[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 19:55:02 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก  (อ่าน 9035 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 24 มิถุนายน 2559 15:37:26 »

.


พอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว
ภาพวาดฝีมือ ครูเหม เวชกร

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑)
บุคคลแรกที่พูดได้เดินได้ทันทีที่เกิด


บอกไว้ก่อนว่า เรื่องอย่างนี้มิใช่เรื่องอัศจรรย์ มิใช่เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ แต่เป็นปรากฏการณ์ “ธรรมดา” ที่เกิดขึ้นได้สำหรับบุคคลพิเศษ

บุคคลพิเศษในที่นี้ก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะ

เจ้าชายสิทธัตถะคือใคร ชาวพุทธทุกคนก็ต้องรู้  เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายา เสด็จนิวัตยังพระนครเทวทหะ บ้านเกิดเมืองนอนของท่านเพื่อไปคลอดลูก  

ขบวนเสด็จไปถึงพระราชอุทยานชื่อลุมพินีวัน ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ พระนางก็ประชวรพระครรภ์ จึงเสด็จไปพักผ่อนในพระราชอุทยาน แล้วก็ทรงมีพระสูติกาล (คลอดลูกนั้นแหละครับ) ณ สวนลุมพินีนั้นเอง

พระนางสิริมหามายาทรงยืน เหนี่ยวกิ่งสาละ (ไม่ควรแปลว่าต้นรัง ผมไปเห็นมาแล้ว ต้นสาละไม่ใช่ต้นรัง) พระราชกุมารน้อยก็ก้าวลงจากพระครรภ์ ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทรงชี้พระดรรชนีขึ้นฟ้า เสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว ทรงเปล่ง อาสภิวาจา (วาจาอย่างองอาจ)

อาสภิวาจา ว่าอย่างไร อาทิตย์หน้าค่อยว่ากัน วันนี้ขอแถลงเรื่อง การที่เจ้าชายสิทธัตถะ พูดได้ เดินได้ ทันทีที่ประสูติ

คนส่วนมากตั้งคำถามว่า “พูดได้ เดินได้จริงหรือ” บางท่านก็พูดออกมาตรงๆ ว่า ไม่เชื่อ อมพระมาทั้งโบสถ์ก็ไม่เชื่อ เพราะไม่คิดว่าเรื่องอย่างนี้จะเป็นไปได้กระมัง อาจารย์รุ่นหลังๆ จึงหาทางออกว่า เป็น “สัญลักษณ์” หรือ “บุพนิมิต” แล้วก็แจกแจงอย่างน่าฟัง เช่น

การที่ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ เป็นสัญลักษณ์ว่า ท่านผู้นี้ต่อไปจะเป็นผู้อยู่เหนือ คือเอาชนะเจ้าลัทธิทั้งหลายในชมพูทวีป

การเสด็จดำเนิน ๗ ก้าว เป็นสัญลักษณ์แทนแว่นแคว้นทั้ง ๗ ที่จะได้ประกาศสัจธรรมที่ตรัสรู้ให้แพร่หลาย หรือ (มีหรือด้วยครับ แสดงว่าตีความได้สองนัย) หมายถึงโพชฌงค์ ๗ ประการ

ดอกบัวที่ผุดขึ้นรองรับพระบาท หมายถึงท่านผู้นี้จะเป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลสโดยสิ้นเชิง (หมายเหตุ ในพระไตรปิฎก ไม่พูดถึงดอกบัว ดอกบัวนี้เพิ่มมาภายหลัง)

การที่ทรงเปล่งอาสภิวาจา หมายถึง ท่านผู้นี้จะได้ประกาศสัจธรรมที่ยังไม่เคยมีใครประกาศมาก่อนเลย ฯลฯ

นี้คือการหาทางออก เพื่อไม่ให้ชาวพุทธอึดอัดใจเมื่อมีใครซักถาม แต่ขอกราบเรียนว่า คำตอบนั้นมีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระสาวกของพระองค์เอง พวกเราชาวพุทธอ่านไม่ละเอียดเอง

จากข้อความในพระไตรปิฎก แสดงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นได้จริง มิใช่สัญลักษณ์แต่อย่างใด

ในพระไตรปิฎก ได้เล่าเหตุการณ์พิเศษต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น แล้วท่านก็สรุปลงด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า “นี้เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์)

ท่านบอกเราว่า เหตุการณ์พิเศษต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องธรรมดาของพระโพธิสัตว์ เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระโพธิสัตว์คือผู้บำเพ็ญบารมีมาจนเต็มเปี่ยมแล้ว ท่านย่อมมี “ธรรมดา” ไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป

ถามว่าเรื่องอย่างนี้เป็นปาฏิหาริย์ไหม ตอบว่าไม่ใช่ เป็นอิทธิฤทธิ์ไหม ตอบว่าไม่ใช่ “มันเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์”

“ธรรมดาของนกย่อมบินได้” ท่านเห็นนกบินได้ท่านอัศจรรย์ไหม เปล่าเลย มันธรรมดาของมัน ถ้าถามว่า ทำไมนกมันบินได้ คำตอบที่ถูกต้องที่สุดก็คือ “มันเป็นธรรมดาของนกมัน” นกบินไม่ได้สิผิดธรรมดาแน่ๆ ใช่ไหมครับ

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์เกี่ยวกับประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ขอให้เข้าใจว่า ก็คือเหตุการณ์ธรรมดาๆ นั้นเอง ไม่ใช่เรื่องประหลาดมหัศจรรย์อะไร เพียงแต่เป็นธรรมดา ที่ไม่ทั่วไปสำหรับสามัญชนอื่นๆ เท่านั้นเอง

ผมเคยอ่านบันทึกจากกินเนสส์บุ๊ก (คนอื่นเขาลอกมาให้อ่านอีกที) บันทึกไว้ว่า มีเด็กชายสองคนชื่อ เจมส์ ซิดิส คนหนึ่ง คริสเตียน ไฮเนเก้น อีกคนหนึ่ง เป็นอัจฉริยมนุษย์ โดยเฉพาะ คริสเตียน ไฮเนเก้น เกิดมาแปดสัปดาห์พูดได้ ปาฐกถาเรื่องอภิปรัชญาชั้นสูง ให้ที่ประชุมนักปราชญ์ทั้งหลายฟัง ทึ่งไปตามๆ กัน ว่าทำได้ไง

กินเนสส์บุ๊ก เป็นที่รู้กันว่าบันทึกเรื่องจริง ไม่โกหกเราแน่นอน สมัยนี้ เด็กเกิดมาแปดสัปดาห์พูดได้ ก็มีแล้ว ย้อนหลังไปสองพันห้าร้อยกว่าปี เจ้าชายแห่งราชวงศ์ศากยะ ทันทีที่เกิดมาก็พูดได้ จะต่างอะไรล่ะครับ

อย่าคิดแต่เพียงว่า เป็นไปไม่ได้ๆ สมัยนี้ กี่หมื่นกี่แสนอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ มันเป็นไปได้แล้วทั้งนั้น

สรุปแล้ว บุคคลแรกที่พูดได้ทันทีที่เกิด คือเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชกุมารแห่งศากยวงศ์ ต่อมาก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาเอกแห่งโลกนั้นแล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑) บุคคลแรกที่พูดได้เดินได้ทันทีที่เกิด โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๑ ประจำวันที่ ๒๔-๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒)
คำแรกที่เจ้าชายสิทธัตถะพูดตอนประสูติ


สัปดาห์ที่แล้ว ได้บอกว่าพระโพธิสัตว์คือเจ้าชายสิทธัตถะพูดได้ เดินได้ หลังประสูติชั่วขณะ และได้บอกด้วยว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจารย์ในภายหลังพยายามอธิบายว่าเป็นภาษาสัญลักษณ์ หรือ “บุพนิมิต” ว่าไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นจริง แต่ข้อความในพระไตรปิฎกในรูปพุทธวจนะตรัสแก่พระสาวก ยืนยันว่า เป็นเรื่องจริง ทรงอธิบายสั้นๆ ว่า เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ดังได้กล่าวไว้แล้ว

คราวนี้มาว่าถึงคำพูดอั้นองอาจ เรียกตามศัพท์เทคนิคว่า อาสภิวาจา ที่พระโพธิสัตว์เปล่งออกมานั้นว่าอย่างไร

คัมภีร์บันทึกไว้ไม่ค่อยตรงกันนัก ในแง่พลความ แต่ในสาระเหมือนกัน เช่นในพระไตรปิฎก บันทึกไว้ว่า
อคโหมสมิ โลกสส     เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสส
เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสส   อคฺโคหมสฺมิ โลกสส
อยมนฺติมา ชาติ        นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว

ตรงนี้เขียนเป็นร้อยแก้วธรรมดา แต่อีกที่หนึ่งแต่งเป็นคาถาหรือบทกวีดังนี้
อคโคหมสมิ โลกสส    เชฏฺโฐ เสฏโฐหมสฺมิ
อยมนฺติมา เม ชาติ     นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว

แปลว่า เราเป็นผู้เลิศของโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป

นี้แปลตามตัวอักษร ตามประโยคบาลีเปี๊ยบเลย ถ้าจะแปลเป็นไทยๆ คำว่าของโลก แปลว่า ในโลก น่าจะเข้าใจดีกว่า

หมายเหตุ ปรากฏการณ์เจ้าชายน้อยประสูตินี้ ในพระไตรปิฎก ไม่มีดอกบัวเจ็ดดอกผุดขึ้นรองรับ พูดแต่เพียงว่าทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทรงเหลียวดูทิศทั้งหลาย เสด็จดำเนินไปเจ็ดก้าว ทรงเปล่ง อาสภิวาจา ดังกล่าวข้างต้น

อาจารย์ในภายหลัง ไม่คิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริง จึงพยายามแปลเป็นภาษาสัญลักษณ์ หรือบอกว่าเป็นบุพนิมิต แต่ใจความในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นเรื่องเป็นไปได้ คือปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ มิใช่เรื่องเหลือเชื่อหรืออิทธิปาฏิหาริย์อะไร ดังผมได้อธิบายขยายความมาแล้วในอาทิตย์ที่แล้ว

ผมเห็นว่าท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านถอดเป็นภาษาธรรมได้ดีที่สุด คือ ท่านว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ เป็นเครื่องสำแดงว่า เจ้าชายสิทธัตถะต่อมาคือพระพุทธเจ้านั้น ทรงประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ทั้งปวง

เนื่องจากสมัยนั้นมนุษย์ทั้งหลายตกเป็นทาสความยึดถือผิดๆ ว่า มนุษย์อยู่ในการดลบันดาลของพระพรหม ต้องพึ่งพระพรหม เรียกว่า พรหมลิขิต ค่านิยมความดีความชั่ว ตัดสินเอาที่ว่าใครเกิดในวรรณะไหน ถ้าเกิดในวรรณะสูงก็เป็นคนดีโดยอัตโนมัติ เกิดในวรรณะต่ำก็เป็นคนเลว

จากนี้ต่อไป ท่านผู้นี้จะได้ปลดปล่อยมนุษย์ทั้งหลายจากความเข้าใจผิดเสียที ประกาศให้เห็นศักยภาพของมนุษย์ ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองด้วยการกระทำของตน

คนจะดีหรือชั่วเพราะการกระทำด้วยตนเอง มิใช่เพราะการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ หรือด้วยการอ้อนวอนขอ และเซ่นสรวงเอาใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ

ท่านเจ้าคุณใช้คำคมว่า เป็นการดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม คือในขณะที่สังคมมุ่งหวังผลจากการดลบันดาลของเทพเจ้า เอาแต่อ้อนวอนขออำนาจเทพเจ้า ให้บันดาลโน่นบันดาลนี่ เจ้าชายน้อยพระองค์นี้ ซึ่งต่อมาคือพระพุทธเจ้า ก็ดึงให้คนทั้งหลายมาสนใจตัวธรรมที่อยู่ในธรรมชาติ คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ถอดความให้ฟังง่ายก็คือ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนคนว่าอย่ามัวหวังพึ่งเทพเจ้า ให้บันดาลโน่นบันดาลนี่ ให้หันมาพึ่งการกระทำของตนเองดีกว่า

นี้แหละครับ คือการดึงประชาชนจากเทพมาสู่ธรรม นับว่าเจ้าชายน้อยพระองค์นี้ทรงถือกำเนิดมาเพื่ออิสรภาพของโลกอย่างแท้จริง

การอธิบายในแง่นี้ยังไม่มีใครอธิบายมาก่อน นอกจากท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ จึงขอนำมาบอกเล่าเก้าสิบให้ฟัง ถ้าใครอยากทราบรายละเอียด (เพราะผมจำมาไม่หมด) ให้ไปหาหนังสือ จาริกบุญ จารึกธรรม ของท่านมาอ่านก็แล้วกัน


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒) คำแรกที่เจ้าชายสิทธัตถะพูดตอนประสูติ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๒ ประจำวันที่ ๑-๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓)


สัปดาห์ที่แล้ว พูดถึง “บุคคลแรกที่พูดได้หลังเกิดใหม่ๆ”คือเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ ต่อมาคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลาย และได้นำ “อาสภิวาจา” (พระวาจาอันองอาจ” ที่ทรงเปล่งออกมา มาให้อ่านกัน พร้อมอ้างที่มาเสร็จ

แต่ต้องขออภัยที่อ้างไม่หมด และ “อาสภิวาจา” ก็ผิด ขอแก้เพื่อความถูกต้องดังนี้ครับ

อาสภิวาจา มีบันทึกในพระไตรปิฎก ๒ แห่ง คือพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ ข้อ ๓๗๗ หน้าที่ ๒๕๓ เป็นคำพูดของพระอานนท์กราบทูลพระพุทธองค์ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า ได้ยินจากพระโอษฐ์พระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ๆ...” กับอีกแห่งหนึ่งในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๖ หน้าที่ ๑๗ ในรูปพระพุทธพจน์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ที่...”

ใจความของอาสภิวาจาตรงกัน ต่างกันนิดเดียว “อยมนฺติมา เม ชาติ” ในเล่มที่ ๑๔ ไม่มีคำว่า “เม” เท่านั้นเอง

ข้อความเต็มมีดังนี้ครับ
อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมฺสมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺสส อยมนฺติมา เม ชาติ นตฺถิ ทานิ ปุนพฺภโว
“เราเป็นผู้เลิศในโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก นี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป”


๓.อุบาสกอุบาสิกาคู่แรก
คราวนี้มาถึงสิ่งแรกประการที่ ๓ ในพระพุทธศาสนา ถ้าถามว่า ใครเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรก คำตอบมีสองอย่างคือ อุบาสกคู่แรกที่ถึงรัตนะสองคือพระพุทธ และพระธรรม คือวาณิชสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ

ส่วนคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคือ บิดามารดาของยสกุมาร

ตปุสสะ ภัลลิกะเป็นใคร?

คัมภีร์พระพุทธศาสนาเรียกชื่อ ว่า ตปัสสุ และ ภัลลิยะ ก็มี อรรถกถาเถรคาถาบอกว่าทั้งสองเป็นพี่น้องกัน เป็นบุตรชายของหัวหน้ากองเกวียนชื่อ โปกขรวตี ทั้งสองมาจากอุกกลชนบท (ไม่ทราบที่ไหน นัยว่าอยู่ตอนเหนือแห่งชมพูทวีป แถวๆ ตักสิลา ประมาณนั้น) ทั้งสองเดินทางมายังเมืองราชคฤห์ พบพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) จึงน้อมถวายข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อน (บาลีเรียกว่า มันถะ และ มธุปิณฑิกะ)

ตปสสะ และ ภัลลิกะ ได้เปล่งวาจาถึงรัตนะทั้งสอง (พระพุทธและพระธรรม) เป็นสรณะ เรียกว่า “ทฺววาจิกอุบาสก” เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ สดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้วกราบทูลลากลับมายังมาตุภูมิ

ข้อความตรงนี้นักปราชญ์พม่าเขียนเพิ่มเติมว่า วาณิชทั้งสองพี่น้องเป็นชาวหงสาวดี เดินทางไปจากพม่า ไปพบพระพุทธองค์ ได้ถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนแล้วเปล่งวาจาถึงรัตนะทั้งสองเป็นที่พึ่งดังกล่าวแล้ว ก่อนจากได้กราบทูลขอสิ่งที่ระลึกจากพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร พระเกศาหลุดติดพระหัตถ์มา ๘ เส้น แล้วประทานให้พ่อค้าทั้งสอง

เขาทั้งสองกลับมาตุภูมิ ได้ก่อสร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุทั้ง ๘ องค์ไว้บูชา พระเจดีย์นั้นคือ ชเวดากอง ว่ากันอย่างนั้น

นับเป็นการกล่าวอ้างที่เข้าที ส่วนเท็จจริงอย่างไร ฟังๆ ไว้ก็ไม่เสียหลาย

อรรถกถาอีกเช่นกันบอกว่า ต่อมาสองพี่น้องได้กลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้าใหม่ ได้ฟังธรรมแล้วตปุสสะบรรลุโสดาปัตติผล ส่วนภัลลิกะได้ทูลขอบวช และได้บรรลุพระอรหัตในเวลาต่อมา

อุบาสกอุบาสิกา คู่ที่ทั้งสองถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคือ บิดามารดาของยสกุมาร ชาวเมืองพาราณสี มีเรื่องเล่าว่า หลังจากพระพุทธองค์เสด็จมาแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตน มฤคทายวัน และประทานการอุปสมบทให้ทั้งห้าท่านเป็นภิกษุแล้ว พระพุทธองค์ยังประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตน มฤคทายวัน

คืนหนึ่ง ยสกุมาร บุตรชายของเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี เกิดเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย หนีออกจากบ้านกลางดึก ขณะนางรำทั้งหลายหลับใหลกันหมด ยิ่งเห็นภาพอันไม่น่าดูของบรรดานางรำทั้งหลายยิ่งทำให้เด็กหนุ่มบังเกิดความเบื่อหน่าย สะอิดสะเอียนยิ่งขึ้น

ถึงกับเดินพลางเปล่งอุทานด้วยความสลดใจ ว่า “อุปทฺทูตํ วต โภ อุปสฏฺฐํ วต โภ = วุ่นวายจริงหนอ ขัดข้องจริงหนอ”

แปลเป็นไทยๆ ให้สมกับอารมณ์เอือมสุดขีด ว่า “กลุ้มจริงโว้ย” ประมาณนั้น

เดินไปบ่นไปจนถึงป่าอิสิปตน มฤคทายวันไม่รู้ตัว ขณะนั้นจวนสว่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตื่นบรรทม เสด็จจงกรมอยู่ ได้ยินดังนั้น ตรัสว่า “อิทํ อนุปทฺทูตํ อิทํ อนุปสฏฺฐํ = ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง”

เด็กหนุ่มตื่นจากภวังค์ เข้าไปกราบแทบยุคลบาท สดับพระธรรมเทศนา จบพระธรรมเทศนาได้บรรลุโสดาปัตติผล ทูลขอบวช พระองค์ก็ประทานการอุปสมบทให้  รุ่งเช้า บิดามารดายสกุมาร ตามหาบุตรที่หายไป มาพบพระพุทธองค์ได้สดับพระธรรมเทศนา มีความเลื่อมใส ได้เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต นับว่าสองสามีภรรยาเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

อรรถกถาได้ให้ความรู้แก่เราว่า มารดาของยสกุมารนั้นก็คือ นางสุชาดา ที่ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้นั้นแล นางได้บนเทพต้นไทรไว้ก่อนแต่งงาน เมื่อแต่งงานก็ได้ตามสามีไปอยู่ที่เมืองพาราณสี ตอนพบพระพุทธองค์นั้นนางได้กลับไปบ้านเกิดเพื่อแก้บนที่บนไว้กับเทพต้นไทรข้างบ้านดังกล่าว


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๓ ประจำวันที่ ๘-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๔)
บุคคลแรกที่ถวายอาหารก่อนตรัสรู้


คราวที่แล้วพูดทิ้งท้ายไว้ว่า นางสุชาดานี้ ที่จริงเป็นมารดาของยสกุมาร พุทธประวัติบอกเราว่า นางสุชาดาเธออยู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ แต่ยสกุมารอยู่เมืองพาราณสี แคว้นกาสี จะมาเป็นแม่ลูกกันได้อย่างไรหนอ ใครๆ ก็สงสัยอย่างนี้

แต่คัมภีร์อรรถกถาท่านไขข้อข้องใจให้เราได้เอาไว้พูดถึงตอนท้ายนะครับ

ตอนนี้ขอเล่าเรื่องการถวายข้าวมธุปายาสก่อน

เมื่อพระมหาสัตว์ (คือพระสิทธัตถะ) ทรงเห็นว่าการทำทุกรกิริยาอดอาหารนั้นมิใช่ทางบรรลุ จึงทรงกลับมาเสวยพระกระยาหารใหม่ให้มีพระพลานามัย เพื่อจะได้มีกำลังบำเพ็ญเพียรทางจิต

ตรงนี้คัมภีร์เล่าเป็นตำนานว่า พระอินทร์มาเทียบเสียงพิณสามสายให้ฟัง ตึงนักสายก็จะขาด ดีดเสียงไม่ไพเราะ หย่อนนักก็เสียงไม่ไพเราะเช่นกัน ต้องพอดีๆ เสียงจึงจะไพเราะ พระองค์ “ทรงได้คิด” ว่า ทุกอย่างต้องพอดีจึงจะดี

พระอินทร์ในที่นี้ อาจมิใช่พระอินทร์ตัวเขียวๆ ที่ไหน หากเป็น “สัญลักษณ์” บอกว่าเมื่อทรงพยายามมาจนถึงขั้นนี้แล้ว ยังไม่บรรลุ แสดงว่ามีข้อผิดพลาดเสียแล้วล่ะ การ “ได้คิด” ขึ้นมาว่าทุกอย่างต้องพอดี มันเกิดขึ้นมาเองหลังจากประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติ

แต่ถ้าท่านผู้อ่านเสียดายพระอินทร์ ก็ให้พระอินทร์มามีบทบาทเตือนพระสติของพระมหาสัตว์ก็ไม่ว่าอะไร

ปัญจวัคคีย์อันมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้ารู้สึกผิดหวังที่พระองค์ทรงเลิกทำทุกรกิริยา ถึงกับประณามแรงๆ ว่าพระองค์เป็นคน “คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก” พูดง่ายๆ คือหาว่าเป็นคนขี้เกียจ เห็นแก่กิน ไม่มีทางบรรลุมรรคผลดอก ปานนั้นเชียวนิ ทั้งห้าจึงพากันหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี (ปัจจุบันเรียก สารนาถ อยู่รัฐพิหาร)

สารนาถ กร่อนมาจากคำเต็มว่า “สารังคนาถ” แปลว่าที่พึ่งแห่งกวาง (สารังค=กวาง-นาถ=ที่พึ่ง) เป็นป่าสงวนพันธุ์สัตว์ซึ่งมีกวางเป็นส่วนมาก ฝรั่งจึงแปลว่า The Deer Park หรือ The Deer Sanctuary

หลังเลิกทุกรกิริยาใหม่ พระสิทธัตถะก็เสด็จไปประทับอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ใกล้หมู่บ้านอุรุเวลาเสนานิคม

นางสุชาดา ธิดานายบ้านอุรุเวลาเสนานิคมซึ่งเคยบนเทพที่ต้นไทรสมัยยังสาวว่า ถ้าได้แต่งงานกับคนมีสกุลเสมอกัน และได้บุตรชายจะแก้บน ต่อมาได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี ไปอยู่ตระกูลสามี จนได้บุตรชายชื่อยสกุมาร เมื่อบุตรชายเจริญวัยเป็นหนุ่มแล้วจึงนึกได้ว่ายังมิได้แก้บน จึงเดินทางกลับบ้านเกิด

วันนั้น นางสั่งสาวใช้ให้ไปปัดกวาดโคนต้นไทรให้สะอาด สาวใช้ไปเห็นพระองค์ประทับนิ่งสงบอยู่ คิดว่าเป็นเทพที่สิงอยู่ต้นไทรสำแดงตน ตาลีตาเหลือกมารายงานนายหญิง ว่า เทพเจ้าท่านกำลังรออยู่  นางสุชาดาก็เอาข้าวมธุปายาสที่เตรียมไว้ใส่ถาดทองปิดอย่างดี แล้วรีบนำไปยังต้นไทร ไปถึงก็ไม่กล้ามองตรงๆ ยื่นถาดข้าวมธุปายาสให้แล้วก็รีบกลับบ้าน

พระมหาบุรุษเจ้า ทรงรับถาดข้าวมธุปายาสแล้ว ก็ทรงปั้นข้าวมธุปาสเป็นก้อนได้ ๔๕ ก้อน แล้วเสวยจนหมด เสร็จแล้วทรงลอยถาดลงสู่แม่น้ำ

ตำนานเล่าต่อว่า ด้วยอานุภาพพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาบริบูรณ์แล้ว ได้เกิดอัศจรรย์ ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปประมาณ ๑ เส้น แล้วก็จมลง ว่ากันอีกนั่นแหละว่า จมลงไปยังนาคพิภพแห่งพญากาฬนาคราช   พญานาคซึ่งนอนหลับตลอดกาลยาวนาน ได้ยินเสียงถาดกระทบกับถาดใบเก่าสี่ใบดัง “กริ๊ก” ก็สะดุ้งตื่น ร้องว่า “อ้อ มาตรัสรู้อีกองค์แล้วหรือ”

คงเป็นภาษาสัญลักษณ์มากกว่าแปลตามตัวอักษร คือถึงตอนนี้จะได้เกิดมี “พุทธ” (“ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” เกิดขึ้นหนึ่งพระองค์ ท่ามกลางเหล่าสัตว์ผู้หลับสนิทตลอดกาลนานด้วยอำนาจ “กิเลสนิทรา”)  และถาดที่ลอยทวนน้ำนั้น หมายถึงพระมหาบุรุษเจ้าจะได้ตรัสรู้โลกุตรธรรมสูงสุด อัน “ทวนกระแสโลก” โดยทั่วไป

เข้าใจว่าหลังจากแก้บนแล้ว นางสุชาดา คงเดินทางกลับเมืองพาราณสี

ที่คัมภีร์อรรถกถาท่านบอกว่า นางสุชาดาคือมารดาของยสกุมาร จึงมีความเป็นไปได้ ด้วยประการฉะนี้แล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๔) บุคคลแรกที่ถวายอาหารก่อนตรัสรู้ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๔ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๕)
สิ่งแรกที่ทรงทำหลังจากเสด็จออกผนวช


เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงพิจารณาเห็นความทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ อย่างที่สิ้นสุดมิได้ กล่าวกันว่า ความดำริจะเสด็จออกจากโลกียวิสัย ไปบวชบำเพ็ญพรตนี้เกิดขึ้นเพราะทรงทอดพระเนตรเห็น “เทวทูต” ทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ตามลำดับ

แต่ในพระสูตรกล่าวว่าพระองค์ทรงเบื่อหน่ายในกามสุขขึ้นมาเอง หลังจากได้รับการปรนเปรอย่างบำรุงบำเรอสารพัดจากพระราชบิดา ผู้ไม่ทรงมีพระประสงค์จะให้พระราชโอรสเสด็จออกผนวช

ทรงตรัสเล่าไว้ใน ปาสราสิสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ ว่า ขณะยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ (คือเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ) พระองค์ทรงได้คิดว่า “เราเองยังมีความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นธรรมดาอยู่ ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นธรรมดา ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความโศก ความเศร้าหมอง เป็นธรรมอยู่แล้ว ทำไมหนอ เราจึงไม่แสวงหานิพพาน อันไม่เกิดไม่ตาย เป็นธรรมปลอดจากเครื่องร้อยรัดใจ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า”

นี้คือสาเหตุทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวช

แต่อย่างไรก็ดี เทวทูตทั้งสี่ก็เป็นส่วนประกอบด้วย คืออาจพบเทวทูตทั้งสี่แล้วทรงตัดสินพระทัย หรือทรงครุ่นคิดพิจารณาถึงความวุ่นวายต่างๆ ทางโลกอยู่ พอดีทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ก็ช่วยเร่งให้ตัดสินพระทัยเร็วขึ้น แม้กระทั่งการได้ข่าวพระโอรส (ราหุล) ประสูติ ก็เป็นเครื่องกระตุ้นให้ต้องรีบตัดสินพระทัย ด้วยทรงเกรงว่าหากล่าช้าไป ความรักในพระโอรสอาจจะเป็นพันธะเหนี่ยวรั้งให้ไปไหนไม่ได้

ดังพระอุทานที่เปล่งออกมาว่า “ราหุล (บ่วง) เกิดแล้ว พันธนาการเกิดแล้ว” นั้นแล

เวลาเสด็จออกผนวช ก็เป็นข้อถกเถียงกัน เพราะพุทธประวัติที่เขียนภายหลังไม่ตรงกับพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกซึ่งอยู่ในรูปพระพุทธดำรัสตรัสเล่าพระไตรปิฎกมีข้อความว่า “เมื่อสมัยเรายังหนุ่ม มีผมดำสนิทอยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต เมื่อบิดาและมารดาไม่ปรารถนา (จะให้บวช) ร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมโกนหนวด นุ่งห่ามผ้ากาสาวพัสตร์สละเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว”

หลังจากเสด็จออกผนวชแล้ว ประทับอยู่ที่ตำบลอนุปิยอัมพวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

จากนั้นก็เสด็จไปยังแคว้นมคธ ทรงพบพระเจ้าพิมพิสารที่มาเข้าเฝ้า และทูลเชิญให้ลาพรตไปครองราชย์สมบัติด้วยกัน

ว่ากันว่าพระเจ้าพิมพิสาร “ใจป้ำ” จะแบ่งอาณาจักรให้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

แต่พระองค์ตรัสว่าพระองค์มิได้ต้องการสมบัติทางโลกใดๆ ที่สละทุกสิ่งทุกอย่างมานี้ก็เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นอย่างเดียวเท่านั้น  จากนั้นพระองค์ก็เสด็จไปสมัครเป็นศิษย์ฝึกปฏิบัติโยคะอยู่กับอาจารย์สองท่าน คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร อุททกดาบส รามบุตร โดยอยู่กับอาจารย์คนแรก ทรงได้รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๓ อยู่กับอาจารย์คนที่สอง ทรงได้อรูปฌาน ๔ เพิ่มขึ้น คือ เนวสัญญานา สัญญายตนะ ระยะเวลานานเท่าใดไม่ปรากฏ แต่คาดว่าคงไม่เกินสองปีหรือน้อยกว่านั้น

ผลสัมฤทธิ์แห่งฌานก็ทำให้จิตใจสงบ ไม่ถูกกิเลสรบกวน แต่ก็ไม่ได้ถอนรากถอนโคนโดยสิ้นเชิง ออกจากฌานสมาบัติเมื่อใด กิเลสอาสวะก็กลับมาเหมือนเดิม ดุจเอาศิลาก้อนใหญ่ทับหญ้าไว้ ตราบใดที่ยังไม่ยกศิลาออกหญ้าก็ไม่สามารถงอกงามได้ แต่ถ้ายกศิลาออกเมื่อใด หญ้าก็งอกขึ้นมาได้อีก

ฉะนั้น ทรงเห็นว่ายังมิใช่สัมมาสัมโพธิญาณที่ทรงแสวงหา

พุทธประวัติที่แต่งกันภายหลัง มักพูดทำนองดูแคลนว่า ฌานสมบัติที่อาจารย์ทั้งสองสอนนั้นมิใช่ทางบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ บางฉบับก็ว่าแรงว่าเป็นแนวทางที่ผิด แต่เมื่อพิจารณาแล้ว วิธีปฏิบัติได้ให้ฌานนี้ พระพุทธเจ้านำมาปรับใช้สอนสาวกของพระองค์ เรียกว่า ระบบสมถะนั้นเอง เพียงแต่สมถะล้วนๆ ไม่ทำให้บรรลุนิพพานได้ ต้องทำสมถะจนได้ฌานแล้วทำฌานเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาเท่านั้น จึงจะดำเนินสู่มรรคผลนิพพานได้

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า วิธีโยคะของดาบสทั้งสองนั้น ก็เป็นอันเดียวกับสมถกรรมฐานนั้นเอง และสมถกรรมฐานนี้มีอยู่ก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว โยคีที่บรรลุถึงขั้นสุดยอดของสมถกรรมฐานมีปรากฏมากมาย แต่ท่านเหล่านั้นมิได้ตรัสรู้เป็นพุทธะ เพราะระบบโยคะอำนวยผลเพียง ศีลกับสมาธิ ยังขาดปัญญา

เมื่อพระพุทธองค์ทรงใช้สมถกรรมฐานเป็นบาทฐานแห่งการเจริญวิปัสสนา จึงได้ปัญญาตรัสรู้ ดังนั้นวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นคำสอนเฉพาะของพระพุทธศาสนา  และที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีครูสอนนั้น ความจริงพระองค์มีครูสอน เท่าที่ทราบทั่วไปก็มี ครูวิศวามิตรประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยา ๑๘ แขนงให้ ขณะยังทรงเป็นพระราชกุมาร ครูอาฬารดาบส และอุททกดาบส สอนฝึกสมาธิ ตามระบบโยคะ

ครูทางด้านอื่นๆ นั้น พระพุทธเจ้าทรงมีเช่นเดียวกับคนอื่น แต่ครูที่สอนให้ตรัสรู้นั้นไม่มี พระองค์ทรงค้นพบวิธีปฏิบัติเพื่อตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงเป็น “สัมมาสัมพุทธะ” (ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง) ด้วยประการฉะนี้แล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๕) สิ่งแรกที่ทรงทำหลังจากเสด็จออกผนวช โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๕ ประจำวันที่ ๒๒-๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 พฤศจิกายน 2559 19:16:06 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 16 สิงหาคม 2559 17:56:52 »

.



สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๖)
พระอุทานแรกที่ทรงเปล่งหลังตรัสรู้


อุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาจากแรงบันดาลใจ เช่น บุคคลได้บรรลุธรรมแล้วเปล่งอุทานออกมา ส่วนมากเป็นบทกวี หรือไม่ก็เป็นร้อยแก้ว ที่มีถ้อยคำสละสลวยคล้ายบทกวี  อุทาน ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขุททกนิกาย ในสุตตันตปิฎก (พระไตรปิฎก เล่มที่๒๕) เป็นพระสูตรสั้นๆ บอกที่มาที่ไปของอุทานนั้นๆ เช่นพระพุทธองค์ประทับที่ไหน ทรงพบใคร เปล่งอุทานว่าอย่างไร มีทั้งหมด ๘๒ สูตร นอกจากนี้แล้วยังมีในที่อื่นด้วย เช่น ธรรมบทบ้าง สังยุตตนิกายบ้าง

ถ้าถามว่า หลังตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานอะไรออกมาเป็นอุทานแรก ตอบได้ว่า มี ๒ อุทาน

ไม่ทราบแน่ชัดว่าอย่างไหนเป็นอุทานแรก อย่างไหนเป็นอุทานหลัง

ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) กล่าวว่า ทันทีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า
อเนกชาติสํสารํ      สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
คหการํ คเวสนฺโต    ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ
คหการก ทิฏฺโฐสิ    ปุน เคหํ น กาหิสิ
สพฺพา เต ผาสุกา   ภคฺคา  คหกูฏํ วิสงฺขตํ
วิสงฺขารคตํ จิตฺต็     ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา
     แปลว่า
เราตามหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ จึงเวียนเกิดเวียนตายอยู่สังสารวัฏมากมายหลายชาติ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์

นายช่างผู้สร้างเรือนเอย บัดนี้เราพบท่านแล้ว ท่านจะเรือนไม่ได้อีกแล้ว จันทันอกไก่เราทำลายแล้ว เรือนยอดเราก็รื้อแล้ว จิตของเราเข้าถึงพระนิพพาน เราได้บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว

“นายช่างผู้สร้างเรือน” ในที่นี้หมายถึงตัณหา เพราะตัณหาความอยาก ๓ ประเภทนี้เองที่ทำให้คนต้องเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ไม่จบสิ้น เรียกว่าวงจรแห่งสารวัฏไม่มีทางสิ้นสุด ถ้าไม่บรรลุพระนิพพาน “จันทัน อกไก่” หมายถึง กิเลสน้อยใหญ่อื่นๆ ส่วน “เรือนยอด” หมายถึง อวิชชา

พระพุทธองค์ทันทีที่ตรัสรู้ ก็ทรงเปล่งอุทานว่า บัดนี้ เราได้ทำลายกิเลสตัณหา พร้อมอวิชชาได้แล้ว ได้บรรลุพระนิพพานแล้ว
ส่วนในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ ได้กล่าวว่าหลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาท/อิทัปปัจจยตา ทั้งโดยอนุโลม (ตามลำดับ) และปฏิโลม (ย้อนลำดับ) ทั้งฝ่ายเกิดทุกข์ และฝ่ายดับทุกข์ ทรงเปล่งอุทาน ๓ บท ในปฐมยามบทหนึ่ง มัชฌิมยามบทหนึ่ง และปัจฉิมยามบทหนึ่ง

ในปฐมยามทรงเปล่งอุทานว่า
(๑) ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺนา
อาตาปิโณ ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ
ในมัชฌิมยามทรงเปล่งอุทานว่า
(๒) ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโณ ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ
ในปัจฉิมยามทรงเปล่งอุทานว่า
(๓) ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ
สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขํ
     แปลว่า
(๑)เมื่อใดธรรมทั้งหลาย (สิ่ง) ทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรพินิจอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงย่อมหมดไป เพราะรู้ความดับสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย
(๒)เมื่อใดธรรม (สิ่ง)ทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรพินิจอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงย่อมหมดไป  เพราะรู้ความดับสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย
(๓)เมื่อใดธรรมทั้งหลาย (สิ่ง) ทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรพินิจอยู่ เมื่อนั้นเขาย่อมขจัดมารและเสนามารดำรงอยู่ ดุจพระอาทิตย์อุทัยขจัดความมืด ยังท้องฟ้าให้สว่างไสวฉะนั้น

ถ้าปุจฉาว่า ระหว่างอุทานบทแรก (อเนกชาติสํสารํ...) กับอีก ๓ บท (ยทา หเว...) บทไหนเป็นบทแรกที่พระพุทธองค์เปล่งหลังตรัสรู้ ก็เห็นจะวิสัชนาว่า ไม่ทราบครับ
ก็เห็นจะมีแต่เณรน้อยอิกคิวซังเท่านั้นที่จะตอบได้.


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๖) พระอุทานแรกที่ทรงเปล่งหลังตรัสรู้ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๖ ประจำวันที่ ๒๙ กรกฎาคม - ๔ สิงหาคม ๒๕๕๙


http://www.bloggang.com/data/v/vinitsiri/picture/1291465914.jpg
สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๗)
บุคคลแรกที่พระพุทธเจ้าพบเมื่อเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์


ตามหลักฐานในพระไตรปิฎกบอกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยจะไปโปรดเวไนยสัตว์นั้น ทรงนึกถึงดาบสผู้เป็นอาจารย์ทั้งสอง คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร กับอุททกดาบส รามบุตร แต่ท่านทั้งสองสิ้นชีวิตไปก่อนหน้านั้น ๗ วัน จึงทรงตั้งพระทัยจะไปเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ ศิษย์เก่าที่เคยอุปัฏฐากดูแลพระองค์ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา

จึงเสด็จพุทธดำเนินมุ่งหน้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบันคือสารนาถ) ซึ่งอยู่ในเขตเมืองพาราณสี ระยะทางห่างจากพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ประมาณ ๒๓๐ กว่ากิโลเมตร

ระหว่างทางทรงพบอาชีวก (นักบวชประเภทหนึ่ง) นามว่า อุปกะ อุปกะเห็นบุคลิกอันสง่างามของพุทธองค์ ก็ประทับใจ ใคร่จะรู้ว่าเป็นใคร จึงทูลถามว่าท่านเป็นใคร ท่านบวชเจาะจงใจ ใครเป็นอาจารย์ของท่าน

พระพุทธเจ้าตรัสตอบอุปกะเป็น “คาถา” คือบทกวีว่า
“เราเอาชนะสรรพสิ่ง เรารู้สรรพสิ่ง ไม่ติดอยู่ในสิ่งทั้งปวง
ละกิเลสทุกอย่าง หลุดพ้นเพราะหมดตัณหา
เมื่อเราตรัสรู้เองแล้ว ควรจะอ้างใครว่าเป็นอาจารย์เล่า”

อุปกะได้ยินดังนั้น ก็กล่าวต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็เป็นอนันตชินะ สิ” อนันตชินะ ของอุปกะนี้แปลว่า “ผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด” คงเป็นคำที่รู้กันดีในสมัยนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า “เป็นเช่นนั้น”

อุปกะจึงสั่นศีรษะ กล่าวว่า “หุเวยฺยาวุโส” แล้วก็หลีกทางไป

ที่ยกคำพูดของอุปกะมา ยังไม่แปล ก็เพราะคำพูดประโยคนี้เป็น “รหัส” ไขข้อข้องใจว่า อุปกะเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ รายละเอียดเป็นจะไดเดี๋ยวได้รู้เอง ตามผมมาก็แล้วกัน

ผู้แต่งพุทธประวัติในยุคต่อมามักจะพูดเหมือนกันว่า อุปกะ ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า จึงสั่นศีรษะ บางฉบับเพื่อให้เห็นว่าไม่เชื่อมากขึ้น กล่าวว่า นอกจากสั่นศีรษะแล้ว อุปกะแกแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกด้วย

ผมว่าตรงนี้ เราตีความผิด เพราะเราเอาวัฒนธรรมไทยไปตัดสินวัฒนธรรมอินเดีย จริงอยู่วัฒนธรรมไทยเรามีอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย แต่ในเรื่องสั่นศีรษะนี้แขกกับไทยถือไม่เหมือนกัน

ไทยสั่นศีรษะ แสดงว่าปฏิเสธ แต่แขกสั่นศีรษะแปลว่าเขายอมรับครับ

อ้าว ถ้าไม่เชื่อผม ไปคุยกับชาวอินตะระเดียดูสิครับ ไม่ต้องไปถึงอินเดียก็ได้ แถวๆ พาหุรัดก็ได้ ลองไปต่อราคาผ้าเขาแล้วลองสังเกตดู ถ้าเขาสั่นศีรษะด๊อกแด๊กๆ ก็สบายใจได้ว่าตกลงครับ

นอกจากตัดสินจากวัฒนธรรม ยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกอย่างหนึ่ง คือ คำพูดของอุปกะเองนั้นแหละบ่งชี้ข้อนี้ด้วย คือแกพูดว่า หุเวยฺยาวุโส (หุเวยฺย-อาวุโส) แปลตามตัวอักษรว่า “ดูก่อนผู้มีอายุ คำที่ท่านพูดนั้นพึงมีพึงเป็นได้” แปลความง่ายๆ ว่า “คุณ ที่ท่านพูดนั้นเป็นไปได้” น้ำเสียงของอุปกะแสดงว่าแกเชื่อพระพุทธเจ้าเกิน ๗๐ เปอร์เซ็นต์แล้วครับ

เพราะเหตุนี้ฝรั่งจึงแปลว่า “I see” เวลาเราไอซีกับใครแสดงว่าเราเห็นด้วย

ผมเป็นคนขี้สงสัย เมื่อสงสัยอะไรแล้วก็ไม่อยากให้ค้างคาอยู่เช่นนั้น อยากรู้ว่าหลังจากพบพระพุทธเจ้าแล้วแกไปไหน ก็ได้ทราบจากอรรถกถาว่า อุปกะแกไปยังหมู่บ้านนายพรานริมน้ำแห่งหนึ่ง (หมู่บ้านริมน้ำน่าจะเป็นหมู่บ้านชาวประมง แต่เขาบอกว่าหมู่บ้านนายพรานล่าเนื้อจริงๆ) หัวหน้าหมู่บ้านเลื่อมใสจึงนิมนต์ให้อยู่ที่นั่น แล้วก็นำอาหารบิณฑบาตไปถวายทุกวัน วันไหนไม่ว่างก็ให้จาปาลูกสาวของตนไปส่ง

เด็กหญิงจาปาก็ทำหน้าที่นำอาหารไปถวายหลวงพ่อเป็นประจำ แรกๆ ก็ไม่มีอะไร แต่พอนานเข้าหลวงพ่อก็เปลี่ยนไป มองดูสีกาวัยรุ่นแล้วก็หลงรัก พยายามปลงอนิจจัง ยุบหนอ พองหนอ อย่างไรก็ไม่ไหว เพราะกามเทพซุกซนแผลงศรปักอกหลวงพ่อดังฉึก

วันหนึ่งหลวงพ่อไม่ยอมฉันอาหาร เอาแต่นอนคลุมโปง ครางฮือๆ อยู่  จาปาไปรายงานให้พ่อทราบ หลวงพ่อเป็นอะไรไม่รู้ ข้าวปลาไม่ฉัน เอาแต่ครางฮือๆ

พ่อรู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น จึงรีบไปหา จับเข่าถามตรงๆ ว่า เป็นอะไรไปท่าน ข้าวปลาไม่ยอมฉัน  อุปกะจึงบอกว่าอาตมาคงจะบวชต่อไปไม่ไหวแล้วละ เพราะหลงรักลูกสาวโยม

นายพรานบอกว่า ถ้ารักจริงก็สึกมาสิ เห็นว่าได้รับอนุญาตแล้ว อุปกะจึงสึกออกมาแต่งงานกับลูกสาวนายพราน พ่อตาใหม่ๆ หมาดๆ ถามว่า “ท่านได้เรียนศิลปะวิทยาอะไรบ้าง”

อุปกะตอบว่า ไม่เรียนอะไรเลย มัวแต่บวชอยู่  “อ้าว แล้วจะเอาอะไรทำมาหาเลี้ยงชีพ” พ่อตาร้อง เมื่อเห็นลูกเขยหน้าเจี๋ยมเจี้ยม จึงบอกว่า “ไม่เป็นไร ถ้าเช่นนั้นมาช่วยข้าก็แล้วกัน” ตั้งแต่นั้น เมื่อนายพรานล่าเนื้อได้ แล่เนื้อแล้ว อุปกะก็จะหาบเนื้อนั้นตามพ่อตาไปขายนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว จนกระทั่งมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ สุภัททะ

เวลาเนิ่นนานไป ระยะข้าวใหม่ปลามันหมดไป สองสามีภรรยามักระหองระแหงกันเสมอ เวลาเมียโมโหมาก็จะด่าลูกกระทบพ่อว่า “ไอ้ลูกฤๅษีขี้เกียจอย่างมึง...” ทำให้อุปกะสลดสังเวชใจ พลันก็นึกถึง “อนันตชินะ” ขึ้นมาได้ จึงลงเรือนไป ตั้งใจจะไปบวชเป็นสาวกของอนันตชินะ  ภรรยาพูดไล่หลังว่ามึงไปแล้วไม่ต้องกลับ

พอสามีไปไม่กลับจริง จึงตามไป พบสามีกำลังจะบวชอยู่พอดี ขอร้องให้กลับบ้าน อุปกะไม่ยอม นอกจากจะไม่กลับแล้วยังร่ายโศลกด่าภรรยา ลามไปถึงสตรีอื่นด้วย อย่างสาดเสียเทเสีย เรียกว่าฉุนขาด

ท้ายที่สุด อุปกะก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ส่วนจาปา เมื่อสามีไม่กลับ ก็ตัดสินใจไปยังสำนักภิกษุณีบวชเป็นภิกษุณีอีกคน

ถ้าดูตามนี้แสดงว่า อุปกะแกเชื่อพระพุทธเจ้าตั้งแต่ต้นแล้ว เมื่อมีความทุกข์ขึ้นมาก็ยังนึกถึงพระพุทธเจ้าจนกระทั่งตามมาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ด้วยประการฉะนี้แล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๗) บุคคลแรกที่พระพุทธเจ้าพบเมื่อเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๗ ประจำวันที่ ๕-๑๑ ๒๕๕๙




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๘)
พระธรรมเทศนากัณฑ์แรก


พระธรรมเทศนาครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลังตรัสรู้คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ อันมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ วันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะ (ตรงกับวันเพ็ญเดือนแปด) ซึ่งต่อมาได้กำหนดเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาขึ้นอีกวันหนึ่ง ชื่อว่า วันอาสาฬหบูชา

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลตามตัวอักษรว่า “พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อคือพระธรรม” เนื้อหาว่าด้วยอริยสัจสี่ประการที่พระองค์ได้ตรัสรู้  ก่อนจะพูดถึงเนื้อหาพระสูตร ขอ “แวะข้างทาง” สักเล็กน้อย

ความหมายของพระสูตรนี้ คงเลียนความหมายทางโลก คือเวลาพระเจ้าจักรพรรดิต้องการกฤษดาภินิหารจะยกกองทัพไปโจมตีเจ้าเมืองที่ไม่ยอมอ่อนข้อ ไม่สยบต่ออำนาจของตน ล้อรถศึกของพระมหาจักรพรรดิผู้เกรียงไกร หมุนไปทางทิศใด ยากที่จะมีใครต้านทานได้ อุปมาฉันใด เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศสัจธรรมสูงสุดที่ได้ตรัสรู้ ก็เท่ากับ “ทรงหมุนล้อธรรม” เพื่อปราบตัณหาอวิชชาออกจากจิตใจของเวไนยสัตว์ให้ราบคาบ “(ล้อแห่งสัจธรรม” นี้หมุนไปยังทิศทางใด จึงยากที่ใครๆ จะคัดค้าน หรือยับยั้งได้ อุปไมยก็ฉันนั้น)

เพราะฉะนั้น ตอนท้ายพระสูตร ผู้บันทึกจึงกล่าวว่า “เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมุนกงล้อคือพระธรรมแล้ว ไม่มีใครๆ ในโลก สามารถยับยั้งได้ ไม่ว่าจะเป็น สมณะ พราหมณ์ มาร เทพ พรหม”

เนื้อหาของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แบ่งได้แบ่ง ๕ ตอน คือ

ตอนที่ ๑ พูดถึงทางที่ไม่พึงดำเนิน หรือข้อปฏิบัติที่ไม่พึงทำ ๒ ทาง คือ ความติดอยู่ในความสุขทางเนื้อหนังมังสา เพราะ “เป็นของต่ำ เป็นกิจกรรมของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์”

ทางนี้เรียกตามศัพท์ว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” ถือว่าเป็นทางสายที่หย่อนเกินไป

อีกทางหนึ่งคือ การทรมานตนด้วยตบะวิธีต่างๆ ทางนี้เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” ถือเป็นทางที่ตึงเกินไป

ตอนที่ ๒ ทรงแสดง “ทางสายกลาง” ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป คืออริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ) เป็นที่สุด

ตอนที่ ๓ ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ คือ (ทุกข์ หรือ ปัญหาของชีวิต) สมุทัย (เงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ภาวะดับทุกข์ หรือภาวะหมดปัญหาโดยสิ้นเชิง) และมรรค (แนวทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือทางแก้ไขปัญหา)

ทรงอธิบายว่าพระองค์ตรัสรู้อริยสัจทั้งสี่ประการนี้ผ่านญาณ (การหยั่งรู้) ทั้ง ๓ ระดับ  คือ
(๑)ทรงรู้สภาพของปัญหา เหตุปัจจัยของปัญหา ภาวะหมดปัญหา และวิธีแก้ปัญหาคืออะไร อย่างไรบ้าง (สัจจญาณ=รู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น)
(๒)ทรงรู้ว่าควรจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนั้น (กิจจญาณ=รู้ว่าควรทำอย่างไร)
(๓)ทรงรู้ว่าเมื่อทรงทำตามนั้นแล้วเกิดผลอะไร (กตญาณ=รู้ว่าทำเสร็จสิ้นแล้ว)

ตอนที่ ๔ โกณทัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อทรงแสดงธรรมจบแล้ว อาจารย์ผู้รวบรวมพระสูตรกล่าวว่า โกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” คือ เข้าใจแจ่มแจ้งถึงธรรมชาติและธรรมดาของสรรพสิ่ง ว่ามีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับเป็นธรรมดา

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ” (อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญๆ) คำว่า “อัญญา” ในคำว่า “อญฺญาสิ” จึงกลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”

ตอนที่ ๕ เหล่าเทพร้องบอกต่อๆ กัน พวกเทพทั้งหลาย ตั้งแต่ภุมมเทวดา ได้ร้องบอกต่อๆ กันไป จนถึงหมู่พรหมว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนกงล้อคือพระธรรมอันประเสริฐ

ยากที่ใครๆ ไม่ว่าสมณะ พราหมณ์ มาร เทวดา พรหม จะสามารถยับยั้งได้

สรุปเนื้อหาของพระสูตรอีกที พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ครบวงจร จึงสามารถหลุดพ้นจากกิเลสได้ คือ
รู้ว่าความจริงคืออะไร (สัจจญาณ)
รู้ว่าควรจะจัดการกับมันอย่างไร (กิจจญาณ)
รู้ว่าเมื่อจัดการกับมันแล้วได้ผลอย่างไร (กตญาณ)

รู้อริยสัจ ๓ ขั้นตอนนี้ รวมเป็น ๑๒ (๓x๔=๑๒) เพราะเหตุฉะนี้ ท่านจึงกล่าวว่า “รู้อริยสัจสี่ อันมี ๓ รอบ ๑๒ อาการ” แล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๗) บุคคลแรกที่พระพุทธเจ้าพบเมื่อเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๗ ประจำวันที่ ๕-๑๑ ๒๕๕๙




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๙)
สาวกรูปแรก


หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตร อันว่าด้วยแนวทางที่ไม่พึงดำเนินและแนวทางที่พึงปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ แล้วต่อท้ายด้วยการอธิบายอริยสัจครบวงจรจบลง หัวหน้าปัญจวัคคีย์ คือ โกณฑัญญะ ก็ได้ “ดวงตาเห็นธรรม”

ดวงตาเห็นธรรม แปลมาจากบาลีว่า ธัมมจักขุ การที่โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ก็คือได้เกิดความรู้เห็นตามเป็นจริงซึ่งธรรมชาติและธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ว่ามีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีการดับสลายเป็นธรรมดา

พระบาลีตรงนี้ว่า ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ = สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีการดับไปเป็นธรรมดา

ความรู้เห็นอย่างนี้เป็นความรู้เห็นด้วย “ตาใน” มิใช่ด้วยตาเนื้อ ทางพระพุทธศาสนาบอกว่า เป็นความรู้ระดับโสดาปัตติผล ผู้รู้เห็นอย่างนี้เรียกว่าเป็น พระโสดาบัน พระอริยบุคคลระดับที่ ๑

พระอริยบุคคลมีระดับด้วยหรือ? บางท่านอาจคิดเช่นนี้ มีครับ มีถึง ๔ ระดับแน่ะ คือ (๑)พระโสดาบัน  (๒) พระสกทาคามี หรือสกิทาคามี  (๓) พระอนาคามี  และ (๔) พระอรหันต์

ระดับสุดท้ายนี้นับว่าสูงสุดยิ่งกว่าเหรียญทองโอลิมปิก อ่านว่า “พระ-อะ-ระ-หัน”  พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับปรับปรุงใหม่ให้อ่านว่า “ออ-ระ-หัน” พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับปรับปรุงใหม่ให้อ่านว่า “ออ-ระ-หัน” ได้ บังเอิญผมไม่เชื่อพจนานุกรม ผมไม่อ่านตาม กลัวคนจะเข้าใจว่า “พระอรหันต์” ไม่ต่างอะไรกับ “อรหัน” สัตว์ในนิยายชนิดหนึ่งมีลักษณะครึ่งนกครึ่งคน

อรหันต์ประเภท ด่าพ่อล่อแม่คน ท้าเตะปลายคางคนก็มีแล้วไม่อยากให้เลอะเทอะไปกว่านี้

หมายเหตุไว้ในแง่วิชาการว่า “ดวงตาเห็นธรรม” นั้น เป็นการรู้ความจริงระดับ พระอนาคามี ได้ด้วย พูดอีกนัยหนึ่งผู้มีดวงตาเห็นธรรม เป็นไปทั้งพระโสดาบันและพระอนาคามี

หลักฐานก็คือ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินจะไปโปรดชฎิลสามพี่น้องนั้น ทรงพบ “ภัททวัคคีย์” เด็กหนุ่มเจ้าสำราญ ๓๐ คน กำลังตามหาสตรีที่ “ยกเค้า” เครื่องประดับของพวกเขาไป ขณะไปแสวงหาความสำราญอยู่ในสวนแห่งหนึ่ง

พระพุทธองค์ตรัสเตือนว่า ให้แสวงหา “ตนเอง” ดีกว่าแสวงหาสตรี

เมื่อพวกเขาได้ฟังธรรมเทศนาจากพระองค์แล้วก็ได้ “ดวงตาเห็นธรรม” แล้วทูลขอบวช

ตรงนี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า พวกภัททวัคคีย์ ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

เรื่องมันเป็นเช่นนี้แหละครับท่าน ผมจึงสรุปว่า “ดวงตาเห็นธรรม” มีทั้งระดับพระโสดาบันและระดับพระอนาคามี

กล่าวถึง ท่านโกณฑัญญะ เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสเปล่งพระอุทานว่า อญฺญา สิ วต โภ โกณฺฑญฺโญๆ = โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ

จากนั้นโกณฑัญญะก็ได้ทูลขอบวช พระพุทธองค์ก็ประทานการบวชที่เรียกว่า “เอหิภิกขุ อุปสัมปทา” ให้ พิธีกรรมไม่มี เพียงตรัสสั้นๆ ว่า “เอ หิ ภิกฺขุ = จงมาเป็นภิกษุเพื่อทำที่สิ้นสุดทุกข์เถิด” (ตรงนี้ถ้าผู้ขอบวชเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ต้องมีคำว่า “เพื่อทำที่สุดทุกข์” พระโสดาบันอย่างพระโกณฑัญญะ ยังไม่หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง จึงตรัสอย่างนี้)

ท่านโกณฑัญญะ จึงนับได้ว่าบวชเป็นพระสาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา คำว่า “อัญญา” ในคำว่า “อญฺญาสิ” ได้กลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อของท่าน ท่านจึงปรากฏนามว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” แต่บัดนั้นมา

การเกิดพระสาวกขึ้นครั้งแรก ทำให้เกิดพระรัตนตรัยครบ ก่อนหน้านี้มีเพียงพระพุทธเจ้าและพระธรรม เมื่อเกิดพระสงฆ์ขึ้น จึงเป็นพระรัตนตรัยครบด้วน

วันนี้จึงเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา คือเป็นกำเนิดแห่งวันอาสาหบูชาขึ้น ดังที่ชาวพุทธทราบกันดี

ที่คิดว่าทราบกันไม่ค่อยจะดีคือคำอ่าน  อ่านว่า”อา-สาน-หะ-บู-ชา” ไม่ใช่ “อา-สา-ละ-หะ-บู-ชา”ชา”


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๙) สาวกรูปแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๗๙ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๙


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๐)
อุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา มีอุบาสกอุบาสิกา ๒ คู่

คู่หนึ่งเป็นอุบาสกล้วน ถึงรัตนะ ๒ คือ พระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ

คู่ที่สองเป็นอุบาสกกับอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

ขอเล่าโดยย่อดังนี้

(๑) ผู้ถึงรัตนะสองคู่แรก
อุบาสกคู่นี้มีนามว่าตปุสสะ กับ ภัลลิกะ ว่ากันว่าเธอทั้งสองมาจากอุกกลชนบท (หรืออุกกลาชนบท) อยู่แห่งหนตำบลใดไม่แจ้ง แต่น่าจะจากภาคเหนือของชมพูทวีปแถวตักสิลาโน่นแหละครับ

ทั้งสองคนนี้เป็นพ่อค้าเดินทางมาค้าขายผ่านมาทางตำบลคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้พบพระพุทธเจ้าขณะประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) ในสัปดาห์ที่ ๔ หลังจากตรัสรู้ (หลักฐานฝ่ายอรรถกถาว่าเป็นสัปดาห์ที่ ๗)

เมื่อเห็นพระพุทธองค์ก็มีจิตเลื่อมใส ได้น้อมนำเอา “ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง” (ความจริงต้องพูดสับลำดับเป็น “สัตตุผง สัตตุก้อน”) ไปถวาย ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร ร้อนถึงท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ได้น้อมนำบาตรมาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์ดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบ ประสานเป็นใบเดียว ทรงรับข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนจากพ่อค้าทั้งสอง เสวยเสร็จแล้วก็ประทานอนุโมทนา

สัตตุผงนั้นบาลีเรียกว่า “มันถะ” คือข้าวตากที่ตำละเอียด สัตตุก้อนบาลีเรียกว่า “มธุบิณฑิกะ” คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อน

พ่อค้าทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ ไม่ได้เปล่งวาจาถึงพระสงฆ์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์  ทั้งสองจึงเรียกว่าอุบาสกผู้ถึงรัตนะสองเป็นสรณะ เทววาจิกอุบาสก)

ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดเพียงว่า เมื่อถวายสัตตุผง สัตตุก้อน แด่พระพุทธเจ้าแล้ว พ่อค้าทั้งสองก็กลับมาตุภูมิเรื่องจบแค่นี้ครับ  แค่นี้จริงๆ แต่พี่หม่องไม่ยอมให้จบ ได้แต่งต่อว่าพ่อค้าทั้งสองก่อนจะกลับได้กราบทูลขอของที่ระลึกเพื่อไปสักการบูชาเมื่อจากพระพุทธองค์ไป พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร เส้นพระเกศา ๘ องค์หลุดติดพระหัตถ์มา พระพุทธองค์ประทานให้พ่อค้าทั้งสอง

พ่อค้าทั้งสองได้นำพระเกศาธาตุ ๘ องค์นั้นไปก่อเจดีย์บรรจุไว้บูชาที่บ้านเมืองของตน พระเจดีย์นั้นรู้จักกันในปัจจุบันนี้ว่า ชเวดากอง

ตปุสสะกับภัลลิกะจะเป็นใครไม่ได้นอกจากชาวพม่าหงสาวดี พี่หม่องอ้างปานนั้นแหละครับ ส่วนท่านจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่จะพิจารณา

การแต่งตำนานเพิ่มเติมจากต้นฉบับเดิมทำกันทั่วไป พี่ไทยเราก็แต่งเติมครับ อย่างเรื่องนาคแปลงกายเป็นคนมาบวช ภายหลังความลับเปิดเผยขึ้น พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้ลาสิกขา แล้วบัญญัติข้อห้ามว่าสัตว์เดียรัจฉานห้ามบวชเป็นภิกษุ ถึงกับมีคำซักถามตอนจะบวชว่า “มนุสฺโสสิ = เจ้าเป็นมนุษย์หรือไม่”

เรื่องเดิมมีแค่นี้ แต่พี่ไทยแต่งเพิ่มว่า นาคแกเสียอกเสียใจมากที่ไม่มีวาสนาบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา จึงกราบขอพรพระพุทธองค์ขอฝากชื่อไว้ในพระพุทธศาสนา ต่อไปใครจะมาบวชขอให้เรียกว่า “นาค” เถิด พระพุทธองค์ก็ทรงรับ

เพราะเหตุนี้แล ผู้จะเข้ามาบวชจึงเรียกว่า นาค และการบวชเรียกว่าบวชนาค มิใช่บวช นาย ก. นาย ข. เห็นหรือยังครับพี่ไทยก็ “ตัดต่อ” เก่งไม่แพ้พี่หม่องเหมือนกัน

ดีเท่าไรแล้วที่ไม่แย่งเอาตปุสสะ ภัลลิกะมาเป็นคนไทย เพราะฟังชื่อแล้วน่าจะใกล้มาทางไทยมากกว่าพม่า

ตปุสสะ ก็ “ตาบุตร” ภัลลิกะ ก็ “ตาพัน” ยังไงละครับ

(๒) ผู้ถึงพระรัตนตรัยคู่แรก
บิดามารดาของยสกุมาร บิดาชื่อเรียงเสียงใดไม่แจ้ง บอกแต่ว่าเป็นเศรษฐีเมืองพาราณสี ส่วนมารดานั้น แม้พระไตรปิฎกจะไม่เอ่ยนาม แต่อรรถกถาก็โยงว่าคือนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระบรมโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้นั้นแล (ดังได้เล่าไว้แล้วในตอนที่ ๓)

เมื่อยสกุมารผู้บุตร เกิดเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส มองเห็นแต่ความทุกข์ที่รุมเร้าจิตใจ จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านกลางดึก หลังจากตื่นขึ้นมาเห็นภาพอันน่าสังเวชของเหล่านางรำที่นอนหลับใหล แสดง “ทัศนะอุจาด” ต่างๆ เช่น บางนางก็นอนกรนเสียงดัง น้ำลายไหลจากปาก บางนางก็กัดฟัน ละเมอฟังไม่ได้ศัพท์ บางนางก็ผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเปิดอวัยวะที่ควรปิด เป็นต้น

ถ้าสมัยที่ยสกุมารยังสนุกอยู่กับความสุขทางกาม ก็คงเห็นภาพเหล่านั้นน่าดูน่าชม แต่บังเอิญว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ยสกุมารเอือมกับความสุขทางเนื้อหนังมังสาเสียแล้ว ภาพเหล่านี้จึงปรากฏต่อเธอดุจซากศพในป่าช้า

จึงเดินลงเรือนไป พลางเปล่งอุทานด้วยความสลดใจว่า “อุปทฺทูตํ วต โภ อุปสฏฐ” สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” ถ้าจะแปลให้ถึงใจก็ต้องว่า “วุ่นวายจริงโว้ย กลุ้มจริงโว้ย” ประมาณนั้น

เขาเดินบ่นไปจนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะพระพุทธองค์เสด็จจงกรมอยู่ พระองค์ตรัสตอบว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ ยสะ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง”  เขาจึงเข้าไปกราบพระบาท สดับพระเทศนาจนกระทั่งได้ดวงตาเห็นธรรมและทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ

บิดามารดาของยสกุมารตามหาบุตรมายังป่าอิสิปตนมฤคทายวันพบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมเทศนา ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่บิดามารดาของตนนั้น พระยสะนั่งอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์โดยต่างฝ่ายต่างก็มองไม่เห็นกัน ด้วยการบันดาลฤทธิ์ของพระพุทธองค์ เมื่อพระเทศนาจบลง พระยสะได้บรรลุพระอรหัต บิดามารดาได้ดวงตาเห็นธรรม

ทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต นับเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัย


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๐) อุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๐ ประจำวันที่ ๒๖ สิงหาคม- ๑ กันยายน ๒๕๕๙
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 พฤศจิกายน 2559 19:18:11 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 21 กันยายน 2559 15:13:43 »




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๑)
วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา


เมื่อพูดถึงวัดในพระพุทธศาสนา หลายท่านอาจนึกถึงวัดพระเชตวัน เพราะมีพูดถึงบ่อยในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่มิใช่วัดแรกดอกนะครับ วัดแรกสุดชื่อว่า วัดพระเวฬุวัน

เวฬุวัน แปลว่า ป่าไผ่ เป็นที่เสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์ มิใช่เฉพาะพระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ หากมีมาก่อนรัชกาลของพระองค์ด้วย นานเท่าใดไม่แจ้ง แต่มีประวัติน่าสน

ป่าไผ่นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “กลันทกนิวาปสถาน” สถานเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต หรือสถานเลี้ยงกระแต แสดงว่ามีกระแตมากมายในป่าไผ่นี้

แม่นแล้วครับ สมัยหนึ่ง พระราชาเมืองนี้พระองค์หนึ่ง กลับจากไปล่าเนื้อ มาบรรทมพักผ่อนอยู่ใต้กอไผ่ในป่านี้ ขณะม่อยหลับไป ก็พลันสะดุ้งตื่น เพราะเสียงกระแตร้องกันเจี๊ยวจ๊าวๆ

อสรพิษตัวหนึ่งเลื้อยผ่านมายังที่พระราชาบรรทมอยู่ พระองค์รอดจากถูกอสรพิษกัดเพราะฝูงกระแตช่วยปลุกให้ตื่นบรรทม ทรงสำนึกถึงบุญคุณของฝูงกระแต พระราชทานทรัพย์ตั้งเป็นกองทุนสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงกระแต

ตั้งแต่นั้นมาป่าไผ่นี้จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า “กลันทกนิวาปสถาน” ด้วยประการฉะนี้แล

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดชฎิลสามพี่น้องพร้อมทั้งบริวารจำนวนรวมทั้งสิ้น (รวมทั้งสามพี่น้องด้วย) ๑,๐๐๓ คน ให้เห็นความเหลวไหลของการบูชาไฟจนมีจิตเลื่อมใสทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์แล้วนั้น พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมข้าราชบริพารผู้นับถือชฎิลสามพี่น้อง ได้เสด็จมาเพื่อฟังธรรมจากอาจารย์ของพระองค์ ได้ทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ของพระองค์ปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์นั่งห้อมล้อมพระพุทธองค์อยู่

พระราชาและชาวเมืองต่างก็สงสัยว่าระหว่างสมณะหนุ่มท่าทางสง่างามนั่งอยู่ตรงกลาง กับอาจารย์ของพวกตน อันมีปูรณกัสสปะเป็นประมุขนั้นใครใหญ่กว่ากัน พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพระราชาและชาวเมือง จึงรับสั่งกับพระปูรณกัสสปะว่า เธอบำเพ็ญตบะทรมานตัวเองจนผ่ายผอมบูชาไฟตลอดกาลนาน บัดนี้เธอคิดอย่างไรจึงละทิ้งความเชื่อถือเดิมเสีย มาบวชเป็นสาวกของเราตถาคต พูดง่ายๆ ก็คือ ถือตบะเข้มงวดมานาน ทำไมตอนนี้เธอ “เปลี่ยนไป” ว่าอย่างนั้นเถิด

พระปูรณกัสสปะจึงห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบบังคมแทบพระยุคลบาทแล้วเหาะขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศระยะสูงเท่าลำตาล ประกาศว่าตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาของตน แล้วลงมากราบแทบพระยุคลบาทอีกครั้ง ทำให้ประชาชนอันมีพระพิมพิสารทรงเป็นประมุข หายสงสัยโดยสิ้นเชิง ต่างก็สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์

พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล ทรงประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระองค์จึงทรงมอบถวายป่าไผ่ดังกล่าวนี้ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

วัดพระเวฬุวัน จึงนับเป็นวัดแรกสุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาด้วยประการฉะนี้แล

มีเกร็ดเล่าขานกันมาว่า หลังจากถวายวัดแล้ว พระเจ้าพิมพิสารมิได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไป ตกกลางคืนมา พวกเปรตจึงมาปรากฏตัวขอส่วนบุญ พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นขึ้นมา รีบไปเฝ้าพระพุทธองค์แต่เช้าตรู่ กราบทูลเล่าเรื่องราวให้ทรงทราบ

พระพุทธองค์ตรัสว่า เปรตเหล่านั้นคือญาติของพระเจ้าพิมพิสารในชาติปางก่อน ทำบาปกรรมไว้ รอส่วนบุญที่ญาติจะอุทิศไปให้ แต่ไม่มีใครคิดถึง ครั้นทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารทรงทำบุญกุศล ถวายวัดแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์จึงพากันมาขอส่วนบุญ แต่พระองค์ก็มิได้อุทิศให้

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามว่าจะให้ทำอย่างไร พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้กรวดน้ำตั้งใจอุทิศ พระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวังแล้วทรงกรวดน้ำอุทิศให้พวกเปรตเหล่านั้น

คราวนี้พวกเขาพากันมาเป็นขบวนยาวเหยียด ขอบบุญขอบคุณเป็นการใหญ่ ว่าที่ทรงอุทิศส่วนบุญไปให้นั้น พวกเขาได้รับแล้ว “ขอบพระทัยฝ่าบาท” ตามสำนวนหนังกำลังภายใน ถ้าพูดเป็นฮินดูก็ว่า “พหุต ธันยวาท” (ขอบคุณมาก) ประมาณนั้น

พวกเปรตเหล่านี้ทำบาปกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน อยากทราบไหมครับ พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามพระพุทธองค์

พระองค์ตรัสเล่าให้ฟังว่า ในอดีตกาลยาวนานโน้น พระเจ้าพิมพิสารและเปรตพวกนี้เป็นชาวเมืองหนึ่งต่างก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พากันทำบุญเป็นการใหญ่ บางครั้งถึงกับแข่งขันกันถวายทานว่าใครถวายทานได้ประณีตกว่ากัน

วันหนึ่งขณะที่พวกเขาตระเตรียมภัตตาหารรอถวายพระอยู่ พระสงฆ์ยังมาไม่ถึง บางพวกก็เกิดหิวขึ้นมา หยิบฉวยเอาอาหารที่เตรียมจะถวายพระมากินก่อน ด้วยบาปกรรมนี้แหละพวกเขาจึงเกิดมาเป็นเปรตรับใช้กรรมตลอดเวลายาวนาน

ฟังเรื่องนี้แล้ว ขนลุกไหมครับท่าน คนโบราณนั้นเขากลัวบาปกรรมมากนะครับ ของที่จะใส่บาตรแม้ว่าจะใส่ไม่หมด หรือไม่ได้ใส่ เขาจะไม่เอามากิน จะพยายามตามไปถวายพระถึงวัด เพราะถือว่าตั้งใจจะถวายพระแล้ว เป็นของสงฆ์ไม่ควรเอามากิน

สมัยนี้หรือครับ อย่าว่าแต่แค่นี้เลย มากกว่านี้ก็ไม่กลัว ชนิดที่เรียกว่าแทบจะไม่มีหิริโอตตัปปะกันแล้วครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๑) วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๑ ประจำวันที่ ๒-๘ กันยายน ๒๕๕๙


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๒)
พระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรก

ถ้าถามว่าพระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาพระองค์แรกคือใคร

นักเรียนที่เรียนวิชาพระพุทธศาสนาคงตอบได้ว่าคือพระเจ้าพิมพิสาร  แต่ถ้าใครตอบไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน เพราะผู้ใหญ่ที่จบสูงกว่านักเรียนมัธยมก็มีมากมายที่ตอบไม่ได้

พระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีโอกาสพบพระพุทธเจ้าตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาผนวชใหม่ๆ เสด็จผ่านมายังเมืองราชคฤห์ ประทับอยู่ที่ปัณฑวบรรพต หลังจากได้ทรงสนทนากับพระพุทธองค์แล้ว ได้ชักชวนให้พระพุทธองค์สละเพศบรรพชิตมาครองราชย์ด้วยกัน โดยจะทรงแบ่งดินแดนให้กึ่งหนึ่ง

พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ตรัสว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสวงหาคือโมกษธรรม หาใช่ราชสมบัติไม่  

กษัตริย์หนุ่มกราบทูลว่า ถ้าทรงได้บรรลุสิ่งที่ทรงประสงค์แล้วขอให้เสด็จมาสอนเป็นคนแรก พระพุทธองค์ทรงรับ ด้วยเหตุนี้ เมื่อโปรดปัญจวัคคีย์ โปรดยสกุมารพร้อมสหายจนมีพระสาวก ๖๐ รูป ทรงส่งไปประกาศพระศาสนายังแคว้นต่างๆ แล้ว พระองค์จึงเสด็จพุทธดำเนินมุ่งตรงไปยังเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

จุดมุ่งหมายก็คือ ทรงต้องการจะเปลื้องปฏิญญาที่ประทานไว้แก่พระเจ้าพิมพิสารเมื่อครั้งนั้นนั่นเอง

เมื่อทรงพิจารณาว่า บุคคลที่พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองนับถืออยู่คือชฏิลสามพี่น้องพร้อมบริวาร พระองค์จึงเสด็จไปโปรดชฎิลสามพี่น้องก่อน เพราะว่า เมื่อชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารนับถือพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารพร้อมชาวเมืองก็จะนับถือตามโดยง่าย

หลังจากโปรดชฎิลสามพี่น้องแล้ว พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวัน (แปลกันว่าป่าตาลหนุ่ม ตาลหนุ่มก็คือตาลไม่แก่นั่นแล) นอกเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมประชาชนจำนวนมากได้ไปยังป่าตาลดังกล่าว ทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ของพระองค์สละเพศชฎิลหันมานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ นั่งแวดล้อม “สมณะหนุ่ม” รูปหนึ่งหน้าตาคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยรู้จักกันมาก่อน ก็ทรงสงสัยอยู่ครามครัน ว่าเกิดอะไรขึ้น อาจารย์ของพระองค์จึงได้เปลี่ยนไป

พระพุทธองค์ทรงทราบพระราชดำริของกษัตริย์หนุ่ม จึงหันไปตรัสถามพระปูรณกัสสปะหัวหน้าชฎิลทั้งหลายว่า “เธอเห็นอย่างไร จึงสละเพศชฎิลและการบูชาไฟที่ทำมาเป็นเวลานาน หันมานับถือพระพุทธศาสนา”

ปูรณกัสสปะกราบทูลว่า “ยัญทั้งหลายสรรเสริญรูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ล้วนแต่เป็นมลทิน ข้าพระองค์เห็นว่ามิใช่ทางแห่งความระงับกิเลส จึงละการเซ่นสรวงบูชา”

“ถ้าเช่นนั้น เธอยินดีอะไร เทวโลกหรือมนุษยโลก”
“ใจของข้าพระองค์ยินดีในการสิ้นกิเลสทั้งหลาย ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป”

พระเจ้าพิมพิสารและประชาชนได้ยินการโต้ตอบระหว่างพระพุทธเจ้าและปูรณกัสสปะ และเห็นอาจารย์ของพวกตนคุกเข่าประนมมือต่อพระพักตร์สมณะหนุ่มเช่นนั้น ก็หายสงสัย พลอยเลื่อมใสไปตามอาจารย์ของพวกตนด้วย

กษัตริย์หนุ่มก็พลอยรำลึกได้ว่า สมณะรูปนี้ก็คือผู้ที่ตนพบที่ปัณฑวบรรพตนั้นเอง บัดนี้ได้เป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แล้ว

หลังจากทรงสดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล นับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต อาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวังในวันรุ่งขึ้น

หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ถวายสวนไผ่เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาชื่อว่า “วัดเวฬุวัน” ดังที่ทราบกันดีแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารนี้มีพระมเหสีพระนามว่า โกศลเทวี หรือเวเทหิ ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้พระกนิษฐาของพระเจ้าพิมพิสารเป็นมเหสีเช่นกัน

แว่นแคว้นทั้งสองนี้จึงมีสัมพันธไมตรีกันอย่างแน่นแฟ้น

ทั้งนี้พระเจ้าปเสนทิโกศล และพระเจ้าพิมพิสารต่างก็ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันจนตลอดรัชกาล

มีเรื่องน่าสนใจก็คือ พระเจ้าพิมพิสารทรงนำแนวคิดวิธี “ดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ” จากแคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวี มาใช้ในเมืองราชคฤห์ของพระองค์

โดยทรงสถาปนาตำแหน่งนาง “นครโสเภณี” ขึ้น

นางนครโสเภณีคนแรกชื่อ สาลวดี  สาลวดีมีบุตรชายด้วยความประมาทจึงสั่งให้สาวใช้เอาไปทิ้งไว้ข้างประตูวัง บังเอิญเจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสารทรงเก็บไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม

เด็กน้อยคนนี้ต่อมาได้จบการศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้เป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนักเมืองราชคฤห์ และได้ถวายตนเป็นนายแพทย์ถวายการอุปัฏฐากพระพุทธองค์ในเวลาต่อมา

พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชโอรสชื่อ อชาตศัตรู ผู้ซึ่งได้ทำ “ปิตุฆาต” เพราะหลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัต แม้อชาตศัตรูเองก็ถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ พระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ถูกพระราชโอรสของตนปลงพระชนม์เช่นกัน ว่ากันว่า ฆ่าติดต่อกัน ๗ ชั่วโคตรทีเดียว

ประชาชนทนเห็นพระราชวงศ์ปิตุฆาตต่อไปไม่ไหว จึงรวมตัวกันปฏิวัติ ล้มราชวงศ์โมริยะ สถาปนาราชวงศ์ใหม่สืบต่อมา


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๒) พระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๒ ประจำวันที่ ๙-๑๕ กันยายน ๒๕๕๙




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๓)
อุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรก


เอ่ยชื่อ อนาถบิณฑิกเศรษฐี กับ วิสาขามหาอุบาสิกา ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาส่วนมากจะรู้จัก เพราะทั้งสองท่านนี้ถูกเอ่ยถึงบ่อยในตำราเรียนพระพุทธศาสนา

บ่อยจนกระทั่งมีความรู้สึกว่าทั้งสองท่านคือบรรพบุรุษของไทยเราทีเดียว

อนาถบิณฑิกเศรษฐี นามเดิมว่า สุทัตตะ เป็นชาวเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล วันหนึ่งเดินทางทำธุรกิจที่เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ พักอยู่ที่บ้านของน้องเขย เห็นคนที่นั่นตระเตรียมสถานที่กันเอิกเกริก ยังกับจะมีงานรวมพล ยังไงยังงั้น จึงเอ่ยปากถามว่า มีงานเลี้ยงอะไรหรือ  ได้รับคำตอบว่า มิได้จัดงานเลี้ยงรับรองอะไร หากแต่พรุ่งนี้เช้าได้อัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหาร พร้อมภิกษุสงฆ์

สุทัตตะได้ยันดังนั้นก็ขนลุกด้วยปีติ บอกว่าอยากพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้องเขยบอกให้รอพรุ่งนี้เช้าก็ได้พบแน่นอน  แต่สุทัตตะรอไม่ไหว ตกดึกคืนนั้นจึงออกจากคฤหาสน์น้องเขยมุ่งหน้าไปยังสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า  ได้พบ และสดับพระธรรมเทศนาจากพระองค์จนบรรลุโสดาปัตติผล หลังจากขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น สุทัตตะกราบทูลเชิญเสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะทั้งหลายยินดีในสถานที่สงบสงัด”  สุทัตตะเข้าใจเอาเองว่าพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา

เมื่อกลับเมืองสาวัตถี จึงได้ไปเจรจาซื้อสวนเจ้าเชตเพื่อสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ เจ้าเชตไม่อยากขาย จึงโก่งราคาว่า เอากหาปณะมาปูลาดเต็มพื้นที่นั้นแหละคือราคาของสวนนี้ สุทัตตะจึงสั่งให้ขนกหาปณะจากคลังมาปูพื้นที่ได้ครึ่งหนึ่ง หมดเงินไป ๑๘ โกฏิ เจ้าเชตเห็นความตั้งใจจริงของสุทัตตะจึงยินยอมเอาแค่ ๑๘ โกฏิ ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งตนออกสมทบ ทั้งสองร่วมกันสร้างวัดสำเร็จ ได้ขนานนามเป็นอนุสรณ์เจ้าของสวนเดิมว่า “วัดพระเชตวัน”

สุทัตตะ เป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี บริจาคทานแก่คนยากคนจนและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์เป็นประจำ จึงถูกขนานนามว่า “อนาถบิณฑิกะ” แปลว่าผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถาเสมอ

ฝรั่งแปลว่า benefactor หรือ “เศรษฐีใจบุญ” นั่นเอง

คัมภีร์กล่าวว่า ท่านใจบุญสมชื่อ คราวหนึ่งการค้าขาดทุน ฐานะของท่านยากจนลง ท่านก็ยังถวายทานมากมายเหมือนเดิม ไม่ตัดทอนงบการทำบุญแต่อย่างใดจนเทวดาที่สิงอยู่ซุ้มประตูคฤหาสน์ทนไม่ได้มาปรากฏกายขอร้องให้ลดการถวายทานลงบ้าง เมื่อรู้ว่าเป็นเทวดาที่สิงอยู่ที่ซุ้มประตู เศรษฐีจึงตะเพิดไล่หนีไป ในที่สุดเทวดานั้นต้องมาขอขมา จะไม่ขัดใจท่านผู้มีอำนาจอีกแล้ว

อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีบุตรสาวสามคน ต่างก็ช่วยงานบุญงานกุศลของบิดาคนละไม้คนละมือยกเว้นบุตรชายคนโตที่เกเร เอาแต่เที่ยวเตร่หาความสุขสนุกตามประสาลูกคนมีเงิน ดีว่าไม่ไปหาเรื่องเหยียบตีนชาวบ้าน แต่เท่านั้นก็สร้างความหนักใจให้ผู้เป็นพ่อมากในช่วงแรกๆ

ต่อมาเศรษฐีคิดอุบาย “ดัด” สันดานลูกชายได้สำเร็จ คือจ้างลูกชายไปฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานลูกชายก็กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ดำเนินรอยบุญตามพ่อ

หมายเหตุ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเกเร ลองนำเทคนิควิธีของท่านอนาถบิณฑิกะมาใช้บ้าง บางทีอาจแก้ปัญหาได้บ้างกระมัง แต่ต้องจ้างไปฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรมะ ให้เรียนให้เก่งนะ อย่าคิดติดสินบนด้วยของเล่นหรือวัตถุแพงๆ

เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวัน นางวิสาขาก็คิดสร้างวัดบ้าง จึงได้สร้างวัด “บุพพาราม” ขึ้นทางทิศตะวันออกของเมือง เรื่องราวของนางวิสาขาน่าสนใจ ขอเล่าโดยสังเขปดังนี้

นางเป็นบุตรสาว ธนัญชัยเศรษฐี กับ นางสมุนา แห่งภัททิยนคร แคว้นอังคะ นางได้พบพระพุทธเจ้า ได้สดับพระธรรมเทศนาจนบรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่ยังเด็ก (ว่ากันว่า วัยแค่ ๗ ขวบเท่านั้นเอง) นางเป็นสาวงามแบบ “เบญจกัลยาณี” คืองามพร้อม ๕ ส่วน ได้แก่ ผมงาม, เนื้องาม, กระดูก (ฟัน) งาม, ผิวงาม และวัยงาม

นางได้แต่งงานกับบุตรชายเศรษฐีตระกูล “มิจฉาทิฐิ” (หมายถึงตระกูลที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา) แต่นางก็ปรนนิบัติสามีและบิดามารดาของสามีอย่างเคารพ ไม่ขาดตกบกพร่อง

แต่ถึงประพฤติตัวดีอย่างไรก็พลาดจนได้ วันหนึ่งขณะนางพัดวีบิดาสามีผู้รับประทานอาหารอยู่ พระภิกษุรูปหนึ่งอุ้มบาตรมายืนหน้าบ้าน ทำนองขอบิณฑบาต (สมัยพุทธกาลภิกษุมักจะไปยืนหน้าบ้านทายกทายิกาที่คาดว่ามีศรัทธาถวายอาหาร)

เศรษฐีเฒ่าเห็นพระแต่ทำเป็นไม่เห็น แถมหันข้างให้ รับประทานอาหารไป นางจึงเลี่ยงออกมา กระซิบกับภิกษุรูปนั้น ดังพอให้บิดาสามีได้ยินว่า “นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อดิฉันกำลังกินของเก่า”

พูดขาดคำก็ได้ยินเสียงถ้วยชามดังเพล้ง แม่นแล้ว เศรษฐีลุกขึ้นเตะเอง ด้วยความโมโหที่ลูกสะใภ้บังอาจด่าตนหาว่า “กินอุจจาระ” ออกปากไล่นางออกจากตระกูลของตน

พราหมณ์ ๘ คนที่บิดานางมอบให้ดูแลนางวิสาขา ได้ทำการสอบสวนเรื่องราว นางวิสาขาอธิบายว่า นางมิได้กล่าวหาบิดาสามีว่ากินอุจจาระดังเข้าใจ หากนางหมายถึงว่า บิดาสามีนางทำบุญแต่ปางก่อนไว้มากจึงมาเกิดเป็นเศรษฐีในชาตินี้ แต่มิได้สร้างบุญใหม่เพิ่มเลย ที่ว่าบิดาสามีนาง “กินของเก่า” หมายถึงกินบุญเก่า

พราหมณ์ทั้ง ๘ ตัดสินว่านางไม่มีความผิด เศรษฐีก็เข้าใจและให้อภัย ไม่ส่งนางกลับตระกูล แถมยังหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามนางอีกด้วย เศรษฐีนับถือลูกสะใภ้คนนี้ว่ามีบุญคุณต่อตนเป็นเสมือน “บิดาในทางธรรม” ของตน  ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาจึงมีสมญานามว่า “วิสาขาวิคารมาตา" (วิสาขามารดาแห่งมิคารเศรษฐี)

นางได้ขายเครื่องประดับราคาแพงของนางชื่อ “ลดาปสาธน์” ได้เงิน ๘ โกฏิ ๑ แสนกหาปณะ (ว่ากันว่าไม่มีใครซื้อ จึงควักเงินตัวเองซื้อ) และเพิ่มเงินอีก ๙ โกฏิ สร้างวัดบุพพารามถวายไว้ในพระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว

ทั้งอนาถบิณฑิกเศรษฐี และวิสาขามหาอุบาสิกา ต่างเป็นอุบาสกอุบาสิกาตัวอย่าง ว่ากันว่าทั้งสองท่านไม่เคยไปวัดมือเปล่าเลย ถ้าเป็นเวลาเช้าก็ถืออาหารไปถวายพระ ถ้าเป็นเวลาเย็นก็ถือดอกไม้ของหอมไปบูชาพระ จึงได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการถวายทาน

นี่คือเรื่องราวสังเขปของอุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรกในพระพุทธศาสนา


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๓) อุบาสกอุบาสิกาขวัญคู่แรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๓ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ กันยายน ๒๕๕๙
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 พฤศจิกายน 2559 19:54:39 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 16 พฤศจิกายน 2559 19:46:31 »




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๔)
การประชุมสงฆ์จำนวนมากที่สุดเป็นครั้งแรก

การประชุมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์นี้เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต (การประชุมใหญ่ อันประกอบด้วยองค์ ๔) มีขึ้นในวันเพ็ญเดือนสาม ต่อมาถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาเรียกว่า “วันมาฆบูชา”

คงต้องเท้าความสักเล็กน้อย หลังจากบวชให้ปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดให้บรรลุพระอรหัตทุกรูปแล้ว ทรงบวชให้ยสกุมารและสหายอีก ๕๕ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์หมดทุกรูป

เป็นอันว่าได้เกิดมีพระอรหันต์สาวกจำนวน ๖๐ รูปในเวลาอันรวดเร็ว

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามีจำนวนพอสมควรแล้ว จึงทรงส่งให้แยกย้ายกันไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังแคว้นต่างๆ

พระองค์เองเสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร  ระหว่างทางได้โปรดภัททวัคคีย์ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม  ประทานอุปสมบทให้ แล้วส่งไปเผยแผ่พระศาสนายังแว่นแคว้นต่างๆ ประทานอุปสมบทให้แก่ชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารหนึ่งพันและทรงแสดงธรรมให้ฟังจนได้บรรลุพระอรหัตแล้วประทับยับยั้งอยู่ที่เวฬุวัน ที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พระสาวกที่ไปประกาศพระศาสนายังถิ่นต่างๆ คงพากันมาเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ ทำนองมารายงานผลการปฏิบติงาน ประมาณนั้น กระจายอยู่รอบเมืองราชคฤห์ พระอัสสชิน้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ก็เช่นกัน ได้เดินทางมายังเมืองราชคฤห์เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า  วันหนึ่งขณะท่านเดินบิณฑบาตอยู่ อุปติสสมาณพเห็นเข้าประทับใจในบุคลิกอันงามสง่าสงบสำรวมของท่าน จึงเกิดความเลื่อมใส ใคร่จะสนทนาธรรมด้วย รอจนได้โอกาสแล้ว จึงเข้าไปไต่ถาม รู้ว่าท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง

พระอัสสชิกล่าว “หัวใจ” ของพระพุทธศาสนาคือคาถา เยธัมมาฯ สรุปใจความของอริยสัจสี่  

อุปติสสิได้ดวงตาเห็นธรรม ไปบอกโกลิตะสหายรักทราบ โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน ทั้งสองคนจึงพากันไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า อุปติสสะปรากฏนามภายหลังว่า พระสารีบุตร โกลิตะปรากฏนามว่า พระโมคคัลลานะ

คืนวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนสาม วันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหัตพอดี เกิดเหตุการณ์พิเศษขึ้น ๔ ประการในวันเดียวกันคือ
๑.พระภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันที่วัดพระเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย
๒.ท่านเหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุล้วน (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง)
๓.ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา
๔.วันนั้นเป็นวันพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะ ตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม

พระพุทธเจ้า ทรงเห็นเหตุการณ์ทั้ง ๔ อย่าง ปรากฏในวันเดียวกัน เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” (พระโอวาทอันเป็นหลักสำคัญ) ๑๓ ประการดังนี้
“การไม่ทำชั่วทั้งปวง
การทำความดีให้พร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง
พระนิพพาน พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า สูงสุด
ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ไม่นับว่าเป็นบรรพชิต
ผู้ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ไม่นับว่าเป็นสมณะ
การไม่ว่าร้ายเขา
การไม่เบียดเบียนเขา
การเคร่งครัดในระเบียบวินัย
การรู้จักประมาณในการบริโภค
การอยู่ในสถานสงบสงัด
และการฝึกจิตให้มีสมาธิอย่างสูงเสมอ
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

โอวาทปาติโมกข์นี้มีทั้งหมด ๑๓ หัวข้อ สรุปได้ ๔ ประเด็นคือ
๑.กล่าวถึงอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือพระนิพพาน
๒.กล่าวถึงหลักการทั่วไป คือไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำดีให้พร้อม และทำจิตให้ผ่องแผ้ว
๓.กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา คือจะต้องมีความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่เห็นแก่กิน อยู่ในสถานสงบสงัด ฝึกจิตอยู่เสมอ
๔.กล่าวถึงเทคนิควิธีการเผยแผ่ศาสนาคือ ไม่ว่าร้ายผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ใช้สันติวิธีในการเผยแผ่ รู้จักประสานประโยชน์

ดูตามเนื้อหาของโอวาทปาติโมกข์ น่าจะเป็นการปัจฉิมนิเทศแก่พระธรรมทูตรุ่นแรก และปฐมนิเทศแก่ชุดใหม่ที่จะส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามากกว่าอย่างอื่น

มากกว่าเหตุผลอื่นใดดังที่นักวิชาการบางท่านพยายามอธิบาย

คือมีนักวิชาการบางท่านตั้งคำถามเองและตอบเองเสร็จว่า ทำไมพระสาวกเป็นพันๆ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกันและจำเพาะเจาะจงมาประชุมกันในวันเพ็ญเดือนสามด้วย

ตอบว่า ท่านเหล่านั้นมาด้วยความเคยชิน เคยชินอะไร ก็ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพราหมณ์มาก่อน พราหมณ์นั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสามเขาจะมาชุมนุมทำพิธีกรรมทางศาสนาของเขา เรียกว่า วันศิวาราตรี  เมื่อท่านเหล่านั้น แม้จะมาบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อถึงวันเช่นนี้ก็รู้สึกเหงา เพราะเคยทำอะไรมาก่อน บังเอิญพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ใกล้ๆ นี้ด้วย จึงพากันมาเฝ้าด้วยความเคยชิน พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาสสำคัญจึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

พระสาวก ๑,๒๕๐ รูป มิได้เป็นพราหมณ์มาก่อนก็มี จะเอาความเคยชินอะไรมาเล่าครับ อีกอย่างพระอรหันต์ ขนาดกิเลสที่ละได้แสนยากท่านก็ละได้หมดไม่เหลือหลอ แล้วความเคยชินธรรมดาๆ ยังจะเหลืออยู่อีกหรือ การพูดว่าท่านพากันมาด้วยความเหงา ยิ่งไม่ควร อย่าว่าแต่มาพูดเลย แม้แต่คิดก็ไม่ควร

เดี๋ยวใครไม่รู้จะเข้าใจว่า วันมาฆบูชา ของชาวพุทธเกิดขึ้นเพราะอารมณ์เหงาของพระอรหันต์


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๔) การประชุมสงฆ์จำนวนมากที่สุดเป็นครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๔ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ กันยายน ๒๕๕๙




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๕)
ตำแหน่งที่ทรงแต่งตั้งครั้งแรก

มีคำในพระพุทธศาสนาเรียกว่า “เอตทัคคะ” (มาจาก เอต=นั้น บวก อัคคะ=เลิศ) แปลตามตัวอักษรว่า นั้นเป็นเลิศ หรือเลิศในทางนั้น ทางนั้นน่ะ ทางไหน ก็ทางที่ผู้นั้นเป็นเลิศทั้งนั้นแหละ

ตอบแบบนี้ ก็ไม่ได้ความกระจ่างแต่อย่างใด คือสมัยพุทธกาลในยุคต้นๆ ก็มิได้มีตำแหน่งแห่งที่อะไร เมื่อมีพระสาวกอรหันต์เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ละรูปก็มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกันไป

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า แต่ละท่านต่างก็มีความสามารถหรือความถนัดแตกต่างกัน ล้วนแต่เป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งนั้น

จึงทรงประกาศให้ทราบว่า พระสาวกรูปนั้นๆ เป็นผู้มีคุณสมบัติเลิศกว่าผู้อื่นในทางนั้นๆ ให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วไป

ในพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ได้ประมวลตำแหน่งเอตทัคคะที่ทรงประกาศแต่งตั้งทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หลายตำแหน่ง แต่เมื่อตรวจดูแล้วก็มีไม่ครบจำนวนเท่าที่เรารับทราบกัน

อย่างตำแหน่งพระเถระก็มีเพียง ๔๗ รูป (เท่าที่รับทราบกันมีถึง ๘๐ รูป เรียก อสีติมหาสาวก) เข้าใจว่า การประกาศแต่งตั้งคงมิได้ประกาศครั้งเดียว คงทยอยประกาศเป็นระยะๆ เมื่อมีบุคคลผู้มีคุณสมบัติพิเศษเกิดขึ้น

ตำแหน่งอัครสาวกเบื้องขวา-เบื้องซ้าย เข้าใจว่าคงทรงประกาศแต่งตั้งในยุคแรกๆ ที่ประกาศพระพุทธศาสนาที่แคว้นมคธ เพราะในช่วงแรกที่ประกาศพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงต้องการ “มือ” ช่วยทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

เมื่อเห็นท่านอุปติสสะกับโกลิตะเดินเข้าสำนักมา ยังมิทันได้รับการอุปสมบทเลย พระองค์ก็ทรงชี้ให้พระสงฆ์ดูพร้อมตรัสว่า “สองคนนั้นจะได้เป็นคู่แห่งอัครสาวกของเรา”

ขอเท้าความเรื่องที่เคยเขียนถึงมาหลายครั้งอีกครั้งหนึ่ง อย่าหาว่าเขียนแบบ “พูดติดอ่าง” เลยขอรับ เมื่ออุปติสสะกับโกลิตะ สองสหายเห็นความไร้สาระแห่งชีวิต อยากแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐเหมาะสำหรับชีวิตของตน ทั้งสองจึงพากันออกจากบ้านไปแสวงหาครูอาจารย์ที่จะช่วยบอกทางสว่างให้

แม้ว่าตอนหลังจะมาศึกษาปฏิบัติอยู่กับอาจารย์สัญชัย เวลัฏฐบุตร เจ้าลัทธิปรัชญาที่มีชื่อเสียง ก็รู้สึกว่ามิใช่แนวทางที่ตนต้องการ จึงแยกย้ายกันไปเพื่อแสวงหาอาจารย์ต่อ โดยสัญญากันว่าใครพบก่อนก็ให้มาบอกอีกฝ่ายหนึ่ง

เช้าวันหนึ่ง อุปติสสะมาณพได้พบพระอัสสชิ น้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ กำลังเดินบิณฑบาตอยู่ ประทับใจในความสงบสำรวมของท่าน คิดในใจว่า ท่านผู้นี้ต้อง “มีดี” แน่นอน จึงรีรอโอกาสจะเข้าไปสนทนา เห็นว่าท่านยังเดินภิกขาจารย์อยู่จึงมิกล้าเข้าไปสนทนา

ต่อเมื่อท่านเดินออกจากเมือง กำลังหาทำเลจะฉันอาหาร จึงเข้าไปสนทนาด้วย ขอร้องให้ท่านสอนธรรม

พระอัสสชิได้กล่าวคาถา “เยธัมมาฯ” อันแสดงถึงหัวใจแห่งอริยสัจสี่ให้ฟังแต่ย่อๆ

อุปติสสะได้ฟังก็เกิด “ดวงตาเห็นธรรม” รู้ว่าท่านอัสสชิเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดีใจอยากจะไปบวชเป็นสาวกของพระองค์บ้าง จึงรีบไปบอกแก่โกลิตะผู้สหาย กล่าวคาถานั้นให้โกลิตะฟัง โกลิตะก็ได้เกิด “ดวงตาเห็นธรรม” เช่นกัน

ทั้งสองจึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลขอบวช

ขณะนั้นพระพุทธองค์ประทับนั่งท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ทอดพระเนตรเห็นสองท่านกำลังเดินเข้าพระวิหารเวฬุวันมา จึงทรงชี้ไปที่ท่านทั้งสองพร้อมตรัสข้อความดังกล่าวมาแล้วข้างต้น คงไม่ต้องคิดว่า ทำไมพระพุทธองค์ตรัสว่าจะตั้งให้ท่านทั้งสองเป็นพระอัครสาวก เพราะทรงเห็นแก่หน้าหรือเพราะทรงมีพระเมตตาเป็นพิเศษหรืออะไร เหตุผลที่สำคัญก็คือพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าทั้งสองนั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะ
๑.ท่านทั้งสองเป็นพราหมณ์ผู้จบไตรเพทมาก่อน
๒.ท่านทั้งสองจบปรัชญาลัทธิ “อมราวิกเขปิกา” จาก อาจารย์สัญชัย เวลัฏฐบุตร ที่เน้นการโต้ตอบใช้วาทะหักล้างกัน และ
๓.ท่านทั้งสองเมื่อมาบวชในพระพุทธศาสนาได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ก็จะเป็นผู้มีคุณสมบัติประเภทที่เรียกว่า “รู้เขา-รู้เรา” เหมาะสมในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี

หลังจากท่านอุปติสสะและโกลิตะได้อุปสมบทแล้ว อุปติสสะได้นามเรียกขานในหมู่สงฆ์ว่า พระสารีบุตร โกลิตะได้นามว่า พระโมคคัลลานะ ๗ วันหลังจากอุปสมบท พระโมคคัลลานะได้บรรลุพระอรหัต ๑๔ วันหลังจากอุปสมบท พระสารีบุตรก็ได้บรรลุพระอรหัต

พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศแต่งตั้งทั้งสองท่านเป็นอัครสาวกขวาซ้าย โดยพระสารีบุตรเป็นเอตทัคคะ (เลิศกว่าผู้อื่น) ทางด้านมีปัญญามาก เป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเป็นเอตทัคคะทางด้านมีฤทธิ์มากเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย

พระบาลีใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต มีว่าดังนี้ “เอตทคฺคํ ภิกฺขเว มม สาวกานํ ภิกฺขุนํ มหาปญฺญานํ ยทิทํ สารีปุตฺโต อิทฺธิมนฺตานํ ยทิทํ มหโมคคลฺลาโน ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเรา ผู้มีปัญญามาก สารีบุตรเป็นเลิศ บรรดาภิกษุสาวกของเรา ผู้มีฤทธิ์ มหาโมคัลลานะเป็นเลิศ”

ตำแหน่งอัครสาวกเบื้องขวาเบื้องซ้าย เข้าใจว่าเป็นตำแหน่งแรกที่พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้ง


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๕) ตำแหน่งที่ทรงแต่งตั้งครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๕ ประจำวันที่ ๓๐ กันยายน - ๖ ตุลาคม ๒๕๕๙




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๖)
สามเณรรูปแรก


เป็นที่รู้กันว่า สามเณรรูปแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือ ราหุล พระราชโอรสเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลาต่อมา

เรื่องราวของสามเณรราหุล มีบางอย่างที่น่าสังเกต บางอย่างอะไรบ้าง ขอพูดไว้ตอนท้าย  ตอนนี้ขอเล่าความเป็นมาก่อน

ว่ากันว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชหลังจากราหุลกุมารประสูติใหม่ๆ พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรรวมทั้งทรงทำทุกรกิริยา เป็นเวลา ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้ เมื่อทรงประกาศพระพุทธศาสนา  วางรากฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธแล้ว ไม่นานก็เสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระยุรญาติ ในการเสด็จครั้งนี้ ราหุลกุมารถูกพระมารดาสั่งให้ไปทูลขอ “ทายัชชะ” กับพระพุทธเจ้า ขณะเสด็จออก “โปรดสัตว์” ในเมืองกบิลพัสดุ์ (นี้เป็นภาษาพระ หมายถึงออกบิณฑบาต) ราหุลน้อยในเรื่องนี้ ไม่ค่อยประสีประสานัก ได้ร้องขอว่า "สมณะ ขอทายัชชะ  สมณะ ขอทายัชชะ"

โดยตามเสด็จพระพุทธองค์ต้อยๆ ออกจากเมืองไปจนถึงป่าไทร (นิโครธาราม) นอกเมืองอันเป็นสถานที่ประทับชั่วคราว

คะเนว่าราหุลน้อยอายุไม่เกิน ๗-๘ ขวบ แล้ว “ทายัชชะ” ที่ว่านี้ครูบาอาจารย์สอนว่าหมายถึง “ขุมทรัพย์” เพราะขุมทรัพย์เกิดมาเพื่อผู้มีบุญญาธิการนั้น ถ้าเจ้าของไม่อยู่แล้ว ก็จะจมลงดินไม่มีใครสามารถเอาไปใช้ได้ ว่าอย่างนั้นสำนวนหนึ่ง

อีกสำนวนหนึ่งว่า “ทายัชชะ” แปลว่า ความเป็นทายาท ราหุลน้อยขอความเป็นทายาท หมายความว่า เจ้าชายสิทธัตถะนั้นทรงเป็นรัชทายาทที่จะสืบราชสมบัติแทนพระเจ้าสุทโธทนะอยู่แล้ว  เมื่อพระองค์เสด็จออกผนวช แม้ว่าจะแสดงให้โลกรู้ว่าทรงละโลกียวิสัยแล้ว แต่ก็ยังไม่ถือว่าสละเด็ดขาด อย่างน้อยพระเจ้าสุทโธทนะแหละที่ไม่อยากให้พระราชโอรสของพระองค์ทิ้งราชบัลลังก์ ดังจะเห็นว่าไม่ทรงตั้งใครเป็นรัชทายาทสืบแทน และ (จากข้อความแวดล้อมในคัมภีร์เถรวาท และข้อมูลจากฝ่ายมหายาน) มีความพยายามให้คนไปทูลเชิญเสด็จกลับพระนครหลายครั้ง

ขณะทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ พระนางยโสธราพิมพา ก็อยากให้ทุกอย่าง “ชัดเจน” จึงทรงส่งพระโอรสตามไปขอให้พระพุทธองค์ “ทรงมอบความเป็นทายาท” ให้แก่พระโอรสของพระองค์ อะไรประมาณนั้น

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ทรัพย์ ภายนอกไม่ปลอดภัย อาจพิบัติฉิบหายไปเพราะโจรภัย อัคคีภัย ราชภัย เป็นต้น  แต่ทรัพย์ภายในอันเป็นทรัพย์ประเสริฐ ไม่มีทางสูญหายไป จึงรับสั่งให้พระสารีบุตร อัครสาวกบวชให้ราหุลกุมาร

พระสารีบุตรทูลถามว่า จะให้บวชแบบไหน  พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้รับไตรสรณคมน์ก็พอ

ตรงนี้หมายถึง การกล่าววาจาถึงพระรัตนตรัยสามครั้งว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ  ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ  สังฆัง สรณัง คัจฉามิ  ทุติยัมปิ พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง สรณัง คัจฉามิ  ตติยัมปิ พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์แล้ว กล่าวสมาทานศีล ๑๐ ก็เป็นสามเณรโดยสมบูรณ์

พระสารีบุตรจึงบวชให้ราหุลกุมารตามพุทธบัญชา ราหุลกุมาร จึงเป็นสามเณรรูปแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ว่ากันว่า พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัยมากที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ราหุลกุมาร เพราะหลังจากพระราชโอรสเสด็จออกผนวชแล้วก็ทรงหวังไว้ว่าพระราชนัดดานี้แลจะได้สืบราชสมบัติแทน เมื่อบวชเสียแล้วก็ไม่มีผู้สืบราชบัลลังก์ จึงเสด็จไปขอพรว่า ต่อไปภายหน้า ใครจะบวชขอให้เขาผู้นั้นได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน

พระพุทธองค์ก็ประทานอนุญาตตามนั้น

ข้อที่น่าสังเกต (พร้อมด้วยเครื่องหมายคำถาม) ก็คือ การบวชราหุลกุมาร คงเป็นระยะต้นๆ แห่งการประกาศพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ยังคงประทานอุปสมบทด้วยวิธี “เอหิภิกขุ” ด้วยพระองค์เองอยู่ แต่การซักถามว่าผู้บวชได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือยังเป็นตอนที่ทรงมอบภาระการบวชให้อยู่ในความรับผิดชอบของพระสงฆ์แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาหลังจากนั้นพอสมควร

ในพิธีอุปสมบทต่อมา จึงมีการซักถามจากพระคู่สวดว่า อนุญญาโตสิ มาตาปิตูหิ = เธอได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้วหรือ นาคหรือผู้จะบวชจะต้องตอบว่า อามะ ภันเต = อนุญาตแล้วของรับ

ปัจจุบันนี้ เพิ่มภรรยาด้วย ภรรยาต้องอนุญาตด้วย หาไม่เดี๋ยวโบสถ์อาจพังเอาง่ายๆ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๖) สามเณรรูปแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๖ ประจำวันที่ ๗ -๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๗)
ภิกษุณีรูปแรก

ในช่วงต้นๆ ไม่มีภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นหลังจากพระนางมหาปชาบดีโคตมี บวช  เพราะฉะนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีจึงเป็นภิกษุณีสงฆ์รูปแรก

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์ (ครั้งที่เท่าไร ลืมตรวจสอบ) รู้แต่ว่าเจ้าชายในศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ อาทิ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายมหานาม และเจ้าชายเทวทัต ได้ออกบวชเป็นสาวกพระพุทธองค์แล้ว ช่วงนั้นมีวัดพระเชตวันในเมืองสาวัตถี แล้ว

พระนางมหาปชาบดีโคตมี อยากบวชเหมือนเจ้าชายทั้งหลายบ้าง แต่ถูกพระองค์ปฏิเสธ เมื่อพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์เสด็จกลับจากนครกบิลพัสดุ์ ไปประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระนางมหาปชาบดีโคตมี พร้อมเหล่าสากิยานีจำนวนมากปลงผมนุ่งห่มผ้ากาวพัสตร์ พากันเดินเท้าเปล่ามุ่งหน้าไปยังป่ามหาวันเพื่อทูลขออุปสมบท

พระนางแจ้งความประสงค์ให้พระอานนท์ทราบ พระอานนท์นำความกราบทูลพระองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธว่า อย่าเลยอานนท์ การบวชสตรี อย่าเป็นที่ชอบใจของเธอเลย

ในที่สุดพระอานนท์กราบทูลถามว่า บุรุษกับสตรีมีความสามารถไม่ทัดเทียมกันใช่หรือไม่ สตรีไม่สามารถบรรลุธรรมชั้นสูงเฉกเช่นบุรุษใช่หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสว่า ในเรื่องนี้ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด สตรีก็มีศักยภาพที่จะบรรลุที่สิ้นสุดทุกข์เช่นเดียวกับบุรุษ พระอานนท์กราบทูลถามว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีบวช สตรีก็มีความสามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้

พระพุทธองค์จึงทรงยินยอมตามที่พระอานนท์กราบทูลขอ  แต่ก็ทรงวางกฎเหล็กอันเรียกว่า “ครุธรรม ๘ ประการ” ไว้ว่า ถ้าปชาบดีโคตมีสามารถปฏิบัติครุธรรม ๘ ประการนี้ได้ พระองค์ก็ทรงยินดีประทานอุปสมบทให้

เมื่อพระอานนท์นำความแจ้งพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางก็ยินดีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ครุธรรม ๘ ประการนั้นคือ
๑.ภิกษุณีแม้จะมีพรรษา ๑๐๐ ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชในวันนั้น
๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
๓.ภิกษุณีจงถามวันอุโบสถและฟังโอวาทจากภิกษุ
๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย
๕.ภิกษุณีที่ต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (คือลงโทษกักบริเวณตัวเอง ตามกรรมวิธีของสงฆ์)
๖.ภิกษุณีจะต้องได้รับอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย
๗.ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่ากรณีใดๆ
๘.ภิกษุณีไม่พึงตักเตือนภิกษุ แต่ภิกษุตักเตือนภิกษุณีได้

ฟังดูแล้วเป็น กฎเหล็ก จริงๆ ที่เป็นเช่นนี้คงเพราะพระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์จะให้สตรีบวช ทรงคำนึงถึงความปลอดภัยของสตรี ความซับซ้อนเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของสตรี  ที่สำคัญที่สุดทรงเกรงว่า ถ้าอยู่ใกล้ชิดกันมาก จะมีปัญหาในหมู่ภิกษุและภิกษุณี เพราะ “พรหมจรรย์” จะต้องเว้นขาดจากความเกี่ยวข้องทางกามารมณ์

พระภิกษุและภิกษุณีที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอ ก็อาจเผลอไผลละเมิดสิกขาบทได้  

พระพุทธองค์ตรัสว่า สำหรับบุรุษ สตรีเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ และสำหรับสตรี บุรุษก็เป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์เช่นเดียวกัน

เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมียืนยันจะบวชให้ได้ และยินดีปฏิบัติตามกฎเหล็กทั้ง ๘ ประการอย่างเคร่งครัด พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระนางบวช การบวชของพระนางสำเร็จได้ด้วยการยอมรับครุธรรม ๘ ประการ

พูดง่ายๆ ทันทีที่พระนางรับปากปฏิบัติครุธรรมอย่างเคร่งครัดก็เป็นภิกษุณีแล้ว การบวชของพระนางเรียกว่า บวชด้วยการรับครุธรรม(ครุธัมมปฏิคคหณอุปสัมปทา)

เมื่อพระนางได้บวชแล้ว พระนางกราบทูลถามว่า แล้วจะให้ทำอย่างไรกับสตรีที่ตามพระนางมา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ให้ภิกษุสงฆ์จัดการบวชให้เสีย การบวชสตรีบริวารของพระนางมหาปชาบดีโคตมี  จึงกระทำขึ้นโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว (เพราะตอนนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์)

มีเรื่องเล่าต่อมา เมื่อสตรีเหล่านี้ได้รับการบวชจากภิกษุสงฆ์ ตามพุทธบัญชาแล้ว พวกเธอจึงสำคัญว่า พวกตนเป็นภิกษุณีแท้ แต่พระนางมหาปชาบดีโคตมี มิใช่ภิกษุณีเพราะมิได้ผ่านการอุปสมบทเหมือนพวกตน

ความทราบถึงพระองค์ พระพุทธองค์ตรัสว่า ก็การรับครุธรรม ๘ ประการนั้นแหละเป็นการอุปสมบทของมหาปชาบดีโคตมี

หลังอุปสมบทแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีรับเอากรรมฐานจากพระพุทธองค์ไปปฏิบัติ ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงเคารพในพระพุทธองค์มาก ถึงกับกล่าวว่า รูปกายของพระพุทธองค์ นางเป็นผู้เลี้ยงให้เจริญเติบโต นับเป็น “มารดา” ของพระพุทธองค์ทางร่างกาย แต่ธรรมกายของพระนาง พระพุทธองค์ทรงเลี้ยงให้เจริญ  พูดภาษาสามัญก็ว่า ในทางโลก พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็น “แม่” ของพระพุทธเจ้า แต่ในทางธรรม พระพุทธองค์เป็น “พ่อ” ของพระนาง เท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ไม่ใช่ “ธรรมกาย ธรรมเกิน” ดังที่บางพวกบางเหล่าพยายามจะลากความไปเพื่อสนองตัณหาของพวกตน

พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “รัตตัญญู” แปลกันว่า “ผู้รู้ราตรีนาน” คงมิได้หมายความว่าผู้แก่เฒ่าเพราะอยู่นานดอกนะครับ

ความหมายที่แท้จริงน่าจะหมายถึง “ผู้มีประสบการณ์มาก” มากกว่า


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๗) ภิกษุณีรูปแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๗ ประจำวันที่ ๑๔-๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙





สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๘)
ภิกษุที่อุปสมบทด้วยพระสงฆ์รูปแรก

ที่จริงต้องพูดว่า ภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้ด้วย “ญัตติจตุตถกรรมวาจา” เป็นรูปแรก จึงจะถูก เพราะการบวชโดยพระสงฆ์เป็นผู้กระทำให้ ก่อนหน้านั้นมีมาแล้ว แต่เป็นการบวชโดยวิธีอื่น

สมัยต้นๆ พระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่รับผู้เข้ามาบวชด้วยพระองค์เอง การรับเข้าไม่มีพิธีรีตองอะไร เพียงตรัสสั้นๆ (ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัต) ว่า “จงมาเป็นภิกษุ เพื่อทำที่สิ้นสุดทุกข์เถิด” (เอหิ ภิกฺขุ ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย) และ (ถ้าเป็นพระอรหันต์ หลังฟังธรรมจบ) ว่า “จงมาเป็นภิกษุเถิด” (เอหิ ภิกฺขุ) วิธีนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา (การอุปสมบทด้วยตรัสว่าเอหิภิกขุ)

ต่อมามีกรณีเจ้าชายราหุลอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ มาขอ “ทายัชชะ” (แปลกันว่าขุมทรัพย์) พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์จะประทานอริยทรัพย์ให้ จึงมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรทำการบวชแก่เจ้าชายราหุล วิธีบวชแบบนี้เรียกว่า “ติสรณคมนูปสัมปทา” (การอุปสมบทด้วยการรับไตรสรณคมน์)

การบวชแบบนี้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์นำไปบวชให้แก่กุลบุตรผู้มาขอบวชด้วย ต่อมาการบวชแบบนี้นำมาใช้สำหรับการบวชสามเณรเท่านั้น

ต่อมามีพราหมณ์สูงวัยคนหนึ่งมาขออาศัยพระอยู่ เกิดอยากบวชขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์จัดการบวชให้

พราหมณ์คนนี้ชื่อ ราธะ ตะแกมิใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอก หากเป็นคหบดีชาวเมืองราชคฤห์ มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย แกมีบุตรหลายคน เมื่อบุตรเจริญเติบโตก็จัดการให้มีเหย้ามีเรือนกันหมดทุกคน แรกๆ บุตรภรรยาก็ดูแลดี ต่อมา พวกเขาไม่สนใจไยดีเท่าที่ควร จึงน้อยใจตามประสาคนแก่ จึงไปขออยู่ที่วัด อาศัยข้าวก้นบาตรจากพระยังชีพ แกก็ช่วยปัดกวาดบริเวณวัด ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ปรนนิบัติพระตามกำลังสามารถ

พราหมณ์อาวุโส (ผมพยายามเลี่ยงคำว่า แก่  เพราะคนวัยผู้เขียนคอลัมน์นี้ไม่ค่อยชอบฟัง) อยากบวชขอบวช พระท่านไม่ยอมบวชให้หาว่าแก่ไป (เอาเข้าจนได้ ฮิฮิ) จะบำเพ็ญสมณกิจไม่ไหว จึงเฉยเสีย พราหมณ์ก็ไม่ท้อถอย ตั้งใจปรนนิบัติพระสงฆ์อย่างดี เผื่อท่านจะเห็นใจอนุญาตให้บวชบ้าง

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกที่จะไปโปรดด้วยพระญาณ ในค่อนรุ่งวันหนึ่ง พราหมณ์ปรากฏในข่ายคือพระญาณ พระองค์ทรงทราบว่าพราหมณ์คนนี้มีอุปนิสัยสมควรที่จะโปรดให้บรรลุธรรมได้ จึงเสด็จไปยังสถานที่แกอยู่ ตรัสถามว่า ราธะ เธอมาทำอะไรอยู่ที่นี่
“มารับใช้พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอต้องการอะไร จึงมารับใช้พระสงฆ์”
“ต้องการอุปสมบท พระพุทธเจ้าข้า แต่พระสงฆ์ไม่บวชให้”

พระพุทธเจ้า จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ในวันหนึ่ง ตรัสถามว่า มีใครรู้จักราธพราหมณ์คนนี้บ้างไหม

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ท่านรู้จัก ราธพราหมณ์คนนี้เคยใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สารีบุตรเธอรู้อุปการคุณที่คนอื่นกระทำ เธอนั้นแหละจงจัดการให้ราธพราหมณ์อุปสมบท เท่ากับทรงให้พระสารีบุตรรับรองให้พราหมณ์บวช ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา

เมื่อมีผู้รับรอง การอุปสมบทของราธพราหมณ์ก็เป็นไปโดยง่าย พระสารีบุตรรับหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์บวชให้ด้วย “ญัตติจตุตถกรรม”

การบวชแบบนี้ ต้องมีอุปัชฌาย์ มีกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) มีอนุสาวนาจารย์ (ผู้ให้อนุศาสน์หรือสั่งสอน) มีพระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นคณะปูรกะ (พระสงฆ์ร่วมทำพิธี ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “พระอันดับ”)

ในการบวชนี้ จะต้องมีการซักถามว่ามีคุณสมบัติครบบวชไหม แล้วท่านจะเสนอประชุมสงฆ์ (ข้อเสนอว่า ท่านผู้นี้อยากบวช ได้ซักถามแล้ว มีคุณสมบัติครบถ้วน พระสงฆ์เห็นอย่างไร จะให้บวชไหม) ข้อเสนอนี้เรียกว่า “ญัตติ”

เมื่อพระสงฆ์ไม่มีใครคัดค้าน พระคู่สวดก็จะสวดกรรมวาจา (สวดทำพิธีกรรม) ๓ ครั้ง เป็นอันว่าเสร็จพิธีการบวชโดยพระสงฆ์

สวดกรรมวาจา ๓ ครั้ง กับ ญัตติ ๑ ครั้ง รวมเป็น ๔ ครั้งพอดี จึงเรียกการบวชแบบนี้ว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา แปลตามตัวอักษรว่า “การอุปสมบทด้วยกรรมวาจาอันมีญัตติเป็นที่สี่” หมายความว่า สวดทำพิธีสามครั้ง รวมกับข้อเสนอ (ญัตติ) ครั้งหนึ่ง เป็นสี่

การบวชด้วยวิธีนี้ พระสงฆ์กระทำแก่พระราธะเป็นรูปแรก ด้วยประการฉะนี้แล หลังจากมีพิธีบวชแบบนี้เกิดขึ้น การบวชแบบให้รับไตรสรณคมน์ที่ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์กระทำมาก่อนหน้านี้ได้ยกเลิก ให้เอามาใช้สำหรับการบวชสามเณรเท่านั้น ในเวลาต่อมา

ต่ออีกนิด พระหลวงตารูปนี้ เป็นคนว่านอนสอนง่ายมาก จนได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางเป็นผู้ว่าง่าย ไม่ถือตัวว่าเป็นผู้อาวุโส มีประสบการณ์ มีความรู้มาก

พูดสั้นๆ ว่า ไม่ใช่คนประเภทตวาดคนอื่นแว้ดๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๘) ภิกษุที่อุปสมบทด้วยพระสงฆ์รูปแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๘ ประจำวันที่ ๒๑-๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๙
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 ธันวาคม 2559 16:22:39 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 01 ธันวาคม 2559 16:48:31 »




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๙)
แพทย์ประจำพระพุทธองค์คนแรก (และคนเดียว)

ท่านผู้นี้คือ หมอชีวก โกมารภัจจ์ (ชาวบ้านทั่วไปอ่าน ชีวะกะ ไม่รู้ “กะ”ได้ยังไง เพราะไม่ประวิสรรชนีย์!) ท่านเป็นบุตรนางนครโสเภณี นามสาลวดี ตำแหน่ง “นครโสเภณี” (ตามศัพท์แปลว่าผู้หญิงยังเมืองให้งดงาม) เป็นตำแหน่งพระราชาทรงแต่งตั้ง โดยคัดเลือกสตรีผู้เลอโฉม มีความรู้ความสามารถในการให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่แขกเมืองผู้มีเกียรติเพื่อเป้าหมายคือ “ดึงดูดเงินตรา” เข้าประเทศ ต่อมาภายหลังเท่านั้นอาชีพนี้ได้ลดคุณค่าลง

นางสาลวดี มีบุตรขึ้นมาด้วยความเผลอไผลไม่ตั้งใจ ถ้าเป็นบุตรสาวก็อาจเลี้ยงไว้เพื่อสืบทอดตำแหน่งในวันหน้า แต่บังเอิญเป็นบุตรชาย นางจึงให้นำไปทิ้งไว้หน้าประตูวัง

แสดงว่าไม่ต้องการทิ้งจริงๆ คะเนว่าเวลาเช้าเจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสารมักเสด็จจากวังไป “จ๊อกกิ้ง” ทางประตูนั้น จึงให้สาวใช้เอาเด็กใส่กระด้งไปวางไว้ใกล้ประตูวัง โดยสาวใช้ยืนดูอยู่ห่างๆ

ทุกอย่างเป็นไปตามคาด เจ้าชายอภัยเสด็จออกมา ได้เห็นหมู่นกการ้องเซ็งแซ่อยู่ใกล้ๆ จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปดูว่า นกกามันร้องทำไม มหาดเล็กกลับมากราบทูลว่า นกกามันเฝ้าเด็กคนหนึ่งมีคนทิ้งเอาไว้

ตรัสถามว่า “ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่” เมื่อได้รับรายงานว่า มีชีวิตอยู่  (ชีวโกติ) จึงเสด็จไปดูและนำไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ได้ขนานนามเด็กน้อยว่า “ชีวก” (แปลว่า มีชีวิตอยู่ หรือแปลแบบไทยๆ ว่า “บุญยัง”)

เพราะทรงเลี้ยงเหมือนลูกที่เกิดในวังจึงมีสร้อยนามว่า “โกมารภัจจ์”

ชีวก โกมารภัจจ์ หนีพระบิดาบุญธรรมไปเรียนศิลปวิทยาที่ตักสิลา ๗ ปี วิชาที่เรียนคือแพทย์แผนโบราณ อยู่รับใช้อาจารย์ไปด้วย เรียนด้วย จนเมื่อยามอยากกลับบ้านนั้นแหละ ได้ถามอาจารย์ว่า ตนเรียนจบหรือยัง อาจารย์ทดสอบด้วยการให้ออกจากสำนักไปหาตัวอย่างใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ ที่ใช้ทำยาไม่ได้มา

ชีวกไปทั้งวันก็ไม่ได้มาสักอย่าง เพราะรู้ว่าต้นไม้ทุกต้น สมุนไพรทุกชนิด ใช้ทำยาได้หมด อาจารย์จึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นเธอจบแล้ว”

ลาอาจารย์กลับบ้านไปหาพระบิดาบุญธรรม บังเอิญช่วงนั้นพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จปู่ทรงประชวรด้วยโรค “ภคันทลา” (ริดสีดวงทวาร) ได้ถวายการรักษาจนหาย ได้รับบำเหน็จความดีความชอบมากมาย

พร้อมได้รับแต่งตั้งให้เป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนักเมืองราชคฤห์

ในช่วงเวลาดังกล่าว พระเทวทัต ผู้ถูกลาภสักการะครอบงำอยากใหญ่ คิดปฏิวัติพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้นเถอะ ได้แรงอุปถัมภ์จากเจ้าชายอชาตศัตรู ผู้หลงผิดเพราะถูก “ล้างสมอง” วางแผนกำจัดพระพุทธเจ้าต่างๆ นานา แต่ละแผนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ด้วยพุทธานุภาพแต่ก็ทำความลำบากให้พระพุทธองค์พอสมควร

ครั้งหนึ่งเทวทัตขึ้นบนเขาคิชฌกูฏ กลิ้งก้อนหินลงมาหมายให้ทับพระพุทธองค์ แต่ก้อนหินกลิ้งไปปะทะชะง่อนผา กระเด็นไปอีกทางหนึ่ง ถึงกระนั้นเศษหินได้กระเด็นไปต้องพระบาทจนห้อพระโลหิตทรงได้รับทุกขเวทนา

พระสงฆ์จึงนำพระพุทธองค์ไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวก ซึ่งอยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ แล้วไปตามหมอชีวกมาถวายการรักษา

สวนมะม่วงนี้ หมอชีวกได้รับพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสาร ได้ถวายให้เป็นวัดสำหรับประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ มีนามว่า “ชีวกัมพวัน” (ปัจจุบันซากปรักหักพังปรากฏอยู่)

หมอชีวกได้ใส่ยาสมานแผล แล้วเอาผ้าพันไว้ กราบทูลว่า ตอนเย็นจะกลับมาเอาผ้าออก เขาได้เข้าไปดูคนไข้ในเมือง วุ่นวายอยู่กับคนไข้จนถึงค่ำ นึกขึ้นได้ว่าเวลาแก้ผ้าพันแผลจากพระบาทพระพุทธเจ้า จึงรีบจะออกนอกเมือง

แต่ประตูเมืองปิดเสียก่อน ออกมาชีวกัมพวันไม่ได้

เช้าขึ้นมาก็รีบเฝ้า กราบทูลถามว่า เมื่อคืนพระองค์ทรงมีพระอาการร้อนหรือไม่ (เพราะถ้าไม่แก้ผ้าพันแผลออก คนไข้จะมีอาการร้อนทั่วกาย)

พระพุทธองค์ ทรงรับสั่งให้พระอานนท์แก้ออกตามเวลากำหนดแล้ว จึงมิได้มีพระอาการดังกล่าว

ทรงทราบว่าหมอชีวกหมายถึงร้อนแบบไหน แต่ทรงต้องการตรัสเทศนาหมอชีวก จึงตรัสว่า “ตถาคตดับความร้อนทุกชนิดได้แล้ว ตั้งแต่วันตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นโพธิ์” แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า

คตทฺธิโน วิโสกสฺส วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ
สพฺพคนนฺถปฺหีนสฺส ปริฬาโห น วิชฺชติ
“ผู้เดินทางมาจนสุดทางแห่งสารวัฏ หมดความโศก หลุดพ้น ไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ แล้ว ไม่มีความเร่าร้อน ไม่ว่าร้อนภายนอก (กาย) หรือร้อนภายใน (ใจ)”


หมอชีวก โกมารภัจจ์ ได้เป็นนายแพทย์ประจำพระพุทธองค์คนแรกและคนเดียว ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

เขาได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ได้บรรลุโสดาปัตติผล ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางเป็นที่รักของปวงชน


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๑๙) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๘๙ ประจำวันที่ ๒๘ ตุลาคม - ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙



สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๐)
ผู้ถวายผ้าอาบน้ำฝนคนแรก

ตอบไว้ก่อนว่าคือนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ประวัตินางวิสาขา ได้เล่าไว้ในตอนว่าด้วย “อุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรก” และในที่อื่นมาหลายครั้งแล้ว ขออนุญาตฉายซ้ำ ณ ที่นี้อีกอย่าหาว่าซ้ำซากเลย เพราะถึงแม้จะใช้ข้อมูลเดิม วิธีนำเสนอก็ไม่เหมือนเดิมดอกครับ หรือว่าไง?

นางวิสาขาเป็นธิดาธนัญชัยเศรษฐี เมืองแคว้นภัคคะ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจนบรรลุเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ยังเด็ก ได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐีผู้ไม่นับถือพระพุทธศาสนา แห่งเมืองสาวัตถี ย้ายมาอยู่ตระกูลสามี นางก็ยังทำบุญในพระพุทธศาสนาเหมือนเดิม เพราะพระอริยบุคคลระดับนี้ ย่อมมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง

วันหนึ่งเกิดเรื่องทะเลาะกับบิดาสามีถึงขั้นฟ้องขับไล่นางออกจากตระกูลสามี เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งมายืนอุ้มบาตรอยู่หน้าบ้าน ขณะเศรษฐีบิดาสามีรับประทานอาหารอยู่ นางกระซิบกับภิกษุรูปนั้นให้ไปโปรดข้างหน้า เพราะคุณพ่อนาง (บิดาสามี) กำลัง “กินของเก่า” อยู่

คณะผู้พิจารณาตัดสินว่านางไม่มีความผิด เพราะตามคำอธิบายของนาง “กินของเก่า” หมายถึง กินบุญเก่า มิใช่คำหยาบหรือคำด่าว่าเสียดสีแต่ประการใด บิดาสามีก็ยอมไม่เอาเรื่องต่อไป

การณ์กลับเป็นว่า หลังจากนั้นไม่นาน บิดาสามีกลับมีความเลื่อมใสในตัวลูกสะใภ้มากขึ้น จนถึงกับหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามลูกสะใภ้

ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาได้สมญานามคล้ายๆ สร้อยนามเพิ่มขึ้นว่า วิสาขา มิคารมาตา (นางวิสาขาผู้เป็นบิดาแห่งมิคารเศรษฐี) ลูกสะใภ้ได้กลายเป็น “แม่” ของพ่อสามี มิใช่ธรรมดานะครับ

ในระหว่างนั้นพระสงฆ์ได้รับอนุญาตให้มีผ้าเพียง ๓ ผืน เรียก ไตรจีวร คือผ้านุ่ง เรียก อันตรวาสก หรือผ้าสบง ผ้าห่มคลุมเรียก อุตตราสงค์ หรือผ้าจีวร ผ้าห่มซ้อนเรียกว่า สังฆาฏิ ๓ ผืน แค่นั้นจริงๆ ผ้าอาบน้ำหรือผ้าขาวม้า (ผ้าขะม้า) ไม่มี เพิ่งจะมีในเวลาต่อมา ก็ต้องยกเครดิตให้นางวิสาขา มหาอุบาสิกา คนนี้แหละครับ

วันหนึ่งนางตระเตรียมภัตตาหารไว้รอถวายพระสงฆ์ ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ทำอยู่ประจำ เตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระคุณเจ้าก็ไม่มาสักที จึงบอกสาวใช้ให้ไปดูวิว่า ทำไมพระคุณเจ้ายังไม่มา

บังเอิญตอนนั้นฝนตก พระคุณเจ้าทั้งหลายก็พากันอาบน้ำฝนกัน ก่อนจะเข้าบ้านเพื่อฉันภัตตาหารตามที่นิมนต์ สาวใช้เห็นเข้าก็ตกใจวิ่งหน้าตื่นไปรายงานนายหญิงว่า “ที่วัดไม่มีภิกษุเลยเจ้าค่ะ”
“ไม่มีได้อย่างไร ก็ฉันนิมนต์ท่านไว้แล้ว ท่านก็รับปากแล้ว ไม่มีสักรูปเลยหรือ” นางวิสาขาถามย้ำ
“มีค่ะ แต่ไม่ใช่พระภิกษุ” สาวใช้ตอบ
“เป็นใคร”
“ชีเปลือยเจ้าค่ะ ชีเปลือยเต็มวัดเลย”

นางวิสาขาตกใจ นึกว่าวัดพระเชตวันถูกพวกนิครนถ์ยึดไปซะแล้ว ไม่น่าเป็นไปได้ จึงตรงดิ่งไปยังวัดพระเชตวันด้วยความร้อนใจ ไปเห็นพระคุณเจ้าบางรูปกำลังอาบน้ำในชุดวันเกิดอยู่ บางรูปก็อาบน้ำเสร็จแล้ว นุ่งห่มผ้าเรียบร้อยแล้ว จนถึง “บางอ้อ” ที่สาวใช้ว่าในวัดมีแต่พวกชีเปลือยก็คืออย่างนี้นี่เอง (ก็เปลือยจริงๆ นี่คะ)

เมื่อพระท่านมีผ้าเพียงสามผืนเท่านั้น เวลาอาบน้ำก็ต้องเปลือยกายอาบเป็นธรรมดา นางวิสาขาเห็นว่า พระสมณศากยบุตรควรจะ “เรียบร้อย” กว่านี้ หาไม่ก็ไม่ต่างอะไรกับพวกนิครนถ์ จึงนำความคิดเรื่องผ้าอาบน้ำฝนไปกราบทูลพระพุทธองค์ และขอพรให้ทรงอนุญาตให้นางได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์

พระพุทธเจ้าทรงเห็นดีด้วยกับข้อเสนอของนางวิสาขา จึงตรัสอนุญาตให้ชาวบ้านถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุได้ตั้งแต่บัดนั้นมา นางวิสาขาจึงเป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์

ตั้งแต่วันนั้นมา ไม่มีใครเห็น “ชีเปลือย” ในวัดพระเชตวันอีกเลย


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๐) ผู้ถวายผ้าอาบน้ำฝนคนแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๐ ประจำวันที่ ๔-๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙



สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๑)
คนแรกที่เป็นต้นเหตุให้พระรับคหบดีจีวร

คหบดีจีวร” คือผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านเขาถวาย คนแรกที่เป็นต้นเหตุให้มีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับได้คือหมอชีวกโกมารภัจจ์

เมื่อก่อนนั้น พระสงฆ์ท่านใช้ผ้าบังสุกุลจีวร คือ แสวงหาเศษผ้าบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง มาตัดเย็บเป็นจีวร ต้องลำบากด้วยการแสวงหาผ้า ชาวบ้านอยากจะถวายผ้าสำเร็จรูปแก่พระภิกษุก็ไม่กล้า เพราะไม่มีพุทธานุญาตไว้ จึงใช้วิธีเลี่ยงๆ  เลี่ยงอย่างไร คือ เมื่อเห็นพระภิกษุเดินมา ก็เอาผ้าสำเร็จรูปไปพาดไว้ที่กิ่งไม้บ้าง บนพุ่มไม้บ้าง แล้วก็หนีไปเสีย พระท่านเดินมาเห็นเข้าก็จะถามดังๆ ว่า “ผ้านี้มีเจ้าของหรือเปล่า” ๓ ครั้ง

เมื่อไม่มีเสียงตอบ ท่านก็จะกระทำ “ปังสุกูลสัญญา” (ความสำคัญว่าเป็นผ้าบังสุกุล) แล้วก็ชักหรือดึงเอาผ้านั้นไปตัดเย็บจีวร

ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกิริยาอาการถือผ้านี้ว่า “ชักบังสุกุล” มาจนบัดนี้

แม้ตอนหลัง เมื่อพระได้รับอนุญาตให้รับจีวรสำเร็จรูปได้แล้ว ก็ยังมีพิธีถวายผ้าบังสุกุล และมีการชักผ้าบังสุกุลอยู่ ดังจะเป็นทายกทายิกาเอาพุ่มไม้มาตั้งแล้วเอาจีวรพาดตามกิ่งไม้ ให้เห็นเป็นสัญลักษณ์อยู่

ต้นเหตุให้มีการอนุญาตให้พระรับจีวรสำเร็จรูปมาจากหมอชีวกโกมารภัจจ์  พระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งเมืองอุชเชนี หรืออุชย์นี แคว้นอวันตี ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของชมพูทวีป ทรงพระประชวรด้วยโรคร้ายชนิดหนึ่งรักษาอย่างไรก็ไม่หาย  ทรงทราบว่า ที่ราชสำนักเมืองราชคฤห์มี “หมอเทวดา” คนหนึ่ง เชี่ยวชาญในการรักษาโรคต่างๆ จึงทรงมีพระราชสาส์นไปขอหมอเทวดาคนนั้นจากพระเจ้าพิมพิสาร  

พระเจ้าพิมพิสารส่งหมอชีวกไปตามคำขอ แต่ตรัสเตือนหมอชีวกว่า ได้ทราบว่าพระราชาองค์นี้ทรงมีพระอารมณ์ร้าย ให้หมอรักษาตัวให้ดี อย่าทำอะไรให้เป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัย จนอาจก่อภัยแก่ตัวได้

หมอชีวกไปยังพระราชสำนักเมืองอุชเชนีตรวจพระอาการของพระเจ้าจัณฑปัชโชตอย่างถี่ถ้วน เตรียมปรุงโอสถถวายการรักษา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสว่า ยาอะไรข้าก็กินได้ ขออย่างเดียวอย่าใส่เนยใสเพราะข้าเกลียดเนยใส  

หมอถึงกับตกใจ เพราะยาที่ว่านี้จะต้องมีเนยใสประกอบด้วย จึงหาอุบายประกอบยาตามตำรับจนได้  

เขากราบทูลขอพระบรมราชานุญาตพระราชทานของ ๓ ชนิด คือ (๑) ให้จัดห้องปรุงยาอย่างมิดชิดมิให้กลิ่นออกมา (๒) ให้เปิดประตูเมืองไว้ตลอดเวลา (๓) ขอพาหนะฝีเท้าเร็วที่สุดชนิดหนึ่ง

พระราชาตรัสว่า ข้อ ๑ น่ะมีเหตุผล แต่ข้อ ๒ กับข้อ ๓ จะเอาไปทำไม ไม่เห็นเกี่ยวกับการรักษาโรคอะไร

หมอชีวกกราบทูลว่า ที่ให้เปิดประตูเมืองไว้ตลอดเวลา ก็เผื่อว่าเวลาปรุงยาอะไร นึกถึงสมุนไพรอะไรจะได้ออกไปหามาทันที ไม่ต้องเสียเวลาขออนุญาตให้เปิดประตูเมือง

ที่ขอพาหนะฝีเท้าเร็ว ก็เพื่อรีบไปเอาตัวยาให้ทันเวลา

เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว เขาก็เข้าห้องปรุงยา เอาเนยใสผสม เคี่ยวจนได้ที่ประมาณหนึ่งจอก ก็มอบให้มหาดเล็กสั่งว่า ให้ตนออกจากเมืองได้สักพักหนึ่งค่อยให้ในหลวงเสวยพระโอสถ ว่าแล้วก็ไสช้างพังฝีเท้าเร็วออกจากเมืองไป

เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตเสวยพระโอสถได้สักพัก ก็ทรงเรอ (ราชาศัพท์ว่าอย่างไร จนด้วยเกล้าฯ ผู้รู้ช่วยบอกด้วย) ออกมา กลิ่นเนยใสก็โชยออกมา  เท่านั้นแหละ พระเจ้าจัณฑปัชโชตก็ทรงพิโรธ ที่ถูกหมอชีวกหลอกให้เสวยสิ่งที่ทรงเกลียดที่สุด  รับสั่งด้วยพระสุรเสียงดังว่า “ไปตามกากะมาเดี๋ยวนี้ ไอ้หมอเจ้าเล่ห์ มันเอาเนยใสให้ข้ากินนี่หว่า ไปตามมันมาให้ได้ ข้าจะตัดคอมันให้หายแค้น”

กากะ คือทาสฝีเท้าเร็วที่สุดพอๆ กับ ยูเซน โบลต์ แชมป์นักวิ่งโอลิมปิก ประมาณนั้น รีบวิ่งตื๋อออกไปโดยพระราชาตรัสไล่หลังว่า “เอ็งอย่ากินอะไรที่หมอเจ้าเล่ห์ให้เป็นอันขาด เดี๋ยวเสียรู้มัน”

กากะ วิ่งไปทันหมอชีวกที่ชายแดนจะข้ามเมืองอุชเชนีพอดี จึงจับแขนลากถูลู่ถูกังจะพากลับไปเฝ้าในหลวงให้จนได้ แต่หมอชีวกออกอุบายให้กินมะขามป้อมแก้กระหาย กากะเห็นมะขามป้อมเพิ่งหล่นจากต้นคงไม่มีอะไร จึงกินเข้าไป หารู้ไม่ว่าหมอชีวกเอายาถ่ายอย่างแรงใส่เล็บแล้วหยิกผิวมะขามป้อมแล้วยื่นให้กิน

สักพักเดียว ทาสกากะก็มีอาการท้องปั่นป่วน วิ่งเข้าหลังพุ่มไม้ขี้พุ่งยังกับท่อประปาแตก หมอชีวกหัวร่อก้ากๆ พร้อมกล่าวว่า “ไม่เป็นไรเพื่อน ขี้ออกหมดแล้วก็หาย ฝากนำช้างไปคืนพระเจ้าอยู่หัวด้วย ฮ่า ฮ่า”

ทาสกากะเดินโซเซกลับไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ด้วยอาการตัวสั่นงันงก พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงมีพระอารมณ์ดี ทรงพระสลวลก้ากๆ

“เอ็งคงเสียรู้ไอ้หมอเจ้าเล่ห์แล้วสิท่า ไม่เป็นไรข้าหายดีแล้ว”

เมื่อหายพระประชวร พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงรำลึกถึงคุณูปการของหมอชีวก จึงทรงส่งผ้ากัมพลสีทองเนื้อละเอียดอย่างดี อันเรียกว่าผ้า “สีเวยยกะ” (ผ้าที่ทอที่เมืองสีพี) สองผืนไปพระราชทานแก่หมอชีวกเป็นบำเหน็จรางวัล

หมอชีวกได้ผ้าสีทองแล้วนึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงนำไปถวาย แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ เพราะยังไม่มีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านถวาย

หมอชีวกจึงกราบทูลขอพรพระพุทธเจ้าให้ทรงรับผ้าเนื้อสีทองที่เขาถวาย และทรงอนุญาตให้พระสงฆ์สาวกรับผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านเขาถวายด้วย พระพุทธองค์จึงทรงรับผ้านั้น แล้วมีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับคหบดีจีวรแต่บัดนี้มา

เมื่อทราบว่ามีพุทธานุญาตให้ชาวบ้านถวายผ้าแล้ว ชาวบ้านต่างก็นำผ้าเนื้อหยาบบ้าง เนื้อละเอียดบ้าง ทอด้วยวัสดุต่างๆ กันมาถวาย จนพระสงฆ์เกิดความไม่แน่ใจว่าผ้าชนิดไหนควรรับ ไม่ควรรับ จึงนำความเข้าทูลถามพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ จีวรทอด้วยเปลือกไม้ ๑ ทอด้วยฝ้าย ๑ ทอด้วยไหม ๑ ทอด้วยขนสัตว์ ๑ ทอด้วยของห้าอย่างข้างต้นผสมกัน ๑”

หมอชีวกคือต้นเหตุให้มีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับจีวรสำเร็จรูปจากชาวบ้าน ดังเรื่องราวที่เล่ามาข้างต้นนั้นแล


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๑) คนแรกที่เป็นต้นเหตุให้พระรับคหบดีจีวร โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๑ ประจำวันที่ ๑๑-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙



สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๒)
โสเภณีที่ถวายสวนสร้างวัดคนแรก


โสเภณีมีคำเต็มว่า “นครโสเภณี” แปลว่าหญิงผู้ยังพระนครให้งาม แปลเป็นไทยแท้ๆ ว่า “หญิงงามเมือง

สมัยก่อนโน้น โสเภณี เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติระดับที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมือง พระราชามหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยคัดเลือกเอาสตรีเลอโฉมที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างดี ว่าอย่างนั้นเถอะ

สวยอย่างเดียวไม่มีกึ๋น ไม่มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นโสเภณี

ต่อมาในยุคหลังๆ นี้เท่านั้น ที่โสเภณีตกต่ำลง ถึงขั้นเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของคนทั่วไป

นางโสเภณีดังๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาหลายคน

คนหนึ่งชื่อ อัมพปาลี อยู่ที่เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี นางได้พบพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและได้ถวายสวนมะม่วงของเธอให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์

การถวายสวนมะม่วงนี้ หลักฐานบางแห่งก็ว่าเพิ่งมาถวายในช่วงท้ายพุทธกาลก่อนพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไม่นาน บางแห่งพูดทำนองว่าถวายไว้นานแล้ว ก็ว่ากันไป เราเกิดไม่ทันก็ฟังๆ ไว้แล้วกัน

นางอัมพปาลีนับเป็นโสเภณีคนแรกที่สร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา

นางเป็นคนมั่นคงในพระรัตนตรัย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินาราเพื่อปรินิพพาน เสด็จถึงโกฏิคามใกล้เมืองไพศาลี นางได้เข้าเฝ้า กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา

ขณะนั่งรถกลับ ก็สวนทางกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี บรรดาชายหนุ่มเจ้าสำราญ เห็นนางผู้ซึ่งคุ้นเคยกันเพราะเป็น “แขก” คนสำคัญของเธอทั้งนั้น เรียกให้ทันสมัยก็คือ “ขาประจำ” จึงแกล้งขับรถเข้าไปกระแทกกับรถนางเป็นที่สนุกสนาน

“นางผู้เลอโฉม ไปไหนมา”
“เพิ่งกลับจากเฝ้าพระพุทธองค์มา แล้วพวกท่านจะไปไหน” นางถาม
“พวกเราก็จะไปเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน”
“ไปด้วยวัตถุประสงค์ใด”
“ไปทูลอาราธนาเสด็จไปเสวยภัตตาหารที่วังของพวกเรา”

นางจึงบอกว่า ถ้าไปด้วยเหตุนั้น ก็จงกลับเถอะ เพราะพระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนาของนางแล้ว

พวกกษัตริย์ลิจฉวี จึงอ้อนวอนนางขอแลกกับรถม้าและเครื่องประดับล้ำค่าทั้งหมด นางก็ปฏิเสธ

แม้เสนอจะให้ทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใดนางก็ยืนกรานปฏิเสธ

นางบอกว่าที่มีโอกาสถวายภัตตาหารพระพุทธเจ้านั้น มีค่ามากกว่าสิ่งใด

ในที่สุดพวกกษัตริย์ลิจฉวีก็ต้องยอมแพ้

นางอัมพปาลี มีบุตรชายชื่อ วิมล โกณฑัญญะ ซึ่งต่อมาได้มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระวิมลได้แสดงธรรมให้แก่โยมมารดาฟัง นางรู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม ตัดสินใจออกบวชเป็นภิกษุณี ขณะบำเพ็ญเพียรอยู่ ก็มองเห็นความเป็นอนิจจังของสังขารร่างกายของตนยกขึ้นสู่วิปัสสนา ในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากบรรลุธรรม พระเถรีได้กล่าว “คาถา” (โศลก) อันแสดงถึงสัจจะแห่งชีวิต เป็นคติสอนใจสตรี (บุรุษด้วยแหละ) ทั้งหลายได้อย่างดีทีเดียว จึงขออนุญาตคัดข้อความบางตอนมาลงไว้ดังนี้
“เมื่อก่อนผมของเรามีสีดำ คล้ายปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอ เพราะชรา
เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอม ดุจอบด้วยมะลิ เดี๋ยวนี้มีกลิ่นเหมือนขนกระต่าย เพราะชรา
เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียนอันช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้เหมือนเถาวัลย์ เพราะชรา
เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณี รุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ถูกชราขจัดแล้ว ไม่งามเลย
เมื่อก่อนจมูกของเรางดงาม เหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้กลับห่อเหี่ยวเหมือนจมหายเข้าไปในกะโหลกศีรษะ เพราะชรา
เมื่อก่อนฟันของเราขาวงดงามเหมือนดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้หัก มีสีเหลืองปนแดง เพราะชรา
เมื่อก่อนเสียงของเราไพเราะเหมือนเสียงนกร้องอยู่ในไพรสณฑ์ เดี๋ยวนี้เราพูดอะไรก็ไม่ชัดเพราะชรา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ช่างเป็นจริงทุกประการ”

นางได้พรรณนาความงดงามของสรรพางค์กายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าว่า ล้วนแต่งดงามเป็นที่ปรารถนาของชายทั่วไป แต่ถึงตอนนี้ (เมื่อยามชรา) อวัยวะที่ว่างดงามนั้น ทรุดโทรมเพราะชราไม่น่าดู ไม่น่าชมเลย เป็นเครื่องแสดงถึงความอนิจจัง

ยืนยันพระพุทธดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนถึงความไม่เที่ยงแท้ “ไม่คงที่ ไม่คงตัว และไม่เป็นตัว

ฝากไว้ให้ช่วยพิจารณา เผื่อจะมีใครบรรลุธรรมเหมือนนางอัมพปาลีบ้าง


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๒) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๙ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๒ ประจำวันที่ ๑๘-๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙



สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๓)
ผู้ละเมิดปฐมปาราชิกคนแรก

ผู้ละเมิดพระวินัยขั้นอุกฤษฏ์ชนิดที่ขาดจากความเป็นพระเลยเรียกว่า “ปาราชิก” มีอยู่ ๔ ประเภทคือ เสพเมถุน, ลักทรัพย์, ฆ่ามนุษย์ และอวดอุตริมนุสสธรรม (อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน) เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา

จึงขอนำมาเล่าให้ฟังตามลำดับ

ท่านผู้ละเมิดปฐมปาราชิกมีนามว่า พระสุทิน กลันทบุตร ท่านเป็นบุตรเศรษฐีเมืองราชคฤห์ วันหนึ่งไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมสหาย มีความเลื่อมใสใคร่อยากบวช จึงทูลขอบวช

เข้าไปขออนุญาตบิดามารดา แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงอดข้าวประท้วง ไม่กินข้าวกินปลาหลายวัน บิดามารดาสุทินกลัวว่าลูกจะอดข้าวตาย จึงขอร้องให้เพื่อนๆ ของสุทินช่วยเกลี้ยกล่อมใหม่ให้เลิกคิดบวชเสีย

เพื่อนๆ ต่างก็พยายามเกลี้ยกล่อมให้เลิกคิดบวชก็ไม่สำเร็จ จึงบอกบิดามารดาของสุทินว่า “คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องวิตกดอก สุทินเธอเป็นคนสุขุมาลชาติ เมื่อบวชเข้าจริงคงทนความลำบากไม่ไหว ไม่นานก็คงกลับมาเองแหละ”

บิดามารดาจึงอนุญาตให้บุตรชายบวช คิดว่าไม่นานเธอก็คงสึกมาตามที่เพื่อนๆ คาด

แต่ผิดคาดครับ พระสุทินหลังจากบวชแล้วไม่นาน ก็ทูลขอกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าแล้วเข้าป่าหาความสงบวิเวกตามลำพัง หายจ้อยไปแล้ว ไม่กลับเข้าเมือง

และไม่มายังบ้านโยมบิดามารดาเลย

กาลล่วงเลยไปหลายปี วันหนึ่งพระภิกษุหนุ่มกลับเข้ามาในเมืองกำลังเที่ยวภิกขาจารยอยู่ เห็นสาวใช้บ้านของตนเองกำลังจะเอาขนมที่เริ่มบูดมาทิ้ง จึงกล่าวว่า “น้องหญิง ถ้าเจ้าจะทิ้ง เอามาใส่บาตรอาตมาเถอะ”

นางจะเอาขนมใส่บาตร พอแหงนหน้าขึ้นมาเท่านั้น ก็จำได้รีบวิ่งไปบอกนายว่า “นายขา คุณผู้ชายกลับมาแล้ว กำลังเดินขอทานอยู่”

บิดามารดาของพระหนุ่มได้ยินดังนั้น ก็ดีใจที่ลูกกลับมา แต่เสียใจที่ลูกชายเที่ยว “ขอทาน” ทำไมหนอลูกเราจึงขายหน้าวงศ์ตระกูลปานฉะนี้ จึงให้คนไปนิมนต์มาคฤหาสน์ ต่อว่าต่อขานพักใหญ่ หาว่าทรัพย์สินเงินทองก็มีมากมาย ทำไมลูกถึงได้เดินขอทานตามถนน ทำให้พ่อแม่ขายหน้า

ภิกษุหนุ่มกล่าวว่า “นี้เป็นการบิณฑบาตตามวัตรจริยาของสมณศากยบุตร มิใช่เป็นการขอทาน หากแต่เป็นการโปรดสัตว์”

“เอาเถอะๆ แล้วไป ว่าแต่ว่าลูกลาสิกขามาดูแลทรัพย์สมบัติของเราเถิด พ่อแม่ไม่มีใครสืบสกุลแล้ว”

“อาตมายังยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ไม่อยากลาสิกขา” พระหนุ่มยืนยัน บิดามารดาอ้อนวอนอย่างไร เธอก็ยืนกรานว่าไม่ลาสิกขาเป็นอันขาด

บิดาจึงสั่งให้คนขนกหาปณะจากคลังมากองจนท่วมศีรษะแล้วกล่าวว่า “ลูกดูสิ ทรัพย์มากมายเหล่านี้ใครจะดูแล เมื่อไม่มีพ่อและแม่แล้ว”

พระลูกชายกล่าวว่า “ถ้ายุ่งยาก หาคนดูแลไม่ได้ โยมพ่อและโยมแม่ขนไปทิ้งทะเลเสียเถอะ”

คำพูดช่างเชือดเฉือนใจเสียนี่กระไร มารดาได้ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร

พระหนุ่มคงยังนั่งสงบตามลักษณะของสมณะแท้จริง

ทันใดนั้นโยมมารดานึกอะไรขึ้นมาได้ จึงกล่าวกับพระลูกชายว่า “ถ้าลูกไม่สึกก็ไม่เป็นไร พ่อแม่ขอ “หน่อ” ไว้สักหน่อจะได้ไหม”

“ได้ เจริญพร” พระหนุ่มคิดว่าคงไม่ผิดอะไร ดีเสียอีกเมื่อพ่อแม่มี “หน่อ” ไว้สืบสกุลแล้วจะได้ไม่มารบเร้าให้ตนสละเพศบรรพชิตอีก จึงหันไปกล่าวกับอดีตภรรยาว่า “น้องหญิงพร้อมเมื่อไหร่บอกอาตมาด้วย” (เป็นที่รู้กันว่า “พร้อม” ในที่นี้คืออะไร)

ต่อมาเมื่อนาง “พร้อมแล้ว” จึงแจ้งแก่พระหนุ่มอดีตสามี พระหนุ่มก็จูงมืออดีตภรรยาเข้าละเมาะ พระคัมภีร์ว่า “ได้จัดการ” เพื่อให้อดีตภรรยาได้หน่อ (ทำอย่างไร ก็รู้กันดีอยู่แล้วมิใช่เรอะ) ผู้รวบรวมพระคัมภีร์ท่านมีอารมณ์ขัน ท่านกล่าวว่า “พระสุทินกระทำซ้ำถึงสามครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าติดแน่” (ว่าอย่างนั้น)

และก็ติดจริงๆ หลังจากนั้นนางก็ตั้งครรภ์คลอดลูกออกมาเป็นชาย ปู่ย่าจึงขนานนามว่า “เด็กชายพีชกะ (พืช หรือหน่อ) ประชาชนรู้เรื่องก็พากันโพนทนากันให้แซ่ดว่า พระสมณศากยบุตร ไหนว่าบวชประพฤติพรหมจรรย์ ยังมาเสพเมถุนจนมีลูกมีเต้าน่าอับอายขายหน้าแท้”

เรื่องรู้ถึงพระพุทธองค์ พระองค์ทรงเรียกพระสุทินมาสอบสวนท่ามกลางสงฆ์ เธอรับเป็นสัตย์จริง จึงทรงตำหนิว่า ทำการไม่เหมาะสมไม่ก่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส และบั่นทอนความเลื่อมใสของผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว

จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ต่อแต่นี้ไปห้ามภิกษุเสพเมถุน ภิกษุใดเสพเมถุน ภิกษุนั้นขาดจากความเป็นภิกษุ ถูกขับออกจากหมู่ทันที”

พระสุทินจึงนับเป็นภิกษุรูปแรกที่ทำผิดขั้นอุกฤษฏ์ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กับสตรี ทำให้ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันที  

แต่เนื่องจากเธอเป็นผู้กระทำผิดคนแรก พระพุทธองค์จึงไม่ให้สึก ให้เธอเป็น “อาทิกัมมิกะ” (ต้นบัญญัติ) คล้ายกับว่าให้เป็นที่อ้างอิงในทางชั่ว สำหรับยกมาเตือนพระภิกษุอื่นๆ ในภายหลังว่าให้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัดนะ อย่าทำผิดถึงขั้นเสพเมถุนเหมือนพระสุทินอะไรประมาณนั้น

ความเป็นจริงให้เธอสึกหาลาเพศไปรักษาศีลบำเพ็ญทานในเพศฆราวาสเสียจะดีกว่า เมื่อเธอมิได้สึก เธอก็มีแต่ความเศร้าหมองจิตไปจนสิ้นชีวิต ไม่มีโอกาสงอกงามในคุณธรรมอีกเลย เพราะเธอได้ “ขุดรากถอนโคนตนเองเสียแล้ว”


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๓) ผู้ละเมิดปฐมปาราชิกคนแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๓ ประจำวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน - ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 ธันวาคม 2559 16:52:09 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 20 ธันวาคม 2559 14:37:00 »



สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๔)
ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก

พระภิกษุรูปแรกที่ลักของชาวบ้านจนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่ ๒ (ห้ามลักทรัพย์) คือ พระธนิยะ ชาวเมืองราชคฤห์

ก่อนหน้านี้อาจมีพระภิกษุลักทรัพย์หรือถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเท่ากับท่านธนิยะ

ใหญ่ขนาดไหน ก็ขนาดลักไม้จากโรงงานไม้หลวงเลยทีเดียว

เรื่องราวมีมาดังนี้ ขอรับ

ท่านธนิยะเป็นช่างก่อสร้างมาก่อนบวช เข้ามาแล้วก็สร้างกุฏิทำด้วยดินเผาตกแต่งภายนอกภายในสวยงามตามประสาช่าง พระสงฆ์องค์เจ้าเดินผ่านไปมา ก็เข้ามาชม ต่างก็สรรเสริญในความเก่งของท่านธนิยะ

แต่พระคุณเจ้าที่ท่านมีศีลาจารวัตรเคร่งครัดพากันตำหนิท่านธนิยะว่า ไม่ควรสร้างกุฏิสวยงามอย่างนี้

ความทราบถึงพระกรรณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสด็จมาทอดพระเนตรกุฏิอื้อฉาวนี้ด้วยพระองค์เอง แล้วตรัสเรียกพระธนิยะมาตำหนิโดยประการต่างๆ ทรงสั่งให้ทุบทำลายกุฏิของพระธนิยะเสีย

เมื่อกุฏิสวยงามที่สร้างมากับมือ ถูกพระพุทธองค์รับสั่งให้ทำลาย พระธนิยะคิดจะสร้างกุฏิไม้แทน จึงไปยังโรงไม้หลวง บอกคนเฝ้าโรงไม้หลวงว่า จะมาขนไม้ไปสร้างกุฏิ

“ไม้นี้เป็นของหลวงนะ ขอรับ” คนเฝ้าโรงไม้ทักท้วง

“อาตมาทราบแล้ว” พระหนุ่มตอบอย่างสงบ

“ไม้หลวงเป็นสมบัติของพระราชานะครับ พระองค์พระราชทานหรือยัง”
“พระราชทานเรียบร้อยแล้ว โยม”

เมื่อพระภิกษุหนุ่มยืนยันว่า ไม้นี้ได้รับพระราชทานจากในหลวงแล้ว ก็มอบให้ภิกษุหนุ่มขนไป

วันหนึ่งวัสสการพราหมณ์ ปุโรหิตแห่งพระราชสำนักเมืองราชคฤห์เดินทางมาตรวจโรงไม้ เห็นไม้หายไปจำนวนมาก จึงซักถามคนเฝ้า คนเฝ้าบอกว่าพระสมณศากยบุตรรูปหนึ่งเอาไป บอกว่าได้รับพระราชทานแล้วด้วย

วัสสการพราหมณ์ จึงไปกราบทูลถามพระเจ้าพิมพิสารถึงเรื่องนี้ พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้นิมนต์พระธนิยะเข้าไปพระราชวัง ตรัสกับภิกษุหนุ่มว่า

“นัยว่า พระคุณเจ้าเอาไม้หลวงไปจำนวนหนึ่ง เป็นความจริงหรือไม่”
“เป็นความจริง มหาบพิตร” ภิกษุหนุ่มตอบ
“ไม้เหล่านั้นเป็นของหลวง คนที่ได้รับอนุญาตจากโยมเท่านั้นจึงจะเอาไปได้ โยมมีภารกิจมากมายจำไม่ได้ว่าเคยออกปากถวายไม้แก่พระคุณเจ้าเมื่อใด ขอได้เตือนความจำโยมด้วยเถิด”

“ขอถวายพระพร เมื่อพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกนั้น พระองค์ตรัสว่า ต้นไม้และลำธารทั้งหลาย ข้าพเจ้ามอบให้แก่สมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล ขอจงใช้สอยตามอัธยาศัยเถิด นี้แสดงว่าพระองค์ได้พระราชทานไม้นี้ให้แก่อาตมาแต่บัดนั้นแล้ว”  พระหนุ่มอธิบาย

ถ้าเป็นผู้มีอำนาจสมัยนี้ คงฉุนขาด ถึงขั้นสบถแน่นอน แต่บังเอิญคู่กรณีของพระในเรื่องนี้ เป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ถึงกิเลสยังไม่หมดสิ้นจากจิตสันดาน ก็เบาบางลงมากแล้ว พระองค์ตรัสด้วยพระสุรเสียงเข้มว่า “คำกล่าวนั้น กล่าวตามโบราณราชประเพณี ในเวลาประกอบพระราชพิธี หมายถึงว่า สมณชีพราหมณ์จะใช้สอยลำธารหรือต้นไม้ใบหญ้าในป่า ที่ไม่มีเจ้าของนั้นสมควรอยู่ แต่ไม้ในโรงไม้หลวงนี้ มีเจ้าของหาควรที่สมณะจะเอาไปโดยพลการไม่ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ทำอย่างนี้ คงถูกลงอาญาแล้ว แต่เผอิญว่าพระคุณเจ้าเป็นสมณะจึงไม่เอาโทษ แต่ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก นับว่าโชคดีนะที่พระคุณเจ้า “พ้นเพราะขน”

คำว่า “พ้นเพราะขน” เป็นสำนวนเปรียบเทียบสัตว์ที่มีขนคือแกะ กับสัตว์ที่ไม่มีขนคือแพะ มีชะตากรรมแตกต่างกัน เมื่อเขาจะหาสัตว์ไปฆ่าบูชายัญ เขาจะเอาเฉพาะแพะ เพราะแกะมีขนที่เอามาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มได้ แกะจึงพ้นจากการถูกฆ่าเพราะขนของมัน

ฉันใดก็ฉันนั้น พระหนุ่มลักไม้หลวง แต่พระราชาไม่เอาโทษ ปล่อยไป เพราะทรงเห็นแก่ผ้าเหลือง ด้วยเหตุนี้พระราชาจึงตรัสว่าพระหนุ่มรอดพ้นจากอาญา “เพราะขน”

เหตุเกิดครั้งนี้ คงเป็นเรื่องอื้อฉาวพอสมควร ผู้คนคงบอกต่อๆ กันไป ผู้ที่จ้องจับผิดอยู่แล้วก็พากันกระพือข่าวในทางเสียหาย เช่นไหนพระสมณศากยบุตร คุยหนักว่าสละทุกสิ่งทุกอย่างมาบวชประพฤติพรหมจรรย์ ทำไมลักทรัพย์ของคนอื่น ดังเช่นโจรกระจอกทั่วไป

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสเรียกพระธนิยะผู้เป็นต้นเหตุมาสอบสวน ได้ความสัตย์จริงว่าเธอได้ถือเอาไม้หลวงที่ไม่ได้รับพระราชทานจากพระราชาจริง

ทรงตำหนิว่าพฤติกรรมอย่างนี้ไม่เหมาะสมที่พระศากยบุตรจะพึงกระทำ เพราะไม่เป็นที่เลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส และทำให้คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว เสื่อมศรัทธา

จึงทรงบัญญัติทุติยปาราชิกว่า “ภิกษุใดถือเอาของที่เขาไม่ให้ราคาตั้งแต่ห้ามาสกขึ้นไป มีโทษหนักเรียกว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันทีที่การกระทำเสร็จสิ้นลง”

เนื่องจากพระธนิยะเป็นคนทำผิดคนแรก พระพุทธองค์ไม่เอาผิด หากให้เธออยู่ในฐานะเป็น “อาทิกัมมิกะ” (ต้นบัญญัติ)

ความหมายก็คือ เอาไว้ให้อ้างอิงในทางชั่วว่า อย่าทำไม่ดีเหมือนพระธนิยะนะ อะไรประมาณนั้น •


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๔) ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๔ ประจำวันที่ ๒-๘ ธันวาคม ๒๕๕๙

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๕)
ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก

คราวนี้ละเมิดกันเป็นคณะเลยทีเดียว ไม่ใช่คนเดียวดังกรณีอื่น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระองค์ทรงแสดงอสุภกรรมฐาน (ว่าด้วยความไม่สวยงามแห่งร่างกาย) ให้พระภิกษุสงฆ์ฟัง

แสดงจบพระองค์ก็ตรัสว่า พระองค์จะหลีกเร้นอยู่กึ่งเดือน ห้ามใครรบกวน ยกเว้นพระภิกษุที่นำบิณฑบาตไปถวาย

ภิกษุสงฆ์ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องความไม่งามของร่างกาย อาจจะ “อิน” มากไปหน่อยหรืออย่างไรไม่ทราบ ต่างก็เบื่อหน่ายระอา สะอิดสะเอียดในความสกปรกเน่าเหม็นแห่งสรีระร่างกายของตนจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ บ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็ไหว้วานให้คนอื่นช่วยปลงชีวิตตน

ในวัดนั้นก็มี “สมณกุตตกะ” คนหนึ่งอาศัยอยู่ด้วย เป็นชายแก่อาศัยข้าวก้นบาตรพระยังชีพ รับใช้พระในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นุ่งห่มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์? เช่นเดียวกับพระสงฆ์ (คือเอาผ้าสบงจีวรมานุ่งห่มแต่มิใช่พระ) โบราณาจารย์แปลว่า “ตาเถน”

ภิกษุหลายรูปก็วานให้ “ตาเถน” คนนี้ช่วยปลงชีวิตให้ แรกๆ แกก็ตะขิดตะขวงใจ ที่ทำให้พระถึงแก่มรณภาพ แต่เมื่อพระสงฆ์ท่านบอกว่าเป็นการช่วยให้พวกท่านพ้นจากความทุกข์ ก็เลยเบาใจ ทำได้ครั้งหนึ่งแล้วก็ทำต่อๆ ไปโดยไม่รู้สึกผิดอะไร

ตกลง “ตาเถน” คนนี้ปลงชีวิตพระไปหลายรูป จนพระอารามที่มีพระหนาแน่นเบาบางลงถนัด

พระพุทธองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทอดพระเนตรเห็นพระบางตา ตรัสถามพระอานนท์ ได้ทราบว่าพระสงฆ์สาวกของพระองค์เบื่อหน่ายชีวิต พากันปลงชีวิตตัวเองบ้าง วานให้คนอื่นปลงชีวิตบ้าง จึงตรัสตำหนิว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่สมณศากยบุตรจะพึงทำเช่นนั้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตหรือแสวงหาศัสตราจะปลงชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น ภิกษุนั้นเป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้”

“หาสังวาสมิได้” ก็คืออยู่ร่วมกับหมู่คณะไม่ได้ ต้องสละเพศหรือสึกไป

ต่อมาไม่นานก็มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “ฉัพพัคคีย์” (กลุ่มหกคน) จะเรียกว่า “แก๊งหกคน” ก็คงไม่ผิดเพราะท่านเหล่านี้มีพฤติกรรมแผลงๆ เลี่ยงอาบัติหรือ “เลี่ยงบาลี” ออกบ่อยจนเป็นที่ระอาของพระสงฆ์ผู้ทรงศีลทั้งหลาย แก๊งหกคนนี้ไปเห็นสตรีสาวสวยนางหนึ่ง ก็เกิด “ปิ๊ง” เข้า อยากได้มาบำรุงบำเรอ (จะขั้นไหน ตำราไม่บอก) แต่ติดขัดที่นางมีสามีแล้ว จึงออกเล่ห์เพทุบายเข้าไปหาสามีของนางกล่าวพรรณนาคุณความตายให้อุบาสกสามีของนางจนเคลิบเคลิ้ม

แสดงว่าแก๊งหกคนนี้มีวาทศิลป์พูดชังจูงใจคนไม่เบาทีเดียว

“อุบาสก เท่าที่ผ่านมา ท่านก็ทำแต่กรรมดี มิได้ทำกรรมชั่วอะไรให้เป็นเหตุร้อนใจเลย ทำไมต้องมาทนอยู่ในโลกมนุษย์แสนสกปรกนี้ ควรรีบตายไปเอาทิพยสมบัติบนสรวงสวรรค์ดีกว่า นะอุบาสกนะ” อะไรประมาณนั้นแหละครับ

อุบาสกที่แสนดี แต่คอนข้างซื่อบื้อไม่รู้เล่ห์เหลี่ยมของเจ้ากูกะล่อนก็เชื่อสนิทใจ “จึงรับพระทานโภชนะอันแสลง เคี้ยวของที่แสดง ดื่มน้ำที่แสลง” แล้วไม่นานก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมในที่สุด

ภรรยาของอุบาสกผู้แสนซื่อ รู้ว่าสามีของตนตายเพราะอุบายสกปรกของเจ้ากูทั้งหกก็ด่าว่าอย่างรุนแรง “ท่านทั้งหก อ้างว่าเป็นสมณศากยบุตร แต่มีพฤติกรรมไม่สมควรแก่สมณะ เป็นคนทุศีล ไร้ยางอาย พูดเท็จ ท่านหมดความเป็นสมณะแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุให้สามีของฉันตาย”

ความทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ ให้ตามเจ้ากูทั้งหกเข้าเฝ้า ทรงซักไซ้ไล่เลียง จนสารภาพเป็นสัตย์ จึงตรัสตำหนิต่างๆ นานา แล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติม ว่า “อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตหรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่มนุษย์นั้นหรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตายด้วยคำพูดว่า ท่านผู้เจริญ จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าอยู่

เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ พรรณนาคุณความตายก็ดี ชักชวนเพื่อให้ตายก็ดี โดยนัยต่างๆ ภิกษุนี้เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้”

เรียกว่าบัญญัติรัดกุมจนดิ้นไม่หลุด ฆ่าเองก็ผิด ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าให้ก็ผิด พรรณนาคุณความตายจนเขาเชื่อตามแล้วฆ่าตัวตายก็ผิด รัดกุมขนาด แม่นกา

พระบาลีให้คำจำกัดความไว้เสร็จ เช่น ชักชวนอย่างไร พรรณนาคุณความตายอย่างไร โดยวิธีไหนบ้างจึงจะเข้าข่ายปาราชิก หรือไม่เข้าข่าย ทั้งนี้ เพื่อปิดช่องโหว่ไม่ให้พวก “ตราช้างเรียกพี่” เถียงข้างๆ คูๆ

เล่นกับพวกชอบเลี่ยงบาลีก็ต้องรัดกุมอย่างนี้แหละครับ •



ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๕) ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๕ ประจำวันที่ ๙-๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๖)
ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก

ที่ถูกควรเรียกว่า “กลุ่มแรก” เพราะพระคุณเจ้าที่ละเมิดปาราชิกข้อ ๔ ทำกันเป็นหมู่คณะ เรื่องของเรื่องมีดังนี้ครับ

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคาร ในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี เป็นระยะเวลาออกพรรษาใหม่ๆ พระสงฆ์ที่แยกย้ายกันไปจำพรรษายังเมืองต่างๆ ก็ทยอยมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ละรูปหน้าอิดโรยซูบซีดยังกับเพิ่งรอดชีวิตมาจากคลื่นยักษ์สึนามิพัดกระหน่ำก็มิปาน เพราะเกิดทุพภิกขภัยไปทั่ว พระสงฆ์องค์เจ้าอดอาหารกันเป็นแถว 

แต่มีภิกษุกลุ่มหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากริมฝั่งน้ำวัดคุมุทา รูปร่างอ้วนท้วน มีน้ำมีนวลอินทรีย์ผ่องใส ผิวพรรณผุดผ่อง

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า พวกเธออยู่จำพรรษายังต่างเมือง ยังพอยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ดอกหรือ พวกเธอกราบทูลว่า “อยู่ดีสบายพระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ภิกษุอื่นๆ ประสบความลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต จนผ่ายผอม แต่พวกเธอบอกว่าอยู่ดีสบาย เป็นไปได้อย่างไร

ภิกษุกลุ่มนี้กราบทูลว่า “พวกข้าพระพุทธเจ้ายกย่องกันเองให้โยมฟังว่า ท่านรูปนั้นบรรลุมรรคผลนิพพานขั้นนั้นๆ ญาติโยมเลยเลื่อมใส นำอาหารบิณฑบาตมาถวาย จึงมีอาหารขบฉันไม่อัตคัดขัดสนแต่ประการใดพระพุทธเจ้าข้า”

ได้ฟังดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสตำหนิด้วยวาทะแรงๆ ว่า “โมฆบุรุษ” ตรัสว่า การกระทำเช่นนี้เป็นลักษณะอาการของ “มหาโจร” แล้วตรัสถึงมหาโจร ๕ ประเภท คือ
๑.มหาโจรประเภทที่ ๑ คือภิกษุเลวทรามหลอกชาวบ้านให้เขาเคารพนับถือ ร่ำรวยลาภสักการะ ไม่ต่างกับมหาโจรทางโลกที่รวบรวมสมัครพรรคพวกเที่ยวปล้นฆ่าประชาชน
๒.มหาโจรประเภทที่ ๒ คือ ภิกษุเลวทรามเล่าเรียนพุทธวจนะจากตถาคตแล้ว อวดอ้างว่าไม่ได้เรียนมาจากใคร
๓.มหาโจรประเภทที่ ๓ คือ ภิกษุเลวทรามที่ใส่ความภิกษุผู้ทรงศีลด้วยข้อกล่าวหาผิดวินัยที่ไม่มีมูล
๔.มหาโจรประเภทที่ ๔ คือ ภิกษุเลวทรามที่เอาของสงฆ์ไปให้คฤหัสถ์ เพื่อประจบประแจงเขา
๕.มหาโจรประเภทที่ ๕ คือ ภิกษุเลวทรามที่อวด “อุตริมนุสสธรรม” (อวดคุณวิเศษ เช่น มรรคผลนิพพาน) ที่ไม่มีในตน

ในจำนวนมหาโจรทั้ง ๕ ประเภทนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ประเภทที่ ๕ เป็น “ยอดมหาโจร” เพราะหลอกลวงชาวบ้าน ปล้นศรัทธาประชาชนอย่างร้ายกาจ (โดยที่ผู้ถูกปล้นไม่รู้ตัว)

พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสสธรรมอีกต่อไป ความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รู้ กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอันประเสริฐว่าข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นปาราชิก ครั้นต่อมาเมื่อมีผู้ซักถามหรือไม่ก็ตาม ต้องการความบริสุทธิ์ดุจเดิม จึงสารภาพว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ แม้อย่างนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

ความในข้อนี้ก็คือ ภิกษุใด ไม่ได้รู้ได้เห็นด้วยญาณใดๆ กล่าวอวดอ้างว่าตนได้รู้ได้เห็น เป็นปาราชิกถึงแม้ภายหลังจะสำนึกผิดว่าตนได้อวดอ้างมาสารภาพก็ตามที ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

พระพุทธองค์ตรัสว่า การหลอกกินอาหารจากชาวบ้าน ด้วยอ้างว่าตนได้บรรลุมรรคผลชั้นใดๆ ก็ตาม ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง ให้เธอกลืนก้อนเหล็กแดงที่ลุกโชนยังดีเสียกว่า เพราะกลืนเหล็กแดง อย่างมากก็ตาย แต่กลืนข้าวที่ได้มาจากการหลอกลวงชาวบ้านตกนรกหมกไหม้อีกต่างหากด้วย

ถ้าถามว่า แค่ไหนจึงจะเรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรม หรืออวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน  พระวินัยปิฎกพูดไว้ชัดว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺโม นามฌานฺ วิโมกฺโข สมาธิ สมาปตฺติ ญาณทสฺสนํ มคฺค ภาวนา ผลสจฺฉิ กริยา กเลสปหานํ วินีวรรณตา จิตฺตสฺส สุญญาคาเร อภิรติ

ต้องแปลครับจึงจะรู้เรื่อง อุตริมนุสสธรรม (คุณวิเศษยิ่งยวด) ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ (การหลุดพ้น) สมาธิ สมาบัติ (การเข้าฌาน) การรู้ การเห็น การเจริญมรรค การทำผลให้แจ้ง การละกิเลสได้ การเปิดจิตจากกิเลส ความยินดีในเรือนร่าง

แปลแล้วยังไม่กระจ่าง ก็ต้องขยายอีกดังนี้ครับ ใครอวดว่าตนได้ฌานที่ ๑-๒-๓-๔ ทั้งที่ไม่ได้สักแอะ นี้เรียกว่าอวดแล้วครับ

ใครที่บอกว่า ตนหลุดพ้นแล้ว กิเลสมันตายแหงแก๋แล้ว อ้ายนี่ก็อวดครับ

ใครที่บอกว่า ตนได้เข้าสมาธิจนจิตแน่วแน่ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดแจ๋วแหวว เข้าฌานสมบัติได้สบาย อยู่ถึง ๖-๗ วันจึงออกจากสมาบัติสบายจัง อ้ายนี้ก็อวดเช่นกัน

ใครที่พูดว่า ตนได้วิชชา ๓ แล้วคือรู้ชาติหนหลัง รู้กำเนิดจุติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรมของแต่ละคนที่ทำมา (จนนั่งหลับตาบรรยายผ่านสื่อต่างๆ เป็นฉากๆ) รู้จนทำกิเลสให้หมดไป อ้ายนี่ก็อวด

ใครที่พูดว่า ตนได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จนสมบูรณ์ที่สุดเหนือใครๆ แล้ว อ้ายนี่ก็อวด

ใครที่พูดว่า ตนได้เปิดจิตจากกิเลส คือจิตของตนปราศจากราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิงแล้ว

สรุปแล้ว ใครที่ไม่ได้มีคุณสมบัติดังกล่าวหรือไม่ได้บรรลุคุณวิเศษดังกล่าว แล้วกล่าวอวดตนว่าตนมี ตนได้ ทำให้คนอื่นหลงเชื่อ ไม่ว่าจะพูดโดยตรง หรือโดยอ้อม ก็ตาม เรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรมทั้งสิ้น

“ใคร” ที่ว่านี้หมายถึง พระภิกษุครับ (ฆราวาสอวด ไม่ต้องปาราชิก แต่จะถูกตราหน้าว่าไอ้คนขี้โม้) พระภิกษุรูปใดอวดคุณวิเศษที่ตนเองไม่มี เช่น อวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นอริยะ อรหันต์ ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นพระทันทีที่อวด ไม่จำเป็นต้องมีโจทย์ฟ้องร้องถึงสามศาลอย่างกรณีของชาวบ้าน

มีข้อคิดน่าคิดอย่างหนึ่ง คนที่อวดว่าบรรลุนั่นบรรลุนี่มักจะไม่บรรลุจริง

ส่วนท่านที่บรรลุจริงกลับไม่พูด และที่ประหลาดก็คือ ชาวบ้านปุถุชนคนมีกิเลส มักจะไปตั้ง “อรหันต์” กันง่ายๆ ดังมักพูดว่า พระอรหันต์แห่งอีสานบ้าง อรหันต์กลางกรุงบ้าง ตนเองก็กิเลสเต็มพุงแล้วรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่เป็น

ที่ไม่รู้ก็อยากรู้ว่าท่านเป็นอรหันต์หรือไม่ ดังเขาเล่าว่าหม่อมคนดังคนหนึ่งไปเรียนถามท่านเจ้าคุณนรฯ ว่าเป็นอรหันต์หรือเปล่า ท่านเจ้าคุณฯ ดึงหูคนถามมาใกล้ๆ แล้วพูดเสียงดังฟังชัดว่า “ไอ้บ้า” •


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๖) ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๖ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 11 มกราคม 2560 15:54:59 »



สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๗)
สังคายนาครั้งแรก

สังคายนา คือ การรวบรวมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดหมู่

ก่อนหน้าสังคายนาเกิดขึ้นจริงๆ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ได้รวบรวมหมวดหมู่แห่งธรรมะตั้งแต่หมวดหนึ่งถึงหมวดสิบ และเกินสิบไว้ก่อนแล้ว ชื่อว่า สังคีติสูตร และ ทสุตตรสูตร

ที่ไม่นับเป็นสังคายนาก็เพราะยังไม่สมบูรณ์

สังคายนาครั้งแรกที่สมบูรณ์เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน

โดยพระอรหันต์สาวก ๕๐๐ รูป อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์

ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานของเหล่ามัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารานั้น พระมหากัสสปะอยู่ต่างเมืองทราบข่าวพระประชวรของพระพุทธองค์ จึงเดินทางพร้อมภิกษุบริวารประมาณ ๕๐๐ รูป เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ก่อนเข้าไปยังเมืองกุสินารา

ได้พักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่งขณะนั้นอาชีวกนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพเดินออกนอกเมืองมา พระมหากัสสปะจึงเอ่ยถามถึงพระพุทธเจ้า

อาชีวกคนนั้นกล่าวว่า ศาสดาของพวกท่านปรินิพพานได้ตั้ง ๗ วันแล้ว พวกท่านยังไม่ทราบอีกหรือ

ได้ยินดังนั้นภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ก็นั่งนิ่งปลงธรรมสังเวช พิจารณาความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร

ฝ่ายภิกษุที่ยังเป็นเสขบุคคลและปุถุชนอยู่จำนวนมาก ก็พากันร่ำไห้อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์

มีขรัวตารูปหนึ่งนามสุภัททะ ได้เห็นภิกษุทั้งหลายร่ำไห้อยู่ จึงปลอบโยนว่านิ่งเสียเถอะ อย่าร้องไห้เลย พระศาสดาปรินิพพานไปก็ดีแล้ว สมัยยังทรงพระชนม์อยู่ทรงจู้จี้สารพัด ห้ามโน่นห้ามนี่ จะทำอะไรก็ดูผิดไปหมดไม่มีอิสระเสรีภาพเลย บัดนี้เราเป็นอิสระแล้ว ปรารถนาจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้

พระมหากัสสปะได้ยินดังนั้นก็สลดใจ “โอหนอพระบรมศาสดาสิ้นไปยังไม่ข้าม ๗ วันเลย สาวกของพระองค์พูดได้ถึงขนาดนี้ ต่อไปนานเข้าจะขนาดไหน”

ท่านรำพึงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะทรงพระชนม์อยู่ทรงมีพระมหากรุณาแก่ท่านเป็นกรณีพิเศษ ได้ประทานบาตรและจีวรแก่ท่าน และทรงรับเอาบาตรจีวรของท่านไปทรงใช้เอง นับว่าทรงไว้วางพระทัยต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ถูกดูหมิ่น จ้วงจาบเช่นนี้จะนิ่งดูดายหาควรไม่

ท่านจึงตัดสินใจทำสังคายนาโดยคัดเลือกพระอรหันต์สาวกผู้ทรงอภิญญา ได้จำนวน ๔๙๙ รูป

เว้นไว้ ๑ รูป เพื่อพระอานนท์

ขณะนั้นพระอานนท์ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล จะเลือกท่านด้วยก็ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติยังไม่ครบ ครั้นจะไม่เลือกก็ไม่ได้ เพราะการทำสังคายนาครั้งนี้ขาดพระอานนท์ไม่ได้ เนื่องจากพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุด ได้ทรงจำพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์มากกว่าใคร

พระมหากัสสปะจึงให้โอกาสพระอานนท์ เพื่อเร่งทำความเพียรเพื่อทำที่สุดทุกข์ให้ได้ทันกำหนดสังคายนา อันจะมีขึ้นใน ๓ เดือนข้างหน้า

พระอานนท์จึงเร่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างหนัก

แต่ยิ่งเพียรมากเท่าไร ก็ดูเสมือนว่าจุดหมายปลายทางห่างไกลออกไปทุกที

จึงรำพึงว่าพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า เราจะทำที่สุดทุกข์ได้ไม่นานหลังจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน คำพยากรณ์ของพระพุทธองค์คงไม่มีทางเป็นอื่นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องเพียรให้มากขึ้นกว่าเดิม

วันหนึ่งหลังจากเพียรภาวนาอย่างหนักรู้สึกเหนื่อยจึงกำหนดว่าจะพักผ่อนสักครู่แล้วจะเริ่มใหม่ จึงนั่งลงเอนกายนอนพัก

เท้าไม่ทันพ้นพื้น ศีรษะไม่ทันถึงหมอน ท่านก็ “สว่างโพลงภายใน” บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ขีณาสพทรงอภิญญาในบัดดล

ขณะนั้นพระสงฆ์ ๔๙๙ รูป กำลังนั่งประชุมกันตามลำดับพรรษา เว้นอาสนะว่างไว้หนึ่งที่สำหรับพระอานนท์ พระอานนท์ต้องประกาศว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว จึงเข้าณานบันดาลฤทธิ์ดำดินไปโผล่ขึ้นนั่งบนอาสนะ ท่ามกลางสังฆสันนิบาต ทันเวลาพอดี

เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว พระมหากัสสปะประมุขสงฆ์ได้ประกาศให้พระอุบาลีผู้เชี่ยวชาญพระวินัยทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ผู้เป็นพหูสูต ทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม โดยตัวท่านเองทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามประเด็นต่างๆ มีพระสงฆ์ทั้งปวงช่วยกันสอบทาน

ลักษณะของการสังคายนาคงเป็นทำนองนี้คือ

๑.พระสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ รูป คงต่างก็เสนอพระธรรมเทศนาที่ตนได้ยินมาจากพระพุทธเจ้า มากบ้างน้อยบ้าง ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ได้มาจากพระอุบาลีและพระอานนท์

๒.พระธรรมเทศนานั้นๆ พระพุทธองค์คงทรงแสดงโดย “ภาษา” ถิ่นต่างๆ พระสงฆ์ในที่ประชุมคงตกลงกันว่าจะต้องใช้ภาษาใดภาษาหนึ่ง “ร้อยกรอง” เป็นภาษา “มาคธี” (หรือภาษามคธ) เมื่อซักถามและตอบให้อรรถาธิบาย จนเป็นที่ตกลงกันแล้ว ก็ “ร้อยกรอง” เป็นภาษามาคธี

๓.เมื่อร้อยกรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็ “สวดสังวัธยายร่วมกัน” คือท่องพร้อมๆ กัน เพื่อให้จำได้คล่องปาก เพราะฉะนั้น จึงเรียกกิจกรรมครั้งนี้ว่า “สังคายนา” (แปลว่าสวดร่วมกัน, สวดพร้อมกัน) ด้วยประการนี้

สังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหาข้างเขาภารบรรพตนอกเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ครองนครขณะนั้นทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ กระทำกันอยู่เป็นเวลา ๗ เดือนจึงสำเร็จ

การทำสังคายนาครั้งแรกนี้เรียกว่า “สังคายนาพระธรรมวินัย” เนื่องจากยังไม่มีพระไตรปิฎกและได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบ “มุขปาฐะ” (คือการท่องจำ)


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๗) สังคายนาครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๗ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๙


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๘)
พระธรรมทูตชุดแรก

พระธรรมทูตชุดแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา มีจำนวน ๖๐ รูป

เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่ช้าไม่นานหลังจากตรัสรู้

รายละเอียดมีดังนี้

เมื่อตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ผู้ปรนนิบัติพระองค์ตอนบำเพ็ญทุกรกิริยา พอพระองค์ทรงเลิกอดพระกระยาหาร ก็ผิดหวังพากันหลีกไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ดังที่ผู้เรียนพุทธประวัติทราบกันโดยทั่วไป

พระองค์ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันมีเนื้อหาว่าด้วยทางที่บรรลุบรรพชิตไม่ควรดำเนิน ๒ ทาง คือการทรมานตนให้ลำบาก และการหมกมุ่นในกามารมณ์ เพราะมิใช่ทางนำไปสู่การพ้นทุกข์ ทรงแสดงอริยมรรคมีองค์แปด หรือ “มัชฌิมาปฏิปทา” (ทางสายกลาง) อันนำไปสู่การพ้นทุกข์ และแนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ โดยพิสดาร

จบพระธรรมเทศนา โกณฑัญญะ หัวหน้าปัญจวัคคีย์ เกิด “ดวงตาเห็นธรรม” คือเข้าใจว่า สิ่งใดก็ตามที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีการดับเป็นธรรมดา

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ” คำว่า “รู้แล้วหนอ” บาลีว่า อญฺญาสิ เมื่อโกณฑัญญะขอบวชเป็นภิกษุรูปแรกที่ประทานให้โดยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”

คำว่า อัญญา ในคำว่า “อญฺญาสิ” ได้กลายมาเป็นคำต้นชื่อของท่านโกณฑัญญะ ท่านโกณฑัญญะจึงมีชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ แต่บัดนั้นมา

พระพุทธองค์ประทับพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในระหว่างนั้น ยสกุลบุตร บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี ที่ได้รับการปรนเปรอด้วยความสนุกสบายสารพัดอย่าง เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาสจึงหนีออกจากบ้านกลางดึกเดินมุ่งหน้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันพลางอุทานด้วยความสลดใจ “ที่นี่วุ่นวายหนอที่นี่ขัดข้องหนอ”

พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ ตอนจวนใกล้รุ่ง ทรงสดับเสียงของยสกุลบุตร จึงตรัสตอบว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง”

ฝ่ายบิดามารดายสุกบุตร เมื่อบุตรหายไปก็สั่งให้ตามหา ผู้เป็นบิดายังมาป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงใช้อิทธฤิทธิ์มิให้พ่อลูกพบกัน ทรงแสดงธรรมแก่เศรษฐี จบพระธรรมเทศนา เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วปฏิญาณตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

พระยสะนั่งฟังธรรมอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ได้บรรลุพระอรหัต เมื่อพระพุทธองค์ทรงคลายฤทธิ์แล้วพ่อลูกได้มองเห็นกัน บิดาพระยสะขอให้บุตรชายกลับไปครองเรือนตามเดิม กล่าวว่า “ตั้งแต่เจ้าหายไป แม่เจ้าร้องไห้ คร่ำครวญเป็นทุกข์มากเจ้าจงให้ชีวิตแก่แม่เจ้าเถิด”

พระพุทธองค์ตรัสว่า บัดนี้ยสะไม่สมควรอยู่ครองฆราวาสต่อไปแล้ว ซึ่งเศรษฐีก็เข้าใจ จึงอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหาร ณ คฤหาสน์ของตน เมื่อบิดากลับไปแล้ว ยสกุลบุตรจึงทูลขอบวช พระพุทธองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้

รุ่งเช้ามา พระพุทธองค์เสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่คฤหาสน์เศรษฐี มีพระยสะโดยเสด็จ มารดาและอดีตภรรยาของพระยสะได้สดับพระธรรมเทศนา ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ปฏิญาณตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

เมื่อยสกุลบุตรออกบวช สหายสนิท ๔ คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ ตามมาบวชด้วย ไม่นานสหายของยสะที่อยู่ตามชนบทต่างๆ อีกจำนวน ๕๐ ก็มาบวชด้วยเช่นกัน รวมทั้งหมด ๕๔ คน เมื่อบวชแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตโดยทั่วกัน

เป็นอันว่าชั่วระยะเวลาไม่นาน มีพระอรหันต์สาวกจำนวน ๖๐ รูป

๖๐ รูปมาจากไหน ปัจจวัคคีย์ ๕ + พระยสะและสหายพระยสะ ๕๕ = ๖๐ พอดิบพอดี

เมื่อทรงเห็นว่ามีจำนวนพระอรหันตสาวกมากพอสมควรแล้วพระพุทธองค์จึงตรัสเรียกประชุมประทานพุทธโอวาทใจความว่า (ตรงนี้ขอยกบาลีมาให้อ่านเต็มๆ หน่อยครับ)

“มุตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ มา เอ เกน เทฺว อคมิตฺถ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลยาณํ สาตฺถํ สพฺยญชนํ เกวล ปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ

ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งของทิพย์และของมนุษย์ พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นกัน ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พวกเธออย่าไปทางเดียวกันสองคน จงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ (การดำเนินชีวิตประเสริฐ) ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งอรรถะ (ความ) และพยัญชนะ (คำ)”

เสร็จแล้วก็ทรงส่งให้แยกย้ายกันไปเผยแผ่แนวทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐแก่ชาวโลก นับว่าเป็นคณะธรรมทูตชุดแรกในประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนาด้วยประการฉะนี้แล •


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๘) พระธรรมทูตชุดแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๘ ประจำวันที่ ๓๐ ธันวาคม - ๕ มกราคม ๒๕๖๐


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๙)
พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก

ตั้งหัวเรื่องอย่างนี้ คล้ายจะบอกว่า พระไตรปิฎกเกิดขึ้นหลายครั้ง มีครั้งแรก ครั้งที่สองด้วย อะไรประมาณนั้น ความจริง ก็เกิดขึ้นครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น

เดิมทีเดียวพระไตรปิฎก ปรากฏอยู่ในรูปเป็น “พระธรรม-วินัย” (ธมมฺวินย) หรือ “พรหมจรรย์” (พรหฺมจริย) สองคำนี้ใช้เรียกสิ่งเดียวกัน คือพระพุทธศาสนาทั้งหมด

พระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้แล้ว ก็เสด็จไปประกาศเผยแผ่ให้ประชาชนได้รับทราบ สำนวนภาษาบาลีจึงกล่าวว่า “ทรงประกาศพระธรรมวินัย” บ้าง “ทรงประกาศพรหมจรรย์” บ้าง

(ทานโทษเพื่อให้ชัด เดี๋ยวท่านผู้รู้จะทักท้วง ท่านใช้ “ศาสนา” เฉยๆ ต่อมาได้เติมคำว่า “พุทธ” นำหน้าเพื่อให้ชัดเจนว่าศาสนาในที่นี้คือพระพุทธศาสนา)

ธรรมวินัย อันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ในชั้นต้นๆ ก็มิได้รวบรวมเป็นหมวดหมู่แน่นอน จะมีบ้างที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยๆ ก็คือ แบ่งเป็น ๙ หมวด เรียก “นวังคสัตุสาสน์” คือ
(๑) คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน
(๒) ประเภทร้อยกรองล้วน
(๓) ประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรอง
(๔) ประเภทอรรถาธิบาย
(๕) ประเภทคำอุทาน
(๖) ประเภทคำอ้างอิง
(๗) ประเภทเรื่องคุณวิเศษเฉพาะตนของพระพุทธเจ้าและพระสาวก
(๘) ประเภทนิทานชาดก เล่าถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญบารมีต่างๆ
(๙) ประเภทคำสนทนาถาม-ตอบเพื่อความรู้ยิ่งๆ ขึ้น

มีบ้างที่เอ่ยถึงการแบ่งเป็น “วรรค” เช่น ตอนเล่าเรื่องพระโสภณกุฏิกัณณะ สวดธรรมที่อยู่ใน “อัฎฐกวรรค” และ “ปรายนวรรค” ให้พระพุทธเจ้าทรงสดับ

มีบ้างที่เล่าถึงพระสารีบุตรอัครสาวกได้รจนาพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่เรียกว่า “สังคีติสูตร” และ “ทสุตตรสูตร” และเล่าไปถึงว่าเมื่อท่านพระสารีบุตรรจนาเสร็จแล้ว มีโอกาส Present ให้ที่ประชุมสงฆ์ฟังโดยพระพุทธานุญาต ณ สัณฐาคาร (รัฐสภา) ที่สร้างขึ้นใหม่ของเหล่ามัลลกษัตริย์

ทั้งหมดนี้ ยังไม่พบการเรียกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พระไตรปิฎก” ในสมัยพุทธกาลแม้หลังพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน เมื่อพระมหากัสสปะเรียกประชุมพระสงฆ์ ๕๐๐ รูปร้อยกรอง (สังคายนา) พระพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่ ก็ไม่เอ่ยคำว่า “พระไตรปิฎก”

ยังคงใช้คำว่า “สังคายนาพระธรรมวินัย” อยู่  แม้พระพุทธศาสนาล่วงเลยมา ๑๐๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน มีการสังคายนาครั้งที่สอง เพื่อวินิจฉัย “วัตถุ ๑๐ ประการ” ที่กลุ่มภิกษุวัชชีบุตรนำเสนอ ก็ยังเรียกว่า “ธมฺมวินย วิสชฺชนา” (การวิสัชนาพระธรรมวินัย)

พระธรรมวินัยได้กลายมาเป็นพระไตรปิฎกเมื่อใด ไม่มีหลักฐานที่ไหนชัดแจ๋วแหววพอที่จะชี้ลงไปได้แน่นอน คงต้องสันนิษฐานเอาตามหลักฐานเท่าที่มีนำมาปะติดปะต่อกัน

เข้าใจกันว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒-๓ คือหลังสังคายนาครั้งที่ ๒ ถึงสังคายนาครั้งที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง ได้เกิดคำว่า “ปิฎก” ขึ้นสำหรับเรียกพระธรรมวินัย โดย ”ธรรม” ได้แตกออกเป็นพระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก ส่วน “วินัย” เป็น พระวินัยปิฎก

หลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้คือ ใน “จารึกสาญจิสถูป” มีกล่าวถึงพระเถระพระเถรี ว่ามีความเชี่ยวชาญปิฎกต่างๆ หรือบางส่วนของปิฎก เช่น
เปฎกินฺ = พระเถระผู้ทรงจำปิฎกทั้งหลาย
สุตฺนฺตินี = พระเถรีผู้ทรงจำพระสูตร
ทีฆภาณิกา = พระเถระ/พระเถรีผู้สวดทีฆนิกาย
ปญฺจเนกายิกา = พระเถระ/พระเถรีผู้ทรงจำนิกายทั้ง ๕

นอกจากนี้ เล่าถึงพระเจ้าอโศก ทรงแนะให้พระสงฆ์ศึกษาเนื้อหาของพระไตรปิฎกให้เข้าใจแจ่มแจ้งเพื่อนำไปสอนประชาชน มีระบุถึงอริยวสานิ (ตรวจสอบแล้ว ปรากฏอยู่ใน ทีฆนิกาย สังคีติสูตร) อนาตคภยานิ (ปรากฏอยู่ใน อังคุตตนิกายและขุททกนิกาย อิติวุตตกะ) เป็นต้น

มีหลักฐานชิ้นหนึ่งว่า คัมภีร์ กลาวัตถุ ได้แต่งขึ้นในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ และคัมภีร์นี้ได้ถูกผนวกเข้าเป็น ๑ ในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ทำให้เนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกสมบูรณ์

จากหลักฐานเหล่านี้ ชี้ว่า พระธรรมวินัยได้แตกออกเป็นพระไตรปิฎกแล้วในช่วงนี้ จึงพอจะกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่าพระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก หลังพุทธปรินิพพาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒ ถึงที่ ๓ และไม่หลังสมัยพระเจ้าอโศกแน่นอน


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๙) พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๙ ประจำวันที่ ๖ -๑๒ มกราคม ๒๕๖๐




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๐)
พระสงฆ์ทะเลากันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรก

พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าทะเลาะวิวาทกันก็คงมีบ่อยๆ เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ครั้งใหญ่ที่สุดจนเกิดความแตกแยกเป็นครั้งแรกและเกิดในสมัยพุทธกาลด้วย ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก  ก็คือการทะเลาะของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี

ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ได้นำมาเล่าต่อ พร้อม “ใส่ไข่” (ผมอยากจะเรียกอย่างนั้น) ทำให้เราอ่านไปมีความมันในอารมณ์ไปด้วย

เรื่องมีอยู่ว่า ในวัดแห่งหนึ่ง เมืองโกสัมพี มีพระภิกษุอยู่ร่วมกันจำนวนมาก มีพระเถระสองรูป เป็นที่เคารพของพระภิกษุทั้งหลาย รูปหนึ่งเป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัย มีความเชี่ยวชาญในการอธิบายพระวินัย เรียกตามศัพท์ของพระอรรถกถาจารย์ว่า “พระวินัยธร” อีกรูปหนึ่งมีความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรม เรียกว่า “พระธรรมกถึก”

ทั้งสองรูปมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากทัดเทียมกัน ถึงในเนื้อหาจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกชัดเจนแต่โดยพฤตินัยก็พอมองเห็นเป็นรูปธรรมรวมไปถึงญาติโยมด้วย พวกที่ชอบพระนักเทศน์ก็ไปหาพระนักเทศน์ พวกที่ชอบพระผู้เชี่ยวชาญพระวินัยก็ไปหาพระวินัยธร บ่อยๆ

สมัยนี้เรียกว่า “ขึ้น” ทั้งสองรูปมีญาติโยมขึ้นพอๆ กัน

ท่านเหล่านี้ก็อยู่ด้วยกันมาด้วยดี ไม่มีอะไร อยู่มาวันหนึ่ง พระวินัยธรเข้าห้องน้ำ (สมัยโน้นวัจกุฏีก็คงเป็นส้วมหลุม มากกว่าห้องน้ำในปัจจุบัน) ออกมาเจอพระธรรมกถึก ถามว่า ท่านใช่ไหมที่เข้าห้องน้ำก่อนผม พระธรรมกถึกรับว่า ใช่ มีอะไรหรือ

“ท่านเหลือน้ำชำระไว้ครึ่งขัน ท่านทำผิดพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฎแล้ว รู้หรือเปล่า” พระวินัยธรกล่าว

“โอ ผมไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นผมขอปลงอาบัติ” พระธรรมกถึกยอมรับและยินดี “ปลงอาบัติ” หรือแสดงอาบัติ อันเป็นวิธีออกจากอาบัติตามพระวินัย

พระวินัยธรกล่าวว่า ถ้าท่านไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องอาบัติดอก แล้วก็เดินจากไปเรื่องก็น่าจะแล้วกันไป แต่ไม่แล้วสิครับ พระวินัยธรไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า พระธรรมกถึก ดีแต่เทศน์สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้เลย ลูกศิษย์พระวินัยธร ก็ไปบอกลูกศิษย์พระธรรมกถึกทำนองบลั๊ฟฟ์กันกลายๆ ว่า อาจารย์ของพวกท่านดีแต่สอนคนอื่นตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้เลย

เรื่องรู้ถึงหูพระธรรมกถึก ก็หูแดงสิครับ ใครมันจะยอมให้กล่าวหาว่าจงใจละเมิดพระวินัย จึงตอกกลับพระวินัยธรว่า สับปลับ ทีแรกว่าไม่เป็นไร แต่คราวนี้ต้องว่าอาบัติ พระวินัยธรก็ต้องอาบัติข้อพูดเท็จเหมือนกัน

เอาละสิครับ เมื่ออาจารย์ทะเลาะกัน พวกลูกศิษย์ก็ทะเลาะกันด้วย ขยายวงกว้างออกไปจนถึงญาติโยมผู้ถือหางทั้งสองฝ่ายด้วย เรื่องลุกลามไปใหญ่โต ทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์เสด็จมาห้ามปราม แต่ทั้งสองฝ่ายก็เลือดเข้าตาแล้ว ไม่ยอมเชื่อฟัง

พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ ณ ป่าปาลิเลยยกะ (หรือ ปาลิไลยกะ) ตามลำพัง มีช้างนามเดียวกับป่าเฝ้าปรนนิบัติ ทรงจำพรรษาที่นั่น ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดถึงช้างตัวเดียว ไม่พูดถึงลิง แต่ในอรรถกถาบอกว่ามีลิงด้วยตัวหนึ่ง

ว่ากันว่าช้างคอยต้มน้ำให้พระพุทธองค์ทรงสรง ทำอย่างไรหรือครับ แกกลิ้งก้อนหินที่ตากแดดทั้งวันยังอมความร้อนอยู่ ลงในแอ่งน้ำเล็กๆ น้ำนั้นก็อุ่นขึ้นมา แล้วก็ไปหมอบแทบพระบาททำนองอาราธนาให้สงสนาน พระพุทธองค์เสด็จไปสรงน้ำนั้นอย่างนี้ทุกวัน

เจ้าจ๋อเห็นช้างทำอย่างนั้น ก็อยากทำอะไรแด่พระพุทธองค์บ้าง มองไปมองมาเห็นผึ้งรวงใหญ่ก็ไปเอามาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับแล้วก็วางไว้ ไม่เสวย เจ้าจ๋อสงสัยว่าทำไมพระองค์ไม่เสวย ก็ไปหยิบรวงผึ้งมาพินิจพิเคราะห์ดู เห็นตัวอ่อนเยอะแยะเลย จึงหยิบออกจนหมดแล้วถวายใหม่ คราวนี้พระองค์เสวย ก็เลยกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ ที่พระพุทธองค์เสวยรวงผึ้งที่ตนถวาย ปล่อยกิ่งนี้จับกิ่งนั้นเพลิน

บังเอิญไปจับกิ่งไม้แห้งเข้า กิ่งไม้หักร่วงลงมาถูกตอไม้ทิ่มตูดตาย คัมภีร์เล่าต่อว่า ลิงตัวนั้นตายไปเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า มักกฎเทพบุตร (แปลว่าเทพบุตรจ๋อ) ปานนั้นเชียว

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จหลีกไปตามลำพัง พวกอุบาสกอุบาสิกาที่ทรงธรรม ไม่เข้าข้างฝ่ายไหนทั้งนั้น ก็พากันแอนตี้พระภิกษุเหล่านั้น ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์เสด็จหนีไป พวกตนมิได้เฝ้าพระพุทธองค์ พระเหล่านั้นรู้สำนึก จึงขอขมา

แต่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายบอกให้ไปกราบขอขมาพระพุทธองค์

ออกพรรษาแล้ว พระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอขมา โดยมีพระอานนท์เป็นผู้ประสานงาน (แหม ใช้ภาษาทันสมัยจังเนาะ)

พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของการทะเลาะวิวาท และอานิสงส์ (ผลดี) ของความสามัคคี แก่พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น

ท่านเหล่านั้นก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม

ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่งเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้คือ ปางปาลิไลยกะ (ป่าเลไลยก์) พระพุทธองค์ประทับห้อยพระบาทมีลิงถือรวงผึ้งและช้างหมอบแทบพระยุคลบาท อย่าถามว่าสร้างสมัยไหน ผมไม่ทราบเพราะเกิดไม่ทัน

นี้เป็นการทะเลาะกันของพระสงฆ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา แต่การทะเลาะกันเพราะความคิดเห็นต่างกัน ก็ไม่ถึงกับแตกนิกาย ดังสมัยหลัง เพราะอย่างไรก็มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นจุดศูนย์กลางคอยชี้แจงไกล่เกลี่ยให้กลับคืนดีกัน สมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๐) พระสงฆ์ทะเลาะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๐ ประจำวันที่ ๑๓-๑๙ มกราคม ๒๕๖๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กุมภาพันธ์ 2560 14:08:12 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 08 กุมภาพันธ์ 2560 14:20:39 »




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๒)
วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี

สมัยพุทธกาล การสร้างวัดมิได้สร้างง่ายๆ และสร้างบ่อย เหมือนในยุคหลัง
วัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือวัดพระเวฬุวัน พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองคฤห์

“วัด” ในความหมายนี้คือ สวนไผ่หรือป่าไผ่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าเวฬุวัน (ป่าไผ่) เวฬุวนาราม (สวนป่าไผ่) คงยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไร

แต่เมื่อสร้างวัดที่เมืองสาวัตถีนั้นแหละเข้าใจว่าคงมีสิ่งปลูกสร้าง มีวิหาร ปราสาท (แปลว่าเรือน หรือตึก) ด้วย

คนสร้างเป็นเศรษฐี ชื่อเดิมว่า สุทัตตะ เศรษฐีที่ทำมาค้าขายโดยสุจริต ไม่ใช่เศรษฐีค้าขายผูกขาดปั่นหุ้น

ท่านผู้นี้ก่อนจะรู้จักพระพุทธเจ้า ก็เดินทางไปค้าขายยังเมืองต่างๆ ตามประสาพ่อค้า
 
คราวหนึ่งเดินทางไปเมืองราชคฤห์ พักอยู่ที่คฤหาสน์ของน้องเขย เห็นคนในบ้านตระเตรียมอย่างขะมักเขม้น ยังกับจะมีงานเลี้ยงมโหฬาร จึงซักถาม ได้ความว่า มิได้เตรียมสถานที่เพื่อจัดปาร์ตี้อะไร หากแต่เตรียมเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

สุทัตตะได้ยินดังนั้นก็ขนหัวลุกด้วยความปลาบปลื้มดีใจ จึงถามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ตนอยากไปพบ

น้องเขยบอกว่าพรุ่งนี้ก็จะได้พบอยู่แล้ว

คืนนั้นสุทัตตะนอนไม่ค่อยจะหลับ กระสับกระส่าย เพราะอยากพบพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ทนรอจนถึงเช้าไม่ไหวจึงตัดสินใจออกจากคฤหาสน์ไปยังสถานที่ที่พระพุทธองค์ประทับก่อนรุ่งแจ้ง

ขณะเขาเดินเข้าไปใกล้ ก็ได้ยินพระพุทธองค์ดำรัสว่า “สุทัตตะมานี่สิ” เขาขนลุกเป็นครั้งที่สอง ประหลาดใจที่พระพุทธองค์ทรงทราบว่าเขากำลังมาเฝ้า และทรงรออยู่ จึงเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท

พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพีกถา” (เทศนาอันว่าด้วยทาน ศีล โทษแห่งกาม อานิสงส์แห่งสวรรค์ และการปลีกจากกามารมณ์) เป็นการปูพื้นฐานจิตใจแก่เขา

เขาได้สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ยกระดับจากความเป็นปุถุชนขึ้นเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น เรียกว่าได้ “เข้าสู่กระแสพระนิพพาน”

สุทัตตะได้ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงไตรสรณคมน์ ตลอดชีวิต โดยอัญเชิญเสด็จพระพุทธองค์ไปยังคฤหาสน์ของน้องเขย เขาได้ขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานที่คฤหาสน์เศรษฐีผู้เป็นน้องเขยตลอด ๗ วัน แล้วทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะทั้งหลายย่อมยินดีในสถานที่อันสงัด

เพียงแค่นี้เศรษฐีระดับด๊อกเตอร์ก็รู้แล้วว่า พระพุทธองค์จะทรงเสด็จไปประทับ ทูลลากลับเมืองสาวัตถีด้วยจิตใจเปี่ยมด้วยความสุขหาใดปาน

กลับถึงบ้านก็เที่ยวสำรวจสถานเหมาะจะสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ ไปชอบใจสวนของเจ้านายในราชวงศ์พระองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าชายเชต จึงไปเจรจาขอซื้อ

เจ้าเชตไม่อยากขาย จึงโก่งราคาแพงลิบลิ่ว

แพงขนาดไหนหรือครับ เจ้าเชตบอกว่า ให้เอาเหรียญกษาปณ์มาปูพื้นที่จนเต็มนั้นแหละคือราคาสวน

โอ้โฮ สวนตั้งหลายเอเคอร์ จะใช้เหรียญสักกี่คันรถจึงจะเต็ม ไม่รู้ล่ะ เศรษฐีคิด เท่าไรก็สู้ อะไรประมาณนั้น จึงสั่งให้ขนกษาปณ์จากคลังมาปูพื้นที่สวน ปูไปได้หมดเงิน ๑๘โกฏิ (มากแค่ไหน ผู้รู้คำนวณเอาก็แล้วกัน)

เจ้าเชตเห็นเศรษฐีเอาจริงเอาจังขนาดนั้น จึงถามว่า เอาเท่าที่ปูไปแล้วนี้แหละ ที่เหลือขอให้เขาได้มีส่วนในการสร้างวัดบ้าง แล้วก็บริจาคเพิ่มอีก ๑๘ โกฏิ ช่วยกันสร้างวัดจนสำเร็จ

ใช้เวลาสร้างนานเท่าไร ตำรามิได้บอกไว้ สร้างเสร็จได้ขนานนามว่า “วัดพระเชตวัน” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าเชต ถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์

สุทัตตะที่ว่านี้มิใช่ใครที่ไหนเป็นคนเดียวกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพุทธนั้นเอง นามเดิมท่าน สุทัตตะ ครับ

เพราะความที่ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง สร้างโรงทานให้ทานแก่ยาจกและวณิพก ณ สี่มุมเมือง จึงได้รับขนานนามว่า “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถาเสมอ ฝรั่งแปลความเอาว่า “เศรษฐีใจบุญ” (benefactor, benevolent)

ใครที่ไปไหว้สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ที่ประเทศอินเดีย และเนปาล (ลุมพินี สถานที่ประสูติ อยู่ที่เนปาลครับ) ก็จะต้องไปเที่ยวชมและนมัสการ พระเชตวัน

จะเห็นว่าเป็นบริเวณกว้างขวางมาก มีซากปรักหักพัง มีฐานของตึกและกุฏิของพระสาวกต่างๆ ก่อด้วยอิฐอย่างแข็งแรง เข้าใจว่าตึกรามอะไรต่างๆ คงมีมาตั้งแต่แรกสร้างส่วนหนึ่ง สร้างเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง

นอกนั้นก็มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ว่ากันว่าเป็นต้นโพธิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินและอนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกไว้ โดยการอำนวยการของพระอานนท์พุทธอนุชา เพื่อเป็น “เจดีย” กราบไหว้ แทนพระพุทธองค์ยามเมื่อพระพุทธองค์มิได้ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน

ต้นโพธิ์ต้นนี้เรียกว่า ”อานันทโพธิ” (ต้นโพธิ์พระอานนท์)

วัดพระเชตวันเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด นานกว่าสถานที่อื่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา ก็ได้สร้างวัดไว้ด้านทิศตะวันออกของเมือง ชื่อ “วัดบุพพาราม” ด้วยการบริจาคทรัพย์จำนวนมากเช่นกัน แต่ก็มิปรากฏว่าพระพุทธองค์ประทับที่วัดนี้นานและบ่อยเท่าพระเชตวัน

คัมภีร์พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่ามีพระสูตรมากมายที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาขณะประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เพราะฉะนั้น วัดพระเชตวันจึงมิเพียงเป็นแห่งแรกที่สร้างขึ้น ณ เมืองสาวัตถี หากเป็นสาถนที่ที่พระพุทธองค์ประทับยาวนานและทรงแสดงพระธรรมเทศนามากที่สุดด้วย

จึงนับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๒) วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๒ ประจำวันที่ ๒๗ มกราคม - ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๓)
มหาโจรชื่อดังคนแรกที่บรรลุพระอรหัต [/center]

ถ้าบอกว่าคนที่ว่านี้คือมหาโจรองคุลิมาล หลายคนคงถามว่า ก่อนหน้านี้มีคนอื่นบ้างไหม

ขอเรียนว่าอาจจะมี แต่หลักฐานมิได้บอกชัดแจ้งเหมือนมหาโจรองคุลิมาล

เข้าใจว่ามหาโจรที่ดังมากยุคนั้นก็คือท่านผู้นี้แหละและดังมาจนถึงปัจจุบัน

องคุลิมาลเป็นบุตรของปุโรหิตนามว่าคัดดะ แห่งราชสำนักพระเจ้าปเสนทิโกศล  เมืองสาวัตถี มารดานามว่ามันตานี

ขณะเกิดนั้นอาวุธในคลังแสงลุกโชติช่วงน่าประหลาดมาก

ปุโรหิตผู้บิดาขณะนั้นอยู่พระราชสำนักกำลังเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่ กราบทูลพระราชาว่า เด็กที่เกิดในฤกษ์นี้จะเป็นโจรที่มีชื่อเสียงเป็นที่หวาดกลัวของประชาชน

พระราชาตรัสถามว่า โจรธรรมดาหรือว่าโจรแย่งราชสมบัติ เมื่อทรงทราบว่าเป็นโจรธรรมดาก็ไม่สนพระทัย

ปุโรหิตกลับมาถึงบ้านถึงได้รู้ว่าเด็กน้อยที่ว่านี้คือบุตรชายของตัวเอง กลับไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินขอกำจัดทิ้งเสียเพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนาม ถูกพระราชาทรงทัดทานไว้

จึงตั้งชื่อ “แก้เคล็ด” ว่า อหิงสกะ (แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน)

อหิงสกะเป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครจริงๆ มีนิสัยใจคอสุภาพอ่อนโยน มีเมตตา กรุณา มีมนุษย์สัมพันธ์ดี เคารพนับถือผู้ใหญ่ ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นโจรตามคำทำนายของบิดา

บิดาส่งไปเรียนศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา ก็ขยันศึกษา เคารพนับถืออาจารย์ แม้กระทั่งภริยาของอาจารย์อย่างดี เป็นที่โปรดปรานของอาจารย์อย่างยิ่ง

แถมยังมีสมองเป็นเลิศ เรียนเก่งน้ำหน้าเพื่อนร่วมรุ่นทั้งหลาย จนเพื่อนๆ อิจฉาริษยา

อาจารย์เองเวลาที่จะดุด่าศิษย์อื่นๆ ที่ไม่ใส่ใจในการศึกษา ก็จะยกอหิงสกะเป็นตัวอย่าง และให้เอาอย่างอหิงสกะ ยิ่งทำให้พวกเขาเกลียดอหิงสกะยิ่งขึ้น จึงหาทางกำจัด โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ เข้าไปพูดจาให้ร้ายป้ายสีอหิงสกะ

แรกๆ อาจารย์ก็ไม่สนใจ แต่พอบ่อยเข้า หลายคนเข้า ก็ชักจะเชื่อว่าคงเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่มีมูลเลยพวกศิษย์อื่นๆ คงไม่พูดเป็นเสียงเดียวกัน

ในที่สุดก็ปักใจแน่วแน่ว่า อหิงสกะเป็นศิษย์ทรยศคิดล้างครู

(ในคัมภีร์พูดเป็นนัยๆ ว่า ถูกหาว่ามีอะไรกับภริยาของอาจารย์ด้วย “ถูกกล่าวหา” ก็รู้อยู่แล้ว จริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้)

อาจารย์เรียกลูกศิษย์รัก ผู้จะจบการศึกษามาพูดทำนองขอ “ค่าบูชาครู” (ครุปจาร หรือ ครุทักษิณา) ด้วยให้ไปเอานิ้วคนมาพันนิ้ว (ผู้แต่งประวัติพระองคุลิมาล บางท่านว่าอาจารย์จะถ่ายทอด “วิษณุมนตร์” ให้ จึงให้ไปฆ่าคนเอานิ้วมาพันนิ้ว)

ค่าที่เป็นคนเชื่อฟังอาจารย์อยู่แล้วและอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอน อหิงสกะจึงตกลงไปฆ่าคนเอานิ้วมือ ฆ่าแล้วก็ตัดเอานิ้วมาร้อยเป็นพวงแขวนคอ กว่าจะได้เป็นร้อยๆ ก็ต้องเสียเวลานานพอสมควร และนิ้วที่ร้อยแขวนคอไว้บางนิ้วก็เน่าหลุดไปต้องหามาเพิ่มใหม่อยู่อย่างนี้ไม่ครบพันสักที

มาถึงช่วงนี้เสียงลือเสียงเล่าก็กระฉ่อนไปทั่วว่ามีมหาโจรดุร้ายไล่ฆ่าคนตัดเอานิ้วมาทำพวงมาลัย น่าสยดสยองเหลือเกิน จนผู้คนไม่กล้าเดินทางไปไหน

บิดาของอหิงสกะทราบว่ามหาโจรนี้คือบุตรชายจะมีภัยถึงชีวิต ถึงแม้ลูกจะเป็นโจรก็เป็นลูกนางนี่แหละครับความรักของแม่ที่มีต่อลูกมันยิ่งใหญ่มหาศาลเพียงใด

นางแอบหนีออกจากเมืองมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่คิดว่าบุตรขายตนเองอยู่เพื่อบอกให้ลูกรู้ตัวแล้วจะได้หลบหนีไปเสีย

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกเพื่อไปโปรดในปัจจูสมัย (จวนสว่าง) องคุลิมาลปรากฏในข่ายคือพระญาณ

ทรงทราบด้วยญาณว่าองคุลิมาลมีอุปนิสัยจะได้บรรลุ เพื่อมิให้เธอถลำลึกลงไปในห้วงแห่งอกุศลกรรมมากกว่านี้ อันจะตัดทางแห่งมรรคผลนิพพานเสีย จึงเสด็จไปดักหน้า

องคุลิมาลเห็นพระพุทธเจ้า คิดว่าสมณะก็สมณะเถอะวะ ข้าจะฆ่าเอานิ้วมาให้ได้ ขาดนิ้วเดียวจะครบพันอยู่แล้ว

ว่าแล้วก็ชูดาบวิ่งเข้าใส่ ปากก็พร่ำว่า “หยุด สมณะ หยุด”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราตถาคตหยุดแล้ว เธอสิยังไม่หยุด”

มหาโจรแย้งว่า ท่านยังเดินไปอยู่ ทำไมพูดว่าหยุดแล้ว สมณโกหกด้วยหรือ พระองค์ตรัสว่า “เราหยุดทำบาปแล้ว เธอยังไม่หยุด” เท่านั้นแหละ มหาโจรองคุลิมาลก็ทิ้งดาบ เข้าไปกราบพระยุคลบาท ฟังธรรม

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง จบพระธรรมเทศนา เขาได้ทูลขอบวช พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทให้แล้วทรงนำกลับไปยังพระเชตวัน

วันนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงนำกองทัพย่อยๆ จะไปปราบองคุลิมาล ก่อนไปได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทำนองเอาฤกษ์เอาชัย

พระพุทธองค์ตรัสถามว่าจะยกทัพไปไหน

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่าจะไปปราบโจรองคุลิมาล

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ถ้าอย่างนั้นก็ได้รับอภัยโทษ แทนที่จะปราบ พระองค์กลับต้องนมัสการถวายความอุปถัมภ์ด้วยปัจจัยสี่ พระพุทธองค์ทรงชี้พระดรรชนีไปยังภิกษุหนุ่มตรัสว่านั่นคืออดีตโจรองคุลิมาล

แม้ทรงรู้ว่าบัดนี้พระภิกษุหนุ่มไม่เบียดเบียนใครอีกแล้ว พระราชายังอดสะดุ้งพระทัยไม่ได้ ทรงข่มความกลัวเข้าไปนมัสการภิกษุหนุ่ม ทรงปวารณาถวายจตุปัจจัย

แรกๆ พระองคุลิมาลบิณฑบาต นอกจากไม่ได้ข้าวแล้ว ยังได้ “เลือด” กลับวัดอีกด้วย เพราะผู้คนที่จำท่านได้ ก็เอาก้อนอิฐ ก้อนดิน ขว้างปาจนศีรษะแตกได้รับทุกขเวทนา คัมภีร์พระไตรปิฎกเล่าว่า ท่านถูกทำร้ายจนบาตรแตก จีวรฉีกขาดกะรุ่งกะริ่ง พระพุทธองค์ตรัสให้ท่านอดทนเพราะนั่นคือเศษกรรมของท่าน วันหนึ่งท่านพบหญิงมีครรภ์แก่เดินเหินลำบาก จึงมากราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสบอกให้ท่านแผ่เมตตาจิตให้นาง รุ่งขึ้นท่านไปบิณฑบาตพบสตรีคนแก่เดิม ท่านยืนสงบใกล้ๆ เธอ เปล่งวาจาตั้งสัตยาธิษฐานว่า ยะโตหัง ภะคะนิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิ ชานา มิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ

ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาโดยชาติเป็นอริยะ (ตั้งแต่บวช) เราไม่เคยคิดทำลายชีวิตสัตว์เลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านและบุตรในครรภ์ของท่าน

สิ้นคำอธิษฐาน สตรีคนนั้นก็คลอดลูกอย่างง่ายดาย คนจึงลือกันว่าท่านองคุลิมาล มี “มนต์” ทำให้คนคลอดลูกง่าย เพราะฉะนั้น “อังคุลิมาลปริตร” (สั้นๆ ข้างต้นนั้น) อาจารย์ยุคหลังได้รวบรวมไว้ในบทสวดเจ็ดตำนานเพื่อสวดเป็นสวัสดีมงคลหรือไม่ก็แยกสวดเฉพาะบททำน้ำมนต์ให้สตรีตั้งครรภ์ดื่มให้คลอดบุตรง่าย ท่านพระองคุลิมาลเมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นสาวกประเภทต้นคดปลายตรง ทำผิดในกาลก่อน ภายหลังกลับเนื้อกลับตัวได้เลิกละโดยสิ้นเชิง ดังพุทธวจนะตรัสสรรเสริญว่า “ผู้ใดทำบาปในกาลก่อน ภายหลังละได้ด้วยการกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างดุจพระจันทร์พ้นเมฆหมอกฉะนั้น”

ท่านองคุลิมาลนับเป็นมหาโจรชื่อดังคนแรกที่ได้บรรลุพระอรหัตด้วยประการฉะนี้


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๓) มหาโจรชื่อดังคนแรกที่ได้บรรลุพระอรหัต โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๓ ประจำวันที่ ๓-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

หมายเหตุ : หัวข้อ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่ลงในเว็บไซต์สุขใจดอทคอมนี้
              ผู้โพสต์คัดจากหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งรับต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
              ในหัวข้อนี้ ยังขาดตอนที่ ๓๑ ซึ่งไม่ทราบว่านำหนังสือฉบับดังกล่าวไปวางไว้ที่ใด
              ถ้าค้นหาพบ จะได้คัดลอกมาแทรกไว้ให้ครบถ้วนต่อไป  
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 26 กุมภาพันธ์ 2560 16:24:15 »




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๔)
รอยพระพุทธบาทรอยแรก

ว่ากันว่า รอยพระพุทธบาทมีอยู่ ๕ แห่งเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้เพื่อให้ชาวโลกได้นมัสการ คือ (๑)ที่สุวรรณมาลิก  (๒)ที่สุวรรณบรรพต  (๓)ที่สุมนกูฏ  (๔)ที่โยนกประกาศ  และ (๕)ริมฝั่งน้ำนัมมทา

๕ แห่งที่ว่านี้จะเป็นพระพุทธบาท original หรือไม่ ไม่ยืนยัน สงสัยจะเป็นพระพุทธบาทจำลองเสียมากกว่า เพราะไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ยุคต้นๆ

ถ้าถามว่า รอยพระพุทธบาทรอยแรก หรือรอยต้นๆ อยู่ที่ไหน

ถ้าศึกษาพุทธประวัติจะพบเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยประทับรอยพระบาทไว้โดยเฉพาะ เข้าใจว่าจากนั้นมาเลยมีการจำลองพระพุทธบาทไว้สำหรับสักการะ

เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณกลางพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวกุรุรัฐ ณ ชนบทแห่งหนึ่ง มีสองสามีภรรยาและลูกสาวสวยคนหนึ่งนามว่า มาคันทิยา ผู้เป็นพ่อไม่ยอมให้แต่งงานกับชายใด

อ้างว่าไม่มีใครเหมาะสมกับลูกสาวของตน

วันหนึ่งพราหมณ์บิดาของสาวงามคนนี้พบพระพุทธเจ้าเข้าก็เกิดติดอกติดใจในบุคลิกภาพอันสง่าของพระพุทธองค์ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า “สมณะ ข้าฯ มีลูกสาวอยู่คนหนึ่งเหมาะกับท่านมาก ข้าฯ ยินดียกให้เป็นภริยาของท่าน โปรดรออยู่ตรงนี้นะ ข้าฯ จะไปพาลูกสาวมาให้”

พระพุทธเจ้ามิได้ประทับ ณ จุดที่พราหมณ์บอก เสด็จไปประทับใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่ไกลจากที่นั้นนัก พราหมณ์รีบไปบอกภริยาให้แต่งตัวให้ลูกสาว บอกว่าได้พบบุรุษผู้เหมาะสมกับลูกสาวแล้ว จะรีบพาไปหา

ชาวเมืองได้ทราบข่าวก็พากันตามไป เพราะเท่าที่แล้วๆ มา พราหมณ์ไม่ยินดียกลูกสาวให้ชายหนุ่มคนใด อ้างว่ายังไม่เหมาะสมกับลูกสาวของตน บัดนี้แกบอกว่าพบชายหนุ่มที่เหมาะสมแล้ว จึงอยากจะไปดูว่าจะหล่อเหลาปานใด

ไปถึงจุดนัดหมาย พราหมณ์ไม่พบพระพุทธองค์ จึงสอดส่ายสายตาไปมา พบรอยพระพุทธบาทที่พระองค์ประทับไว้ จึงร้องบอกภริยาว่า “นี่คือรอยเท้าของเขา เขาต้องอยู่แถวๆ นี้แน่” ว่ากันว่า นางพราหมณีภริยาของพราหมณ์มีความเชี่ยวชาญใน “ปาทศาสตร์” (สาสตร์ว่าด้วยการดูลายเท้า) พินิจพิจารณารอยพระพุทธบาทแล้ว จึงร้องบอกสามีว่า “เจ้าของรอยเท้านี้ไม่สนใจไยดีกามคุณแล้ว ตาเฒ่าเอ๋ย ป่วยการตามหาเขา

พราหมณ์ดุภริยา “เก็บตำราของแกไว้เถอะ อย่าทำตนเป็นจระเข้ในตุ่มเลย (คล้ายกับสำนวนไทยว่า “จระเข้ขวางคลอง” กระมัง)  เจ้าหนุ่มหน้ามันคนนั้นรับปากฉันแล้ว” (ตอนแกบอกพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ประทับดุษณีภาพ พราหมณ์เลยเข้าใจว่า นิ่ง คือการยอมรับ)

นางพราหมณีจึงร่ายโศลก ว่าด้วยการทายลักษณะรอยเท้าให้สามีและประชาชนที่รายล้อมอยู่ ณ บริเวณนั้นฟังดังนี้
     รตฺตสฺส  หิ อุกฺกฏิกํ ปทํ ภเว
     ทุฏฺฐสฺส โหติ สหาสนุปิฬิตํ
     มูฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ
     วิวฏฉทสฺส อยมีทิสํ ปทํ
     คนราคจริต รอยเท้าจะเว้าตรงกลาง
     คนโทสจริต รอยเท้าจะจิกปลาย
ส่วนรอยเท้านี้ (ราบเสมอกัน) เป็นของคนหมดกิเลสแล้ว

คำพยากรณ์ไม่สบอารมณ์พราหมณ์มาก บอกให้ภริยาเงียบเสียง ตนเองก็สอดส่ายตามองไปมองมาพบพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไม้ จึงจูงลูกสาวเข้าไปหา ลำล่ำละลักว่า “สมณะ ข้าฯ นำลูกสาวมาให้ท่านแล้ว”

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า สองสามีภริยามีอุปนิสัยจะได้บรรลุธรรม จึงตรัสว่า
“พราหมณ์ สมัยเราเป็นเจ้าชายแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยนั้น ได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขนานาประการ มีนางสนมกำนัลสวยงาม คอยปรนนิบัติมากมาย ล้วนแต่รูปร่างสะคราญตาดุจนางอุปสรสวรรค์ก็มิปาน เรายังไม่ไยดี สละทิ้งมาหมด ออกบวชมาเป็นสมณะ แสวงหาทางหลุดพ้น จนได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไฉนเราจักยินดีในร่างกายของบุตรสาวท่าน อันเต็มไปด้วยของปฏิกูล อย่าว่าแต่ยินดีเลย แม้เท้าเรายังไม่อยากให้แตะเลย”

พระพุทธดำรัสนี้กระตุ้นให้สองสามีภรรยาเข้าใจความจริงของสังขารร่างกาย เมื่อตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาจบลงก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แต่ทำให้มาคันทิยา ลูกสาวคนสวย ผูกใจเจ็บ หาว่าสมณะ (พระพุทธเจ้า) ดูถูกตน

เมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งกรุงโกสัมพีในภายหลัง ได้พยายามแก้แค้นพระพุทธองค์ต่างๆ นานา

เมื่อเล่นงานพระพุทธองค์โดยตรงไม่ได้ ก็ไปลงที่สาวิกาของพระพุทธองค์ นามว่า สามาวดี ซึ่งเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง จนพระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็น นางมาคันทิยาก็ถูกประหารชีวิต ด้วยการเผาทั้งเป็นเช่นเดียวกัน

รอยพระพุทธบาทรอยนี้ นับเป็นรอยแรก หรือรอยแรกที่ทรงประทับไว้ ด้วยความมุ่งหมายเฉพาะ (คือเป็น “สื่อ” สอนธรรม) ขอสรุปเช่นนี้ไปก่อนจนกว่าจะมีหลักฐานและเหตุผลที่ดีกว่า  


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๔) รอยพระพุทธบาทรอยแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๗๑ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๔ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๕)
คนแรกที่กล่าวพุทธคุณ ๑๐๐ บท


เราเคยได้ยินพระพุทธคุณ ๙ บท หรือ นวารหคุณ หรือ นวารหาทิคุณ ขึ้นต้นด้วย อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ดังที่เราสวดกันอยู่ทุกวัน หรือสรุปลงในพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการ ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ แต่น้อยคนจะได้ยินพระพุทธคุณ ๑๐๐ บท

ผู้กว่าพระคุณ ๑๐๐ บท คือ อุบาลี คหบดี อดีตสาวกของนิครนถ์นาถบุตร หรือศาสดามหาวีระแห่งศาสนาเชน เมื่อแรกท่านผู้นี้หมายมั่นปั้นมือว่าจะมาได้วาทะแข่งกับพระพุทธเจ้า อาจารย์ของตนคือมหาวีระก็อนุญาต แต่ศิษย์รุ่นพี่คนหนึ่งชื่อทีฆปัสสีไม่เห็นด้วย

แกห้ามอุบาลีว่า อย่าเลย สมณโคดม เขามี “มนต์กลับใจ” ใครได้พูดกับเขา มักจะถูกเขาใช้มนต์กลับใจหันไปเลื่อมใสแทบทุกคน ทางที่ดีอย่าไปสู้กับเขาดีกว่า

อุบาลีถือว่าตนเป็นพหูสูต ไม่มีทางที่จะยอมง่ายๆ จึงไม่ยอมเลิกรา วันเวลาแห่งการโต้วาทะก็ใกล้เข้ามา

ผู้คนต่างก็รอเวลาเพื่อจะดูว่าใครเก่งกว่าใคร ตามประสาแขกมุง (ซึ่งคงไม่ต่างกับไทยมุงสักเท่าไหร่)

วันนั้น อุบาลีหมายมั่นปั้นมือว่าตนเองชนะแน่นนอน เรื่องที่นำมาโต้แย้งคือ เรื่องกรรม ซึ่งทางฝ่ายนิครนถ์เรียกตามศัพท์ของเขาว่า ”ทัณฑ์” โดยเขาเห็นว่า กายกรรม (กายทัณฑ์) นั้นมีโทษมากกว่าวจีกรรม และมโนกรรม พระพุทธองค์ทรงโต้ว่า มโนกรรมนั้นสำคัญกว่า

ในที่สุดอุบาลียอมแพ้ด้วยเหตุผล จึงประกาศยอมแพ้และยอมรับเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามปรามตั้งสามครั้งว่า “อุบาลี คนมีชื่อเสียงอย่างท่านจะทำอะไรขอให้คิดให้ดีก่อน”

อุบาลีก็ยืนยืนยันว่า คิดดีแล้ว ขอยืนยันนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มิไยพระพุทธองค์จะทรงห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ฟัง

เมื่อเห็นว่าเขาไม่ฟัง พระพุทธองค์ก็ตรัสกับเขาว่า ตัวท่านเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกนิครนถ์มาก่อน เมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างนี้ย่อมกระทบกระเทือนต่อพวกนิครนถ์มาก

ในระยะเริ่มต้นนี้ขอให้สำคัญข้าวและน้ำที่เคยให้แก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิมเถิด

น่าสังเกตนะครับ พระองค์แทนที่จะเป็น “ศาสดากระหายสาวก” คือรีบๆ รับ แต่พระองค์กลับทรงแผ่พระมหากรุณาแก่พวกเขาเสียอีก น้ำใจอย่างนี้ยากจะหาได้ และดูเหมือนมันจะเด่นมากในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

เมื่ออุบาลีประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ทีฆปัสสีทราบข่าวก็ไปต่อว่า ศาสดามหาวีระ เห็นหรือยัง ข้าอุตส่าห์ห้ามแล้วก็ไม่เชื่อ เดี๋ยวนี้เป็นยังไง อุบาลีคนเก่งของพวกเราถูกพระสมณโคดม “ดูด” ไปเสียแล้ว

มหาวีระ ไม่เชื่อว่าเป็นจริง จึงเดินทางไปพิสูจน์ความจริงที่บ้านลูกศิษย์ ไปถึงเขาไม่ยอมให้เข้าบ้าน จนต้องขอร้องอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร เข้าไปแล้วเขาก็เชิญให้ไปนั่งที่ศาลาหน้าบ้านรออยู่พักใหญ่

อุบาลีออกมาก็นั่งอาสนะสูงกว่า ถูกอดีตศาสดาต่อว่าต่อขานว่าอุบาลี เจ้าจะบ้าไปแล้วหรือ นี่ศาสดาของเจ้านะ

อุบาลียืนยันว่า ข้าพเจ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นศาสดา หามีใครอื่นใดไม่

มหาวีระกล่าวว่า อุบาลี พระสมณะโคดมมีอะไรนักหนา เจ้าจึงเห็นดีเห็นงามไปกับเขา

อุบาลีกล่าวว่า ถ้าท่านอยากฟังนะ ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระพุทธคุณของพระองค์ให้ท่านฟัง

ว่าแล้วก็กล่าวพระพุทธคุณทั้ง ๑๐๐ บทไปตามลำดับ นัยว่าอุบาลีกล่าวได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง มหาวีระทนฟังไม่ไหว ยกไม้ยกมือร้องห้ามว่า พอแล้วๆ แล้วเลือดอุ่นๆ ก็พุ่งออกจากปาก

พวกลูกศิษย์ทั้งหลายต้องหามแกออกจากคฤหาสน์อุบาลี อดีตสาวกของแก ก่อนหน้านี้ก็สัจจกนิครถ์ทีหนึ่งแล้ว มาคราวนี้ก็อุบาลีอีก ทั้งสองคนเป็นคนดังของพวกนิครนถ์

โดยเฉพาะคนหลังนี้ มิเพียงเป็นพหูสูตเท่านั้น ฐานะความเป็นอยู่ในระดับมหาเศรษฐีคนหนึ่ง นับเป็นเรี่ยวเป็นแรงของพวกนิครนถ์เป็นอย่างดีอีกด้วย  เมื่อเขาหันไปนับถือศาสนาอื่นเสียแล้ว ย่อมกระทบกระเทือนไม่น้อย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เขาถวายความอุปถัมภ์แก่ลัทธิดั้งเดิมของตนไปสักระยะหนึ่งก่อน

แต่เชื่อเถอะครับ ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครเชื่อดอก เมื่อออกมาแล้วย่อมจะพยายามหนีไปให้ไกลที่สุดเป็นธรรมชาติ บางคนนับถือพุทธอยู่ดีๆ แสนจะขี้เกียจ พอเข้ารีตนับถือศาสนาอื่นกลับขยันขันแข็ง อ้างว่าเพราะเขานับถือศาสนาอื่น จึงทำให้ชีวิตดีขึ้น อย่างนี้ก็มี

มหาวีระ ตั้งแต่ออกจากบ้านอุบาลีวันนั้น ป่วยกระเสาะกระแสะ สามวันดีสี่วันไข้ ไม่ช้าไม่นานก็นิพพาน เข้าใจว่าคงเสียใจมาก แบบจิวยี่ในเรื่องสามก๊กก็ไม่ปาน

อุบาลีนับเป็นคนแรกที่กล่าวพุทธคุณ ๑๐๐ บท มีบันทึกไว้ในอุบาลิวาทสูตร มัชฌิมนิกาย ด้วย


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๔) คนแรกที่กล่าวพุทธคุณ ๑๐๐ บท   โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๕ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๖)
สาวใช้คนแรกผู้เป็นอาจารย์พระราชินีเพราะปัญญาเลิศ

พระพุทธศาสนานั้นมีข้อเด่นอยู่อย่างหนึ่งในหลายร้อยหลายพันอย่าง คือให้โอกาสแก่มนุษย์ว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีความเป็น “คน” ทัดเทียมกัน แล้วก็ให้กำลังใจให้พยายามพัฒนาตนไปสู่เป้าหมายสูงสุด ด้วยวิริยะ อุตสาหะ และให้ความทัดเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรี บุรุษบรรลุมรรคผลได้ สตรีก็บรรลุได้ บุรุษมีโอกาสได้บวชเรียน สตรีก็มีโอกาสนั้นเหมือนกัน

นอกจากนี้ พระพุทธศาสนาชี้คุณค่าของคนที่รู้จักใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ใครมีปัญญาไม่ว่าจะเป็นคนเกิดในวรรณะไหนก็ได้รับการยอมรับ

ที่พูดมาหลายบรรทัดนี้ก็เพื่อเข้าหาเรื่องของสาวใช้คนหนึ่ง แถมยังพิการคือ ร่างค่อมด้วย ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้คงแก่เรียน

สาวใช้พิการคนนี้คือ นางขุชชุตตรา ครับ

นางเป็นคนใช้ของนางสามาวดี มเหสีของพระเจ้าอุเทน กษัตริย์ผู้ครองเมืองโกสัมพี นางสามาวดีเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้า ทุกวันมอบเงินให้นางขุชชุตราไปซื้อดอกไม้มาจากนายมาลากร ๘ กหาปณะเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า (เรื่องราวของนางสามาวดี จะนำมาเล่าภายหลัง)

ขุชชุตตรา ขยักไว้ ๔ กหาปณะเพื่อตัวเอง เรียกง่ายๆ ย่า “ยักยอก” เจ้านายนั่นแหละ อีก ๔ กหาปณะก็ซื้อดอกไม้ไปให้นายหญิง

วันหนึ่งนายมาลาการนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน พูดกับนางขุชชุตตราผู้มาซื้อดอกไม้ว่า “หนู วันนี้ฉันอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหารที่บ้าน หนูช่วยเลี้ยงพระก่อนแล้วค่อยเอาดอกไม้ไปให้นายหญิงของหนูได้ไหม”

“ได้จ้ะ” ขุชชุตตราตอบ แล้วก็อยู่ช่วยงานจนแล้วเสร็จ เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ทรงแสดงธรรมแก่นายมาลาการและครอบครัว นางขุชชุตตราทีแรกจะรีบกลับ แต่ใจหนึ่งคิดว่าไหนๆ ก็รอมาแล้ว ลองฟังธรรมก่อนค่อยกลับดีกว่า จึงตั้งใจฟังธรรมจนจบ พอจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

นางขุชชุตราซื้อดอกไม้ ๘ กหาปณะ ได้ดอกไม้กำใหญ่กว่าทุกวัน ไปให้นายหญิงนางสามาวดี นายหญิงของขุชชุตตราเห็นดอกไม้มากกว่าทุกวันจึงถามว่า

“วันนี้พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินค่าดอกไม้แก่ฉันเพิ่มขึ้นหรือ”
“หามิได้ พระแม่เจ้า” นางตอบ
“เพราะเหตุใดดอกไม้จึงมากกว่าทุกวันเล่า”

นางขุชชุตตรา ก็เปิดเผยความจริงว่า
“วันก่อนๆ นางยักยอกเอาไว้ใช้ส่วนตัว ๔ กหาปณะ ซื้อดอกไม้เพียง ๔ กหาปณะเท่านั้น”
“แล้ววันนี้ทำไมเธอไม่เอาไว้เพื่อตัวเอง ๔ กหาปณะเล่า” นายหญิงถาม
“เพราะหม่อมฉันฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุธรรม”

นางสามาวดีไม่โกรธสาวใช้เลย ที่ยักยอกเอาเงินค่าซื้อดอกไม้กลับกล่าวด้วยความยินดีว่า “โอ ดีจังเลย เจ้าช่วยแสดงธรรมที่เธอได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าให้เราฟังได้ไหม” เมื่อขุชชุตตรารับปาก นางสามาวดีจึงให้นางอาบน้ำชำระกายให้สะอาดพรมด้วยน้ำหอมให้นางนุ่งผ้าสาฎกใหม่เอี่ยมเนื้อดีผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ปูลาดอาสนะและวางพัดอันวิจิตรไว้ข้างอาสนะ เชิญนางขุชชุตตราขึ้นนั่งบนอาสนะ

นางขุชชุตตราได้แสดงธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า แก่สตรีจำนวน ๕๐๐ คน มีนางสามาวดีเป็นประธาน นางเป็นคนมีความจำแม่น และมีความสามารถในการใช้คำสละสลวยธรรมเทศนาของนางเป็นที่จับจิตจับใจคนฟังมาก

ว่ากันว่าได้บรรลุธรรมไปตามๆ กัน

นางสามาวดีบอกว่า ต่อแต่นี้ไป เธอไม่ต้องทำงานเป็นคนใช้ ขอให้เธอดำรงอยู่ในฐานะมารดาและอาจารย์ในทางธรรมของพวกเรา ทุกวันขอให้เธอฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วกลับมาแสดงให้พวกเราฟัง

นางขุชชุตตราจึงได้ “เลื่อนขั้น” ขึ้นมาเป็นอาจารย์แสดงธรรมแก่นายหญิง ตั้งแต่วันนั้นมาท่านอาจารย์ขุชชุตตราก็ทำหน้าที่ของตนไม่ขาดตกบกพร่อง นับว่าได้ทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและบรรดาสตรีในวังด้วย

ในทางส่วนตัวก็คือ นางได้ฟังหลากเรื่องหลายปริยาย ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมกว้างขวางพิสดารขึ้น ชนิดที่ไม่สามารถหาเอาจากที่ไหน

ในไม่ช้าไม่นานนางก็กลายเป็น “พหูสูต” (ผู้คงแก่เรียน) เมื่อมีความรู้แตกฉาน นางก็มีลีลาในการแสดงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดารและจับจิตใจยิ่งขึ้น

ความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสยกย่องนางใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางสดับตรับฟังมาก คือเก่งกว่าคนอื่นในทางเป็นพหูสูตหรือผู้คงแก่เรียน

การที่หญิงค่อมขี้ริ้วจนๆ คนหนึ่งได้รับเกียรติปานนี้ ก็เพราะพระพุทธศาสนาเปิดทางให้พระพุทธศาสนามิได้มองแค่เปลือกนอกของคน หากมองที่ศักยภาพภายในมากกว่า  พระพุทธเจ้าตรัสว่าในหมู่มนุษย์ไม่ว่ายากดีมีจน คนมีปัญญาเป็นผู้ประเสริฐสุด

พระสงฆ์ทั้งหลายกราบทูลถามพระพุทธเจ้าในวันหนึ่งว่า เพราะเหตุใดนางขุชชุตตราจึงมีร่างกายค่อม และเพราะเหตุใดจึงเป็นสาวใช้ของคนอื่น

พระพุทธเจ้าตรัสบุพกรรมของนางให้ภิกษุสงฆ์ฟัง (น่าสนใจมากครับ) ดังนี้
๑.ชาติก่อนนางเคยเป็นอุปัฏฐายิกาของพระปัจเจกพุทธ พระปัจเจกพุทธรูปนั้นร่างค่อม นางนึกสนุกทำร่างค่อมเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะกรรมนั้นนางจึงมีร่างค่อมในปัจจุบันนี้

๒.ชาติก่อนนางถวายข้าวปายาสร้อน ในบาตรพระปัจเจกพุทธ พระปัจเจกพุทธอุ้มบาตรร้อนจึงเปลี่ยนมืออยู่เรื่อย นางจึงถวายวลัยงา ๘ อัน (เรียกอันหรือเปล่าไม่รู้สิครับ) เพื่อให้ท่านรองบาตร ผลแห่งการถวายวลัยงารองบาตรนั้น มาชาตินี้นางจึงเป็นพหูสูต

๓.และเพราะการอุปัฏฐากดูแลพระปัจเจกพุทธ นางจึงบรรลุโสดาปัตติผล

๔.ในชาติก่อนอีกชาตินึง นางเกิดเป็นธิดา นางเกิดเป็นธิดาเศรษฐี วันหนึ่งขณะนางแต่งตัวอยู่ พระเถรีอรหันต์รูปหนึ่งมาเยี่ยมนางที่บ้าน เวลานั้นนางมองหาคนใช้ไม่พบ จึงกล่าวกับพระเถรีอรหันต์ว่าพระแม่เจ้า ดิฉันไหว้ละ ช่วยหยิบกระเช้าเครื่องประดับให้ดิฉันหน่อย พระเถรีอรหันต์คิดว่า ถ้าไม่หยิบให้ นางจักเกิดเป็นคนใช้คนอื่น แต่การเป็นคนใช้เขายังดีกว่า ว่าแล้วพระเถรีอรหันต์จึงหยิบกระเช้าให้นาง มาชาตินี้นางจึงเป็นคนใช้เขา

การทำบาป โดยเฉพาะต่อบุคคลผู้บริสุทธิ์ แม้เพียงเล็กน้อยก็บันดาลผลหนักดังเรื่องของนางขุชชุตตราในชาติก่อน เพราะฉะนั้น เราพึงระวังมิให้เผลอทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร นี่คือข้อสรุปที่ได้ยินจากเรื่องนี้ครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๖) สาวใช้คนแรกผู้เป็นอาจารย์พระราชินีเพราะปัญญาเลิศ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๖ ประจำวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ - ๒ มีนาคม ๒๕๖๐




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๗)
คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก

ผู้บวชเป็นพระภิกษุ โดยหลักการต้องละทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีในเพศผู้ครองเรือน อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติเลย แม้ชื่อเสียงเรียงนามก็ละหมด ไปใช้ชื่อใหม่อันเรียกในภาษาพระว่า “ฉายา”

เช่นสมมุติชื่อเดิม “ขรรค์ชัย บุนปาน” ก็ต้องทิ้งไป เพราะนาม ขรรค์ชัย บุนปาน มันใหญ่ไป มีอิทธิพลทำให้คนเกรงกลัว ข้าราชการผู้ใหญ่รับตำแหน่งใหม่มาเยี่ยมยังบอกว่า มารับนโยบาย  ใหญ่เกินไปจะทำให้เกิดทิฐิมานะ บวชแล้วต้องเปลี่ยนเป็น “ปุญญปาโน” (ผู้ดื่มบุญ) อะไรทำนองนี้

สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ๖ พระองค์ออกบวช มี นายภูษามาลา หรือ “บาร์เบอร์” คนหนึ่ง ชื่ออุบาลีบวชด้วย เจ้าชายทั้งหลายอนุญาตให้นายภูษามาลาบวชก่อน ทั้งนี้เพื่อจะ “ถอนทิฐิมานะ” ให้ลูกน้องบวชก่อนอายุพรรษามากกว่า พวกตนจะได้กราบไหว้

ยิ่งไปกว่านี้ บวชแล้วถือว่าตัดขาดจากตระกูลวงศ์ เป็นคนของพระศาสนา ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป มีสกุลวงศ์ใหม่คือ “ศากยปุตติยวงศ์” วงศ์แห่งพระสมณะศากยบุตร มีพระบรมศาสดาเป็นพ่อ มีเพื่อนพระภิกษุด้วยกันเป็นพี่น้อง คอยช่วยเหลือดูแลกัน

นี้ว่าโดยหลักการ แต่โดยการปฏิบัติก็อาจย่อหย่อนไปบ้าง ดังเกิดกรณีพระปูติคัตตะขึ้น นามเดิมท่าน ติสสะ ต่อมาได้สมญานามว่า ปูติคัตติ (แปลว่า ผู้มีกายเน่าเหม็น) สาเหตุที่ท่านได้นามอันไม่พึงปรารถนาเช่นนี้ เนื่องมาจากท่านป่วยเป็นโรคผิวหนัง

แรกๆ ก็ไม่เป็นอะไรมาก แต่เนื่องจากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง ร่างกายก็เกิดตุ่มขึ้นเต็มตัว คันยุบยิบ ยิ่งเกาก็ยิ่งแสบยิ่งคัน หนักเข้าก็เป็นหนองแตกไหลเยิ้มไปทั่วร่าง ส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนา เพื่อนสหธรรมิกด้วยกันต่างก็รังเกียจเดียดฉันท์ปล่อยให้เธอดูแลตัวเองตามบุญตามกรรม

ท้ายสุด เธอถูกเพื่อนพระด้วยกันทอดทิ้งนอนอยู่บนแคร่ รอความตายอย่างน่าสงสาร

พระพุทธจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ จึงทรงชักชวนพระอานนท์เสด็จไปยังสถานที่อยู่ของท่านติสสะ ไปถึงก็รับสั่งให้พระอานนท์ก่อไฟตั้งน้ำ น้ำเดือดแล้วทรงผสมน้ำอุ่นด้วยพระองค์เอง ทรงยกถังน้ำอุ่นไปเช็ดตัวให้ท่านติสสะ

โดยมิได้ทรงรังเกียจในกลิ่นเหม็นเน่าแต่ประการใด

ภิกษุทั้งหลายเห็นพระพุทธเจ้าทรง “ลงมือทำ” ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น ก็รู้สึกสำนึกผิดกัน มารับอาสาทำเอง พระองค์ตรัสว่า “ไม่ต้อง ตถาคตทำเอง”

หลังจากพระพุทธองค์ทรงเช็ดร่างกายให้สักพัก ภิกษุหนุ่มก็มีร่างกายเบา เธอรู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อตน ทั้งๆ ที่เพื่อนพระภิกษุด้วยกันไม่เหลียวแลแล้ว เมื่อร่างกายเบา จิตใจก็สงบรำงับขึ้น พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาเตือนสติสั้นๆ ว่า ไม่นานหนอ ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ นอนทับแผ่นดิน ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า หาประโยชน์อะไรมิได้ฉะนั้น 

เธอพิจาณาไปตามกระแสพระพุทธดำรัส ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับสิ้นชีวิต เป็นพระอรหัตที่ตำราเรียกว่า “สมสีสี” (อ่าน “สะ-มะ-สี-สี” แปลว่า ผู้ดับกิเลสและดับชีวิตพร้อมกัน)

เป็นอันว่าเธอได้พ้นทุกข์แล้ว เป็นการพ้นทุกข์จากสังขารวัฏจักรอย่างถาวร ก็ยังเหลือแต่ภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นเพื่อนสหธรรมิกของติสสะนั้นแหละจะต้องเวียนว่ายต่อไป

พระผู้มีพระภาคทรงหันมายังภิกษุทั้งหลายที่ยืนอยู่ข้างๆ ตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าใครหวังพึงหวังจะอุปัฏฐากตถาคต ก็พึงอุปัฏฐากดูแลภิกษุไข้เถิด” ความหมายของพระองค์ก็คือ อย่ามัวเอาใจพระพุทธเจ้าเลย จงไปดูแลภิกษุไข้เถิด การดูแลภิกษุไข้ มีอานิสงส์เท่ากับดูแลพระพุทธเจ้าทีเดียว

พุทธภาษิตที่ตรัสสอนพระภิกษุหนุ่ม “ปูติคัตตะ” ว่า
       อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวี อธิเสสฺสติ
       ฉุฑฺโฑ อเปตวิญญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ
       ไม่นานหนอ ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ นอนทับถมแผ่นดิน ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ หาประโยชน์มิได้ฉะนั้น

ว่ากันว่า เป็นที่มีของคาถา “บังสุกุลเป็น” มาจนปัจจุบันนี้ (เดี๋ยวนี้ ประเพณีจะดูหายไปเกือบหมดสิ้น)   


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๗) คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๗ ประจำวันที่ ๓-๙ มีนาคม ๒๕๖๐

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๕)
คาถาบังสุกุลครั้งแรก


คราวที่แล้วพูดถึงคาถาบังสุกุลเป็น ที่ (เชื่อว่า) เป็นต้นเหตุประเพณีสวดบังสุกุลแก่คนป่วยหนัก คราวนี้ก็ต้องพูดถึงบังสุกุลคนตาย เพื่อให้ครบเซ็ต

นอกเรื่องนิดหน่อย สมัยเขาสร้างทางรถไฟผ่านดงพญาเย็น (สมัย ร.๕) มีคนตายจำนวนมาก เพราะถูกผีหลอกเป็นไข้หัวโกร๋น นายคนหนึ่งขณะนอนอยู่ ผีมาหลอกหลอน ค่าที่บวชมานานก็สวดคาถาต่างๆ มากมาย ผีไม่กลัว ไม่หนี แกนึกขึ้นมาได้ว่าสมัยบวชเคยสวดบังสุกุลบ่อยๆ จึงสวดคาถาบังสุกุล “อนิจจา วะตะ สังขารา...” เข้าไว้ ไม่เชื่ออย่าหลบหลู่

สมัยพุทธกาล (อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ฉากเรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยพุทธกาล) พี่ชายน้องชายสองคน เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาออกบวชพร้อมกัน

พี่ชายชื่อ พระมหากาล บวชแล้วก็เรียนกรรมฐาน เข้าป่าบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต  ส่วนน้องชายชื่อ พระจุลกาล บวชมาแล้วก็ปฏิบัติไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไร วันๆ ครุ่นคิดแต่เรื่องโลกๆ ทั้งๆ ที่บวชมาแล้ว

ดีว่าเป็นสมัยก่อน ถ้าเป็นสมัยนี้คงมีเครื่องเล่นมากกว่าสมัยพุทธกาลมากมาย เช่น เกมอุปกรณ์มือถือต่างๆ ที่เอาไว้เล่นโซเชียลมีเดีย ดูคลิปวาบหวิวต่างๆ นานา

หลวงพี่เพ่งยังไงก็คงไม่เห็นอนิจจัง

วันหนึ่งหลวงพี่จุลกาลไปบิณฑบาตในเมือง อดีต “เมีย” ของพระจุลกาลทั้ง ๒ คนมาพบเข้า ก็มาซุบซิบกัน รู้กันสองต่อสอง แล้วก็ส่งเด็กไปนิมนต์หลวงพี่มาบ้านบอกว่าจะถวายภัตตาหาร พอหลวงพี่มาถึงบ้าน เมียทั้งสองก็ล็อกห้อง

ต่อไปนี้คือคำสนทนาระหว่างทั้งสาม (ผู้มีเทปอัดเทปมาให้)
“หลวงพี่หนีเราไปบวช ใครอนุญาตมิทราบ”
“ก็ขออนุญาตไม่ทัน เพราะพี่ชายชวนกะทันหัน ก็เลยตามไป” หลวงพี่แก้ตัว
“ถ้าเช่นนั้น หลวงพี่ก็ไม่เต็มใจบวชสิ” ทั้งสองซัก
“ก็ประมาณนั้นแหละ” หลวงพี่กล่าว นึกว่าเธอทั้งสองจะเห็นใจ
“ดีแล้ว ไม่อยากบวชแล้วบวชทำไม สึกเดี๋ยวนี้” ว่าแล้ว เมียทั้งสองก็ช่วยกันจับถอดจีวรออกเอากางเกงให้นุ่ง พี่ทิดแกก็คงอยากสึกอยู่แล้วด้วย จึงกระทำสำเร็จได้โดยง่าย เมื่อสึกอดีตสามีสำเร็จ ก็ส่งไปนิมนต์พระพุทธองค์เสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

ภิกษุทั้งหลายทราบเหตุ ก็พากันซุบซิบ พระพุทธองค์ทรงทราบความคิดของพระสงฆ์ ก็ตรัสคาถาเทศน์สอนว่า”จุลกาล เธอนั่งคิดนอนคิดแต่เรื่องสวยๆ งามๆ ในที่สุดก็ถูกมารผจญ เพราะใจไม่แข็งพอ ดุจต้นไม้อ่อนถูกลมพัดได้ง่าย”

ทำนองจะตรัสบอกว่า อย่าเอาอย่างจุลกาล

ฝ่ายเมียของพระมหากาล ทราบข่าวว่าอดีตภรรยาพระน้องชายสามีได้พากันจับสามีสึก ก็อยากเอาตามอย่างบ้าง จึงให้คนไปนิมนต์พระมหากาลมารับบิณฑบาตที่บ้านตน พระสงฆ์ทราบข่าวก็เป็นห่วง กลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย  แต่ดูเหมือนว่าพระพุทธองค์ก็ทรงรู้แต่ไม่เห็นทรงห้ามปรามอะไร พระทั้งหลายจึงไม่กล้าทัดทานอะไร

เมื่อไปถึงบ้าน เมียของพระมหากาล ดูเหมือนจะสี่คนด้วยซ้ำก็ดาหน้าเข้ามาจะล็อกคอหลวงพี่เหมือนกับที่ภรรยาจุลกาลทำกับสามี  แต่ขออภัย หลวงพี่มหากาลท่านเป็นอรหันต์ทรงอภิญญา รู้อะไรเป็นอะไร ก็นั่งสมาธิเหาะหนีไปได้อย่างปลอดภัย

พระพุทธองค์ทรงสอนภิกษุทั้งหลายภายหลังว่า “มหากาลนั้น ไม่ได้มองสรรพสิ่งว่าน่ารักน่าใคร่ จึงมิได้ไยดีในกามคุณ คนเช่นนี้มารย่อมทำลายไม่ได้ ดุจต้นไม้ใหญ่ ลมจะแรงขนาดไหนก็ไม่สามารถโค่นได้”

มีข้อมูลเกี่ยวกับการบรรลุพระอรหัตผลของพระมหากาลน่าสนใจ ท่านเรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้ว ได้เข้าไปอยู่ที่ป่าช้า มีนางสัปเหร่อชื่อกาลีคอยดูแลป่าช้าอยู่ นางจะทำหน้าที่เผาศพ ท่านขอกับนางว่า ก่อนเผาศพขอให้ท่านไปพิจารณาศพก่อน

วันหนึ่งท่านเห็นศพคนตายอายุยังน้อยเป็นสาววัยรุ่นอยู่ ก็พิจารณาไป ปลงธรรมสังเวชไปด้วย ว่ากันว่าความตายนี้ไม่ยกเว้นใครเลยนะ เด็กก็ตาย หนุ่มสาวก็ตาย แก่ก็ตาย โง่ก็ตาย ฉลาดก็ตาย ที่แก่แล้วตายก็ช่างเถิด เราเองก็คงจะตายในไม่ช้า จึงไม่ควรประมาทในสมณธรรม

แล้วท่านก็เจริญอสุภกรรมฐาน โดยกล่าวคาถาว่า
       อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
       อุปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสมโม สุโข
       สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดและเสื่อมเป็นธรรมดา  เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป การระงับสังขารได้เป็นสุข

พิจารณาด้วยคาถานี้แหละ ทำให้ท่านได้เข้าถึงไตรลักษณ์ แล้วก็เจริญตามทางแห่งวิปัสสนาจนถึงที่สุด

คาถานี้ ชาวพุทธได้นำมาเป็นคาถาบังสุกุลมาจนบัดนี้ 

ข้อมูลอีกแห่งหนึ่ง
สมัยพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน มีบุคคลสำคัญได้กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวชหลายท่าน เช่น พระอานนท์ พระอนุรุทธะ ท้าวสักกะเทวราช ก็ได้มากล่าวด้วยเช่นกัน

ว่ากันว่าท้าวเธอได้ยกเอาคาถา “อนิจจา...” นำมาแสดงด้วย


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๘) คาถาบังสุกุลครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๘ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 มีนาคม 2560 15:23:21 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 27 มีนาคม 2560 15:28:33 »




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๙)
ภิกษุณีรูปแรกที่มีลูก

เรื่องนี้คงอื้อฉาวมากสมัยพุทธกาล แต่บังเอิญเธอไม่ผิด คือมิได้ผิดศีล จึงไม่มีผลในแง่ลบ

เรื่องมีอยู่ว่า มีสตรีนางหนึ่งอยากบวชแต่ก็ไม่ได้บวช เพราะพ่อแม่ไม่ต้องการให้บวช จึงต้องแต่งงานอยู่กินกับสามี คอยปรนนิบัติสามีอย่างดี จนสามีพอใจ เมื่อได้โอกาสก็บอกกับสามีว่า ตนอยากบวช ขออนุญาตบวชได้ไหม สามีเห็นภรรยามีจิตใจหนักแน่น จึงอนุญาตให้ภรรยาบวช นางจึงไปบวชที่สำนักนางภิกษุณี

นางไม่รู้ดอกว่า ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยนางได้ตั้งครรภ์ เมื่อมาบวชแล้วครรภ์ก็โตขึ้น จนปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งหลาย พระเทวทัตผู้ดูแลนาง เห็นเช่นนั้นก็มิได้สอบสวนอะไร สั่งให้นางสึกทันที เพราะกลัวเป็นคนเสื่อมเสีย

นางยืนยันกับพระเทวทัตว่า นางมิได้ล่วงละเมิดสิกขาบทอะไร นางบริสุทธิ์ จะไม่ยอมสึกตามคำสั่งของพระเทวทัตเป็นอันขาด

พระเถระก็ชักไม่พอใจ ก็หลักฐานเห็นโทนโท่อย่างนี้ ถึงจะบอกว่าตนบริสุทธิ์ก็ฟังไม่ขึ้น พูดง่ายๆ ว่า”อมพระมาทั้งโบสถ์ก็ไม่เชื่อ” ประมาณนั้น

เมื่อพระผู้ดูแลไม่ยอมฟังเหตุผล ไม่ยอมสอบสวนหาเหตุจะให้สึกท่าเดียว นางก็ต้องยื่นฎีกาถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงทราบสาเหตุอยู่ก่อนแล้ว แต่เพื่อให้เรื่องมันชัดในสายตาผู้คนทั้งหลาย จึงทรงมีพุทธบัญชาให้พระอนุรุทธเถระ ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัยเป็นผู้พิจารณาอธิกรณ์

เนื่องจากเป็นเรื่องของผู้หญิง บุรุษก็ไม่ถนัดเป็นธรรมดา พระเถระจึงขอแรงนางวิสาขาให้ช่วย นางวิสาขาจึงนิมนต์ภิกษุณีมาสอบถามสองต่อสอง คงมีการตรวจสอบอาการด้วยละครับ ตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของกายภาพ สอบถามวันมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย สอบถามวันหมดประจำเดือนอะไรประมาณนั้น อย่างละเอียด ทำรายงานส่งพระอรุทธเถระ

นางสรุปว่า พระเถรีตั้งครรภ์ก่อนออกบวช

พระอนุรุทธะก็ถือเอาข้อมูลนั้นแหละ มาประมวลกับหลักฐานอย่างอื่น แล้วสรุปว่านางบริสุทธิ์ นำเสนอพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็ทรงประกาศว่า นางภิกษุณีไม่มีความผิด นางก็เลยไม่ได้ลาสิกขา พระเทวทัตก็หน้าแตกหมอไม่รับเย็บไปตามระเบียบ

เมื่อครบกำหนดแล้ว ทารกน้อยก็คลอดออกมา ภิกษุณีก็ต้องเลี้ยงลูกเองสิครับ คงทุกลักทุเลน่าดูแหละ บังเอิญ พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ เสร็จจากเผ้าพระพุทธองค์ ก็ทรงตรวจดูที่อยู่ของพระสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์

ทรงสดับเสียงเด็กร้องจึงเสด็จดำเนินเข้าไป เห็นภิกษุณีกำลังเลี้ยงทารกอยู่ ทรงถามไถ่ได้ความ จึงทรงออกพระโอษฐ์ขอเด็กไปเลี้ยง

นางภิกษุณีผู้แม่ก็จำใจให้ เพราะตนเองก็ไม่สะดวกในการเลี้ยงดู อีกอย่างลูกชายก็ไปอยู่ในรั้วในวังคงไม่ลำบาก

แต่หลังจากลูกจากไป นางก็มิเป็นอันปฏิบัติธรรม คิดถึงแต่ลูก จนไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไรเลย ลูกชายของนาง ภายหลังออกมาบวชเป็นสามเณร ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุยังน้อย

นางรู้ข่าวว่าลูกชายบวชก็ตามหา จนวันหนึ่งพบเข้า จึงวิ่งเข้าหาร้องว่า “ลูกๆ” ด้วยความคิดถึงสุดประมาณ สามเณรรู้ว่าถ้าพูดดีกับแม่ แม่ก็จะไม่บรรลุธรรมอะไร จึงทำเป็นเสียงเคร่งขรึมพูดว่า “อะไรกัน บวชมาตั้งนาน แค่ความรักแม่รักลูกยังตัดไม่ขาด” ว่าแล้วก็เดินหนีไป

ว่ากันว่า หัวใจผู้เป็นแม่แทบแหลกสลาย สลบฟื้นขึ้นมาแล้ว ทิฐิมานะก็เข้ามาแทรกแทนที่ “เสียแรงเราคิดถึงตั้งหลายปี ไม่เป็นอันกินอันนอน ลูกเราเห็นหน้าเรากลับพูดแบบไม่มีเยื่อใย ไม่รักก็ไม่รัก (วะ)” แล้วก็ตัดใจตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรม

เรื่องของนางภิกษุณีมีลูกก็จบลงด้วยประการฉะนี้

ลูกชายของนางภายหลังบวชเป็นพระแล้ว เป็นนักเทศน์มีชื่อเสียงนามว่า “กุมารกัสสปะ” ครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๙) ภิกษุณีรูปแรกที่มีลูก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๙ ประจำวันที่ ๑๗-๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๔๐)
การเกิดขึ้นแห่งประเพณีกรวดน้ำครั้งแรก


บอกไว้ก่อนว่า เป็นข้อมูลภายหลังจะได้ไม่เถียงกัน ว่ากันว่าตอนแรกๆ ก็ไม่มีธรรมเนียมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย หรือบรรพบุรุษของผู้กระทำกุศล มามีขึ้นเพราะพระเจ้าพิมพิสารเป็นสาเหตุ

ว่ากันว่า เมื่อครั้งพระเจ้าพิมพิสารถวายพระเวฬุวันให้เป็นวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้า อันนับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนานั้น พระองค์มิได้ทรงอุทิศกุศลให้ผู้ตาย เพราะไม่ทรงทราบธรรมเนียม

ตกดึกคืนนั้นพระสุบินนิมิตเห็นพวกเปรตมากหน้าหลายตามาปรากฏตนขอส่วนบุญ

พระเจ้าพิมพิสารจึงนำความไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์ตรัสให้พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายทานแก่พระสงฆ์ใหม่

พร้อมกับให้ตั้งจิตอุทิศส่วนบุญแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารทรงกระทำตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ คืนนั้นพวกเปรตทั้งหลายมาปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่ง นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ขออนุโมทนาในส่วนบุญที่พระองค์ทรงอุทิศไปให้

เมื่อทรงกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า พวกเปรตนั้นในอดีตชาติอันยาวไกลโพ้น เคยเป็นพระญาติของพระองค์ ครั้งนั้นพระองค์พร้อมทั้งหมู่ญาติได้ตระเตรียมถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข ต่างก็ตระเตรียมการเป็นใหญ่มีของเคี้ยวของฉันอันประณีตเตรียมไว้พร้อมมูล

เมื่อภิกษุสงฆ์ยังมิทันได้ฉันภัตตาหารนั้น พวกญาติบางพวกเกิดหิวขึ้นมา จึงหยิบเอาอาหารขึ้นมารับประทานก่อนภิกษุสงฆ์ ด้วยผลกรรมนั้นพวกเขาจึงเกิดเป็นเปรตเรียกว่า “ปรทัตตูชีวิต” (เปรตผู้อาศัยส่วนบุญ ที่คนเขาอุทิศให้ยังชีพ) เมื่อไม่มีญาติพี่น้องอุทิศส่วนบุญไปให้จึงผอมโซไปตลอดกาล ดังกรณีญาติของพระเจ้าพิมพิสารนี้

แต่เมื่อพระองค์ทรงอุทิศส่วนบุญไปให้ พวกเขาก็ได้รับดังกล่าวแล้ว

ว่ากันว่านี่คือที่มาแห่งธรรมเนียมการทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ที่ถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้

คุณค่าทางจริยธรรมที่ได้จากธรรมเนียมนี้ก็คือ เป็นการสร้างสำนึกแห่งความละอายชั่วกลัวบาปได้อย่างดี

ของที่เขาตั้งใจอุทิศถวายพระนั้นถือว่าเป็น “ของสงฆ์” ปู่ย่าตาทวดจะสอนลูกหลานมิให้แตะต้อง เพราะจะเป็นบาป ตายไปจะไปเกิดเป็นเปรต ใครจะหาว่าเอาเปรตมาขู่ก็ตามเถอะ

มองอีกมุมหนึ่งนี่คือวิธีควบคุมจริยธรรมของคนให้มีหิริโอตตัปปะ รู้จักอายชั่วกลัวบาปได้อย่างดี ผิดกับคนสมัยนี้

เดิมทีคงเพียงตั้งใจอุทิศส่วนบุญเท่านั้นเอง ส่วนการจะเอาน้ำมารินอันเรียกว่ากรวดน้ำนั้น คงเพิ่มมาภายหลัง เพื่อให้เป็น “สัญลักษณ์” ตามธรรมเนียมของคนสมัยโน้น

อาจารย์บางท่านกล่าวว่า สมัยก่อนโน้น เขาใช้น้ำรินลงที่มือคนรับ ตั้งกรณีพระเวสสันดรตอนพระราชทานสองกุมารแก่พราหมณ์ชูชก ทรงยกคนโทน้ำรินน้ำลงที่มือของพราหมณ์ เป็นสัญลักษณ์ว่าให้เป็นการเด็ดขาด

แต่ปัจจุบันนี้ใช้น้ำริน อันเรียกตามภาษา (ว่ากันว่าเขมร) “กรวด” จึงเรียกธรรมเนียมนี้ว่า “กรวดน้ำ”

แล้วก็มีระเบียบปฏิบัติว่า ให้รินน้ำตอนที่พระรูปแรกสวด “ยถา วาริวหา...” เมื่อพระสงฆ์รับพร้อมกัน ก็ให้รินน้ำที่ยังเหลือให้หมด แล้วประนมมือรับพรจากพระสงฆ์ โดยไม่ต้องเอานิ้วจับชายเสื้อของคนรินน้ำ

แบบนี้ก็เห็นจะมีเฉพาะวงการพุทธไทยอย่างที่ประเทศศรีลังกา พระท่านอนุโมทนาพร้อมกันขณะรินน้ำก็เพียงตั้งจิตอุทิศกุสลเท่านั้นไม่ต้องสวดอะไรให้รุงรัง

ถ้าจะกรวดน้ำโดยไม่มีพิธีการทำบุญอย่างอื่น เช่นใส่บาตรแล้ว อุทิศส่วนบุญแล้ว ยังไม่สบายใจ คล้ายๆ จะขาดอะไรไปสักอย่างจะกรวดน้ำแถมท้าย โดยนำพุทธวจนะสั้นๆ มาสวดว่า “อิทํ โน ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” ก็ได้


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๔๐) การเกิดขึ้นแห่งประเพณีกรวดน้ำครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๑๐ ประจำวันที่ ๒๔-๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 05 เมษายน 2560 18:53:22 »




สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๔๑)
การประพรมน้ำพุทธมนต์ครั้งแรก

บอกไว้ก่อนว่าถึงแม้ว่าข้อมูลจะมีปรากฏในพระสูตรในพระไตรปิฎก แต่ก็น่าเชื่อว่าเขียนขึ้นและเพิ่มเติมภายหลัง

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ พระพุทธเจ้ามิได้ทรงต้องการให้พระสูตรของพระองค์เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การทำน้ำพระพุทธมนต์และประพรมเพื่อขจัดภูตผีร้ายไม่น่าจะเป็นพุทธประสงค์

ก็ขอเล่าตามตำนานก็แล้วกัน

ที่เมืองไพศาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีเกิดโรคระบาด (อหิวาตกโรค หรือโรคห่า) ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เดือดร้อนไปทั่วเมือง

กษัตริย์ลิจฉวีนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวเมืองไพศาลาลี

พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมากเสด็จไปตามคำนิมนต์ ทรงมีพุทธบัญชาให้พระอานนท์ พุทธอนุชา สวดรัตนสูตร อันว่าด้วยพระคุณของพระรัตนตรัย เพื่อขจัดโรคร้ายและอำนวยสวัสดิมงคลแก่ชาวเมืองไพศาลี พร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบกำแพงเมือง

ภูตผีปีศาจร้ายได้ปลาสนาการไปหมดสิ้น ชาวเมืองมีกำลังใจเริ่มหายป่วยกันมากขึ้น

ดูเหมือนก่อนหน้าพระอานนท์เดินสวดรัตนสูตรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ฝนตกลงมาห่าใหญ่ชะล้างพื้นให้สะอาด

พระพุทธเจ้าประทับท่ามกลางพุทธบริษัท อันประกอบด้วยกษัตริย์ลิจฉวี ชาวเมือง และภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ทรงสวดรัตนสูตรอีกครั้งหนึ่ง

พระพุทธโฆษาจารย์ (พระอรรถกถาจารย์) ได้อธิบายไว้ในอรรถกถาทีฆนิกายว่า พระพุทธองค์ทรงสวดเฉพาะ ๕ คาถาแรกเท่านั้น ส่วนคาถาที่เหลือ พระอานนท์สวดมาก่อนแล้ว

เนื้อหา เป็นการสรรเสริญพระคุณของพระรัตนตรัย เช่น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจชนิดใจชนิดหนึ่งไม่ว่าในโลกไหน หรือรัตนะอันประณีตสวยงาม ไม่ว่าในสวรรค์ชั้นไหน จะเปรียบปานพุทธรัตนะนั้นหามีไม่

พระธรรมอันปราศจากราคะ อมตะ ประณีต ที่พระพุทธองค์ทรงมีจิตเป็นสมาธิบรรลุแล้วพระธรรมนั้น หาสิ่งใดเสมอเหมือนมิได้

สมาธิใดที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นอนันตริกสมาธิ หาสมาธิอื่นใดเสมอเหมือนมิได้

พระอริยบุคคล ๘ จัดเป็น ๔ คู่ ท่านเหล่านั้นพระสุคตทรงสรรเสริญ ควรทำบุญทำทานที่ถวายแก่ท่านเหล่านั้นมีผลมาก

พระอริยบุคคล ในศาสนาของพระโคตมพุทธะ ขยันขวนขวายด้วยดี มีจิตมั่นด้วยสมาธิไม่มีความใคร่ ได้เสวยความดับกิเลสเปล่าๆ (โดยไม่ต้องซื้อหา)

สัตบุรุษ (คือพระโสดาบัน) ผู้หยั่งรู้อริยสัจพระตถาคตตรัสเรียกว่า ผู้มีศรัทธาไม่คลอนแคลน ดุจเสาหลักเมืองที่ฝังลงดินลึก ลมพัดมาจากทิศทางใด ก็ไม่สามารถให้ขยับเขยื้อนได้

พระอริยบุคคล ผู้เห็นแจ้งอริยสัจสี่ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ แม้ว่ายังจะเป็นผู้ประมาทโดยมาก ย่อมมาเกิดอีกอย่างมากเจ็ดชาติ

พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรค พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ ๓ เป็นผู้พ้นจากอบายมุขทั้งสี่ และไม่ทำอนันตริยกรรม ๖ (คือฆ่าพ่อ, ฆ่าแม่, ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต, ทำสงฆ์ให้แตกกัน และไปนับถือศาสนาอื่น)

พระโสดาบัน แม้จะทำชั่วด้วยกาย วาจา ใจ อยู่บ้าง ก็ไม่ปิดบังกรรมชั่วที่ทำไว้ เพราะผู้เห็นพระนิพพานแล้ว ไม่อาจปิดบังความชั่วที่ตนทำ

พุ่มไม้ใหญ่ในป่า ผลิดอกออกใบ แตกกิ่งก้านสาขา พระตถาคตเจ้าทรงแสดงพระธรรมอันประเสริฐ ให้แตกกิ่งก้านสาขาชี้ทางนำไปสู่พระนิพพาน ฯลฯ

ท้ายแต่ละพระคาถา มีถ้อยคำว่า ขอความสวัสดีมงคลจงมีแก่ผู้ที่มาประชุมกัน สวดสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เรื่องราวจะเกิดขึ้นสมัยพุทธกาลจริง หรือท่านแต่งในภายหลัง โยงให้ถึงสมัยพุทธกาลยากจะทราบได้ เพราะเนื้อหารัตนสูตรไม่มีพูดไว้

ส่วนที่เล่าเรื่องพระอานนท์เดินสวดพระสูตรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์นั้น พระอรรถกถาจารย์ท่านแต่งเติม

เมื่อครั้งลังกาทวีปเกิดกาฬโรคครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระเจ้าอุปติสสะที่สอง พระเจ้าแผ่นดินทรงนิมนต์พระสงฆ์เดินสวดรัตนสูตรนี้รอบเมือง  

ว่ากันว่าโรคภัยได้หายในที่สุด จึงเกิดธรรมเนียมสวดพระปริตรนี้ กำจัดภัยพิบัติในประเทศนั้นสืบมา.  


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๔๑) การประพรมน้ำพุทธมนต์ครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๑๑ ประจำวันที่ ๓๑ มีนาคม - ๖ เมษายน ๒๕๖๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 เมษายน 2560 18:55:26 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
เมฆวดี
นักโพสท์ระดับ 1
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 4


ระบบปฏิบัติการ:
Mac OS X 10.15.6 Mac OS X 10.15.6
เวบเบราเซอร์:
Safari 15.5 Safari 15.5


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2565 19:19:30 »

ตอนที่ 31   คัดลอกได้ที่นี่เลยค่ะ

https://www.matichonweekly.com/column/article_246414


และขออนุโมทนาในธรรมทานนี้ด้วยนะคะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 มิถุนายน 2565 19:33:57 โดย เมฆวดี » บันทึกการเข้า
เมฆวดี
นักโพสท์ระดับ 1
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 4


ระบบปฏิบัติการ:
Mac OS X 10.15.6 Mac OS X 10.15.6
เวบเบราเซอร์:
Safari 15.5 Safari 15.5


ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2565 20:02:33 »

ตอนที่ ๓๘ พิมพ์ผิดเป็น ๓๕    ช่วยแก้ไขด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
เมฆวดี
นักโพสท์ระดับ 1
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 4


ระบบปฏิบัติการ:
Mac OS X 10.15.6 Mac OS X 10.15.6
เวบเบราเซอร์:
Safari 15.5 Safari 15.5


ดูรายละเอียด
« ตอบ #13 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2565 20:13:53 »

ตอนที่ ๓๕ ข้างบนถูก แต่ข้างล่างพิมพ์เป็น ๓๔ แก้ไขด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
เมฆวดี
นักโพสท์ระดับ 1
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 4


ระบบปฏิบัติการ:
Mac OS X 10.15.6 Mac OS X 10.15.6
เวบเบราเซอร์:
Safari 15.5 Safari 15.5


ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 06 มิถุนายน 2565 12:02:46 »

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

 หัวข้อ

1. บุคคลแรกที่พูดได้เดินได้ทันทีที่เกิด
2. คำแรกที่เจ้าชายสิทธัตถะพูดตอนประสูติ
3. อุบาสกอุบาสิกาคู่แรก
4. บุคคลแรกที่ถวายอาหารก่อนตรัสรู้
5. สิ่งแรกที่ทรงทำหลังจากเสด็จออกผนวช
6. พระอุทานแรกที่ทรงเปล่งหลังตรัสรู้
7. บุคคลแรกที่พระพุทธเจ้าพบเมื่อเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์
8. พระธรรมเทศนากัณฑ์แรก
9. สาวกรูปแรก
10. อุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา
11. วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
12. พระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรก
13. อุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรก
14. การประชุมสงฆ์จำนวนมากที่สุดเป็นครั้งแรก
15. ตำแหน่งที่ทรงแต่งตั้งครั้งแรก
16. สามเณรรูปแรก
17. ภิกษุณีรูปแรก
18. ภิกษุที่อุปสมบทด้วยพระสงฆ์รูปแรก
19. แพทย์ประจำพระพุทธองค์คนแรก (และคนเดียว)
20. ผู้ถวายผ้าอาบน้ำฝนคนแรก
21. คนแรกที่เป็นต้นเหตุให้พระรับคหบดีจีวร
22. โสเภณีที่ถวายสวนสร้างวัดคนแรก
23. ผู้ละเมิดปฐมปาราชิกคนแรก
24. ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก
25. ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก
26. ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก
27. สังคายนาครั้งแรก
28. พระธรรมทูตชุดแรก
29. พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก
30. พระสงฆ์ทะเลาะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรก
31. การเกิดนิกายครั้งแรกในพระพุทธศาสนา
32. วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี
33. มหาโจรชื่อดังคนแรกที่บรรลุพระอรหัต
34. รอยพระพุทธบาทรอยแรก
35. คนแรกที่กล่าวพุทธคุณ 100 บท
36. สาวใช้คนแรกผู้เป็นอาจารย์พระราชินีเพราะปัญญาเลิศ
37. คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก
38. คาถาบังสุกุลครั้งแรก
39. ภิกษุณีรูปแรกที่มีลูก
40. การเกิดขึ้นแห่งประเพณีกรวดน้ำครั้งแรก
41. การประพรมน้ำพุทธมนต์ครั้งแรก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 มิถุนายน 2565 12:06:36 โดย เมฆวดี » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.77 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 18 ธันวาคม 2567 06:59:18