[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
21 ธันวาคม 2567 23:10:52 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช  (อ่าน 1369 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 20 กุมภาพันธ์ 2564 19:43:53 »



เหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช

              พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า ควรเราจะออกมหาภิเนษกรมณ์เสียวันนี้ทีเดียว จึงเสด็จลุกขึ้นจากที่บรรทมไปยังที่ใกล้ประตู ตรัสว่า ใครอยู่ในที่นี้
               นายฉันนะนอนเอาศีรษะหนุนธรณีประตูอยู่ ทูลตอบว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ข้าพระองค์ ฉันนะ
               นี่แน่ะฉันนะ วันนี้เรามีประสงค์จะออกมหาภิเนษกรมณ์ จงจัดหาม้าให้เราตัวหนึ่
               เขาทูลรับว่า ได้ พระเจ้าข้า แล้วเอาเครื่องแต่งม้าไปยังโรงพักม้า เมื่อดวงประทีปน้ำมันหอมลุกโพลงอยู่ เห็นพระยาม้ากัณฐกะยืนอยู่บนภูมิภาคน่ารื่นรมย์ ภายใต้เพดานที่ขึงไว้โดยรอบ คิดว่า วันนี้เราควรจัดม้ากัณฐกะตัวนี้แหละถวาย จึงจัดม้ากัณฐกะถวาย
               ม้ากัณฐกะนั้นเมื่อเขาจัดเตรียมอยู่ ได้รู้ว่าการจัดเตรียมเราคราวนี้กระชับแน่นจริง ไม่เหมือนกับการจัดเตรียมในเวลาเสด็จไปทรงเล่นในพระราชอุทยานในวันอื่นเป็นต้น
               วันนี้ พระลูกเจ้าของเราคงจักทรงมีพระประสงค์จะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์  ทีนั้น มีใจยินดีจึงร้องเสียงดังลั่นไปหมด เสียงนั้นพึงดังลั่นกลบทั่วพระนครทั้งสิ้น แต่เทวดาคอยปิดกั้นไว้ มิให้ใครๆ ได้ยิน
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงใช้นายฉันนะไปแล้ว ทรงดำริว่า เราจักดูลูกเสียก่อน จึงเสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับนั่งขัดสมาธิ ไปยังที่บรรทมของพระมารดาของพระราหุล เปิดพระทวารห้องแล้ว
               ในขณะนั้น ประทีปที่เต็มด้วยน้ำมันหอมยังคงลุกไหม้อยู่ แม้พระราหุลมารดาก็บรรทมวางพระหัตถ์บนพระเศียรของพระโอรสบนที่บรรทมอันเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกมะลิซ้อนและดอกมะลิลาเป็นต้น ประมาณ ๑ อัมมณะ [มาตราตวงข้าวสารมีน้ำหนัก ๑๑ โทณะ (ทะนาน)] พระโพธิสัตว์ประทับยืนวางพระบาทบนธรณีประตูนั่นแหละ ทอดพระเนตรดูแล้วทรงดำริว่า ถ้าเราจักจับมือพระเทวีออก แล้วจับลูกของเรา พระเทวีจักตื่น เมื่อเป็นเช่นนี้อันตรายแห่งการไปจักมีแก่เรา แม้เราเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จักมาเยี่ยมลูกได้ ดังนี้ จึงเสด็จลงจากพื้นปราสาทไป ก็คำที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาชาดกว่า ตอนนั้น พระราหุลกุมารประสูติได้ ๗ วัน ไม่มีในอรรกถาที่เหลือ เพราะฉะนั้น พึงถือเอาคำนี้นี่แหละ
               พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากพื้นปราสาทโดยประการนี้แล้ว ไปใกล้ม้าแล้วตรัสว่า นี่แน่ะพ่อกัณฐกะ วันนี้เจ้าจงให้เราข้ามฝั่งสักคืนหนึ่งเถิด เราอาศัยเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จักให้โลกพร้อมทั้งเทวโลกข้ามฝั่งด้วย ทีนั้น พระโพธิสัตว์ก็ทรงกระโดดขึ้นหลังม้ากัณฐกะ ม้ากัณฐกะโดยยาววัดได้ ๑๘ ศอก เริ่มแต่คอประกอบด้วยส่วนสูงก็เท่ากัน สมบูรณ์ด้วยกำลังและความเร็ว ขาวล้วนประดุจสังข์ที่ขัดสะอาดแล้ว ถ้าม้ากัณฐกะนั้นพึงร้องหรือย่ำเท้า เสียงก็จะดังกลบทั่วพระนครหมด เพราะเหตุนั้น เทวดาจึงกั้นเสียงร้องของม้านั้น โดยอาการที่ใครๆ จะไม่ได้ยินด้วยอานุภาพของตน
               พระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นสู่หลังม้าตัวประเสริฐ ทรงให้นายฉันนะจับหางของม้าไว้ เสด็จถึงที่ใกล้ประตูใหญ่ตอนเที่ยงคืน ก็ในกาลนั้น พระราชาทรงดำริว่า พระโพธิสัตว์จักไม่สามารถเปิดประตูพระนครออกไปได้ ไม่ว่าในเวลาใดๆ จึงรับสั่งให้กระทำบานประตูสองบาน แต่ละบาน บุรุษพันคนจึงจะเปิดได้ด้วยประการฉะนี้
               พระโพธิสัตว์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระกำลังยิ่ง ทรงมีพระกำลัง เมื่อเทียบกับช้างก็นับได้พันโกฏิ เมื่อเทียบกับบุรุษก็ทรงมีพระกำลังนับได้สิบแสนโกฏิ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงดำริว่า ถ้าประตูไม่เปิด วันนี้เรานั่งอยู่บนหลังม้ากัณฐกะนี่แหละ จักเอาขาอ่อนหนีบม้ากัณฐกะแล้วกระโดดข้ามกำแพงซึ่งสูงได้ ๑๘ ศอกไป นายฉันนะก็คิดว่า ถ้าประตูไม่เปิด เราจักให้พระลูกเจ้าประทับนั่งที่คอของเรา แล้วเอาแขนขวาโอบรอบม้ากัณฐกะที่ท้อง กระทำให้อยู่ในระหว่างรักแร้ จักกระโดดข้ามกำแพงไ. แม้ม้ากัณฐกะก็คิดว่า ถ้าประตูไม่เปิด เราจักยกนายของเรา ทั้งๆ ที่นั่งอยู่บนหลังนี่แหละ พร้อมกันทีเดียวกับนายฉันนะผู้จับหางยืนอยู่ กระโดดข้ามกำแพงไป ถ้าประตูจะไม่มีใครเปิดให้ บรรดาคนทั้งสามคนใดคนหนึ่ง คงจะทำสมกับที่คิดไว้แน่ แต่เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูเปิดประตูให้
               ในขณะนั้นนั่นเอง มารผู้มีบาปมาด้วยคิดว่า เราจักให้พระโพธิสัตว์กลับ แล้วยืนอยู่ในอากาศทูลว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ผู้เจริญ ท่านอย่าออกไป ในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้ไป จักรรัตนะจักปรากฏแก่ท่าน ท่านจักครอบครองราชสมบัติแห่งทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านจงกลับเสียเถิด
               จึงตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร
               มารตอบว่า เราเป็นวสวัตดีมาร
               ตรัสว่า ดูก่อนมาร เราทราบว่า จักรรัตนะจะปรากฏแก่เรา เราไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัตินั้น เราจักให้หมื่นโลกธาตุบรรลือลั่น แล้วเป็นพระพุทธเจ้า
               มารกล่าวว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในเวลาที่ท่านทรงดำริถึงกามวิตกก็ดี พยาบาทวิตกก็ดี วิหิงสาวิตกก็ดี เราจักรู้ดังนี้ คอยแสวงหาช่องอยู่ ติดตามพระองค์ไปประดุจเงา
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์มิได้มีความอาลัย ละทิ้งจักรพรรดิราชสมบัติอันอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ ประหนึ่งทิ้งก้อนเขฬะ เสด็จออกจากพระนครด้วยสักการะอันใหญ่ ก็แหละในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะเดือน ๘ เมื่อนักขัตฤกษ์ในเดือนอุตตราสาฬหะเดือน ๘ หลัง กำลังดำเนินไปอยู่ ครั้นเสด็จออกจากพระนครแล้ว มีพระประสงค์จะแลดูพระนคร ก็แหละเมื่อพระโพธิสัตว์นั้นมีความคิดพอเกิดขึ้นเท่านั้น ปฐพีประหนึ่งจะทูลว่า ข้าแต่พระมหาบุรุษ พระองค์ไม่ต้องหันกลับมากระทำการทอดพระเนตรดอก จึงแยกหมุนกลับ ประดุจจักรของนายช่างหม้อ
               พระโพธิสัตว์ประทับยืนบ่ายพระพักตร์ไปทางพระนคร ทอดพระเนตรดูพระนคร แล้วทรงแสดงเจดีย์สถานเป็นที่กลับของม้ากัณฐกะ ณ ที่นั้น ทรงกระทำม้ากัณฐกะให้บ่ายหน้าต่อหนทางที่จะเสด็จ ได้เสด็จไปแล้วด้วยสักการะอันยิ่งใหญ่ ด้วยความงามสง่าอันโอฬาร
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายชูคบเพลิง ๖๐,๐๐๐ อันข้างหน้าพระโพธิสัตว์นั้น ข้างหลัง ๖๐,๐๐๐ อัน ข้างขวา ๖๐,๐๐๐ อัน ข้างซ้าย ๖๐,๐๐๐ อัน. เทวดาอีกพวกหนึ่งชูคบเพลิงหาประมาณมิได้ ณ ที่ขอบปากจักรวาล. เทวดากับนาคและครุฑเป็นต้นอีกพวกหนึ่ง เดินบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ จุรณและธูปอันเป็นทิพย์. พื้นท้องฟ้านภาดลได้ต่อเนื่องกันไปไม่ว่างเว้น ด้วยดอกปาริชาตและดอกมณฑารพ เหมือนเวลามีเมฆฝนอันหนาทึบ ทิพยสังคีตทั้งหลายได้เป็นไปแล้ว ดนตรีหกหมื่นแปดพันชนิดบรรเลงขึ้นแล้วโดยทั่วๆ ไป กาลย่อมเป็นไปเหมือนเวลาที่เมฆคำรามในท้องมหาสมุทร และเหมือนเวลาที่สาครมีเสียงกึกก้องในท้องภูเขายุคนธร
               พระโพธิสัตว์ เมื่อเสด็จไปอยู่ด้วยสิริโสภาคย์นี้ ล่วงเลยราชอาณาจักรทั้ง ๓ โดยราตรีเดียวเท่านั้น เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานทีในที่สุดหนทาง ๓๐ โยชน์
               ถามว่า ก็ม้าสามารถจะไปให้ยิ่งกว่านั้นได้หรือไม่?
               ตอบว่า สามารถไปได้ เพราะม้านั้นสามารถเที่ยวไปตลอดห้วงจักรวาล โดยไม่มีขอบเขตอย่างนี้ เหมือนเหยียบวงแห่งกงล้อที่สอดอยู่ในดุมแล้ว กลับมาก่อนอาหารเช้า บริโภคอาหารที่เขาจัดไว้สำหรับตน. ก็ในกาลนั้น ม้าดึงร่างอันทับถมด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ซึ่งเทวดา นาคและครุฑเป็นต้น ยืนอยู่ในอากาศแล้วโปรยลงมาท่วม จนกระทั่งอุรุประเทศขาอ่อน แล้วตลุยชัฏแห่งของหอมและดอกไม้ไป จึงได้มีความล่าช้ามาก เพราะฉะนั้น ม้าจึงได้ไปเพียง ๓๐ โยชน์เท่านั้น
               พระโพธิสัตว์ประทับยืนที่ฝั่งแม่น้ำ แล้วตรัสถามนายฉันนะว่า แม่น้ำนี้ชื่ออะไร?
               นายฉันนะกราบทูลว่า ชื่ออโนมานที พะยะค่ะ
               พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า บรรพชาแม้ของเราก็จักไม่ทราม จึงเอาส้นพระบาทกระตุ้นให้สัญญาณม้า ม้าได้โดดข้ามแม่น้ำอันกว้างประมาณ ๘ อุสภะไปยืนที่ฝั่งโน้น พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนที่เนินทรายอันเหมือนแผ่นเงิน ตรัสเรียกนายฉันนะมาว่า ฉันนะผู้สหาย เธอจงพาเอาอาภรณ์และม้าของเราไป เราจักบวช ณ ที่นี้แหละ นายฉันนะกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็จักบวชกับพระองค์ พระเจ้าข้า
               พระโพธิสัตว์ตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งว่า เธอยังบวชไม่ได้ เธอจะต้องไป แล้วทรงมอบเครื่องอาภรณ์และม้ากัณฐกะให้ นายฉันนะรับไปแล้ว. ทรงดำริว่า ผมทั้งหลายของเรานี้ไม่สมควรแก่สมณะ ทรงดำริต่อไปว่า ผู้อื่นที่สมควรจะตัดผมของพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่มี. เพราะเหตุนั้น เราจักตัดด้วยพระขรรค์นั้นด้วยตนเอง จึงเอาพระหัตถ์ขวาจับพระขรรค์ เอาพระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬา (จุก) พร้อมกับพระโมลี (มวยผม) แล้วจึงตัดออกเส้นพระเกศาเหลือประมาณ ๒ องคุลี เวียนขวาแนมติดพระเศียร พระเกศาได้มีประมาณเท่านั้น จนตลอดพระชนมชีพ และพระมัสสุ (หนวด) ก็ได้มีพอเหมาะพอควรกับพระเกศานั้น ชื่อว่ากิจด้วยการปลงผมและหนวดมิได้มีอีกต่อไป
               พระโพธิสัตว์จับพระจุฬาพร้อมด้วยพระโมลี ทรงอธิษฐานว่า ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าไซร้ พระโมลีจงตั้งอยู่ในอากาศ ถ้าจักไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า จงตกลงบนภาคพื้น แล้วทรงโยนขึ้นไปในอากาศ ม้วนพระจุฬามณีนั้นไปถึงที่ประมาณโยชน์หนึ่ง แล้วได้คงอยู่ในอากาศ ท้าวสักกเทวราชตรวจดูด้วยทิพยจักษุ จึงเอาผอบแก้วประมาณโยชน์หนึ่งรับไว้ นำไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ ชื่อว่าจุฬามณีในภพชั้นดาวดึงส์ เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               อัครบุคคลผู้เลิศได้ตัดพระโมลี อันอบด้วยกลิ่นหอมอันประเสริฐแล้ว โยนขึ้นไปยังเวหา
               ท้าววาสวะผู้มีพระเนตรตั้งพัน เอาผอบทองอันประเสริฐทูนพระเศียรรับไว้แล้ว
               พระโพธิสัตว์ทรงพระดำริอีกว่า ผ้ากาสิกพัสตร์เหล่านั้นไม่สมควรแก่สมณะสำหรับเรา ลำดับนั้น ฆฏิการมหาพรหมผู้เป็นสหายเก่าในครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า มีความเป็นมิตรยังไม่ถึงพุทธันดร คิดว่า วันนี้ สหายของเราออกมหาภิเนษกรมณ์ เราจักถือเอาสมณบริขารของสหายเรานั้นไป จึงได้นำเอาบริขาร ๘ เหล่านั้น คือ บริขารเหล่านี้คือ ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม รัดประคด เป็น ๘ กับผ้ากรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุ ประกอบความเพียร  ไปให้พระโพธิสัตว์ทรงนุ่งห่มธงชัยแห่งพระอรหัต แล้วถือเพศบรรพชาอันสูงสุด จึงทรงส่งนายฉันนะไป ด้วยพระดำรัสว่า ฉันนะ เธอจงทูลถึงความไม่มีโรคป่วยไข้แก่พระชนกและชนนีตามคำของเราด้วยเถิด นายฉันนะถวายบังคมพระโพธิสัตว์ กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป ส่วนม้ากัณฐกะยืนฟังคำของพระโพธิสัตว์ ซึ่งตรัสกับนายฉันนะ คิดว่า บัดนี้เราจะไม่มีการได้เห็นนายอีกต่อไป เมื่อละคลองจักษุไป ไม่อาจอดกลั้นความโศกไว้ได้ เมื่อหทัยแตก ตายไปบังเกิดเป็นกัณฐกเทวบุตรในภพดาวดึงส์
               ครั้งแรก นายฉันนะได้มีความโศกเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อม้ากัณฐกะตายไป นายฉันนะถูกความโศกครั้งที่สองบีบคั้น ได้ร้องไห้คร่ำครวญเดินไป
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ครั้นบรรพชาแล้วได้ยับยั้งอยู่ด้วยความสุขอันเกิดจากการบรรพชา ตลอดสัปดาห์ในอนุปิยอัมพวัน ซึ่งมีอยู่ในประเทศนั้นนั่นแล แล้วเสด็จดำเนินด้วยพระบาท สิ้นหนทาง ๓๐ โยชน์ โดยวันเดียวเท่านั้น แล้วเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ ก็แหละครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว เสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก พระนครทั้งสิ้นได้ถึงความตื่นเต้น เพราะได้เห็นพระรูปโฉมของพระโพธิสัตว์ เหมือนตอนช้างธนบาลเข้าไปกรุงราชคฤห์ และเหมือนเทพนครตอนจอมอสูรเข้าไป ฉะนั้น
               ลำดับนั้น ราชบุตรทั้งหลายมากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุคคลชื่อเห็นปานนี้ เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในพระนคร ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทราบเกล้าว่า ผู้นี้ชื่อไร จะเป็นเทพ มนุษย์ นาคหรือครุฑ พระราชาประทับยืนที่พื้นปราสาท ทอดพระเนตรเห็นพระมหาบุรุษ เกิดอัศจรรย์ไม่เคยเป็น ทรงสั่งพวกราชบุรุษว่า แน่ะพนาย ท่านทั้งหลายจงไปพิจารณาดู ถ้าจักเป็นอมนุษย์ เขาออกจากพระนครแล้วจักหายไป ถ้าเป็นเทวดาจักเหาะไป ก็ถ้าเป็นนาคจักดำดินไป ถ้าเป็นมนุษย์จักบริโภคภิกษาหารตามที่ได้
               ฝ่ายพระมหาบุรุษแล รวบรวมภัตอันสำรวมกันแล้วรู้ว่า ภัตมีประมาณเท่านี้พอสำหรับเรา เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เสด็จออกจากพระนครทางประตูที่เสด็จเข้ามานั่นแล บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ประทับนั่งที่ร่มเงาของปัณฑวบรรพต เริ่มเพื่อเสวยพระกระยาหาร ลำดับนั้น พระอันตะไส้ใหญ่ของพระมหาบุรุษ ได้ถึงอาการจะออกมาทางพระโอษฐ์
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทรงอึดอัด กังวลพระทัยด้วยอาหารอันปฏิกูล เพราะด้วยทั้งอัตภาพนั้น พระองค์ไม่เคยเห็นอาหารเห็นปานนั้น แม้ด้วยพระเนตร จึงทรงโอวาทตนด้วยพระองค์เองอย่างนี้ว่า ดูก่อนสิทธัตถะ เธอเกิดในสถานที่มีโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ด้วยโภชนะแห่งข้าวสาลีมีกลิ่นหอม ซึ่งเก็บไว้ ๓ ปี ในตระกูลอันมีข้าวและน้ำหาได้ง่ายมาก ได้เห็นบรรพชิตผู้ทรงผ้าบังสุกุลรูปหนึ่ง แล้วคิดว่าเมื่อไรหนอ แม้เราก็จักเป็นผู้เห็นปานนั้น เที่ยวบิณฑบาตบริโภค
               กาลนั้นจักมีไหมหนอสำหรับเรา จึงออกบวช บัดนี้ เธอจะทำข้อนั้นอย่างไร ครั้นทรงโอวาทพระองค์อย่างนี้แล้ว ไม่ทรงมีอาการอันผิดแผก ทรงเสวยพระกระยาหาร
               ราชบุรุษทั้งหลายเห็นความเป็นไปนั้นแล้ว จึงไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาได้สดับคำของทูตเท่านั้น รีบเสด็จออกจากพระนคร เสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ ทรงเลื่อมใสเฉพาะในพระอิริยาบถเท่านั้น จึงทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ตรัสว่า มหาบพิตร อาตมภาพไม่มีความต้องการวัตถุกามหรือกิเลสกามทั้งหลาย อาตมภาพปรารถนาปรมาภิสัมโพธิญาณ จึงออกบวช พระราชาแม้จะทรงอ้อนวอนเป็นอเนกประการก็ไม่ได้น้ำพระทัยของพระโพธิสัตว์นั้น จึงตรัสว่า พระองค์จักได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่แล้ว ก็พระองค์ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พึงเสด็จมายังแคว้นของหม่อมฉันก่อน
               นี้เป็นความย่อในที่นี้ ส่วนความพิศดารพึงตรวจดูศัพท์ในบรรพชาสูตรนี้ว่า เราจักสรรเสริญการบวช เหมือนผู้มีจักษุบวชแล้ว ดังนี้ ในอรรถกถาแล้วพึงทราบเถิด
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงให้ปฏิญญาแก่พระราชาแล้ว เสด็จจาริกไปโดยลำดับ เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร ทำสมาบัติให้บังเกิด แล้วทรงดำริว่านี้มิใช่ทางเพื่อจะตรัสรู้ จึงยังไม่ทรงพอพระทัยสมาบัติภาวนาแม้นั้น มีพระประสงค์จะเริ่มตั้งมหาปธานความเพียรใหญ่ เพื่อจะทรงแสดงเรี่ยวแรงและความเพียรของพระองค์แก่โลก พร้อมทั้งเทวโลก จึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา ทรงพระดำรัสว่า ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์หนอ จึงเสด็จเข้าอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลานั้น ทรงเริ่มตั้งมหาปธานความเพียรใหญ่ บรรพชิต ๕ รูปมีโกณฑัญญะเป็นประธานแม้เหล่านั้นแล พากันเที่ยวภิกขาจารไปในคาม นิคมและราชธานีได้ถึงทันพระโพธิสัตว์ ณ ตำบลอุรุเวลานั้น
               ลำดับนั้น บรรพชิตทั้ง ๕ รูปนั้นอุปัฏฐากพระโพธิสัตว์นั้นผู้เริ่มตั้งมหาปธานความเพียรตลอด ๖ พรรษา ด้วยวัตรปฏิบัติมีการกวาดบริเวณเป็นต้น ด้วยหวังใจว่าจักเป็นพระพุทธเจ้าในบัดนี้ และได้เป็นผู้อยู่ในสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น




ขอขอบคุณที่มา : ริมฝั่งเเม่น้ำอโนมานที


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.619 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 18 ธันวาคม 2567 11:53:13