[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 20:32:57 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เสด็จพระราชดำเนิรไปนมัสการพระเจดีย์ ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีชัยชะนะยุทธหัตถี  (อ่าน 2230 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 ตุลาคม 2555 12:50:48 »

http://www.sookjaipic.com/images/9857454539__3648_3608_3648_3608_3597_3648.gif
เสด็จพระราชดำเนิรไปนมัสการพระเจดีย์ ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีชัยชะนะยุทธหัตถี


เรื่องเสด็จพระราชดำเนิรไปนมัสการพระเจดีย์
ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีชัยชะนะยุทธหัตถี
   
เรื่องเสด็จพระราชดำเนิรไปนมัสการพระเจดีย์ ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีชัยชะนะยุทธหัตถี เป็นหนังสือที่กรมวิชชาธิการ  กระทรวงธรรมการ คัดมาจากหนังสือจดหมายเหตุเสือป่า โดยได้รับพระบรมราชานุญาต  และพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔  ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เนื้อเรื่องกล่าวถึงการเสด็จพระราชดำนินของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งมีพระราชประสงค์ไปนมัสการพระเจดีย์  ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดฯ ให้สร้างไว้บริเวณทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชเมืองหงสาวดี  เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕  ณ หนองสาหร่าย  จังหวัดสุพรรณบุรี  

เรื่องนี้ ให้ความรู้ในทางสืบค้นและสันนิษฐานโบราณคดีประกอบประวัติศาสตร์ให้เด่นชัด  และเป็นไปในทางปลุกใจผู้ศึกษาให้เกิดความแกล้วกล้า และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ผู้ทรงเสียสละเอาพระวรกายเข้าบุกบั่นฝ่าอันตราย ป้องกันชาติบ้านเมืองจนมีชัยชนะแก่พม่าข้าศึก

ผู้โพสต์กระทู้  ได้คัดลอกจากหนังสือดังกล่าวข้างต้น  โดยคงตัวพยัญชนะ  การสะกดคำ  การเว้นวรรคไว้ดังเดิมทุกประการ  และได้ทำการตรวจทานจากต้นฉบับแล้วถึง ๓ ครั้ง   และอาจสังเกตได้ว่าการสะกดคำบางคำเช่น “พงศาวดาร”  บางตอนสะกด “พงษาวดาร”  หรือ “จระเข้” บางตอนสะกด “จะเข้” ก็มี เป็นต้น



เรื่อง เสด็จพระราชดำเนิร ไปนมัสการพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีชัยชะนะยุทธหัตถี

มีเนื้อความปรากฏมาในพระราชพงศาวดารว่า  ครั้งเมื่อพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดียกกองทัพใหญ่เข้ามากรุงสยาม  เมื่อปีมะโรงจุลศักราช ๙๕๔ พ.ศ. ๒๑๓๕  สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปต่อสู้  ได้ทรงทำยุทธหัตถี  คือชนช้างตัวต่อตัวกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี  สมเด็จพระนเรศวรมหาราชฟันพระมหาอุปราชาขาดคอช้าง  มีชัยชะนะ  ตีกองทัพหงสาวดีพ่ายแพ้ไป  แล้วได้มีรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ ขึ้นไว้ ณ ที่ได้ทรงชะนะยุทธหัตถีองค์ ๑  ในหนังสือพระราชพงศาวดารซึ่งได้ลงพิมพ์ปรากฏมาแต่ก่อนจดไว้ว่า  ที่ทำยุทธหัตถีและที่สร้างพระเจดีย์นี้ อยู่ ณ ตำบลตะพังกรุ  การตรวจค้นหาพระเจดีย์องค์นี้แต่ก่อนมาอาศัยเนื้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า  พระมหาอุปราชาหงสาวดีเดิรกองทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี  ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพหลวงโดยทางสถลมารคจากป่าโมกเมืองอ่างทองไปต่อสู้ข้าศึก  เข้าใจว่าพระเจดีย์คงจะอยู่ที่ตำบลตะพังกรุ  ในเส้นทางระหว่างเมืองกาญจนบุรี  เมืองสุพรรณบุรี และเมืองอ่างทอง  ครั้นตรวจไปได้ความว่า ที่ซึ่งเรียกว่าตะพังกรุมีหลายแห่ง  เพราะคำว่า ตะพังกรุ  ศัพท์โบราณแปลแต่ว่า บ่อน้ำซึ่งบุคคลขุดและกรุข้าง ๆ ด้วยไม้หรือด้วยอิฐไม่ให้ดินพัง  ที่ตำบลบ้านเก่า ๆ แห่งใดมีบ่อเช่นนั้น ก็มักเรียกว่าตะพังกรุ  ตรวจมาช้านานหลายปี ก็ไม่ได้พบพระเจดีย์ซึ่งมีสำคัญควรเชื่อว่า เป็นพระเจดีย์องค์ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงสร้างไว้  การที่ตรวจค้นหาพระเจดีย์จึงระงับมา  จนหอพระสมุดวชิรญาณหาหนังสือพระราชพงศาวดารได้อีกฉะบับ ๑  เป็นฉะบับเก่า  แต่งโดยกระแสรับสั่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เมื่อปีวอกจุลศักราช ๑๐๔๒ พ.ศ. ๒๒๒๓  ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉะบับนี้กล่าวว่า การศึกครั้งนั้น พระมหาอุปราชายกกองทัพเข้ามา  ตั้งรวมพลที่ตำบลตะพังกรุ  แขวงเมืองสุพรรณบุรี  แล้วยกกองทัพต่อเข้ามา  ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปต่อสู้ข้าศึก  ได้ทรงทำยุทธหัตถี มีชัยชะนะพระมหาอุปราชาที่ใกล้หนองสาหร่าย  เมื่อได้ความแปลกออกไปตามพระราชพงศาวดารฉบับนี้  พระยาสุนทรสงคราม (อี้  กรรณสูต)  ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี จึงออกไปตรวจด้วยตนเอง  เที่ยวสืบหาหนองสาหร่าย พบในท้องที่อำเภอศรีประจันต์  อยู่ใกล้ฝั่งตะวันตกลำน้ำบ้านคอยในแขวงเมืองสุพรรณบุรี  แล้วตรวจต่อไปอีก ๑๐๐ เส้นเศษก็พบพระเจดีย์ใหญ่องค์ ๑ รูปสัณฐานเป็น ๔ เหลี่ยม   วัดขนาดฐานกว้างได้ด้านละ ๑๐ วา  วัดขนาดสูงทั้งที่ชำรุดปรักหักพังแล้ว คงเหลืออยู่ ๖ วา  เป็นของเก่าสร้างไว้กลางป่าไม่มีวัดวาบ้านช่องอย่างใดอยู่ใกล้เคียงพระเจดีย์นั้นเลย  ต้นไม้ป่าขึ้นปกปิดชิดชัฎ  แม้ผู้ผ่านไปถ้าไม่สังเกตก็รู้ไม่ได้ว่ามีพระเจดีย์ใหญ่อยู่ในที่แห่งนั้น พระยาสุนทรสงครามเรียกราษฎรชาวบ้านที่อยู่ตำบลติดต่อกับที่นั้นมาไต่ถาม  ได้ความจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า ปู่ย่าตายายได้เล่าบอกสืบกันมาว่า ที่สร้างพระเจดีย์องค์นี้เป็นที่กษัตริย์แต่ก่อนได้มาชนช้างกัน  แต่จะเป็นครั้งใดกษัตริย์พระองค์ใดก็หารู้ไม่  เมื่อตรวจสืบได้ความดังนี้  พระยาสุนทรสงครามเห็นว่าเป็นหลักฐาน  จึงได้ให้แผ้วถางที่พระเจดีย์  ให้ช่างถ่ายรูปและทำแผนที่ระยะทาง  บอกเนื้อความเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ นี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระเจดีย์องค์ที่พระยาสุนทรสงครามไปพบนี้ ถูกต้องตามลักษณะและภูมิแผนที่  มีหลักฐานประกอบควรเชื่อได้ว่า เป็นพระเจดีย์ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มีรับสั่งให้สร้างขึ้นไว้ ในที่ซึ่งทรงชะนะยุทธหัตถีเป็นแน่แล้ว นับว่าได้พบอนุสสาวรีย์อันสำคัญของกรุงสยามและของชาติไทยแห่ง ๑  ซึ่งควรจะปีติปราโมทย์ทั่วกัน  ด้วยการที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชะนะยุทธหัตถีคราวนั้น  เป็นเหตุให้เมืองไทยได้คืนคงเป็นอิสสรภาพดังปรากฏมาในพระราชพงศาวดาร จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จไปนมัสการให้ถึงที่พระเจดีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ในระหว่างเวลาที่จะเสด็จออกไปประทับอยู่ที่เมืองนครปฐมอย่างเคยมาแต่ก่อนในฤดูแล้งปีนี้  แต่มีพระราชประสงค์จะมิให้ราษฎรได้ความลำบากเดือดร้อน  และเพราะเหตุที่ประจวบเวลาฝึกซ้อมเสือป่าออกสนาม  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้เตรียมการเสด็จโดยกระบวนเสือป่า  ที่ประทับพลับพลาตามระยะทาง ให้ทำเป็นแต่ตำหนักขนาดน้อยพอประทับพัก  ไม่ให้ทำเป็นค่ายหลวงมีบริเวณพลับพลาใหญ่โตอย่างธรรมเนียมเสด็จประพาสป่ามาแต่ก่อน

ครั้นณวันศุกรที่ ๑๖ มกราคม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จจากกรุงเทพ ฯ  โดยทางรถไฟ  ไปประทับณพระราชวังสนามจันทร์เมืองนครปฐม ๔ วัน  พอเตรียมการทั้งปวงพร้อมแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนิรทางสถลมารค  พร้อมด้วยเสือป่ารักษาพระองค์ กองหลวงทั้งกองราบและกองผะสม  และลูกเสือหลวงโรงเรียนมหาดเล็ก  และเสือป่ามณฑลนครชัยศรี  รวมกระบวนเบ็ดเสร็จ ๔๐๐ เศษ  มีกองลำเลียงสะเบียง  พาหนะ  กองแพทย์  ตามกระบวนยุทธ์ และมีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และตำรวจภูธรประจำราชการตามเคยแก่กระบวนเสด็จมาแต่ก่อน  เสด็จแต่พระราชวังสนามจันทร์เมื่อณวันอังคารที่ ๒๐ มกราคม  ตอนเช้าระยะทาง ๔๓๐ เส้นถึงที่ประทับร้อนบ้านกระทุ่ม  เวลาบ่ายเสด็จจากบ้านกระทุ่มต่อไป  ระยะทางอีก ๒๒๐ เส้น  รวมระยะทางสถลมารคเสด็จพระราชดำเนิรวันนี้ ๖๕๐ เส้น  ถึงที่ประทับแรมเมืองกำแพงแสนซึ่งว่าเป็นเมืองโบราณ  ยังมีแต่เชิงเทินดินปรากฏอยู่บ้าง  เสด็จประทับพลับพลาแรม  แวดล้อมด้วยเสือป่า  ลูกเสือ  และทหาร  ตำรวจภูธร  ซึ่งไปโดยเสด็จเป็นระเบียบ  ครั้นเวลาค่ำเป่าแตรเรียกประชุมพร้อมกันที่หน้าพลับพลา  โปรดให้เชิญพระชัยนวโลหะ  มาตั้งเป็นประธานที่สักการบูชา  แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงนำสวดมนต์นมัสการพระรัตนตรัย  เมื่อจบแล้วพวกพลพร้อมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี  แล้วจึงแยกกันไปตามที่อยู่  จัดการล้อมวงและมีการประชุมไหว้พระสวดมนต์อย่างนี้ตลอดทุกพลับพลาแรมที่เสด็จ

ณวันพุธที่ ๒๑ มกราคม  โปรดให้พักพลอยู่ที่เมืองกำแพงแสนวัน ๑  ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า วันแรกเดิรทางผู้คนที่แรกจะคุ้นเคยแก่การเดิรทางไกลย่อมจะเลื่อยล้า  ควรจะให้พักบำรุงกำลังเสียคราว ๑

ณวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มกราคม  เสด็จจากเมืองกำแพงแสนระยะทาง ๔๑๒ เส้น  ถึงที่ประทับร้อนหนองตัดสาก  เวลาบ่ายเดิรกระบวนต่อไปอีก ๒๖๗ เส้น  รวมระยะทาง ๖๗๙ เส้น  ถึงที่ประทับแรมบ้านบ่อสุพรรณ  ในแขวงอำเภอสองพี่น้อง เมืองสุพรรณบุรี

ณวันศุกรที่ ๒๓ มกราคม  เสด็จจากบ้านบ่อสุพรรณ ระยะทาง ๑๓๕ เส้น  ถึงที่ประทับร้อนบ้านตะพังกรุแขวงอำเภอบ้านทวนเมืองกาญจนบุรี  ที่นี้เป็นบ้านเก่า  ทำเลไร่นาหญ้าน้ำบริบูรณ์  มีวัดโบราณหลายวัด  และมีรอยเชิงเทินค่ายใหญ่อยู่ในที่ตำบลตะพังกรุนี้  ซึ่งควรเชื่อได้ว่า ตำบลตะพังกรุแห่งนี้เองเป็นที่พระมหาอุปราชาได้เข้ามาตั้งชุมนุมพลตามที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดาร  เมื่อเสด็จถึงที่ประทับร้อนตำบลตะพังกรุ  นายหมู่ใหญ่  หม่อมเจ้าสฤษดิเดชผู้บังคับการเสือป่ามณฑลราชบุรี  นำสมาชิกเสือป่ากองร้อย ๑ มาคอยรับเสด็จอยู่ณที่นั้น  และตามเสด็จต่อไปจนสิ้นเขตต์แดนมณฑลราชบุรี  เวลาบ่ายเสด็จพระราชดำเนิรจากบ้านตะพังกรุต่อไปอีก ๒๔๖ เส้น  รวมระยะทางสถลมารค ๓๘๑ เส้น  ถึงที่ประทับแรมบ้านดอนมะขามในแขวงเมืองกาญจนบุรี   ระยะทางแต่ตะพังกรุมาจนถึงบ้านดอนมะขาม   เจ้าพนักงานหัวเมืองตัดทางเสด็จพระราชดำเนิรคราวนี้  เพื่อจะให้ใกล้ได้ลัดหลีกตำบลซึ่งได้ความว่ายังมีรอยค่ายครั้งกองทัพพระมหาอุปราชาเสียแห่ง ๑

ณวันเสาร์ที่ ๒๔ มกราคม  เสด็จจากดอนมะขาม ระยะทาง ๔๐๕ เส้น  ถึงที่ประทับร้อนตำบลบ้านจะเข้สามพัน  ซึ่งเป็นตำบลเคยเป็นที่รบพุ่งครั้งศึกหงสาวดี  ปรากฏชื่อมาในพระราชพงศาวดารและยังเป็นตำบลบ้านใหญ่  เป็นที่ตั้งอำเภอแห่ง ๑ ในเขตต์เมืองสุพรรณบุรีในทุกวันนี้  เวลาบ่ายเสด็จพระราชดำเนิรจากบ้านจะเข้สามพันอีก ๑๔๗ เส้น  รวมระยะทาง ๕๕๒ เส้น  ถึงที่ประทับแรมเมืองอู่ทอง  เป็นเมืองโบราณซึ่งน่าเชื่อว่า  ได้ตั้งมาตั้งแต่ครั้งเมืองที่พระปฐมเจดีย์  ยังมีรอยคูเชิงเทินและประตูเมือง  ข้างในเมืองตามที่ดินเป็นเนินสูงก็มีรอยอิฐและกระเบื้อง  ซึ่งเห็นได้ว่าเคยเป็นวัดหรือเป็นเทวสถานของเก่าหลายแห่ง  ในการแผ้วถางและปลูกที่ประทับรับเสด็จคราวนี้  ขุดพบของโบราณที่ในเมืองอู่ทองไว้ทูลเกล้าฯ ถวายหลายอย่าง  เป็นต้นว่า  แหวนตราสำหรับทำพิธีและเครื่องศิลาอีกหลายอย่าง  เมืองอู่ทองนี้ ตรงกับที่เรียกว่า เมืองสุพรรณภูมิในศิลาจารึกของพระเจ้าขุนรามคำแหงครั้งนครสุโขทัยเป็นราชธานี  และน่าเชื่อว่าเมืองอู่ทองนี้เองจะเป็นเมืองเดิมของพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งไปสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ด้วยยังมีวัดและพระเจดีย์ ซึ่งแบบอย่างและฝีมือเข้ากับของครั้งกรุงศรีอยุธยาในชั้นแรก  ปรากฏอยู่หลายอย่าง

ณวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พักกระบวนเสด็จอยู่ที่เมืองอู่ทองวัน ๑  ทรงบวงสรวงอดีตมหาราชณที่นั้น  ครั้นเวลาบ่ายโปรดให้มีการสรรพกีฬาในหมู่สมาชิกเสือป่าให้เป็นการรื่นเริง  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชะนะตามสมควร  อนึ่งในวันนี้ นายกองตรี  พระยาโบราณราชธานินทร์  ราชองครักษ์  ผู้บังคับการเสือป่ามณฑลกรุงเก่า  ได้นำสมาชิกเสือป่ามณฑลกรุงเก่า กองร้อย ๑   เดิรยกจากเมืองอ่างทองมาคอยรับเสด็จอยู่ที่เมืองอู่ทอง  เพื่อจะเข้ากระบวนโดยเสด็จไปนมัสการพระเจดีย์  ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชะนะยุทธหัตถีด้วย

ณวันจันทร์ที่ ๒๖ มกราคม  เสด็จพระราชดำเนิรจากเมืองอู่ทองระยะทาง ๓๓๓ เส้น ถึงที่ประทับร้อนที่ท่าข้าม  เวลาบ่ายเสด็จพระราชดำเนิรต่อไปอีก ๑๖๓ เส้น  รวมระยะทาง ๔๙๖ เส้น  ถึงที่ประทับแรมบ้านโข้ง  ซึ่งมีรอยเชิงเทินเป็นค่ายใหญ่อีกแห่ง ๑

ณวันอังคารที่ ๒๗ มกราคม เสด็จพระราชดำเนิรจากบ้านโข้ง  ระยะทาง ๓๐๐ เส้น  ถึงที่ประทับร้อนดอนระฆัง  ที่นี้มีรอยเชิงเทินเป็นค่ายใหญ่อีกแห่ง ๑  เวลาบ่ายเสด็จพระราชดำเนิรจากดอนระฆัง ๑๙๐ เส้น  รวมระยะทาง ๔๙๐ เส้น  ถึงที่ประทับแรมดอนพระเจดีย์  คือที่พระเจดีย์ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงสร้างไว้นั้น

เมื่อเสด็จถึง ทรงสักการบูชาพระเจดีย์แล้ว  พระยาสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีนำสิ่งของโบราณต่าง ๆ ทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของซึ่งพบที่ดอนพระเจดีย์เมื่อฉายดิน  และแผ้วถางเตรียมรับเสด็จคราวนี้คือ ยอดธงชัยเป็นรูปวชิระ  ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ยอด ๑  ได้ในที่ห่างองค์พระเจดีย์ประมาณ ๒ เส้น  มีรอยถูกกระสุนปืน  น่าเข้าใจว่า จะเป็นยอดธงชัยนำพระคชาธารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะถูกกระสุนปืนข้าศึกในคราวชนช้างนั้นปลิวไป จึงจมดินอยู่จนมาพบเข้าในคราวนี้  เป็นของอันประกอบด้วยสิริมงคลและพ้องด้วยพระบรมนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่มาได้ประจวบเวลาเสด็จไปนมัสการถึงพระเจดีย์คราวนี้  เป็นเหตุที่น่าพิศวง  คิดไปเหมือนกับเป็นของซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งพระราชหฤทัยประทานไว้สำหรับพระองค์  ให้เป็นสวัสดิมงคลสนองพระราชอุตสาหะซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปในครั้งนี้  นอกจากวชิระยอดธงชัย  มีของที่ได้ที่ดอนพระเจดีย์อีก ๒ สิ่ง คือปืนใหญ่กระบอก ๑  เขื่องกว่าปืนหามแล่นหน่อย ๑  และลูกตุ้มสัมฤทธิ์มีรอยอักษรรามัญเหมือนกับเลขสาม  เห็นจะเป็นลูกตุ้มสำหรับชั่งของเช่นชั่งดินปืนเป็นต้น  นอกจากสิ่งของที่ได้ที่ดอนพระเจดีย์พระยาสุนทรสงครามได้นำพระเครื่องซึ่งพึ่งพบในกรุที่พระมหาธาตุเมืองสุพรรณบุรี  เมื่อจวนจะเสด็จคราวนี้ เป็นพระพุทธรูปศิลาหล่อพิมพ์ด้วยโลหธาตุอย่าง ๑  พระพุทธรูปมารวิชัยพิมพ์ด้วยดินเผาอย่าง ๑  อย่างละหลายร้อยพระองค์  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกแก่เสือป่า  ลูกเสือ  ทหาร  และตำรวจภูธร  บรรดาที่ได้โดยเสด็จในคราวนี้ทั่วกัน

ณวันพุธที่ ๒๘ มกราคม  โปรดให้มีการบวงสรวงสมโภชพระเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เวลา ๓ โมงเช้าเป่าแตรสัญญาเรียกเสือป่า  ลูกเสือ  ทหาร  และตำรวจภูธร  บรรดาที่ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิรไปถึงดอนพระเจดีย์  ตั้งแถวพร้อมกันโดยอันดับบ่ายหน้าสู่พระเจดีย์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบังคับด้วยพระองค์เอง  ทรงจัดธูปเทียนเครื่องนมัสการและเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเสร็จ  แล้วพระราชทานเครื่องสักการะให้พลทั้งปวงจุดธูปเทียนบูชาที่พระเจดีย์ทั่วกัน  และกลับมายืนแถวตามเดิมพร้อมกันแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้นายกองเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ  จเรเสือป่า ทรงอ่านประกาศดุษฎีสังเวยดังนี้

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 ตุลาคม 2556 16:05:00 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 19 ตุลาคม 2555 13:02:07 »

คำประกาศดุษฎีสังเวย

สรวมชีพข้ายุคลบาท รับพระราชโองการ มานพระบัณฑูร สุรสิงหนาท ในพระบาทสยามธรเณนทร์  สมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทั่วไทยประชาชนชาติ  ขอประกาศแก่เทพเจ้าบรรดาเนานภาลัย  และพระไพรภูมารักษ์  เทพยพิทักษ์เจดีย์สถาน สิงสำราญอรัญญประเทศ  ด้วยนฤเบศร์ทรงสดับ  ตำรับราชพงศาวดาร  ครั้งมอญม่านก่อเข็ญ เป็นปรปักษ์ประทุษประเทศ  ทั่วสยามเกษตรแปรปรวน  สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า  เป็นต้นเค้าคิดสู้  กู้อิสสรภาพชาวสยาม  ทำสงครามหลายคาบ  ปราบข้าศึกหงสาวดี  ซึ่งมาตีพระนคร  ให้พ่ายถอนถอยทัพ  กลับไปเป็นหลายครั้ง  ตั้งแต่แผ่นดินพระชนกนาถ  พระบาทธรรมราชา  ครั้นพระบิดาสวรรคต  กำหนดในพงศาวดาร  เมื่อปีขาลโทศก  ตกจุลศักราชเก้าร้อย  สร้อยห้าสิบสองโดยประมวญ  สมเด็จพระนเรศวรยุพราช  เสด็จเถลิงอาสน์ผ่านรัฐ  พอข่าวผลัดแผ่นดินใหม่  ในกรุงศรีอยุธยา  ลุหงสาราชสถาน  พระยาม่านนันทบพิตร  คิดเอาเปรียบเชิงศึก  นึกจะจู่เอาชัย  จึงให้ราโชรส  นามปรากฏกยอชวา  ผู้มหาอุปราช  ยาตร์พยุหเสนางค์  มาโดยทางกาญจนบุรี  ในเดือนยี่ศกนั้น  ครั้นพระบาทปรเมศร์  องค์พระนเรศวร์เป็นเจ้า  ทรงทราบเค้าคดีศึก  ยกสะอึกมาชิงชัย  จึงเสด็จไปต่อสู้  รบศัตรูแตกพ่าย  จับได้นายเสนา  มีพญาพสิมเป็นต้น  ณตำบลจระเข้สามพัน  อุปราชนั้นหนีได้  ม่านเสียชัยครั้งนั้น  พลันเป็นเหตุร้อนเร่า  แก่พระเจ้าหงสา  เกรงบรรดาประเทศราช  จะเอื้อมอาตม์เอาอิสสระ  จึงมานะมุ่งหมาย  จะทำลายเมืองไทย  ให้เห็นเป็นตัวอย่าง  รอช่องว่างปีหนึ่ง  ถึงมะโรงจัตวาศก  ตกจุลศักราชเก้าร้อย  เศษสร้อยห้าสิบสี่  มีรับสั่งให้เกณฑ์ทัพ  ไทยใหญ่กับมอญพะม่า  ให้อุปราชาเป็นใหญ่  มาชิงชัยอีกครั้ง  กำลังพลมากมาย  หลายเท่ายิ่งกว่าไทย  เดิรพลไกรทางเก่า  เข้าทางกาญจนบุรี  มาตั้งที่ชุมนุมพล  ณตำบลตะพังกรุ  สุพรรณนครเขตต์สถาน  ฝ่ายภูบาลพระนเรศวร์  เมื่อทราบเหตุศึกใหญ่  ไพรีชาวหงสา  ยกเข้ามาครั้งนั้น  จึงจัดสรรทัพหลวง  ทั่วกระทรวงสรรพเสร็จ  เสด็จจากราชธานี  กับองค์ศรีอนุชา  พระเอกาทศรถ  ชุมนุมหมดหมู่พล  ณตำบลมะม่วงหวาน  เบิกโขลนทวารเดิรทัพ  ไปรบรับปัจจามิตร  เมื่อวันอาทิตย์เดือนยี่  ขึ้นดิถีเก้าค่ำ  ดำเนิรพลไปสุพรรณ  ตั้งทัพขันธ์ณค่าย  หนองสาหร่ายที่มั่น  ครั้นวันจันทร์แรมสองค่ำ  ได้ทรงทำยุทธหัตถี  มีชัยฆ่าอุปราช  ขาดคอช้างด้วยพระหัตถ์  กำจัดศัตรูพ่ายแพ้ แก่พระเดชาภินิหาร  เป็นอวสานแต่นั้น  ข้าศึกขยั้นหยุดตี  มีแต่ไทยไปรอญ  จนเมืองมอญเป็นข้า  ตลอดมหายุทธสมัย  ครั้งนั้นไซร้ปรากฏ  ในเบื้องบทพงศาวดาร  ว่าภูบาลพระนเรศวร์  ปรารภเหตุมหาชัย  ให้สถาปนาพระเจดีย์  ไว้ณที่ชัยสถาน  มาจนกาลบัดนี้  จำนวนปีนานนับ  สามร้อยกับยี่สิบเอ็ดสรูป  พระสถูปพึ่งปรากฏ  แน่กำหนดต้องหลักฐาน  ข่าวสาส์นทราบเบื้องบาท  บรมนาถพระเป็นเจ้า  มงกุฎเกล้าประชาไทย  ภูวไนยทรงโสมนัส  ตรัสให้เตรียมยาตรา  พร้อมพระวงศาข้าทูลพระบาท  โดยเสด็จยาตร์พาหน  เป็นกระบวนพลเสือป่า  อุตส่าห์เสด็จโดยทุรสถาน  มานมัสการพระเจดีย์  ด้วยมีพระราชประสงค์  จะทรงพระราชูทิศ  กุศลกิจทั้งหลาย  ถวายสมเด็จพระนเรศวร์  วิชิตเชฎฐุ์วีรราชา  และพระเอกาทศรถ  เฉลิมพระเกียรติยศสองสุรราช  และประศาสน์ส่วนพระกุศล  แก่เหล่าพหลทหารไทย  บรรดาได้ต่อสู้  หมู่มอญม่านครั้งนั้น  ป้องกันสยามอาณาจักร  หักกำลังเหล่าศัตรู  เอาชีพสู้เอาชัย  ดังได้กล่าวแต่หลัง  ขอกษัตริย์ทั้งสองพระองค์  จงทราบด้วยทิพยโสต  ทรงปราโมทย์อนุโมทนา  ในพระราชจริยาผ่านเผ้า  พระมงกุฎเกล้าซึ่งทรงอุตส่าห์  เสด็จมาในครั้งนี้  ส่วนเสนีพลทหาร  ซึ่งพระราชทานพระกุศล  จงรับผลทั่วหน้า  สมกับที่แกว่นกล้า  ต่อสู้เศิกกษัย ฯ

อนึ่งไซร้ขออำนาจ  แห่งพระราชศรัทธา  ในพระอรหาทิคุณ  พุทธอุตมธรรมและมหาสงฆ์  คือองค์พระรัตนตรัย  ทั้งที่ได้ทรงพลี  ทวยเทพที่พระสถูปสถาน  จงบันดาลอวยสวัสดิ์  สิริพิพัฒน์มงคล  แก่ประชาชนชาวสยาม  ให้มีความจำเริญยิ่ง  ขจัดสิ่งสรรพอุบัทว์สารพัตรพิพิธ  ภัยเศิกกษัยศูนย์ขาด  สยามราษฎร์เป็นสุขสำราญ  หากจะมีการชิงชัย  จงพหลไทยทั้งผอง  คือกองทหารบกเรือ  และเสือป่าเป็นต้น  ทุกคนจงเหี้ยมหาญ  ในกิจการป้องกัน  ชาติขัณฑสีมา  รักษาอิสสรภาพสยาม  พยายามโดยน้ำใจ  เช่นทหารไทยครั้งพระนเรศวร  ปราบหมู่มวลดัสกร  จนสยอนชื่อชาวไทย  ทั่วไปทุกประเทศ  อนึ่งขอเดชไตรรัตนคุณ  และอดุลเทวอำนาจ  ให้พระบาทพระมงกุฎเกล้า  เป็นเจ้าพระนิกรไทย  จงเจริญชัยเดชานุภาพ  ปราบศัตรูขามเข็ด  ดุจสมเด็จพระนเรศวร์  ทุกประเทศจงเกรงพระฤทธิ์  และทรงสถิตสถาพร  ในบวรเศวตฉัตร  สืบสิริรัชธำรง  ทรงสำราญราชกรณียานุวัติ  อนึ่งสยามรัฐราชอาณาจักร  จงเรืองศักดิ์สิริวิไล  ทรงวิสัยอิสสรภาพ  ตราบสิ้นดินและฟ้า  ประสิทธิ์ประสงค์เจ้าหล้า  ทุกข้ออธิษฐาน  โสตถิ์เทอญ ฯ

เมื่ออ่านประกาศจบแล้ว  พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว  มีรับสั่งบังคับพลทั้งปวง  ให้กระทำวันทยาวุธและวันทยหัตถ์  ขณะนั้นชาวประโคมก็ประโคมแตรเดี่ยว  แตรวง  และพิณพาทย์ ขึ้นพร้อมกัน  เมื่อสุดเสียงประโคมและมีรับสั่งบังคับพลให้ยืนเรียบประจำที่แล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นประทับบนเกย  ท่ามกลางหมู่พลทั้งหลาย  มีรับสั่งพระราชทานพระบรมราโชวาทดังนี้


ทหารและเสือป่า  ตามที่เราทั้งหลายที่ได้มาพร้อมกันถึงสถานที่สำคัญที่นี้ คือเป็นที่สมเด็จพระนเรศวร  พระเจ้าแผ่นดินไทย ได้กระทำสงครามมีชัยแก่ศัตรู  พะม่า  มอญได้พ่ายแพ้แด่พระบารมี  เราทั้งหลายควรจะมีความโสมนัสยินดีทั่วกัน  และเราทั้งหลายควรจะคำนึงถึงเหตุและกิจการที่ทำให้เราได้ชัยชะนะแก่ข้าศึก ๆ มีทหารและกำลังยิ่งกว่าเราเป็นอันมาก  ฝ่ายเขามากกว่าฝ่ายเราตั้งสามสี่เท่า  เพราะเหตุใดเล่าเราจึงได้สามารถเอาชัยชะนะได้  เราจะขอเล่าเรื่องอัน ๑  ซึ่งเขาเล่ากันมาพอเป็นอุทาหรณ์

ในกาลครั้ง ๑  เจ้าผู้ปกครองนครอัฟฆานิสถานมีความประสงค์จะทำสงครามกับอังกฤษ  ได้ส่งขุนนางไปสืบที่เมืองอังกฤษถึงวิธีเกณฑ์และจัดการเรื่องทหารอย่างไร  ก็ได้ทราบข่าวจากผู้ที่ไปสืบนั้นว่า เขาเก็บคนเป็นทหารจากเมืองลอนดอนบ้าง  ตามหัวเมืองต่าง ๆ บ้าง  แต่ล้วนเก็บเอาแต่คนที่เลวไม่มีประโยชน์ไม่เป็นแก่นสารอะไรทั้งสิ้น  เจ้าแขกผู้นั้นจึงได้ส่งขุนนางอีกคน ๑ ไปดูที่อินเดีย  ขุนนางรายงานว่าที่อินเดียไม่นิยมอังกฤษเลย  เจ้าแขกนั้นเมื่อได้ทราบความเช่นนี้แล้วจึงสั่งการเตรียมที่จะไปรบอังกฤษ  แต่ข้าหลวงต่างพระองค์ในประเทศอินเดียได้ทราบข่าวนี้เข้า จึงสั่งให้เตรียมจัดการสวนสนาม แล้วก็เชิญเจ้าแขกผู้นั้นมาดูด้วย  เจ้าแขกมามีทหารมาด้วยแปดพัน   ในระวางที่อยู่ดูงาน ๗ วันนั้น เจ้าแขกมิได้มีเวลาพักผ่อนหลับนอนเลย เพราะต้องมัวกังวลคอยดูทหารแปดพันของตนอยู่เสมอว่า จะซื่อตรงและอยู่ในบังคับบัญชาหรือไม่  แต่ฝ่ายทหารอังกฤษนั้นถึงเวลาที่เขาเป่าแตรนอน  ทหารก็นอนเงียบเรียบร้อยพร้อมกัน  ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ทำพร้อมกัน  เมื่อถึงเวลาสวนสนาม เขาก็เดิรพร้อมกัน  หน้าตาและกิริยาท่าทางก็ร่าเริงองอาจเป็นสง่าทั่วกันไปทั้งหมด  เจ้าแขกผู้นั้นรู้สึกพิศวง  จึงได้ถามท่านข้าหลวงนั้นว่า นี่ท่านทำกันอย่างไรจึงได้เรียบร้อยดีฉะนี้  ทหารของข้าพเจ้า ๆ ได้เลือกด้วยตนเองและรู้จักทุกคน  ทำไมจึงไม่เป็นเช่นของท่านได้บ้าง  ส่วนทหารของท่านนั้นเกณฑ์กันมาตั้งแสนไม่ได้รู้จักกันเลย  ทั้งคนที่เกณฑ์หรือก็มิได้เลือกสรรอันใด  แต่ท่าทางองอาจและพร้อมเพรียงกัน  ทั้งนี้ด้วยเหตุใด  ท่านข้าหลวงจึงกล่าวว่าก่อนจะตอบท่าน  ข้าพเจ้าต้องขอถามปัญหาข้อ ๑ ว่า  การที่ท่านเป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองนั้น ท่านมุ่งประโยชน์อะไร  เจ้าผู้นั้นจึงตอบว่า ที่ปกครองนั้นก็เพื่อประโยชน์แก่บ้านเมืองและเพื่อเป็นเกียรติยศเกียรติคุณส่วนตัวข้าพเจ้าเองด้วย  ท่านข้าหลวงจึงตอบว่า ดีแล้ว  แต่ทหารเล่า   เขาเป็นทหารเพื่อประโยชน์อะไร  เจ้าก็ตอบว่า  เขามาเป็นทหารก็เพราะหวังว่า ถ้ารบชะนะเขาจะได้รับบำเหน็จ  อีกประการหนึ่งถ้าจับชะเลยได้เขาก็จะได้เอาไปใช้เป็นทาสของเขา หรือสิ่งของอันมีค่าใด ๆ เขาชิงได้ในเวลารบ  เขาก็จะได้เอาไปใช้เป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัวเขา  ข้าหลวงต่างพระองค์จึงว่า นั้นและเป็นคำตอบปัญหาของเจ้าเอง  ทหารอังกฤษแต่แรกนั้นก็คิดแต่ฉะเพาะถึงประโยชน์ส่วนตัวเหมือนกัน  แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นทหารได้รับคำสั่งสอนเข้าแล้ว  ทหารทุกคนจึงได้นึกถึงเกียรติยศของกองร้อย ๆ นึกถึงเกียรติยศของกองพัน ๆ นึกถึงเกียรติยศของกองพล ๆ นึกถึงเกียรติยศของกองทัพ ๆ นึกถึงเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินเป็นที่สุดดังนี้  เพราะฉะนั้นจะคิดสิ่งใดก็เหมือนกับคน ๆ เดียวคิดจะทำสิ่งใดก็อาจสำเร็จตลอดไปได้  โดยมุ่งใจเป็นอย่างเดียวกันที่จะรักษาพระบรมเดชานุภาพแห่งพระเจ้าแผ่นดินของตน

เจ้าแขกผู้นั้น จึงคำนับแล้วกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่มีใครในโลกนี้จะสู้ได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อังกฤษเขาเล่า  แต่ก็มีคติจะชี้ได้อยู่บ้าง  ไทยเราที่มีชัยชะนะแก่พะม่าครั้งนั้น  ก็เพราะเหตุอย่างเดียวกันนี้เอง  พะม่ายกมาเป็นก่ายเป็นกอง  ทำไมเราน้อยกว่าจึงชะนะได้  ข้อนี้ก็ปรากฏไม่ฉะเพาะในพงศาวดารเราเองเท่านั้น  ถึงพงษาวดารของพะม่าเองก็กล่าวเหมือนกัน  คือเมื่อพระเจ้าหงสาวดีรับสั่งเรียกประชุมเจ้านายและนายทัพนายกองพะม่ารามัญทั้งปวง  แล้วถามว่าทำไมพวกเราจึงได้รบไทยเอาชัยชะนะไม่ได้  ต้องล่าถอยปราชัยอยู่เสมอ  นายทัพนายกองจึงได้ทูลตอบว่า  ทหารไทยรบด้วยยาก  เพราะกลัวพระนเรศวรยิ่งกว่าความตาย  ข้อนี้ต้องตรองให้ดี  ชอบกลอยู่  สมเด็จพระนเรศวรก็ดีหรือพระเจ้าหงสาวดีเองก็ดี  จะสามารถลงอาชญาใดที่แรงไปกว่าอาชญาตายก็ไม่มี  อาชญาตายย่อมเป็นอาชญาแรงที่สุดอยู่แล้ว  ถ้าเช่นนั้นทำไมฝ่ายพะม่าจึงไม่บังคับฉะนั้นบ้างเล่า  ข้อนี้พะม่าพูดแก้ตัวเปล่า ๆ ที่พวกไทยชิงชัยชะนะได้ก็เพราะพวกไทยรักสมเด็จพระนเรศวร  เพราะเห็นแล้วว่าพระนเรศวรตั้งพระทัยที่จะป้องกันมิให้คนชาติอื่นมาย่ำยีเราได้  เพราะเหตุฉะนั้นพวกไทยจึงไม่สะดุ้งกลัวความตาย  สู้บากบั่นหาญเข้าสู้ข้าศึกโดยหวังจะมีชีวิตอยู่  เพราะถ้าไม่สะอึกเข้าสู้ตายแล้ว  ความตายจะเดิรมาหา  จะต้องเป็นขี้ข้าเขาทั้งชาติ

จำเดิมแต่สมเด็จพระนเรศวรได้กระทำยุทธหัตถีมีชัยชะนะที่ตำบลนี้  ชาติได้กลับเป็นไทยแล้ว  พะม่ามอญก็มีความยำเกรง  ต่อนี้มาไทยก็มีอิสสรภาพเต็มบริบูรณ์  ได้รับความสุขมากเกินกว่าที่ควร  ไม่เหมือนคนไทยครั้งสมเด็จพระนเรศวร  ถ้าพวกเราพร้อมกัน  พยามยามทำใจเราให้เหมือนคนไทยครั้งสมเด็จพระนเรศวรที่จับอาวุธรบพะม่า  แล้วพวกเราทั้งหมดซึ่งได้มาประชุมอยู่ในที่นี้  แม้จะเป็นแต่ส่วนน้อยมาตกลงชวนกันพูดให้เหมือน ๆ กันทั้งหมดฉะนี้แล้ว  เสียงนั้นก็จะได้กระทบหูคนอื่น ๆ ต่อ ๆ ไป  ในไม่ช้าก็จะแพร่หลายทั่วทั้งกรุงสยาม  เวลาใดที่ชนชาวสยามพากันพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดดังนี้  เวลานั้นและเราจะถึงสมัยไม่มีเวลาจะเสื่อมทรามลงได้  ตัวเราเองประดุจดังก้อนดินก้อนหนึ่งในภูเขา  เราจะรักษาก้อนดินนั้นแล้วและปล่อยให้ภูเขาทะลายนั้นจะเป็นประโยชน์อันใด  เราจะต้องตั้งใจรักษาภูเขา  ก้อนดินนั้นจะอยู่ได้  เมื่อพวกเราทำใจให้สำเร็จได้ฉะนี้แล้ว  เมื่อนั้นและเราจะได้เหมือนชนกของเราครั้งสมเด็จพระนเรศวร

ขอเจ้าทั้งหลายจงจำคำของเราไว้ให้มั่น  และบัดนี้ขอให้แสดงความปีติยินดีโดยร้องเพลง  เพื่อความสง่าแก่คณะของเราและเพื่อความเคารพแด่สมเด็จพระนเรศวร  สมเด็จพระเอกาทศรถและพระสถูปนี้ ฯ

เมื่อจบพระบรมราโชวาท  พลทั้งหลายพร้อมกันร้องเพลงต่าง ๆ สำหรับเสือป่าถวายจนจบแล้ว  กระทำวันทยาวุธวันทยะหัตถ์อีกครั้ง ๑  แล้วเดิรแถวผ่านหน้าเกยที่ประทับ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประน้ำพระพุทธมนตร์  พระราชทานสวัสดิมงคลแก่พลทั้งหลายทั่วทุกหมู่ทุกกรม  เป็นเสร็จการพระราชพิธีบวงสรวงในตอนเช้า

เวลาบ่าย ๔ โมง  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้มีการสรรพกีฬาสมโภชพระเจดีย์  พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชะนะตามสมควร  ครั้นเวลาค่ำ  โปรดเกล้า ฯ  ให้มีการเลี้ยงนายเสือป่าผู้กำกับลูกเสือ  และนายทหาร  นายตำรวจภูธร  ที่ลานหน้าพลับพลา  เมื่อจวนเสร็จการเลี้ยง  นายกองเอง  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระดำรงราชานุภาพ  จเรเสือป่า  ถวายชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  แทนเสือป่า  ลูกเสือ  ทั้งทหารและตำรวจภูธร  บรรดาที่ได้โดยเสด็จ  ผู้ที่ได้นั่งโต๊ะรับพระราชทานอาหารเปล่งอุทาน  ถวายชัยมงคลพร้อมกันแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบพระราชทานพร  ครั้นเสร็จการเลี้ยงจึงเริ่มการมหรสพสมโภชพระเจดีย์  มีดอกไม้เพลิงพุ่มสีและพลุ  ซึ่งอธิการวัดเสาธงทองเมืองสุพรรณบุรีสององค์พี่น้อง  เป็นผู้ที่ได้เคยเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาแต่ก่อน  จัดไปถวายช่วยในการพระราชกุศล  ส่วนการมหรสพนั้นมีการเล่นต่าง ๆ ล้วนแต่ในพวกเสือป่า  ลูกเสือ  และทหาร  เล่นตามแต่ที่จะจัดได้กรมละชุด  เล่นต่อกันจนเวลาจวน ๒ ยาม  สิ้นการมหรสพ  เป็นเสร็จการสมโภชพระเจดีย์

ณวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ มกราคม  ยาตรากระบวนเสด็จกลับจากดอนพระเจดีย์ตามหนทางที่เสด็จไป  ระยะทาง ๔๐๐ เส้น  ถึงที่ประทับร้อนตำบลหนองกุฏิ  เวลาบ่ายเสด็จต่อมาอีก ๑๙๕ เส้น  รวมระยะทาง ๔๙๕ เส้น ถึงพลับพลาประทับแรมบ้านโข้ง

ณวันศุกรที่ ๓๐ มกราคม  เสด็จจากบ้านโข้งกลับตามหนทางที่เสด็จไป  ระยะทาง ๒๗๐ เส้น  ถึงที่ประทับร้อนตำบลห้วยด้วน  เวลาบ่ายเสด็จต่อมา  ระยะทางอีก ๒๒๖ เส้น  ถึงพลับพลาเมืองอู่ทองประทับเสวยพระกระยาหารเวลาเย็น  และเลี้ยงเพลที่โดยเสด็จ  เสร็จแล้วยาตรากระบวนต่อมาอีก ๑๔๗ เส้น  รวมระยะทาง ๖๔๓ เส้น  ถึงที่ประทับแรมบ้านจระเข้สามพัน  ซึ่งเป็นพลับพลาประทับร้อนเมื่อขาเสด็จไป

ณวันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม  เสด็จจากบ้านจระเข้สามพันตามทางขาเสด็จไป  ระยะทาง ๓๓๘ เส้น  ถึงที่ประทับร้อนบ้านลาดบัวขาวเวลาบ่ายเสด็จยาตรากระบวนแยกจากทางที่เสด็จเมื่อขาไป  ระยะทาง ๑๐๔ เส้น  รวมระยะทาง ๔๔๒ เส้น  ถึงที่ประทับแรมบ้านวังไซ  แขวงเมืองกาญจนบุรี

ณวันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์  เสด็จจากบ้านวังไซ  ระยะทาง ๑๖๒ เส้น  ถึงที่ประทับร้อนดอนตาเพ็ด  ระยะทางจากที่ประทับร้อนเพียง ๘๒ เส้น  รวม ๓๔๔ เส้น  ถึงที่ประทับแรมที่บ้านทวน  ทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นทางใกล้  จึงโปรดให้ยาตรากระบวนเสด็จไปถึงบ้านทวนแต่ในตอนเช้า  ที่บ้านทวนนี้เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอของเมืองกาญจนบุรีแห่ง ๑  และมีรอยค่ายใหญ่ครั้งศึกหงสาวดีอยู่ค่าย ๑

ณวันจันทร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์  เสด็จจากบ้านทวน  ระยะทาง ๓๐๕ เส้น  ถึงที่ประทับร้อนบ้านหนองขาว  ซึ่งยังมีรอยค่ายใหญ่อยู่อีกแห่ง ๑  เวลาบ่ายยาตรากระบวนเสด็จจากบ้านหนองขาวต่อมาอีก ๓๑๓ เส้น  รวมระยะทาง ๖๑๘ เส้น  ถึงเมืองกาญจนบุรี  ตั้งที่ประทับแรมที่แนวค่ายเก่าตำบลลิ้นช้างฝั่งใต้  ตรงเมืองกาญจนบุรีข้าม

ทางสถลมารคที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จคราวนี้ ยกไว้แต่ตอนตั้งแต่หนองขาวมาเมืองกาญจนบุรี  เป็นท้องที่ซึ่งราษฎรที่มีตัวอยู่ในเวลานี้  และบางทีจะหลายชั่วคนมาแล้ว  ยังไม่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตนเสด็จเลย  เพราะฉะนั้นแลเห็นได้ตลอดทางว่า  ราษฎรพากันปีติยินดีที่จะได้รับเสด็จและได้เฝ้า ฯ ทั่วหน้า  ที่อุตส่าห์เดิรมารับเสด็จแต่บ้านไกล ๆ ก็มาก  พวกที่บ้านอยู่ใกล้ทางเสด็จ  บ้างตั้งน้ำ   บ้างหาอาหารมีเข้าหลามเป็นต้น  มาคอยเลี้ยงคนตามเสด็จทุกระยะบ้าน  ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับณที่ใด  ราษฎรก็พากันเข้ามาขอเฝ้ากราบถวายบังคม  บางคนก็จัดสะเบียงอาหารของป่ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย  บางคนก็มากราบบังคมทูลขอพระราชทานน้ำพระพุทธมนตร์  เพื่อเอาไปเป็นสวัสดิมงคล   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระเมตตาแก่ราษฎรผู้ใดที่นำของมาถวายก็พระราชทานพระราชทรัพย์ตอบแทน  ส่วนที่กราบทูลขอน้ำพระพุทธมนตร์นั้น  ก็ทรงสรงน้ำพระชัยนวโลหะพระราชทานไปตามปรารถนา  ดูราษฎรพากันปีติยินดีมากตลอดทาง

ส่วนราษฎรพวกบ้านหนองขาวแขวงเมืองกาญจนบุรีนั้น  ถือว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยเสด็จถึงบ้านหนองขาว ๒ ครั้ง  แต่ครั้งหลังก็นับได้ถึง ๒๖ ปีเข้าบัดนี้  เมื่อทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านบ้านหนองขาวคราวนี้  พวกชาวบ้านทุ่งสมอหนองขาวนัดแนะพร้อมใจกันจะเลี้ยงคนตามเสด็จ  และรับเสด็จโดยลำพังตน  เมื่อเสด็จไปถึงพลับพลาประทับร้อนซึ่งตั้งณวัดบ้านหนองขาวมีพระสงฆ์และราษฎรทั้งชายหญิงหลายพันคน  จัดเข้าหลามและสำรับมาตั้งอยู่เต็มบริเวณวัด   พอเสด็จมาถึง  กำนันผู้ใหญ่บ้านที่เป็นหัวหน้าก็เข้าไปกราบบังคมทูล  ขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเลี้ยงบรรดาผู้ที่ตามเสด็จให้ทั่วกัน  เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว  ราษฎรชายหญิงก็พากันเชื้อเชิญพวกที่ตามเสด็จไปบริโภคอาหารที่จัดมา  ราษฎรผู้เจ้าของสำรับช่วยกันปฏิบัติเหมือนอย่างปฏิบัติพระ  เต็มตลอดไปในลานวัด  ครั้นเสร็จการเลี้ยงคนตามเสด็จแล้ว  พวกชาวบ้านหนองขาวที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่พากันเข้าไปกราบบังคมทูลว่า  ชาวบ้านหนองขาวได้เคยเวียนเทียนสมโภชพระบรมรูปมาแต่ก่อนหลายครั้งแล้ว  บัดนี้พระองค์เสด็จมาให้ราษฎรชาวบ้านได้เฝ้าและได้เห็นพระองค์ทั่วกัน  ขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเวียนเทียนสมโภชพระองค์ให้สมกับที่ปีติยินดีสักครั้ง ๑  เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว  พวกราษฎรจึงตั้งบายศรีและแว่นเวียนเทียนซึ่งได้ตระเตรียมไว้  พร้อมทั้งพิณพาทย์เครื่องประโคม  เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช  พระสงฆ์สวดชยันโตและพิณพาทย์ประโคมขึ้นพร้อมกัน  ราษฎรต่างคนต่างอยากจะได้ถือแว่นเวียนเทียน  เวียนกันอยู่ช้านานนับด้วยชั่วโมงจึงได้ครบ ๓ รอบ  บรรดาผู้ที่ได้ตามเสด็จเมื่อได้แลเห็นความจงรักภักดีของพวกราษฎรซึ่งมีต่อพระเจ้าอยู่หัวของตน  ก็พากันบังเกิดความปีติและร้องออกปากชมราษฎรด้วยกันทั่วหน้า

ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์นั้น  เวลาค่ำ  ทหารบกมณฑลราชบุรีมีนายพลตรี  พระยาพิไชยชาญฤทธิ์  ราชองค์รักษ์  ผู้บัญชาการกองพลเป็นประธาน  กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเสวยที่โรงทหาร  และเชิญนายเสือป่า  ผู้กำกับลูกเสือ  นายทหารกรมอื่นและนายตำรวจภูธร  ไปเลี้ยงพร้อมกันด้วย  เมื่อเลี้ยงเสร็จแล้วมีฉลากแจก  และมีละครเกรี่ยงของพระศรีสุวรรณคีรี  นายอำเภอสังขละบุรี  ซึ่งได้ลงมาคอยรับเสด็จพร้อมด้วยครอบครัว  และพาละครนี้มาด้วย  ละครเกรี่ยงเล่นถวายตัวจนเวลา ๕ ทุ่มเศษ  เสด็จกลับคืนยังที่ประทับแรม

ณวันอังคารที่ ๓  กุมภาพันธ์  เวลาเช้า  เสด็จทรงเรือพระที่นั่งมาดก้าวกึ่งยาม  พร้อมด้วยเรือรับพวกที่โดยเสด็จล่องตามลำแม่น้ำจากเมืองกาญจนบุรี  ถึงที่ประทับแรมบ้านโป่ง  แขวงเมืองราชบุรี  เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ  เป็นเสร็จการเสด็จทางสถลมารคไปดอนพระเจดีย์เพียงเท่านี้  ต่อนี้เสด็จกลับจากบ้านโป่ง  มาพระราชวังสนามจันทร์  เมืองนครปฐมในการซ้อมรบเสือป่า  เสด็จกลับมาถึงพระราชวังสนามจันทร์  เมื่อณวันอาทิตย์ ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖





« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 ตุลาคม 2555 13:18:19 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.564 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 20 ธันวาคม 2567 02:48:37