(:LOVE:)ปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้าย
หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถาติ
ดำเนินความว่า เมื่อพระพุทธองค์จวนจะเสด็จปรินิพพาน ซึ่งบรรทมอยู่เหนือแท่นที่ปรินิพพาน ในโอกาสนั้นพุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อาบาสิกา ได้ประชุมกันเป็นหมู่ใหญ่ ในขณะนั้นนั่นเองพระองค์ได้ประทานพุทธานุสาสนี อันเป็นคำเตือนครั้งสุดท้าย เมื่อพระพุทธองค์ตรัสพระอนุสาสนีนี้แล้ว ก็มิได้ตรัสพระดำรัสอะไรอีกเลย แล้วก็เสด็จปรินิพพาน ปัจฉิมโอวาทานุสาสนีนั้นว่า หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัดนี้เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ดังนี้..................
พระปัจฉิมวาจาพุทธภาษิตนี้มีอรรถาธิบายว่า สังขารคือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมีสองประการ คือสังขารที่มีใจครอง ซึ่งเรียกอุปาทินนกสังขาร เช่นสัตว์เดียรัจฉานและมนุษย์เป็นต้นอย่างหนึ่งสังขารที่ไม่มีใจครองเช่น ภูเขา ต้นไม้ เรือน รถ เป็นต้นอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้ย่อมเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ก็เพราะเหตุแต่งขึ้นจึงต้องเป็นไปตามเหตุ และต้องอาศัยปัจจัยภายนอก เช่น อาหารช่วยบำรุงในเวลาเป็นอยู่ด้วย เหตุปัจจัยยัง
ทรงอยู่เพียงใด สังขารทั้งหลายก็ยังทรงอยู่เพียงนั้น ถ้าเหตุปัจจัยขาดลงโดยปรกติหรือถูกอะไรมาตัดรอนเสียในระหว่างกาลใด สังขารทั้งหลายก็ย่อมสลายไปในกาลนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลที่เกิดมาซึ่งได้ชื่อว่าอุปาทินนกสังขาร เมื่อเหตุยังส่งผลอยู่ ก็ย่อมผ่านวัยทั้งสามไปได้ เมื่อเหตุสิ้นไปหรือภัยอันตรายมาตัดรอนในระหว่าง ก็ย่อมสิ้นไปเสียก่อน ยังไม่ทันจะผ่านวัยไปให้ตลอดครบทั้งสาม แม้ในเวลาที่ยัง
เป็นอยู่ บางคราวก็เป็นไปสะดวกกล่าวคือมีสุขสบาย บางคราวก็ไม่สะดวกคือมักเจ็บไข้ได้ทุกข์ เป็นดังนี้ก็เพราะอำนาจแห่งเหตุ คือกรรมที่เป็นกุศลและอกุศลที่ได้ทำไว้ ทั้งเวลาที่เป็นอยู่เล่า ก็ย่อมมีอาการทั้งสามประจำอยู่เสมอ คืออาการที่ไม่เที่ยง เพราะแปรไปเปลี่ยนไปอยู่เสมอ ซึ่งเรียกว่าอนิจจังอย่างหนึ่ง อาการที่ทนอยู่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปแปรไปอยู่เสมอ ซึ่งเรียกว่าทุกขังอย่างหนึ่ง อาการที่ไม่เป็นไปตามอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดจึงต้องแปรไปเปลี่ยนไปไม่คงทนอยู่ได้ ซึ่งเรียกว่าอนัตตาอย่างหนึ่ง อาการทั้ง ๓ นี้ ย่อมย่ำยีห้ำหั่น
ล้างผลาญเบียดเบียนสังขารทั้งปวงทุกขณะ มิได้ว่างเว้นสักครู่หนึ่งเลย ครั้นย่ำยีห้ำหั่นล้างผลาญเสร็จล่วงไปแล้ว จึงได้แสดงลักษณะให้ปรากฏเป็นเครื่องหมายไว้ เหมือนไฟที่เผาเชื้อให้ไหม้แล้วแสดงเถ้าให้ปรากฏเหลืออยู่ฉะนั้น เพราะฉะนั้นสังขารทั้งปวงที่ปรากฏขึ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นทุกข์อยู่เสมอ ถึงใครจะเห็นว่าเป็นทุกข์หรือไม่ก็ตาม สมด้วยความแห่งคาถาซึ่งเป็นภาษิตของวชิราภิกขุณีว่าทุกขะเมวะ หิ สัมโพติ ทุกขัง ติฏฏะติ เวติ จะ ทุกข์เท่านั้นย่อมเกิดขึ้น ย่อมตั้งอยู่ และย่อมเสื่อมไป นาญญัตะระ ทุกขา สัมโพติ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นาญญัตะระ ทุกขา นิรุชฌะติ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ