งานบุญอย่าให้มีบาป โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ การจะบวชลูกบวชหลานเข้าไว้ในพุทธศาสนา ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจจะเอาบุญ คือทำตามประเพณีเป็นสำคัญ พอเริ่มจัดงานก็มีการฆ่าไก่บ้าง ฆ่าปลาบ้าง ฆ่าหมูบ้าง ฆ่าวัวควายบ้าง เอาสุราเมรัยเข้ามาเลี้ยงกันบ้าง ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจัดการอุปสมบทกุลบุตรในพระพุทธศาสนา หรือว่าบำเพ็ญกุศลส่วนใดส่วนหนึ่งก็ดี ทำกันตามประเพณีแบบนี้ ก็จะได้ชื่อว่าไม่มีอนิสงส์อะไรเลย ทั้งนี้เพราะอะไร
เพราะเจตนาชั่ว คือเริ่มต้นก็ทำบาปก่อนแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า ถ้าจิตเป็นอกุศล กุศลใดๆ ที่ตนคิดว่าจะทำมันจะไม่ปรากฏ
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระบรมสุคตจึงได้แนะนำไว้ว่า
ในการบำเพ็ญราศี ให้ปรากฏเป็นผลดี ก็ขอให้การนั้นเป็นการบำเพ็ญกุศลจริงๆ
ขอท่านพุทธบริษัทชายหญิง จงเว้นกรรมที่อกุศลเสีย งดสิ่งที่เป็นกรรมชั่วทุกประการ อย่าให้มีปรากฏมี เวลาเริ่มงานขึ้นมาสักทีกรรมใดที่เป็นอกุศล เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ดี การเลี้ยงสุราก็ดีอย่างนี้จงงดไว้ ตั้งใจเฉพาะการบำเพ็ญกุศลราศีเท่านั้น
ถ้าหากว่าท่านพุทธศาสนิกชนทุกทุกท่าน ได้นำบุตรของท่านเข้ามาอุปสมบทบรรพชาในพระพุทธศาสนาไม่มีสิ่งใดเป็นอกุศล คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตของเราไม่มี การจะเลี้ยงสุราเมรัยก็ไม่มี การบำเพ็ญกุศลอย่างนี้จึงเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องทีนี้สมมุติว่า เมื่อลูกชายของท่านบวชเข้ามาแล้วในพุทธศาสนา
ถ้าปฏิบัติเลว อันนี้บั่นทอนความดีของบิดามารดาด้วย เพราะอะไร เพราะว่าถ้าปฏิบัติเลวทรามผิดธรรมวินัย เป็นอันว่ากรรมใหญ่ที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นแก่บุตรของตน ทีนี้ถ้าหากว่าบุตรของตนปฏิบัติไม่ดี ปฏิบัติไม่ชอบ ไม่ประกอบไปด้วยพระธรรมวินัย ความเดือนร้อนก็เกิดขึ้น นั่นคือต้องถูกบังคับบัญชาลงโทษ ปฏิบัติไม่ชอบ ไม่ประกอบด้วยธรรมวินัย ความเดือดร้อนก็เกิดขึ้น นั่นคือต้องถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษ
เมื่อถูกผู้บังคับชาลงโทษแล้ว มักจะไปฟ้องบิดามารดาและญาติของตนว่า ถูกรุกรานจากผู้บังคับบัญชาของตน คราวนี้จะพาพ่อ แม่ พาญาติลงนรก คือตัวลงนรกคนเดียวไม่พอ ไปชวนพ่อ ชวนแม่ ชวนญาติพี่น้องลงนรกด้วย ก็ไปแจ้งกับบรรดาญาติพี่น้อง กับ บรรดาบิดามารดาของตนว่า เวลานี้บรรดาผู้บังคับบัญชาของตนรุกรานด้วยเหตุอย่างนั้น ด้วยเหตุอย่างนี้ ตอนนี้ทำอย่างไร
จิตใจของพ่อแม่เกิดความไม่สบาย ดีไม่ดีโกรธผู้บังคับบัญชาหรือว่าพระผู้ใหญ่ที่ลงโทษ การโกรธ อารมณ์จิตเศร้าหมอง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า
จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา
ถ้ามีอารมณ์ของเราเกิดความเศร้าหมองขึ้นแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า ตายจากความเป็นมนุษย์ก็ไปทุคคติ
ทีนี้สมมุติว่า กุลบุตรที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนาปฏิบัติชอบด้วยธรรมวินัย
ความผ่องใสของท่านผู้บวชก็มีขึ้นคือจิตผ่องใส ปราศจากอารมณ์ที่เป็นกิเลส แล้วต่อมาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ คือเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งมีอารมณ์จิตชื่นบาน เข้าถึงปีติ
คำว่าปีติ ในที่นี้ก็หมายถึงความว่า ยินดีในการปฏิบัติความดีในด้านพระธรรมวินัยอย่างหนึ่ง ยินดีในการเจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เกิดความชุ่มชื่นในการปฏิบัตินั้น อานิสงส์อันนี้ย่อมเกิดแก่กุลบุตรผู้อุปสมบทบรรชาในพุทธศาสนามากขึ้น เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบไว้ว่า
ท่านผู้ใดก็ดี อุปสมบทบรรพชาเข้ามาแล้วในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งทำจิตใจว่างจากกิเลสเพียงละหนึ่งชั่วขณะจิตเดียว
นี่หมายความว่า วันหนึ่งมีเวลา 24 ชั่วโมง เวลานอกนั้นจิตฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ แต่ว่าตอนปฏิบัติพยายามคุมกำลังใจ ไม่พลั้งพลาดออกจากพระธรรมวินัย หรือเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตามในวันนี้ทำสมาธิจิตให้เกิดขึ้น จะเป็นอารมณ์สมาธิก็ตาม หรือจิตผ่องใสทางด้านวิปัสสนาญาณก็ตาม วันหนึ่งเพียงชั่วขณะจิตเดียว จิตโปร่งจริงๆ ขณะนิดเดียว นาทีหนึ่งหรืองสองนาทีก็ตาม แต่ว่าทำได้ทุกวันไม่จำกัดเวลา อย่างนี้องค์สมเด็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า
ท่านผู้นั้น บวชเข้าในพุทธศาสนาแม้แต่เพียง 1 วัน ก็ย่อมมีอานิสงส์ดีกว่าพระที่บวชเข้ามาในพุทธศาสนาตั้ง 100ปี มีศีลบริสุทธ์ไม่บกพร่อง แต่ก็ไม่ได้เลยเจริญสมาธิจิตท่านบอกว่า อานิสงค์นี้คูณด้วยกำลังของแสน
นี่ก็หมายความว่า เวลาที่เสวยทิพยสมบัติ เป็นเททวดาก็ดีเป็นพรหมก็ดี ตามกำหนดย่อมมีเสมอกัน คือ 60 กัป หรือบิดามารดาได้คนละ 30 กัป เป็นอันว่าความสุขที่จะพึงได้ และแสงสว่างที่พึงได้ รัศมีกายที่จะปรากฎความเป็นเทวดาย่อมมีผลต่างกัน ท่านผู้เจริญสมาธิคือทำจิตว่างจากกิเลสวันหนึ่งชั่วขณะจิตเดียว มีอานิสงส์แห่งความสุขดีกว่า มีรัศมีกายสว่างไสวกว่า
ในเทื่อบุตรชายของท่านที่อุปสมบทบรรพชาเข้ามาพุทธศาสนาทำความประเภทนี้ ท่านจะไปพบผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลใดก็ตามที ที่เขาเห็นบุตรชายของท่านทำความดีบวชเข้ามาแล้วปฏิบัติชอบในระบอบพระธรรมวินัย ทุกคนพรกันสรรเสริญ ทุกคนชื่นใจ ทุกคนมีศรัทธา สำหรับบิดาผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ก็พลอยชื่นบานไปด้วย โมทนาความดี อันนี้องค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาตรัสว่า
เพราะอาศัยความที่มีความชื่นบาน มีความผ่องใส มีความพอใจ มีธรรมปีติที่อาศัยลูกชายของตนประพฤติดีประพฤติชอบในระบอบพระธรรมวินัย
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดากล่าวว่า
จะมีอานิสงส์มาขึ้น
หมายความว่า ถ้าเป็นเทวดาหรือว่าพรหม ก็มีรัศมีกายผ่องใสขึ้น จะเพิ่มความสุขยิ่งขึ้น
นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย การที่นำลูกชายของท่านบวชเณรก็ดี เข้ามาบวชเป็นพระก็ดีในพระพุทธศาสนา สำหรับท่านบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ให้เขาเกิดมาเป็นคน
องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ย่อมมีอานิสงส์คุ้มแก่ค่าที่ท่านเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเติบใหญ่
ถ้าบังเอิญท่านผู้นั้นมีลูกชายบวชหลายคน ก็จงทราบว่าคนหนึ่งบิดามารดาได้อานิสงส์แห่งการบวชลูกชายในพระพุทธศาสนาเป็นพระคนละ 30 กัป ท่านก็นับไปก็แล้วกัน ถ้าบวชลูกชายเป็นเณรคนหนึ่งในพุทธศาสนาก็มีอานิสงส์คนละ 15 กัป สำหรับบิดามารดา ทีนี้บังเอิญท่านคลอดบุตรมาแล้ว ต่างคนต่างแยกกันหรือตายไปเสียก่อน องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาตรัสว่า อานิสงส์แห่งการอุปสมบทบรรพชา ย่อมมีผลแก่บุคคลผู้ตายแล้ว ถึงแม้ว่าไม่ได้โมทนา
โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ธรรมปฏิบัติ เล่ม 1 หน้า 35-40