.ลพบุรี เมืองโบราณก่อนยุคประวัติศาสตร์เมืองลพบุรี เป็นเมืองโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุเก่าแก่เมืองหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำป่าสัก เดิมเรียก เมืองละโว้ จากการที่เมืองตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมทางด้านยุทธศาสตร์และด้านภูมิศาสตร์ที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ในสมัยขอมเรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิ ขอมจึงกำหนดให้ละโว้เป็นเมืองศูนย์กลางปกครองมณฑลละโว้ในเขตทวาราวดีตอนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเหนือจากการตั้งเมืองสุโขทัยเป็นเมืองหลวงปกครองมณฑลสยาม ตั้งเมืองหลวงริมหนองหาญคือสกลนครในปัจจุบันปกครองดินแดนแถบที่ราบสูง ตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหน้าด่านแผ่ขยายอำนาจเข้าสู่แคว้นโยนก แล้ว ขอมยังแสดงความเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือดินแดนเหล่านี้ ด้วยการบังคับเกณฑ์พลเมืองให้สร้างเทวสถานตามแบบขอมขึ้นกระจายไปตามจุดต่างๆ ของประเทศไทยในอดีต เช่นที่ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ จันทบุรี ลพบุรี เพชรบุรี เรื่อยไปจนเกือบเขตแดนประเทศพม่า คือ ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวโดยเฉพาะในเมืองลพบุรี ปรากฏเทวสถาน ศาสนสถานศิลปะเขมรสมัยบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จำนวนมาก ที่สำคัญ ได้แก่ ปรางค์สามยอด ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และศาลพระกาฬ เป็นต้น
เมืองลพบุรีจึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการเมือง วัฒนธรรม และศาสนาตลอดมา โดยมีพัฒนาการสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิตามลำดับ จนกระทั่งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นยุคสมัยแห่งความตกต่ำและเสื่อมอำนาจของอาณาจักรกัมพูชาหรือขอม ขณะที่ราชอาณาจักรไทยเริ่มมีกำลังเข้มแข็งรวมตัวเป็นปึกแผ่นมั่นคงมากขึ้น ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ กษัตริย์องค์สุดท้ายของเมืองนครธม จึงต้องเผชิญศึกจากอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยา จนกระทั่งในที่สุดต้องสูญเสียความเป็นอิสรภาพให้แก่สยามประเทศ ทำให้รัฐต่าง ๆ ที่เคยอยู่ใต้อำนาจปลีกตัวเป็นอิสระ รวมทั้งเมืองละโว้หรือเมืองลพบุรีด้วยภาพจาก : วิกิพีเดีย เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ทรงชราภาพมาก
จึงโปรดให้พระราชบุตรเขยเสด็จขึ้นครองราชย์แทน
ทรงพระนามว่า พระเจ้าศรินทรวรมัน
คนไทยเรารู้จักกันดีในพระนาม
พ่อขุนผาเมือง นั่นเอง
ราว ๒,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว อินเดียเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองเหนือกว่าชนชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง ศาสนา ปรัชญา และสรรพศิลปวิทยาในทุกๆ ด้าน ชนชาวอินเดียส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนเขมรหรือขณะนั้นเรียกกันว่าอาณาจักร “ฟูนัน” และได้ถ่ายทอดอารยธรรม วิวัฒนาการแห่งสรรพศิลปวิทยาให้แก่ชาวเขมรหรือขอม ทำให้ขอมมีความเจริญยิ่งกว่าชนชาติใดในดินแดนสุวรรณภูมิ กษัตริย์และชาวบ้านทั่วไปนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู บูชาเทพศิวลึงค์ตามลัทธิไศวนิกายคือนับถือพระศิวะเป็นใหญ่ จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ที่กล่าวกันว่า เป็นผู้สร้างปราสาทหินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ขอม ทรงหันมาเลื่อมใสศาสนาพุทธลัทธิมหายานอย่างเคร่งครัด ทำให้ชาวขอมกลับมานับถือพุทธศาสนากันมากขึ้น แต่กระนั้นก็ตามเทวสถาน ปราสาทหินที่ทรงสร้างขึ้นไว้ให้เป็นที่เคารพบูชาของชาวประชาทั่วพระราชอาณาจักรก็ยังแฝงทั้งคติของพุทธศาสนาและฮินดูหรือพราหมณ์ผสมผสานไว้ในรูปของสถาปัตยกรรม...
kimlengวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (WAT PHRASRIRATTANA MAHATHAT)อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดหลวงขนาดใหญ่ มีพื้นที่ ๒๐ ไร่ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟลพบุรี สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนาและเป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์ของเมือง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์สืบมาหลายยุคหลายสมัย ศิลปกรรมที่ปรากฏจึงมีความแตกต่างกันมาก แผนผังหลักประกอบด้วยพระปรางค์ประธาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ อิทธิพลศิลปะเขมร แต่แสดงรูปทรงแบบใหม่นับเป็นปรางค์แบบไทยที่มีอายุเก่าแกที่สุดและเป็นแบบอย่างสำหรับเจดีย์ทรงปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น มีระเบียงคดล้อมรอบ ๒ ชั้น ศาสนสถานโบราณศิลปะขอม
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี
ปรางค์ประธานองค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติ
อายุประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ ต่อมาได้รับการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลวดลายจึงมีปะปนกันหลายสมัย
ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้จำนวนมาก ที่มีชื่อเสียง คือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง
ด้านหน้าเป็นวิหารหลวงขนาดเก้าห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีการบูรณะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่องประตูด้านข้างและหน้าต่างเป็นรูปโค้งแบบกลีบบัว อิทธิพลศิลปะตะวันตก รอบพระปรางค์ประธานประกอบด้วยอาคารและเจดีย์ราย รูปแบบต่างๆ หลายสมัย เช่น พระปรางค์ ปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง เจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์ทรงเครื่อง เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
วัดนี้ สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์หลายสมัย เช่น สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา และสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้นปรางค์องค์นี้ น่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับปรางค์ประธาน ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ช่วงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีประมาณ ๑๐๐ ปี
ส่วนฐาน : ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงรองรับฐานบัวลูกฟักซ้อนกัน ๓ ฐาน (ในสมัยอยุธยาตอนต้นจะมีฐานบัวลูกฟักซ้อนกัน ๓ ฐาน เสมอ และเป็นรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นกับปรางค์แบบไทยระยะแรก) ปัจจุบัน ฐานเขียงหรือฐานบัวลูกฟัก ๑ ฐาน จมอยู่ใต้ดิน
ส่วนกลาง : เป็นเรือนธาตุตั้งฉากกับระนาบ ในผังเพิ่มมุม มุมประธานขนาดใหญ่กว่ามุมประกอบ ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาเล็กน้อย มีบันไดทางขึ้น เดินเข้าประตูไปในห้องครรภคฤหะได้ (ห้องสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ) ส่วนด้านอื่นๆ เป็นประตูหลอก มีซุ้มลดแบบโค้งเข้า-โค้งออกตามแบบปราสาทขอม ที่เรือนธาตุประดับปูนปั้นลายกรุยเซิงและลายเฟื่องอุบะ เหมือนตรีมุขของปรางค์ประธาน ส่วนภายในห้องครรภคฤหะมีภาพจิตรกรรมเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้ากับพระอัครสาวกซ้ายขวา ซึ่งเป็นแบบที่นิยมเขียนในเจดีย์ทรงปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น
ส่วนยอด : เป็นหลังคาชั้นซ้อน ระบบเสาตั้งคานทับ ผนังตั้งฉาก แต่ละชั้นมีช่องวิมานปิดด้วยบรรพแถลง ที่มุมประดับด้วยกลีบขนุนปรางค์ ตั้งห่างจากผนังเรือนธาตุ ที่ชั้นเชิงบาตรมีลายหน้ากระดาน เป็นลายดอกซีก ดอกซ้อน ในกรอบรูปเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ภายในเป็นดอกรูปสามเหลี่ยมสี่ดอก อยู่ในทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ส่วนลายกลีบบัว ลักษณะใกล้เคียงกับลายแบบเขมร ภายในแบ่งเป็นสามส่วน กรอบเป็นลายกนกล้อมรอบ ส่วนที่มุมประธานและด้านต่างๆ ประดับนาคปัก เทวดา หรือยักษ์ และส่วนยอดบนสุดเป็นรูปกลีบบัวและกลศ ตามแบบปราสาทขอม ...
คัดจากป้ายจารึกข้อมูลเจดีย์ปรางค์ เจดีย์ทรงปรางค์ สมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐
ส่วนฐาน : มีฐานบัวขยายท้องไม่สูงประดับลูกแก้วอกไก่ ลักษณะคล้ายอาคารยาวๆ ที่มีระบบเสาแบ่งเป็นห้องๆ ไม่สามารถเข้าไปภายในได้ เหนือพื้นไปเป็นฐานของปรางค์ ประกอบด้วยฐานบัวลูกฟัก ๓ ฐาน ซ้อนกัน ในลักษณะทั่วไปของปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น
ส่วนกลาง : เป็นเรือนธาตุที่อยู่ในผนังเพิ่มมุม มุมประธานมีขนาดใหญ่กว่ามุมอื่น ผนังสอบขึ้น ลักษณะดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ภายในจระน้ำซุ้มด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา อิทธิพลศิลปะสุโขทัย แต่การครองจีวรมีรัดประคดเป็นแบบศิลปะอยุธยา
ส่วนยอด : เป็นเรือนชั้นซ้อน ๕ ชั้น ใช้ระบบเสาตั้งคานทับของวิมาน (บริเวณกลางด้านแต่ละด้าน) ประดับบรรพแถลง หลังคาประดับประตูกลีบขนุนปรางค์ (ประดับที่มุมแต่ละมุม) ซึ่งยังตั้งอยู่ห่างจากเรือนธาตุ ตามแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น ...
คัดจากป้ายจารึกข้อมูลเจดีย์ปรางค์ปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง
วัดพระศรีมหาธาตุ ลพบุรี อยู่ด้านหลังอาคารสถานีรถไฟลพบุรี
เปิดให้เข้าชม ระหว่างเวลา ๐๗.๐๐-๑๗.๐๐ น. เว้นวันจันทร์ - อังคาร
อัตราเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท