[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 10:14:39 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อคิดจากธรรมะ โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต)  (อ่าน 53083 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 07 เมษายน 2557 14:13:48 »

.



ข้อคิดจากธรรมะ
โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร กรุงเทพมหานคร


สัปปุริสธรรม
สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของบุรุษผู้สงบ หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้แล้วจะมีความเป็นอยู่อย่างสงบไม่เดือดร้อน มีชีวิตหน้าที่การงานที่ดี เมื่อมีอุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาขัดขวาง ก็จะสามารถใช้หลักธรรมนี้ แก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปในทางที่ดีได้

สัปปุริสธรรม มี  ๗ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งความสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ หมายความว่า ความรู้จักพระธรรมวินัย รู้จักเหตุให้เกิดความสุข รู้จักเหตุให้เกิดความทุกข์ เช่น ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงผิด เป็นเหตุให้เกิดความสุข ความโลภ โกรธ หลงผิด เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ธรรมดามนุษย์ทั่วไป ย่อมปรารถนาความสุข ส่วนความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ซึ่งไม่มีใครชอบ  ดังนั้น ควรเลือกประกอบแต่เหตุอันจักให้ผลเป็นสุข คือความดีงามทั้งปวง และละเว้นเหตุที่จะให้ผลเป็นทุกข์ คือความชั่วทั้งปวง โดยระวังอย่าประมาท อย่าให้เกิดความสนุกเพลิดเพลินเกินขอบเขต ด้วยอำนาจความยินดีพอใจพาไป หรืออย่าให้กิเลสครอบงำจิต เห็นผิดเป็นชอบ เป็นเหตุให้มีผลเป็นทุกข์

ประการที่ ๒ ความเป็นผู้รู้จักผล คือ รู้จักว่า สุขเป็นผลมาจากเหตุนี้ ทุกข์เป็นผลมาจากเหตุนี้ หมายความว่า ความรู้จักเนื้อความของพระธรรมและวินัย รู้ชัดว่า สุขที่ได้รับในขณะนี้เป็นผลมาจากเหตุนี้ ทุกข์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้เป็นผลมาจากเหตุนี้ เช่น ความสุข เป็นผลมาจากความเป็นคนไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงผิด ความทุกข์ เป็นผลมาจากความเป็นคนโลภ โกรธ หลงผิด

ข้อนี้ท่านสอนให้รู้จักการประกอบเหตุที่จะอำนวยผลให้เป็นสุข งดเว้นการประกอบเหตุที่จะอำนวยผลให้เป็นทุกข์ ความรู้จักเหตุ รู้จักผลนี้ ต้องประกอบด้วยปัญญา รู้เหตุและผลที่แท้จริง มีหลักฐานและประสบการณ์ มิใช่เป็นการนึก หรือคาดเดาเอาเอง

ปัจจุบันนี้เราจะได้ยินว่า ต่างคนก็อ้างเหตุผลของตน และถือมั่นว่าเหตุผลของตนเท่านั้นถูก เหตุผลของคนอื่นไม่ถูก ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้ละเอียด ให้เข้าถึงเหตุและผลที่แท้จริงจะได้ไม่ผิดพลาด

ประการที่ ๓ ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักตนว่า เรามียศศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมเพียงเท่านี้ๆ แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่ หมายความว่า ความรู้จักฐานะ ภาวะที่ตนมีอยู่ เป็นอยู่ แล้วประพฤติให้เหมาะสม เช่น เกิดมาในชาติตระกูลใด มีตำแหน่งหน้าที่อย่างไร มีทรัพย์สมบัติเท่าไร มีบริวารเป็นอย่างไร มีความรู้ความสามารถเท่าไร มีคุณธรรมอย่างไร เป็นต้น

เมื่อรู้จักตนแล้ว ต้องวางตนให้เหมาะสม คือ ประกอบการงานหาเลี้ยงชีพ ดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับภาวะของตน รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ตั้งอยู่ในสุจริต ประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ สม่ำเสมอ ไม่เย่อหยิ่งอวดดี อวดมี อวดรู้ ประพฤติตนให้เหมาะสมแก่ฐานะภาวะของตน

ข้อนี้ประสงค์ให้มีสติ ในเวลาจะพูด จะทำสิ่งใดที่เกี่ยวกับผู้อื่นแล้ว ให้มองดูฐานะของตนก่อน แล้วจึงพูด จึงทำพอสมควรแก่ภาวะของตน ไม่ให้ยิ่งหรือหย่อนจนเกินไป เพราะผู้อวดดีไม่รู้จักฐานะของตน ย่อมนำตนไปสู่ความหายนะได้

ประการที่ ๔ ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักประมาณในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพแต่พอดี หมายความว่า จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ก็ให้รู้จักพอประมาณ พอดี พองาม ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ขาด ไม่เกิน ไม่ตึง ไม่หย่อน ไม่อ่อนปวกเปียก ไม่แข็งกร้าว ไม่เกิดโทษแก่ใครๆ มีแต่เกิดประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป ในกาลทุกเมื่อ

ประการที่ ๕ ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา คือ รู้จักกาลเวลาอันสมควรในการประกอบกิจนั้น หมายความว่า ความรู้จักกำหนดจดจำว่า เวลาไหนควรปฏิบัติกิจอันใดแล้วปฏิบัติให้ตรงต่อเวลานั้น ไม่ช้าเกินควร ไม่ด่วนเกินกาล ละรู้จักกิจบางอย่าง บางคราว บางแห่ง ต้องทำให้เสร็จก่อนเวลา ก็ต้องรีบทำจะชักช้าอยู่ไม่ได้ ถ้าช้าอยู่ก็จัดว่า ไม่รู้จักกาลเวลา และอาจทำให้เสียประโยชน์ได้ นัยตรงกันข้าม กิจบางอย่างต้องทำหลังเวลาจึงจะดี ถ้ารีบทำเสียก่อนเวลา จัดว่า ไม่รู้จักกาลเหมือนกัน

อนึ่ง กาลเวลาที่ควรทำกิจนี้ แต่เอากิจอื่นมาทำ หรือเวลาที่ควรทำกิจอื่น แต่เอากิจนี้มาทำ อย่างนี้ก็ชื่อว่า ไม่รู้จักกาล เหมือนไก่บางตัวที่ขันไม่เป็นเวลา คือเวลาที่ควรขันไม่ขัน เวลาที่ไม่ควรขันกลับขัน ย่อมเสียหายและน่าติเตียนมาก

ประการที่ ๖ ความเป็นผู้รู้จักชุมชน คือ รู้จักประชุมชน และกิริยาที่จะต้องประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ หมายความว่า รู้จักชนชั้นต่างๆ เช่น ชั้นผู้ใหญ่โดยชาติ โดยวัย โดยคุณ จำพวกหนึ่ง ชั้นผู้น้อยโดยชาติ โดยวัย โดยคุณ จำพวกหนึ่ง กิริยาวาจาที่จะใช้ต่อชนชั้นผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง ที่ใช้ต่อชนชั้นผู้น้อยอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น ความรู้จักชุมชนนั้นๆ แล้ว ต้องรู้จักกิริยาวาจาที่จะใช้ต่อชนชั้นๆ ด้วย การรู้จักประชุมชนนี้ทำให้ผู้ที่ได้ประสบเกิดความเกรงใจ ไม่ดูหมิ่นติเตียน

ประการที่ ๗ ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือ รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ หมายความว่า รู้จักเลือกว่า นี้เป็นคนดี นี้เป็นคนไม่ดี

วิธีเลือกคือ แยกบุคคลออกเป็น ๒ พวก พวกใดมีศรัทธา ตั้งอยู่ในศีลธรรม ใคร่เห็นสมณะ ใคร่ฟังธรรม ตั้งใจฟังธรรมจำได้ พิจารณาเนื้อความธรรมที่จำได้ รู้ทั่วถึงเหตุแล้วปฏิบัติธรรมตามสมควร และทำดี พูดดี คิดดี เพื่อประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น พวกนี้นับว่า เป็นคนดี น่าสรรเสริญ ควรคบ ส่วนพวกที่ตรงกันข้ามเป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ

คุณสมบัติ หรือหลักสำหรับพิจารณาคน ๗ ประการเหล่านี้ เป็นข้อชี้แนะให้เรารู้จักและเข้าใจในการพิจารณาบุคคลที่เราต้องเข้าไปคบหา และสนทนาปราศรัยด้วยว่าเป็นคนดี หรือไม่ดีอย่างไร เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของ ตนต่อไป
...ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด



ความโกรธ

ความโกรธเริ่มจากน้อยไปหามาก เกิดขึ้นตามลำดับ คือ บางครั้งความโกรธเพียงแค่ทำให้ใจขุ่นมัว แต่ไม่ถึงกับทำให้หน้างอ บางครั้งทำให้ถึงกับหน้างอ แต่ไม่ถึงกับปากสั่นคางสั่น บางครั้งทำให้ปากสั่นคางสั่น แต่ไม่ถึงกับพูดจาหยาบคาย

บางครั้งเป็นเพียงพูดจาหยาบคาย แต่ยังไม่ถึงกับเหลียวดูทิศต่างๆ บางครั้งทำให้เหลียวมองดูทิศต่างๆ แต่ไม่ถึงกับจับท่อนไม้หรืออาวุธ บางครั้งเพียงแค่เงื้อท่อนไม้หรืออาวุธขึ้น แต่ไม่ถึงกับทำร้ายกัน

บางครั้งก็ทำให้ถึงกับเลือดตกยางออก แต่ไม่ถึงกับให้เสียชีวิต และเมื่อความโกรธรุนแรงมากกว่านั้น ก็ทำให้ศัตรูเสียชีวิต และก็ทำตนให้เสียชีวิต มันจะรุนแรงขึ้นตามลำดับอย่างนี้

เหตุที่ทำให้ความโกรธเกิดขึ้นนั้น มี ๑๐ ประการ คือ
๑. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้นได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ได้พูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจแก่เรามาก่อน
๒. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้น กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก กำลังพูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจแก่เรา
๓. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า ในวันข้างหน้าคนคนนั้นจะทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก หรือพูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจ เป็นทุกข์ใจแก่เรา
๔. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้นได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ได้พูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราเคารพรัก
๕. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้นกำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก กำลังพูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราเคารพรัก
๖. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า ในวันข้างหน้าคนคนนั้น จะทำสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก หรือพูดคำอันไม่เป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราเคารพรัก
๗. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้น ได้ทำสิ่งที่เป็นที่รัก ได้พูดคำอันเป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราไม่รัก ไม่เคารพ ไม่นับถือ
๘. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า คนคนนั้น กำลังทำสิ่งที่เป็นที่รัก กำลังพูดคำอันเป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราไม่รัก ไม่เคารพ ไม่นับถือ
๙. ความโกรธเกิดขึ้นเพราะคิดว่า ในวันข้างหน้าคนคนนั้นจะทำสิ่งที่เป็นที่รัก หรือพูดคำอันเป็นที่ชอบใจแก่คนที่เราไม่รัก ไม่เคารพ ไม่นับถือ
๑๐. ความโกรธเกิดขึ้นในอัฏฐานะ หมายความว่า โกรธด้วยเหตุผลที่ไม่สมควรแก่ความโกรธ เช่น เดินไม่ระวังไปสะดุดก้อนหินก็โกรธ เดินไม่ระวังตกบันไดก็โกรธ เดินไปชนฝาหรือประตูก็โกรธ การโกรธในลักษณะดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าโกรธในอัฏฐานะ




ศีลส่งให้สูง

คํา ว่า "ศีล" คือ การสำรวมระวังกายและวาจา ให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากความประพฤติปฏิบัติที่เป็นการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นให้เดือดร้อนเสียหาย

ศีล นั้นคู่กับ ธรรม ศีลเป็นข้อห้าม ส่วนธรรมเป็นข้อปฏิบัติ ดังเช่น เบญจศีล เป็นข้อห้ามประพฤติปฏิบัติอันเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ๕ ข้อสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน ได้แก่
๑. ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
๒ ห้ามลักฉ้อหรือคดโกง
๓. ห้ามประพฤติผิดในกาม
๔. ห้ามพูดปด
๕ ห้ามเสพสุราและสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

เบญจกัลยาณธรรม คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นคุณธรรมของคนดี ๕ ข้อ ตรงกันข้ามกับความประพฤติผิดศีล ได้แก่
๑. ความเป็นผู้มีเมตตากรุณาธรรมต่อผู้อื่น ไม่คิดประหัตประหารกัน
๒. การให้ทานและการประกอบสัมมาอาชีวะ
๓. ความมีสันโดษในคู่ครองของตน
๔. การกล่าวแต่วาจาที่จริง
๕. การมีสติสัมปชัญญะ รู้ผิดชอบชั่วดี รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อม แห่งชีวิตตามที่เป็นจริง

อานิสงส์ของการรักษาศีล คือ ความสำรวมระวังกาย และวาจาให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษนั้นมีมาก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสอานิสงส์ของศีล มีเป็นต้นว่า
๑. บุคคล ผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเจริญด้วยโภค ทรัพย์ มีความไม่ประมาทเป็นเหตุ
๒. กิตติ ศัพท์อันงามของผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมฟุ้งขจรไป
๓. ผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล จะเข้าสู่บริษัทหรือสมาคมใดๆ จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คฤหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม ย่อมเป็นผู้องอาจ ไม่เคอะเขินเข้าไป
๔. ผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา คือไม่หลงตาย และ 5. ผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล หลังจากตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ส่วนผู้ประพฤติผิดศีล ย่อมได้รับผลตรงกันข้าม กล่าวคือ ชีวิตย่อมหาความเจริญและสันติสุขแท้จริงมิได้ ย่อมนับวันแต่จะถึงความเสื่อมแห่งชีวิต และย่อมได้ประสบแต่ความทุกข์เดือดร้อนเพราะผลแต่อกุศลกรรมที่ตนประพฤติผิด ศีล ผิดธรรมนั้น มากน้อยตามความหนักเบาแห่งบาปอกุศลที่ตนกระทำ ผิดศีล

บัณฑิต ผู้รู้ มีสติปัญญาอันเห็นชอบ จึงเป็นผู้มีศีล และรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ย่อมเจริญด้วยโภคทรัพย์ กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งขจรไป จะเข้าสู่บริษัทหรือสมาคมใดๆ ย่อมเป็นผู้องอาจ เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา คือ ไม่หลงตาย ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้




เข้าพรรษา รักษาศีล

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในพุทธศาสนา ถัดจากวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา ๓ เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น

แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส

ศีล คือ ภาวะปกติ เป็นการระวังตั้งใจไม่ทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ และเป็นรากฐานของจิตใจเพื่อเป็นบันไดดำเนินไปสู่ทางบริสุทธิ์ คือพระนิพพาน

ศีล มีคุณประโยชน์มากมายหลายประการ เช่น
๑. ปิดกั้นผู้มีศีลไม่ให้ไปเกิดในอบายภูมิ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน อันเป็นแดนแห่งความทุกข์ทรมาน
๒. ผู้มีศีล ย่อมอยู่เป็นสุข เพราะไม่มีศัตรู ไม่มีภัยอันตราย มีโรคน้อย หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข มีคนเมตตา
๓. ผู้มีศีล มีชื่อเสียงดี มีคนเคารพนับถือ
๔. ผู้มีศีล เข้าไปสู่สังคมใดๆ ย่อมเข้าไปอย่างองอาจ ไม่เก้อเขิน
๕. ผู้มีศีล เป็นผู้ที่ไม่หลงเลอะเลือน วิกลจริต
๖. ผู้มีศีล เมื่อตายไป จิตของผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย ย่อมเข้าสู่ความสุขในโลกหน้า มีสวรรค์เป็นอย่างต่ำ มีพรหมโลกเป็นอย่างกลาง มีพระนิพพานเป็นอย่างสูงสุด

ผู้ที่ผิดศีล ย่อมได้รับโทษหลายอย่าง เป็นต้นว่า
๑. ไม่เป็นที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๒. มีทุกข์ในเพราะการครหาความเป็นผู้ผิดศีล
๓. มีความร้อนใจในเพราะการสรรเสริญของผู้มีศีล
๔. มีผิวพรรณหม่นหมอง
๕. เป็นผู้หวาดสะดุ้งตลอดเวลา เหมือนคนมีเวรอยู่ทั่วไป
๖. ถึงแม้จะสำคัญอยู่ว่า มีสุข ก็ชื่อว่า เป็นทุกข์ อยู่ร่ำไป เพราะเป็นผู้มีส่วนแห่งทุกข์

ด้วยเหตุนี้ ศีลจึงมีอานิสงส์มากมาย ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ที่พึ่งของกุลบุตรทั้งหลายในพระศาสนา เว้นศีลเสียแล้วย่อมไม่มี น้ำคือศีล ย่อมล้างมลทินของสัตว์ทั้งหลายได้ แม่น้ำใหญ่ๆ ไม่สามารถล้างมลทินของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ได้ บันไดสำหรับขึ้นสู่สวรรค์ ที่จะเสมอด้วยศีล จักมีแต่ที่ไหน

ผู้ที่สามารถดำเนินชีวิตให้มีปกติ ไม่ล่วงละเมิดศีล จะประสบแต่ความสุขความเจริญ เพราะศีลเป็นเบื้องต้นของความดี เป็นฐานรองรับความดีทุกอย่าง เหมือนพื้นแผ่นดินเป็นฐานรองรับสรรพสิ่งทั้งหลายที่อยู่เหนือแผ่นดินไว้ เพราะศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐสุด ประดับใจให้มนุษย์ทุกเพศวัยงดงามทุกกาลเวลา เพราะศีลจะส่งผลให้มีอาชีพมั่นคงก้าวหน้า โภคทรัพย์จะหลั่งไหลมาหาผู้มีศีล จะเป็นคนมีทรัพย์ไม่อับจน โดยเฉพาะทรัพย์ภายในคือจิตใจงดงาม และเพราะศีลเป็นเกราะป้องกันภัยอันตราย ทำให้รอดพ้นจากศัตรู ช่วยลดปัญหาต่างๆ ของสังคมและประเทศชาติ ที่จะทำร้ายเบียดเบียนกันทางกายและวาจา

ทำให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างสันติสุขตลอดไป




อามิสทาน

เพราะเห็นประโยชน์อานิสงส์แห่งทาน และโทษของการไม่นิยมให้ทาน ท่านผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลาย จึงชักชวนให้คนเราให้ทานแก่กัน และแสดงวิธีให้ทานไว้ว่า ทานมี ๒ อย่าง คือ อามิสทาน และ ธรรมทาน

คำว่า อามิสทาน หมายถึง การให้วัตถุสิ่งของ ที่เป็นประโยชน์ต่อการยังชีพ เช่น ให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค รวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้ผู้รับ ได้บริโภคใช้สอยให้เกิดประโยชน์แก่ตน โดยที่สุดแม้ทำให้เกิดความสุขทางใจ เกิดความภาคภูมิใจแก่ผู้รับ เช่น ของขวัญรางวัลต่างๆ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอามิสทานทั้งสิ้น

การให้วัตถุสิ่งของนั้น เป็นสื่อประสานใจที่สำคัญเบื้องต้น ที่จะทำให้คนเรารักกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เพราะผู้ให้ก็มีน้ำใจให้ ผู้รับก็รู้ซึ้งน้ำใจนั้น ใจต่อใจจึงเชื่อมประสานกัน และเมื่อต่างคนต่างให้ ต่างคนต่างรับ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปอย่างนี้ ไมตรีจิตก็ยิ่งจะเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ไปมาหาสู่กันมิได้ขาด ถึงจากกันไปไกลแค่ไหน แต่สายใยแห่งไมตรี ก็เชื่อมโยงกันไว้ตลอดเวลา เมื่อคนเรามีไมตรีต่อกัน รักและช่วยเหลือกันเช่นนี้ ก็ไม่เบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกัน

การทำบุญให้ทานมีวัตถุประสงค์ต่างกัน เช่น ให้เพื่อสงเคราะห์กันและกัน ให้เพื่อตอบแทนคุณ ให้เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กล่าวเฉพาะการให้วัตถุสิ่งของเพื่อทำบุญในพระพุทธศาสนา ที่เมื่อทำแล้วมีผลมาก จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ
๑. ปัจจัยสิ่งของสำหรับทำบุญต้องบริสุทธิ์ เช่น เงินที่จับจ่ายใช้สอยซื้อหาวัตถุสิ่งของเหล่านั้นต้องเป็นเงินที่ได้มาด้วยการประกอบสัมมาอาชีวะ เกิดขึ้นจากหยาดเหงื่อแรงงานของตนโดยตรง มิได้เบียดเบียนชีวิตคนและสัตว์อื่นๆ เช่น ฆ่าสัตว์มาทำบุญ และเป็นของดีมีคุณภาพ เป็นส่วนที่ดีที่สุดในบรรดาสิ่งของที่มีอยู่ เช่น ข้าวสุกที่นำมาใส่บาตรนั้น ก็เป็นข้าวปากหม้อ แกงก็เป็นแกงถ้วยแรกที่ตักออกมาจากหม้อ เป็นต้น วัตถุสิ่งของนั้นเป็นสิ่งของสมควรและไม่เกิดโทษแก่พระภิกษุสามเณร

๒. เจตนาของผู้ถวายบริสุทธิ์ คือ ความตั้งใจของผู้ทำบุญต้องบริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๔ คือ
    ๒.๑ ปุพพเจตนา ความตั้งใจก่อนจะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา ไม่มีความตระหนี่ถี่เหนียว ไม่มีความรู้สึกเสียดาย หรือลังเลใจในผลของบุญ
    ๒.๒ มุญจนเจตนา ความตั้งในขณะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา มีความปลาบปลื้มปีติยินดีในการทำบุญ น้อมกาย วาจา ใจ ถวายด้วยความเต็มใจ
    ๒.๓ อปรเจตนา ความตั้งใจหลังจากทำบุญไปแล้ว ภายใน ๗ วัน เมื่อหวนระลึกถึงการทำบุญที่ผ่านมาแล้ว
          มีความปีติสุขในบุญกุศลนั้น ไม่มีความรู้สึกเสียดาย
    ๒.๔ อปราปรเจตนา ความตั้งใจภายหลังจาก ๗ วันไปแล้ว แม้เวลาผ่านไปนานๆ เมื่อหวนระลึกถึงบุญที่ทำแล้ว ก็ปลาบปลื้มปีติใจอยู่เสมอไป


ผู้ที่ทำบุญด้วยเจตนาคือความตั้งใจบริสุทธิ์ทั้ง ๔ กาลนี้ จะส่งผลให้มีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และปลาบปลื้มใจในปัจจุบัน

๓. พระภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้แก่ พระภิกษุสามเณร ผู้เป็นเนื้อนาบุญ เป็นผู้บริสุทธิ์ คือปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิง หมายถึงพระอริยบุคคล หรือพระภิกษุสามเณรเป็น ผู้มีศีลบริสุทธิ์และเป็นผู้กำลังปฏิบัติเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ




พอใจในการกระทำ

คนส่วนมากในโลกนี้ล้วนมีความต้องการที่จะยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น ให้สูงขึ้น โดยปรารถนาความสุข ความสงบเป็นเป้าหมายปลายทาง แต่กว่าจะถึงสภาพดังกล่าวได้ ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน หนึ่งในกระบวนเหล่านั้นคือ ฉันทะ ที่แปลว่า ความพอใจ

ฉันทะเป็นธรรมะข้อแรก ในธรรมะ ๔ ข้อ ที่เรียกว่า อิทธิบาท คือ ธรรมะที่เป็นพื้นฐานสู่ความสำเร็จ

ทำไมต้องมีฉันทะ หรือทำไมต้องพอใจ คำตอบก็คือ เพราะเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของสิ่งนั้นๆ จึงพอใจ ในที่นี้ได้แก่ พอใจที่จะทำ หรือพอใจที่จะก้าวไปในเส้นทางนั้นๆ

ขอให้นึกถึงคนผู้นิยมสะสมของเก่า เป็นต้น ไม่ว่าเขาจะไปพบของเก่าที่ไหน ก็จะเข้าไปดู เข้าไปสังเกต หรือถึงกับขอซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน เพราะรู้สึกพอใจในสิ่งนั้น ถ้าพอใจน้อยก็อาจจะแค่ดูชม ถ้าพอใจมาก ก็อาจจะต้องยอมหาเงินหาทองมาซื้อ

นี้กล่าวโดยวัตถุสิ่งของ เพื่อจะแสดงว่า ถ้ามีความพึงพอใจในอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว จิตใจก็จะโน้มไปในทางนั้นอย่างสม่ำเสมอ และเพียรพยายามเพื่อให้ได้มา

สำหรับเป้าหมายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเล่าเรียน การทำงาน ตลอดจนการปฏิบัติธรรม ก็ต้องอาศัยฉันทะนี้เป็นพื้น

ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนนักศึกษามีฉันทะ คือพอใจที่จะเรียนหนังสือ เพราะเห็นประโยชน์อย่างชัดเจนว่าเรียนแล้วจะได้อะไร ดีต่อชีวิตอย่างไร นักเรียนนักศึกษาคนนั้นก็จะสนใจและตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ แน่นอนว่า ผลการเรียนจะออกมาดีและสำเร็จการศึกษาอย่างภาคภูมิใจ

หรือพระสงฆ์ที่มีฉันทะในบรรพชา คือพึงพอใจในการบวชเรียนเขียนอ่าน ก็จะมีความสุขกับการท่องบ่นอ่านเขียนพระปริยัติธรรม เรียนนักธรรมก็ดี เรียนบาลีก็เด่น เพราะเห็นอานิสงส์ของการเล่าเรียนและการปฏิบัติหน้าที่ของสมณะศากยบุตร ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา ด้วยดำริว่า หากไม่มีการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่พระศาสนา ก็จะนำพาไปสู่ความล่มสลายในที่สุด

ชาวพุทธอีกมากมาย ก็จะไม่ได้โอกาสแห่งการสดับรับฟังหลักธรรมคำสอนที่ถูกต้อง เพราะไม่มีผู้ศึกษาและสืบทอด เหตุนี้จึงมีฉันทะในการบรรพชา ศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่อย่างจริงจัง

มนุษย์ทั่วไปก็เหมือนกัน หากมีแรงบันดาลใจ จากใคร หรืออะไรก็ตาม แล้วน้อมนำทำให้เกิดฉันทะ ที่จะทำเรื่องนั้นๆ อย่างจริงจัง ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลเกินฝัน ดังนั้นจึงควรที่จะ เริ่มต้นก้าวไปสู่จุดหมาย ด้วยฉันทะ คือ พอใจทำ



Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กันยายน 2558 15:49:59 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 09 เมษายน 2557 14:07:16 »

.


ศีล ๕
ศีล ข้อ ๑ ปาณาติบาต
ศีลข้อที่ ๑ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ปฏิบัติคู่กับเบญจธรรม ข้อที่ ๑ คือ เมตตา-กรุณา ซึ่งเป็นคุณธรรมหนุนให้การรักษาศีลมั่นคงยิ่งขึ้น ผู้มีจิตเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย คือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ไม่คิดทำร้ายหรือเบียดเบียนใครๆ ให้มีความทุกข์ความเดือดร้อน จึงทำให้มนุษย์และสัตว์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

หากคนไม่มีเมตตาต่อกัน อะไรจะเกิดขึ้น ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นในสังคมแน่นอน เพราะแต่ละคนต่างตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ความโกรธ และความหลง จึงสามารถทำร้ายผู้อื่นให้บาดเจ็บถึงขั้นฆ่ากันให้ตายได้

หลักวินิจฉัยผิดศีลหรือไม่
๑. สัตว์มีชีวิต
๒. รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. มีจิตคิดจะฆ่าให้ตาย
๔. พยายามฆ่า
๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ถ้าครบทั้ง ๕ ข้อนี้ ผิดศีลข้อที่ ๑ ทันที

การฆ่ามนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน มีโทษแตกต่างกัน ฆ่ามนุษย์ มีโทษตามกฎหมายที่ร้ายแรง ตั้งแต่จำคุกถึงประหารชีวิต ถ้าเป็นพระสงฆ์หากฆ่ามนุษย์ตาย ต้องขาดจากความเป็นพระทันที และได้รับโทษทางกฎหมายบ้านเมืองด้วย การฆ่ามนุษย์นี้ จะฆ่าเองหรือจ้างวานให้ผู้อื่นไปฆ่า ถือว่ามีความผิดเหมือนกัน

การฆ่าตัวตาย จัดว่าผิดศีลข้อ ๑ และยังส่งผลให้ถูกสังคม ดูหมิ่น สร้างความเสื่อมเสียให้แก่วงศ์ตระกูล มีโทษมากเช่นกัน ผู้ฆ่าคนอื่นตาย ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความลำบาก คอยหลบซ่อนตัวหนีตำรวจ คอยระวังภัยที่ถูกตามล้างแค้น ถ้าถูกจับต้องติดคุก ไม่มีศักดิ์ศรี เป็นที่รังเกียจของสังคม

การฆ่าสัตว์เดรัจฉาน มีโทษเบากว่าฆ่ามนุษย์ ทางกฎหมายบ้านเมืองจะถูกปรับถ้าฆ่าสัตว์ของผู้อื่นหรือฆ่าสัตว์ที่ต้องห้าม จะมีโทษมากหรือน้อยนั้น อยู่ที่สัตว์นั้นมีคุณมากหรือน้อย ความพยายามของผู้ฆ่ามากหรือน้อย ถึงอย่างไรก็ตามไม่ควรฆ่าหรือเบียดเบียนกันเลย

ในพระธรรมวินัย ถ้าพระสงฆ์ฆ่าสัตว์เดรัจฉาน มีความผิด ต้องแสดงโทษแก่พระสงฆ์รูปอื่นให้ทราบ พร้อมทั้งประกาศว่าจะตั้งใจสำรวมระวังไม่ทำผิดคิดร้ายอีกต่อไป

การทำร้ายผู้อื่นให้เจ็บปวดทรมานถึงปางตาย ทำให้เขาพิการ ซึ่งบ่อยครั้งพบว่าการทำร้ายร่างกายกัน ผลมาจากการทะเลาะ วิวาทกัน เริ่มต้นด้วยอารมณ์โกรธ และขาดสติจึงทะเลาะกัน ทำร้ายกัน เป็นเหตุทำให้คนพยาบาทจองเวรและฆ่ากันในที่สุด ถือว่ามีมูลฐานมาจากจิตใจที่ไม่มีเมตตา

ดังนั้นการรักษาศีลข้อที่ ๑ คู่กับเบญจธรรม คือ เมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ย่อมกำจัดความพยาบาทจองเวรกัน ย่อมปรารถนา ให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ย่อมกำจัดความเบียดเบียนผู้อื่นที่เกิดขึ้นในใจได้ มีผลให้มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข ไม่มีเวรภัย ไม่ต้องหวาดระแวงต่อกันและกัน ส่งผลถึงชาติหน้าได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ไม่มีโรค อายุยืน ไม่มีศัตรูเบียดเบียน

ไม่ต้องประสบอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตก่อนวัย อันควร


ศีล ข้อ ๒ อทินนาทาน
ศีลข้อที่ ๒ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการลักขโมย ซึ่งมีหลายประเภท เช่น
ลัก คือ การถือเอาสิ่งของด้วยอาการขโมย โดยเจ้าของไม่รู้ตัว
ปล้น คือ การยกพวกเข้าไปในบ้านผู้อื่น แล้วรวบรวมสิ่งของที่ต้องการหนีไป
หลอก คือ การพูดปดเพื่อต้องการได้สิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตน
ลวง คือ ทำให้เขาหลงเชื่อ แล้วยอมมอบสิ่งของให้
ปลอม คือ สิ่งของที่ไม่แท้ ทำให้ผู้อื่นเห็นว่าเป็นของแท้
ลักลอบ คือ เลี่ยงภาษี หรือละเมิดกฎหมายภาษีอากร
ยักยอก คือ ถือเอาสิ่งของผู้อื่นที่ตนรักษาไว้ไปโดยการทุจริต

หลักวินิจฉัยผิดศีลหรือไม่
๑. สิ่งของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒. รู้ว่ามีเจ้าของหวงแหน
๓. มีจิตคิดจะลักขโมย
๔. มีความพยายามที่จะลักขโมยสิ่งนั้น
๕. สามารถลักขโมยสิ่งของนั้นมาได้

ถ้าครบทั้ง ๕ ข้อ ผิดศีลทันที

ในสังคมหรือหน่วยงานทุกสถานที่ ถ้ามีคนชอบลักขโมยเป็นประจำ คงอยู่กันอย่างไม่มีความสุข ต้องหวาดระแวง คอยระวังรักษาทรัพย์สินเงินทองอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่ถูกลักขโมยหรือโกงทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องเสียใจ ไม่มีใครต้องการสูญเสียหรือเสียเปรียบใดๆ เป็นเหตุให้เกิดอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน แม้แต่ญาติพี่น้องก็ไม่ยอมกัน ฟ้องร้องกัน ต้องไปสู้คดีกันที่ศาล มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายไม่จบสิ้น

การดำเนินชีวิตตามกรอบของศีลข้อนี้ จึงต้องมีเบญจธรรม คือสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบถูกต้อง มีความซื่อสัตย์ในการทำงาน ยินดีในการเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวด้วยกำลังความสามารถ โดยไม่มุ่งหวังทรัพย์สินของผู้อื่น

หากเป็นข้าราชการไม่คิดเบียดบังทรัพย์สินทางราชการ หรือแสวงหาผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ ถือตามคติโบราณที่ว่า ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน พยายามมองเห็นภัยของการลักขโมยด้วยอาการต่างๆ ที่กล่าวมา มีผลเป็นความทุกข์ยากเดือดร้อน ต้องได้รับโทษตามความผิด ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เป็นคนน่ารังเกียจ สังคมไม่ยอมรับ ไม่มีความสุขอันจะพึงได้รับเหมือนคนดีทั่วไป

พิจารณาเห็นคุณความดีของการรักษาศีลข้อนี้ พร้อมด้วยมีอาชีพซื่อสัตย์สุจริต จะก่อให้เกิดความสุข มีคนไว้วางใจ ยกย่องนับถือว่าเป็นคนใจซื่อมือสะอาด สังคมต้องการยิ่งนัก

ผลในภายหน้าทำให้เกิดมาในตระกูลที่ร่ำรวย ประกอบอาชีพใดจะมีแต่โอกาสที่ดี ได้ผลกำไรน่าพึงพอใจ มั่งมีทรัพย์สินตามที่ปรารถนา และสามารถรักษาสมบัติไว้ให้คงทนถาวร โดยไม่วิบัติด้วยภัยต่างๆ เช่น ถูกไฟไหม้ น้ำท่วม พายุโหมกระหน่ำให้เสียหาย ถูกโจรลักหรือถูกโกงไป


ศีลข้อ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร
ศีลข้อที่ ๓ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คำว่า กาม ในที่นี้หมายถึง อาการที่รักใคร่ในทางประเวณี ชายหญิงที่ประพฤติผิดล่วงเกินกันในทางเพศ

ลักษณะของชายหญิงที่ไม่ควรล่วงเกินกัน คือ
- คนที่แต่งงานแล้ว หรืออยู่กินกันอย่างสามีภรรยาโดยเปิดเผย
- มีผู้ปกครองคือบิดามารดา หรือญาติพี่น้องคุ้มครองรักษา
- มีวงศ์ตระกูลรักษาคุ้มครอง
- มีธรรมรักษาคือผู้ประพฤติธรรม เป็นนักบวช หรือ
- มีกฎหมายคุ้มครอง เป็นต้น

หลักวินิจฉัยผิดศีลหรือไม่
๑. วัตถุที่ไม่ควรล่วงเกิน เช่น ช่องปัสสาวะ ทวารหนัก ช่องปาก เป็นต้น
๒. มีจิตคิดจะเสพในวัตถุที่ไม่ควรล่วงเกินนั้น
๓. มีความพยายามในการที่จะเสพ
๔. ความพยายามสำเร็จตามประสงค์

ถ้าครบทั้ง ๔ ข้อนี้ ผิดศีลทันที

การดำเนินชีวิตตามกรอบของศีลข้อนี้ให้บริสุทธิ์ กล่าวคือสามารถดำรงอยู่โดยปกติสุข ควรปฏิบัติคู่กับเบญจธรรม คือความสำรวมในกาม รู้จักยินดีพอใจในคู่ครองของตน เป็นคุณธรรมสำหรับผู้เป็นสามี แสดงถึงหน้าที่รับผิดชอบจะต้องยกย่องนับถือ ไม่ดูหมิ่นให้เสียน้ำใจ ยินดีพอใจรักใคร่ในภรรยาของตนอย่างสม่ำเสมอ ช่วยกันดูแลครอบครัวให้มีความสุข ไม่ผูกใจรักใคร่หญิงอื่นอีก

ฝ่ายภรรยา ควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน มีความจงรักภักดีในสามีของตน ควรเอาใจใส่บำรุงตามหน้าที่ทุกอย่างโดยไม่บกพร่อง ประคองใจให้รักเดียวตลอดชีวิต

ผลเสีย การผิดศีลข้อสามนี้ที่ประพฤตินอกใจกัน ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายในครอบครัว จากคนที่เคยไว้ใจ กลายเป็นคนที่น่าหวาดระแวง จากคนที่เคยรัก กลายเป็นคนที่ชังกัน กลายเป็นปัญหาสังคมมากมาย เช่น ปัญหาเรื่องการแก่งแย่งคู่ครองกัน ปัญหาหญิงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น เกิดขึ้นไม่รู้จบสิ้น

ผลดี ความยินดีพอใจในคู่ครองของตน จะไม่ทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกในครอบครัว การอาฆาตพยาบาท ปองร้ายทำลายชีวิตกัน อันเนื่องมาจากการนอกใจของสามีภรรยา ปัญหาสังคมที่ผู้หญิงถูกรังแกข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งมีข่าวปรากฏให้เห็นไม่เว้นวัน จะไม่เกิดขึ้น ปัญหาความสำส่อนทางเพศเป็นเหตุให้ติดโรคร้ายทำลายชีวิตนับไม่ถ้วน จะไม่เกิดขึ้นอีก ทำให้ครอบครัวมีความสุขซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของสังคมประเทศชาติ ดังคำที่ว่า ครอบครัวที่ยิ่งใหญ่ คือชาติไทยที่มั่นคง

ผลดีในอนาคต เป็นแรงเสริมให้เกิดมาโชคดีในเรื่องความรัก ไม่ต้องเสียใจ เพราะความผิดหวัง เมื่อมีบุตรธิดาจะเป็นคนสอนง่าย ไม่ถูกคนอื่นหลอกลวงไปทำอนาจารให้เสียหาย มีแต่นำชื่อเสียงความดีงามมาให้ตนเองครอบครัวและวงศ์ตระกูล


ศีล ข้อ ๔ มุสาวาท
ศีลข้อที่ ๔ งดเว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดโกหก อาการแสดงความเท็จหรือโกหก มี ๒ ลักษณะ คือ
(๑) มุสาทางวาจา พูดให้เข้าใจผิดโดยไม่มีมูลความจริง หลอกให้เสียประโยชน์ พูดให้ทะเลาะกัน
      พูดเสริมข้อมูลเดิมเกินความเป็นจริงทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อ ผิดสัญญาที่ตกลงกันไว้
(๒) มุสาทางกาย แสดงอาการทางกาย เช่น พยักหน้า ใช้มือส่งสัญญาณ หรือเขียนหนังสือสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจผิด

หลักวินิจฉัยผิดศีลหรือไม่
๑. พูดเรื่องที่ไม่จริง
๒. ตั้งใจพูดให้ผิดความเป็นจริง
๓. พยายามพูดออกไป
๔. คนอื่นเข้าใจความหมายที่พูดนั้น

ถ้าครบทั้ง ๔ นี้ ผิดศีลทันที

ผลเสีย การพูดเท็จหรือพูดโกหกนั้น มีโทษน้อยหรือมาก อยู่ที่ความตั้งใจและผลเสียหายในการพูด

ในเบื้องต้นมีผลเสีย คือจะกล่าวสอนแนะนำใครๆ เช่น บุตรธิดา มิตรสหาย ศิษย์บริวาร ไม่มีคนเชื่อฟังนับถือ คำพูดไม่มีความหมายไร้ประโยชน์ เป็นการทำลายความดี ชื่อเสียง เกียรติ ของตนเอง ครอบครัวและวงศ์ตระกูลให้เสื่อมเสีย เกิดการทะเลาะวิวาท หรือถูกแจ้งความดำเนินคดี ฟ้องร้องกัน ดังตัวอย่างเรื่องปลาทองปากเหม็น...ชายหนุ่มสองพี่น้อง มีใจเลื่อมใส บวชในพระพุทธศาสนา พระพี่ชายมีอัธยาศัยน้อมไปในการปฏิบัติธรรม ได้ศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ไม่นานนักท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระน้องชายสนใจเรื่องการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม มีความรู้ความชำนาญในพระสูตรต่างๆ และทรงจำได้มาก สามารถแสดงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดาร สาธารณชนยกย่องนับถือท่านเป็นจำนวนมาก

ต่อมา พระน้องชายหลงตัวเองสำคัญว่ารู้ซึ้งในพระธรรมวินัย กล่าวผิดหลักธรรมคำสั่งสอน เที่ยวด่าพระภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ พระพี่ชายซึ่งเป็นพระอรหันต์ว่ากล่าวตักเตือน แต่ไม่ยอมเชื่อฟัง ทั้งพระภิกษุสามเณรและสาธุชน ต่างระอาใจหมดศรัทธาไม่เชื่อฟังและเคารพนับถือเหมือนเช่นเคย หลังจากท่านมรณภาพแล้ว ด้วยผลกรรมนั้นนำไปเกิดในนรก ต้องทนทุกข์ทรมานแสนนาน ต่อจากนั้นไปเกิดเป็นปลาซึ่งมีลักษณะพิเศษ ทั่วตัวเป็นสีทอง แต่ปากเหม็นมาก ถูกชาวประมงจับได้ จึงพากันนำไปถวายพระราชา พระราชานำความไปทูลถามพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องในอดีตของปลาทองที่เคยทำผิดศีลข้อที่สี่

การดำเนินชีวิตตามกรอบของศีลข้อนี้ ที่ถูกต้องดีงาม ควรปฏิบัติคู่กับเบญจธรรมคือความซื่อสัตย์ ความจริงใจ งดเว้นการพูดโกหกในทุกกรณี ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เพราะธรรมชาติของทุกคนรู้สึกยินดีในความซื่อสัตย์ ความจริงใจ รังเกียจคนหลอกลวงกัน

เมื่อพูดจาด้วยความจริงใจต่อกัน ทำให้เกิดความเคารพนับถือกันและกัน ทั้งช่วยรักษาผลประโยชน์และมิตรภาพที่ดีไว้ได้ ทำให้เป็นคนมีน้ำเสียงไพเราะนุ่มนวลชวนฟังดุจเสียงพรหม มีไหวพริบปฏิภาณในการพูด มีบุตรธิดา มิตรสหายบริวาร จะอยู่ในโอวาทว่านอนสอนง่าย เชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนด้วยดี


ศีล ข้อ ๕ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน
ศีลข้อที่ ๕ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
สุรา คือ น้ำเมาที่กลั่นออกมาจากเมรัย มีความเข้มข้นมาก ส่วน เมรัย คือ น้ำเมาที่เป็นของดองจากธัญชาติ มีรสหวานเช่น ไวน์

สุราและเมรัยนั้น เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เพราะทำให้ผู้ดื่มมึนเมา ขาดสติไม่รู้สึกตัว เปลี่ยนคนดีๆ ให้กลายเป็นคนไม่ดี

หลักวินิจฉัยผิดศีลหรือไม่
๑. เป็นน้ำเมาชนิดต่างๆ
๒. มีความตั้งใจจะดื่มน้ำเมา
๓. มีความพยายามดื่มน้ำเมา
๔. น้ำเมานั้นล่วงลำคอลงไป

ถ้าครบทั้ง ๔ ข้อผิดศีลทันที

ผลเสีย
- ทำให้เสียทรัพย์ ในการจัดซื้อมาดื่ม ต้องสิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทอง เพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด
- มีเหตุทะเลาะวิวาทกัน เมื่อดื่มมากสามารถเปลี่ยนนิสัยคนได้ จากที่เคยสงบเสงี่ยมเรียบร้อย กลายเป็นคนอันธพาล
  หาเรื่องทะเลาะวิวาทกัน จากมิตรกลายเป็นศัตรู
- เสียสุขภาพ มีผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย เซลล์สมองจะถูกทำลาย กลายเป็นโรคสมองเสื่อม เป็นโรคตับแข็ง เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
  หากดื่มมากเกินปริมาณทำให้เสียสมดุลทางร่างกาย เกิดอันตรายในเวลาขับรถ ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนนับไม่ถ้วน  
  ทำให้บาดเจ็บบ้าง พิการบ้าง เสียชีวิตบ้าง
- เสียชื่อเสียง มีแต่คนรังเกียจว่าเป็นคนขี้เหล้าเมายา ไม่มีใครต้องการสมาคม ในที่ทำงานหรือเพื่อนบ้านก็เช่นเดียวกัน
   ถูกตำหนิถึงพ่อแม่พี่น้องวงศ์ตระกูล
- ไม่รู้จักอาย กลายเป็นคนหน้าด้าน สามารถแสดงออกในด้านที่ไม่ดี คำพูดที่ไม่ควรพูด การกระทำที่ไม่ควรกระทำ
- บั่นทอนปัญญา ที่พบเห็นอยู่ในสังคมจะเป็นคนปัญญาอ่อน มีอาการเหมือนเบลอๆ เรียนรู้ได้ช้า ไม่สามารถแยกแยะ
   ถึงเหตุผลดีหรือไม่ดี ทำอะไรด้วยความประมาทขาดสติ ใจร้อนตัดสินใจผิดพลาดบ่อยครั้ง เป็นผลมาจากการดื่มสุราเมรัยรวมถึงยากเสพติดทั้งสิ้น

ภาพของคนมึนเมาสุราหรือยาบ้าที่ทำร้ายตนเองบ้าง ทำร้ายผู้อื่นบ้าง นั่นเป็นผลแห่งการกระทำความชั่วคือละเมิดศีลข้อ ๕ ซึ่งไม่มีใครชื่นชมยกย่อง มีแต่คนสาปแช่งนินทาตลอดไป

การดำเนินชีวิตตามกรอบของศีลข้อนี้ที่ถูกต้องดีงาม ควรปฏิบัติคู่กับเบญจธรรมคือ มีสติรอบคอบ มีใครมาชวนไปทำผิดเช่นการดื่มน้ำเมา ไม่ควรใจอ่อนหรือปล่อยใจไปตามกระแสจนเกินไป มีจุดยืนของตัวเอง รู้จักเลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

ผลแห่งการปฏิบัติ คือ ไม่ต้องประสบความทุกข์เดือดร้อนในภายหน้า ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีชื่อเสียงในสังคมคนดี เป็นคนองอาจไม่เก้อเขินเมื่อเข้าไปในหมู่ของคนดี มีสติ ปัญญาที่บริบูรณ์ จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดเข้าใจง่ายแตกฉาน เป็นเหตุให้บรรลุธรรมชั้นสูงได้



จากคอลัมน์ "ธรรมะวันหยุด" หนังสือพิมพ์ข่าวสด
โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร กรุงเทพมหานคร



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กันยายน 2558 15:56:45 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 05 กันยายน 2557 13:27:03 »

.


อามิสทาน

เพราะเห็นประโยชน์อานิสงส์แห่งทาน และโทษของการไม่นิยมให้ทาน ท่านผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลาย จึงชักชวนให้คนเราให้ทานแก่กัน และแสดงวิธีให้ทานไว้ว่า ทานมี ๒ อย่าง คือ อามิสทาน และ ธรรมทาน

คำว่า อามิสทาน หมายถึง การให้วัตถุสิ่งของ ที่เป็นประโยชน์ต่อการยังชีพ เช่น ให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค รวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้ผู้รับ ได้บริโภคใช้สอยให้เกิดประโยชน์แก่ตน โดยที่สุดแม้ทำให้เกิดความสุขทางใจ เกิดความภาคภูมิใจแก่ผู้รับ เช่น ของขวัญรางวัลต่างๆ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอามิสทานทั้งสิ้น

การให้วัตถุสิ่งของนั้น เป็นสื่อประสานใจที่สำคัญเบื้องต้น ที่จะทำให้คนเรารักกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เพราะผู้ให้ก็มีน้ำใจให้ ผู้รับก็รู้ซึ้งน้ำใจนั้น ใจต่อใจจึงเชื่อมประสานกัน และเมื่อต่างคนต่างให้ ต่างคนต่างรับ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปอย่างนี้ ไมตรีจิตก็ยิ่งจะเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ไปมาหาสู่กันมิได้ขาด ถึงจากกันไปไกลแค่ไหน แต่สายใยแห่งไมตรี ก็เชื่อมโยงกันไว้ตลอดเวลา เมื่อคนเรามีไมตรีต่อกัน รักและช่วยเหลือกันเช่นนี้ ก็ไม่เบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกัน

การทำบุญให้ทานมีวัตถุประสงค์ต่างกัน เช่น ให้เพื่อสงเคราะห์กันและกัน ให้เพื่อตอบแทนคุณ ให้เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กล่าวเฉพาะการให้วัตถุสิ่งของเพื่อทำบุญในพระพุทธศาสนา ที่เมื่อทำแล้วมีผลมาก จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ
๑. ปัจจัยสิ่งของสำหรับทำบุญต้องบริสุทธิ์ เช่น เงินที่จับจ่ายใช้สอยซื้อหาวัตถุสิ่งของเหล่านั้นต้องเป็นเงินที่ได้มาด้วยการประกอบสัมมาอาชีวะ เกิดขึ้นจากหยาดเหงื่อแรงงานของตนโดยตรง มิได้เบียดเบียนชีวิตคนและสัตว์อื่นๆ เช่น ฆ่าสัตว์มาทำบุญ และเป็นของดีมีคุณภาพ เป็นส่วนที่ดีที่สุดในบรรดาสิ่งของที่มีอยู่ เช่น ข้าวสุกที่นำมาใส่บาตรนั้น ก็เป็นข้าวปากหม้อ แกงก็เป็นแกงถ้วยแรกที่ตักออกมาจากหม้อ เป็นต้น วัตถุสิ่งของนั้นเป็นสิ่งของสมควรและไม่เกิดโทษแก่พระภิกษุสามเณร

๒. เจตนาของผู้ถวายบริสุทธิ์ คือ ความตั้งใจของผู้ทำบุญต้องบริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๔ คือ
    ๒.๑ ปุพพเจตนา ความตั้งใจก่อนจะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา ไม่มีความตระหนี่ถี่เหนียว ไม่มีความรู้สึกเสียดาย หรือลังเลใจในผลของบุญ
    ๒.๒ มุญจนเจตนา ความตั้งในขณะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา มีความปลาบปลื้มปีติยินดีในการทำบุญ น้อมกาย วาจา ใจ ถวายด้วยความเต็มใจ
    ๒.๓ อปรเจตนา ความตั้งใจหลังจากทำบุญไปแล้ว ภายใน ๗ วัน เมื่อหวนระลึกถึงการทำบุญที่ผ่านมาแล้ว
          มีความปีติสุขในบุญกุศลนั้น ไม่มีความรู้สึกเสียดาย
    ๒.๔ อปราปรเจตนา ความตั้งใจภายหลังจาก ๗ วันไปแล้ว แม้เวลาผ่านไปนานๆ เมื่อหวนระลึกถึงบุญที่ทำแล้ว ก็ปลาบปลื้มปีติใจอยู่เสมอไป
ผู้ที่ทำบุญด้วยเจตนาคือความตั้งใจบริสุทธิ์ทั้ง ๔ กาลนี้ จะส่งผลให้มีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และปลาบปลื้มใจในปัจจุบัน

๓. พระภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้แก่ พระภิกษุสามเณร ผู้เป็นเนื้อนาบุญ เป็นผู้บริสุทธิ์ คือปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิง หมายถึงพระอริยบุคคล หรือพระภิกษุสามเณรเป็น ผู้มีศีลบริสุทธิ์และเป็นผู้กำลังปฏิบัติเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ




พอใจในการกระทำ

คนส่วนมากในโลกนี้ล้วนมีความต้องการที่จะยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น ให้สูงขึ้น โดยปรารถนาความสุข ความสงบเป็นเป้าหมายปลายทาง แต่กว่าจะถึงสภาพดังกล่าวได้ ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน หนึ่งในกระบวนเหล่านั้นคือ ฉันทะ ที่แปลว่า ความพอใจ

ฉันทะเป็นธรรมะข้อแรก ในธรรมะ ๔ ข้อ ที่เรียกว่า อิทธิบาท คือ ธรรมะที่เป็นพื้นฐานสู่ความสำเร็จ

ทำไมต้องมีฉันทะ หรือทำไมต้องพอใจ คำตอบก็คือ เพราะเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของสิ่งนั้นๆ จึงพอใจ ในที่นี้ได้แก่ พอใจที่จะทำ หรือพอใจที่จะก้าวไปในเส้นทางนั้นๆ

ขอให้นึกถึงคนผู้นิยมสะสมของเก่า เป็นต้น ไม่ว่าเขาจะไปพบของเก่าที่ไหน ก็จะเข้าไปดู เข้าไปสังเกต หรือถึงกับขอซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน เพราะรู้สึกพอใจในสิ่งนั้น ถ้าพอใจน้อยก็อาจจะแค่ดูชม ถ้าพอใจมาก ก็อาจจะต้องยอมหาเงินหาทองมาซื้อ

นี้กล่าวโดยวัตถุสิ่งของ เพื่อจะแสดงว่า ถ้ามีความพึงพอใจในอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว จิตใจก็จะโน้มไปในทางนั้นอย่างสม่ำเสมอ และเพียรพยายามเพื่อให้ได้มา

สำหรับเป้าหมายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเล่าเรียน การทำงาน ตลอดจนการปฏิบัติธรรม ก็ต้องอาศัยฉันทะนี้เป็นพื้น

ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนนักศึกษามีฉันทะ คือพอใจที่จะเรียนหนังสือ เพราะเห็นประโยชน์อย่างชัดเจนว่าเรียนแล้วจะได้อะไร ดีต่อชีวิตอย่างไร นักเรียนนักศึกษาคนนั้นก็จะสนใจและตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ แน่นอนว่า ผลการเรียนจะออกมาดีและสำเร็จการศึกษาอย่างภาคภูมิใจ

หรือพระสงฆ์ที่มีฉันทะในบรรพชา คือพึงพอใจในการบวชเรียนเขียนอ่าน ก็จะมีความสุขกับการท่องบ่นอ่านเขียนพระปริยัติธรรม เรียนนักธรรมก็ดี เรียนบาลีก็เด่น เพราะเห็นอานิสงส์ของการเล่าเรียนและการปฏิบัติหน้าที่ของสมณะศากยบุตร ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา ด้วยดำริว่า หากไม่มีการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่พระศาสนา ก็จะนำพาไปสู่ความล่มสลายในที่สุด

ชาวพุทธอีกมากมาย ก็จะไม่ได้โอกาสแห่งการสดับรับฟังหลักธรรมคำสอนที่ถูกต้อง เพราะไม่มีผู้ศึกษาและสืบทอด เหตุนี้จึงมีฉันทะในการบรรพชา ศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่อย่างจริงจัง

มนุษย์ทั่วไปก็เหมือนกัน หากมีแรงบันดาลใจ จากใคร หรืออะไรก็ตาม แล้วน้อมนำทำให้เกิดฉันทะ ที่จะทำเรื่องนั้นๆ อย่างจริงจัง ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลเกินฝัน ดังนั้นจึงควรที่จะ เริ่มต้นก้าวไปสู่จุดหมาย ด้วยฉันทะ คือ พอใจทำ




ตั้งใจทำ

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว เป็นคำที่คุ้นใจชาวพุทธเป็นส่วนมาก ด้วยหลักการในพระพุทธศาสนาก็รับรองชัดเจนว่า อานุภาพแห่งจิตนี้มีมากเพียงไร ทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูดก็ล้วนมีผลมาจากจิตใจที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง

แต่ลักษณะของจิตใจปุถุชนนี้ไม่แน่นอน เพราะโดยปกติจิตใจที่ไม่มีสมาธิ จะดิ้นรน กวัดแกว่ง บังคับยาก ห้ามยาก ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้นาน มักตกไปในอารมณ์ที่ตนรักใคร่เป็นพื้น

เมื่อลักษณะจิตใจไม่แน่นอน ผลที่มุ่งหวังก็ไม่แน่นอน มนุษย์ที่หวังความสำเร็จจึงต้องสนใจในเรื่องของการฝึกจิต ทำจิตให้มีสมาธิหรือแน่แน่วในแนวหมาย

เหมือนเป็นการปรับโฟกัสของเลนส์กล้องถ่ายรูป หากปรับไม่ถูกเป้าหมายภาพก็จะไม่ชัด ไม่สวย

เหมือนกันกับความฝันของมนุษย์ ถ้าการปรับเลนส์ใจไม่นิ่งพอก็จะเห็นเป้าหมายไม่ชัดเจน ส่งผลต่อการก้าวไปในธรรม คือยากแก่การพัฒนาให้ถึงจุดหมายหรือสำเร็จเป็นมรรคผลได้

จิตตะ เป็นหนึ่งในอิทธิบาท ๔ แปลเข้าใจง่ายๆ คือ ตั้งใจ จดจ่อ หรือเอาใจใส่ ในสิ่งที่กำลังทำกำลังดำเนินการอยู่

ยกตัวอย่าง เช่น นักเรียนนักศึกษาอยู่ในวัยแสวงวิชาการอันเป็นพื้นฐานสู่การทำงานต่อไป หากไม่เอาใจใส่ คือสักแต่ว่าเรียน วิชาการที่ควรจะได้ ทักษะที่ควรจะมี ก็ไม่ได้และไม่มี ส่งให้ผลการเรียนย่ำแย่ และอาจศึกษาไม่จบครบหลักสูตร ไม่ถึงฝั่งฝันแห่งการศึกษา เสียเวลา เสียเงินเปล่าๆ

แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีจิตตะ คือเอาใจใส่ จดจ่อ โฟกัสอยู่ในการศึกษาทุกช่วงเวลา ตั้งแต่ก่อนเรียน ขณะเรียน และหลังเรียน สิ่งที่ครูอาจารย์ถ่ายทอดก็ไม่สูญหาย แต่จะสถิตอยู่ในความทรงจำของศิษย์ที่เอาใจใส่ และเป็นความหวังแก่อนุชนคนรุ่นต่อๆ ไป

ในการได้ศึกษาเล่าเรียนจากบรรพชนที่เอาใจใส่ในการศึกษา ความผิดพลาดตกหล่นทางวิชาการก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ที่เกิดขึ้นก็เพราะศิษย์จากรุ่นสู่รุ่นขาดการเอาใจใส่ในการเล่าเรียน แม้ในวงการศึกษาพระปริยัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ถ้าขาดการศึกษาอย่างเอาใจใส่ในที่สุดก็ไร้คนสืบทอดสิ่งที่ถูกต้อง และนำไปสู่ความเสื่อมสูญแห่งศาสนาได้เหมือนกัน

คฤหัสถ์ญาติโยมที่รักจะสร้างเนื้อสร้างตัว ในมั่นคงเป็นปึกแผ่น นอกจากจะมีความพึงพอใจและเพียรพยายามในวิชาชีพแล้ว ต้องเอาใจใส่ในรายละเอียดด้วย เช่น ความรู้ใหม่ๆ จิตวิทยา และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย จะสามารถปรับตัวได้ ปรับใจเป็น และชัดเจนในเป้าหมายของตนเองจนก้าวไปถึงเส้นชัยได้

โดยอาศัยธรรมะคือ จิตตะ ที่แปลว่า ตั้งใจทำ




ข้อที่ไม่ควรประพฤติ
ผู้หวังความเจริญ ควรประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปในทางที่ชอบ มีปัญญาพิจารณาว่า อะไรเป็นทางเสื่อมก็พึงละเว้น มุ่งหาแต่ทางที่เจริญ ทางที่ชอบประกอบด้วยประโยชน์ มีสติสัมปชัญญะ ตรวจตราให้รอบคอบประกอบด้วยเหตุผล ทำความเห็นให้เที่ยงตรง ทำความประพฤติปฏิบัติให้เป็นเครื่องนำมาประโยชน์มาให้แก่ตนและผู้อื่น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใดกล่าวล่วงเกินว่า เป็นผู้บกพร่องในความประพฤติ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อที่ไม่ควรประพฤติ ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ไม่พึงเสพธรรมอันเลว ธรรมที่เลวในปัจจุบันนี้มีมากมาย เช่น ทุจริต๓ ประการ คือ ประพฤติชั่วทางกาย ประพฤติชั่วทางวาจา และประพฤติชั่วทางใจ
- ประพฤติชั่วทางกาย แบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ เบียดเบียนชีวิตและความสุขของผู้อื่น เบียดเบียนเอาทรัพย์สมบัติ เบียดเบียนเชื้อสายสกุลวงศ์
- ประพฤติชั่วทางวาจา แบ่งออกเป็น ๔ ประการ คือ กล่าวเท็จหักราญประโยชน์ผู้อื่น พูดทำลายความสามัคคี กล่าวคำเสียดสีให้ช้ำใจ กล่าวคำเหลวไหลไม่เป็นประโยชน์
- ประพฤติชั่วทางใจ แบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ผูกใจเจ็บอาฆาตพยาบาทจองล้างจองผลาญ เห็นทางที่ผิดคิดว่าชอบว่าถูกต้อง

ประการที่ ๒ ธรรมของคนพาล จัดว่าเป็นธรรมที่เลว เพราะเป็นธรรมของคนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญาวิจารณญาณที่หยั่งรู้ถึงความผิดชอบชั่วดี เช่น
- ความไม่รู้จักเหตุ ว่าเหตุนี้เป็นทางนำไปสู่สุข เหตุนี้เป็นทางนำไปสู่ทุกข์
- ความไม่รู้จักผล เห็นตนว่ามีค่ากว่าฐานะที่เป็นอยู่
- ความไม่จักตน ไม่รู้จักสถานภาพของตนเองในด้านความรู้ความสามารถและคุณธรรม
- ความไม่รู้จักประมาณในการแสวงหาหรือบริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติ
- ความไม่รู้จักกาละที่จะประกอบกิจให้เหมาะสมกับกาลสมัย
- ความไม่รู้จักประชุมชนซึ่งตนเองจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง
- ความไม่รู้จักเลือกคบหาสมาคมแต่คนดี

เมื่อรู้ข้อที่ไม่ควรประพฤติ ๒ ประการนี้แล้ว จึงทรงแสดงข้อที่ควรประพฤติ ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ควรประพฤติธรรมที่ดี ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น ได้แก่ สุจริต คือ ความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ประการที่ ๒ ควรประพฤติธรรมที่คนดีประพฤติกัน เรียกว่า สัปปุริสธรรม ได้แก่ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ ความเป็นผู้รู้จักผล ความเป็นผู้รู้จักตน ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนบริษัทที่เกี่ยวข้อง ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบหาสมาคมแต่คนดี

ด้วยเหตุนี้ ผู้หวังความสุขความเจริญก้าวหน้าในชีวิต พึงหลีกเลี่ยง ข้อที่ไม่ควรประพฤติ เลือกปฏิบัติแต่ข้อที่ควรประพฤติ




ทรัพย์ภายใน
ความจนภายนอกเป็นทุกข์ แต่เป็นทุกข์ด้วยเรื่องภายนอกไม่รุนแรงมากนัก แต่ความจนภายในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ใจก็เดือดร้อนกระสับกระส่าย มองไม่เห็นเหตุและผล เพราะฉะนั้น จึงควรบำเพ็ญธรรมะ ๕ ประการให้ปรากฏขึ้นที่ใจ คือ
ความเชื่อ ได้แก่ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าสัตว์เป็นอยู่ด้วยกรรม มีกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย และเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระองค์เป็นคำสอนที่ดีจริง แต่ถ้าเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาถึงเหตุผล อย่างนี้เป็นศรัทธาที่งมงาย ต้องพิจารณาให้เห็นจริงก่อนแล้วเชื่อ จึงเป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามหลักในพระพุทธศาสนา ศรัทธามีลักษณะทำใจให้ใสสะอาด เหมือนเครื่องกรองน้ำทำน้ำให้ใสสะอาด ฉะนั้น

ความละอายใจ ไม่กล้าทำความชั่ว ละอายต่อสิ่งภายนอก เช่นไม่กล้าทำความชั่ว เพราะละอายว่าคนอื่นจะเห็น แล้วไม่ทำความชั่ว เป็นหิริโดยอ้อม ละอายใจตัวเอง แม้จะสามารถทำความชั่วได้ในที่ที่ไม่มีใครรู้ ใครเห็น แต่นึกละอายใจว่า ถึงไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่ตัวเองย่อมรู้เห็นได้ แล้วไม่ทำความชั่ว จัดเป็นหิริโดยตรง คือความละอายแท้

ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนคนรักษาความสะอาดอาบน้ำชำระกายเรียบร้อยแล้ว ขยะแขยงสะอิด สะเอียนต่อสิ่งโสโครก ไม่กล้าเข้าใกล้หรือจับต้อง คนมีหิริย่อมสะอิดสะเอียนต่อความชั่ว กิเลสจะมาชักจูงใจให้ทำกรรมชั่วไม่ได้ ฉะนั้น

ความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่ว คู่กับหิริ หิริกลัวเหตุ โอตตัปปะกลัวผล หิริมีลักษณะรักษาความสะอาด กาย วาจา ใจ โอตตัปปะกลัวที่จะเดือดร้อนใจในภายหลัง ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนท่อนเหล็กที่ปลายข้างหนึ่งเปื้อนสิ่งโสโครก ปลายข้างหนึ่งเผาร้อนระอุด้วยแรงไฟ คนไม่กล้าจับท่อนเหล็กข้างเปื้อนสิ่งโสโครก เป็นลักษณะของหิริ คนไม่กล้าจับท่อนเหล็กข้างที่เผาร้อนระอุด้วยแรงไฟ เป็นลักษณะของโอตตัปปะ คนมีที่โอตตัปปะประจำใจ แม้กิเลสจะมาชักจูงใจให้ทำความชั่ว ก็เกรงกลัวว่า จะได้รับผลเป็นทุกข์เดือดร้อนในภายหลัง โอตตัปปะจึงเป็นตัวเหตุสกัดกั้นสรรพกิเลสให้สงบระงับไป

ความเพียร มีลักษณะทำใจให้กล้าหาญ ให้บากบั่นไม่ท้อถอย ให้มุ่งไปข้างหน้า ในการละความชั่วประพฤติความดี ทำให้ผู้ปฏิบัติล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

ความรอบรู้ หรือความรู้ทั่ว คนมีปัญญาย่อมหายมืดหายหลง เกิดความรู้ความฉลาด คนไม่มีปัญญา แม้มีทรัพย์สมบัติก็รักษาไว้ไม่ได้ ดังคำว่าไร้ทรัพย์เพราะอับปัญญา คนมีปัญญาแม้จะไม่มีทรัพย์มรดกมาแต่เดิม แต่ก็จะหาเพิ่มเติมได้ด้วยปัญญา

ดังคำว่าบุญมาวาสนาช่วย คนมีบุญวาสนาก็คือคนมีปัญญา ถึงคราวอับจนก็ไม่อับจน เหมือนมีดวงประทีปอยู่ในมือสำหรับส่องดูในที่มืด ให้เกิดความสว่างขึ้น ปัญญาจึงทำคนโง่ให้เป็นคนฉลาด ทำคนจนให้เป็นคนมั่งมี คนมีปัญญาจึงเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก นึกต้องการอะไรได้ตามปรารถนา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ปัญญาเป็นดวงแก้วของนรชน

ธรรมะ ๕ ประการนี้ เรียกว่า ทรัพย์ภายใน เป็นธรรมะต้นทุน เมื่อเรามีธรรมะต้นทุนแล้ว ก็สามารถที่จะให้เกิดดอกออกผลงอกงามยิ่งๆ ขึ้นได้




ภัยจากการทะเลาะกัน
คําว่า วิวาท หมายถึง การทะเลาะกัน พูดไม่ถูกใจกัน พูดไม่ตรงกัน สาเหตุเกิดจากคนที่มีอัธยาศัยหรือมีจิตใจไม่เหมือนกัน ทำให้พูดไม่เข้าใจกัน เว้นแต่ผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรม จนรู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว เคารพในเหตุผล มีศีลธรรมประจำใจ จึงจะพูดกันเข้าใจและถูกใจกันได้

การทะเลาะวิวาท เมื่อยังไม่ลุกลามใหญ่โต อาจระงับได้ด้วยการปรับความเข้าใจกันให้ถูกต้อง เมื่อไม่สามารถจะปรับความเข้าใจกันได้ อาจลุกลามใหญ่โต เป็นเหตุให้เกิดความแตกร้าวกันยิ่งขึ้นไปไม่จบสิ้น

การทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นได้เพราะมีมูลเหตุ ไม่ใช่เกิดขึ้นเอง ถ้าทุกคนมีความประสงค์ในสิ่งเดียวกัน ต่างแก่งแย่งกันเพื่อให้ได้ในสิ่งเดียวนั้น เพราะของสิ่งเดียวไม่อาจแจกจ่ายให้หลายคนได้ เมื่อคนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งย่อมไม่ได้ เมื่อไม่ได้ก็เป็นเหตุให้เกิดความขัดใจในเบื้องต้น ซึ่งความขัดใจนี่แหละเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท ประหัตประหาร ล้างผลาญ เบียดเบียนกัน

การทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ก็สามารถทำให้ครอบครัวนั้นไม่เป็นปกติสุข เพราะเมื่อเกิดทะเลาะวิวาทกันขึ้นแล้ว ความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในครอบครัวก็ไม่มี มักจะเกิดเรื่องทะเลาะกันอยู่ประจำ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ จนถึงแตกร้าวกันในที่สุด

การทะเลาะวิวาทที่เกิดภายในครอบครัวยังทำให้ประสบภัยถึงเพียงนี้ ถ้ายิ่งแผ่ขยายกว้างออกไปจนถึงหมู่คณะ สมาคม และประเทศชาติแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภัยพิบัตินั้นๆ จะมีมากสักเพียงใด

ในที่สุดก็ต้องถึงความพินาศวอดวายไปตามๆ กัน เพราะการทะเลาะวิวาท เป็นเหตุเริ่มต้นที่จะแยกส่วนต่างๆ ออกจากกัน แยกหมู่คณะ แยกสมาคม และประเทศชาติให้เป็นหมู่เป็นเหล่า เป็นการตัดทอนกำลังที่รวมกันเป็นปึกแผ่นให้เสียกำลังโดยลำดับ

เมื่อพิจารณาเห็นภัยที่เกิดจากการทะเลาะวิวาทแล้ว หวังจะทำให้ตนเจริญ ให้สามัคคีกลมเกลียว เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หวังจะมีเพื่อนมาก ก็จะต้องปรับความเห็นของตนเสียใหม่ ที่เคยมีความเห็นเข้ากับตัว ก็ต้องทำความเห็นนั้น ให้เป็นความเห็นที่ร่วมกับหมู่คณะได้ โดยยึดประโยชน์และศีลธรรมเป็นหลัก

การทะเลาะวิวาทจะสงบได้ ต้องพิจารณาถึงผลเสียของการทะเลาะกัน และให้เห็นถึงผลดีของการไม่ทะเลาะกัน เมื่อนั้น ก็กลับกลายเป็นความสมัครสมานสามัคคีปรองดอง มีจิตใจชื่นบาน เป็นมิตรเป็นสหายกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ความสามัคคี คือ ความพร้อมเพรียง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง หรือไม่แก่งแย่งกัน พร้อมเพรียงกันด้วยกำลังกาย กำลังใจ เมื่อมีความพร้อมเพรียงกันแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลสมบูรณ์ดีเต็มที่ ไม่มีความบกพร่อง

ความสามัคคี มีอยู่ในหมู่ชนกลุ่มใด หมู่ชนกลุ่มนั้น ย่อมดำเนินไปสู่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมทราม ดังนั้น ควรพิจารณาเห็นโทษของการทะเลาะ และเห็นอานิสงส์ของการไม่ทะเลาะกันแล้ว จากนั้นพึงสามัคคี ประนีประนอมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อความสุขสวัสดี ไม่มีภัยแก่ตนและประชาชน ตลอดถึงประเทศชาติเป็นที่สุด



จากคอลัมน์ "ธรรมะวันหยุด" หนังสือพิมพ์ข่าวสด
โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร กรุงเทพมหานคร


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กันยายน 2558 15:59:35 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 18 กันยายน 2557 17:12:48 »

.


เมตตา

เมตตา หมายถึง ความสนิทสนม ความรักใคร่ที่ไม่เจือด้วยราคะ ได้แก่ ปรารถนาความสุขความเจริญต่อผู้อื่น เป็นภาวะของจิตที่มีเยื่อใยไมตรี ปราศจากความอาฆาตพยาบาทโกรธเคือง

เมตตาแสดงทางกายด้วยกิริยาท่าทางงดงาม ใบหน้าสายตาแช่มชื่น แสดงออกทางวาจาด้วยถ้อยคำไพเราะ น่ารัก น่าสนทนา น่าฟัง แสดงถึงดวงจิตที่เอิบอิ่มเต็มไปด้วยความปรารถนาดี

เมตตาเป็นวิหารธรรม คือ เป็นที่อยู่ของจิตใจ ทำให้จิตใจเยือกเย็นสงบ มีความสุข หากจิตใจขาดเมตตาธรรม ก็จะมีแต่ความเดือดร้อน ทำให้เกิดความคิดโกรธแค้นขัดเคือง ความคิดเบียดเบียนอิจฉาริษยา เป็นที่สะสมบ่มความทุกข์อยู่ในใจ

เมตตา เป็นธรรมะข้อแรกในพรหมวิหารธรรม คือ เป็นคุณธรรมของบิดามารดาหรือผู้ใหญ่ซึ่งเป็นหัวหน้า หมู่คณะผู้ที่มีเมตตาเป็นคุณธรรมก็เป็นเสมือนเทพยดาขั้นพรหมโลก

เมตตา เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน นอกจากตนเองจะมีเมตตาอยู่แล้วก็ยังต้องการจะได้รับเมตตาจากผู้อื่นอีก คือปรารถนาดีต่อผู้อื่นแล้ว ก็ต้องให้ผู้อื่นมีความรักความปรารถนาดีต่อตนเองบ้าง ผู้มีเมตตาจึงควรแผ่เมตตาไปยังผู้อื่น สัตว์อื่นอยู่เสมอๆ

วิธีแผ่เมตตา คือ การมองคนในแง่ดี เหมือนมารดาบิดาเอ็นดูบุตรธิดาของตน หรือนึกถึงตัวเองว่ารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นสัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น

การแผ่เมตตามี ๒ อย่าง คือ แผ่เมตตาโดยเจาะจงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดอย่างหนึ่ง แผ่เมตตาออกไปยังคนและสัตว์กว้างออกไปอย่างไม่มีประมาณจำกัดอย่างหนึ่ง

การแผ่เมตตา มิใช่เฉพาะตนและคนซึ่งเป็นที่รัก หรือเฉพาะหมู่คณะของตนเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้แผ่เมตตากว้างออกไป เมตตาเปรียบเสมือนน้ำที่จะดับไฟที่เผาใจ เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรด้วยเมตตา พึงแผ่เมตตาออกไปทุกทิศ ปรับจิตให้ปราศจากพยาบาทจองเวร เมื่อทุกคนมีเมตตาต่อกันก็ย่อมจะอยู่กันอย่างมีความสุข ความเจริญ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก

บุคคลผู้ปรารถนาความรักและความสุขในตน จึงควรเจริญเมตตาให้เกิดขึ้นด้วยวิธีเจริญเมตตา จะต้องแผ่เมตตาในตนเองบ่อยๆ ว่า ขอให้เรามีความสุข ไม่มีความทุกข์ หรือขอให้เราอย่ามีเวรมีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ มีความสุข ปกครองตนเอง เมื่อจิตของตนเองมีเมตตาเกิดขึ้นแล้ว เมตตานั้นก็แผ่ออกไปยังบุคคลอื่น สัตว์อื่น ทำให้มองเห็นว่าเรารักสุข เกลียดทุกข์ คนอื่นก็ย่อมรักสุข เกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอานิสงส์แห่งเมตตาไว้ว่า เมตตาเจโตวิมุตติ ที่บุคคลฝึกหัด อบรม ทำให้มีมาก ทำให้เป็นไป ทำเป็นเหมือนสิ่งของ ตั้งมั่นไว้เนืองๆ สะสมไว้และเจริญเสมอๆ พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ ๑.นอนหลับมีความสุข ๒.ตื่นอยู่ก็มีความสุข ๓.นอนหลับไม่ฝันร้าย ๔.เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ๕.เป็นที่รักของอมนุษย์ ๖.เทวดารักษา ๗.ไฟ ยาพิษ หรือศัตราวุธ ย่อมไม่แผ้วพาน ๘.จิตตั้งมั่นเร็ว ๙.สีหน้าผ่องใส ๑๐.ไม่หลงทำกาลกิริยา ๑๑.เมื่อยังไม่บรรลุคุณธรรมอันยิ่งกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก




แม่ผู้มีเมตตา

ผู้หญิงทุกคนได้ชื่อว่าเป็นเพศแม่ มีความอ่อนโยนทางจิตใจเป็นพื้น และยิ่งเป็นผู้หญิงที่ได้มีโอกาสเป็นแม่จริงๆ ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีความอ่อนโยน และประกอบด้วยคุณธรรม คือ เมตตา ชนิดพิเศษ ที่ผู้หญิงซึ่งไม่เคยเป็นแม่อาจจะไม่มี

ทั้งนี้ เพราะการเกิดขึ้นของลูกที่มาปฏิสนธิในครรภ์จนกระทั่งคลอดออกมา และแม่ได้มีบทบาทในการเลี้ยงดูประคับประคองจนเติบใหญ่ ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ

อาหาร เสื้อผ้า เงินทอง ตลอดถึงเวลาที่แม่ทุ่มเทให้กับลูกแต่ละคน มากมายเท่าไหร่ ไม่อาจจะคำนวณนับได้ รวมๆ แล้ว ก็เรียกว่า พระคุณ ที่มากเกินกว่าจะทดแทนได้ด้วยสิ่งของใดๆ หรือมากเกินกว่าจะพรรณนาได้

ดังบทเพลงที่เขาร้องจนคุ้นหูว่า จะเอาโลกมาทำปากกา แล้วเอานภามาแทนกระดาษ เอาน้ำหมดมหาสมุทรแทนหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ การตอบแทนค่าน้ำนม ที่แม่กลั่นเลือดในอกยกมาเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกินนั้น ก็สุดจะบรรยาย

ดังเพลงค่าน้ำนม ที่ศิลปินถ่ายทอดเอาไว้ว่า บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย

นอกจากสิ่งต่างๆ ที่เป็นวัตถุแล้ว สิ่งที่แม่ให้ในทางวิญญาณหรือทางจิตใจนั้น ก็มากกว่า เหนือกว่าใครๆ ในโลกนี้ เพราะแม่เป็นยอดกัลยาณมิตร ดังพุทธภาษิตที่ว่า มารดาเป็นมิตรในเรือนตน คอยให้ความรักความปรารถนาดีความห่วงใยต่อลูกทุกวันเวลา ดังแก้วตาดวงใจ ลูกสุข แม่สุขด้วย ลูกทุกข์ แม่ทุกข์ยิ่งกว่าลูก

แม่อาจจะไม่มีคำพูดที่สวยหรู หรือคมคายในการอบรมลูก แต่แม่มีอ้อมกอดที่จริงใจ มีน้ำเสียงที่เจือด้วยเมตตาธรรมล้นเปี่ยม ปลอบโยนปลดเปลื้องทุกข์ทางใจให้กับลูก ตั้งแต่เยาว์วัยแม่ก็มีเสียงกล่อม กระทั่งลูกเติบใหญ่ แม่ก็มีเสียงเตือน

ลูกบางคนโง่เหลือเกิน ไปเชิดชูบูชาเพื่อน หรือคนอื่นมากกว่าแม่ของตนเอง เพียงเพราะแม่ไม่เป็นอย่างที่ใจตนคิด หรือไม่เป็นเหมือนแม่คนอื่น ที่ลูกปรารถนาจะให้เป็น

ลูกลืมไปว่า แม่เป็นผู้หญิงคนเดียวที่เราเคยอยู่อาศัยในท้องของท่านมาตั้ง ๙ เดือน ๑๐ เดือน โดยที่ท่านก็เต็มใจถนอมครรภ์อย่างดีที่สุด เพื่อจะได้เชยชมเมื่อคลอดออกมา และแม้เมื่อคลอดออกมาแล้ว ก็ยังตามชื่นชมไปตลอดชีวิต ไม่เคยคิดริษยาลูก

วันแม่ในแต่ละปี จึงควรคิดกันอีกทีว่า ควรจะมีวันแม่ทุกวันจะดีกว่าไหม เพราะไม่มีวันไหนเลย ที่แม่จะไม่รักลูก




จิตสงบพบความสุข

มนุษย์ทุกคน ในเวลาได้ประสบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนา ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่เห่อเหิมทะเยอทะยาน รู้จักสงบใจ ครั้นได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ได้แก่ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ รู้จักมีสติ อดกลั้น ไม่เสียใจ คร่ำครวญ ซึ่งการทำจิตให้อาจหาญต่อสู้กับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนานั้น

เมื่อยังตกอยู่ในอำนาจกิเลสตัณหา ล้วนยังปรารถนาอยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทั้งนั้น ส่วนความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์นั้น ไม่มีใครปรารถนา

สิ่งเหล่านี้ไม่อาจสำเร็จได้ เพราะความปรารถนาและการอ้อนวอนแต่เพียงอย่างเดียว ต้องเกี่ยวกับการประกอบกิจโดยอุบายที่ชอบ จึงจะได้สมความปรารถนา

ลาภนั้น คือ การได้สิ่งของ เงินทอง สมบัติต่างๆ มีทางให้เกิดได้ ๒ สถาน คือ อาศัยบุญเก่าที่เรียกว่า ความเป็นผู้มีบุญที่ตนได้ทำไว้ก่อน และอาศัยความขยันหมั่นเพียร

ในทางธรรม การสรรเสริญผู้มีศรัทธาและศีลว่าเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยลาภสักการะ มีพระพุทธภาษิตว่า "ผู้มีศรัทธาถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เอิบอิ่มแล้วด้วยยศและโภคะ จะไปประเทศใดๆ เป็นผู้อันเขาบูชาแล้วในประเทศนั้นๆ"

ยศ คือ ความได้รับตั้งให้เป็นใหญ่ เป็นคนมีชื่อเสียง เป็นผู้มีบริวารมาก ย่อมเกิดจากศีลธรรมตามพระพุทธภาษิตว่า "บัณฑิต ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นคนละเอียด มีปฏิภาณ มีการประพฤติอ่อนน้อม และไม่เป็นคนกระด้าง เช่นนั้นแหละ ย่อมได้ยศ"

ความสรรเสริญ เกียรติยศชื่อเสียง ล้วนเกิดจากเหตุที่มีจริงบ้าง ไม่มีจริงบ้าง คนพาลเมื่อได้รับอุปการะจากท่านผู้ใด แม้ผู้นั้นจักไม่มีคุณความดีอยู่ในตัวเลย จึงกล่าวยกย่องสรรเสริญได้

ส่วนบัณฑิตพิจารณาเห็นคุณความดีแล้ว จึงสรรเสริญตามที่เป็นจริง พิจารณาเห็นอุบายเหล่านี้ว่า เป็นกิจชอบและประกอบตามกำลัง เหตุนั้นจึงบรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่ และเป็นผู้อันชนทั้งหลายนิยมสรรเสริญ แต่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นของไม่เที่ยง เมื่อได้มาสมความปรารถนาแล้ว แทนที่จะดำรงอยู่ได้นาน กลับมีอาการเสื่อมได้

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรประมาทในโลกธรรม คือ ระวังอย่าให้กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ระวังใจอย่าให้ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ระวังใจอย่าให้มัวเมา ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่าโลกธรรม ๘ ประการนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาอย่างนี้แล้ว โลกธรรมจะไม่ครอบงำจิตให้แปรผันไปต่างๆ ได้คือ ย่อมไม่มีความยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเกิดขึ้นแล้ว และย่อมไม่ถึงความยินร้ายในความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์อันเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อละความยินดียินร้ายได้อย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง




สร้างเสริมบารมี

ชีวิตของมนุษย์คนใดคนหนึ่งที่ได้ทุ่มเทเวลาและสติปัญญาศึกษาค้นคว้าหาความรู้ หรืออุทิศตนกระทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตนเอง แต่อยู่เพื่อเพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมทุกข์

แนวความคิดที่เปี่ยมด้วยกรุณาธรรมในหัวใจ มุ่งหมายที่จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในวงกว้าง จึงเป็นการดำเนินเจริญรอยตามพระโพธิสัตว์ คือท่านผู้ที่บำเพ็ญคุณงามความดีอย่างสูงสุด หรือบารมีทุกประการและทุกระดับเพื่อซับหยาดน้ำตาและเพิ่มสติปัญญาแก่ผองชน โดยเอาชีวิตของตนเป็นเดิมพัน

ตามหลักพระพุทธศาสนา เชื่อว่าคนทุกคนเกิดมาเพื่อสร้างบารมี การสร้างบารมีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าบารมีจะช่วยให้เรานั้นรอดพ้นจากวัฏฏทุกข์ หรือการเวียนว่ายตายเกิด

แต่การสร้างบารมีมิใช่สิ่งที่ทำกันง่ายนัก ต้องอาศัยสติปัญญาและความอดทนอย่างยิ่งยวด

พุทธศาสนายกย่องปัญญาว่าเป็นธรรมสูงสุด ธรรมที่รองลงมาจากปัญญาคือ ขันติ ความอดทน

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ชาวพุทธคิดจะทำความดี หรือสร้างบารมี ธรรมที่ควรกระทำไว้ในใจคือปัญญา และธรรมที่จะเสริมให้ปัญญาแสดงบทบาทได้เต็มที่ คือ ขันติ

เพราะฉะนั้น การสร้างบารมีจากชีวิตเพื่อสรรพชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสติปัญญาของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง

คำว่า บารมี มีความหมายหลายประการ เช่น
บารมี หมายถึง ความดี เพราะปราบข้าศึก คือความชั่ว หรือบาปทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซึ่งเรียกว่า กิเลส
บารมี หมายถึง การรักษาความเป็นผู้สูงสุดของตนไว้ เช่น สูงสุดด้วยทาน
บารมี หมายถึง การกระทำของท่านผู้ประเสริฐ มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น และ
บารมี หมายถึง ธรรมเครื่องถึงฝั่งที่ข้ามได้ยากที่สุด คือพระนิพพาน เป็นต้น

สรุปว่า การบำเพ็ญบารมี ก็คือการพัฒนาตนด้วยการประกอบคุณงามความดีต่างๆ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นกุศล โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้อื่น โดยเสียสละได้แม้แต่ชีวิตของตนเอง

แต่มนุษย์ไม่ใช่น้อยที่หลงผิดคิดว่า การที่จะเป็นผู้มีบารมีต้องมีทรัพย์ มีอำนาจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคุณธรรมก็ได้

ในท้ายที่สุด ก็จะพบความจริงที่ว่า บารมีทางโลกมีโอกาสตกต่ำ บารมีทางธรรมเท่านั้นยั่งยืน




ผู้ประเสริฐ

บุคคลและสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิตในโลกนี้ ต่างมีความรักร่างกายของตนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ถึงจะมีความรักสิ่งอื่นๆ สักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่เท่ากับความรักตน สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า ความรักเสมอด้วยรักตน ไม่มี

การที่บุคคลมีความรักต่อคน สัตว์และสิ่งของ ก็เพราะว่าคน สัตว์และสิ่งของนั้นๆ อำนวยประโยชน์สุขให้แก่ตน ถ้าหากคน สัตว์และสิ่งของที่ตนรักนั้นไม่อำนวยประโยชน์สุข กลับทำความทุกข์เดือดร้อนให้เกิดแก่ตน ก็หมดความรักทันที จึงสรุปความได้ว่า การที่บุคคลมีความรักต่อคน สัตว์และสิ่งของนั้นๆ แท้ที่จริงก็คือความรักตน ต้องการให้ตนได้รับความสุขนั่นเอง

บางคนถึงแม้จะมีความรักตน แต่มีความเข้าใจผิด ไม่รู้เท่าทันเหตุผลตามความเป็นจริง เมื่อตนได้รับความทุกข์เดือดร้อน ความทรมานอย่างหนัก อันเกิดจากการครองชีพบีบคั้นบ้าง เกิดจากถูกโรคร้ายเบียดเบียนบ้าง เกิดจากการพลาดหวังบ้าง เพราะเหตุที่เขามีความรักตน ไม่ต้องการให้ตนได้รับความทุกข์เดือดร้อนที่ปรากฏอยู่นั้น หรือไม่ต้องการให้ผู้ใดดูหมิ่นในความพลาดหวังของตน หรือไม่ต้องการให้ตนต้องประสบกับความเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ และเกิดความละอายในความพลาดหวังนั้น จึงหาวิธีออกอย่างผิดๆ ด้วยการทำลายชีวิตของตน เพื่อจะหนีให้พ้นไปจากผลที่ตนไม่ปรารถนานั้น เพื่อหวังไปแสวงหาความสุขเอาใหม่ในภพต่อไป หรือประพฤติตนไปในทางที่เสื่อมเสียด้วยวิธีต่างๆ มีการดื่มสุราเพื่อดับความทุกข์ เป็นต้น

การที่เขาทำไปเช่นนั้น ก็เพราะไม่มีปัญญายั้งคิดพิจารณาหาเหตุผล ไม่มีความอดทนพอที่จะต่อสู้กับอุปสรรคนั้นๆ ให้สิ้นสุดลงได้ โดยมีความเข้าใจว่า เป็นวิธีออกที่ดีที่สุดแล้ว ที่เขาต้องการให้ตนที่เขารักหลุดพ้นไปจากความทุกข์เดือดร้อนซึ่งปรากฏอยู่เฉพาะหน้าได้

การแสดงความรักตนด้วยวิธีการเช่นนี้ เป็นการกระทำของคนผู้ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญายั้งคิด เป็นคนไม่มีความอดทน ผู้ฉลาดทั้งหลายไม่สรรเสริญว่าเป็นคนรักตนที่แท้จริง ย่อมติเตียนว่าเป็นคนเลว เป็นคนสิ้นคิด มีสติไม่สมบูรณ์

ส่วนคนดีทั้งหลายย่อมแสดงความรักตน ด้วยการปฏิบัติตนให้ละเว้นความชั่ว บำเพ็ญความดี เมื่อมีความทุกข์เดือดร้อนเกิดขึ้นก็ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผล แก้ไขเหตุการณ์นั้นๆ ให้หมดสิ้นไป หรือใช้ความอดทนต่อสู้ในทางถูกที่ชอบ ประคับประคองตนให้ปลอดภัยมีความสุขตลอดไป

เมื่อทุกคนต่างก็มีความรักตน ต้องการให้ตนได้รับความสุขความเจริญ ปราศจากโรคภัย อุปสรรคอันตรายทั้งหลาย ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาเบียดเบียนตนให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน ยิ่งถ้าจะมาทำลายชีวิตก็จำเป็นต้องต่อสู้ป้องกัน หรือดิ้นรนหลีกหนีจนสุดความสามารถ

ผู้มีความรักตน ต้องการให้ตนพ้นจากความทุกข์ มีความสุขความเจริญ ควรจะปฏิบัติตามปฏิปทาของบุคคลผู้ประเสริฐ ด้วยการทำตนให้เป็นผู้มีความเจริญด้วยวัฒนธรรมอันดีงาม ละเว้นจากความชั่วทั้งหลาย ไม่ทำลายชีวิต และเบียดเบียนทรมานสรรพสัตว์ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน ควรมีเมตตาแผ่ไปในสรรพสัตว์ ผลแห่งความดีที่ได้บำเพ็ญไว้แล้วนั้นจะอำนวยให้ได้รับความสุขความเจริญ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขกายสุขใจ




ความสุข

ความสุข เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และพากันแสวงหาด้วยวิธีการต่างๆ ตามแต่ระดับสติและปัญญาที่จะอำนวยให้ได้ แต่ถ้าระดับสติและปัญญาอ่อนลงมากเท่าไร การแสวงหาความสุขนั้น ก็ย่อมจะพาเอาความทุกข์ พ่วงเข้ามาด้วยมากเข้าเท่านั้น

บางคนไปหลงเสพความทุกข์ แต่เข้าใจว่าเป็นความสุข เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ โดยหลงไปว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นสุข กว่าจะรู้ตัวก็เกิดโรคร้ายแรงเสียแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตก็มาดับสลายลง กับสิ่งที่ไร้สาระ อย่างน่าเวทนายิ่งนัก

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนเรื่องของความสุขไว้ ๔ ประการ คือ

ประการแรก สุขเกิดจากการมีทรัพย์ มีความภูมิใจ สุขใจที่ตนมีโภคทรัพย์ เพราะทรัพย์เป็นเหตุให้ปลื้มใจ คือความสมบูรณ์ ในปัจจัย ๔ คนมีทรัพย์ย่อมได้รับความสุข แต่ต้องรู้จักการใช้สอยทรัพย์สมบัตินั้น กล่าวคือการใช้จ่ายในทรัพย์สินเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ ถ้าไม่รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ก็หาความสุขมิได้ มีแต่ความเดือดร้อน กังวลใจในการรักษาทรัพย์สมบัติ

ประการที่ ๒ สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค มีทรัพย์แล้วไม่จับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ควรใช้สอยก็ไม่มีความสุข การใช้จ่ายทรัพย์ จึงจัดว่าเป็นความสุขชนิดหนึ่งของคน ผู้ที่ไม่มีปัญญา ย่อมใช้สอยทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงความหมดเปลือง ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติก็มีแต่อันจะต้องสิ้นไปหมดไป

ส่วนผู้มีปัญญาย่อมใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ รู้จักประมาณในการใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย ให้พอเหมาะกับรายได้กับที่ตนได้รับ และให้เหลือพอที่จะอดออม เป็นทุนสะสมสำหรับชีวิตครอบครัว

ประการที่ ๓ สุขเกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้ หนี้คือสิ่งที่ตกค้างจะต้องชำระเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และทำให้เกิดความทุกข์ คน มีหนี้จะเกิดอาการหวาดผวา นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ คนมีหนี้สิน มากๆ สังคมจะขาดความเชื่อถือ ไม่เป็นที่ยอมรับ ยิ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาหรือตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะกลายเป็นคนล้มละลาย เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะยากจนก็ตาม แต่การไม่มีหนี้สินใคร จัดว่าเป็นความสุขใจอย่างหนึ่ง

ประการที่ ๔ สุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ การประกอบการงาน ที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม แม้ว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็ไม่มีความภูมิใจในทรัพย์สินเหล่านั้น และหาความสุขใจอย่างแท้จริงไม่ได้ ผู้ที่ทำงานปราศจากโทษย่อมจะมีความสุข เพราะเป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดต่อกฎหมายและศีลธรรม ไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่ใครๆ คนที่ทำงานที่ปราศจากโทษนั้น ย่อมได้รับความสุข เพราะไม่ต้องหวาดผวา

ความสุขจะเกิดมีขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกันและกัน ให้คำนึงถึงส่วนรวมคือประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อช่วยกันสร้างประเทศชาติบ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรือง เพราะเมื่อประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองแล้ว เราก็มีความสุขโดยถ้วนหน้า




เที่ยงธรรม

ความเที่ยงธรรม คือ การปฏิบัติได้ถูกต้องตามจารีต ประเพณี กฎหมาย

ศีลธรรม ดังกล่าวนี้ จะมีขึ้นได้ต้องอาศัยคุณธรรมหลายประการ คือ ได้อบรมสติปัญญา เสริมสร้างความเข้าใจด้วยการศึกษาเล่าเรียน มีความสามารถ ฉลาดรอบคอบ ระมัดระวัง และไม่ประมาทในทุกกรณี

แม้ว่าสังคมปัจจุบันจะมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากสักเพียงใด สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความถูกต้องเที่ยงธรรม ซึ่งจำแนกประเภทได้หลายประการ

ความเที่ยงธรรมในหน้าที่ ทุกคนต่างมีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่โดยตรงหรือได้รับมอบหมาย เช่น มารดาบิดา ผู้ให้กำเนิดบุตรธิดา มีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรธิดา ไม่ให้ทำความชั่ว ให้ทำความดี ส่งเสริมการศึกษา หาคู่ครองให้ มอบทรัพย์มรดกให้ในโอกาสอันสมควร

ส่วนบุตรธิดาผู้ได้รับอุปการะเลี้ยงดูแล้ว มีหน้าที่ปฏิบัติตอบแทน คือท่านเลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ ช่วยกิจการงานของท่าน ดำรงวงศ์สกุล ประพฤติตนให้สมควรรับทรัพย์มรดก เมื่อท่านล่วงลับ ทำบุญอุทิศกุศลให้ ในฐานะที่ตนเป็นลูก ด้วยกตัญญูกตเวที

ครูอาจารย์มีหน้าที่สั่งสอนศิษย์ แนะนำดี ให้เรียนดี บอกศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ปกป้องในที่ทั่วไป ศิษย์มีหน้าที่ปฏิบัติต่อครูอาจารย์ด้วยความเคารพ คือ ลุกขึ้นยืนรับ แสดงอาการด้วยความเคารพจริงจัง คอยรับใช้ช่วยเหลือ เชื่อฟังคำสั่งสอน ตั้งใจเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

ปฏิบัติไม่ผิดประเพณีอันดีงามของไทย เช่น วันขึ้นปีใหม่ ส่งคำอวยพรมอบความสุขให้กัน ทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณ สรงน้ำพระ ชำระบ้านเรือนให้สะอาด ปัดกวาดวิหารลานพระเจดีย์ ให้สะอาด สิ่งเหล่านี้เป็นการช่วยรักษาประเพณีไทย และความเป็นไทยไม่ให้เสื่อมสลาย

ความเที่ยงธรรม ในการปฏิบัติถูกต้องตามหลักคำสอนของพระศาสนา มีความยุติธรรม สม่ำเสมอไม่ลำเอียง ปฏิบัติตนอยู่ในศีล ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กล่าวคำเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้สาระ ไม่ดื่มสุราเมรัย ไม่โลภมาก ไม่พยาบาทอาฆาตปองร้าย ไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

มีใจมั่นคงในพรหมวิหารธรรม คือ มีความรักใคร่ในผู้อื่นสัตว์อื่น มีความสงสารคิดช่วยให้ผู้อื่นสัตว์อื่นที่มีความทุกข์พ้นจากความทุกข์ พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี มีความสุข และวางเฉยเมื่อเหลือกำลังเมตตากรุณา และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่เผลอตัว มีสติควบคุมกิจการ ทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด

ผู้ปฏิบัติไม่ผิดต่อหน้าที่ ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดธรรม จะกระทำการใดๆ เป็นไปทางกาย ทางวาจา นั้น ย่อมไม่ผิดพลาดจากสิ่งที่ถูกที่ควร

ผู้นำ หรือผู้บริหารทุกระดับชั้นนอกจากต้องมีความรู้ดี สามารถดี ในหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบแล้ว ยังต้องรู้ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี กฎหมาย และศีลธรรม ในถิ่นฐานนั้นๆ ด้วย

ผู้นำจึงมีบทบาทสำคัญ ในการให้คุณและโทษแก่ผู้ตาม สามารถนำความเสื่อมหรือความเจริญมาให้ หากผู้นำมีความรู้ชัดเจน ในจารีตประเพณี กฎหมายต่างๆ มีความเที่ยงธรรม ทำงานด้วยความโปร่งใส จริงใจ ไม่หลงอำนาจ ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ทั้งยังฉลาดในการยกย่องผู้ที่ทำความดี สมควรได้รับยกย่อง พยายามป้องกันกำจัดผู้ที่ทำไม่ดี ไม่สมควรยกย่อง

ผู้นำดังกล่าวนี้ เป็นผู้นำที่ดี มีแต่นำความเจริญก้าวหน้ามาให้หมู่คณะ




เทวธรรม

ธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา ท่านเรียกว่า เทวธรรม ได้แก่ หิริและโอตตัปปะ

หิริ ความละอาย หมายถึง ละอายแก่ใจตนเอง รังเกียจต่อการประพฤติทุจริตทางกาย วาจา และใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

เปรียบเหมือนชายหนุ่ม หญิงสาว ผู้กำลังรักสวยรักงาม อาบน้ำชำระกายแล้ว แต่งตัวด้วยเครื่องนุ่งห่มอันสะอาด จะพึงขยะแขยงต่อของสกปรกโสโครก อันจะมาเปื้อนกายหรือเครื่องนุ่งห่ม

โอตตัปปะ หมายถึง ความเกรงกลัวต่อบาปความผิด ไม่กล้าทำผิด จะทำผิดก็รู้สึกว่าฝืนความรู้สึกของตนเอง พอใจจะทำแต่การกระทำที่ตนรู้สึกว่าถูกว่าชอบเท่านั้น มีความรู้สึกเกรงว่า เรื่องที่ตนจะทำนั้นจะผิดทำนองคลองธรรม ผิดธรรมเนียม ผิดระเบียบแบบแผนของสังคม

ความเกรงกลัวต่อบาปเป็นลักษณะทั่วไปของโอตตัปปะ คนผู้มีโอตตัปปะย่อมพรั่นพรึงต่อทุจริตทางกาย วาจา และใจ เปรียบเหมือนคนผู้รักชีวิต เห็นอสรพิษหรือสัตว์ร้ายแล้วย่อมสะดุ้งกลัว

หิริ และ โอตตัปปะ เป็นธรรมคู่กันมีมาในที่ทุกสถาน จัดว่า เป็นเทวธรรม คือ ธรรมของเทวดา

เทวดาท่านแบ่งไว้เป็น ๓ ประเภทคือ สมมติเทวดา อุปปัตติเทวดา และวิสุทธิเทวดา

สมมติเทวดา คือ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชาผู้ครองแผ่นดิน มีคำเรียกของพสกนิกรว่า เทวะ พระราชาผู้สมมติเทพย่อมทรงหิริโอตตัปปะ และทรงตั้งอยู่ในธรรมสุจริต

อุปปัตติเทวดา คือ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ ภุมมเทวดา คือ เทวดาผู้สิงสถิตอยู่บนแผ่นดิน และอากาสัฏฐเทวดา เทวดาผู้สิงสถิตในอากาศที่เรียกว่า สวรรค์ อุปปัตติเทวดานั้นย่อมถือกำเนิดเป็นเทวดาและตั้งอยู่ได้ เพราะกุศลธรรมที่ได้อบรมมาแล้วและยังอบรมอยู่ เว้นกุศลธรรมนั้น ย่อมจุติตั้งอยู่ไม่ได้

วิสุทธิเทวดา คือ เทวดาโดยความหมดจดวิเศษ ได้แก่ พระอรหันต์ พระอรหันต์ทั้งปวงย่อมทรงเทวธรรมประจำองค์

บุคคลควรตั้งอยู่ในหลักแห่งเทวธรรมทั้ง ๒ ประการ คือ หิริ ความละอายแก่ใจ และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความผิด เป็นเหตุให้ได้รับผลานิสงส์ คือความบริสุทธิ์สะอาด ทางกาย วาจา และใจ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงเทวธรรม ธรรมของเทวดานั่นเอง




ไม่ประมาท

ผู้มีปัญญาดีพึงกระทำที่พึ่ง ซึ่งน้ำจะท่วมไม่ถึง ด้วยความขยันหมั่นเพียร ความไม่ประมาท การสำรวม และการฝึกตน

พระพุทธพจน์นี้ ทรงชี้แนะให้คนฉลาด สร้างที่พึ่งซึ่งห้วงน้ำจะไม่สามารถท่วมถึงได้ ด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ความขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท สำรวม และฝึกตน ห้วงน้ำคือกิเลส ที่เรียกว่า โอฆะ ได้แก่ ห้วงน้ำคือกาม ห้วงน้ำคือภพ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ และห้วงน้ำคืออวิชชา

ห้วงน้ำคือกาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา

ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นสภาวะดุจกระแสน้ำหลากท่วมทับอยู่ในจิตใจ เป็นกิเลสดุจกระแสน้ำ พาผู้คนให้ตกไป ให้พินาศจมลง ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ต้องประสบกับทุกข์อยู่ร่ำไป ผู้มีปัญญาดีจึงควรกระทำที่พึ่งคือเกาะที่น้ำไม่สามารถจะท่วมถึงได้ ด้วยธรรม ๔ ประการดังกล่าวมา

บรรดาธรรมทั้ง ๔ ประการ ความไม่ประมาท จัดว่าเป็นธรรมสำคัญที่สุด เพราะเป็นเหตุกระตุ้นเตือนให้บุคคลได้ปรารภความเพียร มีความสำรวมระวัง และฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อคราวเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีพระหฤทัยประกอบไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ อาศัยความเอ็นดูอนุเคราะห์แก่เหล่าบรรดาสาวก ได้ยกเอาปัจฉิมโอวาทมาตรัสเตือนพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งหลาย ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

พระปัจฉิมพุทธโอวาทนี้ ทรงชี้แนะให้บรรดาพุทธบริษัท ได้ทราบถึงสภาพความ เป็นธรรมดาของสังขารทั้งหลายว่า มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นสังขารที่มีวิญญาณครอง อันได้แก่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ที่จะต้องมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตายในที่สุดด้วยกันทั้งสิ้น จะดิ้นรนหลีกพ้นไปไม่ได้ หรือแม้แต่สังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง อันได้แก่ บ้านเรือน รถ ต้นไม้ ก็จะต้องแตกสลายทำลายไป ไม่คงอยู่ในสภาพนั้นนิรันดร

มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ไม่อาจคงอยู่เป็นอมตะได้ จะต้องล่วงลับดับสลายไปด้วยกันทั้งหมด

ดังนั้น ความไม่ประมาท จึงจัดว่าเป็นธรรมอันสำคัญที่สุด บรรดาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ล้วนแต่รวมลงอยู่ในความไม่ประมาททั้งสิ้น ประดุจรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมรวมลงที่รอยเท้าช้าง

บุคคลผู้ประกอบคุณงามความดีทั้งหลาย อาศัยความไม่ประมาทจึงได้ประพฤติปฏิบัติธรรม สร้างคุณงามความดี ผู้ที่ประมาทย่อมไม่อาจที่จะปฏิบัติธรรม บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนาและบำเพ็ญกองการกุศลต่างๆ ได้ ย่อมจะปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ คนผู้ประมาทแม้จะชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้สร้างสมความดีไว้ ชีวิตของคนผู้ประมาทจึงสูญเปล่า เปรียบเสมือนคนที่ตายแล้ว เพราะตายจากคุณความดี

เมื่อทราบความเป็นจริงว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา การมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ เป็นเสมือนการแหวกว่ายอยู่ในมหาสาครห้วงน้ำใหญ่ คือโอฆะสงสาร

การที่จะมีชีวิตอยู่รอดจากการจมน้ำตายได้นั้น ผู้มีปัญญาดีฉลาดรอบรู้ จึงต้องสร้างที่พึ่งคือเกาะที่อาศัยให้แก่ตน ด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความสำรวมระวัง และด้วยการฝึกฝนอบรมตน

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กันยายน 2558 16:02:45 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 12 ตุลาคม 2557 18:14:01 »

.

กาลทาน

กฐิน จัดเป็นกาลทาน เนื่องด้วยเวลาที่จะทอดกฐินนั้น มีเวลาที่จำกัด ทรงอนุญาตไว้เพียง ๑ เดือนเท่านั้น คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

ถ้าถวายก่อนหรือหลังเวลาจากนี้ไป แม้ผู้มีจิตศรัทธาตั้งใจถวายให้เป็นกฐิน ก็ไม่จัดว่าเป็นกฐิน ดังนั้น กฐินจึงจัดเป็นกาลทาน คือการให้ทานตามกาล ซึ่งเป็นหนึ่งในสัปปุริสทาน คือการให้ทานของผู้ฉลาด ๕ ประการ คือ

๑. ให้ด้วยศรัทธา ผู้ให้ด้วยความเชื่ออย่างมีเหตุผล ผลของการให้นี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปร่างสัณฐานงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก
๒. ให้ด้วยความเคารพผู้ให้ด้วยความเคารพ ผลของการให้นี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีบุตร ภรรยา สามี ทาส คนใช้หรือบริวาร เป็นผู้เชื่อฟังคำสั่งสอน ว่านอนสอนง่าย ไม่ขัดใจในการงานที่ดีทุกอย่าง
๓. ให้ทานตามกาล ผู้ให้ตามกาล ผลของการให้นี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างล้นเหลือ ตามกาลหรือวัยของตน คือเจริญในปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย
๔. ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ผู้ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์อย่างแท้จริง ไม่ยึดติดหรือเสียดายหลังจากให้แล้ว ผลของการให้นี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไป เพื่อบริโภคกามคุณ ซึ่งเป็นสมบัติที่มีอยู่ของตนอย่างมีความสุข มิใช่เป็นเพียงผู้เฝ้าทรัพย์เท่านั้น
๕. ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ผู้ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ผลของการให้นี้ คือเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ไม่เสียหายวิบัติไปด้วยภัย คือ ไฟไหม้ น้ำท่วม โจรปล้น พระราชายึดเข้าพระคลัง หรือภัยจากญาติหรือคนที่เป็นศัตรูกัน

การทอดกฐินนี้ ผู้ที่เข้าใจจึงได้ปฏิบัติตามหลักสัปปุริสทาน ทั้ง ๕ ประการนี้

นอกจากนี้ ผู้นำบุญคือผู้เป็นเจ้าภาพ จะบริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ มีตัวอย่างในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ เรื่องบัณฑิตสามเณร พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนาว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย บางคนในโลกนี้คิดว่า เราควรให้เฉพาะของตนเท่านั้น ไม่มีประโยชน์ด้วยการชักชวนผู้อื่น แล้วให้เฉพาะตนเท่านั้น ไม่ชักชวนผู้อื่น เขาเกิดมาย่อมได้โภคสมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ บางคนชักชวนผู้อื่น แต่ตนเองไม่ให้ เขาเกิดมา ย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้โภคสมบัติ บางคนตนเองไม่ให้ ผู้อื่นก็ไม่ได้ชักชวน เขาเกิดมา ย่อมไม่ได้โภคสมบัติและไม่ได้บริวารสมบัติ บางคนตนเองให้ทานด้วย ชักชวนผู้อื่นด้วย เขาเกิดมา ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติทั้งบริวารสมบัติ

ดังนั้น การทอดกฐิน จึงจัดว่าเป็นกาลทาน ถวายทานตามกาล นับว่าเป็นมงคลสำหรับชีวิต เพราะได้สั่งสมบุญบารมีที่บัณฑิตสรรเสริญ และเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้มีความมั่นคงยั่งยืนนาน



จากคอลัมน์ "ธรรมะวันหยุด" หนังสือพิมพ์ข่าวสด
โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร กรุงเทพมหานคร

20-20
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กันยายน 2558 16:04:39 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 01 กุมภาพันธ์ 2558 17:25:53 »

.


เข้าใจชีวิต

ชีวิตของคนเราที่เป็นไปในโลกปัจจุบันนี้ ย่อมจะมีปัญหาให้ขบคิดกันอยู่เสมอมาทุกยุคทุกสมัย สมัยใดมีผู้รู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ชาวโลกดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องได้ การเกิดขึ้นของท่านผู้รู้เหล่านี้ จึงเป็นเหมือนหนึ่งดวงประทีปที่ลุกโชติช่วงขึ้นในท่ามกลางความมืดมน ให้ชาวโลกได้รับรู้เห็นสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น

ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะอุบัติเกิดขึ้นมาในโลกนั้น ชาวโลกได้พากันดิ้นรนแสวงหาทางที่จะนำชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์กันแล้ว แต่การแสวงหาทางพ้นทุกข์ในสมัยก่อนพุทธกาลนั้น ต่างก็พากันปฏิบัติไปตามความเห็นของตนว่าถูกต้องแล้ว ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรแน่นอนเท่าใดนัก เจ้าสำนักทั้งหลายในสมัยนั้นจึงเกิดขึ้นมากมายตั้งตัวเป็นอาจารย์กัน ต่างก็ให้หลักการอันเป็นความเห็นส่วนตัวแก่ชาวโลก

บางอาจารย์สอนว่า ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมา เมื่อแตกดับเสียชีวิตไปแล้ว ก็สูญสิ้นไปเลย ไม่มีการเกิดอีก เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องไปสร้างกรรมดีให้เสียเวลา เพราะผลแห่งกรรมดีก็ไม่มี ผลแห่งความชั่วก็ไม่มี การบำเพ็ญทานรักษาศีลเจริญภาวนาก็ไม่มี มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่ต้องเกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น ฉะนั้น ชีวิตของเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงควรแสวงหาความสุขใส่ตัวให้เต็มที่ ใครจะเดือดร้อนก็ช่างไม่สนใจเพราะเกิดมาแล้วชาติเดียวเท่านั้น ตายไปแล้วก็สูญไปเลยไม่เกิดอีก นรกสวรรค์ไม่มี เป็นเรื่องเท็จทั้งนั้น คนที่เชื่อในลัทธิเหล่านี้ก็หมดความเกรงกลัวต่อบาป หมดความละอายต่อการกระทำกรรมชั่วของตน

บางอาจารย์สอนว่า คนเราจะดีจะชั่ว ก็เป็นไปเอง จิตคนเราจะบริสุทธิ์ได้คือ บริสุทธิ์เอง ไม่จำเป็นจะต้องไปฝึกหัดปฏิบัติให้เสียเวลา การไปนั่งภาวนาเพื่อกำจัดกิเลสออกจากจิตนั้นถือว่าไม่มีประโยชน์อะไร เพราะจิตจะบริสุทธิ์ได้เอง ไม่ต้องไปชำระจิตให้เสียเวลา

บางอาจารย์สอนว่า คนเราจะดีหรือชั่วนั้น อยู่ที่อิทธิพลของดวงชะตา แล้วแต่ดวงดาว ที่โคจรไปมาในจักรราศี ถ้าดวงดาวโคจรเข้าสู่ราศีที่ไม่ดีแล้ว ถึงจะทำกรรมดีมากเพียงใด ไม่สามารถประสบผลดีได้ ถ้าดวงดาวโคจร สู่ราศีที่ดีแล้ว ถ้าจะทำกรรมชั่วถือว่าไม่เป็นไร ดวงช่วยไว้ได้

บางอาจารย์สอนว่า ชีวิตของสรรพสัตว์ พระพรหมสร้างมาทั้งนั้น คนเราจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับพระพรหม แล้วแต่ท่าน จะลิขิตชีวิตให้เป็นไปตามพรหมลิขิต หรือพระเจ้าเป็นผู้ลิขิต ฉะนั้น เมื่อคนเราประสบความทุกข์ความเสื่อม ต้องก้มหน้าเดินไปบนเส้นทางชีวิต ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานนั้น ต้องก้มหน้ายอมรับเอาความทุกข์ความเสื่อมนั้นด้วยความภักดี ไม่คิดแก้ไขให้ดีขึ้นได้

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหนึ่ง ที่ เกิดขึ้นท่ามกลางเจ้าสำนักครูอาจารย์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้อริยสัจธรรม ทรงเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ เป็น ผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว ทรงแจกจำแนกเปิดเผยแสดงธรรม ทุกอย่าง ทั้งที่เป็นส่วนดี ควรปฏิบัติตาม ทั้งที่เป็นส่วนไม่ดี ควรงดเว้น

พระพุทธองค์ ทรงตรัสสอนให้ ชาวโลกทั้งหลายได้ทราบถึงกฎแห่งความเป็นจริงของชีวิตว่า ไม่มีผู้ใดสร้างขึ้น แต่กระบวนการของชีวิตเป็นไปตามกฎแห่งกรรม




บุคคลผู้มืดมา มืดไป

บุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ มีความเป็นอยู่ที่ไม่เสมอเหมือนกัน อันเนื่องมาจากผลของกรรม คือ การกระทำทั้งบุญกุศล คือ คุณงามความดี ทั้งบาปอกุศล คือ ความชั่ว ที่ได้ทำไว้ในอดีต และกำลังทำอยู่ในปัจจุบันส่งผลทำให้มีฐานะยากดี มีจน การประกอบอาชีพการงาน และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแยกบุคคลที่มีความเป็นอยู่แตกต่างกันเช่นนี้ไว้ในตมสูตร จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๔ ประเภท คือ ๑.บุคคลผู้มืดมา มืดไป ๒.บุคคลผู้มืดมา สว่างไป ๓.บุคคลผู้สว่างมา มืดไป ๔.บุคคลผู้สว่างมา สว่างไป

ประเภทที่ ๑ บุคคลผู้มืดมา มืดไป หมายถึง บุคคลผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ เป็นตระกูลที่จนยาก ปราศจากทรัพย์สมบัติเงินทอง เป็นผู้ขาดแคลนด้วยสิ่งของทุกอย่าง มีความเป็นอยู่ที่ฝืดเคืองขัดสน จะจับจ่ายใช้สอยต้องลำบาก เป็นเพราะในอดีตชาติที่ผ่านมา ไม่ได้ประกอบในทางแห่งกุศลกรรม คุณงามความดี อันเป็นทางที่จะนำให้ไปเกิดในภูมิภพที่ดี คือเป็นมนุษย์ หรือประกอบกุศลผลบุญความดีมาเหมือนกัน แต่ทำน้อย ผลบุญนั้นจึงส่งให้มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ แต่กลับหมดอำนาจลง ส่งผลให้เป็นคนขัดสนจนยาก ต้องลำบากทำงานเลี้ยงชีวิต

บุคคลผู้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ขัดสนจนยากดังว่ามานี้แล้ว ไม่ขยันทำงาน ไม่หมั่นประกอบบุญกุศลคุณงามความดี กลับประพฤติทุจริต คือ ทำกรรมชั่ว อันจะเป็นทางนำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์ ทำความชั่วทางกาย เช่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ประพฤติผิดในกาม  ทำความชั่วทางวาจา เช่น พูดโกหกโป้ปดมดเท็จ พูดส่อเสียดให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจ พูดจาหยาบคาย พูดคำพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีประโยชน์ หาสาระไม่ได้ และทำความชั่วทางใจ เช่น มีความโลภอยากได้ของผู้อื่น คิดพยาบาทเบียดเบียนผู้อื่น มีความเห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรม คือ เห็นว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำบุญแล้วไม่ส่งผล เป็นต้น

บุคคลผู้ประพฤติเช่นที่กล่าวมานี้ เมื่อตายแล้วย่อมเข้าถึงอบายภูมิ ๔ อันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน

จะได้ยกเรื่องของบุคคลผู้ที่มืดมา และกลับมืดไป เป็นอุทาหรณ์ มีโจรอยู่คนหนึ่ง มักจะประกอบกรรมชั่ว คือลักขโมยทรัพย์สินผู้อื่น ตัดช่องย่องเบาในเวลากลางคืออยู่เป็นประจำ วันหนึ่งเมื่อเสร็จกิจของตนแล้ว จึงได้นอนพักที่ศาลาใกล้ประตูเมือง ท่านสุมังคลเศรษฐีผู้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวันเห็นเข้าจึงกล่าวว่า เจ้าคนนี้ คงจักเป็นคนเที่ยวเตร่ในตอนกลางคืน จึงมานอนอยู่ที่นี้

ฝ่ายโจรได้ยินเข้าจึงมองดูเห็นเศรษฐีแล้วผูกอาฆาตพยาบาทอยู่ในใจ วันหลังเมื่อได้โอกาสจึงเผานาของสุมังคลเศรษฐี ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคในคอก ๗ ครั้ง เผาเรือน ๗ ครั้ง และครั้งสุดท้าย ได้เผาพระคันธกุฏิที่เศรษฐีสร้างถวายพระพุทธเจ้า การกระทำดังกล่าวมาไม่ได้ทำให้เศรษฐีโกรธตอบเลย ทำให้โจรเดือดร้อนใจ จึงคิดที่จะฆ่าเศรษฐีให้ได้ แต่ไม่ได้โอกาส โจรนั้นเมื่อตายไป ไปเกิดในอเวจีมหานรก เสวยกรรมชั่วของตนเป็นเวลายาวนาน และได้มาเกิดเป็นเปรตถูกไฟไหม้อยู่มาจนกระทั่งบัดนี้

ดังนั้น บุคคลผู้ที่เกิดในตระกูลที่ต่ำ ซ้ำประพฤติทุจริตเป็นอาจิณ จึงส่งผลให้ได้รับทุกข์โทษ เปรียบได้กับบุคคลผู้ออกจากที่มืด ไปสู่ที่มืด




บุคคลผู้มืดมา สว่างไป

ประเภทที่ ๒ คือ บุคคลผู้มืดมา สว่างไป หมายถึง บุคคลผู้เกิดในตระกูลต่ำ เป็นตระกูลที่จนยาก ปราศจากทรัพย์สมบัติเงินทอง มีความเป็นอยู่ฝืดเคือง เป็นเพราะในอดีตชาติที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ประ กอบในทางแห่งกุศลกรรม คุณงามความดี อันเป็นทางที่จะนำให้ไปเกิดในภูมิภพที่ดี คือ เป็นมนุษย์ หรือประกอบกุศลผลบุญความดีมาเหมือนกัน แต่ทำน้อย ผลบุญนั้นจึงส่งให้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วกลับหมดอำนาจลง ส่งผลให้เป็นคนขัดสนจนยาก ต้องลำบากในการดำรงชีวิต

ผู้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ขัดสนจนยากดังว่ามานี้แล้ว ไม่มีความน้อยเนื้อต่ำใจ ในวาสนาของตนเอง แต่เป็นผู้รู้ตน มีความขยัน หมั่นประกอบอาชีพการงาน และยังประกอบคุณงามความดี ด้วยคิดว่า ที่ตนเองเกิดมายากจนนั้น เป็นเพราะไม่ได้ทำบุญให้ทานมาแต่ก่อน ในชาตินี้เมื่อมีโอกาสจึงทำบุญให้ทาน ประพฤติสุจริต คือ ประกอบแต่กรรมดี อันเป็นทางนำไปสู่ทางที่ดี มีความสุข

ทำความดีทางกาย เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดในกาม

ทำความดีทางวาจา เช่น ไม่พูดโกหกหลอกลวงผู้อื่น ไม่พูด ส่อเสียดให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจ ไม่พูดจาหยาบคาย ไม่พูดคำพูดเพ้อเจ้อ ที่ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ

ทำความดีทางใจ เช่น ไม่มีความโลภอยากได้ของผู้อื่น ไม่คิดพยาบาทเบียดเบียนผู้อื่น มีความเห็นชอบ คือ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำบุญแล้วให้ผลที่ดี

ผู้ประพฤติดังนี้ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ มีแต่ความสุขความเจริญ

มีเรื่องของบุคคลผู้ที่มืดมา และกลับสว่างไป เป็นอุทาหรณ์ คนรับใช้คนหนึ่งของจูฬกเศรษฐี เป็นคนยากจน ทำงานตามที่ท่านเศรษฐีประสงค์จะใช้ ด้วยความขยัน วันหนึ่งคิดว่า ถ้าเราทำงานรับจ้าง ผู้อื่นอยู่อย่างนี้ คงจะไม่มีทรัพย์สินเงินทองเก็บไว้ใช้ในยามเดือดร้อนเป็นแน่ จึงไปปรึกษากับเศรษฐี

พอท่านเศรษฐีเห็นดีด้วยแล้วจึงคิดที่จะทำการค้าขาย พอดีเห็นคนรับใช้คนอื่น นำหนูตายตัวหนึ่งไปทิ้ง จึงขอไว้แล้วคิดว่า จะทำอะไรดี จึงนำไปขายให้กับคนเลี้ยงแมว ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง นำเงินนั้นไปซื้อดอกไม้มาขายต่อไป นำผลกำไรที่ได้จากการขายดอกไม้ ไปซื้อไม้กับคนทำสวนที่เขาไม่ต้องการ นำไม้ที่ได้ ไปขายให้กับช่างปั้นหม้อ เพื่อไว้ใช้เผาภาชนะดิน นำผลกำไรที่ได้เพิ่มขึ้นอีก ไปซื้อหญ้าแล้วนำไปขายให้กับคนเลี้ยงม้า ได้เงินมาเป็นจำนวนมากแล้วนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดี

ต่อมาได้ลงทุนทำการค้าขายทางเรือกับพวกพ่อค้าต่างเมือง ได้เงินทองมากขึ้นตามลำดับ

ต่อมาระลึกถึงจูฬกเศรษฐีผู้ที่เคยมีบุญคุณอุปการะแก่ตนมาก่อน ด้วยความกตัญญูกตเวที จึงนำเงินทองครึ่งหนึ่งจากที่ตนหามาได้ มามอบให้แก่ท่านเศรษฐี

ท่านเศรษฐีเห็นทรัพย์แล้วจึงคิดว่า คนที่ฉลาด ขยันหมั่นหาทรัพย์เช่นคนคนนี้ ไม่สมควรที่จะเป็นคนรับใช้ของเรา เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว จึงมอบเงินคืนให้และได้ยกธิดาคนหนึ่งของตนให้ พร้อมกับมอบเงินทองให้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมาเมื่อเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว เขาได้รับตำแหน่งเศรษฐี ทำความดี บำเพ็ญกุศลต่อไปจนตลอดชีวิต

ดังนั้น บุคคลผู้ที่เกิดในตระกูลที่ต่ำ แต่กลับทำความดี ประพฤติสุจริตเป็นประจำ จึงนำให้ไปเกิดในสุคติภพ เปรียบได้กับบุคคล ผู้ออกจากที่มืด ไปสู่ที่สว่าง


.


บุคคลผู้มืดมา มืดไป

บุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ มีความเป็นอยู่ที่ไม่เสมอเหมือนกัน อันเนื่องมาจากผลของกรรม คือ การกระทำทั้งบุญกุศล คือ คุณงามความดี ทั้งบาปอกุศล คือ ความชั่ว ที่ได้ทำไว้ในอดีต และกำลังทำอยู่ในปัจจุบันส่งผลทำให้มีฐานะยากดี มีจน การประกอบอาชีพการงาน และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแยกบุคคลที่มีความเป็นอยู่แตกต่างกันเช่นนี้ไว้ในตมสูตร จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๔ ประเภท คือ
๑. บุคคลผู้มืดมา มืดไป
๒. บุคคลผู้มืดมา สว่างไป
๓. บุคคลผู้สว่างมา มืดไป
๔. บุคคลผู้สว่างมา สว่างไป

ประเภทที่ ๑ บุคคลผู้มืดมา มืดไป หมายถึง บุคคลผู้เกิดในตระกูลต่ำ คือ เป็นตระกูลที่จนยาก ปราศจากทรัพย์สมบัติเงินทอง เป็นผู้ขาดแคลนด้วยสิ่งของทุกอย่าง มีความเป็นอยู่ที่ฝืดเคืองขัดสน จะจับจ่ายใช้สอยต้องลำบาก เป็นเพราะในอดีตชาติที่ผ่านมา ไม่ได้ประกอบในทางแห่งกุศลกรรม คุณงามความดี อันเป็นทางที่จะนำให้ไปเกิดในภูมิภพที่ดี คือเป็นมนุษย์ หรือประกอบกุศลผลบุญความดีมาเหมือนกัน แต่ทำน้อย ผลบุญนั้นจึงส่งให้มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ แต่กลับหมดอำนาจลง ส่งผลให้เป็นคนขัดสนจนยาก ต้องลำบากทำงานเลี้ยงชีวิต

บุคคลผู้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ขัดสนจนยากดังว่ามานี้แล้ว ไม่ขยันทำงาน ไม่หมั่นประกอบบุญกุศลคุณงามความดี กลับประพฤติทุจริต คือ ทำกรรมชั่ว อันจะเป็นทางนำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์
- ทำความชั่วทางกาย เช่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ประพฤติผิดในกาม
- ทำความชั่วทางวาจา เช่น พูดโกหกโป้ปดมดเท็จ พูดส่อเสียดให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจ พูดจาหยาบคาย
  พูดคำพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีประโยชน์ หาสาระไม่ได้ -
- และ ทำความชั่วทางใจ เช่น มีความโลภอยากได้ของผู้อื่น คิดพยาบาทเบียดเบียนผู้อื่น มีความเห็นผิด
  ไปจากทำนองคลองธรรม คือ เห็นว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำบุญแล้วไม่ส่งผล เป็นต้น

บุคคลผู้ประพฤติเช่นที่กล่าวมานี้ เมื่อตายแล้วย่อมเข้าถึงอบายภูมิ ๔ อันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน

จะได้ยกเรื่องของบุคคลผู้ที่มืดมา และกลับมืดไป เป็นอุทาหรณ์ มีโจรอยู่คนหนึ่ง มักจะประกอบกรรมชั่ว คือลักขโมยทรัพย์สินผู้อื่น ตัดช่องย่องเบาในเวลากลางคืออยู่เป็นประจำ วันหนึ่งเมื่อเสร็จกิจของตนแล้ว จึงได้นอนพักที่ศาลาใกล้ประตูเมือง ท่านสุมังคลเศรษฐีผู้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวันเห็นเข้าจึงกล่าวว่า เจ้าคนนี้คงจักเป็นคนเที่ยวเตร่ในตอนกลางคืน จึงมานอนอยู่ที่นี้

ฝ่ายโจรได้ยินเข้าจึงมองดูเห็นเศรษฐีแล้วผูกอาฆาตพยาบาทอยู่ในใจ วันหลังเมื่อได้โอกาสจึงเผานาของสุมังคลเศรษฐี ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคในคอก ๗ ครั้ง เผาเรือน ๗ ครั้ง และครั้งสุดท้าย ได้เผาพระคันธกุฏิที่เศรษฐีสร้างถวายพระพุทธเจ้า การกระทำดังกล่าวมาไม่ได้ทำให้เศรษฐีโกรธตอบเลย ทำให้โจรเดือดร้อนใจ จึงคิดที่จะฆ่าเศรษฐีให้ได้ แต่ไม่ได้โอกาส โจรนั้นเมื่อตายไป ไปเกิดในอเวจีมหานรก เสวยกรรมชั่วของตนเป็นเวลายาวนาน และได้มาเกิดเป็นเปรตถูกไฟไหม้อยู่มาจนกระทั่งบัดนี้

ดังนั้น บุคคลผู้ที่เกิดในตระกูลที่ต่ำ ซ้ำประพฤติทุจริตเป็นอาจิณ จึงส่งผลให้ได้รับทุกข์โทษ เปรียบได้กับบุคคลผู้ออกจากที่มืด ไปสู่ที่มืด



จากคอลัมน์ "ธรรมะวันหยุด" หนังสือพิมพ์ข่าวสด
โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร กรุงเทพมหานคร

20-20
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 พฤษภาคม 2558 15:23:00 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 28 พฤษภาคม 2558 16:20:42 »

.


บุญกิริยาวัตถุ

คำว่า "บุญ" หมายถึงธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ใจ ธรรมชาติที่ชำระจิตใจให้สะอาดให้ผ่องใส มีผลได้แก่ความสุขที่เกิดทางใจ

บุญเกิดได้หลายทาง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ดังนี้

๑. ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ได้แก่ วัตถุสิ่งของให้ธรรมะเป็นทาน เรียกธรรมทาน, ให้อภัย เรียกอภัยทาน
๒. ศีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ได้แก่ การปฏิบัติตามข้อห้ามตามที่ทรงบัญญัติในพระปาฏิโมกข์เพื่อกำจัดกิเลส
๓. ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ได้แก่ การปฏิบัติใจเพื่อกำจัดกิเลส แบ่งเป็น สมถะภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
๔. ไวยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือกิจการสงฆ์และภาระพระศาสนา
๕. อปจายนะมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการมีกิริยาอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณและคนทั่วไป
๖. ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
๗. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงอนุโมทนาในส่วนบุญร่วมกับผู้อื่น
๘. ธัมมเทศนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ได้แก่การอธิบายบรรยายธรรมะให้แก่ผู้ร่วมโลกที่ร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย.
๙. ธัมมัสสวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ได้แก่ การฟังธรรมและนำข้อธรรมมาประพฤติปฏิบัติให้พ้นทุกข์
๑๐. ทิฏฐชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรงเป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อในธรรมและการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ในบรรดาสิ่งที่อาจช่วยเราได้ในโลก ไม่มีอะไรจะวิเศษเท่ากับบุญเลย คนบางคนช่วยเราได้อย่างมากก็เพียงช่วงระยะเวลาจากเปลไปสู่หลุมฝังศพเท่านั้น แต่บุญที่เราทำไว้มากๆ นี้จะช่วยเราได้ตั้งแต่ก่อนเกิด เกิดแล้วยังตามช่วย ตายแล้วยังตามช่วย แม้การบรรลุจุดหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา คือการบรรลุพระนิพพาน บุญนี้เท่านั้นที่ช่วยเรา
 
บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นวิธีทำบุญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนสามารถประพฤติปฏิบัติในข้อใดข้อหนึ่งได้ตามอัธยาศัย ซึ่งล้วนแต่เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ เป็นทางแห่งการสั่งสมบุญทั้งนั้น ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติเท่านั้นก็จะเป็นบุญกุศลทั้งสิ้น

เมื่อทราบชัดบ่อเกิดแห่งบุญ คือ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการเช่นนี้แล้ว ควรที่จะเร่งรีบทำบุญทำความดีบ่อยๆ ตามอัธยาศัย ตามโอกาสอำนวยที่สามารถจะทำได้ และเมื่อบุญหรือ ความดีที่ทำไว้นั้นมากพอสมควร บุญนั้นก็จักบันดาลให้ประสบความสุขความเจริญทั้งในภพนี้และภพหน้า




มัจฉริยะ

๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ได้แก่ ความหวงแหนที่อยู่อาศัยอันเป็นของตน ไม่พอใจให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นคนต่างด้าว ต่างชาติ ต่างนิกาย ต่างหมู่ ต่างคณะ ต่างพรรค ต่างพวก ต่างประเพณี กับฝ่ายตน เข้ามาอยู่อาศัยปะปนแทรกแซง จัดเป็นอาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่
๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล ได้แก่ ความหวงแหนสกุลของตนเอง ไม่มีความประสงค์ คือไม่ต้องการให้สกุลอื่นภายนอกมาเกี่ยวดองผูกพันด้วย จัดเป็นกุลมัจฉริยะ ในฝ่ายคฤหัสถ์  อนึ่ง ความหวงแหนสกุลอุปัฏฐากของภิกษุ ไม่พอใจ คือไม่ยินดีให้บำรุงอุปถัมภ์ภิกษุอื่นๆ คอยกีดกันตัดรอนเสียโดยประการต่างๆ จัดเป็นกุลมัจฉริยะในฝ่ายบรรพชิต
๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ได้แก่ ความหวงแหน เหนียวแน่น ทรัพย์สมบัติพัสดุสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นของตน ไม่ต้องการจะแบ่งปันให้บุคคลอื่น มีลาภมาก ก็มีความโลภมาก คำว่า พอละ หามีแก่คนตระหนี่ไม่ มีทรัพย์สมบัติเท่าใด ก็เก็บไว้เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตนเท่านั้น จัดเป็นลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ
๔. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ ได้แก่ หวงแหนคุณงามความดี ไม่มีความปรารถนาให้บุคคลอื่นทัดเทียมตน หรือเสมอกับตนในคุณงามความดีนั้นๆ หมายความว่าไม่ต้องการให้ผู้อื่นสู้ได้นั่นเอง จัดเป็นวัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ  อีกอย่างหนึ่ง คำว่า วัณณะ แปลว่า สีกาย ได้แก่ ความหวงสวย หวงงาม อันเป็นกิเลสของสตรีสาว ไม่มีความปรารถนาให้หญิงสาวอื่นๆ สวยงามไปกว่าตน ก็นับเข้าในวัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะเหมือนกัน
๕.ธั มมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรมะ ได้แก่ ความหวงแหนธรรมะ หวงศิลปวิทยาการต่างๆ ที่ตนเคยศึกษาเล่าเรียนมา ไม่มีความปรารถนาจะแสดง จะบอกจะกล่าวสั่งสอนให้แก่บุคคลอื่นๆ ด้วยเกรงว่าเขาจะรู้ทัดเทียมตน เพราะต้องการรู้เฉพาะตัวแต่ผู้เดียวเท่านั้น จัดเป็นธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรมะ




ทรัพย์ภายใน

ความจนภายนอกเป็นทุกข์ แต่เป็นทุกข์ด้วยเรื่องภายนอกไม่รุนแรงมากนัก แต่ความจนภายในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ใจก็เดือดร้อนกระสับกระส่าย มองไม่เห็นเหตุและผล เพราะฉะนั้น จึงควรบำเพ็ญธรรมะ ๕ ประการให้ปรากฏขึ้นที่ใจ คือ
ความเชื่อ ได้แก่ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าสัตว์เป็นอยู่ด้วยกรรม มีกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย และเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระองค์เป็นคำสอนที่ดีจริง แต่ถ้าเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาถึงเหตุผล อย่างนี้เป็นศรัทธาที่งมงาย ต้องพิจารณาให้เห็นจริงก่อนแล้วเชื่อ จึงเป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามหลักในพระพุทธศาสนา ศรัทธามีลักษณะทำใจให้ใสสะอาด เหมือนเครื่องกรองน้ำทำน้ำให้ใสสะอาด ฉะนั้น

ความละอายใจ ไม่กล้าทำความชั่ว ละอายต่อสิ่งภายนอก เช่นไม่กล้าทำความชั่ว เพราะละอายว่าคนอื่นจะเห็น แล้วไม่ทำความชั่ว เป็นหิริโดยอ้อม ละอายใจตัวเอง แม้จะสามารถทำความชั่วได้ในที่ที่ไม่มีใครรู้ ใครเห็น แต่นึกละอายใจว่า ถึงไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่ตัวเองย่อมรู้เห็นได้ แล้วไม่ทำความชั่ว จัดเป็นหิริโดยตรง คือความละอายแท้

ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนคนรักษาความสะอาดอาบน้ำชำระกายเรียบร้อยแล้ว ขยะแขยงสะอิดสะเอียนต่อสิ่งโสโครก ไม่กล้าเข้าใกล้หรือจับต้อง คนมีหิริย่อมสะอิดสะเอียนต่อความชั่ว กิเลสจะมาชักจูงใจให้ทำกรรมชั่วไม่ได้ ฉะนั้น

ความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่ว คู่กับหิริ หิริกลัวเหตุ โอตตัปปะกลัวผล หิริมีลักษณะรักษาความสะอาด กาย วาจา ใจ โอตตัปปะกลัวที่จะเดือดร้อนใจในภายหลัง ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนท่อนเหล็กที่ปลายข้างหนึ่งเปื้อนสิ่งโสโครก ปลายข้างหนึ่งเผาร้อนระอุด้วยแรงไฟ คนไม่กล้าจับท่อนเหล็กข้างเปื้อนสิ่งโสโครก เป็นลักษณะของหิริ คนไม่กล้าจับท่อนเหล็กข้างที่เผาร้อนระอุด้วยแรงไฟ เป็นลักษณะของโอตตัปปะ คนมีที่โอตตัปปะประจำใจ แม้กิเลสจะมาชักจูงใจให้ทำความชั่ว ก็เกรงกลัวว่าจะได้รับผลเป็นทุกข์เดือดร้อนในภายหลัง โอตตัปปะจึงเป็นตัวเหตุสกัดกั้นสรรพกิเลสให้สงบระงับไป

ความเพียร มีลักษณะทำใจให้กล้าหาญ ให้บากบั่นไม่ท้อถอย ให้มุ่งไปข้างหน้า ในการละความชั่วประพฤติความดี ทำให้ผู้ปฏิบัติล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

ความรอบรู้ หรือความรู้ทั่ว คนมีปัญญาย่อมหายมืดหายหลง เกิดความรู้ความฉลาด คนไม่มีปัญญา แม้มีทรัพย์สมบัติก็รักษาไว้ไม่ได้ ดังคำว่าไร้ทรัพย์เพราะอับปัญญา คนมีปัญญาแม้จะไม่มีทรัพย์มรดกมาแต่เดิม แต่ก็จะหาเพิ่มเติมได้ด้วยปัญญา

ดังคำว่าบุญมาวาสนาช่วย คนมีบุญวาสนาก็คือคนมีปัญญา ถึงคราวอับจนก็ไม่อับจน เหมือนมีดวงประทีปอยู่ในมือสำหรับส่องดูในที่มืด ให้เกิดความสว่างขึ้น ปัญญาจึงทำคนโง่ให้เป็นคนฉลาด ทำคนจนให้เป็นคนมั่งมี คนมีปัญญาจึงเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก นึกต้องการอะไรได้ตามปรารถนา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าปัญญาเป็นดวงแก้วของนรชน

ธรรมะ ๕ ประการนี้ เรียกว่า ทรัพย์ภายใน เป็นธรรมะต้นทุน เมื่อเรามีธรรมะต้นทุนแล้ว ก็สามารถที่จะให้เกิดดอกออกผลงอกงามยิ่งๆ ขึ้นได้  




ศรัทธา ความเชื่อ

ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของทุกๆ คน ถ้าไม่มีความเชื่ออยู่ในใจแล้ว ความตั้งใจที่จะทำก็ไม่มี หรือถึงจะมีก็ไม่หนักแน่นมั่นคง เพราะไม่เชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นจะมีผลประโยชน์แก่ตนและคนอื่นอย่างไร

เมื่อขาดความตั้งใจเสียแล้วเวลาจะทำอะไรก็ไม่สามารถให้สำเร็จลุล่วงไปได้ พอพบอุปสรรค ก็เกิดความท้อถอยและเบื่อหน่าย พลอยทำให้เกิดความเกียจคร้านไม่คิดที่จะทำต่อไป แต่ถ้ามีความเชื่ออยู่ในใจแล้วก็จะทำให้เกิดความองอาจหาญกล้า ตั้งหน้าทำงานไปจนงานนั้นสำเร็จผล แต่ความเชื่อนั้นต้องเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ คือต้องเชื่ออย่างมีเหตุมีผล จะเชื่อตามๆ กันนั้นไม่สมควรเพราะอาจนำความเดือดร้อนเสียหายมาสู่ตนและคนอื่นได้

หลักที่ควรเชื่อนั้นมี ๔ อย่าง คือ ๑. เชื่อการกระทำ ๒. เชื่อผลของการกระทำ ๓. เชื่อว่าทุกคนมีการกระทำเป็นของตนเองเสมอ ใครทำดีต้องได้รับผลดี ใครทำชั่วต้องได้รับผลชั่ว จะมัวโทษคนอื่นและสิ่งอื่นว่าให้ดีและร้ายแก่ตนไม่ได้ ๔. เชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อความรู้ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะพระองค์ทรงทราบใน สิ่งเหล่านี้ได้อย่างดีแล้ว จึงนำมาชี้แจงแสดงให้รู้ ให้เห็นตามความเป็นจริง

การเชื่อในความรู้ของพระพุทธเจ้าก็เท่ากับการเชื่อต่อเหตุผลนั่นเอง เพราะพระองค์จะสั่งสอนอะไรก็ล้วนแต่มีเหตุมีผล ซึ่งผู้ฟังทุกคนสามารถนำไปนึกตรึกตรองพิจารณาให้เห็นได้ด้วยตนเอง พระองค์จะคอยตักเตือนเสมอว่าอย่าเชื่อโดยไร้เหตุผล หรือเชื่ออย่างงมงายโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ สอนให้ใช้ความสังเกตได้ในที่ทั่วไป

ความจริงแล้วทุกๆ สิ่งล้วนแล้วแต่มีเหตุมีผล เหตุได้แก่ สิ่งที่ทำขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นก่อน ผลได้แก่สิ่งที่ตามมาทีหลัง เมื่อมีเหตุแล้วผลก็มี มีเหตุดี ผลก็ดี มีเหตุชั่ว ผลก็ชั่ว เหตุกับผล หรือผลกับเหตุต้องตรงกันเสมอ เช่นเดียวกับการปลูกต้นไม้ เมื่อปลูกต้นไม้ชนิดใดลงไปผลก็ต้องเป็นของต้นไม้นั้นแน่นอน จะกลับกลายเป็นผลของต้นไม้อื่นหรือเป็นสิ่งอื่นไปไม่ได้

ความเชื่ออย่างมีเหตุมีผลเช่นนี้มีอยู่ในบุคคลใดย่อมทำให้บุคคลนั้นมีการตัดสินใจในการกระทำได้อย่างเด็ดขาด และทำให้เป็นคนองอาจกล้าหาญในการกระทำไม่หวาดหวั่นต่ออันตรายและอุปสรรค ย่อมจะทำการงานได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อทำการงานได้เป็นผลสำเร็จก็ย่อมได้รับรางวัลแห่งการงานเป็นเครื่องตอบแทน เช่น ได้ทรัพย์สมบัติ ได้รับชื่อเสียง เกียรติยศ ความยกย่องนับถือ

ด้วยเหตุนี้ศรัทธาจึงนับว่าเป็นหลักธรรมสำคัญ แต่ถ้ายังมีความประพฤติอันเลวทรามและเสียหาย มีกายวาจาไม่เรียบร้อย เบียดเบียนผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์ ประพฤติผิดในลูกและภรรยาของผู้อื่น กล่าววาจาระรานหยาบคายต่อ ผู้อื่น เป็นต้นแล้ว ถึงแม้จะได้ทรัพย์สมบัติหรือมีทรัพย์สมบัติก็กลับกลายเป็นคนไร้ทรัพย์ ถึงแม้จะได้รับความยกย่องนับถือก็กลับกลายหายหมด ไม่คงทนอยู่ได้ เพราะยังประพฤติตนในสิ่งที่เสียหาย ข้อนี้เปรียบได้กับการตักน้ำใส่ภาชนะที่รั่วไหลแม้จะตักใส่สักเท่าไรก็ไม่ยอมเต็มมีแต่จะพร่องและหมดไป





ธรรมมีอุปการะมาก

สติ คือ ความระลึกได้ คู่กับคำว่า สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวอยู่เสมอ

สติ เป็นไปในกิริยาที่ทำ กิริยาที่พูด กิริยาที่นึกหรือคิด คือก่อนจะทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ระลึกนึกได้ก่อนแล้วจึงทำ จึงพูด จึงคิด บุคคลผู้ที่ทำผิด พูดผิด คิดผิด ก็เพราะขาดสติ

สติเป็นไปในกิริยาที่จำ คือ กิจการใดที่ได้ทำไว้แล้ว ถ้อยคำใดที่ได้พูดไว้แล้ว เรื่องใดๆ ที่ได้คิดตกลงใจไว้แล้ว แม้ล่วงกาลเวลาช้านาน ก็ระลึกนึกถึงกิจที่ได้ทำ คำที่ได้พูด เรื่องที่ได้คิดไว้นั้นได้ ไม่ลืมเลือน

บุคคลที่ทำแล้ว พูดแล้ว ลืมเสีย ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับกิจที่จะทำ คำที่จะพูด เรื่องที่จะคิดต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายได้ ก็เพราะขาดสติ

ส่วนสัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่เสมอนั้น เป็นไปในขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด คือรู้สึกตัวอยู่เสมอว่ากำลังทำ พูด และคิดอะไรอยู่ กล่าวคือทำ พูด คิดถูกก็รู้ หรือทำ พูด คิดผิดก็รู้

เมื่อรู้ว่ากำลังทำ พูด คิดถูก ก็ให้ทำ พูด คิดอย่างนั้นๆ ต่อไป เมื่อรู้สึกตัวว่ากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดในทางที่ผิด ก็ให้หยุดเสีย ไม่ให้ทำ พูด คิดอย่างนั้นๆ ต่อไปอีก

ความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ตนมีภาวะเป็นอย่างไร มีหน้าที่ มีกิจที่จะต้องทำอะไรบ้าง ก็ให้ปฏิบัติให้สมกับภาวะและหน้าที่ที่ตนเป็นอยู่และมีอยู่นั้นๆ ไม่บกพร่อง ไม่ผิดพลาด บริบูรณ์ดี เพราะมีสัมปชัญญะควบคุมอยู่

บุคคลที่บกพร่องต่อหน้าที่ มีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งแก่ตนและคนอื่น เพราะขาดสัมปชัญญะ ไม่มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอะไรอยู่ จึงทำให้ทำ พูด และคิดไปในทางที่ผิด เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น สติและสัมปชัญญะนี้จึงมีประโยชน์แก่ทุกคน

สติและสัมปชัญญะทั้ง ๒ ประการ เรียกว่า ธรรมมีอุปการะมาก คือ ผู้ที่มีใจอันสติสัมปชัญญะเข้ากำกับอยู่เสมอแล้ว ย่อมประพฤติกาย วาจา ในทางที่ถูก ที่ควร ย่อมได้รับผลคือความสุข ความเย็นใจไม่เดือดร้อน สติสัมปชัญญะเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่คนทุกคน

ผู้มีปัญญาเป็นเลิศ มีการศึกษาดี มีสมรรถภาพในการทำงานดี แต่ถ้ามีปัญญาฟุ้งไป ไม่มีสติเป็นเครื่องยับยั้ง ก็จักเป็นคนฉลาดเกินควร เข้าลักษณะที่ว่า ฉลาดแต่ขาดเฉลียว กลายเป็นผู้ทะนงว่า ตนเท่านั้นสามารถ คนอื่นสู้ตนไม่ได้

เมื่อมีความทะนงตนอย่างนี้แล้ว ความผิดพลาดไม่รอบคอบนานาประการ ก็จะพึงเกิดมีขึ้น อันจะเป็นผลเสียหายแก่ตนและคนอื่น

ถ้าผู้มีปัญญาสามารถดี และมีสติเป็นเครื่องกำกับยับยั้งอยู่ด้วย ก็จักช่วยให้มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีความเสื่อม

สติที่เป็นเครื่องระลึก ก่อให้เกิดความนึกคิด ก่อนจะทำ ก่อนจะพูดเป็นเบื้องต้น เป็นเหตุให้รอบคอบ สามารถที่จะประกอบกิจน้อยใหญ่ให้เป็นไปด้วยดี ไม่มีความผิดพลาด




กองขยะ ๓ กอง ของชีวิต

ขึ้นชื่อว่า ขยะ คงไม่มีใครต้องการ เพราะเป็นของที่ไร้ค่า ไร้ราคา หาประโยชน์ไม่ได้ แต่ขยะบางอย่างนั้น ยังสามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

ขยะในที่นี้ ไม่ได้หมายเอาขยะที่เหลือใช้จากสิ่งของต่างๆ แต่หมายถึงขยะที่มีอยู่ภายในใจของเรา คนเรานั้นถ้ามีขยะ ๓ กองนี้อยู่ในใจ ก็ไม่ต่างอะไรจากสิ่งของที่คนทั้งหลายใช้แล้วทิ้งกลายเป็นขยะ ก็จะเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าขึ้นมาทันที

ขยะที่ว่านี้ คือ อกุศลมูล ๓ ได้แก่ โลภะ ความอยากได้ โทสะ ความประทุษร้าย โมหะ ความหลงไม่รู้จริง ขยะ ๓ กองนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับบุคคล สถานที่ หรือองค์กรใดก็ตาม ก็จะทำให้บุคคล สถานที่ หรือองค์กรนั้น เกิดความเสียหายได้

อกุศลมูล แปลว่า รากเหง้าหรือต้นเหตุของความไม่ดี หมายถึงกิเลสที่อยู่ภายในใจ เป็นต้นกำเนิด เป็นบ่อเกิดแห่งความชั่ว เรียกกันทั่วไปว่า โลภ โกรธ หลง

กองที่ ๑ โลภะ หมายถึง ความอยากได้วัตถุสิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยทางทุจริตไม่ชอบธรรม เช่น ความเพ่งเล็ง มักมาก ตระหนี่ หลอกลวง ฉ้อโกง ลักขโมย ปล้นทรัพย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น

กองที่ ๒ โทสะ หมายถึง ความคิดประทุษร้ายทำลายผู้อื่น คิดจะทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือเกิดความเสียหาย โทสะนี้เมื่อเกิดขึ้นทางกาย ก็จะทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บ เดือดร้อน เมื่อเกิดขึ้นทางวาจา ก็ว่าร้าย พูดคำหยาบ พูดเท็จ เป็นต้น เมื่อเกิดขึ้นทางใจ ก็เกิดความขัดเคืองใจ จองล้างจองผลาญ จองเวรกันไม่จบสิ้น   โทสะ จัดเป็นกิเลสที่ร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะทำอันตรายทุกสิ่งทุกอย่างในตัวของผู้นั้น เริ่มตั้งแต่ทำลายระบบความคิด ทำลายสุขภาพกาย สุขภาพจิต บุคคลที่ปล่อยให้โทสะครอบงำใจบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ชอบทำอันตรายแก่สังคม

กองที่ ๓ โมหะ หมายถึง ความหลงโดยไม่รู้สภาพตามความเป็นจริง ว่าอะไรผิดหรือถูก เพราะอวิชชาคือความไม่รู้ปกปิดเอาไว้ โมหะนี้ท่านเปรียบเหมือนกับความมืด ถ้าความมืดปกคลุมในที่ใด คนที่ทำอะไรอยู่ในความมืดนั้น ก็อาจจะทำผิดพลาดได้หลายอย่าง คนที่ถูกโมหะครอบงำจิตใจก็มีอาการเช่นเดียวกัน อาจจะประกอบอกุศลกรรมได้ทุกอย่าง มีการทะเลาะวิวาทกัน เป็นต้น

การจัด โลภะ โทสะ โมหะ เป็นขยะ ๓ กองนั้น เพราะเมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจของบุคคลใด ย่อมทำให้บุคคลนั้นประกอบกรรมทำชั่ว หรือประพฤติทุจริตได้ บุคคลที่ประพฤติชั่วทางกาย เป็นต้นดังกล่าวมาแล้ว ย่อมกลายเป็นคนที่ไร้ค่า ไร้ราคาเหมือนขยะที่ถูกทิ้ง เมื่อพิจารณาเห็นความพินาศของขยะ ๓ กองนี้แล้วหวังทำตนและหมู่คณะให้เจริญ ต้องหมั่นประกอบคุณงามความดี คือ กุศลมูล ๓ อย่าง ที่ตรงกันข้ามกับอกุศลมูล

บุคคลที่ดำรงตนมั่นคงอยู่ในศีลธรรม ประพฤติแต่กุศลธรรมคือคุณงามความดี ย่อมมีแต่คนสรรเสริญ มีคุณค่าต่อสังคม นั้นๆ และนำพาสังคมนั้นๆ ไปสู่ความเจริญได้ เมื่อพิจารณาเห็นโทษของอกุศลมูลและเห็นอานิสงส์ของกุศลมูลแล้ว พึงหมั่นประกอบแต่คุณงามความดี เพื่อความสงบผาสุกของตนและสังคม ตลอดถึงประเทศชาติเป็นที่สุด




ศีล

ศีล คือ ความปกติ และ การรักษาศีล ก็คือ การตั้งใจรักษาปกติของตน อันเป็นหลักปฏิบัติที่ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และเป็นหลักแห่งความประพฤติที่จะทำให้เกิดความสะอาดทางกาย และวาจา

ศีล มีหลายประเภท เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ และ ศีล ๑๐ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ปฏิบัติ แต่ศีลที่ควรกระทำเพื่อให้เกิดความปกติในสังคมก็คือ ศีล ๕ เพราะสะดวกและง่ายที่จะปฏิบัติ มีดังนี้ คือ
๑. พึงละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
๒. พึงละเว้นจากการลักขโมย ทุจริตฉ้อโกง
๓. พึงละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. พึงละเว้นจากการพูดเท็จ
๕.พึงละเว้นจากการเสพของมึนเมา

ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นหลักที่จำเป็นมากสำหรับทุกๆ คน ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นปกติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

เพราะศีลจะช่วยควบคุมความประพฤติ ไม่ให้ก้าวลงสู่ความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจัดอยู่ในระดับศีลธรรมอันเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่ความสงบของจิตใจ ถ้าหากความสะอาดทางกายและวาจาไม่มีแล้ว เราก็ไม่สามารถทำจิตใจให้สงบได้

การตั้งใจรักษาศีล เป็นเหตุให้เกิดความสุข ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีล ได้ชื่อว่า อยู่ในโลกที่สว่างไสว มีท้องฟ้ากว้างใหญ่สวยงาม ผู้ที่ดำรงอยู่ในศีลนั้น จะไม่เห็นโลกอันมืดมิดเลย เพราะจิตใจของผู้นั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญอันเกิดจากการคิด พูด และทำในสิ่งที่ดีงามอยู่เสมอ

ผู้ที่รักษาศีล แม้ไม่ได้แต่งตัว แต่งใบหน้า แต่งน้ำเสียงให้ดูดี แต่ศีลในจิตใจนั้น ก็จะทำให้ผู้นั้นงดงาม และมีเสน่ห์ มีความอบอุ่น ผู้คนอยากเข้าหา อยากอยู่ใกล้ เพราะกลิ่นศีลนั้นหอมกว่าเครื่องประทินผิวทุกชนิด ต่างกับผู้ที่ไม่รักษาศีล บุคคลเช่นนี้ ถือว่าอยู่ในโลกแห่งความมืด แม้จะเห็นแสงสว่างอยู่ แต่ตาก็เห็นได้เพียงแสงสลัว เหมือนติดอยู่ในคุกแคบ เพราะจิตของเขานั้นเปรอะเปื้อนไปด้วยบาป ความชั่ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอานิสงส์หรือข้อดีของการรักษาศีลแก่ชาวปาฏลิคาม ในมหาปรินิพพานสูตร ว่ามี ๕ ประการ คือ
๑. ย่อมได้โภคทรัพย์สมบัติมากมาย
๒. กิตติศัพท์อันดีงามย่อมขจรขจายไป
๓. มีความองอาจเมื่อไปสู่ที่ชุมนุมชน
๕. เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ย่อมมีสุคติเป็นที่ไป

ศีล ทำให้เกิดคุณงามความดี เพราะ ศีลให้เกิดความสุขตราบเท่าชรา ในโลกนี้ศีลจึงเป็นคุณธรรมยอดเยี่ยม คนจะไปสุคติได้ก็เพราะศีล จะได้โภคสมบัติก็เพราะศีล จะไปนิพพานก็เพราะศีล เพราะฉะนั้นพึงชำระศีลให้สะอาดหมดจดตลอดเวลา




หลักธรรมการครองตน

หลักธรรมการครองตน หมายถึง การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา เพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นหลักแห่งความจริง มีความจริงตามธรรมชาติ เช่น มีเกิด มีดับ มีขึ้น มีลง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ควรเริ่มต้นที่การมีศีล ๕ ไว้ประจำใจ กล่าวคือ
เว้นจากการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น  
เว้นจากการลักขโมย อยากได้ของจากผู้อื่นที่ไม่ใช่ ของตน  
เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
เว้นจากการพูดปด โกหก หลอกลวง
เว้นจากการดื่มสุรา ยาเสพติดให้โทษ

ทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นหลักธรรมเพื่อการประพฤติปฏิบัติในการใช้ชีวิตประจำวัน
นอกจากการมีศีล ๕ เป็นพื้นฐานแล้ว ยังมีหลักธรรมอื่นๆ ที่พอเป็นตัวอย่าง เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ให้มีการครองตนอย่างสมบูรณ์ คือ
ความเห็นชอบ การดำริชอบ
การเจรจาชอบ การกระทำชอบ
การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ
ความระลึกชอบ ความตั้งจิตมั่นชอบ
ทั้ง ๘ ข้อนี้ เป็นหลักธรรมในการดำเนินชีวิต

การให้ เสียสละ แบ่งปันช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของ ตลอดถึงให้ความรู้
การกล่าวเจรจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนหวาน
การประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
การวางตนให้เหมาะสมกับฐานะตนเอง
ทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นหลักธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มีน้ำใจซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้เกิดความรัก ความสามัคคี ดำเนินชีวิตด้วยความสุข

ความละอายในตนเอง
มีความเกรงกลัวต่อความชั่ว ไม่คิดจะกระทำความชั่ว
ทั้ง ๒ ข้อนี้ เป็นหลักธรรมที่ช่วยคุ้มครองบุคคล หรือมวลมนุษย์ในโลก ให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข มีความร่มเย็นเป็นสุข

หลักธรรมเหล่านี้ เป็นหลักธรรมที่นิยมปฏิบัติกัน อย่างแพร่หลาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการครองตนนั้น ต้องมีรากฐานแห่งความดี คือ ยึดถือปฏิบัติศีล ๕ เป็นประจำ และดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักธรรมที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว จะทำให้การดำเนินชีวิตมีความราบรื่น พบความสุขความเจริญแก่ตนเอง สังคม ตลอดจนถึงประเทศชาติเป็นที่สุด




ปัญญาความรอบรู้

ปัญญา คือ ความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุผล สามารถกำจัดความโง่เขลาได้
ความโง่เขลา เปรียบเหมือนความมืดที่ครอบงำจิตใจของมนุษย์ ส่วนปัญญา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เมื่อมนุษย์มีปัญญารู้ดีรู้ชอบแล้ว จะสามารถนำพาชีวิตให้พิชิตความโง่เขลาออกจากจิตใจ ทำให้มวลมนุษย์มีความสว่างไสว ประกอบด้วยเหตุผล ไม่เชื่องมงายในเรื่องราวต่างๆ
ในการดำเนินชีวิต ผู้มีความรู้ดีเป็นพื้นฐานให้ชีวิต มีความเจริญก้าวหน้า อย่างน้อยจะไม่ถูกหลอกลวง หรือไม่เกิดความผิดพลาดจนเกินไป
ความรู้ที่เป็นตัวปัญญาพัฒนามาโดยลำดับ อาศัยการปฏิบัติที่เสริมให้เกิดปัญญา ตามแนวทางพระพุทธศาสนา ย่อเป็น ๓ คือ

๑. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาหาความรู้ เช่น การฟัง รวมถึงการอ่าน การฟังนั้นได้ความรู้ทางหู การอ่านได้ความรู้ทางตา นอกจากนี้ได้ความรู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ว่าทางเสริมความรู้เหล่านี้ ต้องอาศัยฟังทางหู เป็นข้อสำคัญจึงได้ยกการสดับฟังขึ้นมาเป็นทางให้เกิดปัญญา และปัญญาที่ได้จากการฟัง รวมทั้งการอ่าน และความรู้ทางจมูก ทางลิ้นทางกายเหล่านี้ รวมเรียกว่า ปัญญาที่เกิดจากการสดับ

พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการฟังธรรมไว้หลายประการ คือ
- ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
- สิ่งที่เคยฟังแล้วย่อมเข้าใจชัดขึ้น
- บรรเทาความสงสัยเสียได้
- มีความเห็นให้ถูกต้อง
- จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

๒. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากความคิดค้น พิจารณาถึงเหตุผลที่ถูกต้อง เป็นทางให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดทางความคิดพินิจพิจารณา
๓. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมลงมือปฏิบัติ หรือทำให้เกิดการพัฒนาด้วยการบริหารจิตให้มั่นคง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ซึ่งได้ผลอันน่าปรารถนามาแล้ว

ปัญญาที่แท้จริงนั้น จะต้องเป็นปัญญาที่รู้ทั่วถึงสัจจะ คือความจริงตามเหตุผล หรือรู้ทั่วถึงเหตุผลตามความเป็นจริง เป็นความรู้จริงรู้ถูกต้อง มีเหตุผลได้จริง เพราะฉะนั้นปัญญากับสัจจะจึงต้องประกอบกันเป็นความรู้จริง

ภาวนาปัญญานี้เป็นปัญญาชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะสามารถพัฒนาตนให้บรรลุประโยชน์สูงสุดคือ จิตหลุดพ้นจากความทุกข์โดยเด็ดขาดได้อย่างแท้จริง




แผ่เมตตาได้อานิสงส์

เมตตา หมายถึง ความรัก ความหวังดี มีไมตรี เห็นใจ ใฝ่ใจ เอื้ออาทร การสร้างเสริมประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเต็มความรู้ความสามารถ ปราศจากความอาฆาต เคียดแค้น ชิงชัง มีแต่จะแสดงให้เห็นสีหน้ายิ้มละมัย มีดวงตาแจ่มใสแช่มชื่น มองดูผู้อื่นด้วยสายตาอันเอิบอิ่ม เปี่ยมด้วยความปรารถนาดี หวังให้ทุกคนมีความสงบสุขสมบูรณ์ทั่วหน้า ห่างภัยไกลเวรไร้อุปสรรคอันตราย

เมตตาเป็นคุณธรรมประจำใจของผู้นำหมู่คณะ เป็นคุณธรรมของผู้เป็นใหญ่ในสังคม

เมื่อแผ่เมตตาก็จะได้อานิสงส์จากการแผ่เมตตา ๑๑ ประการ คือ
ประการที่ ๑ หลับเป็นสุข ไม่นอนกระสับกระส่าย หวาดระแวง ผู้แผ่เมตตาหยั่งลงสู่ความหลับก็เป็นสุข เพราะไม่มีใจขุ่นหมอง เศร้าเร่าร้อน เป็นผู้ที่มองโลกแต่แง่ดีมีคุณ
ประการที่ ๒ ตื่นเป็นสุข ไม่แสดงอาการเป็นทุกข์ ผู้แผ่เมตตา ไม่มีอาการผิดปกติ การตื่นเป็นสุขของผู้แผ่เมตตา เปรียบเสมือนดอกปทุมกำลังแย้มบาน ฉะนั้น
ประการที่ ๓ ไม่ฝันเห็นนิมิตที่ไม่ดี ฝันแต่เรื่องที่เจริญ เรื่องดีๆ เท่านั้น เช่น ฝันว่ากำลังไหว้พระเจดีย์ กำลังบูชาพระ หรือกำลังฟังธรรม
ประการที่ ๔ เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้แผ่เมตตาย่อมเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเมื่อบุคคลนั้นจะคิด ก็คิดด้วยเมตตามโนกรรม เมื่อจะพูดก็พูดด้วยเมตตาวจีกรรม
               และเมื่อจะทำก็ทำด้วยเมตตากายกรรม มนุษย์ทั้งหลายจึงรักบุคคลผู้มีเมตตาธรรมนั้น เหมือนพวงมาลัยที่ประดับไว้บนศีรษะ ฉะนั้น
ประการที่ ๕ เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ผู้แผ่เมตตา เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลายฉันใด ย่อมเป็นที่รักที่เกรงขามของมนุษย์ทั้งหลาย ฉันนั้น
ประการที่ ๖ เทวดาย่อมรักษาคุ้มครองผู้แผ่เมตตา เหมือนมารดาบิดา ถนอมรักษาบุตร ฉะนั้น
ประการที่ ๗ ไฟย่อมไม่กล้ำกรายร่างกายของผู้อยู่ด้วยเมตตา เหมือนนางอุตตราอุบาสิกา ไฟย่อมไม่ทำอันตราย เป็นต้น
ประการที่ ๘ จิตย่อมตั้งมั่นได้เร็ว คือ จิตของผู้แผ่เมตตา ย่อมตั้งมั่นได้รวดเร็ว เพราะความพยาบาทอาฆาตได้ถูกกำจัดออกไปด้วยเมตตาธรรม
ประการที่ ๙ สีหน้าผ่องใส คือ หน้าตาของผู้แผ่เมตตาย่อมผ่องใส เหมือนผลตาลสุก หลุดจากขั้ว ฉะนั้น เมื่อจิตใจของบุคคลนั้นสะอาดผ่องใส จึงแสดงออกทางใบหน้า และผิวให้ผ่องใสงดงามตาม ไปด้วย
ประการที่ ๑๐ ไม่หลงทำกาละ คือ ไม่มีความหลงลืมสติของ ผู้แผ่เมตตา เมื่อทำกาละกิริยาก็สงบเงียบ เหมือนการก้าวลงสู่ ความหลับ
ประการที่ ๑๑ เมื่อไม่บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นคุณวิเศษที่ยิ่งกว่าเมตตาสมาบัติ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ย่อมเข้าถึงพรหมโลก เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น ฉะนั้น

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 พฤษภาคม 2558 16:22:14 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 28 พฤษภาคม 2558 16:23:00 »

.


บาป

บาป เป็นธรรมชาติฝ่ายมืด เพราะบาปนั้นสามารถปรุงแต่งสภาพจิตใจของเราให้มัวหมองได้ ทุกครั้งที่เราทำบาปโลกของเราจะมืดหม่นผิดปกติ ทำอะไรก็ไม่สว่างไสว มีความกังวลอยู่ตลอด

เพราะเหตุนี้ คำสอนในทางพระพุทธศาสนาจึงกล่าวสอนอยู่เสมอว่า ทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใส เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้แล้วเราก็จะอยู่เป็นสุข โลกของเราก็จะสว่างไสว คิดและทำการสิ่งใดก็จะราบรื่นเรียบร้อย

เมื่อทราบแล้วว่า บาปนั้น หมายถึง ความมืด เราสามารถสำรวจใจของเราเองได้ว่า ทำสิ่งใดแล้วเป็นบาป ยกตัวอย่างเช่น การที่ลูกกล่าวมุสากับพ่อแม่ ว่าขอเงินไปซื้อหนังสือเรียน แต่ความจริงแล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อสิ่งของอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน

เมื่อซื้อสิ่งของนั้นมาแล้ว ก็มีความสุข ดีใจที่ได้รับสิ่งนั้นมา แต่เมื่อพ่อแม่ถามถึงหนังสือเรียนที่ลูกขอเงินไปซื้อนั้น ความกังวลใจก็จะเกิด เพราะว่าไม่มีหนังสือเรียนให้พ่อแม่ดู ก็จำเป็นต้องกล่าวมุสาเพื่อหนีความผิดต่อไปอีก เท่ากับว่าลูกนั้นได้ทำผิดซ้ำๆ กล่าวมุสากับพ่อแม่อยู่ตลอด ความผิดที่ทำไว้พ่อแม่อาจจะไม่ทราบ แต่ความผิดที่เกิดขึ้นในใจ ลูกย่อมรู้ดีแก่ใจ ไม่กล้าสู้หน้า เพราะไม่รู้ว่าความจริงจะเปิดเผยวันไหน

บาปสามารถสั่งสมได้ นั่นหมายถึงยิ่งเราทำบาปมากขึ้นเท่าไร ใจของเราก็ยิ่งเป็นทุกข์เร่าร้อน และมืดมิดมากเท่านั้น การใช้ชีวิตประจำวันก็จะทำบาปเป็นปกติโดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิด มีใจคิดร้ายต่อผู้อื่น มีใจคดโกง และในที่สุดก็จะเกิดปัญหาตามมา ได้แก่ ปัญหาที่เกิดแก่ตนเอง ปัญหาที่เกิดแก่ครอบครัว และปัญหาที่เกิดแก่สังคม

เราควรเรียนรู้คุณของบุญ และโทษของบาปตั้งแต่เด็ก เพราะการปลูกฝังเรื่องของศีลธรรมอันดีงาม เรื่องการทำบุญ ละเว้นบาป ให้แก่เด็ก จะทำให้เด็กที่ได้รับการอบรมสั่งสอนนั้นมีจิตใจในทางสว่าง มีความคิดตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ละอายต่อการทำบาป เกรงกลัวต่อการทำบาป เมื่อเติบโต ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดี สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข ชีวิตมีแต่ความสว่างไสว จะทำการสิ่งใดก็เจริญรุ่งเรือง ไม่เดือดร้อนใจและกาย

ต่างกับเด็กที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนเรื่องศีลธรรม ก็จะมีจิตใจที่เป็นความมืด ในโลกของเขามีแต่ความเดือดร้อน ทำการสิ่งใดก็ทำแต่ความผิด ทำบาปจนเป็นนิสัย โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้ตามปกติ ต้องอยู่แบบคนหวาดระแวง กลัวว่าความผิดที่ตนทำนั้นจะย้อนมาหาตนเมื่อไร

จิตใจที่เต็มไปด้วยบาป ย่อมเป็นจิตใจที่มืดหม่นไม่สามารถหาความสุขได้ทั้งทางกายและทางใจ เพราะการทำบาปทุกวันก็เหมือนกับการเอาสีดำไปป้ายลงบนกระดาษสีขาว ป้ายทุกวันพื้นที่สีดำก็จะมากขึ้น เมื่อป้ายจนเต็มก็ป้ายซ้ำลงไปอีก ก่อเกิดเป็นบาปอันหนาทึบไม่สามารถชำระล้างได้

หากผู้ใดสามารถทำความดี ละเว้นการทำบาปได้เป็นปกติ ผู้นั้นก็จะเป็นผู้มีความสุขทั้งทางกายและทางใจ อยู่ที่ไหนก็เย็น อยู่ที่ไหนก็สว่าง



ชี้โทษตักเตือน

การว่ากล่าวตักเตือน ชี้โทษข้อบกพร่องของผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องยาก ผู้ที่จะตักเตือนจะต้องคิดแล้วคิดอีกหลายรอบ เพราะกลัวว่าเตือนไปแล้วเขาจะโกรธบ้าง เหตุผลในการเตือนมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าเขาเถียงก็จะมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันเกิดขึ้น ควรจะทำอย่างไร อาจถูกด่าว่ามัวเที่ยวเตือนแต่คนอื่นอยู่ ทำไมไม่เตือนตนเองบ้าง

การเตือนคนอื่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เตือนจะต้องเสี่ยงหลายอย่าง การตัดสินใจเตือนผู้อื่นเป็นความเสียสละอย่างหนึ่ง ที่กล่าวนี้หมายถึงผู้เตือนด้วยความหวังดี มิใช่มุ่งร้าย

ท่านผู้รู้กล่าวว่าการชี้โทษ ว่ากล่าวตักเตือน มีอยู่ ๒ ประเภท คือ

ประเภทแรก ผู้ชี้โทษตักเตือนเพื่อต้องการหาความผิดผู้อื่นแล้วนำมาประจาน ด้วยประสงค์ให้เขาเกิดละอาย ประเภทนี้ใช้ไม่ได้
ประเภทที่สอง ผู้ชี้โทษตักเตือนด้วยประสงค์ความเจริญแก่ผู้ถูกเตือน ต้องการให้รู้สิ่งที่เป็นโทษ แล้วหลีกหนีงดเว้น ดำเนินในสิ่งที่เป็นคุณ

ประเภทที่สองนี้จัดว่าดี เมื่อเตือนใครคนนั้นไม่ควรโกรธ ควรทำความรู้สึกในท่านผู้นั้นว่าเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์

การชี้โทษ การตักเตือนนี้ มีธรรมเนียมปฏิบัติของภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า ปวารณา คือเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันว่า ท่านขอรับ ท่านอยู่ในฐานะพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของกระผม เป็นความดีอันยิ่งใหญ่ที่ท่านกรุณาเตือนกระผม ต่อไปขอท่านได้โปรดเตือนกระผมอีก เมื่อกระผมได้กระทำสิ่งใดอันไม่เหมาะ ไม่ควร เป็นต้น

เมื่อเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยรีบบอกให้รู้ ขอร้องหรือบังคับให้เลิกการกระทำเช่นนั้นเสีย อาจารย์บางคนเห็นข้อบกพร่องของศิษย์แล้วไม่กล้าพูดด้วยเกรงว่าจะเสื่อมจากความรัก ความนับถือของศิษย์ เกรงว่าเธอจะเลิกปรนนิบัติเสีย การกระทำดังนี้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะ ไม่ควร ส่วนอาจารย์ที่ดีนั้นเมื่อเห็นข้อบกพร่องของศิษย์แล้วจะต้องตักเตือนหรือลงโทษตามสมควรแก่โทษ

คนที่มีอัธยาศัยเป็นบัณฑิต มักยินดีพอใจในคำว่ากล่าวตักเตือนชี้โทษของบัณฑิต และคบหาสมาคมกับบัณฑิต เหมือนแมลงผึ้งยินดีพอใจในของสะอาด มีเกสรดอกไม้ เป็นต้น

ส่วนคนโง่มีอัธยาศัยเป็นคนพาล มักไม่ยินดี ไม่พอใจในคำว่ากล่าวตักเตือนของบัณฑิต แต่ยินดีพอใจในคำสรรเสริญเยินยอของคนพาล และคบหาสมาคมกับคนพาล เหมือนแมลงวันยินดีพอใจในของโสโครก มีกองขยะเน่าเหม็น เป็นต้น

บุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวที ย่อมระลึกอยู่เสมอถึงคำว่ากล่าวตักเตือนที่ผู้อื่นทำแก่ตนน้อมนำความดีมาไว้ในจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลา จะทำให้มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ส่วนคนไม่มีความกตัญญูกตเวทีชีวิตจะมีแต่ความเสื่อมเสียอย่างเดียว




หลักธรรมการครองตน
หลักธรรมการครองตน หมายถึง การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา เพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นหลักแห่งความจริง มีความจริงตามธรรมชาติ เช่น มีเกิด มีดับ มีขึ้น มีลง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ควรเริ่มต้นที่การมีศีล ๕ ไว้ประจำใจ กล่าวคือ
- เว้นจากการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น
- เว้นจากการลักขโมย อยากได้ของจากผู้อื่นที่ไม่ใช่ ของตน
- เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
- เว้นจากการพูดปด โกหก หลอกลวง
- เว้นจากการดื่มสุรา ยาเสพติดให้โทษ

ทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นหลักธรรมเพื่อการประพฤติปฏิบัติในการใช้ชีวิตประจำวัน

นอกจากการมีศีล ๕ เป็นพื้นฐานแล้ว ยังมีหลักธรรมอื่นๆ ที่พอเป็นตัวอย่าง เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ให้มีการครองตนอย่างสมบูรณ์ คือ
- ความเห็นชอบ การดำริชอบ
- การเจรจาชอบ การกระทำชอบ
- - การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ
ความระลึกชอบ ความตั้งจิตมั่นชอบ
ทั้ง ๘ ข้อนี้ เป็นหลักธรรมในการดำเนินชีวิต

- การให้ เสียสละ แบ่งปันช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของ ตลอดถึงให้ความรู้
- การกล่าวเจรจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนหวาน
- การประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและ ผู้อื่น*
- การวางตนให้เหมาะสมกับฐานะตนเอง
ทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นหลักธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มีน้ำใจซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้เกิดความรัก ความสามัคคี ดำเนินชีวิตด้วยความสุข

- ความละอายในตนเอง
- มีความเกรงกลัวต่อความชั่ว ไม่คิดจะกระทำความชั่ว
ทั้ง ๒ ข้อนี้ เป็นหลักธรรมที่ช่วยคุ้มครองบุคคล หรือมวลมนุษย์ในโลก ให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข มีความร่มเย็นเป็นสุข

หลักธรรมเหล่านี้ เป็นหลักธรรมที่นิยมปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการครองตนนั้นต้องมีรากฐานแห่งความดี คือ ยึดถือปฏิบัติศีล ๕ เป็นประจำ และดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักธรรมที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว จะทำให้การดำเนินชีวิตมีความราบรื่น พบความสุข ความเจริญแก่ตนเอง สังคม ตลอดจนถึงประเทศชาติเป็นที่สุด




พิจารณาก่อนลงมือทำ

ในการทำงานทุกชนิด มีถูกมีผิดเป็นธรรมดา อาจถูกต้อง แต่ผิดใจก็ไม่ใช่น้อย

เบื้องต้นสำหรับหลักใจคนทำงานก็คือ ผิด ถูก เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ควรพิจารณาคือถูก ผิดอย่างไร ซึ่งอาจจะใช้คำว่า ประเมินผลเพื่อทบทวนการปฏิบัติว่าถูกตรงกับ เป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นหรือไม่

วิมังสา คือ การพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ เป็นหนึ่งในธรรมะ ๔ ข้อ ที่เรียกว่า อิทธิบาท เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะประสบความสำเร็จในทุกกิจการที่ดำริริเริ่ม ตั้งแต่งานเล็กน้อยกระทั่งเป็นงานด้านการพัฒนาระดับจิตใจ

วิมังสา เหมือนดวงตาที่คอยตรวจตราดูความเรียบร้อย เช่น เจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัย เมื่อเข้าเวรเข้ายาม ก็จะคอยเดินสำรวจสถานที่ที่รับผิดชอบ เพื่อมองหาสิ่งผิดปกติ ที่อาจจะเกิดมีขึ้น เป็นการป้องกันภัยให้แก่บุคคลและสถานที่นั้นๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดมีขึ้น

ในการศึกษาและการทำงานตามปกติ ก็เป็นไปในลักษณะนี้ คือนอกจากพอใจ แข็งใจ และตั้งใจทำแล้ว ก็ต้องมีความเข้าใจทำ คือพิจารณาโดยรอบคอบด้วย โดยคำนึงถึงผลได้ ผลเสีย ความคุ้มค่า ความเสี่ยง ประกอบการตัดสินใจ โดยมีแบบประเมินผล หรือการประเมินผลที่เป็นระบบ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยสติปัญญามาบริหารจัดการ

จะสังเกตว่าหน่วยงานใหญ่ เมื่อทำการใหญ่ๆ แต่ละครั้ง ก็จะตั้งทีมสำรวจความเป็นไปได้ และเกาะติดการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด แม้เมื่องานนั้นผ่านพ้นไปแล้ว ก็ยังต้องมีการทบทวนหลังการปฏิบัติ เพื่อเก็บเป็นข้อมูล ไว้สำหรับการดำเนินงานในคราวต่อไป

สิ่งที่ผิดพลาดบกพร่อง ก็จะอยู่ในฐานะเป็นบทเรียน หรือประสบการณ์ที่ดี รวมไปถึงการฝึกจิตอบรมใจ ก็ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ในแง่ของปริยัติให้ถูกต้องก่อน แล้วลงมือปฏิบัติตามขั้นตอน ด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสานี้

การปฏิบัติพระกรรมฐานทั่วไปจึงต้องมีการสอบอารมณ์จากอาจารย์กรรมฐานผู้เป็นกัลยาณมิตร เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติว่าถูกตรงตามทิศทางแห่งพระกรรมฐานแล้วหรือยัง

เมื่อผู้ปฏิบัติปรับอารมณ์ได้ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งการเจริญพระกรรมฐานทุกประเภท ทั้งนี้ก็เกิดจากการพิจารณาตรวจสอบจิตใจอย่างใกล้ชิดโดยมีสติสัมปชัญญะสนับสนุน

ขอเป็นกำลังใจไว้ในโอกาสนี้ว่า ก่อนตัดสินใจลงมือปฏิบัติงานใดๆ ให้ใคร่ครวญก่อน แม้นจะผิดพลาดบกพร่องประการใด ก็พิจารณาว่าเป็นประสบการณ์ อย่างน้อยก็ได้ชื่อว่าเข้าใจทำ




ควบคุมจิตใจ

จิตใจของคนเรานั้นต้องคอยควบคุมให้ดี ให้ถูกต้อง เพราะจิตใจของคนที่ถูกกิเลสครอบงำยากที่จะรักษาหรือดูแลให้ดีได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนให้ตามดูจิตของตนอยู่เสมอว่า มืดบอดหรือดีงาม เขาสอนดีๆ ก็โกรธ เขาพูดดีๆ ก็โกรธ เขาแนะนำดีๆ ก็โกรธ ลักษณะอย่างนี้ ให้รู้ว่า เป็นจิตไม่ดี

เมื่อไปคบหาสมาคมกับจิตอย่างนี้จะทำให้เสียคน ถ้าควบคุมจิตไม่อยู่ ก็จะแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ เสียคน เสียสถาบัน เสียหมู่ เสียคณะ เพราะฉะนั้น ต้องพยายามรักษาจิตของเราให้ได้

ผู้ที่ควบคุมจิตดีแล้ว มีความสุข ดังพุทธภาษิตที่ว่า จิตที่คุ้มครองรักษาดีแล้วนำสุขมาให้ เราต้องพยายามระมัดระวังเรื่องที่คิด กิจที่ทำ และคำที่พูด ถ้าเราระมัดระวังแล้ว จะไม่มีภัย ๕ อย่าง คือ
๑.ราชภัย คือ กฎหมายบ้านเมือง คนที่ไม่มีศีลธรรม ฆ่าคนตายก็มีความผิด เมื่อเจ้าหน้าที่จับได้ ก็จะต้องถูกลงโทษ บางครั้งอาจถึงถูกประหารชีวิต ถ้าเราไม่มีศีลธรรม กฎหมายบ้านเมืองก็ลงโทษ

๒.โจรภัย คนที่อยู่ด้วยกันในบ้านเดียวกัน ไม่มีศีลธรรม ก็ต้องพบกับโจรภัย เช่น ภรรยาไม่มีศีล ก็ลักทรัพย์ของสามี สามีไม่มีศีล ก็ลักทรัพย์ของภรรยา เอาไปใช้จ่ายนอกลู่นอกทาง ลูกที่ไม่มีศีลธรรม ก็ลักเงินพ่อแม่ นำไปใช้จ่ายในทางที่ไม่ดีไม่มีประโยชน์ คนที่ไม่มีศีลธรรมจะต้องพบกับโจรภัย คือ ภัยจากโจร

๓.อุทกภัย ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดในที่ทั่วไปทั่วทุกภาค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภัยเหล่านี้ไม่สามารถที่จะป้องกันได้เพราะเกิดตามธรรมชาติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ช่วยเหลือแก้ไขกันไป แต่ภัยคือน้ำที่เกิดจากการดื่มน้ำเมา เป็นอันตรายทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ภัยชนิดนี้เกิดจากบุคคลที่ไม่มีศีลธรรม พูดคุยกับใครก็ทะเลาะวิวาทกัน ทำการงานใดก็ทำให้งานที่ทำนั้นเสียหาย

๔.วาตภัย ภัยที่เกิดจากลมปากคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปากการพนัน คนโน้นว่า ตัวนี้ดี ตัวนี้ออก อาจารย์นั้นให้เลขนี้ อาจารย์นี้ให้เลขนั้น ถึงแม้ว่าจะถูกบ้าง แต่ก็ได้ไม่เท่าที่เสียไป ถ้าเราไปติดกับการพนันอย่างนี้ จะก่อให้เกิดความเดือดร้อน ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ก็หมดไป ภัยชนิดนี้ถ้าเราไม่มีศีลธรรมเราก็จะพบความหายนะได้

๕.อัคคีภัย คนที่ไม่มีศีลธรรมชอบก่อไฟเผาตัวเองด้วยภัยจากเสพยาเสพติด มีปรากฏทั่วบ้านเมือง ผู้มีหน้าที่ในการปราบปรามก็ปราบปรามกันไป ผู้ที่เสพก็เสพกันไป ภัยประเภทนี้ นอกจากทำความเดือดร้อนให้กับตัวเองแล้ว ยังทำความเดือดร้อนให้กับเจ้าหน้าที่ ตลอดจนครอบครัว สังคม ประเทศชาติออกไปในวงกว้าง

ถ้าระมัดระวังโดยการตั้งอยู่ในศีลธรรม โดยเฉพาะศีล ๕ ก็จะรอดพ้นจากภัยเหล่านี้ได้ และเมื่อเรามีศีลแล้ว เราก็ยกระดับจิตของเรา จากจิตที่มืดบอด จิตที่ยังไม่ได้พัฒนา กลายเป็นจิตที่ดีงาม จิตที่พัฒนาแล้ว




ข้อที่ไม่ควรประพฤติ

ผู้หวังความเจริญ ควรประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปในทางที่ชอบ มีปัญญาพิจารณาว่า อะไรเป็นทางเสื่อมก็พึงละเว้น มุ่งหาแต่ทางที่เจริญ ทางที่ชอบประกอบด้วยประโยชน์ มีสติสัมปชัญญะ ตรวจตราให้รอบคอบประกอบด้วยเหตุผล ทำความเห็นให้เที่ยงตรง ทำความประพฤติปฏิบัติให้เป็นเครื่องนำมาประโยชน์มาให้แก่ตนและผู้อื่น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใดกล่าวล่วงเกินว่า เป็นผู้บกพร่องในความประพฤติ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อที่ไม่ควรประพฤติ ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ไม่พึงเสพธรรมอันเลว ธรรมที่เลวในปัจจุบันนี้มีมากมาย เช่น ทุจริต ๓ ประการ คือ ประพฤติชั่วทางกาย ประพฤติชั่วทางวาจา และประพฤติชั่วทางใจ

ประพฤติชั่วทางกาย แบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ เบียดเบียนชีวิตและความสุขของผู้อื่น เบียดเบียนเอาทรัพย์สมบัติ เบียดเบียนเชื้อสายสกุลวงศ์

ประพฤติชั่วทางวาจา แบ่งออกเป็น ๔ ประการ คือ กล่าวเท็จหักราญประโยชน์ผู้อื่น พูดทำลายความสามัคคี กล่าวคำเสียดสีให้ช้ำใจ กล่าวคำเหลวไหลไม่เป็นประโยชน์

ประพฤติชั่วทางใจ แบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ผูกใจเจ็บอาฆาตพยาบาทจองล้างจองผลาญ เห็นทางที่ผิดคิดว่าชอบว่าถูกต้อง

ประการที่ ๒ ธรรมของคนพาล จัดว่าเป็นธรรมที่เลว เพราะเป็นธรรมของคนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญาวิจารณญาณที่หยั่งรู้ถึงความผิดชอบชั่วดี เช่น
- ความไม่รู้จักเหตุ ว่าเหตุนี้เป็นทางนำไปสู่สุข เหตุนี้เป็นทางนำไปสู่ทุกข์
- ความไม่รู้จักผล เห็นตนว่ามีค่ากว่าฐานะที่เป็นอยู่
- ความไม่จักตน ไม่รู้จักสถานภาพของตนเองในด้านความรู้ความสามารถและคุณธรรม
- ความไม่รู้จักประมาณในการแสวงหาหรือบริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติ
- ความไม่รู้จักกาละที่จะประกอบกิจให้เหมาะสมกับกาลสมัย
- ความไม่รู้จักประชุมชนซึ่งตนเองจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง
- ความไม่รู้จักเลือกคบหาสมาคมแต่คนดี

เมื่อรู้ข้อที่ไม่ควรประพฤติ ๒ ประการนี้แล้ว จึงทรงแสดงข้อที่ควรประพฤติ ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ควรประพฤติธรรมที่ดี ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น ได้แก่ สุจริต คือ ความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ประการที่ ๒ ควรประพฤติธรรมที่คนดีประพฤติกัน เรียกว่า สัปปุริสธรรม ได้แก่ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ ความเป็นผู้รู้จักผล ความเป็นผู้รู้จักตน ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชนบริษัทที่เกี่ยวข้อง ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบหาสมาคมแต่คนดี

ด้วยเหตุนี้ ผู้หวังความสุขความเจริญก้าวหน้าในชีวิต พึงหลีกเลี่ยง ข้อที่ไม่ควรประพฤติ เลือกปฏิบัติแต่ข้อที่ควรประพฤติ




หลีกหนีคนพาล

บุคคลที่หวังความสุขความเจริญแก่ชีวิตของตนแล้ว อย่าคบคนพาลสันดานชั่ว ผู้ที่มีความประพฤติอันเลวทราม

คนพาลมีลักษณะ ทำชั่ว พูดชั่ว และคิดชั่ว ทำชั่ว มีการฆ่าสัตว์ ลักขโมยฉ้อโกง ฉุดคร่าอนาจาร ประพฤติผิดในกาม พูดชั่ว มีพูดเท็จหลอกลวง พูดส่อเสียด ใส่ร้ายป้ายสีให้ผู้อื่นแตกแยกจากกัน พูดคำหยาบไม่ไพเราะ และพูดเหลวไหลไร้ประโยชน์ คิดชั่ว มีความเพ่งเล็งอยากได้สมบัติผู้อื่นมาเป็นของตน พยาบาทปองร้าย และเห็นผิดจากคลองธรรม

คนพาลชอบแนะนำในทางที่ผิด เช่น แนะนำให้เล่นการพนัน ให้ลักขโมย ให้เสพยาเสพติดให้โทษ ชวนไปฉุดคร่าอนาจาร

คนพาลชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ เช่น ไม่ทำงานตามหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย แต่กลับชอบจะไปก้าวก่ายยุ่งกับหน้าที่การงานของผู้อื่น หรือไปจับผิดเพื่อนร่วมงาน แกล้งหรือยุยงนินทาว่าร้ายกัน ชอบทำผิดโดยเห็นสิ่งที่ผิดว่าเป็นถูก เห็นคนที่ซื่อสัตย์เป็นคนโง่ ชอบทุจริตในหน้าที่การงาน ชอบรับสินบน หรือชอบช่วยเหลือพวกพ้องของตนซึ่งทำความผิดให้พ้นจากความผิด ไม่มีความละอาย ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาปกรรม

คนพาลมักมีความโกรธเคืองเมื่อพูดตักเตือนแนะนำในสิ่งที่เป็นโทษ เช่น เตือนเรื่องการคบเพื่อนที่มีความประพฤติไม่ดี เตือนเรื่องการดื่มเหล้า เรื่องการเที่ยวเตร่ กลับบ้านดึก ขี้เกียจ เป็นต้น มักจะโกรธเมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน และจะไม่ยอมรับฟัง เอาหู ทวนลมส่งใจไปในที่อื่นเสีย ไม่มีระเบียบปฏิบัติที่ดีงาม ไม่เคารพกฎหมายของบ้านเมือง หรือท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัย ไม่มีความเกรงกลัว ไม่มีความละอาย ชอบมักง่ายทิ้งขยะสิ่งของให้สกปรกในสถานที่ไม่ควรทิ้ง

การคบคนพาลจึงมีโทษมาก เพราะถูกชักนำไปในทางที่ผิด ทำให้เกิดความเสียหาย มีการงานล้มเหลว ย่อมถูกมองในแง่ร้ายเสมอ ไม่ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลดีทั่วไป มีความเดือดเนื้อร้อนใจตลอดเวลา

ถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้คนพาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเป็นญาติพี่น้อง หรือทำงานที่เดียวกัน กรณีเช่นนี้ ต้องระมัดระวังอยู่เสมอว่าเรากำลังอยู่ใกล้สิ่งที่เป็นอันตราย เหมือนกับผู้รักษาคนเป็นโรคติดต่ออันร้ายแรง ต้องระวังให้ดี คือระวังความเป็นพาลของเขาจะมาติดเราเข้า

การไม่คบคนพาล ย่อมไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด สามารถรักษาคุณงามความดีที่มีอยู่แล้วไว้ได้ สามารถสร้างความดีใหม่เพิ่มขึ้นได้อีก ไม่ถูกคนพาลทำร้าย ไม่ถูกตำหนิหรือถูกใส่ความ ไม่ถูกมองในแง่ร้าย ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไป มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต สามารถตั้งตัวได้เร็วและมีความมั่นคง มีความสุขทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว บ้านเมือง ตลอดถึงประเทศชาติ

เป็นการตัดกำลังไม่ให้เชื้อพาลระบาดไปทั่ว เพราะขาดคนช่วยเหลือสนับสนุน คนพาลย่อมสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล เมื่อเวลาที่บาปให้ผลแล้วคนพาลย่อมประสบทุกข์เหลือประมาณ




สัปปุริสธรรม

สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของบุรุษผู้สงบ ผู้ที่ปฏิบัติตาม ย่อมมีความเป็นอยู่อย่างสงบ ไม่เดือดร้อน มีชีวิตหน้าที่การงานที่ดี แม้เมื่อมีอุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาขัดขวาง ก็จะสามารถใช้ธรรมเหล่านี้แก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปในทางที่ดีได้ มี ๗ อย่าง คือ
๑.ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งความสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ เช่น ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงผิด เป็นเหตุให้เกิดความสุข ความโลภ โกรธ หลงผิด เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ มนุษย์ทั่วไปย่อมปรารถนาความสุข

ส่วนความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ดังนั้น จึงควรเลือกประกอบแต่เหตุอันจักให้ผลเป็นสุข คือความดีงามทั้งปวง และละเว้นเหตุที่จะให้ผลเป็นทุกข์ คือความชั่วทั้งปวง

๒.ความเป็นผู้รู้จักผล คือ รู้จักว่า สุขเป็นผลมาจากเหตุนี้ ทุกข์เป็นผลมาจากเหตุนี้ เช่น ความสุข เป็นผลมาจากความเป็นคนไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงผิด ความทุกข์ เป็นผลมาจากความเป็นคนโลภ โกรธ หลงผิด ข้อนี้ท่านสอนให้รู้จักการประกอบเหตุที่จะอำนวยผลให้เป็นสุข งดเว้นการประกอบเหตุที่จะอำนวยผลให้เป็นทุกข์ ความรู้จักเหตุ รู้จักผลนี้ ต้องประกอบด้วยปัญญา รู้เหตุและผลที่แท้จริง มีหลักฐานและประสบการณ์ มิใช่เป็นการคาดการเอาเอง

๓.ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักตนว่า เรามียศศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ความสามารถ และคุณธรรมเพียงเท่านี้ๆ แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่ เช่น เกิดมาในชาติตระกูลใด มีตำแหน่งหน้าที่อย่างไร มีทรัพย์สมบัติ มีบริวารเป็นอย่างไร มีความรู้ความสามารถเท่าไร มีคุณธรรมอย่างไร เมื่อรู้จักตนแล้วต้องวางตนให้เหมาะสม รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ตั้งอยู่ในสุจริต ประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ สม่ำเสมอ ไม่เย่อหยิ่งอวดดี อวดมี อวดรู้

๔.ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักประมาณในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพแต่พอดี จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ก็ให้รู้จักพอประมาณ พอดี พองาม ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ขาด ไม่เกิน ไม่ตึง ไม่หย่อน ไม่อ่อนปวกเปียก ไม่แข็งกร้าว ไม่เกิดโทษแก่ใครๆ มีแต่เกิดประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป

๕.ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา คือ รู้จักเวลาอันสมควร ในการประกอบกิจ รู้จักกำหนดจดจำว่าเวลาไหนควรปฏิบัติกิจอันใด แล้วปฏิบัติให้ตรงต่อเวลานั้น ไม่ช้าเกินควร ไม่ด่วนเกินกาล และรู้จักกิจบางอย่าง บางงานต้องทำให้เสร็จก่อนเวลา จะชักช้าอยู่ไม่ได้ ถ้าช้าอยู่ก็จัดว่าไม่รู้จักกาลเวลา และอาจทำให้เสียประโยชน์ได้ ตรงกันข้ามงานบางอย่างต้องทำหลังเวลาจึงจะดี ถ้ารีบทำเสียก่อนเวลาจัดว่าไม่รู้จักกาลเหมือนกัน

๖.ความเป็นผู้รู้จักชุมชน คือ รู้จักประชุมชน และกิริยาที่จะต้องประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เช่น กิริยาวาจาที่จะใช้ต่อชนชั้นผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง ที่ใช้ต่อชนชั้นผู้น้อยอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อรู้จักชุมชนนั้นๆ แล้วต้องรู้จักกิริยาวาจาที่จะใช้ต่อชนชั้นนั้นๆ ด้วย การรู้จักประชุมชนนี้ทำให้ผู้ที่ได้พบมีความเกรงใจ ไม่ดูหมิ่นติเตียน

๗.ความเป็นผู้รู้จักบุคคล รู้จักเลือกบุคคลว่าผู้นี้เป็นคนดี ควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ หมายความว่า รู้จักเลือกว่า นี้เป็นคนดี นี้เป็นคนไม่ดี วิธีเลือกคือ แยกบุคคลออกเป็น ๒ พวก พวกใดมีศรัทธา มีศีลธรรม ทำดี พูดดี คิดดี เพื่อประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น พวกนี้นับว่าเป็นคนดี น่าสรรเสริญ ควรคบ ส่วนพวกที่ตรงกันข้ามเป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ



จากคอลัมน์ "ธรรมะวันหยุด" หนังสือพิมพ์ข่าวสด
โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร กรุงเทพมหานคร

20-20
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 กรกฎาคม 2558 15:28:15 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2558 15:38:52 »

.


เข้าหาบัณฑิต

ผู้ที่มุ่งหวังความสุขความเจริญในชีวิต หน้าที่การงานของตนแล้ว จึงควรที่จะเข้าหาบัณฑิต

บัณฑิต หมายถึง ผู้ทรงคุณความรู้ดี มีปัญญาดี มีศีล มีสมาธิ มีจิตใจดีงาม และมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ รู้อุบายวิธีแนะนำสั่งสอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ลักษณะของบัณฑิต เป็นคนทำดี คือ ทำอาชีพสุจริต ประกอบคุณงามความดีที่ไม่มีโทษ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญจิตตภาวนา มีเมตตา มีมารยาทงดงาม เป็นต้น

เป็นคนพูดดี คือ มีวจีสุจริต พูดจริง ไม่โกหกหลอกลวง ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดคำเหลวไหลไร้สาระ ไม่นินทาว่าร้ายผู้อื่น

เป็นคนคิดดี คือ มีมโนสุจริต ไม่คิดละโมบโลภมาก ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น รู้จักให้อภัย รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ที่พึงกระทำด้วยกาย และพึงพูดด้วยวาจา

ผู้ที่เป็นบัณฑิตชอบชักนำในทางที่ถูกที่ควร เช่น ตักเตือนให้เลิกทำในสิ่งที่ผิด ชักชวนให้ทำความดี ทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วง ใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่น เว้นแต่จะได้รับการร้องขอ หรือได้รับอนุญาตแล้ว

ชอบทำและแนะนำในสิ่งที่ถูกที่ควร ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม มีการพูดและการทำอย่างตรงไปตรงมา หากมีใครมาว่ากล่าวตักเตือนก็รับฟังด้วยดีไม่โกรธตอบ ไม่ถือโทษ หรืออวดดี ยอมรับฟังด้วยดี แล้วนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

รู้กฎระเบียบ กติกา มารยาทที่ดี เช่น การรักษาระเบียบวินัยทางกายและวาจา มีมารยาท มีความสำรวม รักษาความสะอาด และเคารพกฎระเบียบของสถานที่ ไม่ทำตามใจตนเอง

การเข้าหาบัณฑิต ต้องหมั่นไปมาหาสู่ หมั่นเข้าไปนั่งใกล้ มีความจริงใจ ให้ความเคารพยำเกรงเสมอ รับฟังคำแนะนำ คำกล่าวสอน จดจำคำสอนเอาไว้เป็นคติเตือนใจเพื่อไว้สอนตน พิจารณาใจความตามที่ได้ฟังนั้นให้ดี พยายามปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ฟังและใคร่ครวญให้ดี

การได้คบกับบัณฑิต ทำให้มีใจผ่องใสไม่มัวหมอง มีความกล้าในการทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป ได้ปัญญาเพิ่มเติม มีเหตุผลดี เป็นคนหนักแน่น มีความคิดเห็นถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิ ไม่ต้องโศกเศร้าเดือดร้อนเพราะทำความผิด เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป มีความสุข ปลอดภัยจากคนพาล

มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต สามารถตั้งตัวได้เร็ว แม้ตายจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์ สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพานได้โดยง่าย

การอยู่ร่วมกับบัณฑิตเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งหมู่ญาติ จึงควรเข้าหาบัณฑิต คบกับผู้มีปัญญาดี เป็นพหูสูต มีศีล มีวัตรห่างไกลจากกิเลส เป็นสัตบุรุษ เปรียบดังพระจันทร์คบอากาศอันเป็นทางโคจรแห่งดวงดาวฉะนั้น

ด้วยเหตุนี้ควรคบหาบัณฑิตเป็นมิตรไว้ จะช่วยให้พ้นทุกข์ ประสบสุขสันต์ ความคิดดีเลิศล้ำเป็นสำคัญ ควรคบกันไว้ทุกวันเวลา อย่าลังเลใจ




กองขยะ ๓ กอง ของชีวิต

ขึ้นชื่อว่า ขยะ คงไม่มีใครต้องการ เพราะเป็นของที่ไร้ค่า ไร้ราคา หาประโยชน์ไม่ได้ แต่ขยะบางอย่างนั้น ยังสามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

ขยะในที่นี้ ไม่ได้หมายเอาขยะที่เหลือใช้จากสิ่งของต่างๆ แต่หมายถึงขยะที่มีอยู่ภายในใจของเรา คนเรานั้นถ้ามีขยะ ๓ กองนี้อยู่ในใจ ก็ไม่ต่างอะไรจากสิ่งของที่คนทั้งหลายใช้แล้วทิ้งกลายเป็นขยะ ก็จะเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าขึ้นมาทันที

ขยะที่ว่านี้ คือ อกุศลมูล ๓ ได้แก่ โลภะ ความอยากได้ โทสะ ความประทุษร้าย โมหะ ความหลงไม่รู้จริง ขยะ ๓ กองนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับบุคคล สถานที่ หรือองค์กรใดก็ตาม ก็จะทำให้บุคคล สถานที่ หรือองค์กรนั้น เกิดความเสียหายได้

อกุศลมูล แปลว่า รากเหง้าหรือต้นเหตุของความไม่ดี หมายถึงกิเลสที่อยู่ภายในใจ เป็นต้นกำเนิด เป็นบ่อเกิดแห่งความชั่ว เรียกกันทั่วไปว่า โลภ โกรธ หลง

กองที่ ๑ โลภะ หมายถึง ความอยากได้วัตถุสิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยทางทุจริตไม่ชอบธรรม เช่น ความเพ่งเล็ง มักมาก ตระหนี่ หลอกลวง ฉ้อโกง ลักขโมย ปล้นทรัพย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และประพฤติผิดในกาม เป็นต้น

กองที่ ๒ โทสะ หมายถึง ความคิดประทุษร้ายทำลายผู้อื่น คิดจะทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือเกิดความเสียหาย โทสะนี้เมื่อเกิดขึ้นทางกาย ก็จะทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บ เดือดร้อน เมื่อเกิดขึ้นทางวาจา ก็ว่าร้าย พูดคำหยาบ พูดเท็จ เป็นต้น เมื่อเกิดขึ้นทางใจ ก็เกิดความขัดเคืองใจ จองล้างจองผลาญ จองเวรกันไม่จบสิ้น

โทสะ จัดเป็นกิเลสที่ร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะทำอันตรายทุกสิ่งทุกอย่างในตัวของผู้นั้น เริ่มตั้งแต่ทำลายระบบความคิด ทำลายสุขภาพกาย สุขภาพจิต บุคคลที่ปล่อยให้โทสะครอบงำใจบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ชอบทำอันตรายแก่สังคม

กองที่ ๓ โมหะ หมายถึง ความหลงโดยไม่รู้สภาพตามความเป็นจริง ว่าอะไรผิดหรือถูก เพราะอวิชชาคือความไม่รู้ปกปิดเอาไว้ โมหะนี้ท่านเปรียบเหมือนกับความมืด ถ้าความมืดปกคลุมในที่ใด คนที่ทำอะไรอยู่ในความมืดนั้น ก็อาจจะทำผิดพลาดได้หลายอย่าง คนที่ถูกโมหะครอบงำจิตใจก็มีอาการเช่นเดียวกัน อาจจะประกอบอกุศลกรรมได้ทุกอย่าง มีการทะเลาะวิวาทกัน เป็นต้น

การจัด โลภะ โทสะ โมหะ เป็นขยะ ๓ กองนั้น เพราะเมื่อเกิดขึ้นครอบงำใจของบุคคลใด ย่อมทำให้บุคคลนั้นประกอบกรรมทำชั่ว หรือประพฤติทุจริตได้ บุคคลที่ประพฤติชั่วทางกาย เป็นต้นดังกล่าวมาแล้ว ย่อมกลายเป็นคนที่ไร้ค่า ไร้ราคาเหมือนขยะที่ถูกทิ้ง เมื่อพิจารณาเห็นความพินาศของขยะ ๓ กองนี้แล้วหวังทำตนและหมู่คณะให้เจริญ ต้องหมั่นประกอบคุณงามความดี คือ กุศลมูล ๓ อย่าง ที่ตรงกันข้ามกับอกุศลมูล

บุคคลที่ดำรงตนมั่นคงอยู่ในศีลธรรม ประพฤติแต่กุศลธรรมคือคุณงามความดี ย่อมมีแต่คนสรรเสริญ มีคุณค่าต่อสังคม นั้นๆ และนำพาสังคมนั้นๆ ไปสู่ความเจริญได้ เมื่อพิจารณาเห็นโทษของอกุศลมูลและเห็นอานิสงส์ของกุศลมูลแล้ว พึงหมั่นประกอบแต่คุณงามความดี เพื่อความสงบผาสุกของตนและสังคม ตลอดถึงประเทศชาติเป็นที่สุด




วิธีระงับเวร

พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการแสวงหาความสุขด้วยการเบียดเบียนว่า ไม่มีใครได้รับความสุขที่แท้จริง เพราะการที่คนเราจะทำอะไรให้แก่คนอื่น ไม่ว่าจะยื่นอาวุธ หรือดอกไม้ให้แก่ใครๆ สิ่งนั้นย่อมมีผลสะท้อนกลับมาหาตนเอง ท่านว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว เช่น ฆ่าคนตาย อาจจะภูมิใจสักครู่หนึ่ง แต่ผลที่ตามมาจะกลายเป็นความทุกข์ร้อน

การลักทรัพย์ของผู้อื่น ได้มาก็เป็นสุข เพราะการมีทรัพย์และการจ่ายทรัพย์ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ผลบาปทำให้เกิดความทุกข์ ที่สุดก็จะถึงความความเสื่อมทั้งตัวเองและทรัพย์นั้นๆ เหมือนคลื่นในมหาสมุทร ย่อมซัดกลับเข้าหาฝั่ง

การสร้างทุกข์ให้แก่คนอื่นด้วยการตั้งใจเบียดเบียน ชื่อว่า ก่อเวร ได้แก่ ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนผู้อื่น ฆ่าคน ลักทรัพย์ เป็นต้น ผูกพยาบาทเมื่อถูกเขาทำร้าย อย่างนี้คือจองเวรผลัดกันแก้แค้น โต้ตอบกันไปมา

เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร การไม่จองเวรจะประสบผลคือ ความสงบสุขได้ จะต้องลดละการผูกอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน ส่วนคนที่ถูกโมหะครอบงำ ไม่เห็นเหตุผลที่ถูกต้องที่ชอบธรรม คิดขวนขวายแต่ให้ได้แก้แค้นเท่านั้น จะดีจะชั่ว ไม่รับฟังทั้งนั้น ย่อมประสบแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนโกรธเป็นคนเลว แต่คนโกรธตอบเป็นคนเลวกว่า หมายความว่า คนทำร้ายเขาก่อนนั้นเป็นคนร้าย แต่คนที่ร้ายตอบกลับเขานั้นเป็นคนร้ายยิ่งกว่า ส่วนคนที่ถูกประทุษร้ายแล้วไม่ประทุษร้ายตอบ พระองค์ตรัสว่า เป็นผู้ชนะที่ควรแก่การสรรเสริญ เพราะได้ทำความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนและคนอื่น

ความคิดแก้แค้นกัน นอกจากจะไม่เป็นที่สรรเสริญของคนดีทั่วไปแล้ว ชาวโลกยังตราหน้าว่าป่าเถื่อน ความคิดที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ชีวิตต่อชีวิต ทำร้ายมาก็ต้องทำร้ายไป เมื่อมีคนนั้น ก็ต้องไม่มีคนโน้น เมื่อมีคนโน้น ก็ต้องไม่มีคนนี้ การอโหสิกรรมเป็นความอ่อนแอ ดังนี้ เหตุแห่งการล้างแค้นถึงชาติหน้าก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด

ความไม่จองเวรนั้น ย่อมทำสำเร็จได้ด้วยวิธีต่างๆ คือ แผ่เมตตา อดทน ใช้ปัญญาพิจารณาโดยชอบ และมีความเสียสละ การแผ่เมตตา หากเราแผ่เมตตากะทันหันเมื่อความโกรธเกิดขึ้นเป็นการทำได้ยาก ท่านจึงให้ฝึกหัดแผ่เมตตาเป็นประจำไว้ก่อนจนเป็นนิสัย เมื่อถูกประทุษร้ายก็ไม่โกรธ

ความอดทน อดทนต่อการทำร้ายของคนอื่น ย่อมตัดเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ รู้จักอดทนต่อ คำกล่าวร้ายล่วงเกิน เหมือนช้างศึกอดทนต่อลูกศรที่พุ่งมาจาก ๔ ทิศ ในสงคราม ไม่สะดุ้งสะเทือน ฉะนั้น

การใช้ปัญญาพิจารณาโดยชอบ พิจารณาให้เห็นโทษแห่งการจองเวร โดยพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เราถูกทำเพราะเคยทำเขามาก่อนแล้ว ไม่ชาตินี้ก็ชาติที่ผ่านมา ถ้าเราแก้แค้นเขา เราจะต้องประสบทุกข์ยิ่งขึ้นอีก

ความเสียสละ เมื่อถูกเขาประทุษร้ายและเกิดความเสียหาย ก็ยอมเสียสละทิฐิมานะที่จะเอาชนะเสียได้

ทั้ง ๔ ประการนี้ แต่ละอย่างเป็นวิธีที่จะทำให้เวรและการจองเวรสงบระงับได้




เตือนตนเอง

การพิจารณาตนเอง คือ การตรวจตราตนเอง สอบสวนตนเอง ใช้สติปัญญาให้รู้ว่า ขณะนี้ตนเองเป็นอย่างไร มีสถานภาพเป็นอย่างไร ทำอะไรอยู่ เหมาะสมแล้วหรือไม่ ติชมตนเองได้ ว่ายังขาดสิ่งใดที่ต้องเติมเต็ม สิ่งใดเพียงพอแล้วก็รักษาระดับไว้

เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ทำ คำที่พูด เรื่องที่คิดไม่ถูกต้อง ก็ใช้สติเป็นเครื่องยับยั้งใจไว้ ไม่ปล่อยใจไปตามกระแสของอารมณ์ฝ่ายต่ำ คอยควบคุมพฤติกรรมที่เราแสดงออก ทางกายและทางวาจา เพราะพฤติกรรมนั้น ย่อมมีผลกระทบถึงผู้อื่นด้วย มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ว่าพฤติกรรมนั้นไปกระทบต่อกฎเกณฑ์ของสังคมเท่าไร

การดำเนินชีวิตของคนเรา แม้จะเป็นส่วนที่เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การกิน การนอน ก็เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ต้องอาศัยผู้อื่นช่วย คือ ขณะที่ยังเป็นเด็ก ก็อาศัยพ่อแม่แนะนำ ฝึกฝนให้มีความรู้ ความสามารถในวิชาการต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น เมื่อประกอบอาชีพก็ต้องมีการฝึกงาน ทดลองงานก่อน

ทุกขั้นตอนของชีวิต ต้องมีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เริ่มตั้งแต่สังคมเล็กๆ คือ ครอบครัว ต้องเกี่ยวข้องกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และที่กว้างออกไป ก็เกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนร่วมงาน ร่วมอาชีพ แต่การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุขได้นั้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกัน เป็นการละลายพฤติกรรมเข้าหากัน ยิ่งมีความสนิทสนมมากเพียงใด ก็จะมีลักษณะนิสัยใกล้เคียงกันเพียงนั้น

การใช้สติปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตนให้ทราบชัด ว่าสิ่งที่กำลังทำ คำที่กำลังพูด ผิดหรือถูก ตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ ท่านผู้รู้ติเตียนได้หรือไม่ ถ้ารู้ชัดว่าผิดพลาด ยังบกพร่องอยู่ ต้องรีบปรับปรุงแก้ไข ยอมลดมานะทิฐิไม่ถลำลึกต่อไป

เมื่อเราพิจารณาใคร่ครวญด้วยสติปัญญาของตนเอง ตักเตือนตนเอง ไถ่ถอนตนเองจากกิเลสตัณหาและความชั่วต่างๆ ได้เอง ปรับปรุงตนเองได้ นับว่าประเสริฐสุด เพราะคนส่วนมากมักเข้าข้างตนเอง มองไม่เห็นความผิดพลาดของตน เห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่น ดังภาษิตที่ว่า โทษของคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนเห็นยาก

บุคคลผู้หวังความเจริญ จงทำใจให้เป็นกลาง น้อมรับคำแนะนำของผู้รู้ ไม่เข้าข้างตนเอง พิจารณาใคร่ครวญให้เห็นข้อดี ข้อเสียของตน แล้วปรับปรุงแก้ไข ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจ ให้ถลำลึก ก็จะถึงความเจริญได้ดังประสงค์

มีคำสุภาษิตที่ท่านได้กล่าวเตือนตนเอาไว้ว่า
     "ตนเตือนตนของตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
      ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน ตนแชเชือนใครจะเตือนให้ป่วยการ"

เมื่อตนเตือนตนได้แล้ว ตนก็เป็นที่พึ่งแห่งตน นอกจากตนเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้ว ก็ยังเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ด้วย



อยู่ในถิ่นที่สมควร

การอยู่ในถิ่นที่สมควร ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมเป็นที่สบาย คือ อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง อยู่แล้วสบาย เช่น การเดินทางไปมาสะดวก ไม่มีภัยอันตราย สะอาด อากาศดี

อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เช่น มีแหล่งอาหารที่แสวงหามาได้ง่าย และสามารถจัดซื้อหามาได้ง่าย เป็นแหล่งชุมชน ไม่มีแหล่งอบายมุข

บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง ถิ่นที่มีคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี พึ่งพาอาศัยกันได้ มีศีลธรรมไม่มีโจรผู้ร้าย นักเลงอันธพาล หรือใกล้แหล่งอิทธิพลผู้มีความเห็นผิดคิดผิด

ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง มีที่พึ่งทางใจคือธรรมะ มีวัด สถานที่ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม มีโรงเรียน หรือแหล่งศึกษาหาความรู้ อยู่ในละแวกนั้น

วิธีทำบ้านให้น่าอยู่ ดูแลบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบ มีทางถ่ายเทอากาศได้สะดวก เลือกซื้อเลือกทำอาหารให้ถูกหลักอนามัย จูงใจคนในบ้านให้มีความเคารพเชื่อฟังซึ่งกันและกัน ละเว้นอบายมุข มีความขยันหมั่นเพียร มีน้ำใจต่อกัน โดยเริ่มปรับปรุงที่ตัวเราเองให้ดีก่อน แล้วจึงชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม

ชักนำกันไปวัดทำบุญ รักษาศีล ฟังเทศน์ ฝึกสมาธิจิต เป็นประจำ จัดบ้านให้มีอุปกรณ์เครื่องส่งเสริมทางใจ เช่น มีห้องพระหรือหิ้งพระ มีหนังสือธรรมะ เป็นต้น แล้วชักชวนกันให้ไหว้พระสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนาที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ

การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ได้รับความสุขกายสุขใจเต็มที่ มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม มีโอกาสบำเพ็ญบุญเต็มที่ ทั้งทาน ศีล ภาวนา
 - ได้ลาภอันประเสริฐ คือ ได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย
- ได้ฟังพระธรรมอันประเสริฐ คือ ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
- ได้เห็นอย่างประเสริฐ คือ ได้เห็นพระรัตนตรัย
- ได้รู้พระสัทธรรมอันประเสริฐ คือ ได้ศึกษาธรรมะ
- ได้การศึกษาอย่างประเสริฐ คือ ได้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา
- ได้การบำรุงอันประเสริฐ คือ ได้บำรุงพระพุทธศาสนา
- ได้ระลึกถึงอย่างประเสริฐ คือ มีใจระลึกถึงพระรัตนตรัย ไม่ประมาทด้วยการปฏิบัติธรรม
- ได้ที่พึ่งอันประเสริฐสูงสุด คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
- ได้อริยทรัพย์อันประเสริฐ เป็นหนทางดำเนินไปสู่ พระนิพพาน

ผู้ที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมเหมาะสม เพื่อประกอบสัมมาชีพตามความถนัดของแต่ละบุคคลได้อย่างสะดวกสบาย เป็นบ้านเมืองที่สงบเรียบร้อย ปราศจากภัยพิบัติอันตราย เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน การคมนาคมไปมาสะดวก เป็นประเทศเป็นที่ประดิษฐานมั่นคงแห่งคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้มีความมุ่งหมายจะประกอบอาชีพทางใด ก็สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นไปทางนั้นตามความประสงค์


จากคอลัมน์ "ธรรมะวันหยุด" หนังสือพิมพ์ข่าวสด
โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร กรุงเทพมหานคร

20-20
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 07 กันยายน 2558 16:38:34 »


ได้ทำบุญมาก่อน
บุญเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขกายสุขใจ สามารถติดตามไปได้ทุกสถานที่ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า เป็นของเฉพาะตนใครจะแย่งชิงเอาไปไม่ได้ ต้องทำเอาเอง เป็นที่หลั่งไหลมาแห่งโภคสมบัติทั้งหลาย เพราะผลของบุญจะบันดาลให้ได้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ และนิพพานสมบัติแก่ผู้มีบุญทั้งหลาย

บุญเป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏสงสาร ในขณะที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่นั้น บุญจะคอยช่วยคุ้มครองให้เกิดในสถานที่ดีมีความสุขความเจริญในชีวิต แม้ในการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่มีความลำบาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังแห่งบุญที่ได้บำเพ็ญมาจะมากหรือน้อยนั่นเอง

การทำความดีทุกอย่างล้วนมีผลออกมาเป็นบุญทั้งสิ้น มีแต่ผลของบุญเท่านั้นที่ต่างกันออกไป แล้วแต่ประเภทของบุญที่ได้บำเพ็ญไว้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีทำบุญไว้ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ มี ๑๐ ประการ ได้แก่
๑.การบริจาคทรัพย์สิ่งของ
๒.การสำรวมกาย วาจา ให้สงบเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น
๓.การสวดมนต์ เจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดถึงการอ่านหนังสือธรรมะ
๔.การมีความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้มีคุณธรรม หรือผู้ควรแก่การเคารพบูชา
๕.การขวนขวายช่วยเหลือในกิจการงานที่ชอบ
๖.การอุทิศส่วนบุญที่เราได้ทำแล้วให้แก่ผู้อื่น
๗.การอนุโมทนาในส่วนบุญที่ผู้อื่นทำ
๘.การฟังธรรม
๙.การแสดงธรรม
๑๐.การปรับปรุงความคิดเห็นของตนให้ถูกต้องด้วยปัญญา

ชีวิตนี้เป็นของน้อยนิดไม่ควรประมาท เราต้องรีบเร่งสร้างบุญกุศลตั้งแต่บัดนี้ จะได้มีบุญติดตัวไปในวันข้างหน้า โดยยึดหลักว่าถ้าในเวลาเช้ายังไม่ได้ทำทานก็อย่าเพิ่งทานอาหาร วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีลวันนั้นก็อย่าเพิ่งออกจากบ้าน คืนใดยังไม่ได้สวดมนต์เจริญสมาธิภาวนาคืนนั้นก็อย่ารีบนอน

เราต้องอดทนฝึกตนให้ได้สร้างความดีเรื่อยไป แม้จะต้องมีอุปสรรคมากมายเพียงใดก็ตาม ต้องมีใจมั่นคงไม่ย่อท้อต่อสู้ ทนทำความดีเรื่อยไปจนกว่าจะถึงซึ่งพระนิพพาน

ผู้มีบุญวาสนามาก่อน ทำให้ร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติและปัจจัยต่างๆ พร้อมที่จะทำความดีได้โดยง่าย อำนวยประโยชน์สุขทุกอย่างให้ เป็นเหตุแห่งความสุขทุกประการ เป็นเสบียงติดตัวไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้า จนกว่าจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

อย่าดูหมิ่นบุญว่านิดหน่อยจักไม่มาถึงตน น้ำที่หยดลงมาทีละหยดยังทำตุ่มให้เต็มได้ คนมีปัญญาดีหมั่นสั่งสมบุญทีละน้อย ย่อมเต็มเปี่ยมด้วยบุญได้โดยแท้




ประพฤติธรรม
"ผู้ใดมีปกติประพฤติธรรมด้วยกาย วาจา และใจ เทวดาและปวงชนย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้ ผู้นั้นละไปแล้วย่อมบันเทิงในสุคติโลกสวรรค์"

ความดีและความชั่วเป็นของเที่ยงธรรม ไม่มีลำเอียง ใครทำดีย่อมได้รับผลดี ใครทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว หว่านพืชเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น ธรรมดีย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ไม่ให้เดือดร้อนทุกข์ใจ ดังพุทธภาษิตที่ว่า "ธรรมย่อมรักษาผู้มีปกติประพฤติธรรม"

ธรรมในพุทธภาษิตนี้หมายถึง กุศลธรรม กล่าวคือ ธรรมที่เป็นความฉลาด ความดี บุคคลทำแล้วสุขใจ ไม่เดือดร้อน เป็นสุข นอนสบาย คนที่ทำแต่บาปกรรมย่อมอยู่ร้อนทุกข์ ไม่สุขใจ จะประกอบสัมมาอาชีพก็ไม่เจริญ มีแต่คนตำหนิติเตียน ไม่คบค้าสมาคมด้วย เพราะการคบค้าสมาคมกับคนชั่วพาตัวให้เดือดร้อน

ส่วนคนผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติย่อมมีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลไม่คิดเบียดเบียนใคร เพราะจิตใจของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม มีความเมตตารักใคร่ต่อคนทั่วไป

บุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมและประพฤติธรรม บุคคลผู้ประพฤติธรรมชื่อรักษาตนและคุ้มครองตนให้พ้นจากภัยพิบัติในชาตินี้และชาติหน้าได้โดยแท้

บุคคลผู้ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ ธรรมก็ย่อมคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขเจริญงอกงามทั้งทางโลกและทางธรรม บุคคลผู้ประพฤติธรรมก็เหมือนคนอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดปราศจากมลทิน ฉันนั้น

บุคคลผู้เจริญงอกงามในชีวิตก็เพราะประพฤติธรรม ส่วนคนที่ยากลำบากยากจนไม่มีคนนับถือก็เพราะไม่ประพฤติธรรม เพราะธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเท่านั้นให้อยู่เย็นเป็นสุขไม่ทุกข์ใจ ให้ได้มรรคผลและนิพพานตามสมควรแก่ความประพฤติ

การประพฤติธรรมแบ่งออกได้เป็น ๓ อย่าง
๑.กายสุจริต ไม่ฆ่าสัตว์ ตั้งแต่สัตว์เล็กถึงสัตว์ใหญ่และมนุษย์ ไม่ลักทรัพย์ ทำการคอร์รัปชั่น หลอกลวง ปล้นจี้ ชาวบ้าน ไม่ประพฤติผิดในกาม การคบชู้นอกใจภรรยา สามี และการข่มขืนทำอนาจาร

๒.วจีสุจริต ไม่พูดเท็จ พูดแต่ความจริง ไม่หลอกลวง ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดวาจาส่อเสียด นินทาว่าร้าย ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้สารประโยชน์

๓.มโนสุจริต ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น คือไม่อยากได้ของเขามาเป็นของเรา ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ประสบเคราะห์กรรม คิดอยากจะให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ มีความเห็นชอบ มีความเชื่อความเข้าใจในความเป็นจริงความถูกต้อง ตาม หลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ว่า ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขแท้

อานิสงส์การประพฤติธรรมเป็นมหากุศล เป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้รักษาสัทธรรม เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาให้เจริญ เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า ไม่ก่อเวรก่อภัยกับใครๆ เป็นผู้ให้อภัยแก่สรรพสัตว์ เป็นผู้ดำเนินตามปฏิปทาของนักปราชญ์ สร้างความเจริญความสุขแก่ตนเองและส่วนรวม เป็นผู้สร้างทางมนุษย์ สวรรค์ พรหม นิพพาน




เลี้ยงดูพ่อแม่
พ่อแม่นั้น กล่าวกันว่าท่านเป็นทั้งพรหมของลูก เทวดาคนแรกของลูก ครูคนแรกของลูก และเป็นพระอรหันต์ของลูก ซึ่งขยายความไว้ว่า

พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เพราะเหตุที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ คือ
๑.มีเมตตา ความรักใคร่อันบริสุทธิ์ ปรารถนาดีต่อลูกไม่มีที่สิ้นสุด
๒.มีกรุณา ความหวั่นใจในความทุกข์ของลูก ไม่ทอดทิ้ง และคอยช่วยเหลือเสมอ
๓.มีมุทิตา เมื่อลูกมีความสุขประสบความสำเร็จ มีความปลาบปลื้มยินดีด้วยความจริงใจ
๔.มีอุเบกขา เมื่อลูกมีครอบครัวสามารถเลี้ยงตนได้แล้ว ก็ไม่วุ่นวายกับชีวิตครอบครัวลูกจนเกินงาม และหากลูกผิดพลาดก็ไม่ซ้ำเติม แต่คอยเป็นที่ปรึกษาให้ เมื่อลูกต้องการ
- พ่อแม่เป็นเทวดาคนแรกของลูก เพราะคอยปกป้องคุ้มภัย เลี้ยงดูลูกมาก่อนคนอื่นๆ
- พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เพราะคอยสั่งสอนอบรมทั้งคำพูดและกิริยามารยาทให้ลูกก่อนคนอื่นๆ
- พ่อแม่เป็นวิสุทธิเทพองค์แรกของลูก ไม่ถือสาในความผิดของลูก แม้ว่าบางครั้งลูกจะพลาดพลั้งล่วงเกิน ก็ให้อภัยเสมอ ปรารถนาประโยชน์แก่ลูกเสมอ
  ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ก็ยังคงปรารถนาให้ลูกได้ดี มีความสุข
- เป็นเนื้อนาบุญของลูก เป็นผู้ที่ลูกควรทำบุญได้โดยแท้
- เป็นเหมือนพระที่ควรเคารพนับถือและได้รับการบูชา เพื่อเทิดทูนไว้เป็นแบบอย่าง
- เป็นผู้มีอุปการคุณต่อลูก เลี้ยงดูลูกมาด้วยความเหนื่อยยาก กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
- เป็นผู้มีพระเดชพระคุณต่อลูก ให้ความอบอุ่นเลี้ยงดู ปกป้องจากอันตรายต่างๆ นานา

การทดแทนพระคุณพ่อแม่ เป็นสิ่งที่ลูกควรปฏิบัติในระหว่างเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ควรเลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทน ช่วยเหลือเป็นธุระเรื่องการงานให้ท่าน ดำรงวงศ์ตระกูลให้สืบไปไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย รวมทั้งประพฤติตนให้ควรแก่การสืบทอดมรดกจากท่าน ครั้นเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศกุศลให้ท่าน

ส่วนการเป็นลูกกตัญญูต่อพ่อแม่ ในคำสอนของพระพุทธเจ้ามีดังนี้คือ ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธาให้ท่านถึงพร้อมด้วยศรัทธา พยายามให้ท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อในเรื่องการบุญกุศลทำความดี ถ้ายังไม่มีศีลให้ท่านถึงพร้อมด้วยศีล พยายามให้ท่านเป็นผู้รักษาศีล ๕ ให้ได้ ถ้าท่านเป็นคนตระหนี่ให้ท่านถึงพร้อมด้วยการให้ทาน ให้รู้จักการให้ด้วยเมตตาโดยไม่หวังผลตอบแทน ถ้าท่านยังไม่มีปัญญาให้ท่านถึงพร้อมด้วยปัญญา พยายามให้ท่านหมั่นเจริญวิปัสสนากรรมฐานให้ได้

การเลี้ยงดูพ่อแม่ทำให้มีความอดทน มีสติปัญญาดี มีเหตุผล พ้นทุกข์พ้นภัย ได้ลาภโดยง่าย แคล้วคลาดจากภัยอันตรายในยามคับขัน เทวดาช่วยรักษา ได้รับการยกย่องสรรเสริญ มีความเจริญก้าวหน้า ถ้ามีลูกก็จะได้ลูกที่ดี มีความสุข เป็นแบบอย่างอันดีแก่อนุชนรุ่นหลัง

บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้ที่เลี้ยงดูพ่อแม่ในโลกนี้นี่เอง เขาละโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์  




สงเคราะห์บุตรธิดา
โลกของเรานี้จะตั้งอยู่ได้ไม่ขาดมนุษย์ ก็เพราะมีบุตรสืบเชื้อสายต่อกันมาเป็นลำดับ เติบโตเจริญวัยขึ้นก็ทำหน้าที่แทนพ่อแม่ต่อไป

บุตรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่โลกมนุษย์ต้องการอยู่เสมอ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "บุตรย่อมเป็นวัตถุที่ตั้งของมนุษย์ทั้งหลาย" หมายความว่า คนเราเมื่ออยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยาแล้ว สิ่งที่สามีภรรยาปรารถนาที่สุดก็คือบุตร เมื่อมีบุตรแล้ว มงคลจะเกิดมีก็อยู่ที่การเป็นบุตรที่ดีและการเลี้ยงดูของพ่อแม่นั่นเอง

คำว่า บุตร หมายความได้ทั้งลูกชายลูกหญิง พระพุทธองค์ตรัสไว้ ๓ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ เรียกว่า อภิชาตบุตร ได้แก่ ลูกที่เกิดมาดีกว่าพ่อแม่ เกิดมาเชิดชูวงศ์สกุล เกิดมาอุดหนุนค้ำจุนพ่อแม่
ประเภทที่ ๒ เรียกว่า อนุชาตบุตร ได้แก่ ลูกที่เกิดมาเสมอตัว คือไม่ดีไม่เลวกว่าพ่อแม่และไม่แย่ไปกว่าวงศ์สกุล มีกันอย่างไรก็อยู่กันอย่างนั้นชั่วนาน ดำรงวงศ์สกุลไว้ไม่ให้เสื่อมโทรม และไม่สามารถจะให้ดีขึ้นไปกว่าเดิม
ประเภทที่ ๓ เรียกว่า อวชาตบุตร ได้แก่ ลูกที่เกิดมาเลวต่ำกว่าพ่อแม่ ฉุดดึงเอาพ่อแม่ตกต่ำไปด้วย ลูกประเภทนี้ใครๆ ก็ไม่ปรารถนา ไม่อยากได้ ไม่อยากมี

ท่านที่มีลูกดี รอยที่ดีก็ประทับอยู่บนใบหน้าของพ่อแม่ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า ลูกดีเป็นศรีสง่า ญาติวงศ์พงศาผ่องใสแม้ญาติสนิทมิตรสหายที่ใกล้ไกลก็พอใจสรรเสริญเจริญพร

วิธีการเลี้ยงลูกที่จะให้ดี ให้เป็นมงคลนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสหลักไว้ ๕ ประการ คือ ห้ามมิให้ทำความชั่ว แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ให้การศึกษา หาคู่ครองที่สมควรให้ และมอบทรัพย์มรดกให้ในสมัยอันสมควร

ความปรารถนาของพ่อแม่ที่ต้องการมีบุตร คือ บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงท่านตอบแทน บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักช่วยทำกิจแทนเรา จักดำรงวงศ์สกุลของเราให้ตั้งมั่นอยู่ได้นาน บุตรจักปกครองรักษาทรัพย์มรดกแทนเรา เมื่อเราละโลกไปแล้วบุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้

วิธีเลี้ยงดูลูกในทางธรรม พาลูกเข้าวัดเพื่อศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนา ชักนำลูกให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน ชักนำให้ลูกทำบุญตักบาตร รักษาศีล เจริญเมตตาจิต ชักนำลูกให้ปฏิบัติสมาธิภาวนาร่วมกันเป็นประจำวัน

ถ้าลูกเป็นชายให้บวชเป็นสามเณรหรือบวชเป็นพระภิกษุแล้วให้เข้าปฏิบัติพระกรรมฐาน รวมทั้งการศึกษาพระปริยัติธรรม

การเลี้ยงดูบุตร พ่อแม่ได้รับความปีติภาคภูมิใจเป็นเครื่องตอบแทน ครอบครัวมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข ประเทศชาติจะมีคนดีไว้ใช้ เป็นต้นแบบที่ดีงามของสังคมสืบไป

บัณฑิตทั้งหลายย่อมปรารถนาอภิชาตบุตร อนุชาตบุตร ไม่ปรารถนาอวชาตบุตรผู้ตัดสกุล บุตรเหล่าใดเป็นอุบาสกอุบาสิก มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ปราศจากความตระหนี่ บุตรเหล่านั้นย่อมไพโรจน์ในบริษัททั้งหลายเหมือนพระจันทร์พ้นจากก้อนเมฆ ไพโรจน์อยู่

ด้วยเหตุนี้ การเลี้ยงลูกให้ดี จึงเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับพ่อแม่ หากว่าเลี้ยงลูกให้ดีได้ก็เป็นศรีสง่า เป็นมงคลแก่ตนเอง




บำเพ็ญทาน
การแสดงออกซึ่งน้ำจิตน้ำใจอันดีงามโดยมีวัตถุสิ่งของเป็นสิ่งประกอบ ท่านเรียกว่า ทาน หมายถึง การให้ หรือเจตนาเป็นเครื่องให้ ให้ปันสิ่งของอันได้แก่ ปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ

การให้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งความสุข เป็นรากเหง้าแห่งสมบัติทุกอย่าง เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งหมด เป็นเครื่องป้องกันภัยต่างๆ และเป็นที่พึ่งพิงอาศัยของเหล่าสัตว์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

การบำเพ็ญทาน นับเป็นกิจเบื้องต้นที่ควรทำ แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงบำเพ็ญบารมีในสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงบำเพ็ญทานคือการให้เป็นทีแรก

สำหรับการให้นั้นไม่ควรให้ของเลวหรือของที่ไม่ดี ควรเลือกของที่ตนชอบใจให้ ให้ของที่ดีประณีตดีกว่าที่ตนมีตนใช้

ผลที่เกิดจากการให้สิ่งของที่ดีนั้น ย่อมเป็นไปตามเหตุคือของที่ให้ เมื่อให้ของที่ถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ย่อมจะได้รับของที่ถูกใจตอบแทน เมื่อให้ของชั้นยอด ได้แก่ ของที่ยังไม่ได้ใช้สอยหรือบริโภคมาก่อน เช่น ข้าวปากหม้อ แกงปากหม้อ เป็นต้น ก็ย่อมได้รับของเช่นนั้นตอบแทน

สมดังพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ว่า "ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้รับผลที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้รับผลที่เลิศตอบ ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้รับผลที่ดี และผู้ให้ของที่ดีที่สุด ย่อมเข้าถึงฐานะที่ดีที่สุด"

การให้ทาน แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง ได้แก่
๑.การให้วัตถุสิ่งของ หรือทรัพย์สินเงินทองเป็นทาน
๒.การให้ธรรมะ ความรู้เป็นทาน
๓.การให้อภัยในบุคคลอื่นที่ทำ ไม่ดีกับเรา ไม่พยาบาทมาดร้ายหรือจองเวร

การบำเพ็ญทานให้ได้บุญมาก ต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ
๑.วัตถุบริสุทธิ์ ของที่จะให้ทานต้องเป็นของที่ได้มาด้วยความชอบธรรม ด้วยการทำงานบริสุทธิ์ไม่ใช่ได้มาด้วยการปล้น การลักขโมยหรือเบียดเบียนใครมา
๒.เจตนาบริสุทธิ์ มีเจตนาเพื่อกำจัดความตระหนี่ออกจากใจของตน ทำเพื่อเอาบุญไม่ใช่เอาหน้าเอาชื่อเสียง ไม่ใช่เอาความเด่นความดัง จะต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ ในขณะก่อนให้ก็มีใจเลื่อมใสเป็นทุนเดิม เต็มใจที่จะทำบุญนั้น ขณะให้ก็ตั้งใจให้ด้วยใจที่เบิกบาน หลังให้ก็มีใจแช่มชื่น ไม่นึกเสียดายสิ่งของที่ให้ไปแล้ว
๓.บุคคลบริสุทธิ์ คือเลือกให้แก่ผู้รับ ที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีความสงบเรียบร้อย ตั้งใจประพฤติธรรม สำหรับผู้ให้ทานคือตัวเราเอง ก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์ จึงจะได้บุญมาก

อานิสงส์การบำเพ็ญทานเป็นที่มาของสมบัติทั้งหลาย ผู้ให้ย่อมได้รับความสุข ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ เป็นที่น่าคบหาของคนดีเข้าสังคมได้คล่องแคล่ว แกล้วกล้าอาจหาญในทุกชุมชน มีชื่อเสียงเกียรติคุณดีแม้ตายก็ไปเกิดในสวรรค์

คนผู้ให้ทานย่อมได้ชื่อว่าสั่งสมความดีแก่ตน แม้ว่าทรัพย์สมบัติจะหมดไปบ้างก็หมดไปในทางที่ชอบที่ควร บุญกุศลคุณงามความดีต่างๆ ย่อมเพิ่มมากขึ้นทวีคูณทุกๆ ครั้งที่ได้ให้




ไม่ประมาทในธรรม
ธรรม คือ หลักปฏิบัติที่ทำแล้วมีผลในทางดี และเป็นจริงอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้
ประมาทในเวลา คือ ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หรือผัดวันประกันพรุ่ง
ประมาทในวัย คือ คิดว่าอายุยังน้อย ไม่ต้องทำความเพียรก็ได้ เพราะยังมีชีวิตอยู่อีกนาน
ประมาทในความไม่มีโรค คือ คิดว่าตัวเองแข็งแรงไม่ตายง่ายๆ ก็ปล่อยละเลย
ประมาทในชีวิต คือ ไม่กำหนดวางแนวทางถึงอนาคต คิดว่ายังมีชีวิตอยู่อีกนาน
ประมาทในการงาน คือ ไม่ขยันตั้งใจทำให้สำเร็จ ปล่อยตามเรื่องตามราว หรือปล่อยให้ดินพอกหางหมู
ประมาทในการศึกษา คือ ไม่ศึกษาเล่าเรียนในวัยที่ควรเรียน หรือขาดความเอาใจใส่ที่เพียงพอ
ประมาทในการปฏิบัติธรรม คือ ไม่ปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือศึกษาหลักธรรมให้ถ่องแท้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว

ผู้ที่ยังอยู่ในความประมาท มักจะไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี เป็นพวกเกียจคร้าน เช่นเวลาเรียนไม่ตั้งใจเรียนแต่อยากสอบได้ งานการไม่ทำ แต่ความดีความชอบจะเอา ไม่ทำประโยชน์แก่ใคร แต่อยากให้คนทั้งหลายนิยมชมชอบ ทาน ศีล ภาวนาไม่ปฏิบัติ แต่อยากไปสวรรค์ ไปนิพพาน

รวมแล้วผู้ที่ยังประมาทอยู่มี ๓ ประเภท คือ ไม่ทำเหตุดีแต่จะเอาผลดี ทำเหตุเลวแต่จะเอาผลดี และทำเหตุน้อยแต่จะเอาผลมาก

ส่วนผู้ไม่ประมาทในธรรม มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับคน ๓ ประเภทดังกล่าว คือต้องทำแต่เหตุที่ดี ทำให้เต็มที่ และทำให้สมผล

ผู้ที่ไม่ประมาทจะต้องมีสติ คือความระลึกนึกคิดได้ถึงความผิดชอบชั่วดีอยู่เสมอ เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้คิด พูด ทำ ในสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้ไม่ลืมตัว ไม่เผลอตัว ใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ได้

ธรรมชาติของจิตมีการคิดตลอดเวลา การคิดนี้ถ้าไม่มีสติกำกับก็จะกลายเป็นความคิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีสติกำกับแล้ว จะทำให้ไม่เผลอ ควบคุมความนึกคิดได้ ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอย ไม่ปล่อยอารมณ์ให้เป็นไปตามสิ่งที่มากระทบ

อานิสงส์การไม่ประมาทในธรรม ทำให้ได้รับมหากุศล ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ตาย สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ไม่ตกไปสู่อบายภูมิ คลายจากความทุกข์ เพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายในการสร้างความดี มีสติอันเป็นทางมาแห่งการสร้างกุศลอื่นๆ ได้รับความสุขในการดำรงชีพ เป็นผู้ตื่นตัว ไม่เพิกเฉยละเลยในการสร้างความดี ความชั่วความไม่ดีต่างๆ ย่อมสูญสิ้นไปโดยเร็ว

เมื่อใด บัณฑิตผู้มีปัญญาปิดกั้นความประมาทด้วยความ ไม่ประมาท เมื่อนั้นนับว่าได้ขึ้นสู่ปราสาท คือ ปัญญา ไร้ความโศกเศร้า สามารถมองเห็นประชาชนผู้โง่เขลา ผู้ยังต้องเศร้าโศกอยู่ เสมือนคนยืนอยู่บนยอดเขา มองลงมาเห็นฝูงชนที่ยืนอยู่บนพื้นดิน ฉะนั้น



จากคอลัมน์ "ธรรมะวันหยุด" หนังสือพิมพ์ข่าวสด
โดย พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร กรุงเทพมหานคร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ตุลาคม 2558 14:16:48 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 28 กันยายน 2558 16:23:35 »

.


ทำงานไม่ให้คั่งค้าง
การทำงาน จัดว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและทำชีวิตให้มีคุณค่า สามารถชักนำให้มนุษย์รู้จักสภาพอันแท้จริงของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก ทำให้มนุษย์ดำเนินไปสู่ความโชคดีและร้าย และสามารถพัฒนาโลกให้เจริญก้าวหน้าไปได้ไกล

เมื่อทราบว่ามนุษย์มีความเป็นอยู่คู่กับการทำงานเช่นนี้ ผู้ที่มีความเกียจคร้าน ไม่รู้จักวิธีการทำงานหาเลี้ยงชีพ ทำงานให้คั่งค้างเหมือนดินพอกหางหมู บัณฑิตผู้รู้จึงเรียกคนเช่นนี้ว่า คนสิ้นคิด มีชีวิตความเป็นอยู่อันไร้ค่าเท่ากับเกิดมารกโลก เพราะไม่รู้จักใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ไม่รู้จักใช้ชีวิตให้มีค่า กลายเป็นคนอนาถาไร้ที่พึ่งพิง

ส่วนผู้ที่มีความอุตสาหะประกอบการงาน ไม่มีความเกียจคร้านและเบื่อหน่าย ทำงานให้สำเร็จไม่คั่งค้าง มีความมุ่งหมายในการทำงานด้วยศรัทธาอันแน่วแน่และมั่นคง ย่อมสามารถดำรงตนให้เป็นผู้มีทรัพย์สมบัติ ได้รับเกียรติยศ เพราะการกระทำหรือการทำงานนั้นย่อม แบ่งฐานะของมนุษย์ ให้ทราบว่าดี เลวมากน้อยกว่ากันอย่างไร

สำหรับผู้ที่เคยทำการงานมาแล้วย่อมทราบได้ดีว่างานที่ดีมีประโยชน์นั้นทำได้ยากมาก เพราะจะต้องตรากตรำลำบาก นอกจากต้องทุ่มเทกำลังความคิดและความสามารถแล้ว จะต้องใช้ความรอบคอบคอยสอดส่องถึงผลที่จะมากระทบว่าจะดีหรือชั่ว จะถูกหรือผิดประการใด จะต้องทำให้ถูกจังหวะและโอกาส รวมถึงเหมาะสมแก่สถานที่นั้นๆ

อีกประการหนึ่ง เพื่อให้การงานสำเร็จเรียบร้อย ยังต้องใช้ความเก่งกล้าสามารถไม่ย่อท้อต่ออันตรายและอุปสรรค ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระหว่างอันจะเป็นเหตุให้ละการทำงาน เพราะไม่มีกำลังใจที่จะทำงานให้สำเร็จได้ ยิ่งการงานที่จะก่อให้เกิดชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างสูงด้วยแล้วก็ยิ่งสำคัญมาก ถ้าหากไม่มีหลักการทำงานประจำใจก็ยากที่จะให้สำเร็จตามความมุ่งหมายได้

หลักของการทำงานให้เสร็จลุล่วงด้วยดี คือ มีความพอใจ มีใจรักในงานที่ทำ มีความพากเพียรไม่ละทิ้งในงานที่ทำ เอาใจใส่ในงานที่ทำ และใช้การคิดพิจารณาทบทวนงานนั้นๆ ด้วยปัญญา

คุณสมบัติของนายจ้างที่ดี จัดงานให้ลูกจ้างทำตามความเหมาะสม ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความสามารถ ให้สวัสดิการที่ดี มีอะไรได้มาก็แบ่งปันให้ ให้มีวันหยุดพักผ่อนตามสมควร

คุณสมบัติของลูกจ้างที่ดี เริ่มทำงานก่อนเลิกงานทีหลัง เอาแต่ของที่นายให้ ทำงานให้ดียิ่งขึ้น นำความดีของนายไปสรรเสริญ

อานิสงส์การทำงานไม่คั่งค้าง ทำให้ฐานะของตน ครอบครัว ประเทศชาติดีขึ้น ได้รับความสุข พึ่งตัวเองได้ เป็นที่พึ่งของคนทั้งหลายได้ สามารถสร้างบุญกุศลอื่นๆ ได้ง่าย เป็นผู้ไม่ประมาท ป้องกันภัยในอบายภูมิได้ มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เป็นนิสัยติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากคนทั่วไป

บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน อดทนให้เหมือนหญ้า กระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลนั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข




สติมาปัญญาเกิด
สติ เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ขวนขวายในการสร้างความดี ไม่แชเชือนหยุดอยู่กับที่ ไม่ทอดธุระ ไม่เกียจคร้าน

สติ เป็นเครื่องเร่งเร้าให้มีความขะมักเขม้น คือเมื่อเตือนตัวเองให้ทำความดีแล้วก็ให้ทำอย่างเอาจริงเอาจัง

สติ เป็นเครื่องทำให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการทำงาน ไม่สะเพร่า ไม่ชะล่า ใจว่าสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นไร

สติเสมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ คือ คนที่มีสติเมื่อจะไตร่ตรองคิดในเรื่องใด ใจก็ปักแน่นคิดไตร่ตรองในเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น คิดไตร่ตรองจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทะลุปรุโปร่ง

สติเหมือนนายประตู เพราะจะทำหน้าที่เสมือนนายประตู คอยเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดจนเฝ้าดูถึงอารมณ์ที่ใจคิด ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นสติก็จะใคร่ครวญทันทีว่า ควรปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่ หรือควรหยุดไว้ก่อน ปรับปรุงแก้ไขให้ดีเสียก่อน

สติเสมือนหางเสือ เพราะจะเป็นตัวควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตของเราให้มุ่งตรงไปตรงไปสู่ความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่หลงไปทำในสิ่งที่ไม่ควร เหมือนคอยระวังไม่ให้เรือไปเกยตื้น

สติ มีประโยชน์ในการควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่เราต้องการ โดยการตรวจตราความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการไว้ กันสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป ตรึงกระแสความคิดให้เข้าที่ ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย เช่น จะดูหนังสือก็สนใจ คิดติดตามไปตลอด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่น จะทำสมาธิ ใจก็จรดนิ่ง สงบตั้งมั่น ละเอียดอ่อนไปตามลำดับ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก

สติ มีประโยชน์ทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธเคือง ความลุ่มหลงมัวเมา จึงมีความโปร่งเบา ผ่อนคลาย เป็นสุข โดยสภาพของมันเอง พร้อมที่จะเผชิญความเป็นไปต่างๆ และจัดการกับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม

สติ มีประโยชน์ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุด เพราะไม่ถูกบีบคั้นด้วยกิเลสต่างๆ จึงทำให้ความคิดเป็นอิสระ มีพลัง แต่มีสติควบคุม เสมือนเรือที่หางเสือควบคุมอย่างดี ย่อมสามารถแล่นตรงไปในทิศทางที่ต้องการได้ ไม่วกวน

สติ มีประโยชน์ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่ เพราะมีความคิดที่เป็นระเบียบ และมีใจซึ่งมีพลังเข้มแข็ง จึงเป็นการเสริมสร้างปัญญาให้บริสุทธิ์

การฝึกสติทำให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะระลึกถึงการละเว้นทุจริตทางกายวาจา ใจ และประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะไปทำชั่วทำบาปอะไรเข้า ก็มีสติระลึกได้ทันทีว่า สิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นบาป ไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด ทำแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลเท่านั้น

มีสติระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้เสมอว่า การเกิดในอบายภูมินั้นมีทุกข์มากเพียงไร เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้วก็ไม่ยอมทำชั่วเลย เพราะเกรงว่าจะต้องไปเกิดในอบายภูมิ เช่นนั้น

มีสติระลึกได้ว่า การที่เราจะทำดีหรือทำชั่วนั้นขึ้นอยู่กับใจของเราเป็นสำคัญ ว่าใจของเราจะเข้มแข็ง เอาชนะความอยากต่างๆ ได้หรือไม่ และวิธีที่จะฝึกใจได้ดีที่สุดคือการฝึกทำสมาธิ จึงต้องหาเวลาทำสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ 





สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
นํ้าเมาอาจทำมาจากแป้งข้าวสุก ปรุงโดยผสมเชื้อหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดื่มแล้วทำให้มึนเมา เช่น เบียร์ ไวน์ ไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดโทษทั้งสิ้น

เช่น ทำให้เสียทรัพย์ เพราะต้องนำเงินไปซื้อหามาทั้งๆ ที่เงินจำนวนเดียวกันนี้สามารถนำเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า

ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวาย เจ็บตัว หรือถึงแก่ชีวิต และคดีความ เพราะน้ำเมาทำให้ขาดสติขาดการยับยั้งชั่งใจ

ทำให้เกิดโรค โรคที่เกิดเนื่องมาจากการดื่มน้ำเมา ล้วนแล้วแต่บั่นทอนสุขภาพกายจนถึงตายได้ เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดัน

ทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อคนเมาไปทำเรื่องไม่ดี เป็นต้นว่า ไปลวนลามสตรี ปล่อยตัวปล่อยใจ ก็ทำให้วงศ์ตระกูล และหน้าที่การงานเสื่อมเสียไปด้วย ทำให้ลืมตัวไม่รู้จักอาย คนเมาทำสิ่งที่ไม่ควรทำ

บั่นทอนกำลังปัญญา ดื่มแล้วทำให้เซลล์สมองเริ่มเสื่อมลง ก็จะทำให้สุขภาพและปัญญาเสื่อมถอย ความสามารถโดยรวมก็ด้อยลง

การดื่มน้ำเมาไม่ได้มีโทษเฉพาะชาตินี้เท่านั้น แต่ยังมีโทษติดตัวผู้ดื่มไปข้ามภพข้ามชาติมากมายหลายประการ ตัวอย่างเช่น

เกิดเป็นคนใบ้ ตายในขณะมึนเมา คนที่เมาสุราพูดไม่รู้เรื่อง ได้แต่ส่งเสียง พอตายแล้วก็ตกนรก จากนั้นกลับมาเกิดใหม่ เศษกรรมยังติดตามมาเลยเป็นใบ้

เกิดเป็นบ้า ในอดีตดื่มเหล้ามามาก เวลาเมาก็มีประสาทหลอน เวรนั้นติดตัวมา ในภพชาตินี้เกิดมาก็เป็นบ้า อยู่ดีๆ ก็ได้ยินเสียงคนมากระซิบบ้าง เห็นภาพหลอนว่าคนนั้นคนนี้จะมาฆ่าบ้าง

เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน ดื่มสุรามากๆ ตอนเมาก็คิดอะไรไม่ออกอยู่แล้ว ด้วยเวรสุรานี้ก็ส่งผลให้เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน

เกิดเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ดื่มสุราเมามากๆ ก็ซ้อมคลานมาตั้งแต่ตอนเป็นคน พอตายเข้าก็ได้เกิดมาคลานสมใจตน

วิธีเลิกเหล้าให้ได้เด็ดขาดนั้น ต้องตรองให้เห็นโทษว่าสุรามีโทษมหันต์ ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเลิกโดยเด็ดขาด ให้สัจจะกับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือกับพระภิกษุ สิ่งใดที่จะเป็นสื่อให้คิดถึงเหล้า เช่น ภาพโฆษณา เหล้าตัวอย่างขนไปทิ้งให้หมด ถือว่าเป็นของเสนียด นำอัปมงคลมาสู่บ้าน นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองให้มาก ว่าเราเป็นชาวพุทธเป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้า เป็นศิษย์มีครู เป็นคนมีเกียรติยศ เป็นทายาทมีตระกูล นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองอย่างนี้แล้วจะได้เลิกเหล้าได้สำเร็จ เพื่อนนักเลงสุราทั้งหลาย ควรหลีกเลี่ยงออกห่าง ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวสนิทสนมกับเพื่อนขี้เหล้าอยู่ยากจะเลิกเหล้าได้

อานิสงส์การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ทำให้เป็นคนมีสติดี ไม่ลุ่มหลง ไม่มัวเมา ไม่เกิดการทะเลาะวิวาท รู้กิจการทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้รวดเร็ว ไม่เป็นบ้าใบ้ ไม่เป็นคนปัญญาอ่อน มีแต่ความสุข มีแต่คนนับถือยำเกรง มีชื่อเสียงเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป ไม่หลงทำร้ายผู้มีพระคุณ มีหิริโอตตัปปะ มีความเห็นถูกต้อง มีปัญญามาก

บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย




ธรรมมีอุปการะมาก
สติ คือ ความระลึกได้ คู่กับคำว่า สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวอยู่เสมอ

สติ เป็นไปในกิริยาที่ทำ กิริยาที่พูด กิริยาที่นึกหรือคิด คือก่อนจะทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ระลึกนึกได้ก่อนแล้วจึงทำ จึงพูด จึงคิด บุคคลผู้ที่ทำผิด พูดผิด คิดผิด ก็เพราะขาดสติ

สติเป็นไปในกิริยาที่จำ คือ กิจการใดที่ได้ทำไว้แล้ว ถ้อยคำใดที่ได้พูดไว้แล้ว เรื่องใดๆ ที่ได้คิดตกลงใจไว้แล้ว แม้ล่วงกาลเวลาช้านาน ก็ระลึกนึกถึงกิจที่ได้ทำ คำที่ได้พูด เรื่องที่ได้คิดไว้นั้นได้ ไม่ลืมเลือน

บุคคลที่ทำแล้ว พูดแล้ว ลืมเสีย ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับกิจที่จะทำ คำที่จะพูด เรื่องที่จะคิดต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายได้ ก็เพราะขาดสติ

ส่วนสัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่เสมอนั้น เป็นไปในขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด คือรู้สึกตัวอยู่เสมอว่ากำลังทำ พูด และคิดอะไรอยู่ กล่าวคือทำ พูด คิดถูกก็รู้ หรือทำ พูด คิดผิดก็รู้

เมื่อรู้ว่ากำลังทำ พูด คิดถูก ก็ให้ทำ พูด คิดอย่างนั้นๆ ต่อไป เมื่อรู้สึกตัวว่ากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดในทางที่ผิด ก็ให้หยุดเสีย ไม่ให้ทำ พูด คิดอย่างนั้นๆ ต่อไปอีก

ความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ตนมีภาวะเป็นอย่างไร มีหน้าที่ มีกิจที่จะต้องทำอะไรบ้าง ก็ให้ปฏิบัติให้สมกับภาวะและหน้าที่ที่ตนเป็นอยู่และมีอยู่นั้นๆ ไม่บกพร่อง ไม่ผิดพลาด บริบูรณ์ดี เพราะมีสัมปชัญญะควบคุมอยู่

บุคคลที่บกพร่องต่อหน้าที่ มีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งแก่ตนและคนอื่น เพราะขาดสัมปชัญญะ ไม่มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอะไรอยู่ จึงทำให้ทำ พูด และคิดไปในทางที่ผิด เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น สติและสัมปชัญญะนี้จึงมีประโยชน์แก่ทุกคน

สติและสัมปชัญญะทั้ง 2 ประการ เรียกว่า ธรรมมีอุปการะมาก คือ ผู้ที่มีใจอันสติสัมปชัญญะเข้ากำกับอยู่เสมอแล้ว ย่อมประพฤติกาย วาจา ในทางที่ถูก ที่ควร ย่อมได้รับผลคือความสุข ความเย็นใจไม่เดือดร้อน สติสัมปชัญญะเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่คนทุกคน

ผู้มีปัญญาเป็นเลิศ มีการศึกษาดี มีสมรรถภาพในการทำงานดี แต่ถ้ามีปัญญาฟุ้งไป ไม่มีสติเป็นเครื่องยับยั้ง ก็จักเป็นคนฉลาดเกินควร เข้าลักษณะที่ว่า ฉลาดแต่ขาดเฉลียว กลายเป็นผู้ทะนงว่า ตนเท่านั้นสามารถ คนอื่นสู้ตนไม่ได้

เมื่อมีความทะนงตนอย่างนี้แล้ว ความผิดพลาดไม่รอบคอบนานาประการ ก็จะพึงเกิดมีขึ้น อันจะเป็นผลเสียหายแก่ตนและคนอื่น

ถ้าผู้มีปัญญาสามารถดี และมีสติเป็นเครื่องกำกับยับยั้งอยู่ด้วย ก็จักช่วยให้มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีความเสื่อม

สติที่เป็นเครื่องระลึก ก่อให้เกิดความนึกคิด ก่อนจะทำ ก่อนจะพูดเป็นเบื้องต้น เป็นเหตุให้รอบคอบ สามารถที่จะประกอบกิจน้อยใหญ่ให้เป็นไปด้วยดี ไม่มีความผิดพลาด



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ตุลาคม 2558 14:52:20 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 12 ตุลาคม 2559 16:32:06 »

.


ปิดศัตรู
คนฉลาดพึงเจริญเมตตาจิตไปในหมู่สัตว์ทั้งปวงโดยไม่เลือกหน้า ไม่จำกัด เหมือนมารดามีเมตตา ปกป้องรักษาบุตรคนเดียว ยอมเสียสละได้แม้ชีวิต

เมตตา หมายถึง ความรัก ความปรารถนาดี มีไมตรีจิต คิดบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ราศจากความอาฆาตพยาบาทโกรธเคือง

เมตตาทางกายด้วยกิริยาท่าทางงดงาม ใบหน้าสายตาแช่มชื่น

เมตตาทางวาจาด้วยถ้อยคำไพเราะ น่าฟัง

เมตตาทางใจ แสดงออกด้วยความปรารถนาดี

เมตตา ทำให้จิตใจเยือกเย็นสงบ มีความสุข หากจิตใจขาดเมตตาธรรม จะมีแต่ความเดือดร้อน ทำให้เกิด ความคิดโกรธแค้นขัดเคือง ความคิดเบียดเบียนอิจฉาริษยา เป็นที่สะสมบ่มความทุกข์อยู่ในใจ

เมตตา เป็นธรรมข้อแรกในพรหมวิหารธรรม คือ คุณธรรมของบิดามารดา หรือผู้ใหญ่ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่คณะ ผู้ที่มีเมตตาเป็นคุณธรรมเป็นเสมือนพระพรหม

เมตตา เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน นอกจากตนเองจะมีเมตตาอยู่แล้วยังต้องการจะได้รับเมตตาจากผู้อื่นอีก คือปรารถนาดีต่อผู้อื่นแล้ว ต้องให้ ผู้อื่นมีความรักความปรารถนาดีต่อตนเองบ้าง

ผู้มีเมตตาจึงจำต้องแผ่เมตตาไปยัง ผู้อื่นสัตว์อื่นอยู่เสมอๆ วิธีแผ่เมตตาคือการมองคนในแง่ดี เหมือนมารดาบิดาเอ็นดูบุตรธิดา หรือนึกถึงตัวเองว่ารักความสุขเกลียดทุกข์ ผู้อื่นสัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์เช่นกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อนึกอยู่เช่นนี้จะมีเมตตามากขึ้น ความสุขความสงบเกิดขึ้น

การแผ่เมตตามี ๒อย่าง คือ
   ๑.แผ่เมตตาโดยเจาะจงผู้ที่อยู่ใกล้ชิด
   ๒.แผ่เมตตาออกไปยังสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณจำกัด

การแผ่เมตตามิใช่เฉพาะตนและคนที่รักหรือเฉพาะหมู่คณะของตนเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้แผ่เมตตากว้างออกไป

เมตตาเปรียบเสมือนน้ำที่จะดับไฟที่เผาใจ เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรพึงแผ่เมตตาออกไปทุกทิศ ปรับจิตให้ปราศจากพยาบาทจองเวร เมื่อทุกคนมีเมตตาต่อกัน ย่อมจะอยู่กันอย่างมีความสุข ความเจริญ พระพุทธองค์ตรัสว่า "เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก"

อานุภาพแห่งเมตตาย่อมทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สมควร อย่างยิ่งที่จะเจริญเมตตาทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ไม่เบียดเบียนข่มเหงกัน ไม่ปรารถนาทุกข์ให้แก่กัน

เมตตา จึงเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น เป็นการปิดศัตรูได้อย่างถาวร




เหตุแห่งความเสื่อม
ในสังคมมนุษย์ ทุกคนต้องการความเจริญ ไม่ต้องการความเสื่อม แต่คนบางคนทั้งที่ต้องการความเจริญ แต่กลับปฏิบัติตนในทางที่ทำให้เกิดความเสื่อม

ทางที่ทำให้เกิดความเสื่อมมีหลายอย่าง เหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการเป็นคนหยิ่งทะนงตน ถือว่ามีชาติสูง มีทรัพย์สมบัติมาก มีสกุลสูง ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น การมีชาติสกุลสูงและมีทรัพย์มาก ไม่ใช่เป็นเหตุของความเสื่อม แต่เหตุของความเสื่อมนั้นอยู่ที่ความเย่อหยิ่งถือตัว

ความหยิ่งทะนงตัว เห็นว่าตนดีเลิศประเสริฐกว่าคนอื่น มองเห็นคนอื่นว่าต่ำต้อยกว่าตน มีอยู่แก่ผู้ใด ก็ทำให้ผู้นั้นดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น แสดงความรังเกียจไม่คบหาด้วย แม้แต่ญาติของตนก็ยังไม่เว้น

การดูหมิ่นญาติของตนเป็นความเสียหายมาก ทางที่ถูกที่ควรนั้น จะต้องรักญาติพี่น้อง ให้ความเคารพนับถือ ช่วยเหลือกัน จะทำให้เกิดความสามัคคีเป็นปึกแผ่น และเกิดความสุขความเจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าดูหมิ่นเหยียดหยามกันก็จะทำให้แตกแยก จะประกอบกิจการใดก็ไม่สำเร็จเพราะขาดผู้ให้การสนับสนุน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแก้ปัญหาโดยไม่ให้ยึดติดในเรื่องชาติกำเนิด แต่ให้ถือพฤติกรรม คือ การกระทำเป็นเครื่องวัด โดยตรัสว่า "บุคคลเป็นคนเลวเพราะชาติก็หาไม่ เป็นผู้ประเสริฐเพราะชาติก็หาไม่ แต่เป็นคนเลวเพราะกรรม เป็นผู้ประเสริฐเพราะกรรม"

ข้อว่า บุคคลเป็นคนเลวเพราะชาติก็หาไม่ หมายความว่า คนเกิดมาในตระกูลที่ต่ำจะถือว่าเป็นคนเลวไม่ได้ เพราะแต่ละคนไม่สามารถเลือกเกิดเองได้

ข้อว่า เป็นผู้ประเสริฐเพราะชาติก็หาไม่ หมายความว่า ผู้เกิดมาในตระกูลสูงมิใช่ว่าจะเป็นคนดีเสมอไป เพราะบางคนได้รับการศึกษาดี มีการงานดี อาจอาศัยพื้นฐานการศึกษาและตำแหน่งหน้าที่ แสวงหาผลประโยชน์ทำลายเศรษฐกิจของชาติได้

ข้อว่า เป็นคนเลวเพราะกรรรม เป็นผู้ประเสริฐเพราะกรรม หมายความว่า จะเป็นคนเลวหรือเป็นคนประเสริฐ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิดแต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตนเองเป็นสำคัญ

คนขาดชาติสกุลหรือคนมีทรัพย์ ที่ไม่ได้หยิ่งทะนงตน แต่เป็นคนดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นก็มีอยู่มาก คนเหล่านี้จะได้รับความนับถือ ยกย่อง สรรเสริญ และจะมีแต่ความเจริญไม่มีเสื่อม เฉพาะคนที่มีความหยิ่งทะนงในชาติสกุลและทรัพย์เท่านั้น จึงต้องประสบความเสื่อม




ทำงานที่ไม่มีโทษ
การงานที่เป็นกิจ เป็นหน้าที่หรือเป็นอาชีพที่คนทุกคนจะพึงทำนั้น มีมากมายหลายประการและหาประมาณไม่ได้ ซึ่งการงานบางอย่างก็เป็นไปเพื่อเบียดเบียนชีวิตและร่างกาย เบียดเบียนความสุขของผู้อื่น การงานบางอย่างก็เป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์ น้อมนำความสุขกายสบายใจมาให้แก่ตนเองและผู้อื่น สรุปแล้วมีอยู่ ๒ ประเภท คือ

๑.การงานที่มีโทษ ยกตัวอย่างเช่น การฆ่าผู้อื่น การทำร้ายผู้อื่น การยักยอก ฉ้อโกงเอาทรัพย์สินของผู้อื่น การอาฆาตพยาบาทจองเวรผู้อื่น เป็นต้น การงานที่กล่าวมานี้ เป็นความชั่ว ความทุจริต เป็นบาปอกุศล เป็นไปเพื่อความประพฤติชั่วอย่างเดียว

๒.การงานที่ไม่มีโทษ อันได้แก่ การงานที่เกี่ยวเนื่องด้วยความเมตตากรุณา ให้การอนุเคราะห์สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการอำนวยประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เช่น ความประพฤติดีทางกาย วาจา และใจ เป็นไปเพื่อกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น

ความประพฤติดี หรือการทำความดี เป็นการงานที่คนทุกคนควรทำ ควรประพฤติปฏิบัติ ส่วนความประพฤติชั่ว หรือการทำความชั่ว เป็นการงานที่ไม่ควรทำ ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ

ผู้ที่ทำการงานที่มีโทษ ย่อมได้รับโทษ ๕ ประการ คือ
   ประการที่ ๑ แม้ตนเอง ย่อมติเตียนตนเองได้
   ประการที่ ๒ ผู้รู้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว ย่อมติเตียน
   ประการที่ ๓ ชื่อเสียงที่ไม่ดี ย่อมกระฉ่อนไป
   ประการที่ ๔ ในเวลาใกล้ตาย ย่อมเป็นผู้ขาดสติ
   ประการที่ ๕ เมื่อตายแล้วย่อมเข้าถึงอบายภูมิ อันเป็นสถานที่หาความเจริญไม่ได้

ส่วนผู้ที่ทำการงานที่ไม่มีโทษ ย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ
   ประการที่ ๑ แม้ตนเอง ย่อมติเตียนตนเองไม่ได้
   ประการที่ ๒ ผู้รู้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว ย่อมสรรเสริญ
   ประการที่ ๓ ชื่อเสียงอันดี ย่อมขจรขจายไป
   ประการที่ ๔ ในเวลาใกล้ตาย ย่อมเป็นผู้มีสติ ความรู้ตัว
   ประการที่ ๕ เมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ อันเป็นที่ที่มีแต่ความเจริญ

ดังนั้น เมื่อจะประกอบการงาน ควรที่จะใคร่ครวญพิจารณาการงานของตนเสียก่อนแล้วจึงกระทำในภายหลัง

ผู้ทำงานที่มีโทษ มีแต่เสียกับเสียเป็นเงาตามตัว มากด้วยความทุกข์ใจ เข้าทำนองที่ว่าอิ่มท้องแต่พร่องใจ ยิ่งมีทรัพย์มากเท่าไรโอกาสที่จะเสียคนก็มากเท่านั้น

ส่วนผู้ทำงานที่ไม่มีโทษ มีแต่จะก้าวหน้าไปสู่ความสุขและความเจริญ จะหลับก็เป็นสุข จะตื่นก็เป็นสุข ไม่อายใคร ไม่ต้องหวาดระแวงใคร เพราะงานที่ทำเป็นประโยชน์ล้วนๆ ไม่มีโทษเจือปนเลย

เมื่อทราบว่าการงานที่มีโทษ ไม่มีประโยชน์ และการงานที่ไม่มีโทษ มีประโยชน์ เช่นนี้แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการงานอันเป็นโทษทุจริต ประกอบแต่การงานที่ปราศจากโทษ อันสุจริต ซึ่งจักอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่นตามความเหมาะสมแก่เหตุและผล อันเหมาะสมแก่กาลเทศะและความสามารถของตนเอง นับได้ว่าดำเนินชีวิตโดยถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา




กรรมจำแนกให้ดีหรือเลว
การทำความดีความชั่ว ท่านเปรียบไว้เหมือนกับการปลูกพืชพันธุ์ บุคคลทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ดังพุทธภาษิตที่ว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น บุคคลทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ส่วนผู้ที่ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว

ความดีและความชั่วนั้น ย่อมอำนวยผลต่างๆ กัน คือ ให้ผลโดยตรงก็มี ให้ผลโดยอ้อมก็มี ให้ผลเร็วก็มี ให้ผลช้าก็มี กรรมที่ให้ผลโดยตรงและเร็วย่อมประจักษ์ ส่วนที่ให้ผลโดยอ้อมและช้า ย่อมไม่ประจักษ์ จึงดูเหมือนว่าการทำนั้นไม่มีผล

เพราะฉะนั้น ท่านจึงห้ามไม่ให้ประมาทชะล่าใจว่า กรรมที่ตนทำจักไม่ให้ผล เพราะบางคนเป็นผู้โง่เขลา ไม่รู้จักกรรม ไม่รู้จักผลแห่งกรรม ไม่มีความสังเกตว่า ผลอันนี้เกิดจากกรรมอะไร จึงมองไม่เห็น มัวโทษว่าคนอื่นทำให้ เพราะเหตุนี้ท่านจึงสอนให้พิจารณาเนื่องๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

ถ้าบุคคลนึกถึงอยู่เนื่องๆ อย่างนี้ เมื่อประสบผลดีหรือชั่วก็ตาม ย่อมเล็งเห็นว่า ผลกรรมนั้นเป็นผลเกิดจากตน ไม่ใช่เกิดจากคนอื่นและสิ่งอื่น การลงความเห็นเช่นนี้เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ทำให้สบายและสงบ แต่ถ้าเห็นผิดว่า ผลดีหรือชั่วนั้นเกิดจากผู้อื่นและสิ่งอื่น ย่อมเป็นเหตุให้เป็นทุกข์ ให้วุ่นวายใจ

ตามธรรมดาของมนุษย์ ย่อมทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้างปนกันไป เพราะความไม่รู้แจ้งเห็นจริง แต่คนที่ดีย่อมทำดีมากกว่าทำชั่ว คนที่ชั่วย่อมทำชั่วมากกว่าทำดี คนเราจะดีหรือชั่วก็เพราะการกระทำของตนเอง บุคคลที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตหรือเป็นโจรผู้ร้าย ไม่ได้เป็นแต่เกิด หากแต่เป็นเพราะกรรมที่ผู้นั้นทำขึ้น ดังนั้น ถ้าอยากเป็นคนดีก็ต้องทำกรรมดี จึงเป็นคนดีและได้รับผลดี แต่ถ้าเป็นคนดีแล้วกลับทำกรรมชั่วก็จะกลายเป็นคนไม่ดีและรับผลที่ไม่ดีไป

ท่านกล่าวไว้ว่า คนดีทำดีง่ายแต่ทำชั่วยาก ส่วนคนชั่วทำชั่วง่ายแต่ทำดียาก ทั้งนี้ เป็นเพราะนิสัยของผู้นั้น คือบางคนมีนิสัยดี ก็รักที่จะทำดี ไม่รักที่จะทำความชั่ว บางคนมีนิสัยชั่ว ก็รักจะทำชั่วไม่รักที่จะทำดี

ถ้าผู้ที่ทำความดีจนเคยชินติดสันดาน ท่านเรียกว่า นิสัยดี หรือทำความชั่วจนเคยชินเช่นนั้น ก็เรียกว่า นิสัยชั่ว คนที่นิสัยดี ถ้าคบคนชั่วและริทำความชั่ว ไม่ช้าก็เปลี่ยนจากนิสัยดีเป็นนิสัยชั่วได้ เหตุนั้นบุคคลจึงควรรักษานิสัยของตนไว้ ไม่ควรลองทำความชั่วเลย

ดังนั้น ความเป็นคนดีหรือคนชั่ว ท่านจึงได้กำหนดหมายด้วยกรรมและผลของกรรม จะกำหนดด้วยรูปร่างหน้าตา ด้วยถ้อยคำที่พูด ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือด้วยทรัพย์สินเงินทอง ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความดีและความชั่วอาจทำได้ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

ผู้มีปัญญาควรเลือกทำเฉพาะกรรมดี ส่วนความชั่วควรหลีกหนีให้ห่างไกล




กรรมกับการให้ผล
กรรม หรือการกระทำ มีหลักเกณฑ์ในการให้ผล อยู่ ๓ ประการ คือ
   ๑.ให้ผลตามลำดับก่อนและหลัง
   ๒.ให้ผลตามกิจหรือตามหน้าที่
   ๓.ให้ผลตามกาล

ประการที่ ๑ กรรมให้ผลตามลำดับก่อนหลัง คือ
-กรรมทั้งหมดที่แต่ละคนกระทำอยู่ทุกวัน ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว เมื่อกล่าวถึงตามน้ำหนักหรือแรงส่งในการที่จะให้ผลแล้ว มีอยู่ ๔ อย่าง

กรรมหนักที่สุด มีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว คือหนักทั้งฝ่ายดีและหนักทั้งฝ่ายชั่ว กรรมหนักฝ่ายดี ได้แก่ การที่คนสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิจนเข้าฌานได้

กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาป ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ อย่าง คือ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตห้อขึ้น และทำให้สงฆ์แตกกัน

กรรมหนักที่สุดทั้งฝ่ายดีและชั่วนี้ ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่นทั้งหมด

กรรมที่ทำจนชินจนติดเป็นนิสัยในฝ่ายดี เช่น รักษาศีลเป็นประจำ ในฝ่ายชั่ว เช่น ลักขโมยเป็นประจำ กรรมเล็กๆ น้อยๆ เมื่อทำบ่อยๆ ก็เป็นกรรมที่มีน้ำหนัก เมื่อสิ้นชีพ ถ้าผู้ทำไม่มีกรรมหนัก กรรมที่ทำจนชินนี้ย่อมให้ผลก่อน

กรรมที่ทำเมื่อจวนเจียนใกล้จะตาย ถ้าไม่มีกรรมหนักและกรรมที่ทำจนชิน กรรมที่ทำเมื่อใกล้จะตายนี้จะให้ผลก่อน

กรรมสักแต่ว่าทำ ได้แก่ ทำดีไม่ได้ทำดีแท้ เช่น เห็นคนเขารับศีล ก็รับตามๆ เขาไปอย่างนั้น และเห็นเขาทำกรรมชั่ว ก็ทำตามๆ เขาไป ไม่ได้ตั้งใจจะก่อกรรมทำบาปอย่างจริงจัง กรรมนี้เป็นกรรมที่เบาที่สุด เมื่อไม่มีกรรม ๓ อย่างข้างต้นจะให้ผลแล้ว กรรม สักแต่ว่าทำนี้จึงจะให้ผลเป็นลำดับสุดท้าย

ประการที่ ๒ กรรมให้ผลตามหน้าที่ คือ กรรมที่มีผลนำไปเกิด เช่น เกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดียรัจฉาน

กรรมที่สนับสนุน ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดี ก็สนับสนุนให้ได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ก็สนับสนุนให้ชั่วยิ่งๆ ขึ้นไป

กรรมที่คอยเบียดเบียนขัดขวาง ถ้าเป็นกรรม ฝ่ายดีก็คอยขัดขวางกรรมฝ่ายชั่ว ถ้าเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ก็คอยเบียดเบียนกรรมฝ่ายดี

กรรมที่คอยตัดรอนประหัตประหาร ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดี ก็คอยประหัตประหารกรรมฝ่ายชั่ว ถ้าเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ก็คอยตัดรอนกรรมฝ่ายดี

ประการที่ ๓ กรรมให้ผลตามกาล คือ
-กรรมที่ให้ผลในชาตินี้เท่านั้น ถ้าให้ผลแก่ผู้ทำ ในชาตินี้ไม่ทัน เพราะผู้ทำตายเสียก่อน ก็เลิกให้ผล
-กรรมที่ให้ผลต่อเมื่อผู้ทำตายจากชาตินี้ไปแล้ว ไปเกิดอีกในชาติหนึ่ง ถ้ายังไม่ตาย ก็ยังไม่ให้ผล
-กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป ได้แก่ ให้ผลต่อจากชาติหน้าภพหน้าต่อๆ ไปอีก

อโหสิกรรม กรรมที่หมดโอกาสให้ผล ไม่ให้ผลอีกแล้ว เช่น กรรมที่ทำล่วงเกินต่อผู้อื่น แล้วขอให้ผู้ที่ถูกล่วงเกินนั้นยกโทษให้ กรรมที่ทำนั้น เป็นอโหสิกรรม ไม่ต้องให้ผล

กรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไว้แล้ว ย่อมให้ผลตามลำดับ ตามหน้าที่และตามกาล กรรมดีย่อมนำสัตว์ จำแนกสัตว์ให้เป็นไปดี ให้เป็นผู้ประเสริฐ

กรรมชั่วย่อมนำสัตว์ จำแนกสัตว์ให้เป็นไปชั่ว คือ ให้เป็นผู้เลวทราม  


ที่มา : ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 15 มกราคม 2560 19:21:24 »


กรรมจำแนกให้ดีหรือเลว
การทำความดีความชั่ว ท่านเปรียบไว้เหมือนกับการปลูกพืชพันธุ์ บุคคลทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ดังพุทธภาษิตที่ว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น บุคคลทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ส่วนผู้ที่ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว

ความดีและความชั่วนั้น ย่อมอำนวยผลต่างๆ กัน คือ ให้ผลโดยตรงก็มี ให้ผลโดยอ้อมก็มี ให้ผลเร็วก็มี ให้ผลช้าก็มี กรรมที่ให้ผลโดยตรงและเร็วย่อมประจักษ์ ส่วนที่ให้ผลโดยอ้อมและช้า ย่อมไม่ประจักษ์ จึงดูเหมือนว่า การทำนั้นไม่มีผล

เพราะฉะนั้น ท่านจึงห้ามไม่ให้ประมาทชะล่าใจว่า กรรมที่ตนทำจักไม่ให้ผล เพราะบางคนเป็นผู้โง่เขลา ไม่รู้จักกรรม ไม่รู้จักผลแห่งกรรม ไม่มีความสังเกตว่า ผลอันนี้เกิดจากกรรมอะไร จึงมองไม่เห็น มัวโทษว่า คนอื่นทำให้ เพราะเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้พิจารณาเนื่องๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

ถ้าบุคคลนึกถึงอยู่เนื่องๆ อย่างนี้ เมื่อประสบผลดีหรือชั่วก็ตาม ย่อมเล็งเห็นว่า ผลกรรมนั้นเป็นผลเกิดจากตน ไม่ใช่เกิดจากคนอื่นและสิ่งอื่น การลงความเห็นเช่นนี้เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ทำให้สบายและสงบ แต่ถ้าเห็นผิดว่า ผลดีหรือชั่วนั้นเกิดจากผู้อื่นและสิ่งอื่น ย่อมเป็นเหตุให้เป็นทุกข์ ให้วุ่นวายใจ

ตามธรรมดาของมนุษย์ ย่อมทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้างปนกันไป เพราะความไม่รู้แจ้งเห็นจริง แต่คนที่ดี ย่อมทำดีมากกว่าทำชั่ว คนที่ชั่ว ย่อมทำชั่วมากกว่าทำดี คนเราจะดีหรือชั่ว ก็เพราะการกระทำของตนเอง บุคคลที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต หรือเป็นโจรผู้ร้าย ไม่ได้เป็นแต่เกิด หากแต่เป็นเพราะกรรมที่ผู้นั้นทำขึ้น ดังนั้น ถ้าอยากเป็นคนดี ก็ต้องทำกรรมดี จึงเป็นคนดีและได้รับผลดี แต่ถ้าเป็นคนดีแล้วกลับทำกรรมชั่ว ก็จะกลายเป็นคนไม่ดีและรับผลที่ไม่ดีไป

ท่านกล่าวไว้ว่า คนดีทำดีง่าย แต่ทำชั่วยาก ส่วนคนชั่วทำชั่วง่าย แต่ทำดียาก ทั้งนี้ เป็นเพราะนิสัยของผู้นั้น คือบางคนมีนิสัยดี ก็รักที่จะทำดี ไม่รักที่จะทำความชั่ว บางคนมีนิสัยชั่ว ก็รักจะทำชั่ว ไม่รักที่จะทำดี

ถ้าผู้ที่ทำความดีจนเคยชินติดสันดาน ท่านเรียกว่า นิสัยดี หรือทำความชั่วจนเคยชินเช่นนั้น ก็เรียกว่า นิสัยชั่ว คนที่นิสัยดี ถ้าคบคนชั่วและริทำความชั่ว ไม่ช้าก็เปลี่ยนจากนิสัยดีเป็นนิสัยชั่วได้ เหตุนั้น บุคคลจึงควรรักษานิสัยของตนไว้ ไม่ควรลองทำความชั่วเลย

ดังนั้น ความเป็นคนดีหรือคนชั่ว ท่านจึงได้กำหนดหมายด้วยกรรมและผลของกรรม จะกำหนดด้วยรูปร่างหน้าตา ด้วยถ้อยคำที่พูด ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือด้วยทรัพย์สินเงินทอง ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความดีและความชั่วอาจทำได้ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

ผู้มีปัญญาควรเลือกทำเฉพาะกรรมดี ส่วนความชั่วควรหลีกหนีให้ห่างไกล




กรรมกับการให้ผล
กรรม หรือการกระทำ มีหลักเกณฑ์ในการให้ผล อยู่ ๓ ประการ คือ ๑.ให้ผลตามลำดับก่อนและหลัง ๒.ให้ผลตามกิจหรือตามหน้าที่ ๓.ให้ผลตามกาล

ประการที่ ๑ กรรมให้ผลตามลำดับก่อนหลัง คือ กรรมทั้งหมดที่แต่ละคนกระทำอยู่ทุกวัน ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว เมื่อกล่าวถึงตามน้ำหนักหรือแรงส่งในการที่จะให้ผลแล้ว มีอยู่ ๔ อย่าง

กรรมหนักที่สุด มีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว คือหนักทั้งฝ่ายดี และหนักทั้งฝ่ายชั่ว กรรมหนักฝ่ายดี ได้แก่ การที่คนสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิจนเข้าฌานได้

กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาป ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ อย่าง คือ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตห้อขึ้น และทำให้สงฆ์ แตกกัน

กรรมหนักที่สุดทั้งฝ่ายดีและชั่วนี้ ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่นทั้งหมด

กรรมที่ทำจนชิน จนติดเป็นนิสัย ในฝ่ายดี เช่น รักษาศีลเป็นประจำ ในฝ่ายชั่ว เช่น ลักขโมยเป็นประจำ กรรมเล็กๆ น้อยๆ เมื่อทำบ่อยๆ ก็เป็นกรรมที่มีน้ำหนัก เมื่อสิ้นชีพ ถ้าผู้ทำไม่มีกรรมหนัก กรรมที่ทำจนชินนี้ย่อมให้ผลก่อน

กรรมที่ทำเมื่อจวนเจียนใกล้จะตาย ถ้าไม่มีกรรมหนักและกรรมที่ทำจนชิน กรรมที่ทำเมื่อใกล้จะตายนี้จะให้ผลก่อน

กรรมสักแต่ว่าทำ ได้แก่ ทำดีไม่ได้ทำดีแท้ เช่น เห็นคนเขารับศีล ก็รับตามๆ เขาไปอย่างนั้น และเห็นเขาทำกรรมชั่ว ก็ทำตามๆ เขาไป ไม่ได้ตั้งใจจะก่อกรรมทำบาปอย่างจริงจัง กรรมนี้เป็นกรรมที่เบาที่สุด เมื่อไม่มีกรรม ๓ อย่างข้างต้นจะให้ผลแล้ว กรรม สักแต่ว่าทำนี้จึงจะให้ผลเป็นลำดับสุดท้าย

ประการที่ ๒ กรรมให้ผลตามหน้าที่ คือ

กรรมที่มีผลนำไปเกิด เช่น เกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดียรัจฉาน

กรรมที่สนับสนุน ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดี ก็สนับสนุนให้ได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ก็สนับสนุนให้ชั่วยิ่งๆ ขึ้นไป

กรรมที่คอยเบียดเบียนขัดขวาง ถ้าเป็นกรรม ฝ่ายดีก็คอยขัดขวางกรรมฝ่ายชั่ว ถ้าเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ก็คอยเบียดเบียนกรรมฝ่ายดี

กรรมที่คอยตัดรอนประหัตประหาร ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดี ก็คอยประหัตประหารกรรมฝ่ายชั่ว ถ้าเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ก็คอยตัดรอนกรรมฝ่ายดี

ประการที่ ๓ กรรมให้ผลตามกาล คือ

กรรมที่ให้ผลในชาตินี้เท่านั้น ถ้าให้ผลแก่ผู้ทำ ในชาตินี้ไม่ทัน เพราะผู้ทำตายเสียก่อน ก็เลิกให้ผล

กรรมที่ให้ผลต่อเมื่อผู้ทำตายจากชาตินี้ไปแล้ว ไปเกิดอีกในชาติหนึ่ง ถ้ายังไม่ตาย ก็ยังไม่ให้ผล

กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป ได้แก่ ให้ผลต่อจากชาติหน้าภพหน้าต่อๆ ไปอีก

อโหสิกรรม กรรมที่หมดโอกาสให้ผล ไม่ให้ผลอีกแล้ว เช่น กรรมที่ทำล่วงเกินต่อผู้อื่น แล้วขอให้ผู้ที่ถูกล่วงเกินนั้นยกโทษให้ กรรมที่ทำนั้น เป็นอโหสิกรรม ไม่ต้องให้ผล

กรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไว้แล้ว ย่อมให้ผลตามลำดับ ตามหน้าที่และตามกาล กรรมดีย่อมนำสัตว์ จำแนกสัตว์ให้เป็นไปดี ให้เป็นผู้ประเสริฐ

กรรมชั่วย่อมนำสัตว์ จำแนกสัตว์ให้เป็นไปชั่ว คือ ให้เป็นผู้เลวทราม




กำลังความเชื่อ
กําลังความเชื่อในเรื่องใด สิ่งใด หรือการกระทำใดๆ ถ้าเกิดขาดความเชื่อมั่น หรือไม่มั่นใจแล้ว ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ยากที่จะทำสิ่งนั้นๆ งานนั้นๆ ให้ลุล่วงไปได้

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างหลักให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของใจ ให้ใจมั่นคง ให้เกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือในสิ่งนั้นๆ ในงานนั้นๆ ที่จะทำ เช่น นักเรียนเชื่อมั่นในสถาบันการศึกษาของตนว่ามีคุณภาพดี สามารถให้การศึกษาที่เหมาะสม ทัดเทียม หรือดีกว่าสถาบันอื่นๆ ก็ทำให้นักเรียนมีกำลังผลักดันให้ตั้งใจเรียนและเรียนจบได้ง่าย

หรือข้าราชการเชื่อมั่นว่าหน่วยงานของตนมั่นคง และเปิดโอกาสให้ตนมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็ทำให้เขามีกำลังที่จะทำงานให้สำเร็จโดยเรียบร้อย

หรือศาสนิกชนเชื่อในศาสดาและคำสอนว่าสามารถช่วยให้พ้นทุกข์ มีความสุขได้จริง ก็ทำให้มีกำลังที่จะปฏิบัติตามอย่างเต็มที่

กำลังความเชื่อเช่นนี้เกิดจากการมองเห็นคุณค่าบุคคล หรือสิ่งที่ตนเชื่อถือ ถ้าเรามองเห็นคุณค่าของใคร หรือสิ่งใด เราก็เชื่อมั่นในบุคคลนั้น ในสิ่งนั้น เช่น พุทธศาสนิกชนพิจารณาเห็นพระคุณของพระพุทธเจ้า ว่าทรงเพียบพร้อมด้วยพระคุณ ๓ ประการ คือ

๑.พระปัญญาคุณ คือ พระองค์ตรัสรู้อริยสัจธรรมอย่างถูกต้องด้วยพระองค์เอง ทรงสมบูรณ์ด้วยความรู้ ความประพฤติที่ดีงาม ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง คือ ทรงรู้ทั้งภูมิประเทศอย่างทะลุปรุโปร่ง ทรงรู้ถึงหมู่สัตว์ทุกจำพวก และทรงรู้เหตุผลที่ปรุงแต่งให้หมู่สัตว์มีอัธยาศัยแตกต่างกัน

๒.พระบริสุทธิคุณ คือ พระองค์ทรงบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสความเศร้าหมองทุกประการ ไม่มีทุจริตทางกาย วาจา ใจ ที่จะต้องปิดบังซ่อนเร้น แม้เพียงเล็กน้อย ทำให้พระองค์เป็นผู้ควรแก่การบูชาของเทวดาและมนุษย์อย่างแท้จริง

๓.พระมหากรุณาคุณ คือ พระองค์เมื่อทรงบรรลุธรรมเป็นเหตุให้ทรงหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง สามารถที่จะเสวยวิมุตติสุขตามลำพังได้ แต่ทรงอาศัยพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงลำบากพระวรกาย เสด็จเที่ยวไปในถิ่นต่างๆ เพื่อทรงแสดงธรรมอันงดงามแก่หมู่สัตว์ ให้ได้ดื่มรสแห่งอมตธรรม หรือให้ได้ประโยชน์ในปัจจุบันบ้าง อนาคตบ้าง ตามสมควร พระองค์ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้เป็นมรดกล้ำค่าของมวลมนุษย์สืบมาจนทุกวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ผู้เป็นพระบรมครูของเราทั้งหลาย

เมื่อเราเชื่อมั่นในพระองค์และการตรัสรู้ของพระองค์ ก็ทำให้เราเชื่อถือในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์ทรงสอนในเรื่องการกระทำ ทางกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่ากรรม เมื่อบุคคลกระทำกรรมใด จะดีหรือชั่วก็ตาม เขาจะต้องได้รับผลการ กระทำนั้นอย่างแน่นอน และกรรมนี้ ย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวทราม หรือประณีตดีงาม ผู้กระทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ส่วนผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลร้าย ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ

เมื่อมีความเห็นถูกต้องเช่นนี้ย่อมจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น มีกำลังในการประกอบกรรมดี หลีกหนีกรรมชั่ว นำตัวให้ได้รับความสุข สงบร่มเย็น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยไม่ท้อถอย




การงานที่ไม่มีโทษ
การงานที่ไม่มีโทษ เป็นอาชีพที่คนทุกคนจะพึงทำ มีมากมายหลายประการ การงานบางอย่างก็เป็นไปเพื่อเบียดเบียนชีวิตและร่างกาย เบียดเบียนความสุขของผู้อื่น การงานบางอย่างก็เป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์ น้อมนำความสุขกายสบายใจมาให้แก่ตนเองและผู้อื่น รวมแล้วมีอยู่ ๒ ประเภท คือ

๑.การงานที่มีโทษ เช่น การฆ่า การทำร้ายผู้อื่น การยักยอก ฉ้อโกงเอาทรัพย์สินของผู้อื่น การพยาบาทจองเวรผู้อื่น เป็นต้น การงานที่กล่าวมานี้ เป็นความชั่ว เป็นบาป

๒.การงานที่ไม่มีโทษ เช่น การงานที่เกี่ยวเนื่องด้วยความเมตตากรุณา ให้การอนุเคราะห์สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน อำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น

การทำความดี เป็นการงานที่คนทุกคนควรทำ ควรประพฤติปฏิบัติ ส่วนการทำความชั่ว เป็นการงานที่ไม่ควรทำ ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ

ผู้ทำการงานที่มีโทษ ย่อมได้รับโทษ ๕ ประการ คือ
ประการที่ ๑ แม้ตนเอง ย่อมติเตียนตนเองได้
ประการที่ ๒ ผู้รู้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว ย่อมติเตียน
ประการที่ ๓ ชื่อเสียงที่ไม่ดี ย่อมกระฉ่อนไป
ประการที่ ๔ ในเวลาใกล้ตาย ย่อมเป็นผู้ขาดสติ
ประการที่ ๕ เมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงนรก อันเป็นสถานที่หาความเจริญไม่ได้

ส่วนผู้ทำการงานที่ไม่มีโทษ ย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ
ประการที่ ๒ แม้ตนเอง ย่อมติเตียนตนเองไม่ได้
ประการที่ ๒ ผู้รู้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว ย่อมสรรเสริญ
ประการที่ ๓ ชื่อเสียงอันดี ย่อมขจรขจายไป
ประการที่ ๔ ในเวลาใกล้ตาย ย่อมเป็นผู้มีสติ ความรู้ตัว
ประการที่ ๕ เมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงสวรรค์ อันเป็นที่ที่มีแต่ความเจริญ

เมื่อจะทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรใคร่ครวญ พิจารณาการงานเช่นนั้นเสียก่อนแล้วจึงกระทำในภายหลัง

เมื่อได้ทราบถึงการงานที่มีโทษอันเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และการงานที่ไม่มีโทษ อันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการงานอันเป็นโทษทุจริต ประกอบแต่การงานที่ปราศจากโทษ อันสุจริต ย่อมจะอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่นตามความเหมาะสมแก่กาละ เทศะ และความสามารถของตนเอง

นับว่าได้ดำเนินชีวิตโดยถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา



ทำงานที่ไม่มีโทษ
การงานที่เป็นกิจ เป็นหน้าที่ หรือเป็นอาชีพที่คนทุกคนจะพึงทำนั้น มีมากมายหลายประการ และหาประมาณไม่ได้ ซึ่งการงานบางอย่างก็เป็นไปเพื่อเบียดเบียนชีวิตและร่างกาย เบียดเบียนความสุขของผู้อื่น การงานบางอย่างก็เป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์ น้อมนำความสุขกายสบายใจมาให้แก่ตนเองและผู้อื่น สรุปแล้วมีอยู่ ๒ ประเภท คือ

๑.การงานที่มีโทษ ยกตัวอย่างเช่น การฆ่าผู้อื่น การทำร้ายผู้อื่น การยักยอก ฉ้อโกงเอาทรัพย์สินของผู้อื่น การอาฆาตพยาบาทจองเวรผู้อื่น เป็นต้น การงานที่กล่าวมานี้ เป็นความชั่ว ความทุจริต เป็นบาปอกุศล เป็นไปเพื่อความประพฤติชั่วอย่างเดียว

๒.การงานที่ไม่มีโทษ อันได้แก่ การงานที่เกี่ยวเนื่องด้วยความเมตตากรุณา ให้การอนุเคราะห์สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการอำนวยประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เช่น ความประพฤติดีทางกาย วาจา และใจ เป็นไปเพื่อกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น

ความประพฤติดี หรือการทำความดี เป็นการงานที่คนทุกคนควรทำ ควรประพฤติปฏิบัติ ส่วนความประพฤติชั่ว หรือการทำความชั่ว เป็นการงานที่ไม่ควรทำ ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ

ผู้ที่ทำการงานที่มีโทษ ย่อมได้รับโทษ ๕ ประการ คือ
ประการที่ ๑ แม้ตนเอง ย่อมติเตียนตนเองได้
ประการที่ ๒ ผู้รู้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว ย่อมติเตียน
ประการที่ ๓ ชื่อเสียงที่ไม่ดี ย่อมกระฉ่อนไป
ประการที่ ๔ ในเวลาใกล้ตาย ย่อมเป็นผู้ขาดสติ
ประการที่ ๕ เมื่อตายแล้วย่อมเข้าถึงอบายภูมิ อันเป็นสถานที่หาความเจริญไม่ได้

ส่วนผู้ที่ทำการงานที่ไม่มีโทษ ย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ
ประการที่ ๑ แม้ตนเอง ย่อมติเตียนตนเองไม่ได้
ประการที่ ๒ ผู้รู้พิจารณาใคร่ครวญแล้ว ย่อมสรรเสริญ
ประการที่ ๓ ชื่อเสียงอันดี ย่อมขจรขจายไป
ประการที่ ๔ ในเวลาใกล้ตาย ย่อมเป็นผู้มีสติ ความรู้ตัว
ประการที่ ๕ เมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ อันเป็นที่ที่มีแต่ความเจริญ

ดังนั้น เมื่อจะประกอบการงาน ควรที่จะใคร่ครวญพิจารณาการงานของตนเสียก่อนแล้วจึงกระทำในภายหลัง

ผู้ทำงานที่มีโทษ มีแต่เสียกับเสียเป็นเงาตามตัว มากด้วยความทุกข์ใจ เข้าทำนองที่ว่าอิ่มท้องแต่พร่องใจ ยิ่งมีทรัพย์มากเท่าไรโอกาสที่จะเสียคนก็มากเท่านั้น

ส่วนผู้ทำงานที่ไม่มีโทษ มีแต่จะก้าว หน้าไปสู่ความสุขและความเจริญ จะหลับก็เป็นสุข จะตื่นก็เป็นสุข ไม่อายใครไม่ ต้องหวาดระแวงใคร เพราะงานที่ทำเป็นประโยชน์ล้วนๆ ไม่มีโทษเจือปนเลย

เมื่อทราบว่าการงานที่มีโทษ ไม่มีประโยชน์ และการงานที่ไม่มีโทษ มีประโยชน์ เช่นนี้แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการงานอันเป็นโทษทุจริต ประกอบแต่การงานที่ปราศจากโทษ อันสุจริต ซึ่งจักอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่นตามความเหมาะสมแก่เหตุและผล อันเหมาะสมแก่กาลเทศะ และความสามารถของตนเอง นับได้ว่าดำเนินชีวิตโดยถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา



แก้ว ๓ ประการ
รัตนะ แปลว่า แก้ว เป็นวัตถุที่มีค่า มีราคามาก จำแนกประเภทได้หลายอย่าง เช่น เพชร มรกต ทับทิม บุษราคัม

อีกประการหนึ่ง หมายถึง ของดี และคนดีของพระเจ้าจักรพรรดิ เรียกว่า แก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว

รัตนะ ในที่นี้ หมายถึง แก้วอันประเสริฐสุด สิ่งล้ำค่าสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา เพราะเป็นสิ่งที่หาสิ่งอื่นมาเปรียบเทียบมิได้ เป็นชื่อของพระรัตนตรัย ๓ ประการ คือ

๑.ท่านผู้สอนให้ประชาชนประพฤติชอบด้วยกาย วาจา และใจ ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ชื่อ พระพุทธเจ้า
๒.พระธรรมวินัย ที่เป็นคำสั่งสอนของท่าน ชื่อ พระธรรม
๓.หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อ พระสงฆ์

พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ เป็นองค์ประกอบหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า รตนะ เพราะมีคุณค่าประเสริฐกว่าบรรดารัตนชาติทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก

ทั้งยังเป็นธรรมชาติที่ก่อความยินดีให้เกิดแก่มนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก เป็นเหตุให้สำเร็จความประสงค์ คือ ให้เกิดความสุขอยู่เสมอ

เป็นประตูสู่เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ มรรค ผล นิพพาน และเป็นที่พึ่ง ที่นับถือยึดเหนี่ยวจิตใจตลอดชีวิต ของผู้นับถือพระพุทธศาสนาทุกคน สามารถขจัดปัดเป่าทุกข์ภัย และความสะดุ้งกลัวให้พินาศไป

พระพุทธเจ้า ชื่อว่าเป็นสรณะที่พึ่ง เพราะทรงขจัดภัยแก่สรรพสัตว์ด้วยการให้ตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และป้องกันมิให้ตกอยู่ในสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์

พระธรรม ชื่อว่าเป็นสรณะที่พึ่ง เพราะนำผู้ปฏิบัติให้ข้ามพ้นทุกข์กันดารในภพ และให้ประสบความแช่มชื่นใจอันเกิดจากการปฏิบัติ

พระสงฆ์ ชื่อว่าเป็นสรณะที่พึ่ง เพราะเป็นเนื้อนาบุญ สามารถทำให้ผู้อุปถัมภ์บำรุงได้ประสบสุขอันไพบูลย์

แก้วมณีโชติรส สามารถส่องแสงสว่างไปในที่มืด ทำให้แลเห็นวัตถุตามต้องการได้จริง แต่ส่องไปได้ในสถานที่อันจำกัดเท่านั้น ไม่สามารถส่องแสงสว่างไปถึงทิศคือพระนิพพานได้

ผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งตลอดชีวิต ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ทั้งยังเป็นเหตุให้ได้สมบัติอย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน อีกด้วย

พระรัตนตรัยต่างอาศัยกันและกัน กล่าวคือ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรม ในขณะที่พระธรรมเป็นคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ส่วนพระสงฆ์เป็นพระสาวกผู้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วศึกษาทรงจำ และปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ





แก้วคือพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้า พระนามเดิมคือ เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา พระองค์ทรงเจริญวัยโดยลำดับ ได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์ เป็นเลิศในวิชาการ ๑๘ สาขา

เมื่อพระชนมายุ ๒๙ พรรษา มีพระทัยน้อมไปในการบรรพชา แสวงหาสัจธรรมอันเป็นเหตุแห่งการพ้นทุกข์ ทรงเลือกวิธีการออกบวช เพื่อบำเพ็ญเพียรให้บรรลุจุดหมายสูงสุด ในที่สุดสามารถบรรลุจุดหมายสูงสุดตามที่มุ่งหวัง ค้นพบสัจธรรมทางแห่งความพ้นทุกข์ด้วยพระองค์เอง แล้วสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามและรู้ตาม

พระพุทธเจ้าเป็นแก้วอันประเสริฐสุด เป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาก เพราะประกอบด้วยคุณธรรมหลายประการ กล่าวโดยย่อมี ๓ คือ

๑.พระปัญญาคุณ ทรงมีความฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริง สามารถในการเทศนา สั่งสอนประชาชน ให้เหมาะสมตามพื้นฐานความรู้ของผู้ฟัง ด้วยเนื้อหาสาระที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สุข และหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

๒.พระบริสุทธิคุณ ทรงมีความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง ไม่กระทำความชั่วทั้งทางกาย วาจา และทางใจ ทรงสอนชาวโลกด้วยมุ่งหวังประโยชน์แก่ผู้ฟังเท่านั้น ไม่มุ่งหวังถึงประโยชน์ส่วนพระองค์เอง

๓.พระมหากรุณาธิคุณ ทรงเป็นผู้อนุเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลและสั่งสอนชาวโลกที่เป็น หมู่คณะและรายบุคคล โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีอัธยาศัยเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลกทั้งหลาย ให้บรรลุธรรม สัมผัสความสุข พ้นความทุกข์ ไม่ว่าจะประทับอยู่ ณ ที่ใด พระองค์มิได้ทรงละเว้นกิจ ๕ ประการ คือ

เวลาเช้า พระพุทธองค์ทรงตื่นบรรทมแต่เช้าตรู่ หลังจากปฏิบัติพระสรีระแล้ว เสด็จดำเนินไปบิณฑบาตยังคามนิคม รับอาหารบิณฑบาตและฉันภัตตาหารแล้ว ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดมหาชน บางพวกศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย บางพวกก็ได้บรรลุธรรม

เวลาบ่าย พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน ที่ศรัทธาเลื่อมใสพากันถือดอกไม้และของหอม เป็นต้น มากราบไหว้บูชา เข้ามาประชุมกันในพระวิหาร เมื่อพุทธบริษัทพร้อมแล้ว เสด็จมาประทับนั่ง ที่บวรพุทธอาสน์ แสดงธรรมอันควรแก่อัธยาศัย

เวลาค่ำ ประทานโอวาทแก่ภิกษุ ที่พากันมาเฝ้า เพื่อทูลถามปัญหา หรือมาขอเรียนพระ กรรมฐาน ขอฟังธรรม ทรงอนุเคราะห์ภิกษุทั้งหลายให้สำเร็จกิจตามที่ประสงค์

เวลาเที่ยงคืน เหล่าเทวดาได้โอกาสพากันเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ต่างทูลถามปัญหาที่สงสัย ทรงอนุเคราะห์เทวดาทั้งหลายให้รู้ธรรมจำนวนมาก

เวลาใกล้รุ่ง พระพุทธองค์ทรงแผ่ขยายพระญาณตรวจดูสัตว์โลก ผู้ที่ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ ในบางครั้งเป็นบรรพชิต ในบางครั้งเป็นคฤหัสถ์ จะเป็นรายบุคคลหรือเป็นหมู่คณะก็ตาม ทรงเสด็จไปแสดงธรรมโปรด ให้เขาเหล่านั้นได้มนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือนิพพานสมบัติ ตามบุญของแต่ละคน

ทรงบำเพ็ญพุทธกิจอันเป็นประโยชน์แก่ญาติ และมหาชนด้วยพระมหากรุณา ธิคุณอันยิ่งใหญ่ อย่างแท้จริง



แก้วคือพระธรรม
พระธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ชื่อ พระธรรม

พระธรรมนั้นมีความหมายหลายอย่าง คือ สภาพที่ทรงไว้ รักษาไว้ ธรรมดา ธรรมชาติ สภาวธรรม สัจธรรม ความจริง เหตุ ผล คุณธรรม ความดี ความถูกต้อง ความประพฤติชอบ หลักการ แบบแผน ธรรมเนียม หน้าที่ ความชอบธรรม ความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม

ธรรม ในที่นี้หมายถึง คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ เรียกว่า พุทธธรรม หรือเรียกว่า พระสัทธรรม หมายถึงธรรมของสัตบุรุษ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า จำแนกเป็น ๓ ประการคือ

ปริยัติสัทธรรม คือ คำสอนที่แสดงถึงหลักสำหรับศึกษาเล่าเรียน ทรงจำ ได้แก่ พระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก คาถา ชาดก เป็นต้น

ปฏิบัติสัทธรรม คือ คำสอนที่แสดงถึงหลักปฏิบัติตามที่ศึกษาเล่าเรียนมา แสดงถึงวิธีการปฏิบัติธรรมที่สูงขึ้นไปตามลำดับ เช่น ไตร สิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา

ปฏิเวธสัทธรรม คือ คำสอนที่แสดงถึงผลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน ซึ่งเรียกว่า โลกุตรธรรม

พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมได้รับแต่ความสุขความเจริญโดยสมควรแก่การปฏิบัติโดย ส่วนบุคคลบางคนประพฤติธรรมอยู่ แต่ต้องประสบภัยความเสียหายต่างๆ เช่น ราชภัย อัคคีภัย วาตภัย หรือโจรภัย เป็นต้น นั่นอาจเป็นเพราะอกุศลกรรมเก่าที่ได้กระทำไว้ในชาติปางก่อนตามให้ผลทันในชาติปัจจุบัน หรืออาจเป็นเพราะได้กระทำความเสียหายร้ายแรงไว้ จึงได้รับโทษตกไปในที่ชั่ว ๒ ประเภท คือ

๑.สถานที่ชั่วในปัจจุบันนี้ ได้แก่ ความ ทุกข์ยากต่างๆ ถูกลงโทษตามกฎหมาย เช่น ถูกจองจำในที่คุมขัง ได้รับภัยต่างๆ มีราชภัย อัคคีภัย และโจรภัย เป็นต้น

๒.สถานที่ชั่วในภพหน้า ได้แก่ หลังจากเสียชีวิตแล้วไปเกิดในอบายภูมิ 4 ซึ่งเป็นสถานที่หาความเจริญมิได้ มีแต่ความเสื่อมเท่านั้น คือ นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย การรักษาผู้ปฏิบัติมิให้ตกไปในที่ชั่ว จึงนับเป็นคุณที่เด่นชัดของพระธรรม

คุณของพระธรรม เมื่อจำแนกตามบทสวด คือ
- เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
- จำแนกธรรมที่เป็นกุศล อำนวยผลแก่ผู้ประพฤติให้เกิดความสุขในระดับต่างๆ
- ธรรมอันเป็นอกุศล มีเป็นผลเป็นความทุกข์แก่ผู้ปฏิบัติในระดับต่างๆ
- อีกส่วนหนึ่ง เป็นธรรมกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้งดงามในเบื้องต้นด้วยศีล งดงามในท่ามกลางด้วยสมาธิ งดงามในที่สุดด้วยปัญญา
- เป็นธรรมที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
- สามารถให้ผลได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา
- เป็นธรรมที่ควรบอกกล่าวผู้อื่นให้มาพิสูจน์ ทดลองปฏิบัติ
- เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน
- พระธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติ ให้ร่มเย็นเป็นสุข เหมือนร่มป้องกันไม่ให้ร้อนและเปียกฝน ฉะนั้น



แก้วคือพระสงฆ์
หมู่ชนที่เข้ามาบวชเชื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อว่า พระสงฆ์

พระสงฆ์นั้นที่รวมกลุ่มกัน ด้วยหลักความคิดเห็นและหลักความประพฤติปฏิบัติที่เสมอกันตามพระธรรมวินัย เรียกว่า พระสาวกของพระพุทธเจ้า

พระสงฆ์ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้คือ มัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลาง ไม่หย่อนหรือตึงเกินไป ปฏิบัติเพื่อความสามัคคีแห่งหมู่คณะ จำแนกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑.อริยสงฆ์ พระสงฆ์ผู้เป็นพระอริยบุคคล หมายถึง หมู่พระสาวกที่ประเสริฐเพราะได้บรรลุโลกุตตรธรรมตามระดับแล้ว เรียกว่า พระอริยบุคคล ๔ ประเภท

๒.สมมติสงฆ์ พระสงฆ์โดยสมมติ หมายถึง หมู่สงฆ์มีจำนวนตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย อาจเป็นได้ทั้งผู้บรรลุธรรมแล้วและยังเป็นปุถุชน

คำว่า พระสงฆ์ ในรตนะนี้ หมายถึง พระอริยสงฆ์

ผู้ที่ใคร่จะระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า พึงระลึกได้ดังนี้ คือ
- เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเครื่องออกจากทุกข์ และปฏิบัติชอบยิ่ง
- เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณา ของทำบุญ
- เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

พระพุทธองค์แสดงเทศนากัณฑ์แรก ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ให้ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว นักบวชทั้ง 5 ทูลขออุปสมบท พระองค์ ก็ทรงประทานอนุญาตให้เป็นภิกษุ ต่อมา ทรงแสดงธรรม เรื่องอนัตตลักขณะสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ ให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วส่งไปประกาศพระศาสนา

เมื่อมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสจะบรรพชาอุปสมบท พระสาวกก็พามาเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นความลำบากของผู้นำมาและผู้ที่ถูกนำมา ทรงอนุญาตให้พระสาวกอุปสมบทได้ ด้วย ติสรณคมนูปสัมปทา

ภายหลังพระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้พระภิกษุสงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรมทั้งปวง จึงมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์อุปสมบทกุลบุตรให้เป็นภิกษุ ด้วยญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ซึ่งยังใช้ปฏิบัติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

พระสงฆ์สาวกที่อุปสมบทด้วยวิธีดังกล่าวมา ชื่อว่า พระสงฆ์สาวก เพราะเป็นผู้ฟังโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยเคารพ เป็นผู้ทัดเทียมกันโดยมีศีลและทิฏฐิเสมอกัน

พระสงฆ์สาวกเหล่านั้นเป็นสักขีพยาน รับรองความตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า และเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนาให้แพร่หลาย ตลอดทั้งเป็นผู้ช่วยรักษาพระพุทธศาสนา รักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ให้เสื่อมสูญไป ให้ดำรงคงอยู่มาตราบเท่าทุกวันนี้

บุญทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมีประการต่างๆ ของโลก อาศัยพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ดีแล้ว ทักษิณาที่บริจาคแก่ท่าน ย่อมมีผลานิสงส์มาก ดุจเนื้อนาที่มีดินดี พืชที่หว่านลงไปแล้ว ย่อมมีผลอันไพบูลย์ ฉะนั้น


ที่มา : ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มกราคม 2560 19:23:21 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 15 มกราคม 2560 19:24:43 »




ข้อดีของการมีเมตตา
เมตตา หมายถึง ความสนิทสนม ความรักใคร่ที่ไม่เจือด้วยราคะ ได้แก่ ปรารถนาความสุขความเจริญต่อผู้อื่น เป็นภาวะของจิตที่มีเยื่อใยไมตรีปราศจากความอาฆาตพยาบาทโกรธเคือง

เมตตาแสดงทางกายด้วยกิริยาท่าทางงดงาม ใบหน้าสายตา แช่มชื่น แสดงออกทางวาจาด้วยถ้อยคำไพเราะ น่ารัก น่าสนทนา น่าฟัง แสดงถึงดวงจิตที่เอิบอิ่มเต็มไปด้วยความปรารถนาดี

เมตตาเป็นวิหารธรรม คือ เป็นที่อยู่ของจิตใจ ทำให้จิตใจ เยือกเย็นสงบ มีความสุข หากจิตใจขาดเมตตาธรรม ก็จะมีแต่ ความเดือดร้อน ทำให้เกิดความคิดโกรธแค้นขัดเคือง ความคิดเบียดเบียนอิจฉาริษยา เป็นที่สะสมบ่มความทุกข์อยู่ในใจ

เมตตา เป็นธรรมะข้อแรกในพรหมวิหารธรรม คือ เป็นคุณธรรมของบิดามารดาหรือผู้ใหญ่ซึ่งเป็นหัวหน้า หมู่คณะผู้ที่มีเมตตาเป็นคุณธรรมก็เป็นเสมือนเทพยดาขั้นพรหมโลก

เมตตา เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน นอกจากตนเองจะมีเมตตาอยู่แล้วก็ยังต้องการจะได้รับเมตตาจากผู้อื่นอีก คือปรารถนาดีต่อผู้อื่นแล้ว ก็ต้องให้ผู้อื่นมีความรักความปรารถนาดีต่อตนเองบ้าง ผู้มีเมตตาจึงควรแผ่เมตตาไปยังผู้อื่นสัตว์อื่นอยู่เสมอๆ

วิธีแผ่เมตตา คือ การมองคนในแง่ดี เหมือนมารดาบิดาเอ็นดูบุตรธิดาของตน หรือนึกถึงตัวเองว่ารักสุขเกลียดทุกข์ ฉันใด ผู้อื่นสัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ ฉันนั้น

การแผ่เมตตามี ๒ อย่าง คือ แผ่เมตตาโดยเจาะจงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดอย่างหนึ่ง แผ่เมตตาออกไปยังคนและสัตว์กว้างออกไปอย่างไม่มีประมาณจำกัดอย่างหนึ่ง

การแผ่เมตตา มิใช่เฉพาะตนและคนซึ่งเป็นที่รัก หรือเฉพาะหมู่คณะของตนเท่านั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนให้แผ่เมตตากว้างออกไป เมตตาเปรียบเสมือนน้ำที่จะดับไฟที่เผาใจ เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรด้วยเมตตา พึงแผ่เมตตาออกไปทุกทิศ ปรับจิตให้ปราศจากพยาบาทจองเวร เมื่อทุกคนมีเมตตาต่อกัน ก็ย่อมจะอยู่กันอย่างมีความสุข ความเจริญ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก

บุคคลผู้ปรารถนาความรักและความสุขในตน จึงควรเจริญเมตตาให้เกิดขึ้นด้วยวิธีเจริญเมตตา จะต้องแผ่เมตตาในตนเอง บ่อยๆ ว่า ขอให้เรามีความสุข ไม่มีความทุกข์หรือขอให้เราอย่ามีเวรมีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ มีความสุขปกครองตนเอง เมื่อจิตของตนเองมีเมตตาเกิดขึ้นแล้ว เมตตานั้นก็แผ่ออกไปยังบุคคลอื่น สัตว์อื่น ทำให้มองเห็นว่าเรารักสุข เกลียดทุกข์ คนอื่นก็ย่อมรักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสอานิสงส์แห่งเมตตาไว้ว่า เมตตาเจโตวิมุตติ ที่บุคคลฝึกหัด อบรม ทำให้มีมาก ทำให้เป็นไป ทำเป็นเหมือนสิ่งของ ตั้งมั่นไว้เนืองๆ สะสมไว้และเจริญเสมอๆ พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ ๑.นอนหลับมีความสุข ๒.ตื่นอยู่ก็มีความสุข ๓.นอนหลับไม่ฝันร้าย ๔.เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ๕.เป็นที่รักของอมนุษย์ ๖.เทวดารักษา ๗.ไฟ ยาพิษ หรือศัตราวุธ ย่อมไม่แผ้วพาน ๘.จิตตั้งมั่นเร็ว ๙.สีหน้าผ่องใส ๑๐.ไม่หลงทำกาลกิริยา ๑๑.เมื่อยังไม่บรรลุคุณธรรมอันยิ่งกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก



กรุณา
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่รวมกันเป็นหมู่มาก จำเป็นต้องมีกฎหมาย ระเบียบ กติกา จารีตประเพณี อีกทั้งผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครอง ไม่มีจิตคิดเบียดเบียนกัน จึงสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยความสงบสุข

ความไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทางกาย วาจา และทางใจ ให้ได้ รับความเดือดร้อน เป็นผู้มีอัธยาศัยชอบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ไม่ปรารถนาจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเดือดร้อน เป็นเบื้องต้นที่ทำให้เกิดความกรุณา

ลักษณะนิสัยของผู้มีใจกรุณา คือ ชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นได้รับความลำบากเดือดร้อน รีบยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากของตนเอง และไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง

จิตไม่คิดประทุษร้าย ทำลายผู้อื่นเป็นลักษณะของเมตตา ส่วนจิตไม่คิดเบียดเบียน เป็นลักษณะของกรุณา เมตตากรุณา จึงเป็นธรรมนำมาซึ่งความสงบสุขในโลก ความสงบสุขเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยคนในสังคมไม่ผูกอาฆาตพยาบาท และไม่เบียดเบียน ข่มเหง รังแก ทำร้ายกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานทำให้มีใจเกื้อกูลกันและกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ แผ่พระบารมีปกป้องคุ้มครองชีวิตมนุษย์และสรรพสัตว์ บนแผ่นดินไทยให้ดำรงอยู่ได้ด้วยความสงบสุข พระองค์ไม่เคยเสด็จออกประพาสป่าล่าสัตว์ตัดชีวิต พระราชทานชีวิตให้แก่สรรพสัตว์ ทรงมีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ ดังเช่นปรากฏในหนังสือยกย่องทองแดงว่าเป็นสุนัขกตัญญู ผิดกับคนที่เมื่อกลายเป็นคนสำคัญแล้วมักจะลืมตัวและดูหมิ่นผู้มีพระคุณที่เป็นคนต่ำต้อย

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งสิ้น มาจากพระมหากรุณา ที่ทรงมีต่อพสกนิกร มีพระทัยหวั่นไหวในความทุกข์ยากของปวงชนชาวไทย เหมือนว่าเป็นความทุกข์ของพระองค์เอง เมื่อเห็นพสกนิกรตกทุกข์ได้ยาก ทรงเร่งรีบดำริช่วยบำบัดทุกข์นั้นให้เบาบางถึงหมดสิ้นไป ไม่เคยซ้ำเติมให้เสียหายแม้แต่ครั้งเดียว

ทรงบำเพ็ญธรรมเหมือนพระโพธิสัตว์ที่ต้องการขน สรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากห้วงทุกข์ทั้งปวง พระบรมฉายาลักษณ์ที่เสด็จพระราชดำเนินออกไปเยี่ยมราษฎร มีกล้องถ่ายรูป แผนที่ ดินสอ วิทยุสื่อสาร และพระเสโทที่ไหลอาบพระพักตร์ อันแสดงถึงพระวิริยอุตสาหะตรากตรำพระวรกาย เสด็จพระราชดำเนินไปในสภาพที่ร้อนแดดและเหนื่อยยาก เป็นภาพแห่งความทรงจำและประทับใจของประชาชนมากที่สุด ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่บ้านเมืองและปวงชนชาวไทย เกินกว่าจะพรรณนาได้ครบถ้วน

ดังบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่พระราชนิพนธ์ไว้ว่า

อันว่าความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน



วาจาสุภาษิต
คําว่า วาจาอันเป็นสุภาษิต ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคำพูดที่เป็นร้อยกรอง ร้อยแก้ว เป็นคำคมบาดใจ มีความหมายอันลึกซึ้งเท่านั้น แต่รวมถึงคำพูดที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้ฟังด้วย

ลักษณะวาจาอันเป็นสุภาษิต ต้องเป็นคำจริง มีข้อมูลที่ถูกต้อง มีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่ได้แต่งขึ้นมาพูด เป็นคำสุภาพ พูดด้วยภาษาที่สุภาพ มีความไพเราะในถ้อยคำ ไม่มีคำหยาบ หรือคำด่า พูดแล้วมีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ปฏิบัติตามแล้วทำให้เกิดประโยชน์

ลักษณะการพูดที่ดี ต้องรู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้พอดี จำเนื้อความที่จะพูดได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อความที่พูดได้โดยง่าย ฉลาดในการพูดที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่พูดชักชวนให้เกิดความทะเลาะวิวาท

การมีวาจาสุภาษิต เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของชนทุกชั้น มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่เจรจา

วาจาที่จะเป็นสุภาษิตได้นั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ คือ

พูดถูกกาลเทศะ กาละ ได้แก่ เวลา เทศะ ได้แก่ สถานที่ ก่อนที่จะพูด ก็ต้องดูเวลาก่อนว่าเวลานี้เขาพูดเรื่องอะไรกัน เช่น เขาพูดเรื่องเกี่ยวกับการทำสาธารณ ประโยชน์ ควรทำอย่างนั้น มีประโยชน์อย่างนี้ แต่กลับพูดตรงกันข้ามว่าไม่มีประโยชน์ ถ้าพูดถูกกาลเทศะก็มีประโยชน์

พูดแต่คำสัตย์ คำสัตย์ตรงกันข้ามกับคำเท็จ ผู้พูดคำเท็จย่อมขาดความเชื่อถือ ส่วนคำสัตย์นั้นดี มีประโยชน์

พูดไพเราะอ่อนหวาน เป็นที่ชอบใจของคนทุกชั้น มารดาบิดาพูดกับบุตรธิดาด้วยคำอ่อนหวาน ย่อมจับใจของบุตรธิดา ทำให้เกิดความรัก บุตรธิดาผู้รู้จักพูด ก็ย่อมเป็นที่รักของมารดาบิดา วาจาไพเราะอ่อนหวาน เปรียบดังอาหารมีโอชารส ยังผู้กินให้พอใจ ติดใจ ต้องการกินอีก

พูดคำที่ประกอบด้วยประโยชน์ คือ เมื่อจะพูดแต่ละครั้งก็ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง เช่น พูดชี้ชวนให้ผู้ฟังมีความขยันทำงาน โดยชี้โทษของความเกียจคร้านให้ผู้ฟังเห็นว่า เป็นเหตุให้ยากจน ไม่มีคนนับถือ มีแต่ความลำบาก และชี้คุณของความขยัน อดทนทำงานโดยสุจริต คือ มีทรัพย์สมบัติ สามารถตั้งตัวได้ไม่ลำบาก มีคนเคารพนับถือ หรือพูดแนะนำให้ผู้ฟังเกิดอุตสาหะ คือ ทำสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม ทั้งทางตรงและทางอ้อม และพูดแนะนำให้ผู้ฟังกลัวบาป คือ ความผิด ซึ่งมีผลตรงกันข้ามกับบุญ คือ ความดี

พูดด้วยจิตเมตตา คือผู้พูดมีเมตตาอยู่ในใจ ปรารถนาดีแก่ผู้ฟัง ไม่ใช่ปรารถนาร้าย เพราะการไม่เบียดเบียนกัน เป็นสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย เป็นความจริงถ้ามนุษย์เราเว้นจากการเบียดเบียนกัน มีเมตตาต่อกัน ต่างฝ่ายต่างทำมาหากินตามฐานะของตน ไม่ต้องกังวลถึงภัย อันตรายอันจะพึงมีเพราะความเบียด เบียน จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นสุข

ดังนั้น ผู้พูดแต่คำที่ดี ไพเราะ ย่อมจะทำให้ผู้ที่ได้ยิน ได้ฟัง เกิดความชื่นใจ สบายใจ สุขใจ ทำให้คนรักใคร่นับถือ แต่ถ้าตรงกันข้าม คือ พูดชั่ว นอกจากจะทำให้ตนเองเสียชื่อเสียงแล้ว ย่อมกลับทำลายคนรอบข้างอีกด้วย


ที่มา : ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.346 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 02 พฤศจิกายน 2567 23:27:15