[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 18:29:43 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: "ม้าขี่ - ม้าขี่ปู๊เมีย" ในพิธีกรรมล้านนา  (อ่าน 355 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 104.0.0.0 Chrome 104.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 กันยายน 2565 14:40:27 »



ม้าขี่ ในพิธีกรรมล้านนา

ความเชื่อเรื่องผี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เป็นความเชื่อพื้นฐานโบราณของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ก่อนการเข้ามาของศาสนาต่างๆ จากภายนอก อย่างศาสนาฮินดู พุทธ หรืออิสลาม ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพล ดำริห์กุล ให้คำจำกัดความว่า ผี คือวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นที่มีอิทธิฤทธิ์พิเศษ และเชื่อว่าการเกิดขึ้นเป็นไปของปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ เกิดขึ้นจากฝีมือของผี โดยผีจะกระจายอยู่ทั่วไปในที่ต่างๆ ตั้งแต่ในบ้านเรือน ชุมชน เมือง หรือในสิ่งแวดล้อมที่มีความลี้ลับอย่างป่า ภูเขา แม่น้ำ ฉะนั้นเพื่อให้สมาชิกในสังคมสามารถอยู่ได้อย่างสงบสุขจึงเกิดพิธีกรรมการนับถือผีขึ้น เพื่อสักการะ บูชา หรือแม้แต่เซ่นสังเวยให้ผีพึงพอใจ ขณะเดียวกัน คนก็ต้องมีหลักในการปฏิบัติตนให้ถูกทำนองคลองธรรม ไม่ทำให้ผีโกรธ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อครอบครัวหรือชุมชนจนอาจถึงแก่ชีวิตได้

สังคมล้านนาเป็นอีกสังคมหนึ่งที่มีการนับถือผีอย่างเข้มข้นผสมผสานกับการนับถือพุทธศาสนา คนล้านนาจะแบ่งผีออกเป็น ๒ กลุ่มหลัก คือ ผีดี และผีร้าย โดยในกลุ่มผีดีนั้น จะเป็นกลุ่มผีที่คอยปกปักรักษา คุ้มครองคนให้อยู่อย่างเป็นสุข อาทิ ผีปู่ย่า (ผีบรรพบุรุษ) ผีเฮือน (ผีบ้านผีเรือน) ผีเสื้อบ้าน เสื้อเมือง (ผีอารักษ์) ผีเจ้านาย (ผีที่เคยเป็นกษัตริย์หรือราชวงศ์ที่เคยปกครองเมืองหรือแว่นแคว้นใดๆ มาก่อน แล้วเสียชีวิตไปจึงกลายเป็นผี คอยคุ้มครองผู้คนที่ทำความเคารพนับถือ) ส่วนผีร้าย คือ ผีที่ทำร้ายผู้คนให้เจ็บป่วยหรือถึงแก่ชีวิต การเลี้ยงผีดีเพื่อคุ้มครองตนจากผีร้ายจึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนล้านนาที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะพบเห็นไม่มากนักในเขตเมืองใหญ่ แต่ยังสามารถพบเห็นการนับถือผีได้ในเขตชนบทนอกตัวเมืองอยู่

ทำไมการสืบสายผีของล้านนาจะสืบจากเพศหญิงมากกว่าเพศชาย?
เนื่องจากคนล้านนาให้ความเคารพผีมากพอๆ กับพระพุทธศาสนา การสืบสายผีโดยเฉพาะผีปู่ย่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกบ้านให้ความสำคัญ เนื่องจากผีปู่ย่าหรือผีบรรพบุรุษนั้นช่วยคุ้มครองไม่ให้สมาชิกในบ้านประสพภัยอันตรายหรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่การสืบสายผีปู่ย่านั้นมักจะสืบทอดกันแต่เฉพาะสมาชิกครอบครัวเพศหญิงเท่านั้น วิถี พานิชพันธ์ อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อสังเกตว่า สังคมล้านนาในอดีตเพศหญิงจะเป็นใหญ่กว่าเพศชาย โดยผู้หญิงเป็นผู้ที่มีหน้าที่ดูแลบ้านเรือน อบรมสั่งสอนบุตรหลาน ตลอดจนทำงานหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงมีความตระหนักในการรับผิดชอบครอบครัวมากกว่าผู้ชาย ที่ถูกอบรมเลี้ยงดูอย่างเป็นอิสระมากกว่า โดยบทบาทของผู้ชายล้านนาในอดีต มักจะทำงานนอกบ้านเป็นหลัก เช่น ทำไร่ ไถนา เข้าป่าล่าสัตว์ เด็กผู้ชายจะบวชเรียนตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเติบใหญ่สึกออกมาแล้วก็จะเรียนรู้การเกี้ยวผู้หญิง เล่นดนตรี หรือบางส่วนก็ออกไปแสวงโชคต่างบ้านต่างเมือง เมื่อผู้ชายและผู้หญิงแต่งงานกัน ฝ่ายชายจะเข้ามาอาศัยในบ้านฝ่ายหญิง ฉะนั้นการมอบหมายหน้าที่ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายดูแลผีบรรพบุรุษของตนน่าจะมาจากการที่ผู้หญิงถูกผูกติดให้อยู่กับบ้านมากกว่าผู้ชาย จึงมีแนวโน้มว่าสายผีจะมีผู้ดูแลสืบทอดอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ลำดับขั้นตอนการสืบสายผีของคนล้านนานั้นไม่ได้ยุ่งยาก โดยอาจจะเริ่มจากผู้เป็นแม่เป็นเก๊าผี (ต้นสาย) ที่จะส่งมอบความรับผิดชอบในการดูแลหิ้งปู่ย่า (หิ้งสำหรับตั้งของเซ่นไหว้ผีในบ้าน) หรือหอปู่ย่า (ศาลตายายนอกบ้าน) ให้กับบุตรสาวคนโตเป็นหลัก หากบุตรสาวคนโตไม่สามารถดูแลผีปู่ย่าได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็จะส่งมอบให้บุตรสาวคนเล็กเป็นผู้สืบทอดแทน

ม้าขี่ คือ อะไร?
ม้าขี่ คือ ร่างทรงของผีปู่ย่า ผีเจ้านาย หรือผีอารักษ์ตามคำเรียกของคนล้านนา มีลักษณะแบบเดียวกันกับคนทรงเจ้าในภูมิภาคอื่นของไทย และนัตกะด่อ ซึ่งเป็นร่างทรงของนัตในวัฒนธรรมพม่า จุดประสงค์ของการเป็นม้าขี่ คือ เป็นตัวกลางในการสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างผีกับคนธรรมดาเข้าด้วยกัน โดยส่วนใหญ่ผู้คนนิยมเข้ามาปรึกษาม้าขี่เมื่อมีปัญหาชีวิต ทรัพย์สิน ญาติพี่น้องสูญหาย หรือเจ็บป่วย ผีก็จะให้คำแนะนำผ่านม้าขี่ที่ได้ลงย่ำ (เข้าทรง)

ในประวัติศาสตร์ล้านนายังเคยมีการใช้ม้าขี่และผีเจ้านายเป็นข้อต่อรองเงื่อนไขทางการค้า โดยปรากฏเรื่องเล่าว่า ในสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๑๖-๒๔๔๐) มีกลุ่มชาวจีนรวมตัวกันผูกขาดการต้มเหล้าในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าของกลุ่มเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ได้ เจ้าอุบลวรรณา พระขนิษฐาของแม่เจ้าทิพเกสร พระชายาของเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ทำพิธีเป็นม้าขี่ให้ผีเจ้าพ่อ หรือ เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๖ ลงย่ำ เพื่อขู่เตือนมิให้ชาวจีนผูกขาดการต้มเหล้าเป็นอันขาด มิฉะนั้นบุคคลผู้นั้นจะได้รับความเจ็บป่วย รวมถึงอาการป่วยของแม่เจ้าทิพเกสรที่เป็นอยู่เดิมก็จะหนักลงไปอีก ด้วยเหตุนี้ เจ้าอินทวิชยานนท์จึงออกคำสั่งยกเลิกการผูกขาดการต้มเหล้าไปโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าความเชื่อเรื่องม้าขี่และผีมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนล้านนาในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะม้าขี่และผีเป็นเสมือนผู้ชี้นำทิศทางการใช้ชีวิตของบุคคลนั้นๆ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหรือเชื่อฟังคำแนะนำอาจจะมีอันเป็นไปได้ ขณะเดียวกัน ตัวม้าขี่ซึ่งเป็นตัวแทนของผีที่ผู้คนให้ความเคารพบูชาก็ควรปฏิบัติตนให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน โดยมีหลักปฏิบัติตนของม้าขี่ที่พึงกระทำ เช่น การไม่สวมเสื้อผ้าสีดำหรือสีเข้มไปงานพิธีต่างๆ การไม่ร่วมรับประทานอาหารหรือร่วมพิธีในงานศพหรืองานอวมงคล การไม่รับประทานผัก ผลไม้ที่เป็นเครือเถา เช่น พืชกลุ่มแตง ฟัก บวบ ผักปลัง ยอดมะพร้าวอ่อน เป็นต้น และม้าขี่ควรเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เข้าวัดทำบุญ ถือศีลห้าอยู่เสมอ หลักปฏิบัติเหล่านี้เป็นเสมือนข้อบังคับให้ม้าขี่ทุกเพศทุกวัยต้องกระทำเช่นเดียวกันหมด นี่จึงเป็นกุศโลบายหนึ่งที่นอกจากจะทำให้ตัวม้าขี่มีความพิเศษกว่าคนธรรมดาทั่วไปแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความน่าเลื่อมใสให้กับตัวม้าขี่เองด้วย

ม้าขี่ปู๊เมีย คือ อะไร และเริ่มมีบทบาทตอนไหน?
คำว่า “ปู๊เมีย” หรือ “ปู๊แม่” ในความหมายของคนล้านนา หมายถึง กะเทย หรือบุคคลที่มีสองเพศ แต่โดยทั่วไปมักหมายถึงผู้ชายที่มีจริตออกสาวมากกว่าผู้หญิงที่จริตเป็นชาย หรือที่เรียกตามภาษาปากว่า ทอม ในประเด็นเพศภาพของม้าขี่นั้น ในอดีตม้าขี่ส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิง เนื่องด้วยเพศหญิงได้ผูกขาดการสืบสายผี จึงสามารถติดต่อกับผีบรรพบุรุษของตนเองได้ สำหรับม้าขี่เพศชาย และม้าขี่ปู๊เมียเข้ามามีบทบาทในการเป็นม้าขี่ของผีเจ้านายมากขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะม้าขี่ปู๊เมียที่เพศกำเนิดเป็นชายแต่มีเพศสภาพเป็นหญิง หรือเป็นชายรักชาย เริ่มมีสัดส่วนมากกว่าเพศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จากงานวิจัยของสุระ อินตามูล เรื่อง พิธีกรรมทรงผีเจ้านาย: พื้นที่เปิดทางเพศภาวะในล้านนา และบทความของกิ่งแก้ว ทิศตึง เรื่อง ร่างทรง และพื้นที่ทางสังคมของคนข้ามเพศ ได้สัมภาษณ์ม้าขี่ปู๊เมียตั้งแต่รุ่นอาวุโส วัยกลางคน จนถึงคนรุ่นใหม่ในวัยนักศึกษา ม้าขี่ผู้ให้สัมภาษณ์มีความเห็นตรงกันว่าม้าขี่ปู๊เมียมีสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งเมื่อเทียบกับม้าขี่เพศหญิง เทียบได้ว่า หากมีม้าขี่ในผาม (ปะรำพิธี) จำนวน ๑๐ คน จะเป็นม้าขี่ปู๊เมียประมาณ ๕ คน ม้าขี่หญิงชรา ๔ คน และม้าขี่ชาย ๑ คน เป็นต้น อย่างไรก็ดี สุระ อินตามูล ได้กล่าวว่าแม้สัดส่วนม้าขี่ปู๊เมียจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ม้าขี่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นม้าขี่ของผีเจ้านายเป็นหลัก เนื่องจากการถูกเลือกให้เป็นม้าขี่จากผีเจ้านายมีความเปิดกว้างมากกว่าการเป็นม้าขี่ของผีปู่ย่าที่ยังคงเน้นที่เพศหญิงหรือบุคคลที่มาจากสายตระกูลนั้นๆ อยู่
ทำไมม้าขี่ปู๊เมียจึงถูกเลือกจากผีเจ้านายมากกว่าม้าขี่เพศอื่นๆ?

จากการสัมภาษณ์ม้าขี่ปู๊เมียจำนวน ๕ คน ในงานวิจัยของสุระ อินตามูล มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ผีเจ้านายเคยเลือกลงย่ำสมาชิกในสายตระกูลเพศหญิงของตนมาก่อน เช่น ยายทวด ย่า ยาย ซึ่งเมื่อม้าขี่เหล่านี้แก่ตัวลงหรือตายไป ผีเจ้านายจึงเลือกมาลงย่ำที่ตนแทนญาติเพศหญิงคนอื่นๆ โดยม้าขี่ทั้งห้าให้ความเห็นว่า การที่ผีเจ้านายเลือกลงย่ำเกย์หรือกะเทย  เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องประจำเดือน สามารถดูแลเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หอผี ให้สวยงาม สะอาด เรียบร้อยได้เหมือนเพศหญิง มีปัญหาการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ในชีวิตประจำวัน อันเป็นการปฏิบัติตนที่ดูไม่เหมาะสมกับการเป็นม้าขี่น้อยกว่าเพศชาย อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์ของกิ่งแก้ว ทิศตึง มีม้าขี่ปู๊เมียจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นว่า แม้ตนจะได้รับความเคารพนับถือจากลูกเลี้ยง (ลูกศิษย์) แต่ตนกลับรู้สึกว่าลูกเลี้ยงให้ความเคารพผีเจ้านายที่ลงย่ำอยู่มากกว่าเคารพตนในฐานะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศคนหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าแม้ภายนอกม้าขี่ปู๊เมียจะได้รับความเคารพนับถือในสังคมแบบอนุรักษ์นิยมของล้านนา แต่โดยลึกแล้วยังคงมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยังไม่ยอมรับเพศสภาพที่แท้จริงของตัวม้าขี่ได้

การดำรงอยู่ของการเป็นม้าขี่ปู๊เมียเป็นการเปิดพื้นที่การแสดงออกทางเพศสภาพที่หลากหลาย ที่อาจพบเห็นได้ไม่ง่ายนักในสังคมอนุรักษ์นิยม แม้เกย์และกะเทยจะมีส่วนร่วมในพิธีกรรม งานบุญตามประเพณีล้านนามานานแล้ว เช่น การจัดดอกไม้ ทำพานพุ่มบายศรี หรือเป็นแม่งานในขบวนแห่ช่างฟ้อน แต่สถานภาพของม้าขี่ปู๊เมียนั้นแตกต่างออกไป ผู้ที่เป็นม้าขี่ คือ ผู้ที่ถูกคัดเลือกจากผีเจ้านาย ซึ่งมีความพิเศษกว่าปุถุชนทั่วไป มีลูกศิษย์ทุกเพศทุกวัยที่ศรัทธาในตัวผีเจ้านายตนนั้นๆ ให้ความเคารพนับถือ จึงอาจกล่าวได้ว่า การเพิ่มขึ้นของม้าขี่ปู๊เมียในผามพิธีกรรม เป็นการเปิดประตูให้เพศที่สามเข้ามามีบทบาทในวิถีความเชื่อแบบโบราณนี้ได้แนบเนียนและไม่สร้างความตะขิดตะขวงใจต่อผู้นับถือ

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ บทบาทของม้าขี่ในวัฒนธรรมภาคเหนือมีความคล้ายคลึงกับนัตกะด่อ หรือ คนทรงนัต ในวัฒนธรรมพม่าเป็นอย่างมาก นัตในความหมายของคนพม่า คือ วิญญาณครึ่งผีครึ่งเทพเจ้า นัตในวัฒนธรรมพม่าก็มีการแบ่งคล้ายๆ กับผีในวัฒนธรรมล้านนา ได้แก่ นัตเรือน หรือมีงมหาคีรีนัต คือนัตที่ประจำอยู่ในบ้านเรือน ลักษณะเดียวกับผีปู่ย่าหรือผีบ้านผีเรือน นัตพุทธ คือ นัตที่ถูกหลอมรวมเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้ว มีจำนวน ๓๗ ตน นัตใน เป็นนัตที่อยู่ในเขตกำแพงเจดีย์ชเวซิโข่ง มีจำนวน ๓๗ ตนเช่นกัน และนัตนอก เป็นนัตที่อยู่นอกกำแพงเจดีย์ชเวซิโข่ง และเป็นนัตจะเข้าทรงในตัวของนัตกะด่อ คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้านในงานเทศกาลบูชานัต ที่จะจัดขึ้นสามครั้งต่อปี โดยในช่วงขึ้น ๑๐-๑๕ ค่ำของเดือนสิงหาคมจะเป็นช่วงเทศกาลบูชานัตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปี

เพศภาพของนัตกะด่อในพม่ามีแนวโน้มเป็นเพศที่สามมากขึ้นเช่นเดียวกับม้าขี่ปู๊เมียในภาคเหนือของไทย โดยในพม่า หลายๆคนเรียกเทศกาลบูชานัตนี้ว่า เทศกาลเกย์ เนื่องจากเหล่านัตกะด่อเพศที่สามและลูกศิษย์ที่มักจะเป็นเพศที่สามเช่นเดียวกัน จะมารวมตัวกันในพิธีนี้ ชาวพม่าที่เป็นเพศที่สามกล่าวว่า พื้นที่การเป็นนัตกะด่อและเทศกาลบูชานัต เป็นพื้นที่เดียวที่พวกเขาสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ แต่เมื่อเสร็จสิ้นเทศกาล พวกเขาต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ และยังคงถูกเหยียดเพศสภาพจากคนทั่วไปในสังคมตามเดิม คำถามที่ต่อมา คือ หากวิถีความเชื่อแบบโบราณอย่างผีและนัต เปิดกว้างให้กลุ่มเพศทางเลือกเข้ามามีบทบาทสำคัญในพิธีกรรม แต่เหตุใดสังคมสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ ยังคงมีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศจากกลุ่มคนบางกลุ่มอยู่


ขอขอบคุณ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่" (ที่มาข้อมูล/ภาพประกอบ)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.434 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 12 ตุลาคม 2567 07:35:35