[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 18:33:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หลักการปฏิบัติ ๓ ประการ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)  (อ่าน 249 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 มิถุนายน 2567 17:50:42 »




หลักการปฏิบัติ ๓ ประการ
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

           เจริญพรญาติโยมสาธุชนผู้ที่ใคร่ในการสดับรับฟังธรรมมะก่อนนอน วันนี้รายการธรรมมะก่อนนอน อาตมภาพก็จะได้น้อมนำเอาธรรมมะในภาคปฏิบัติ ซึ่งวันนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องหลักในการประพฤติปฏิบัติที่จะได้ผลดี มาบรรยายให้ญาติโยมทั้งหลายได้สดับรับฟัง หลักในการที่จะทำให้การปฏิบัติได้ผลดีนั้น ท่านผู้รู้นักปราชญ์ทั้งหลายท่านกล่าวไว้ ๓ ประการ คือ ๑. อุปนิสสย  ๒. อุปนิพัทธะ  ๓. สังวระ

            ประการที่ ๑ อุปนิสสยะ หมายถึง การเข้าไปอาศัยอาจารย์ท่านผู้รู้ ท่านผู้ฉลาดในเรื่องการประพฤติปฏิบัติ คือบุคคลผู้ที่หวังประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัตินั้น ก่อนอื่นต้องแสวงหา แสวงหาครู แสวงหาอาจารย์ผู้รู้จริงเสียก่อน เหมือนอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีตั้ง ๔ อสงไขย กับแสนมหากัปป์ ในสมัยที่พระองค์ทรงแสวงหาโมกขธรรม พระองค์ก็ยังแสวงหาอาฬารดาบสและอุทกดาบส เพื่อที่จะเจริญฌาน เจริญฌานจบทั้งรูปฌานและอรูปฌานแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะทำความทุกข์นั้นให้หมดไปจากจิตจากใจได้ พระองค์ก็ต้องมาบำเพ็ญทุกกรกิริยาก็ไม่สามารถที่จะปลดเปลื้องทุกข์ออกไปจากจิตจากใจได้ พระองค์จึงหันมาบำเพ็ญทางจิตจึงสามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่จะตรัสรู้ธรรมนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่มีบารมีแก่กล้า

            ถ้าบุคคลใดไม่มีบารมีแก่กล้าแล้วบุคคลนั้นก็จะปฏิบัติเพื่อจะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นได้ยาก เพราะฉะนั้นการที่เราแสวงหาครูอาจารย์ท่านผู้รู้จริง ท่านผู้มีบารมีแก่กล้า ท่านรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ก็ถือว่าเป็นทางลัดที่เราจะประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลเร็ว เพราะฉะนั้นประการแรกนั้นเราจึงจำเป็นต้องหาสำนัก หรือว่าหาครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนถูกต้อง สามารถที่จะพาเรานั้นไปสู่ฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ วิปัสสนาญาณ หรือว่าพาเราไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้

            เพราะฉะนั้นการแสวงหาสำนักต่างๆ นั้นจึงเป็นสิ่งที่เรานั้นต้องใช้ปัญญาพินิจพิจารณา อย่างที่มีสำนักอยู่ทั่วประเทศไทย บางสำนักก็ใช้ “พุทโธ” บางสำนักก็ใช้บริกรรมหายใจเข้า “พุทโธ” หายใจออก “พุทโธ” บางสำนักก็หายใจเข้า “พุธ” หายใจออก “โธ” บางสำนักก็บริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ” บางสำนักก็บริกรรม “สัมมาอะระหัง” บางสำนักก็บริกรรม “นะมะพะธะ” บางสำนักก็บริกรรมรูป บริกรรมนาม แต่ละสำนักที่บริกรรมแตกต่างกันไปนั้นก็ถูกด้วยกันทั้งนั้น

            แต่บางสำนักอาจจะถูกอย่างสมถะ บางสำนักอาจจะถูกอย่างวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเราพิจารณาดูสำนักต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วก็ถือว่าเราจะเข้าใจชัดว่า เรานั้นจะประพฤติปฏิบัติตามสำนักใด ถ้าเราไปอยู่ในสำนักใดเจ้าสำนักพาเราเดินจงกรมนั่งภาวนาให้จิตใจของเราสงบอย่างเดียว โดยที่ไม่ให้เรานั้นพิจารณารูปพิจารณานามก็ไม่สามารถยังวิปัสสนาญาณนั้นให้เกิด เราก็รู้ว่าสำนักนั้นสอนในการทำฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นมา แต่ไม่ได้สอนวิปัสสนาญาณ เราก็ไปเลือกเอาสำนักที่สอนวิปัสสนาญาณ สอนวิปัสสนากรรมฐานจึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติของเรานั้นเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง เกิดความเบื่อหน่าย อยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้น แล้วตั้งใจจริงประพฤติปฏิบัติจริงจึงจะเกิดผลตามมา

            อย่างที่ในสมัยที่พระอัครสาวกคือพระโมคคัลลานะพระสารีบุตร พระสารีบุตรนั้นเป็นผู้ที่มีปัญญามาก บุคคลผู้มีปัญญารองจากองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ พระสารีบุตร พระสารีบุตรนั้นสามารถที่จะนับเมล็ดฝนในชมพูทวีป หากว่าเมล็ดฝนที่ตกในป่าหิมพานต์นั้นกี่ห่า ตกอยู่ในมหาสมุทรนั้นกี่ห่า ตกอยู่พื้นดินให้สรรพสัตว์ทั้งหลายรับความสุขความเย็นฉ่ำนั้นกี่ห่า สามารถที่จะนับเมล็ดฝน คำนวณเมล็ดฝนได้ เรียกว่ามีปัญญามาก ใช้ฤทธิ์ใช้เดชใช้ปัญญาของท่านสามารถที่จะนับเมล็ดฝนได้ เพราะฉะนั้นพระสารีบุตรนั้นจึงมีปัญญามาก

            แม้กระนั้นพระสารีบุตรก็ยังไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมด้วยตนเอง ต้องได้รับการฟังธรรมจากพระโมคคัลลานะ ซึ่งพระโมคคัลลานะนั้นได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเสียก่อน ซึ่งพระอัสสชินั้นท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พระสารีบุตรเห็นพระอัสสชิเป็นผู้สำรวม สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมอินทรีย์ เดินมาบิณฑบาต ก็เลยเกิดศรัทธา ก็ตามพระอัสสชิออกไป

            ขณะที่พระอัสสชิเดินออกไปนอกบ้านนั้น อุปติสสมาณพซึ่งในขณะนั้นยังไม่บวช ก็หมายถึงพระสารีบุตรนั้นแหละ ยังไม่บวชก็ตามออกไป ขณะที่ตามออกไปแล้วก็ยิ่งเกิดความเลื่อมใสในกิริยาท่าทางก็เลยคิดว่า สมณะเช่นนี้เราไม่เคยเห็นสักที สมณะผู้มีอินทรีย์สำรวม มีกายสำรวม มีวาจาสำรวม ทอดสายตาไปประมาณแค่แอก มีอินทรีย์รูปร่างผ่องใสยิ่งนัก สมณะเช่นนี้เราไม่เคยเห็น ก็คิดว่าสมณะรูปนี้คงจะบรรลุคุณธรรมวิเศษเป็นแน่แท้จึงติดตามออกไป ขณะที่ตามออกไปพระอัสสชิก็ไปพักอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะแก่การฉันบิณฑบาต ท่านก็ปูลาดอาสนะเตรียมที่จะฉันบิณฑบาต อุปติสสมาณพก็ไปปูลาดอาสนะของตนเองแทนให้ถวายพระอัสสชิ หาน้ำใช้น้ำฉันนั้นมาถวายท่าน ก็คิดว่าเมื่อท่านฉันเสร็จแล้วเราจะถามธรรมมะกับท่าน

            เมื่อพระอัสสชิเถระนั้นฉันภัตราหารเสร็จแล้วอุปติสสมาณพนั้นก็เข้าไปกราบทูลว่า ท่านบวชมาจากสำนักใคร ใครเป็นครูเป็นอาจารย์ของท่าน พระอัสสชิเป็นผู้ที่มีการอ่อนน้อมถ่อมตนมาก ท่านก็เลยกล่าวว่า อาตมภาพเพิ่งเข้ามาสู่พระธรรมวินัยเป็นผู้ใหม่ในพระธรรมวินัยไม่อาจสามารถที่จะกล่าวธรรมโดยพิสดารได้ พระสารีบุตรก็เลยบอกท่านว่า ท่านจงกล่าวมาโดยย่อ ท่านไม่ต้องกล่าวมาโดยพิสดาร ประโยชน์อะไรเพื่อท่านจะกล่าวโดยพิสดาร เราเป็นอุปติสสมาณพสามารถที่จะฟังธรรมโดยย่อได้ พระอัสสชิเถระก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง แล้วพระอัสสชิก็กล่าวว่า

                 เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา        เตสํ เหตุ– ตถาคโต

                 เตสญฺจ โย นิโรโธ จ        เอวํวาที มหาสมโณ.

            “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับไปแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”

            เมื่ออุปปติสสะมานพได้ฟังอย่างนั้นก็ทราบชัดว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ หมายความว่าความดีก็เกิดแต่เหตุ ความชั่วก็เกิดแต่เหตุ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเกิดแต่เหตุ เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ดี ไปเกิดเป็นเทวดาก็ดี ไปเกิดเป็นพรหมก็ดีก็ล้วนแต่เหตุพาไปทั้งนั้น นี้เรียกว่าธรรมมะในจิตในใจของอุปติสสมาณพนั้นแตกเป็นพันๆ นัย พระอัสสชิกล่าวนัยเดียวเท่านั้นแหละ แต่อุปติสสมาณพนั้นสามารถที่จะวิจัยธรรมนั้นแตกออกเป็นพันๆ นัย ก็เลยได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ในขณะที่ฟังธรรมแค่นั้นเอง

            อันนี้เรียกว่าแม้แต่พระสารีบุตรผู้มีปัญญามากถึงขนาดนั้นก็ยังต้องอาศัยบุคคลอื่นจึงสามารถที่จะได้บรรลุธรรมได้ เพราะฉะนั้นการไปอาศัยสำนักของครูบาอาจารย์นั้น จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้บรรลุคุณธรรมไว เรียกว่าเป็นการศึกษาทางลัดของพระศาสนา แต่ตรงกันข้าม ถ้าเราไปศึกษาในสำนักที่ผิด อย่างไปหลงในนิมิต คิดว่านิมิตนั้นมันเป็นของจริง ไปเพ่งวัตถุอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดนิมิตขึ้นมา เมื่อเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นมาเป็นดวงไฟขึ้นมาก็หลงคิดว่า ตัวนั้นมันเป็นดวงธรรม อาศัยดวงนั้นแหละขยายขึ้นขยายลงเอาเข้าไปสู่ตรงโน้นตรงนี้ ก็คิดว่ามันเป็นดวงธรรม

            ดวงธรรมนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมายถึงการบรรลุมรรคผล การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นหมายถึงการบรรลุที่จิตที่ใจของเราไม่ได้บรรลุภายนอก เพราะฉะนั้นดวงธรรมนั้นถือว่าเป็นอุปกิเลส ถ้าบุคคลใดไปศึกษาในสำนักที่ไม่รู้จริงก็อาจจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดว่า สิ่งเหล่านั้นมันเป็นมรรคเป็นผลเป็นพระนิพพาน ในที่สุดก็คว้าน้ำเหลว การประพฤติปฏิบัติไม่ถึงพระนิพพาน เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติไม่ถึงพระนิพพาน การถ่ายทอดสู่บุคคลอื่นก็ถ่ายทอดผิด จึงเป็นต้นเหตุแห่งมิจฉาทิฏฐิ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลอื่นนั้นหลงผิดไปด้วย

            การประพฤติปฏิบัตินั้นเราต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูก ถ้าเราประพฤติปฏิบัติถูกแล้วก็ถือว่า เรานั้นเป็นต้นเหตุที่จะเผยแผ่ธรรมมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถูกต้อง ให้บุคคลผู้มาศึกษากับเรานั้นเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง แต่ถ้าเราศึกษาผิดคราวนี้ เรามีความเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นจริงแต่ความจริงมันไม่จริง เวลาเราไปถ่ายทอดแนะนำให้บุคคลอื่นเราก็แนะนำตามความรู้ที่เรารู้ที่เราเห็น เรารู้เราเห็นอย่างไรเราก็แนะนำไปอย่างนั้นก็แสดงว่าเรานั้นเผยแผ่ความเห็นผิดออกไปให้กว้างใหญ่ออกไปให้กว้างขวางออกไป ก็จะเป็นบาปเป็นกรรมประมาณไม่ได้ เพราะมิจฉาทิฏฐินี้เป็นบาปเป็นกรรมมาก

            บุคคลใดยังไม่ละมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนั้นก็ไม่สามารถที่จะมาเกิดในมนุษย์ ไปเกิดบนสวรรค์ได้ เพราะมิจฉาทิฏฐินั้นมีบาปมากกว่าอนันตริยกรรม อนันตริยกรรมยังมีโอกาสพ้น อย่างที่พระเทวทัตทำอนันตริยกรรม ทำโลหิตุปบาท ทำสังฆเภท องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงตรัสว่า จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า อัฏฐิสสระ ในอนาคตกาลข้างหน้า แต่ว่ามิจฉาทิฏฐินี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไม่ทรงตรัสว่าจะมีโอกาสพ้นในสมัยนั้น

            ในสมัยนี้พระองค์ไม่ทรงตรัส เพราะตราบใดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ก็ต้องเสวยผลของมิฉาทิฏฐินั้นไม่มีวันได้ผุดได้เกิด เพราะฉะนั้นการเป็นมิจฉาทิฏฐินั้นจึงมีบาปมาก เพราะฉะนั้นเราควรประพฤติปฏิบัติในสำนักที่ถูกต้องจึงจะไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นผิด แล้วก็ไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลอื่นนั้นผิดตามด้วย อันนี้เป็นหลักการที่จะทำให้เราประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลดี อย่างที่วัดพิชโสภารามของเรานี้ก็สอนโดยอาศัยการกำหนดสติปัฏฐาน ๔ ให้กำหนดอาการพองอาการยุบ จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนก็ให้มีสติกำหนดรู้รูปรู้นามของเรา เรียกว่าปฏิบัติที่ร่างกายของเรา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิขึ้นมาอย่างที่ออกประพฤติปฏิบัติหน้าหนาว อย่างขณะนี้ก็อยู่ที่บ้านนางเติ่ง ก็ยังปฏิบัติหน้าหนาว คือออกเผยแผ่ในภาคปริวาสกรรมคือประพฤติปฏิบัติธรรมหน้าหนาว บุคคลผู้ไปประพฤติปฏิบัติธรรมก็สามารถที่จะได้สมาธิ

            เมื่อบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมสามารถได้สมาธิ สมาธินั้นมันอยู่ในวิถีเดียวกันกับวิปัสสนาญาณ แต่เป็นเพียงแต่ว่าอ่อนแก่เท่านั้น แต่ถ้าขณะที่สมาธิมันเกิดขึ้นมาแล้วเรามีปัญญาพิจารณาโดยอาศัยสมาธินั้นเป็นฐาน มีปัญญาพิจารณารูปพิจารณานามโดยอาศัยสมาธินั้นเป็นประทัฏฐานก็จะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเมื่อมีสมาธิแล้ว ก็ต้องมีการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระบวรปริยัติวิธานพาดำเนินมา ครูบาอาจารย์พาดำเนินมานี้ก็ถือว่าถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายผู้ที่ยังไม่มีข้อวัตรปฏิบัติที่แน่ชัดก็ให้ไปประพฤติปฏิบัติตามโครงการปริวาสกรรมก็ได้ ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งปีนี้ก็มีถึงเกือบ ๒๐ ที่ แต่ถ้าไม่อาจโดยประการใดประการหนึ่งก็สามารถที่จะมาปรึกษาที่วัดพิชโสภารามนี้ได้ เพราะฉะนั้นหลักการประพฤติปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริงนั้น ต้องอาศัยสำนักหรือครูบาอาจารย์ที่รู้แจ้งเห็นจริงก่อนจึงจะเป็นหนทางลัดที่สุด อันนี้เป็นหลักการในประพฤติปฏิบัติที่ได้ผลดีประการที่ ๑

            ประการที่ ๒ ก็คือ อุปนิพัทธะ คือบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องรู้จักผูกจิตของตัวเองไว้ให้เป็นหนึ่ง ให้เป็นเอกัคคตา เพราะว่าจิตที่เป็นหนึ่งเท่านั้นแหละจึงสามารถที่จะยังศีล ยังสมาธิ ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมาได้ เพราะว่าบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นต้องสามารถที่จะหยุดจิตของตัวเองให้ได้ก่อนเป็นประการแรก จึงจะสามารถเข้าใจขบวนการของการประพฤติปฏิบัติได้ หยุดจิตนั้นหยุดอย่างไร ? คือหยุดจิตไว้กับสติปัฏฐาน ๔ คือหยุดจิตไว้ที่กาย หยุดจิตไว้ที่เวทนา หยุดจิตไว้ที่จิตของเรา หยุดจิตไว้ที่ธรรม หยุดจิตไว้ที่ กายเวทนาจิตธรรมอย่างไร ? คือขณะที่เรายืนเราก็กำหนดว่าเรารู้ว่าเรายืน เราหายใจเข้าเราก็กำหนดรู้ว่าเราหายใจเข้า เราหายใจออกเราก็กำหนดรู้ว่าเราหายใจออก

            ขณะที่เราหายใจเข้านั้นแหละเรามีสติกำหนดรู้อาการพองก็ชื่อว่าเรากำหนดอาการหายใจเข้า ขณะที่เราหายใจออกท้องมันยุบลงเรามีสติกำหนดรู้ว่ามันยุบลงอย่างไรก็ถือว่าเรากำหนดดูการหายใจออกแล้ว ขณะที่เราหายใจเข้ายาวเราก็กำหนดรู้ เราหายใจเข้าสั้นเราก็กำหนดรู้ เราหายใจเข้าเร็วเราก็กำหนดรู้ เราหายใจเข้าช้าเราก็กำหนดรู้ เราหายใจออกเร็วหายใจออกช้าเราก็กำหนดรู้ตามอาการของการหายใจเข้าหายใจออก ในลักษณะเช่นนี้ เรากำหนดอาการพองอาการยุบ มันจะพองมากเราก็กำหนดรู้มาก มันจะพองน้อยเราก็กำหนดรู้น้อย มันจะพองช้าพองเร็วเราก็กำหนดรู้ตามอาการของท้องพองท้องยุบ ในลักษณะเช่นนี้เรามีสติรู้กายแล้ว เพราะลมหายใจก็ถือว่าเป็นกายเป็นส่วนของกายเหมือนกัน

            ขณะที่เรายืนเราเดินเรานั่งเรานอนเรากินเราดื่มเราพูดเราคิดเรากำหนดรู้ให้ทันปัจจุบันธรรม เราจะเคลื่อนไหวไปมาเราจะนุ่งห่มนุ่งสบงห่มจีวรนุ่งกางเกง นุ่งเสื้อผ้าอาภรอะไรต่างๆ เรามีสติกำหนดรู้ก็ถือว่าเรากำหนดกายให้ทันปัจจุบันธรรมแล้ว หรือว่าให้เราพิจารณาร่างกายของเราตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผมจากปลายผมถึงพื้นเท้า เป็นของปฏิกูลโสโครกเต็มไปด้วยอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ม้าม ตับ หัวใจต่างๆ เป็นเครื่องที่มาประกอบกันเข้าจึงชื่อว่าคน เหมือนกับรถ รถถ้าเราถอดล้อออก ถอดพวงมาลัยออก ถอดหลังคาออก ถอดกระบะออกก็เป็นชิ้นเป็นส่วนไป จะเรียกว่ารถไม่ได้ แต่เราเอามาประกอบกันเมื่อไรก็ถือว่าเป็นรถได้ พวกเนื้อ เราเห็นเขาฆ่าเนื้อฆ่าวัวฆ่าควาย พวกที่ฆ่าเนื้อฆ่าควายเมื่อฆ่าเรียบร้อยแล้ว เขาก็แร่เอาเนื้อนั้นไปขาย

            เมื่อแร่ออกมาอันนี้เรียกว่าเนื้อสัน อันนี้เรียกว่าเนื้อขา อันนี้เรียกว่าเครื่องใน อันนี้เรียกว่ากระดูก อันนี้เรียกว่าเขา เราจะเรียกว่าวัวอีกไม่ได้ เราจะเรียกว่าควายอีกไม่ได้ เราเพียงแต่เรียกว่าเป็นเนื้อวัวกระดูกวัวกระดูกควาย เขาวัวเขาควาย ไม่ชื่อว่าเป็นควายได้ เพราะว่าควายนั้นถูกแยกออกแล้ว บุคคลก็เหมือนกันถ้าแยกเนื้อออกแยกผมออก แยกกระดูกออกแยกตับแยกไตออกจะชื่อว่าคนไม่ได้ เป็นแต่ว่าเนื้อของคน กระดูกของคนเท่านั้นเอง

            เมื่อเราพิจารณาอาการ ๓๒ ก็ชื่อว่าเราพิจารณากาย อันนี้ก็ถือว่าเป็นการเจริญ เป็นการผูกจิตไว้ที่กายของเราเหมือนกัน หรือว่าเราจะพิจารณาว่าร่างกายของเรานั้นประกอบไปด้วย ธาตุ ๔ ดินน้ำไฟลม ว่าธาตุ ๔ ดินน้ำไฟลม ส่วนที่มันแข็งอย่างเนื้อก็ดี กระดูกก็ดี เส้นก็ดี เอ็นก็ดี ก็ถือว่าเป็นธาตุดินไป ส่วนที่เป็นเลือด เป็นน้ำมัน น้ำเสลด น้ำหนอง พวกนี้ถือว่าเป็นธาตุน้ำไป ส่วนที่ธาตุไฟก็คือไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟที่เผาผลาญอาหาร ไฟที่ยังร่างกายของเราให้เร่าร้อน หรือว่าไฟที่ทำให้ร่างกายของเรามันเฒ่าแก่ชราลง สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นธาตุไฟ

            ธาตุลมก็คือลมพัดไปในเบื้องบน ลมพัดลงไปในเบื้องล่าง ลมพัดไปในท่ามกลาง ลมในไส้ในตับในพุง ลมหายใจเข้าออก นี้ก็ถือว่าเป็นธาตุลม สิ่งเหล่านี้มันมาผสมผสานกันจึงชื่อว่าคน จึงชื่อว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ขึ้นมา แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้มันแตกแยกเมื่อไหร่ ร่างกายมันก็แตกดับ ถ้าเราพิจารณาว่ามันร้อนเกินไปมันก็แตกดับ หนาวเกินไปมันก็แตกดับ ธาตุลมกำเริบมันก็แตกดับ ธาตุไฟกำเริบมันก็แตกดับ ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้เราก็จะชื่อว่าเราพิจารณากายไปด้วย เพราะว่าเนื้อก็เป็นกาย เลือดก็เป็นกาย กระดูกก็เป็นกาย ลมก็ถือว่าเป็นกาย ถือว่าเป็นกายเหมือนกัน

            ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยว่าเราผูก ก็ชื่อว่าเราผูกจิตไว้ที่กายเหมือนกัน เมื่อเราผูกจิตไว้ที่กายของเรา ขณะที่เราผูกจิตไว้ที่กาย เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน หรือว่าเราจะพิจารณาตามที่อาตมาได้กล่าวไว้มาแล้วนั้นแหละ ขณะที่เราพิจารณาอยู่อย่างนี้ความโกรธมันไม่เกิดขึ้นมา ความโลภมันไม่เกิดขึ้นมา ความหลงมันไม่เกิดขึ้นมา มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อวิชชา อุปาทานมันไม่เกิดขึ้นมา มีจิตใจอยู่กับอารมณ์เดียว คือเราจะยืนเราก็รู้ว่าเรายืน เราจะนั่งเราก็รู้ว่าเรานั่ง ขณะที่เรารู้อยู่นั้นแหละความโกรธมันก็ไม่แทรกเข้ามาได้ เรากำหนดทันปัจจุบันธรรมอยู่ ความโลภมันแทรกเข้ามาไม่ได้ จิตใจของเรามันก็ขาวสะอาด เมื่อจิตใจเราขาวสะอาดสมาธิมันก่อตัวขึ้นมา

            เมื่อสมาธิมันก่อตัวขึ้นมาวิปัสสนาญาณมันก็ก่อตัวขึ้นมา เมื่อวิปัสสนาญาณมันก่อตัวขึ้นมาวิปัสสนาญาณมันก็โตวันโตคืน เปรียบเสมือนกับเราปลูกต้นไม้มันก็โตวันโตคืน ถ้าเรามีความเพียรอยู่ไปเรื่อยๆ วิปัสสนาญาณเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วไม่มีถอยหลัง มันก็เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้บรรลุมรรคผล อันนี้ชื่อเราผูกจิตไว้ที่กาย คือกายานุปัสนาสติปัฏฐาน ประการที่ ๒ ท่านผูกจิตไว้ที่เวทนา เวทนาคืออะไร ? เวทนาคือความสุข คือความทุกข์ คือความเฉยๆ ทำไมเราต้องผูกจิตไว้ที่เวทนาด้วย เพราะเวทนานั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลผู้ไม่พิจารณานั้นแล่นไปสู่ความชอบใจ แล่นไปสู่ความเสียใจ แล่นไปสู่ความผูกพัน ความรักใคร่ต่างๆ ก็เพราะอาศัยเวทนานั้นเป็นเหตุ

            แต่ถ้าเรามีสติกำหนดดูเวทนาว่าเวลามันเกิดความทุกข์ เราก็ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่เกิดความพิไรรำพัน ไม่เกิดความเสียอกเสียใจ ไม่ชกอกบีบขมับคร่ำครวญในความทุกข์ที่มันมาทับถมจิตใจของเรา เรามีสติกำหนดพิจารณารู้อยู่ว่าความทุกข์นี้เกิดขึ้นมา เราไม่อยากจะให้มันทุกข์มันก็ทุกข์ เราอยากให้ทุกข์ตั้งอยู่ มันกลับดับไป เราไม่อยากให้ทุกข์ดับไป ทุกข์นั้นมันตั้งอยู่ เราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ เราก็เข้าใจว่าทุกข์นี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเรารู้ว่าทุกข์มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไปผูกพันธ์ความทุกข์ไปทำไม เราจะเสียใจไปทำไมเราก็พิจารณาความทุกข์ด้วยใจ วางเฉย มีสติรู้เท่าทันความทุกข์ที่มันทับถมจิตใจของเรา วิปัสสนาญาณมันก็เกิดขึ้นมาได้ สมาธิมันก็เกิดขึ้นมาได้

            หรือว่าความสุขที่มันเกิดขึ้นมา มีคนมาพูดให้เราเกิดความสุข มายกยอปอปั้นเราเอาของมาให้เรา ถ้าเป็นพระก็มีคนเอาของมาถวาย มีคนมากราบมาไหว้ เกิดความพอใจ เกิดความสุขใจขึ้นมา ความสุขใจนั้นมันก็ไม่นาน เกิดมีคนมาพูดนินทาให้เราได้ยินคราวนี้เกิดความโมโหขึ้นมา ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นมา เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นมาไม่รู้ว่าความสุขมันหายไปไหน เมื่อเราพิจารณาดูอยู่อย่างนี้ พิจารณาดูเวทนาที่มันเกิดขึ้นมาอยู่อย่างนี้ เพ่งดูความสุขความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมากับเราอยู่อย่างนี้เราก็จะรู้ว่า ความสุขมันก็เกิดขึ้นมาตั้งอยู่ดับไป ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นมาตั้งอยู่ดับไป เราจะไปอาลัยอาวรณ์ไปเอาจริงเอาจังกับความสุขความทุกข์ทำไม

            เมื่อเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้จิตใจของเรามันก็จะเริ่มปล่อยวางจากความสุข จากความทุกข์ มันจะไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความสุขความทุกข์ เมื่อจิตใจไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความสุขความทุกข์ จิตใจของเราก็จะเป็นอิสระ เป็นอุเบกขา เกิดสติเกิดปัญญา เกิดสัมมาทิฏฐิ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา เพราะฉะนั้นเมื่อเราพิจารณาเวทนาจะเป็นสุขก็ดี จะเป็นทุกข์ก็ดี หรือว่าจะเป็นอุเบกขาก็เหมือนกัน เมื่อเราพิจารณาดูอยู่อย่างนี้ เราก็จะรู้ว่าสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อุเบกขาก็ดี เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเรารู้ทราบชัดเพราะเราเพ่ง เราพิจารณาดูอยู่อย่างนี้ เราดูอยู่อย่างนี้เรื่อยไป มันจะเป็นสุขเป็นทุกข์อะไรเราเพ่งดูอยู่อย่างนี้ เราจะทราบชัดเลยโดยที่ไม่มีใครบอก โดยที่ไม่มีใครมาแนะนำมันเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดความเข้าใจสภาวะขึ้นมา เพราะเรากำหนด เพราะว่าเราปฏิบัติถูกต้อง เมื่อเราเกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะอาศัยการหยุดจิตไว้ที่เวทนาได้ เพราะฉะนั้นเวทนานั้นจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เรานั้นรู้แจ้งเห็นจริงได้เหมือนกัน

            ประการที่ ๓ ท่านบอกว่า ให้เรานั้นหยุดจิตไว้ที่จิตของเรา หยุดจิตไว้ที่จิตของเราอย่างไร ตามธรรมดาจิตของเรานั้นเป็นธรรมชาติที่กลับกลอก เป็นธรรมชาติที่ปลิ้นปล้อน เป็นธรรมชาติที่เบา เป็นธรรมชาติที่ไม่มีหลักมีแหล่ง คิดไปเรื่องโน้นบ้าง คิดไปเรื่องนี้บ้าง ตั้งแต่เช้าจนค่ำ คิดไปไม่ซ้ำกัน คิดไปถึงอดีต คิดไปถึงอนาคต คิดไปถึงชั่วถึงดี คิดไปจิปาถะ ไม่หยุดไม่หย่อนสักที จิตใจของเรามันเป็นไปในลักษณะอย่างนี้

            จิตใจของเรานั้นต้องหยุดเสียก่อนสมาธิจึงจะเกิดขึ้นมา เราจะหยุดจิตไว้ที่จิตอย่างไร คือให้เราเพ่งสติลงไปที่จิตของเรานั้นแหละ ขณะที่เราเพ่งจิตดูจิตของเรา ดูความคิดของเรา พิจารณาดูความคิดของเรา เราจะพิจารณาดูความคิดของเราอย่างไร ให้เราพิจารณาดูความคิดของเราที่ปรากฏชัดที่สุด ในขณะที่จิตของเรานี้มันจะคิดไปเป็นพันๆ เรื่อง อย่างที่ท่านกล่าวไว้ในอภิธรรมว่า ความคิดหรือว่าจิตของเรานั้นเกิดดับถี่ยิบมากๆ เรียกว่าเกิดดับบ่อยมาก ท่านกล่าวไว้ว่าชั่วแค่เราดีดนิ้วมือเพียงครั้งเดียวเท่านั้นแหละ จิตมันเกิดดับแสนโกฏิครั้งแล้ว คิดดูซิว่าขณะที่เราดีดนิ้วมือเพียงครั้งเดียวจิตมันเกิดดับแสนโกฏิครั้งคือมันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปๆ นั้นแสนโกฏิครั้ง คิดดูว่ามันจะเกิดไวขนาดไหน เพราะฉะนั้นเราจะหยุดจิตของเราเราต้องเพ่งดูจิตของเราจริงๆ คือพิจารณาดูจิตของเราที่มันชัดที่สุด อารมณ์ชัดที่สุด มีอยู่ ๓ ประการ คือ

            ๑. อารมณ์โลภ คือราคะ ประการหนึ่ง

            ๒. อารมณ์โกรธ

            ๓. อารมณ์หลง

            จิตของเราจะชัดเจนอยู่ ๓ อย่างนี้แหละ ให้เราพิจารณา

            การประพฤติปฏิบัติธรรมมากๆ ปฏิบัติธรรมไปสูงๆ ปฏิบัติธรรมไปละเอียดๆ ไม่มีอะไรเลย ญาติโยมทั้งหลาย มีแต่ความโกรธ มีแต่ความโลภ มีแต่ความหลง เท่านั้นเองที่ปรากฏขึ้นมาในจิตในใจของเรา ถ้าจิตมันไม่โกรธ มันก็โลภ ถ้าจิตใจมันไม่มีราคะมันก็มีโทสะ ถ้าไม่มีโทสะมันก็มีโมหะคือความหลง มี ๓ อย่างนี้แหละ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปๆๆ ในจิตในใจของเรา เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เราพิจารณา

            เมื่อเราพิจารณาดู ความโกรธที่มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา มันเกิดเพราะเหตุอะไรหนอ มันเกิดเพราะเขามาว่าให้เรา เขามาว่าเรานั้นไม่มีน้ำยา เขาว่าเรานั้นไม่มีสาระ ไม่มีความรู้ เป็นคนที่ไม่มีความสามารถ เป็นผู้ที่ทำความเดือดร้อนให้สังคม หรือว่าเขาจะมาว่าอะไรก็ตามที่จะทำให้เราโกรธ แต่ถ้าเราไม่พิจารณาจิตมันก็โกรธขึ้นมา แต่ถ้าเราพิจารณาจิตเราจะรู้ว่า ขณะที่เราจะเกิดความโกรธนั้น จิตของเรานั้นไปยึด ไปยึดกับคำที่เขาพูด ก็เลยเกิดความโกรธขึ้นมาว่า เขาด่าเรา คิดว่าเขาด่าเรา เราไม่พิจารณาว่าเสียงที่เขาพูดนั้นแหละ เป็นเพียงสักแต่ว่าเสียงเกิดขึ้นมาตั้งอยู่ดับไป เราจะเอามาผูกพันจิตเราทำไม เราไม่พิจารณาก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความโกรธขึ้นมา

            แต่ถ้าเราพิจารณาดูจิตของเรา เราก็จะเข้าใจว่าจิตมันเกิดความโกรธ ก็เพราะอารมณ์ที่ไม่ชอบใจมันมากระทบ มันเกิดความโลภก็เพราะอารมณ์ที่มันชอบใจมันมากระทบ มันเกิดความหลงก็เพราะว่าอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลงนั้นมันมากระทบ เราจะทำจิตทำใจของเราให้หายจากความโลภความหลง ประการในเบื้องต้นนั้นเราต้องกำหนดรู้ทันจิต คือต้องรู้ว่าจิตของเรามันหลง เราจึงจะหยุดจิตได้ ถ้าเราไม่เห็นจิต เราจะหยุดจิตได้อย่างไร

            ถ้าเราไม่เห็นตัวเสือเราจะเห็นลายเสือได้อย่างไร ก็ลายเสือมันติดอยู่ที่ตัวเสือ เราจะต้องเห็นตัวเสือเสียก่อนเราจึงจะชื่อว่าเราเห็นลายเสือ เราจะหยุดความคิดเราก็ต้องทันขบวนการของจิต ต้องทันจิตเสียก่อนเราจึงสามารถที่จะหยุดความคิด เพราะว่าความคิดนั้นมันเป็นกิเลสบ้างเป็นบุญบ้างเป็นบาปบ้าง เมื่อเราไม่ทันกระบวนการของจิต ไม่ทันความคิดเราก็ไม่เห็นบุญไม่เห็นบาป เราไม่เห็นบุญเห็นบาปเราจะหยุดได้อย่างไร หยุดบุญหยุดบาปได้อย่างไร

            การที่เราทั้งหลายได้พิจารณาดูจิตของเรานั้นแหละ ก็ชื่อเรานั้นเป็นผู้มาหยุดจิตเพื่อที่จะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมา ยังสมาธิให้เกิดขึ้นมา ยังการบรรลุมรรคผลให้เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นจงพยายามดูจิตของเรา หยุดจิตของเราไว้ที่ความคิด ถ้ามันโกรธเราก็กำหนดว่า “โกรธหนอๆ” ถ้ามันเกิดราคะขึ้นมา เราก็กำหนดว่า “ราคะหนอๆ” ถ้ามันเกิดความหลงขึ้นมาในรูปในเสียงเราก็กำหนดว่า “หลงหนอๆ” หรือว่า “โมหะหนอๆ”

            ถ้าเรากำหนดอยู่อย่างนี้จิตใจของเรามันจะเย็นลงๆๆ แทนที่จิตใจมันจะโกรธ จิตของเรามันกลับเย็นลง เหมือนกับพระรูปหนึ่ง มีคนมาพูดให้ท่านโกรธ อยู่ดีๆ ก็มาว่าให้ แทนที่จิตมันจะโกรธ ขณะที่บุคคลนั้นมาว่าให้ท่านนั้นแหละ แทนที่ท่านจะเจ็บอกเจ็บใจแต่จิตใจของท่านนั้นเย็นลง ต่อไปอีกก็มาว่าให้อีก จิตใจเย็นลงมากกว่าเดิมอีก ครั้งที่สามมาว่าให้อีก จิตใจก็เย็นลงอีก เพราะอะไร ?เพราะว่าท่านกำหนดทันปัจจุบันธรรม จิตใจมันก็เย็นลงๆๆ บุคคลผู้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานยิ่งจะเย็นมาก ขณะที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานมันก็ยังเย็นมากขนาดนี้ เผื่อบรรลุมรรคผลนิพพานมันจะเย็นมากขนาดไหน มันก็เลยเกิดความรู้ขึ้นในจิตในใจของท่าน ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านนั้นมุ่งมั่นต่อการบำเพ็ญ เพื่อที่จะละความโกรธ ความโลภ ความหลง

            ขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นจงพยายามหยุดจิตของตนไว้ที่จิตให้มันได้ รู้เท่าทันขบวนการของจิต เรียกว่าบอกตัวได้ใช้ตัวฟัง บังคับจิตของตัวเองนั้นให้อยู่ เพราะว่าบุคคลไม่รู้เท่าทันขบวนการของจิตย่อมเป็นทุกข์ ตามโทษานุโทษของความหลง ที่มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ แต่ถ้าบุคคลใดสามารถที่จะทันขบวนการของจิตบุคคลนั้น ก็สามารถที่จะบรรเทาความทุกข์นั้นให้มันหมดไป เบาไป สิ้นไป ตามความเฉลียวฉลาดแห่งขบวนการของจิต เพราะฉะนั้นการหยุดจิตนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพราะว่าการหยุดจิตนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นประการที่ ๓

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 มิถุนายน 2567 17:51:42 »



หลักการปฏิบัติ ๓ ประการ
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


            ประการที่ ๔ ก็คือให้เราพิจารณาธรรม พิจารณาธรรมคืออะไร ธรรมคือธรรมที่เป็นบุญบ้าง ธรรมที่เป็นบาปบ้าง หรือว่า ธรรมที่เป็นกุศลบ้าง ธรรมที่เป็นอกุศลบ้าง ธรรมที่เป็นอกุศลมีอะไร ธรรมที่เป็นอกุศลนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส เบื้องต้นว่า คือนิวรณ์ธรรม ๕ ประการ คือกามฉันทะ ความรักใคร่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ถือว่าเป็นบาป ถือว่าเป็นอกุศล แล้วก็พยาบาทคือความปองร้ายบุคคลอื่น ผูกอาฆาต จองเวรกับบุคคลอื่นก็ถือว่าเป็นบาป ถีนะ คือความง่วงเหงาหาวนอนก็ถือว่าเป็นบาป เพราะบุคคลที่ตายหรือว่าจุติ หรือว่าตายไปในขณะที่ง่วงเหงาหาวนอนก็ต้องไปเกิดในอบายภูมิ เพราะว่าถีนะ นี้เป็นธรรมที่เป็นอกุศล หรือว่าอุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญก็ถือว่าเป็นอกุศล

            ถ้าบุคคลตายไปในขณะที่เกิดความฟุ้งซ่านก็ต้องไปสู่อบายภูมิ ประการที่ ๕ คือวิจิกิจฉา ถ้าบุคคลใดสงสัยในพระพุทธ สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องนรกเรื่องสวรรค์ตายไปในความสงสัยก็จะต้องไปสู่อบายภูมิ เพราะเกิดความสงสัยจิตใจมันเศร้าหมอง เมื่อจิตใจเศร้าหมองแล้วก็ต้องไปสู่ทุคติ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วทุคคติเป็นที่ไปของบุคคลนั้น เป็นที่พึ่ง เป็นที่ถึงของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องพิจารณาธรรม

            เมื่อเราพิจารณาธรรมรู้ว่าธรรมนี้เป็นอกุศล ธรรมนี้เป็นกุศล อย่างเช่นเราคิดถึงเรื่องโพชฌงค์ ๗ มีสติสัมโพชฌงค์, ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์, วิริยสัมโพชฌงค์, ปีติสัมโพชฌงค์, ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์, สมาธิสัมโพชฌงค์, อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เมื่อเราพิจารณาดูธรรมที่มันเกิดขึ้นมาที่กายก็ดี ที่ใจของเราก็ดี ชื่อว่าเราพิจารณาธรรม เมื่อเราพิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นที่กาย ที่ใจของเราอยู่อย่างนี้ก็ชื่อว่า เราหยุดจิตของเราไว้กับธรรม หยุดสติของเราไว้พิจารณาธรรม เมื่อเราหยุดจิตของเราไว้กับธรรม พิจารณาธรรมอยู่อย่างนี้ รู้ว่าธรรมมันเป็นอกุศลมันเกิดขึ้นมาที่จิตที่ใจของเรา มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ดับไป ธรรมที่เป็นบุญมันก็เกิดขึ้นมาแล้วตั้งอยู่ดับไป

            เมื่อเรารู้อยู่อย่างนี้เราก็รู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญาที่เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราว่าธรรมะที่จะเกิดขึ้นมาที่จะเป็นบุญก็ดี เป็นบาปก็ดี มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่เที่ยง มันเป็นอนิจจัง ทุขัง อนัตตา เมื่อธรรมที่เป็นบุญก็ดี เป็นบาปก็ดี เป็นอนิจจังทุกขัง อนัตตา เราก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นจิตใจก็วางเฉย มีสติรู้เท่าทันความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป วิปัสสนาญาณมันก็เกิดขึ้นมา เพราะวิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมาสมบูรณ์นั้นต้องอาศัยจิตที่วางเฉยในรูปในนามที่มีสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อมนั้น เป็นตัวบังคับอีกทีหนึ่ง จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา

            ถ้าเราวางเฉยโดยที่ขาดสติสัมปชัญญะ ถ้าเราวางเฉยโดยขาดการรู้ตัวทั่วพร้อมวิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิด เราต้องวางเฉยด้วยการรู้ตัวทั่วพร้อม เรียกว่าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่เรามีสติรู้อยู่ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา เพราะฉะนั้นการพิจารณาธรรมนั้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะฉะนั้นเราควรที่จะผูกจิตของเราไว้กับกาย กับเวทนา กับจิต กับธรรม อันนี้เป็นประการที่ ๒ ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นประพฤติปฏิบัติได้ผลดี

            ประการที่ ๓ ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราปฏิบัติได้ผลดีนั้นนักปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลายท่านกล่าวว่า สังวระ ให้เรานั้นอยู่ในสังวระ คืออยู่ในอาการสังวร ให้เราสังวรในทางตา สังวรในทางหู สังวรในทางจมูก สังวรในทางลิ้น สังวรในทางกาย สังวรในทางใจ ทำไมเราจึงต้องสังวร สังวร นี้ก็คือการสำรวมนั้นแหละ สังวรกับการสำรวมอันเดียวกัน สังวรเป็นภาษาบาลี สำรวมเป็นภาษาไทย ให้เราสำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ ทำไมเราจึงต้องสำรวม เพราะว่าตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้น เป็นทางไหลเข้าของบาป เป็นทางไหลเข้าของบุญ เป็นทางไหลเข้าของศีล เป็นทางไหลเข้าของสมาธิ เป็นทางไหลเข้าของวิปัสสนาญาณ เป็นทางไหลเข้าของการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสำรวม สำรวมบาปไม่ให้มันไหลเข้ามาทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ

            เมื่อบาปมันไม่ไหลเข้ามาทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย บุญมันก็เกิดขึ้นมาทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย เมื่อบุญมันแก่กล้าขึ้นมา บุญนั้นมันก็จะพัฒนาตัวของมันให้เจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างเช่นเราป้องกันบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา จิตใจของเรามันก็ขาวสะอาด เปรียบเสมือนกับเรามีแก้วน้ำแก้วหนึ่งที่สกปรก แก้วน้ำนี้มันเป็นแก้วน้ำที่สกปรก เมื่อเป็นแก้วน้ำที่สกปรกเราเทน้ำที่สะอาดลงไป เทลงไปเรื่อยๆ วันนี้ก็เท พรุ่งนี้ก็เท เทไปเรื่อยๆ น้ำที่มันสกปรกมันก็ล้นออกๆ ทีละนิดทีละหน่อยน้ำสะอาดก็เข้าไปแทนที่น้ำสกปรกมันก็ล้นออก เมื่อเราเทไปเรื่อยๆ น้ำสกปรกมันก็จางออกไปๆ มันก็หมดไป ก็เหลือแต่น้ำสะอาด ข้อนี้ฉันใด เมื่อเราป้องกันบาปไม่ให้มันไหลเข้าไปสู่จิตสู่ใจของเรา เราเอาบุญเข้าไปในจิตในใจของเราวันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรามันสะอาด

            เมื่อจิตใจของเรามันสะอาดมันก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงว่าร่างกายของเราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดปัญญาพิจารณารู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นจินตาญาณ เมื่อพิจารณารู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นจินตาญาณ มันก็จะเกิดภาวนาญาณขึ้นมา รู้แจ้งเห็นจริงว่า ร่างกายของเราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยอำนาจของวิปัสสนาญาณ เมื่อปัญญามันพัฒนาตัวขึ้นไปอย่างนี้แล้ว มันก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การพัฒนารู้ว่าร่างกายของเรามันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณมันก็จะพัฒนาตัวขึ้นไปเรื่อยๆ วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ก็จะส่งต่อให้ปัจจยปริคคหญาณ ปัจจยปริคคหญาณ

            เมื่อแก่กล้าแล้วก็จะส่งต่อให้ สัมมสนญาณ สัมมสนญาณเมื่อแก่กล้าแล้วก็จะส่งต่อให้ อุทยัพยญาณ อุทยัพยญาณเมื่อแก่กล้าแล้วก็จะส่งต่อให้ ภังคญาณ ภังคญาณ เมื่อแก่กล้าแล้วก็จะส่งต่อให้ ภยตูปัฏฐานญาณ ภยตูปัฏฐานญาณเมื่อแก่กล้าแล้วก็จะส่งต่อให้ อาทีนวญาณ อาทีนวญาณเมื่อแก่กล้าแล้วก็จะส่งต่อให้ นิพพิทาญาณ นิพพิทาญาณเมื่อแก่กล้าแล้วก็จะส่งต่อให้ มุญจิตุกัมยตาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณเมื่อแก่กล้าแล้วก็จะส่งต่อให้ ปฏิสังขาญาณ ปฏิสังขาญาณเมื่อแก่กล้าแล้วก็จะส่งต่อให้ สังขารุเบกขาญาณ สังขารุเบกขาญาณก็ส่งต่อให้ อนุโลมญาณ อนุโลมญาณก็ส่งต่อให้ โคตรภูญาณ โคตรภูญาณก็ส่งต่อให้ มรรคญาณ มรรคญาณก็ส่งต่อให้ผลญาณ แล้วก็ส่งต่อให้ ปัจจเวกขณญาณ ก็ชื่อว่าการบรรลุมรรคผลนิพพาน

            หลักการปฏิบัติให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นต้องอาศัยหลัก ๓ ประการ ตามที่อาตมภาพได้กล่าวไว้แล้ว คือ ต้องหาสำนักที่ประพฤติปฏิบัติถูกต้องได้ผลแล้วมาเป็นครูเป็นเครื่องดำเนิน เราก็สามารถที่จะเดินทางถูกต้อง เปรียบเสมือนกับเรามีแผนที่ที่ถูกต้อง เราก็สามารถที่จะเดินทางด้วยความมั่นใจ ด้วยความถูกต้องประการที่ ๒ เราต้องหยุดจิตไว้ที่ สติปัฏฐาน ๔ คือหยุดจิตไว้ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม เราก็สามารถที่จะถึงมรรคผลนิพพานได้ไว ประการสุดท้ายเราต้องสังวร คือมีความสำรวมทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ อันเป็นที่ตั้งแห่งศีลแห่งสมาธิแห่งปัญญา เราก็สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลสมดังที่เราปรารถนา

            วันนี้อาตมภาพ พระมหาชอบ พุทธสโรก็ได้บรรยายธรรมะ มาโดยสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวยก็ขออภัยด้วย ญาติโยมทั้งหลายที่ไม่เข้าใจเรื่องการประพฤติปฏิบัติก็ขอให้ส่งจดหมายมาในทางสถานีนี้ได้ อาตมาก็พร้อมที่จะอธิบายหรือว่าแก้ไขปัญหาในส่วนการประพฤติปฏิบัติได้ ถ้าบุคคลใดยังไม่เข้าใจในหลักการประพฤติปฏิบัติ หรือว่าไม่มีคู่มือในการประพฤติปฏิบัติว่าเดินจงกรมยังไง นั่งภาวนายังไง กำหนดยังไง วิธีฝึกสมาธิมันเป็นยังไง เมื่อนั่งไปแล้วมันเกิดปีติ เกิดตัวโยกตัวโคลง เกิดตัวใหญ่ เกิดแขนเล็กแขนใหญ่ เกิดฟันยาวอะไรทำนองนี้ มันเกิดขึ้นมาแก้ไขปัญหาไม่ได้ ก็สามารถที่จะส่งจดหมายมาหรือว่าโทรศัพท์เข้ามาที่เบอร์โทรศัพท์ที่ ๐๘๖-๒๒๒๒๕๒๗ ก็สามารถที่จะอธิบายตามสติปัญญาได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมผู้ที่มารับฟังธรรมะก่อนนอนในวันนี้จงเป็นผู้มีความสุขในทุกทิวาราตรีกาลจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.745 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 20 ธันวาคม 2567 05:35:29