[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 17:47:42 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิธีฝึกอากาสกสิณ โดย ดังตฤณ  (อ่าน 6102 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7866


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 5.0.375.99 Chrome 5.0.375.99


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2553 14:07:35 »


http://learn.chanpradit.ac.th/m32550/3.3_g8/sky.jpg
วิธีฝึกอากาสกสิณ โดย ดังตฤณ



วิธีฝึกอากาสกสิณ

ในหลักฐานชั้นเดิมไม่แสดงว่าพระพุทธองค์ให้แนวฝึกอากาสกสิณเบื้องต้นไว้อย่างไร มีเพียงที่พระองค์ตรัสถึงระดับของผู้ที่ "เป็นแล้ว" คือให้กำหนดรู้ความเป็นช่องว่างไปในทิศต่างๆอย่างไม่มีประมาณ ซึ่งอันนี้หากขาดฐานอันดี เช่นความสามารถในการกำหนดและหน่วงรู้ช่องว่าง กับทั้งความสามารถในการแผ่จิตไม่มีประมาณเยี่ยงผู้เคยผ่านการฝึกแผ่เมตตาชนิดอัปปมัญญา ก็จะนับเป็นเรื่องยาก หรือเป็นไปไม่ได้เอาเลย

เพราะฉะนั้นในที่นี้จึงจำเป็นต้องหาอุบายร่วมสมัย โดยแน่ใจว่าจะไม่หลงไปจากทิศของการรู้ "อากาศ" ซึ่งกล่าวไว้แล้วเบื้องต้นว่านิยามของอากาสธาตุเป็นอย่างไร ควรกำหนดรู้ในลักษณะไหน หากมีอุบายที่นำไปสู่ความรู้ความเห็นแบบนั้น ก็จัดว่าใช้ได้ทั้งสิ้น

หากเอาตามที่นิยมใช้กันอยู่ในหมู่ผู้ฝึกกสิณ ก็คือให้เจาะแผ่นหนังเป็นช่องวงกลมขนาดหนึ่ง มองวงกลมนั้นแล้วจำไว้ อาจมีบริกรรมไปด้วยเช่น "ช่องว่างๆๆ" แต่ผลของการปฏิบัติแนวนี้สำหรับคนทั่วไปมักกลายเป็น "คิดท่อง" เอาว่าช่องว่าง มากกว่าจะเอาจิตไปจ่อรู้ความเป็นช่องว่างอย่างแท้จริง และแม้บางคนผ่านด่านของ "ความคิด" ไปได้ ก็จะเห็นว่ายากเมื่อพยายามล็อกการรับรู้ช่องว่างนั้นขณะหลับตาลง

ต่อไปนี้จึงเป็นอุบายเบื้องต้นจริงๆ ที่นอกจากจะทำให้จิตจ่อกับความเป็นช่องว่างได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังมีส่วนที่สัมพันธ์กับกายโดยตรง เพื่อว่าเมื่อทำอากาสกสิณสำเร็จ ก็จะได้นำมาใช้พิจารณา "ช่องว่างในกาย" อย่างสะดวก




1) สังเกตคลื่นความคิด
การทำกสิณเป็นเรื่องของการเอาจิตไปปักอยู่กับอารมณ์เดียวต่อเนื่อง ซึ่งอย่างนั้นถ้าสภาพจิตไม่เอื้ออำนวย ยังฟุ้งไปฟุ้งมาอยู่ ก็หมดสิทธิ์ทำได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เคยผ่านอานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ และปฏิกูลมนสิการบรรพมาแล้ว ย่อมมีความแข็งแรงของสติสัมปชัญญะในระดับหนึ่ง หรือแม้ผู้ไม่เคยผ่านการฝึกสติปัฏฐาน 4 ตามลำดับขั้นมาก่อน ก็ย่อมสังเกตตนเองได้ว่าบางที "คิดมากหนาแน่น" บางที "คิดน้อยบางเบา" คล้ายกับเมื่อสังเกตคลื่นทะเล บางครั้งก็เห็นโยนตัวขึ้นสูง บางครั้งก็ลากตัวลงต่ำ มันเป็นของมันอย่างนั้นโดยธรรมชาติ จะฝึกหรือไม่ฝึกสมาธิก็ตามแต่

ขอให้หัดสังเกตคลื่นความคิดสักพัก อาจจะในช่วง 5 นาทีที่ว่างๆอยู่ นั่งดูเรื่อยๆจนสามารถแยกแยะถูกด้วยตนเอง ว่าอย่างนี้คือ "ฟุ้งแน่น" และอย่างนั้นคือ "คิดบาง"

ความสามารถในการสังเกตและแยกแยะได้ถูกนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการทำกสิณให้เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ขอให้ทำไว้ในใจก่อนอื่นใดว่าไม่มีใครเก่งได้แต่เริ่มต้น แรกๆจิตจะกำหนดรู้ช่องว่างได้เพียงช่วงคลื่นความคิดสงบราบลงต่ำ ทำได้แค่ไหนเอาแค่นั้นก่อน จะได้ไม่ต้องวุ่นวายพยายามประคองรักษาให้นานเกินความสามารถที่แท้จริงในขณะนั้นของจิต
2) สร้างกรอบช่องว่างด้วยสองมือ

เมื่อสำรวจแล้วว่าคลื่นความคิดอยู่ในจังหวะที่เป็นขาลง กับทั้งผ่อนกายสบายใจ คอตั้งหลังตรงไม่เกร็งส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว ให้รีบฉวยโอกาสนั้น จังหวะนั้น นำปลายนิ้วชี้มาชนปลายนิ้วชี้ และปลายนิ้วโป้งชนปลายนิ้วโป้ง ซ่อนนิ้วอื่นไว้ในอุ้งมือ จะเห็นกรอบเป็นรูปใบโพธิ์เกิดขึ้น ทั้งนี้อาจนั่งขัดสมาธิหรือนั่งบนเก้าอี้ วางสองมือไว้บนหน้าตักแบบที่จะก้มลงมองทะลุช่องว่างไปสบายๆ หรืออาจนอนราบกับพื้น วางสองมือไว้ในระยะที่สามารถเหลือบตาลงเห็นช่องว่างโดยไม่ต้องก้มมาก


3) มองช่องว่างให้เห็นด้วยตา

การเห็นช่องว่างหมายถึงตาทอดทะลุกรอบใบโพธิ์ลงไป แรกๆอาจจำเป็นต้องรู้กรอบมือรูปโพธิ์ทั้งหมดนั้นด้วย สิ่งสำคัญคือต้องแน่ใจว่า "ตาเห็นช่องว่าง" เหมือนเราบังเอิญเหลือบไปช่องโหว่ที่กำแพงหรือช่องว่างระหว่างขาโต๊ะเก้าอี้ เป็นต้น อย่าคิดสงสัยให้วุ่นวายว่ากำลังมองอยู่ถูกหรือผิด เอาเป็นว่าตาเราไม่โฟกัสกับสี รูปทรง หรือคุณสมบัติใดๆของวัตถุเช่นมือ พื้น หรือผนังที่ไกลลงไป เป็นอันว่าถูกต้องใช้ได้แน่แล้ว

4) กำหนดจิตให้รู้ช่องว่างที่ตาเห็น

ข้อนี้อาจอธิบายยาก แต่ทุกคนคงเข้าใจได้เองเมื่อเห็นช่องว่างระหว่างมือได้นิ่งๆ ตาไม่หลุกหลิกสัก 5 วินาที คือจะรู้สึกเหมือนใจเราเข้าไปอยู่ในอีกมิติหนึ่ง วูบลึกลงไปหน่อยๆ ให้รักษาความรู้สึกว่างในแบบนั้นไว้

5) ปิดตาลงรักษาความว่างไว้
ลืมตาจำความว่างระหว่างมือไว้อย่างไร ให้ปิดตาลงนึกถึงความว่างระหว่างมือไว้อย่างนั้น ถ้าช่องว่างหายไปจากความรับรู้ ก็อย่ากระวนกระวายที่จะเรียกมันกลับคืน ให้ตระหนักตามจริงว่าจิตจะต้องเบา สบาย คลายจากความคิด ความคาดหวังทั้งหมด ดังที่กล่าวในข้อ 1 ว่าความคิดต้องสงบราบ หรือมีความเป็นคลื่นขาลง เงียบเชียบเรียบราบ จึงจะเข้ารู้ถึงความเป็นช่องว่างได้สำเร็จ ถ้าเห็นว่าจิตสงบดี แต่นึกถึงช่องว่างไม่ออก ให้กดนิ้วเข้าหากันนิดๆแล้วคลายออกด้วยสปริงในตัวเอง เพื่อเรียกสติให้ไปจ่อรู้อยู่กับแกนคือกรอบมือ จะเห็นว่าสามารถนึกออกอีกครั้ง ว่าช่องว่างระหว่างกรอบมือนั้นเป็นอย่างไร

6) หมั่นสำรวจความคิด
ตอนที่คลื่นความคิดสงบลงจะง่าย แต่พอมีความคิด และสลัดความคิดไม่ออก จะยากจนเหมือนมีกำแพงหนาทึบขวางกั้น วิธีแก้คือให้รู้ทันทีว่ากลุ่มความคิดก่อตัวขึ้นทึบเกินกว่าจะลงรู้ช่องว่างแล้ว ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม รู้เฉพาะเท้ากระทบพื้น จะเห็นว่าสัมผัสที่ฝ่าเท้าชัดขึ้น มีสติดีขึ้นกว่าขณะฟุ้งจัดอย่างเทียบกันไม่ติด เมื่อรู้เท้ากระทบพื้นในจงกรมสักสองสามรอบ พอเห็นคลื่นความคิดบางตัว ก็ให้ลงนั่งเริ่มประกอบมือรูปใบโพธิ์ใหม่ ทำซ้ำตามลำดับ จนกว่าจะปิดตาลงแล้วเห็นตามจริงว่าจิตสามารถหน่วงช่องว่างไว้ได้นานขึ้น จากแค่อึดใจเดียวเป็นสงบนานได้หลายอึดใจ มีความสุขความเพลิดเพลินมากขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ สติที่ได้จากการรู้เท้าในจงกรมจะมาช่วยเสริมให้จิตล็อกช่องว่างได้แข็งแรงกว่าเก่า เรียกว่ากสิณกับจงกรมนั้น ถ้าทำสลับกันทันทีก็จะเป็นพลังเสริมกันอย่างพอเหมาะพอเจาะ

ย้ำว่าอย่าพยายามรักษาให้นาน อย่าพยายามรู้ให้ชัด ทำได้สั้นแค่ไหนก็ยอมรับแค่นั้น รู้ได้เท่าไหร่ก็พอใจเท่านั้น ทำด้วยความสบายใจ ไม่คาดหวัง ก็จะสนุกเพลิดเพลิน หรือพูดง่ายๆว่าทำเล่นได้เหมือนขนม แต่ละวันพอมีเวลาว่างนิดหน่อย เห็นคลื่นความคิดสงบเบาบางลงก็ทำมือรูปใบโพธิ์ ซ้อมไปเรื่อยๆทีละนิดทีละหน่อยแบบเก็บเล็กประสมน้อย อย่างนี้จะเห็นความก้าวหน้าได้รวดเร็วมาก อาจภายในวันเดียวหรือสองสามวันเท่านั้น ดีกว่าพยายามนั่งเพ่งอย่างไร้ผล ซึ่งจะทำให้เบื่อหน่ายและอยากเลิกราภายในครั้งสองครั้งไปแทน

หากรู้สึกว่าอุปสรรคอยู่ตรงที่ตาหลุกหลิก ทำให้จิตไหลเลื่อนไม่แน่วโฟกัสตามตาไปด้วย ก็มีอุบายอย่างหนึ่งที่จะล็อกให้จับนิ่งเป็นการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตาในตัว นั่นคือให้เหยียดมือข้างหนึ่งไปจนสุด ตั้งนิ้วชี้ขึ้น แล้วยกอีกมือหนึ่งตั้งไว้กึ่งกลางระหว่างตากับนิ้วมือแรก ตั้งนิ้วชี้ของมือที่สองขึ้นเหมือนกัน

จากนั้นให้มองปลายนิ้วชี้ทั้งใกล้และไกลสลับกันเร็วๆ นิ้วหนึ่งสักวินาทีหนึ่ง มองแบบแน่ใจว่าเห็นเล็บปลายนิ้วชัด ทำสักเพียงนาทีเดียว จะรู้สึกว่าความสามารถในการเห็น ความไวของจิตที่ตอบสนองการเห็น มีความคมชัดขึ้น และความสามารถในการจับตาเฉพาะจุดจะนิ่งขึ้น

เมื่อเห็นดีได้เช่นนั้นแล้ว ให้กำหนดจุดอื่นนอกตัวที่ไกลออกไปเป็นจุดที่สาม จุดที่สี่ เป็นอะไรก็ได้อาจไกลถึงขอบฟ้าก็ได้ ไล่สลับมองทีละจุดจากใกล้ไปหาไกล จากไกลสาวกลับมาหาใกล้ ตาจะเลิกหลุกหลิก ความคิดจะเบาบางลงและมีเสถียรภาพสูงขึ้น

ทำบ่อยเท่าที่มีโอกาสทำได้จนกว่าจะรู้สึกว่าสายตาแข็งแรงอยู่ตัว ถ้าเป็นที่ทำงานหรืออยู่ต่อหน้าคนอื่น กลัวใครเห็นเรายกมือยกไม้ทำอะไรแปลกๆ ก็อาจใช้วิธีกำหนดจุดใกล้ไกลจากสิ่งของรอบตัวก็ได้ เพราะสำคัญตรงการจับเป้าหมายสลับระยะห่างใกล้ไกลเพื่อบริหารกล้ามเนื้อตาให้แข็งแรงและฝึกสติให้จับรู้ได้ทันโฟกัสตาที่เปลี่ยนไปมากกว่าอย่างอื่น

กลับมาเรื่องช่องว่าง เมื่อเห็นว่าจิตจ่อติดกับช่องว่างได้เอง ขนาดที่อยู่ๆก็รู้สึกถึงโพรงว่างขึ้นในใจโดยไม่กำหนด ก็จึงสมควรเริ่มเรียนรู้ขั้นต่อไป ซึ่งอยู่คนละชุดกัน ขอให้ระลึกด้วยว่าถ้าฝึกชุดแรกยังไม่สำเร็จ ก็อย่าด่วนมาฝึกชุดที่สองนี้เลย เพราะจะเห็นด้วยตนเองแล้วว่าไม่อาจทำได้ตั้งแต่ขั้นแรก


1) กำหนดหน่วงให้นานดังใจ

เมื่อรู้สึกถึงช่องว่างชัด จะเหมือนจิตมีความสามารถ "อุ้มอารมณ์นิ่ง" ได้นานขึ้นดังใจปรารถนา อันนี้ให้ฝึกวางจิตสงบ ไม่ตื่นเต้น ไม่ลิงโลด ไม่ใคร่อยากใดๆ เพียงปิดตารักษาอาการเรียบๆรู้ๆช่องว่างบริเวณจำกัดเท่ากระแบะมือนั้นไว้จนกว่าจิตจะถอนออกมาเองด้วยความล้า อาจจับเวลาสังเกตว่าครั้งนี้เราทำได้ 5 วินาที ครั้งต่อไป 10 วินาที กระทั่งล่วงเลยไปได้เป็นนาที ถ้าหากเกินกว่านาที จะเริ่มรับรู้สภาพจิตในอีกแบบ คือ "รู้เสมอกับว่างในเขตจำกัด" ไม่มีอะไรอื่นอยู่ในจิต นอกจากว่างประมาณนี้

2) กำหนดเห็นลำช่องว่างลึกขึ้น


ถ้าทำมาถึงตรงนี้บางทีไม่จำเป็นต้องกำหนด ก็จะรู้ในลักษณะเป็นลำ หรือเป็นกระบอกช่องว่างขึ้นเอง อาจจะจากระดับสายตา ดิ่งลงทะลุกรอบมือรูปใบโพธิ์ลงไปลึกระดับหนึ่ง ขอให้สังเกตความเป็นลำนั้น บางทีทะลุขอบเขตความเป็นจริงลงไป เช่นอาจรู้สึกเป็นท่อลึกลงไปหลายเมตร ก็รักษาไว้อย่างนั้น ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ไม่ต้องเร่งให้ลึกเท่านั้นเท่านี้ ขอให้เป็นไปตามความสามารถที่แท้จริงของจิตในขณะนั้นๆ

3) กำหนดความว่างระดับห้อง




เมื่อเห็นช่องว่างเป็นลำลึกได้ถนัด ให้ลืมตาขึ้นทอดมองผนังห้องด้วยสายตาตรง จำห้วงว่างระหว่างสายตากับผนังห้องไว้ ปิดตาลงแล้วนึกถึงความว่างตรงหน้าโดยไม่ต้องทำรูปมือใดๆอีกต่อไป หากจำได้ถนัด แปลว่าจิตมีความสามารถหน่วงความว่างได้ดีขึ้นจริง ให้ลองย่อช่องว่างลงมาสู่ขนาดที่ต้องการด้วยความสบาย ไม่เครียด ไม่เกร็ง ไม่ขมวดคิ้ว ไม่รู้สึกถึงปฏิกิริยาใดๆทางกาย เห็นเป็นอาการและความสามารถของจิตอย่างเดียว เมื่อย่อได้ดังใจ ลองขยายดูให้ขนาดเท่าห้องเหมือนเดิม หากทำไปทำกลับโดยไม่ติดขัด ก็เป็นอันผ่านข้อนี้สำเร็จ

4) กำหนดความว่างระดับสุดขอบฟ้า




ยืนที่ระเบียงหรือที่สูงใดๆที่จะเห็นสุดขอบฟ้าถนัด หากหาทำเลสะดวกไม่ได้ ก็อาจเงยหน้าขึ้นกำหนดห้วงว่างจากตัวเราถึงสุดยอดฟ้า หลับตาลง หากสามารถรู้ความว่างประมาณนั้นได้นาน ย่อลงมา หรือขยายกลับให้กว้างเท่าเดิมดังปรารถนา ก็เป็นอันผ่านข้อนี้สำเร็จ

5) กำหนดช่องว่างให้เสมอรู้




การฝึกข้อนี้ถือว่าเป็นสุดยอดของกสิณช่องว่าง คือให้ก้าวล่วงขอบเขตของกสิณ ยกระดับขึ้นไปสู่ความเป็นอรูปฌานขั้นแรก ที่เรียกว่า "อากาสานัญจายตนะ"

ก่อนอื่นขอให้สังเกตว่าขนาดช่องว่างเปลี่ยนได้ ขอบเขตความรู้ก็เปลี่ยนตาม เมื่อฝึกย่อขยายได้แล้วๆเล่าๆ ก็จะตระหนักว่า "ตัวรู้" ไม่ได้มีขนาดแต่อย่างใด ก็ยังตั้งอยู่ตรงกลางๆ ประมาณว่ารู้สึกออกมาจากกลางอก อย่างไรก็อย่างนั้น

เมื่อชัดว่ารู้ออกมาจากอก เหมือนว่างๆหายๆไปในที่นั้น ก็รักษาความรู้ "แบบเปิด" ไม่มีจำกัดไว้ ไม่กำหนดตำแหน่งว่าตั้งอยู่ตรงไหน ไม่กำหนดว่าขอบเขตของขนาดมีประมาณใด แบบที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นแนวชัดเจนว่า

ในที่สุดจะเกิดปรากฏการณ์ตามธรรมชาติของจิตเอง บางคนอาจรู้สึก "หลุดล็อก" หรือเหมือน "หายตัวฉับพลัน" ไปเฉยๆ หรือเป็นความรู้สึก "อีกแบบหนึ่ง" อย่างสิ้นเชิงจากที่เคยรู้สึกมาทั้งชีวิต

ถ้ามาถึงตรงนี้ ก็จะถึงความตระหนักชัดว่า "ช่องว่าง" ในลักษณะที่กำหนดเป็นกสิณนั้น ยังจัดเป็นรูปอยู่ เพราะยังมีทิศทาง ซ้าย ขวา หน้า หลัง ยังมีผู้รู้เป็นจุดศูนย์กลาง หรือผู้กำหนดดูอยู่เบื้องหลัง แต่ถ้ายกจิตขึ้นสู่ระนาบของความว่างอย่างแท้จริง ทุกอย่างจะสลายตัวไปหมด เหลือแต่ความว่างอันปราศจากที่ตั้ง ปราศจากศูนย์กลาง ปราศจากขอบเขตใดๆอย่างสิ้นเชิง บางคนอาจรู้สึกเหมือนรู้ทีเดียวทั่วตลอดทั้งมหาจักรวาล เนื่องจากกำหนดอาณาบริเวณว่าประมาณเท่านั้นเท่านี้ไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำได้จนชำนาญ ก็จะเห็นว่าเป็นเพียงลักษณะของจิต เป็นอาการของจิต ที่ทำ "รู้เสมอว่าง" ถ้าจะให้ละเอียดขั้นต่อไป ต้องใช้ปัญญากำหนดพิจารณา ว่า "รู้ต่างจากว่าง" อย่างไร นี่ก็จะทำให้ไม่ไขว้เขว หลงยึดไปว่าความว่างแบบอากาศเป็นนิพพานธาตุไป



ที่มาลานธรรม
http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/003441.htm

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
คำค้น: วิธีฝึก อากาสกสิณ ดังตฤณ อากาศ อากาศกสิณ กสิณ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.486 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 10 ธันวาคม 2567 20:58:53