.ศาลพระภูมิเจ้าที่
ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
พระภูมิเจ้าที่ ก่อนที่พุทธศาสนาจะประดิษฐานในประเทศไทย ประชาชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนไทยปัจจุบันนั้น มีความเชื่อทางศาสนาตามแบบวิญญาณนิยม (Animism) คือมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณ ว่าวิญญาณนั้นมีอยู่จริงและทำพิธีบวงสรวงกราบไหว้ เพื่อขอความอารักขาและความสวัสดีมีชัยในกิจการที่ตนทำอยู่
ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหง กล่าวถึงพิธีการบวงสรวงเทพยดาที่รักษาเมืองสุโขทัย โดยเรียกว่า พระขะพุงผี โดยกล่าวว่า หากประชาชนทำการเซ่นพลีถูกต้องก็จะอยู่เย็นเป็นสุข แต่หาก “เซ่นบ่ดี พลีบ่ถูก” ก็อาจถูกลงโทษได้
คำว่า ผี ในที่นี้ หมายถึงวิญญาณนั่นเอง ในสมัยโบราณนั้น คนไทยเรียกวิญญาณทั้งหลายว่า ผี ทั้งสิ้น เช่น ผีบ้าน ผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย เป็นต้น
ต่อมา เมื่อไทยเรารับพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นที่ยึดเหนี่ยว จึงเริ่มมีการจำแนกว่า ถ้าเป็นวิญญาณชั้นต่ำ เรียกว่า ผี ส่วนวิญญาณชั้นสูง ก็เรียก เทวดา หรือ พรหม
ดังนั้น จึงพบว่าคติความเชื่อแบบวิญญาณนิยมนี้ จะปรากฏอยู่ในหลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์ และวรรณคดีของไทยจำนวนไม่น้อย และเมื่อชาวไทยรับเอาพุทธศาสนาเป็นหลักตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่ความเชื่อตามแบบวิญญาณนิยมก็มิได้สูญหายไป หากแต่ยังคงปฏิบัติควบคู่กัน
แนวความเชื่อเรื่องวิญญาณนิยมนี้ มีปรากฏชัดเจนในความเชื่อเรื่อง เจ้าที่ คนไทยเชื่อว่าในอาณาเขตบ้านแต่ละแห่งนั้น มีวิญญาณที่เรียกว่า เจ้าที่ คอยพิทักษ์ปกปักรักษา จึงมีความนิยมสร้าง ศาลพระภูมิ ลักษณะเป็นบ้านหลังเล็กๆ ให้อยู่ต่างหาก โดยมากมักกำหนดให้อยู่นอกชายคาบ้าน และให้หลีกเลี่ยงมิให้เงาบ้านทับศาลนี้ และเพื่อให้เจ้าที่โปรดปรานมากๆ เจ้าของบ้านที่มีฐานะจะใช้เงินจำนวนไม่น้อยในการจัดทำ ศาลพระภูมิ ให้เจ้าที่อยู่
คุณนิธี เอียวศรีวงศ์ คอลัมนิสต์ประจำหนังสือมติชนรายสัปดาห์ ให้ความเห็นเรื่องพระภูมิเจ้าที่ ไว้ว่า ผู้ใหญ่ที่ท่านนับถือท่านหนึ่งเคยบอกว่าศาลพระภูมิที่บ้านเรือนของคนไทย น่าจะรับอิทธิพลมาจากจีน ซึ่งก็คือตี้จู๊เอี้ย ซึ่งจีนในเมืองไทย มักสร้างเป็นศาลวางไว้ติดดิน แต่ข้อมูลจากท่านอาจารย์ถาวร สิกขโกศล กลับเป็นว่า ในเมืองจีน บ้านเรือนมักไม่มีตี้จู๊เอี้ย จีนในเมืองไทยเท่านั้นที่มี เพราะเมื่ออพยพมาอยู่แรกๆ ต้องเช่าบ้านเขาอยู่ไม่มีบ้านของตนเอง จึงต้องตั้งศาลแสดงความเคารพต่อเจ้าที่เจ้าทางประจำบ้านเช่านั้นๆ ส่วนเจ้าที่จีนแท้ๆ นั้นคือเจ้าที่ซึ่งคอยดูแลปกปักรักษาหมู่บ้านทั้งหมด (เรียกว่าโท้ตี้ หรือทู้ตี้) ไม่ใช่เฉพาะบ้านเรือนเป็นหลังๆ ไป (ซึ่งของไทยก็มีเหมือนกัน และมักตั้งศาลไว้ใกล้โขลนทวารทางเข้าหมู่บ้าน)ศาลพระพรหม โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อมีการรื้อฟื้นความนิยมในเรื่องพระพรหมมากขึ้น บางคนก็อาจอัญเชิญพระพรหมเป็นเจ้าที่ในที่ดินของตน ดังนั้น ศาลพระภูมิก็ต้องไปกลายเป็นศาลพระพรหม มีลักษณะเปิดทั้ง ๔ ด้าน ความสลับซับซ้อนในเรื่องการบูชาก็เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยไปด้วย
มีผู้เข้าใจว่า การตั้งศาลพระภูมินั้นเป็นอิทธิพลของพราหมณ์ ความจริงแล้ว เรื่องความเชื่อในเรื่องวิญญาณเจ้าที่นั้น มีมาก่อนที่พราหมณ์ที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย และเมื่อพราหมณ์เห็นว่าคนไทยมีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ จึงนำเอาพิธีทางศาสนา และการอธิบายตามคติพราหมณ์เข้ามาประกอบ ในสมัยต่อมา ผู้ที่จะตั้งศาลพระภูมิจึงนิยมให้พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี
จากกรณีศึกษา ของ งานวิจัย “การศึกษาความเชื่อของศาสนาเต๋าและขงจื้อในประเทศไทย” กรณีศึกษา จ.นครปฐม ของ โครงการวิจัยเสริมหลักสูตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในจังหวัดนครปฐมนั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจกล่าวคือ ประชากรเชื้อสายจีน เมื่อประกอบพิธีทางศาสนาในวันตรุษ และวันสารทจีนนั้น นิยมทำพิธีไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า เมื่อชาวไทยนิยมไหว้พระภูมิหรือพระภูมิเจ้าที่อยู่แล้ว ชาวจีนจึงไหว้เจ้าที่ตามแบบไทย กล่าวคือ จัดของเซ่นไหว้ตามแบบจีน แต่ไปไหว้ที่ศาลพระภูมิ และพบว่าประชากรในจังหวัดนครปฐมนิยมการไหว้เจ้าและพระภูมิเจ้าที่สูงถึงร้อยละ ๘๐ ที่ได้สถิติสูงเช่นนี้ เพราะเป็นพิธีทางศาสนาที่นิยมปฏิบัติทั้งคนไทย และคนไทยเชื้อสายจีน
นอกจากความเชื่อในเรื่องวิญญาณที่ปรากฏในเรื่องการบูชาพระภูมิเจ้าที่แล้ว ประชากรในจังหวัดนครปฐมยังมีความนิยมในการติดต่อกับวิญญาณโดยผ่านคนทรงด้วย การทรงเจ้าเข้าผีนี้มิใช่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ แต่มีมานานแล้ว และมิใช่มีเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แม้ในประเทศอื่นๆ ก็มีการทรงเจ้าเข้าผี แต่ลักษณะที่แปลกก็คือ แนวโน้มการนิยมการทรงเจ้าเข้าผี มีมากขึ้นในสมัยปัจจุบัน
นอกจากการประเพณีการนับถือ พระภูมิเจ้าที่ ประชากรในประเทศไทยก็ยังมีความเชื่อว่า ยังมีวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร ตลอดจนผีคอยรักษาพื้นที่ต่าง ๆ ถ้าเป็นพื้นที่ในครอบครองของคน ก็มีนับตั้งแต่ผีบรรพบุรุษ, ผีประจำบ้านเรือน, ประตู ไปจนถึงเรือกสวนไร่นา ถ้าเป็นพื้นที่ของส่วนรวม ก็มีผีป่า, ผีเขา, ผีทะเล ฯลฯ ศาลเจ้าที่ ศิลปะล้านนา
โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่
ศาลเจ้าที่ ภายในวัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ข้อมูลเรียบเรียงจาก ๑. หนังสือวัฒนธรรมพื้นบ้านฯ “คติความเชื่อและพิธีกรรมของคนไทยในจังหวัดนครปฐม” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ หน้า ๓๒๘ – ๓๓๓
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๖
๒. หนังสือมติชนรายสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๖๔๙ คอลัมน์ “พระภูมิเจ้าที่” โดย นิธี เอียวศรีวงศ์ หน้า ๒๘-๒๙