.
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชพินัยกรรม (ฉบับพิสดาร) ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
คุณลักษณะของพินัยกรรมโดยทั่วไปมักเป็นเรื่องการมอบสมบัติหรือแบ่งสันปันส่วนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ทายาท รวมทั้งการจัดสรรตำแหน่งทายาทเป็นกรณีส่วนใหญ่
แม้แต่ในหนังสือพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้บัญญัติคำ
“พินัยกรรม” ไว้ว่าหมายถึง
“หนังสือสำคัญที่ทำไว้ก่อนตายเพื่อมอบมรดก” อย่างไรก็ตามได้เกิดมีพินัยกรรมที่ค่อนข้างประหลาดขึ้นมาฉบับหนึ่ง ซึ่งในชั้นแรกมิได้ระบุถึงเรื่องการแบ่งมอบสมบัติมรดกให้แก่ผู้ใดไว้เลย คง
ระบุแต่เพียงการจัดพิธีศพเท่านั้น ดังที่ปรากฏในเรื่องราวพระราชพินัยกรรมของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ที่จะนำเสนอดังนี้
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเศกเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ลำดับพระองค์ที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๓๐ พรรษา และยังไม่ทรงมีพระชายาหรือหม่อมห้ามมาก่อน ในขณะที่พระราชอนุชาส่วนใหญ่ทรงมีพระชายากันเกือบทุกพระองค์แล้ว พระองค์ยังทรงดำรงพระองค์เป็นโสดอยู่ตลอดมา เนื่องจากทรงหมกมุ่นเอาจริงเอาจังอยู่กับพระราชกิจเป็นเนืองนิตย์มาแต่ครั้งขณะทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะใช้เวลาในช่วงต้นรัชกาลปฏิบัติพระราชกิจในราชการแผ่นดินให้ลุล่วงไปด้วยดีเสียก่อน ด้วยในระยะเวลานั้นเป็นระยะที่พระองค์ทรงเริ่มปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองขนานใหญ่ตามแบบอย่างวิธีบริหารราชการแผ่นดินของยุโรป เนื่องจากภัยของจักรวรรดินิยมกำลังใกล้บ้านเมืองเข้ามาทุกที ทรงทราบดีว่าชาติมหาอำนาจในยุโรปได้บุกรุกเอาดินแดนในทวีปเอเชียซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกับดินแดนไทยไปเป็นประเทศเมืองขึ้น ถ้าหากว่าภาวะของบ้านเมืองยังอยู่ในลักษณะนี้ต่อไป ก็น่ากลัวอันตรายว่าจะไม่พ้นอำนาจการรุกรานนั้น โดยทรงลืมตระหนักไปว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์จะต้องมีองค์รัชทายาทสืบราชบัลลังก์ต่อไป แต่กว่าจะทรงนึกขึ้นได้วันเวลาก็ได้ผ่านล่วงเลยมาถึงตอนปลายรัชกาลเสียแล้ว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระโรคภายในมาแต่ยังทรงพระเยาว์ พระสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ทรงรู้ว่าคงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้ไม่นานนัก ดังนั้น ในเวลาต่อมาจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำพระราชพินัยกรรมขึ้นไว้ฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ภายหลังครองราชย์สมบัติได้ ๑๐ ปีเศษ และมีพระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา ก่อนเวลาสวรรคตเพียง ๕ ปี ในขณะนั้นพระองค์เสด็จประทับ ณ พระราชวังพญาไทหรือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน มีผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท คือ
- มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง
- จางวางเอกและพลโทพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กและสมุหราชองครักษ์
- จางวางโทพระยาอนิรุทธเทวา (ม,ล.ฟื้น พึ่งบุญ) อธิบดีกรมมหาดเล็ก
- จางวางโทพระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล) อธิบดีกรมชาวที่
- จางวางตรีพระยาราชสาสน์โสภณ (สะอาด ชูโต) ราชเลขานุการในพระองค์
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า...เวลานี้ข้าพเจ้ากำลังมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ จึงขอสั่งข้อความไว้ดังต่อไปนี้
๑. ถ้าข้าพเจ้าสวรรคตลง ณ แห่งหนึ่งแห่งใด นอกจากในพระบรมมหาราชวังให้อัญเชิญพระบรมศพโดยเงียบ ๆ เข้าไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้จัดการสรงน้ำพระบรมศพในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และจึงให้เชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
๒. ในเวลาที่ตั้งพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และในเวลาอื่น ๆ ต่อไปนี้ตลอด ห้ามมิให้มีนางร้องไห้ ถ้าผู้ใดรักใคร่ข้าพเจ้าจริง ปรารถนาจะร้องไห้ ก็ให้ร้องไห้จริง ๆ เถิด อย่าร้องอย่างเล่นละครเลย
* ๓. ในการทำบุญ ๗ วัน ทุก ๆ ๗ วัน ไปจนถึงงานพระเมรุ ขอให้นิมนต์พระซึ่งข้าพเจ้าได้เคยชอบพอมาเทศน์ อย่าได้นิมนต์ตามยศ และนอกนั้นก็ให้นิมนต์พระมหาเปรียญที่มีท่าทางจะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไป
๔. งานพระเมรุ ขอให้กำหนดภายหลังวันสวรรคตโดยเร็ววันที่สุดที่จะทำได้ ถ้าจะได้ภายในฤดูแล้งแห่งปีสวรรคตแล้วก็ยิ่งดี เพราะ
การไว้พระบรมศพนาน ๆ เป็นการสิ้นเปลืองเปล่า ๆ ๕. ในการทำบุญ ๗ วัน เมื่อไว้พระบรมศพก็ดี และในงานพระเมรุก็ดี ขอให้จัดการทำพิธีกงเต็ก
** ถ้าไม่มีใครศรัทธาทำให้ ข้าพเจ้าขอให้ทายาทของข้าพเจ้าหานักพรตอานัมนิกาย จีนนิกาย มาทำให้ข้าพเจ้า
๖. ส่วนงานพระเมรุ ขอให้ทางวังตัดกำหนดการลงให้น้อย คือตัวพระเมรุให้ปลูกด้วยถาวรวัตถุ ใช้วัตถุนั้นเองเป็นพลับพลาทรงธรรม
๗. ก่อนที่จะยกพระบรมศพไปสู่พระเมรุ ให้มีงานศราทธพรต
*** ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทวันเดียว
๘. ญาติวงศ์ของข้าพเจ้าและข้าราชการกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ถ้ามีความปรารถนาจะทำบุญให้ข้าพเจ้า ก็ให้ทำเสียให้เสร็จในขณะที่ตั้งพระบรมศพอยู่ก่อนงานพระเมรุ ส่วนงานพระเมรุขอให้เป็นงานหลวงอย่างเดียว
๙. สังเค็ต
**** ขอให้จัดของที่จะเป็นประโยชน์สำหรับพระสงฆ์ที่จะได้รับไป และให้เลือกพระสงฆ์ที่จะได้สังเค็ตนั้น ให้เลือกพระองค์ที่จะใช้สังเค็ตจริง ๆ จะไม่เอาไปขาย
๑๐. ส่วนของแจก ขอให้เลือกเป็นหนังสือ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเนื่องด้วยกิจการที่ข้าพเจ้าได้ทำเป็นประโยชน์มาแล้วแก่แผ่นดิน อีกอย่างหนึ่งขอให้เป็นหนังสือที่จะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา
๑๑. ในการแห่พระบรมศพ ตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ให้ใช้พระยานมาศตามประเพณี จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุ ขอให้จัดรถเสียใหม่เป็นรถปืนใหญ่บรรทุกพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางในระยะที่สุดนี้อย่างทหาร
๑๒. ในขบวนแห่นี้ นอกจากทหาร ขอให้จัดมีเสือป่าและลูกเสือให้สมทบกระบวนด้วย แลขอให้นักเรียนโรงเรียนพระบรมราชูปถัมภ์
*****ได้เข้ากระบวนด้วย
๑๓. การโยนโปรย ขอให้งดไม่ต้องมีทุกระยะ และพระโกศขอให้ใช้เจ้าหน้าที่กรมภูษามาลา
๑๔. การอ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพ ถ้าสิ้นสมเด็จพระมหาสมณะกรมพระยาวชิรญาณวโรรส และพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ไปแล้ว ขอให้นิมนต์พระญาณวราภรณ์ (ม.ร.ว.ชื่น) วัดบวรนิเวศน์ หรือพระราชสุธี (อุปโม) วัดราชาธิวาส แต่ถ้าแม้ท่านทั้งสองนี้ จะนำไม่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว จึงให้นิมนต์พระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์สูงกว่ารูปใด ๆ ในคณะธรรมยุติกนิกาย
๑๕. ในการถวายพระเพลิง เมื่อแตรทหารบกบรรเลงเพลงสรรเสริญบารมีจบแล้ว ขอให้รวมแตรสั้นเป่าเพลงสัญญาณนอน
๑๖. ส่วนงานพระบรมอัฐิ ขอให้ทำตามระเบียบที่เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
๑๗. พระอังคาร ขอให้บรรจุใต้ฐานพระพุทธชินสีห์ในวัดบวรนิเวศวิหารส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งขอให้กันเอาไว้ไปบรรจุใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่พระปฐมเจดีย์ในโอกาสอันเหมาะซึ่งไม่ติดต่อกับงานพระเมรุ
พระบรมราชโองการนี้ ได้กระทำไว้เป็น ๓ ฉบับ ความต้องกัน พระราชทานให้เสนาบดีกระทรวงวังรักษาไว้ฉบับหนึ่ง ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กรักษาไว้ฉบับหนึ่ง ราชเลขาธิการรักษาไว้ฉบับหนึ่ง และทรงกำชับเจ้าหน้าที่ทั้งสามนี้ให้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้เสด็จขึ้นเสวยสืบสันตติวงศ์ เพื่อได้ทรงทราบพระราชประสงค์นี้โดยตลอดถ้วนถี่
(พระปรมาภิไธย) ราม วชิราวุธ ปร. ได้ตรวจถูกต้องกับต้นฉบับเดิมแล้ว
(ลงชื่อ) พระยาราชสาส์นโสภณ
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 มีพระกำเนิดเป็นสามัญชนในสกุลอภัยวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2448 มีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ (ติ๋ว อภัยวงศ์)ตอนปลายรัชกาลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตเพียงไม่กี่เดือน ในขณะนั้นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระครรภ์แก่แล้ว จึงได้ทรงเรียกนำพระราชพินัยกรรมฉบับดังกล่าวมาเพิ่มเติมในส่วนเกี่ยวกับพระราชมรดกไว้ดังนี้
ถ้าพระองค์ได้พระราชโอรส ให้ทรงได้รับพระราชทานวังพญาไท และพระราชวังสนามจันทร์ที่จังหวัดนครปฐมเป็นพระราชมรดก และให้ทรงได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ในขณะที่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะอยู่นั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ ๗ ในเวลาต่อมา) ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ถ้าทรงได้พระราชธิดา ก็ได้ขอให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่ได้สืบสันตติวงศ์ต่อ ๆ ไป ทรงพระมหากรุณาถวายการเลี้ยงดูตามพระเกียรติของสมเด็จเจ้าฟ้าต่อไป
ในเวลาต่อมาปรากฏว่า พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีได้ถวายการประสูติพระราชธิดา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๕๐ นาที ก่อนที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ จะเสด็จสวรรคตเพียง ๑ วัน ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาสในพระบรมมหาราชวัง เจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก ได้อัญเชิญพระราชธิดาไปเข้าเฝ้าแล้วทูลว่าประสูติแล้วเป็นหญิง พระเจ้าอยู่หัวทรงนิ่งอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ทรงมีพระราชดำรัสด้วยพระสุรเสียงอันแผ่วเบาด้วยความเหนื่อยอ่อนว่า
“ก็ดีเหมือนกัน มิน่าเล่าได้ยินเสียงพิณพาทย์ประโคม ไม่ได้ยินเสียงปืน” (ถ้าปืนใหญ่ยิงสลุตแสดงว่าประสูติพระราชโอรส) ทรงลูบพระเศียรและพระอุระพระราชธิดาด้วยความรักและสงสาร แล้วทรงสะอื้นน้ำพระเนตรไหลลงสู่พระปรางทั้งสองข้าง รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่ออัญเชิญพระราชธิดามาให้ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ก็มีพระราชดำรัสไม่ได้เสียแล้ว และต่อมาในคืนนั้นเองพระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตเมื่อเวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานภายในพระบรมมหาราชวัง ในขณะมีพระชนมายุได้ ๔๕ พรรษา เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี
บรรดาเหล่าข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ก็ได้สนองพระเดชพระคุณตามพระราชพินัยกรรมของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ครบถ้วนตามพระราชประสงค์ทุกประการ.
* ขบวนนางร้องไห้ : พระราชพิธีเก่าแก่มีมีแต่โบราณจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการเกณฑ์บรรดานางในขับกล่อมโหยหวนด้วยอาการเศร้าโศก เพื่อถวายพระเกียรติยศในงานพระบรมศพ (จึงถือว่าได้ถูกยกเลิกโดยปริยายในสมัยรัชกาลที่ ๖)
**กงเต๊ก : การที่ลูกหลานทำบุญกุศลทั้งทำแทนตัวผู้ตายและทำให้ผู้ตายด้วย เพื่อให้ผู้ตายได้กุศลผลบุญมากพอที่จะไปขึ้นสวรรค์
***ศราทธพรต : พิธีทำบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
****สังเค็ด : ทานวัตถุมีตู้พระธรรม โต๊ะหมู่เป็นต้น ที่เจ้าภาพจัดถวายแก่สงฆ์หรือภิกษุผู้เทศน์หรือชักบังสุกุลในเวลาปลงศพ เรียกว่าเครื่องสังเค็ด*****รัชกาลที่ ๖ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว รวบรวมเรียบเรียง โดยกิมเล้ง : http://www.sookjai.comที่มาข้อมูล -วารสารความรู้คือประทีป : ผู้พิมพ์ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด, ๒๕๓๙
-ประวัติศาสตร์ ๖ แผ่นดิน : สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, ๒๕๕๔
-พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ : บริษัท นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น, ๒๕๔๖
http://wikipedia.org.
.