชาบริหารประเทศผ่านรัฐสภา (ศากยสภา, สัณฐาคาร)

รัฐที่ปกครองด้วยระบอบนี้ที่ระบุชัดเจนมีแคว้นวัชชีของเหล่ากษัตริย์ ลิจฉวี และแคว้นมัลละ ของมัลลกษัตริย์

แคว้นสักกะ (ศากยะ) ของพวกศากยะ เข้าใจว่าปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรมเช่นเดียวกัน มีหลักฐานบ่งชี้หลายแห่งดังนี้
๑. ในทีฆนิกาย กล่าวถึงพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งเดินทางผ่านไปยังรัฐสภา (สัณฐาคาร) ของพวกศากยะไม่มีใครเอาใจใส่เพราะกำลังทำกิจของตนอยู่ ผูกใจเจ็บว่าพวกศากยะไม่เห็นความสำคัญของตน จึงดูถูกว่า พวกศากยะเป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีการศึกษา

๒. พระไตรปิฏกและอรรถกถา เล่าเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงขอนางขัตติยานีศากยะไปอภิเษก เพื่อเป็น “พระญาติทางสายเลือด” กับพระพุทธเจ้า พวกศากยะประชุมรัฐสภาตัดสินส่งนางวาสภขัตติยา พระธิดาของเจ้ามหานาม อันเกิดจากนางทาสีไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล อันเป็นสาเหตุให้เกิดสงคราม “ล้างโคตร” พวกศากยะในเวลาต่อมา

๓. หลักฐานชั้นอรรถกถา เช่น ธัมมปทัฏฐกถา เล่าเรื่องพวกศากยะกับโกลิยะทำสงครามแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี เพื่อมาทำการเกษตรพวกศากยะประชุมรัฐสภาตัดสินโดยเสียงข้างมาก ก่อนยกทัพไปรบกับพวกศากยะ เดชะบุญ พระพุทธองค์เสด็จมาห้ามไว้ ไม่เช่นนั้นสงครามเลือดระหว่างหมู่ญาติคงจะเกิดขึ้น

๔. พวกศากยะมิได้เป็นเอกราช แต่อยู่ภายใต้ปกครองของประเทศมหาอำนาจ คือ แคว้นโกศล มีหลักฐานเป็นพุทธวจนะว่า “วาเสฏฐะ พวกศากยะทั้งหลายเป็นผู้ใกล้ชิดและอยู่ในอำนาจพระเจ้าปเสนทิโกศล” (๑๑/๕๔/๙๑) และอีกแห่งหนึ่งว่า “ราชะชนบทข้างเขาหิมพานต์ สมบูรณ์ด้วยความเพียรเครื่องหาทรัพย์เป็น ‘นิเกติโน’ แห่งรัฐโกศล” (๒๕/๓๕๔/๔๐๗)

คำว่า “นิเกติโน” สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแปลว่า “เป็นถิ่น” แต่อรรถกถาไขความทำนองว่าเป็น “เมืองขึ้น” (อนุยนฺตา วสวตฺติโน)

๕. พวกศากยะเป็นเผ่าเล็กๆ อยู่เชิงเขาหิมพานต์ ทิศอีสานของชมพูทวีปสมัยนั้น มิใช่ส่วนกลางหรือมัชฉิมประเทศปัจจุบันนี้คือประเทศเนปาล มีลัทธิความเชื่อประเพณีเป็นของตนไม่เหมือนคนอินเดียสมัยนั้น

มีความผูกพันทางสายเลือดสูง เช่น เวลาจะคลอดลูกจะต้องไปคลอดที่ตระกูลบรรพบุรุษ แต่งงานกันเองในหมู่พี่น้อง เพราะไม่ต้องการให้สายเลือด “อันบริสุทธิ์” ตนไปปะปนกับชนชาติอื่น

บูชากระดูกบรรพบุรุษ เช่น เมื่อเผาศพแล้วจะเอากระดูกบรรจุเจดีย์บูชา ไม่เอาลอยน้ำดังพวกคนอินเดียทั่วไป

ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะเช่นพวกอารยัน

ปฏิเสธพระเจ้า สันนิษฐานว่าลัทธิความเชื่อถือของพวกศากยะคือลัทธิ “สางขยะ” เป็นคำสอนของฤๅษีกบิล (ฤๅษีตนนี้เองที่ชี้ชัยภูมิพื้นที่ให้พวกศากยะสร้างเมืองชื่อเมืองว่า “กบิลพัสดุ์” ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน)

ปกครองผ่านรัฐสภา (ดังกล่าวข้างต้น) ดุจเดียวกับแคว้นวัชชีและแคว้นมัลละ เป็นเผ่านักรบ ชอบมวยปล้ำ ขี่ม้ายิงธนู ต่อสู้ตัวต่อตัว ดังปรากฏในพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะได้ฝึกปรือศิลปะวิทยาการครบทั้ง ๑๘ แขนง ตามแบบอย่างของเผ่าพันธุ์ของตน มิได้ไปศึกษายังตักสิลาอย่างที่นิยมกันสมัยนั้น

มีผิวเหลือง มิใช่ผิวขาวอย่างฝรั่ง ดังปรากฏพระสูตรหลายแห่งพรรณนาพระลักษณะของพระพุทธเจ้าว่า “สุวณฺณวณฺโณ (มีผิวดังทอง)”

จึงมีผู้สันนิษฐาน พระพุทธเจ้าคงจะมิใช่อารยันดังที่กล่าวในตำรา ถ้าเช่นนั้นทรงมีเชื้อสายอะไรเห็นจะต้องพิจารณาจากหลักฐานทางชาติพันธุ์

เมื่อพิจารณาเชื้อชาติของคนอินเดียที่สำคัญจะเห็นว่ามีถึง ๖ เชื้อชาติ เฉพาะที่เกี่ยวกับลัทธิศาสนาที่เกิดขึ้นหรือแพร่เข้ามายังอินเดียในระยะก่อนพุทธกาลมี ๔ เชื้อชาติคือ เชื้อชาติมองโกล มิลักขะ ทัสยุ อารยัน (ไม่นับกรีกและมุสลิม ซึ่งเข้าไปหลังพุทธกาล)
๑) เผ่ามองโกล กับ เผ่านิโกร อพยพเข้ามายังอินเดียก่อนใครๆ ทั้งสองเผ่าผสมพันธุ์กันขึ้นเกิดเป็นเผ่า โปรโต-ออสตราลอยด์ ซึ่งเป็นเผ่าพื้นเมืองของอินเดียก่อนพุทธกาลเรียกว่า “มิลักขะ” ส่วนนิโกรแท้นั้นมีจำนวนน้อย อาศัยอยู่ตามป่าเขา สมัยพุทธกาลเรียกพวกนี้ว่า “นาค” พวกนาคนี้กระจายมาถึงแหลมมลายูและตามเกาะแก่งต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ส่วนชนเชื้อชาติมองโกลบริสุทธิ์อาศัยหลักแหล่งอยู่เชิงเขาหิมาลัย อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน พวกมองโกลไม่นิยมแต่งงานกับชาติอื่นนอกจากพวกเพียวกัน พวกนี้เป็นนักรบเร่ร่อนมาก่อน ปกครองกันเองแบบประชาธิปไตย ทุกคนทัดเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ มีสภาและมีการประชุมหารือเลือกหัวหน้าขึ้นปกครอง

๒) เผ่ามิลักขะ เป็นเผ่าผสมระหว่างนิโกร กับมองโกล และคนพื้นเมืองอื่นๆ ในอินเดีย นักวิชาการเรียกพวกผสมพันธุ์ดังกล่าวว่าพวกโปรโต-ออสตราลอยด์ ผิวดำ หัวหยิก อยู่กระจายทั่วไปในอินเดีย

๓) เผ่าทัสยุ (ฑราวิฑ) คือพวกที่อพยพมาจากริมทะเลสาบแคสเปี้ยน แต่มาอยู่อิหร่านเสียนาน พอมีกำลังเป็นปึกแผ่นแล้วก็รุกเข้ามาอินเดีย นักวิชาการเรียกพวกนี้ว่า ฑราวิเฑียน (ดราวิเดียน) แต่พวกเปอร์เซียเรียกพวกนี้ว่า “ทหะ” หรือ “ทหยุ” ต่อมาเมื่อพวกอารยันเข้ามายังอินเดียได้ปราบปรามพวกนี้อยู่ในอำนาจจนนำมาใช้เป็นทาส จึงหมิ่นประมาทพวกนี้ว่าพวกทาส หรือทัสยุ พวกนี้ผิวดำแดง รูปร่างได้ส่วนคล้ายคลึงกับพวกมิลักขะ พวกอารยันดูไม่ออกว่าพวกไหนเป็นพวก เลยเหมาเอาว่าเป็นพวกเดียวกัน ความจริงพวกฑราวิเฑียนหรือทัสยุนี้ มีอารยธรรมสูงกว่าพวกอารยันด้วยซ้ำ ดังหลักฐานโบราณคดีที่ขุดพบ คือ เมืองโบราณที่ “มเหนโจดาโร” แขวงเมืองลัคเนา และที่ “ฮารัปปา” แขวงเมืองมอนต์โกเมอรี แคว้นปัญจาบ มีความเก่าแก่ระยะเดียวดับไอยคุปต์โบราณ

๔) เผ่าอารยัน ผิวขาว ร่างสูงใหญ่ นักวิชาการเรียกว่าพวกนอร์ดิก พูดภาษาอินโดยอารยัน อพยกมาจากทิศตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่เข้ามาอยู่หลังพวกมองโกลและทัสยุ รุกเข้ามาครอบครองมีอำนาจเหนือพวกมิลักขะและทัสยุ ส่วนพวกมองโกลที่อยู่ห่างไกลไปถึงหิมาลัย ภัยรุกรานของพวกอารยันจึงไม่ไปถึง ทั้งพวกมองโกลก็เป็นนักรบที่เก่งกล้าไม่แพ้อารยัน

ลัทธิความเชื่อถือดั้งเดิมของอารยันเชื่อว่ามีพระเจ้าสร้างโลก เชื่อวิญญาณล่องลอยจากคนตายได้ อย่างเดียวกับพวกไอยคุปต์โบราณ ต่างเพียงแต่ว่าพวกไอคุปต์เชื่อว่าสามารถรักษาร่างเดิมไว้มิให้เปื่อยเน่า วิญญาณจะหวนกลับเข้าร่างเดิมอีก แต่พวกอารยันเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ จึงสอนกันใหม่ว่า วิญญาณที่ล่องลอยไป เมื่อพบร่างใหม่ที่เหมาะสมจะเข้าสิงสู่ วิญญาณนี้เรียกว่า “ชีวะ” หรือ “อาตมัน” เป็นอมตะนิรันดร

๕) เชื้อชาติกรีก เข้ามาหลังพุทธกาล (ประมาณ พ.ศ.๒๑๓) อเล็กซานเดอร์มหาราช ตีอาณาจักรเปอร์เซียได้แล้วยกทัพข้ามฮินดูกูฏเข้ามาทางภาคเหนือของอินเดีย ยึดครองตักสิลาและแคว้นปัญจาบ เดินทัพเรื่อยมาจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ ช่วงที่กรีกมีอำนาจเหนืออินเดียได้นำความนิยมปั้นรูปเคารพมาเผยแพร่ด้วย จนเกิดการสร้างพระพุทธรูปในกาลต่อมา ลูกหลานกรีกสำคัญคนหนึ่งต่อมาได้นับถือพระพุทธศาสนา คือ พระเจ้าเมนานเดอร์ หรือมิลินท์ได้โต้วาทะกับพระเถระนามว่านาคเสน รายละเอียดของการโต้วาทะระหว่างบุคคลทั้งสองมีบันทึกอยู่ในหนังสือชื่อ มิลินทปัญหา

๖) ชนเชื้อชาติมุสลิม หมายถึงพวกที่นับถือศาสนาอิสลาม พวกนี้มาจากเปอร์เซีย ตุรกี อิรัก และอิหร่าน มุสลิมชื่อมูดหมัดโฆรีนำกองทัพมาตีอินเดียได้ตั้งวงศ์กษัตริย์มุสลิมปกครองอินเดียประมาณ พ.ศ.๑๗๓๕

มีผู้กล่าวว่าอาจเป็นไปได้ที่พระพุทธเจ้ามิใช่อารยัน

ศาสนาของพระพุทธเจ้าคัดค้านลัทธิความเชื่อดั้งเดิม ตลอดจนประเพณีพิธีกรรมบางอย่างของเผ่าของพระพุทธเจ้าก็แตกต่างจากของพวกอารยันในอินเดีย

จึงมีผู้เสนอว่าเผ่าศากยะของพระพุทธองค์น่าจะเป็นพวกมองโกล   ว่ากันอย่างนั้น ฝากพิจารณาด้วยก็แล้วกัน


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๒) ฤๅเผ่าศากยะมิใช่อารยัน...? โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐีรยรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับประจำวันที่ ๑๘-๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๐


บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๓)
เหตุการณ์ระหว่างทางไปสอนปัญจวัคคีย์

เส้นทางระหว่างพุทธคยาไปยังสารนาถ (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน) ประมาณ ๒๒๐ กว่ากิโลเมตร ประมาณนั้น (แผนที่ทางอากาศ, แต่ถ้าภาคพื้นดินตามปกติ จากพุทธคยาไปพาราณสี ๒๔๐ กิโลเมตร จากพาราณสีไปสารนาถอีก ๑๑.๔ กิโลเมตร รวมจากพุทธคยาไปสารนาถก็ ๒๕๑.๔ กิโลเมตร) พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินด้วยพระบาทจากพุทธคยา มุ่งตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่ปัญจวัคคีย์หนีมาอยู่

ระหว่างทางทรงพบอาชีวกนามว่า อุปกะ เดินสวนทางมา อาชีวกคนนี้เห็นพระบุคลิกลักษณะของพระองค์น่าเลื่อมใส รู้สึกประทับใจ จึงเข้าไปถาม คำโต้ตอบกันคัดจากพระไตรปิฎกมีดังนี้

อุปกะ “อาวุโส (ผู้มีอายุ, ท่าน หรือ คุณ) อินทรีย์ของท่านผ่องใส ฉวีวรรณผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศให้ใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือว่าท่านชอบใจธรรมของใคร”

พุทธ “เราครอบได้หมด เป็นผู้รู้จบ ไม่ติดอยู่ในธรรมทั้งปวง ละธรรมได้หมด พ้นแล้ว เพราะหมดสิ้นตัณหา เรารู้แจ้งเองแล้ว จะอ้างใครว่าเป็นศาสดาเล่า”

“เราไม่มีอาจารย์ คนเช่นเราไม่มี เราหาผู้เปรียบปานมิได้ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก”

“เราเป็นอรหันต์ในโลก เป็นศาสดาไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นสัมมาสัมพุทธะคนเดียว เป็นสัมมาสัมพุทธะคนเดียว เป็นผู้ดับเย็นสนิทแล้ว”

“ในเมื่อโลกมืดมิดฉะนี้ เราจะไปแคว้นกาสี เพื่อหมุนกงล้อคือพระธรรม และเพื่อลั่นกลองอมตะ”

อุปกะ “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ปฏิญญาว่าท่านเป็น ‘อนันตชินะ’ (ผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด) ละสิ”

พุทธ “ชินะทั้งหลายที่บรรลุความสิ้นตัณหาเช่นเราไม่มี ธรรมชั่วช้า (บาปอกุศล) เราเอาชนะได้แล้ว เพราะฉะนั้น อุปกะ เราจึงเป็นชินะ”

อัปกะพูดว่า “อาวุโส สิ่งที่ท่านพูดนั้น พึงเป็นไปได้” แล้วสั่นศีรษะ หลีกทางไป (หุเวยฺยาวุโสติ วตฺวา สีสํ โอกมฺเปตฺวา อุมฺมคฺคํ คเหตฺวา ปกฺกามิ)

(วินย.มหา ๔/๑๑/๑๑)

ข้อความในวงเล็บหมายถึง มาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรคพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๑ หน้า ๑๑

ข้อความจากอรรถกถา (ธัมมปทัฉฐกถา) มีดังนี้
อุปกะ “ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณผุดผ่องท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”

พุทธ “เราครอบได้หมด เป็นผู้รู้จบ ไม่ติดในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งหมด พ้นแล้วเพราะหมดตัณหา รู้เองแล้วจะต้องอ้างใครเป็นอาจารย์เล่า”

อุปกะ ไม่ยินดี ไม่คัดค้าน แต่สั่นศีรษะ แลบลิ้น ยึดทางที่เดินไปคนเดียว ได้ไปยังที่อาศัยของนายพรานแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว

“(อุปโก อาชฺวโก ตถาคตสฺส วจนํ นาภิน นฺทิ นปฺปฏิกฺโกสิ สีสํ จา เลตฺวา เอกปทิกํ มคฺคํ คเหตฺวา อญฺญตรํ ลุทฺทกนิวาสฏฺฐานํ อคมาสิ)”

(ธมฺมปฏฺฐกถา ภาค ๘ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ พ.ศ.๒๕๐๙ ภาษาบาลี หน้า ๓๗)

คำถามที่มักถามกันก็คือ อุปกาชีวก เชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่

ลองพิจารณาจากหลักฐานชั้นต้น(พระไตรปิฎก) กับหลักฐานชั้นรอง (อรรถกถา) ดู จะเห็นว่าอุปกาชีวกน่าจะเชื่อพระพุทธเจ้านะครับ

ดังข้อสังเกตต่อไปนี้
๑.คำพูดว่า หุเวยฺยาวุโส = ผู้มีอายุ ที่ท่านพูดนั้นพึงเป็นไปได้  คำว่า “พึงเป็นไปได้” มีเปอร์เซ็นต์แห่งความเชื่อเกิน ๕๐ ถ้าจำไม่ผิด พระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ (ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์) แปลความตรงนี้ว่า “ I see” แสดงว่าเชื่อพระพุทธองค์

ในอรรถกถา ไม่บอกว่า อุปกาชีวกพูดอะไร หลังจากพระพุทธองค์ตรัสจบ บอกแต่ว่าไม่ยินดี และไม่คัดค้าน แต่ก็บ่งบอกความเชื่อของอุปกาชีวกในระดับสูงเช่นเดียวกัน

๒.การสั่นศีรษะ ตามวัฒนะธรรมของชาวชมพูทวีปแสดงถึงเชื่อ ในอรรถกถาเพิ่มแลบลิ้นด้วย ไม่ทราบว่าการแลบลิ้นเป็นการคัดค้านหรือยอมรับ แต่ถ้าถือตามวัฒนธรรมทิเบต มีผู้เล่าว่าเป็นการยอมรับและไว้เนื้อเชื่อใจอย่างยิ่งด้วย

ยิ่งถ้าดูเหตุการณ์หลังจากอุปกาชีวกแยกจากพระพุทธเจ้าไปแล้วบริบทหรือความแวดล้อมจะบ่งชัดว่า อุปกาชีวกเชื่อพระพุทธเจ้า

คัมภีร์อรรถกถาเล่าต่อไปว่า หลังจากหลีกทางจากพระพุทธองค์แล้ว อุปกาชีวกไปอาศัยที่หมู่บ้านนายพรานแห่งหนึ่ง ในความอุปถัมภ์ของครอบครัวนายพรานครอบครัวหนึ่ง

ต่อมาอุปกาชีวกหลงรักลูกสาวนายพรานชื่อนางจาปา ได้สึกไปแต่งงานกับนาง ช่วยพ่อตาหาบเนื้อขาย (เพราะไม่มีความรู้ศิลปะวิชาอะไร เนื่องจากบวชมานาน) มีลูกชายหนึ่งคนนามว่าสุภัททะ ต่อมามีปัญหาครอบครัว เกิดความเบื่อหน่ายนึกถึงพระ “อนันตชินะ” (พระพุทธเจ้า) ขึ้นมา จึงได้ตามไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์

แต่ถ้าดูพุทธประวัติที่แต่งในภายหลัง ทุกฉบับจะบอกว่า อุปกาชีวกไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เหตุผลก็คือ อุปกาชีวกแก “สั่นศีรษะ”

ลงว่าได้สั่นศีรษะ แสดงว่าไม่เชื่ออยู่แล้ว ยิ่งแลบลิ้นด้วยแล้วจะเหลืออะไร ใช่ไหมครับ พระปฐมสมโพธิ ฉบับสมเด็จพระสังฆราชสา วาดภาพฉากนี้ให้อุปกาชีวกกล่าวเย้ยหยันพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ถ้าถือตามวัฒนธรรไทยก็น่าเชื่อว่าอุปกาชีวกแกไม่เชื่อพระพุทธองค์

แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมืองอินเดีย  สั่นศีรษะ ตามวัฒนธรรมอินเดีย หมายถึง Yes มิใช่ No ครับผม


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๓) เหตุการณ์ระหว่างทางไปสอนปัญจวัคคีย์ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐีรยรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับประจำวันที่ ๒๕-๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๐

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 กันยายน 2560 16:54:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 กันยายน 2560 17:02:27 »



บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๔)
สูกรมัททวะนั้นดังฤๅ

ประเด็นที่จะเล่าต่อไป เป็นเรื่องเก่าแล้ว รู้กันโดยทั่วไป ผมเองก็เคยนำไปพูดไปเขียนบ้างแล้ว แต่เอามาเล่าอีก เพื่อให้เข้าชุดกับเรื่องอื่นที่เล่ามาแต่ต้น ถือเป็น version ใหม่ก็แล้วกัน

เรื่องที่ว่านี้คือ สูกรมัททวะ พระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า มันคืออะไร

ก่อนจะวินิจฉัย ก็ต้องนำข้อมูลจากมหาปรินิพพานสูตรมาลงไว้ก่อน

นายจุนทะกัมมารบุตรได้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต และสูกรมัททวะเป็นอันมากในนิเวศน์ของตน โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น ให้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว...

พระผู้มีพระภาคตรัสกับนายจุนทะกัมมารบุตรว่า ดูก่อน จุนทะ ท่านจงอังคาสเราด้วยสูกรมัททวะที่ท่านตระเตรียมไว้ จงอังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างอื่นที่ท่านตระเตรียมไว้... (นายจุนทะกัมมารบุตรได้ทำตามพุทธองค์ตรัสสั่ง)

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสกับนายจุนทะกัมมารบุตรว่า ดูก่อนจุนทะ ท่านจงฝังสูกรมัททวะที่ยังเหลือในหลุม เรายังไม่เห็นบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งบริโภคสูกรมัททวะนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยไปด้วยดี นอกจากตถาคต...

นายจุนทะกัมมารบุตร...จึงฝังสูกรมัททวะที่ยังเหลือในหลุม แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค (ข้อความนี้จากทีฆนิกายมหาวรรค พระสุตตันตปิฎก ฉบับภาษาไทย เล่มที่ ๑๐ ข้อ ๑๑๗ หน้า ๑๒๘)

เหตุการณ์ต่อมาก็คือ หลังจากเสวย สูกรมัททวะ แล้ว พระอาการประชวรก็กำเริบและพระพุทธองค์ดับขันธ์ปรินิพพานในเวลาต่อมา ณ สาลวโนทยานของเหล่ามัลลกษัตริย์ กรุงกุสินารา

ก่อนนั้นพระพุทธองค์ตรัสป้องกันนายจุนทะไว้ว่า บิณฑบาตที่มีอานิสงส์มากมีอยู่ ๒ ครั้งเท่านั้นคือ ที่นางวิสาขาถวายก่อนตรัสรู้และที่นายจุนทะกัมมารบุตรถวายก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน ถ้าใครพึงทำให้นายจุนทะเกิดความร้อนใจว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพราะเสวยภัตตาหารที่ตนถวาย หรือนายจุนทะจะเกิดความร้อนใจเอง อานนท์จงช่วยบรรเทาความร้อนใจของเขาด้วย ว่าเป็นลาภของเขาที่มีโอกาสถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะดับขันธ์ปรินิพพาน

พุทธประวัติที่เราชาวพุทธไทยเรียน อาทิ พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส แปลสูกรมัททวะว่า เนื้อสุกรอ่อน หลายท่านบอกว่าไม่น่าจะเป็นเนื้อสุกรอ่อน และบอกว่าชาวพุทธฝ่ายมหายานเขาไม่แปลว่าเนื้อสุกรอ่อน แต่เขาว่าเป็น เห็ดชนิดหนึ่ง

ความคิดแย้งกันอย่างนี้ แต่ก่อนชาวพุทธเถรวาท (โดยเฉพาะเถรวาทไทย) ไม่ค่อยมีเพราะไม่สนว่าฝ่ายอื่นจะเข้าใจอย่างไร ถือว่าที่ฝ่ายตนได้รับถ่ายทอดมาถูกต้องแล้ว จึงมักไม่ค่อยรับฟังความเห็นที่แตกต่างออกไป แต่เดี๋ยวนี้จะถือเช่นนั้นคงไม่ได้แล้ว ควรจะเงี่ยโสตฟังความเห็นที่แตกต่าง การตีความที่แตกต่างออกไป เชื่อตามหรือไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ฟังๆ ไว้ดีที่สุด

ที่จริง สูกรมัททวะคืออะไร พระอรรถกถาจารย์ท่านประมวลความคิดเห็นไว้ก่อนแล้วครับ

ท่านประมวลไว้ ๓ ทรรศนะคือ
๑.”สูกรมัททวะ ได้แก่ ปวัตตมังสะ (เนื้อที่ขายตามตลาด) ของสุกรที่เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่แก่เกินไป” (สูกรมทฺวนฺติ นาติชิณฺณสฺส เอกเชฏฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ)

มตินี้บอกว่าเป็น เนื้อหมู ที่ขายตามตลาดทั่วไป

๒.”สูกรมัททวะ เป็นชื่อแห่งวิธีการปรุงข้าวอ่อนด้วยเบญจโครส เหมือนชื่ออาหารที่ปรุงด้วยควปานะ” (เอเก ภณนฺติ สูกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามนฺติ)

มตินี้ว่าได้แก่ ข้างหุงด้วยนมโค

๓.”รสายนวิธีชื่อว่า สูกรมัททวะ รสายน วิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์  นายจุนทะตกแต่งอาหารตามคัมภีร์สายนศาสตร์ เพื่อมิให้พระพทูเจ้าปรินิพพาน” (เกจิ ภณนฺติ สูกรมทฺทวํ นาม รสายนวิธิ ตํ ปน รสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ภควโต ปรินิพฺพานํ น ภเวยฺ ยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตนฺติ)

มตินี้ว่าเป็น สมุนไพรชนิดหนึ่ง

คัมภีร์ฝ่ายมหายาย ตีความสูกรมัททวะว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ไม้จันทร์ เรียกในภาษาจีนว่า จันทินฉิ่วยื้อ และว่าเห็ดชนิดนี้หมูชอบกิน จึงเรียกว่า สูกรมัททวะ ว่ากันอย่างนั้น

สรุปแล้ว สูกรมัททวะ ตีความกัน ๓ นัย คือ
๑.เนื้อสุกรอ่อน
๒.ข้าวหุงด้วยนมโค
๓.สมุนไพรชนิดหนึ่ง

ที่ถูกควรจะเป็นอะไร ผมมิบังอาจวินิจฉัยว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขอเสนอความคิดเห็นอันต่ำต้อยสักเล็กน้อยดังนี้

พิเคราะห์จากข้อความแวดล้อมในพระสูตร สูกรมัททวะ มิใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อหมูธรรมดาแน่นอน และคงมิใช่ข้าวหุงด้วยนมโคด้วย เพราะในพระสูตรกล่าวว่า อาหารชื่อสุกรมัททวะนี้ย่อยยาก พระพุทธองค์เท่านั้นที่จะย่อยได้ ถ้าเป็นเนื้อหมู เป็นข้าวหุงด้วยนมโค ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการย่อย มติที่ ๓ ที่บอกว่าเป็นโอสถพิเศษปรุงตามตำรับรสายนศาสตร์ (ฝ่ายมหายานระบุว่าเห็ดแก่นจันทร์) น่าพิจารณากว่าสองมติข้างต้นเพราะ

๑.นายจุนทะรู้ว่าพระพุทธองค์ทรงประชวร จึงขวนขวายหาโอสถมาปรุงถวาย การปรุงยาต้องตระเตรียมกันทั้งคืน ถ้าเป็นการหุงหาอาหารธรรมดา ก็ไม่น่าเสียเวลานานถึงขนาดนั้น

๒.พระองค์มิให้นายจุนทะถวายสูกรมัททวะแก่พระสงฆ์อื่น ก็เนื่องจากพระรูปอื่นมิได้อาพาธเหมือนพระองค์ และยาที่นายจุนทะปรุงนี้ บางทีอาจปรุงด้วยตัวยาหนักเบาสำหรับพระพุทธองค์โดยเฉพาะ อย่างตำราไทยโบราณว่าไว้ ต้องมีการคูณธาตุน้ำหนักยา มีหนักเบามากน้อยตามความเหมาะสมแก่คนไข้เป็นรายๆ ไป ใช่ว่ายาหม้อเดียวจะรักษาได้ทุกคนก็หาไม่ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า พระองค์เท่านั้นเหมาะจะเสวยสูกรมัทวะนี้ และย่อยมันได้ดี

เข้าทำนองว่า ลางเนื้อชอบลางยา นั่นแล

มีความเป็นไปได้มากและสมเหตุสมผลมากที่สุด ที่สูกรมัททวะเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง

๓.ถามว่าถ้าสิ่งที่ว่านี้เป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง แล้วทำไมจึงมีชื่อว่า สูกร (หมู) อยู่ด้วย

ข้อนี้ตอบไม่ยาก ดูตัวอย่างชื่อสมุนไพรโบราณแล้วจะเข้าใจ ยาแต่ละขนานมีชื่อแปลกๆ ทั้งนั้น เช่น น้ำนมราชสีห์ ก็มิได้เอาน้ำนมของราชสีห์มาทำ ยาจตุรพักตร์ ก็มิได้หมายถึงพรหมสี่หน้า จริงๆ เสลดพังพอน เปลือกไข่เน่า ฯลฯ ไม่เกี่ยวอะไรกับพังพอนหรือไข่ไก่ไข่เป็ดเน่าแต่ประการใด

สูกรมัททวะ (สุกรอ่อน) ก็ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับสุกรก็ได้ ฉันใดก็ฉันนั้นแล

ที่ปกรณ์ฝ่ายสันสกฤต (ฝ่ายมหายาน) ระบุว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดจากไม้จันทร์ ก็ฟังดูเข้าที อาจเป็นเห็ดชนิดนี้ก็ได้ บางท่านเสียดายคำว่า หมู อยู่ก็กล่าวว่า เห็ดที่หมูชอบกิน ก็ว่ากันไป

แต่จะเป็นเห็ดหรือไม่ใช่เห็ด ก็เข้าข่ายมติที่สามที่ชื่อว่า สูกรมัทวะ คือสมุนไพรชนิดหนึ่ง


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๔) สูกรมัททวะนั้นดังฤๅ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐีรยรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับประจำวันที่ ๑-๗ กันยายน ๒๕๖๐




บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๕)
ภาษาสัญลักษณ์ในพุทธประวัติ

ลืมพูดถึงประเด็นหนึ่ง ที่เป็นที่กังขากันมากในวงการชาวพุทธ หลายคนเมื่ออ่านพุทธประวัติแล้วก็มักจะถามว่า ทำไมพุทธประวัติจึงเต็มไปด้วยเรื่องเหลือเชื่อที่เป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่บรรทัดแรกเลยทีเดียว

ผู้พูดรู้ได้อย่างไร เรื่องเหลือเชื่อที่ว่านี้เป็นไปไม่ได้

ก็น่าแปลกนะครับ เวลาอ่านวรรณคดี ท่านเหล่านั้นจะเชื่อทันทีโดยไม่ตั้งคำถามเลย  เวลาเขาพูดถึงความงามของนางในวรรณคดี อาทิ นางบุษบา หรือนางทมยันตี (ที่มิใช่นักประพันธ์) เขาจะพรรณนาว่าแม่นางคนนั้น งามง้ามงาม นิ้วเป็นลำเทียน คิ้วโก่งเป็นคันศร คอระหงเป็นคอหงส์ ตาเป็นตาเนื้อทราย แขนเป็นงวงช้าง

เชื่อแฮะ ว่าลักษณะดังว่านี้ งามง้ามงามจริงๆ

ลองวานศิลปินวาดภาพนางงามตามที่พรรณนามาดูสิครับ รับรองว่าไม่งามแม้แต่นิดเดียว

ทีอย่างนี้ไม่ยักสงสัย พออ่านพุทธประวัติละก็ เต็มไปด้วยความสงสัย สงสัยว่าโม้ไปหรือเปล่า  เป็นไปได้อย่างไร เจ้าชายสิทธัตถะ ทันทีที่ประสูติก็เดินได้ พูดได้

ก่อนอื่นเรามาลองดูหลักฐานชั้นต้น คือพระไตรปิฎกก่อนว่าเหตุการณ์มหัศจรรย์ที่ว่านี้มีในพระไตรปิฎก หรือว่าอาจารย์ภายหลังแต่งขึ้น ปรากฏว่ามีเล่าไว้ในพระสูตรในรูปเป็นพระดำรัสตรัสเล่าโดยตรงทีเดียว ว่าปรากฏการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์นั้นเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ที่ไม่ทั่วไปแก่ชนเหล่าอื่น ดังนี้ครับ
๑.พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ เสด็จอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต
๒.มีสติสัมปชัญญะ เสด็จอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต จนตลอดอายุขัย
๓.มีสติสัมปชัยญะ จุติจากหมู่เทพชั้นดุสิต ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา
๔.เมื่อลงสู่พระครรภ์ แสงสว่างหาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นในโลกทั้งปวง หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว
๕.เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์แล้ว เทวดา ๔ องค์ทำหน้าที่อารักขาใน ๔ ทิศ ไม่มีใครสามารถเบียดเบียนได้
๖.พระโพธิสัตว์อยู่ในครรภ์พระมารดา พระมารดาเป็นผู้มีศีล ๕ สมบูรณ์
๗.ในขณะพระโพธิสัตว์อยู่ในครรภ์พระมารดา พระโพธิสัตว์มิได้ฝักใฝ่ในกามคุณในบุรุษ ชายใดมีใจกำหนัด จะไม่สามารถล่วงเกินพระมารดาพระโพธิสัตว์ได้
๘.ในขณะพระโพธิสัตว์อยู่ในครรภ์พระมารดา พระโพธิสัตว์จะทรงสมบูรณ์ด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่พิเศษ ได้รับการบำรุงอย่างดีเลิศ
๙.หลังจากพระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์แล้ว พระมารดาพระโพธิสัตว์ไม่มีโรคเบียดเบียน ไม่ลำบากพระวรกาย สามารถมองเห็นพระโพธิสัตว์ ประทับอยู่ภายในพระอุทร มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบ
๑๐.พระมารดาให้กำเนิดพระโพธิสัตว์ ต่อเมื่อพระโพธิสัตว์อยู่ในพระครรภ์ล้วนทศมาศ ซึ่งผิดกับสามัญชนทั่วไปจะอยู่ในครรภ์ ๘-๙ เดือน
๑๑.เมื่อพระมารดาจะมีพระประสูติกาล จะทรงยืน ไม่นั่งหรือนอนเหมือนหญิงทั่วไป
๑๒.เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ เทวดาจะรับพระราชกุมารก่อน พวกมนุษย์จะรับภายหลัง
๑๓.เมื่อพระบาทไม่ทันถึงพื้น เทวดาทั้ง ๔ จะรับพระโพธิสัตว์ แล้ววางไว้ต่อพระพักตร์พระราชชนนี บอกให้ทราบว่า พระเทวีจงมีพระทัยยินดีเถิด พระโอรสผู้มีศักดิ์สูงได้ประสูติแล้ว
๑๔.เมื่อประสูติ พระโพธิสัตว์ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยมลทินครรภ์ ทรงบริสุทธิ์หมดจด ดุจแก้วมณีที่วางอยู่บนผ้ากาสิกพัสตร์
๑๕.เมื่อประสูติ มีธารา ๒ สาย สายหนึ่งเป็นน้ำเย็น อีกสายหนึ่งเป็นน้ำอุ่น ไหลลงมาจากนภากาศ สนานพระวรกายพระโพธิสัตว์ และพระราชชนนี
๑๖.ในบัดดลที่ประสูติ พระโพธิสัตว์ ประทับพระยุคลบาทบนแผ่นดิน แล้วบ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว มีเทวบุตรกั้นเศวตฉัตรตามเสด็จไป ทรงเหลียวดูทิศทั้งปวงแล้วทรงเปล่งอาสภิวาจา (พระวาจาอย่างองอาจ) ว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก เราเป็นใหญ่ที่สุดในโลกชาติ นี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป”
(เก็บความจากพระไตรปิฎก ฉบับภาษาบาลี เล่มที่ ๑๐ ข้อ ๒๔ หน้า ๑๗)

มีความพยายามอธิบายปรากฏการณ์พิเศษ ครั้งนี้ ๒ ทางด้วยกันคือ...
๑)เป็นภาษาสัญลักษณ์ คือมิได้แปลตามตัวอักษร แต่ให้ถอดความเอาภาษาพระศาสนา เรียกว่าเป็น บุพนิมิต นั่นแหละครับ  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงถอดความไว้ว่า
-ย่างพระบาท ๗ ด้าว น่าจะได้แก่ ทรงแผ่พระศาสนาแพร่หลายใน ๗ ชนบท คือ กาสีกับโกศล ๑ มคธกับอังคะ ๑ สักกะ ๑ วัชชี ๑ มัลละ ๑ วังสะ ๑ กุรุ ๑
-อาสภิวาจา ได้แก่ ตรัสพระธรรมเทศนาที่คนได้ฟังอาจหยั่งเห็นพระคุณว่า พระองค์เป็นยอดปราชญ์เพียงไร
-ถอยหลังไปอีก เมื่อประสูติแล้วเทวดามารับ ท่อน้ำเย็นน้ำร้อนตกจากอากาศสรงสนานพระวรกาย ได้แก่ อาฬารดาบสและอุทกดาบส รับไว้ในสำนัก ทุกรกิริยา เปรียบเสมือนท่อน้ำร้อน วิริยะทางจิตเปรียบด้วยท่อน้ำเย็น ชำระพระสันดานให้สิ้นสนเท่ห์ว่าอย่างไรเป็นอย่างไรมิใช่ทาง
-ถอยหลังไปอีก เสด็จอยู่ในพระครรภ์ ทรงบริสุทธิ์ไม่เปรอะเปื้อนด้วยมลทิน ทรงนั่งขัดสมาธิ...ได้แก่ ทรงดำรงฆราวาส ไม่หลงเพลิดเพลินในกามคุณ ได้ทำกิจที่ควรทำมีพระเกียรติปรากฏ เสด็จออกบรรพชาด้วยปรารถนาอันดี ไม่ใช่เพราะขัดข้องในฆราวาส

นัยนี้ไม่ตีความตามตัวอักษร แต่ให้ถอดความ หรือหาความหมายระหว่างบรรทัดเอา พูดอีกนัยหนึ่งคือ เหตุการณ์มหัศจรรย์ที่ว่ามานั้นไม่เกิดขึ้นจริง

๒)ตีความตามตัวอักษรเลยทีเดียว คือ พูดได้จริง เดินได้ ๗ ก้าว จริง  มิใช่ภาษาสัญลักษณ์ ถ้าถามว่ามันเป็นไปได้หรือ ตอบว่า อย่าคิดว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องมหัศจรรย์อย่างนี้ มิได้เกิดขึ้นกับคนทั่วไป และมิได้เกิดขึ้นบ่อย นานๆ จะมีสักทีหนึ่ง

พิเคราะห์ตามพุทธวจนะตรัสเล่าก็ดี คำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ก็ดี ท่านต้องการบอกว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริงเพราะ...
-บุคคลในเรื่องนี้คือ เจ้าชายสิทธัตถะ ผู้มิใช่มนุษย์ธรรมดาอย่างสามัญชน แต่เป็น นิยตโพธิสัตว์ (พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีมาจนเต็มเปี่ยมแล้ว พร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า)  บุคคลเช่นนี้ ย่อมมี “ธรรมดา” ไม่เหมือนคนทั่วไปปรากฏการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้นนั้นเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์

เมื่อท่านพูดว่า “ธรรมดา” ก็ทำให้หายสงสัยทันที เพราะธรรมดาก็คือธรรมดา มิใช่เรื่องมหัศจรรย์ หรือปาฏิหาริย์อะไร แต่เป็นธรรมดาเหมือนธรรมดาของนกบินได้ ธรรมดาของปลาอยู่ในน้ำทั้งวันโดยไม่โผล่ขึ้นมาหายใจก็ไม่ตาย ยังไงยังงั้น เราเห็นนกบินเราอัศจรรย์ถึงกับร้องไหมว่า “อู้ฮูๆ ทำไมนักมันบินได้วะ” เปล่าเลย เพราะเรารู้ว่าธรรมดาของนกมันย่อมบินได้

เช่นเดียวกัน การที่เกิดมาแล้วเดินได้ พูดได้ทันที เป็นต้น เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์

อย่านึกนะครับว่า เรื่องนี้มันเป็นไปไม่ได้ คนธรรมดาที่มิใช่พระโพธิสัตว์บางคน ยังมีความสามารถพิเศษในทำนองนี้เลยครับ ในหนังสือกินเนสส์บุ๊ก มีพูดถึงบุคคลพิเศษสองคน ผมจำชื่อได้คนเดียวคือ คริสเตียน ไฮเนเกน เกิดมาสองชั่วโมง พูดได้  อายุ ๔ ขวบ พูดได้ ๗ ภาษา  และเด็กคนนี้สามารถแสดงปาฐกถาวิชาการชั้นสูงแก่นักปราชญ์ทั้งหลายจนทึ่งไปตามๆ กัน

ขนาดคนธรรมดา ยังมีความสามรรถมหัศจรรย์ปานนี้ แล้วพระโพธิสัตว์ ผู้เปี่ยมด้วยบารมี ทำไมจะทำไม่ได้ครับ คิดอย่างนี้แล้วจึงไม่น่าจะมีข้อกังขาแต่ประการใด เมื่ออ่านพุทธประวัติถึงตอนนี้

หรือว่ายังมีอยู่


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๕) ภาษาสัญลักษณ์ในพุทธประวัติ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐีรยรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับประจำวันที่๘-๑๔ กันยายน ๒๕๖๐




บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๖)
เบื้องหลังการทรงปลงอายุสังขาร

วันนี้ขอพูดถึงข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเรื่องราวของพระพุทธองค์ ๒ เรื่อง คือ เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธประสงค์ไปดับขันธ์ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา

กับเรื่องเกี่ยวกับผลกรรมในอดีตของพระพุทธองค์

ขอว่าตามลำดับ (ถ้าไม่จบก็ขอต่อในตอนหน้า)

๑.เรื่องที่หนึ่ง เบื้องหลังพระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร (คือตัดสินพระทัยเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน) ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี แล้วพระพุทธองค์ตรัสเรียกประชุมสงฆ์ ณ อุปัฏฐานศาลา (โรงธรรม) ตรัสสอนให้หมั่นเจริญธรรมที่จะทำให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่ได้นาน อันได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๔ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

ธรรมะเหล่านี้เนื้อหาว่าอย่างไรบ้าง อยากทราบให้เปิดพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ดูก็แล้วกัน

รุ่งเช้า พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองไพศาลี มีพระอานนท์พุทธอนุชาตามเสด็จ ขณะเสด็จออกจากเมืองไพศาลีทรงยืนเอี้ยวพระศอหันไปทอดพระเนตรเมืองไพศาลี ตรัสกับพระอานนท์ว่า การเห็นเมืองไพศาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว

ชาวพุทธเรียกอาการทอดพระเนตรนี้ว่า นาคาวโลก (การเหลียวดูแบบพญาช้าง, การมองอย่างช้างเหลียวหลัง) ต่อมาชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นอนุสรณ์ขึ้นชื่อว่า พระพุทธรูปปางนาคาวโลก จากนั้นก็เสด็จไปยังภัณฑคาม อัมพคาม ชัมพุคาม และโภคนคร ตามลำดับ

จากโภคนครก็เสด็จต่อไปยังเมืองปาวา เสวยสูกรมัททวะ ของนายจุนทะแล้วพระอาการประชวรกำเริบ ทรงข่มทุกขเวทนาไว้ เสด็จต่อไปยังเมืองกุสินารา อันเป็นสถานที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

พระอานนท์ซึ่งตามเสด็จพระพุทธองค์ตลอดทาง ได้กราบทูลให้พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่เมืองใหญ่อื่นๆ เช่น เมืองราชคฤห์ เมืองโกสัมพี เมืองสาวัตถี

แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์มีพุทธประสงค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่เมืองกุสินาราเป็นการเฉพาะ

เมื่อกราบทูลถามเหตุผล เหตุผลที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ ฟังดูไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริง อาจจะมีเหตุผลอื่นลึกๆ อยู่ในคำตอบนั้นก็ได้

คือพระองค์ตรัสว่า ที่ไปปรินิพพานที่เมืองกุสินารา เพราะเมืองกุสินาราในอดีตกาลยาวนานโพ้นเป็นเมืองใหญ่

อานนท์ เธออย่ากลัวอย่างนี้ว่ากุสินาราเป็นเมืองเล็กเมืองดอน เมืองกิ่ง

แต่ปางก่อนพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ ผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม...

เมืองกุสินารานี้มีนามว่า กุสาวดีเป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะมีความยาวด้านบูรพาและประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทักษิณและอุดร ๗ โยชน์

กุสาวดีเป็นราชธานีที่มั่งคั่ง มีผู้คนแน่นหนา มีภักษาหาได้ง่าย...

สรุปแล้วเหตุผลที่ทรงมุ่งมั่นจะไปปรินิพพานที่เมืองกุสินารานี้ให้ได้เพราะเมืองนี้ในอดีตเป็นเมืองใหญ่เป็นที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิ

ฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริง ถ้าเอาความยิ่งใหญ่ในอดีตตัดสิน เมืองอื่นๆ ในอดีตก็คงจะใหญ่เหมือนกัน และบางเมืองยิ่งใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบันมายาวนาน เช่นเมืองพาราณสีก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์ หรือถ้าเห็นว่าเมืองพาราณสีเป็นฐานที่มั่นของพราหมณ์ เมืองอย่างเมืองไพศาลี ก็ยิ่งใหญ่มายาวนาน และเหมาะที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้

ผมก็คิดเล่นๆ (อย่าซีเรียสนะครับ) ว่าพระพุทธองค์ทรงมีพุทธประสงค์อย่างอื่นที่มุ่งหน้าไปปรินิพพานที่เมืองกุสินาราแน่นอน ที่ตรัสบอกพระอานนท์ว่า เมืองกุสินาราเคยเป็นเมืองใหญ่ในอดีตก็เพื่อจะปลอบพระอานนท์ ที่อยากให้พระองค์ไปปรินิพพานที่เมืองใหญ่ๆ ไม่ควรปรินิพพานที่เมืองเล็กเช่นเมืองกุสินารา

พูดง่ายๆ ก็คือ อย่าน้อยใจเลยว่าพระองค์ปรินิพพานในเมืองเล็ก ไม่สมพระเกียรติ กุสินาราถึงจะเล็กในปัจจุบัน ในอดีตก็เป็นเมืองใหญ่เหมือนกัน

เหตุผลที่แท้จริงน่าจะเป็นดังนี้
๑.เพื่อทรงสงเคราะห์พระประยุรญาติที่เมืองกุสินารา  ในพุทธประวัติไม่บอกชัดดอกว่าเมืองกุสินาราเป็นพระญาติวงศ์ของพระพุทธองค์ แต่ผู้รู้หลายท่านแสดงความเห็นว่า พวกมัลลกษัตริย์น่าเป็นเผ่าศากยะหรือสืบมาจากเผ่าศากยะ เพราะมีระบบการปกครองและจารีตประเพณีเหมือนๆ กับพวกศากยะ

ถ้าข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง ก็ไม่แปลกที่พระพุทธองค์จะ “ต้อง” เสด็จไปปรินิพพานที่เมืองของพวกเขา เพื่อทรงสงเคราะห์พวกเขาในวาระสุดท้ายของพระพุทธองค์

ในพุทธจริยา ๓ ประการนั้น จริยาทั้ง ๒ คือ โลกกัตถจริยา (ทำประโยชน์แก่ชาวโลก) พุทธัตถจริยา (ทำประโยชน์ในฐานะทรงเป็นพระพุทธเจ้า) พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญมาสมบูรณ์แล้ว แต่ญาตัตถจริยา (ทรงสงเคราะห์ญาติ) ยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะเสด็จไปโปรดพระญาติเมืองกุสินารา

การเสด็จไปดับขันธ์ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา จึงเป็นการสงเคราะห์ประยุรญาติของพระพุทธองค์นั้นเอง พระญาติฝ่ายศากยวงศ์และโลกิยวงศ์ พระองค์ก็ทรงสงเคราะห์มาหมดแล้ว ยังเหลือแต่พระญาติที่เมืองกุสินารา ซึ่งจะต้องทรงสงเคราะห์เป็นครั้งสุดท้าย

เหล่ามัลลกษัตริย์จะได้มีโอกาสถวายพุทธบูชา ด้วยการจัดงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ และได้ทำบุญกิริยาอย่างอื่น เช่น ถวายทานแก่พระสงฆ์จำนวนมากที่หลั่งไหลมาในงานนี้

เมืองเล็กๆ แต่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ย่อมมีความสำคัญ และเป็นที่เกรงขามของเมืองใหญ่ๆ ไม่บันเบา

เพราะต่างก็รู้ว่า กุสินารา เป็นเมืองที่พระพุทธองค์ทรงเลือกแล้ว

๒.อีกเหตุผลหนึ่ง ถ้าพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เช่น ราชคฤห์ เมืองสาวัตถี กษัตริย์เมืองใหญ่นั้นๆ จะต้องถือสิทธิ์เป็นเจ้าของพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์เพียงผู้เดียว เมืองอื่นที่เคารพนับถือพระพุทธองค์ หรือที่เป็นพระประยุรญาติของพระองค์คงไม่มีโอกาสได้ส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปบูชาแน่นอน

แต่เมื่อพระองค์ไปปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ซึ่งเป็นเมืองเล็กโอกาสที่พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จะได้รับการแจกแบ่งไปยังเมืองต่างๆ เพื่อสักการบูชา ย่อมมีความเป็นไปได้มาก และเป็นไปได้ง่าย

เพราะเมืองเล็กย่อมไม่สามารถขัดขืน หรือหวงพระบรมสารีริกธาตุไว้สำหรับตนแต่ฝ่ายเดียว

การเสด็จไปปรินิพพานที่เมืองกุสินารา จึงไม่เป็นเพียงเพื่อสงเคราะห์เหล่ามัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราเท่านั้น ยังได้สงเคราะห์เมืองใหญ่น้อยอื่นๆ อีกด้วย ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็ขอยืมพังเพยไทยมาพูดว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นั้นแล

ข้อสังเกตของผมฟังได้ไหมครับ ฟังไม่ได้ก็ไม่ต้องฟัง ลืมๆ ไปเสีย ส่วนประเด็นที่สองเอาไว้พูดถึงคราวหน้าก็แล้วกัน


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๖) เบื้องหลังการทรงปลงอายุสังขาร โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐีรยรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับประจำวันที่ ๑๕-๒๑ กันยายน ๒๕๖๐



บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๗)
บุพกรรมของพระพุทธองค์

ประเด็นที่สอง ก็คือ บุพกรรมของพระพุทธเจ้า ผลกรรมอะไรค่อยว่ากัน ตอนนี้ขอเล่าเรื่องราวก่อน

เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมุ่งตรงไปยังเมืองกุสินาราเพื่อดับขันธ์ปรินิพพานโดยมีพระอานนท์พุทธอนุชาตามเสด็จ หลังจากเสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะกัมมารบุตร ชาวเมืองปาวาถวายแล้วพระอาการประชวรกำเริบ

ทรงระงับเวทนาจากอาการประชวรแล้วก็เสด็จต่อไป ข้ามไปยังแดนของเมืองกุสินารา ทรงแวะข้างทางประทับใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำจากลำธารชื่อว่า กกุธานที มาเสวย

พระอานนท์กราบทูลว่า กองคาราวานเกวียนประมาณ ๕๐๐ เพิ่งจะผ่านกกุธานทีไป น้ำยังขุ่นคลั่กอยู่เลย เสวยไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธองค์ตรัสย้ำอีกว่า อานนท์ เราตถาคตกระหายน้ำอยากดื่มน้ำ

พระอานนท์ก็ยังกราบทูลเหมือนเดิม จนพระพุทธองค์ตรัสถึงสามครั้ง พระอานนท์จึงจำต้องถือบาตรเดินตรงไปยังลำธาร  พอพระอานนท์ลงไปในลำธารเท่านั้น ยังไม่ทันจะตักน้ำเลย น้ำในลำธารขุ่นคลั่กเห็นๆ อยู่  กลับกลายเป็นน้ำใส เย็นสนิทขึ้นมาทันที สร้างความประหลาดมหัศจรรย์แก่พระอานนท์ยิ่งนัก

เมื่อได้น้ำแล้วก็นำไปถวายพระพุทธองค์ทรงเสวย พร้อมกราบทูลเรื่องราวมหัศจรรย์ที่พบเห็นให้ทรงทราบ

พระพุทธองค์มิได้มีพุทธดำรัสแต่อย่างใด

เรื่องราวตรงนี้ก็มีเพียงเท่านี้ ตอนผมเขียนถึงมหาปรินิพพานสูตร วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ ที่สำนักพิมพ์มติชนเคยพิมพ์ออกมา ได้ยกประเด็นที่น่าสนใจ รวมถึงประเด็นที่ยังกังขาอยู่มาเล่าสู่กันฟัง แต่ก็ละเลยประเด็นที่กำลังพูดถึงนี้ไป

ก็ขอต่อเติมเสียคราวนี้เลย

อ่านพบคัมภีร์อีกแห่งหนึ่ง พูดในทำนองว่าที่พระองค์ทรงมีพุทธประสงค์จะเสวยน้ำแล้วไม่ได้เสวยในทันที เพราะน้ำขุ่นนั้นเป็นเพราะวิบากแห่งกรรมเก่าของพระองค์เอง  ในอดีตกาลอันนานโพ้น พระองค์ทรงเคยเกิดเป็นคนเลี้ยงโค ทรงแกล้งโคที่กำลังจะดื่มน้ำโดยแกล้งกวนน้ำให้ขุ่นอีก อะไรทำนองนั้น

เกิดมาชาตินี้จึงต้องรับผลแห่งกรรมนั้น โดยมีพระประสงค์เสวยน้ำก็ไม่ได้เสวยในทันที เพราะมีกองคาราวานเกวียน ๕๐๐ มาข้ามน้ำ ทำให้น้ำขุ่น

หรือบางเรื่อง เช่น พระองค์ถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายก็เป็นผลกรรมแต่ครั้งก่อนเมื่อเป็นนักเลง ด่าพระปัจเจกพุทธและภิกษุผู้ทรงศีล ที่ถูกพระเทวทัตกลิ้งหิน สะเก็ดหินกระเด็นไปต้องพระบาทห้อพระโลหิต จนหมอชีวกต้องผ่าเอาเลือดเสียออก เป็นผลกรรมที่ชาติก่อนโน้นเป็นหมอ รู้ว่าเขาไม่เป็นโรค แต่แกล้งผ่าให้เขาเสียเลือด เพื่อจะได้ค่ารักษา ฯลฯ

อะไรทำนองนี้แหละขอรับ

ผมอ่านถึงตรงนี้แล้วสับสน เพราะเคยเล่าเรียนมาว่าพระพุทธเจ้าทรงละกิเลสตัณหาพร้อมทั้งวาสนาได้หมดแล้ว เมื่อตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงตัดวงจรสังสารวัฎได้หมด บุญบาปตลอดจนผลแห่งบุญบาปทรงตัดขาดแล้วด้วยอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

พระพุทธเจ้านั้นวิเศษกว่าพระอรหันต์สาวกทั่วไป คือทรงตัดรากเหง้าแห่งตัณหาได้หมดและทรงละวาสนา (ความเคยชินที่สะสมกันมายาวนาน) ได้ด้วย

ส่วนพระอรหันต์สาวกทั้งหลายนั้นตัดรากเง้าตัณหาได้เท่านั้น แต่วาสนาละไม่ได้

ดังกรณีตัวอย่างเช่น พระปิลินทวัจฉะ ชอบพูดคำไม่ไพเราะว่า ไอ้ถ่อย (วสลิ) กับทุกคนที่เจรจาด้วย  พระสารีบุตรอัครสาวก เวลาเห็นทิวทัศน์สวยงามก็อดดีใจกระโดดโลดเต้นไม่ได้ ท่านว่าเป็นวาสนาที่ท่านทั้งสองละไม่ได้ วาสนาอย่างนี้ไม่มีในพระพุทธองค์

ก็เมื่อสัมมาสัมโพธิญาณตัดรากเหง้าตัณหาพร้อมวาสนาได้หมด เพียงแค่กรรมเล็กน้อย คือแกล้งโคทำไมยังละไม่ได้ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ายังตามมาสนองอีก

มิเป็นการพูดขัดกันหรือ

พระอรหันต์ทั่วไปเมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านยังละบุญละบาปได้ (ปุญฺญปาปปหิโน) กรรมใดที่ยังตามจะให้ผลอยู่ กรรมนั้นๆ ก็หมดไปโดยอัตโนมัติ เพราะตัดขาดด้วยอริยมรรค แล้วทำไมมีเรื่องเล่าว่า แม้พระอรหันต์ยังต้องรับวิบากแห่งกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน ดังเรื่องพระโมคคัลลานะ เป็นต้น

ว่ากันว่า พระโมคคัลลานะ ในอดีตชาติอันยาวนานโพ้นเลี้ยงบิดามารดาผู้ตาบอดด้วยความเอาใจใส่ พ่อแม่หาภรรยาให้แม้เขาจะไม่ปรารถนาจะมีภรรยาก็ขัดบิดามารดาไม่ได้

แรกๆ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พออยู่ด้วยกันมานานเข้า ภรรยาก็หาทางกำจัดพ่อแม่สามี จึงใส่ร้ายพ่อแม่ของสามีว่า ในขณะที่สามีไม่อยู่ พ่อแม่ทั้งสองชอบแกล้งนางเสมอ  แรกๆ สามีไม่เชื่อ แต่เมื่อนางเป่าหูบ่อยๆ ก็ชักจะเอนเอียงเข้าข้างภรรยา จึงหาทางกำจัดพ่อแม่ของตน

เขาบอกพ่อแม่ว่าจะพาไปเยี่ยมญาติที่ตำบลอื่น ซึ่งไม่พบกันมานาน เอาพ่อแม่ใส่เกวียน ตนเองเป็นผู้ขับเกวียน  ไปถึงกลางป่าเขาบอกพ่อแม่ว่า จะไปทำสรีรกิจ (ถ่าย) ข้างทาง ขอให้พ่อแม่รอก่อน  เงียบหายไปพักหนึ่ง ก็ทำเสียงเหมือนโจรเข้ามาปล้น ทุบตีพ่อแม่หวังจะให้ตาย พ่อแม่ร้องตะโกนบอกลูกชายให้หนีไป ไม่ต้องห่วงพ่อแม่ เพราะพ่อแม่แก่แล้ว

เขาได้ยินพ่อแม่ร้องบอกตนให้หนีไป ทั้งที่ตนเองถูกทุบตีก็ไม่ห่วงชีวิตตน กลับห่วงเขาผู้เป็นลูก จึงสำนึกได้แกล้งทำเป็นโจรวิ่งหนีไป แล้ววิ่งกลับเข้ามาใหม่ พาพ่อแม่กลับบ้าน เนื่องจากได้รับความบอบช้ำมาก พ่อแม่ทั้งสองได้ขาดใจตายในเวลาต่อมา

ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เขาตายไปตกนรกหมกไหม้อยู่เป็นเวลาหลายร้อยชาติ  มาชาติสุดท้ายนี้ ได้เกิดเป็นพระโมคคัลลานะ หลังจากท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว อยู่มาวันหนึ่งก็ถูกพวกโจรที่รับจ้างมาจากพวกต่างศาสนา มาล้อมกุฏิท่าน ท่านเข้าฌานเหาะหนีไปได้ถึงสามครั้งสามครา

ในครั้งที่สี่ท่านไม่ยอมหนี ด้วยเห็นว่าผลแห่งกรรมเก่าตามมาทัน และแล้วก็ถูกพวกโจรทุบแหละละเอียดในที่สุด

ว่ากันอีกแหละว่า นี้เป็นวิบาก (ผล) แห่งกรรมเก่าที่ทำไว้แต่คราวโน้น

ก็ไหนว่าพระอรหันต์ละบุญและบาปได้หมดแล้ว คือ ละได้ทั้งบุญบาป และผลแห่งบุญบาปได้หมดแล้ว ยังมีผลแห่งบาปตามมาสนองอีกหรือ

ยิ่งเกณฑ์ให้พระพุทธองค์ต้องเสวยวิบากแห่งกรรมเก่าหลังตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ยิ่งงงอีกเป็นกำลังสองครับ


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๗) บุพกรรมของพระพุทธองค์ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐีรยรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับประจำวันที่ ๒๒-๒๘ กันยายน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 ตุลาคม 2560 15:40:10 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 04 ตุลาคม 2560 16:57:16 »


บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๘)
พระผู้หาผู้เสมอเหมือนมิได้


มีคนขี้สงสัยบางคนเปรยว่า อ่านพุทธวจนะบางตอนแล้ว ฟังดูคล้ายพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระองค์เอง

ผมถามว่าทำไมรู้สึกอย่างนั้น

เขาบอกว่าไม่ทราบ แต่ทำไมพระพุทธวจนะจึงมักตรัสว่าเราเป็นคนเลิศในโลก เราหาคนเปรียบปานมิได้ ทำนองนี้

ท่านผู้ขี้สงสัยนั้นกล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างเช่นในตอนที่ตรัสตอบอุปกาชีวก อุปกาชีวกเพียงถามว่า ท่านบวชอุทิศใคร

พระพุทธเจ้ากลับตอบในทำนองยกย่องพระองค์เองเสียยืดยาวว่า เราเอาชนะทุกอย่าง ตรัสรู้ทุกอย่าง ไม่ติดอยู่ในสิ่งทั้งปวง หลุดพ้นเพราะทำลายตัณหา เราตรัสรู้เองแล้วจะพึงอ้างใครว่าเป็นครูของเราเล่า คนเช่นเราไม่มีใครสอน คนเช่นเราไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดา หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้ดับเย็นแล้ว บรรลุนิพพานแล้ว

ผมตอบท่านผู้ขี้สงสัยว่า ไม่เห็นเป็นการยกย่องตนเองเลย ผมกลับมองไปว่าพระพุทธองค์ตรัสความจริง ความจริงมันเป็นเช่นนั้น  

ถ้าพระองค์ไม่เป็นเช่นนั้นจริงสิ จึงจะถือว่าทรงยกย่องพระองค์เอง

ทุกอย่างที่ตรัสเป็นความจริงหมด เช่นพระพุทธองค์ไม่มีครูสอน พระพุทธองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง อาจสงสัยว่า อ้าว แล้วครู (วิศวามิตรและท่านอื่น) ผู้ประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาการให้ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อาฬารดาบส อุทกดาบสผู้ประสาทวิชาโยคะให้จนบรรลุสมาบัติชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะเล่า มิใช่ครูของพระองค์หรือ ทำไมตรัสว่าไม่มีครู

ใช่ครับ ท่านเหล่านั้นเป็นครูของพระองค์วิศวามิตรเป็นต้น เป็นครูทางศิลปวิทยาการ ดาบสทั้งสองเป็นครูทางญานสมาบัติ แต่ครูในทางตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณไม่มี ที่ว่าพระองค์ไม่มีใครสอน คือไม่มีใครสอนทางตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณให้ ครูในทางตรัสรู้ไม่มีครับ พระองค์ทรงรู้ด้วยพระองค์เอง

นี่ก็เป็นความจริง

ที่ว่าคนเช่นพระพุทธองค์ไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก หมายความว่ามนุษย์ทั้งปวงในมนุษย์โลก และเทวดาทั้งปวงในสวรรค์ไม่มีใครเท่าพระองค์ เพราะมนุษย์และเทวดาเหล่านั้นยังตกอยู่อำนาจกิเลสอยู่ ไม่พ้นวงจรการเวียนว่ายตายเกิด จะเทียบเท่าพระสัมมาสัมพุทธะได้อย่างไร

นี่ก็เป็นความจริงอีกนั่นแหละ

การตรัสความจริง ไม่เห็นจะเป็นการยกตนเองเลย ที่ตรัสว่า ในโลกนี้ทรงจำกัดกาลสมัยด้วยคือ ในยุคนี้ไม่มีสัมมาสัมพุทธะผู้ประเสริฐเท่าพระองค์ ประเสริฐเท่าพระองค์ก็มีแต่พระสัมมาสัมพุทธะด้วยกัน ซึ่งก็ต้องอยู่ในยุคอื่น พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งปวงและพระพุทธเจ้าในปัจจุบัน (คือพระโคตมะพุทธ) เสมอภาคกันในการตรัสรู้ ไม่มีพระองค์ใดยิ่งหย่อนกว่าพระองค์ใด

นี้ก็เป็นความจริงอีก

พระสารีบุตร อัครสาวกก็เคยประกาศด้วยความมั่นใจว่าในปัจจุบันไม่มีใครรู้เกินกว่าพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรประกาศด้วยความมั่นใจเช่นนี้ ไม่ได้คิดเอาเองส่งเดชหรือเพื่อเอาพระทัยพระพุทธเจ้าแต่เป็นการพูดความจริง โดยอาศัยแนวแห่งธรรมที่ท่านรู้ (ธมฺมนฺวโย วิทิโต) ดังที่ท่านกราบทูลต่อพระพักตร์พระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีญาณหยั่งรู้พระทัยของพระสัมมาสัมพุทธะในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่ข้าพระองค์รู้ แนวธรรม เปรียบเสมือนเมืองใหญ่มีประตูสำหรับเข้า-ออกทางประตูนี้ สัตว์เล็กก็เข้า-ออกทางประตูนี้ ฉันใด  แนวแห่งธรรมก็ฉันนั้น ข้าพระองค์รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงละนิวรณ์ได้ ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต และในปัจจุบัน ก็อาศัยแนวทางนี้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเช่นกัน”

คำพูดของพระสารีบุตรหมายความว่า ไม่มีใครรู้เกินกว่าพระพุทธเจ้าปัจจุบัน ถึงท่าน (พระสารีบุตร) ไม่มีญาณหยั่งรู้ใจของพระพุทธเจ้าในอดีตและอนาคต ท่านก็ยืนยันได้ว่าพระพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ไม่มีองค์ใดรู้เกินกว่าพระพุทธองค์ปัจจุบัน พูดอีกนัยหนึ่งก็คือพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงรู้เท่าๆ กัน ไม่มีองค์ไหนรู้เกินกว่าองค์ไหน

พระสารีบุตรท่านยืนยันข้อสรุปนี้ มิได้เดาเอา หากแต่อนุมานเอาตามแนวแห่งการตรัสรู้ธรรม อนุมานอย่างไร ก็เหมือนดูเมืองทั้งเมืองไม่เห็นมีรูมีช่องไหนเลย ยกเว้นประตูใหญ่ประตูเดียว ก็อนุมานเอาว่า ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์ย่อมเข้า-ออกผ่านประตูนี้ประตูเดียว นี้คือวิธีอนุมาน

อนุมานคืออาศัยหลักฐานที่ประจักษ์ชัดแล้วสาวไปหาข้อสรุปหรือคำตอบ

พระสารีบุตรท่านยกประสบการณ์ที่ตนเองประจักษ์ว่า การละนิวรณ์ได้ การบำเพ็ญสติปัฏฐานและโพชฌงค์ทำให้บรรลุธรรมได้เพราะตัวท่านก็บรรลุพระอรหัตผลผ่านทางนี้

แล้วก็อนุมานต่อไปว่า พระโคตรมะพุทธองค์ปัจจุบันก็บรรลุผ่านทางนี้ พระพุทธเจ้าในอดีตและอนาคตก็ผ่านทางนี้ พระพุทธเจ้าในอดีตและอนาคตก็ผ่านทางนี้ ไม่มีพระองค์ใดบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณผ่านทางอื่น

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครเกินกว่าพระพุทธเจ้าในทางตรัสรู้พระพุทธเจ้าอื่นๆ ก็ไม่เกิน เพราะตรัสรู้เรื่องเดียวกัน และตรัสรู้เท่าๆ กัน

แต่สำหรับมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ไม่ว่าโลกไหนยุคไหน หาผู้เสมอเหมือนพระสัมมาสัมพุทธะมิได้แล


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๘) พระผู้หาผู้เสมอเหมือนมิได้ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐีรยรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับประจำวันที่ ๒๙ กันยายน - ๕ ตุลาคม ๒๕๖๐




บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๙)
ปาฏิหาริย์เปิดโลก  


วันนี้จะขอยกประเด็น “ปาฏิหาริย์เปิดโลก” มาคิดเล่นๆ เย็นๆ ใจสักเล็กน้อย

ความเป็นมาก็ดังที่ชาวพุทธทราบกัน ประมาณ ๗ ปีหลังตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนา สั่งสอนให้ประชาชนละเว้นจากความเชื่อผิดๆ หลายประการด้วยกัน  ทรงเสนอคุณค่าแห่งชีวิตอย่างใหม่ ซึ่งสวนกระแสสังคมในยุคนั้น เช่น ความดีความชั่วตัดสินด้วยการกระทำมากกว่าเชื้อชาติหรือวรรณะ ที่เกิดจากพรหมัน (พระพรหม) ที่สามารถจับต้องได้ เป็นพรหมที่แท้และมีคุณค่าต่อชีวิตมากกว่า พรหมันที่คาดเดาเอา

ในประเด็นนี้ทรงเน้นไปที่ประสบการณ์ตรง ผู้ใดมีเมตตา กรุณา มุทิต อุเบกขา ประมาณมิได้ เรียกว่า เข้าถึงพรหม หรือ เป็นพรหมแท้จริง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นพรหมบนดิน มีประโยชน์กว่าคิดถึงพรหมบนฟ้า ว่าอย่างนั้นเถอะ

เรื่องการทำด้วยการฆ่า เช่น ฆ่าสัตว์บูชายัญ ที่คนสมัยนั้นนิยมทำกัน ก็ทรงสอนให้เข้าใจเสียใหม่ว่า อะไรที่อยู่บนพื้นฐานของการฆ่า การเบียดเบียน มิใช่ “บุญ” ที่แท้จริง

บุญที่แท้จริงคือการให้ชีวิต การไม่เบียดเบียนชีวิต  แล้วทรงสอนการทำบุญที่ไม่ต้องลงทุนคือการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา อันจักนำไปสู่การหมดสิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง  การทำบุญแบบนี้ไม่จ่ายแม้แต่ดอลลาร์เดียว และไม่ต้องกักตุนดอลลาร์ก่อนประกาศลดค่าเงินบาทก็ได้ครับ  

ทรงสอนให้คิดว่า การอาบน้ำในท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วจะหมดบาป นั้นเป็นความเชื่อที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง  ถ้าคนบริสุทธิ์ได้ด้วยการอาบน้ำ ไม่ว่าน้ำชนิดใดก็ตาม กุ้งหอยปูปลา มันก็บริสุทธิ์กว่าคน เพราะมันอยู่ในน้ำทั้งชีวิตเลย สวรรค์มิเต็มไปด้วยเทพกุ้ง เทพหอย เทพปลา เรอะ แล้วคน (ซึ่งอย่างเก่งอาบน้ำวันละสองสามครั้งกันที่อ่าง) จะมีที่ว่างบนสวรรค์หรือ ไม่มีทาง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างแห่งแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ประชาชนสมัยโน้นเกิดความเข้าใจ ให้มั่นใจว่า กรรม (การกระทำ) เท่านั้นที่จะทำให้คนบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ จะไปนรก ขึ้นสวรรค์ บรรลุนิพพานก็ต้องทำเอาเองทั้งนั้น

ไม่ต้องเปลืองน้ำศักดิ์สิทธิ์มาอาบ น้ำมนต์วัดไหนก็ป่วยการ  

ประชาชนต่างก็เลื่อมใสศรัทธาในแนวทางของพระพุทธองค์มากขึ้น เข้ามาบวชเป็นพระสงฆ์สาวกของพระองค์มากขึ้นมากทุกวรรณะ ทั้งวรรณะสูง วรรณะต่ำ หรือแม้แต่จากคนนอกวรรณะ คือพวกจัณฑาล

ว่ากันว่าถึงช่วงเวลาดังกล่าวนี้ พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงมาก พระราชามหากษัตริย์ที่ปกครองประเทศ ไม่ว่าพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธหรือพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศล ต่างก็เป็นพุทธศาสนิก ประกาศสนับสนุนพระพุทธศาสนา

ลัทธิศาสนาอื่น เรียกรวมๆ ว่าพวก “อัญเดียรถีย์” ต่างก็เสื่อมคนนิยมนับถือ

เมื่อคนนิยมนับถือน้อย ลาภสักการะก็ลดน้อยเรียกว่ารายได้ตก ว่างั้นเถอะ พวกเขาก็เดือดร้อน

บางศาสนาถึงกับวางแผนทำลายพระพุทธศาสนา โดยกระทำตามแผนต่างๆ เป็นขั้นตอนคือสั่งฆ่าพระโมคคัลลานะ มือซ้ายของพระพุทธองค์ในการประกาศพระศาสนา เพราะท่านรูปนี้มีฤทธิ์ปราบคนที่มีฤทธิ์เดชหรือคนดื้อด้านได้วิเศษนัก ดึงคนเหล่านี้มานับถือพระพุทธศาสนามาก็มาก พระสารีบุตร มือขวานั้น ไม่ปรากฏว่าถูกหมายปองชีวิต

แผนต่อไปคือ ส่งนางแมวยั่วสวาท นาม “จิญจมาณวิกา” ไปใส่ไคล้พระพุทธองค์ ว่ามีท้องมีไส้กับพระบรมศาสดา กรรมหนักแผ่นดินไม่สามารถทรงคนชั่วขนาดนี้ไว้ได้ จึงสูบเธอจมมิดหายไปในบัดดล

แผนต่อมาสั่งฆ่าสาวิกาของตนเองนาม “สุนทรี” แล้วให้นำศพไปทิ้งไว้ข้างพระเชตวันแล้วก็กล่าวหาว่าสาวกของพระสมณโคดม (คือพระพุทธเจ้า) ฆ่าสาวิกาของพวกเขา

แต่เวรกรรมใครทำใครได้รับ พระราชารับสั่งให้สอบสวนเอาคนผิดมาลงโทษตามระเบียบ [ทรงสำแดงยมกปาฏิหาริย์ข่มพวกเดียรถีย์ ที่ต้นมะม่วงคัณฑามพฤกษ์] ในช่วงนี้มีเศรษฐีได้บาตรไม้จันทน์มาใบหนึ่ง เอาบาตรแขวนบนเสาสูง ประกาศให้พระอรหันต์มีฤทธิ์เหาะไปเอา ถ้าไม่มีใครเหาะไปเอาภายใน ๗ วัน จะได้รู้เสียทีว่าไม่มีผู้มีฤทธิ์จริง มีแต่ “ราคาคุย” เท่านั้น

บังเอิญ ท่านบิณโฑละภารทวาชะ ทราบเรื่องจึงเหาะไปเอาบาตร เพื่อบอกให้เขาทราบว่า พระอรหันต์ผู้ทรงฤทธิ์น่ะมีอยู่ พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง ทรงตำหนิว่าสาวกของพระองค์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อบาตรเพียงใบเดียว ไม่สมควร

จึงทรงห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์อีกต่อไป

เดียรถีย์รู้เข้า ก็คิดว่าได้การแล้ว คราวนี้ได้โอกาส ปราบสมณโคดมอยู่หมัดแน่ จึงประกาศท้าพระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์แข่งกัน โดยเข้าใจว่า เมื่อพระพุทธเจ้าห้ามสาวกแสดงปาฏิหาริย์พระองค์ก็แสดงไม่ได้ด้วย

เมื่อถึงวันแสดงปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าของชาวพุทธก็ไม่ได้ไปแสดง พวกตนก็จะได้ประกาศว่า เห็นไหม สมณโคดมกลัวจนหัวหด อะไรทำนองนั้น  แต่ผิดคาด พระพุทธเจ้าประกาศว่าจะทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ โดยทรงอธิบายว่า ที่ห้ามนั้นห้ามสาวกและห้ามแสดง เพราะถ้าแสดงด้วยเหตุผลอื่น เช่น ใช้เป็นสื่อ ชักจูงคนเข้าหาธรรมย่อมสมควรอยู่ และพระองค์เป็นเจ้าของพระศาสนา ถึงห้ามพระสาวกแสดง แต่ก็ไม่ได้ห้ามพระองค์เองด้วย

ดุจดังเจ้าของสวนมะม่วงห้ามคนอื่นกินมะม่วง แต่เวลาเจ้าของจะกินเองก็ย่อมไม่มีใครห้าม ฉันใดก็ฉันนั้น

ในที่สุดพระองค์ก็ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ราบคาบ เสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนดาวดึงส์ทรงแสดงธรรมโปรดอดีตพุทธมารดาซึ่งไปเกิดเป็นเทพที่ชั้นดุสิต (เทพองค์นี้มาพังธรรมที่ดาวดึงส์) ออกพรรษาปวารณาแล้วเสด็จลงมายังพระนครสังกัสสะ

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องจริง หรือสัญลักษณ์ หรืออะไร ไว้กล่าวภายหลังเมื่อมีโอกาส ตอนนี้ขอพูดประเด็น “เปิดโลก” เท่านั้น

ขณะที่เสด็จลงจากสวรรค์ประทับยังพื้นดินเท่านั้น พระองค์ก็ทรงบันดาลให้พรหม เทพมนุษย์ สัตว์เดียรัจฉาน สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ได้มองเห็นกัน เสมือนนั่งอยู่พร้อมหน้ากันเป็นที่อัศจรรย์อันเรียกว่าทรง “ปาฏิหาริย์เปิดโลก”

ใครจะแปลตามตัวอักษรก็คงไม่มีใครว่ากระไร เพราะมีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์เป็นหลักฐาน ใครไม่เชื่อก็ไม่ควรดูหมิ่นสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เห็น (เพราะตนมีญาณหยั่งรู้ไม่พอ) ไม่ได้หมายความว่าไม่มีหรือเป็นไปไม่ได้ ดุจคนตาบอดไม่เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็มิได้หมายความว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่มี

แต่ผมอยากตีความในแง่ ธรรมธิษฐาน (หรือภาษาธรรม) ว่าพอถึงช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ คนทุกวรรณะทั้งชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ เลื่อมใส หันมาบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้นเป็นลำดับ

การณ์เช่นนี้เท่ากับว่าพระพุทธองค์ทรงเปิดโลกให้สัตว์โลกทุกระดับมารวมกันและมองเห็นกันนั่นเอง

แต่ก่อนคนชั้นต่ำไม่มีสิทธิ์ ไม่มีโอกาสสังคม ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษา โอกาสที่จะเป็นคนดี พระพุทธศาสนาเปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนทั้งวรรณะสูง วรรณะต่ำ ทัดเทียมกัน ทุกคนมีความเป็นคนทัดเทียมกัน มีศักยภาพทัดเทียมกันที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต แม้กระทั่งเทวดาพระพรหมที่เชื่อว่าสูงกว่ามนุษย์

พระพุทธองค์ทรงชี้ว่า มนุษย์ก็สามารถเป็นเทพพรหม เป็นเทพบนดินได้ ด้วยคุณธรรม ด้วยการกระทำจึงเท่ากับเปิดโลกแห่งความเป็นจริง เปิดให้สัตว์ทั้งปวงอยู่ในมิติเดียวกัน สามารถมองเห็นกันได้ด้วยประการฉะนี้แล


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๙) ปาฏิหาริย์เปิดโลก โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐีรยรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับประจำวันที่ ๖-๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2560 15:29:28 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 19 ตุลาคม 2560 15:34:14 »



บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๐)
เหตุผลที่รงเลือกภาษาปรากฤตประกาศพระศาสนา


เคยตั้งคำถามเล่นๆ ว่าทำไมพระพุทธเจ้าทรงเลือกใช้ภาษาตระกูลปรากฤตสั่งสอนพระพุทธศาสนา ไม่ทรงใช้ภาษาพระเวท (เวทิกะ-ไวทิกะ) ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นภาษาสันสฤต

และเคยตั้งคำถาม (เล่นๆ อีกเช่นกันว่า) การที่เจ้าชายสิทธัตถะอภิเษกสมรส และมีโอรสก่อนเสด็จออกผนวชก็ดี

การที่พระองค์ประสูติในวรรณะกษัตริย์ก็ดี เอื้อต่อการประกาศคำสอนต่างๆ ให้แพร่หลายเร็วขึ้นหรือไม่

ผมก็ตอบในใจเงียบๆ มานานแล้ว วันนี้จึงขอนำคำตอบเงียบๆ ของผมมาตอบดังๆ ให้อ่านกันเพลิน (อ่านธรรมะก็เพลินได้) ก่อน

ต่อคำถามแรก ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเลือก ภาษาปรากฤต ประกาศพระศาสนาแทน ภาษาเวทิกะ ต้องเท้าความเล็กน้อย

สมัยพุทธกาลมีภาษาที่สื่อกันอยู่ ๒ ตระกูลใหญ่ คือ ภาษาเวทิกะ (ไวทิกะ) หรือที่คนไทยเรียกว่าภาษาพระเวท ซึ่งต่อมากลายเป็นภาษาสันสกฤต กับ ภาษาตระกูลปรากฤต (ภาษาตามปกติ ภาษาตลาด ซึ่งมีหลายภาษาถิ่น หรือหลาย Dialect)

ความจริงทั้งสองภาษานี้ก็ ภาษาตระกูล อินโดยุโรป ด้วยกัน นับเป็นตระกูลเดียว แต่เพื่อเข้าใจง่าย จึงแบ่งว่าเป็นตระกูลเวทิกะ กับตระกูลปรากฤต

พระไตรปิฎก (พระสูตร) เล่าเหตุการณ์ครั้งหนึ่งว่า สามเณรสองรูปเป็นบุตรพราหมณ์ มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงรับสั่งถามว่า สบายดีหรือ ที่เธอทั้งสองมาบวชเป็นสาวกเรา ถูกพวกพราหมณ์ต่อว่าเอาไหม

ทั้งสองกราบทูลว่า ถูกพวกเขาต่อว่าหนัก หาว่าเกิดในวรรณะพราหมณ์สูงส่งอยู่แล้ว ไปเป็นศิษย์พระสมณโคดม วรรณะต่ำ วรรณะไม่บริสุทธิ์ทำไม

พระพุทธองค์จึงตรัสความเป็นมาของวรรณะทั้งหลายว่า เกิดขึ้นเพราะอาชีพที่มนุษย์ประกอบแตกต่างกันออกไป มิใช่เกิดจากอวัยวะส่วนต่างๆ ของพรหมอย่างที่พวกพรหมณ์เข้าใจ

และท้ายสุดตรัสว่า คนเราจะเกิดจากวรรณะไหนก็ตาม มีความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกัน วรรณะมิได้เป็นตัวกำหนดดีชั่ว การกระทำของคนนั้นที่เป็นตัวแบ่งว่า ใครเป็นคนดี ใครเป็นคนชั่ว

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งในพระวินัยปิฎกเล่าว่า สาวกสองรูปซึ่งเป็นบุตรพราหมณ์เหมือนกัน กราบทูลขอให้พระพุทธองค์อนุญาตให้เรียนพระพุทธวจนะ ด้วยภาษาฉันท์ (ฉันทสะ) (สองรูปนี้จะเป็นอดีตสามเณรทั้งสองข้างต้นหรือไม่ ไม่แน่ใจ)

พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายเราไม่อนุญาตให้ยกพุทธวจนะ ขึ้นสู่ภาษาฉันท์ ภิกษุรูปใดขืนทำ ปรับอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุนั้น ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้เรียนพุทธวจนะด้วย “สกานิรุตติ”

ภาษาฉันท์ในที่นี้ท่านว่า ได้แก่ ภาษาพระเวท ซึ่งต่อมา คือ สักกฏภาษา (ภาษาสันสกฤต)

ส่วน สกานิรุต แปลว่า ภาษาของตน (ของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ภาษามคธ ที่ทรงใช้สอนพระศาสนา พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งอรรถกถาท่านอธิบายไว้อย่างนั้น)
 
แต่ปราชญ์หลายท่านแปลว่า ภาษาของตน (ของผู้เรียน) สกานิรุต นี้เข้าใจตรงกันเป็นส่วนมากว่า ได้แก่ ภาษาตระกูลปรากฤต คือภาษามาคธี (มคธ) ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นภาษาบาลี (ตันติภาษา) ดังที่ทราบอยู่ในปัจจุบัน

พูดให้รวบรัดก็ว่า สกานิรุตติที่ทรงอนุญาตให้ใช้เรียนพุทธวจนะนั้น ได้แก่ภาษาบาลีในปัจจุบันนั้นแล

ถามต่อว่า ทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกภาษาปรากฤต (คือบาลี ในปัจจุบัน) ไม่เลือกภาษาเวทิกะ (ภาษาสันสกฤต)

คำตอบน่าจะเป็นดังต่อไปนี้

๑.ภาษาพระเวทใช้กันอยู่ในวงแคบ และเป็นภาษาที่ยาก

ดังที่ทราบกันแล้ว ภาษาพระเวทนั้นเล่าเรียนกันอยู่ในหมู่พราหมณ์ชั้นนำ ไม่อนุญาตให้คนวรรณะอื่นได้ศึกษา แม้วรรณะพราหมณ์ที่เป็นสตรีก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาพระเวท อีกทั้งเป็นภาษาชั้นสูง ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ถ้าพระพุทธองค์ทรงใช้ภาษานี้สั่งสอนพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาของพระองค์คงจะอยู่ในวงแคบ ไม่แพร่หลายเป็นประโยชน์แก่ “พหูชน” ดังที่ทรงพระประสงค์ นี้เป็นมุมมองหนึ่ง

อีกมุมมองหนึ่งก็คือ คำสอนของพระพุทธองค์คัดค้านความคิดความเชื่อของพวกพราหมณ์ ชนิดที่เรียกว่า หน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวรรณะ เรื่องแนวทางเข้าถึงพรหมัน ค่านิยมเรื่องดีชั่ว ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ที่พวกพราหมณ์ยึดถือปฏิบัติอยู่ พระพุทธองค์ทรงคัดค้าน บางเรื่องทรงตำหนิอย่างรุนแรงอีกด้วย

ก็ในเมื่อทรงคัดค้านความคิดความเชื่อของพวกเขาแล้ว จะเอาภาษาคำสอนของพวกเขามาสอนคำสอนของพระองค์ก็ดูกระไรอยู่ เดี๋ยวจะถูกหาว่าไม่มีอะไรเป็นของตน ไม่มีอะไรใหม่ แล้วยังประกาศว่าพระองค์มีแนวทางใหม่ อะไรทำนองนั้น

๒.เหตุที่สองคล้ายข้อแรก คือ ภาษาตระกูลปรากฤตเป็นภาษาที่พูดกันทั่วไป อันเรียกว่า ภาษาชาวบ้าน ภาษาตลาด ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา

พระพุทธองค์ทรงมีพุทธปณิธานว่า จะประกาศ “พรหมจรรย์” (วิถีดำเนินชีวิตอันประเสริฐ) ให้แพร่หลาย ดังพระพุทธดำรัสตรัสตอนสั่งพระสาวกอรหันต์ 60 รูป ไปประกาศพระศาสนาครั้งแรกว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มากเพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อสงเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จงประกาศพรหมจรรย์อันงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ”

พระปณิธานนี้จะสำเร็จก็ต้องเข้าถึงคนหมู่มากด้วยภาษาที่คนหมู่มากใช้กันอยู่และเข้าใจได้ง่าย

และภาษาตระกูลปรากฤตโดยเฉพาะแขนงมาคธิกโวหาร (มาคธี มคธ หรือต่อมาคือบาลี) ใช้กันมากในถิ่นที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนาในระยะต้นๆ พระพุทธองค์จึงทรงเลือกใช้ภาษานี้

แน่นอนพระองค์คงทรงใช้ภาษาถิ่น แขนงอื่นด้วยตามผู้ฟัง คือ ถ้าผู้ฟังใช้ภาษาใด ก็ทรงใช้ภาษานั้นสื่อสารธรรม แต่ภาษาถิ่นต่างๆ ที่ทรงใช้ก็อยู่ในตระกูลปรากฤตทั้งนั้น เพราะเหตุนี้เองคำสอนของพระพุทธองค์จึงแพร่หลายในหมู่ประชาชน ชั่วระยะไม่นานที่ออกประกาศพระศาสนา ดังที่ทราบกันแล้ว

ทั้งหมดเป็นการเดาการหาคำตอบ ฟังดูก็เป็นคำตอบแบบขยะๆ ไม่แหลมคม ไม่ประเทืองปัญญามากนัก แต่ก็คงไม่ไร้สาระจนเกินไปกระมังครับ


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๐) เหตุผลที่ทรงเลือกภาษาปรากฤตกระกาศพระศาสนา โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐีรยรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับที่ ๑๙๓๙ ประจำวันที่ ๑๓-๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 20 พฤศจิกายน 2560 16:53:42 »




บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๑)
ผู้ถูกแผ่นดินสูบเพราะผิดต่อพระองค์ (ภาคพระเทวทัต)

 การที่บุคคลต่างๆ ที่ผิดต่อพระพุทธองค์ ถูกแผ่นดินสูบ จะสูบโดยวิธีใด ผมก็ไม่ติดใจ ในที่นี้ขอนำเรื่องราวของท่านเหล่านั้นมาขยายให้ฟังอย่างเดียว

ส่วนมากก็คงได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว

แต่นี่เป็น version ใหม่เอี่ยมเลยนะครับ

บุคคลแรกที่โด่งดังมาก คือ พระเทวทัต

เรื่องราวของท่านหลายคนทราบดีแล้ว จะไม่ขยายอีก

ขอเล่าเพียงประเด็นที่ทำให้เทวทัตท่านเขวออกนอกทาง ตำราว่าเพราะลาภสักการะเป็นเหตุ ต้องการการยอมรับจากพุทธศาสนิกชน

เมื่ออยากดังอยากเด่นเกินหน้าพระภิกษุรูปอื่นๆ ก็จึงต้องแสวงหาผู้อุปถัมภ์

บังเอิญเห็นเจ้าชายอชาตศัตรู รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์กรุงราชคฤห์ ยังอินโนเซนซ์ จึงครอบได้สบาย

ครอบไปครอบมาเลยเกิดถึงขั้นยุให้ปฏิวัติเสด็จพ่อ จับขังคุกให้อดพระกระยาหารจนสิ้นพระชนม์

ข้างฝ่ายพระเทวทัตก็วางแผนสารพัดแผนเพื่อกำจัดพระพุทธองค์

เริ่มต้นด้วย จ้าง นายขมังธนู (สมัยนี้คงหมายถึง มือปืนรับจ้าง หรือไม่ก็มือระเบิด)

แผนของเทวทัต วางแผนสังหารพระพุทธองค์ ท่านว่าจ้างคนถึง ๓๓ คน สั่งคนแรกไปยิงพระพุทธเจ้าในถ้ำเชิงเขาคิชฌกูฏ ยิงเสร็จสั่งให้เดินไปยังจุดหนึ่ง

ณ จุดนั้นท่านได้วางเพชฌฆาตไว้สองคน หลังฆ่าเสร็จแล้วคนหนึ่งให้ไปทางเหนือ อีกคนหนึ่งให้ไปทางใต้

ณ ทิศเหนือก็มีอีกสองคนดักอยู่ ณ ทิศใต้ก็มีอีกสองคนดักอยู่ ฆ่าเสร็จแล้วก็ให้แยกย้ายกันไป

ฆ่ากันเป็นทอดๆ อย่างนี้จนครบ ๑๖ ทอด

คิดดูแล้วกัน ถ้าแผนการสำเร็จ คนใดคนหนึ่งถูกจับ ณ ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง จะจับมือใครดมไม่ได้เลย ไม่รู้ต้นตอมาจากไหน

แผนการแรกล้มเหลว

แผนการที่สองท่านลงมือเอง ปีนขึ้นยอดเขา กลิ้งหินลงมาหมายให้ทับพระพุทธองค์ ขณะประทับเข้าฌานสมาบัติอยู่ ณ ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏ อย่างมากก็ทำร้ายพระองค์ได้เพียงยังพระโลหิตให้ห้อ ล้มเหลวอีก

แผนที่สามสั่งปล่อยช้างตกมัน วิ่งแปร๋นไปเพื่อเหยียบพระพุทธองค์ขณะเสด็จออกโปรดสัตว์ มีพระอานนท์ตามเสด็จ ช้างก็แพ้แก่อานุภาพระเมตตาของพระพุทธองค์ สมัยนั้นไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีวิทยุ ทีวี ก็จริง แต่แผนการชั่วของท่านเทวทัตก็เป็นที่โจษจันกันทั่วไป รู้กันกว้างขวาง

ท่านเทวทัตจึงออกจากสำนักไปยื่นเงื่อนไข ๕ ประการอ้างว่าเพื่อความเคร่งครัดของพระสงฆ์ เช่น ให้ห้ามพระฉันปลาและเนื้อ ให้พระอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ฯลฯ (ตัวคนเสนอเองก็ไม่อยากทำอย่างนั้น แต่เป็นแผน) ถูกพระพุทธองค์ปฏิเสธตรัสว่าขอให้เป็นความสมัครใจของปัจเจกบุคคล อย่าถึงกับตั้งเป็นกฎเลย มันยุ่งยาก เพราะชีวิตพระเป็นอยู่ด้วยอาศัยคนอื่น เดี๋ยวแทนที่จะเป็นการเลี้ยงง่าย กลับเป็นการเลี้ยงยากไป

ท่านเทวทัตได้ทีจึงประกาศว่าไหนว่าพระศาสดานิยมความเข้มงวดเคร่งครัด ครั้นเราเสนอข้อปฏิบัติขัดเกลากลับไม่อนุญาต ใครเห็นด้วยกับเราก็ตามเรามา ว่าแล้วก็เดินออกจากที่ประชุมสงฆ์

พระบวชใหม่จำนวนหนึ่ง ยังเบบี้ทางศาสนาเห็นว่าเข้าทีจึงติดตามพระเทวทัตไป ร้อนถึงพระสารีบุตรต้องตามไปเกลี้ยกล่อมชี้ถูกผิดนำกลับมาสู่อ้อมอกพระพุทธองค์อีกครั้ง

ปฏิบัติการครั้งนี้ พระสารีบุตรได้ยกย่องว่าเป็นนักการทูตที่สำคัญมาก ถึงตรงนี้ขอขยายนิดหน่อย คุณธรรมของนักการทูต (ทูเตยฺยา) ที่ดีมี ๘ ประการ คือ

๑.รู้จัก (โสตา) ฟังเป็น หรือรู้จักฟังว่าคนอื่นเขาจะพูดอะไร อย่างไร
๒.รู้จักพูดให้คนอื่นฟัง (โสตาเปตา) รู้จังหวะไหนควรพูดไม่ควรพูด พูดอย่างไรเขาจึงจะฟัง
๓.แจ่มแจ้งเอง (วิญฺญาตา) ตนเองต้องแจ่มแจ้งในเรื่องในประเด็นที่จะพูด
๔.ให้คนอื่นแจ่มแจ้งด้วย (วิญฺญาเปตา) พูดให้เขาเข้าใจแจ่มแจ้ง ไม่คลุมเครือ
๕.จำแม่น (ธาตา) จำเรื่องราวต่างๆ ได้แม่นยำ ข้อมูลต้องแม่น
๖.เรียนรู้เสมอ (อุคฺคเหตา) ถือว่าการสนทนาเป็นการเขียนรู้สิ่งต่างๆ เสมอ ไม่คิดว่าตนรู้วิเศษคนเดียว
๗.รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ (กุสโล หิตาหิตฺสส) อะไรเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ก็ให้เลือกเอา
๘.ไม่ชวนทะเลาะ (น กลหการโก) นึกเสมอว่าเราไปเจรจาความไม่ใช่ไปโต้วาทีหักล้างกัน พยายามหลีกเลี่ยงการทะเลาะผิดใจกัน


พระสารีบุตรท่านประกอบด้วยคุณสมบัติของนักการทูต ๘ ประการนี้จึงทำงานสำเร็จ พาพระที่หลงผิดจำนวนมากกลับไปพระเชตวัน

เล่นเอา โกกาลิก ลูกน้องท่านเทวทัตโมโหโกรธมากเข้าไปหาท่านเทวทัต เอาเข่าซัดยอดอกท่านเทวทัตดังพลั่ก โลหิตอุ่นๆ พุ่งออกปากทันที

ว่ากันว่าตั้งแต่นั้นมาท่านเทวทัตก็ป่วยกระเสาะกระแสะ (ไม่ป่วยยังไงไหว ลูกศิษย์รำมวยไทยใส่ปานนั้นนี่ครับ) แต่ก็น่าชมนะครับ ท่านไม่ได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าขบถด้วยความน้อยใจ ยังคงดำเนินการพระศาสนาต่อไป มาพักหลังสุด ท่านสำนึกผิดคิดจะเข้าไปขอขมาพระพุทธองค์ ขอร้องให้ศิษย์หามใส่แคร่ไปยังพระเชตวัน

ไปถึงสระโบกขรณีหน้าพระเชตวัน สานุศิษย์วางแคร่หามลง ลงไปล้างหน้าล้างมือกัน เทวทัตท่านก็ลุกขึ้นนั่งหย่อนเท้าลงพื้น ทันใดนั้นแผ่นดินตรงนั้นแยกออกเป็นช่องโหว่ สูบท่านเทวทัตจมมิดหายไปต่อหน้าต่อตาสานุศิษย์ทั้งหลายเป็นที่สยดสยอง

ว่ากันอีกนั้นแหละว่า ท่านเทวทัตจมลงไปตามลำดับ จนถึงคอท่านได้กล่าวขอขมาพระพุทธองค์ในความผิดฉกรรจ์ที่ท่านก่อขึ้น โดยกล่าวโศลกว่า

“ข้าพระองค์ขอถวายกระดูกคาง พร้อมลมหายใจ บูชาแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐยิ่งกว่าเทพ พระผู้ทรงเป็นยอดผู้ฝึกคน พระผู้มีสัพพัญญุตญาณ พระผู้มีพระลักษณะงดงาม อันเกิดจากผลบุญมากมาย”

สมัยเป็นสามเณรเรียนแปลบาลี ครูสอนบาลีเรียกคาถานี้ว่า “คาถาเทวทัตถวายคาง” เพราะการกล่าวถวายกระดูกคางด้วยความสำนึกผิดนี้แล ในที่สุดจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธะ นามว่า อัฏฐิสสระ ตำราว่าอย่างนั้นครับ

ส่วนการถูกแผ่นดินสูบคืออย่างไร ก็แล้วขอวิญญูชนโปรดไตร่ตรองเอาเองเทอญ


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๑) ผู้ถูกแผ่นดินสูบเพราะผิดต่อพระองค์ (ภาคพระเทวทัต) โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับที่ ๑๙๔๐ ประจำวันที่ ๒๐-๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐



บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๒)
ผู้ถูกแผ่นดินสูบเพราะผิดต่อพระพุทธองค์ (ภาคนางจิญจมาณวิกา)

คราวที่แล้วเล่าเรื่องพระเทวทัตผู้ผิดต่อพระพุทธองค์ ในที่สุดถูกแผ่นดินสูบ มีผู้ถามว่ามีพระเทวทัตผู้เดียวหรือที่ถูกแผ่นดินสูบ

ตอบว่ายังมีอีก ๒ คนครับ บุรุษหนึ่ง สตรีหนึ่ง

ขอนำเรื่องสตรีมาเล่าก่อนก็แล้วกัน

สตรีนางนี้นามไพเราะว่า จิญจมาณวิกา เรียกสั้นๆ ว่า จิญจา

นางเป็นคนสวยงามมาก เป็นสาวิกาของอัญเดียรถีย์  อัญเดียรถีย์แปลว่า ลัทธิศาสนาอื่น คืออื่นจากพระพุทธศาสนา ไม่ระบุชัดว่าศาสนาใดลัทธิใด แต่เท่าที่ทราบมักจะเป็นศาสนานิครนถ์ หรือศาสนาเชน ศาสนาที่มีพระแก้ผ้านั้นแหละครับ เพราะคัมภีร์มักเล่าถึงความกระทบกระทั่งระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาเชนนี้บ่อยครั้งมาก

เมื่อพระพุทธศาสนามีการแพร่หลาย มีผู้เข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์มากขึ้นตามลำดับ ทำให้พวกอัญเดียรถีย์เดือดร้อน เพราะศาสนาของตนมีผู้นับถือน้อยลง

แถมพระราชามหากษัตริย์สมัยนั้นคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งเมืองสาวัตถีก็เป็นพุทธมามกะสนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็งอีกด้วย

ลาภสักการะที่เคยมีก็ลดลง ที่คาดว่าจะมีมาก็ดูมืดมน พวกอัญเดียรถีย์จึงเดือดร้อนมาก

พวกเขาประชุมปรับทุกข์กันและหาทางออกกอบกู้สถานการณ์ ในที่สุดได้มีมติให้นางจิญจมาณวิกา สาวิกาคนสวยไปดำเนินการโดยวิธีใดก็ได้ ที่ทำให้พระสมณะโคดม (คือพระพุทธเจ้า) เสื่อมเสียชื่อเสียง

เมื่อศาสดามัวหมอง ศาสนาของเขาก็เสื่อมถอยในที่สุด

แผนอันสกปรกโสมมได้ดำเนินการเป็นขั้นๆ เริ่มด้วยเดินออกจากเมืองในเวลาค่ำ ขณะที่คนทั้งหลายเดินเข้าเมืองกัน ครั้นมีคนถามนางว่า นางไปไหน ก็ตอบว่า เรื่องของฉัน คนอื่นไม่เกี่ยว สร้างความฉงนฉงายแก่ประชาชนเป็นอันมาก

พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง แผนชั่วร้ายก็ค่อยแย้มพรายออกมาทีละนิดๆ เมื่อถูกถามว่า นางจะไปไหน ก็ตอบว่า กลับที่อยู่ของฉันสิจ๊ะ

“ที่อยู่ของนางอยู่ที่ไหน”

พระศาสดาของท่านอยู่ที่ไหนฉันก็อยู่ที่นั้นแหละ นางเล่นลิ้น ทำให้ประชาชนฉงน

นางเอาท่อนไม้มาผูกท้องแล้วเอาผ้าพันไว้ให้คนเห็นว่าตั้งครรภ์ ท้องเธอก็ใหญ่ขึ้นๆ ตามวันเวลาที่เปลี่ยนไป

ท่านที่เป็นบัณฑิตมีจิตใจหนักแน่น ก็ย่อมรู้ว่านางคนนี้ตอแหล เรื่องที่นางพูดไม่มีทางเป็นไปได้

แต่ปุถุชนคนที่ศรัทธาในพระรัตนตรัยยังไม่มั่นคง ที่ชักเอนเอียงตามลมปากของนางจิญจาก็คงมีอยู่บ้าง นับว่านางคนนี้ได้สร้างบาปขึ้นสองชั้น ชั้นหนึ่งตัวเองใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธองค์ผู้บริสุทธิ์ ชั้นที่สองชักพาให้คนอื่นคิดอกุศลต่อพระพุทธองค์ไปด้วย

เหตุการณ์ดำเนินไปในสภาพนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเห็นว่าทุกอย่างสุกงอมแล้ว วันหนึ่งขณะพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนทั้งหลาย ณ พระเชตวัน นางจิญจมาณวิกา ก็เดินอุ้ยอ้ายท้องโย้เชียว เข้าไปยังที่ประชุม กล่าวขึ้นว่า

เสด็จพี่ดีแต่เทศน์อยู่นั้นแหละ ภรรยาท้องใกล้คลอดแล้ว ไม่เหลียวแลบ้างเลย

นางร้องทำนองว่า ใช่สิเรื่องในมุ้ง คนอื่นใครเขาจะไปรู้ด้วย ก็เราสองคนเท่านั้นแหละที่รู้กันแน่ะ นางใจโฉดกล้าพูดกล้าทำถึงปานนี้นั้นแน่ะครับ

พระพุทธองค์ไม่สนพระทัย ยังคงแสดงธรรมต่อไปด้วยพระอาการอันสงบ ทำให้นางจิญจมาณวิกาโกรธแค้นมาก ถึงกับเต้นเร่าๆ ด้วยความลืมตัว ทันใดนั้นท่อนไม้ที่ผูกพุงไว้หลุดออกมา อาจจะเพราะเต้นแรงไปก็ได้ (ในคัมภีร์กล่าวว่า พระอินทร์ทนให้นางใส่ร้ายพระพุทธเจ้าไม่ไหว จึงจำแลงกายมาเป็นหนูไต่ขึ้นไปกัดเชือกที่มัดท่อนไม้ไว้ขาด ท่อนไม้จึงหล่นลงมาว่าอย่างนั้น)

เมื่อความลับถูกเปิดเผยขึ้น ประชาชนรู้ว่าอะไรเป็นอะไรต่างก็ลุกฮือขึ้นไล่ นางวิ่งหนีตายไปหน้าวัด พอพ้นประตูพระเชตวันเท่านั้น แผ่นดินก็ดูเสมือนว่าจะธาร (ต้องการเขียน ธาร นะครับ) ไว้ไม่ไหว จึงแยกออกเป็นช่อง ดูดกลืนร่างนางใจบาปมิดหายไปในบัดดล

ถ้าใครไปที่พระเชตวันในปัจจุบันนี้ มัคคุเทศก์จะชี้ให้ดูสถานที่แห่งหนึ่งหน้าพระเชตวัน เป็นที่นาของชาวบ้าน ณ จุดนั้นมีหญ้าขึ้นรก ขณะที่พื้นที่รอบๆ มีร่องรอยว่าชาวบ้านเขาปลูกข้าวกัน มีเฉพาะจุดดังกล่าวเท่านั้นถูกเว้นว่างไว้

“ตรงให้ที่หญ้าขึ้นรกนั้นแหละ คือจุดที่นางจิญจมาณวิกาถูกแผ่นดินสูบ” มัคคุเทศก์บอก “ชาวบ้านไม่กล้าไถหรือหว่านข้าวกล้า ณ ที่นั้น จึงปล่อยหญ้าขึ้นรก”

ผมถามชาวบ้านแถวนั้น เขาก็พูดยืนยันเช่นเดียวกัน จริงเท็จอย่างไรก็เห็นจะต้องหันไปหยิบกาลามสูตรขึ้นมาอ่านเสียแล้วขอรับ

กาลามสูตรที่ว่านี้ พระพุทธองค์ตรัสแนะนำชาวกาลามะผู้อยู่ในเกสปุตตนิคม (บางครั้งเรียกสูตรนี้ว่า เกสปุติยสูตร) ว่าอย่าด่วนเชื่อ
๑.เพราะได้ยินได้ฟังตามกันมา
๒.เพราะข่าวเล่าลือ
๓.เพราะปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี
๔เพราะมีคนกล่าวไว้ในตำรา
๕.เพราะเหตุผลทางตรรกะ
๖.เพราะอนุมานเอา หรือสรุปเอาจากหลักฐานที่ประจักษ์เฉพาะหน้า
๗.เพราะคิดตรองตามอาการปรากฏ
๘.เพราะตรงกับทฤษฎีที่ตั้งไว้, หรือเพราะเข้ากับความเห็นของตน
๙.เพราะรูปลักษณ์น่าเชื่อถือ
๑๐.เพราะผู้พูดเป็นครูของตน

จนกว่าจะพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสิ่งนั้นๆ เป็นกุศลหรืออกุศล (ดีหรือไม่, เอื้อต่อการยกสภาพจิตให้สูงขึ้น ประณีตขึ้นหรือไม่) วิญญูชนใคร่ครวญแล้วตำหนิติเตียนหรือไม่ เมื่อทำตามจะมีผลกระทบต่อสังคมในแง่เสียหรือไม่นั่นแหละ จึงค่อยเชื่อถือหรือไม่เชื่อถือ

สรุปหลักกาลามสูตรด้วยคำสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ “ให้ฟังหูไว้หูก่อนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ”

เรื่องนางจิญจมาณวิกา รวมทั้งเรื่องพระเทวทัต และอีกคนหนึ่งที่จะกล่าวถึงในวันอาทิตย์หน้า แน่นอนมีอ้างไว้ในตำราก็เห็นจะต้องยกเอากาลามสูตรข้อที่ ๔ ข้างต้นมาย้ำอีกครั้งว่าอย่าด่วนเชื่อ เพราะมีกล่าวไว้ในตำรา ฉะนี้แล


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๒) ผู้ถูกแผ่นดินสูบเพราะผิดต่อพระพุทธองค์ (ภาคนางจิญจมาณวิกา) โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับที่ ๑๙๔๑ ประจำวันที่ ๒๗ ตุลาคม- ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐



บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๓)
ผู้ถูกแผ่นดินสูบเพราะผิดต่อพระพุทธองค์ภาคสุปปพุทธะ

คราวนี้มาถึงเจ้าศากยะนามว่า สุปปพุทธะ ผู้ผิดต่อพระพุทธเจ้าอย่างใหญ่หลวง จนแผ่นดินไม่สามารถจะทรงไว้ได้ ต้องถูกแผ่นดินสูบไปอีกคน

สุปปพุทธะเป็นพระบิดาของพระนางยโสธราพิมพา พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ ในช่วงแรกๆ ก็ทำท่าว่าจะไม่มีอะไรเพราะเป็น ดอง กับพระพุทธองค์ พูดแบบสามัญก็ว่าเป็น พ่อตา เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งขณะที่เกิดเรื่องนี้เป็นพระพุทธเจ้า พระศาสดาเอกของโลก น่าภาคภูมิใจน้อยไปหรือ

แต่สุปปพุทธะผิดหวังและเจ็บพระทัยมาตั้งแต่ได้ทราบข่าวเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชแล้ว อยู่ๆ ก็ทิ้งพระชายา ปล่อยให้เป็นม่าย เท่ากับดูถูก “ลูกสาว” และตนเองซึ่งเป็นพระบิดาด้วย

ความเจ็บแค้นของเจ้าสุปปพุทธะพอเข้าใจได้ เพราะในสังคมอินเดียสมัยก่อนโน้น ภัสดาเป็นสง่าของสตรี สตรีที่แต่งงานแล้วถ้ามีเหตุต้องหย่าร้าง หรือไม่สามารถให้กำเนิดบุตรชายสืบสกุลได้ถือว่าประสบความล้มเหลวในชีวิต เป็นเสนียดจัญไรของตระกูลสามีและตระกูลตัวเอง

พระนางยโสธรายังโชคดีที่สามารถให้กำเนิดพระโอรสน้อยพระนามว่า ราหุล แต่ก็นับว่าโชคร้ายที่ถูกพระสวามีทอดทิ้ง หนีไปบวช

แม้ว่าการเสด็จออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ จะทำไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มากก็ตามที แต่สำหรับในเรื่องส่วนตัวแล้วไม่เป็นผลดีต่อพระชายาแน่นอน รู้ไปถึงไหนก็ถูกนินทาไปถึงนั้น

เผลอๆ อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวอัปมงคลอีกด้วย

เจ้าสุปปพุทธะจึงไม่พอใจ แต่มิได้แสดงออกนอกหน้า ความไม่พอใจมีมากขึ้นถึงกับระเบิดออกมา ก็เมื่อเกิดเรื่องราวพระเทวทัต โอรสของตนที่บวชตามพระพุทธเจ้าแล้ว ประสบชะตากรรมอเนจอนาถ เนื่องเพราะพระพุทธองค์เป็นต้นเหตุ (สุปปพุทธะ คิดอย่างนี้จริงๆ) จึงผูกอาฆาตพระพุทธองค์ รอวันเวลาชำระแค้นด้วยใจระทึก

วันดีคืนดี (เรียกว่า วันร้ายคืนร้ายถึงจะถูก) ก็ได้ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปยังสถานที่นิมนต์ ผ่านเส้นทางที่เจ้าสุปปพุทธะอยู่พอดี ท้าวเธอจึงปิดทางไม่ยอมให้เสด็จผ่าน นั่งเสวยน้ำจัณฑ์อยู่ตรงนั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง มีคนไปทูลพระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว โปรดให้ทางแก่พระองค์เถิด

เจ้าสุปปพุทธะ สิทธัตถะอายุน้อยกว่าเรา เราไม่ลุกขึ้นให้ทางแก่สิทธัตถะ เชิญไปทางอื่น แม้ว่าเขาจะทูลแล้วทูลเล่าพระเจ้าสุปปพุทธะก็ไม่ยอมเปิดทางให้ ยังคงนั่งกั้นอยู่อย่างนั้น เมื่อไม่ได้ทางเสด็จดำเนิน พระพุทธองค์เสด็จกลับ

เจ้าสุปปพุทธะสั่งให้จารบุรุษตามไปสอดแนมดูว่า พระพุทธองค์จะตรัสว่าอย่างไรบ้าง ได้ยินแล้วให้รีบมาบอก เขาไปแอบฟังอยู่ พอดีกับพระพุทธองค์ทรงทำอาการแย้มให้ปรากฏ พระอานนท์กราบทูลถามสาเหตุ พระองค์ตรัสว่า

“อานนท์ เธอเห็นหรือไม่ สุปปพุทธะปิดทางเดินตถาคต”  

“เห็นแล้ว พระเจ้าข้า”

อานนท์ ต่อไปนี้อีกเจ็ดวัน สุปปพุทธะจะถูกแผ่นดินสูบที่เชิงบันไดปราสาทเจ็ดชั้น


จารบุรุษได้ยินก็รีบไปกราบทูลเจ้าสุปปพุทธะทรงทราบ สุปปพุทธะทรงดำริว่าถ้าสิทธัตถะพูดว่าเราจะถูกแผ่นดินสูบภายในเจ็ดวัน ไม่กำหนดวันไหนแน่ เหตุการณ์เกิดขึ้นจริงวันไหนคำพูกก็ถูกต้องหมด เพราะมิได้กำหนดวันแน่นอน แต่นี้พูดแน่นอนว่า เราจะถูกแผ่นดินสูบที่เชิงบันไดปราสาทเจ็ดชั้น เราจะจับผิดสิทธัตถะให้ดู ถ้าเราไม่ลงไปเชิงบันไดดังกล่าว มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อยากรู้นัก

ว่าแล้วก็ตรัสเรียกข้าราชบริพารให้ตระเตรียมพระกระยาหารพอเสวยไปได้เกินเจ็ดวัน ประทับอยู่ปราสาทชั้นบนสุด รับสั่งให้ปิดประตูทุกชั้น ที่ประตูแต่ละชั้นทรงวางนักกล้ามผู้แข็งแรงไว้แห่งละสองคน รับสั่งว่า ถ้าเห็นพระองค์จะเสด็จลง จงห้ามไว้ อย่าปล่อยให้ลงไปเป็นอันขาด

พระอานนท์ทราบเรื่องราวป้องกันตัวของสุปปพุทธะ จึงนำความกราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสคาถา (โศลก) ความว่า

“ไม่ว่าท่ามกลางท้องฟ้า ไม่ว่ากลางมหาสมุทร ไม่ว่าซอกเขา ไม่ว่าที่ไหนในโลกที่คนทำชั่วเข้าไปอาศัยอยู่แล้ว จะพ้นจากความตายไปได้”

พระองค์ตรัสต่อไปว่า “ตถาคตพูดไว้ไม่ผิดดอก เจ้าสุปปพุทธะจะต้องถูกแผ่นดินสูบ ณ เชิงบันไดปราสาทเจ็ดชั้นแน่นอน”

ห้าหกวันแรก เหตุการณ์ก็ดำเนินไปด้วยดี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอถึงวันที่ ๗ ม้ามงคลที่โรงม้าก็ส่งเสียงร้องฮี้ๆ ไม่หยุด แถมยังกระทืบฝาโรงม้าดังสนั่น เจ้าสุปปพุทธะรับสั่งถามว่าเสียงอะไร ก็ได้รับคำตอบว่า ม้ามงคลร้องและกระทืบฝาโรงม้าดังสนั่น ห้ามอย่างไรก็ไม่หยุด พระองค์ทรงเปิดช่องสีหบัญชร ทอดพระเนตรลงมา ม้ามองเห็นเจ้าสุปปพุทธะก็หยุดร้องชั่วขณะ แต่พอลับพระเนตรก็ส่งเสียงอื้ออึงอีก

ทรงรำคาญพระทัย จะเสด็จไปห้ามม้ามงคล ยังไม่ทันรับสั่งให้เปิดประตูเลยประตูก็เปิดออกเอง โดยไม่ทันสังเกต บุรุษนักกล้ามสองคนที่เฝ้าประตูอยู่ แทนที่จะห้ามพระองค์กลับจับที่พระศอ ผลักพระเศียรคะมำลงไป จากชั้นบนสุดลงมาถึงชั้นล่าง

ทันทีที่พระบาทเหยียบพื้นดิน แผ่นดินก็แยกออกเป็นช่องใหญ่ ดูดกลืนพระวรกายเจ้าสุปปพุทธะจมมิดหายไปต่อหน้าต่อตาข้าราชบริพาร เป็นที่ขนพองสยองเกล้า

แน่นอน พระคัมภีร์ท่านกล่าวว่า เจ้าสุปปพุทธะลงไปหมกไหม้อยู้ในอเวจีชั่วกาลนาน ป่านนี้ขึ้นมาหรือยังไม่ทราบ

การถูกแผ่นดินสูบ อาจตีความหมายได้ ๓ นัยคือ ถูกแผ่นดินสูบจริงๆ ๑ ถูกประชาทัณฑ์ ๑ ชื่อเสียงถูกสูบหายไปทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่คือ เสียชื่อเสียงหรือ ตายทั้งเป็น อาจเป็นความหมายใดความหมายหนึ่ง ดั่งได้กล่าวแล้วในตอนต้นๆ

สิ่งที่จะฝากไว้ในที่นี้ก็คือ ไม่เฉพาะการทำร้ายพระพุทธเจ้า ทำร้ายผู้มีคุณหรือคนดีมีศีลธรรม ผู้บริสุทธิ์ที่ไม่คิดประทุษร้ายตอบ ย่อมได้รับผลกรรมทันตาเห็นในชีวิตนี้

พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลเช่นนี้ย่อมได้รับโทษทันตาเห็น อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๙ อย่างคือ
๑.ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า
๒.ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง
๓.ถูกทำร้ายร่างกาย
๔.เจ็บป่วยอย่างหนัก
๕.กลายเป็นคนวิกลจริต
๖.ต้องราชภัย ถูกคุมขัง
๗.ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง
๘.สูญเสียญาติพี่น้อง
๙.ทรัพย์สมบัติพินาศฉิบหาย


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๓)  ผู้ถูกแผ่นดินสูบเพราะผิดต่อพระพุทธองค์ภาคสุปปพุทธะ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับที่ ๑๙๔๒ ประจำวันที่ ๓-๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐



บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๔)
พระเวสสันดรเห็นแก่ตัวจริงหรือ

คนที่ชอบกล่าวหา มักจะยกเรื่องพระพุทธองค์มากล่าวหาแปลกๆ บางเรื่องแทบไม่น่าเชื่อเลยว่าคนสมัยนี้จะคิดไปได้ เช่น กล่าวหาว่าเจ้าชายสิทธัตถะทิ้งลูกเมียไปบวช เป็นคนเห็นแก่ตัว เออ สมัยนี้นี่แปลก มนุษย์ปุถุชนคนเห็นแก่ตัว กลับไปกล่าวหาว่าท่านผู้เสียสละใหญ่หลวงเป็นคนเห็นแก่ตัวไปเสียนี่

คงทำนองเดียวกับผายลมออกมาเองแล้วกล่าวหาคนอื่นปล่อยลมพิษกระมังครับ

ไม่เฉพาะเจ้าชายสิทธัตถะ บางรายย้อนไปถึงพระเวสสันดรโน่นแน่ะ ว่าคนอย่างพระเวสสันดรนี้คบไม่ได้ คนที่ให้ลูกเมียเป็นทาน เป็นคนไม่เอาไหน ไม่ควรนำมาเรียนมาสอนกัน สอนให้คนเห็นแก่ตัวเปล่าๆ

คำพูดอย่างนี้ออกจากปากคนที่เรียกตัวเองว่าปัญญาชน หรือนักวิชาการ เป็นการจ้วงจาบอย่างร้ายแรง ผมรอว่าเมื่อไรหนอ พระเถรานุเถระหรือผู้เชี่ยวชาญการพระพุทธศาสนาจะชี้แจงให้คนเขาหายกังขากันเสียที รอมานานนมกาเลแล้วไม่เห็นใครชี้แจงเลย หรือคิดว่าเป็นเรื่องเล็กก็ไม่รู้

เมื่อไม่มีปลาฉลาม ปลาวาฬ ปลาซิวปลาสร้อยอย่างผม ขอเสนอความคิดเห็นบ้าง ฟังได้ก็กรุณารับฟัง ฟังไม่ได้ก็เลยไปเสียไม่ต้องสนใจ

ก่อนอื่นผมใคร่ขอให้ย้อนรำลึกสักนิดว่า
๑.เราอย่าเอาความรู้สึกของปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลสอย่างเราๆ ไปตัดสินการกระทำของพระเวสสันดร
๒.เราอย่าลืมว่าเหตุการณ์ในคัมภีร์มิได้เกิดขึ้นในยุคสังคมบริโภค ผู้คน คลั่งวัตถุ กันเป็นบ้าเป็นหลัง บริบททางสังคมย่อมแตกต่างจากปัจจุบันนี้มาก
๓.เราอย่าลืมว่า การกระทำทั้งหมดเป็นการกระทำของ พระโพธิสัตว์ ผู้มีจุดมุ่งหมายแตกต่างไปจากปุถุชนทั่วไป

พระเวสสันดรท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ตั้งปณิธานเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าถามว่า ตรัสรู้ไปทำไม ตอบว่า เพื่อจะได้ช่วยสรรพสัตว์ผู้ตกทุกข์อยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏหลุดพ้นจากความทุกข์

พูดให้สั้นคือ เพื่อช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากเกิดแก่เจ็บตายอันเป็นที่สุดยอดแห่งความทุกข์

จากจุดนี้เป็นจุดแรก จะเห็นว่าพระเวสสันดรโพธิสัตว์มิได้เห็นแก่ตัว ตรงข้ามกลับเป็นคนมีจิตใจกว้างขวาง เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นอย่างยิ่ง

เพราะท่านต้องการช่วยเหลือคนทั้งโลกให้พ้นทุกข์

และการช่วยจะได้สำเร็จ ก็ต้องได้บรรลุโพธิญาณคือเป็นพระพุทธเจ้าก่อน การบำเพ็ญบารมีเป็นขั้นตอนของการเตรียมพร้อมเพื่อบรรลุทานอันอุกฤษฏ์ เป็นหนึ่งในธรรมที่ต้องบำเพ็ญเพื่อให้ได้โพธิญาณนั้นถ้าไม่บริจาคลูกเมีย บารมีก็ไม่สมบูรณ์ ไม่มีทางเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้นพระโพธิสัตว์จึงบริจาคลูกเมียเป็นทาน

เมื่อบริจาคลูกเมียเป็นทานแล้วได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระโพธิสัตว์ก็สามารถช่วยเหลือได้ไม่เฉพาะลูกเมียของท่าน หากได้ช่วยเหลือคนทั้งโลก

การกระทำอย่างนี้แทนที่จะเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ตน กลับเป็นการเห็นแก่โลกทั้งโลก เพราะหลังจากนั้นพระเวสสันดรได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศสัจธรรม ช่วยปลดเปลื้องสัตว์โลกจากทุกข์มากต่อมาก และได้ฝากคำสั่งสอนเป็นประทีปส่องนำทางชีวิตของชาวโลกทั้งปวงมาตราบเท่าทุกวันนี้

ถ้าพระเวสสันดรไม่บริจาคลูกเมียในวันนั้น พระเวสสันดรก็ช่วยได้เฉพาะลูกเมียของท่าน เมื่อกลับมาครองเมืองสีพีแล้ว ก็ช่วยได้เฉพาะชาวเมืองสีพี สิ้นพระชนม์แล้วก็จมหายไปตามกาลเวลา

ถ้าไม่บริจาคลูกเมีย บารมีก็ไม่สมบูรณ์ ไม่มีทางเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์จึงบริจาคลูกเมียเป็นทาน

เมื่อบริจาคลูกเมียเป็นทานแล้วได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระโพธิสัตว์ก็สามารถช่วยเหลือได้ไม่เฉพาะลูกเมียของท่าน หากได้ช่วยเหลือคนทั้งโลก

การกระทำอย่างนี้แทนที่จะเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ตน กลับเป็นการเห็นแก่โลกทั้งโลก เพราะหลังจากนั้น พระเวสสันดรได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศสัจธรรม ช่วยปลดเปลื้องสัตว์โลกจากทุกข์มากต่อมาก และได้ฝากคำสั่งสอนเป็นประทีปส่องนำทางชีวิตของชาวโลกทั้งปวงมาตราบเท่าทุกวันนี้

ถ้าพระเวสสันดรไม่บริจาคลูกเมียในวันนั้น พระเวสสันดรก็ช่วยได้เฉพาะลูกเมียของท่าน เมื่อกลับมาครองเมืองสีพีแล้ว ก็ช่วยได้เฉพาะชาวเมืองสีพี สิ้นพระชนม์แล้วก็จมหายไปตามกาลเวลา


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๔) พระเวสสันดรเห็นแก่ตัวจริงหรือ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๔๓ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 พฤศจิกายน 2560 16:55:30 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 04 ธันวาคม 2560 13:01:51 »




บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๕)
พุทธองค์ – พระเวสสันดรให้ทานด้วยปัญญา

 หลังเขียนข้อเขียนเล็กๆ น้อยๆ ลงในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ผ่านมา มีท่านผู้อ่านหลายท่านแจ้งมาว่า อ่านแล้วชอบใจและเข้าใจ แต่ก่อนไม่เคยคิดในแง่มุมที่ผมคิด ว่าอย่างนั้น

มีท่านหนึ่งเป็นอาจารย์ ขออนุญาตคัดลอกไปให้นักเรียนอ่าน เพื่อจะได้มีเจตนาอันถูกต้องต่อพระเวสสันดรและพระพุทธศาสนา

เมื่อไม่นานมานี้ไปค้นเจอหนังสือ วารสารอักษรศาสตร์ ฉบับเฉลิมฉลอง ๘๐ ปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากศาสตราจารย์กิติคุณ ปรีชา ช้างขวัญยืน มีบทความเรื่องพระปัญญาบารมีของพระเวสสันดร ที่ท่านเขียนรวมอยู่ด้วย ผมรีบเปิดอ่านด้วยความยินดี

อ่านไปก็ขนลุกไปครับ ที่ทราบว่าอาจารย์ปรีชาก็คิดคล้ายกับผม แต่ท่านคิดลึกกว่า ผมจึงขอนำมาขยายให้ฟังตรงนี้เลยเพื่อเสริมให้ข้อเขียนที่แล้วมาสมบูรณ์ขึ้น

เนื่องจากภาษาของศาสตราจารย์เป็นภาษาวิชาการที่อลังการมาก ผมจึงขอถ่ายทอดออกมาโดยภาษาคอลัมนิสต์ก็แล้วกันละครับ จะได้ไม่ลำบากหาบันไดมาปีนดู

ในประเด็นที่พระเวสสันดรโพธิสัตว์ให้ลูกเป็นทาสนั้น อาจารย์ปรีชาบอกว่าเหตุผลหลักคือเพื่อโพธิญาณ เมื่อสละเพื่อโพธิญาณจึงมิใช่เรื่องส่วนตัว เพราะการบรรลุโพธิญาณนั้นเพื่อประโยชน์แก่คนส่วนมาก พูดง่ายๆ คือ เพื่อช่วยเหลือคนให้พ้นทุกข์แทนที่จะมองว่าเป็นการเห็นแก่ตัวกลับเป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่เสียอีก

ถามว่า พระเวสสันดรไม่รักลูกรักเมียหรือ จึงให้ลูกเมียเป็นทาน ตอบว่ารักยิ่งชีวิตดั่งคำยืนยันจากพระเวสสันดร (ในพระไตรปิฏก) ว่า “เพราะเหตุแห่งโพธิญาณนั้น ทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเราก็หามิได้ พระมัทรีเทวีไม่เป็นที่รักเราก็หามิได้ แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้น เราจึงให้ของอันเป็นที่รักของเรา”

อาจารย์ปรีชาบอกว่า พระปรีชาญาณของพระเวสสันดรนั้นได้คิดหาอุบายเพื่อช่วยเหลือทั้งพระเทวี ทั้งพระโอรสธิดาอย่างชาญฉลาด ทั้งนี้เพราะความรักลูกเมียสุดชีวิต ไม่อยากให้ลูกเมียลำบากลำบนอยู่กับพระองค์ในป่า

อย่าลืมเรื่องเดิมว่า พระเวสสันดรถูกเนรเทศพระองค์เดียว ลูกเมียมิได้ถูกเนรเทศด้วย พระนางมัทรีได้ยืนยันจะติดตามพระสวามีเอง แม้พระเวสสันดรก็ทัดทานไม่ได้ พระเจ้ากรุงสีพีก็ทัดทานไม่ได้

ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ หม่อมฉันต้องไปแน่นอน แม่น้ำไม่มีน้ำก็เปล่าดาย แว่นแคว้นไม่มีพระราชาก็เปล่าดาย หญิงเป็นม่ายก็เปล่าดาย หม่อมฉันว่างเว้นพระเวสสันดรเสียแล้วไม่พึงปรารถนาแผ่นดินอันมีสาครเป็นขอบเขต ทรงไว้ซึ่งเครื่องปลื้มใจเป็นอันมาก บริบูรณ์ด้วยรัตนะต่างๆ เมื่อสามีตกทุกข์แล้ว หญิงเหล่าใดย่อมหวังสุขเพื่อตน หญิงเหล่านั้นเลวทรามหนอ หัวใจของหญิงเหล่านั้นเป็นอย่างไรหนอ

เมื่อนางมัทรีออกจากวังตามพระสวามีไป ก็เป็นเหตุให้กัณหาชาลีต้องติดตามแม่ไปด้วย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้พระเวสสันดรมิได้เป็นผู้กำหนด

พระเวสสันดรนั้นด้วยความรักเมียและลูกมาก ไม่อยากให้ทั้งสามชีวิตต้องมาลำบากกับพระองค์ ถึงกับตรัสกับพระนางมัทรีว่าจงอยู่ในวังกับลูกเทิด ไปอยู่ป่ากับพระองค์นั้นลำบากและไม่รู้ว่าจะนานเท่าไรจึงจะได้กลับ

ดูกรพระน้องมัทรี เธอพึงเอาใจใส่ในลูกทั้งสองในพระชนนี และพระชนกของพี่ อนึ่ง ผู้ใดพึงตกลงปลงใจว่าจะเป็นพระสวามี พระน้องนางเธอพึงบำรุงผู้นั้นโดยเคารพ ถ้าไม่มีใครมาปลงใจเป็นพระสวามีของพระน้องนาง เพราะพระน้องนางกับพี่ต้องพลัดพรากจากกัน พระน้องนางจงแสวงหาพระสวามีอื่นเถิด อย่าลำบากเพราะจากพี่เลย
ห่วงหาอาทรเมียจนกระทั่งบอกว่า จะหาสามีอื่นพี่ก็ไม่ว่า เห็นหรือยังว่ารักเมียปานใด

รักปานนั้นแล้ว จากไปทำไม อ้าว ก็เนรเทศท่านนี่คะ

แน่นอน เมื่อพระชายาและพระโอรสธิดาไปตกระกำลำบากด้วยในป่า ย่อมไม่เป็นที่พึงประสงค์ของพระเวสสันดร แต่ก็จนใจไม่รู้จะทำอย่างไร

เมื่อเห็นชูชกเข้ามา จึงดีพระทัย เพราะชูชกจะช่วยเป็นสะพานให้พระองค์ส่งลูกเมียกลับไปสู่มาตุภูมิ อันจะได้สุขสบายเสียที เริ่มด้วยให้สองกุมารเป็นทาน แล้วตั้งค่าไถ่ไว้แพงๆ ชูชกเป็นคนโลภอยู่แล้ว ยังไงๆ ก็ต้องพาสองกุมารไปกรุงสีพี พระเจ้าปู่ก็คงจะต้องไถ่หลานไว้แน่นอน และพระเจ้าหลานทั้งสองก็จะได้มีชีวิตที่สบายในวัง นี่ก็เป็นแผนการที่วางไว้ เพราะความรักลูกเป็นพื้นฐาน

ที่ไม่บอกนางมัทรีก็เพราะไม่แน่ใจว่านางมัทรีจะขัดขวางหรือไม่ จึงต้องรีบๆ บอกชูชกพาสองกุมารไปก่อนแม่จะกลับมา

พระเวสสันดรคาดว่า แม่ย่อมรักลูกยิ่งชีวิต เมื่อเห็นว่าลูกจากไปก็ต้องตามหาลูกไม่ต้องสงสัย โดยวิธีนี้ พระนางมัทรีคงจะตามลูกไปยังเมืองสีพี และได้อยู่กับลูกในที่สุด เป็นอันว่าพระเวสสันดรก็จะได้หมดห่วงเพราะลูกเมียได้กลับคืนสู่อ้อมกอดพ่อแม่และปู่แล้ว ไปสบายแล้ว ย่อมลำบากเฉพาะพระองค์แต่เดียวดายดีกว่า

แต่พระเวสสันดรคาดผิดอยู่อย่างหนึ่ง พระนางมัทรีพอรู้ว่าพระสวามีให้ลูกเป็นทาน มิได้ติดตามไปจนถึงเมืองสีพี ได้แต่ตามหา ณ สถานที่ใกล้ๆ นั้น เมื่อไม่พบก็สลบไสลไป ฟื้นขึ้นมา แทนที่จะโกรธพระสวามีที่สละลูกเป็นทาน พอรู้เป้าหมายของการกระทำกลับยินดีอนุโมทนาและอยู่ปรนนิบัติดูแลพระเวสสันดรตามปณิธานเดิมเมื่อเสด็จออกจากวัง

ท้ายบทความอาจารย์ปรีชา สรุปว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าพระเวสสันดรนั้นมิใช่เพียงแต่ทรงทำทานบารมีอันยิ่งใหญ่นั้น แต่ยังทรงมีพระปัญญาบารมียิ่ง สามารถแก้ปัญหาให้จบลง โดยทุกคนทุกฝ่ายมีความสุข ความยินดี ไม่ต้องมีใครเป็นฝ่ายเสียหาย

แม้ชูชกก็กลายเป็นเศรษฐี (ในพระไตรปิฎก ชูชกได้รับค่าไถ่ และไม่มีเรื่องกินอาหารจนท้องแตกตาย) พระปัญญานี้แม้นางมัทรีไม่ทรงคาดได้แต่ก็แสดงความเชื่อมั่นในสิ่งที่พระสวามีทำ ว่าได้คิดดีแล้วและทรงแสดงถึงความรักที่มีต่อพระสวามีอย่างไม่เสื่อมคลาย จึงเห็นว่าด้วยพระอุบายอันลึกล้ำเช่นนี้เราน่าจะถือว่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องแสดงปัญญาบารมีไม่น้อยไปกว่าทานบารมี

คือทรงมองเห็นช่องทางที่ดีที่สุดที่จะได้ทั้งการทำทานและทำให้ทั้งตัวผู้เป็นทาน และผู้รับผลของทานมีความสุขโดยทั่วหน้า

และพระปัญญาเช่นนี้เอง ที่เป็นเครื่องทำให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๕)  พระเวสสันดรให้ทานด้วยปัญญาโดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๔๔ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐





บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๖)
เหตุผลที่ทรงแต่งตั้งพระอัครสาวก

อ่านพุทธประวัติไปเรื่อย คิดไปเรื่อยๆ ก็ได้ทั้งคำถามและคำตอบ บางคำถามก็ไม่ได้คำตอบ หรือได้มายังไม่สนิทใจ ก็คงหาไปเรื่อยๆ เป็นการประเทืองปัญญา และเหนือสิ่งอื่นใดเป็นการเพิ่มศรัทธาปสาทะในสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามากยิ่งขึ้น

พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า เพียงคิดในเรื่องกุศล ยังมีอานิสงส์มหาศาล ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการกระทำ

หมายถึงความคิดเรื่องดีๆ ก็มีผลในทางดีมหาศาลแล้ว ถ้าลงมือทำด้วยก็จะยิ่งเพิ่มพูนผลมหาศาลขึ้นไปอีก

คิดถึงพระพุทธองค์ก็จิตใจผ่องแผ้วปานนี้ ถ้าดำเนินรอยตามพระยุคลบาทจะผ่องแผ้วปานใดคิดเอาก็แล้วกันครับ

วันนี้อ่าน พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ตอนตรัสรู้จนกระทั่งถึงประกาศพระพุทธศาสนาจนมั่นคงเจริญแพร่หลายในแคว้นมคธ อ่านถึงตอนทรงประกาศแต่งตั้งพระอัครสาวกก็ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไม

ทำไมของผมก็คือ ทำไมพระพุทธองค์ทรงประกาศแต่งตั้งท่านทั้งสอง (พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ) เป็นอัครสาวก ทั้งๆ ที่ท่านอายุพรรษาน้อย และเหนืออื่นใด ตั้งแต่ท่านทั้งสองยังไม่ได้อุปสมบทเสียด้วยซ้ำ

เรื่องมีอยู่ว่า อุปติสสะมาณพ และ โกลิตะมาณพ เป็นสหายรักกัน เบื่อชีวิตครองเรือนที่วุ่นวาย จึงพากันไปศึกษาอยู่กับอาจารย์สัญชัย เวลัฏฐบุตร หนึ่งใน “ครูทั้งหก” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยพุทธกาล ท่านสัญชัยสอนปรัชญาที่สมัยนี้รู้จักกันในนามว่า skepticism เรียกตามศัพท์บาลีว่า อมราวิกเขปิกา

อมราวิกเขปิกา” โบราณแปลว่า ทฤษฎีที่ลื่นไหลไปเรื่อยๆ ดุจปลาไหล คือไม่ยืนยันหรือปฏิเสธทฤษฎีใดๆ แน่นอน กลัวจะเป็นการผูกมัดตัวเอง สงสัยมันไปเรื่อยไป สองบวกสองเขาว่าเป็นสี่ มันจะเป็นสี่จริงหรือไม่ ทำไมมันเป็นสี่ เป็นห้าเป็นหกไม่ได้หรือ อะไรทำนองนี้แหละครับ อย่าให้ผมอธิบายเลย เดี๋ยวเข้ารกเข้าพงไปกันใหญ่

ท่านทั้งสองศึกษาอยู่จนจบหลักสูตรของอาจารย์แล้ว ก็รู้สึกว่ามิใช่แนวทางที่ตนเองต้องการ จึงตกลงกันเงียบๆ ว่า จะแสวงหาอาจารย์ที่สามารถชี้แนะแนวทางที่ดีกว่านี้ ใครพบก่อนกันก็ให้แจ้งแก่อีกฝ่ายหนึ่งด้วยจะได้ไปด้วยกัน

อุปติสสะพบ พระอัสสชิ น้องสุดท้องแห่งปัญจวัคคีย์ ขณะท่านเดินบิณฑบาตอยู่ รู้สึกประทับใจ จึงเข้าไปขอให้ท่านสอนธรรมให้ พระอัสสชิท่านออกตัวว่ายังเป็นพระนวกะอยู่ สอนให้ไม่ได้มาก อุปติสสะเรียนท่านว่า สอนสั้นๆ ก็ได้ พระเถระจึงกล่าวคาถาอันเป็นหัวใจของอริยสัจสี่ให้ฟังว่า

“สิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุของสิ่งเหล่านั้น และการดับเหตุของสิ่งเหล่านั้น พระมหาสมณะสอนอย่างนี้”

คาถานี้เรียกกันว่า คาถาเยธัมมา เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า “เย ธัมมา” สมัยโบราณถือเป็น หัวใจพระพุทธศาสนา มักจะจารหรือสลักไว้ให้ศึกษากันต่อๆ มา ดังจารึกพระเจ้าอโศกที่ค้นพบที่นครปฐม เป็นต้น

พอท่านอัสสชิกล่าวจบ อุปติสสะก็ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกโกลิตะ โกลิตะก็ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน ทั้งสองจึงไปชวนอาจารย์สัญชัยไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยกัน

ชวนด้วยความปรารถนาดีครับ แต่คนระดับสัญชัยเป็นอาจารย์คนแล้ว จะลดฐานะเป็นลูกพรรค เอ๊ยสาวกของคนอื่น พูดได้คำเดียวว่า ยาก ท่านจึงปฏิเสธ บอกศิษย์ว่า เธอทั้งสองอยากไปเป็นศิษย์สมณโคดมก็ไปเถิด อย่ามาชวนข้าให้ยากเลย ครั้นทั้งสองรบเร้าว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง เป็นผู้รู้แจ้งจริง อาจารย์น่าจะไปเป็นสาวกของพระองค์

พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้วอย่างนี้ ต่อไปคนทั้งหลายก็หลั่งไหลไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ แล้วอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร

สัญชัยจึงถามว่า ในโลกนี้คนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก

“คนโง่มากกว่าครับ” ศิษย์ทั้งสองตอบ“ถ้าเช่นนั้น คนโง่ๆ มันจะเป็นศิษย์ของข้าเอง เธอทั้งสองไม่ต้องกลัวว่าข้าจะไม่มีศิษย์ดอก คนฉลาดๆ อย่างเธอทั้งสอง จะไปเป็นศิษย์สมณโคดมก็ตามใจ”

ไม่รู้ว่าพูดด้วยใจจริงหรือพูดทำนองประชดประเทียด แต่ศิษย์ทั้งสองก็อำลาอาจารย์ไปยังพระเวฬุวัน เพื่อบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ในที่สุด

ขณะนั้นพระพุทธองค์ประทับท่ามกลางพุทธบริษัทจำนวนมาก ทอดพระเนตรเห็นสองท่านกำลังเดินมา ตรัสบอกภิกษุสงฆ์ว่า ภิกษุทั้งหลาย มานพทั้งสองคนนี้จะเป็นอัครสาวกของเราตถาคต

ทรงประกาศแต่งตั้งให้เป็นอัครสาวกตั้งแต่ท่านทั้งสองยังไม่ได้บวชแน่ะครับ

หลังจากบวชแล้ว ๗ วัน โกลิตะ ต่อมาเรียกกันว่า พระโมคคัลลานะ ก็ได้บรรลุพระอรหัต และ ๑๔ วัน อุปติสสะ ต่อมาเรียกกันว่า พระสารีบุตรก็ได้บรรลุพระอรหัต

วันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุพระอรหัต ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนมาฆะพอดี คืนวันนั้นเองพระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาติโมกข์ ที่ประกอบด้วยจาตุรงคสันนิบาต (การประชุมใหญ่อันประกอบด้วยองค์ ๔) อันเป็นต้นเหตุให้เกิดวันมาฆบูชาในเวลาต่อมา

จากนั้นพระพุทธองค์ทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีปัญญามาก พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีฤทธิ์มาก

ถามว่าทำไมพระพุทธองค์จึงทรงแต่งตั้งทั้งสองท่าน ซึ่งอายุพรรษาน้อยกว่าพระภิกษุรูปอื่นๆ ทำไมพระองค์จึงทรงละเลยพระเถระผู้ใหญ่อื่นๆ เช่น พระมหากัสสปะ พระอัญญาโกณฑัญญะ หรือแม้แต่พระอัสสชิ อาจารย์รูปแรกของพระสารีบุตร ทรงเห็นแก่ท่านทั้งสอง หรือว่าทรงโปรดปรานอะไรท่านทั้งสองเป็นพิเศษหรือ

ดูคำตอบในอรรถกถา ท่านบอกว่า เพราะท่านทั้งสองได้ตั้งความปรารถนาต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าในอดีตพระองค์หนึ่ง ท่านทั้งสองได้เห็นพระอัครสาวกทั้งสองของพระพุทธเจ้า อยากจะทำหน้าที่รับใช้พระพุทธเจ้าอย่างนั้นบ้างในอนาคต จึงตั้งความปรารถนาไว้ ว่าอย่างนั้น

ก็ฟังท่านครับ แต่ก็ยังไม่สนิทใจร้อยเปอร์เซ็นต์ มันน่าจะมีเหตุผลอื่นใดนอกจากยกอดีตชาติไหม ผมคิดเล่นๆ ตามประสาผมว่าน่าจะมีนะครับ ถ้าดูตามบริบท (ข้อความแวดล้อม) น่าจะเป็นดังนี้ครับ

ในช่วงนี้ พระพุทธองค์เริ่มประกาศพระพุทธศาสนาใหม่ๆ แนวทางที่พระองค์ทรงเผยแพร่นั้นขัดแย้งกับลัทธิ ความเชื่อถือของคนสมัยนั้นชนิดหน้ามือหลังมือทีเดียว คนสมัยนั้นเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า (พระพรหม) และเชื่อในเรื่องวรรณะ ค่านิยม ความดีความชั่วขึ้นอยู่กับวรรณะที่แต่ละคนเกิด เกิดในวรรณะสูงเป็นคนดี เกิดในวรรณะต่ำเป็นคนชั่วโดยอัตโนมัติ

พระพุทธเจ้าจะต้องแสดงเหตุผลหักล้างความคิดความเชื่อเหล่านี้ให้เขาเห็นชัด เขาจึงจะสละความคิดความเชื่อเดิมๆ นี้ได้ ภาระหน้าที่ด้านปัญญาเป็นเรื่องสำคัญ พระองค์ทรงต้องการ มือ มาช่วยทำงานเผยแพร่พระพุทธศาสนา

สาวกผู้ที่จะเหมาะสมกับภารกิจนี้ จะต้องเป็นผู้มีปัญญา มีปฏิภาณในการโต้ตอบ อธิบายหรือมีความสามารถในการ สื่อ กับพวกเขาได้อย่างดี

พระมหากัสสปะ นั้นเป็นพระป่า เคร่งครัดในธุดงควัตร ท่านก็คงไม่ถนัดในการอธิบายโต้ตอบหักล้างความเห็นของคู่สนทนา ท่านเหมาะเป็นแบบอย่างของชีวิตที่เรียบง่าย

พระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านเป็นพระผู้เฒ่า เคยเป็นโหราจารย์มาก่อน มีประสบการณ์มาก (รัตตัญญู) ก็จริง แต่ความสามารถในปฏิภาณปัญญาชี้แจงแสดงธรรมคงไม่เด่น

ดังตัวท่านเองก็รู้ตัวดี จึงไปชักจูงหลานชายนาม ปุณณมันตานีบุตร มาบวช เพื่อช่วยพระพุทธเจ้าในด้านนี้ในเวลาต่อมา

พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะนั้น อย่าลืมว่าเป็นบัณฑิตทางปรัชญา เกิดในตระกูลพราหมณ์ เชี่ยวชาญในไตรเพทมาก่อน เรียกว่า มีคุณสมบัติพร้อม รู้ทั้งสกสมัย (เรื่องของตนคือพระพุทธศาสนา) และปรสมัย (เรื่องของผู้อื่น คือลัทธิคำสอนอื่น) ผู้ รู้เขา-รู้เรา อย่างนี้ย่อมเหมาะสำหรับหน้าที่เป็น มือ ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่พระพุทธองค์พอทอดพระเนตรเห็นสองท่านเดินมา ก็ตรัสว่าสองคนนั้นจะเป็นอัครสาวกของเรา

ผมว่านี้คือเหตุผลสำคัญ นอกเหนือจากความปรารถนาที่ทั้งสองท่านตั้งไว้ในอดีตชาติ ผมไม่ถามละว่าท่านผู้อ่านเห็นอย่างไร อยากเห็นก็เห็นเอาเอง เพระเข็ดแล้วเวลาขอความช่วยเหลืออย่างนอบน้อม มักจะได้รับคำ “ด่า” (เรียกว่าด่าก็แล้วกัน) ว่าชอบคิดนอกรีตนอกรอยบ้างละ นรกจะกินหัวบ้างละ

เหตุผลดีๆ ก็โปรดให้เป็นธรรมทานแบบใจเย็นๆ ก็ได้ครับ ให้ทานด้วยความเครียดความโกรธ เดี๋ยวเกิดชาติหน้าไม่หล่อนะจะบอกให้


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๖) เหตุผลที่ทรงแต่งตั้งพระอัครสาวก โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๖๗ ฉบับที่ ๑๙๔๕ ประจำวันที่ ๒๔-๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐





บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๗)
พระพุทธองค์ไม่ต่อพระชนมายุ

ในแวดวงพระพุทธศาสนา มีพิธีกรรมบางอย่างเกี่ยวกับความตายและการชะลอความตาย ที่ถือปฏิบัติสืบมาเป็นประเพณี พิธีกรรมอย่างแรกเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

แต่อย่างหลัง (การต่ออายุ) เด็กๆ สมัยนี้อาจไม่เคยเห็น โบราณท่านทำกันนะครับ

จำได้ว่าสมัยผมเป็นเด็ก ตาผมป่วยหนัก ญาติๆ ไปนิมนต์พระมา ต่ออายุให้คุณตา (พี่สาวผมบอกอย่างนั้น) พระท่านก็มาสวดอะไรบ้าง ตอนนั้นยังเด็กอยู่ ไม่รู้เรื่อง มาทราบภายหลังว่าท่านมาสวดโพชฌงคปริตร แล้วก็จบพิธีด้วยการสวดบังสุกุลเป็น

มีประวัติความเป็นมาว่า สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระโมคคัลลานะอาพาธหนัก จึงเสด็จไปทรงแสดงโพชฌงค์ให้ท่านฟัง ท่านหายอาพาธ

อีกคราวหนึ่งพระมหากัสสปะอาพาธหนัก ก็เสด็จไปทรงแสดงโพชฌงค์ให้ฟัง ท่านมหากัสสปะก็หายอาพาธ

ต่อมาถึงคราวพระพุทธองค์ทรงประชวรหนักบ้าง ทรงรับสั่งให้พระจุนทะสวดโพชฌงค์ให้ฟัง พระพุทธองค์ก็ทรงหายประชวรเช่นเดียวกัน

เพราะเรื่องราวดังนี้และมีความมั่นเช่นนี้ จึงเกิดประเพณีต่ออายุขึ้นในหมู่ชาวพุทธ ถ้าใครป่วยหนักทำท่าจะไปมิไปแหล่ ญาติพี่น้องก็จะนิมนต์พระไปสวดโพชฌงคปริตรให้ฟัง เป็นการยืดอายุออกไปอีก

โพชฌงคปริตร ว่าด้วยโพชฌงค์ (ธรรมะที่เป็นองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้, ธรรมะที่ทำให้ตรัสรู้) ๗ ประการคือ สติ ธัมมวิจยะ (การวิจัยธรรม) วิริยะ (ความเพียร) ปีติ (ความปลื้มใจ) ปัสสัทธิ (ความสงบกาย) สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่น) อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง)

ถามว่าทำไมพระพุทธองค์และพระสาวกเมื่อฟังสวดโพชฌงค์จึงหายประชวรและหายไข้ ตอบได้ว่า มิใช่เพราะความขลังของบทสวด หากเป็นเพราะฟังเข้าใจและพิจารณาไปตามธรรมที่สวดให้ฟังนั้น เริ่มตั้งแต่การตั้งสติ ระลึกรู้เท่าทันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จนกระทั่งมีอุเบกขา วางเฉย วางใจเป็นกลางอย่างรู้เท่าทัน อาการที่เกิดขึ้นและเป็นไป จิตมีอิสระไม่ถูกทุกขเวทนาครอบงำ

ด้วยวิธีการเช่นนี้อาพาธที่มีอยู่ ทุกขเวทนาที่ประสบอยู่ก็ทุเลาจนหายไปได้ เมื่อกายเจ็บแต่ใจไม่เจ็บด้วย มันจะทนเจ็บไปได้สักกี่น้ำ

ดุจเดียวกับนักมวยสวมนวมขึ้นชกบนเวที เต้นเหยงๆ รอคู่ต่อสู้ขึ้นมาชก คู่ต่อสู้ไม่ขึ้นมาชกด้วย ในที่สุดก็ต้องลงเวทีไป คงไม่มีนักมวยคนไหนที่ชกลมวืดวาดๆ เป็นชั่วโมงบนเวทีนั้นดอกครับ

ในพุทธประวัติมีเหตุการณ์ตอนหนึ่งว่า พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร (กำหนดพระทัยจะปรินิพพาน) ทันทีที่ทรงปลงอายุสังขาร แผ่นดินก็ไหว จนกระทั่งพระอานนท์ประหลาดใจว่าเกิดอะไรขึ้น จึงเข้าเฝ้าทูลถาม (๑) ไหวเพราะลม (๒) ไหวเพราะผู้มีฤทธิ์บันดาล (๓) ไหวเพราะพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ (๔) ไหวเพราะพระโพธิสัตว์ประสูติ (๕) ไหวเพราะพระโพธิสัตว์ตรัสรู้ (๖) ไหวเพราะพระพุทธเจ้าหมุนกงล้อคือพระธรรม (แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) (๗) ไหวเพราะพระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร (๘) ไหวเพราะพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

พระอานนท์รู้ทันทีว่าพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารแล้ว จึงกราบทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงยืดพระชนมายุไปอีกสักระยะหนึ่งพูดง่ายๆ ว่า ขอให้ทรงต่ออายุ

พระพุทธองค์ตรัสว่า สายเสียแล้ว เราตถาคตเคยทำนิมิตโอภาส (บอกใบ้) ให้เธอขอตั้งหลายครั้ง (๑๖ ครั้งแน่ะครับ) เธอก็ไม่เห็นขอ ตอนนี้เราตถาคตรับคำเชิญของมารแล้ว จะปรินิพพานในอีกสามเดือนข้างหน้า เรื่องราวดังที่ทราบกันดีแล้วนะครับ

ถ้ายังไม่ทราบ อะแฮ้ม ให้ไปหาหนังสือ วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ ของสำนักพิมพ์มติชน (เจ้าเก่า) มาอ่านเทอญ

ที่จะยกมาพูดกันในวันนี้ก็คือ ถ้าพระพุทธองค์จะทรงต่อพระชมมายุออกไปอีกจะต่อได้จริงหรือ ต่อได้ด้วยวิธีใด การฟังสวดโพชฌงค์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เพียงทำให้หายอาพาธชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้าจะต่อออกไปยาวๆ เป็นสิบๆ ปีนั้น จะทำได้โดยวิธีใด
 
มีพุทธวจนะตรัสกับพระอานนท์ดังนี้ครับ

“ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดเจริญอิทธิบาท ๔ แล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมดีแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อจำนงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัป เราตถาคตก็เจริญอิทธิบาทแล้ว…ถ้าตถาคตปรารถนาจะดำรงอยู่ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัปก็ย่อมทำได้”

ความหมายก็คือ ใครที่บำเพ็ญอิทธิบาท ๔ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ได้เต็มที่บริบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์พันเปอร์เซ็นต์แล้ว ถ้าต้องการจะต่ออายุออกไปอีก หนึ่งกัป หรือ เกินกว่าหนึ่งกัป ก็ย่อมทำได้ ไม่เฉพาะแต่พระพุทธองค์ คนอื่นก็ทำได้

คำว่า กัป ในที่นี้เป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้ในกรณีนี้เท่านั้น หมายถึงระยะเวลาประมาณ ๑๐ ปี เกินกว่าหนึ่งกัป ก็คือเกินไปอีก ๑๐ ปี (รวมเป็น ๒๐ ปี)

ในกรณีของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ถ้าพระองค์ทรงต่ออายุออกไปอีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปี ก็จะเป็น ๙๐ พรรษา หรือ ๑๐๐ พรรษา อันเป็นอายุขัยของมนุษย์ทั้งหลายพอดิบพอดี

หรือในอีกความหมายหนึ่ง กัป หมายถึง อายุกัป หรือ อายุขัยของมนุษย์ อายุขัยของมนุษย์ในยุคนี้คือ ๑๐๐ ปี ถ้าผู้เจริญอิทธิบาทเต็มที่แล้วปรารถนาจะมีอายุกัปหนึ่ง (คือมีอายุ ๑๐๐ ปี) ก็ย่อมได้ หรือปรารถนาจะมีอายุเกินกว่ากัปหนึ่ง (คือเกินหนึ่งร้อย เป็น ๑๒๐ ปี) ก็ย่อมกระทำได้

พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า อิทธิบาทที่เจริญเต็มที่แล้วสามารถยืดอายุคนให้มีอายุถึง ๑๐๐ หรือ ๑๒๐ ปีได้ แต่ไม่ทรงอธิบายไว้ว่ายืดได้อย่างไร หาคำอธิบายจากเกจิอาจารย์ (หมายถึงอาจารย์สอนพระศาสนาผู้เป็นออธอริตี้นะครับ ไม่ใช่อาจารย์ขลังแจกเหรียญแจกพระ) ก็ยังหาไม่ได้ จึงขอเดาตามประสาคนรู้น้อยไปก่อน ได้ทราบว่าพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เคยแสดงธรรมแก่ผู้เกษียณอายุราชการ ท่านว่า อิทธิบาทสี่ทำให้อายุยืนได้ อ้างพุทธดำรัสและพุทธประวัติตอนนี้ด้วย ผมยังหาหนังสือไม่พบ

ไว้คราวหน้าจะนำมาสรุปให้ฟังครับ

อิทธิบาท ๔ คือ ความรัก ความเพียร ความเอาใจใส่จดจ่อและการทำงานด้วยปัญญา ถ้าใช้กับงานที่ทำก็คือ รักงาน สู้งาน ทำงานให้ดีให้สำเร็จ เอาใจจดจ่อในงานที่ทำค้างอยู่ แบบกัดไม่ปล่อย ไม่เสร็จไม่ยอม และคิดหาวิธีการแก้ไขข้อบกพร่องเติมเสริมต่อให้สมบูรณ์

เขาว่าความรัก ความพยายามเป็นต้นนี้ มันเป็นพลังขับเคลื่อนให้ยืดอายุได้ เช่น กำหนดจะสิ้นอายุในปีนี้ แต่ไม่ยักตายแฮะ เพราะอะไรหรือครับ คนที่มีความรักงาน ใฝ่งานอย่างมาก กระแสความรักความปรารถนามันจะแรงมาก แรงมากถึงขนาดว่า ฉันยังตายไม่ได้ ถ้างานนี้ไม่สำเร็จ จิตใจก็จะสั่งไปยังร่างกาย (ซึ่งกำลังอ่อนแอเต็มที) ทันทีว่า เฮ้ย เอ็งยังดับไม่ได้นะเว้ยจนกว่างานนี้จะสำเร็จ ต้องอยู่ไปก่อน

แล้วมันก็อยู่ได้จริงๆ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแหละครับ

ไม่ต้องดูไกล เอาแค่นักมวยคนหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็น วินนี่ ปาเซียนซ่า (คนที่เดินเข้าออกระหว่างคุกกับเวทีมวยน่ะครับ) ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำคอหัก ไม่ตาย หมอต่อคอให้ เข้าเฝือกไว้ หมอบอกว่า ชกมวยไม่ได้อีกแล้ว ให้ปลงซะ

ปาเซียนซ่า บอกว่า ผมต้องชกได้ ผมมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าผมต้องหายและต้องชกมวยอีกได้ แกไม่ยอมแพ้ มีความรัก (ฉันทะ) มีความพากเพียร บากบั่นเพื่อคืนสู่สังเวียนให้ได้ พยายามซ้อมมวยเบาๆ ก่อน จิตใจสั่งตัวเองตลอดเวลาว่า มึงต้องหาย มึงต้องชกมวยได้ ถ้าพูดแบบนักธรรมะก็คือ แกมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เกี่ยวกับการชกมวย ว่าอย่างนั้นเถอะ

แล้วในที่สุดปาเซียนซ่าก็หาย และคืนสู่สังเวียน เป็นนักชกอันตราย

อย่าถามว่า เขียนคอลัมน์ธรรมะธัมโม ก็รู้เรื่องหมัดมวยด้วยหรือ

ผมก็ขอบอกว่า ที่รู้เรื่องอื่นนอกจากธรรมะธัมโมก็เพราะ เด็กเล่าให้ฟัง เช่นเดียวกัน (ฮา)



ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๗) พระพุทธองค์ไม่ต่อพระชนมายุ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๔๖ ประจำวันที่ ๑-๗ ธันวาคม ๒๕๖๐


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 มกราคม 2561 10:31:58 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 04 มกราคม 2561 10:40:41 »




บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๘)
สถานภาพของเจ้าชายสิทธัตถะ

ในหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษา มีหัวข้อว่าด้วย สถานภาพของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เขียนหลักสูตรคงต้องการให้พูดถึงว่า ก่อนเสด็จออกมหาอภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) พระพุทธเจ้าทรงมีสถานภาพอย่างไร ดูซิว่าอะไรเป็นตัวเร่งให้พระพุทธองค์เสด็จออกผนวชและตรัสรู้

ตำราเขียนว่า พระพุทธเจ้าก่อนเสด็จออกผนวชนั้นทรงมีสถานภาพคือ

๑.เป็นเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ และ (ตามความเชื่อทั่วไป) ทรงเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ของสมเด็จพระราชบิดา

๒.ทรงได้รับการเอาใจใส่ บำรุงบำเรออย่างดี (ดีเกินไป) จากสมเด็จพระราชบิดา เพราะโหราจารย์นั้นแหละเป็นเหตุ โหราจารย์ ๗ คน ทายว่า เจ้าชายมีคติ ๒ ประการคือ ถ้าสละโลกีย์ไปเป็นนักพรต ก็จะได้เป็นศาสดาเอก ในโลก

ถ้าเสด็จอยู่ครองราชย์ก็จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เหนือแผ่นดินแถมโหรหนุ่มนาม โกณฑัญญะ ยังทำนายด้วยความมั่นใจว่า เจ้าชายเสด็จออกผนวชแน่นอน แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งโรตีเสียอีก ว่าขนาดนั้น

ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ทรงมีพระราชประสงค์อยากให้พระราชโอรสเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เรื่องอะไรจะให้เบื่อหน่ายโลกีย์เล่า ทางที่จะดึงเจ้าชายไว้อยู่ก็คือ อย่าให้ได้ทัศนาอะไรที่จะเป็นเหตุเกิดความเบื่อหน่าย จึงพยายามปรนเปรอทุกอย่างด้วยกามคุณทั้ง ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจสารพัดวิธี

แต่เมื่อมากไป ย่อมเอียน หรือเอือมได้นะครับ ข้อนี้พระเจ้าสุทโธทนะทรงนึกไม่ถึง

๓.พระอุปนิสัยของเจ้าชายทรงเป็นคนชอบคิด พินิจพิจารณาบนพื้นฐานแห่งเมตตากรุณาเป็นทุนเดิม

เมื่อทรงเห็นความเป็นจริงชีวิตอีกมุมหนึ่ง นอกเหนือจากพระราชบิดาพยายามปิดบัง ก็ทรงนำมาครุ่นคิดว่า ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น ในที่สุดก็ทรงได้ข้อสรุปว่า “โลกนี้เป็นทุกข์ สรรพสัตว์ที่เกิดมาย่อมเผชิญกับทุกข์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายไม่มีที่สิ้นสุด”

ข้อสรุปนี้แลที่นักการศึกษาว่า เจ้าชายสิทธัตถะทรง generalize ออกมาได้ อันจักนำไปสู่ความเคลื่อนไหวอันยิ่งใหญ่ต่อไป

ต่อมาก็ทรงนำมาเปรียบเทียบ มีร้อนก็ต้องมีเย็น มีมืดก็ต้องมีสว่าง มีทุกข์ก็ต้องมีความพ้นทุกข์

แล้วในที่สุดก็ทรงตัดสินพระทัยออกผนวชเพื่อพ้นทุกข์ หลังจากได้เห็นภาพอันสงบเย็นของสมณะรูปหนึ่ง


ที่ว่ามาทั้งหมดนี้คือ สถานภาพของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนเสด็จออกผนวช ที่มีในตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยม

ผมอ่านดูแล้ว เห็นว่าสถานภาพเหล่านี้ มิได้เป็นเงื่อนไขเอื้อให้เจ้าชายเสด็จออกผนวชเร็วขึ้นเท่านั้น บางอย่างยังเป็นเงื่อนไขเอื้อให้ประกาศพระพุทธศาสนาของพระองค์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วอีก และยังมีสถานภาพอีกด้านหนึ่งที่มักลืมพูดถึงก็คือ การที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเษกสมรสและมีพระโอรสก่อนออกผนวช

อ้าว นี่แหละเป็นประเด็นสำคัญที่สุดล่ะ เพราะฉะนั้น ในบทความสั้นๆ นี้ จะตั้งเป็นประเด็นว่า การที่เจ้าชายสิทธัตถะเกิดในตระกูลกษัตริย์ ๑ การที่พระองค์ทรงมีพระโอรส ๑ เอื้ออำนวยให้พระองค์ได้รับการยอมรับจากสังคม
 
และได้ประกาศศาสนาแพร่หลายเร็วขึ้น

เหตุผลก็คือ สังคมอินเดียยุคพุทธกาลเป็นสังคมที่คนยึดมั่นในวรรณะมาก

เขาถือว่าคนเกิดในวรรณะสูงคือ พราหมณ์ กษัตริย์ เท่านั้นที่เป็นคนดีในสังคม วรรณะต่ำ โดยเฉพาะศูทรเกิดจากเท้าพระพรหม เป็นคนชั่วคนเลว

พวกคนชั้นสูงคือพราหมณ์ ไม่ยินดีเสวนาด้วยหากไม่จำเป็น ถ้าสมมุติว่า (สมมุติ ไม่ใช่เรื่องจริง) พระพุทธองค์ทรงประสูติในวรรณะศูทร พระองค์ประกาศว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ จะเทศน์ให้ประชาชนทราบแนวทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐ ถามว่าจะได้รับการยอมรับไหม

อย่าว่าแต่ยอมรับเลย พูดเขาก็ไม่พูดด้วย เมื่อเขาไม่พูดด้วยโอกาสที่จะเสนอแนวทางใหม่ให้เขาทราบก็ไม่มี ข้อนี้จะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงที่เดียว แม่นบ่ครับ

อีกข้อหนึ่ง คนอินเดียยุคพุทธกาล มีความเชื่อฝังหัวว่าคนที่ไม่สามารถมีบุตรชายไว้สืบสกุล เป็นคนชั่วคนบาป เพราะสกุลวงศ์จะขาดสูญ ไม่มีใครส่งวิญญาณของเขาขึ้นสวรรค์ ความบกพร่องในเรื่องนี้ กลายเป็นเคราะห์ร้ายตกแก่ผู้หญิงอย่างช่วยไม่ได้ คือหญิงที่ออกเรือนไป ไม่สามารถมีบุตรชายให้สกุลสามี จะถูกรังเกียจ หาว่าเป็นกาลกิณีแก่วงศ์ตระกูล

บางรายอาจถูกส่งกลับและบางรายเมื่อกลับแล้วพ่อแม่ไม่รับคืน เฉดหัวส่งซ้ำก็มี

ใครที่ไม่มีบุตรชายสืบสกุล ย่อมจะตกนรกขุมที่ชื่อว่า ปุตตะ ตกจริงหรือตกนรกทางใจก็สุดจะทราบได้

ถ้าคนที่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุลไปบวชเป็นนักพรต เขาจะถือว่าเป็นคนล้มเหลวในชีวิต ต่อมาถึงจะประกาศตนว่าบรรลุโมกษะ ได้รู้แจ้งเห็นจริงอะไรทำนองนั้น ผู้คนเขาก็จะไม่เชื่อและไม่ยอมรับ คนที่ปากคอเราะร้ายก็อาจจะกล่าวว่า

“โถ เป็นคฤหัสถ์ยังล้มเหลวในชีวิต ยังมีหน้ามาบอกว่าตรัสรู้ ใครมันจะเชื่อ พิโธ่พิถัง”

เห็นไหมครับว่าเรื่องราวมันจะเลวร้ายขนาดไหน

พระพุทธองค์ทรงมีภูมิหลังที่ไม่มีใครตำหนิได้ ทรงเป็นเจ้าชาย อุภโตสุชาติ จากศากยวงศ์ สูงส่งไม่แพ้วรรณะพราหมณ์ (หรือว่าตามจริง สูงกว่าด้วยซ้ำ ดังคำเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “ในบรรดาผู้ที่รังเกียจกันด้วยโคตร กษัตริย์นับว่าสูงสุดในหมู่มนุษย์” ไปไหนพวกพราหมณ์ให้การต้อนรับ เพราะถือว่าเป็นวรรณะเสมอกับพวกตน พระพุทธองค์ย่อมจะมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสอดแทรกแนวทางใหม่ที่พระองค์ทรงต้องการสั่งสอนพวกเขา

ยิ่งเมื่อพวกเขาทราบว่า สมณะที่กำลังสนทนาด้วยนั้น มิได้มีความล้มเหลวในชีวิตครอบครัวมาก่อน ทรงมีโอรสสืบสกุล

พูดง่ายๆ ว่าเป็นชายแท้ที่ออกบวชเพราะทรงแสวงหาทางพ้นทุกข์อันประเสริฐกว่า และเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ ด้วยพระมหากรุณา ก็ยิ่งศิโรราบกราบกรานด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ดังปรากฏมีจำนวนมากในพุทธกาล

เห็นหรือยังครับว่า สถานภาพ ๒ ประการนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วอย่างไร


ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๘) สถานภาพของเจ้าชายสิทธัตถะ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๔๙ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐




บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๙)
พระพุทธองค์ทรงเป็นอะไรกับพระเทวทัต

หัวข้อเรื่องนี้ยังกับตั้งคำถามสอบนักธรรมแน่ะ นักธรรมตรีก็คงตอบได้ว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระศาสดา พระเทวทัตเป็นสาวกรูปหนึ่ง หรือถ้าพูดถึงสถานภาพก่อนหน้านั้น สมัยยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ก็ทรงเป็นสามีของน้องสาวของพระเทวทัต เพราะเจ้าชายเทวทัตเป็นพี่ชายของพระนางยโสธรา (พิมพา)

ถ้านักธรรมตรีตอบอย่างนี้ก็คงให้สอบได้ แต่บังเอิญว่ามิได้ถามนักธรรมตรี คำตอบจึงอาจจะมิใช่ดังว่ามานี้ ถามว่าคำตอบว่าอย่างไร ไม่ทราบสิครับ

เมื่อไม่นานมานี้ ดูหนังพุทธประวัติฉบับจีน สร้างที่ฮ่องกงเป็นหนังใหญ่ เอาคนจริงแสดงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและพระพุทธเจ้า ไม่แน่ใจว่าดารานำเป็นใคร หนังออกไปทำนองหนังกำลังภายใน เพราะเวลาเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ มีมังกรเหินฟ้าเป็นนิมิตอัศจรรย์

ข้อมูลที่เขาเอามาสร้างหนังน่าสนใจ เขาสร้างให้เจ้าชายเทวทัต เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระนางยโสธรา เมื่อเป็นหนุ่มก็หมายปองสาวงามคนเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะก็คือ พระนางยโสธรา นั้นเอง

มีการประลองฝีมือกันระหว่างเจ้าชายสิทธัตถะกับเจ้าชายเทวทัตหลายครั้งหลายครา สู้กันทีไร ไม่ว่ากระบวนท่าไหน เจ้าชายเทวทัตแพ้ทุกที เหนืออื่นใด เจ้าหญิงยโสธรา มิได้มีความรักให้เจ้าชายเทวทัตแม้แต่น้อย

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช เจ้าชายเทวทัตก็เทียวไล้เทียวขื่อมาจีบ พระนางก็ไม่สนใจ ยังคงจงรักภักดีต่อพระสวามีแม้ว่าจะออกบวชเป็นนักพรตแล้วก็ตาม ทำให้เทวทัตอาฆาตแค้นเจ้าชายสิทธัตถะมาก จึงไปเป็นศิษย์ลัทธิปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา

ในหนังทำให้เข้าใจเป็นลัทธิผีสางคางแดงอะไรสักอย่างจะว่าเป็นศาสนาพราหมณ์ก็ไม่ใช่ ร่ำเรียนไสยเวทต่างๆ จนมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดช ตามไปล้างแค้นพระพุทธเจ้า

ในหนังเรื่องนี้ไม่ให้เทวทัตบวช ให้ไปเป็นอาจารย์ของเจ้าชายอชาติศัตรู ยุยงเจ้าชายยึดบรรลังก์พระราชบิดา แต่ในที่สุดก็แตกคอกัน เทวทัตเองก็ถูกมังกรเหินฟ้า พ่นไฟทำลายวิหารศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าชายอชาติศัตรูสร้างให้พังพินาศ แผ่นดินแยกเป็นเหวลึก เทวทัตตกลงไปในเหว ร้องขอพระพุทธองค์ให้ช่วย พระพุทธองค์เสด็จมาช่วยให้ขึ้นจากเหว โดยฉายรัศมีออกเป็นเกลียวเชือกดึงเทวทัตขึ้นจากเหว

ตอนจบฉายให้เห็นเทวทัตก้มกราบสำนึกผิด เสียงสวดมนต์ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ สำเนียงแขกแว่วมา แล้วค่อยจางหายไป

หนังสนุกครับ เสียดายไม่ทราบว่าชื่อเรื่องอะไร

ถ้าถามว่า หนังเรื่องนี้ได้ข้อมูลมาจากไหน ก็คงได้มาจากแหล่งอื่นที่มิใช่สายเถรวาท เพราะข้อมูลที่ว่าเจ้าชายเทวทัตมิใช่พระเชษฐาของเจ้าหญิงยโสธรานั้น มีบางแห่งพูดถึง และก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน ยังบุคคลอื่นอีกเล่า ใช่ว่าหลักฐานจะลงรอยกันหมดก็หาไม่

ภูมินักธรรมตรีก็บอกว่า เจ้าชายเทวทัตเป็นโอรสเจ้าชายสุปปพุทธะและพระนางอมิตา เป็นพระเชษฐาของพระนางภัททากัจจานา (คือนางยโสธรา) แต่ในมหาวัสตุ (ชื่อในคัมภีร์นะครับ) บอกว่าเป็นโอรสเจ้าอมิโตทนะ เป็นเชษฐาของเจ้าชายอานนท์หลักฐานในวินัยปิฏกบางแห่งเรียกเทวทัตว่า โคธีบุตร แสดงว่าพระมารดาของท่านชื่อ เจ้าหญิงโคธี เห็นหรือยังว่ายิ่งอ้างหลักฐานกันมาก ก็จะยิ่งไปคนละทาง
 
และอีกทางหนึ่งก็คือ อรรถกถาธัมมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ภูมิเปรียญ ๓ (เก่า) ถึงเปรียญ ๖ นั้นแล กล่าวว่า พระเทวทัตแก่กว่าพระพุทธเจ้า

เมื่อพระเทวทัตพยายามเล่นงานพระพุทธเจ้าสารพัดรูปแบบไม่ประสบความสำเร็จ แผนการล่าสุด สั่งปล่อยช้างนาฬาคิรีให้สังหารพระพุทธองค์ ประสบความล้มเหลว ความชั่วร้ายเลยเป็นที่รับรู้กันไปทั่ว แผนการลับครั้งก่อนๆ ไม่ว่าจ้างนายขมังธนูไปยิงพระองค์ก็ตาม แอบบกลิ้งก้อนหินหมายให้ทับพระพุทธองค์ก็ตามยังไม่มีใครรู้กันสักเท่าไร แต่ที่ฮือฮายิ่งกว่าเหตุการณ์โมนิกา ลูวินสกี้ ก็คือ สั่งปล่อยช้างตกมันไปเหยียบพระพุทธองค์

พระเจ้าอชาติศัตรูเองก็ทรงสำนึกผิดว่า ตนเชื่อคนผิด ทำบาปมหันต์ ได้ตัดญาติขาดมิตรกับพระเทวทัตก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุการณ์หลายอย่างมาประมวลเข้ากัน ประชาชนก็สรุปได้ว่าเป็นฝีมือของเทวทัตแน่นอน

ไม่เพียงแต่พระเจ้าอชาติศัตรูที่ตีตัวออกห่าง ลูกน้องบริวารหลายท่านก็ถอยๆ ออกไป ทำให้จำนวนศิษย์หาผู้ห้อมล้อมน้อยลง เจ้ากูเทวทัตจึงวางแผนสุดท้าย เพื่อกู้ชื่อเสียงหรือเกียรติภูมิคืนมา

ได้โอกาสเหมาะก็เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เสนอข้อปฏิบัติ ๕ ข้อที่เคร่งครัดให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้เป็นข้อบังคับปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ทั่วไปคือ

ขอให้พระทั้งปวงอยู่ป่าตลอดชีวิต ให้อยู่โคนต้นไม้เป็นนิตย์ ให้ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นนิตย์ ให้ถือบิณฑบาตเป็นนิตย์ ห้ามฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต

พระพุทธองค์ตรัสว่า ช่างเถิด เทวทัต ใครอยากอยู่ป่าตลอดชีวิต ถือบังสุกุลตลอดชีวิต ฯลฯ ก็ให้เป็นเรื่องเฉพาะตัวไป ไม่ควรบัญญัติให้ทำเหมือนกันทุกรูป เมื่อพระองค์ไม่ทรงอนุญาต ก็เลยถือเป็นข้ออ้างว่า ไหนว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนปฏิปทาเคร่งครัดขัดเกลา ครั้นเราเสนอให้วางกฎเคร่งครัดกลับไม่สนพระทัย อย่างนี้ไม่เคร่งครัดจริงนี่หว่า อะไรทำนองนั้น

แล้วประกาศก้องว่า ใครเห็นด้วยกับเราให้ตามมา มีภิกษุใหม่ไม่รู้พระธรรมวินัยจำนวนมากตามพระเทวทัตไป เธอได้ทีก็ประกาศแยกตนออกจากสังฆมณฑลเรียกว่า สังฆเภท

(พระใหม่เหล่านั้นภายหลังพระสารีบุตรตามไปชี้แจงให้ฟังก็กลับมาตามเดิม)

ชะตากรรมพระเทวทัตหลังจากนั้นเป็นอย่างไร ก็คงทราบกันดีอยู่แล้วนะครับ ไม่จำเป็นต้องเล่าละเอียด ที่ต้องการบอกไว้ตรงนี้ก็คือ ศัตรู ก่อนจะคิดวางแผนประทุษร้ายพระพุทธองค์ต่างๆ อันมีมาภายหลังจากนั้น บ่งบอกความเกี่ยวพันของพระเทวทัตกับพระพุทธองค์

บางอย่างนั้นก็คือ พระเทวทัตกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญบัดนี้พระองค์ทรงแก่เฒ่าแล้ว ขอพระองค์ทรงพักผ่อนเถิด ขอจงมอบพระสงฆ์ให้ข้าพเจ้าบริหารแทนเถิด”

พระนางยโสธราเป็น สหชาต กับพระพุทธองค์ ถ้าพระเทวทัตเป็นพระเชษฐาของพระนางยโสธรา พระเทวทัตก็แก่กว่าพระพุทธองค์สิครับ แล้วทำไมพระเทวทัตจึงพูดว่า “พระพุทธองค์ทรงแก่เฒ่าแล้ว”

นี้ก็แสดงว่าพระเทวทัตมิใช่เป็นเชษฐาของพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่คัมภีร์มหาวัสตุว่า เจ้าชายเทวทัตหมายปองสตรีเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ และถูกหักอกเพราะสาวไม่รัก จนกระทั่งถูกนำมาสร้างหนังพุทธประวัติฉบับจีนก็มีมูลความจริงอยู่บ้างสินะครับ



ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๑๙) พระพุทธองค์ทรงเป็นอะไรกับพระเทวทัต โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๕๐ หน้า ๗๑ ประจำวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๐ -๔ มกราคม ๒๕๖๑
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 มกราคม 2561 10:52:44 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 10 มกราคม 2561 16:23:46 »


บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๒๐)
พระอภิธรรมกับพระพุทธองค์

เวลาคุยกับนักอภิธรรมนิยม อย่าได้เอ่ยถึงพระอภิธรรมปิฎกในแง่ประวัติศาสตร์เป็นอันขาด เดี๋ยวจะโดนเคืองเอานะจะบอกให้ เพื่อนผมคนหนึ่งเตือนไว้อย่างนี้

ที่ พระอภิธรรมปิฏกในแง่ประวัติศาสตร์ หมายถึงประวัติศาสตร์ที่บอกว่า เมื่อพระไตรปิฎกเกิดขึ้นนั้น มาจาก ธรรม กับ วินัย ซึ่งเป็นต้นเดิมที่พระพุทธองค์ทรงประกาศสอนเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ทำปฐมสังคายนาได้รวบรวม ร้อยกรอง ธรรม กับ วินัย ได้แตกแขนงออกเป็น ๓ ส่วน เรียกว่า ติปิฎก (พระไตรปิฎก) โดย ธรรม ได้แตกออกเป็น สุตตันตปิฎก และ อภิธรรมปิฎก วินัย เป็น วินัยปิฎก

ด้วยเหตุนี้ พระอภิธรรมปิฎก จึงเป็นพัฒนาการในยุคหลัง ผู้รู้อธิบายว่าเนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกก็คือ พระสุตตันตปิฎกนั้นเอง

ท่านเอามาเรียบเรียงใหม่ในแง่วิชาการ ตัดเรื่องราว ตัดบุคคล สถานที่ ออก เหลือแต่เนื้อธรรมะล้วนๆ

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ มิได้หมายความว่าเขาปฏิเสธอภิธรรมปิฎกว่าไม่ใช่พุทธพจน์ หากแต่บอกว่า อภิธรรมปิฎก ในรูปแบบที่เห็นๆ กันนี้ เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ โดยเอาเนื้อหาในพระสูตรมาเรียบเรียงใหม่

เมื่อยอมรับพระสุตตันตปิฎก ก็ยอมรับพระอภิธรรมปิฎกอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาที่มีกลับเป็นปัญหาของนักอภิธรรมนิยมมากกว่า คือเขาพยายามจะโยงอภิธรรมไปหาพระพุทธเจ้าให้ได้ ให้เห็นว่า อภิธรรมมีมาพร้อมกับตรัสรู้ หลังตรัสรู้พระพุทธองค์ประทับนั่งพิจารณาอภิธรรม ณ เรือนแก้ว อันเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์

พูดอย่างนี้ก็เท่ากับว่า พระสูตร พระวินัย เกิดภายหลังอภิธรรม

ในส่วนตัวผู้เขียน ไม่ติดใจ ไม่คัดค้านและไม่ปฏิเสธ เพียงนำเสนอข้อมูลจากพระคัมภีร์มาให้ผู้อ่านมาช่วยพิจารณาเอาก็แล้วกัน

ถ้าอ้างคัมภีร์รุ่น อรรถกถา แน่นอน พระอภิธรรมมีมาแต่ครั้งพระพุทธองค์ตรัสรู้ ดังหลักฐาน (ในอรรถกถา) เล่าว่าทรงพิจารณา อภิธรรม ณ เรือนแก้วนั้นแล และสมัยยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ก็เสด็จไปแสดงอภิธรรมโปรด (อดีต) พุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วเสด็จลงมาตรัสเล่าให้พระสารีบุตร อัครสาวกฟังอีกทอดหนึ่ง พระสารีบุตรได้ทรงจำเนื้อหาพระอภิธรรมนั้นไว้
 
ในพระสูตรหลายพระสูตรก็มีเอ่ยถึง พระอภิธมฺมิกา (พระผู้เชี่ยวชาญในอภิธรรม) สนทนาอภิธรรมกัน

ยิ่งกว่านั้นในอรรถกถานั้นเอง เวลาบรรยายการทำสังคายนา ก็บอกว่า พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ได้ร้อยกรองพระไตรปิฎกแล้ว

ผมนำเสนอข้อมูลแล้ว ลองขอตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้

๑. พระไตรปิฎก อันเป็นหลักฐานชั้นต้น มิได้บอกว่าอภิธรรมมีมาพร้อมการตรัสรู้ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่า พระพุทธเจ้าประทับนั่งพิจารณาอภิธรรม ณ เรือนแก้ว ในสัปดาห์ที่ ๔ พระไตรปิฎกเล่าว่า พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นโพธิ์และต้นไม้อื่นในปริมณฑล เพียง ๔ สัปดาห์เท่านั้น ไม่ใช่ ๗ สัปดาห์อรรกถาเพิ่มเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์ เรื่องราวทรงพิจารณาอภิธรรมเป็นหนึ่งใน ๓ เหตุการณ์ที่เพิ่มเข้ามานั้น (โปรดดูพระไตรปิฎกเล่ม ๔ ตั้งแต่ข้อที่ ๑-๔ ประกอบ)

๒. เหตุการณ์เสด็จขึ้นไปแสดงพระอภิธรรมโปรด (อดีต) พุทธมารดา รจนาขึ้นภายหลังในอรรถกถา (ธัมมปทัฏฐกถา และ อัตถสาลินี) โดย พระพุทธโฆสาจารย์ พระสำนักอภิธรรม ทั้งนี้ เพื่อยืนยันความเก่าแก่แห่งพระอภิธรรมปิฎกว่าเกี่ยวโยงกับพระพุทธองค์ เพื่อแก้คำกล่าวของผู้ที่บอกว่า พระอภิธรรมเป็นพัฒนาการยุคหลัง

๓. คำว่า พระผู้เชี่ยวชาญอภิธรรมได้สนทนาอภิธรรมกัน เป็นต้น (ที่ “เป็นต้น” เพราะมีอีกหลายแห่งกล่าวทำนองนี้) นั้น พระอรรถกถาจารย์เองท่านก็ไขความว่า คำว่า อภิธรรม ในที่นี้หมายถึง ธรรมอันยิ่ง อันได้แก่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ หาใช่พระอภิธรรมปิฎไม่ เอาเป็นว่าประเด็นนี้เป็นอันว่าตัดไปจะยกมาเป็นเหตุผลถกเถียงในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะคนละเรื่องเดียวกัน

๔. ที่อรรถกถาบอกว่า พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป สังคายนาพระไตรปิฎกนั้น ท่านผู้กล่าวคงรู้ว่ากล่าวเกินจริงไป เพราะในตอนนั้นพระไตรปิฎกยังไม่เกิด มีแต่ ธรรม กับ วินัย ที่ถูกท่านควรพูดว่า พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป สังคายนา ธรรม กับ วินัย แม้ในสังคายนาครั้งที่ ๒ หนึ่งร้อยปีต่อมา พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป ก็ทำ สังคายนา พระธรรม กับ วินัย เช่นกัน (ธมฺมวินยสงฺคีติ, ธมฺมวินยวิสชฺชนา)

๕. น่าสังเกตอย่างยิ่ง นิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของหินยาน และต่อมาแนวคิดหลายอย่างของนิกายนี้ (เช่น แนวคิดพระโพธิสัตว์, แนวคิดเรื่องพระพุทธเจ้าอมตะ) ไปงอกงามในนิกายมหายาน นับถืออภิธรรมมาก จนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “นิกายอภิธรรม กลับถืออภิธรรมปิฎกเป็น “เถรภาษิต มิใช่พุทธวจนะ โดยยกพระสารีบุตร พระมหากัสสปะ และพระมหากัจจายนะ เป็นปรมาจารย์ในทางอภิธรรม

ก็ฝากไว้ให้เป็นที่สังเกตเท่านั้น ไม่ต้องการถกเถียงกับใคร ผู้ใคร่การศึกษา พึงใคร่ครวญพิจารณาเอาเองเทอญ



ที่มา : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (๒๐) พระอภิธรรมกับพระพุทธองค์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๕๑ หน้า ๗๑ ประจำวันที่ ๕-๑๑ มกราคม ๒๕๖๑
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มกราคม 2561 16:31:16 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.082 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 18 ธันวาคม 2567 08:34:37