[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 14:11:05 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๙ : พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)  (อ่าน 3486 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5798


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 25 เมษายน 2555 20:22:12 »


พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์



พระพรหมมุนี (ผิน  สุวโจ)  วัดบวรนิเวศวิหาร  กรุงเทพมหานคร



พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๙
(ผิน  สุวโจ)

พระพรหมมุนี (ผิน  สุวโจ)   เกิดในสกุล ธรรมประทีป เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนบุตรหญิงชาย ๗ คน ของโยมบิดามารดร  โยมบิดาชื่อ นายห้อย โยมมารดาชื่อ นางฮวด   เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๓๗ ตรงกับวันศุกร์แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ  ตำบลบ้านแหลมใหญ่  อำเภอบ้านปรก (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง)  จังหวัดสมุทรสงคราม  ตระกูลเดิมนับถือศาสนาคริสต์   และมีอาชีพทำการประมง  
 
ญาติทางฝ่ายบิดาและมารดาของท่านเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่เคร่งครัด   และมีญาติบางคนได้บวชเป็นบาทหลวงและนางชีในศาสนาคริสต์ด้วย   สมัยเมื่อยังเยาว์วัยท่านเคยไปสวดมนต์ไหว้พระในโบสถ์คริสต์กับญาติบ้างกับผู้ปกครองบ้าง และได้เคยรับศีลล้างบาปตามประเพณีของศาสนาคริสต์    แต่ด้วยเหตุที่ศาสนาคริสต์ไม่ต้องด้วยอัธยาศัยของท่าน   เพราะเคยได้รับความสลดใจหลายอย่างเกี่ยวกับการกระทำของพวกเด็กชาวคริสต์ที่กระทำต่อพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา  เป็นต้นว่า เมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรเดินบิณฑบาต ก็มักจะพากันกล่าววาจาหยาบคายต่าง ๆ ซึ่งท่านเองก็พลอยไปกับเขาด้วยในบางครั้ง ท่านเล่าว่า เคยฝันเห็นโบสถ์ในพระพุทธศาสนาลอยมาในอากาศบ้าง  ฝันเห็นอุบาสกอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวนั่งสวดมนต์กันบ้าง   ฝันเห็นตนเองปีนกำแพงเข้าไปในโบสถ์บ้าง  ปกติเป็นคนมีนิสัยกลัวบาปตกนรก   ไม่เชื่อในคำสอนของศาสนาคริสต์ในข้อที่ว่าฆ่าสัตว์ไม่บาปเพราะพระเจ้าสร้างมาให้เป็นอาหารของมนุษย์  ท่านมีความเห็นว่าคำสอนเช่นนี้ ไม่ยุติธรรม


เมื่ออุปนิสัยน้อมมาในทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้    ในที่สุดท่านจึงได้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพวงมาลัย  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสงคราม  ขณะมีอายุได้ ๑๖ ปี  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓    โดยท่านพระครูธรรมธร (แก้ว พฺรหฺมสาโร)  เป็นผู้บวชให้  ท่านจึงเป็นคนเดียวในตระกูลที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา   แล้วเล่าเรียนอยู่ในวัดนั้นเป็นเวลาปีเศษ  ก็ลาสิกขาออกไปเรียนภาษาไทยที่วัดเกตุการาม   ตำบลโรงหีบ  อำเภอบางคณฑี  จังหวัดสมุทรสงคราม

ครั้นอายุได้ ๑๙ ปี  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖  ได้กลับเข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรเป็นครั้งที่ ๒   ณ วัดเกตุการามโดยมี พระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตฺโต)  เป็นพระอุปัชฌาย์  บวชเป็นสามเณรอยู่ ๑ พรรษา  อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗  จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ณ วัดเกตุการามนั้น โดยมีพระพุทธวิริยากร (จิตต์ ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุดมธีรคุณ (เพิ่ม อุชุโก) พระครูธรรมธร อินทร  ภาสกโร  วัดเกตุการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์   เมื่ออุปสมบทแล้วก็อยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติที่วัดเกตุการามนั้น ๔ พรรษา ในพรรษาที่ ๓ สอบได้นักธรรมชั้นตรี


พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ย้ายเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ  วัดบวรนิเวศวิหาร  กรุงเทพฯ   ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงครองวัด โดยอยู่ในความปกครองของพระเทพกวี (มณี ลิมกุล) แต่เมื่อยังเป็นที่พระมหานายก    ซึ่งเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงครามด้วยกัน  การขบฉันในสมัยนั้นนับว่าอัตคัด สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงต้องทรงแบ่งเครื่องเสวยประทานเป็นครั้งคราวเสมอ การศึกษาเล่าเรียนของท่านก็เจริญก้าวหน้าไปเป็นลำดับ สอบได้นักธรรมและเปรียญชั้นต่าง ๆ  ในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ตามลำดับดังนี้
-พ.ศ. ๒๔๖๔ สอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยค  
- พ.ศ. ๒๔๖๕  สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค  
- พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค  
- พ.ศ. ๒๔๖๗  สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค  
- พ.ศ. ๒๔๖๙  สอบได้นักธรรมชั้นเอก

ในสมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงครองวัด ได้โปรดตั้งเป็นพระครูสังฆบริบาล  ฐานานุกรมในพระองค์ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระครูวินัยธรรม

ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชริญาณวงศ์ทรงครองวัด โปรดให้เลื่อนเป็นพระครูธรรมธร ฐานานุกรมในพระองค์

ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗ ในรัชกาลที่ ๘  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระสุพจนมุนี เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพมุนี  เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๘๙

ถึงพ.ศ. ๒๔๙๐  ในรัชกาลปัจจุบัน  เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมปาโมกข์ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐  และทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่พรหมมุนี เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ มีสำเนาพระบรมราชโองการสถาปนา ดังนี้



ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รังสิต  กรมขุนชัยนาทนเรนทร
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

โดยที่ทรงพระดำริเห็นว่า (คราวเดียวกับสถาปนาพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) วัดมหาธาตุ เป็นพระพิมลธรรม)

อนึ่ง พระธรรมปาโมกข์ เป็นพระเถระสมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีปรีชาญาณ ได้ศึกษาแตกฉานในมคธปริวรรตน์และอรรถธรรมวินัย สอบไล่ได้สำเร็จภูมิเปรียญธรรม ๖ ประโยค  ได้เป็นฐานานุกรมผู้ใกล้ชิดในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ตำแหน่งพระครูสังฆบริบาล และพระครูธรรมธร  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชาคณะตำแหน่งพระสุพจนมุนี พระเทพมุนี และพระธรรมปาโมกข์ โดยลำดับ  ก็ได้รับภาระพระพุทธศาสนา และสังวรรักษาสมณวัตรระเบียบปฏิบัติประเพณีราชการได้เรียบร้อยสมควรแก่ตำแหน่งเป็นอย่างดี มีความอุตสาหะวิริยะอย่างแรงกล้าในการประกอบพุทธศาสนกิจ เป็นหิตานุหิตประโยชน์ แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล อาทิ ในด้านการศึกษา เริ่มด้วยเป็นเจ้าหน้าที่ทะเบียนแห่งสำนักเรียน เป็นอุทเทศาจารย์สอนพระปริยัตติธรรม และเป็นกรรมการจัดการศึกษาแห่งสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร  เป็นผู้ช่วยแม่กองสอบนักธรรมสนามมณฑลอยุธยาและสนามมณฑลราชบุรี  เป็นผู้ช่วยแม่กองสอบนักธรรมและบาลีสนามหลวง  เป็นกรรมการตรวจสอบนักธรรมและบาลีสนามหลวง  นอกจากนี้พระธรรมปาโมกข์ยังได้รับภาระเป็นหัวหน้าศาสนาจารย์สอนธรรมจรรยาแก่นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ คือ โรงเรียนมัธยมวัดบวรนิเวศ  โรงเรียนสตรีวิทยา  โรงเรียนเบญจมราชาลัย  โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย  โรงเรียนเพ็ชรบุรีวิทยาลงกรณ์  โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนลีฟวิง   อนึ่งกรณียกิจเกี่ยวด้วยมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์อันเป็นบ่อเกิดแห่งการศาสนศึกษา พระธรรมปาโมกข์ก็ได้รับภาระเป็นกรรมการ เป็นอนุกรรมการชำระแบบเรียน เป็นกรรมการอำนวยการออกหนังสือธรรมจักษุและกรรมการตรวจเลือกพระสูตร  เป็นหัวหน้ากองบำรุงพระปริยัตติธรรม  เป็นหัวหน้ากองบัญชาการ  เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิ เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหาวิทยาลัยทางพระศาสนา พระธรรมปาโมกข์เป็นผู้ประกอบด้วยอุตสาหะวีรยาธิคุณ  ได้พยายามศึกษาค้นคว้าหลักธรรมในคัมภีร์บาลีปกรณ์ทั้งหลาย จนเข้าถึงความเป็นผู้ฉลาดสามารถในคันถธุระวิธีพุทธสมัย ตั้งอยู่ในวิษัยพหุลศรุตบัณฑิต  รอบรู้แตกฉานเชี่ยวชาญในพระปริยัติธรรมอย่างซาบซึ้งถึงขนาดสามารถจัดการศึกษาเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอนุศาสน์อบรมสั่งสอนสิกขกามบุคคล  ตลอดจนการชำระตำราแก้ไขทำแบบเรียนให้เป็นฉะบับที่ถูกต้อง  เป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาเป็นอันมาก  นับว่าได้บำเพ็ญกรณียกิจซึ่งยากที่บุคคลทั่วไปจะพึงกระทำ นำมาซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่อเนกนิกรชนพุทธบริษัท  ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิตดั่งพรรณนามา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดยกเป็นพระคณาจารย์เอกในทางคันถธุระ ดั่งปรากฏอยู่แล้ว ในส่วนบริหาร พระธรรมปาโมกข์ก็เริ่มรับภาระปฏิบัติมาแต่ครั้งอยู่ในระหว่างการศึกษาเบื้องต้น  คือรับตำแหน่งเป็นฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าดังกล่าวแล้ว  เป็นเสนาสนะคาหาปกะและปฏิคมแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร  เป็นกรรมการและรองประธานกรรมการคณะธรรมยุตติกา เป็นกรรมการเถรสมาคม  เป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔  เป็นพระอุปัชฌายะในคณะธรรมยุตติกา เป็นสมาชิกสังฆสภา และเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่  พระธรรมปาโมกข์ได้บริหารกิจการตามหน้าที่ ซึ่งได้รับภาระดังกล่าวได้เรียบร้อยเป็นผลดีตลอดมา จึงประจักษ์อยู่ทั่วไปว่าเป็นผู้เจริญยิ่งด้วยคุณธรรมวิทยาสามารถ  มีปรีชาฉลาดในการอบรมสั่งสอนศีลธรรมจรรยาเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญภิยโยภาพไปตลอดจิรัฏฐิติกาล   บัดนี้พระธรรมปาโมกข์ก็เจริญด้วยวรรษายุกาล สมบูรณ์ด้วยรัตตัญญูเถรกรณธรรม มั่นคงอยู่ในพรหมจรรย์เนกขัมมปฏิบัติ  เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต มีวัตตจริยาเป็นที่น่าเลื่อมใส เป็นหลักอยู่ในคณะธรรมยุตติการูปหนึ่ง จึงสมควรยกย่องให้ดำรงในสมณฐานันดรสูงขึ้น

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สถาปนาพระธรรมปาโมกข์เป็นที่รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัณยบัฏว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ อุดมคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ สมบุณคณาธิปัติ  วินยานุวรรตสังฆานุนายก ปิฎกธรรมรักขิต ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพุทธพากยประกาศ ๑ พระครูคู่สวด ๑ พระครูธรรมศาสนอุโฆษ ๑ พระครูคู่สวด ๑ พระครูสังฆวิจิตร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาพระคุณ ผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดรเพิ่มอิสสริยยศในครั้งนี้ จงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในพระอารามตามสมควรแก่กำลังและอิสสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญ อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสด์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

                                                                                                     ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                                                                                                 จอมพล ป. พิบูลสงคราม
                                                                                                                           นายกรัฐมนตรี



พระพรหมมุนี (ผิน) เป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญในการคณะสงฆ์ด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการคณะสงฆ์มาโดยลำดับ อาทิ
- พ.ศ. ๒๔๗๘  เป็นพระคณาจารย์เอกทางคันถธุระ
- พ.ศ. ๒๔๘๖  เป็นผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- พ.ศ. ๒๔๘๘  ร่วมกับสุชีโวภิกขุ (คืออาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ) ดำเนินการจัดตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งประกาศตั้งเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  นับเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย และได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มาตั้งแต่เริ่มตั้งจนตลอดชนมชีพของท่าน
- พ.ศ. ๒๔๘๕  เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่
- พ.ศ. ๒๔๙๓  เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ สมัยที่ ๒
- พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ สมัยที่ ๓
- พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็นเจ้าคณะธรรมยุตภาค ๑-๒-๖
- พ.ศ. ๒๕๐๑  เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑
- พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  พระพรหมมุนี (ผิน) ได้เป็นพระอาจารย์ถวายธรรมวินัยแด่พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดเวลาแห่งการทรงผนวช

พระพรหมมุนี (ผิน) ปกครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ ๔ ปี  ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔ สิริชนมายุได้ ๖๖ ปี ๘ เดือน
 




รวบรวมเรียบเรียง โดย กิมเล้ง : http://www.sookjai.com

ข้อมูล
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
- http://www.watbowon.com








.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 เมษายน 2555 07:41:48 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น: พระธรรมปาโมกข์ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.493 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 19 ธันวาคม 2567 16:53:25