จับตาความรุนแรงระลอกใหม่เหมืองทองคำ จ.เลย หลังมีชายฉกรรจ์ดักรอกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
<span class="submitted-by">Submitted on Sun, 2024-01-21 15:58</span><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p>องค์กร Protection International (PI) จับตาสถานการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ของเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย เผย 2 ผู้หญิงนักป้องสิทธิกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ถูกชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืนดักซุ่มรอที่หน้าบ้าน ขณะที่ กสม. รุดลงพื้นที่ด่วนตามหนังสือที่ PI ส่ง พร้อมทั้งประสานหน่วยงานประชุมหามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน</p>
<p><img alt="" src="
https://live.staticflickr.com/65535/53477628559_241d4bc791_o_d.jpg" /></p>
<p>21 ม.ค. 2567 องค์กร Protection International (PI) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานร่วมกับผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) นำโดย ศยามล ไกยูรวงศ์, ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาฯ และเจ้าหน้าที่ของ กสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นที่ตั้งเหมืองทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อหารือร่วมกับ ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) หน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของ 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำ หลังถูกข่มขู่คุกคามจากกลุ่มชายฉกรรจ์ ตามหนังสือที่ Protection International (PI) ได้ส่งเรื่องไปยัง กสม. เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา</p>
<p>สุธีรา เปงอิน ตัวแทนจาก PI กล่าวว่าผ่านมากว่า 17 ปี แล้วที่ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ต้องต่อสู้และเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองทองคำของ บริษัท ทุ่งคำจำกัด ต้องเผชิญการถูกคุกคามทั้งทางกายภาพ จิตใจ และถูกคุกคามโดยกระบวนการยุติธรรม มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมานักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย PI และ PPM ได้มีการประเมินสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยต่างๆร่วมกันพบว่าขณะนี้มีสัญญาณเตือนถึงสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฯ อย่างน้อย 2 คน ซึ่งทั้งสองเป็นผู้หญิงและเป็นกำลังหลักใน การดูแล การจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม และการฟื้นฟูหลังจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ รวมถึงเป็นตัวแทนหลักในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและการเคลื่อนไหวต่อสู้ในชุมชน ซึ่งจากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัย ประกอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย เราจึงทำหนังสือเรียกร้องให้ กสม. หามาตราการในการคุ้มครองอย่างเร่งด่วนและขอให้ประสานงานและดำเนินกาอย่างเป็นรูปธรรม 2 ข้อคือ</p>
<p>“ 1. ประสานงานกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อหามาตราการในคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยง รวมทั้งให้มีการยุติการใช้ความรุนแรง ยุติการข่มขู่ และการคุกคาม และทำให้แน่ใจว่าประชาชนทุกคน สามารถใช้สิทธิในการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ 2. จัดประชุมหารือร่วมกับ PI และผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และ PPM เพื่อหามาตราการอื่นๆที่เหมาะสม รวมไปถึงการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯเพื่อหามาตการที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯในกรณีดังกล่าวและกรณีอื่นๆที่มีความเสี่ยงด้วย” ตัวแทนจาก PI ระบุ</p>
<p>ต่อมา กสม. ได้เปิดให้ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมได้ชี้แจงการดำเนินงานในการปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯ โดยศยามลกล่าวว่า หลังจากที่เราได้รับหนังสือร้องเรียนจาก PI ก็ได้ลงพื้นที่วันที่ 19 มกราคม 2567 นี้ เพื่อจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหามาตรการเร่งด่วนในการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยงสูงทั้งสองคน และวันนี้มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมประชุม จึงอยากทราบรายละเอียดว่าแต่ละหน่วยงานได้มีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างไรบ้าง</p>
<p>ในช่วงของการชี้แจงเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดพยายามกล่าวอ้างถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำในการปกป้องนักปกป้องสิทธิฯในพื้นที่ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านระบุว่าได้จัดชุดลาดตระเวนตรวจตราช่วยชาวบ้านเพื่อช่วยเฝ้าระวังและดูความปลอดภัยภัยในพื้นที่ ส่วนนายอำเภอวังสะพุงระบุว่ามือปืนที่ยิงชาวบ้านเมื่อปี พ.ศ. 2564 ถูกให้ออกจากผู้ใหญ่บ้านแล้ว และกรณีล่าสุดเกิดเหตุไฟฟ้าไหม้ในการรื้อถอนเราได้นำเครื่องมือมาช่วยดับเพลิง ส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ชี้แจงว่าได้มีการติดตู้แดงและส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจตราให้</p>
<p>ขณะที่ รจนา กองแสง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ได้กล่าวในการประชุมว่า ตั้งแต่ที่บริษัทบริหารและการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทเจนโก้ ประมูลสินแร่ได้ชาวบ้านยังทำหน้าที่ดูแลสินทรัพย์ในฐานะหนึ่งในเจ้าหนี้ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างที่บริษัทเจนโก้กำลังจัดการเรื่องหาพนักงานรักษาความปลอดภัย ช่วงนั้นมีกลุ่มคนที่เข้ามาลักลอบขโมยของในเหมืองประมาณช่วงเดือนกันยายน ซึ่งช่วงนั้นเราได้ขอความร่วมมือกับผู้ใหญ่บ้านให้จัดชุด ชรบ. เพื่อที่จะวนดูรอบเหมือง เมื่อเจอกลุ่มคนลักขโมยชุด ชรบ. ก็ต้องติดต่อมาที่เรา เรามีหน้าที่ในการดูแลอยู่ตรงนี้เลยไปแจ้งความดำเนินคดี และเราแจ้งบริษัทเจนโก้ว่าจะทำอย่างไรต่อ เพราะว่าตอนนี้ ผู้ต้องหาก็มองว่าเราแจ้งจับเขา แต่คนที่เป็นเจ้าของทรัพย์จริงๆ คือ บริษัทเจนโก้กลับไม่ทำอะไรเลย ตำรวจที่ดูแลคดีก็เรียกเราไปสอบปากคำเพิ่มเติม และบอกว่าเราเป็นคนแจ้งความต้องไปดำเนินคดีต่อและต้องเป็นพยานในชั้นศาล</p>
<p>“ความไม่สบายใจของเราคือเราจะต้องไปเผชิญหน้ากับผู้ต้องหา ทั้งที่เจ้าของทรัพย์เป็นบริษัทเจนโก้ แต่ทำไมถึงต้องให้เราไปเผชิญหน้า ซึ่งทำให้เราเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่คุกคาม และที่เรามาเฝ้าตรงนี้เราไม่ได้เฝ้าทรัพย์ให้กับบริษัทเจนโก้ เรามีข้อตกลงที่ชัดเจนให้บริษัททำเอง เรามาเฝ้าดูพื้นที่ของเราที่อยู่บริเวณทางเข้าออกเหมือง เพื่อเป้าหมายหลักคือการฟื้นฟู เจนโก้ต้องเอาสารมลพิษออกไปด้วยตามเงื่อนไขการประมูล เราไม่สนใจอะไรทั้งนั้น”</p>
<p> รจนายังได้เล่าเหตุการณ์ของการถูกข่มขู่คุกคามให้กับผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐจากกรมการปกครองมายิงปืนใส่พวกเรา และแม้คนร้ายจะถูกจับกุมและให้ออกจากงานแล้ว หลังจากเหตุการณ์นั้นพวกเราก็โดนข่มขู่คุกคามมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในส่วนของพ่อค้าที่ต้องการเข้ามาดูสินทรัพย์ในเหมือง ตามไปหาไปข่มขู่เราถึงที่บ้าน เราบอกไม่สามารถอนุญาตให้เข้าไปดูได้เพราะต้องรอการประชุมและผู้มีอำนาจทุกภาคส่วนยินยอมก่อน เมื่อเราไม่ยอมก็โกรธและแสดงท่าทีข่มขู่คุกคามเรา บางวันก็มีชายฉกรรจ์มาซุ่มดูที่หน้าบ้านเรา ที่เราทำคือรักษาบ้านของเราอยากให้ทุกหน่วยงานเข้าใจว่าเราเจอการคุกคามอยู่แบบนี้ตลอดเวลา</p>
<p>ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯยังได้บอกเล่าถึงความกังวลเพิ่มเติมอีกว่า ที่บริษัทเจนโก้เข้ามาตอนนี้ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมเขาไม่ทำตามแผนที่เราได้พูดคุยและวางร่วมกันไว้ ที่เราได้พูดคุยทำสัญญากันไปคือเขาต้องกำจัดสารพิษด้วย เพราะเขาเป็นบริษัทที่รู้เรื่องสารมลพิษดี ครั้งเมื่อตอนที่เกิดเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ในโรงงานขณะที่บริษัทดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างเหมืองนั้นทำให้เห็นได้ชัดเจนเลยว่าไม่มีการวางมาตรการอะไรรองรับสถานการณ์ไฟไหม้เลย ไม่มีถังดับเพลิงเตรียมไว้ ส่วนมากมีแต่บริษัทผู้รับจ้างงานช่วงเท่านั้นที่ดูแลอยู่ พวกเราถึงได้ยกหูโทรให้มาดับเพลิง นอกจากนี้ในส่วนของการจัดการสารมลพิษที่เราเห็นคือไม่ได้มาตรฐานอะไรเลย ซึ่งหากเจนโก้ไม่ไปวางมาตรฐานในการรื้อถอนและการจัดเก็บสารมลพิษที่ปลอดภัยทั้งกับพื้นที่และคนงานเองให้กับบริษัทผู้รับจ้างงานช่วง และปล่อยให้ให้ชาวบ้านเผชิญหน้าเองกับบริษัทผู้รับจ้างงานช่วง ความโกรธก็จะมีมากขึ้นและการคุกคามที่จะมาถึงพวกเราก็จะมีมากขึ้นด้วย</p>
<p>ขณะที่ภรณ์ทิพย์ สยมชัย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯกล่าวเพิ่มเติมถึงการข่มขู่คุกคามที่เกิดกับสมาชิกในกลุ่มว่า สมาชิกในกลุ่มของเราเองที่เป็นคนประสานงานและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องให้เกิดการฟื้นฟูเหมืองก็โดนข่มขู่คุกคามมากขึ้น สมาชิกบางคนมีชายฉกรรจ์ขี่รถไปถามหาชื่อของเขาตอนกลางคืน ซึ่งชาวบ้านที่ไปเจอกลุ่มชายฉกรรจ์กลุ่มนี้พบเห็นว่าในรถมีอาวุธที่คล้ายลักษณะปืนวางอยู่ด้วย ชาวบ้านต้องประจันหน้ากับโจรเอง มีแต่ผู้หญิงที่มาเฝ้าเวรยาม ชาวบ้านต้องเฝ้าระวังการขนสารมลพิษหรือตะกอนกากแร่หกเรี่ยราดที่จะกระทบถึงชาวบ้าน ประตูแดงเป็นของชาวบ้านเราก็ต้องระวังเรื่องสารมลพิษ เราต้องกำกับการนำตะกอนกากแร่ออกจากพื้นที่เพื่อที่จะทำให้ที่นี่ไม่ปนเปื้อนไปมากกว่านี้</p>
<p>ด้านพนมวรรณ นามตาแสง ตัวแทนจากโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาติดตู้แดงและมีการลาดตระเวนเพื่อดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย แต่ไม่อยากให้ลาดตะเวนแค่ในช่วงสองเดือนนี้เท่านั้น อยากจะขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยดูต่อเนื่องจนกว่าบริษัทเจนโก้จะขนย้ายทุกอย่างออกจากพื้นที่และถี่ขึ้น 2 วันครั้งไม่ต้องถึง 3 วัน จะได้เห็นว่ามีการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจะได้ให้ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิฯมีความปลอดภัยมากขึ้น และในส่วนของหมู่บ้านผู้ใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดีอยู่แล้ว เราขอให้ลาดตระเวนช่วงหนึ่งก็ทำให้เราได้อย่างดี ระหว่างนี้เราอยากขอให้เพิ่มลาดตระเวนสลับกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อจะได้เห็นถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยที่เป็นรูปธรรม</p>
<p>“อีกส่วนหนึ่งคือระหว่างที่บริษัทเจนโก้ทำการรื้อถอนและขนย้ายสินทรัพย์ออกไปตนอยากทราบว่าจะมีหน่วยงานไหนที่จะเข้ามารับผิดชอบในการตรวจสอบหรือดูแลขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดร่วมกับชาวบ้าน เพราะว่าตอนนี้กลายเป็นชาวบ้านที่ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลตรวจเช็คอย่างเข้มงวดเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นต้องมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาตรวจสอบร่วมกับชาวบ้าน” ตัวแทนจาก PPM กล่าว</p>
<p>ทั้งนี้ภายหลังการหารือนานร่วมสองชั่วโมง ศยามลได้ออกมาเปิดเผยถึงผลสรุปในการหารือร่วมกันในครั้งนี้ว่า วันนี้เราได้บทสรุปในการหารือที่เป็นรูปธรรมหลายส่วน โดยส่วนของการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รวมทั้งนายอำเภอวังสะพุง ได้มีข้อตกลงที่ชัดเจนร่วมกันว่าหากมีเหตุความรุนแรงหรือการถูกข่มขู่คุกคามเกิดขึ้น ให้แจ้งเรื่องไปที่ผู้ใหญ่บ้านที่กำกับควบคุมชุด ชรบ. ได้เลย ซึ่งหลังจากนั้นผู้ใหญ่บ้านก็จะทำการแจ้งไปที่นายอำเภอ และสามารถสั่งให้คนมาลาดตระเวนได้ ส่วนในกรณีของ สภ.วังสะพุง ผู้กำกับมาเองและบอกว่าหากมีเหตุก็สามารถแจ้งไปที่ผู้กำกับได้เลย ซึ่งปกติจะมีตำรวจมาลาดตระเวนอยู่แล้ว แต่อาจไม่ทุกวัน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านและตำรวจ ซึ่งเรื่องนี้ทางรองผู้ว่าฯ ก็จะเข้าไปคุยกับคณะทำงานฟื้นฟูเหมืองแร่ ซึ่งรองผู้ว่าฯ รับปากว่าจะไปพูดคุยให้โดยเร็ว เน้นย้ำไปที่การรักษาความปลอดภัยและการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ</p>
<p>ประเด็นที่ 2 ก็คือ ชาวบ้านมีข้อเสนอให้รีบตั้งคณะกรรมการฟื้นฟู ซึ่งมีสัดส่วนของผู้แทนชาวบ้านครึ่งหนึ่ง คำสั่งแต่งตั้งก็มาแล้ว โดยแต่งตั้งตามที่ชาวบ้านเสนอมา มีทั้งนักวิชาการ ตัวแทนจากภาคประชาสังคม ทางรองผู้ว่าฯ รับปากว่าจะรีบจัดประชุมโดยเร็ว เพราะว่าการประชุมคณะทำงาน อำนาจหน้าที่กำหนดไว้ว่า ให้มีแผนจัดทำปฏิบัติการฟื้นฟูเรื่องพื้นที่เหมือง เพราะต้องมีการลงรายละเอียดว่า จะมีแผนฟื้นฟูอย่างไรและที่สำคัญ การฟื้นฟูเหมืองต้องอาศัยผู้มีความรู้ โดยมีอาจารย์จาก ม.นเรศวร มีนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องมลพิษ และมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานควบคุมมลพิษเข้ามา ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีสารเคมี สารไซยาไนด์เข้ามาอยู่ในนั้น ต้องอาศัยองค์ความรู้ตรงนี้ว่าจะมาฟื้นฟูอย่างไร ”</p>
<p>ส่วนประเด็นบริษัทเจนโก้ มารับซื้อประมูลได้ แล้วพื้นที่ของกิจการบริษัท ทุ่งคำ จำกัดอยู่ในส่วนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งกรมบังคับคดีเป็นผู้รับผิดชอบ พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ข้อมูลเราว่า ก่อนที่เจนโก้ประมูลไปก็มีการให้ข้อมูลว่าจะมีการดำเนินการ กำจัดมลพิษของเหมืองอย่างไรบ้างและจะมีการฟืนฟูอย่างไร เขารับปากกับทาง กสม. จะทำรายงานส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันนี้ แล้วต้องแจ้งว่าแต่ละหน่วยต้องทำอย่างไรบ้าง รวมทั้งกรมบังคับคดีต้องเร่งตามกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไปกำกับให้บริษัทให้เจนโก้ดำเนินการตามที่ได้นำเสนอแผนการจัดการมลพิษของเหมืองแร่ระหว่างรื้อถอน เพราะที่ผ่านมาเขาไม่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้</p>
<p>ส่วนเรื่องการดำเนินคดี ที่ชาวบ้านไปแจ้งความ เช่น มีการขโมยกองสินแร่ ชาวบ้านเสนอว่า ให้บริษัทเจนโก้ ต้องไปให้ปากคำกับตำรวจ โดยฝากไปยังผู้กำกับ สภ.วังสะพุงว่า ให้เรียกบริษัทเจนโก้มาให้ปากคำ ไม่ใช่ให้ชาวบ้านมาให้ปากคำ ทั้งนี้ทาง กสม. จะนัดประชุมกับเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพราะหลังจากที่ศาลมีคำสั่งว่าล้มละลายแล้ว การฟื้นฟูเป็นหน้าที่ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไปกำกับกับทางบริษัทเจนโก้ ในการที่จะจัดการมลพิษนี้อย่างไร เพราะตอนนี้ยังขนอุปกรณ์เรือนแต่งแร่ยังไม่หมด เพราะต้องอยู่อีกประมาณ 7 เดือน ซึ่งระหว่าง 7 เดือนนี้ ก็ขอให้มีการดูแลความปลอดภัยและกำกับให้เจนโก้ดำเนินการโดยเร็ว</p>
<p>และหากในอนาคต ถ้ามีการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิ เราจะรีบลงมาเหมือนกรณีนี้ ซึ่งระยะเวลา ทาง กสม. จะเร่งลงมาภายใน 1 เดือน กรณีนี้ที่ลงมาเร่งด่วนเนื่องจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการแจ้งไปที่ตำรวจ และทาง PI ก็ร้องไปที่กรม ก็มีการแจ้งไปยังตำรวจเพื่อเข้ามาดำเนินการ ถือเป็นสิ่งที่ดี ที่หลายหน่วยงานเร่งดำเนินการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ </p>
<p>“เรามีความกังวลว่า เรื่องนี้ยังไม่จบ ชาวบ้านต้องตามอยู่ เพราะแผนฟื้นฟูต้องใช้เวลา ที่สำคัญเรื่องนี้ ต้องบอกว่าชาวบ้านเข้มแข็งมากถ้าไม่มีชาวบ้านตาม เพราะต้องเข้าใจว่า กสม. ไม่สามารถตามได้ทุกเรื่อง ชาวบ้านขอมา เราขอเป็นตัวช่วย ถ้าชาวบ้านเข้มแข็งก็แก้ปัญหาได้ ถ้าชาวบ้านไม่เข้มแข็ง แล้ว กสม. จัดประชุมพอกลับไปแล้วชาวบ้านไม่ตามต่อมันก็อาจจะยากแต่เราก็ตามไปยังหน่วยงานราชการด้วยนะทุกคนต่างช่วยกันตาม ในส่วน กสม. ก็จะช่วยติดตามอีกแรง ซึ่งหลังจากเวทีพูดคุยในครั้งนี้แล้วเราจะจัดประชุมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่กรุงเทพมหานครอีกครั้งเพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการลงไปกำกับดูแลบริษัทให้ปฏิบัติตามแผนงาน”
</p>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2024/01/107727