อาจาริโยวาทเกี่ยวกับความตาย๑. ผู้มีโภคทรัพย์ภายนอก มัวแต่หวงไว้
ไม่ใช้เพื่อประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่นตามสมควร
ก็ทำทรัพย์ให้ไม่มีประโยชน์เหมือนเศษดิน
ในที่สุดก็ต้องละทรัพย์นั้นไปด้วยความตาย
(สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์)
๒. ถ้าใครกลัวตายเสียดายทุกข์
ชอบถือเอาความสนุกในการเกิดว่าเลิศเลอ
ผู้นั้นต้องจัดว่าลืมตัวมัวประมาท
และชอบผัดเพี้ยนเลื่อนเวลา ว่า เช้า สาย บ่าย เย็น
ไม่อยากบำเพ็ญความดีสำหรับตน ในเวลาที่มีฐานะพอทำได้อยู่
ความประมาทยังจะพาให้หลั่งน้ำตาด้วยความทุกข์ในสงสาร
ไม่อาจประมาณได้ว่า ยังอีกนานเท่าไหร่
จึงจะผ่านพ้นแหล่งกันดารอันเป็นที่ทรมานไปได้
(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
๓. คนเราเวลาตาย ทำให้คนร้องไห้เศร้าใจ
แต่เวลาเกิด ทำให้คนหัวเราะชอบใจ ดีใจ
คนที่หัวเราะก็หลง คนที่ร้องไห้ก็หลง ไม่รู้อะไรเป็นเหตุเป็นผล
ความจริง “ ตายและเกิด ” ก็อันเดียวกันนั่นเอง
เพียงแต่ว่าเขาเปลี่ยนกันทำหน้าที่เท่านั้นเอง
(หลวงปู่ตื้อ อาจลธมฺโม)
๔. “ ความเกิดมีแล้ว ความแก่ ความตายมันก็มีอยู่
ไม่มีใครพ้นตาย ตายก็ตายเต็มแผ่นดินอยู่ เกิดก็เกิดเต็มแผ่นดิน
เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอยู่นี้แหละ สัจจธรรมข้อนี้
ใคร ๆ ก็พ้นไปไม่ได้ นั่งอยู่ก็ตาย นอนอยู่ก็ตาย กินอยู่ก็ตาย
ไม่กินก็ตาย เจ็บป่วยก็ตายได้ ไม่เจ็บป่วยก็ตายได้
ความตายมีอยู่ทุกฐานะสถานที่
ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันครอบงำเราอยู่ทุกเมื่อ
เราต้องหาที่พึ่งอันประเสริฐไว้เสียแต่บัดนี้ แต่ยังมีชีวิตอยู่อย่างนี้
ยังแข็งแรงอยู่อย่างนี้ ถ้าร่างกาย จิตใจมันไม่อำนวย
แล้วจะไม่คิดถึงอะไร จะไปยึดไปถือเอาอะไร เป็นที่พึ่งมันยาก ”
(หลวงปู่แหวน สุจิณโณ)
๕. แท้ที่จริง จิต วิญญาณ มันมิใช่ของแตกของทำลาย
แลไม่ใช่ของสูญหาย ..
ดังนั้น ใครอยากสวย ให้รักษาศีล
อยากรวยให้ทำทาน อยากปัญญาชาญให้ภาวนา
(หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)
๖. เราเกิดขึ้นมากี่ภพกี่ชาติ ก็มาหัดสติตัวเดียวนี้
แต่ไม่สมบูรณ์กันสักที เหตุนั้นควรที่พวกเราจะพากัน
รีบฝึกหัดสติแต่บัดนี้ เราจวนจะตายอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าจะตายวันไหน
ควรที่จะฝึกหัดสติให้อยู่ในเงื้อมมือของตนให้ได้
อย่าให้จิตไปอยู่ในเงื้อมมือของความหลงมัวเมา
ผู้ใดจิตไม่อยู่ในอำนาจของตนก็ได้ชื่อว่า เราเกิดมาเสียเปล่า
ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียเปล่า ตายไปก็เปล่าจากประโยชน์
(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
๗. โลก คือ รูป นาม กาย ใจ ของเรา ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน
ความไม่เที่ยง มีอยู่ที่ไหน ความเป็นทุกข์ ก็มีอยู่ที่นั้น
และความตายก็ไม่มียกเว้นแก่คนใด คนหนึ่ง เรามีสิทธิ์ตายได้ทุกเวลา
(หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)
๘. เมื่อเราเกิดมา ก็คือ เราตาย นั่นเอง ความแก่กับความตาย
มันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละเหมือนกับต้นไม้ เมื่อมีโคน มันก็มีปลาย
เมื่อมีปลายมันก็มีโคน ไม่มีโคน ปลายก็ไม่มี
มีแต่ปลาย โคนก็มีไม่ได้ ดังนั้น เกิดนั่นแหละคือตาย ตายนั้นละคือเกิด
(หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
๙. เวลามีชีวิตอยู่ เราพึ่งอะไร เวลาตายไปเราจะพึ่งอะไร
เวลาตายไปโลกหน้าไม่มีการทำไร่ ทำนา หรือว่าทำไร่ ทำสวน
ซื้อถูก ขายแพง แต่อาศัยคุณงามความดีที่สร้างไว้
เป็นอาหารทิพย์ เป็นเครื่องเสวย นั่นแหละให้เราสร้างเอาไว้
นั่นแหละเป็นแก้วสารพัดนึกอย่างหนึ่ง และเป็นคู่พึ่ง
เป็นพึ่งตนหนึ่งพึ่งไปตลอดจนถึงอวสาน ได้ถึงนิพพาน
ก็เป็นอันว่าหมดปัญหา เป็นผู้พึ่งตัวเองได้โดยสมบูรณ์
(หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
๑๐. ความตายนี้ ใครจะเสียใจก็ตาม ไม่เสียใจก็ตาม
ใครจะชอบก็ตาม ไม่ชอบก็ตาม ใครจะยินดีก็ตาม ไม่ยินดีก็ตาม
เมื่อถึงวาระมีอันเป็นไป ก็จะต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ
ตราบใดที่เรายังปฏิเสธความจริงหรือกฎธรรมชาติ เราก็เป็นทุกข์ตราบนั้น
(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
http://www.kanlayanatam.com/sara/sara84.htm