[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
21 ธันวาคม 2567 22:47:16 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: "กาย เวทนา จิต ธรรม” ที่จิตเรามาเกี่ยวข้องด้วย  (อ่าน 1250 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 85.0.4183.121 Chrome 85.0.4183.121


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 07 ตุลาคม 2563 15:07:07 »




"กาย เวทนา จิต ธรรม” ที่จิตเรามาเกี่ยวข้องด้วย

วันนี้มีแฟนคลับส่งข้อความเข้ามา อยากจะฟังเรื่องธัมมานุสสติ คำว่า “ธัมมานุสสติ” นี้เป็นหนึ่งในธรรมที่มีอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ นี้ประกอบด้วย ๑. กายานุปัสสนาสติ  ๒. เวทนานุปัสสนาสติ ๓.จิตตานุปัสสนาสติ และ ๔. ธัมมานุปัสสนาสติ คือเป็นอารมณ์หรือเป็นสิ่งที่จิตใจควรที่จะศึกษาทำความเข้าใจ “กาย เวทนา จิต ธรรม” อันนี้เป็นสิ่งที่จิตใจของเราทุกคนมาสัมผัสรับรู้กัน จิตใจมาสัมผัสกับร่างกาย มาสัมผัสกับเวทนา มาสัมผัสกับจิต และมาสัมผัสกับธรรม ถ้าเราไม่ศึกษาไม่ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เราก็จะปฏิบัติกับสิ่งที่เรามาสัมผัสไม่ถูกต้อง เหมือนจับงูถ้าเราไม่ศึกษาวิธีที่จะจับงู เราก็อาจจะถูกงูกัดได้ แต่ถ้าเราศึกษาวิธีจับงู มีเครื่องมือมีไม้มีเชือก เขามีเชือกกับมีไม้ เชือกติดอยู่ปลายไม้ เขาก็เอาเชือกไปคล้องคองูแล้วก็ผูกติดไว้กับไม้ ก็จับงูได้อย่างปลอดภัย กาย เวทนา จิต ธรรม ที่จิตใจของพวกเราทุกคนมาเกี่ยวข้องด้วยก็เป็นเหมือนงู ถ้าเราไม่รู้จักจับมันก็ถูกมันกัดได้ คือใจของเราจะต้องทุกข์กับกายกับเวทนากับจิตกับธรรมได้

ทุกวันนี้พวกเราทุกข์กับอะไร ทุกข์กับร่างกายหรือเปล่า เพราะเราไม่รู้จักวิธีปฏิบัติกับร่างกายที่ถูกต้องที่จะทำให้เราไม่ต้องทุกข์กับร่างกาย เราทุกข์กับเวทนา ทุกข์กับความรู้สึกต่างๆ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกไม่สุข ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ความรู้สึกทุกข์ เรามีความทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ เวลาสุขหายไปเราก็ทุกข์ใช่ไหม อยากจะให้มันกลับมาใหม่ พอมันยังไม่กลับมาใหม่เราก็ทุกข์ เวลาเจอทุกข์ก็อยากจะให้มันหาย มันก็ไม่หาย ก็ทุกข์อีก นี่คือปัญหาของพวกเรา เราไม่รู้จักจัดการกับเวทนาคือความรู้สึก เราจึงทุกข์กับความรู้สึก ไม่ว่าจะสุขก็ทุกข์ ทุกข์ก็ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ทุกข์ บางทีอยู่เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ทุกข์ เพราะอยากจะให้มันสุข มันไม่สุขก็ทุกข์อีกแล้ว อันนี้คือเราไม่ได้ศึกษากัน เราก็เลยทุกข์กับร่างกายทุกข์กับเวทนาคือความรู้สึก แล้วเราก็มาทุกข์กับจิตคืออารมณ์ในจิตของเรา เรามีอารมณ์ต่างๆใช่ไหม อารมณ์ดีอารมณ์ไม่ดี อารมณ์สดใสเบิกบานสดชื่น อารมณ์เศร้าสร้อยหงอยเหงา อารมณ์ว้าเหว่ อารมณ์หงุดหงิดรำคาญ เหล่านี้เรียกว่าอารมณ์ พอเกิดอารมณ์เหล่านี้ขึ้นมาเราก็ทุกข์กับมันอีก เพราะเราไม่รู้จักวิธีจัดการกับมัน ที่จะทำให้เราไม่ทุกข์

นี่คือเรื่องของสิ่งที่เรามาเกี่ยวข้องด้วย แล้วสิ่งที่ ๔ ที่เรามาเกี่ยวข้องด้วยก็คือ “ธรรม” ธรรมก็คือสิ่งที่มีในใจของเรา เช่นความทุกข์นี้ก็เรียกว่าธรรมอย่างหนึ่ง ความดับของทุกข์ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ต้นเหตุของทุกข์คือตัณหาความอยากต่างๆ ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง มรรคคือเครื่องมือที่จะดับความทุกข์ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง นี่เรียกว่าธรรมที่มีอยู่ในใจของพวกเรา แต่เรายังไม่รู้จักวิธีที่จะจัดการกับมัน คือแทนที่จะจัดการกับธรรมให้ดับความทุกข์ เรากลับไปจัดการกับธรรมให้เกิดความทุกข์กัน ด้วยการสร้างความยากต่างๆ ขึ้นมา อยากได้นู่นอยากได้นี่ พอไม่ได้ก็ทุกข์ นี่คือธัมมานุสสติที่มีอยู่ในใจ ทำงานอยู่ในใจอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เคยเห็นมันไม่รู้จักมัน เพราะเราไม่เคยศึกษา เรามัวแต่ไปสนใจกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกใจเรานอกกายเรา คือไปสนใจกับลาภยศสรรเสริญกับรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ อยากจะได้ลาภอยากจะได้ยศ อยากจะได้ความสรรเสริญเยินยอ อยากจะได้ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เราเลยไม่ได้รู้จักวิธีที่จะปฏิบัติวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องกับร่างกายกับเวทนากับอารมณ์ที่มีอยู่ในจิตกับธรรมะที่มีอยู่ในใจ

ปัญหาของเราเลยก็คือมีทุกข์อยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันไหนที่ไม่มีความทุกข์ใจ ต้องมีความทุกข์ใจไม่สบายใจ ไม่กับเรื่องนั้นก็เรื่องนี้ไม่กับคนนั้นก็คนนี้ ไม่กับสิ่งนั้นก็สิ่งนี้ไม่มากก็น้อย ต้องมีความหงุดหงิดรำคาญใจไม่พอใจ ความเสียใจ ความกังวลความวิตกความห่วงใย ความหึงหวง ความรักความชังอะไรต่างๆ เหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ทำให้ใจเราทุกข์ทั้งนั้นเป็นความทุกข์ใจ พระพุทธเจ้านี้ทรงเป็นผู้ที่มีความสนใจว่าทำไมพระทัยของพระองค์จึงต้องทุกข์อยู่กับเรื่องราวต่างๆ ก็เลยไปทรงศึกษาไปบวช เพราะก่อนจะบวชตอนที่ไม่ได้บวชก็มัวแต่หาสิ่งต่างๆ มาให้ความสุขกับพระองค์ หาลาภยศสรรเสริญ หารูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ แต่ทั้งๆ ที่มีลาภยศสรรเสริญ และมีความสุขกับรูปเสียงกลิ่นรสมันก็ยังมีความทุกข์เข้ามาอยู่เรื่อยๆ พระองค์ก็เลยอยากจะรู้วิธีว่าอะไรมันทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา แล้วอะไรที่จะทำให้ความทุกข์ใจนี้มันหายไปมันดับไป ก็ได้รู้ข่าวว่ามีพวกนักบวชที่เขาเป็นผู้ที่ศึกษาค้นคว้าหาวิธีกำจัดความทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจ พระองค์ก็เลยทรงปรารถนาอยากที่จะไปศึกษาอยากจะไปบวช เพื่อที่จะได้พ้นทุกข์ทั้งๆ ที่เป็นลูกของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ใจมันก็ยังอดที่จะทุกข์ที่จะวิตกกังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้กับคนนั้นคนนี้ไม่ได้ กับร่างกายของพระองค์เองไม่ได้ ร่างกายของพระองค์พอไปเห็นว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายก็ทุกข์ขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่ยังไม่แก่ยังไม่เจ็บยังไม่ตาย แต่พอเห็นคนแก่เห็นคนเจ็บเห็นคนตายนี้ใจก็ไม่สบายขึ้นมา เมื่อรู้ว่าต่อไปจะต้องเป็นอย่างนั้น

นี่คือทำไมพระพุทธเจ้าถึงแม้จะเป็นผู้ที่มีความมีบารมี มีทรัพย์สมบัติมากมาย มีความสุขมากมาย ทำไมยังทุกข์อยู่ แล้วทำไมจึงต้องออกไปบวชเพื่อไปค้นหาวิธีที่จะมากำจัดความทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ในพระทัยของพระองค์ให้หมดสิ้นไป  หลังจากได้ศึกษาค้นคว้าอยู่ ๖ ปี ในที่สุดก็ทรงตรัสรู้ขึ้นมา ทรงค้นพบว่าความทุกข์ของพระองค์นี้เกิดจากความอยากของพระองค์เอง ความอยากต่างๆ และความอยากในอะไร ก็ความอยากในร่างกายในเวทนาในจิตนี้เอง ที่ทำให้พระทัยของพระองค์ต้องทุกข์อยู่เรื่อยๆ และพอรู้ว่าถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องกำจัดความอยากที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย ความอยากที่เกี่ยวข้องกับเวทนาความรู้สึก ความอยากที่เกี่ยวกับอารมณ์ต่างๆ เพราะว่าโดยปกติใจจะอยากจะให้ร่างกายดี อยากจะให้ความรู้สึกดี อยากจะให้อารมณ์ดี แต่มันไม่ดีตามที่ใจอยาก ร่างกายบางวันก็ดีบางวันก็ไม่ดี บางวันก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ เวทนาก็จะให้สุขอย่างเดียวมันก็ไม่ยอมสุขอย่างเดียว บางวันมันก็ทุกข์ บางวันมันก็ไม่สุขไม่ทุกข์ อารมณ์ก็เหมือนกันอยากจะให้จิตมีอารมณ์ดีทั้งวันทั้งคืน มันก็ไม่ยอมดีเลยทั้งวันทั้งคืน เดี๋ยวมันก็ดีบ้างเดี๋ยวมันก็ไม่ดีบ้าง เพราะว่าชีวิตของเราของจิตนี้มันต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ บุคคลต่างๆ ไปเกี่ยวข้องกับคนนั้นคนนี้ เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ เกี่ยวข้องกับดินฟ้าอากาศ ฝนฟ้าอะไรต่างๆ พอมันมีการเปลี่ยนแปลงมันก็เลยทำให้ความรู้สึกที่มีกับสิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนไป ไปเจอคนดีก็เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นมา พอไปเจอคนไม่ดีก็เกิดความรู้สึกไม่ดีขึ้นมา แล้วก็จะห้ามให้มันรู้สึกไม่ดีก็ห้ามมันไม่ได้ วันไหนมันจะมีอารมณ์ดีก็ดี วันไหนมีความสุขมันก็มีความสุข วันไหนมันจะทุกข์มันก็ทุกข์ขึ้นมา วันไหนอารมณ์มันจะเศร้ามันก็เศร้าขึ้นมา เราทำไมควบคุมบังคับมันไม่ได้ ทำไมไม่สั่งให้มันดีไปทุกวันไม่ได้

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าหลังจากที่พระองค์ได้ทรงศึกษาแล้วก็ทรงค้นพบว่า สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกที่เราไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งหมดนี้มันจะดีอย่างเดียวไม่ได้ มันจะดีไปตลอดไม่ได้ มันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามโอกาสตามเหตุตามปัจจัย ร่างกายเราบางวันดีไม่เจ็บตรงนั้นไม่ปวดตรงนี้ บางวันก็เกิดมีอาการเป็นไข้หวัด ปวดท้องปวดศีรษะ เป็นอะไรขึ้นมาแล้ว ความรู้สึกของเราก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บางวันก็รู้สึกสุขบางวันก็รู้สึกทุกข์ บางวันก็รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ปัญหาของความทุกข์ใจของพวกเรา พระองค์บอกเกิดจากความอยากของพวกเราเองที่ไปอยากให้สิ่งเหล่านี้มันเป็นไปตามความอยากของเรา คืออยากให้มันดีไปตลอดเวลา อยากให้ร่างกายมันดีไปตลอดเวลา อยากให้เวทนาสุขไปตลอดเวลา อยากให้อารมณ์นี้ดีไปทั้งวันทั้งคืน พอมันไม่ดีก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วพระองค์ก็ทรงค้นพบว่าวิธีที่เราจะกำจัดความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการที่ไปเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ดีได้ก็คือต้องยอมรับความจริงว่ามันเป็นอย่างนี้ โลกมันมีทั้งดีมีทั้งไม่ดี มันมาด้วยกัน มันสลับกันมาผลัดกันมา เห็นไหมฝนตกบ้างแดดออกบ้าง มีพายุบ้างมีความสงบบ้าง ไม่มีอะไรที่มันนิ่ง ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีก็มี เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีก็มี นี่คือธรรมชาติของโลกนี้ของสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ ที่จิตของพวกเราที่ใจของพวกเรานี้มาเกี่ยวข้องด้วย มาเกี่ยวข้องกับร่างกาย จิตของพวกเรานี้เมื่อก่อนไม่มีร่างกาย ตอนที่ร่างกายนี้ยังไม่เกิด ตอนที่ร่างกายนี้ยังไม่ปรากฏขึ้นมาในท้องแม่ จิตของพวกเรานั้นเป็นดวงวิญญาณล่องลอยหาร่างกายกันอยู่

ทำไมจิตของเราจึงต้องมาหาร่างกายกัน ก็เพราะว่าจิตของเรามีความหลงที่หลอกให้เราคิดว่าถ้าเรามีร่างกายแล้วเราจะมีความสุข เพราะว่าพอเรามีร่างกายเราก็จะได้หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ได้ อยากจะดูอะไรต้องมีตา ต้องมีหูต้องมีจมูกมีลิ้นมีร่างกายไว้สัมผัส เราจึงจะสามารถเสพรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ได้ เมื่อใจของเราถูกความหลงหลอกว่าความสุขอยู่ที่การมีร่างกาย อยู่ที่การใช้ร่างกายไปหารูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ใจเวลาที่ตายไปจากร่างกายอันเก่าก็จะไปหาร่างกายอันใหม่ต่อ ร่างกายที่เรามีอยู่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่เป็นร่างกายอันเดียวที่เรามีกัน เราเคยมีร่างกายแบบนี้มาไม่รู้กี่แสนล้านร่างกายแล้ว เชื่อไหม ร่างกายที่เรามีอันนี้เป็นอันดับที่หนึ่งแสนล้านที่เท่าไรแล้ว เราเปลี่ยนร่างกายมาอยู่เรื่อยๆ คือใจนี้เปลี่ยนร่างกายอยู่เรื่อยๆเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า ตั้งแต่เราเกิดมานี้เราเปลี่ยนเสื้อผ้ามากี่ชุดแล้ว ตอนเป็นเด็กทารกก็มีเสื้อผ้าของทารก พอโตขึ้นเป็นเด็ก ๑ ขวบก็เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นของเด็ก ๑ ขวบ พอ ๕ ขวบก็เปลี่ยนอีกแล้ว พอ ๑๐ ขวบก็เปลี่ยน เปลี่ยนมาเรื่อยๆ เสื้อผ้าที่เราเปลี่ยนนี้เป็นร้อยชุดแล้ว ร่างกายเราก็เหมือนกัน ร่างกายของเราเกิดมาแล้วเดี๋ยวมันก็แก่เดี๋ยวมันก็เจ็บเดี๋ยวมันก็ตาย ตายไปแล้วมันก็ถูกเผาไปถูกฝังไป แต่ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ใจไม่มีวันตาย ใจคือใคร ใจคือผู้รู้ผู้คิดนี่เอง ตอนนี้ใครกำลังรู้ว่ากำลังฟังเทศน์อยู่ ใจไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่รู้อะไร ร่างกายเป็นวัตถุเหมือนกับกล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายรูปมันถ่ายรูปแต่มันไม่รู้ว่ามันกำลังถ่ายรูป คนที่เป็นเจ้าของกล้องนั่นแหละรู้ว่ากำลังถ่ายรูป เพราะตัวกล้องไม่มีตัวรู้ ร่างกายก็ไม่มีตัวรู้ ตัวรู้ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ตัวรู้อยู่ที่ใจที่มาเกาะติดกับร่างกาย พอตาเห็นรูปมันก็ส่งรูปไปให้ที่ใจ ใจก็รับรู้รูป พอเสียงมากระทบกับหู เสียงมันก็ส่งไปที่ใจให้รู้ให้รับรู้อีกทีหนึ่ง ใจที่มาเกาะติดกับร่างกายนี้เป็นผู้รับรู้แล้วก็เป็นผู้คิด คิดว่ารูปนี้ดีไม่ดีเสียงนี้ดีไม่ดี แล้วก็เป็นผู้เกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจ ถ้าคิดว่ารูปนี้ดีก็เกิดความสุขใจขึ้นมา ถ้าคิดว่ารูปนี้ไม่ดีก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา พอเกิดความสุขเกิดความทุกข์ใจก็อยากจะให้มันสุข ถ้ามันสุขก็อยากจะให้มันสุขไปเรื่อยๆ พอมันสุขหายไปความทุกข์ใจก็โผล่ขึ้นมาอีก หรือว่าถ้าไปเจอสิ่งที่ทำให้ทุกข์ใจพออยากให้มันหายมันก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ เพราะมันไม่หาย พอมันไม่หายมันก็ยิ่งเกิดความทุกข์ใจขึ้นมาใหญ่ นี่แหละคือใจไม่ใช่ร่างกาย

ความสุขใจความทุกข์ใจความคิดความรู้สึกนึกคิดนี้ไม่ได้อยู่ในร่างกาย ใจนี่แหละเป็นผู้มาเกาะติดกับร่างกายด้วยความหลงที่คิดว่า ถ้ามีร่างกายแล้วจะได้ไปหาลาภยศสรรเสริญ หารูปเสียงกลิ่นรสมาเสพ ทุกคนพอเกิดมาแล้วหาเหมือนกันใช่ไหม ต้องสอนไหม ต้องมาสอนบอกให้ไปหาเงินกันไหม ไม่ต้องสอน ให้ไปหาตำแหน่งกัน ไม่ต้องสอน ให้ไปหาสรรเสริญไม่ต้องสอน ให้ไปหารูปเสียงกลิ่นรสนี้ไม่ต้องสอน เพราะมันเคยหามานานหลายแสนล้านครั้งแล้ว มันฝังอยู่ในใจเป็นนิสัย ที่มันมาเกิดมามีร่างกายเพราะมันอยากจะมาหาลาภยศสรรเสริญหารูปเสียงกลิ่นรส นี้เอง



พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.375 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้