[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
21 พฤศจิกายน 2567 22:36:36 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 [2] 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ  (อ่าน 94492 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #20 เมื่อ: 20 ธันวาคม 2558 11:24:08 »

.



ปางเทโวโรหนะ (๑)

มีผู้ถามว่าเขียนอย่างไร เทโวโรหนะ หรือ เทโวโรหณะ ตอบว่าเขียนได้ทั้งสอง คำนี้มาจาก เทว (เทวดา, เทวโลก) - โอโรหนะ (การก้าวลง) รวมเป็น เทโวโรหนะ เมื่อเขียนเป็นรูปสันสกฤตจะต้องเขียน เทโวโรหณะ ถามว่าทำไมล่ะ ตอบว่า เพราะคำข้างหน้ามี ร อยู่ด้วย น จึงต้องเป็น ณ ตอบอย่างนี้ง่ายดี ไม่ต้องอ้างศัพท์เทคนิคทางไวยากรณ์ให้ยุ่งยาก

สังเกตดูคำเหล่านี้ อานาปานะ เป็น อานาปราณะ ปรายนะ เป็น ปรายณะ อภินิกขมนะ เป็น อภิเนษกรมณะ

นี้เป็นเรื่องของภาษา ต่อไปเป็นเรื่องของตำนาน

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาตลอดสามเดือน บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ทรงออกพรรษาแล้ว เสด็จลงยังมนุษย์โลก ณ เมืองสังกัสสะ แคว้น ภัคคะ ในวันมหาปวารณา

ก่อนหน้านั้นประชาชนสงสัยว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จในวันไหน ที่ใด ถามท่านมหาโมคคัลลานะ พระมหาโมคคัลลานะจึงขึ้นไปกราบทูลถามพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสถามพระมหาโมคคัลลานะว่า สารีบุตร พี่ชายของเธอ จำพรรษา ณ ที่ใด เมื่อพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ที่เมืองสังกัสสะ แคว้นภัคคะ พระเจ้าข้า พระองค์จึงตรัสว่า ตถาคตก็จะลงยังมนุษย์โลก ณ เมืองสังกัสสะ แคว้นภัคคะ

พระมหาโมคคัลลานะจึงกลับมาบอกประชาชนทั้งหลายตามนั้น ประชาชนต่างก็พากันมาชุมนุมกัน ณ สถานที่ดังกล่าว เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ สถานที่นี้เรียกว่า เทโวโรหนะ อยู่ที่ อุตตรประเทศ ตามที่พระเจ้าอโศกมหาราชบันทึกไว้ให้ปรากฏเป็นหลักฐาน มาจนปัจจุบันนี้

เมื่อถึงเวลา พระพุทธองค์ก็เสด็จลงมาทางบันไดแก้ว แวดล้อมไปด้วยเหล่าเทวดาอันมีท้าวสักกมหาราชเป็นประธาน ตามเสด็จทางบันไดทองด้านขวา และท้าวสหัมบดีพรหมกับหมู่พรหมทั้งหลายตามเสด็จลงมาทางบันไดเงิน ด้านซ้าย ว่ากันอีกว่า สันดุสิตเทพ กับ สุยามเทพ ทรงทิพย์จามรถวาย ท้าวมหาพรหม ทรงทิพย์เศวตถวาย ท้าวโกสีย์อมรินทราธิราช อุ้มบาตรศิลา เป็นมัคคุเทศก์นำพระบรมศาสดาลงมา ท่ามกลางทวยเทพยดาทั้งมวล มีเสียงพิณทิพย์คลอด้วยเสียงขับของปัญจสิขะเทพบุตรคลอด้วย



ปางเทโวโรหนะ (จบ)
มหาชนได้เห็นการเสด็จลีลาลงมาจากสวรรค์ ท่ามกลางหมู่เทพและพรหมทั้งปวง งามจับใจ อย่างไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน ก็พากันเปล่งเสียงสาธุการด้วยความปีติปราโมทย์ เสียงแซ่ซ้องสาธุการกระหึ่มปฐพี แม้แต่พระสารีบุตรเสนาบดี ยังได้กล่าวคาถาแสดงความอัศจรรย์ใจว่า
     น เม ทิฏฺโฐ อิโต ปุพฺเพ น สุโตอุท กสฺสจิ
     เอวํ วคฺคุคโท สตฺถา ตุสิตา คณิมาคโต
     เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ไม่เคยได้ยินจากใครมาก่อนเลยว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระสิริโฉมโสภาคย์ยิ่งกว่าทวยเทพทั้งมวล มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้ ได้เสด็จลงจากสวรรค์แล้ว  พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดประชาชนที่มาเฝ้าโดยทั่วหน้ากัน ทรงทำปาฏิหาริย์เปิดโลก (โลกวิวรณปาฏิหาริย์) คือทรงบันดาลให้พรหม เทวดา มนุษย์ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน มองเห็นกันไม่มีอะไรปิดบัง เรื่องราวตรงนี้ เกิดพระพุทธรูปสามปางด้วยกันคือ
๑.ปางลีลามักจะเป็นพระพุทธรูปทรงยืน ยกส้นพระบาทขวาขึ้นจากพื้น ปลายพระบาทยังจดอยู่กับพื้น อยู่ในท่าจะก้าวย่างดำเนิน พระหัตถ์ขวาห้อยอยู่ในท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปข้างหน้าเป็นกิริยาเดิน (บางรูปยกพระหัตถ์ ขวาก็มี) ดูพระพุทธรูปที่พุทธมณฑลเป็นตัวอย่าง

๒.ปางเปิดโลก อยู่ในพระอิริยาบถยืน ห้อยพระหัตถ์ซ้าย-ขวา ปกติเหมือนปางทรงยืนแต่แบฝ่าพระหัตถ์หันออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาเปิด (ที่ทำแบบยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นก็มี)

๓.ปางเทโวโรหนะ หรือปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ดังที่กล่าวถึงข้างต้น พระพุทธรูปปางนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวพุทธมาก ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ศิลปินทุกยุคทุกสมัย จะวาดเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้แทบทั้งนั้น และสวยงามวิจิตรตระการตาเป็นอย่างยิ่ง




ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (๑)

ความจริงพระพุทธรูปปางนั้นปางนี้ ท่านกำหนดหมายถึงลักษณะของพระพุทธรูปในอิริยาบถต่างๆ เช่น ปางลีลา ปางตรัสรู้ แต่ที่ผมเขียนมานี้ดูเหมือนจะหมายเพียง "ตอน" หรือ "เวลา" ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ก็หมายถึง พระพุทธเจ้าตอนทรงประทับรอยพระพุทธบาท หรือเมื่อครั้งประทับรอยพระพุทธบาทนั้นเอง

พูดถึงพระพุทธบาท ขอนอกเรื่องก่อนก็แล้วกัน ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม แห่งอยุธยา พระเถระจากเมืองไทยไปนมัสการพระพุทธบาทที่เกาะลังกา ถูกพระสิงหลถามว่า พวกท่านถ่อสังขารมาไหว้พระพุทธบาททำไมถึงเกาะลังกา ที่บ้านเมืองของท่านก็มีพระพุทธบาท เมื่อพระไทยทำหน้างง พระสิงหลท่านจึงร่ายโศลกบาลีให้ฟัง ความว่า

(พระพุทธบาทมีอยู่ ๕ แห่ง) คือ ที่สุวรรณมาลิก ที่สุวรรณบรรพต ที่สุมนกูฏ และที่ริมฝั่งน้ำนัมมทา

สุวรรณบรรพต อยู่ที่ประเทศสยามของท่าน พระลังกาว่าอย่างนั้น

เมื่อท่านเหล่านี้กลับมา จึงเข้าถวายพระพรในหลวงให้ทรงทราบ ในหลวงรับสั่งให้ค้นหาพระพุทธบาท จึงมีการค้นพบพระพุทธบาทที่สระบุรีขึ้น ดังที่ทราบกันดีแล้ว

พระพุทธบาทนั้น เชื่อกันว่าประดิษฐานอยู่ตามที่ต่างๆ อีกมากมาย สงสัยกันมากว่าเป็นของจริงหรือไม่ พูดให้ชัดก็ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้จริงๆ หรือ ถ้าจริงแล้วก็แสดงว่าพระพุทธองค์คงมีพระวรกายใหญ่มาก เพราะเห็นรอยพระบาทแล้ว โอ้โฮ ใหญ่มหึมาจริงๆ

คำตอบก็คือ พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระบาทไว้จริงครับ มีหลักฐานยืนยันการที่พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ ด้วยจุดมุ่งหมายแน่ชัด ประทับไว้หลายครั้งด้วย ในสมัยพุทธกาลโน่นแหละครับ

ส่วนที่เห็นในสถานที่ต่างๆ ในปัจจุบันนี้ เป็นของจำลองมาครับ เรียกว่า พระพุทธบาทจำลอง แม้ที่สระบุรีก็เถอะ จำลองมาโดยคนสมัยก่อน แน่นอนเมื่อทำเอง จะเอาขนาดเล็กใหญ่อย่างไรก็ย่อมได้ทั้งนั้น

พระพุทธบาทจริงๆ ทรงประทับไว้ที่พื้นดิน เพื่อต้องการสอนธรรมแก่พราหมณ์ผัวเมียคู่หนึ่ง เรื่องมีดังนี้ครับ (เรื่องค่อนข้างยาว จึงขออนุญาตเล่ายืดหลายตอนหน่อย)

มีพราหมณ์ผู้มั่งคั่งคนหนึ่งอยู่ในแคว้นกุรุ แกมีลูกสาวสวยมากคนหนึ่ง นามว่ามาคันทิยา ตัวแกเอง ก็ชื่อคล้ายลูกสาว คือชื่อมาคันทิยะ แกพิถีพิถันการเลือกผู้ที่จะมาเป็นบุตรเขยมาก คือไม่ปล่อยให้ลูกสาวเลือกคนเดียว พ่อขอมีเอี่ยวด้วย ว่าอย่างนั้นเถอะ เมื่อลูกสาวบอกว่าชอบชายหนุ่มคนไหน แกก็จะปรามว่า อย่าเลย อีหนู คนนี้ไม่ดี ไม่เหมาะกับลูก หาคนที่ดีๆ มีสถานะทัดเทียมกันดีกว่า

เมื่อลูกสาวเลือกคนไหน พ่อก็ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย ตกลงลูกสาวก็เลยไม่ได้แต่งงานเสียที ร่ำๆ จะขึ้นไปอยู่ในหมู่บ้าน "คานทอง" แล้ว วันหนึ่งพราหมณ์เฒ่าออกไปนอกเมือง ไปพบพระพุทธเจ้าเข้าพอดี ความจริงพระพุทธองค์เสด็จมาเพื่อให้พราหมณ์เห็นเอง เพราะทรงเล็งญาณดูแล้ว พราหมณ์ปรากฏในข่ายคือพระญาณว่าจะได้บรรลุธรรม พระองค์จึงเสด็จมาเพื่อโปรด



ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (๒)
พราหมณ์เห็นพระพุทธองค์ต้องด้วยมหา ปุริสลักษณะ (ลักษณะของมหาบุรุษ) ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ (รายละเอียดปลีกย่อย) อีก ๘๐ ประการ ก็ดีใจว่าท่านผู้นี้แหละเหมาะจะเป็นสามีของลูกสาวตน จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า สมณะ ท่านสง่างาม สมควรเป็นลูกเขยข้าพเจ้า ขอให้ท่านรออยู่ตรงนี้ อย่าเพิ่งไปไหน ข้ามีลูกสาวสวยคนหนึ่ง จะยกให้ท่าน

ว่าแล้วก็รีบเข้าเมืองไปบอกให้บุตรสาวรีบแต่งเนื้อแต่งตัว แล้วรีบจูงมือลูกสาวออกจากเมือง จะพาไปหาคนที่เหมาะสมเป็นสามี ประชาชนเห็นพราหมณ์บอกว่าพบคนที่เหมาะสมกับบุตรสาวตนแล้ว ต่างก็อยากดูตัวว่าจะสง่างามปานใด จึงตามไปดู

พระพุทธเจ้ามิได้ประทับอยู่ ณ จุดที่พราหมณ์บอก ทรงประทับรอยพระบาทไว้ให้ปรากฏ แล้วเสด็จไปประทับใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง ใกล้กับที่นั้น พราหมณ์จูงมือลูกสาวไป พลางบ่นว่าเขาอยู่ที่ไหนนะ ฉันบอกให้เขารออยู่ตรงนี้นี่นา

มองไปมองมาเห็นรอยพระพุทธบาท จึงร้องเสียงดังว่า "นี่ไง รอยเท้าเขา แสดงว่าเขาคงยังอยู่แถวนี้แหละ"

นางพราหมณี (ภรรยาพราหมณ์คนดังกล่าว) ที่ตามมาด้วย เหลือบไปเห็นพระพุทธบาทเท่านั้น ก็ร้องเสียงดังปานกันว่า "ไม่มีหวังดอกตาแก่ นี่มันรอยเท้าคนไม่ไยดีต่อโลกียวิสัยแล้ว ตาแก่ดูนี่สิ..." ว่าแล้วก็ชี้ให้ดูลักษณะของรอยพระบาท

นางพราหมณีแกเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูรอยเท้าคน เรียกว่าเป็นหมอดูลายตีน ว่าอย่างนั้นเถอะ มองปร๊าดเดียวก็รู้แล้วว่าเจ้าของรอยเท้านี้เป็นอย่างไร เก่งปานนั้นนะครับ

แกจึงร่ายโศลกให้สามีฟัง แปลเป็นไทยว่า
     "คนเจ้าราคะ รอยเท้าเว้ากลาง
     คนเจ้าโทสะ รอยเท้าหนักส้น
     คนเจ้าโมหะ รอยเท้าจิกปลาย
     สำหรับคนที่ละกิเลสได้หมดแล้ว รอยเท้าเป็นเช่นที่เห็นนี้"

พราหมณ์เฒ่าผู้สามีไม่พอใจภรรยา จึงดุเอาว่า เจ้าเก็บตำราของเจ้าไว้ในตุ่มเถอะ อย่ามาเป็นจระเข้ขวางคลองเลย พูดด้วยสำนวนปัจจุบันก็คือ เอ็งอย่ามาขัดคอเลย ข้ากำลังจะได้ลูกเขยอยู่นะจ๊ะ

เมื่อเขาสอดส่ายสายตามองไปรอบๆ ก็เห็นพระพุทธองค์ประทับนิ่งสงบอยู่ใต้ต้นไม้ ไม่ไกลจากที่นั้น จึงร้องบอกภรรยาและคนที่ตามมาว่า โน่นไง เขาอยู่ใต้ร่มไม้นั่น ว่าแล้วก็จูงมือลูกสาวไปหา พอไปถึงก็บอกว่า "สมณะ นี่ไง ลูกสาวข้าพเจ้า ขอมอบให้เป็นภรรยาของสมณะ"

พระพุทธองค์แทนที่จะรับ กลับตรัสตอบพราหมณ์ว่า "พราหมณ์เอย สมัยเราเป็นเจ้าชายอยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ ได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขนานัปการ มีนางสนมกำนัลสวยงามคอยปรนนิบัติมากมาย ล้วนสวยสดงดงามดังนางอัปสร เรายังไม่ไยดีเลย สละทิ้งหมด ออกบวชถือเพศสมณะ แสวงหาทางพ้นทุกข์จนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไฉนเราจักยินดีในร่างกายของบุตรสาวท่าน อันเต็มไปด้วยของปฏิกูล อย่าว่าแต่ยินดีเลย แม้เท้าเรายังไม่อยากให้แตะ"

ตรัสแรงปานนั้นจริงๆ ครับ เพราะทรงมุ่งหวังจะได้พระพุทธดำรัส "กระทบ" ใจพราหมณ์และพราหมณี ผู้ถือตนว่าลูกสาวของตนสวยหาใครทัดเทียมมิได้ ได้ผลสองทางครับ

ทางหนึ่ง สองตายายได้ฟังแล้วยอมรับว่าจริงตามที่พระพุทธองค์ตรัส จึงเกิดความเลื่อมใส นั่งฟังพระธรรมเทศนาอย่างใจจดใจจ่อ ฟังจบก็ได้บรรลุธรรม ปฏิญาณตนถึงไตรสรณคมน์

อีกทางหนึ่ง พระดำรัสที่เชือดเฉือนใจนางมาคันทิยานั้น ทำให้นางโกรธจนตัวสั่น หาว่าสมณะรูปนี้ถือดียังไงมาว่าเราเต็มไปด้วยของปฏิกูล ชะชะใครๆ ก็ชมว่าเราสวยงาม พูดแบบนี้มันดูถูกกันนี่หว่า ฝากไว้ก่อนเถอะ ต่อไปภายหน้าเราได้เป็นใหญ่ขึ้นมาจะชำระความแค้นนี้ให้ได้

เรียกว่าแค้นนี้ยี่สิบปีก็ไม่สาย ตามสำนวนหนังกำลังภายในว่า และโอกาสก็อำนวยให้เสียด้วย ภายหลังนางมาคันทิยาได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งเมืองโกสัมพี และก็บังเอิญอีกนั่นแหละ พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดสัตว์ที่เมืองนั้นในคราครั้งหนึ่ง ปฏิบัติการจองเวรอันสุนทรก็เกิดขึ้น

เรื่องราวเป็นฉันใด ก็ต้องติดตามตอนสอง สิครับ



ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (๓)
พระเจ้าอุเทนมีพระมเหสีอยู่หลายองค์ เช่น นางวาสุลทัตตา นางสามาวดี นางมาคันทิยา เฉพาะพระนางสามาวดีนั้นเป็นพุทธสาวิกา ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้วบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว จึงมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง บังเอิญได้มาเป็นพระมเหสีของพระราชา ผู้มิได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จึงไม่มีโอกาสได้เข้าวัดฟังธรรมตามต้องการ

เมื่อได้ข่าวว่าพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์เสด็จมาโปรดชาวเมืองโกสัมพี นางก็หาโอกาสเพื่อไปเฝ้าพระพุทธองค์ แต่ก็ไม่ได้โอกาส เพียงแต่เฝ้ามองพระพุทธองค์เสด็จออกโปรดสัตว์ในเมือง ผ่านช่องหน้าต่างพระตำหนักที่ประทับ เมื่อพระ พุทธองค์เสด็จผ่านไป ก็ประณมหัตถ์เปล่งเสียงนมัสการ บรรดาสตรีบริวารต่างก็ทำตาม และเมื่ออยากยลพระสิริโฉมของพระพุทธองค์ชัดขึ้นจึงพากันเจาะช่องเล็กๆ ที่ผนังเพื่อส่องดูด้วย

ข้างฝ่ายนางมาคันทิยา พอรู้ว่าศัตรูสำคัญของตนเสด็จมายังเมืองโกสัมพีก็เนื้อเต้น เต้นด้วยความโกรธ ด้วยความอาฆาตพยาบาทครับ ว่าจ้างให้พวกอันธพาลจำนวนหนึ่งไปลงคะแนนผี เอ๊ยไปด่าพระพุทธองค์ ค่าจ้างคงแพงน่าดู

พวกนักเลงก็ติดตามไปด่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ด้วยคำด่าเป็นชุดเลย เช่น ไอ้โค ไอ้ลา ไอ้อูฐ ไอ้สัตว์เดรัจฉาน คนอย่างเจ้าไม่มีทางเกิดในสุคติ คนอย่างเจ้ามีแต่จะไปเกิดในทุคติ พูดง่ายๆ ก็ว่า อย่างเจ้าต้องลงนรกแหงๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระอานนท์ได้ฟังพวกนักเลงตามด่าสองสามวัน เหลือบมองพระพุทธองค์ ยังเสด็จดำเนินไปข้างหน้าอย่างสงบ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น อดรนทนไม่ได้จึงกราบทูลขึ้นในวันหนึ่งว่า

     "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ อันธพาลเมืองนี้ตามด่าเรามาสองสามวันแล้วพระเจ้าข้า"
     "ตถาคตรู้ อานนท์" พระดำรัสตอบอย่างสงบ
     "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรามาหนีไปอยู่ที่อื่นเถอะ"
     "จะหนีไปไหน อานนท์"
     "ไปในที่ที่ไม่มีคนด่า"
     "อานนท์ ถ้าไปที่นั่นแล้วคนที่นั่นด่า อีกล่ะ"
     "ก็หนีไปเมืองอื่นอีกพระเจ้าข้า"
     "ถ้าที่นั้นยังมีคนด่าอีกล่ะ จะหนีไปไหน"
     "ก็ไปเมืองอื่นอีกพระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "อานนท์ ทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง เหตุเกิดที่ไหนต้องระงับที่นั่น พวกอันธพาลเหล่านี้ด่าเราไม่เกิน ๗ วันดอก ก็จะเลิกด่าไปเอง"

แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสโศลกบทหนึ่งว่า "เราจะอดทนต่อคำด่าว่าเสียดสีของคนทั้งหลาย ดุจช้างศึกทนต่อลูกศรที่หลุดจากคันธนู ในยามสู่ศึกสงครามเพราะคนส่วนมากทุศีล"



ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (๔)
นางมาคันทิยาเมื่อเห็นว่าแผนการล้มเหลว จึงวางแผนแก้แค้นใหม่ คราวนี้สั่งลุงกับพรรคพวกเข้าเมือง ฉวยโอกาสวันที่พระเจ้าอุเทนเสด็จไปล่าสัตว์ ให้ลุงกับพรรคพวกไปจับพระนางสามาวดี พร้อมบริวารมัดกับเสา ปิดประตูหน้าต่างพระตำหนัก เอาน้ำมันราดให้ทั่ว แล้วจุดไฟเผา

เปลวเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็ว พระนางสามาวดีให้โอวาทแก่สตรีบริวารว่า จงให้อภัยแก่ผู้ที่ก่อเหตุครั้งนี้ ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นใคร อย่าผูกพยาบาท ให้แผ่เมตตาจิตให้พวกเขา อย่ากระวนกระวาย ให้รำลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย ยึดเอาเป็นที่พึ่งที่ระลึก ถือเสียว่ากรรมแต่ปางหลังตามมา หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงจะตายก็ให้ตายอย่างมีสติ สมกับเป็นสาวิกาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระเจ้าอุเทนเสด็จมาพบเห็นเหตุการณ์เข้า ไฟได้ลุกโชติโชนาการสุดที่จะช่วยเหลืออะไรได้แล้ว ทรงโทมนัสในพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็สู้หักห้ามไว้ แสร้งทำเป็นดีพระทัย มิให้พระนางมาคันทิยาสังเกตได้

วันรุ่งขึ้น พระภิกษุสงฆ์จำนวนมากไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี ทราบข่าวสลดใจ จึงนำความกราบบังคมทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า สามาวดี บุตรสาวเรา ถึงจะตายไปก็ตายด้วยความไม่ประมาท สมเป็นอริยสาวิกา

พระองค์ตรัสโศลกบทหนึ่งมีความว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ประมาทแล้ว ถึงมีชีวิตอยู่ ก็เสมือนคนตายแล้ว

ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา กล่าวว่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามว่า นางสามาวดีเป็นถึงพระโสดาบัน ตลอดชีวิตทำแต่บุญกุศล ทำไมจึงพบจุดจบอย่างน่าอนาถเช่นนี้ พระพุทธองค์ทรงเล่าบุพกรรมของนางและบริวารว่า ในชาติปางก่อนอันยาวนานโพ้น สามาวดีพร้อมกับสหายจุดไฟเผาป่า บังเอิญเมื่อไฟมอดลงเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ จีวรถูกเผาหมด

พวกนางตกใจ กลัวว่าท่านจะไปบอกคนอื่น ตัวเองจะตกที่นั่งลำบาก จึงพากันเอาหญ้ามาสุมท่านแล้วจุดไฟเผาใหม่ แล้วก็จากไป ด้วยความเชื่อว่าไม่มีพยานหลักฐานจะเอาผิดพวกตนแต่อย่างใด

ด้วยผลแห่งบาปที่กระทำนั้น พวกนางจึงตกนรกหมกไหม้หลายร้อยชาติ มาชาตินี้เศษกรรมยังเหลืออยู่ จึงตามมาทัน พวกนางจึงได้รับผลกรรมดังที่ทราบกัน

ข้างฝ่ายพระเจ้าอุเทน วันหนึ่งขณะ อยู่ท่ามกลางคนใกล้ชิด ทรงเปรยขึ้นว่า ตั้งแต่สามาวดีตายไปทำให้พระองค์ทรงมีความสุข ใครก็ตามที่กำจัดนางให้แสดงว่าต้องมีความรักในพระองค์มาก อยากรู้จังว่าใครกันหนอ



ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (จบ)
    "จะใครเสียอีกเล่า นอกจากมาคันทิยา คนนี้" มาคันทิยาตกหลุมพราง กล่าวขึ้นทันที
     "พี่นึกแล้วว่าต้องเป็นเธอแน่ ขอบใจที่เธอช่วยกำจัดหนามแทงใจให้ ใครมีส่วนในการทำให้พี่มีความสุขให้มารับบำเหน็จรางวัลได้"

นางมาคันทิยาส่งข่าวไปยังลุงและพรรคพวก บอกให้เข้าเมืองเพื่อรับบำเหน็จรางวัลจากพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพวกเขามาพร้อมหน้า พระราชารับสั่งให้จับทั้งหมด ให้ขุดหลุมฝังเหลือแค่สะเอว เอาฟางกลบแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น ให้สาสมกับที่กระทำต่อพระมเหสีอันเป็นที่รักของพระองค์

อ่านเรื่องนี้แล้วเกิดความคิดว่า เพราะความอาฆาตพยาบาทแท้ทีเดียว ที่ทำให้นางมาคันทิยาพยายามจะแก้แค้นให้ได้ ในเรื่องมิได้บอกว่านางได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนได้อย่างไร คงมิใช่อยู่ๆ บุญหล่นทับได้เป็นมเหสี

คงเพราะแรงอาฆาตนี้เอง ทำให้นางต้องพยายามหาทางเป็นใหญ่ เพื่อจะได้มีโอกาสแก้แค้นได้ง่ายขึ้น ในที่สุดนางก็ประสบความสำเร็จ ได้เป็นมเหสีพระเจ้าอุเทนสมความตั้งใจ เมื่อได้ข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จมาเมืองโกสัมพี ไฟพยาบาทก็ลุกโชนในใจของนาง วางแผนหลากหลายเพื่อทำลายพระพุทธองค์ แผนที่หนึ่งล้มเหลว เริ่มแผนที่สอง แผนที่สองใช้ไม่ได้ ก็ดำเนินแผนที่สาม ที่สี่

เมื่อเล่นงานพระพุทธเจ้าโดยตรงไม่ได้ ก็หาทางกำจัดสาวิกาของพระพุทธองค์ ทำนองโกรธพ่อแล้วมาลงที่ลูกอะไรอย่างนั้น และในที่สุดพระนางสามาวดีผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยก็พลอยรับเคราะห์กรรมไป

และคนที่ทำลายเขาตัวเองก็ถึงจุดจบเฉกเช่นเดียวกัน

การที่พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้ปรากฏ จุดประสงค์เบื้องแรก (ถ้าดูตามเรื่องนี้) เพื่อให้พราหมณ์และพราหมณีเห็นว่าพระองค์มิได้ไปไหนไกล หากอยู่แถวๆ นั้นเอง เพื่อให้เขาตามพบและได้ฟังธรรมจากพระองค์

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อใช้เป็น "สื่อ" หรืออุปกรณ์สอนธรรมนั่นเอง และในที่สุดก็บรรลุผลตามที่ทรงประสงค์

ต่อมามีความนิยมสร้างรอยพระพุทธบาทขึ้นในที่ต่างๆ เพื่อเป็น "พุทธานุสสติ" สร้างขึ้นแล้วก็แต่งตำนานเล่าทำนองว่าเป็นพระบาทจริง พระพุทธเจ้าเสด็จไปประดิษฐานไว้จริงๆ ดังทราบกัน

จะเป็นรอยพระพุทธบาทจริงหรือไม่มิใช่ประเด็น ประเด็นก็คือ พระพุทธบาทไม่ว่าที่ไหนนับว่าเป็นปูชนียวัตถุ สิ่งที่ควรเคารพสักการะ ของพุทธศาสนิกชน ช่วยเตือนให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น
ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (จบ)
    "จะใครเสียอีกเล่า นอกจากมาคันทิยา คนนี้" มาคันทิยาตกหลุมพราง กล่าวขึ้นทันที
     "พี่นึกแล้วว่าต้องเป็นเธอแน่ ขอบใจที่เธอช่วยกำจัดหนามแทงใจให้ ใครมีส่วนในการทำให้พี่มีความสุขให้มารับบำเหน็จรางวัลได้"

นางมาคันทิยาส่งข่าวไปยังลุงและพรรคพวก บอกให้เข้าเมืองเพื่อรับบำเหน็จรางวัลจากพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพวกเขามาพร้อมหน้า พระราชารับสั่งให้จับทั้งหมด ให้ขุดหลุมฝังเหลือแค่สะเอว เอาฟางกลบแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น ให้สาสมกับที่กระทำต่อพระมเหสีอันเป็นที่รักของพระองค์

อ่านเรื่องนี้แล้วเกิดความคิดว่า เพราะความอาฆาตพยาบาทแท้ทีเดียว ที่ทำให้นางมาคันทิยาพยายามจะแก้แค้นให้ได้ ในเรื่องมิได้บอกว่านางได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนได้อย่างไร คงมิใช่อยู่ๆ บุญหล่นทับได้เป็นมเหสี

คงเพราะแรงอาฆาตนี้เอง ทำให้นางต้องพยายามหาทางเป็นใหญ่ เพื่อจะได้มีโอกาสแก้แค้นได้ง่ายขึ้น ในที่สุดนางก็ประสบความสำเร็จ ได้เป็นมเหสีพระเจ้าอุเทนสมความตั้งใจ เมื่อได้ข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จมาเมืองโกสัมพี ไฟพยาบาทก็ลุกโชนในใจของนาง วางแผนหลากหลายเพื่อทำลายพระพุทธองค์ แผนที่หนึ่งล้มเหลว เริ่มแผนที่สอง แผนที่สองใช้ไม่ได้ ก็ดำเนินแผนที่สาม ที่สี่

เมื่อเล่นงานพระพุทธเจ้าโดยตรงไม่ได้ ก็หาทางกำจัดสาวิกาของพระพุทธองค์ ทำนองโกรธพ่อแล้วมาลงที่ลูกอะไรอย่างนั้น และในที่สุดพระนางสามาวดีผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยก็พลอยรับเคราะห์กรรมไป

และคนที่ทำลายเขาตัวเองก็ถึงจุดจบเฉกเช่นเดียวกัน

การที่พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้ปรากฏ จุดประสงค์เบื้องแรก (ถ้าดูตามเรื่องนี้) เพื่อให้พราหมณ์และพราหมณีเห็นว่าพระองค์มิได้ไปไหนไกล หากอยู่แถวๆ นั้นเอง เพื่อให้เขาตามพบและได้ฟังธรรมจากพระองค์

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อใช้เป็น "สื่อ" หรืออุปกรณ์สอนธรรมนั่นเอง และในที่สุดก็บรรลุผลตามที่ทรงประสงค์

ต่อมามีความนิยมสร้างรอยพระพุทธบาทขึ้นในที่ต่างๆ เพื่อเป็น "พุทธานุสสติ" สร้างขึ้นแล้วก็แต่งตำนานเล่าทำนองว่าเป็นพระบาทจริง พระพุทธเจ้าเสด็จไปประดิษฐานไว้จริงๆ ดังทราบกัน

จะเป็นรอยพระพุทธบาทจริงหรือไม่มิใช่ประเด็น ประเด็นก็คือ พระพุทธบาทไม่ว่าที่ไหนนับว่าเป็นปูชนียวัตถุ สิ่งที่ควรเคารพสักการะ ของพุทธศาสนิกชน ช่วยเตือนให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กุมภาพันธ์ 2559 13:24:31 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #21 เมื่อ: 11 กุมภาพันธ์ 2559 13:28:31 »



ปางปฐมบัญญัติ (๑)

หลังจากตรัสรู้ได้ประมาณ ๑๕ ปี พระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงสถาปนาขึ้น ก็เจริญรุ่งเรือง มีประชาชนจากทุกชั้นวรรณะเลื่อมใสมาบวชในพระพุทธศาสนา พระราชามหากษัตริย์ผู้ครองนครสำคัญ อาทิ พระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐ กระทั่งกลุ่มขัตติยราชผู้ปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม อย่างเช่นพวกกษัตริย์ลิจฉวี แห่งมหานครไพศาลี ก็มีความเลื่อมใสถวายความอุปถัมภ์แด่พระพุทธองค์และพระพุทธศาสนาอย่างดี

ขณะที่ทรงประกาศพระพุทธศาสนาใหม่ ได้มีหนุ่มสองสหายอดีตศิษย์สำนักครู สัญชัยเวลัฏฐบุตร แห่งเมืองราชคฤห์คือ อุปติสสะ กับ โกลิตะ มาบวชเป็นศิษย์พระพุทธองค์ และได้นามเรียกขานในหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ว่า สารีบุตร กับ โมคคัลลานะ ตามลำดับ ทั้งสองรูปนี้ต่อมาได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งพระอัครสาวก เป็น "มือขวา" และ "มือซ้าย" ของพระพุทธองค์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

วันหนึ่งพระสารีบุตรอัครสาวก ออกจากสมาธิแล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่าขณะที่ท่านอยู่สงบคนเดียว นึกสงสัยว่าอะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พรหมจรรย์ (พระพุทธศาสนา) สถิตสถาพรตลอดไป จึงขอกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "สารีบุตร การบัญญัติสิกขาบท เป็นเหตุปัจจัยให้พรหมจรรย์ดำรงมั่น"

"ถ้าเช่นนั้น ข้าพระองค์ใคร่ขอกราบทูลพระมหากรุณาได้ทรงบัญญัติสิกขาบท เพื่อความดำรงมั่นแห่งพรหมจรรย์เถิด พระเจ้าข้า" พระสารีบุตรรีบเสนอ

"สารีบุตรยังไม่ถึงเวลา และยังไม่มีเงื่อนไขให้ทำเช่นนั้น"
"อะไรคือเงื่อนไขให้บัญญัติสิกขาบท พระเจ้าข้า"
"สารีบุตร เมื่อใดสงฆ์เติบโตใหญ่ขึ้น มีภิกษุจำนวนมากขึ้น ลาภสักการะเป็นอันมากก็เกิดขึ้น ลาภสักการะเกิดขึ้น อาสวัฏฐานียธรรม (ความเสื่อมเสีย มัวหมอง) ก็จะเกิดตามมา เมื่อนั้นแหละจะถึงเวลาบัญญัติสิกขาบท"

เป็นดังกระแสพุทธดำรัส ตอนแรกๆ ภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย และผู้มาบวชก็ล้วนแต่เป็นผู้ "เบื่อโลกแล้ว" ไม่ค่อยสนใจไยดีในลาภสักการะ หรือความมั่งมีศรีสุขแล้ว สิ่งเหล่านี้เขามีกันมาก่อน บางคนมีมากจนเอียน รู้สึกเบื่อหน่าย จึงหนีมาบวชเพื่อมรรคผลนิพพาน

เมื่อบวชมาแล้ว ก็เต็มใจประพฤติพรหมจรรย์ จนได้บรรลุมรรคผลกันสูงต่ำตามความสามารถของแต่ละท่าน การเคลื่อนไหวทุกอย่างถูกต้องโดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องบอกว่าอย่าทำอย่างนั้นให้ทำอย่างนี้ เพราะท่านจะรู้เองว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า สิกขาบทวินัยไม่จำเป็นต้องมี ศีลไม่ต้องบัญญัติ เพราะท่าน "มีศีลเอง" โดยอัตโนมัติแล้ว

ต่อเมื่อจำนวนผู้มาบวชมีมากขึ้น คนที่มาบวชมาด้วยเจตนาและเหตุผลแตกต่างกัน บางคนไม่พร้อมแต่มาบวชก็มี เมื่อบวชมาแล้ว ได้ลาภสักการะที่ประชาชนผู้เลื่อมใสถวายให้ ก็อาจถูกลาภสักการะครอบงำ ทำให้หลงใหล เคลิบเคลิ้มตกอยู่ในอิทธิพลของรูปรสกลิ่นเสียง อันนี้แหละเรียกว่า อาสวัฏฐานียธรรม อันจักนำไปสู่การกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณะต่อไป

บางท่านบวชด้วยกุศลเจตนา แต่ไม่ทราบชัดว่าบวชมาแล้วต้องทำอย่างไร อาจหลงทำการที่ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูปจนเป็นเหตุให้ถูกตำหนิจากพระพุทธองค์ก็มี ดังเรื่องที่เป็นสาเหตุแห่งปฐมบัญญัตินี้

เกริ่นมายาวนาน ขอเข้าเรื่องเสียที ในเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดความประทับใจ อยากบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อเขากลับมาบ้าน แจ้งความประสงค์ของตนให้บิดามารดาทราบ ก็มีอันขัดข้องทางเทคนิคทันที

พ่อแม่ไม่เห็นด้วย เพราะชายหนุ่มซึ่งมีนาม (ลืมบอก) ว่า สุทิน นั้นเป็นบุตรชายโทนของตระกูลที่มั่งคั่ง พ่อแม่ก็ต้องหวังสิครับ หวังให้สืบวงศ์สกุล มีลูกมีหลานสืบทอดกันต่อไป เรื่องอะไรจะให้บวช เท่ากับเป็นการ "ตัด" วงศ์ตระกูล ใครเขาจะยอม

เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ สุทินก็ประท้วง มิได้รวบรวมพรรคพวกมาก่อม็อบประท้วงดอกครับ เธอเล่นประท้วงเงียบ คือเข้าห้องปิดประตูเงียบ ไม่ยอมกินข้าวปลา อดอาหารอยู่ถึงสามวัน มิไยพ่อแม่จะวิงวอนอย่างไรก็ไม่ยอมกิน จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้บวชว่าอย่างนั้นเถอะ

พ่อแม่สุทินจึงไปตามเพื่อนซี้ของเธอมา ขอให้ช่วยเกลี้ยกล่อมให้สุทินลูกรักเลิกคิดบวชเสียเถอะ เพื่อนๆ ก็อาสาช่วยพูดกับสุทินให้เลิกล้มความตั้งใจ แต่ก็ล้มเหลว ไม่สามารถให้สุทินเปลี่ยนใจได้



ปางปฐมบัญญัติ (๒)
เพื่อนซี้คนหนึ่งจึงพูดกับพ่อแม่ของสุทินว่า "ผมว่าให้ ไอ้ทิน (เพื่อนรักกันย่อมใช้สรรพนามอย่างนี้แน่นอน) มันบวชไปเถอะ คุณพ่อคุณแม่"

"บวชไม่ได้นะลูก แล้วใครจะสืบวงศ์ตระกูล พ่อแม่มีลูกชายคนเดียวเท่านั้น" สองตายายบอก

"ให้มันบวชเถอะ คุณพ่อคุณแม่ สุทินมันเป็นคนรักสนุก และเปราะบางออกอย่างนี้ รับรองว่าบวชไม่ถึงสัปดาห์ดอก ต้องสึกแน่ เพราะชีวิตสมถะนั้นต้องนอนกลางดินกินกลางทรายอยู่ได้ด้วยภิกษาจาร สุทินมันทนความลำบากไม่ไหวแน่ๆ"

พ่อแม่ของสุทินเห็นด้วย จึงออกปากอนุญาตให้ลูกชายบวชตามปรารถนา พอได้ยินคำว่า "ลูกอยากบวชก็บวชเถอะลูก พ่อแม่ไม่ห้าม" เท่านั้นแหละครับ สุทินเธอก็ลุกขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใส

เมื่อไปบวชแล้ว พระสุทินก็เรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์ เดินทางไปยังที่อื่น เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ไม่กลับบ้านเดิมเลย เป็นเวลาหลายปี ปล่อยให้พ่อแม่รอแล้วรออีกว่าเมื่อไรพระลูกชายจะสึกมาอยู่บ้านตามเดิม

"ไหน เพื่อนลูกชายว่า ลูกของเราเปราะออกอย่างนี้ บวชไม่นานดอก ทำไมจนป่านนี้แล้วยังไม่สึกเลย" พ่อแม่พระใหม่รำพึง นั่งรอวันแล้ววันเล่า จนเกือบจะหมดหวังอยู่แล้ว ก็พอดีได้ยินเสียงสาวใช้ร้องขึ้นวันหนึ่ง
"นายๆ คุณผู้ชายกลับมาแล้วๆ"
"ไหน อยู่ไหน" พ่อแม่พระสุทินร้องถามด้วยความลิงโลดใจ
"ดิฉันเห็นท่านเดินผ่านหน้าบ้านเราไปโน่นแล้ว" สาวใช้เล่ารายละเอียดว่า นางเปิดประตูบ้าน กำลังจะเอาขนมที่เริ่มบูดไปเททิ้ง ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งพูดว่า ถ้าจะทิ้งให้เอาใส่บาตรอาตมาเถอะ นางจึงเอาไปใส่บาตรท่าน เห็นหน้าท่านแล้วจำได้ว่าต้องเป็นคุณผู้ชายแน่

เศรษฐีให้คนตามไปนิมนต์ภิกษุหนุ่มมาที่คฤหาสน์ ปรากฏว่าใช่สุทิน บุตรชายโทนของตนจริงๆ

เรื่องราวเป็นอย่างไร เห็นจะต้องอ่านตอนต่อไปแล้วละครับ

เมื่อพระลูกชายมาบ้าน สองตายายก็ร้องไห้รำพัน ผู้เป็นพ่ออาการหนักกว่าเพื่อน หาว่าลูกชายทำให้เสียเกียรติ ลูกหนอลูก เป็นถึงลูกชายเศรษฐีผู้มั่งคั่ง มีหน้ามีตาของบ้านนี้เมืองนี้ทำไมมาทำให้พ่อแม่เสียหน้า

พระลูกชายถามว่า "เสียหน้าอย่างไร โยม"

"ก็ลูกเที่ยวขอทานเขากินนะสิ พ่อแม่จะเอาหน้าไปไว้ไหน ใครเขาไม่รู้ความจริงเขาจะหาว่าเราหมดเนื้อหมดตัวแล้ว ลูกจึงต้องขอทาน"

"โยม อาตมามิได้ขอทาน อาตมาเที่ยวภิกขาจาร อันเป็นจารีตที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งปวงพึงทำ" พระลูกชายอธิบาย ผู้เป็นพ่อจึงกล่าวต่อไปว่า

"ช่างเถอะๆ ว่าแต่ว่าลูกจะลาสิกขามาครองเรือนตามเดิมไหม"

"อาตมามีศรัทธามั่นคงในพระศาสนา ไม่ยินดีหวนกลับมาอีกแล้ว ดุจคนที่หนีจากเรือนที่ถูกไฟไหม้ ไฉนจะหวนกลับมาอีก ดุจคนที่ตกหลุมคูถสกปรก อาบน้ำชำระกายให้สะอาด ทาด้วยแป้งกระแจะจันทน์หอม ไม่ยินดีลงไปสู่หลุมคูถเน่าเหม็นนั้นอีก ฉะนั้น"

"เมื่อลูกไม่สึก แล้วใครจะดูแลทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ลูกเป็นลูกชายคนเดียวของตระกูลนะหาไม่จะไม่มีใครสืบสกุล นะลูก" พ่ออ้อนวอน เพื่อโน้มน้าวจิตใจพระลูกชายให้กลับมา จึงสั่งให้เขาขนเงินทั้งหมดมากองไว้ต่อหน้า กองกหาปณะสูงท่วมหัวเลย แล้วกล่าวต่อไปว่า

"ลูกดูสิ ทรัพย์มากมายอย่างนี้ ใครจะดูแล ถ้าขาดคนดูแล พ่อแม่คงนอนตายตาไม่หลับแน่"
"ถ้าโยมมีความวิตกกังวลถึงทรัพย์มากมายขนาดนั้น อาตมาขอแนะวิธีให้หายกังวล" พระลูกชายกล่าวอย่างสงบ
"อะไรหรือลูก" แววตา พ่อแม่เป็นประกายด้วยความหวัง
"ก็ให้เขาขนไปทิ้งทะเลเสียให้หมด จะได้ไม่ต้องทุกข์เพราะมีทรัพย์" เสียงของพระลูกชายยังคงเย็น สงบ เหมือนเดิม

ถ้าเราอยู่ในบรรยากาศนั้น คงได้ยินเสียงจ๊ากแน่นอน โดยเฉพาะผู้เป็นมารดาก็คงจะกรี๊ดๆ ด้วยความเสียใจ นึกไม่ถึงว่าพระลูกชายจะพูดคำนี้ออกมา

เมื่ออ้อนวอนอย่างไร ไม่มีท่าทีว่าพระลูกชายจะหวนกลับมาสู่โลกียวิสัยอีกต่อไปแล้ว เพราะมีศรัทธามั่นคงต่อพระศาสนาเหลือเกิน ผู้เป็นแม่จึงคิดอุบายได้ แล้วกล่าวเบาๆ ว่า

"ถ้าลูกไม่สึกก็ไม่เป็นไร แม่ขอหน่อ ไว้สักหน่อได้ไหม" โยมมารดาท่านใช้ศัพท์ว่า พีช แปลว่าพืช หรือหน่อ
"ได้" พระลูกชายตอบ หลังจากหยุดพิจารณาชั่วครู่



ปางปฐมบัญญัติ (๓)
สองตายายจึงให้เรียกลูกสะใภ้ (อดีตภรรยาของพระสุทิน) มา แล้วบอกว่า พ่อแม่ขอหน่อจากพระลูกชายไว้แล้ว จะได้มีผู้สืบสกุล พระสุทินหันมาพูดกับอดีตภรรยาของตนว่า "น้องหญิงพร้อมเมื่อไร บอกอาตมาก็แล้วกัน" ว่าแล้วก็ลุกขึ้น กลับไปยังที่พำนักของตน

คำว่า "พร้อม" ในความหมายของพระก็คือ ภรรยาถึงกำหนดไข่สุกพร้อมที่จะผสมพันธุ์ให้กำเนิดแก่บุตร เมื่อถึงเวลาเหมาะสมแล้ว นางก็กระซิบบอกพระสุทิน

ตำนานเล่าตอนนี้ว่า พระสุทินก็จูงมืออดีตภรรยาเข้าละเมาะแห่งหนึ่ง (ทำไมไม่ทำที่คฤหาสน์ของพ่อแม่ของตนก็ไม่ทราบสิครับ) แล้วก็เสพเมถุนธรรมกับนาง

อารมณ์ขันของผู้รวบรวมคัมภีร์ก็โผล่ออกมาให้เห็นว่า พระสุทิน เพื่อให้แน่ใจว่า ติดแน่ จึงทำซ้ำถึงสามหน ในเวลาไล่เลี่ยกัน

แล้วทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี หลังจากนั้นอดีตภรรยาของพระสุทินก็ตั้งครรภ์ เมื่อถ้วนทศมาสแล้วก็คลอดบุตรชาย น่าเกลียดน่าชังมาคนหนึ่ง ปู่ย่าตั้งชื่อให้ว่า พีชะ (แปลว่าเด็กชายพืชหรือหน่อ)

เด็กชายพืชเจริญเติบโตมา ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างอันไม่เป็นมงคลกระหึ่มเชียว "สะใภ้ม่ายบ้านโน้น อยู่ๆ ก็ท้องขึ้นมาได้ลูกชายมาคนหนึ่ง"

"ท้องกับใคร เขาว่าสามีหนีไปบวชแล้วมิใช่หรือ"
"ก็ท้องกับสามีนั่นแหละ บวชแล้ว แต่เล่นทั้งผ้าเหลืองเลย"
"อะไรกัน สมณะศากยบุตร ไหนว่าเคร่งครัดในพรหมจรรย์ไง ทำไมยังมาเสพเมถุนธรรมดุจดังชาวบ้านทั่วไป" ฯลฯ

เสียงลือ เสียงตำหนิติเตียนคงแพร่ไปกว้างขวางมาก จนพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงรับสั่งให้เรียกพระสุทินมาสอบสวนท่ามกลางสงฆ์ ตรัสถามว่า

"ภิกษุ เขาว่าเธอเสพเมถุนกับอดีตภรรยาเป็นความจริงหรือ"
"เป็นความจริง พระเจ้าข้า" พระสุทินยอมรับ
"โมฆบุรุษ เธอมาบวชในธรรมวินัยของตถาคต ผู้สรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์ ไฉนเธอยังเสพเมถุนกับมาตุคาม อันขัดต่อชีวิตพรหมจรรย์เล่า"

พระสุทินแย้งว่า ท่านทำด้วยจิตเป็นกุศล เพื่อตัดปัญหาถูกรบเร้าให้สึก คิดว่าเมื่อให้บุตรสืบสกุลไว้แล้ว โยมพ่อและโยมแม่ก็จะไม่มาขอให้ลาสิกขา ตนก็จะได้มีเวลาประพฤติธรรม ไม่น่าจะผิด

พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ว่าจะเสพเมถุนธรรมด้วยจุดประสงค์ใด ถือว่าผิดทั้งนั้น และเป็นความผิดอันฉกรรจ์ด้วย เพราะขัดต่อชีวิตผู้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ใครขืนทำลงไป ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพานในชีวิตพรหมจรรย์ ยกเว้นจะลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ รักษาศีลอย่างเคร่งครัด ย่อมมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า (คือมีทางขึ้นสวรรค์ได้)

พระองค์ทรงตำหนิพระสุทินต่างๆ นานา ทรงอธิบายว่าถ้าบัญญัติสิกขาบทแล้ว จะเกิดประโยชน์อย่างไรต่อภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวมบ้าง (มีทั้งหมด ๑๐ ข้อด้วยกัน) แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

"ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมกับมาตุคาม ภิกษุนั้นต้องปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที"

นี้เป็นปฐมบัญญัติ นัยว่าเป็นสิกขาแรกที่ทรงบัญญัติ โดยพระสุทินเป็นผู้ก่อเรื่อง ไม่ทรงเอาผิดพระสุทิน ทรงยกไว้ในฐานะ "ต้นบัญญัติ" (อาทิกัมมิกะ) แต่ถ้าใครทำต่อไปจะต้องถูกปรับอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที



ปางปฐมบัญญัติ (จบ)
พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ ไม่แพร่หลาย จึงไม่ค่อยมีใครเห็น เป็นท่าสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองตะแคงยื่นตรงออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาบัญญัติพระวินัย เพื่อรักษาพระศาสนาไว้ให้มั่นคง

การจะทรงบัญญัติพระวินัยนั้น พระพุทธองค์ทรงเห็นประโยชน์ หรืออานิสงส์ของการบัญญัติ ๑๐ ประการ พูดด้วยภาษาสามัญก็ว่า ที่ทรงบัญญัติ ด้วยเหตุผล ๑๐ ประการ คือ
๑.เพื่อความดีงามแห่งสงฆ์ (บัญญัติขึ้นมาแล้วจะช่วยรักษาสงฆ์ให้มีความดีงาม น่าเลื่อมใสศรัทธา)
๒.เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ (พระสงฆ์มีศีลมีวินัยด้วยกันหมด ย่อมอยู่ผาสุก ไม่มีแกะดำแทรกทำให้วุ่นวาย)
๓.เพื่อกำราบทุมมังกุ (คนหน้าด้าน)
๔.เพื่อความผาสุกของภิกษุผู้ทรงศีล
๕.เพื่อกำจัดอาสวะในปัจจุบัน (ขจัดความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน)
๖.เพื่อป้องกันอาสวะที่จะเกิดในอนาคต (ป้องกันมิให้มีความเสื่อมเสียเกิดขึ้นในภายหน้า)
๗.เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
๘.เพื่อให้ผู้เลื่อมใสแล้ว เลื่อมใสยิ่งขึ้น
๙.เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม (เพื่อให้พระศาสนาดำรงมั่น)
๑๐.เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย (เพื่อสนับสนุนหลักการ คือความเป็นระบบระเบียบ)

พระวินัยที่ทรงบัญญัติแล้ว พระสงฆ์ต้องรักษาอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดเป็นอันขาด ความผิดมีตั้งแต่ขั้นอุกฤษฏ์ จนถึงขั้นเบา ขั้นหนักที่สุดก็ขาดจากภิกษุภาวะทันที ไม่ว่าใครจะโจทก์หรือไม่ก็ตาม ถ้ารู้ตัวแล้วก็ต้องสึกออกมา ถ้าขืนอยู่ในเพศสมณะต่อไป ท่านว่าเป็น "มหาโจร" เพราะหลอกลวงให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นพระภิกษุ บาปสองเท่าอีกครับ

ดูตามนี้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว ทุกอย่างก็น่าจะราบรื่นดี ไม่น่าจะมีอะไร แต่อย่างว่าแหละครับ ช่วงหลังๆ นี้คนที่ยังไม่พร้อม คนที่ยังไม่เบื่อหน่ายโลกียวิสัยมาบวชกันมากขึ้น บ้างก็มาด้วยจิตเป็นกุศล บ้างก็อาจจะแฝงมาด้วยเจตนาอย่างอื่น จึงมีความจำเป็นต้องบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติม อันเรียกด้วยภาษาเทคนิคว่า "อนุบัญญัติข้อบัญญัติภายหลัง ข้อบัญญัติเพิ่มเติม"

ในเรื่องปฐมปาราชิกนี้ก็เป็นอย่างนั้น หลังจากพระพุทธองค์ทรงบัญญัติปฐมปาราชิกแล้วก็มีภิกษุรูปหนึ่ง อยู่ที่กุฏิในวัดป่าแห่งหนึ่ง ภิกษุรูปนี้เลี้ยงลิงไว้จำนวนมาก แค่เลี้ยงลิงนี่ก็ไม่ผิดอะไร แต่ท่านรูปนี้ไปมีอะไรกับนางลิงด้วย

และก็คงจะปฏิบัติเป็นประจำ จึงเกิดเรื่องขึ้น คือมีพระจากต่างถิ่นมายังอารามนั้น ขณะนั้นพระเจ้าของกุฏิไม่อยู่ ฝูงลิงทั้งหลายก็ร้องเจี๊ยวจ๊าวๆ นางลิงตัวหนึ่งวิ่งมากอดขาภิกษุรูปหนึ่ง แล้วก็ทำท่าดุจกำลังต้องการเมถุนธรรม มันก็คงนึกว่าเป็น "คู่ขา" ของมันกระมัง

ภิกษุอาคันตุกะสงสัย จึงบอกกันต่อๆ ไป แล้วคอยแอบดู เมื่อพระเจ้าของกุฏิกลับมา นางลิงคู่ขาก็วิ่งมาหา ทั้งพระทั้งลิงก็พากันเข้าไปในกุฏิ ปิดประตูเงียบ

บรรดานักสืบเป็น ก็ค่อยๆ ย่องๆ ไปแอบดู ผ่านช่องฝา เห็นการกระทำอัน "ไม่เหมาะแก่สมณะ" เข้า ก็กรูกันเข้าไปจับได้คาหนังคาเขา แล้วนำไปหาพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงสอบสวนภิกษุรูปนั้น ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ว่า "ได้ยินว่าเธอเสพเมถุนกับนางลิงหรือ"

"จริง พระเจ้าข้า" เธอรับ
"โมฆบุรุษ เธอไม่รู้หรือว่า เราตถาคตได้บัญญัติสิกขาบทห้ามพระเสพเมถุน" พระพุทธองค์ทรงซัก

"ห้ามกับมนุษย์เท่านั้น ไม่ครอบคลุมสัตว์เดรัจฉานด้วย มิใช่หรือ พระเจ้าข้า" เธอเถียง (เธออาจเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ หรือ "หัวหมอ" ก็ได้)

พระพุทธองค์จึงทรงเห็นว่าสิกขาบทวินัยยังไม่รัดกุมพอ จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติม (อนุบัญญัติ) ว่า "ห้ามภิกษุเสพเมถุนธรรมกับมาตุคาม ในที่สุดแม้กระทั่งกับสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้"

นี้คือความเป็นมาของพระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ นำเอา อนุบัญญัติมาเล่าพ่วงท้ายเพื่อให้เห็นว่า สิกขาบทวินัยของพระพุทธองค์ทรงปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อความเรียบร้อยแห่งภิกษุสงฆ์ และเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กุมภาพันธ์ 2559 19:04:37 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #22 เมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2559 19:00:35 »



ปางประทานอภัย (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในท่ายืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ ยื่นออกไปข้างหน้า แบฝ่าพระหัตถ์ ดุจดังท่าห้ามสมุทร อีกท่าหนึ่งประทับ ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ หันฝ่าพระบาทเข้าหากัน ไม่เป็นที่รู้จักกันนัก (เพราะส่วนมากปางประทานอภัย คนมักจะเข้าใจว่าเป็นท่าเดียวกับปางแสดงธรรมธรรมจักร)

ถามว่าประทานอภัยให้ใคร ตอบว่าประทานให้พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ทรงทำผิดมหันต์คือทรงทำปิตุฆาต ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดา

มีเรื่องเล่าว่า พระเทวทัตออกบวชพร้อมกับพระราชกุมารแห่งศากยวงศ์ อันมี เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เป็นต้น ทั้งหมด ๗ องค์ รวมทั้งนายภูษามาลานามว่า อุบาลี หลังบวชแล้วก็ตั้งตาปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุฌานโลกีย์ มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เรื่องก็น่าจะเป็นไปด้วยดี แต่ก็สะดุดจนได้

เมื่อชาวบ้านเข้ามาวัด ต่างก็ถามว่าพระอานนท์อยู่ที่ไหน พระอนุรุทธะอยู่ที่ไหน พระอัครสาวกอยู่ที่ไหน...ไม่มีใครค่อยถามถึงพระเทวทัตบ้างเลย ท่านก็เกิดความน้อยใจว่า พระเหล่านี้บ้างก็บวชจากตระกูลชาวไร่ชาวนา บ้างก็บวชจากราชตระกูล มีดีอะไรหนักหนา จึงมีญาติโยม "ขึ้น" กันมาก เราเองก็เป็นถึงราชกุมาร มีอะไรด้อยไปกว่าพวกนี้หรือ ญาติโยมจึงไม่ให้ความสนใจเลย

คนเราลงได้คิดอย่างนี้แล้ว ไม่ว่าพระหรือโยมละครับ ยากที่จะเดินไปตามร่องรอยที่ควรเดิน มันย่อม "ซิกแซ็ก" จนได้ในที่สุด เทวทัตเองก็ไม่พ้นกฎนี้ ท่านมานั่งนึกวางแผนว่าทำอย่างไร จึงจะมีคนเคารพนับถือ มีลาภสักการะมาก

เสียดายท่านเทวทัตไม่เกิดสมัยนี้ ถ้าเกิดสมัยนี้ คงได้ที่ปรึกษาวางแผนดูดเงินจากทายกทายิกาจนหมดตูดดังเจ้ากูบางสำนักแน่นอน ท่านเทวทัตเห็นว่า เจ้าชายอชาตศัตรูยังเยาว์วัย และมีอนาคตอันสดใสจะได้เป็นพระราชามหากษัตริย์ครองเมืองราชคฤห์ ในเวลาไม่นานเราควรจะ "จับ" อชาตศัตรูกุมารให้อยู่หมัด

ว่าแล้วก็ดำเนินแผนการล้างสมอง อชาตศัตรู โดยแสดงอิทธิฤทธิ์ที่ตนมีให้เจ้าชายทึ่ง (ดีกว่าเจ้ากูบางคน แสดงเองไม่ได้ ต้องอาศัยเทคนิคทันสมัยเข้าช่วย ฉายแสงเลเซอร์ให้เห็นตะวันแก้วอะไรนั่น เละเทะไปเลยจ้ะ)

เมื่อได้อชาตศัตรูเป็นศิษย์ ก็ค่อยๆ เป่าหูให้เจ้าชายเชื่อถือจนกระทั่งให้สั่งจับพระราชบิดาขังคุก ให้อดพระกระยาหาร และทรมานจนสิ้นพระชนม์ ยึดราชบัลลังก์เมืองราชคฤห์ (ซึ่งไม่ยึดก็จะได้อยู่แล้ว) สำเร็จ เป็นเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่สืบแทนพระราชบิดา

ฝ่ายเทวทัตเอง ยืดอกได้อย่างผึ่งผายตั้งแต่ได้เป็นพระอาจารย์ของมกุฎราชกุมารแล้ว ยิ่งตอนนี้ได้เป็นพระอาจารย์ของพระราชายิ่งกร่างได้มากขึ้น ความอยากที่ค่อยๆ ฟักตัวมาตามลำดับ ใหญ่เติบกล้าขึ้น ขนาดอยากปกครองสังฆมณฑลแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



ปางประทานอภัย (๒)
จึงวางแผนกำจัดพระพุทธองค์ โดยส่งนายขมังธนูไปดักยิงพระองค์ ขณะประทับเข้าสมาบัติอยู่ที่ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏ แต่ก็ล้มเหลว นายขมังธนูถูกพระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังจึงเปลี่ยนใจไม่ทำตามแผนของเทวทัต

ครั้งที่สองเทวทัตลงมือเอง ปีนเขากลิ้งก้อนหินลงมา หมายให้ทับพระพุทธองค์ ด้วยพุทธานุภาพ ก้อนหินกระเด็นไปกระทบชะง่อนผา กลิ้งไปทางอื่น แต่สะเก็ดหินกระเด็นไปต้องพระบาท ทำให้พระโลหิตห้อ

ครั้งที่สาม สั่งปล่อยช้างนาฬาคิรี ช้างทรงที่กำลังตกมัน หมายจะให้ไปสังหารพระพุทธองค์ ขณะเสด็จออกบิณฑบาต ในเมืองราชคฤห์ เช้าวันหนึ่ง ด้วยพุทธานุภาพอีกเช่นกัน ช้างตกมันเมื่อไปใกล้พระพุทธองค์ ต้องกระแสจิตอันประกอบด้วยพระเมตตา ถึงกับหยุดชะงัก หมอบลงถวายบังคมแทบยุคลบาท พระพุทธองค์ทรงลูบกระพองมันเบาๆ พลางมีพระพุทธกระแสรับสั่งสองสามประโยค พญาคชสารลุกขึ้น เดินกลับไปยังโรงช้างอย่างสงบ

เหตุการณ์ทั้งสามครั้งนี้ ไม่ระบุว่าพระเจ้าอชาตศัตรูรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ เข้าใจว่าคงไม่ เพราะบังอาจคิดร้ายต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเสียงบอกต่อๆ กันว่า ใครจะเสียอีก ก็พระเทวทัตนั่นแหละเป็นตัวการ

นายขมังธนู ก็พระเทวทัตส่งไป ผู้ที่กลิ้งหินหมายทับพระพุทธองค์ ก็พระเทวทัต คราวนี้ชั่วร้ายถึงกับสั่งปล่อยช้างตกมันไปสังหารพระพุทธองค์ คน เอ๊ย พระอะไรช่างใจโหดใจเหี้ยมปานนี้

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงตกพระทัยมากที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ทรงรู้สึกพระองค์ทันทีว่า เพราะคบพระเทวทัตแท้ๆ ที่ทำให้พระองค์ถลำลึกสู่ห้วงบาป ยากจะถอนได้ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่า "พ่อบังเกิดเกล้า" ของพระองค์เอง ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์มา ไม่เคยมีความสงบ โปร่ง โล่งพระราชหฤทัยเลย บรรทมไม่หลับสนิท มีอันต้องผวากลางคืนทุกที คราวนี้เกิดเรื่องใหญ่ถึงขั้นปองร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเกิดสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์จริง บาปอันใหญ่หลวงนั้น ก็ต้องตกมาถึงพระองค์แน่นอน แม้ว่าจะไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย แต่พระองค์ก็เป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องนี้ เพราะช้างทรงเป็นของพระองค์ ยากจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ ดีว่าพระพุทธองค์ไม่ทรงเป็นอะไร

ทรงนึกมาถึงตรงนี้แล้วก็เสียววูบในพระราชหฤทัย จึงทรงคิดตัดไฟแต่ต้นลม คือเลิกคบพระเทวทัต ประกาศถอนความอุปถัมภ์ทุกอย่างที่เคยพระราชทานให้พระเทวทัตและบริษัทบริวาร

พระเทวทัตถูกตัดขาดจากพระเจ้าอชาตศัตรู เสมือนนักมวยถูกต้อนเข้ามุม หนีไม่ได้แล้ว มีทางเดียวหลับหูหลับตาปล่อยหมัดออกไป ถูกคู่ต่อสู้หรือไม่ก็ต้องเสี่ยง ฉันใดฉันนั้น จะให้ถอยหรือ คงยากเสียแล้วเพราะมาไกลสุดกู่แล้ว จึงวางแผนการสุดท้าย เข้าไปยื่น "เงื่อนไข" ๕ ประการแด่พระพุทธองค์ เช่น ขอให้ห้ามพระฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ให้อยู่โคนไม้ อยู่ป่า ถือผ้าบังสุกุลเป็นนิตย์ เป็นต้นถูกพระพุทธองค์ปฏิเสธ

พระองค์ตรัสว่า อย่าออกเป็นกฎเกณฑ์เลย ใครอยากอยู่โคนไม้ อยู่ป่า เป็นต้นก็ขอให้เป็นความต้องการส่วนตัวเถอะ ชีวิตพระสงฆ์เนื่องด้วยชาวบ้าน จะไปกำหนดฉันสิ่งนั้น ไม่ฉันสิ่งนี้ จะสร้างความลำบากให้ชาวบ้าน กลายเป็นคนมากเงื่อนไข เลี้ยงยากไป

พระเทวทัตประกาศก้องว่า ท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่าทรงสรรเสริญการปฏิบัติขัดเกลา ครั้นเราเสมอแนวทางขัดเกลายิ่งขึ้นกลับปฏิเสธ แสดงว่าพูดแต่ปาก ใครเห็นด้วยกับเรา ตามเรามา ว่าแล้วก็เดินออกจากที่ประชุม มิไยพระพุทธองค์จะทรงตักเตือนว่าอย่าทำกรรมหนักก็ไม่ยอม พระบวชใหม่จำนวนห้าร้อยรูป ยังไม่รู้พระธรรมวินัยดี เห็นว่าเทวทัตพูดเข้าทีจึงเดินตามออกไป

เทวทัตได้ประกาศแยกตัวออกจากสังฆมณฑล แยกทำอุโบสถสังฆกรรม ได้ทำ "สังฆเภท" (ทำสงฆ์ให้แตกกัน) ตั้งแต่บัดนั้นแล



ปางประทานอภัย (๓)
เมื่อมีพระบวชใหม่จำนวนห้าร้อยรูปตามไปอยู่ด้วย ทำให้เทวทัตเหิมเกริม กระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนมีบารมี มีสมัครพรรคพวกไม่น้อย อย่างนี้จะวางโปรเจ็กต์อะไรก็คงสำเร็จ อย่าว่าแต่สร้างเจดีย์มหึมามีพระพุทธรูปล้อมรอยเป็นหมื่นๆ องค์เลย อะไรทำนองนั้น

แต่เทวทัตก็ดีใจได้ไม่นาน พระทั้งห้าร้อยรูปนั้นถูกพระสารีบุตรอัครสาวกมาชี้แจงว่าอะไรถูก อะไรผิด เกิดความเข้าใจภายหลังว่าพวกตนหลงผิดไปแล้ว จึงกลับไปสู่ "อ้อมอก" พระบรมศาสดาตามเดิม

เหลืออยู่กับเทวทัตก็แต่ โกกาลิกะ กับอีกสองสามรูป โกกาลิกะนั้นว่ากันว่าเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาไปในตัว เห็นอาจารย์ของตนประมาท ปล่อยให้ลูกน้องกลับไปหาพระพุทธเจ้าอีก ก็โกรธ เกิดการต่อว่าต่อขานกันขึ้น โกกาลิกะบันดาลโทสะ เอาเข่ากระทุ้งยอดอกอาจารย์ จนกระอักโลหิต ตำราเขียนถึงขนาดนั้นนะครับ

ว่ากันว่าที่เทวทัตป่วยในเวลาต่อมาก็เพราะสาเหตุนี้ด้วย คงตรอมใจด้วย ท้ายสุดเมื่อสำนึกผิด ให้ศิษย์หามไปยังพระเชตวัน เพื่อขอขมาพระพุทธองค์ แต่ไม่ทันถึง ก็ถูกแผ่นดินสูบที่หน้าพระเชตวัน ดังที่ทราบกันดีแล้ว

กล่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรู ตั้งแต่ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว บรรทมไม่หลับสนิทตลอดมา มีอันต้องผวาตื่นกลางดึกทุกครั้ง บาปมหันต์เป็นดุจตะปูตรึงใจ คิดขึ้นมาทีไรก็เสียวแปลบทุกครั้ง ณ ราตรีหนึ่ง พระจันทร์เพ็ญเต็มดวง ส่องแสงนวลใย น่ารื่นรมย์ยิ่ง พระเจ้าอชาตศัตรู ประทับท่ามกลางเหล่าเสนามาตย์ ทรงเปรยขึ้นว่า ราตรีอันมีพระจันทร์เพ็ญส่องแสงสว่างนวลใยเช่นนี้ เราควรจะไปสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์ท่านใด ให้จิตใจสงบดีหนอ"

มหาอำมาตย์คนที่หนึ่งกราบทูลว่า "ขอเดชะ ปูรณะ กัสสปะ เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิที่รู้แจ้ง เห็นจริง ข้าพระพุทธเจ้า คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ควรไปสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ปูรณะ กัสสปะ พ่ะย่ะค่ะ"

มหาอำมาตย์คนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่ คนที่ห้า คนที่หก ต่างก็กราบทูลเอ่ยนาม คณาจารย์อื่นอีก ห้าท่าน คือ มักขลิ โคสาละ, อชิตะ เกสกัมพล, ปกุธ กัจจายนะ, นิครนถ์ นาฏบุตร และสัญชัย เวลัฏฐบุตร ตามลำดับ ว่าแต่ละท่านล้วนเป็นสัพพัญญู รู้แจ้งเห็นจริงจะสามารถดับความร้อนพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวได้


แต่พระเจ้าอชาตศัตรูประทับนิ่ง ไม่มีพระราชกระแสรับสั่งต่อแต่ประการใด ทรงหันมายังหมอชีวกโกมารภัจจ์ ผู้นั่งสงบอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ ตรัสถามว่า "ชีวก เธอไม่เสนออะไรหรือ"

หมอชีวกโกมารภัจจ์ กราบทูลว่า "ขอเดชะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ขณะนี้ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของข้าพระพุทธเจ้า พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนห้าร้อยรูป พระเจ้าข้า"  



ปางประทานอภัย (จบ)
พอได้ยินพระนามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงนึกขึ้นมาได้ว่า พระองค์อยากเข้าเฝ้านานแล้ว แต่พระเทวทัต อาจารย์ของพระองค์ทรงกีดกันไม่ให้เฝ้า จนกระทั่งพระองค์ถลำสู่ห้วงบาปลึกปานฉะนี้ บัดนี้ถึงเวลาที่จะไปเฝ้าฟังธรรมจากพระองค์

จึงทรงมีพระราชบัญชาให้หมอชีวกโกมารภัจจ์นำเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ราตรีนั้นทีเดียว หมอชีวกนำเสด็จเข้าไปยังสวนมะม่วงของตน ผ่านต้นมะม่วงซึ่งเรียงรายกันเต็มสวน มีเพียงแสงสลัวๆ ของดวงจันทร์ ลอดผ่านระหว่างต้นมะม่วงแต่ละต้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงระแวงว่าหมอชีวกจะหลอกมาปลงพระชนม์ จึงกระโดดจับแขนหมอชีวก ตวาดเสียงดังว่า "ชีวก แกลวงเรามาฆ่าหรือ"

หมอชีวกโกมารภัจจ์ ปรามเบาๆ ว่า "อย่าเอ็ดไป พระเจ้าข้า จะรบกวนพระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข ขอให้พระองค์ทอดพระเนตรไปข้างหน้าให้ดีๆ เถิด พระเจ้าข้า"

เมื่อสายพระเนตรพระเจ้าอชาตศัตรูชินกับความมืดแล้ว ทอดพระเนตรไปยังข้างหน้า ภาพแห่งพระสงฆ์จำนวนร้อยๆ นั่งห้อมล้อมพระพุทธองค์ ปรากฏให้เห็นเป็นที่มหัศจรรย์ มหัศจรรย์ที่ที่คนเป็นร้อย ไม่มีแม้แต่เสียงเคลื่อนไหว ไม่มีเสียงกระแอมกะไอเลย

พระเจ้าอชาตศัตรู สาวพระบาทไปใกล้ๆ เมื่อจวนถึงที่ประทับก็ทรงคลานเข้าไป กราบถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ทรงเปล่งอุทานด้วยความตื้นตันในพระราชหฤทัยว่า

"ขอให้อุภัยภัททะ ของหม่อมฉันมีความสงบอย่างนี้เถิด"

อุภัยภัททะ เป็นพระนามของพระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูครับ

ตรงนี้มีข้อน่าสังเกตคือ คนเราเวลาได้ประสบพบเห็นอะไรดีๆ ก็มักจะนึกถึงคนที่ตัวรักที่สุด คือบุตร และภรรยา ไม่ต้องสงสัยว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรักพระราชโอรสมาก เมื่อได้สัมผัสกับความสงบที่ไม่เคยได้รับมาก่อนในชีวิต จึงอยากให้ "ลูกรัก" ของพระองค์เอง ได้เป็นอย่างนี้บ้าง

แต่อุภัยภัททะ ก็หามีความสงบไม่ ได้ทำปิตุฆาต ยึดราชบัลลังก์ของเสด็จพ่อ ดำเนินตามรอยเสด็จพ่อไม่ผิดเพี้ยน ว่ากันว่าราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์อัปมงคล ลูกฆ่าพ่อติดต่อกันถึง ๗ รัชกาล จนประชาชนทนต่อไปไม่ไหว ลุกฮือขึ้นล้มราชวงศ์ สถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นแทน ว่ากันอย่างนั้น

พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบขอขมาพระพุทธเจ้า ในความผิดมหันต์ที่พระองค์ได้ทรงกระทำว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันได้กระทำอันหนัก ด้วยการปลงพระชนม์พระราชบิดา เพราะได้บาปมิตร มิตรชั่วเช่นพระเทวทัต ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นขึ้น หม่อมฉันนอนหลับไม่สนิทตลอดมา มีความทุกข์โทมนัสเป็นอย่างยิ่ง หม่อมฉันได้ผิดต่อพระผู้บังเกิดเกล้า ผิดต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ไม่ได้มีโอกาสสดับตรับฟังพระพุทธโอวาท จนก้าวถลำพลาดในชีวิตอย่างใหญ่หลวง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันใคร่ขอกราบประทานอภัยในความผิดที่หม่อมฉันได้กระทำครั้งนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ตรัสว่า มหาบพิตร ตถาคตอภัยให้ในความผิดพลาดที่แล้วมา ต่อไปในกาลข้างหน้า มหาบพิตรพึงสำรวมระวังอย่าได้กระทำความผิดเช่นนั้นอีก

เมื่อพระพุทธเจ้าประทานอภัยให้แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูก็แช่มชื่นพระราชหฤทัย ทรงสดับพระธรรมเทศนาอันบันทึกในภายหลังว่า "สามัญญผลสูตร" (พระสูตรว่าด้วยผลของการบวชประพฤติพรหมจรรย์) จบแล้วได้ปฏิญาณถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกตลอดพระชนม์ชีพ

พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงทำประทักษิณ พระพุทธองค์เสด็จดำเนินถอยหลังออกไป จนล่วงทัศนวิสัยแล้วจึงผินพระปฤษฎางค์ให้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ เป็นการแสดงความเคารพสูงสุดต่อพระรัตนตรัย ด้วยประการฉะนี้





ปางชี้อสุภะ (๑)

เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงมา พระหัตถ์ขวาทรงชี้พระดรรชนีไปข้างหน้า ว่ากันว่าทรงชี้ไปที่ศพอดีตสาวงามนางหนึ่ง นางนั้นชื่อเรียงเสียงใด ติดตามผมมา ณ บัดนี้

เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์นั้น ในพระนครราชคฤห์มีนางนครโสเภณีนางหนึ่ง ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งสูงส่ง เพื่อเป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่เมือง นามว่า สาลวดี

ช้าก่อนครับ บางท่านอาจจะแย้งขึ้นมาว่า ตำแหน่งนครโสเภณี ไฉนไยจึงเป็นตำแหน่งมีเกียรติเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมือง สงสัยเช่นนั้นใช่ไหมครับ เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ สมัยนั้นเมืองไพศาลี แห่งแคว้นวัชชี ของพวกกษัตริย์ลิจฉวี เป็นแห่งแรกที่สถาปนาตำแหน่งนครโสเภณีขึ้นมา

ปรากฏว่ากษัตริย์ผู้ครองนครน้อยใหญ่ ตลอดจนพ่อค้าวาณิชผู้มั่งคั่ง ต่างก็เดินทางไปแสวงหาความสุขสำราญ จากสำนักโสเภณีเมืองไพศาลีไม่ขาดสาย เงินตราสะพัด ทำให้เมืองไพศาลีมั่งคั่งทันตาเห็น นางนครโสเภณีกลายเป็นตำแหน่งที่ดึงดูดเงินตราเข้าประเทศอย่างคาดไม่ถึง ไพศาลีกลายเป็น amazing Vaisali ด้วยประการฉะนี้

พระเจ้าพิมพิสารก็คงเป็นหนึ่งในจำนวนผู้นำเงินเข้าประเทศนี้ ด้วยปรากฏว่ามีบุตรอันเกิดจากนางนครโสเภณีเมืองนี้หนึ่งคน ผู้เป็นแม่ส่งไปยังราชสำนักเมืองราชคฤห์ พร้อมมอบธำมรงค์ที่ได้ประทานจากพระเจ้าพิมพิสารเป็นประจักษ์พยาน พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงรับเด็กน้อยนั้นไว้ในราชสำนัก เมื่อเติบโตแล้วเด็กน้อยคนนั้นได้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

พระเจ้าพิมพิสารทรงคิดเอาอย่างเมืองไพศาลี จึงทรงคัดเลือกสาวงามผู้มีความรู้และความสามารถนางหนึ่ง นามว่าสาลวดี สถาปนาในตำแหน่งนครโสเภณี (ตามศัพท์แปลว่า ผู้ยังเมืองให้งาม หรือนางงามเมือง) เป็นศักดิ์เป็นศรีและเป็นเครื่องดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ

พระเจ้าพิมพิสารเองก็คงเป็น "ขาประจำ" ของนางนครโสเภณีคนนี้เหมือนกัน ตำราอรรถกถา "กระซิบ" ว่า นางมีบุตรชายที่เกิดด้วยความเผอเรอคนหนึ่ง แล้วนำไปทิ้งไว้ใกล้ประตูพระราชวัง เจ้าชายอภัยเสด็จมาพบเข้า นำไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม เด็กน้อยคนนี้ต่อมาเป็นนายแพทย์ที่มีชื่อเสียง นามว่า ชีวกโกมารภัจจ์ ว่ากันว่าเป็นโอรสลับๆ ของพระเจ้าพิมพิสาร

หมอชีวกมีน้องสาวคนหนึ่งชื่อ สิริมา ไม่บอกว่าเกิดจากใคร เพราะเมื่อเกิดมาแล้วแม่ไม่นำไปทิ้ง เลี้ยงดูอย่างดี หวังจะให้สืบทอดตำแหน่งนครโสเภณีแทนตน และต่อมานางสิริมาก็ได้ตำแหน่งนี้จริงๆ

ตอนหลังนางสิริมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ บรรลุโสดาปัตติผล ถวายตนเป็นพุทธสาวิกา ผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย นางทำบุญตักบาตรทุกวัน วันละหลายรูป พระภิกษุหนุ่มเณรน้อยไปรับบิณฑบาตที่บ้านนางเป็นประจำ ต่างก็กล่าวสรรเสริญในความงาม และความใจบุญสุนทานของนาง

ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งได้ยินกิตติศัพท์ของนาง อยากยลโฉมขึ้นมาทันที เพื่อนพระด้วยกันต่างก็ชมว่านางสิริมาสวย อยากเห็นจังเลยว่างามขนาดไหน

ขอพักฉากนี้ไว้ก่อน ขอย้อนเล่าถึงเจ๊หวี เอ๊ย ภริยาของเศรษฐีนางหนึ่งนามว่า อุตตรา นางเป็นอุบาสิกาผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย แต่สามีของนางไม่นับถือพระพุทธศาสนา ศัพท์ทางพระเรียกว่าเป็น "มิจฉาทิฐิกบุคคล" (แปลว่าบุคคลผู้มีมิจฉาทิฐิ) ตั้งแต่แต่งงานมาอยู่กับตระกูลสามีไม่มีโอกาสได้ทำบุญตักบาตรเลย จึงส่งข่าวไปบอกปุณณกะเศรษฐี ผู้เป็นบิดา พร้อมขอเงินจำนวนหนึ่งเพื่อมาดำเนินการตามแผนของตน

แผนของนางก็คือ จะจ้างนางนครโสเภณีมาบำรุงบำเรอสามีแทนตน ตนเองจะได้มีโอกาสเข้าวัดฟังธรรม เมื่อได้เงินจากบิดามาแล้วก็ไปว่าจ้างนางสิริมาให้มาอยู่คอยปรนนิบัติสามี โดยความเห็นชอบของสามี นางขอเวลาเข้าวัดฟังธรรมกึ่งเดือน

สามีก็ดีใจสิครับ ที่มีสตรีสาวสวยรวยเสน่ห์มาคอยปรนนิบัติเอาใจ ข้างฝ่ายนางสิริมาแรกๆ ก็ทำตัวในฐานะ "ภรรยาชั่วคราว" ตามสัญญาว่าจ้าง แต่พออยู่ไปๆ ชักชอบ อยากอยู่บ้านนี้นานๆ เสียแล้ว

พอดีวันนั้น (ก็วันที่เกิดเหตุนั่นแหละครับ) เป็นวันที่ ๑๕ วันสุดท้ายแห่งสัญญาว่าจ้าง นางอุตตราเข้าครัวตระเตรียมอาหารเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น เนื้อตัวขะมุกขะมอมด้วยเหงื่อและเถ้าถ่าน สามีของนางมองลงมาจากคฤหาสน์เห็นนางอุตตราตัวมอมแมมเช่นนั้น ก็นึกสมเพชในใจว่า "อุตตราเธอช่างโง่จริงๆ อยู่เป็นคุณนายของอาเสี่ยอย่างเราดีๆ ไม่ชอบ ชอบทำตนเป็นแม่ครัวตัวขะมุกขะมอมเชียว"

นึกแล้วก็ยิ้ม นางอุตตราหันไปเห็นสามียิ้มก็ยิ้มด้วย แล้วก็หันมาสาละวนอยู่กับการหุงต้ม ตระเตรียมอาหารเพื่อถวายพระพรุ่งนี้



ปางชี้อสุภะ (๒)
นางสิริมาหันมาเห็นสามีชั่วคราวของตน ยิ้มให้นางอุตตราก็โกรธ ตอนนี้เธอลืมตัวนึกว่าเป็นภรรยาจริงๆ ของเศรษฐีหนุ่ม ด้วยอารมณ์โกรธ อารมณ์หึง จึงแล่นเข้าไปในครัว เอาทัพพีตักน้ำมันที่กำลังเดือด ปรี่เข้ามาจะเทราดนางอุตตรา

นางอุตตรา ตั้งสติทัน แผ่เมตตาจิตไปยังนางสิริมาว่า นางมีบุญคุณใหญ่หลวงต่อเรา ที่มาช่วยรับภาระดูแลสามีแทนเราชั่วคราว หาไม่เราคงไม่มีโอกาสทำบุญทำทานอย่างนี้ เราไม่โกรธนาง ขอให้นางจงเป็นสุขๆ เถิด อย่ามีเวรมีภัยแก่กันและกันเลย

นางสิริมาเทน้ำมันที่เดือดพล่านนั้นรดนางตั้งแต่ศีรษะลงไปจนทั่วตัว น่าประหลาดน้ำมันที่ร้อนแสนร้อนนั้น กลับกลายเป็นดังหนึ่งน้ำหอมที่ชโลมร่างกายนาง บรรดาคนครัวทั้งหญิงและชายเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ต่างก็ฮือกันเข้ามาจะทำร้ายนางสิริมา นางอุตตราได้ห้ามปรามไว้ "อย่าทำร้ายเพื่อนรักของเราเลย ปล่อยนางเถอะ"

นางสิริมาได้สำนึกรู้สึกชื่นชมน้ำใจนางอุตตรา ทั้งๆ ที่ตนร้ายต่อนางปานนี้ นางยังบอกว่าเราเป็นสหายรัก แถมยังห้ามปรามมิให้คนของตนทำร้ายเราอีกด้วย จึงหมอบลงแทบเท้าขออภัยโทษ

นางอุตตราบอกว่า ถ้านางรู้สึกผิดจริงๆ อย่าขอโทษฉันเลย ให้ไปขอโทษเสด็จพ่อของฉัน คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด

เมื่อนางสิริมาบอกว่าไม่รู้จักพระพุทธองค์ ไม่กล้าไปเฝ้า นางอุตตราจึงว่า "พรุ่งนี้พระพุทธองค์ก็จะเสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้านฉันอยู่แล้ว พรุ่งนี้นางได้มีโอกาสเข้าเฝ้าแน่นอน"

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาเสวยภัตตาหารพร้อมภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น นางอุตตราจึงนำนางสิริมาเข้าเฝ้า พร้อมกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทรงพระกรุณาประทานอภัยโทษให้นางสิริมา พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้ แล้วแสดงธรรมเรื่องโทษของความโกรธให้นางฟังย่อๆ ความว่า

"บุคคลพึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
พึงเอาชนะความไม่ดี ด้วยความดี
พึงเอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้
พึงเอาชนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยการพูดความจริง"

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา นางสิริมาได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล สำนวนนี้แปลว่า ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน มั่นคงในพระรัตนตรัยอย่างไม่คลอนแคลนอีกต่อไป

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้น นางสิริมาได้เปลี่ยนเป็นคนละคนกับแต่ก่อน เปลี่ยนจากคนฉุนเฉียว ก้าวร้าว เย่อหยิ่งในความสวยความงามของตน กลายเป็นผู้สงบเสงี่ยม มั่นคงในพระรัตนตรัย ใจบุญสุนทาน ทำบุญใส่บาตรทุกวัน วันละหลายรูป ดังกล่าวมาข้างต้น

จนกระทั่งเกิดเหตุ มีภิกษุหนุ่มหลงรักเธอหัวปักหัวปำ เรื่องราวโดยพิสดารควรจะเป็นตอนสองนะ ขอรับ

เมื่อภิกษุหนุ่มทราบว่านางสิริมาสวยงามมาก จึงอยากเห็นด้วยตาตนว่างามจริงดังคำเล่าลือหรือไม่ รุ่งเช้าวันหนึ่ง จึงห่มจีวร อุ้มบาตร มุ่งตรงไปยังนิเวศสถานของนางสิริมา เพื่อรับบาตร (ความรับข้าวนั้นเป็นจุดหมายรอง จุดหมายหลักคือ อยากจะเห็นจะจะกับตาว่าจะเลิศสะแมนแตนแค่ไหน)

บังเอิญวันก่อนนั้น หลังจากนางใส่บาตรพระรูปสุดท้ายเสร็จ ก็รู้สึกไม่สบาย จึงนอนพักตลอดทั้งวัน รุ่งเช้าวันใหม่ก็ยังไม่หาย แต่ก็ยังให้คนใช้พยุงมาใส่บาตรจนเสร็จ

พระหนุ่มมองเห็นนางสิริมา อยู่ในสภาพอิดโรย มิได้ผัดหน้าทาแป้งอะไร เพราะกำลังป่วย แค่นี้ก็ตะลึงแลแล้ว "โอ แม้ป่วยไข้นางยังสวยงามปานนี้ ในยามไม่ป่วยไข้จะงามปานใด"

พูดแบบภาษาวรรณคดีก็ว่า พระภิกษุหนุ่มถูกศรรักแห่งกามเทพปักฉึกเข้าที่กลางดวงใจเสียแล้วละครับ เธอรับอาหารบิณฑบาตแล้ว เดินซึมกลับวัดไปถึงกุฏิก็วางบาตรไว้ข้างตัว นอนคลุมโปง ครางฮือๆ อยู่คนเดียว

เพื่อนภิกษุด้วยกันเห็นอาการแปลกประหลาดเช่นนั้น ก็พากันมาถามไถ่ เธอมิได้ปริปากพูดอะไร นอกจากส่งเสียงครางลอดจีวรออกมา

เพื่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สันนิษฐานเอาว่า พระหนุ่มคงหลงรักนางสิริมาเข้าเต็มเปาแล้ว จึงช่วยกันปลอบโยน ปลอบอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงต่างก็ผละไป



ปางชี้อสุภะ (จบ)
ว่ากันว่าพระหนุ่มเป็นอยู่อย่างนี้หนึ่งวันหนึ่งคืน ไม่พูดไม่จากับใคร ไม่ฉันอาหาร พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระคันธกุฎี ทรงทราบด้วยพระญาณว่าเกิดอะไรขึ้นกับภิกษุหนุ่ม แต่ก็ไม่ตรัสอะไร

ทรงทราบว่านางสิริมาสิ้นชีวิตในคืนวันที่เธอออกมาใส่บาตรนั้นแล พระพุทธองค์จึงมีพุทธบัญชาไปยังพระเจ้าพิมพิสารว่า อย่าเพิ่งเผาศพนางสิริมา ให้นำศพไปไว้ที่ "อามกสุสาน"

อามกสุสาน อ่านว่า "อา-มะ-กะ-สุ-สาน" แปลว่าป่าช้าผีดิบ อธิบายว่า ป่าช้าที่เขาเอาศพมาทิ้งไว้ ไม่เผา ปล่อยให้เป็นอาหารของแร้งกา บางท่านกล่าวว่า เป็นการให้ทานแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยแน่ะ

พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงให้จัดการตามพุทธบัญชา พระพุทธองค์ให้ประกาศป่าวร้องไปทั่วว่าวันนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จไปชมนางสิริมา ใครอยากไปขอให้เตรียมตัวโดยเสด็จ

เพื่อนภิกษุรูปหนึ่งไปบอกภิกษุหนุ่มที่นอนซมเพราะไข้รักรูปนั้น พอได้ยินคำว่า "สิริมา" เท่านั้น ก็โดดผึงออกจากที่นอน เทข้าวบูดในบาตรทิ้ง ล้างบาตรและเช็ดจนแห้งแล้ว ก็นุ่งสบงทรงจีวร ผลุนผลันลงจากกุฏิไป เดินตามขบวนเสด็จไปห่างๆ

พระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินไปยังป่าช้าผีดิบ ทรงยืนใกล้ๆ ศพนางสิริมา แล้วมีพุทธบัญชาให้ประกาศว่า "ใครอยากได้ร่างนางสิริมาไปเชยชม ให้จ่ายหนึ่งพันกหาปณะ"

ทั้งหมดเงียบ ไม่มีใครรับ ทรงให้ประกาศอีกว่า "ใครให้ห้าร้อยกหาปณะ เอาร่างนาง สิริมาไปครองได้เลย"

เงียบอีก
     "สองร้อยห้าสิบกหาปณะ"
     "สองร้อยกหาปณะ"
     "หนึ่งร้อยกหาปณะ"
     "ห้าสิบกหาปณะ"
     "ยี่สิบกหาปณะ"
     "สิบกหาปณะ"
     "ห้ากหาปณะ"
     "หนึ่งกหาปณะ"

ไม่มีเสียงตอบแม้แต่ครั้งเดียว จนกระทั่งลดราคาลงตามลำดับ จากกหาปณะเป็นบาท มาสก กากณิกเทียบกับเงินไทยก็ว่า จากบาทลงเป็นสลึง จากสลึงลงเป็นเฟื้อง เป็นไพ อะไรทำนองนั้น ก็ยังไม่มีใครแสดงความจำนงจะรับนางสิริมาไปเลย

ในที่สุดให้ประกาศว่า "ใครอยากได้เปล่าๆ เอาไปเลย"

เงียบเหมือนเดิม เรียกว่าเงียบฉี่ หรือเงียบเป็นเป่าสาก ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธองค์ทรงผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรภิกษุหนุ่มชั่วขณะ แล้วทรงชี้ไปที่ศพนางสิริมาแล้วตรัสเปรยๆ ขึ้นในที่ประชุมนั้นว่า "ดูเอาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงดูมาตุคามที่เป็นที่รักที่ปรารถนาของปวงชนนามว่าสิริมานี้ แต่ก่อนเมื่อสมัยเธอยังมีชีวิตอยู่ ชาวพระนครนี้ให้ทรัพย์พันกหาปณะ เพียงเพื่ออภิรมย์กับเธอเพียงคืนเดียว บัดนี้แม้ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีใครปรารถนา รูปร่างที่งามเห็นปานนี้ถึงความสิ้นและความเสื่อมไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงดูร่างกายนี้ อันเป็นของปฏิกูลเน่าเหม็น ดูให้เห็นสัจจะความจริงแห่งสังขาร"

พระองค์ได้ตรัสคาถา (โศลก) บรรยายธรรมสั้นๆ ว่า
     "จงดูอัตภาพร่างกายที่ว่าสวยงามนี้เถิด
     เต็มไปด้วยแผล สร้างด้วยกระดูก
     มากด้วยโรค มากด้วยความครุ่นคิดปรารถนา
     หาความยั่งยืนถาวรมิได้แม้แต่น้อยนิด"

กิริยาอาการที่ทรงชี้พระดรรชนีไปยังศพของนางสิริมา เพื่อตรัสสอนภิกษุหนุ่มนี้แลเรียกว่าทรงชี้อสุภะ คือชี้ให้เห็นความไม่งามของร่างกาย ชาวพุทธจึงได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งเหตุการณ์นี้ เรียกว่า ปางชี้อสุภะ

ภิกษุหนุ่มได้ตื่นจากภวังค์ พิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มีนาคม 2559 19:19:28 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #23 เมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2559 19:02:29 »



ปางทรงเครื่อง (๑)

พระพุทธรูปทรงเครื่องนี้ส่วนมากได้อิทธิพลมาจากฝ่ายมหายาน ผมไปประเทศที่นับถือมหายานมาหลายประเทศ อาทิ ทิเบต ภูฏาน มองโกเลีย จีน ได้เห็นพระพุทธรูปทรงเครื่องมามากมาย ในสายเถรวาทเราไม่ค่อยนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง เห็นมีแต่ "ปางทรงเครื่อง" ปางนี้ปางเดียวที่เป็นที่รับรู้กันในหมู่ชาวพุทธรุ่นก่อนๆ

เรียกกันว่า พระพุทธรูปปางโปรดพระยาชมพูบดี ต้นเหตุเกิดพระพุทธรูปปางนี้ ก็เล่าเป็นตำนานที่หาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ เรื่องราวก็พิลึกพิลั่นน่าดู ลองฟังดูสิครับ

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์นั้น ไกลออกไปจากเมืองราชคฤห์ ๖๐ โยชน์ มีเมืองหนึ่งมีนามปัญจานคร อันมีพระเจ้าชมพูบดีครอบครอง พระราชาพระองค์นี้เป็นกษัตริย์ที่มีศักดานุภาพมาก ทรงมีของวิเศษ ๓ ประการ คือ ศรวิเศษ นามว่า "วิษสร" ๑ ฉลองพระบาทแก้ว ๑ จักรแก้ว ๑ ทั้งสามอย่างนี้เป็นของวิเศษ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ทำตามคำสั่งของเจ้าของได้ทุกประการ

วันหนึ่งพระเจ้าชมพูบดี (ตำนานไทยเรียกว่า "พระยาชมพูบดี" เพราะฉะนั้นต่อไปขอเรียกตามนี้) ทรงฉลองพระบาทแก้วเหาะผ่านมายังเมืองราชคฤห์ ทอดพระเนตรเห็นปราสาทราชมณเทียร ของพระเจ้าพิมพิสารสวยสดงดงามมาก จึงทรงอิจฉาในบุญญาธิการของพระเจ้าพิมพิสาร

"ปราสาทราชวังกษัตริย์องค์ใดหนอ ช่างสวยงามปานนี้ มันสวยกว่าของข้า อย่าเอาไว้เลย แสลงตาเปล่าๆ ว่าแล้วก็เหาะต่ำลงมา เหยียบยอดปราสาท กระทืบเต็มแรง ด้วยพุทธานุภาพที่รักษาพระราชวังในฐานะที่เจ้าของปราสาทคือพระเจ้าพิมพิสารเป็นอริยสาวกของพระพุทธองค์ ปราสาทจึงไม่กระเทือนแต่อย่างใด ตรงข้ามพระบาทของพระยาชมพูบดีกลับมีพระโลหิตไหลโซม

พระยาชมพูบดีเจ็บพระบาทยิ่ง ทรงพิโรธ ชักพระแสงขรรค์ออกฟันยอดปราสาทเต็มพระกำลัง ก็หาทำให้ยอดปราสาทหักทำลายไม่ พระแสงขรรค์กลับบิดงอใช้การไม่ได้ พระยาชมพูบดีจึงรีบเสด็จกลับ แผลงวิษสรออกไปเพื่อให้วิษสรไปร้อยพระกรรณเจ้าของปราสาทมาหมอบแทบพระบาทให้ได้

วิษสรแล่นออกไปอย่างรวดเร็ว ค้นหาเจ้าของปราสาท พร้อมส่งเสียงก้องกัมปนาทน่าสะพรึงกลัว พระเจ้าพิมพิสารได้ยินเสียงก้องกัมปนาท ก็ตกพระทัยรีบเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ายังพระเวฬุวันเพื่อขอประทานความคุ้มครอง

วิษสรติดตามพระเจ้าพิมพิสารไปยังพระเวฬุวัน พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพุทธจักรแล้วส่งออกไปขับไล่ พุทธจักรมีอานุภาพยิ่งกว่า แล่นออกไปไล่ทุบวิษสรจนสิ้นฤทธิ์ วิษสรสู้ไม่ได้ก็กลับไปยังเมืองปัญจาละ พระยาชมพูบดีทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงพิโรธเป็นสองเท่า จึงถอดฉลองพระบาททั้งคู่ขว้างออกไป สั่งให้ไปจับเจ้าของปราสาทมัดนำมาหาพระองค์ให้ได้

ฉลองพระบาทแก้วทั้งคู่กลายเป็นพญาวาสุกรีนาคราช แล่นเลื้อยไปในนภากาศ ค้นหาพระเจ้าพิมพิสารไปจนถึงวัดพระ เวฬุวันก็จะจู่โจมเข้าจับ พระพุทธองค์ทรงเนรมิตเป็นพญาครุฑให้บินโฉบไปจิกตีพญานาคราชจนพ่ายแพ้ นาคราชกลับคืนสู่พระนครปัญจาละ ตกลงต่อพักตร์พระยาชมพูบดีกลายเป็นฉลองพระบาทตามเดิม



ปางทรงเครื่อง (จบ)
พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยของพระยาชมพูบดีว่าจะบรรลุมรรคผลได้ จึงมีพุทธบัญชาให้ท้าวสักกะเทวราชไปเชิญเสด็จพระยาชมพูบดีมาเฝ้าพระพุทธองค์ ท้าวเธอก็จำแลงกายเป็นราชทูตผู้งามสง่า เสด็จไปยังเมืองปัญจาละในทันใด เข้าไปร้องสั่งให้พระยาชมพูบดีติดตามตนมาเสียแต่โดยดี เพราะ "เจ้านาย" ของตนต้องการให้พระยาชมพูบดีไปเฝ้า

พระยาชมพูบดีทรงพิโรธ เห็นว่าราชทูตเจรจาไม่เคารพนบนอบตน จึงทรงขว้างจักรแก้วไปสังหารทันที ท้าวสักกะเทวราชในร่างราชทูตก็ขว้างจักรของพระองค์ออกไปกำจัด กระชากพระยาชมพูบดีลงจากบัลลังก์ บันดาลให้เปลวไฟลุกไหม้ปราสาททันที สร้างความแตกตื่นแก่พระยาชมพูบดีและข้าราชบริพารทั้งปวง

เมื่อพระยาชมพูบดีรับปากว่าจะไป ไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่ก็สงบลง โดยไม่ทำอันตรายแก่ตึกรามต่างๆ แต่อย่างใด พระยาชมพูบดียังมากด้วยทิฐิมานะ ขอผัดผ่อนสักสามเดือนค่อยไปแต่ราชทูตบอกว่า ผัดผ่อนได้อย่างมากเพียงสามวัน หากถึงกำหนดแล้วไม่ไป ก็จักทำลายบ้านเมืองทั้งเมืองให้เป็นจุณวิจุณ

พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระเวฬุวัน เป็นพระราชวังอันโอ่อ่าตระการตามาก มีปราสาทสวยงาม ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วเจ็ดชั้น มีตลาดน้ำ ตลาดบก โดยพญากาฬนาคราชและนางวิมาลามเหสีมาช่วยจัดตลาดน้ำ ท้าวสักกะเทวราชพร้อมนางสุธัมมา นางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุชาดา มเหสีมาช่วยกันจัดตลาดบก พญาครุฑมาจัดตลาดเพชรนิลจินดา ตลาดทอง ตลาดเงิน ตลาดเสื้อผ้าอาภรณ์ ตลอดจนตลาดผักผลไม้ ดอกไม้นานาพรรณ เป็นที่เจริญหูเจริญตามาก

พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระองค์เป็น พระมหาจักรพรรดิราชาธิราช ทรงเครื่องครบครัน เสด็จประทับ ณ รัตนบัลลังก์

พระอัครสาวกทั้งจำแลงกายเป็นเสนาบดี ผู้ใหญ่ พระสงฆ์สาวก และภิกษุหนุ่ม สามเณรน้อย ตลอดจนภิกษุณี สามเณรี ทั้งปวง ได้กลายสภาพเป็นข้าราชบริพารระดับต่างๆ อยู่กันพร้อมหน้า

เมื่อครบเวลานัดหมาย พระยาชมพูบดี ก็เสด็จมาถึง ทรงตะลึงแลความสง่าและโอฬารของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ และพระราชวังเป็นอย่างยิ่ง ก็ครั่นคร้ามใน พระราชหฤทัย แต่ด้วยทิฐิมานะจะให้ยอมง่ายๆ กระไรได้ จึงต่อสู้เป็นครั้งสุดท้าย "เป็นไงเป็นกันวะ" อะไรทำนองนั้น

ทรงขว้างจักรแก้วออกไป หมายสังหารพระมหาจักรพรรดิที่ประทับ ณ รัตน บัลลังก์ข้างหน้า เมื่อไม่ได้ผล ก็แผลงวิษสร ออกไป ไม่ได้ผลอีก จึงขว้างฉลองพระบาทออกไป ฉลองพระบาทก็ไม่สามารถทำอะไรพระพุทธองค์ได้ พระยาชมพูบดีจึงจำต้องยอมแพ้โดยดี

พระพุทธองค์ทรงคลายอิทธาภิสังขารคืนร่างเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปราสาทราชวังกลายเป็นพระเวฬุวันวิหาร เสนาบดี และข้าราชบริพารน้อยใหญ่ ก็คืนร่างเป็นพระเถระ พระเถรี สามเณร สามเณรี กันหมด ต่างก็นั่งเฝ้าพระพุทธองค์อยู่พร้อมหน้า

เหล่าเทพทั้งหลายตลอดจนครุฑนาคา ก็กลับไปยังทิพยสถานวิมานของตน พระพุทธองค์ตรัสเทศนาสั่งสอนพระยาชมพูบดี จนเกิดความเลื่อมใสและขอบวชเป็นสาวกของพระองค์ในที่สุด

ตำนานพระพุทธรูปปางทรงเครื่องก็จบลงเพียงเท่านี้ สงสัยจะเป็น "ตำนาน" จริงๆ ใส่ไข่ (หลายใบ) ด้วย ไม่ปรากฏวี่แววว่ามีบันทึกไว้ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา





ปางโปรดอาฬวกยักษ์ (๑)

เล่าเหมือนมีตัวตนจริง ว่ายักษ์รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ส่วนมากก็มักจะจับคนกิน จะเป็นยักษ์จริงๆ หรือคนเผ่ายักษ์ที่กินคนก็แล้วแต่จะพิจารณาเอาเถอะครับ ขอเล่าพระพุทธรูปปางโปรดยักษ์นามว่า อาฬวกะ ก่อนก็แล้วกัน

ที่ป่าทึบแห่งหนึ่ง ใกล้เมืองอาฬวี มียักษ์กินคนอาศัยอยู่ วันหนึ่งพระเจ้ากรุงอาฬวี ไปล่าสัตว์ พลัดหลงกับข้าราชบริพาร เข้าป่าทึบไปพระองค์เดียว ถูกยักษ์นามว่าอาฬวกะจับไว้ นัยว่ายักษ์ตัวนี้ได้พรจากพระอิศวรเจ้า ให้จับใครก็ได้ที่พลัดหลงเข้ามานั่งใต้ต้นไทรใหญ่อันเป็นเขตหวงห้าม

พระเจ้ากรุงอาฬวีถูกยักษ์จับ กำลังจะเป็นอาหารมื้ออร่อยของยักษ์อยู่พอดี พระเจ้ากรุงอาฬวีจึงขอร้องใหยักษ์ปล่อยไปเถอะ ถ้าปล่อยไปจะหาคนมาให้ยักษ์กินวันละคน ยักษ์ขอคำมั่นจากพระเจ้ากรุงอาฬวี เห็นรับปากแข็งขันจึงปล่อยตัวไป


พระเจ้ากรุงอาฬวีก็รักษาสัญญา ส่งนักโทษเด็ดขาดไปวันละคนจนกระทั่งหมดคุก เมื่อหมดนักโทษก็สั่งให้อำมาตย์ดักจับลูกเล็กเด็กแดงใครก็ได้ส่งไปให้ยักษ์ ประชาชนทั้งหลายเกรงว่าบุตรหลานของตนรวมทั้งตัวเองด้วยจะถูกจับส่งไปให้ยักษ์ ก็พากันอพยพหนีจ้าละหวั่น

เคราะห์ยามร้าย เจ้าชายแห่งเมืองอาฬวี พระราชโอรสของพระเจ้ากรุงอาฬวีก็ถูกจับเพื่อส่งไปให้ยักษ์ (คงไม่รู้ว่าเป็นพระราชโอรสหรืออย่างไร) ณ ราตรีวันนั้นเอง พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยพระญาณ จึงเสด็จไปยังที่อยู่ ของอาฬวกยักษ์ ยักษ์ไม่อยู่ พระองค์จึงขึ้นไปประทับบนอาสนะของอาฬวกยักษ์

อาฬวกยักษ์กลับมาเห็นพระพุทธองค์ประทับสงบเหนือที่นั่งของตนก็โกรธ จึงซัดอาวุธสารพัดที่มีใส่พระองค์ ด้วยพุทธานุภาพอาวุธเหล่านั้นมิได้ระคายเคืองพระองค์แม้แต่น้อย ยักษ์โมโหจัดตวาดว่า อุเหม่ๆ สมณะท่านถืออย่างไรจึงมานั่งบนอาสนะของข้า (แหม ยักกะพากย์โขนแน่ะ)

"ลุกขึ้นเดี๋ยวนี้" ยักษ์ตะโกน

พระพุทธองค์เสด็จลุกขึ้นทันใด ยังความประหลาดใจแก่อาฬวกยักษ์เป็นกำลัง ทำไมว่าง่ายปานนั้น ว่าแล้วก็สั่งอีกว่า
"สมณะ ออกไปข้างนอก"

พระพุทธองค์เสด็จออกไปข้างนอกอย่างว่าง่าย
"กลับเข้ามา" ยักษ์อีก

พระองค์ก็เสด็จเข้ามา


ปางโปรดอาฬวกยักษ์ (จบ)
คราวนี้อาฬวกยักษ์ นึกสนุก จึงสั่งให้พระพุทธองค์เสด็จลุกขึ้นบ้าง เสด็จดำเนินบ้าง เสด็จเข้าบ้าง เสด็จออกบ้าง ตามแต่ยักษ์ชอบใจ พระพุทธองค์ก็ทรงสนองอย่างว่าง่าย อาฬวกยักษ์หัวร่อก๊ากๆ ด้วยความพอใจ

"พระสมณโคดม เป็นศาสดาของมวลมนุษย์ ไหนว่าเก่งกาจนักไง ไม่เห็นมีน้ำยาเลย เราสั่งทำอะไรก็ทำ ใครมันจะใหญ่กว่าข้า ฮ่าๆๆ"

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ยักษ์มีจิตใจอ่อนโยนลงแล้ว พอจะรับฟังเหตุผลได้ จึงทรงค่อยๆ สอนทีละนิดๆ ให้ยักษ์สะกิดใจคิด ยักษ์พิจารณาตามพระพุทธดำรัส เห็นจริงตามนั้นด้วย จึงยอมขอขมาพระพุทธองค์ที่ได้ล่วงเกิน แล้วเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พอรุ่งสางพวกราชบุรุษได้นำเจ้าชายเมืองอาฬวีมาเพื่อมอบเป็นอาหารแก่ยักษ์ ยังษ์ซึ่งบัดนี้ได้ถือศีล (เจไม่ได้กิน) แล้ว จึงมอบคืนแด่พระพุทธองค์ กราบทูลว่า บัดนี้ข้าพระองค์ไม่ทำปาณาติบาต งดเว้นจากการกระทำที่ก่อเวรแล้ว

พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาแก่อาฬวกยักษ์ พร้อมประทานพระราชกุมารคืนแก่เหล่าราชบุรุษ กิตติศัพท์ก็ฟุ้งขจรขจายไปทั่วว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาระงับภัยพิบัติอันเกิดแก่ชาวเมืองอาฬวี ทรงบันดาลให้ชาวเมืองกลับสู่ความร่มเย็นเป็นสุขเหมือนเดิมแล้ว เพราะพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นจะพรรณนา

ก่อนเสด็จกลับ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้ากรุงอาฬวีและประชาชนให้เห็นโทษของการล่วงละเมิดศีลห้าอันเป็นเหตุก่อภัยเวรแก่ตน ให้ดำรงอยู่ในกัลยาณธรรมตามสมควรแก่วิสัยของแต่ละคน แล้วก็เสด็จนิวัติยังพระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ด้วยประการฉะนี้แล

ดังที่กล่าวข้างต้น "ยักษ์" ในเรื่องนี้ ใครจะตีความอย่างไรก็ได้ แต่ใจผมผู้เขียนนึกเห็นภาพมนุษย์เผ่าหนึ่งคือ มนุษย์กินคน อันมีอยู่ทั่วไปในชมพูทวีปสมัยโน้น มนุษย์กินคนที่ชื่อว่าอาฬวกะ (เพราะมีนิเวศสถานอยู่เมืองอาฬวี) คงสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนชาวเมืองมาก พระพุทธองค์มีพระมหากรุณาจึงเสด็จไปโปรด โปรดทั้งยักษ์โปรดทั้งประชาชนชาวเมือง

พระพุทธรูปปางนี้ คงไม่แพร่หลายนัก แต่เรื่องค่อนข้างแพร่หลาย เพราะเป็นตอนหนึ่งของพุทธชัยมงคล ๘ ประการของพระพุทธเจ้า (โปรดอ่าน คาถาพาหุง ของ เสฐียรพงษ์ วรรณปก แน่ะได้ที โฆษณาหนังสือให้พี่ชายเสียเลย) พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางที่พระชานุ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นท่าแสดงธรรม





ปางป่าเลไลยก์ (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ คุ้นหูคุ้นตาชาวพุทธดีพอสมควร เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับ (แปลว่านั่ง) ห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาหงายวางบนพระชานุ ในท่าทรงรับ ทรงรับอะไร ทรงรับรังผึ้ง ที่ลิงยื่นถวาย ข้างๆ มีช้างเชือกหนึ่งหมอบชูงวง เฝ้าอยู่ด้วย

ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่า "ปางป่าเลไลย" หรือ "ป่าเลไลยก์" มาจากคำเดิมว่าปาลิเลยยกะ

อันเป็นชื่อของพญาช้าง

ในพระไตรปิฎกไม่มีลิงอยู่ด้วย มีแต่พญาช้าง แต่ในอรรถกถาได้เพิ่มลิงเข้ามาอีกตัวหนึ่ง ไม่ทราบด้วยเหตุผลใด เรื่องมีอยู่ว่า ในวัดแห่งหนึ่งในเมืองโกสัมพี มีพระเถระ ๒ รูป คือพระวินัยธร ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัยบัญญัติ และพระธรรมกถึก ผู้เชี่ยวชาญในการแสดงธรรม ทั้งสองรูปมีศิษย์รูปละจำนวนมาก อยู่ด้วยกันด้วยความสมัครสมานสามัคคีมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งวันหนึ่งก็เกิดเรื่องขึ้น

พระวินัยธรเข้าไปในวัจกุฎี (ห้องส้วม) ในเช้าวันหนึ่ง ออกมาถามว่าใครเข้าห้องน้ำก่อนผม

"ผมเอง มีอะไรหรือ" พระธรรมกถึกถาม
"ท่านเหลือน้ำไว้ในขันครึ่งหนึ่ง ทราบไหมว่าผิดพระวินัย"
"ผมไม่ทราบเลยครับ ถ้าผิดวินัย ผมขอแสดงอาบัติ" พระธรรมกถึกไม่ทราบจริงๆ เมื่อรู้ว่าต้องอาบัติก็ยินดีแสดงอาบัติ

พระวินัยธรกล่าวว่า "ถ้าท่านไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นไร ไม่ผิด" เรื่องก็น่าจะแล้วกันไป แต่ไม่อย่างนั้น หลังจากนั้นพระวินัยธรไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า พระธรรมกถึกดีแต่เทศน์สอนคนอื่นตัวเองต้องอาบัติยังไม่รู้เลย

ศิษย์พระวินัยจึงไปพูดกับศิษย์ของพระธรรมกถึก เมื่อรู้ไปถึงหูพระธรรมกถึก ท่านถึงกับ "หูร้อน" กล่าวด้วยความโกรธว่า "พระวินัยธรสับปลับ ทีแรกว่าไม่ต้องอาบัติ คราวนี้บอกว่าต้องอาบัติ พระวินัยธรก็พูดเท็จสิ ถ้าอย่างนั้นพระวินัยธรก็ต้องอาบัติฐานพูดเท็จ"

ไม่ต้องบอกก็ได้ครับ ความวิวาทบาดถลุงกันก็ลุกลามเหมือนไฟไหม้ฟาง พระสงฆ์ในวัดก็แตกออกเป็นสองฝ่าย มิใช่เฉพาะในหมู่พระสงฆ์เท่านั้น ญาติโยมก็แตกออกเป็นสองฝ่ายเช่นเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างก็ว่าตัวเองถูกอีกฝ่ายผิด

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องจึงเสด็จไปห้ามปราม มาถึงตอนนี้ พวกท่านเหล่านั้นไม่ใส่ใจในคำห้ามปรามของพระพุทธองค์เสียแล้ว ไม่ให้ความสำคัญแก่พระโอวาทที่ทรงตรัสเตือนด้วยพระมหากรุณา ตั้งหน้าตั้งตาทะเลาะกันไป ยังกับจะให้พินาศฉิบหายกันไปข้าง


ปางป่าเลไลยก์ (จบ)
พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จหลีกไปอยู่โดยลำพังพระองค์ ในป่าแห่งหนึ่งนามว่า ป่ารักขิตวัน พญาช้างเชือกหนึ่ง ละโขลงมาอยู่โดยลำพัง เห็นพระบรมศาสดาเสด็จมาประทับอยู่พระองค์เดียว จึงเข้าไปถวายบังคม ถวายการอุปัฏฐากดูแลพระองค์อย่างดี

พระคัมภีร์เล่าว่า พญาช้างหักกิ่งไม้มาทำเป็นไม้กวาด กวาดบริเวณที่ประทับให้สะอาด ทึ้งถอนต้นหญ้าไม้เล็กไม้น้อยให้เตียน ไปตักน้ำฉันน้ำใช้ถวายพระพุทธองค์ ถึงตอนเย็นก็ต้มน้ำถวายให้ทรงสรงสนาน ถามว่าช้างต้มน้ำอย่างไร ตอบว่าก็ต้มตามธรรมชาติของช้างนั่นแหละครับ คือตอนกลางวันแดดร้อนจัด เมื่อตกเย็นพญาช้างก็จะไปกลิ้งก้อนหินขนาดย่อมๆ ที่อมความร้อนไว้ ลงไปยังแอ่งน้ำเล็กๆ เมื่อก้อนหินลงไปแช่ในแอ่งน้ำ น้ำก็จะอุ่นขึ้น พอเหมาะที่พระพุทธองค์จะทรงสรงสนานได้ พญาช้างก็ไปหมอบแทบพระบาท ทำกิริยาอาการเชิญเสด็จไปสรงสนาน พระพุทธองค์ก็เสด็จไปสรงสนาน ตามคำอาราธนาของพญาช้าง

พญาช้างได้ถวายการปรนนิบัติดูแลพระพุทธองค์อย่างดีด้วยประการฉะนี้

ลิงตัวหนึ่ง เห็นช้างอุปัฏฐากพระพุทธองค์ ตนเองก็อยากจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์บ้าง ขณะคิดอยู่ว่าตนจะทำอะไรดีหนอ ก็เหลือบไปเห็นรังผึ้งเข้า จึงไปเอารังผึ้งนั้นไปถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงรับไว้แล้วก็ทรงวางไว้ข้างๆ

ลิงสงสัยว่าทำไมหนอ พระพุทธองค์จึงไม่เสวย จึงจับรังผึ้งนั้นมาพินิจดู เห็นตัวอ่อนมากมาย จึงหยิบเอาตัวอ่อนออกหมด แล้วถวายใหม่ คราวนี้พระพุทธองค์เสวย เจ้าจ๋อดีใจมากกระโดดโลดเต้นด้วยปีติปราโมทย์ ปล่อยกิ่งนี้ จับกิ่งนั้น ปล่อยกิ่งนั้น จับกิ่งโน้น ถึงคราวเคราะห์หามยามร้าย มันเกาะกิ่งไม้ผุ เลยหล่นตุ๊บลง บังเอิญอีกนั่นแหละมันหล่นลงไปยังตอไม้แห่งหนึ่งถูกตอไม้เสียบก้นตาย ตำราเล่าว่ามันตายไปเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า มักฎเทพบุตร ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายรังผึ้งแก่พระพุทธเจ้า ว่ากันอย่างนั้น

กล่าวถึงชาวเมืองโกสัมพี เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จหลีกไปแล้ว ประชาชนไม่พบพระพุทธเจ้า จึงกล่าวว่า เพราะพระสงฆ์เหล่านี้เป็นต้นเหตุ พวกเราจึงไม่มีโอกาสพบและฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ แล้วทั้งหมดจึงตกลงกันไปถวายภัตตาหารให้พระสงฆ์เหล่านั้น

เมื่อพระทั้งหลายไม่ได้อาหารบิณฑบาตจึงพากันไปขอขมาชาวบ้าน พวกเขากล่าวว่า พระคุณเจ้าต้องไปขอขมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้รับอภัยโทษจากพระพุทธองค์แล้วนั่นแหละ พวกข้าพเจ้าจึงจะถวายอาหารบิณฑบาตให้ฉันตามเดิม

ภิกษุสงฆ์เหล่านั้นจึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ในป่ารักขิตวัน โดยขอร้องให้พระอานนท์นำเข้าเฝ้าพระอานนท์ให้ท่านเหล่านั้นรออยู่ข้างนอก ตนเองเดินเข้าป่าไปเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ พญาช้างปาลิไลยก์เห็นพระภิกษุเดินมาแต่ไกล จึงเตรียมเพื่อจะไล่ให้หนีไป พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า "ปาลิเลยยกะ ปล่อยเธอเข้ามาเถิด นั่นคือภิกษุอุปัฏฐากของเรา"

พระอานนท์เข้าไปถวายบังคมแทบพระยุคลบาท เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พร้อมขอประทานโอกาสนำพระภิกษุสงฆ์ชาวเมืองโกสัมพีเข้าเฝ้าเพื่อขอขมา เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นจึงเข้าไปกราบถวายบังคม แล้วกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ยกโทษให้พวกตน

พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้ ทรงแสดงถึงโทษของความแตกสามัคคีและอานิสงส์ของความสมัครสมานสามัคคี โดยตรัสทีฆาวุชาดก ให้พวกเธอฟัง แล้วส่งพวกเธอกลับไปยังเมืองโกสัมพี

จากนั้นมาญาติโยมทั้งหลาย เมื่อรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงยกโทษให้พระสงฆ์เหล่านั้นแล้ว ก็พากันถวายอาหารบิณฑบาตแก่พวกเธอตามเดิม บรรยากาศแห่งความสมัครสมานสามัคคีก็กลับคืนมาตามเดิม ด้วยประการฉะนี้





ปางสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ จะมีคนตั้งชื่อและเขียนภาพออกมาแล้วหรือยังไม่ทราบ ถ้ายังไม่มีผมขอตั้งเองตั้งแต่วันนี้ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

สืบเนื่องมาแต่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยุรญาติแห่งศากยวงศ์ นครกบิลพัสดุ์ เหล่าศากยกุมาร อาทิ เจ้าชายอนุรุทธ เจ้าชายอานนท์ และเจ้าชายเทวทัต แห่งโกลิยวงศ์ ได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระแม่น้าของพระพุทธองค์ มีพระประสงค์อยากบวชด้วยตั้งแต่บัดนั้น แต่ยังทรงห่วงพระราชสวามี คือพระเจ้าสุทโธทนะที่ทรงพระชราภาพแล้ว จึงยังรีรออยู่

ต่อมาเมื่อพระพุทธบิดาทรงประชวรหนัก พระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระพุทธบิดา และเมื่อพระพุทธบิดาสวรรคตพระพุทธองค์ได้ถวายพระเพลิงพระพุทธบิดาเสร็จแล้วจะเสด็จกลับ พระนางมหาปชาบดีโคตมีจึงเข้าไปทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต เสด็จไปประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี

พระนางไม่ละความพยายาม จึงพร้อมด้วยขัตติยานีแห่งศากยวงศ์จำนวนหนึ่งปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ตามไปทูลอ้อนวอนขอบวชอีก

พระพุทธองค์ไม่ทรงประทานอนุญาตเช่นเดิม พระนางรู้สึกเสียใจถึงกับร้องไห้ออกมา พระอานนท์ทราบเรื่องเข้าจึงรับอาสากราบทูลพระพุทธองค์ให้ ท่านได้เข้าไปกราบทูลขอพุทธานุญาตอีกครั้ง และก็ได้รับการปฏิเสธเช่นเดียวกัน

พระอานนท์กราบทูลถามว่า "สตรีไม่มีความสามารถจะบรรลุมรรคผลหรืออย่างไร"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เพศภาวะมิใช่ข้อกีดกั้น ไม่ว่าบุรุษหรือสตรีย่อมมีศักยภาพที่จะบรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน"

"ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีอุปสมบทเล่า ในเมื่อพระนางก็มีศักยภาพที่จะตรัสรู้ธรรมเช่นเดียวกัน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าขอพระองค์โปรดให้นางอุปสมบทด้วยเถิด"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "อานนท์ ถ้านางมหาปชาบดีโคตมี จะรับครุธรรม ๘ ประการ ไปปฏิบัติได้บริบูรณ์ ตถาคตก็อนุญาต"

ครุธรรม ๘ ประการ คือ
๑.ภิกษุณีแม้จะมีพรรษาตั้งร้อย ก็พึงทำอัญชลีนมัสการภิกษุ แม้จะบวชในวันนั้น
๒.ภิกษุณี ต้องไม่อยู่ในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
๓.ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับโอวาทจากสำนักภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔.ภิกษุณีจำพรรษาแล้ว พึงปวารณาใน "สงฆ์สองฝ่าย" (คือปวารณาในหมู่ภิกษุณีแล้วมาปวารณาในหมู่ภิกษุสงฆ์อีก)
๕.ภิกษุณีต้องอยู่ปริวาสกรรม (อยู่กรรม) ในสำนักสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
๖.ภิกษุณีต้องอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย
๗.ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษ ภิกษุสงฆ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
๘.ภิกษุณี นับแต่วันอุปสมบทไป พึงสดับโอวาทจากภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ห้ามให้โอวาทภิกษุ


ปางสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ (จบ)
พระอานนท์นำครุธรรม ๘ ประการออกมาแจ้งแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางยินดีปฏิบัติทุกประการโดยไม่มีเงื่อนไข พระอานนท์กลับไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ประทานอุปสมบทแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีและสตรีบริวารด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่าภิกษุณีสงฆ์ได้เกิดขึ้น

ถามว่าทำไมในเบื้องต้น พระพุทธองค์ไม่ทรงเต็มพระทัยให้สตรีบวช ถึงกับตรัสว่าถ้าสตรีบวช พรหมจรรย์ (พระศาสนา) จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน แต่เมื่อพระอานนท์ทูลขอ ก็ทรงอนุญาตให้บวชในที่สุด

คำตอบคงไม่ออกมาในแง่ลบ ดังที่นักสิทธิสตรีทั้งหลายคิดกันกระมังครับ ที่พระองค์ตรัสว่าถ้าให้สตรีบวชพรหมจรรย์จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน พรหมจรรย์อาจหมายถึงวิถีชีวิตการงดเว้นจากกามารมณ์หรือพระศาสนาโดยรวมก็ได้ ไม่ว่าจะตีความอย่างไรก็ได้ความเท่ากัน ลองอธิบายในแง่มุม "ตื้นๆ"ก็จะเห็นได้ชัดคือ

พระผู้ชายที่บวชมานั้นต้องสำรวม ต้องงดเว้นจากกาม เพื่อก้าวไปสู่ภาวะหมดราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดให้ได้ ระบบการฝึกฝนอบรมจึงต้องเข้มงวด กันให้ห่างออกไปจากการเกี่ยวข้องกับสตรี เพราะคนที่ยัง "ไม่พร้อม" และไม่แข็งแรงพอในด้านจิตใจก็จะวอกแวกได้ เมื่อควบคุมไม่อยู่พรหมจรรย์ก็อาจล่มสลายไปได้

ก็เอาคนมาทำพระนี่ครับ ไม่ใช่พระอิฐพระปูนนี่ครับ ขืนให้คลุกคลีตีโมงกันบ่อยๆ ไฟฟ้าก็ย่อมชอร์ตได้ พระพุทธองค์ทรงทราบความเป็นจริงข้อนี้ดี จึงปรามไว้ตั้งแต่แรก โดยไม่อนุญาตให้สตรีมาเกี่ยวข้องกับเหล่าภิกษุ

แต่คิดให้ลึกจะเห็นว่าพระองค์คงต้องทรงอนุญาตในที่สุด เพราะพระอานนท์คงต้องทูลอ้อนวอนแน่ เมื่อนำเอาประเด็น "มนุษย์ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายย่อมสามารถบรรลุมรรคผลได้" มาพูด ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามไม่ให้สตรีบวช เพราะถ้าห้ามจริงๆ ก็เท่ากับอคติ ลำเอียง หรือปิดกั้นโอกาสของสตรีทั้งโลก

แต่เพราะทรงเล็งเห็นว่าเมื่อบุรุษกับสตรีอยู่ใกล้ชิดกัน พรหมจรรย์ย่อมเป็นอันตรายแน่นอน เพื่อต้องการความเข้มงวดอันเกิดจากความต้องการของสตรีเอง พระองค์จึงวางเงื่อนไขให้เข้มงวดเข้าไว้ ทรงขอคำมั่นว่า ถ้าอยากบวชจริงๆ ก็ได้แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง ๘ ประการนี้ให้ได้ ถ้าได้ก็ตกลง

เงื่อนไข ๘ ประการนี้แล คือมาตรการควบคุมภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ให้ระมัดระวังในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน ให้เป็นไปด้วยความพอเหมาะพอดี เมื่อทำได้ตามนี้อย่างเคร่งครัด พรหมจรรย์มั่นคง ยืนยาว ไม่ว่าพรหมจรรย์ในความหมายว่าการงดเว้นจากกามหรือพรหมจรรย์ในความหมายว่าพระศาสนาก็ตาม

ผมมองแบบผมว่า นี้คือพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะบวชสตรีให้เป็นภิกษุณีบริษัทตั้งแต่ตรัสรู้ใหม่ๆ อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นไม่ทรงตอบพระยามารดอกว่า "บริษัททั้งสี่ของตถาคต ยังไม่มีคุณภาพเมื่อใด ตถาคตจะไม่ปรินิพพาน" ถ้าไม่บวชให้สตรี ะมีบริษัทครบสี่หรือ ใช่ไหมครับ แต่ถ้าให้บวชง่ายๆ อาจเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ จึงวางเงื่อนไขให้เคร่งครัดขึ้นเพื่อป้องกันความเสื่อมไว้ล่วงหน้า

ผมมอง (อีกแล้ว) ไปไกลกว่านั้นอีก การที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สตรีบวช เป็นการให้โอกาสแก่สตรีชนิดที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์โลกมาก่อน สตรีเคยถูกกดขี่ ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพมาตลอดในชมพูทวีปตลอดกาลยาวนาน พระพุทธองค์ได้เปิดโอกาสให้ และให้เสรีภาพอันยิ่งใหญ่แก่สตรีแล้ว โอกาสและเสรีภาพอะไร โอกาสทางการศึกษา และเสรีภาพในการบรรลุมรรคผลนิพพานนั่นยังไงครับ การอนุญาตให้สตรีมาบวช ทำให้สตรีได้รับการศึกษาได้พัฒนาตนให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติ) มีศักดิ์มีศรีในสังคม เป็นผู้นำสังคมได้ในทางความรู้และความประพฤติ มีความทัดเทียมกับบุรุษโดยอัตโนมัติ มีเสรีภาพโดยอัตโนมัติ โดยมิพักต้องร้องขอแต่อย่างใดท่านผู้อ่านว่าไหมครับ


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 มีนาคม 2559 18:00:02 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #24 เมื่อ: 13 มีนาคม 2559 18:06:45 »




ปางห้ามแก่นจันทน์ (๑)

วันนี้ขอเล่าตำนานพระพุทธรูปประหลาดดุจปางทรงเครื่องอีกสักวันเถอะครับ ที่ว่า "ประหลาด" มิใช่พระพุทธรูป หากแต่เรื่องเล่านั้นต่าง หากที่ประหลาดเข้าใจว่าแต่งเติมจากตำนานเดิม

ตำนานเดิมนั้นเล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมโปรดเหล่าเทพอันมี ท้าวสักกะเทวราช เป็นประมุข อดีตพุทธมารดา ซึ่งสวรรคตไปเกิดเป็นสันดุสิตเทพบุตร ณ ชั้นดุสิต ก็ได้ลงมาฟังธรรมจากพระองค์ด้วย พระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรมโปรดตลอดเวลา ๓ เดือน (๓ เดือนของมนุษย์โลก ก็คงไม่กี่นาทีของสวรรค์ดอกครับ)

ถามว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาตลอดสามเดือน ไม่ได้พักได้ผ่อนเลยหรือ ตอบว่าหามิได้ พระพุทธองค์ก็ทรง พักผ่อนตามพระพุทธประสงค์เมื่อถึงคราวพัก เวลาพระองค์มีพุทธประสงค์จะพักก็ทรงเนรมิต "พระพุทธเนรมิต" ขึ้นพระองค์หนึ่ง เหมือนพระพุทธองค์ไม่ผิดเพี้ยน ให้เทศน์แทน เหล่าเทพยดาไม่รู้ดอกว่าเป็นพุทธเนรมิต เข้าใจว่าเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว

บางครั้งพระพุทธองค์ก็เสด็จลงมายังมนุษย์โลก ให้พระสารีบุตรอัครสาวกเฝ้าโดยลำพัง พระพุทธองค์ก็จะทรงแสดงอภิธรรมที่แสดงให้เหล่าเทพยดาให้พระสารีบุตรอีกทอดหนึ่ง พระสารีบุตรก็ทรงจำเอาไว้

ด้วยเหตุนี้เอง พุทธศาสนิกฝ่ายอื่น โดยเฉพาะนิกายสรวาสติวาทิน (ความจริงก็สายหินยาน แต่ใช้ภาษาสันสกฤตแทนบาลี) จึงถือว่าพระสารีบุตร เป็นปฐมาจารย์ของอภิธรรมปิฎก

พุทธนิกายเสาตรันติกะ (สุตตันติกะ) อ้างว่า พระอภิธรรมปิฎกนั้นมิใช่พุทธพจน์ เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชัดว่า อภิธรรมเป็นพัฒนาการในยุคหลัง พูดให้เข้าใจง่ายก็ว่าแต่งขึ้นในภายหลัง เดิมทีมีเพียงพระธรรมกับพระวินัยเท่านั้น

ความเชื่อของฝ่ายสุตตันติกะ ที่จริงก็สอดคล้องกับสรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นนิกายนับถือพระอภิธรรมมาก สรวาสติวาทินยืนยันว่า พระอภิธรรมของเขาเป็นเถรภาษิต (เป็นคำกล่าวของพระเถระ) และพระเถระที่ว่านี้ก็หาใช่ใครอื่น คือ พระสารีบุตร อัครสาวกนั้นเอง

สอดรับกับตำนานเรื่องพระพุทธเจ้าลงจากสวรรค์มาแสดงอภิธรรมให้พระสารีบุตรฟังเปี๊ยบเลย คือสอดคล้องกันจริงๆ


ปางห้ามแก่นจันทร์ (จบ)
ขอผ่านเรื่องนี้ไป ขอเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปสวรรค์ไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงว้าเหว่ เพราะมิได้พบพระพุทธเจ้าหลายวัน จึงรับสั่งให้ช่างฝีมือดีเอาแก่นจันทน์มาแกะเป็นรูปพระพุทธองค์ แกะให้ละม้ายคล้ายคลึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วโปรดให้อัญเชิญพระไม้แก่นจันทน์ไปประดิษฐานยังพระราชมนเทียรเพื่อกราบไหว้บูชา พอบรรเทาความอาลัยอาวรณ์ในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บ้าง

ว่ากันอีกนั่นแหละ พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นต้นคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นจนกระทั่งต่อมามีคนทำตามมากขึ้น ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน นี้ก็ฟังหูไว้หู เพราะเป็นตำนาน "เขาเล่าว่า" (เอาห้าหาร จึงจะเหมาะ)

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงจากสวรรค์ มีเหล่าเทพอันมีสหัมบดีพรหม ท้าวสักกะเทวราช และเทวดาน้อยใหญ่ตามเสด็จ เหตุการณ์วันเสด็จลงจากสวรรค์เรียกว่า เทโวโรหนะ ศิลปินทั้งหลายถือกันว่าเป็นฉากสำคัญ และนิยมเขียนกันมากปางหนึ่ง

พระเจ้าปเสนทิโกศล ทูลอัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จไปเสวยพระกระยาหาร ณ พระราชมนเทียร ขณะพระพุทธองค์เสด็จเข้าไป ปรากฏเหตุการณ์ประหลาด คือพระไม้แก่นจันทน์ที่ประดิษฐานอยู่พระแท่นที่ก็ลุกจากที่ประทับจะลงมาถวายความเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกับมีจิตวิญญาณ

พระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นปราม ตรัสว่า "เอวัง นิสีทมถ" แปลว่า ท่านจงประทับอยู่อย่างนั้นแหละ แปลไทยเป็นไทยก็ว่า ไม่ต้องลุกๆ นั่งอยู่นั่นเถอะ

สิ้นกระแสพระพุทธดำรัส พระไม้แก่นจันทน์ลีลาศขึ้นไปประทับยังพระแท่นตามเดิม

พระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นความประหลาดมหัศจรรย์เช่นนั้นก็ทรงโสมนัสยินดีอย่างยิ่ง ถวายพระกระยาหารแด่พระพุทธอง และภิกษุสงฆ์

ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว พระพุทธองค์ก็ประทานอนุโมทนา ถวายพระพรลา เสด็จกลับยังพระเชตวันมหาวิหาร ด้วยประการฉะนี้แล

เล่าขานตำนานพระพุทธเจ้าทรงห้ามแก่นจันทน์ ก็เป็นอันยุติลงเพียงเท่านี้





ปางโปรดนางปฏาจารา (๑)

พระพุทธรูปนั้น สร้างเพื่อจำลองเหตุการณ์สำคัญๆ ที่พระพุทธองค์ทรงโปรดเวไนยสัตว์ด้วยพระมหากรุณา เท่าที่สร้างกันมา ก็มีหลายปางเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย บางปางก็รู้จักกันน้อย เท่าที่นำมาเขียนเล่าให้ฟังก็คงเป็นข้อมูลแก่ผู้การศึกษาพอสมควร วันนี้ขอนำปางโปรดนางปฏาจารามาเล่าให้ฟัง คงยังไม่มีใครสร้างปางนี้ แต่ถ้าศิลปินคิดจะสร้างก็น่าอนุโมทนา เพราะเป็นฉากหนึ่งที่ฉายให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงของพระพุทธองค์

คนที่ประสบวิกฤตแห่งชีวิตมาหนักๆ จนกลายเป็นคนเสียสติ พระพุทธองค์ทรงแผ่พระมหากรุณาช่วยเหลือให้เธอพ้นจากทุกข์ ในขณะที่ใครๆ ไม่ใส่ใจ แถมเรียก "หญิงบ้า" อีกต่างหาก นับว่าทรง "ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์" อย่างแท้จริง

ปฏาจารา เป็นลูกสาวเศรษฐีเมืองสาวัตถี พ่อแม่รักมาก หวงมาก ไม่ยอมให้คบเพื่อนชาย ให้อยู่บนปราสาท ๗ ชั้น สอดส่องการเคลื่อนไหวทุกระยะ ไม่ให้คลาดสายตา เหมือนนกอยู่ในกรงทอง สะดวกสบาย แต่ใจไม่มีความสุข จึงดิ้นรนเพื่ออิสรภาพ พ่อแม่ได้จัดแจงหาชายหนุ่มที่ฐานะเสมอกันให้เป็นสามี แต่นางไม่ต้องการ เนื่องจากนางได้แอบรักกับบุรุษหนุ่มคนใช้ในคฤหาสน์นี้มานานแล้ว ตำนานดอกฟ้ากับยาจกเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างระทึก

ทั้งสองได้มอบกายมอบใจแก่กัน เกรงว่าเมื่อความลับอาจเปิดเผย วิมานของทั้งสองคงพังครืน จึงพากันหนีออกจากคฤหาสน์ ไปครองรักกันตามประสายาก ณ หมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่ง ต่อมาเธอตั้งท้อง คิดถึงพ่อแม่ขึ้นมา จึงชวนสามีกลับเข้ากรุงเพื่อขอขมาพ่อแม่ แต่สามีเกรงนายทั้งสองจะลงโทษหนัก จึงไม่เห็นดีเห็นงามด้วย

วันหนึ่งสามีไม่อยู่บ้าน ปฏาจาราจึงรีบหนีไป เดินมุ่งหน้าไปยังพระนคร สามีรีบตามมาทันระหว่างทางจึงพากลับ บังเอิญว่านางครรภ์แก่แล้ว จึงคลอดลูกระหว่างทางนั่นเอง

พอตั้งท้องคนที่สอง นางก็พาลูกน้อยหนีพ่อไปยังพระนคร สามีตามมาทันและพากลับบ้านเช่นเดิม คราวนี้ทั้งสองสามีภรรยาประสบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ปฏาจาราปวดท้องจะคลอดท่ามกลางฝนที่เทลงมาราวกับฟ้ารั่ว น้ำเจิ่งนองไปทั่วบริเวณ สามีเข้าป่าไปตัดกิ่งไม้จะมากันฝนให้ภรรยาและบุตร ถูกงูเห่าดำกัดสิ้นชีวิตทันที

ฝ่ายภรรยารอสามีที่หายไปทั้งคืน ได้คลอดบุตรคนเล็กท่ามกลางสายฝน คุกเข่าเอากายกั้นลมและฝนให้บุตรน้อยเพิ่งเกิด พอสว่างขึ้นมาก็ไปตามทางที่สามีหายเข้าไป เห็นสามีนอนตายร่างแข็งทื่ออยู่ ก็เป็นลมสลบ ฟื้นขึ้นมาก็อุ้มบุตรคนเล็กที่เพิ่งคลอด มือหนึ่งจูงบุตรคนโตเดินลุยน้ำมุ่งหน้าสู่เมือง เพื่อกลับไปหาอ้อมอกของพ่อแม่

เดินมาพบสายน้ำ มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ขวางอยู่ข้างหน้า นางบอกลูกคนโตให้ยืนรออยู่ฝั่งนี้ก่อน จะอุ้มน้องไปไว้ฝั่งโน้นแล้วจะกลับมารับ ว่าแล้วก็อุ้มบุตรน้อยลุยน้ำไป วางไว้บนฝั่งโน้น แล้วย้อนกลับมาเพื่อรับลูกคนโต


ปางโปรดนางปฏาจารา (จบ)
ทันใดนั้นเหยี่ยวตัวใหญ่ มองเห็นเด็กแดงๆ นึกว่าเป็นชิ้นเนื้อ โฉบลงมาทันที นางเห็นดังนั้น ก็ยกมือโบกไปมาร้องไล่มันด้วยเสียงดัง

ลูกชายคนโต นึกว่าแม่โบกมือเรียก ก็กระโจนลงน้ำ ถูกกระแสน้ำพลัดหายต๋อมไปต่อหน้าต่อตา หัวใจแหลกสลายในบัดดล นางร้องไห้จนสลบ ฟื้นขึ้นมาก็เดินโซซัดโซเซมุ่งหน้าไปยังเมืองหลวง

พบบุรุษหนึ่งเดินสวนทางมา จึงถามถึงพ่อแม่ของตน บุรุษนั้นบอกนางว่า "แม่นางเอ๋ย นางไปอยู่เสียที่ไหน จึงไม่รู้ว่าท่านเศรษฐีตายแล้วเมื่อคืนนี้ ฟ้าผ่าบ้านเศรษฐี เกิดไฟลุกไหม้คลอกคนตายหมดทั้งครอบครัว น่าสงสารจริงๆ"

เท่านั้นแหละครับ สติสตังที่พอมีอยู่บ้างก็ขาดผึง กลายเป็นคนเสียจริต ก็บ้านั่นแหละครับ เดินร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร

"บุตรสองคนก็ตายแล้ว สามีของเราก็ถูกงูกัดตาย พ่อแม่และพี่ชายก็จากเราไปหมดแล้ว"

ผ้านุ่งผ้าห่มหลุดจากกายเมื่อใดไม่รู้เนื้อรู้ตัว นางได้พาร่างอันเปลือยเปล่าเข้าไปยังพระเชตวัน ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ ท่ามกลางพุทธบริษัทเป็นจำนวนมาก เสียงคนข้างหลังเอะอะ "หญิงบ้า ไปไป๊ ใครปล่อยให้หญิงบ้าเข้ามานะ" เสียงใครร้อง

พระพุทธองค์ตรัสบอกประชาชนว่า ปล่อยให้เธอเข้ามาเถอะ เมื่อนางเดินเข้ามาใกล้ พระพุทธองค์ตรัสว่า น้องหญิง เธอจงได้สติเถิด

เท่านั้นแหละครับ นางกลับคืนสู่สภาพปกติ หันไปรอบข้าง เห็นประชาชนมากมายมองอยู่ จึงนั่งลงด้วยความละอาย บุรุษคนหนึ่งโยนผ้าให้เธอคลุมกาย นางเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท ร้องได้ด้วยความเสียใจ

พระพุทธองค์ทรงปลอบโยนให้เธอคลายความโศก แล้วตรัสพระคาถา (โศลก) ว่า "บุตรทั้งหลายก็ป้องกันไม่ได้ บิดามารดา ญาติพี่น้องก็ป้องกันไม่ได้ เมื่อเวลาจะตาย ญาติพี่น้องก็ช่วยไม่ได้ เมื่อรู้ความจริงนี้แล้ว ควรจะรักษาศีล หาทางไปพระนิพพานโดยเร็ว"

สตรีนางนี้ได้บวชเป็นสาวิกาของพระพุทธองค์ ปรากฏนามในพระศาสนาว่า ปฏาจาราเถรี ภายหลังท่านได้เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่บรรดาสตรีที่ประสบวิกฤตแห่งชีวิตเป็นอย่างดี






ปางโปรดองคุลิมาล (๑)

ปางนี้โด่งดังมาก พระพุทธรูปปางนี้จะเป็นพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลง พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ตั้งนิ้วพระหัตถ์ตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย ตั้งไว้ตรงพระอุระ

โจรองคุลิมาล ก็โด่งดังมาก พระพุทธวจนะที่ตรัส "ตรึง" มหาโจรอยู่กับที่ก็ดังมาก จดจำกันได้ทั่วไป แต่ที่ไม่ค่อยมีใครทราบนักก็คือ บิดามารดาของท่านนามใด น่าจะสนใจรายละเอียดปานนั้นนะครับ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว

องคุลิมาล นามเดิม อหิงสกะ แปลว่าไม่เบียดเบียน ชื่อนี้มีที่มาครับ ก่อนอื่นขอแจ้งชื่อบิดามารดาก่อน บิดานามว่า ภควพราหมณ์ มารดานามว่า มันตานี บิดาเป็นปุโรหิตประจำราชสำนักพระเจ้ากรุงสาวัตถี (พระเจ้าปเสนทิโกศล)

วันที่ท่านเกิด บิดาเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ ศัสตราอาวุธในพระคลังแสงเกิดรุ่งโรจน์โชตนาการ ราวกับเปลวไฟลุกไหม้สักพักหนึ่งก็ดับเป็นที่มหัศจรรย์ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า นิมิตนี้แสดงว่าเด็กที่เกิดในเวลานี้ภายหน้าจะกลายเป็นมหาโจรชื่อดัง

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า โจรธรรมดาหรือโจรราชบัลลังก์ ได้รับคำตอบว่าเป็นโจรธรรมดา พระองค์จึงมิได้สนพระทัย ปุโรหิตกราบทูลลากลับบ้าน ทันทีที่ก้าวเท้าขึ้นเรือน ผู้คนในบ้านก็รายงานว่าบุตรชายท่านเกิดแล้ว

เมื่อซักถามเวลาเกิดก็ทราบว่าตรงกับเวลาที่หอกดาบแหลนหลาวลุกโชติช่วงนั้นเอง จึงกลับไปกราบทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ พร้อมกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตให้กำจัดเสียแต่ต้นลม พระราชาตรัสห้ามไว้ ด้วยเห็นว่ามิได้เป็นภัยแก่ราชบัลลังก์ ทั้งเด็กก็ไร้เดียงสา ถ้าเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยให้ดีเด็กก็อาจจะไม่เป็นโจรดังคำทำนายก็ได้

บิดาจึงขนานนามว่า "อหิงสกะ" เพื่อแก้เคล็ด ก็ทำท่าว่าจะแก้ได้ เพราะเด็กชายอหิงสกะเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ขยันหมั่นเพียร มีปฏิภาณไหวพริบดี โตมาพ่อจึงส่งไปเรียนศิลปวิทยาที่ตักษิลา (ตักสิลา) เรียนอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ก็เป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ เพราะอหิงสกะเป็นเด็กเชื่อฟังโอวาทของอาจารย์ ตั้งใจศึกษาศิลปวิทยาไม่ประพฤติตัวเหลวไหล ได้รับคำชมเชยจากอาจารย์เสมอ

"อันที่จริงเขาอยากให้เราดี แต่เด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน"

หลวงวิจิตรวาทการว่าไว้อย่างนั้น ตรงเป๊ะเลยครับ บรรดาศิษย์ร่วมสำนักต่างก็หมั่นไส้อหิงสกะเป็นแถวหาว่าอยากเด่นอยากดัง พวกเขาจึงเป่าหูอาจารย์ว่าศิษย์คนโปรดของท่านนั้นดีเฉพาะต่อหน้าลับหลังอาจารย์มันเผาอาจารย์ยับเลย

ได้ฟังอาจารย์ก็ตะเพิดคนที่พูดว่าร้ายศิษย์คนโปรดของท่าน แต่ก็ประหลาด คนนั้นก็พูดคนนี้ก็พูดคนโน้นก็พูด พูดเหมือนกัน หรือว่ามันจะจริง อาจารย์ชักลังเลแล้ว อย่างว่าแหละครับ ปุถุชนคนเราจิตใจไม่หนักแน่นพอ ถูกเป่าหูบ่อยก็เลยเชื่อสนิทว่า ศิษย์คนนี้คิดล้างครู ก่อนมันล้างกู กูล้างมันก่อนเถอะวะ อาจารย์คำราม

แล้วแผนกำจัดก็เกิดขึ้น ตกดึกวันหนึ่ง อาจารย์เรียกศิษย์ไปพบลับๆ กระซิบกระซาบว่ามีวิชาพิเศษซึ่งไม่เคยถ่ายทอดให้ใคร จะถ่ายทอดให้อหิงสกะ เพราะ อหิงสกะเป็นศิษย์คนโปรด แต่วิชานี้จะต้องเอานิ้วมือคนมาพันนิ้วทำพิธีประสิทธิ์ประสาทให้ได้



ปางโปรดองคุลิมาล (๒)
อหิงสกะปฏิเสธในเบื้องแรก แต่เมื่อถูกอาจารย์เกลี้ยกล่อมหนักเข้า ก็ยินยอมรับปากจะไปหานิ้วมือคนมาให้ได้

จะหามาจากไหนเล่าครับ จากการฆ่าคนแล้วตัดเอานิ้วมาสิครับ

ถัดจากวันที่ครูกับศิษย์พบกันประมาณไม่กี่เดือน ก็มีข่าวลือกันหนาหูว่ามีโจรประหลาดพิเรนทร์ ฆ่าคนแล้วตัดเอานิ้วร้อยเป็นพวงมาลัยสวมคอ โหดเหี้ยมทารุณเหลือประมาณ ได้ยินไปถึงไหน ความกลัวก็แผ่เข้าสู่ขั้วหัวใจคนถึงนั่น

นาม "องคุลิมาลโจร" (โจรผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย) ก็ขจรขจายไปทั่ว ด้วยประการฉะนี้แล เห็นทีจะต้องมีตอนสองครับ

แต่ก่อนจะถึงตอนสอง ก็ต่อนิดหน่อย เมื่อชื่อเสียง (น่าจะเรียกชื่อเสียมากกว่า) แพร่กระจายไปอย่างนี้ ความหวาดผวาก็เกิดแก่ประชาชนทั่วไป ได้ข่าวว่ามหาโจรองคุลิมาล อยู่ ณ ที่ใด ก็ไม่มีใครกล้าเดินผ่านไปยังสถานที่นั้น

เสียงเล่าลือนี้ดังไปไกลถึงพระกรรณของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ถึงกับประชุมเหล่าเสนามาตย์ทั้งหลายว่า จะต้องหา ทางกำจัดมหาโจรคนนี้โดยเร็วที่สุดหาไม่ประชาชนจะไม่มีกะจิตกะใจประกอบสัมมาอาชีพ เพราะมัวแต่หวาดผวาภัยจากมหาโจร

คิดเอาก็แล้วกันครับ มหาโจรองคุลิ มาลนั้นเด่นและดังขนาดไหน

แล้วมหาโจรเด่นดังอย่างนี้ จะรอดพ้นจากการไล่ล่าจากราชอาณาจักรหรือไม่ คราวหน้าคงรู้กันครับ

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งเรียกประชุมเหล่าเสนามาตย์เป็นการด่วน เพื่อหาทางกำจัดมหาโจรองคุลิมาล ในที่สุดพระองค์ตกลงพระทัยจะนำกองทัพย่อยๆ ออกไปปราบเอง

นางพราหมณีมารดาขององคุลิมาล เกรงว่าลูกของตนจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต เพราะความรักลูก แม้ว่าลูกจะกลายเป็นมหาโจรแล้ว นางก็ยังตัดความรักไม่ได้ ได้ลอบออกจากเมืองเดินมุ่งหน้าไปยังดงที่คาดว่าองคุลิมาลอาศัยอยู่

ณ ปัจจูสสมัยใกล้รุ่งวันนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกเพื่อเสด็จไปโปรด โจรองคุลิมาลปรากฏในข่ายคือพระญาณพอดี พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า องคุลิมาลมีอุปนิสัยที่จะโปรดให้ได้บรรลุมรรคผลได้ จึงเสด็จไปดักหน้าจรองคุลิมาลในเช้าวันนั้น

องคุลิมาลถือดาบคอยเหยื่อที่จะเดินทางผ่านมาอย่างใจจดใจจ่อ เพราะนิ้วมือเหลืออยู่เพียงนิ้วสองนิ้วเท่านั้นจะครบพัน พอที่จะกลับไปหาอาจารย์เพื่อให้อาจารย์ประสิทธิ์ประสาทวิชาพิเศษให้ พอเห็นพระพุทธองค์เสด็จดำเนินมา ก็ดีใจปานได้แก้ว ถือดาบชูเหนือศีรษะวิ่งตามไปทันที

พระพุทธองค์คงเสด็จดำเนินด้วยพระบาท แต่น่าประหลาด มหาโจรองคุลิมาลวิ่งเร็วอย่างไรก็ไม่สามารถทันได้ วิ่งจนเหนื่อย จึงร้องตะโกนว่า "หยุด สมณะ หยุด"

"เราหยุดแล้ว แต่เธอสิยังไม่หยุด" เสียงแว่วตอบมาแต่ไกล

"สมณะรูปนี้พูดเท็จ" องคุลิมาลคิด จึงร้องสวนไปว่า "ท่านเดินไปอยู่ ทำไมจึงพูดว่าหยุดแล้ว"

"เราหยุดทำบาป แต่เธอยังไม่หยุด" สมณะรูปนั้นกล่าวชัดถ้อยชัดคำ


ปางโปรดองคุลิมาล (จบ)
คําพูดนั้นกระทบใจมหาโจรอย่างแรง เธอฉุกใจคิด "เออ จริงสินะ เรายังไม่หยุดทำบาป กำลังจะฆ่าแม้กระทั่งสมณะ"

คิดดังนี้แล้ว ก็วางดาบ เข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท พระพุทธองค์ได้แสดงธรรมให้ฟัง จบพระธรรมเทศนากัณฑ์สั้นๆ องคุลิมาลก็บรรลุพระอรหัต เพราะวาสนาบารมีที่สร้างไว้แต่ชาติปางก่อนเป็นปัจจัยเกื้อหนุน กราบทูลขอบวช พระองค์ก็ประทานอุปสมบทให้ แล้วพากลับไปยังพระเชตวันมหาวิหาร

กล่าวถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ยกทัพออกจากเมืองมุ่งหน้าไปยังที่อยู่องคุลิมาลผ่านพระเชตวัน จึงแวะเข้าไปอภิวาทพระพุทธองค์ เพื่อขอพรในการไปปราบโจร พระพุทธองค์ตรัสถามว่า "มหาบพิตรจะเสด็จไปไหน ดูดังกับจะไปรบกับข้าศึก"

"จะว่ารบกับข้าศึกก็ได้ พระเจ้าข้า เพราะมหาโจรองคุลิมาลเป็นที่หวาดผวาของประชาชนชาวเมืองมาก หม่อมฉันจึงต้องออกไปปราบ" พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูล

"มหาบพิตร ถ้ามหาโจรองคุลิมาลกลับเนื้อกลับตัวมาบวชเป็นสาวกของตถาคตแล้ว มหาบพิตรยังจะเอาเขามาลงอาญาอยู่หรือไม่" พระพุทธองค์ตรัสถาม

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า "ถ้าเขามาอาศัยร่มกาสาวพัสตร์แล้ว ถือว่าไม่เป็นพิษเป็นภัยแล้ว หม่อมฉันอโหสิให้ พระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ทรงชี้พระดรรชนีไปยังภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่ง เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า "นั่นไง องคุลิมาล บัดนี้เธอเป็นสาวกของตถาคตแล้ว"

ทันทีที่ได้ยินคำว่า "องคุลิมาล" พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับพระพักตร์ซีดเผือด ผุดลุกขึ้นทันที พระพุทธองค์ทรงปลอบโยนว่า "มหาบพิตร ไม่ต้องกลัว องคุลิมาลเธอละทิ้งศัสตราอาวุธเว้นขาดจากการเบียดเบียนชีวิตใดๆ แล้ว" นั่นแหละพระเจ้ากรุงสาวัตถีจึงค่อยเบาพระทัย แต่ก็ยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่

คิดเอาก็แล้วกันครับ องคุลิมาลท่านน่าเกรงขามขนาดไหน หลังจากรวบรวมความกล้าแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเข้าไปนมัสการภิกษุบวชใหม่ ทรงปวารณาว่า "พระคุณเจ้าเคยเป็นที่หวาดกลัวของประชาชน แม้มาบวชแล้วคงไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าใกล้ พระคุณเจ้าคงประสบความลำบากในเรื่องอาหารบิณฑบาต ขอพระคุณเจ้าจงไปบิณฑบาตในวังเถิด โยมจะจัดการให้ถวายภัตตาหารเอง" แล้วก็กราบทูลพระพุทธองค์เสด็จนิวัติยังพระนคร 



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กรกฎาคม 2559 11:31:31 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #25 เมื่อ: 29 มีนาคม 2559 12:45:12 »




ปางโปรดนางกีสาโคตมี (๑)

พระมหากรุณาแผ่ไปยังเวไนยสัตว์หาประมาณมิได้ ตลอดเวลา ๔๕ พรรษาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปสั่งสอนประชาชนให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามขีดความสามารถของแต่ละคน ผู้ที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลใดๆ ก็ได้รับประโยชน์ อย่างน้อยก็ละมิจฉาทิฐิที่เคยยึดมั่น หันมารับเอาไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต

พระพุทธรูปปางที่จะกล่าวถึงนี้ ถ้าเป็นหนังก็เป็นหนังชีวิตที่เศร้าสลด ดูไปน้ำตาไหลไป พอถึงตอนจบก็จะเช็ดน้ำตายิ้มด้วยความสุขกับตัวละครด้วย เพราะเป็นหนังแฮปปี้เอนดิ้งตามฟอร์มขอรับ เรื่องนั้นคือเรื่องนางกีสาโคตมี หรือ "กีสาเดอะสเลนเดอร์" ปานนั้นเชียว

นางเป็นกุลธิดาที่มีฐานะค่อนข้างยากจนแห่งเมืองสาวัตถี รูปร่างผอมบาง จึงได้นามว่า กีสาโคตมี (โคตมีผู้ผอมบาง) วันหนึ่งนางไปเดินเที่ยวในตลาด คล้ายตลาดนัดอะไรทำนองนั้น เห็นชายวัยกลางคนคนหนึ่งแต่งตัวภูมิฐานแต่ใบหน้าหม่นหมอง นั่งเฝ้ากองถ่านไฟกองใหญ่อยู่ในตลาดที่มีคนพลุกพล่าน

นางจึงเอ่ยถามว่า "คุณพ่อ คนอื่นเขาขายเสื้อผ้าบ้าง ผลไม้บ้าง ขนมบ้าง แต่คุณพ่อนั่งเฝ้ากองทองคำกองใหญ่ ทำท่ายังกับจะขายทองหรืออย่างไร"

ชายวัยกลางคนร้องขึ้นด้วยความดีใจว่า "หนูว่าอะไรนะ" เมื่อหญิงสาวทบทวนคำเดิม จึงร้องถามว่า "ทองอยู่ไหน หนู"

"อ้าว ก็ที่คุณพ่อนั่งเฝ้าอยู่นั่นไง" หญิงสาวร้องขึ้นบ้าง ด้วยความสงสัยเป็นกำลัง เกิดอะไรขึ้น อีตาคนนี้นั่งเฝ้าทองอยู่แท้ๆ ยังถามว่าทองอยู่ไหน นางจึงเข้าไปจับก้อนถ่านที่นางมองเห็นเป็นทองยกขึ้นให้ชายวัยกลางคนดู

ทันใดนั้น กองถ่านทั้งหมดได้กลับกลายเป็นทองดังเดิม ที่เรียกว่า "ดังเดิม" ก็เพราะแต่เดิมเป็นทองอยู่แล้ว ต่อมากลายเป็นถ่านดำมิดหมี

เรื่องราวมันมีอยู่ว่า เกิดเหตุการณ์ประหลาดกับเศรษฐีเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ทองคำทั้งหมดที่แกมีกลายเป็นถ่านหมด ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่เศรษฐีเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าเป็นกรรมเป็นเวรอะไรแต่ชาติปางก่อน เพื่อนๆ ได้ปลอบใจว่า อย่าได้เศร้าโศกเสียใจเลย นึกเสียว่าเป็นคราวเคราะห์ของเรา ขอให้ทำใจและอดทนไว้ บางทีเมื่อสิ้นเวรสิ้นกรรมแล้ว ทุกอย่างอาจกลับเหมือนเดิมก็ได้

เพื่อนคนหนึ่งเสนอว่า ลองเอาถ่านทั้งหมดนี้ไปกองไว้ที่ตลาด ทำท่าขายเหมือนขายของอื่น คอยดูซิว่าจะมีใครสักคนทักเป็นอย่างอื่นไหม ถ้าใครทักว่าเป็นทอง ก็ให้คนคนนั้นจับขึ้นมาดู เผื่อว่าถ่านเหล่านี้จะกลับกลายเป็นทองดังเดิม

เศรษฐีผู้ตกยากก็ทำตาม เพราะไม่มีทางเลือกอื่นดีกว่านี้แล้ว เขาขนถ่านไปกองไว้ที่ตลาด นั่งทำท่าเป็นพ่อค้าขายถ่านอยู่ดังได้กล่าวแล้ว เมื่อได้ยินหญิงสาวรูปร่างผอมบางเดินเข้ามาทักและเอามือหยิบถ่านขึ้นมา ถ่านนั้นได้กลับกลายเป็นทองเหมือนเดิมก็ดีใจปานได้แก้ว

เศรษฐีจึงถามไถ่ว่านางชื่อเสียงเรียงไร ลูกเต้าเหล่าใคร ครั้นแล้วก็ออกปากรับนางไปอยู่ด้วย ให้แต่งงานกับบุตรชายของตน ยกทรัพย์นั้นให้ทั้งหมด



ปางโปรดนางกีสาโคตมี (จบ)
เป็นอันว่านางกีสาโคตมี ได้กลายเป็นเถ้าแก่เนี้ยในที่สุด อยู่กับครอบครัวเศรษฐีอย่างผาสุก จนได้บุตรชายมาคนหนึ่ง น่าเกลียดน่าชัง ยังความปลาบปลื้มแก่นางและสามี แต่ความปลาบปลื้มก็อยู่ไม่ได้นาน บุตรชายผู้น่ารักของนางก็ป่วยและสิ้นชีวิตกะทันหัน

นางเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก มิไยเหล่าญาติมิตรจะปลอบโยนอย่างไรก็ไม่หาย ไม่กินไม่นอน นั่งซึมทั้งวัน ปากก็พร่ำว่า ลูกแม่เจ้าต้องไม่ตาย เจ้าหลับใช่ไหม เมื่อไหร่ลูกแม่จะตื่นไปแล้วครับ สติสตังไปแล้ว ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ยอมให้เขาเอาศพไปฝังหรือเผาตามประเพณี ยังคงอุ้มลูกน้อยเดินไปบ้านโน้นบ้านนี้ ถามว่าใครมียารักษาให้ลูกของนางฟื้นบ้างไหม

เมื่อคนเขาบอกว่าลูกของนางตายแล้วไม่มีทางฟื้นดอก นางจงเอาไปเผาหรือฝังตามประเพณีเถิด นางก็ตวาดเอา หาว่าสาปแช่งลูกของนาง ลูกของนางยังไม่ตาย เพียงสลบไปเท่านั้น ใครๆ ก็หาว่านางเป็นบ้าไปแล้ว จึงไม่ใส่ใจอีกต่อไป

วันหนึ่งอุบาสกคนหนึ่งเห็นนางอุ้มลูกพลางเอ่ยปากขอยารักษาพลาง ก็เกิดความสงสารกล่าวกับนางว่า "แม่หนู ไปที่พระ เชตวันสิจ๊ะ มีหมอยาที่เก่งอยู่ท่านหนึ่ง บางทีท่านอาจรักษาลูกแม่นางได้" แล้วก็บอกนามท่านไป

นางกีสาโคตมีดีใจ รีบอุ้มศพลูกชายตรงไปยังพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้ววางศพลูกชายแทบพระยุคลบาท กราบทูลว่า "ได้ข่าวว่า พระองค์ทรงรู้ยารักษาลูกชายของหม่อมฉัน ได้โปรดบอกด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราตถาคตรู้จัก เธอจงไปเอาเมล็ดพรรณผักกาดมาสักกำมือหนึ่ง เราตถาคตจะทำยาให้" นางดีใจ รีบอุ้มศพลูกจะไปหาเมล็ดพรรณผักกาด พระพุทธองค์ตรัสว่า "เมล็ดพันธุ์ผักกาดนี้ จะต้องเอาจากเรือนที่ไม่มีคนตายเท่านั้น จึงจะทำยาได้"

นางเข้าไปยังหมู่บ้าน ถามหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่เรือนแรก คนในเรือนก็หยิบมาให้ นางถามว่า "ที่บ้านนี้ เคยมีคนตายไหม ป้า"

คุณป้าทำหน้างง "ถามอะไรบ้าๆ ที่ไหนบ้าง ที่ไม่มีคนตาย สามีของป้าเพิ่งตายไปเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง" "ถ้าอย่างนั้นไม่เอา" นางกล่าวแล้วก็อุ้มลูกไปขอยังเรือนที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า...จนกระทั่งหมดทั้งหมู่บ้าน

ปรากฏว่านางไม่ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแม้แต่เมล็ดเดียว เพราะทุกหลังคาเรือนที่นางไปขอมีคนตายมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีหลังไหนที่ไม่เคยมีคนตายเลย นางจึง "ได้คิด" และ "คิดได้"

ได้คิดและคิดได้ว่า สรรพสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ล้วนต้องตาย อย่าว่าแต่ลูกชายของนางเลย นางเองก็ต้องตาย สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ต้องตาย ไม่มีใครอยูู่ค้ำฟ้า

ครับ หูตาสว่างขึ้นแล้ว เมื่อเกิดความรู้แจ้งด้วยตัวเองอย่างนี้ ทุกข์หนักอึ้งที่แบกอยู่ก็เบาอย่างน่าประหลาด นางฝังศพลูกชายแล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยใบหน้าของผู้ปลงตก

"ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดไหม" พระสุรเสียง ตรัสถามด้วยพระมหากรุณา

"ไม่ได้พระเจ้าข้า บัดนี้หม่อมฉันทราบแล้ว สรรพสัตว์ล้วนต้องตาย ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้"

พระพุทธเจ้าประทานสาธุุการ แล้วตรัสพระธรรมเทศนาย่อๆ ให้เธอสดับ จบพระธรรมเทศนา กีสาโคตมี ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วขอบวชเป็นภิกษุณีในสำนักภิกษุณีสงฆ์






ปางทรมานอุบาลีอุบาสก (๑)

บอกไว้ก่อน "ทรมาน" มาจาก ทมน=การข่ม, การฝึก "ทรมาน อุบาลีอุบาสก" ก็คือ ข่มให้อุบาลีรู้สำนึกและฝึกจิตใจอุบาลี หรือกลับใจอุบาลีนั้นเอง เห็นจะตรงกับคำ "ปะกิต" ว่า convert กระมัง อย่าได้เข้าใจไปว่า พระพุทธเจ้าทรงทรมานทรกรรมใครเป็นอันขาด

อุบาลี เป็นคหบดีผู้มั่งคั่ง เทียบสมัยนี้ก็เศรษฐีพันล้าน มีคฤหาสน์สามหลัง สามฤดูเชียวแหละครับ (อาจมากกว่านั้นก็ได้) อุบาลีเป็นสาวกคนสำคัญของศาสดามหาวีระ หรือที่ชาวพุทธเรียก "นิครนถ์ นาฏบุตร" ท่านมหาวีระ ถือเคร่งครัดไม่นุ่งห่มจีวร นุ่งลมห่มฟ้า ตามคติ "อัตตกิลมถานุโยค" (ประกอบเนืองๆ ซึ่งการทรมานกาย) เป็นศาสดาศาสนาเชน (หรือ ไชนะ)

แปลกแต่จริงก็คือ พวกเศรษฐีเงินหนามักจะ "ขึ้น" วัดพระเชน พระคุณเจ้าท่านไม่เอาเสื้อผ้าก็จริง แต่วัดท่านเอา ญาติโยมสร้างวัดให้อย่างหรูหราสวยงามมาก พวกเศรษฐีก็คงสบายใจที่ขึ้นวัดเชน เพราะไม่ต้องหาอะไรมาถวายพระ ลงทุนสร้างวัดงามๆ สักครั้งเดียวก็พอ (ไม่ต้องสะดุ้งว่าจะมีโทรศัพท์มาทวง "งวดบุญ" เมื่อใด ฮิฮิ)

แปลกแต่จริงอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าของเรากับพระมหาวีระไม่ค่อยมีข่าวว่าได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหรือโต้แย้งกันตรงๆ มีแต่ศิษย์ชั้นเอกของมหาวีระ หาญมาเชิญกับพระพุทธองค์ มากี่รายๆ ก็ถูกพระพุทธองค์ "ปราบ" เรียบ ดังกรณีอุบาลีนี้ก็เช่นกัน

อุบาลี หมายมั่นปั้นมือจะหักล้างพระพุทธองค์ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติจากมหาวีระ แต่มีสาวกผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งนามว่า ทีฆตปัสสี ห้ามไว้ เตือนว่า "พระสมณะโคดมนั้นมี "อาวัฏฏนีมนต์" (มนต์กลับใจ) ใครได้พูดคุยด้วย ถูกสมณะโคดมครอบหมด ท่านอย่าไปเลย เดี๋ยวก็ถูก "ดูด" เป็นสาวกเขา"

แต่อุบาลีก็ไม่ฟัง ทั้งมหาวีระก็สนับสนุน อุบาลีไปหาพระพุทธเจ้า โต้วาทะกันนานพอสมควร เรื่องโต้กันเกี่ยวกับ "หลักกรรม" (ซึ่งทางเชนใช้ศัพท์ว่า ทัณฑ์) อุบาลียืนยันว่า กายทัณฑ์ (กรรมทางกาย) สำคัญกว่า มโนทัณฑ์ (กรรมทางใจ) พระพุทธองค์ตรัสว่า มโนกรรมสำคัญกว่า

ในที่สุดอุบาลียอมจำนนด้วยเหตุผล จึงประกาศละทิ้งศาสนาเดิม ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระพุทธเจ้าตรัสปรามว่า "คหบดี คนที่มีชื่อเสียงอย่างท่าน จะทำอะไรขอให้คิดให้ดีก่อน"

"คิดดีแล้วพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ" อุบาลียืนยัน มิไยพระพุทธองค์จะตรัสถึงสามครั้ง ให้เขาคิดให้ดีก่อน เขาก็ยืนยันเจตนาเดิม

พระพุทธองค์จึงทรงรับเขาเป็นสาวก แล้วตรัสต่อไปว่า "อุบาลี บ้านเธอเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกนิครนถ์ ถึงเธอจะเป็นสาวกของเราแล้ว เธอก็จงสำคัญข้าวน้ำที่เคยถวายแก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิมเถิด"

ความหมายของประโยคหลังนี้ก็คือ เคยถวายข้าวน้ำแก่พวกเขาอย่างไร ก็จงถวายเหมือนเดิมเถิด แต่อุบาลีไม่ทำ รู้สึกจะเป็นธรรมดาของคนที่เปลี่ยนศาสนาใหม่นะครับ มักจะเคร่งครัดกว่าศาสนาเดิม อุบาลีนี้ก็เช่นกัน กลับถึงบ้าน สั่งคนเฝ้าคฤหาสน์เลยว่า "ห้ามพวกนิครนถ์ ไม่ว่าใครทั้งนั้น เข้ามาเป็นอันขาด"



ปางทรมานอุบาลีอุบาสก (จบ)
ทีฆตปัสสี ได้ข่าวว่าอุบาลีถูกพระพุทธเจ้าล้างสมองแล้ว ก็ตรงดิ่งไปหาศาสดามหาวีระต่อว่าต่อขาน "ข้าพเจ้าบอกแล้วว่า สมณโคดมมีมนต์กลับใจ ไม่ให้ส่งอุบาลีไปท่านก็ดื้อส่งไป ตอนนี้เป็นไง เขากลายเป็นสาวกของสมณโคดมไปแล้ว"

มหาวีระกล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้"
"เป็นไปไม่ได้ ก็ไปดูให้เห็นกะตาสิ" ทีฆตปัสสีกล่าว

มหาวีระจึงนุ่งสบงทรงจีวร เอ๊ย ประทานโทษ แก้ผ้าอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลานุ่งห่มผ้า รีบไปคฤหาสน์ของอุบาลี นายทวารไม่ยอมให้เข้า จึงร้องบอกว่า "นี่ข้ามหาวีระ อาจารย์ของอุบาลีเจ้านายเอ็ง ไปบอกว่าอาจารย์มาหา"

นายทวารหายไปพักหนึ่ง กลับมาเชิญมหาวีระเข้าไป พาไปนั่งที่ศาลากลางลานบ้าน ไม่พาขึ้นไปคฤหาสน์เหมือนทุกครั้ง มหาวีระรออยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ สักครู่อุบาลีก็เดินลงมาขึ้นไปบนศาลา ไม่ยกมือไหว้ดังเคย ขึ้นไปนั่งบนอาสนะสูงกว่า แล้วกล่าวขึ้นดุจคนไม่คุ้นเคยว่า "พระคุณเจ้า มีความประสงค์สิ่งใด"

"อุบาลี อย่าพูดอย่างนั้น นี่ศาสดาเจ้านะ"

"ท่านไม่ใช่ศาสดาของข้าพเจ้า ศาสดาของข้าพระเจ้าคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" อุบาลีพูดเสียงดังฟังชัด

ทำเอามหาวีระแทบกระอัก ร้องขึ้นเสียงดังว่า "เราน่าจะเชื่อ ทีฆตปัสสี ที่ไม่ให้ส่งเจ้าไปแต่แรก เจ้าถูกมนต์กลับใจของสมณโคดมจนได้"

"หามิได้ ท่านนิครนถ์ ข้าพเจ้ามิได้ถูกมนต์อะไรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งจริงด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงแนวทางดับทุกข์ได้จริง ต่างจากนักบวชอื่นๆ ที่มีแต่ราคาคุย"

"อุบาลี สมณโคดมมันมีดีอะไร เจ้าจึงไปหลงใหลปานนี้" อาจารย์ตัดพ้อ

"ฟังนะ ข้าพเจ้าจะกล่าวพระคุณของพระพุทธองค์ให้ท่านฟัง" อุบาลีกล่าว แล้วก็สวดสรรเสริญพระพุทธคุณ ๑๐๐ บท ทีละบท ทีละบท ด้วยเสียงก้องกังวาน

สวดไปได้ไม่ถึงครึ่ง มหาวีระก็ยกมือห้าม พอแล้วๆ แล้วก็กระอักโลหิตอุ่นๆ ออกจากปาก สานุศิษย์ต้องหามกลับวัด ว่ากันว่ามหาวีระได้ป่วยกระเสาะกระแสะตั้งแต่นั้น จนสิ้นชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน

อุบาลีอุบาสก เป็นคนมีความรู้ เมื่อมาเป็นพุทธศาสนิกแล้ว ก็ได้นำความรู้ของตนมารับใช้งานพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีตลอดอายุของท่าน

ข้อที่พึงสังเกตก็คือ พระพุทธเจ้ามิได้เป็น "ศาสดากระหายสาวก" คนมีชื่อเสียงขนาดอุบาลีมานับถือ ถ้าเป็นอาจารย์อื่นก็รีบรับแล้ว แต่พระองค์ตรัสเตือนให้คิดให้ดีก่อนจะทำอะไร นี้คือสปิริตที่น่าภูมิใจของพระพุทธศาสนา

ข้อสังเกตประการที่สอง พระพุทธคุณเท่าที่เราสวดกันมีอยู่ ๙ ประการ พระพุทธคุณ ๑๐๐ บท มีในที่นี้แห่งเดียว (เคยเขียนถึงในที่อื่นแล้ว ผู้สนใจพึงหาอ่านเอาเองเทอญ)  





ปางปราบจิญจมาณวิกา (๑)

เรื่องราวของพระพุทธรูปปางนี้ มีใน ชยมังคลอัฏฐกคาถา (คาถาว่าด้วยชัยมงคล ๘ ประการ ของพระพุทธเจ้า) ที่ท่านรวมไว้เป็นหนึ่งใน ๘ เหตุการณ์ คงเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก่อผลกระเทือนแก่วงการพระศาสนา มิใช่เฉพาะพระพุทธศาสนา หากรวมถึงศาสนาเดียรถีย์ที่เป็นตัวการวางแผนทำลายอันชั่วร้ายนี้ด้วย

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาแพร่หลายในชมพูทวีป ประชาชนจากทุกชั้นวรรณะได้หลั่งไหลเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์มากขึ้นตามลำดับ พระราชามหากษัตริย์ อาทิ พระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐ พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งโกศลรัฐ ต่างก็ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน

เหล่าเดียรถีย์ คือนักบวชนอกพระพุทธศาสนาซึ่งมีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาเชนก็ชักหวั่นไหว ศาสนาเชนที่ว่านี้คือพวกที่ถือเคร่งครัดถึงขนาดเปลือยกายเลยแหละ ขอรับ อ้างว่าเสื้อผ้าเป็นเครื่องหมายแห่งการยึดมั่นถือมั่น ผู้ไม่มีกิเลสต้องไม่นุ่งห่มผ้า (ถ้าถืออย่างนี้ พวกนู้ด พวกสายเดี่ยว ก็เฉียดๆ อรหันต์แล้วสิ ขอรับ) ศาสนาพิลึกๆ อย่างนี้ก็มีผู้เคารพนับถือนะครับ มีมากเสียด้วย

พวกเขาประชุมลับกันว่า จะทำอย่างไรดีศาสนาพระสมณะโคดมกำลังรุ่งเรืองได้รับอุปถัมภ์อย่างดีจากพระเจ้าปเสนทิโกศล ลาภ สักการะของพวกเรากำลังเสื่อมถอย รายได้เดือนละหลายหมื่นก็หดหายไปทุกที สาวกที่เข้าวัดเป็นแสนๆ ก็ลดน้อยลงทุกที ในที่สุดก็วางแผนลับกัน ให้สาวิกานามว่าจิญจมาณวิกา เป็นผู้ดำเนินการทำลายพระพุทธเจ้าของชาวพุทธ

จิญจมาณวิกา หรือเรียกสั้นๆ ว่า จิญจา เธอเป็นหญิงฉลาด รับแผนจากพระคุณเจ้าที่ตนเคารพมา ก็เริ่มสร้างความแคลงใจในหมู่สาวกของพระพุทธเจ้าทันที เวลาคนเขาออกนอกเมืองตอนเเช้า อีก็เดินเข้าเมือง เวลาคนเขาเข้าเมืองตอนเย็น อีก็เดินออกนอกเมือง

เมื่อคนเขาถามว่า เจ้าไปไหน ก็จะตอบว่า "เรื่องของข้า" เมื่อถูกถามบ่อยเข้า ก็ค่อยแย้มทีละนิดว่า "ข้าก็มาจากบ้านข้าน่ะสิ"
"บ้านเจ้าอยู่ที่ไหน ทำไมเดินออกนอกเมือง"
"ก็บ้านข้าอยู่นอกเมืองนี่จ๊ะ"
"นอกเมืองน่ะ อยู่ที่ไหน"
"พระศาสดาของท่านอยู่ที่ไหนล่ะ" นางจิญจาย้อนถาม
"อยู่พระเชตวัน นอกเมือง เกี่ยวอะไรกับเจ้าด้วย"

"ไม่เกี่ยวดอก เห็นพวกท่านถามว่าข้าอยู่ที่ไหน ก็เลยถามพวกท่านว่าพระศาสดาของพวกท่านอยู่ที่ไหน" จิญจาตอบกวนๆ พลาง หัวร่อกิ๊กๆ

"หรือว่า เจ้าอยู่ที่พระเชตวัน" ใครคนหนึ่งโพล่งขึ้น



ปางปราบจิญจมาณวิกา (จบ)

"แม่นแล้ว ข้าอยู่กับศาสดาของพวกเจ้า" จิญจารับสมอ้าง สร้างความมึนงงสงสัยแก่ประชาชน เป็นจำนวนมาก

กาลเวลาผ่านไปตามลำดับ นางใจบาปก็เอาท่อนไม้มาผูกท้องเอาผ้าพันทำทีว่าตั้งครรภ์ ท้องก็ค่อยโตขึ้นตามกาลเวลา ถึงตอนนี้เสียงลือในทางอกุศลก็แพร่ไปไกล พวกที่เป็นพาลโง่เขลาก็พากันเชื่อ ยกเว้นเหล่าบัณฑิตผู้ตั้งอยู่ในธรรมเท่านั้นที่ไม่เชื่อและไม่หวั่นไหวไปตามกระแส

วันหนึ่ง ขณะพระพุทธองค์ประทับแสดงพระธรรมเทศนาท่ามกลางพุทธบริษัทหมู่ใหญ่ที่พระเชตวันมหาวิหาร นางจิญจาอุ้มท้องเดินอุ้ยอ้ายเข้าไป กล่าวเสียงดังฟังชัดว่า "เสด็จพี่ มัวแต่แสดงธรรมอยู่นั่นแหละ ภริยาท้องแก่จวนคลอดแล้ว ไม่ฝากให้ลูกศิษย์ดูแลบ้าง จะฝากนางวิสาขาหรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็รีบๆ จัดการเสียเถอะค่ะ"

ประชาชนส่งเสียงฮือยังกับผึ้งแตกรัง พระพุทธองค์ประทับนิ่งเฉย หันไปตรัสกับนางได้ยินไปทั่วว่า

"น้องหญิง คำที่เจ้าพูด จริงหรือเท็จ เรากับเจ้าเท่านั้นที่รู้"
"ก็ใช่สิเจ้าคะ เรื่องในมุ้ง ใครเขาจะมารู้ด้วยเล่า" นางรับสมอ้างทันที

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาต่อ ไม่สนพระทัยนางอีกต่อไป ทำให้นางโกรธหนักขึ้น เต้นดุจเจ้าเข้า ส่งเสียงโหวกเหวกๆ ทำลายสมาธิของผู้ฟัง จะเต้นแรงไปหรือเปล่าไม่ทราบ ท่อนไม้ที่ผูกกับพุงหลุดลงมา (ในตำราว่า พระอินทร์ทนเห็นนางทำชั่วต่อไปไม่ไหว จึงแปลงเป็นหนูไต่ขึ้นไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้หลุดลงมา ว่าอย่างนั้น) แผนการเลยแตก ประชาชนจึงฮือไล่

นางวิ่งหนีตายออกจากพระเชตวัน พอออกมานอกประตูวัด แผ่นดินก็แยกเป็นช่องใหญ่สูบนางหายไปต่อหน้าต่อตาประชาชนเป็นที่สยดสยอง จิญจมาณวิกาผู้ใจบาปหยาบช้าก็จบชีวิตลงด้วยประการฉะนี้

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้สืบหาต้นตอผู้วางแผนทำลายอันชั่วร้ายนี้ ผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าตัวการก็คือนักบวชแห่งศาสนาแก้ผ้าจำนวนหนึ่ง จึงสั่งจับมาลงโทษตามกระบิลเมืองในที่สุด





ปางปราบเดียรถีย์ (๑)

เดียรถีย์สำนักเดิมครับ หลังจากเหตุการณ์นางจิญจมาณวิกาถูกส่งไปทำลายชื่อเสียงพระพุทธองค์แพ้ภัยตนเอง ถูกแผ่นดินสูบตายอย่างอนาถผ่านไปนานพอสมควรจนคนเกือบลืมกันหมดแล้ว เหล่าเดียรถีย์ก็ยังไม่เข็ด วางแผนทำลายอีก คราวนี้คิดว่าเป็นแผนเด็ด

พวกเขาได้ฆ่าสาวิกานางหนึ่งนามว่า สุนทรี แล้วลากศพไปทิ้งไว้ข้างพระเชตวันมหาวิหาร จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ผู้ร้ายมิได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย คดีทำท่าจะมืดมนจับฆาตกรไม่ได้

เหล่าเดียรถีย์ตัวการก็ตายใจ ยิ้มย่องผ่องใส เพราะมีเสียงลือว่าสมณะศากยบุตรลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งฆ่านางสุนทรี จึงพากันไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล ว่า สาวิกาของพวกตนถูกฆ่าหน้าพระเชตวันของสมณะศากยบุตรหลายวันแล้ว ขอได้โปรดรีบเร่งดำเนินการเอาตัวฆาตกรมาลงโทษให้ทีเถอะ

"ที่ล่าช้าอยู่ เพราะเกรงใจพระสมณโคดมหรืออย่างไร" เสียงเดียรถีย์ดังออกมาอย่างนี้

ประชาชนที่โง่เขลาขาดวิจารณญาณจำนวนมากเชื่อว่าการตายของนางสุนทรีเกี่ยวพันกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแน่นอน อาจมาจากความแค้นครั้งก่อนก็ได้ แค้นที่พระศาสดาของพวกตนถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ร้าย คราวนี้จึงเล่นงานสาวิกาของศาสดามหาวีระ (นริครน์ นาฏบุตร)

"พวกสมณะศากยบุตรนี่อาฆาตมาดร้ายเหลือเกิน คราวก่อนโน้น จิญจาเธอมีความแค้นส่วนตัวกับพระสมณะโคดม พวกเราไม่เกี่ยวเลย บ้านเมืองก็มิได้สอบสวนอย่างยุติธรรม จับพระเราไปฆ่าตั้งหลายองค์ เรายังไม่โกรธเลย แต่สมณะศากยบุตร ลูกศิษย์พระสมณะโคดมกลับไม่หายแค้น คราวนี้เล่นงานสีกาของพวกเราถึงตายเลย ช่างทารุณแท้" เหล่าเดียรถีย์ปล่อยข่าวเช่นนี้ล่องลอยไปไกล

พระสาวกทั้งหลายได้ยินข่าวลือนั้น จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลให้ทรงทราบพระองค์ตรัสพระคาถาว่า

"คนพูดเท็จเสมอ หนึ่ง คนที่ทำแล้วพูดว่า "ฉันไม่ได้ทำ" หนึ่ง
สองคนนี้ ตกนรกเหมือนกัน
สองคนนี้ ชั่วพอๆ กัน
มีคติเสมอกัน ในโลกหน้า"

สรุปก็คือ คนพูดเท็จประจำ คนที่ทำแล้วพูดหน้าตาเฉยว่าฉันเปล่า ชั่วพอกัน ตายไปแล้วตกนรกเหมือนกัน



ปางปราบเดียรถีย์ (จบ)

พระพุทธองค์ตรัสเป็นนัยว่า พวกเดียรถีย์นั้นสั่งฆ่าสาวิกาตนเองแล้ว พูดว่าตนมิได้ทำแต่ป้ายความผิดให้คนอื่นที่ไม่รู้เห็นด้วย แถมยังพูดเท็จ เที่ยวใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นอีก ตกนรกแน่นอน

เรื่องใหญ่ถึงปานนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้ปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด ทรงถือเอาเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะสร้าง ความกระจ่างโปร่งใสให้เกิดแก่พสกนิกรของพระองค์ มิปล่อยให้ลัทธิศาสนาใดในพระราชอาณาจักรของพระองค์ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม ไม่เฉพาะกับพระพุทธศาสนา กับศาสนาอื่นพระองค์ก็ทรงให้ความเป็นธรรมเหมือนกัน แม้ว่าพระองค์จะเป็นพุทธศาสนิกก็ตาม นี้คือแบบอย่างของผู้ปกครองที่ดีครับ

พระองค์รับสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปสืบหาความจริงให้ได้ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ก็จับนักเลงสุราจำนวนหนึ่งได้ นักเลงสุราเหล่านี้รับค่าจ้างหลังจากทำงานเสร็จก็ไปเลี้ยงฉลองกันอย่างสนุกสนาน สนุกเกินไปหรืออย่างไรไม่ทราบเกิดทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นลงมือตบต่อยทุบตีกันต้องห้ามกันพัลวัน

"เอ็งรู้ไหม อีนางสุนทรีถูกกูทุบทีเดียวม่อยกระรอกเลย" คนหนึ่งคุยโม้ ลิ้นไก่ เริ่มสั้น
"ใครว่า กูต่างหากที่ตีมันก่อน" อีกคนเถียง ลิ้นไก่พอๆ กัน
"ไอ้สองคนนี่ อย่างนี้ทุกที พองานเสร็จมักรับสมอ้างเป็นของตัว ข้าต่างหากเว้นที่ตีอีนังหนูนั่น ทีเดียวดับ"

เจ้าหน้าที่แอบฟังอยู่แล้ว ก็กรูกันออกมาจับนักเลงสุราสามสี่คนนั้นไปหาพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาทรงสอบปากคำด้วยพระองค์เอง พวกนั้นรับเป็นสัตย์ว่าพวกตนเป็นคนฆ่าสุนทรี (ใครลงมือก่อนหลัง ก็มีโทษพอกัน) แถมซัดผู้บงการอีกด้วย นักโทษเหล่านั้นถูกประหารชีวิตตามระเบียบ

ส่วนเหล่าเดียรถีย์ผู้บงการจำนวนหนึ่งถูกจับ มีพระบรมราชโองการให้แห่ประจานทัณฑ์รอบพระนคร ให้ประกาศว่า "พวกข้าพเจ้าเป็นคนสั่งฆ่านางสุนทรีเอง แล้วเอาศพไปโยนข้างพระเชตวัน ใส่ร้ายพระสมณะศากยบุตร"

ในตำรามิได้บอกว่า เดียรถีย์พวกนี้ถูกประหารชีวิต แต่วิธีสั่งให้เดินประจานตัวเองว่า "พวกข้าเลวๆ" ก็เป็นการทำโทษที่หนักหนาสาหัสทีเดียว ไม่ถูกฆ่า แต่ก็ตายทั้งเป็น ชื่อเน่าเหม็นเป็นที่ "ขี้เดียด" ของประชาชนตลอดไป ปานนั้นเชียว



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กรกฎาคม 2559 11:33:34 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #26 เมื่อ: 08 กรกฎาคม 2559 11:59:05 »



โปรดภิกษุหนุ่มผู้ตกหลุมรัก (๑)

ใช้ชื่ออย่างนี้คงไม่ว่ากัน เพราะตรงกับเนื้อหาของเรื่อง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภิกษุหนุ่มรูปนี้ มีบันทึกไว้ในอรรกถาแห่งธรรมบท (ธัมมปทัฎฐกถา) สาเหตุมาจากนางนครโสเภณี นามว่า สิริมา ผู้เป็นน้องสาวหมอชีวกโกมารภัจจ์

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งมคธรัฐ ได้สถาปนาตำแหน่ง "นครโสเภณี" เลียนแบบเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี นางนครโสเภณีคนแรกคือ นางสาลวดี ต่อจากนางสาลวดีก็นางสิริมา แรกเริ่มเดิมที สิริมา ก็มิได้เป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้า แต่เพราะความกรุณาของนางอุตตรา ภริยาเศรษฐีคนหนึ่งนางจึงได้รู้จักพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา

อุตตราเป็นสาวิกาของพระพุทธองค์ ปรารถนาจะได้เข้าวัดฟังธรรมบ่อยขึ้น จึงไปจ้างนางสิริมา มาทำหน้าที่ภรรยาชั่วคราว ซึ่งก็เป็นที่พอใจของสามี สิริมานั้น เมื่ออยู่กับสามีคนอื่นนานเข้าก็ลืมตัวนึกว่าเป็นภรรยาจริงๆ จึงรังแกนางอุตตรา ด้วยการเอาน้ำมันเดือดราดลงบนตัวของนางอุตตรา บังเอิญบรรดาคนใช้ของนางอุตตราเห็นเข้า จึงตรูกันเข้าไปทำร้ายสิริมา อุตตราได้ห้ามปรามพวกคนใช้ มิให้ทำอะไรสิริมา สิริมาจึงสำนึกผิด กล่าวคำขอขมา

อุตตราบอกว่า ให้ไปขอขมา "บิดา" ของนาง ถ้าบิดายอมยกโทษให้ ก็เป็นอันเลิกแล้วต่อกัน "บิดา" ที่ว่านี้นางหมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิริมามีโอกาสพบพระพุทธองค์ กราบขอขมาในความผิดที่ตนทำต่ออุตตรา พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาสั้นๆ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาสิริมาได้บรรลุโสดาปัตติผล ถวายตนเป็นสาวิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

วิถีชีวิตของสิริมา นางนครโสเภณี ได้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่วินาทีนั้น นางกลายเป็นคนใจบุญสุนทาน ใส่บาตรพระวันละ ๘ รูปเป็นประจำ ภิกษุหนุ่มเณรน้อยที่ไปรับบาตร (หมายถึงรับอาหารบิณฑบาต) ที่บ้านสิริมา กลับมาก็พากันกล่าวสรรเสริญความเป็นคนมีศรัทธามั่นคง และแน่นอน กล่าวขวัญถึงความงามของเธอด้วย

ภิกษุหนุ่มนิรนาม ได้ยินกิตติศัพท์ว่าสิริมาเธองามเหลือเกิน อยากเห็นด้วยตาว่าจะงามปานใด รุ่งขึ้นวันหนึ่งจึงนุ่งสบงทรงจีวร ถือบาตร ตรงดิ่งไปยังคฤหาสน์ของสิริมา เธอไม่รู้ดอกว่าคืนนั้นสิริมาเธอป่วยกระทันหัน แต่พอรุ่งเช้านางก็ให้คนใช้พยุงลงมาใส่บาตรดังเช่นทุกวัน

ภิกษุหนุ่มเห็นเธอ ก็เกิดความรักขึ้นมาทันที แสดงว่ากามเทพแผลงศรดอกเบ้อเร่อปักอกเธอดังฉึกเลยทีเดียว อาการหน้ามืดก็เกิดครับ สมดังบทกวีพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ (จำถูกหรือเปล่าหนอ!) ว่า "ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยลอุปสรรค (ะ) ใดใด"



ปางโปรดภิกษุหนุ่ม ผู้ตกหลุมรัก (จบ)
เธอรับข้าวจากนางแล้วก็ตรงดิ่งกลับวัด ขึ้นกุฏิ วางบาตรไว้แล้วก็นอนคลุมโปงครางฮือๆ ข้าวปลาไม่สนใจ มิไยเพื่อนพรหมจรรย์ (เพื่อนพระภิกษุ) ด้วยกันจะอ้อนวอนอย่างไรก็ไม่สนใจ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืนวันที่เธอใส่บาตรนั้นแล สิริมาได้เสียชีวิต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงมีพุทธบัญชาไปยังพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งเมืองราชคฤห์ว่า อย่าเพิ่งเผาศพนางสิริมา ให้นำศพไปทิ้งไว้ที่ "อามกสุสาน" (ป่าช้าผีดิบ) ก่อน พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงจัดการตามพุทธประสงค์

ในวันที่สี่ พระพุทธองค์รับสั่งให้ป่าวประกาศทั่วพระอารามว่า พระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรนางสิริมา ใครมีความประสงค์จะโดยเสด็จก็ให้เตรียมตัว เพื่อนพระภิกษุไปบอกภิกษุหนุ่มผู้เป็นไข้รัก นอนครางฮือๆ อยู่นั้นว่า "มัวแต่ครางอยู่ นั่นแหละ พระพุทธองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรนางสิริมา คุณไม่อยากไปบ้างหรือ" พอได้ยินคำว่า "สิริมา" ภิกษุหนุ่มก็กระโดดผึงจากที่นอน ล้างบาตรเช็ดให้แห้งแล้ว ก็ห่มจีวร รีบลงจากกุฏิตามเหล่าพุทธบริษัทไป

เสียงราชบุรุษประกาศก้องต่อที่ชุมนุมนั้นว่า "ท่านผู้เจริญ ใครอยากได้นางสิริมา นางนครโสเภณีผู้เลอโฉมแห่งเมืองราชคฤห์ ไปอภิรมย์ด้วย ขอให้จ่ายเงินมาหนึ่งพันกหาปณะ" ไม่มีเสียงตอบ ราชบุรุษคนเดิมประกาศอีกว่า "ห้าร้อยกหาปณะ"

เงียบ

"สองร้อยกหาปณะ"

เงียบอีกเช่นกัน คราวนี้เสียงประกาศราคาลดลงตามลำดับ ร้อยห้าสิบ...หนึ่งร้อย...ห้าสิบ...ยี่สิบ...สิบ...มาสกหนึ่ง...กากณิกหนึ่ง ก็ไม่มีผู้แสดงความจำนงจะรับนางไป

"ถ้าเช่นนั้น ให้เปล่าๆ ใครจะเอาไปเชิญเลย" เสียงประกาศดังกังวาน

เงียบเช่นเคยครับ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชำเลืองไปยังภิกษุหนุ่ม ซึ่งยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ ตรัสกับพุทธบริษัททั้งหลายว่า

"ดูเอาเถิด ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนนี้คนเขายินดีจ่ายหนึ่งพันกหาปณะ เพื่ออภิรมย์กับนางสิริมาแม้เพียงคืนเดียว แต่บัดนี้ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีใครปรารถนาจะรับร่างกายที่ว่างามแสนงาม ในที่สุดก็หาราคาค่างวดอะไรมิได้" แล้วได้ตรัสพระคาถา (โศลก) สอนธรรมบทหนึ่งว่า

     จงดูร่างกายที่ว่างามนี้ ที่เต็มไปด้วยแผล สร้างด้วยโครงกระดูก
     มากด้วยโรค มากด้วยความครุ่นคิดปรารถนา หาความยั่งยืนมิได้

ภิกษุหนุ่ม ตื่นจากภวังค์ สลัดความลุ่มหลงด้วยอำนาจราคะออกหมดสิ้น บรรลุโสดาปัตติผล เพราะฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ จากนั้นก็ตั้งหน้าปฏิบัติธรรมเพื่อทำความสิ้นสุดทุกข์ต่อไป.





ปางทรงสุบินนิมิต

ความฝันท่านว่าเกิดจากหลายสาเหตุ คือ
๑.กินมากธาตุกำเริบ
๒.บุพนิมิต คือ จิตรับรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราในอนาคต
๓.จิตอาวรณ์ คือจิตคิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่ผ่านมา
๔.เทพสังหรณ์ คือเทวดาหรือมารมาดลใจให้ฝัน

และยังกล่าวต่อไปว่า ประการที่ ๑ และ ๓ ไม่จริง ประการที่ ๒ จริงโดยถ่ายเดียว ประการที่ ๔ จริงบ้าง เท็จบ้าง

ว่ากันว่า นโปเลียน โบนาปาร์ต ฝันเห็นเกาะแห่งหนึ่งบ่อยครั้งมาก จนจำได้ติดตา ต่อมาเมื่อบั้นปลายแห่งชีวิต ถูกเนรเทศไปอยู่เกาะ เกาะที่ฝันเห็นนั้นเอง ทุกอย่างเหมือนในฝันเปี๊ยบเลย

เพื่อนศิลปินของผมคนหนึ่ง ฝันเห็นยอดเขาสวยงามมากจำได้ติดตา จึงวาดภาพเหมือนไว้ ต่อมาเขาได้ไปต่างจังหวัดทางภาคเหนือ ได้ขึ้นเขาแห่งนี้ พอไปนั่ง ณ มุมหนึ่ง เขาก็ตาเหลือกตรงนั้นเหมือนกับที่เขาฝันเห็นหลายครั้ง และได้วาดภาพไว้แล้ว

ฝันของใครเป็นเพราะสาเหตุอย่างไหน คิดเอาก็แล้วกัน ตัวท่านผู้อ่านเองก็คงมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องฝันมากันทุกคน

หลวงวิจิตรวาทการกล่าวว่า จิตมักมีหน้าที่จำเอาเหตุการณ์มาบรรยาย จิตเปรียบเหมือนคน "ขี้โม้" ยกตัวอย่างเวลาเรานอนหลับกลางวัน ถ้ามีคนมาตอกตะปูโป๊กๆ ข้างๆ เรา จิตจะรับเอาเสียงนั้นมาบรรยายเป็นความฝัน ฝันว่ากำลังต่อสู้กับข้าศึก ยิงกันตูมตามๆ พอตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่า ที่แท้ก็คือเสียงคนตอกตะปูนั้นเอง

ถามว่าฝันนี้มีส่วนจริงไหม ตอบว่ามีส่วนจริงเล็กน้อย แต่ส่วนมากก็คือจิตมันโม้สะบั้นหั่นแหลก

ว่ากันอีกแหละว่า ปุถุชนเท่านั้นที่ฝัน พระอรหันต์ไม่ฝัน เพราะฉะนั้นความฝัน หรือสุบินนิมิต ที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นที่จะกล่าวถึงนี้ เห็นตอนยังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตำราเล่าไว้ และให้พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์เองเสร็จ ขอนำมาเล่าให้ฟัง (ความจริงควรจะเขียนถึงปางนี้นานแล้ว แต่เพิ่งนึกได้ จึงนำมาเล่าแทรกไว้ตอนนี้)

พระมหาบุรุษหลังจากทรงเลิกทำทุกรกิริยาแล้ว ทรงหันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต โดยทรงเปรียบเทียบอุปมา ๓ ข้อ คือ ๑.สมณพราหมณ์ที่กายและใจไม่ปลีกออกจากกาม เปรียบดุจไม้สดแช่น้ำ คนเอามาก่อไฟไม่ติด ๒.สมณพราหมณ์ที่ออกจากกามแต่กายใจไม่ออก เปรียบดุจไม้สดอยู่บนบก เอามาก่อไฟไม่ติด และ ๓.สมณพราหมณ์ที่ออกจากกามทั้งกายและใจ เปรียบดุจไม้แห้งบนบก จุดไฟติด

อุปมาทั้ง ๓ นี้เป็นกำลังสนับสนุนให้พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป เพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ จนถึงราตรีขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ขณะบรรทมหลับ ก็ทรงพระสุบินเป็นบุพนิมิต ๕ประการคือ
    ๑.ทรงพระสุบินว่า พระองค์บรรทมหงายเหนือปฐพี พระเศียรหนุนภูเขาหิมพานต์ พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งสองหยั่งลงในมหาสมุทรทางทิศใต้
     ๒.หญ้าแพรกงอกขึ้นจากพระนาภี พุ่งสูงจรดท้องฟ้า
     ๓.หมู่หนอนทั้งหลาย สีดำบ้าง ขาวบ้าง ไต่ยั้วเยี้ยขึ้นมาจากพื้นพระบาททั้งคู่ จนถึงชาณุมณฑล (เข้า)
     ๔.ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่างๆ กันคือสีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาจากสี่ทิศ ลงมาจับแทบพระบาทแล้วกลับกลายเป็นสีขาวหมดสิ้น
     ๕.เสด็จขึ้นเดินจงกรมบนยอดเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นไม่เปรอะเปื้อนพระยุคลบาท

พระสุบินนิมิตนั้น มีการไขความว่า
     ๑.พระมหาบุรุษจะได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศสูงส่งกว่าใครๆ ในโลกทั้งสาม
     ๒.จะได้ประกาศสัจธรรมเผยมรรคผลนิพพานแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวง
     ๓.คฤหัสถ์ สมณพราหมณ์จะมาเลื่อมใสในพระพุทธองค์จำนวนมาก
     ๔.ชาวโลกทั้งมวล ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะเป็นผู้เข้าถึงธรรมเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น
     ๕.ถึงพระองค์จะมากด้วยอามิสที่ชาวโลกน้อมนำถวาย พระองค์ก็ไม่ติดอยู่ในอามิสเหล่านั้นแม้แต่น้อย

เมื่อพระพุทธองค์ทรงตื่นบรรทม ทรงดำริถึงข้อพระสุบินนิมิตนั้นแล้วก็ทรงแน่พระทัยว่าจักได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นแน่แท้






ปางโปรดพราหมณ์เฒ่า (๑)

พราหมณ์เฒ่านิรนาม แห่งเมืองสาวัตถี อดีตเป็นคหบดีมั่งมีทรัพย์แปดร้อยล้านกหาปณะ มอบให้ลูกๆ ไปหมด เลยตกระกำลำบาก เพราะลูกๆ (ลูกสะใภ้) ไล่ออกจากบ้าน ท้ายที่สุดต้องมาขอพึ่งพระมหากรุณาของพระพุทธองค์ เรื่องราวน่าระทึกใจครับ โปรดติดตามสดับ ณ บัดนี้

พราหมณ์คนนี้มีบุตรชายสี่คน แต่งงานแต่งการเรียบร้อยทุกคน ตามธรรมเนียมของชาวชมพูทวีป ผู้หญิงก็มาอยู่ตระกูลสามี ตระกูลใหญ่ อยู่รวมกันในบริเวณใหญ่ บรรดาภรรยาของสามีก็กระซิบถามสามีของพวกตนว่า "เมื่อไหร่ปะป๊าจะแบ่งทรัพย์สมบัติสักที"

ประดาสามีซึ่งเป็นลูกที่ดีของพ่อก็ตาเขียวใส่ว่า พูดอะไรอย่างนั้น ทรัพย์ของพ่อก็เหมือนของพวกเรานั่นแหละ ถึงเวลาอันสมควรพ่อก็จะแบ่งให้เอง นั่นเป็นช่วงแรกๆ แต่พอภรรยารบเร้าหนักเข้าก็ชักเห็นด้วยว่า "เออ จริงนะ พ่อก็แก่แล้ว ไม่น่าหวงทรัพย์ไว้คนเดียว แบ่งให้ลูกๆ แล้ว ลูกๆ ก็จะดูแลเองแหละ"

ในที่สุดลูกชายทั้งสี่ (แน่นอนรวมภรรยาอีกสี่ด้วย) ก็ไปอยู่ต่อหน้าพราหมณ์เฒ่าผู้เป็นพ่อ ขอร้องให้แบ่งสมบัติเท่าๆ กัน พราหมณ์เห็นว่าลูกชายและลูกสะใภ้ล้วนเป็นลูกกตัญญู เชื่อฟัง จึงแบ่งสมบัติให้เท่าๆ กัน ไม่เหลือไว้สำหรับตนเลย โดยบรรดาลูกๆ รับปากว่าจะผลัดเวรกันปรนนิบัติบิดาอย่างดี

แรกทีเดียวก็ไปอยู่ที่เรือนของบุตรชายคนโต ไม่ทันไรลูกสะใภ้ก็บ่นว่า "พ่อก็แบ่งสมบัติให้ทุกคนเท่ากันแล้วทำไมมาอยู่กินเฉพาะที่บ้านลูกชายคนโต ถ้าอยากอยู่บ้านนี้เลย ทำไม ม่แบ่งให้อีกส่วนหนึ่งสำหรับเลี้ยงดูพ่อ"

พราหมณ์เฒ่าได้ยินลูกสะใภ้พูดเช่นนั้นหููร้อน หน็อยแน่ ก่อนนี้มันพูดว่าจะดูแลข้าอย่างดี พอได้สมบัติแล้วเห็นข้าเป็นอะไร ไม่อยากให้อยู่ก็ไม่อยู่วะ ว่าแล้วก็ลงเรือนไปอยู่กับบ้านลูกชายคนที่สอง โดยที่ลูกชายคนแรกเพียงยืนดูพ่อลงจากเรือนมิได้ทัดทานอะไร

อยู่กับลูกชายคนที่สองไม่นาน ก็เข้า "อีหรอบเดิม" อีก ถูกสองสามีภรรยาพูดทำนองไม่พอใจ พราหมณ์ผู้มากด้วยทิฐิมานะ จึงออกจากเรือนลูกชายคนที่สองไปยังเรือนของลูกชายคนที่สามแล้วก็ที่สี่ตามลำดับ

เมื่อถูกลูกชายคนเล็กและลูกสะใภ้ไล่ออกจากบ้าน พราหมณ์เฒ่ามืดแปดด้าน ทิฐิมานะหายไปหมด ไม่รู้จะไปไหน จะยังชีพอย่างไร ท้ายที่สุดเมื่อคิดว่าหมายังไม่อดตาย ก็ถืออาชีพขอทาน เที่ยวขออาหารจากผู้ใจบุญประทังชีวิตไปวันๆ ค่ำไหนนอนนั่น น่าสมเพชเวทนานัก

เรื่องราวของพราหมณ์เฒ่า คงมีคนรู้บ้าง วันหนึ่งผู้มีใจกรุณาคนหนึ่ง แนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาจึงเดินเข้าไปในพระเชตวัน



ปางโปรดพราหมณ์เฒ่า (จบ)

พระพุทธองค์คล้ายประทับรอการมาของพราหมณ์เฒ่าอยู่แล้ว จึงทรงทักทายด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี พราหมณ์ได้ยินเท่านั้นก็ปลาบปลื้ม ร้องอุทานด้วยความยินดีว่า "พระสมณโคดมนั้นพระขนงไม่ขมวด พระพักตร์เบิกบาน ทรงทักทายก่อน ตรัสคำไพเราะ ฟังแล้วชื่นใจ ทรงฉลาดในปฏิสันถาร"

เขาคลานเข้าไปใกล้ กราบทูลเรื่องราวอันรันทดใจให้ทรงทราบ พลางขอพระมหากรุณาเป็นที่พึ่ง พระพุทธองค์ทรงปลอบใจให้เขาคลายทุกข์โศกแล้ว ตรัสว่า "พราหมณ์ ท่านจงท่องคาถาที่ตถาคตให้นี้ให้ขึ้นใจ เมื่อได้โอกาสเหมาะให้ไปท่องให้ที่ประชุมสภาฟัง แล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย"

คาถาที่ประทานให้พราหมณ์ท่องนั้นมีความว่า
     ข้าเลี้ยงลูกชายเหล่าใดมา หวังความเจริญเพลิดเพลินใจ
     ลูกชายเหล่านั้นพอถูกเมียยุยง ไล่พ่อมันดุจหมาไล่สุกร
     ไอ้ลูกชั่ว สารเลว มันเรียกกูว่า "พ่อ พ่อ" แต่มันก็คือรากษส
     ในร่างบุตร พวกมันทิ้งพ่อที่แก่เฒ่า
     พวกมันปล่อยให้พ่อของพวกมันสิ้นไร้ไม้ตอก ดุจม้าแก่น่าสงสารตัวหนึ่ง
     พ่อแก่เฒ่าของไอ้พวกเลวทรามเหล่านั้น ต้องเที่ยวขอทานเขายังชีพ
     ไม้เท้าของข้า ประเสริฐกว่า ไอ้ลูกอกตัญญูทั้งหลาย
     มันไล่วัวดุได้ ไล่สุนัขดุได้ ช่วยคลำทางในที่มืดได้ หยั่งน้ำลึก
     เวลาข้ามน้ำได้ เมื่อพลาดล้ม ก็อาศัยไม้เท้ายันลุกขึ้นได้

พราหมณ์เฒ่าท่องคาถานั้นจนขึ้นใจ เมื่อสบโอกาสเหมาะ ขณะที่พวกลูกๆ ของแกเข้าประชุมสภาของพวกพราหมณ์ แกก็เดินยักแย่ยักยันเข้าไปในสภา ขอโอกาสร่ายโศลกให้ที่ประชุมฟัง ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยพราหมณ์ผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ได้ฟังดังนั้นก็ส่งเสียงอื้ออึง ทำนองว่า "มีเรื่องอย่างนี้ด้วยหรือ"

บุตรชายทั้งสี่ของพราหมณ์ อดรนทนไม่ได้ จึงก้มลงกราบแทบเท้าบิดา กล่าวขอขมาพร้อมรับปากกับที่ประชุมว่า จะนำบิดากลับไปดูแลอย่างดี ขอที่ประชุมได้อภัยในความผิดของพวกตนด้วย พราหมณ์ได้กลับไปสู่อ้อมอกของลูกๆ บรรยากาศแห่งความสุขก็กลับคืนมาดังเดิม พราหมณ์เฒ่ารู้สำนึกในพระมหากรุณาของพระบรมศาสดาได้ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์เป็นประจำจนตลอดชีวิต





ปางโปรด นางอัมพปาลี (๑)

นางอัมพปาลี เป็นนางคณิกา หรือ นครโสเภณี เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี คงทราบกันทั่วไปว่า นางนครโสเภณีเป็นตำแหน่งที่พระราชาหรือคณะพระราชาผู้ครองนครแต่งตั้ง คัดเลือกสาวงามผู้เพียบพร้อมไปด้วยรูปสมบัติและความสามารถพิเศษในด้านฟ้อนรำ ขับร้อง เป็นต้น เรียกว่าเก่งในด้านเอนเตอร์เทน ว่าอย่างนั้นเถอะ

เมืองที่เป็นต้นตำรับแห่งนครโสเภณีก็คือเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีนี้แล จนพระมหาราชแห่งแคว้นมคธมาพบเห็นเข้า ประทับพระทัย เอาแบบอย่างไปทำบ้าง ดังได้แต่งตั้งนางสาลวดีเป็นนางนครโสเภณีแห่งแคว้นมคธ (ถ้าจำผิดอย่าว่ากัน เพราะเวลาเขียนต้นฉบับ ขี้เกียจเปิดตำรา)


นางอัมพปาลี ไม่รู้เป็นลูกใคร นายอุทยานบาล (ผู้เฝ้าสวน) พบเห็นนั่งอยู่ใต้ต้นมะม่วงในอุทยานแห่งหนึ่ง นำไปเลี้ยงไว้ โตมาก็มีความสวยงามหยาดฟ้ามาดิน ใครเห็นก็หลงใหลใฝ่ฝันชื่อว่า "อัมพปาลี" แปลว่า รักษาต้นมะม่วง หรือ มะม่วงรักษาไว้ ทำนองจะบอกว่า เทพที่สิงอยู่ในต้นมะม่วงรักษาไว้ เป็นสัญลักษณ์บอกว่านางมีที่ไปที่มาอย่างไร

ว่ากันว่ากษัตริย์ลิจฉวีหนุ่มๆ ทั้งรุ่นกระทงและรุ่นแก่ ต่างหลงใหลนาง ถึงขั้นยื้อแย่งกันเพื่อเป็นเจ้าของครอบครอง เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีเห็นว่าจะเป็นเหตุให้แตกสามัคคีกัน จึงแต่งตั้งนางให้เป็น "สมบัติกลาง" เสีย โดยให้ดำรงตำแหน่ง "นางนครโสเภณี" ทีนี้ใครใคร่อภิรมย์กับนางก็เชิญ มีเงินทองมีความประสงค์ก็ไปหานางได้ตามสบาย

เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นนางนครโสเภณีแล้ว นางก็รับใช้ประเทศชาติเป็นอย่างดีเสมอมา (รับรองแขกเมือง นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาปีละไม่น้อย) พระราชามหากษัตริย์ต่างเมือง อาทิ พระเจ้าพิมพิสาร เป็น "ขาประจำ" ตั้งหลายองค์ พระเจ้าพิมพิสารนั้น ว่ากันว่า เที่ยวไล้เทียวขื่อเป็นประจำ จนมีพยานรัก (ซึ่งเกิดจากความพลั้งเผลอ) หนึ่งคนชื่อ วิมละ (ต่อมามีชื่อว่า วิมลโกณฑัญญะ) วิมละ นี้แล ภายหลังได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ข้อมูลกระแสหนึ่งบอกว่าตอนยังเด็ก แม่ส่งไปยังพระราชสำนักเมืองราชคฤห์ พระบิดาเห็นธำมรงค์ที่หัตถ์ของเด็กก็ระลึกได้จึงยอมรับเป็นโอรสแล้วเลี้ยงไว้ในพระราชสำนัก

เมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองไพศาลี ในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนมายุ นางอัมพปาลีไปเฝ้าพระพุทธองค์ อาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่คฤหาสน์ของตน ขณะนั่งรถกลับ สวนทางกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีจำนวนหนึ่ง ได้ทักทายปราศรัยกันตามประสาคนคุ้นเคย (คงคุ้นเคยกันทุกคน เพราะต่างก็เป็น "ขาประจำ" ของนาง)



ปางโปรดนางอัมพปาลี (จบ)
เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีทราบว่านางเพิ่งกลับมาจากไปกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยพระกระยาหาร จึงขอให้นางสละสิทธิ์นั้นให้กับพวกตน นางไม่ยินยอม เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีกล่าวว่านางจะเอาอะไร ไม่ว่ารถที่สวยงามเหล่านี้และข้าวของเงินทองเท่าไรก็ยินดีมอบให้ ขอให้มอบพระพุทธองค์ให้พวกตน (คือขอให้พวกเขาได้ถวายภัตตาหารแก่พระพุทธองค์ในวันรุ่งขึ้น)

อัมพปาลีไม่ยินยอม บอกว่าพระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนาของนางแล้ว แต่ถ้าพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธประสงค์จะไปเสวยที่วังของพวกท่านก็แล้วแต่พระองค์ เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่วังของพวกตน พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ได้รับคำอาราธนาของนางอัมพปาลีแล้ว เหล่ากษัตริย์ลิจฉีก็ได้แต่ผิดหวังกลับไป

มีเรื่องแทรกตรงนี้เล็กน้อย ขณะที่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีขี่รถเข้าไปยังพระวิหารที่ประทับนั้น พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ภิกษุสงฆ์ดูว่า "ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธออยากรู้ว่าเทวดาบนดาวดึงส์สวรรค์เป็นอย่างไร พวกเธอจงดูกษัตริย์ลิจฉวีเหล่านี้เถิด" เท่ากับบอกว่า กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านี้แต่งตัวหรููหราฟุ่มเฟือย นั่งรถใหญ่โตวิจิตรตระการตาดุจเหล่าเทพยดาไม่ผิดเพี้ยน พูดอีกนัยหนึ่งพวกนี้ก็คือเทวดาบนดินนั้นแล

ในวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ เสด็จไปยังคฤหาสน์นางอัมพปาลี เสวยภัตตาหารแล้วทรงแสดงธรรมให้นางฟัง นางได้ถวายสวนมะม่วงของนางให้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ เรียกว่า "อัมพปาลีวัน" ทำนองเดียวกับ เวฬุุวันที่พระเจ้าพิมพิสารถวายนั้นแล

จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปยังเวฬุวคาม ทรงจำพรรษาสุดท้ายที่นั่น จากนั้นก็เสด็จต่อไปยังที่อื่นๆ จนไปปรินิพพานที่เมืองกุสินาราดังที่ทราบกันแล้ว

พิเคราะห์ตามนี้ แสดงว่าการถวายอัมพปาลีวันนี้เกิดขึ้นในช่วงท้ายพุทธกาล คืนก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเล็กน้อย แต่ข้อเท็จจริงนางคงได้พบพระพุทธองค์และได้เป็นสาวกของพระองค์มาก่อนหน้านั้น หาไม่นางคงไม่ไปกราบทูลอาราธนาให้ไปเสวยภัตตาหาร และแน่วแน่มั่นคงในพระพุทธองค์จนกระทั่งไม่ยอม "ขายกิจนิมนต์" แก่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีเป็นแน่

นางอัมพปาลี ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตได้ฟังธรรมจากพระลูกชาย (พระวิมลโกณฑัญญะ) ได้ออกบวชเป็นภิกษุณี พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้แห่งสรีระร่างกายของตน เห็นประจักษ์ถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้บรรลุพระอรหัตในที่สุด





ปางชี้มาร (๑)

ในพุทธประวัติ หรือพูดให้ชัดในพระไตรปิฎก มีพูดถึงมารบ่อยครั้งมาก บ่อยเสียจนไม่คิดว่าเป็นการกล่าวถึงโดยบังเอิญ แต่มารคือใคร หรือคืออะไร เป็นเรื่องที่เราพึงพินิจพิจารณาด้วยความรอบคอบ

คำว่า มาร ตามรูปศัพท์แปลว่า "ผู้หรือสิ่งให้ตาย" ให้ใครตาย ก็ให้มนุษย์เราทุกคนนี้แหละตาย ตายจากอะไร อาจตายจากความดี หรือตายจากชีวิตก็ย่อมได้ ท่านให้คำจำกัดความอย่างนี้แล้ว ก็แบ่งประเภทมารออกเป็น ๕ คือ
     ๑.กิเลสมาร มารคือกิเลส กิเลสคือโลภ โกรธ หลง ก็ให้ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจมันตายทั้งเป็น ดังเช่นรัฐมนตรี พระสงฆ์องค์เจ้า ประชาชนที่มีชื่อเสียงดังๆ และไม่ดัง "ตายทั้งเป็น" มานักต่อนัก
     ๒.อภิสังขารมาร มารคือบุญบาป บาปเป็นมาร พอเข้าใจได้ แต่บุญเป็นมารอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราเวียนว่ายตายเกิดในสุคติภพบ้าง ทุคติภพบ้าง เพราะอำนาจบุญและบาป ตราบใดที่ยังตกอยู่ในวงจรของบุญ-บาป ก็ขึ้นสวรรค์ลงนรกอยู่ร่ำไป ไม่มีทางบรรลุพระอรหัตผลได้ การจะตัดวงจรแห่งการเวียนเกิดเวียนตายได้ ต้องบรรลุพระอรหัตผล เหนือบุญเหนือบาป เพราะฉะนั้นบาปเป็นมารได้ บุญก็เป็นมารได้เช่นเดียวกัน
     ๓.มัจจุมาร มารคือความตาย บางคนกำลังรุ่งเรือง เขาจะแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชาคณะอยู่แล้ว เกิดตายเสียนี่ อย่างนี้เรียกว่าความตายเป็นมาร ตัดรอนมิให้ได้รับตำแหน่ง
     ๔.เทวปุตตมาร เทวดาเป็นมาร เทพที่อันธพาลคอยแกล้งคนก็มีไม่น้อย เทพอันธพาลระดับเจ้าพ่อก็คือ วสวัตตีมาร อยู่บนสวรรค์ชั้นหกโน่นแน่ครับ วสวัตตีมารเป็นมารคอยกลั่นแกล้งพระพุทธเจ้ามาตลอด ท้ายที่สุดพ่ายแพ้โดยราบคาบ เมื่อครั้งพระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
     ๕.ขันธมาร มารคือขันธ์ร่างกาย ร่างกายคนเราก็เป็นมาร ขัดขวางมิให้เจริญก้าวหน้า เช่น คนเกิดมาพิการ จะเข้าทำงานอะไรเขาก็ไม่รับ หาว่าอวัยวะไม่สมประกอบ คนร่างกายอ่อนแอจะไปสมัครแบกกระสอบ เขาก็ปฏิเสธกลัวกระสอบทับตาย คนแก่หง่อมจะมาเข้าพรรคการเมืองดัง เขาก็ไม่รับ กลัวจะเป็นลมตายตอนหาเสียง คนรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ ไปสมัครเป็นเทพี เขาเห็นหน้าก็ไล่แล้ว ร่างกายเป็นมารด้วยประการฉะนี้

มารมีหลายประเภท แล้วมารที่ขับเคี่ยวกับพระพุทธเจ้าคือมารประเภทใด

ผู้รู้ตอบว่า อาจหมายถึง ๓ ประเภท ประเภทใดประเภทหนึ่งคือ
     (๑) กิเลสมาร ใต้ต้นโพธินั้น คงจะเป็นกิเลสคือโลภโกรธหลง ที่ผุดขึ้นในพระทัยของพระโพธิสัตว์ พระองค์ทรงเอาชนะมันได้ราบคาบ ก็มีผู้อธิบายว่า มารในที่นี้คือกิเลส หรือไม่ก็อาจเป็นประเภทที่สอง
     (๒) มารคือเทพ ได้แก่ วสวัตตีมาร เจ้าตัวนี้ เป็น being ชนิดหนึ่ง มีตัวตนจริง คอยเล่นงานพระพุทธองค์ตั้งแต่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) ถ้าไม่หมายถึงกิเลส ก็คงจะเป็นมารตัวนี้ก็ได้ และ/หรือ
     (๓) ขันธมาร มารคือร่างกาย มารที่มาอัญเชิญปรินิพพาน ว่าถึงเวลาจะปรินิพพานละโลกนี้ไปแล้ว กิจที่พึงทำในฐานะเป็นพระพุทธเจ้าก็ทำหมดแล้ว ปรินิพพานเสียเถอะ ก็อาจหมายถึงขันธ์ร่างกายก็ได้ คือพระพุทธองค์ทรงแก่หง่อมแล้ว ร่างกายไปไม่ไหวแล้ว มันบอกสัญญาณว่า ควรจะ "ตาย" ได้แล้ว อาจเป็นอย่างนี้ก็ได้

เพราะฉะนั้น "มารผจญพระพุทธองค์" อาจหมายถึงอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ แล้วแต่เรื่องแล้วแต่กรณี



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 สิงหาคม 2559 14:33:13 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #27 เมื่อ: 03 สิงหาคม 2559 15:49:24 »


http://www.mahamodo.com/modo/dhama_bud/bud_history/images/pic_page/68.jpg
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ


ปางประทานบาตรและจีวร (๑)

ไม่มีปางนี้มาก่อน ผม "ตั้งขึ้นมา" เอง โบราณาจารย์ท่านตั้งไว้หลายปาง แต่ก็ยังไม่หมด น่าจะคิดขึ้นอีกหลายๆ ปาง โดยเอาเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระพุทธองค์เป็นหลัก เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ของพระบรมศาสดา

เรื่องที่พระพุทธเจ้าประทานบาตรและจีวรแก่พระมหากัสสปะนี้ มีกล่าวถึงจริงในตำรา และมีนัยสำคัญในกาลต่อมา คือเป็นพันธะทางใจที่พระมหากัสสปะพึงสนองพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่นี้ในภายหลัง และพุทธศาสนิกฝ่ายเซน ถือเป็นที่มาของนิกายเซนด้วย จะเล่าให้ฟัง ตามผมมา (ไม่ตามจะรู้หรือ ปานนั้นเชียว)

พระมหากัสสปะ เป็นพระที่เคร่งครัดมาตั้งแต่บวชใหม่ๆ (ความจริงแล้วเคร่งมาก่อนบวชอีก เมื่อพ่อแม่จับแต่งงาน ก็มิได้อยู่กับภรรยา ดังคู่อื่นเขา เป็นสามีภรรยาแต่ในนาม ทั้งสองตกลงใจออกบวช เพราะมีความประสงค์ตรงกัน) เมื่อบวชแล้ว ท่านก็ถือธุดงควัตร ๓ ข้ออย่างเคร่งครัดคือ ถือบิณฑบาตเป็นวัตร (คือเป็นนิตย์) ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อยู่ป่าเป็นวัตร

เฉพาะอย่างที่สองนั้น ทำให้พระท่านลำบากมิใช่น้อย ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งไว้คลุกฝุ่น ส่วนมากก็เป็นเศษผ้าที่เขาไม่ใช้ หรือใช้ไม่ได้ อย่างดีก็เป็นผ้าที่เขาห่อศพเอาไปทิ้ง พระท่านก็จะเอาผ้าเหล่านั้นมาเย็บเป็นจีวร ย้อมด้วยน้ำฝาด คิดดูก็แล้วกัน มันจะปุปะขนาดไหน ที่แน่ๆ คือคงหนักน่าดู ยิ่งเวลาเปียกฝน ก็แทบจะ "ลาก" ไปไม่ไหว

พระมหากัสสปะ ท่านเป็นพระผู้เฒ่าด้วย คงลำบากมาก พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาคุณแก่พระมหากัสสปะ ถึงกับตรัสว่า ไม่ต้องถือธุดงควัตรก็ได้ เพราะท่านก็เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ หมดกิเลสแล้ว กิจด้วยการถือปฏิบัติขัดเกลาไม่จำเป็นแล้ว แต่ท่านก็กราบทูลพระบรมศาสดาว่าจำเป็นต้องถือ

คำกราบทูลของท่านนั้น น่าจะจดจำเอาเป็นแบบอย่างในภายหลังกันให้มาก

ท่านกราบทูลว่า "ข้าพระองค์มิได้ถือธุดงควัตร เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หากเพื่ออนุเคราะห์อนุชนภายหลัง" (ปัจฉิมาชนตาย อ่านว่า "ปัด-ฉิม-มา-ชะ-นะ-ตา-ยะ" ขอรับ) นี้คือพระอรหันตสาวกของพระพุทธองค์ ท่านมิได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านอย่างเดียว หากจะทำอะไรต้องคำนึงถึงอนุชนภายหลังด้วย คือพยายามวางแบบอย่างที่ดีงามให้คนภายหลังได้ประพฤติปฏิบัติตาม เป็นความกรุณาอันยิ่งใหญ่นัก

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า พระมหากัสสปะลำบากในการครองจีวรอันหนาเตอะนั้น จึงประทานจีวรของพระองค์ให้พระมหา กัสสปะ ทรงรับเอาจีวรของพระมหากัสสปะมาห่มเสียเอง นัยว่าประทานบาตรให้ท่านด้วย

พระมหากัสสปะจึงสำนึกในพระมหากรุณาครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ได้สนองงานพระศาสนาตามความถนัดของตนตลอดมา เมื่อครั้งพาเหล่าศิษย์เดินทางไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ที่ทรงประชวรหนัก ไปไม่ทัน พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานก่อน ได้ถามข่าวคราวจากปริพาชกคนหนึ่ง ที่ถือดอกมณฑารพเดินสวนทางมา

ได้ทราบจากปริพาชกนั้นว่า พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานก่อนหน้านั้น ๗ วันแล้ว เหล่าภิกษุสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ก็นั่งนิ่งปลง "ธรรมสังเวช" ฝ่ายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์



ปางประทานบาตรและจีวร (จบ)
ภิกษุแก่รูปหนึ่งนามว่า สุภัททะ ได้ปลอบโยนภิกษุเหล่านั้นว่า อย่าได้ร้องไห้เสียใจเลย ควรจะดีใจเสียอีก เพราะขณะทรงพระชนม์อยู่ พระศาสดาทรงจู้จี้สารพัด ห้ามนั่นห้ามนี่ จะเหยียดแขนเหยียดขาก็ยาก ดูเหมือนจะผิดไปหมด บัดนี้พวกเราเป็นอิสระแล้ว อยากทำอะไรก็ได้ตามปรารถนา

วาทะอันเป็นดุจหนามแทงใจนี้ ได้ยินไปถึงหูของพระมหากัสสปะ ท่านเกิดความสลดใจว่า พระบรมศาสดาปรินิพพานยังไม่ทันไรเลย สาวกยังพูดจ้วงจาบพระธรรมวินัยปานนี้ ถ้ากาลล่วงเลยไปนานเข้า จะเกิดภัยอันยิ่งใหญ่แก่พระศาสนาแน่นอน

เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว ท่านมหากัสสปะจึงดำเนินการเพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระบบระเบียบ ก่อนลงมือทำงาน ท่านก็มานั่งรำพึงอยู่คนเดียว

รำพึงอะไร รำพึงถึงพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ที่มีต่อตัวท่าน

ขอคัดเอาคำรำพึงของท่านมาลงเลยดีไหม ไม่ต้องฟังจาก version ของผม เอาของจริงเลย

"ฐานํ โข ปเนตํ วิชฺชติ ยํ ปาปภิกฺขู อีตสตฺถุ ปาวจนนฺติ มญฺญานา ปกฺขํ ลภิตฺวา นจิรสเสว สทฺธมฺมํ อนฺตรธาเปยฺยุ อุตฺริมนุสฺสธมฺเม อตฺตนา สมสมฏฺฐาเน จ อนุคฺคหิโต ตสฺส เม กิมญฺญํ อาณณฺยํ ภวิสฺสติ...อิมินา อสาธารเณน อนุคฺคเหน อนุคฺคเหสิ จินฺตยนฺโต ธมฺมวินยสงฺ คายนตถํ ภิกฺขูนํ อุสฺสาหํ ชเนสิ"

 แปลเป็นไทยว่า เป็นไปได้ ที่ภิกษุบาปทั้งหลายจะคิดว่า พระศาสนาไม่มีศาสดาแล้ว ได้สมัครพรรคพวกแล้วก็จะทำให้พระสัทธรรมอันตรธาน เราเองพระพุทธองค์ให้เกียรติยกไว้ในฐานะเสมอกับพระองค์ ในด้านอุตริมนุสสธรรม ทางอื่นจะปลดเปลื้องหนี้ไม่มี พระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์เราด้วยการสงเคราะห์นี้ ที่ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น คิดดังนี้ พระมหากัสสปะจึงชักชวนให้ภิกษุทั้งหลายคิดสังคายนาพระธรรมวินัย

คำว่า "ทรงสงเคราะห์ด้วยการสงเคราะห์ที่ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น" ท่านมหากัสสปะหมายเอาการที่พระองค์ประทานบาตรและ จีวรให้ท่าน

นับเป็นกรณีพิเศษจริงๆ เพราะไม่ปรากฏว่าประทานให้สาวกรูปใด นอกจากท่านมหากัสสปะ

ชาวพุทธนิกายเซน จึงยกเอาเหตุการณ์ครั้งนี้ไปสร้างเป็น "นิทาน" (ในที่นี้แปลว่าต้นเหตุ) แห่งการเกิดขึ้นของนิกายเซน

โดยเล่าว่า พระพุทธเจ้าประทาน "เซน" แก่พระมหากัสสปะ พร้อมมอบบาตรและจีวรให้ด้วย พระมหากัสสปะก็ถ่ายทอดแก่พระอานนท์ พระอานนท์ก็ถ่ายทอดต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงพระโพธิธรรม (หรือ ตั๊กม้อโจวซือ) ตั๊กม้อ จีน ก็ไปถ่ายทอดต่อๆ กันไป จนถึงเว่ยหล่าง หรือ ฮุยเน้ง

ฮุยเน้ง ยกเลิกประเพณีการมอบบาตรและจีวร เพราะท่านเองกว่าจะมีโอกาสเผยแพร่พระศาสนา ก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุน หนีการตามไล่ล่าแย่งเอาบาตรและจีวรสิครับ รายละเอียดเคยเขียนไว้ใน ธรรมะของท่านพุทธทาส แล้ว โปรดหาอ่านเอาเทอญ





ปางโปรดสุภมาณพ (๑)

มาณพหนุ่มคนนี้เป็นบุตรเศรษฐีมีสมบัติสี่สิบห้าโกฏิ (คำนวณเอาก็แล้วกันว่ามากขนาดไหน) พ่อสุภมาณพเป็นคนขี้เหนียว ฝังทรัพย์ไว้ในดิน ไม่บอกให้ใครรู้จำนวนหนึ่ง เมื่อถึงแก่กรรมลงไป สุภมาณพเป็นผู้สืบทอดมรดก ไม่รู้ว่าสมบัติมหาศาลส่วนหนึ่งพ่อฝังไว้ในดิน แต่ที่เหลืออยู่ก็มหาศาล กินใช้ชั่วชีวิตไม่หมด

โตเทยยพราหมณ์ไม่ได้ทำบุญทำทานแม้แต่ครั้งเดียว เพราะกลัวทรัพย์จะหมดเปลืองด้วยการให้ทาน แถมยังสอนลูกๆ มิให้ประมาทในการใช้จ่ายทรัพย์ ทรัพย์ที่มีถึงจะมากก็มีวันหมดไปได้ดุจเดียวกับยาหยอดตา หยอดบ่อยๆ ก็หมดขวด หมั่นสะสมทรัพย์ที่เล็กๆ ดุจปลวกก่อจอมปลวก แมลงผึ้งสะสมน้ำหวาน

ตายไป เกิดเป็นสุนัขในบ้านของตนเพราะห่วงขุมทรัพย์ที่ซ่อนไว้ สุภมาณพผู้บุตรก็เลี้ยงลูกสุนัขตัวนั้นด้วยความรัก ให้กินอาหารอย่างดี ให้นอนบนที่นอนอย่างดี สุนัขมันก็รักสุภมาณพมากเช่นกัน เพราะความผูกพันที่มีแต่ปางก่อน

เช้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตในเมือง เสด็จผ่านไปยังคฤหาสน์ของสุภมาณพ สุนัขตัวโปรดของมาณพเห่าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเรียกมันว่า "โตเทยยะ เมื่่อก่อนแกไม่เห็นความสำคัญของเรา มาบัดนี้ยังจะมาเห่าเราอีก แกจะไปเกิดในอเวจีแล้ว"

สุนัขเลิกเห่า วิ่งหางจุกตูดไปนอนคลุกขี้เถ้าข้างเตาไฟ ไม่ยอมขึ้นนอนบนที่นอนหรูหราเหมือนเช่นเคย

สุภมาณพกลับจากทำธุระนอกบ้านเห็นอาการของหมาตัวโปรดผิดปกติไป จึงซักถามคนในบ้านว่าเกิดอะไรขึ้นกับสุนัขตัวโปรดของเขา ใครทำอะไรมัน ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีใครทำอะไร มีแต่พระพุทธเจ้าดุมันเมื่อมันเห่าพระองค์ โดยตรัสเรียกว่า "โตเทยยะ"

สุภมาณพได้ยินก็หูร้อนทันที คิดว่าพระพุทธองค์หมิ่นประมาทพ่อเขาและเขาอย่างแรง "ใครๆ ก็เข้าใจว่า พ่อเราไปเกิดในพรหมโลก ทำไมพระสมณะโคดมมาดูหมิ่นกันปานนี้" ไม่รอให้พระพุทธองค์เสด็จมาในวันรุ่งขึ้น เพราะไม่ทันใจ จึงรีบไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตวันเลยทีเดียว


ปางโปรดสุภมาณพ (จบ)
ไปถึงก็ต่อว่าพระพุทธองค์ หาว่าดูหมิ่น กล่าวหาว่าพ่อตนเป็นหมา พระพุทธองค์ตรัสว่า มิได้ดูหมิ่นเขาแต่ประการใด ที่ตรัสนั้นเป็นความจริง บิดาเขาเกิดเป็นสุนัขตัวนั้นจริงๆ แล้วตรัสถามเขาว่า
“มาณพ ทรัพย์สมบัติที่บิดาเธอมิได้บอกมีไหม”
“มีมาลาทองราคาแสนหนึ่ง รองเท้าทองราคาแสนหนึ่ง ถาดทองราคาแสนหนึ่ง และกหาปณะอีกแสนหนึ่ง หายไป” มาณพกราบทูล
“มาณพ วันนี้เธอกลับไปบ้านให้อาหารอย่างดีแก่สุนัขของท่าน ให้มันนอนบนที่นอนหรูหรา เมื่อมันใกล้จะหลับ ให้กระซิบถามมันว่า พ่อ พ่อซ่อนสมบัติที่เหลือไว้ไหน สุนัขจะพาท่านไปยังที่ฝังทรัพย์”

สุภมาณพกลับไปคฤหาสน์ของตนด้วยความคิดสองประการคือ (๑) ถ้าไม่พบขุมทรัพย์ตามที่บอกจริง คอยดูเถอะเราจะเล่นงานพระสมณะโคดมให้เข็ด  (๒) ถ้าพบจริง เราก็จะยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูจริงๆ จัดการตามที่ตรัสบอกทุกอย่าง

เมื่อสุนัขตัวโปรดใกล้จะหลับ ก็กระซิบถามว่า “พ่อ พ่อเอาสมบัติไว้ที่ไหน”  

ทันใดนั้นสุนัขตัวโปรดก็ลุกขึ้น ร้องและกระดิกหางด้วยความดีใจว่า ลูกชายจำตนได้แล้ว จึงวิ่งลงไปหลังคฤหาสน์ เห่าพลางเอาเท้าคุ้ยดิน

สุภมาณพสั่งให้ขุดตรงนี้ พบสมบัติที่หายไปตามที่พระพุทธองค์ตรัสบอกจริงๆ เขาจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามข้อข้องใจ ๑๔ ข้อ ได้รับวิสัชนาจนหายสงสัย จึงประกาศตนถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แต่บัดนั้นมา




ปางโปรดสุภัททะ ปัจฉิมสาวก
สุภัททะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในเมืองกุสินารา ตั้งใจว่าถ้ามีเวลาจะเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจของตนที่มีมานาน ที่ยังรีรออยู่ก็เพราะคิดว่ายังมีเวลา แต่พอทราบว่าพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว จึงรีบไปยังสาลวโนทยาน สถานที่พระพุทธองค์ประทับก่อนปรินิพพาน

พระอานนท์ พุทธอนุชา ปรนนิบัติพระพุทธองค์อยู่ รู้ว่าพระอาการประชวรหนักหนาสาหัสมาก ไม่ควรอนุญาตให้ใครเข้าเฝ้า เป็นการรบกวนพระยุคลบาท สุภัททะมาถึงก็ขอเข้าเฝ้าพระอานนท์ไม่ยินยอมให้เข้าเฝ้า เขาก็ยังยืนกรานขอเข้าเฝ้าให้ได้ หาไม่เขาจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว

เสียงโต้เถียงกันแว่วไปถึงพระกรรณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามผ่านพระวิสูตรว่า เสียงใคร พระอานนท์กราบทูลว่ามีมาณพคนหนึ่งยืนกรานจะเข้าเฝ้าให้ได้ ข้าพระพุทธองค์เห็นว่ามิบังควรเข้าเฝ้าเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท พระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณา รับสั่งให้เขาเข้าเฝ้า สุภัททะเข้าไปถวายบังคม แล้วกราบทูลถามว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณะพราหมณ์ที่เป็นเจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นเจ้าลัทธิ มีชื่อเสียง ชนเป็นอันมากยอมรับว่าเป็นคนดี คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ ทั้งหมด หรือว่าไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกได้ตรัสรู้ บางพวกไม่ได้ตรัสรู้"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "สุภัททะ ข้อนั้นยกไว้ก่อนเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟัง จงตั้งใจฟังธรรมนั้นให้ดี สุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคมีองค์แปด ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใดมีอริยมรรคมีองค์แปด ในธรรมวินัยนั้นมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ดูก่อนสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้นมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง

ดูก่อนสุภัททะ หากภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์"

มีเรื่องขอแทรกตรงนี้นิดหนึ่ง ๒ ประเด็นคือ
(๑) พระพุทธองค์จะไม่ทรงเสียเวลาสนทนาเรื่องที่นอกประเด็น หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ยิ่งเป็นการทับถมลัทธิศาสนาอื่น แม้ว่าจะมีผู้ถามนำก็ตาม พระองค์จะไม่ต่อประเด็น ดังสุภัททะทูลถามว่า ครูทั้งหก อันมีปูรณกัสสปะ เป็นต้น ตรัสรู้จริงหรือเปล่า พระองค์ก็ตัดบทว่า เรื่องนั้นยกไว้ก่อนเถิดเราจะแสดงธรรมให้ฟัง จงตั้งใจฟังธรรม

เมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูเข้าเฝ้า ก็ถามในทำนองเดียวกันว่าปูรณกัสสปะ เป็นต้น ใครสอนธรรมมีเหตุมีผลมากกว่ากัน พระองค์ก็ตัดบทว่าอย่าไปสนใจเลยว่าใครจะสอนมีเหตุมีผลมากกว่าใคร เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง

(๒) สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ หมายถึง พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ลัทธิศาสนาใดไม่สอนอริยมรรคมีองค์แปด ลัทธิศาสนานั้นไม่มีพระอริยบุคคลทั้ง ๔ ระดับนี้

พระพุทธวจนะที่ตรัสว่า "ถ้าภิกษุทั้งหลายพึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์" คำว่า "อยู่โดยชอบ" คือปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด สรุปลงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา หรือสรุปให้สั้นกว่านั้นคือ สมถะ กับ วิปัสสนา

ปัจจุบันนี้คนชอบถามว่า มีพระอรหันต์หรือเปล่า ถ้าถูกถามอย่างนั้น เราควรย้อนถามว่าเดี๋ยวนี้มีผู้ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์แปดหรือเปล่าล่ะ ถ้ามี พระอรหันต์ก็มี ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติถูกต้องตาม อริยมรรคมีองค์แปด พระอรหันต์ก็ไม่มี

สุภัททะ ฟังพระธรรมเทศนาโดยย่อแล้ว ประกาศตนเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ทูลขอบวช เนื่องจากสุภัททะเป็นเดียรถีย์คือนับถือศาสนาอื่นมาก่อน การจะบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ต้องผ่านการอยู่ "ปริวาส" (คืออยู่ปฏิบัติทดสอบศรัทธา) เป็นเวลา ๔ เดือนก่อน จึงจะบวชได้ แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าไม่มีเวลาแล้ว จึงทรงอนุญาตให้เธอบวชเป็นกรณีพิเศษ โดยประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ด้วยพระองค์เอง

เป็นอันว่า พระสุภัททะ ได้เป็นพระสาวกรูปสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำว่า "สาวกสุดท้าย" หมายถึงสาวกที่พระพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทให้เอง มิใช่หมายความว่า หลังจากพระสุภัททะแล้ว ไม่มีใครบวชในพระพุทธศาสนาเลย หามิได้



http://www.bloggang.com/data/t/travelaround/picture/1290009758.jpg
พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ

พระพุทธรูป ปางประทานธรรม

ปางประทาน มรดกธรรม (๑)

ปางนี้ เป็นเรื่องที่ประทานมรดกธรรม หรือพระพุทธวจนะตอนเกือบสุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ประทานคำสอน อันเป็นประดุจมรดกธรรม ให้เหล่าสาวกสืบทอดต่อๆ กันไป ไว้หลายเรื่องด้วยกัน อาทิ

๑.เกี่ยวกับอนาคตพระพุทธศาสนา พระองค์ตรัสประทานหลักการกว้างๆ ไว้ว่า "อานนท์ต่อไปภายหน้า ถ้าสงฆ์ประสงค์จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้"

ทรงมองเห็นการณ์ไกลว่า ในอนาคตเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป พระสงฆ์อาจประสบความลำบากในการรักษาสิกขาบทวินัยบางข้อ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พระองค์จึงมีพุทธานุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ได้ แต่ต้องเป็นความเห็นร่วมกันของสงฆ์ มิใช่ผู้ใดผู้หนึ่งจะยกเลิกเอาเองโดยพลการ  เนื่องจากพระอานนท์มิได้ทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใดบ้าง พระสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป ที่ประชุมสังคายนาพระธรรมวินัย หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน จึงไม่ยอมยกเลิก มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จะคงไว้ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มติที่ว่านี้เรียกว่า "เถรวาท" (แปลว่าข้อตกลงของพระเถระทั้งหลาย) ต่อมาเมื่อเกิดมีนิกายขึ้น คำว่าเถรวาท กลายเป็นชื่อนิกายดั้งเดิม และดำรงอยู่มาจนปัจจุบัน

๒.เรื่องมหาปเทส (ข้ออ้างใหญ่) ๔ ประการ ทรงมองเห็นการณ์ไกลอีกเช่นกันว่า ต่อไปในอนาคตอันยาวไกล คงจะต้องมีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า บางเรื่องไม่ปรากฏว่ามีห้ามไว้ หรืออนุญาตไว้จะยึดถืออย่างไร จึงจะรู้ว่าถูกหรือผิด พระพุทธองค์จึงประทานหลักสำหรับตรวจสอบเทียบเคียงอันเรียกว่า "มหาปเทส" มี ๔ ประการ คือ
   (๑) หากภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับฟังมาเฉพาะพระพักตร์ ของพระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์
   (๒) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีสงฆ์อยู่ พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาติโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าสงฆ์ ว่านี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์
   (๓) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระจำนวนมาก เป็นพหูสูต ถึงอาคม (หมายถึงเชี่ยวชาญในพุทธวจนะ) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) ข้าพเจ้าสดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้น
   (๔) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่ง เป็นพหูสูต ถึงอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าสดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์



ปางประทาน มรดกธรรม (จบ)

เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในพระสูตร เทียบดูในพระวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้นสอบลงในพระสูตร เทียบเข้าในพระวินัยไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาค ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น, พระเถระเหล่านั้น, พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิด พึงทิ้งเสีย

ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรได้ เทียบเข้าในพระวินัยได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแน่แท้ ภิกษุนั้น (สงฆ์นั้น, พระเถระเหล่านั้น, พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดี

กล่าวโดยสรุปก็คือ การยกข้ออ้างเพื่อพิสูจน์ว่า ใช่ธรรม ใช่วินัย ใช่สัตถุสาสน์ของพระผู้มีพระภาคหรือไม่ มีหลักอยู่ ๔ ข้อ
(๑) พุทธาปเทส = ยกพระพุทธเจ้าขึ้นอ้าง
(๒) สังฆาปเทส = ยกพระสงฆ์ขึ้นอ้าง
(๓) สัมพหุลเถราปเทส = ยกพระเถระหลายรูปขึ้นอ้าง
(๔) เอกเถราปเทส = ยกพระเถระรูปเดียวขึ้นอ้าง

ถ้าเขายกพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ทั้งปวง พระเถระหลายรูป พระเถระรูปเดียวขึ้นมาอ้าง ก็ให้ตรวจสอบกับพระสูตร พระวินัย ว่าเข้ากันได้ ลงกันได้ไหม ถ้าเข้ากันไม่ได้ ลงกันไม่ได้ ก็ไม่ควรเชื่อถือ ถ้าเข้ากันได้ ลงกันได้ ก็ควรถือปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังมี มหาปเทส ทางพระวินัยอีก ๔ ข้อที่ตรัสไว้ในที่อื่น โดยสรุปคือ (๑) สิ่งใดที่ไม่ทรงห้ามไว้ แต่ขัดกับสิ่งที่ควรทำ นับว่าไม่ควร (๒) ไม่ได้ห้ามไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ นับว่าควร (๓) สิ่งใดที่ไม่อนุญาตไว้ แต่ขัดกับสิ่งที่ควร นับว่าไม่ควร (๔) ไม่ได้อนุญาตไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ นับว่าควรหลักมหาปเทส หรือข้ออ้างใหญ่ ทั้งด้านธรรม และด้านวินัย เมื่อพระศาสดาไม่อยู่แล้ว ถ้าเกิดข้อถกเถียงกัน หรือไม่แน่ใจ ว่าอย่างไหนควรทำ อย่างไหนไม่ควรทำ ก็จะได้อาศัยตรวจสอบเทียบเคียง ถ้าลงรอย เข้ากันได้ ก็พึงเชื่อถือ ถ้าลงรอยกันไม่ได้ก็ไม่พึงเชื่อถือ

นี้เป็นมรดกธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ทรงฝากไว้ให้เหล่าสาวกในภายหลังของพระพุทธองค์ นอกจากพระธรรมวินัยอันเป็นมรดกใหญ่แล้ว ยังมีมหาปเทส อันเป็นเสมือนหลักสำหรับดูแลรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ควบคู่กันไปด้วย

นับว่าชาวพุทธมีโชคดี เป็นพุทธโอรสที่ได้รับมรดกอันมหาศาล


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กันยายน 2559 10:57:01 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #28 เมื่อ: 11 กันยายน 2559 11:05:31 »


ปางทรงพิจารณาชราธรรม (๑)

พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ที่ไม่ธรรมดาเหมือนมนุษย์ทั่วไปก็คือ ทรงบำเพ็ญบารมีมาจนเต็มเปี่ยมพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อสมัยยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) แล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ( ปี ก็ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ เป็น "พระสัมมาสัมพุทธ" = ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

พอมาถึงตรงนี้ พระพุทธองค์มิใช่เพียงมนุษย์ธรรมดาแล้วครับ หากเป็นมนุษย์พิเศษ ความเป็นมนุษย์พิเศษย่อมมีสัมฤทธิผลที่คนทั่วไปไม่มี ทางพระท่านเรียกว่า มี "ธรรมดา" แตกต่างจากคนทั่วไป เอาแค่ตอนเป็นพระราชกุมารก็จะเห็นชัด เวลาประสูติออกมาแล้ว เสด็จดำเนินได้ ๗ ก้าว ทรงเปล่ง อาสภิวาจาว่า "เราเป็นผู้เลิศของโลก ประเสริฐสุดของโลก เป็นใหญ่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไปแล้ว"

ถามว่าเป็นไปได้อย่างไร ตอบว่าเป็นไปได้ มิใช่เรื่องมหัศจรรย์ หากเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ที่มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว คำว่า "ธรรมดา" นี่แหละช่วยไขข้อข้องใจของคนขี้สงสัยได้

ธรรมดาของนกย่อมบินได้ ธรรมดาของปลาย่อมอยู่ใต้น้ำนานๆ ไม่ขาดใจตาย ถามว่าเราอัศจรรย์ไหมที่เห็นนกบินได้ เห็นปลาดำน้ำอึดเหลือหลาย ตอบแทนก็ได้ ไม่อัศจรรย์ มันเป็นธรรมดาของนก ของปลามัน ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์พูดได้ เดินได้ หลังจากเกิดใหม่ๆ เราจะไปอัศจรรย์อะไรเล่า มันเป็น "ธรรมดา" ของพระโพธิสัตว์ท่าน

เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงมีธรรมดาอีกหลายประการที่คนทั่วไปไม่มี (พระอรหันต์มีเหมือนกัน แต่ไม่เท่าพระพุทธเจ้า) เช่น พระพุทธเจ้าไม่มีใครสามารถฆ่าให้ตายได้ นอกจากจะทรงดับสนิทไปเองตามกฎธรรมชาติ เป็นต้น (ยกมาเพียงข้อเดียว ข้ออื่นยังนึกไม่ออก)

แต่เมื่อทรงเป็นมนุษย์ ถึงจะมีธรรมดาไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป พระพุทธเจ้าก็ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ เช่น มีอายุขัยตามกำหนดของมนุษย์ในยุคนั้นๆ มีเจ็บป่วยทางร่างกาย มีชราไปตามกาลเวลา อิทธิฤทธิ์ถึงจะทรงทำได้มากมาย ก็มิได้ใช้พร่ำเพรื่อ มิได้ใช้เพื่อฝืนกฎธรรมชาติ

ประโยคหลังนี้ เพื่อดักคอคนที่ชอบถามว่า ในเมื่อพระพุทธเจ้าของผมทรงมีสัมฤทธิผลมากมายเหนือคนอื่นๆ ทำไมไม่ใช้อิทธิฤทธิ์ต่อพระชนมายุให้อยู่เป็นอมตะ ไม่ตายเลยเล่า ก็บอกแล้วอย่างไรว่า ไม่ฝืนกฎธรรมชาติ


ปางทรงพิจารณาชราธรรม (จบ)
ในช่วงท้ายพระชนมายุ พระพุทธองค์ทรงมีพระกำลังถดถอย แถมทรงประชวรด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายเป็นเลือด) ซึ่งเป็นโรคประจำพระวรกาย ผมเข้าใจเอาว่าเป็นผลจากการทรงบำเพ็ญตบะเคร่งครัดต่างๆ ตลอดถึงการทรงอดพระกระยาหาร (ทุกรกิริยา) ทำให้ระบบลำไส้รวนเร ไม่คงคืนปกติเหมือนเดิม (เดานะครับ เมื่อเดาก็ไม่จำเป็นต้องถูก)

พระอานนท์เห็นพระวรกายของพระพุทธองค์อ่อนแอก็ใจหาย แต่ก็ชื้นใจอยู่นิดว่าพระผู้มีพระภาคคงจักไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานจนกว่าจะได้ตรัสสั่งความสำคัญอะไรบางอย่างแก่พระสงฆ์ก่อน จึงเข้าไปกราบทูลพระพุุทธองค์ตามนั้น

พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์ พระสงฆ์จะมาหวังอะไรจากเราตถาคต ตถาคตก็ได้สอนธรรมทุกอย่างอย่างไม่ปิดบัง ไม่มี "กำมือ" ของอาจารย์ (ไม่มีความลับ ไม่มีไม้ตาย) เราตถาคตเองก็ไม่เคยคิดจะปกครองสงฆ์ ร่างกายตถาคตก็แก่หง่อม ล่วงกาลมายาวนานอายุตถาคตก็ ๘๐ ปีแล้ว จะอยู่ต่อไปอีกไม่นาน

"อานนท์ เกวียนเก่า ที่เขาซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ จะไปได้ไม่นาน ฉันใด ร่างกายของตถาคตก็ฉันนั้น ยังพอเป็นได้ คล้ายกับเกวียนเก่า ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่..."

ทรงเตือนให้ภิกษุสงฆ์พึ่งตนเอง โดยยึดธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง แล้วเสด็จมุ่งตรงไปยังกุสินาราเพื่อปรินิพพาน ผ่านหมู่บ้านตำบลต่างๆ ในเขตแคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ แล้วเสด็จไปยังกูฏาคารป่ามหาวัน รับสั่งให้เรียกภิกษุทุกรูปที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ มาเฝ้า ทรงแสดง อภิญญาเทสิตธรรม - ธรรมที่ทรงแสดงเพื่อความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ เพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติของภิกษุสงฆ์





ปางปลงอายุสังขาร (๑)

ตามความในพระไตรปิฎกและอรรถกถา พระพุทธทรงเข้าจำพรรษาสุดท้ายแล้วก็เสด็จนิวัติไปยังพระนครสาวัตถีอีกครั้ง เพื่อรอรับพระสารีบุตรอัครสาวกไปทูลลา นิพพาน จากนั้นก็เสด็จไปยังพระนครราชคฤห์อีก พระเกิดเหตุการณ์พระโมคคัลลานะนิพพานพอดี จากนั้นจึงเสด็จกลับมายังเมืองไพศาลีอีกครั้ง

เช้าวันนั้น ทรงถือบาตรเสด็จโคจรบิณฑบาตในเมืองไพศาลี ตามเสด็จโดยพระอานนท์พุทธอนุชา เสด็จกลับจากเมืองไพศาลีแล้วไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถในเวลากลางวัน มีพระอานนท์เฝ้าอยู่ใกล้ๆ

พระองค์ทรงมีพุทธประสงค์จะให้พระอานนท์รู้ความนัยและทูลอัญเชิญให้เสด็จอยู่ชั่วอายุกัปหนึ่งหรือเกินกว่า ทรงแสดงนิมิตโอภาสให้ปรากฏโดยตรัสว่า "ผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่สมบูรณ์ ผู้นั้นผิประสงค์จะยืดอายุออกไปถึงกัปหนึ่งหรือเกินกว่าย่อมสามารถทำได้" แต่พระอานนท์ไม่ทราบความหมายจึงมิได้กราบทูลอัญเชิญ

จากนั้นมารได้โอกาส จึงเข้าเฝ้าทวง "สัญญา" ว่าบัดนี้ถึงเวลาปรินิพพานแล้ว เพราะบริษัทสี่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ทรงประสงค์แล้ว พระพุทธองค์จึงรับคำอาราธนาของมาร ทรง "ปลงอายุสังขาร" ทันที วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะพอดี

การ "ปลงอายุสังขาร" ก็คือตัดสินพระทัยว่าจะปรินิพพานในอีก ๓ เดือนข้างหน้า ขณะนั้นเกิดแผ่นดินสะเทือนสะท้านหวั่นไหว พระอานนท์อยู่ในที่ไม่ไกล เห็นปรากฏการณ์นั้นแล้วตกใจเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทำนองทูลถามว่าเกิดอะไรขึ้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า เกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินจะไหวด้วยเหตุ ๘ ประการคือ ไหวด้วยลม ไหวด้วยผู้มีฤทธิบันดาล ไหวเพราะพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์มารดา ประสูติ ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก พระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร และพระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ


ปางปลงอายุสังขาร (จบ)
พระอานนท์ทูลอาราธนาว่า ขอพระผู้มีพระภาคทรงยืดพระชนมายุไปอีกเถิด พระพุทธองค์ตรัสว่า สายเสียแล้วอานนท์ เราได้กระทำ "นิมิตโอภาส" ทำนองบอกใบ้ให้เธอตั้ง ๑๖ ครั้ง คือที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ ครั้ง ที่เมืองไพศาลี ๖ ครั้ง ครั้งที่ ๑๖ ก็เพิ่งทำเมื่อตะกี๊นี้เอง เธอก็มิได้รับรู้และเชิญ เราอยู่ต่อ บัดนี้เราตถาคตรับคำเชิญของมารแล้ว

มารที่ว่านี้คือ วสวัตตีมาร เคยทูลขอให้พระองค์ปรินิพพานตอนตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ตรัสว่า จะยังไม่ปรินิพพานจนกว่าบริษัททุกหมู่เหล่าของพระองค์จะมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง ๓ ด้าน คือ
   ๑.รู้พระธรรมจนเชี่ยวชาญและปฏิบัติตามจนได้สัมผัสผล
   ๒.มีความสามารถในการถ่ายทอด
   ๓.และปกป้องพระพุทธศาสนาเมื่อถูกย่ำยี

บัดนี้บริษัททั้งสี่มีคุณสมบัตินั้นครบถ้วน มารได้มาเชิญเราปรินิพพาน เราได้รับคำเชิญของมารแล้ว ต่อจากนี้ไปอีก ๓ เดือนข้างหน้า เราตถาคตจะปรินิพพาน

พระพุทธวจนะที่ตรัสบอกพระอานนท์ว่า "อานนท์ ผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่จนสมบูรณ์แล้ว ผิว่าผู้นั้นพึงประสงค์จะยืดอายุออกไป ดำรงชีวิตอยู่ชั่วกัปหนึ่งหรือเกินกว่านั้นย่อมสามารถทำได้" นั่น มิได้หมายถึงพระพุทธองค์ หากหมายรวมถึงคนอื่นที่เจริญอิทธิบาทจนสมบูรณ์ด้วย

ที่ว่ายืดอายุไปได้กัปหนึ่งนั้น หมายเอา "อายุกัป" หรืออายุขัยของมนุษย์ (อายุขัยของมนุษย์ในยุคนี้ ๑๐๐ ปี หรือเกินกว่านั้นหน่อยหนึ่งก็ประมาณ ๑๒๐ ปีเป็นอย่างมาก

ในกรณีพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ถ้าจะยืดออกไปอีกเป็น ๑๐๐ ปี หรือ ๑๒๐ ปี ก็ย่อมจะทำได้ ถ้าพระอานนท์เฉลียวใจและกราบทูลอาราธนา แต่บังเอิญว่าทรงรับคำอาราธนาของมารก่อนแล้วดังกล่าวข้างต้น




ปางเสวยสูกรมัททวะ ของนายจุนทะ (๑)

หลังจากทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์แล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปตามลำดับจุดหมายปลายทางคือเมืองกุสินารา ทรงรับภัตตาหารที่นางอัมพปาลีถวาย แล้วเสด็จต่อไปตามลำดับ เข้าเขตเมืองปาวา ทรงรับนิมนต์เพื่อเสวยพระกระยาหารที่บ้านนายจุนทะ กัมมารบุตร ในวันรุ่งขึ้น

เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับนิมนต์แล้ว นายจุนทะจึงไปตระเตรียม ขาทนียะอย่างพอเพียง โภชนียะอย่างพอเพียง และ "สูกรมัททวะ" อย่างพอเพียง โดยได้ใช้เวลาทั้งคืนในการเตรียมการดังกล่าว

เมื่อรุ่งเช้าขึ้นมา พระพุทธองค์เสด็จไปยังบ้านของนายจุนทะ พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก นายจุนทะน้อมถวายขาทนียะ และโภชนียะแก่ภิกษุสงฆ์ ส่วน "สูกรมัททวะ" นาย จุนทะได้น้อมถวายแด่พระพุทธองค์เท่านั้น

เมื่อเสวยเสร็จ พระพุทธองค์ตรัสว่า ไฟธาตุของพระองค์เท่านั้นที่จะย่อยสูกรมัททวะนี้ได้ แล้วรับสั่งให้นำส่วนที่เหลือไปฝังดินเสีย

หลังจากเสวย "สูกรมัททวะ" แล้วไม่นาน พระอาการประชวรด้วยโรคปักขันทิกาพาธก็กำเริบ แต่พระองค์ก็ทรงระงับทุกขเวทนาไว้ด้วยพลังสมาธิ ทรงเป็นห่วงว่านายจุนทะเองจะเดือดร้อนใจ หรือประชาชนอาจเข้าใจนายจุนทะผิด ว่าถวายอาหารอันเป็นพิษแด่พระพุทธองค์ จนเป็นเหตุให้ปรินิพพานในเวลาต่อมา พระพุทธองค์จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า

"อานนท์ อาจเป็นไปได้ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะพึงทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทะกัมมารบุตร ว่า นี่แน่ะ จุนทะ ไม่เป็นลาภผลของท่านเสียแล้ว พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านแล้ว เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน อานนท์ พวกเธอพึงดับความร้อนใจของนายจุนทะเสีย โดยชี้แจงว่า นี่แน่ะ จุนทะ เป็นลาภผลของท่านนักหนา พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ดับขันธ์ปรินิพพาน บิณฑบาตสองครั้งมีวิบากเสมอกัน มีอานิสงค์มากกว่าอย่างอื่น คือตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้งหนึ่ง เสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุครั้งหนึ่ง กรรมที่ให้อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ และความเป็นใหญ่ ชื่อว่านายจุนทะได้สร้างสมไว้แล้ว"


ปางเสวยสูกรมัททวะ ของนายจุนทะ (จบ)
เป็นการตรัสป้องกันความเข้าใจผิด และตรัสความจริงว่า พระพุทธองค์มิได้ปรินิพพานด้วยการเสวย สูกรมัททวะที่นายจุนทะถวาย มิได้ปรินิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธที่ทรงประชวร หากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ตามวันเวลาที่ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

พึงสังเกตพุทธวจนะที่ตรัสสรรเสริญบิณฑบาตสองครั้ง มีผลมากเท่ากันคือ บิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายก่อนตรัสรู้ กับบิณฑบาตที่นายจุนทะถวายก่อนปรินิพพาน

บิณฑบาตทั้งสองนี้ เสวยแล้วก็ "ปรินิพพาน" ทั้งสองครั้ง คือ
ครั้งแรก (ที่นางสุชาดาถวาย) พระองค์เสวยแล้ว ปรินิพพานแล้ว ด้วยสอุปาทิเสสนิพพาน หรือ "กิเลสนิพพาน" พูดให้เข้าใจง่าย เสวยแล้วดับกิเลส

ครั้งสุดท้าย (ที่นายจุนทะถวาย) พระองค์เสวยแล้ว ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน หรือ "ขันธนิพพาน" พูดง่ายๆ ว่า เสวยแล้วดับขันธ์

สูกรมัททวะ คืออะไร อธิบายกันไว้ ๓ นับคือ
   ๑.ข้าวหุงด้วยนมโคอย่างดี
   ๒.เนื้อสุกรอ่อน   
   ๓.สมุนไพรชนิดหนึ่ง (บางมติว่าได้แก่เห็ด)

พุทธศาสนิกฝ่ายเถรวาท นิยมแปลกันว่าเนื้อสุกรอ่อน แต่ฝ่ายมหายานค่อนข้างจะเชื่อว่า ได้แก่สมุนไพร ชาวพุทธจีนเชื่อว่าเป็นเห็ดที่เกิดจากไม้จันทน์ เรียกว่า "จันทัน ฉิ่วยื้อ"

แต่จะเป็นอะไรก็ตาม มิใช่สาเหตุแห่งการปรินิพพานดังที่ตรัสไว้ข้างต้นแล้ว และนายจุนทะผู้ถวายก็ได้บุญกุศลมากด้วย





ปางปรินิพพาน (๑)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรทมเหนือปรินิพพานปัญจถรณ์ (พระแท่นเป็นที่ปรินิพพาน) ใต้ต้นสาละทั้งคู่ ท่ามกลางภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท (แม้พระบาลีจะพูดถึงเฉพาะบริษัทแรก แต่ข้อเท็จจริงต้องมีบริษัททุกหมู่เหล่าแน่นอน)

ตรัสถามว่าใครๆ มีข้อสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือหลักปฏิบัติใดๆ ให้ถามเสีย จะได้ไม่ร้อนใจภายหลังว่าเมื่อเราตถาคตยังอยู่ไม่ได้ถาม พุทธบริษัททั้งปวงนั่งเงียบ ไม่มีใครทูลถามอะไร จึงตรัสว่า พระองค์ก็ทรงคาดอย่างนั้นไว้ก่อนแล้ว เพราะบริษัทของพระองค์เป็นผู้รู้แจ้งธรรมหมดอย่างต่ำที่สุดก็เป็นพระโสดาบัน

จากนั้นก็ตรัสปัจฉิมโอวาทว่า "หันทะทานิ ภิกขะเว อามัน ตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ = ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ความหมายก็คือ พวกเธอจงอย่าประมาท ให้รีบเร่งทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์ และประโยชน์สังคมให้สมบูรณ์ อย่าทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าดำเนินชีวิตแบบชาวโลก ก็ขยันทำมาหาเลี้ยงชีพในทางสุจริตชอบธรรม ได้ทรัพย์สินเงินทองมาแล้วก็เลี้ยงตนเอง ครอบครัว และคนพึงเลี้ยง ที่เหลือก็จุนเจือสังคม ทำบุญทำกุศลตามสมควร ถ้าดำเนินชีวิตเป็นนักบวช ก็ศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลที่ตนปรารถนา เมื่อทำตนให้พร้อมแล้ว ก็มีกรุณาช่วยเหลือคนอื่นด้วยการชี้แจงแสดงธรรม แนะนำแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีแก่ชาวบ้าน

หลังจากนั้น ก็ไม่ตรัสอะไรอีก ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้านิโรธสมาบัติ

จากนั้นทรงออกจากนิโรธสมาบัติ เข้าฌานถอยหลังลงมายังเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน



ปางปรินิพพาน (จบ)

จากนั้นทรงถอยกลับเข้าไปใหม่คือ ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงดับสนิทในระหว่างนั้นเอง

เป็นการดับสนิทระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน

ทั้งหมดนี้ไม่มีใครรู้เรื่อง ถ้าไม่มีพระอนุรุทธะ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในมหาสันนิบาตนั้น เข้าฌานตามพระพุทธองค์ไป จึงรู้ว่าพระองค์ทรงดับสนิท ณ จุดใด

พระธัมมสังคาหกาจารย์ (พระอาจารย์ผู้ร้อยกรองพระธรรมวินัย) ได้บันทึกวาทะแสดงธรรมสังเวช ในการปรินิพพานของพระพุทธองค์ได้ดังนี้

ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวโศลกว่า "สัตว์ทั้งปวง ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แม้แต่พระตถาคตศาสดาผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนเปรียบปาน ทรงสมบูรณ์ด้วยทศพลญาณ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ยังดับสนิทแล้ว"

ท้าวสักกเทวราชกล่าวว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา การดับสังขารทั้งหลายได้ เป็นความสุข"

พระอนุรุทธเถระกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระทัยมั่นคง คงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงหมดลมหายใจแล้ว พระมุนีเจ้าทรงทำกาละอย่างสงบแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงระงับทุกขเวทนาได้ ทรงดับสนิทดุจเปลวประทีป"

พระอานนท์พุทธอนุชากล่าวว่า "เมื่อพระพุทธเจ้า ผู้ทรงสมบูรณ์พร้อมทุกประการ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้เกิดความสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าแล้ว"

พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่นำมาเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบนี้ ส่วนมากดำเนินตามแนวที่โบราณาจารย์ได้กำหนดไว้ มีเพียงบางปางเท่านั้น ที่ผู้เขียนได้เพิ่มเติมเข้ามา โดยกำหนดเอง ตั้งชื่อเอง ด้วยพิจารณาเห็นว่า พระจริยาวัตรตอนนั้นๆ น่าจะยกมาเพื่อเป็นแบบอย่าง และเพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระพุทธองค์


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #29 เมื่อ: 11 กันยายน 2559 11:51:14 »




แก้ปัญหาด้วยปัญญา

สมัยเป็นเณรน้อยเรียนนักธรรมบาลี อ่านคัมภีร์ชาดกเรื่อง "มโหสถชาดก" รู้สึกประทับใจในความเฉลียวฉลาดของเด็กน้อยโพธิสัตว์ นามว่า "มโหสถ" จนบัดนี้ก็ยังจำได้ไม่ลืม

มาถึงยุคลูกชายยังเล็กอยู่ มีการ์ตูนเณรน้อย "อิกคิวซัง" ของญี่ปุ่นออกมา เด็กๆ ติดเป็นแถว ต่างยกนิ้วให้ว่าเณรน้อยอิกคิวซังฉลาดเหลือเกิน

แต่ความฉลาดของมโหสถ เป็นการให้เหตุผลพิจารณาเรื่องราวตามเป็นจริง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตามควรแก่เหตุการณ์นั้นๆ วิธีการแก้ปัญหามีหลากหลายไม่ซ้ำกัน แล้วแต่ลักษณะของปัญหา ทำให้เราได้ความรู้มากขึ้น

เรื่องมโหสถนั้น ชี้ไปที่การรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน เกิดอะไรขึ้นให้มองตามเป็นจริง สืบสาวหาต้นตอและพยายามหาทางแก้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นการฝึกปัญญาอย่างดียิ่ง

ยกตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่งมีหญิงชาวบ้านอุ้มลูกเล็กเดินไปพบนางยักษิณีปลอมมาในร่างมนุษย์ ขออุ้มเด็กบ้าง พอได้เด็กจากมือแม่แล้วก็วิ่งหนี

แม่เด็กร้องโวยวาย ชาวบ้านช่วยกันรุมล้อมนางยักษิณีนั้นไว้ ทั้งสองคนต่างเถียงกันว่าเด็กน้อยเป็นลูกของตน

ชาวบ้านไม่มีใครตัดสินได้ มโหสถน้อยผ่านมาพบเข้า จึงอาสาช่วยตัดสิน มโหสถถามว่า ท่านทั้งสองต่างก็อ้างว่าเป็นแม่เด็ก ท่านทั้งสองจะพิสูจน์ความจริงไหม หญิงทั้งสองตกลงให้มโหสถตัดสิน

มโหสถบอกให้หญิงทั้งสองแย่งเด็กเอาเอง คนหนึ่งจับหัว อีกคนหนึ่งจับแขนแล้วให้ดึง ถ้าใครดึงชนะก็แสดงว่าคนนั้นเป็นแม่เด็ก

ทั้งสองดึงเด็กน้อยไปมาคนละทางอยู่พักหนึ่ง เด็กน้อยร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวด หญิงชาวบ้านผู้เป็นแม่เด็กปล่อยมือ ยืนร้องไห้สะอึกสะอื้นอย่างน่าสงสาร

นางยักษิณีในร่างมนุษย์แย่งได้เด็ก ยิ้มกริ่มด้วยความดีใจ ร้องบอกฝูงชนว่า เห็นไหมๆ ข้าบอกว่าเด็กน้อยคนนี้เป็นลูกของข้าก็ไม่มีใครเชื่อ

มโหสถน้อยกล่าวว่า "ข้านี่แหละ ไม่เชื่อเจ้า"

"อ้าว ท่านบอกแต่แรกแล้วมิใช่หรือว่า ใครแย่งเด็กได้คนนั้นคือแม่เด็ก ก็ข้าแย่งได้แล้วนี่ พิสูจน์เห็นแล้ว" นางยักษิณีกล่าว

มโหสถกล่าวว่า "นั่นเป็นกุศโลบายของข้า เพื่อลวงให้ "ธาตุแท้" ของแต่ละคนปรากฏออกมา บัดนี้ความจริงก็ได้ปรากฏแล้ว ผู้หญิงคนที่ปล่อยมือแล้วยืนร้องไห้อย่างน่าสงสารนั้น คือแม่ที่แท้จริงของเด็ก

มโหสถอธิบายว่า แม่ย่อมรักและสงสารลูก เมื่อเห็นลูกร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวดทรมาน เพราะถูกแย่งดึงไปมา แม่อดสงสารลูกไม่ได้จึงปล่อยมือ ร้องไห้

ส่วนคนที่มิใช่แม่ไม่มีความผูกพันลึกซึ้งเช่นนั้น จึงมิได้มีแม้ความสงสาร อาจเป็นยักษ์มารที่ไหนปลอมมาก็ได้

ได้ยินดังนั้น นางยักษ์จำแลงก็สำแดงร่างจริงให้ปรากฏ จริงดังมโหสถทำนายไม่ผิดเพี้ยน

ยกเรื่องมโหสถขึ้นมากล่าวนี้เพื่อจะบอกว่า การดำเนินชีวิตนั้นต้องใช้ปัญญามิใช่น้อยจึงประสบความสำเร็จ เพียงความขยันหมั่นเพียรทำมาหากิน สร้างเนื้่อสร้างตัวอย่างเดียวหาเพียงพอไม่

ขาดปัญญาเสียแล้ว ถึงจะขยันอย่างไรก็ยากที่จะสำเร็จ หรือสำเร็จก็สำเร็จไม่เต็มที่

มีคนเห็นพระหนุ่มรูปหนึ่ง ขึ้นไปนั่งกรรมฐานบนต้นไม้ทุกวัน ด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่ง หวังจะได้บรรลุธรรม อาจารย์กรรม ฐานชื่อดังรูปหนึ่งผ่านมาพบเข้า

ร้องบอกว่า "ถึงคุณจะขยันนั่งบนต้นไม้จนกลายเป็นลิง ก็ไม่มีทางบรรลุดอก" พระหนุ่มก็ได้สติในความโง่เขลาของตน

ครับ ขยันอย่างเดียวไม่พอ ต้องฉลาดด้วย





สู้ด้วยความพากเพียร

มีคนนิยามความหมายของชีวิตว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ผมขอแถมอีกนิดว่า สู้แล้วต้องให้ชนะด้วย

จริงอยู่ในสังเวียนแห่งการต่อสู้ ย่อมมีทั้งแพ้และชนะแต่นักสู้ต้องมุ่งเป้าไปที่ชัยชนะ แพ้น่ะได้ แพ้บ่อยๆ ก็ได้อีกเหมือนกัน แต่ในที่สุดเราต้องเอาชัยชนะให้ได้!

ทุกคนมีสิทธิ์สะดุดล้ม แต่ล้มแล้วนอนเป็นเรื่องน่าตำหนิ ล้มแล้วรีบลุกขึ้นเดินต่อไปสิ คนเขายกย่องสรรเสริญ

ในประเทศญี่ปุ่น เขามีธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่ง คือเขาจะนำ "ตุ๊กตาล้มลุก" ไปมอบให้แก่กัน ในโอกาสสำคัญๆ เช่นวันเกิด หรือปีใหม่อะไรนี่ผมก็จำไม่ถนัด แต่จำได้ว่า เขามอบตุ๊กตาล้มลุกให้กัน

ตุ๊กตานั้นเดินไปได้หน่อยแล้วก็ล้ม แล้วก็ลุกเดินต่อไป ล้มลุก ล้มลุก อยู่อย่างนี้ ดูกันเล่นสนุกๆ ก็ได้ ดูให้ดีให้เกิดปรัชญาชีวิตก็ได้

คือเป็นเครื่องเตือนใจว่า อย่ายอมหยุดหรือเลิกรา ล้มแล้วให้ลุกเดินต่อไป อย่านอนแผ่หลาอย่างคนหมดท่าในชีวิต เพราะญี่ปุ่นเขามี "ปรัชญาชีวิต" อย่างนี้ เขาจึงพัฒนาก้าวไกลไปสุดกู่ เมื่อคราวแพ้สงคราม ญี่ปุ่นย่อยยับไม่มีดี แต่ไม่กี่ปีให้หลังก็ฟื้นตัวและพัฒนาล้ำหน้าประเทศอื่นๆ เดี๋ยวนี้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่น่ากลัวที่สุดในโลกไปแล้ว

เพราะพี่ยุ่นแกถือปรัชญา ล้มแล้วลุก ดังเช่นตุ๊กตาล้มลุกนั่นแหละครับ

การล้มแล้วลุกแล้วๆ เล่าๆ ถ้าถอดเป็นธรรมะก็ได้แก่ความพากเพียรนั่นเอง พระท่านเรียกว่า "วิริยะ" บ้าง "วิริยา-รัมภะ" บ้าง

ความพากเพียร ไม่ได้หมายถึงทำอะไรหามรุ่งหามค่ำ ไม่รู้จักพักผ่อน อย่างคนเรียนหนังสือ นั่งอ่านนั่งท่องอยู่นั่นแล้วตั้งแต่เช้ายันดึก ไม่กิน ไม่นอน อย่างนี้เขาเรียกว่า "หัก-โหม" มิใช่ความพากเพียร ขืนทำอย่างนี้ ไม่เกินสี่ห้าวันโรคประสาทกินตาย

ความพากเพียรไม่ต้องทำมาก ไม่ต้องหักโหม ทำทีละน้อยๆ แต่ทำบ่อยๆ อย่าง ต่อเนื่อง

ท่านเคยเห็นแมงมุมไหม แน่นอนทุกคนคงรู้จักมันดี แต่น้อยคนที่จะสังเกตดูมันอย่างถี่ถ้วน ลองสังเกตดูมันสิครับเวลามันถักใย มันจะไต่จากมุมนี้ไปยังมุมนั้น มันมักจะตกสู่พื้นอยู่บ่อยๆ ไต่แล้วตก ไต่แล้วตก แต่มันก็ไม่ย่อท้อ ยังคงก้มหน้าก้มตาถักใยต่อไป ผลที่สุดมันก็ได้ใยแมงมุมที่สวยงามไว้ดักเหยื่อกินตามประสงค์

คนที่พากเพียรไม่ต่างจากแมงมุมถักใย ไม่ว่าจะทำกิจการอะไร จะพากเพียรทำด้วยจิตใจแน่วแน่มั่นคง ไม่เลิกล้ม ไม่ย่อท้อจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ

"คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร" พระท่านพูดไว้ไม่ผิดดอกครับ ทำอะไรล้มเหลวเพียงครั้งสองครั้ง อย่าได้ท้อแท้ ผิดหวังเลย ทำต่อไป สู้ต่อไป ถ้าหากการกระทำการต่อสู้นั้นเป็นเรื่องถูกต้อง สุจริต ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม

ส่วนเรื่องผิดเรื่องชั่ว ไม่ต้องพากเพียรทำมัน เพียงหลงทำครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว





โง่อย่าขยัน

ตอนที่แล้วผมได้พูดว่า ถ้าเรามีความพากเพียรเสียอย่าง ต่อให้เทวดาก็หยุดเราไม่ได้ ขอให้พากเพียรจริงๆ เถอะ งานหนักงานใหญ่แค่ไหนก็สำเร็จ ทุกข์ยากลำบากแค่ไหนก็เอาชนะได้

เป็นความจริงครับ แต่บางครั้งเพียรอย่างเดียวยังไม่พอจะต้องมีปัญญาประกอบด้วย เรียกว่า ต้องขยันอย่างฉลาดด้วย ความเพียรนั้นจึงจะไม่สูญเปล่า

ความขยันที่ไม่ใช้ปัญญากำกับอาจขยันผิดทาง ยิ่งขยันก็ยิ่งสร้างเรื่องยุ่ง แทนที่จะแก้ปัญหา กลับกลายเป็นสร้างปัญหาก็ได้

ดูตัวอย่างต่อไปนี้ก็จะเห็นชัด นานมาแล้ว (นานแค่ไหนช่างเถอะ) มีชายคนหนึ่ง (ชื่ออะไรก็ช่างเถอะ ไม่ชื่อชวนก็แล้วกัน) มีอาชีพปลูกสมุนไพรขายอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กระทาชายที่ไม่ได้ชื่อชวนคนนี้ แกเลี้ยงลิงไว้หลายตัว ตามประสาคนรักสัตว์ แกพยายามฝึกลิงจนสามารถสื่อสารกับมันรู้เรื่อง จะพูดว่าสามารถพูดภาษาลิงได้ก็จะ "เว่อร์" ไป เอาแค่สื่อสารด้วยภาษาใจรู้เรื่องก็แล้วกัน

วันหนึ่ง แกมีธุระจะต้องไปทำในเมืองสักสี่ห้าวัน จึงฝากให้หัวหน้าลิงช่วยรดน้ำต้นไม้ที่เพิ่ง "ลง" ใหม่ๆ ให้ด้วย เจ้าจ๋อ ทหารเอกพระรามก็ร้องเจี๊ยกๆ รับปากรับคำอย่างดี

เมื่อเจ้านายไปแล้ว เจ้าจ๋อก็พาลูกน้องรดน้ำต้นไม้อย่างขยันขันแข็ง พวกมันเอากระป๋องไปตักน้ำมารดกันพรึ่บพรั่บๆ

เจ้าจ๋อผู้เป็นหัวหน้าตะโกนว่า "เฮ้ยๆ พวกเอ็งดูหรือเปล่าว่ารากไม้มันชุ่มน้ำ หรือยัง"

"จะรู้ได้ยังไงว่ารากมันชุ่มน้ำหรือไม่ชุ่ม" บริวารลิงตัวหนึ่งย้อนถาม

"ไอ้โง่ เอ็งก็ถอนขึ้นมาดูรากมันซิวะ ถ้ามันยังไม่เปียกน้ำก็ราดลงไปเยอะๆ ถอนขึ้นมาดู เมื่อเปียกน้ำแล้วก็ยัดลงดินใหม่" เจ้าหัวหน้าอธิบายยกตีนเกาขี้กลากไปพลาง

และแล้วสมุนพระรามทั้งหลายก็พากันถอนต้นไม้ขึ้นมาดู รู้ว่าชุ่มน้ำแล้วก็ยัดลงดินใหม่ ถอน-ยัด-ถอน-ยัด อย่างนี้ทุกวันอย่างพร้อมเพรียง โดยการควบคุมอย่างเข้มงวดของหัวหน้าจ๋อ

สี่ห้าวันให้หลังเจ้าของสวนกลับมาแทบลมจับ เมื่อเห็นสมุนไพรทั้งสวนเฉาตายหมดเกลี้ยง

นี่เพราะโง่ขยัน หรือขยันอย่างโง่ๆ ของพวกลิงแท้ๆ

รถดีมีประสิทธิภาพนั้นต้องวิ่งเร็ว แต่วิ่งเร็วอย่างเดียวไม่พอดอกครับ ห้ามล้อหรือเบรกต้องดีด้วย ไม่เช่นนั้นไม่ปลอดภัยดีไม่ดีพาวิ่งลงเหว ในชีวิตเราก็เช่นเดียวกัน มีความเพียรอันเป็นพลังสร้างสรรค์ แล้วจะต้องใช้ปัญญากำกับ พูดง่ายๆ ขยันแล้วต้องฉลาดด้วย จึงจะประสบชัยชนะในการต่อสู้ชีวิต




ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน

ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟังหนึ่งเรื่อง เกี่ยวกับคนทำมาหากิน อ่านแล้วลองนำไปพินิจพิจารณาดูเอาเองครับ

สมชาย (ชื่อสมมติ) กับ สมเกียรติ (ชื่อสมมติ) เป็นเด็กต่างจังหวัด เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ด้วยกัน เรียนวิชาเดียวกันด้วย คือวิชาเครื่องยนต์ ที่โรงเรียนสารพัดช่างแห่งหนึ่ง พอจบออกไปทั้งสองก็ไปสมัครเป็นลูกจ้างอู่ซ่อมรถเหมือนกัน แต่คนละอู่

สมชายอยู่ทำงานที่อู่ดังกล่าว จนมีประสบการณ์พอสมควรแล้วก็ออกไป ตั้งอู่ของตนเอง ร่วมกับเพื่อนที่มีนิสัยเหมือนกันสองสามคน ทั้งสามทำงานไม่ถึงสามปีก็ร่ำรวยผิดหูผิดตา ขยายกิจการใหญ่โต

ฝ่ายสมเกียรตินึกสงสัยว่า ทำไมสมชายเพื่อนเก่าของตนจึงรวยเร็วขนาดนั้น กิจการอู่ซ่อมรถก็ทำรายได้ไม่กี่มากน้อยรู้ๆ กันอยู่ สมชายไปได้เงินได้ทองมาจากไหน

ในที่สุดก็ทราบว่า สมชายและพวกตั้งอู่หลอกต้มประชาชน ที่ทราบก็เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งสามก็ถูกตำรวจจับฐานตั้งแก๊งขโมยรถยนต์ ถูกจำคุกคนละหลายปี

ทั้งสามต้มตุ๋นลูกค้าที่เอารถมาซ่อม โดยบอกว่าชิ้นส่วนชิ้นนั้นชิ้นนี้เสีย ต้องเปลี่ยนใหม่ ทั้งๆ ที่มันดีอยู่ แต่เจ้าของไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ก็เชื่อ ยอมให้เปลี่ยน สามสหายจะถอดเอาเครื่องเครารถที่ดีๆ แล้วเอาของเก่าที่เสื่อมคุณภาพใส่แทน โดยวิธีนี้ทั้งสามมีรายได้เดือนละจำนวนมากๆ

แค่นั้นยังไม่พอ คบคิดกันขโมยรถยนต์ที่จอดอยู่ตามศูนย์การค้าบ้าง ตามที่จอดรถต่างๆ บ้าง เอามาถอดชิ้นส่วนแปลงโฉมแล้วก็ขายต่อ ทำอย่างนี้ไม่นานเงินทองก็ไหลมา แต่ในที่สุดทั้งสามคนก็ถูกจับได้

ส่วนสมเกียรติ ทำงานเป็นลูกจ้างเขาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตกินแค่ค่าจ้างประจำเดือน อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ ได้เงินจำนวนหนึ่ง แล้วออกมาทำอู่เป็นของตนเองกับเพื่อนคนหนึ่ง สมเกียรติเป็นคนซื่อสัตย์ต่อลูกค้ามาก เมื่อลูกค้าขับรถเป็นอย่างเดียวไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์เอารถมาซ่อม แกจะบอกว่าเครื่องเคราอย่างไหนควรเปลี่ยน อย่างไหนยังดีอยู่ไม่ควรเปลี่ยน ค่าแรงก็คิดไม่แพง ทำให้ลูกค้าไว้ใจ

ปัจจุบันนี้ สมเกียรติยังคงบริการซ่อมรถให้ลูกค้าอยู่อย่างมีความสุขกับอาชีพของตน ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ที่เคยเอารถมาซ่อมแล้วประทับใจในผลงาน และอัธยาศัยไมตรีของสมเกียรติแนะนำกันมา ฐานะของเขาถึงจะไม่ร่ำรวยนัก ก็คงไม่มีวันตกต่ำแน่นอน

คำพังเพยโบราณว่า ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน นั้นยังใช้ได้ คนทำมาค้าขายมักจะคิดกันว่า ถ้าไม่โกหกแล้วจะค้าขายไม่เจริญ ไม่จริงดอกครับ คุณอาจขายของได้ กำไรมากๆ ในตอนแรกเพราะโกหกให้เขาเชื่อ แต่ในระยะยาวจะไม่มีใครเข้าร้านคุณเมื่อเขารู้ความจริงว่าเขาถูกคุณหลอก แต่ถ้าคุณซื่อตรงไม่เอาเปรียบลูกค้า ตรงไปตรงมา มีความจริงใจ ไม่ต้องหา "นางกวัก" มาตั้งหน้าร้านดอกครับ ความดีของคุณจะ "กวัก" เงินกวักทองไหลมาเทมาเอง

ใครคิดจะทำมาค้าขาย ขอให้จำคติบทนี้ไว้เตือนใจว่า "คุณหลอกลูกค้าเพียงคนเดียว เท่ากับคุณหลอกคนทั้งโลก"


ความเป็นมาของพระอภิธรรมปิฎก [/center]

มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง ขอให้เล่าความเป็นมาของพระอภิธรรมปิฎกในเชิงวิชาการ (หน่อยๆ) "โดยไม่ต้องเอ่ยถึงสำนักนั้นสำนักนี้" อยากทราบว่าที่มีผู้พูดกันว่า พระอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธวจนะ จริงหรือไม่

สิ่งที่ท่านอยากทราบนี้แหละครับ ทำให้หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นขัดแย้งทางความคิดเห็นไม่ได้ จำเป็นอยู่เองต้องเอ่ยถึง "สำนัก" หรือ "ฝ่าย" ทั้งสองที่เห็นไม่ตรงกัน ไม่อย่างนั้นก็จะได้ความรู้แง่เดียว

ก่อนอื่นขอเท้าความถึงความเชื่อดั้งเดิมของชาวพุทธว่า พระไตรปิฎกนั้นเป็นคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า (และของสาวกสำคัญบางท่าน รวมถึงคำสุภาษิตที่กล่าวโดยเทวดาเป็นต้น) สมัยพระพุทธเจ้าไม่มี "พระไตรปิฎก" พระพุทธเจ้าทรงสอนสิ่งที่เรียกว่า "ธรรม และวินัย" เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว (นานเท่าใดยังถกเถียงกันอยู่ มติส่วนมากกำหนดเอาราวพุทธศตวรรษที่ ๓) "ธรรมและวินัย" นั้น ได้แบ่งออกเป็น ๓ หมวด เรียกว่า "ปิฎก" คำว่า "พระไตรปิฎก" จึงเกิดขึ้นมาแต่บัดนั้น

พระไตรปิฎกประกอบด้วย พระวินัยปิฎก ว่าด้วยศีลของภิกษุและภิกษุณีรวมถึงสังฆกรรม พิธีกรรม ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ ตลอดถึงวัตรปฏิบัติ มารยาท เพื่อความงามของพระสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในที่ต่างๆ รวมถึงคำสอนของสาวก และเทวตาภาษิตบางส่วน พระอภิธรรมไตรปิฎก ว่าด้วยการอธิบายหลักธรรมต่างๆ ในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคลและเหตุการณ์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายนี้ ก็เอามาจากพระสุตตันตปิฎก นั้นเอง

พูดอีกทีเพื่อเข้าใจชัด ธรรมวินัยนั้นแหละต่อมากลายเป็น พระไตรปิฎก โดย "วินัย" กลายมาเป็นพระวินัยปิฎก "ธรรม" กลายมาเป็นพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

เฉพาะส่วนที่เป็นอภิธรรมปิฎก มี ๗ คัมภีร์ คัมภีร์ที่ ๕ เรียกว่า "กถาวัตถุ" มีหลักฐานชี้ชัดว่า แต่งขึ้นสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ พุทธศตวรรษที่ ๓ พระโมคคัลลี บุตรติสสเถระ เป็นผู้แต่ง นอกนั้นเป็น ของเก่า

นักปราชญ์ส่วนมากเชื่อตรงกันว่า เฉพาะส่วนที่เป็น "มาติกา" หรือแม่บทสั้นๆ (ที่พระนำมาสวดในงานศพนั้นแหละ) มีมาแต่เดิม ส่วนรายละเอียดมากมายที่มีปรากฏดังในปัจจุบันนี้ แต่งเติมเอาภายหลัง ว่ากันอย่างนั้น

ปัญหาที่ว่าพระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นพุทธวจนะหรือไม่ เถียงกันมานานแล้วครับ สมัยที่โต้แย้งรุนแรงที่สุดถึงขนาดแช่งชักหักกระดูกให้อีกฝ่ายที่ไม่เชื่อ ตกนรกหมกไหม้ ก็ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ผมขอยกเหตุผลทั้งสองฝ่ายมาให้ดูพอเป็น "แซมเปิล" (ใครอยากรู้ละเอียดให้ไปอ่านหนังสือ "เพลงรักจากพระไตรปิฎก" ของ เสถียรพงษ์ วรรณปก พี่ชายผม-โฆษณาให้แล้วนะพี่)

ฝ่ายที่ยืนยันว่า พระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นพุทธวจนะแน่นอน อ้างเหตุผลน่าฟังดังนี้

๑.มีหลักฐานแสดงว่า พระพุทธองค์ขึ้นไปแสดงอภิธรรมโปรด (อดีต) พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

๒.ในพระวินัยและพระสูตรหลายแห่งพูดถึง "อภิธรรม" เช่น เล่าถึงพระกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งประชุมกล่าวอภิธรรมกันที่โรงธรรม เล่าถึงภิกษุณีขอโอกาสพระถามพระวินัยพระสูตร แต่กลับถามอภิธรรมขอโอกาสถามอภิธรรมแต่กลับถามพระวินัย พระสูตร ในกรณีเช่นนี้ปรับอาบัติปาจิตตีย์ (คือมีความผิดทางวินัยระดับหนึ่ง)

ฝ่ายที่ปฏิเสธอภิธรรมก็ให้เหตุผล (น่าฟังอีกเหมือนกัน) ดังนี้

๑.หลักฐานที่อ้างพระพุทธองค์ทรงแสดงอภิธรรมบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โปรด (อดีต) พุทธมารดานั้น เขียนขึ้นภายหลังไม่มีในพระไตรปิฎก คนเขียนคือ พระพุทธโฆสาจารย์ อาจารย์สำนักอภิธรรม

๒.คำว่า "อภิธรรม" ที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรและพระวินัยนั้น มิได้หมายถึงพระอภิธรรมไตรปิฎก แต่หมายถึง "โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ"

๓.ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสฝากไว้ว่า ธรรมและวินัยจะเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ หลังจากพระองค์ล่วงลับไปแล้ว มิได้ทรงเอ่ยถึง "พระอภิธรรม" เลย

๔.พิจารณาสำนวนภาษา ภาษาในพระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นภาษา "เขียน" หรือ "ภาษาหนังสือ" ที่ผจงแต่งอธิบายหลักธรรมในแง่วิชาการ ต่างจากภาษาในพระสุตตันตปิฎก และพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นภาษาพูด

สำหรับตัวผมเองนั้น ค่อนข้างจะเชื่อว่าพระอภิธรรมไตรปิฎกที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเพิ่มเติมภายหลัง ส่วนที่เก่าแก่จริงๆ มีมาแต่สมัยพุทธกาลคือ บทมาติกา ภาษาพระอภิธรรมไตรปิฎกฟ้องอยู่แล้ว (ในฐานะนักภาษาบาลียืนยันจุดนี้ได้)

และโปรดเข้าใจด้วยว่า ที่ใครก็ตามพูดว่า พระอภิธรรมไตรปิฎกมิใช่พุทธวจนะทั้งหมดก็ดี "ไม่อยู่ในรูปเป็นพุทธวจนะ" ก็ดี มิได้ปฏิเสธว่าพระอภิธรรมมิใช่คำสอนของพระพุทธเจ้านะครับ เพียงแต่ต้องการบอกว่า พระอภิธรรมไตรปิฎก "แต่งเพิ่มเติมภายหลัง" เท่านั้น




ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด





« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 ตุลาคม 2560 15:13:00 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #30 เมื่อ: 14 มกราคม 2560 20:13:09 »



อย่าใช้วิธีเดียว

คณะสงฆ์พะเยายกระดับหมู่บ้านศีล ๕

คุยกับเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันใหม่คนหนึ่ง เพื่อนเป็นนักธุรกิจขนาดย่อมที่ประสบความสำเร็จพอสมควรคนหนึ่ง ผมถามว่า มีเทคนิควิธีอะไรที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ เพื่อนบอกว่าไม่มีอะไรมาก ยึดถือคติ ๒ ข้อ คืออดทน และเปลี่ยนแปลง

การทำงานอะไรก็ตามถ้าขาดคุณสมบัติ คือความอดทนเสียแล้วยากจะประสบความสำเร็จ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ความอดทนที่ใช้ก็ไม่ต้องมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ และยิ่งต้องใช้เวลายาวนาน ก็ต้องอดทนเพิ่มขึ้นมากมายหลายร้อยเท่า

ฟังเพื่อนพูดแล้วทำให้นึกถึงอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง นึกถึงสัตว์ตัวเล็กๆ ๒ ตัว คือ แมงมุม กับ กิ้งก่า

เคยเห็นแมงมุมมันถักใยไหมครับ สมัยผมเป็นเด็กชอบเฝ้าดูแมงมุมมันถักใย มันจะไต่ขึ้นไปจากมุมฝาด้านนี้ไปอีกด้าน มันจะตกลงมา แล้วมันก็จะพยายามไต่ขึ้นไปใหม่ ตกลงมา-ไต่ขึ้นไป ตกลงมา-ไต่ขึ้นไป เป็นอยู่อย่างนี้แล้วๆ เล่าๆ มันก็ไม่เลิกรา เพียรถักใยโดยวิธีนี้เป็นวันๆ ในที่สุดมันก็ได้ใยเป็นวงกลม มีลวดลายสวยงาม

การกระทำของแมงมุมบอกให้เรารู้ว่า นี่แหละคือสิ่งที่พระเรียกว่า วิริยะ หรือ วิริยารัมภะ (ความเพียร หรือ การปรารภความเพียร) "เพียร" ในความหมายของท่าน มิได้หมายความว่าต้องทำอย่างหักโหม ทำเต็มที่ ไม่หลับไม่นอนอะไรอย่างนั้น แต่หมายถึงการค่อยๆ ทำสม่ำเสมอ ทำเป็นกิจวัตร

เพราะฉะนั้น เวลาพระพุทธเจ้าตรัสอธิบายความเพียรพระองค์จะตรัสคำ "ไวพจน์" (Synonym) ไว้กำกับว่าสาคัจจกิริยา การกระทำต่อเนื่อง, ทำสม่ำเสมอไม่ขาดตอน

เด็กในกรุงอาจไม่เคยเห็นกิ้งก่า กิ้งก่าเป็นสัตว์ที่มีนิสัยประหลาดคือ วิ่งเร็ว และหยุดอยู่กับที่นาน เวลามันเห็นคนมันจะวิ่งจู๊ดหนีไปอย่างรวดเร็วมาก เสร็จแล้วมันจะเกาะกิ่งไม้นอนหลับตาปุ๋ยอยู่กับที่เป็นเวลานาน พอมีอะไรมาทำให้ตกใจทีก็วิ่งจู๊ดไปอีก แล้วก็นอนสงบนิ่งหลับตาเพลิน เป็นอยู่อย่างนี้

คนทำงานเหมือนกิ้งก่าก็คือ คนทำอะไรอย่างหักโหม ทำเอาๆ สักพักแล้วก็วางมือ นึกขึ้นมาได้ก็จับมาทำใหม่ ไม่ได้ทำต่อเนื่องเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ กิริยาอาการอย่างกิ้งก่านี้ไม่ควรนำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะไม่ช่วยให้ทำอะไรได้ประสบความสำเร็จ

คติข้อที่ ๒ ที่เพื่อนยึดถือคือ รู้จักเปลี่ยนแปลง ทำให้นึกถึงนิทานจีนขึ้นมาเรื่องหนึ่งสั้นๆ แต่มีคติสอนใจดี

มีชาวนาคนหนึ่งไถนาเพลินอยู่ มีกระต่ายตัวหนึ่งวิ่งมาจากไหนไม่ทราบ ไปชนตอไม้ข้างๆ ดิ้นกระแด่วๆ ตายทันที

ชาวนาคนนี้ดีใจ ที่อยู่ๆ มีลาภลอยมาเข้าปาก เอากระต่ายกลับบ้านไปให้ภรรยาทำอาหารกินได้ตั้งหลายมื้อ

ชาวนาแกมานึกว่า การจะได้กระต่ายกินนี่ไม่ยากเลย ไม่ต้องไปดักยิงเหมือนคนอื่น เพียงแต่นั่งรอมันอยู่ตรงนี้แหละ เดี๋ยวก็จะมีกระต่ายตัวที่สอง ที่สาม วิ่งมาชนตอไม้ตายให้ได้กินอีก

คิดดังนี้แล้ว แกก็มานั่งเฝ้านอนเฝ้าอยู่ตรงนั้นทุกวัน กาลเวลาผ่านไปหลายวันไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น แกเลยเลิกมานั่งเฝ้าอีกต่อไป

ไม่มีกระต่ายตัวที่สองวิ่งมาชนตอไม้อีกเลย!

เพราะฉะนั้่น ถ้าหวังความก้าวหน้าและความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป ในหน้าที่การงานหรืออาชีพที่ทำอยู่ก็ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลง แก้ไขวิธีทำงานให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ



พึ่งตัวเอง ด้วยการทำความดี

คําว่า "ทำความดี" หรือ "ทำดี" เราอาจตีความได้หลายชั้น ทำดีธรรมดาๆ ก็ได้ เช่น เด็กๆ ตั้งใจเรียนหนังสือ ทำการบ้านที่ครูให้มาทุกครั้งไม่บิดพลิ้ว ไปโรงเรียนทุกวัน ไม่ขาด อย่างนี้เรียกว่า นักเรียนทำดี หรือเป็นคนขี้ประจบ คอยเอาอกเอาใจผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะพูดอะไรก็ไม่ขัดคอ ผู้ใหญ่ก็อาจออกปากว่า ไอ้นี่มัน (ทำ) ดี

ในความหมายที่ลึกก็คือ ทำคุณงามความดีหรือทำกุศลกรรม เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรือทำ "บุญกิริยา" อย่างอื่น เช่น ฟังธรรม หรือขวนขวายช่วยเหลือสาธารณ ประโยชน์อื่นๆ ก็เรียกว่าทำดีทั้งนั้น

ความดีอย่างหนึ่งที่มีคนทำกันมากก็คือการสวดมนต์ไหว้พระ บางคนก็สวดหลายๆ บท สวดเป็นชั่วโมงๆ สวดทุกวัน วันละสองเวลา คือเวลาเช้าและเวลาก่อนนอน บางคนก็สวดเพียงบทใดบทหนึ่ง แล้วแต่สะดวก

บทสวดมนต์ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือคาถาชินบัญชร คาถานี้เนื้อหาสาระกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัยและพระปริตร (พุทธมนต์สำหรับป้องกันภัย) ต่างๆ อัญเชิญให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มาประดิษฐานอยู่ทั่วตัวเรา

ว่ากันว่าเป็น "คาถา" (บทกวี) ที่นักปราชญ์ไทยโบราณแต่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นำมาดัดแปลงให้กะทัดรัดเดิม ชื่อ "คาถารัตนบัญชร" ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "คาถาชินบัญชร"

เมื่อสามสี่วันที่ผ่านมา ผมได้ข่าวว่าเพื่อนผมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพาณิชย์แห่งหนึ่ง ถูกรถเมล์ปรับอากาศทับขานอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เห็นเพื่อนนอนคุยอยู่กับแขกที่มาเยี่ยมก่อนหน้าผม ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ขาทั้งสองคลุมด้วยผ้าห่มผืนหนา นึกชมในใจว่า ขาขาดยังยิ้มระรื่น ถ้าเป็นเราคงทำใจไม่ได้แน่

ผมแข็งอกแข็งใจเปิดผ้าห่มออก จะดูว่าขาเพื่อนขาดขาเดียวหรือสองขา ก็ต้องร้อง "อ้าว" ด้วยความประหลาดใจ ขาเพื่อนมิได้ขาด เพียงแต่บวมเป่งทั้งสองข้างเท่านั้น

"ไหนคนโทร.บอกผมเขาว่า รถปอ.ทับขาคุณไง" ผมถามด้วยความสงสัย

"ทับจริงๆ เพื่อน ล้อหลังทับเหนือหัวเข่าผมจริงๆ" เพื่อนบอก

"เฮ่ย ถ้ามันทับจริงๆ ก็แหลกทั้งสองขาแล้ว" ผมแย้ง

"นั่นสิใครๆ ก็ว่าอย่างนั้น ผมเองก็ยังงงอยู่เลย" เพื่อนกล่าวแล้วก็เล่ารายละเอียดให้ฟังว่า เช้าวันที่เกิดเหตุพาลูกสาวขึ้นรถเมล์ปรับอากาศจะไปส่งโรงเรียน รอให้เด็กๆ ขึ้นรถจนหมดก่อน แล้วตัวเองจึงขึ้นตาม ขณะที่เด็กคนหนึ่งก้าวขาที่สองยังไม่ทันพ้นพื้นดิน คนขับรถก็กระตุกเกียร์ พุ่งทะยานออกจากป้าย เด็กจะตกรถ เพื่อนผมจึงผลักเด็กน้อยให้เข้าไปในรถ ตัวเองเสียหลักจะหล่น พอดีมือคว้าราวเหนือประตูรถด้วยสัญชาตญาณ รถก็ไม่ยอมหยุด เพื่อนก็โหนต่องแต่งอยู่อย่างนั้น เป็นที่หวาดเสียวแก่ผู้พบเห็นอย่างยิ่ง

ไปได้สักระยะหนึ่งก็ร่วงลงสูู่พื้น เท้าทั้งสองเข้าไปใต้ท้องรถพอดี รถเมล์ก็ทับขาได้ยินเสียงดัง "อึ๊ด" คนขับรถรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จอดรถลงมาดู ท่ามกลางไทยมุงมากมาย

เสียงคนร้องว่า "รถทับขาคน พาไปส่งโรงพยาบาลเร็ว"คนขับบอกว่า "เป็นไปไม่ได้รถผมหนัก ๗ ตันนะครับ ถ้ามันทับขาจริงๆ คุณเละแล้ว ไม่เป็นอย่างนี้หรอก" เพื่อนผมสติยังดีอยู่พูดว่า "คุณดูรอยล้อรถสิมันอยู่บนขาผม นี่ไง"

เออ...จริงเสียด้วย รอยล้อยังปรากฏเห็นเป็นทางบนกางเกงแต่มหัศจรรย์พันลึกอะไรเช่นนั้น ขาทั้งสองของเพื่อนผมยังเหลืออยู่ครบ ไม่ขาดหายไปแต่อย่างใด

เพื่อนผมบอกว่า ไม่แขวนพระอะไรเลย ตลอดชีวิตที่ผ่านมาก็ทำแต่คุณงามความดี ยึดมั่นในพระรัตนตรัย สวดมนต์ไหว้พระประจำ และคาถาที่ท่องเสมอก็คือ "คาถาชินบัญชร" มีเวลาว่างเมื่อใดก็ท่องทันทีวันละไม่รู้กี่เที่ยว วันที่เกิดอุบัติเหตุขณะห้อยโหนอยู่บนรถเมล์ก็ท่องคาถาชินบัญชรอย่างย่อ เสียงดังลั่นแข่งกับเสียงรถ

"มีเท่านี้จริงๆ ไม่ได้แขวนพระอะไรเลย แต่ใจผมอยู่กับพระตลอดเวลา" เพื่อนสรุป

ครับ คนที่มีพระอยูู่ในใจตลอดเวลา ทำแต่ความดีพระย่อมคุ้มครองให้รอดปลอดภัยแน่นอน



ธรรมะกำลังภายใน

นิทานจีนเรื่องหนึ่งเล่าว่า กระทาชายนายหนึ่งอยากเรียนวิชายิงธนู ไปหาอาจารย์สอนยิงธนูที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง มอบตนเป็นศิษย์ขอเรียนวิชาด้วย

อาจารย์บอกว่า "เอ็งยังไม่ต้องเรียนตอนนี้ ขอให้เอ็งกลับบ้านก่อน ไปหาเหามาตัวหนึ่งเอาเส้นไหมผูกมันแขวนไว้ แล้วเอ็งจงนั่งเพ่งดูให้มันใหญ่ขึ้นๆ จนกว่าเอ็งจะเห็นเหามันใหญ่เท่ากำปั้นเมื่อใด แล้วค่อยมาหาข้า"

ลูกศิษย์กลับบ้านไปทำตามอาจารย์บอก ฝึกเพ่งนานเกือบสามเดือน กว่าจะมองเห็นเหาโตเท่ากำปั้น ว่าจะได้บรรลุถึงขั้นนี้เหาก็ตายไปหลายตัว เขากลับไปรายงานอาจารย์

อาจารย์บอกเขาว่า "เอ็งกลับไปใหม่ คราวนี้ไปเพ่งเหาที่โตเท่ากำปั้นนั้นให้เล็กลงเท่าเดิม"

เขาพยายามอยู่เกือบสองเดือนเช่นกัน กว่าจะทำให้เหาเล็กลงเท่าตัวจริงของมัน แล้วเขาก็กลับไปหาอาจารย์รายงานผลให้ทราบ

อาจารย์กล่าวว่า เอ็งสามารถขยายสิ่งที่เล็กให้ใหญ่ และย่อสิ่งที่ใหญ่ให้เล็กได้ตามปรารถนา นับว่าเอ็งมี "พื้นฐาน" เพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องเรียนมาก เวลาเอ็งจะยิงธนูเอ็งก็เพียงแต่ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ ขยายสิ่งที่ต้องการยิงให้มันใหญ่ขึ้นๆ แล้วก็ปล่อยลููกศรไป แค่นี้เองก็ยิงไม่พลาดแล้ว

ดูหนังเรื่องกำลังภายในจะมีเรื่องคล้ายอย่างนี้ คือในบางครั้งศิษย์ไปฝากตัวเรียนวิทยายุทธ์จากอาจารย์ รับใช้อาจารย์อยู่เป็นเวลานาน อาจารย์ก็ไม่สอนวิทยายุทธ์ให้สักที ให้ตักน้ำบ้าง กวาดลานวัดบ้าง จนศิษย์นึกน้อยใจ

หารู้ไม่ว่าอาจารย์กำลัง "วางพื้นฐาน" ให้ศิษย์ วันดีคืนดีขณะลูกศิษย์กำลังผ่าฟืนอยู่ อาจารย์ก็ย่องๆ เข้ามาข้างหลัง เอาแส้หวดหลังดังเฟี้ยว ศิษย์ไม่ทันระวังตัวก็เจ็บตัวไป

วันหลังขณะศิษย์เผลอ ก็โดนอาจารย์หวดด้วยแส้อีก คราวนี้ทำให้ศิษย์ "ตื่นตัว" ทุกเวลา คอยระมัดระวัง ชำเลืองดูว่าอาจารย์จะย่องเข้ามาหวดหลังอีกเมื่อใด เมื่อเห็นอาจารย์ทำทีเป็นไม่เห็น พออาจารย์ฟาดแส้ลงอย่างแรง ศิษย์ก็กระโดดหลบได้ทัน

"เออ เอ็งเก่งมาก นับว่ามีพื้นฐานพอแล้ว" อาจารย์กล่าวชม แล้วก็สอนวิทยายุทธ์ให้

พื้นฐานนี้นับว่าจำเป็นมาก คนจะฝึกต่อยมวยต้องมีพื้นฐานสำหรับการเป็นนักมวย คนจะฝึกฟันดาบก็ต้องมีพื้นฐานสำหรับการเป็นนักฟันดาบ จนขั้นจะทำงานเล็กๆ ไม่ว่างานอะไรก็ต้องมีพื้นฐานมาก่อนทั้งนั้น จึงจะทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

พระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมอย่างหนึ่ง เรียกว่า "พละ ๔" ผมแปลเพื่อเข้าใจง่ายว่า "กำลังภายใน" คนจะทำอะไรให้มันสำเร็จได้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมี "กำลังภายใน" ทั้ง ๔ ประการ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็น

กำลังภายใน ๔ ประการนั้นคือ
๑.กำลังคือปัญญา
๒.กำลังคือความเพียร
๓.กำลังคือความสุจริต
๔.กำลังคือน้ำใจ

สรุปแล้ว ผู้ต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงาน ต้องการความสุขในชีวิต ควรปลูกสร้าง "กำลังภายในทั้ง ๔ ประการ" คือ มีความรู้ดี-ขยัน-มือสะอาด-ไม่ขาดมนุษยสัมพันธ์



รูรั่วแห่งชีวิต

ฝรั่งที่มองไทยมักจะเห็นขัดแย้งกันในหลายเรื่อง เช่นบางคนเห็นว่าคนไทยอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ถือตัว บางคนเห็นว่าคนไทยถือตัว อวดดี เย่อหยิ่ง จองหอง บางคนเห็นว่าคนไทยว่านอนสอนง่าย แต่นักสอนศาสนาบางคนค้านว่าคนไทยสอนยากที่สุด จะเห็นได้จากการไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาเดิมง่ายๆ เป็นต้น

สิ่งที่ฝรั่งเห็นตรงกันมีอยู่ประมาณสี่หรือห้าเรื่อง หนึ่งในหลายเรื่องนั้น คือ "คนไทยชอบการพนัน" อันนี้จะเรียกว่าเป็น "คุณวิบัติประจำชาติ" ก็คงได้ ลาลูแบร์ พูดถึงการเล่นการพนันของคนไทยไว้ดังนี้

"ชาวสยามชอบเล่นการพนันเสียเหลือเกิน จนกระทั่งฉิบหายขายตน หรือไม่ก็ขายบุตรธิดาของตน (เป็นทาส) ด้วยในประเทศนี้ถ้าลูกหนี้คนใดไม่มีเงินทอง หรือข้าวของตีราคาให้เจ้าหนี้แล้ว ก็ขายลูกเต้าของตนเพื่อชำระหนี้สินไป และยังไม่พอกับหนี้สินที่ตนทำเข้าไว้ตัวของตัวเองก็ตกเป็นทาสไปด้วยอีกคน"

การพนันมีทุกรูปแบบ ไพ่ ไฮโล โป ถั่ว ม้า มวย หวยเบอร์ ฯลฯ ผีพนันเข้าสิงในสายเลือดคนไทย เป็นมรดกตกทอดมาเป็นเวลานาน จนชั้นลูกหลานก็พยายามรักษามรดกนี้ไว้อย่างดี ไม่ขาดตกบกพร่อง แถมยังพัฒนารูปแบบและวิธีการเล่นให้วิจิตรพิสดารยิ่งกว่าบรรพบุรุษอีกด้วย มีคนพูดว่า ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เวลาใด คนไทยจะหาโอกาสเล่นการพนันเสมอ แม้กระทั่งเห็นคนกำลังจะตายอยู่แหม็บๆ ยังมีคนหันไปพูดกับเพื่อนว่า "พนันกันก็ได้หมอนี่ไม่รอดแน่ๆ"

อาจารย์แย้ม ประพัฒน์ทอง เคยพูดเสียดสีถึงลักษณะนิสัยชอบอบายมุขของคนไทย ในปาฐกถาครั้งหนึ่งหลายสิบปีมาแล้ว (ผมจำได้จนบัดนี้) ว่า

มโน มอบให้แม่ วารุณี (เหล้า)
แขน มอบให้นารี หนุ่มเหน้า
ดวงใจ มอบแด่ผี พนันเถื่อน
เกียรติศักดิ์ของข้า มอบไว้แก่เงิน

การพนัน นับเป็นอันดับหนึ่งในหกอันดับ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อบายมุข (ปากทางแห่งความฉิบหาย) ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ ทีฆนิกายปาฏิกวรรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรวบรวมมาไว้ในหนังสือที่ทรงแต่งขึ้นเพื่อใช้สอนพระนวกะบวชสามเดือนจัดไว้ตอน ท้ายๆ เรียกว่า "คิหิปฏิบัติ" (ข้อปฏิบัติของผู้ครองเรือน) เพื่อว่าพระใหม่พวกนี้สึกออกไปแล้ว จะได้ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี ไม่ตกเป็นทาสอบายมุข ให้สมกับที่ได้ผ่านการบวชเรียนมา

อบายมุข ๖ อย่าง คือ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการละเล่นต่างๆ เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านทำการงาน ทั้ง ๖ อย่างนี้ หมายถึงปฏิบัติเป็นนิจศีลจนติดเป็นนิสัย เพียงทำเป็นครั้งเป็นคราวคงไม่ถึงกับฉิบหาย

ในอนาคต ประเทศไทยจะมีแต่ประชาชนพลเมืองที่ไร้คุณภาพ มีแต่ผีพนันที่หวังพึ่งโชควาสนาลมๆ แล้งๆ โดยไม่คิดสร้างฐานะด้วยความขยันหมั่นเพียร ยากจะหวังความเจริญก้าวหน้าได้ ทั้งในส่วนตัวและส่วนรวม



การทำใจ

รู้จักกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง อายุจะเข้า ๗๐ แล้ว แต่ดูท่านสาวกว่าอายุ ถ้าไม่บอกว่าเกิดเมื่อใดแล้ว รับรองไม่มีใครทายถูก

การแต่งเนื้อแต่งตัวก็สมวัย ยิ่งความคิดความอ่านแล้วเป็น "วัยรุ่น" เอามากๆ ทันสมัย ทันโลก ทันเหตุการณ์

ถามท่านว่า ทำไมท่านไม่แก่ไปตามวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดความอ่าน ซึ่งตามปกติคนวัยนี้แล้วมักจะอยู่กับ "อดีต" คุยกับคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว ท่านบอกว่า "ก็ฉันชอบคบคนหนุ่มคนสาวนี่จ๊ะ"

ท่านอธิบายว่า คนหนุ่มคนสาวมักจะ "แอ๊กทีฟ" กระฉับกระเฉง มีพลัง มองไปข้างหน้า ต่างจากคนแก่มองอะไรก็ดูหดหู่ เหี่ยวแห้ง "ปลง" ไปหมดแทบทุกเรื่อง คบกับคนหนุ่มสาวแล้วทำให้มีชีวิตชีวา ไม่แก่ไปตามวัย ท่านว่าอย่างนั้น

ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ใจ ถ้าใจผ่องใส ความผ่องใสก็จะฉายออกมาทางใบหน้า ท่าทาง อันนี้เป็นความจริงที่ผู้รู้ยอมรับ เพราะฉะนั้นในบรรดา "สูตรชะลอความแก่" ซึ่งอาจมีหลายๆ สูตร ไม่ว่าจะใช้สูตรของอาจารย์คนไหนจะมี "การทำใจ" รวมอยู่ด้วย ถ้าคิดว่าตัวแก่ ร่างกายก็จะแก่ตาม และแก่เร็วด้วย ถ้าคิดว่าตัวเอง ไม่แก่ ร่างกายก็ไม่แก่หรือแก่ช้า

สมัยพุทธกาล สาวกของพระองค์ที่สละบ้านเรือนเข้ามาบวชเป็นพระสงฆ์ หลายท่านเกิดในตระกูลดี มีความเป็นอยู่สะดวกสบายมาก่อน พอมาถือเพศบรรพชิตนุ่งห่มผ้าเพียงสามผืน บิณฑบาตเลี้ยงชีพ อยู่ตามป่าตามเขา นานๆ จะเข้าไปอยู่ตามหมู่บ้าน หรือชุมชน อาหารก็ฉันมื้อเดียว

ท่านเหล่านี้น่าจะคร่ำเคร่ง คร่ำเครียด แก่เฒ่าไปก่อนวัย แต่ตรงกันข้าม กลับมีน้ำมีนวลเปล่งปลั่ง ใบหน้าผ่องใส มีความสุข แม้อายุจะมากก็ดูเหมือนคนหนุ่ม จนพราหมณ์คนหนึ่งเอ่ยปากทูลถามพระพุทธเจ้าว่า สาวกของพระองค์อยู่ง่ายๆ กินง่ายๆ ฉันอาหารเพียงวันละมื้อ แต่ทำไมผิวพรรณ ใบหน้าผ่องใส มีความสุข ดูหนุ่มกว่าวัยมาก

พระพุทธองค์ตรัสว่า "สาวกของตถาคต ไม่หวนคะนึงถึงแต่ความหลัง สิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็ไม่วิตกกระวนกระวาย มีสติสัมปชัญญะอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น เพราะเหตุนี้แหละ พวกเธอจึงมีความสุข ไม่แก่ไป ตามวัย" ก็เขียนวกไปมาเสียยาวนี้ ต้องการจะบอกเพียงว่า "การทำใจ" เป็นสิ่งสำคัญ ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร บางทีขึ้นอยู่กับการ "ทำใจ" ของเรานี่แหละ คนทำใจไม่ถูก หรือทำใจไม่เป็น ประสบปัญหา หรือความทุกข์ในชีวิตมานักต่อนักแล้ว

การทำใจถูกหรือทำใจเป็น อาจแยกประเด็นพูดดังต่อไปนี้คือ
๑.หัดคิดอะไรในแง่บวกให้บ่อยและให้มาก
๒.หัดมองโลกในแง่ความเป็นจริง
๓.ลองหัดคิด หัดมองอย่างนี้ดูสิครับ โลกใบนี้จะน่ารักน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะทีเดียว



กตัญญูกตเวที คุณธรรมที่เป็นพื้นฐาน

สังคมไทย เป็นสังคมที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เรียกได้ว่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนวิธีคิด อุปนิสัยใจคอของคนไทยได้รับการหล่อหลอมมาจากคุณธรรมทางพระพุทธศาสนาเกือบทั้งนั้น

ความกตัญญูกตเวที (รู้คุณและตอบแทนคุณ) ก็เป็นคุณธรรมทางศาสนาข้อหนึ่งในหลายข้อ ที่บรรพบุรุษเราได้ปลูกฝังอบรมลูกหลาน

คำพังเพยว่า "อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น" ชี้ถึงความสำคัญของกตัญญูกตเวทีในแง่มุมหนึ่ง คือเมื่อเราได้ไปอาศัยคนอื่นอยู่ จะด้วยเหตุใดก็ตาม ให้รู้บุญคุณของเขา มีอะไรจะตอบแทนเขาได้ก็ให้ทำ แม้กระทั่งงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น เอาดินเหนียวมา "ปั้นวัวปั้นควาย" ให้ลูกๆ หลานๆ เขาเล่นให้เพลิด เพลินก็ยังดี

คนที่ไม่รู้จักบุญคุณคนอื่น ท่านถือว่าเป็นคนเลว ยิ่งทำร้ายผู้มีบุญคุณยิ่งเลวกว่าอีกสองเท่า เราจะได้ยินคำพูดในทำนองด่าหรือตำหนิแรงๆ ว่า "คนเนรคุณ" "ไม่รู้คุณข้าวแดงแกงร้อน" สังคมไทยโบราณเราเข้มงวดเรื่องนี้มาก ใครที่ประพฤติตัวเป็นคน "ไม่รู้คุณคน" จะถูกสังคม "บอยคอต" ไม่ยอมรับเป็นสมาชิกของสังคมเลยทีเดียว

ไปถิ่นไหนถ้าเขารู้ก็มักไม่มีคนคบหาสมาคมด้วย

คนไม่รู้คุณคนท่านจะเน้นหนักหนาว่าเป็นคน "ทำกินไม่ขึ้น" คือไม่ว่าทำมาหากินอะไร ก็ไม่เจริญรุ่งเรือง แม้เบื้องแรกทำท่าเจริญรุ่งเรืองก็ตาม แต่ในระยะยาวมักจะเสื่อม หรือประสบหายนะให้เห็นทันตาเสมอ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก ผมเองก็เคยเห็นมาหลายราย

เด็กบ้านนอกคนหนึ่ง บวชเณรเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ อาศัยอยู่กับพระผู้ใหญ่ระดับเจ้าคุณซึ่งเป็นคนจังหวัดเดียวกัน เณรน้อยรูปนี้เรียนหนังสือเก่ง สอบได้เปรียญ ๖ ประโยคตั้งแต่เป็นเณร บวชพระแล้วก็สอบได้อีกถึง ๗ ประโยค มีความทะนงตัวว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่น ไม่ค่อยจะเชื่อฟังใคร เมื่อทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร ท่านเจ้าคุณตักเตือน ก็มักพูดใส่หน้าว่า "มีความรู้แค่ ๕ ประโยค ยังจะมีหน้ามาสอนคนได้ถึง ๗ ประโยค"

ท่านเจ้าคุณท่านได้เปรียญ ๕ ประโยค ลูกศิษย์คนนี้ จึงเอาความรู้ตามประกาศนียบัตรมาข่มท่าน เข้าทำนองเด็กสมัยใหม่ที่เรียนจบปริญญา แล้วดูถูกพ่อแม่ที่ส่งเสียให้เรียน ว่า "พ่อแม่อย่ามาสอนฉันเลย ฉันเป็นถึงบัณฑิตปริญญาตรี พ่อแม่แค่ประถม ๔ เท่านั้น!"

เจ้าศิษย์ไม่รู้คุณคนนี้ ต่อมาสึกออกไปทำงานในกรมไปรษณีย์โทรเลข (สมัยนั้น) หน้าที่การงานก็ทำท่าว่าจะไปดี แต่เนื่องจากความประพฤติไม่ดี ถูกไล่ออกจากงาน แล้วก็หางานใหม่ไม่ได้ อยู่อย่างอดอยากยากแค้น บั้นปลายชีวิตเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ได้ เพราะได้ข่าวว่าเพื่อนหลายคนที่เป็นห่วงเป็นใยตามหาตัว เพื่อจะช่วยเหลือ ก็ตามไม่พบ

ยกตัวอย่างให้ดูรายเดียวก็คงพอ นี่แหละครับที่โบราณว่า คนไม่รู้คุณคน ทำกินไม่ขึ้น

ท่านจึงสอนให้กตัญญู คือมีความสำนึกในบุญคุณที่คนอื่นมีต่อเรา แม้เพียงให้ข้าวน้ำกินมื้อเดียว ให้ร่มเงาชายคาอาศัยเพียงครู่เดียว จนกระทั่งคนที่หนีแดดร้อนมานั่งพักให้หายร้อนหายเหนื่อยใต้ต้นไม้ ท่านก็สอนให้รู้คุณของต้นไม้

มีสุภาพบุรุษวัยชราท่านหนึ่ง เวลาเดินผ่านตึกหลังหนึ่งท่านจะคำนับตึกแล้วเดินผ่านไป บุรุษหนุ่มคนหนึ่งจึงเข้าไปถามว่า คุณลุงคำนับตึกทำไมครับ คุณลุงบอกว่า

"ฉันไม่ได้คำนับตึกนะพ่อหนุ่ม ฉันคำนับสถาปนิกคนที่ออกแบบตึกนี้ เขาช่างเก่งเหลือเกิน" ว่าแล้วท่านผู้เฒ่าก็เดินจากไป

นี่คือตัวอย่างของคนรู้คุณคนอย่างหนึ่งครับ เขารู้ว่าคนที่ออกแบบตึกนี้เป็นคนเก่ง เป็นเหตุให้ได้สร้างตึกที่มีรูปทรงสวยงามอย่างนี้ขึ้นมาได้ จึงแสดงออกด้วยการคำนับให้คนอื่นเห็นและเอาอย่าง



จงรีบอย่างช้าๆ

คงเคยเห็นคำท้ายรถบรรทุกว่า "คนขับรถเร็วกว่าท่านมีแต่เขาตายไปแล้ว" จะเขียนเพื่อความขำขันเล่น หรือเพื่ออะไรก็ตาม ข้อความนี้น่าคิด เพราะมันส่อนิสัยใจคอของคนไทยส่วนใหญ่ได้ดีทีเดียว

นิสัยที่ว่านี้คือ ความใจร้อน

ว่ากันว่า เวลาแขกอินเดียทะเลาะกัน แกจะเถียงกันอยู่นั่นแล้ว ไม่มีใครลงไม้ลงมือ อย่างเก่งก็เอาไหล่ชนกันไปชนกันมา บางคู่ทะเลาะกันตั้งแต่เช้ายันเที่ยงไม่มีใครทำอะไร สำหรับพี่ไทยแล้วไม่ต้องพูดมากให้เปลืองน้ำลาย ชัดตูมก่อนแล้วพูดกันทีหลัง

เพื่อนผมที่เคยไปอยู่อินเดียเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งจิ๊กโก๋แขก (อย่างเก่งก็ได้แต่พูด) แซวแก แกรี่เข้าใส่ ไอ้แขกก็นึกว่าคงไม่กล้าลงมือเหมือนพวกแขกด้วยกัน ที่ไหนได้ แกเตะเปรี้ยงเดียว เจ้าหมอนั่นลงไปงอก่องอขิงทันที

ตั้งแต่นั้นมา ไม่มีใครกล้าตอแยด้วย

นิสัยไทยมักใจร้อนครับ ไม่มัวเถียงให้เมื่อยกรามเหมือนแขกอินเดียดอก ไม่ว่าจะทำอะไรก็มักจะทำด้วยใจร้อน และอยากได้ผลเร็วๆ

บางคนพอจับพวงมาลัยได้ ก็เร่งเครื่องทะยานออกไป ยังกับอยู่สนามแข่งรถ แซงซ้าย แซงขวา ปาดหน้า ปาดหลัง น่าหวาดเสียว เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็มี

บางคนเป็นนักเรียนนักศึกษา ใจร้อนอยากรู้มากๆ ท่องหนังสือหามรุ่งหามค่ำ ในไม่ช้าก็เจ็บป่วยหรือกลายเป็นโรคประสาท

บางคนอยากรวยเร็ว เล่นม้า หวย มวย ไฮโล ทุ่มเงินลงไปมากๆ เพื่อให้ได้เงินมากๆ ได้ผลชั่วพริบตาเหมือนกัน คือเงินอันตรธานหายไปในวงพนันนั้นเอง

บางคนต้องการความรักจากหญิงสาว ใจเร็วด่วนได้แสดงความเป็น เจ้าชู้ยักษ์ ทำเอาหญิงสาวตกใจปฏิเสธความรักอกหักไปเลยก็มี

แม้ในเรื่องพื้นๆ เช่น รับประทานอาหาร บางคนแทนที่จะค่อยๆ เคี้ยว ค่อยๆ กลืน ก็ตะกละตะกลามมูมมาม ถูกน้ำแกงลวกปากหรือก้างติดคอ หรือไม่ก็อาจ "ท้องแตกตาย" ดุจดังชูชกในวรรณคดี

หลายเรื่องหลายราวในชีวิต พินิจให้ถ้วนถี่ แม้จะเป็นเรื่องดีก็ไม่ควรด่วนได้ ควรใช้ปัญญาตรวจสอบให้รอบคอบก่อนแล้วลงมือทำสม่ำเสมอด้วยความขยันต่อเนื่องไม่ขาดสาย แล้วจะบรรลุเป้าหมายได้โดยไม่ยากเย็น

เคยยกตัวอย่างคนจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาสร้างเนื้อสร้างตัวที่เมืองไทย ขอยกอีกครั้ง ว่ากันว่าขณะที่ยังยากจนอยู่ เขาจะกระเหม็ดกระแหม่มาก อยากกินหมู เป็ด ไก่ ก็ไม่กิน เอาภาพหมู ภาพเป็ด ภาพไก่ มาแขวนไว้แล้วก็พุ้ยข้าวต้มไปมองภาพนั้นๆ ไป พลางคิดไปด้วยว่ากำลังกินข้าวกับ หมู เป็ด ไก่ ทำอย่างนี้จนกระทั่งสร้างฐานะร่ำรวย แล้วจึงกินหมู เป็ด ไก่ จริงๆ

คนที่ต้องการสร้างความสำเร็จแก่ชีวิต ต้องทำให้ได้ขนาดนี้ครับ ต้องรอได้ ทนได้ สักวันหนึ่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่จะเป็นของท่าน



รู้จักเอาประโยชน์

มีหลักนักการทูตอยู่ข้อหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้คือ การรู้จักเก็บเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายถึงว่าในการติดต่อเจรจากัน หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไรกันนั้น คำพูดของฝ่ายตรงข้าม อาจมีทั้งที่เป็นที่สบใจและไม่สบใจเรา ผู้เป็นนักการทูตที่ดีจะต้องพยายามหาเอาประโยชน์ให้ได้ แม้จากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลย

บางทีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ จำต้องอดทนต่อท่าทีอันเหยียดหยาม หรือวาจาที่ทิ่มแทง อันเป็นความไม่พอใจส่วนตัว แต่ถ้าการอดทนนั้นจะให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แก่ประเทศชาติส่วนรวมก็ต้องยอม

ไม่เช่นนั้นจะเป็นนักการทูตที่ดีไม่ได้ พ่อค้าที่ดีก็ไม่แตกต่างจากนักการทูตนัก

ผมเคยเห็นอาแปะเจ้าของร้านขายไตรจีวรที่ร้านแถวๆ เสาชิงช้า วัดสุทัศน์ ลูกค้าหรือผู้ไปซื้อผ้าไตรจีวรและบริขารสำหรับพระภิกษุ มีทั้งญาติโยมที่จะบวชพระและพระสงฆ์องค์เจ้า วันๆ อาแปะต้องต่อสู้กับความไม่พอใจส่วนตัวไม่น้อย

ลูกค้าที่จู้จี้ขี้บ่น ชอบติโน่นตินี่ รื้อกองผ้าไตรแล้วก็ไม่ซื้อ ถามราคาแล้วก็ร้องว่าแพง อะไรเหล่านี้ ไม่มีเฉพาะชาวบ้าน พระภิกษุบางรูปก็เอากะเขาเช่นกัน

วันหนึ่งผมมีธุระไปซื้อผ้าไตร จะมาบวชลูกชายตอนปิดเทอม หลังจากเกลี้ยกล่อมให้ลูกชายยินยอมบวชสักสองอาทิตย์ ก็รีบไปที่ร้านแถวเสาชิงช้าดังกล่าว เจรจาซื้อผ้าไตรและบริขารเครื่องใช้สำหรับสามเณร ในร้านมีพระสองสามรูปอยู่ก่อนแล้ว

พระที่อายุมากกว่าองค์อื่นรูปร่างใหญ่ เสียงดังพูดไปบ่นไป ใช้คำแรงๆ กับอาแปะเจ้าของร้าน ขนาดผมไม่ใช่คนขายฟังแล้วยังรู้สึกถ้าเป็นเจ้าของร้านผมนิมนต์ท่านออกจากร้านไปแล้ว อาแปะหายเข้าไปในร้านสักพักหนึ่ง เดินออกมาพร้อมกาน้ำชาและถ้วยชา

"ใจเย็งๆ หลวงพ่อ เจี๊ยะเต๊ก่อง" ว่าแล้วก็รินน้ำชาใส่ถ้วยยื่นให้ หลังจากฉันชาไปสองถ้วย เห็นอาแปะนั่งฟังคำดุด่าของตนอย่างใจเย็น พระคุณเจ้าผู้มีปากคมดุจมีดโกนรูปนี้ก็เสียงอ่อนลง พูดคุยกับอาแปะด้วยอารมณ์ดีขึ้น

ตกลงวันนั้นอาแปะแกขายผ้าไตรให้แก่พระคุณเจ้านั้น หลายชุด

ผมเห็นแล้วก็มาได้คิดว่าอาแปะแกหวังผลประโยชน์ คือ การขายผ้าไตร ขอให้ขายได้ ไม่ว่าจะผ่านอุปสรรคนานาประการเพียงใดก็ตาม ผู้ซื้อจะต่อแหลกต่อไปด่าไป หรือจะรื้อจะค้น จนสินค้ายับเยินก็ปล่อยให้ทำไปด้วยใจเย็น

ขณะเดียวกันก็หาวิธีดับความร้อนของลูกค้าไปด้วย เช่นใช้คำพูดที่รื่นหู หาน้ำหาท่ามาให้ดื่ม ในที่สุดก็ผูกมัดจิตใจลูกค้าไว้ได้ ก้าวเข้าร้านมาแล้วไม่มีกลับออกไปมือเปล่า ว่างั้นเถอะ

ริจะทำมาค้าขายก็ต้องฝึก "ยุทธวิธี" นี้ให้ได้ คือยอมอดยอมทนต่อกิริยาอาการ หรือวาจาของลูกค้าให้ได้ และรู้จักวิธีประโลมให้จิตใจลูกค้าเย็นลง หรือใจอ่อนลงให้ได้

อย่าเอาอย่างแม่ค้าแถว...(ไม่เอ่ยละขอรับ) พอเราจับสินค้าดูเท่านั้นก็แว้ดเอา "จับแล้วต้องซื้อนะ ไม่อย่างนั้นละก็น่าดู"
 


บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #31 เมื่อ: 14 มกราคม 2560 20:15:23 »



คาถากันขโมย

เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ (อายุแกมากแล้วจริงๆ) คนหนึ่งแวะมาหาขณะผมกำลังต่อเติมบ้านเพื่อขยายพื้นที่ไว้รอรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ซึ่งอาจจะมีมาในอนาคตอันใกล้ เห็นช่างติดเหล็กแหลมบนกำแพงรอบบ้าน เพื่อนถามว่าทำไว้ทำไมไม่เห็นสวยงามตรงไหน

ผมบอกว่า มิได้ทำไว้ให้ดูสวยงามทำไว้กันขโมยต่างหาก เพื่อนฟังแล้วหัวร่อจนฟันปลอมเกือบร่วง "เดี๋ยวนี้ขโมยมันไม่ ปืนกำแพงให้เมื่อยขาหรอก โจรกรรมมันพัฒนาถึงขั้นเกือบเป็นนิกส์แล้วโว้ย"

เมื่อเห็นผมทำหน้างง เพื่อนก็อธิบายว่า แต่ก่อนโจรมันรอขโมยของเวลาเจ้าของบ้านหลับสนิทในยามค่ำคืนดึกดื่น แต่เดี๋ยวนี้มันเอากลางวันแสกๆ บางครั้งเอารถบรรทุกมาขนของต่อหน้าต่อตาคนจำนวนมากเลยทีเดียว

วิธีก็ง่ายๆ ตอนเช้าเวลาเจ้าของบ้านออกไปทำงานกันหมด เจ้าขโมยจะเอาป้าย "บ้านนี้ขาย" มาปักไว้หน้าบ้าน ตอนเย็นก่อนเจ้าของบ้านกลับก็เอาป้ายออก ทำอย่างนี้ติดต่อกันสักสัปดาห์ คนเดินผ่านไปมานึกว่าเจ้าของบ้านประกาศขายบ้าน โดยที่เจ้าของบ้านไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย

วันดีคืนดีเจ้าขโมยหัวใสก็เอารถบรรทุกมาขนของซะเกลี้ยงบ้าน กว่าจะรู้อะไรเป็นอะไรเจ้าของบ้านก็ลมจับแล้วจับอีก

"วิธีกันขโมยที่ได้ผลที่สุด คือสวดคาถา" เพื่อนผมสรุปทำหน้าขึงขังยังกับหลวงพ่อซ่วนตอนแจกปลัดขิก

"พูดเป็นเล่น" ผมไม่เชื่อ

"ผมรู้ว่าคุณไม่ค่อยเชื่อเรื่องคาถาอาคม แต่เรื่องนี้มีจริงนะ ผมประจักษ์มากับตาแล้ว" เพื่อนยืนยัน แล้วสาธยายความเป็นมาของคาถาขลังที่ว่านี้ให้ผมฟัง

นานมาแล้ว มีมาณพหัวขี้เลื่อยคนหนึ่งไปเรียนศิลปวิทยาจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์เป็นเวลาเจ็ดแปดปี จดจำอะไรไม่ได้สักอย่าง ในขณะที่เพื่อนๆ เรียนจบกลับบ้านกันไปทำงานรับใช้ชาติจนเจริญรุ่งเรืองไม่รู้กี่รุ่นต่อ กี่รุ่นแล้ว (ทั้งรุ่นห้าและรุ่นเจ็ดว่างั้นเถอะ) แต่เจ้าหัวขี้เลื่อยไม่มีทีท่าจะเรียนจบ อาจารย์สงสารกลัวแกจะเอาตัวไม่รอด จึงจดคาถาให้หนึ่งบท กำชับให้ท่องดังๆ ทุกเวลาที่นึกได้

เมื่อแกอำลาอาจารย์กลับมาตุภูมิแล้ว แกก็ท่องคาถาบทนั้นดังๆ ทุกครั้งที่นึกขึ้นมาได้ วันหนึ่งแกลุกขึ้นมาท่องคาถากลางดึก เสียงสวดมนต์ทำให้ขโมยที่กำลังปีนบ้านจะเข้าไปขโมยของต้องเผ่นหนี

เหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ในสายตาของพระราชาซึ่งปลอมตัวไปดูแลทุกข์สุขของประชาชนเข้าพอดี วันต่อมาพระราชารับสั่งให้ตามตัวแกเข้าเฝ้า ขอเรียนคาถาวิเศษจากแก แกก็จดคาถาให้พร้อมกราบทูลให้พระองค์ทรงสาธยายดังๆ ทุกเวลาที่ทรงระลึกได้

ในช่วงเวลาดังกล่าวเสนาบดีกำลังวางแผน ปฏิวัติ ได้ติดสินบนช่างกัลบกตัดพระศอพระราชาขณะที่พระองค์ทรงเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ขณะรอช่างกัลบกลับมีดโกนอยู่พระองค์ทรงรำลึกถึงคาถาขึ้นมาได้ จึงทรงท่องออกมาดังๆ

ช่างกัลบกสั่นพั่บๆ ยังกะเจ้าเข้า ก้มลงกราบแทบพระยุคลบาท สารภาพถึงแผนชั่วร้ายของเสนาบดีและพวกจนหมดสิ้น

พระราชารับสั่งให้จับพวกกบฏมาลงโทษ สำหรับเสนาบดีนั้น อาศัยที่เคยมีความดีความชอบมาแต่เก่าก่อน จึงถูกลงโทษสถานเบาคือ เนรเทศออกจากเมือง อาจารย์หัวขี้เลื่อยได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีสืบแทน

เรียกว่าไม่เก่งแต่เฮง หรือได้ดีเพราะโง่แท้ๆ คนอย่างนี้ย่อมหาได้ทุกสมัยแหละครับ

เพื่อนผมเล่าว่า ตั้งแต่ได้คาถาบทนี้มาจากอาจารย์ท่านหนึ่งแล้วรู้สึกว่าชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัยขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก่อนนี้ขโมยขึ้นบ้านเดือนละไม่รู้กี่หน แต่หลังจากสวดคาถาบทนี้ประจำไม่ปรากฏขโมยขึ้นบ้านเลย!

ก่อนจากกัน เพื่อนไม่ลืมจดคาถาทิ้งไว้ให้ผมด้วย ผมได้รับแล้วก็ "ทิ้ง" จริงๆ คือหยิบไปทิ้งไว้บนหิ้งพระ มิได้นำมาท่องมาบ่นแต่อย่างใด วันนี้ทำความสะอาดห้องพระเจอเข้าพอดีจึงนำมาขยายให้ท่าน ผู้อ่านทราบ

คาถามีว่า "ฆเฏสิ ฆเฏสิ กิงกรณา ฆเฏสิ อหัม ปิตัง ชานามิ ชานามิ"

ลองเอาไปใช้ดู ถ้าหากขลังศักดิ์สิทธิ์กันขโมยขะโจรได้จริงก็บอกกันด้วยนะครับ ผมจะได้เอาลูกกรง เหล็กดัด และรั้วบ้านออกให้หมด

ให้หมดความรู้สึกเหมือนอยู่ในคุกเสียที



พ่อแม่คืออรหันต์ของบุตร

อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้แล้ว ทั้งปลื้มใจและสะท้อนใจ บางครั้งได้ทราบข่าวว่าหนุ่มต่างชาติบางคน พลัดจากพ่อตั้งแต่เกิดโตมาแล้วก็ตามหาพ่อที่เมืองไทย ถึงกับลงทุนประกาศหาทางหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วในที่สุดพ่อลูกก็ได้พบกันลงภาพกำลังกอดกันด้วยน้ำตา เห็นแล้วก็ปลื้มใจ ข่าวอย่างนี้นานๆ มีให้อ่านให้ฟัง

แต่บางครั้ง (รู้สึกจะถี่ขึ้นทุกที) อ่านข่าวลูกชายเตะแม่ชักดิ้นชักงอ เพื่อนบ้านใกล้เคียงต้องหามส่งโรงพยาบาล เพราะลูกสารเลวมันเปิดหนีไปแล้ว ข่าวบอกว่าลูกมันติดยาขอเงินแม่ไปซื้อยามาเสพ (ไม่ได้บอกว่าชนิดไหน ก็คงไม่พ้นเฮโรอีนอะไรพวกนั้น) แม่ไม่ให้เพราะมาไถบ่อยๆ จนกระทั่งไม่มีเงินซื้อข้าวกินแล้ว ลูกเลยโมโหจึงเตะแม่ล้มกลิ้ง แถมยังหยิบเงินจากชายพกผ้านุ่งไปหมดเกลี้ยง

อ่านแล้วก็สะท้อน

พ่อแม่นั้นเป็นผู้ให้กำเนิดเรามา มีบุญคุณแก่เรามหาศาล พระพุทธศาสนาสอนนักสอนหนาว่า บรรดาผู้ที่มีบุญคุณต่อมนุษย์ทุกผู้ทุกนามนั้น บิดามารดาเป็นอันดับหนึ่ง บุญคุณท่านมีมากมายไพศาล ไม่มีวันจะทดแทนได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สมมติว่าลูกคนใดคิดจะทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ เอาพ่อแม่นั่งบนบ่าขวาและบ่าซ้าย ให้พ่อแม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะรดตนเองตลอดเวลาถึงร้อยปีก็ไม่ชื่อว่าทดแทนบุญคุณ

ทางเดียวที่พอจะทดแทนได้ คือชักจูงพ่อแม่ผู้เป็น "มิจฉาทิฏฐิ" (เห็นผิด) ให้หันเข้าหาพระธรรม เช่น เทศน์โปรดให้พ่อแม่บรรลุธรรมนั่นแหละ จึงจะเรียกว่าทดแทนได้ แต่การทำอย่างนี้ได้ลูกจะต้องเป็นพระอริยบุคคล ลูกทั่วๆ ไปที่ยังเวียนว่ายอยู่ไม่อาจทำได้อย่างนั้น

พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า บุตรธิดาพึงเลี้ยงดูท่านยามท่านชรา เชื่อฟังท่าน ช่วยทำกิจการงานของท่าน ประพฤติตนให้ดี รักษาเกียรติคุณของวงศ์ตระกูล เวลาท่านตายไปก็ทำบุญอุทิศกุศลไปให้ทำเท่านี้ก็พอ จะทดแทนคุณท่านได้บ้าง ถึงไม่หมดก็ยังดี

เคยอ่านเรื่องจีนที่มีผู้แปลไว้นานมาแล้ว จำรายละเอียดไม่ได้แต่จำสาระได้ใจความว่า เด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินทางไกลเพื่อไปพบผู้ที่เขาเล่าลือว่าเป็นเซียนหรืออรหันต์ อยากเห็นอยากสนทนาด้วยว่าเซียนเป็นคนอย่างไร ระหว่างทางเขาพบคนแก่ท่าทางแข็งแรงคนหนึ่ง ท่านอาวุโสถามว่าจะไปไหน เขาเรียนท่านว่า "จะไปพบเซียน (อรหันต์) ท่านรู้จักไหมว่าเขาอยู่ที่ไหน"

ผู้อาวุโสบอกว่า "รู้จัก เธอมาผิดทางเสียแล้ว จงกลับไปที่หมู่บ้านของเธอเองนั่นแหละ มีสตรีแก่คนหนึ่งนุ่งห่มผ้าหนาๆ เดินเหินไม่ค่อยคล่อง เวลาเห็นเธอแล้วจะยิ้มแย้ม พูดด้วยถ้อยคำอันไพเราะเป็นห่วงเป็นใย ไปเถอะพระอรหันต์อยู่ที่นั่นแหละ"

เขางง ไม่เคยได้ยินใครเขาพูดมาก่อนเลยว่าพระอรหันต์มีที่หมู่บ้านตน จึงรีบกลับบ้านตั้งใจจะไปถามแม่ว่าแม่เคยได้ยินไหม พอเปิดประตูเข้าไป แม่ยิ้มให้ลูกพูดด้วยความเป็นห่วงว่า "ลูกไปไหนมาจ๊ะ อากาศหนาวออกอย่างนี้เดี๋ยวก็ไม่สบาย กินข้าวมาหรือยังลูก" เท่านั้นแหละเขาก็ได้คิด

"ใช่แล้ว สตรีแก่ในชุดหนาเตอะคนนี้เองคือพระอรหันต์ พระอรหันต์ของลูก" แล้วก็ก้มลงกราบทั้งน้ำตา

ขอฝากไว้ว่า ท่านจะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นใหญ่เป็นโตขนาดไหนก็ตาม ท่านก็ยังคงเป็นลูกของพ่อแม่อยู่นั่นเอง


ลักษณะมหาบุรุษเป็นฉันใด

คราวที่แล้วเล่าถึงหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอมทำอุบายสอดไม้เท้าใต้ชายสบงแพลมปลายออกมาให้เข้าใจว่าเป็น "ปลัดขิก" ของท่าน ให้เด็กสาว (ผู้บนสัปดี้สัปดนคนนั้น) เอาทองปิดแก้บน

ผู้อ่านท่านหนึ่งถามมาว่า เรื่องมีมูลความจริงหรือเปล่าหรือว่าผมสัปดนเขียนเอง เห็นจะต้องเรียนชี้แจงให้ทราบทั่วกันว่า เรื่องที่เขียนนั้นมี "มูล" ครับ แต่จะจริงหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ ผมจำท่านมาอีกที

"ท่าน" ที่ว่านี้คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย พระองค์ทรงเล่าไว้ในหนังสือชื่อ "นิทานโบราณคดี"

หลวงพ่อแช่มที่กล่าวถึงมีตัวจริง เป็นชาวบ้านฉลอมอยู่ห่างเมืองภูเก็ตสักสามสี่ร้อยเส้น บวชตั้งแต่เด็กจนได้เป็นสมภารวัดฉลอม มีสมณศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์

เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ เกิดกบฏเหมืองแร่เมืองภูเก็ต พวกจีนกรรมกรเหมืองแร่เที่ยวปล้นฆ่าชาวบ้านตายเป็นเบือ เกิดจลาจลทั่วเมืองภูเก็ต ชาวบ้านพากันหนีกันจ้าละหวั่น วันหนึ่งข่าวว่าพวกจีนกบฏจะมาปล้นบ้านฉลอม ชาวบ้านฉลอมไปชวนหลวงพ่อแช่มหนี หลวงพ่อไม่ยอมหนี บอกว่าข้าอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็กจนแก่ ถ้าจะตายก็ขอตายที่นี่แหละ

เมื่อหลวงพ่อที่เคารพนับถือของพวกเขาไม่ไป ชาวบ้านจึงขออยู่กับท่าน หลวงพ่อเอาผ้าขาวม้ามาลงยันต์เป็นผ้าประเจียดแจกให้ชาวบ้านคนละผืน เมื่อได้เครื่องรางของขลังต่างก็มีกำลังใจ รวมพวกกันต่อสู้โจรจีนแตกพ่ายไปในที่สุด

ตั้งแต่นั้นมาเสียงเล่าลือว่าหลวงพ่อแช่มขลังก็ขจรขจายไปทั่ว เมื่อรัฐบาลปราบพวกจีนกบฏราบคาบแล้ว หลวงพ่อแช่ม ผู้มีส่วนในการช่วยชาวบ้านปราบกบฏ (ทางอ้อม) มีความดีความชอบ ประจวบกับตำแหน่งพระครูสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ห้า จึงทั้งตั้งให้เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตแต่นั้นมา

ตอนแรกๆ ก็ลือว่าขลังเฉพาะผ้ายันต์หรือเครื่องรางที่ท่านทำ ต่อมาภายหลังลือว่าหลวงพ่อขลังทั้งตัว จนกระทั่งญาติโยมขอปิดทองเหลืองอร่ามไปทั้งตัว

สาเหตุที่เขาปิดทองมาจากชาวประมงเมืองภูเก็ตพวกหนึ่ง ลงเรือไปหาปลาถูกพายุใหญ่เรือจะอับปาง หลายคนบนบานศาลกล่าวเทวดาอารักษ์ทั้งหลายเท่าที่นึกได้ ขอให้ลมสงบ แต่ยิ่งบนพายุยิ่งพัดกระหน่ำหนักขึ้น

นายคนหนึ่งออกปากบนว่า ถ้ารอดชีวิตคราวนี้จะปิดทองหลวงพ่อวัดฉลอม พอบนเสร็จพายุก็สงบทันที เป็นที่อัศจรรย์

พวกเขารอดชีวิตมาได้ จึงพากันไปขอปิดทองแก้บน หลวงพ่อปรามว่า "ข้าไม่ใช่พระพุทธรูป มาทำนอกรีตนอกรอยปิดทองคนเป็นๆ ข้าไม่ยอม"

แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมเพราะทนการอ้อนวอนพวกเขาไม่ได้ เมื่อคนหนึ่งปิดได้ คนที่สอง ที่สาม ที่สี่...ก็ปิดได้ หนักเข้าก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่รู้จะห้ามปรามยังไงไหว

เดินไปไหนชาวบ้านวิ่งตามขอปิดทองแก้บนยังกะพระพุทธรูปเดินได้ เหลืองอร่ามไปทั้งตัว

เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปภูเก็ต หลวงพ่อแช่มได้ข่าวเดินทางมาต้อนรับ ชาวบ้านดักรอปิดทองระหว่างทาง ด้วยความรีบร้อน ยังไม่ทันล้างทองออก ท่านเดินทางมาต้อนรับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทั้งๆ ที่ยังระยิบระยับทั่วแข้งทั้งสอง

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงทรงทราบเรื่องราวของท่าน ทรงเห็นว่าแปลกดี จึงนำมาเล่าไว้ใน "นิทานโบราณคดี" ดังกล่าวแล้ว ส่วนเรื่องที่เด็กสาวขอปิดทองที่ปลัดขิกของท่านเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า เมื่อถูกถาม หลวงพ่อไม่ตอบ เพียงแต่ยิ้มๆ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงว่า สงสัยที่เขาเล่าลือคงเป็นเรื่องจริง

สมัยพุทธกาล มีคนไปขอดูปลัดขิกพระพุทธองค์เหมือนกัน แต่มิได้ไปขอปิดทองอย่างเด็กสาวเมืองภูเก็ตคนนั้น ไปขอดูว่าต้องตามตำราหรือไม่

อีตาพราหมณ์คนหนึ่งแกเชี่ยวชาญในตำรานรลักษณ์ หรือดูโหงวเฮ้งคน ใครมีลักษณะอย่างไร จะเจริญหรือตกอับอย่างไรแกรู้หมด อย่างจมูกโตๆ เหมือนชมพู่ผ่าซีก หรือหัวเกรียนๆ ปากแบะๆ เนี่ย จะได้เป็นใหญ่เป็นโตขนาดไหน อะไรทำนองนี้ อีตาพราหมณ์คนนี้แกเห็นปั๊บทายได้ทันที

แกได้ยินว่าพระพุทธเจ้าทรงมีมหาปุริสลักษณะ (ลักษณะของมหาบุรุษ) ๓๒ ประการ อยากพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ จึงสั่งลูกศิษย์ไปดู ลูกศิษย์เป็นคนประเภทแมงป่องยกหางตัวเอง แทนที่จะไปดูตามที่อาจารย์สั่ง กลับไปโต้เถียงกับพระพุทธองค์ ถูกพระพุทธองค์ต้อนเข้ามุมจนอายเพื่อนจึงถอยออกมา ไม่ทันได้โหงวเฮ้ง

เมื่อศิษย์ไปไม่ได้เรื่อง อาจารย์จึงต้องไปเอง นั่งพินิจพิจารณาโหงวเฮ้งพระพุทธองค์ทุกส่วนต้องตามตำราหมด เหลืออย่างเดียวไม่ได้ดู ไม่รู้จะตรงตามตำราหรือไม่

พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพราหมณ์ จึงทรงแสดงให้แกดู ไม่ได้เปิดให้แกดูหรอกครับ พระองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้แกเห็นทั้งๆ ที่ปิดไว้มิดชิดนั่นแหละ

แกเห็นว่าต้องตามตำราโหงวเฮ้งที่เรียนมา ก็เลื่อมใสก้มลงกราบแทบพระบาทของพระมหาบุรุษผู้ประเสริฐทันที

สิ่งที่ว่าคือ ปลัดขิกครับ ค่านิยมของอินเดียโบราณถือว่ามหาบุรุษจะต้องมีปลัดขิกอยู่ในฝักมิดชิดดุจของโค ถ้าอย่างอื่นถือว่าไม่ต้องตามตำรา



ตัวอัปปรีจัญไรเป็นฉันใด

ความอัปรีย์จัญไร ไม่ว่ามากหรือน้อย ไม่มีใครเขาต้องการพบพาน หลีกได้ไกลเท่าไหร่ยิ่งดี

วิธีหลีกเสนียดจัญไร หรืออัญเชิญสิริมงคลมาใส่ตัว จึงต้องทำแปลกๆ หลากหลายตามความเชื่อของแต่ละคน บางคนเวลาจะออกจากบ้านไปทำงานหรือไปธุระจะต้องเอานิ้วอุดรูจมูกทีละข้างแล้วสั่งขี้มูกดูก่อน ถ้าข้างไหนลมออกสะดวกไม่ติดขัด ก็จะถือเอาข้างนั้น-ซ้าย หรือขวา - เป็นเคล็ดแล้วก้าวเท้าข้างนั้นออกนอกธรณีประตูก่อน อย่างนี้เขาเชื่อว่า สรรพเสนียดจัญไรจะไม่แผ้วพาน

บางคน (หรือหลายคน) ถือว่า ถ้าชื่อตัวเองมีตัวอักษรที่เป็นกาลกิณีอยู่ด้วยจะไม่เป็นสิริมงคล (โดยมีวิธีนับตามแบบทักษาโบราณ ซึ่งต้องศึกษากันต่างหากในแวดวง ผู้สนใจวิชาโหราศาสตร์) เสฐียรพงษ์ วรรณปก พี่ชายผมแกมีอาชีพทางตั้งชื่อให้ลูกหลานชาวบ้าน แกเคยเล่าให้ฟังว่าเรื่องอักษรกาลกิณีในชื่อนี้เป็นเรื่องแปลก คุณแม่คนหนึ่งเขียนมาว่า ลูกชายเธอตอนแรกก็มีสุขภาพสมบูรณ์แต่พอโตขึ้นหน่อย ป่วยออดๆ แอดๆ ต้องไปหาหมอแทบทุกสัปดาห์ อาจเป็นเพราะชื่อก็ได้ ให้ช่วยดูด้วย พี่ชายผมดูแล้ว เห็นชื่อเป็นกาลกิณีทั้งชื่อจริงและชื่อเล่นจึงเปลี่ยนให้ใหม่ หลังจากนั้นสามเดือนคุณแม่คนนั้นเธอเขียนจดหมายมาว่า ตั้งแต่ได้ชื่อใหม่ไป ลูกมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่เจ็บป่วยอีกเลย กรณีอย่างนี้มีมากจนน่าประหลาด จะไม่เชื่อก็ยังไง หรือจะเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ยังไงอยู่

พันเอกปิ่่น มุทุกันต์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา คนที่เป็นอาจารย์ของอธิบดีคนปัจจุบัน (ร.อ.อดุลย์ รัตตานนท์) เคยพูดว่า มีพระผู้ใหญ่ทักว่า ชื่อท่านตัวท้ายเป็นกาลกิณีให้เปลี่ยนซะ หาไม่จะ "ล่มบัดจอด" คือเสียชื่อเสียงตอนปลายอายุ ท่านอธิบดีเล่าแล้วก็หัวเราะ "ผมไม่เชื่อเรื่องเหลวไหลพรรค์นั้นหรอก" แล้วก็ไม่เปลี่ยนชื่อ

ตอนปลายอายุ ท่านผู้นี้มีเรื่องยุ่งๆ ทางราชการ จนต้องชิงลาออกก่อนเกษียณและตายด้วยโรคร้ายทรมาน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะชื่อที่พระท่านทักหรือเปล่า

ชื่อนั้นใครว่าไม่สำคัญ บางทีก็สำคัญใช่ย่อย ผู้รู้เรื่องดีคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า (เรื่องนี้ถ้าไม่ตรงข้อเท็จจริง ก็ขออภัยเจ้าของชื่อด้วยนะครับ) สมัยอาจารย์อภัย จันทวิมล เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ มีหน่วยงานต่างประเทศแห่งหนึ่งเชิญข้าราชการกระทรวงศึกษาฯ ไปดูงานอะไรสักอย่าง ผมก็จำไม่ได้แล้ว มีผู้อยู่ในข่ายจะไปสองคน คนหนึ่งชื่อ ระงับ วัฒนสิงห์ เลขาฯ เสนอขึ้นไปว่า ทั้งสองคนนี้ท่านรัฐมนตรีจะให้ใครไป ท่านรัฐมนตรีแทงบันทึกสั้นๆ ว่า "เรื่องนี้ให้ระงับไป" ท่านเลขาฯ จึงเก็บเรื่องเข้าลิ้นชัก

ต่อมาอีกสัปดาห์ ท่านรัฐมนตรีเจอคุณระงับ ท่านทักว่า "อ้าว คุณระงับ ผมให้คุณไปต่างประเทศทำไมมาเดินอยู่ แถวนี้"

เรื่องของเรื่องก็คือ ท่านรัฐมนตรีสั่งว่าให้ (นาย) ระงับไป แต่เลขาฯ นึกว่า ให้ระงับการไป คือไม่ให้ใครไป เห็นไหมครับ ใครว่าชื่อไม่สำคัญ สำคัญจนทำให้อาจารย์ระงับอดไปต่างประเทศแน่ะ

น่าประหลาดก็คือ ทุกคนต่างเกลียดกลัวความอัปรีย์จัญไร ไม่อยากพบพาน ครั้นถามว่า ไอ้ตัวอัปรีย์จัญไรที่ท่านกลัวนักหนานั้น หน้าตามันเป็นยังไง ก็ไม่มีใครตอบได้ สักคน อย่างนี้ไอ้ตัวอัปรีย์จัญไรมันมาอยู่กับเราเมื่อไหร่ไม่มีโอกาสรู้

สมัยหนึ่งมีพระราชาองค์หนึ่ง อยากรู้ว่าตัวอัปรีย์จัญไรมันหน้าตาเป็นยังไง ถามฤๅษีผู้เคร่งฌานองค์หนึ่ง ฤๅษีสั่งให้เตรียมกระบอกไม้ไผ่แล้ว ฤๅษีก็หายไปสามวัน กลับมาพร้อมกระบอกท่อนนั้น อุดปากกระบอกไว้มิดชิดนำเข้าถวายพระเจ้าแผ่นดิน ท่ามกลางหมู่เสนาอำมาตย์ ณ ท้องพระโรง

พระราชาค่อยๆ เปิดกระบอกทอดพระเนตรตัวอัปรีย์จัญไร ซึ่งนอนแอ้งแม้งอยู่ก้นกระบอก เห็นรางๆ ไม่ชัด เพราะมันมืด ทรงรำพึงว่า "อืม ไอ้ตัวอัปรีย์จัญไรนี่มันเหมือนเขียดนะ" ทรงยื่นกระบอกให้เสนาบดี

เสนาบดีตะแคงซ้าย ตะแคงขวาดู กราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าว่ามันเหมือนกบพ่ะย่ะค่ะ"

และแล้วกระบอกท่อนนั้นถูกยื่นส่งต่อเป็นทอดๆ เหล่าเสนาอำมาตย์ต่างคนต่างเห็น ต่างคนต่างเข้าใจ ถกเถียงกัน ไม่มีใครลงใคร เสียงชักดังขึ้นทุกทีๆๆ

พระราชาเห็นท่าไม่ดี ตัวอัปรีย์จัญไรมันแผลงฤทธิ์แล้ว ทรงเรียกกระบอกคืนมา อยากดูให้ถนัดว่า เจ้าตัวร้ายนี่หน้าตามันเป็นยังไงกันแน่ จึงทรงเทมันออกมา

แล้วสายตาทุกคู่ก็จ้องเขม็ง เงียบงัน

มันก็คือชานหมากของอีตาฤๅษีธรรมดาๆ นั่นเอง

ครับ อัปรีย์จัญไรตัวจริงมันมิใช่ชานหมากในกระบอกไม้ไผ่นั้น แต่มันคือความอวดดื้อถือดีไม่ยอมลงให้ใครนั่นเอง



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 มกราคม 2560 18:55:45 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #32 เมื่อ: 30 มกราคม 2560 18:42:42 »




กุศโลบายเพื่อความสำเร็จ
มีคนพูดว่า กุศโลบาย ก็คือการโกหกนั่นเอง แต่คำจำกัดความนี้คงจะ "แรง" ไป สำหรับคำว่า "กุศโลบาย" เพราะตามศัพท์จริงๆ แปลว่า อุบายหรือวิธีที่ฉลาด วิธีที่ฉลาดไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีที่โกหกคดโกงเสมอไป

จริงอยู่วิธีการอาจมองเผินๆ ว่า เป็น การพูด หรือทำ "ไม่ตรง" ตามนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องดูที่เจตนาและผลที่ออกมา ว่าพูดหรือทำด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์หรือไม่ ผลที่ออกมานั้นเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือไม่

ยกตัวอย่างที่ผมชอบยกอยู่เสมอคือ มีแม่ทัพท่านหนึ่งนำกองทัพเข้าสู้รบกับข้าศึก กองทัพของตนมีกำลังน้อยกว่ากองทัพของข้าศึก เหล่าทหารหาญทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็ขวัญไม่ค่อยจะดี แม่ทัพก็ทราบเรื่องนี้

วันหนึ่ง แม่ทัพก็พานายทหารเข้าไปไหว้พระในโบสถ์แห่งหนึ่งล้วงเหรียญขึ้นมา กล่าวอธิษฐานดังๆ ว่า ถ้ากองทัพของข้าพเจ้าจะรบชนะข้าศึก ขอให้เหรียญนี้ออกหัว ว่าแล้วก็เขย่าเหรียญในมือ โยนลงบนพื้น

เหรียญออกหัว

ท่านแม่ทัพหยิบเหรียญขึ้นมาเขย่า พลางอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สองแล้วโยนลง เหรียญออกหัวเช่นเดิม

ท่านทำอย่างนี้ถึงสามครั้ง เหรียญก็ออกหัวทุกครั้ง เหล่านายทหารทั้งหลายต่างก็ขวัญมาเป็นกอง ที่รู้ว่ากองทัพของตนจะชนะ เพียง ไม่กี่นาทีข่าวว่ากองทัพของตนจะรบชนะข้าศึก ก็แพร่กระจายไปทั่วกองทัพ ทหารหาญทั้งหลายต่างฮึกเหิม มีกำลังใจ ถึงคราวรบก็รบกันอย่างอุทิศ จนสามารถเอาชนะข้าศึกได้

นายทหารคนสนิทพูดกับท่านแม่ทัพในวันหนึ่งว่า พระเจ้าอวยพรให้เราชนะก็ชนะจริงๆ แม่ทัพล้วงเหรียญขึ้นมาแบให้นายทหารคนสนิทดู พร้อมกล่าวว่า

"ไม่ใช่ดอกคุณ เหรียญนี้ต่างหากที่ช่วยให้พวกเราชนะ"

ปรากฏว่าเหรียญนั้นมีแต่ "หัว" ทั้งสองด้าน ซึ่งแม่ทัพท่านทำขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อนำมาใช้ในคราวคับขัน

อย่างนี้ก็เรียกว่า "กุศโลบาย" ของแม่ทัพ จะว่าแม่ทัพท่านโกหกหรือไม่ก็แล้วแต่จะคิด แต่เจตนาของแม่ทัพเป็นกุศลต้องการให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวม

ในการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปัญญา อย่างน้อยก็ให้รู้จักวิธีแก้ไขปัญหาและวิธีการทำงานให้ประสบความสำเร็จ และก้าวหน้าไปด้วยดี

คนทำงานอย่างโง่ๆ ไม่ศึกษาหาความก้าวหน้าในทางความรู้และประสบการณ์ ก็คงไม่ต่างกับตาแก่กับลูกชายจูงลา

ตาแก่คนหนึ่งกับลูกชายอายุประมาณไม่เกิน ๑๐ ขวบ จูงลาผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่งชาวบ้านพูดว่า "ดูตาแก่กับลูกชายสิ มีลาอยู่ทั้งตัวจูงตั้งสองคน ทำไมไม่ขี่คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งจูง"

ตาแก่ได้ยินดังนั้น จึงให้ลูกชายขึ้นขี่ลา ตัวเองจูงไปได้หน่อยหนึ่งมีคนพูดว่า "ดูเด็กน้อยคนนั้นสิ นั่งลาสบาย ปล่อยให้พ่ออายุมากแล้วจูง ทรมานคนแก่เปล่าๆ"

คราวนี้ตาแก่ไล่ลูกชายลงตัวเองขึ้นนั่งหลังลาให้ลูกชายจูง ผ่านอีกหมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านพูดว่า "ดูอีตาแก่คนนั้นสิให้เด็กตัวเล็กๆ จูงลา ตัวเองขี่สบายใจเฉิบ เอาเปรียบเด็กเหลือเกิน"

ตาแก่รีบลงจากหลังลา คิดหนักจะทำอย่างไร จูงทั้งสองคนก็ถูกว่า ให้ลูกขี่ตนจูงก็ถูกว่า ตนขี่ให้ลูกจูงก็ถูกว่า อย่ากระนั้นเลยขึ้นขี่มันทั้งสองคนดีกว่า ว่าแล้วก็บอกให้ลูกขึ้นขี่ลาพร้อมกับตน ลาเดินหลังแอ่นด้วยความหนัก

ชาวบ้านเห็นเข้าก็ชี้ให้กันดูว่า "ดูไอ้แก่กับเด็กคนนั้นสิ ขึ้นขี่ลาจนมันหลังแอ่น ทารุณสัตว์เหลือเกินนะ"

นิทานก็เป็นเพียงนิทานอาจมิใช่เรื่องจริงก็ได้ แต่ "สาระ" ของนิทานก็มีอยู่ เรื่องนี้ต้องการชี้ว่า ปัญญาความรู้เท่านั้นจะเป็นตัวบอกว่าตาแก่ควรจะทำอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม จะขี่ให้ลูกจูง หรือจะให้ลูกขี่ตัวเองจูง หรือผลัดกันขี่ ความเหมาะสมอยู่ที่ไหน อย่างไร คนมีปัญญาจะรู้เอง

เพราะฉะนั้นในการดำเนินชีวิตจึงต้องการปัญญา คอยชี้แนะแนวทาง นักสู้ชีวิตควรแสวงหาปัญญาและประสบการณ์ไว้ให้มาก อุบายที่จะนำออกใช้จะได้เป็น "กุศโลบาย" (อุบายอย่างฉลาด) มิใช่อุบายโง่ๆ แบบตาแก่



แก้ปัญหา ด้วยปัญญา
สมัยเป็นเณรน้อยเรียนนักธรรมบาลี อ่านคัมภีร์ชาดกเรื่อง "มโหสถชาดก" รู้สึกประทับใจในความเฉลียวฉลาดของเด็กน้อยโพธิสัตว์ นามว่า "มโหสถ" จนบัดนี้ก็ยังจำได้ไม่ลืม

มาถึงยุคลูกชายยังเล็กอยู่ มีการ์ตูนเณรน้อย "อิกคิวซัง" ของญี่ปุ่นออกมา เด็กๆ ติดเป็นแถว ต่างยกนิ้วให้ว่าเณรน้อยอิกคิวซังฉลาดเหลือเกิน

แต่ความฉลาดของมโหสถ เป็นการให้เหตุผลพิจารณาเรื่องราวตามเป็นจริง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตามควรแก่เหตุการณ์นั้นๆ วิธีการแก้ปัญหามีหลากหลายไม่ซ้ำกัน แล้วแต่ลักษณะของปัญหา ทำให้เราได้ความรู้มากขึ้น

เรื่องมโหสถนั้น ชี้ไปที่การรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน เกิดอะไรขึ้นให้มองตามเป็นจริง สืบสาวหาต้นตอและพยายามหาทางแก้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นการฝึกปัญญาอย่างดียิ่ง  ยกตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่งมีหญิงชาวบ้านอุ้มลูกเล็กเดินไปพบนางยักษิณีปลอมมาในร่างมนุษย์ ขออุ้มเด็กบ้าง พอได้เด็กจากมือแม่แล้วก็วิ่งหนี แม่เด็กร้องโวยวาย ชาวบ้านช่วยกันรุมล้อมนางยักษิณีนั้นไว้ ทั้งสองคนต่างเถียงกันว่าเด็กน้อยเป็นลูกของตน

ชาวบ้านไม่มีใครตัดสินได้ มโหสถน้อยผ่านมาพบเข้าจึงอาสาช่วยตัดสิน มโหสถถามว่า ท่านทั้งสองต่างก็อ้างว่าเป็นแม่เด็ก ท่านทั้งสองจะพิสูจน์ความจริงไหม หญิงทั้งสองตกลงให้มโหสถตัดสิน

มโหสถบอกให้หญิงทั้งสองแย่งเด็กเอาเอง คนหนึ่งจับหัวอีกคนหนึ่งจับแขนแล้วให้ดึง ถ้าใครดึงชนะก็แสดงว่าคนนั้นเป็นแม่เด็ก

ทั้งสองดึงเด็กน้อยไปมาคนละทางอยู่พักหนึ่ง เด็กน้อยร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวด หญิงชาวบ้านผู้เป็นแม่เด็กปล่อยมือ ยืนร้องไห้สะอึกสะอื้นอย่างน่าสงสาร

นางยักษิณีในร่างมนุษย์แย่งได้เด็ก ยิ้มกริ่มด้วยความดีใจ ร้องบอกฝูงชนว่า เห็นไหมๆ ข้าบอกว่าเด็กน้อยคนนี้เป็นลูกของข้าก็ไม่มีใครเชื่อ

มโหสถน้อยกล่าวว่า "ข้านี่แหละ ไม่เชื่อเจ้า"

"อ้าว ท่านบอกแต่แรกแล้วมิใช่หรือว่า ใครแย่งเด็กได้คนนั้นคือแม่เด็ก ก็ข้าแย่งได้แล้วนี่ พิสูจน์เห็นแล้ว" นางยักษิณีกล่าว

มโหสถกล่าวว่า "นั่นเป็นกุศโลบายของข้า เพื่อลวงให้ "ธาตุแท้" ของแต่ละคนปรากฏออกมา บัดนี้ความจริงก็ได้ปรากฏแล้ว ผู้หญิงคนที่ปล่อยมือแล้วยืนร้องไห้อย่างน่าสงสารนั้น คือแม่ที่แท้จริงของเด็ก

มโหสถอธิบายว่า แม่ย่อมรักและสงสารลูก เมื่อเห็นลูกร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวดทรมาน เพราะถูกแย่งดึงไปมา แม่อดสงสารลูกไม่ได้จึงปล่อยมือ ร้องไห้ ส่วนคนที่มิใช่แม่ไม่มีความผูกพันลึกซึ้งเช่นนั้นจึงมิได้มีแม้ความสงสาร อาจเป็นยักษ์มารที่ไหนปลอมมาก็ได้

ได้ยินดังนั้น นางยักษ์จำแลงก็สำแดงร่างจริงให้ปรากฏ จริงดังมโหสถทำนายไม่ผิดเพี้ยน

ยกเรื่องมโหสถขึ้นมากล่าวนี้เพื่อจะบอกว่า การดำเนินชีวิตนั้นต้องใช้ปัญญามิใช่น้อยจึงประสบความสำเร็จ เพียงความขยันหมั่นเพียรทำมาหากิน สร้างเนื้่อสร้างตัวอย่างเดียวหาเพียงพอไม่

ขาดปัญญาเสียแล้ว ถึงจะขยันอย่างไรก็ยากที่จะสำเร็จ หรือสำเร็จก็สำเร็จไม่เต็มที่

มีคนเห็นพระหนุ่มรูปหนึ่ง ขึ้นไปนั่งกรรม ฐานบนต้นไม้ทุกวัน ด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่ง หวังจะได้บรรลุธรรม อาจารย์กรรม ฐานชื่อดังรูปหนึ่งผ่านมาพบเข้า ร้องบอกว่า "ถึงคุณจะขยันนั่งบนต้นไม้จนกลายเป็นลิง ก็ไม่มีทางบรรลุดอก" พระหนุ่มก็ได้สติในความโง่เขลาของตน

ครับ ขยันอย่างเดียวไม่พอ ต้องฉลาดด้วย


ยิ้มได้เมื่อภัยมา
พระพุทธศาสนาสอนให้คนเรานึกถึงความตายอยู่เสมอ วิธีนี้เรียกว่า มรณัสสติ (สติระลึกถึงความตาย) ท่านว่าถ้าฝึกประจำจนชำนาญ ถึงขั้นมีสติระลึกรู้เรื่องความตายทุกลมหายใจเมื่อใด จิตใจจะสงบปราศจากความหวาดกลัวและมีความสุขอย่างยิ่ง

ที่คนเรามีความทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ สาเหตุใหญ่มาจากความกลัว กลัวจน กลัวจะลำบาก กลัวไม่มีใครรัก กลัวล้มเหลวในการทำงาน กลัวสามีทิ้ง กลัวภรรยานอกใจ กลัวสอบไม่ได้ กลัวโดนพ่อแม่ด่า ฯลฯ สารพัดกลัว จนกระทั่งกลัวแก่ กลัวเจ็บ และกลัวตาย

ด้วยความคิดอย่างนี้แหละ ทางพระพุทธศาสนาพูดให้ชัดว่าพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ "เผชิญหน้า" กับความตาย แทนที่จะทำเป็นลืม ไม่ยอมรับรู้รับฟัง ก็กลับมา "ทำความรู้จัก" กับความตาย หันมานึกถึงมันอยู่ทุกลมหายใจ เช่น

เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้

ชีวิตเราไม่แน่นอน แต่ความตายเป็นของแน่นอน

เราต้องตายแน่ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ความตายยุติธรรมที่สุดมาถึงทุกคน ไม่ว่ามั่งมี ยากจน ฉลาดหรือโง่เขลา เด็กหรือผู้ใหญ่ แก่หรือหนุ่ม ทุกชีวิตเกิดมาแล้วล้วนสิ้นสุดลงที่ความตาย

ความตายจะมาถึงเราวันไหน เวลาไหนก็ได้ ทุกลมหายใจเข้าออก ความตายอาจมาเยือนได้ทุกเวลา

การสอนให้ระลึกถึงความตายมีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ มิใช่ให้ระลึกถึงแบบสะเปะสะปะ นั่นก็คือ

๑) ให้ระลึกถึงเพื่อให้หายกลัว การระลึกถึงความตายแล้วจะหายกลัวตายได้ จะต้องระลึกด้วยความรู้ มิใช่ระลึกด้วยความโง่ ต้องรู้ตัวเสมอว่า ความจริงเราก็ตายอยู่แล้วทุกวันขณะที่นอนหลับ นั่นแหละเราก็ตายในลักษณะหนึ่ง แล้วทำไมเวลาเรานอนจึงไม่กลัว เราเต็มใจที่จะเข้านอนทุกครั้งที่เรารู้สึกง่วง

ที่เราไม่กลัวก็เพราะเราคิดว่า การนอนคือการพักผ่อน  เช่นเดียวกัน ถ้าเราคิดว่าความตายคือการพักผ่อน ชีวิตเราร่างกายเราได้มาอยู่ในโลกจนป่านนี้ ต่อสู้กับชีวิตมาจนถึงวันนี้ก็นานพอสมควรแล้ว ถ้ามันจะถึงเวลา "พักผ่อน" ก็ให้มันเป็นไปตามธรรมดาของมัน

ระลึกถึงความตายอย่างนี้จะไม่กลัวตาย พร้อมที่จะรับความตายทุกเวลาเมื่อถึงเวลา คนเช่นนี้จะตายอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย ไม่หวาดกลัว

๒) ให้ระลึกถึงเพื่อเกิดความไม่ประมาท คนที่ไม่ยอมรับรู้ความจริงว่าตนจะตายในวันใดวันหนึ่ง มักจะหนีโลกแห่งความจริง พยายามหลอกตัวเองว่า เรายังไม่ตาย เราจะต้องอยู่อีกนาน บางคนก็อยู่เพื่อเงิน "กิน-กาม-เกียรติ" ทุจริตกอบโกยเอามาเพื่อสนอง ปรนเปรอตนเอง ยังกับจะอยู่ค้ำฟ้า คนอย่างนี้เรียกว่าคนประมาท

ส่วนคนที่ระลึกถึงความตายว่า ชีวิตเราไม่แน่นอน จะตายวันตายพรุ่งไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้น ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็ควรทำประโยชน์แก่ตนเองและคนอื่นให้เต็มที่ เวลาอยู่ในโลกนี้ก็อยู่อย่างมีคุณค่าและคุณประโยชน์ ไม่ "หนักโลก" เวลาตายไปก็ฝาก คุณงามความดีไว้ให้คนเขาคิดถึง คิดถึงความตายแบบนี้ทำให้ไม่ประมาท

คนที่คิดถึงความตายอย่างนี้ไม่กลัวตาย และพร้อมที่จะตายทุกเวลา เพราะเขาได้สร้างคุณงามความดีแก่ตน และแก่เพื่อนมนุษย์เพียงพอแล้ว ถ้าเปรียบเสมือนการเดินทาง คนเช่นนี้นับว่าได้เตรียม "เสบียง" สำหรับเดินทางไว้พร้อม แพ็กกระเป๋าพร้อมแล้ว ได้เวลาก็พร้อมจะออกเดินทางได้ทันที

วันนี้เขียนคล้ายกับจะชวนผู้อ่านตายอย่างนั้นแหละ ไม่ดอกครับ ถึงผมจะชวนหรือไม่ชวนคุณ (และผม) ก็ต้องตายอยู่แล้ว ผมเพียงบอกวิธี deal กับความตายที่ถูกต้องเท่านั้น ฮั่นแน่ เดาะคำฝรั่ง เสียด้วย!


นักสู้ชีวิต ควรรู้จักวิธีแก้เซ็ง
"เซ็ง"คำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย สถานให้คำจำกัดความว่า "จืด, จืดชืด, หมดรส, หมดความตื่นเต้น แถมวงเล็บไว้ด้วยว่า ใช้เรียกสิ่งที่ควรจะบริโภค หรือจัดทำในเวลาหนึ่ง แต่ทิ้งไว้นานเกินควร ความหมายทั้งหลายแหล่ที่ราชบัณฑิตฯ ท่านทิ้งไว้ไม่ตรงกับที่คนสมัยนี้ใช้สื่อสารกัน

"เซ็ง" ในความหมายของคนทั่วไปก็คือ ความเบื่อ ทำงานในตำแหน่งขี้ข้าเขามานาน ไม่มีอะไรดีขึ้น ก็พูดว่า "เซ็ง" ถ้าเซ็งมากๆ ก็เติมคำ "ฉิบหาย" ต่อท้ายเป็น "เซ็งฉิบหาย"

บวชมาหลายพรรษา เป็นพระหลวงตาอยู่นั่นแล้ว ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูหรือเจ้าคุณกับเขาสักที "อาตมารู้สึกเซ็ง" (เป็นยังงั้นไป)

หมอปัจจุบันนี้ จัดอาการเซ็งให้เป็นโรคชนิดหนึ่ง เรียกว่า "โรคเซ็ง" จะตรงกับภาษาฝรั่งว่าอย่างไรผมไม่ทราบ ท่านว่าเซ็งเป็นสภาพจิตที่ซบเซา หดหู่ เบื่อหน่าย

สมัยพุทธกาลมีผู้ที่ออกบวชในพระพุทธศาสนามากมาย บางท่านไม่ได้บวชเพราะความเบื่อโลก แต่บวชเพราะถููกญาติผูู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระเถระชักจูงให้บวช สภาพจิตจึงไม่พร้อมที่จะรับการฝึกอบรม บางรูปเกิดอาการที่ภาษาพระท่านว่า "อุกกัณฐิโต" ท่านแปลว่า เกิดความเบื่อหน่าย แปลตามศัพท์จริงๆ ว่า "เกิดอาการชูคอ" หมายถึง ชะเง้อชะแง้คอ มองอยู่ตลอดเวลา ว่าเราจะหลุดพ้นจากสภาพอย่างนี้เมื่อไรหนอ อะไรทำนองนี้

ก็เซ็งนั่นแหละครับ

พระรูปหนึ่งพี่ชายให้ท่องโศลกบทหนึ่ง ความยาวแค่สี่บรรทัด ท่องตั้งสามเดือนยังจำไม่ได้ ว่ากันว่าพระรูปนี้ถูกพี่ชายจับบวชไม่ค่อยเต็มใจบวชนักหรอก แถมยังสมองทึบอีกต่างหาก เมื่อท่องไม่ได้ก็ถูกพี่ชายดุด่าหาว่าโง่เง่า โศลกสั้นๆ แค่นี้ก็ยังท่องไม่ได้ เสียชื่อฉันผู้เป็นพี่ชายหมด

วันๆ ไม่ต้องทำอะไร ถูกบังคับให้ท่องข้อความซ้ำแล้วซ้ำอีก ถูกด่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เลยเกิดอาการเซ็งชีวิต เซ็งหนักเข้าเลยคิดจะไปกระโดดเขาตาย

พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณจึงเสด็จไปโปรด ตรัสถามว่า ทำไมจะต้องฆ่าตัวตาย เธอกราบทูลว่า "เซ็งชีวิตพระพุทธเจ้าข้า"

"ทำไมจึงเซ็ง"ตรัสถามด้วยพระสุรเสียงปรานี

"ถูกบังคับให้ท่องโศลกที่ยากๆ ซ้ำซาก และถูกด่าซ้ำซากพระเจ้าข้า" เธอกราบทูล

พระพุทธองค์จึงตรัสบอกว่า "เธอรู้สึกเซ็งถึงขนาดจะฆ่าตัวตายเพราะเซ็งที่ถูกด่าซ้ำซาก และถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ เธอลองเปลี่ยนมาทำอย่างอื่นดูซิ เธอจะชอบไหม"

"ทำอะไรพระเจ้าข้า"

"ทำอะไรที่มันง่ายๆ เช่น ลูบผ้าขาวเล่น" ว่าแล้วพระองค์ก็ทรงนำผ้าขาวผืนหนึ่งออกมา ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์ลูบคลำไปมาให้เธอดูแล้วให้เธอทำตาม ปรากฏว่าพระหนุ่มรูปนั้นยิ้มละไม แววตามีประกายแห่งความสดใส ลูบผ้าขาวไปมาอย่างพึงพอใจ

ก็มันง่ายกว่าท่องโศลกมากมายก่ายกอง นี่ครับ

เธอนั่งลูบผ้าขาวอยู่พักใหญ่ จิตใจที่ฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อเซ็งก็สงบ สมาธิเกิดขึ้น ไม่ช้าไม่นานเธอก็ได้บรรลุธรรมชั้นสูง

ดูวิธีการที่พระพุทธเจ้าประทานให้พระหนุ่มผู้หน่ายชีวิตรูปนี้ทำแล้ว ทำให้ได้แง่คิดว่า วิธีแก้เซ็งอย่างหนึ่งในหลายวิธีก็คือ ให้หาสิ่งที่ตนชอบทำ

พยายามสร้างความชอบในสิ่งนั้นขึ้นมาให้ได้ แรกๆ อาจต้องฝืนใจ ใช้พลังใจมากไม่ใช่น้อย แต่นานๆ เข้าความฝืนใจก็ลดน้อยลงๆ จนกลายเป็นชอบขึ้นมาจนได้

หลังจากนั้นจะทำอะไรก็สนุกสนาน เพลิดเพลิน ไม่เบื่อไม่เซ็ง และผลสัมฤทธิ์ก็เกิดขึ้นมากมายไพศาลด้วย



สู้ด้วยความพากเพียร
มีคนนิยามความหมายของชีวิตว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ผมขอแถมอีกนิดว่า สู้แล้วต้องให้ชนะด้วย

จริงอยู่ในสังเวียนแห่งการต่อสู้ ย่อมมีทั้งแพ้และชนะแต่นักสู้ต้องมุ่งเป้าไปที่ชัยชนะ แพ้น่ะได้ แพ้บ่อยๆ ก็ได้อีกเหมือนกัน แต่ในที่สุดเราต้องเอาชัยชนะให้ได้!

ทุกคนมีสิทธิ์สะดุดล้ม แต่ล้มแล้วนอนเป็นเรื่องน่าตำหนิ ล้มแล้วรีบลุกขึ้นเดินต่อไปสิ คนเขายกย่องสรรเสริญ

ในประเทศญี่ปุ่น เขามีธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่ง คือเขาจะนำ "ตุ๊กตาล้มลุก" ไปมอบให้แก่กัน ในโอกาสสำคัญๆ เช่นวันเกิด หรือปีใหม่อะไรนี่ผมก็จำไม่ถนัด แต่จำได้ว่า เขามอบตุ๊กตาล้มลุกให้กัน

ตุ๊กตานั้นเดินไปได้หน่อยแล้วก็ล้ม แล้วก็ลุกเดินต่อไป ล้มลุก ล้มลุก อยู่อย่างนี้ ดูกันเล่นสนุกๆ ก็ได้ ดูให้ดีให้เกิดปรัชญาชีวิตก็ได้

คือเป็นเครื่องเตือนใจว่า อย่ายอมหยุดหรือเลิกรา ล้มแล้วให้ลุกเดินต่อไป อย่านอนแผ่หลาอย่างคนหมดท่าในชีวิต เพราะญี่ปุ่นเขามี "ปรัชญาชีวิต" อย่างนี้ เขาจึงพัฒนาก้าวไกลไปสุดกู่ เมื่อคราวแพ้สงคราม ญี่ปุ่นย่อยยับไม่มีดี แต่ไม่กี่ปีให้หลังก็ฟื้นตัวและพัฒนาล้ำหน้าประเทศอื่นๆ เดี๋ยวนี้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่น่ากลัวที่สุดในโลกไปแล้ว

เพราะพี่ยุ่นแกถือปรัชญา ล้มแล้วลุก ดังเช่นตุ๊กตาล้มลุกนั่นแหละครับ

การล้มแล้วลุกแล้วๆ เล่าๆ ถ้าถอดเป็นธรรมะก็ได้แก่ความพากเพียรนั่นเอง พระท่านเรียกว่า "วิริยะ" บ้าง "วิริยา-รัมภะ" บ้าง

ความพากเพียร ไม่ได้หมายถึงทำอะไรหามรุ่งหามค่ำ ไม่รู้จักพักผ่อน อย่างคนเรียนหนังสือ นั่งอ่านนั่งท่องอยู่นั่นแล้วตั้งแต่เช้ายันดึก ไม่กิน ไม่นอน อย่างนี้เขาเรียกว่า "หัก-โหม" มิใช่ความพากเพียร ขืนทำอย่างนี้ ไม่เกินสี่ห้าวันโรคประสาทกินตาย

ความพากเพียรไม่ต้องทำมาก ไม่ต้องหักโหม ทำทีละน้อยๆ แต่ทำบ่อยๆ อย่าง ต่อเนื่อง

ท่านเคยเห็นแมงมุมไหม แน่นอนทุกคนคงรู้จักมันดี แต่น้อยคนที่จะสังเกตดูมันอย่างถี่ถ้วน ลองสังเกตดูมันสิครับเวลามันถักใย มันจะไต่จากมุมนี้ไปยังมุมนั้น มันมักจะตกสู่พื้นอยู่บ่อยๆ ไต่แล้วตก ไต่แล้วตก แต่มันก็ไม่ย่อท้อ ยังคงก้มหน้าก้มตาถักใยต่อไป ผลที่สุดมันก็ได้ใยแมงมุมที่สวยงามไว้ดักเหยื่อกินตามประสงค์

คนที่พากเพียรไม่ต่างจากแมงมุมถักใย ไม่ว่าจะทำกิจการอะไร จะพากเพียรทำด้วยจิตใจแน่วแน่มั่นคง ไม่เลิกล้ม ไม่ย่อท้อจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ

"คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร" พระท่านพูดไว้ไม่ผิดดอกครับ ทำอะไรล้มเหลวเพียงครั้งสองครั้ง อย่าได้ท้อแท้ ผิดหวังเลย ทำต่อไป สู้ต่อไป ถ้าหากการกระทำการต่อสู้นั้นเป็นเรื่องถูกต้อง สุจริต ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม

ส่วนเรื่องผิดเรื่องชั่ว ไม่ต้องพากเพียรทำมัน เพียงหลงทำครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว



ชีวิตต้องสู้
หนังสือเล่มที่ท่านอ่านเป็นประจำอยู่นี้ ตั้งชื่อได้เหมาะสม "ชีวิตต้องสู้" คือเกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ต้องสู้ เกิดมาแล้วไม่สู้แสดงว่าตายตั้งแต่เกิด ถึงแม้ว่าจะมีลมหายใจอยู่ก็ไม่ต่างอะไรกับคนตายแล้ว

เรามีคำพังเพยหรือสุภาษิต (แล้วแต่จะเรียก) ว่า "ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยา ชูกำลัง" ศัตรูในที่นี้หมายเอา "อุปสรรค" ที่ขัดขวางความก้าวหน้านั้นเอง คงไม่หมายไปไกลถึงคนที่เป็นอริ หรือข้าศึกที่คอยตามล้างตามผลาญอะไรขนาดนั้น

การสู้ชีวิตจะสามารถเอาชนะได้ หรือประสบความสำเร็จในการต่อสู้ อย่างน้อยต้องมีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ

๑) ความพากเพียรพยายาม องค์ประกอบนี้สำคัญมาก ความเพียรมาจากคำว่า วิริยะ วิริยะมาจากคำว่า วีระ (ซึ่งแปลว่ากล้าหาญ) เพราะฉะนั้นคนที่พากเพียรก็คือคนกล้า กล้าสู้กล้าบุกไม่ย่อท้อ ไม่ถอดใจง่ายๆ แม้ว่าอุปสรรคจะใหญ่โตมากมายเพียงใดก็ตาม

นึกถึงนิทานชาดกเรื่อง "มหาชนก" มหาชนกเป็นพ่อค้าเดินทางไปค้าขายทางเรือกับพ่อค้าและประชาชนอีกจำนวนมาก เรือล่มกลางมหาสมุทร ผู้คนตายกันหมด เหลือแต่มหาชนกคนเดียว เกาะแผ่นกระดานแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร เวลาผ่านไป ๗ วัน มหาชนกก็ยังพยายามว่ายน้ำอยู่ จนนางมณีเมขลาปรากฏกายขึ้นถามว่า "มหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาล มีแต่น้ำกับฟ้า ท่านว่ายก็ตาย ไม่ว่ายก็ตาย แล้วท่านจะพยายามว่ายอยู่ทำไม" พูดง่ายๆ ว่าไม่มีทางรอดดอก ปล่อยให้จมน้ำตายเสียดีกว่า

มหาชนกกล่าวตอบ (ซึ่งถือว่านี่แหละคือ "หัวใจของนักสู้ชีวิต") ว่า "เกิดเป็นคนต้องพยายามจนถึงที่สุด" รู้อยู่ว่ามหาสมุทรกว้างไพศาลรู้ว่ามีแต่น้ำกับฟ้า แต่หน้าที่ของเราต้องพยายามจนให้รู้ดำรู้แดง ถ้าพยายามจนถึงที่สุดแล้ว ไม่ถึงฝั่งก็ให้รู้ว่าไม่ถึง และจะไม่เสียใจ เพราะได้ทำถึงที่สุดแล้ว

คนสู้ชีวิตต้องคิดอย่างนี้ครับ ไม่ใช่ว่าเห็นอะไรขวางอยู่ข้างหน้าบางทีนิดเดียว ขอ "ถอดใจ" เสียแล้ว ทั้งๆ ที่ตัวเองมีศักยภาพ มีความพร้อมทุกอย่าง ถ้าหากกล้าทำ กล้าสู้เสียอย่าง งานนั้นสำเร็จแน่นอน

วันก่อน ได้อ่านเรื่องของเด็กแขนด้วนทั้งสองข้างคนหนึ่ง (ไม่ทราบว่าจาก "ชีวิตต้องสู้" หรือจากหนังสือพิมพ์เล่มไหนอ่านมากด้วยจนจำไม่ได้) เกิดมาแขนด้วนถึงไหล่ทั้งสองข้าง ไม่เคยท้อถอยพยายามสู้ชีวิต เข้าโรงเรียน มือไม่มีจะเขียนหนังสือก็ใช้เท้าเขียนฝึกหัดเขียนด้วยเท้า จนลายมือสวยเหมือนเขียนด้วยมือ ตอนแรกๆ เพื่อนๆ ก็รังเกียจ แต่เมื่อเห็นความเข้มแข็ง ความตั้งใจจริงของแก ก็เห็นใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างดี

เด็กคนนี้มีความฝันยาวไกลว่า จะศึกษาเล่าเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอยากออกมาทำงานช่วยเหลือสังคม

นี่คือตัวอย่างของคนสู้ชีวิต คนที่มีมือมีเท้าบริบูรณ์ ควรจะได้คิด และหันมาสู้ชีวิตบ้าง ขนาดคนเขาอวัยวะร่างกายไม่สมบูรณ์ เขายังไม่ท้อแท้ แล้วเรามีครบทุกอย่าง ยังจะอ่อนแอยอมแพ้หรือ!

๒) องค์ประกอบอันที่สอง เนื่องมาแต่องค์ประกอบแรก คือ "กำลังใจ" คนสู้ชีวิตต้องมีกำลังใจ และสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งอยู่เสมอ เพื่อเป็นทุนในการต่อสู้ คนที่ขาดกำลังใจแม้จะแกร่ง หรือแข็งแรงขนาดไหน ก็กลายเป็นคนอ่อนแอโดยฉับพลัน คนเช่นนี้เรียกว่า "ตัวเท่าช้างใจเท่ามด"

เคยเห็นนักมวยร่างยักษ์ หมัดหนัก ถ้าต่อยเข้าจังๆ สักหมัด คนถูกต่อยรับรองสลบเหมือด นักมวยร่างยักษ์ขึ้นชกกับแชมป์โลกร่างเล็กกว่า แต่ได้ชื่อว่าเป็นมวยอันตราย มวยร่างยักษ์มัวแต่กลัว "ศักดิ์ศรี" ของแชมป์โลก ได้แต่ระวังตัวแจไม่ปล่อยหมัดสักที ทั้งที่บางครั้งสบโอกาสก็ไม่ยอมทำ ผลที่สุดถูกเขาน็อกตามระเบียบ อย่างนี้เรียกว่า กำลังใจอ่อนแอ ใจไม่สู้ ชกกี่ครั้งๆ "ช้างใจเท่ามด" เช่นนี้ ก็ไม่มีทางเอาชนะเขาได้

จำไว้เถิดครับ คนที่พากเพียรจริง มีกำลังใจเข้มแข็งมั่นคงจริง ไม่มีอะไรจะมาขวางกั้นเขาไว้ได้ อย่าว่าแต่คนเลยต่อให้เทวดาก็กีดกันไม่ได้


ต้องทำเดี๋ยวนี้
พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวเตือนใจไว้ดีมากควรที่ผู้คิด "สู้ชีวิต" จะพึงสนใจและนำเอาไปใช้ เพื่อความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าในการดำรงชีวิต

อ้อ! เกือบลืม พุทธภาษิตหมายถึง "คำพูด" ของพระพุทธเจ้าเอง ถ้าเป็นคำพูดออกจากปากคนอื่นเรียกว่า "ภาษิต" หรือ "สุภาษิต" เฉยๆ

พุทธภาษิตมีว่า (อ่านไม่ได้ก็ไม่ต้องอ่าน แต่ต้องเขียนไว้เพื่อ "ขลัง" ว่างั้นเถอะ)

อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา

แปลว่า ไม่ควรปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปเปล่า ไม่ว่ามากหรือน้อย ก็ควรให้ได้อะไรบ้าง

ท่านเคยเห็นคนประเภทนี้ไหม

พนักงานบริษัทบางคนมีงานต้องทำมากมายรออยู่บนโต๊ะ มัวแต่ไถลชวนเพื่อนคุยบ้าง อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง โทรศัพท์คุยกับคนนั้นคนนี้บ้าง บ่นว่าไม่ค่อยมีเวลา กว่าจะลงมือทำงานก็หมดเวลาไปมาก

งานที่ควรทำได้มากก็ได้น้อย ที่ควรเสร็จเร็วก็เสร็จช้า หรือไม่เสร็จเลย

ข้าราชการบางคนอาศัยอยู่บ้านหลวง ควรจะเก็บเงินไว้ซื้อบ้านเป็นของตนเสียแต่ต้นมือ ก็คิดว่าเอาไว้ก่อนตอนนี้ยังมีเรื่องต้องใช้เงินมากเอาไว้เก็บเงินสร้างภายหลัง ผัดผ่อนเรื่อยมา กาลเวลาก็ล่วงไป

จวบจนเกษียณ ก็ยังไม่มีบ้านเป็นของตัว มาคิดตอนนี้ก็หมดโอกาสแล้ว เพราะค่าเงินถูกลง ที่ดินแพงขึ้น

คนสองประเภทนี้ เรียกว่าคน "ผัดวันประกันพรุ่ง" ได้แต่คิดว่าเอาไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยทำ มะรืนนี้ค่อยทำ

ผัดเรื่อยไปจนติดเป็นนิสัย ผลที่สุดก็พลาดจากประโยชน์ที่พึงได้ หรือพลาดโอกาสงามๆ ในชีวิต

ผู้รู้จึงสอนว่า ถ้าคิดจะทำสิ่งใดที่ท่านพอจะทำได้ และเห็นว่าดีมีประโยชน์แก่ตัวท่าน จงรีบทำเสียแต่เดี๋ยวนี้เลยทีเดียว มัวแต่รอเมื่อนั้นเมื่อนี้ เดี๋ยวก็จะไม่มีเวลาได้ลงมือทำ

บางคนคิดอยากจะได้บ้านไว้สักหลัง เที่ยวตระเวนไปดูตามที่ต่างๆ มาทั่วเมือง ไม่ตัดสินใจสักที รอไว้ก่อนเดือนหน้าค่อยเอา พอถึงเดือนหน้าเดือนโน้นค่อยเอา มัวแต่ตัดสินใจไม่ได้สักที ราคาบ้านและที่ดินขึ้นพรวดๆ เงินแสนที่ทำอยู่ในมือไร้ค่าในบัดดล

เดี๋ยวนี้บ้านกระจอกๆ พอซุกหัวนอน ก็ปาเข้าไปตั้งล้านบาทขึ้นไปแล้ว

ท่องไว้ในใจเสมอเถิดว่า "ต้องทำเดี๋ยวนี้" โอกาสดีๆ จะได้ไม่หลุดลอยไป


จิตมั่นคงเสียอย่าง
เคยดูทีวีเมื่อหลายปีมาแล้วนานจนจำรายละเอียดไม่ได้ แต่จำ "สาระ" ได้ เป็นข่าวเกี่ยวกับคนพิการคนหนึ่ง เขาได้รับความพิการทางร่างกายเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นอัมพาตร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องนอนแบ็บอยู่กับที่ อาศัยอยู่กับพี่สาวหรือพี่ชายผมก็จำไม่ได้

ครอบครัวพี่สาวหรือพี่ชายที่เขาอาศัยอยู่ด้วยนี้ มิได้มีฐานะมั่นคงอะไรนัก ทั้งสองสามีภรรยา เช้าขึ้นมาก็ต้องออกไปทำงานปล่อยให้เขานอนเฝ้าบ้านอยู่คนเดียว นอกจากเวลาปิดเทอม หลานๆ ซึ่งเป็นลูกของพี่จึงจะอยู่ด้วย

วันหนึ่งหลานคนเล็กอยากได้นกกระดาษมาเล่น แกนั่งพับรูปนกอย่างไรๆ ก็พับไม่เป็นนกสักที จึงวิ่งไปขอให้พ่อช่วยพับให้ พ่อบอกว่าพ่อกำลังยุ่งให้แม่ทำให้ พอไปหาแม่ แม่ก็ไล่ไปให้พี่ๆ ทำให้

พวกพี่ๆ ก็สนใจทำงานของตน ไม่สนใจน้องคนเล็ก ไม่มีใครทำให้ หนูน้อยจึงร้องไห้ขี้มูกโป่งถือกระดาษเข้ามาหาคุณอาซึ่งนอนแบ็บอยู่บนเตียง

เห็นน้ำตาหลานน้อย คุณอาผู้พิการก็เกิดสงสารจับใจ จึงบอกว่าอาจะช่วยพับให้ แล้วก็ยื่นมืออันเคลื่อนไหวไม่ค่อยจะถนัดนั้น รับกระดาษจากมือหลานมาพับรูปนก

ตามข่าวว่า มืออีกข้างหนึ่งไม่รู้สึก และเคลื่อนไหวไม่ได้แล้ว มีมือข้างเดียวเท่านั้นที่เคลื่อนไหวได้ เขาก็ใช้มือข้างนั้นพับกระดาษกับปาก คือใช้ปากคาบแล้วใช้มือข้างที่ยังใช้ได้อยู่ช่วย หลังจากปล้ำอยู่ตั้งนาน เขาก็สามารถพับกระดาษเป็นรูปนกให้หลานน้อยได้

หลานน้อยได้นกกระดาษแล้ว ก็หายงอแง วิ่งตื๋อออกไปปล่อยนกบินอยู่ข้างนอก ด้วยความร่าเริงประสาเด็ก

จากนั้นมาเขาก็ต้องพับรูปนกบ้าง เรือบินบ้างให้หลานเล่นตลอด เมื่อพับบ่อยๆ นานๆ เข้า ก็เกิด "ทักษะ" คือความชำนาญขึ้น เขาก็มานั่งคิดว่า ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝนด้วยความพากเพียรอย่างต่อเนื่อง

พอดีเขาได้ทราบข่าวจากวิทยุเชิญชวนให้เขียนเรื่องสั้นประกวด เขาคิดว่า การนอนแบ็บอยู่กับที่ไม่คิดใช้สมองที่ยังใช้การได้อยู่ให้เกิดประโยชน์ มิใช่วิสัยของคนต่อสู้ชีวิต จึงตัดสินใจเขียนเรื่องสั้นส่งประกวด เขียนแล้วแก้ๆ อยู่หลายตลบกว่าจะตัดสินใจส่ง

ปรากฏว่าเรื่องสั้นเรื่องนั้น ชนะการประกวดรางวัลที่หนึ่งหรือสองอะไรนี่แหละ หลังจากนั้นเขาก็เขียนส่งไปตามนิตยสารต่างๆ ได้ค่าตอบแทนมากบ้างน้อยบ้าง จนเขาได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนคนหนึ่ง ผมก็ลืมไปแล้วว่าเขาคนนี้คือใคร และป่านนี้เขายังมีชีวิตอยู่หรือละโลกไปแล้วก็สุดจะรู้ได้ ที่นำเอาเรื่องนี้มาเขียนเล่าให้ผู้อ่านฟัง ก็เพื่อให้คติว่า ชีวิตเราเกิดมาแล้วต้องสู้จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ

คนที่เขามีวิญญาณแห่งนักต่อสู้ แม้ร่างกายจะไม่สมประกอบเขายังประสบความสำเร็จได้ เพราะความมีจิตใจมั่นคง ต่อสู้ไปจนถึงที่สุด

เราท่านที่มีอวัยวะครบ ๓๒ประการ จะท้อถอยทำไมเล่าครับ


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด




มีต่อ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 มกราคม 2560 18:54:56 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #33 เมื่อ: 09 มีนาคม 2560 16:56:01 »



รู้จักเอาประโยชน์

มีหลักนักการทูตอยู่ข้อหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้คือ การรู้จักเก็บเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายถึงว่าในการติดต่อเจรจากัน หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไรกันนั้น คำพูดของฝ่ายตรงข้าม อาจมีทั้งที่เป็นที่สบใจและไม่สบใจเรา ผู้เป็นนักการทูตที่ดีจะต้องพยายามหาเอาประโยชน์ให้ได้ แม้จากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลย

บางทีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ จำต้องอดทนต่อท่าทีอันเหยียดหยาม หรือวาจาที่ทิ่มแทง อันเป็นความไม่พอใจส่วนตัว แต่ถ้าการอดทนนั้นจะให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แก่ประเทศชาติส่วนรวมก็ต้องยอม

ไม่เช่นนั้นจะเป็นนักการทูตที่ดีไม่ได้ พ่อค้าที่ดีก็ไม่แตกต่างจากนักการทูตนัก

ผมเคยเห็นอาแปะเจ้าของร้านขายไตรจีวรที่ร้านแถวๆ เสาชิงช้า วัดสุทัศน์ ลูกค้าหรือผู้ไปซื้อผ้าไตรจีวรและบริขารสำหรับพระภิกษุ มีทั้งญาติโยมที่จะบวชพระและพระสงฆ์องค์เจ้า วันๆ อาแปะต้องต่อสู้กับความไม่พอใจส่วนตัวไม่น้อย

ลูกค้าที่จู้จี้ขี้บ่น ชอบติโน่นตินี่ รื้อกองผ้าไตรแล้วก็ไม่ซื้อ ถามราคาแล้วก็ร้องว่าแพง อะไรเหล่านี้ ไม่มีเฉพาะชาวบ้าน พระภิกษุบางรูปก็เอากะเขาเช่นกัน

วันหนึ่งผมมีธุระไปซื้อผ้าไตร จะมาบวชลูกชายตอนปิดเทอม หลังจากเกลี้ยกล่อมให้ลูกชายยินยอมบวชสักสองอาทิตย์ ก็รีบไปที่ร้านแถวเสาชิงช้าดังกล่าว เจรจาซื้อผ้าไตรและบริขารเครื่องใช้สำหรับสามเณร ในร้านมีพระสองสามรูปอยู่ก่อนแล้ว

พระที่อายุมากกว่าองค์อื่นรูปร่างใหญ่ เสียงดังพูดไปบ่นไป ใช้คำแรงๆ กับอาแปะเจ้าของร้าน ขนาดผมไม่ใช่คนขายฟังแล้วยังรู้สึกถ้าเป็นเจ้าของร้านผมนิมนต์ท่านออกจากร้านไปแล้ว อาแปะหายเข้าไปในร้านสักพักหนึ่ง เดินออกมาพร้อมกาน้ำชาและถ้วยชา

"ใจเย็งๆ หลวงพ่อ เจี๊ยะเต๊ก่อง" ว่าแล้วก็รินน้ำชาใส่ถ้วยยื่นให้ หลังจากฉันชาไปสองถ้วย เห็นอาแปะนั่งฟังคำดุด่าของตนอย่างใจเย็น พระคุณเจ้าผู้มีปากคมดุจมีดโกนรูปนี้ก็เสียงอ่อนลง พูดคุยกับอาแปะด้วยอารมณ์ดีขึ้น

ตกลงวันนั้นอาแปะแกขายผ้าไตรให้แก่พระคุณเจ้านั้น หลายชุด

ผมเห็นแล้วก็มาได้คิดว่าอาแปะแกหวังผลประโยชน์ คือ การขายผ้าไตร ขอให้ขายได้ ไม่ว่าจะผ่านอุปสรรคนานาประการเพียงใดก็ตาม ผู้ซื้อจะต่อแหลกต่อไปด่าไป หรือจะรื้อจะค้น จนสินค้ายับเยินก็ปล่อยให้ทำไปด้วยใจเย็น

ขณะเดียวกันก็หาวิธีดับความร้อนของลูกค้าไปด้วย เช่นใช้คำพูดที่รื่นหู หาน้ำหาท่ามาให้ดื่ม ในที่สุดก็ผูกมัดจิตใจลูกค้าไว้ได้ ก้าวเข้าร้านมาแล้วไม่มีกลับออกไปมือเปล่า ว่างั้นเถอะ

ริจะทำมาค้าขายก็ต้องฝึก "ยุทธวิธี" นี้ให้ได้ คือยอมอดยอมทนต่อกิริยาอาการ หรือวาจาของลูกค้าให้ได้ และรู้จักวิธีประโลมให้จิตใจลูกค้าเย็นลง หรือใจอ่อนลงให้ได้

อย่าเอาอย่างแม่ค้าแถว...(ไม่เอ่ยละขอรับ) พอเราจับสินค้าดูเท่านั้นก็แว้ดเอา "จับแล้วต้องซื้อนะ ไม่อย่างนั้นละก็น่าดู"



พระพุทธเจ้ากับเพลง

คงจำได้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์สันติอโศกนั้น อดีตพ่อท่าน อดีตสมณพราหมณ์ ปัจจุบัน "นาย" รัก รักพงษ์ ประกาศว่า ได้แต่งเพลงไว้เพลงหนึ่งชื่อ "คนหยามฟ้าไม่หยาม" และบอกว่า กำลังรับสมัครนักร้องมาร้องเพลงดังกล่าวอยู่

ขณะนั้นพระคุณเจ้ารูปหนึ่งคือ พระมหาสมุทร เลขานุการเจ้าคณะภาค 4 สังกัดวัดสุทัศนเทพวราราม ใกล้ๆ เสาชิงช้า ประกาศออกมาบ้างว่าท่านเองก็แต่งเพลงหนึ่งโต้ตอบเพลงของโพธิรักษ์ ดูเหมือนจะตั้งชื่อว่า คนดีฟ้าไม่หยาม หรืออะไรทำนองนั้นแหละ ต้องขออภัยหลวงพ่อสุนทร ผมมันคนความจำเสื่อม จำอะไรไม่ค่อยแม่น

มีคนถามผมว่า พระแต่งเพลงโต้ตอบกันได้หรือ ผมย้อนแกว่า อ้าว ทำไมล่ะ มีปัญหาอะไรหรือ มีสิ แกบอก มีศีลห้ามไว้มิใช่หรือว่า ห้ามพระเกี่ยวข้องกับเพลงดนตรีอะไรเหล่านี้ ครับเมื่ออ้างหลักฐานก็ต้องยกมาให้ดูกัน เพื่อหายสงสัย

ศีลข้อ 7 มีว่า "นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมณีสิกขาปะทังสะมาทิยามิ" (เราขอสมาทานสิกขาบทคือการงดเว้นจาก ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นต่างๆ)

ถ้าดูตามนี้ห้ามพระ (หรือคนที่ถือศีล 8) เกี่ยวข้องกับเพลงจริง แต่เกี่ยวข้องในฐานเป็นคนร้องเอง เพียงนึกสนุกจะแต่งเพลงธรรมะสักเพลงสองเพลงก็ไม่น่าจะผิดอะไร

เชื่อไหม พระพุทธเจ้าพระองค์ยังทรงเคยแต่งเพลงโต้ตอบกันมาแล้ว "ไม่เชื่อ" เสียงใครไม่รู้สวนทันที เอ้า ไม่เชื่อ ผมจะเล่าให้ฟัง

ณ ลุ่มแม่น้ำคงคา มีมนุษย์เผ่านาคาอาศัยอยู่ ราชาของพวกนาคาได้แต่งเพลงปริศนาให้ธิดาของตนขับร้อง ล่องเรือไปตามลำน้ำ ร้องท้าทายให้คนตอบดูเหมือนประกาศด้วยว่า ถ้าหนุ่มคนใดแต่งเพลงโต้ตอบที่ไพเราะพอๆ กันและไขปริศนานั้นได้ถูกต้อง ราชาพวกนาคจะยกธิดาให้เป็นคู่ครอง

เหตุการณ์ผ่านไปเป็นเดือนเป็นปี ไม่มีหนุ่มหน้าไหนแต่งเพลงแก้ได้ เพลงที่ธิดานาคราชขับร้องนั้นมีใจความสั้นๆ ว่า

กิงสุ อะธิปะติ ราชา  เป็นใหญ่ชนิดไหนจึงชื่อว่าพระราชา

กิงสุ ราชา ระชัสสิโร  พระราชาชนิดไหนที่พระเศียรเปื้อนฝุ่น

กะถังสุ วิระโช โหติ   พระราชาชนิดไหนไม่เปื้อนฝุ่น

กะถัง พาโลติ วุจจะติ   คนชนิดไหนเรียกว่าคนพาล

เกนัสสุ วุยหะติ พาโล   คนพาลถูกกระแสน้ำชนิดไหนพัดไป

กะถัง นุทะติ ปัณฑิโต   บัณฑิตจะบรรเทาเบาบาง

โยคักเขมี กะถัง โหติ   แก้ไขตนให้ปลอดภัยได้อย่างไร

ตัง เม อักขาหิ ปัณฑิโต   ใครที่คิดว่าเก่งช่วยตอบฉันที

นักเพลงฉ่อย เพลงบอก นักกลอนประตูหน้าต่างสารพัดประเภท ทั้งหนุ่มและแก่ เห็นธิดานาคราชสวยหยดย้อยหยาดเยิ้ม ก็อยากจะได้มาครอบครองบ้าง จึงแต่งเพลงแก้ไปตามสติปัญญาของตน แต่ก็ถูกเธอปฏิเสธหมดว่าใช้ไม่ได้

เสียดายว่าท่านพี่โพธิรักษ์เกิดไม่ทัน ไม่งั้นคงได้แต่งเพลงแก้ได้แน่ๆ "สีปาก" ระดับผู้แต่งเพลง "ผู้แพ้" อันฮิตติดอันดับและเพลง "โทน" อันลือลั่นมาแล้วคงรับประกันคุณภาพได้ (ส่วนธิดานาคราช ถ้าท่านพี่ไม่รับ จะเอามาให้น้องชายแทนก็ไม่ว่ากระไร ฮิฮิ)

ช่วงเวลานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปทางนั้น พอดี ทรงแต่งเพลงแก้มอบให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งไป ขับตอบ ปรากฏว่าเป็นที่พออกพอใจของราชาพวกนาคและธิดาของท้าวเธอเป็นอย่างมาก จนกลาย เป็น "ฮู๊เบ๊" (พระราชบุตรเขย) ในที่สุด โชคดีอะไรเช่นนั้น

เพลงพระพุทธเจ้านิพนธ์บทนั้นมีว่า

ฉัทวาราธิปะดี ราชา เป็นใหญ่เหนือทวารทั้งหกเรียกว่าพระราชา

ระชะมาโน ระชัสสิโร พระราชาที่มากราคะชื่อว่ามีพระเศียรเปื้อนฝุ่น

อะระชัง วิระโช โหติ พระราชาที่ไม่มากราคะชื่อว่าไม่เปื้อนฝุ่น

ระชัง พาโลติ วุจจะติ คนที่มากราคะเรียกว่า คนพาล

โอเฆนะ วุยหะตี พาโล คนพาลถูกกระแสกิเลสพัดไป

โยคา นุทะติ ปัณฑิโต บัณฑิตบรรเทากิเลสได้ด้วยความพากเพียร

สัพพะโยคะวิสังยุตโต แก้ไขตนให้พ้นกิเลส รึงรัดใจทุกชนิด

โยคักเขมีติ วุจจะติ จึงนับว่าทำตนให้ปลอดภัยได้จริง

หลักฐานพระไตรปิฎกหลายแห่งพูดถึงพระพุทธองค์ทรงแต่งกวีโต้ตอบบุคคลต่างๆ (ดังกวีโต้ตอบคนเลี้ยงโคชื่อธนิยะ เป็นต้น) จะว่าไปแล้วก็คือบทเพลงนั่นเอง เรื่องเหล่านี้พระพุทธองค์ทรงกระทำบ่อยๆ เพราะเป็นวิธีการชักจูงคนเข้าหาธรรมะที่ดีวิธีหนึ่ง ถ้าศิษย์ตถาคตบางรูปจะแต่งเพลงธรรมะขึ้นมาบ้างก็ไม่ควรไปว่าท่าน

เออ ถ้าอยู่ๆ หลวงพี่แกเกิดมันในอารมณ์ฮัมออกมาว่า "อ่อนซ้อมไปหน่อย น้องน้อยพี่จึงเปลี่ยนไป..." อะไรอย่างนี้แล้วค่อยว่ากัน



อันเนื่องมาแต่เรื่อง นครโสเภณี

เขียนเรื่องโสเภณีไปเมื่ออาทิตย์ก่อน ไม่นึกว่าจะได้รับการขานรับจากท่านผู้อ่านมากมายขนาดนี้ ขอขอบคุณที่กรุณาให้ความรู้เป็นวิทยาทานครับ

คุณโอบ สมิต เล่าให้ฟังว่า "คุณได้เขียนถึงคำว่า กะหรี่ ไม่รู้ว่าคำนี้จะมาเกี่ยวพวกนี้อย่างไรนั้น ผมเองพอจะรู้เรื่องของคำคำนี้มา จึงขอเอาความรู้นี้มาบอกให้รู้อีกด้วย ดังนี้

คำคำนี้ เป็นคำที่ได้หดสั้นลงจาก คำว่า ช็อกการี นั่นเอง เมื่อสมัยก่อนๆ นั้น คุณเธอพวกนี้ได้ถูกเรียกขานว่า ช็อกการี กันโดยทั่วๆ ไป เมื่อสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า โสเภณี คำนี้ใช้เลย เพิ่งมากำหนดขึ้นในภายหลังของ คำว่า ช็อกการี คำนี้นานทีเดียว จำไม่ได้ว่าได้กำหนดขึ้นมาเมื่อใด คำว่า ช็อกการี คำนี้ ได้รู้มาว่าเป็นคำในภาษาแขกพวกหนึ่ง ที่อยู่ในประเทศอินเดีย ที่มีความหมายว่า ผู้หญิงที่ไว้ผมยาว เท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับคุณเธอพวกนี้แต่อย่างใดอีกด้วย แต่ทำไมจึงได้มาเป็นคำที่ใช้เรียก คุณเธอพวกนี้ก็ไม่รู้อีกด้วย สมัยนั้นๆ ก็ประมาณๆ ได้ว่าแถวๆ พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๖๐ เห็นจะได้ ต่อๆ มาจึงได้หดเหลือแต่คำว่า กาหรี่ หรือ กะหรี่ เท่านั้นเอง ตามที่ได้รู้กันในขณะนี้นั้น เพราะคนไทยเรานี้มักจะชอบหดคำต่างๆ ที่มีหลายพยางค์ลงให้สั้นเข้า เช่น คำว่า มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และคำอื่นๆ อีกมากมาย ก็ได้หดลงเป็น มหา-ลัย โรง-บาล และคำอื่นๆ อีกหลายคำนั้นด้วย"

อีกฉบับหนึ่งจาก "ภาวนา-วัตร" เล่าให้ฟังตามประสาผู้อาวุโสผู้มีประสบการณ์ว่า

"คุณจดคำศัพท์คำว่า กะหรี่ หรือ คุณเกิดไม่ทันจะไปรู้ได้อย่างไร สำนวนไทยก็ไม่มีใครเขียนเป็นตำราไทยด้วย วันนี้ขออนุญาตเป็นครู ป.ธ.๙ สักหน่อยฮิๆ หวังว่าคงไม่รังเกียจนะ เรานักศึกษาด้วยกัน

ศัพท์นี้ เขาใช้กันมานานแล้ว ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ โน่น เมื่อผมรุ่นหนุ่มราว พ.ศ.๒๔๗๐ (ขอเอาอายุข่มอีกหน่อย) เดี๋ยวนี้ผมอายุ ๗๕ ปี อวัยวะเพศของผู้หญิงเขาเรียกว่า หม้อ ถ้าจะไปเที่ยวสังวาสผู้หญิงโสเภณี เขาเรียกว่า ตีหม้อ ต่อมามีอีกศัพท์หนึ่งว่า ช็อกกะหรี่ หมายเอาตัวโสเภณี มิได้หมายเอาอวัยวะเพศอย่างคำว่า หม้อนางนี่เป็น ช็อกกะรี ก็หมายเอาว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นหญิงหากิน ศัพท์สองศัพท์นี้หายไปพร้อมสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วได้มีศัพท์คำว่า กะหรี่ เข้ามาแทนที่"

มีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกนางนครโสเภณีคือ คณิกา มาจากคำว่า "คณะ" (ซึ่งแปลว่า คณะ, พวก) คณิกา ก็ต้องแปลว่า ผู้หากินเป็นคณะเป็นพวก แสดงว่ามาถึงระยะนี้คุณเธอเหล่านี้ได้ "ตั้งสำนัก" หากินอย่างเป็นล่ำเป็นสันอย่างที่สมัยนี้เรียกว่า "ซ่อง" นั่นแล

เมื่อมีสำนัก ก็คงต้องมีเจ้าสำนักหรือ ผู้คุมสำนักเป็นธรรมดา ร่วมมือกันหากินจนร่ำรวย คนที่รวยกว่าใครก็เห็นจะเป็น เจ้าสำนัก หรือคุณแม่นั่นเอง

คุณแม่บางคนแก่เฒ่ามา นึกถึงบาปบุญคุณโทษ เจียดเงินที่ได้จากการขายเนื้อสด มาสร้างวัดวาอารามก็มี อย่างกรณียายแฟง แกนำเงินจาก "มังสพาณิชย์" (ก็ขายเนื้อนั่นแหละ) มาสร้าง วัดคณิกาผล สวยสดงดงาม

แกนิมนต์สมเด็จโตมาเทศน์ฉลอง สมเด็จ ท่านบอกยายแฟงว่า ถึงแกจะสร้างวัดใหญ่โตแกก็ได้บุญไม่เท่าไหร่หรอก เพราะเงินที่นำมาสร้างมิใช่ได้จากหยาดเหงื่อแรงกายของแก คนที่ควรได้บุญมากกว่าใครก็คือคุณเธอลูกๆ ของยายต่างหาก ว่ากันว่ายายแฟงแกโกรธสมเด็จ เสียไม่มีดี ต่อมาเมื่อนั่งคิดนอนคิดถึงเหตุผลแล้วจึงเห็นด้วยกับสมเด็จ

เชื้อสายของยายแฟงปัจจุบันนี้ยังมีอยู่และเป็นใหญ่เป็นโตก็หลายคน เอ่ยชื่อขึ้นมาคงรู้จักกันทั่วเมือง

อีกชื่อหนึ่งที่รู้กันแพร่หลายไม่แพ้สองชื่อข้างต้นคือ เวสิยา ท่านอธิบายความหมายไว้ ๓ นัย คือ (๑) หญิงผู้สวยงาม (๒) หญิงผู้ซึ่งบุรุษจะพึงไปหา และ (๓) หญิงผู้อยู่ตามตรอก

สองความหมายแรกชัดเจนอยู่แล้ว แต่ความหมายหลังอาจตีความได้สองอย่าง คือ สำนักของพวกเธออยู่ตามตรอกหรือตามซอยอันเป็นทำเลที่เหมาะ (ดังเช่นแถวๆ บางขุนพรหม เป็นต้น) นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งอาจหมายถึงว่า คุณเธอเหล่านี้ได้ตกต่ำถึงขนาดแล้ว ไม่ได้หากินอยู่ตามตึกรามบ้านช่อง แต่เร่ดักเหยื่ออยู่ตามตรอกตามซอย ประเภท "ไก่หลง" อะไรทำนองนั้น

คำว่า "เวสิยา" คนไทยเรียกเพี้ยนเป็น แพศยา ดูจะเป็นชื่อเรียกด้วยความเหยียดหยามมากกว่ายกย่อง ยุคสมัยที่เกิดชื่อนี้ขึ้นมา พวกเธอคงไม่ได้รับการยกย่องหรือยอมรับจากสังคมอีกต่อไปแล้ว

ส่วนคำว่า กะหรี่ ที่เป็นชื่อผงแกงเผ็ด กลายมาเป็นชื่อหนึ่งของหญิงโสเภณีได้อย่างไร ผมมองไม่ออก และอ่านไม่พบที่ไปที่มา เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่า กะหรี่ คำนี้เป็นภาษามลายู แปลว่า หม้อ

ก็ยิ่งมองไม่เห็นทางว่าไอ้หม้อนี่มันมาเกี่ยวข้องกับคุณเธอพวกนี้อย่างไร



ขี้เหร่เสนห์แรง

ชื่อเรื่องเหมือนกับละครโทรทัศน์แน่ะครับ

คุณกมล นันทกมล แฟนเก่า (แต่ไม่แก่) ที่เคยถามความเป็นมาของคำว่า "กะหรี่" คราวนี้ถามอีกว่า เคยได้อ่านหนังสืออะไรนานมาแล้วว่านางอะไรก็จำไม่ได้เป็นนางบริการได้ช่วยเหลือกษัตริย์อะไรก็จำไม่ได้อีก กษัตริย์ตรัสว่าจะนำเข้าวังเป็นมเหสี ในที่สุดก็ต้องทำตามสัญญา เพราะกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ช่วยไปค้นมาเล่าให้ฟังทีเถอะ ว่าอย่างนั้น ผมสอบตกอีกตามเคย นึกไม่ออกว่าเรื่องอะไร (แหม ยังกับผมอ่านมากนักนี่ เดี๋ยวนี้ไม่มีเวลาอ่านหนังสือเลย แค่มั่วต้นฉบับส่งโรงพิมพ์ก็จะบ้าตายอยู่แล้ว) ขณะนี้นึกได้เรื่องเดียว คล้ายกันนี้คือ เรื่อง "นางขี้เหร่เสน่ห์แรง" เล่าซะเลย

นานมาแล้ว (นานแค่ไหนข้อยก็บ่ฮู้ ข่อยบ่มี "ญาณ" เหมือนบางคนนี่ครับ) มีเด็กหญิงลูกคนจนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ นอกเมืองพาราณสี (นิทานทุกเรื่องเกิดที่เมืองนี้ทั้งนั้นแหละ) วันหนึ่งขณะที่นางขยำดินเหนียวเพื่อฉาบทาฝาเรือน พระปัจเจกพุทธองค์หนึ่งมายืนอุ้มบาตรสงบนิ่งอยู่หน้าบ้าน เพื่อบิณฑบาต เอาดินไปฉาบทาผนังถ้ำที่อยู่ของท่าน

นางเห็นเช่นนั้น ก็ตีหน้ายักษ์ใส่ พูดประชดว่า "อยากได้ดินเหรอ เอ้าเอาไป" โกยดินเหนียวก้อนใหญ่โยนตุ๊บลงในบาตร

นางตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดเป็นลูกสาวคนยากจนในเมืองพาราณสี จนไม่จนเปล่า แถมขี้ริ้วดูไม่ได้อีก มือ เท้า ปาก จมูก ตา พิกลพิการน่าเกลียดจนได้สมญาว่า

"ปัญจปาปา" (ขี้เหร่ห้าแห่งหรือมีปมด้อยห้าแห่ง) นี่เป็นผลของการทำหน้าเบี้ยวหน้าบูดใส่พระใส่เจ้า พระปัจเจกพุทธเสียด้วยสิ

แต่ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายดินเหนียวที่ขยำละเอียดแล้วแก่พระปัจเจกพุทธ อีนางขี้เหร่คนนี้มีสัมผัสอันเป็นทิพย์ ใครได้ถูกต้องตัวนางจะซาบซ่านไปถึงทรวง เกิดความลุ่มหลงในสัมผัสอันนุ่มนวลนั้นทุกคน

วันหนึ่งนางกำลังเล่นซ่อนหาอยู่กับพวกเด็กๆ ชาวบ้านวิ่งไปถูกตัวพระราชาเมืองพาราณสีที่ปลอมตัวออกมาดูสารทุกข์สุกดิบของชาวเมือง และบังเอิญมาถึงที่นั่นพอดี พระเจ้าพาราณสีถึงกับตะลึงงันดังต้องมนต์ ตามไปขอพ่อแม่เธอทันที

พ่อแม่นางนึกว่าชาตินี้ลูกสาวคงหาสามีไม่ได้แล้ว พอมีหนุ่มรูปหล่อมาสู่ขอก็ยินดียกให้ทันที ดีใจยังกับถูกลอตเตอรี่ของรัฐบาลน้าชาติก็มิปาน

ทุกคืนพระราชาก็จะปลีกพระองค์ออกมาอยู่กับนางที่กระท่อมนอกเมือง พอจวนสว่างก็เสด็จกลับเข้าวัง พ่อตาแม่ยายไม่รู้ว่าลูกเขยรูปหล่อเป็นลูกเต้าเหล่าใคร

ปัญจปาปาเองก็ไม่รู้ ถามก็ไม่ยอมบอก บอกแต่เพียงว่าบ้านอยู่ในเมือง สักวันหนึ่งเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วจะรับนางและพ่อแม่ไปอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องเทียวไล้เทียวขื่ออย่างนี้อีกต่อไป

วันหนึ่งพ่อตาป่วยหนัก จะต้องกินข้าวมธุปายาสอย่างดี อาการป่วยจึงจะหาย ครอบครัวยากจนอย่างนั้นจะมีปัญญาที่ไหนซื้อข้าวมธุปายาส เมื่อพระราชาทรงรู้เรื่อง จึงรับอาสาไปเอาข้าวมธุปายาสมาสองหม้อ พ่อตากินข้าวมธุปายาสแล้วอาการป่วยก็หายขาด

หายป่วยไม่ทันไรก็โดนตำรวจจับทั้งครอบครัวในข้อหาว่าขโมยพระจุฑามณี (ปิ่น) ของพระราชา (ก็ลูกเขยที่ "มากับความมืด" เป็นคนแอบใส่จุฑามณีไว้ในหม้อข้าวมธุปายาสนี่เองครับ) นางปัญจปาปาให้การต่อเจ้าหน้าที่ว่า พ่อนางไม่ได้ขโมย ปิ่นนี้สามีนางเป็นคนเอามา

"สามีเธออยู่ที่ไหน" เจ้าหน้าที่ซัก

"ไม่รู้ เขามาอยู่กับฉันตอนกลางคืน เช้ามืดเขาก็ไป" นางบอก "แต่ถ้าฉันได้จับมือเขาแล้วฉันบอกได้"

และแล้วรายการ "จับมือหาขโมย" ก็เริ่มขึ้น พระราชารับสั่งให้เกณฑ์ชายหนุ่มชายแก่ทั่วทั้งเมืองมานั่งในม่าน เจาะรูพอสอดมือออกมาได้ ให้นางจับ นางจับมือคนแล้วคนเล่าปฏิเสธว่าไม่ใช่สามีนาง (คนที่ถูกสัมผัสมือแล้วต่างลุ่มหลงในสัมผัสนั้นไม่ยอมหนีไปไหน จนเจ้าหน้าที่ต้องไล่กันอลหม่าน)

พระราชารับสั่งว่า "อาจเป็นฉันก็ได้มั้ง" แล้วยื่นพระหัตถ์ออกมาที่ช่องนั้น นางจับพระหัตถ์ได้ก็ร้องเสียงดัง "จับได้แล้ว นี่ไงสามีฉันละ"

ครับ ท้ายที่สุดอีนางขี้เหร่เสน่ห์แรงก็ได้เข้ามาอยู่ในพระราชวังในตำแหน่งอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี เรื่องยังกับนิยายแน่ะ (ก็มันนิยายจริงๆ นี่ครับ)

แต่ที่มิใช่นิยายก็คือ ถ้าใครอยากหล่ออยากสวย เวลาทำบุญ ทำทานจงทำด้วยจิตใจเลื่อมใสศรัทธา ยิ้มแย้มแจ่มใส ทั้งก่อน ให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว

นี่ไม่ได้พูดเล่น มีพุทธวจนะตรัสไว้จริงๆ



สูตรลดความอ้วนของพระพุทธเจ้า

ความจริงเรื่องอย่างนี้ไม่อยู่ในความสนใจของผมผู้เขียน เพราะตัวเองไม่มีปัญหาเรื่องความอ้วน ถ้าจะมีคงเป็นปัญหาเรื่องความไม่อ้วนมากกว่า เพราะไม่ว่าจะพยายามอยู่ดีกินดีอย่างไร น้ำหนักก็ไม่เคยเกินห้าสิบสามกิโลกรัม

เห็นเพื่อนๆ เขาไว้พุงพลุ้ยแล้วอิจฉาชะมัด

แต่คนที่เขาอ้วน เขากลับไม่ชอบ หมอบอกว่าความอ้วนเป็นโรคอย่างหนึ่งเรียกว่า โรคอ้วน แล้วก็เป็นทางมาของโรคอื่นๆ ที่จะแทรกซ้อนมากับความอ้วนนั้นอีกมากมาย โรคอะไรบ้างจำไม่ได้ สรุปแล้วคนอ้วนไม่ชอบความอ้วนของตน จึงหาทางลดความอ้วนโดยวิธีการต่างๆ กินยาบ้าง ฉีดยาบ้าง ออกกำลังกายบ้าง แล้วแต่จะหาวิธีไหนได้ผล

บังเอิญคนไม่อ้วน (ก็ผอมนั่นแหละ) อย่างผม ไปอ่านเจอสูตรลดความอ้วนของพระพุทธ เจ้าเข้าเลย นึกถึงเพื่อนๆ ที่กำลังอยากรักษาโรคอ้วนจึงขอนำมาฝาก

สูตรนี้มีคนทดลองได้ผลชะงัดมาแล้ว ไม่เพียงทฤษฎีเฉยๆ คนอ้วนพุงพลุ้ยที่กลายมาเป็นคนหุ่นสเลนเดอร์คนนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน พระเจ้าปเสนทิโกศล พระญาติสนิททั้งทางธรรมและทางสายโลหิตของพระพุทธองค์นั่นเอง

เห็นจะต้องแวะพักข้างทาง เล่าตรงนี้สักหน่อย ตามสไตล์ของนาย ไต้ ตามทาง (ไม่งั้นจะชื่อ "ตามทาง" เรอะ)

ความจริงพระมหากษัตริย์พระองค์นี้เป็นมหาราชปกครองเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เป็นเจ้านายของพวกศากยะ (แคว้นศากยะอยู่ในฐานะเป็นคล้ายๆ ประเทศราชของแคว้นโกศล อะไรทำนองนั้นแหละครับ) เมื่อเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ ชื่อ สิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ศัพท์เทคนิคทางศาสนาพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือออกบวช) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้วว่างั้นเถอะ ใครๆ ก็อยากมอบกายถวายตัวเป็นสาวก

กษัตริย์หนุ่มแห่งมครัฐ ชื่อ พิมพิสาร เป็นพระองค์แรกที่ถวายตัวเป็นสาวกของพระองค์ ทรงสร้างวัดถวาย (วัดพระเวฬุวัน) และถวายความอุปถัมภ์พระพุทธองค์ และพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวมอย่างแข็งขัน จนเมืองราชคฤห์ได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมาไม่ช้าไม่นาน

พระเจ้าปเสนทิโกศลเองก็อยากจะเป็นเช่นนั้นบ้าง คอยหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา บังเอิญโชคช่วย สุทัตตเศรษฐี (ต่อมาเรียกว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี) ไปอาราธนาพระพุทธองค์มาโปรดเมืองสาวัตถี โดยได้สร้างวัดพระเชตวันถวาย พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เลยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฟังธรรมและถวายตนเป็นสาวกของพระองค์ในเวลาต่อมา

เมื่อได้ใกล้ชิดพระองค์ในทางธรรมอย่างนี้แล้ว นึกอยากจะ "เป็นญาติทางสายเลือด" กับพระองค์บ้าง จึงขอนางกษัตริย์จากศากยวงศ์มาอภิเษกเป็นอัครมเหสี (บังเอิญถูกพวกศากยะ "ย้อมแมวขาย" คือ ส่งลูกสาวเจ้าศากยะเกิดจากนางทาสีมาให้ พอรู้ความจริงปเสนทิโกศลร่ำๆ จะยกทัพไปขยี้พวกศากยะ พอดีพระพุทธองค์เสด็จมาเทศน์โปรดเลยรอดตัวไป พวกศากยะนะสิครับรอดตัวไป) นี่แหละครับที่ผมว่าปเสนทิโกศล ได้เป็นทั้งญาติทางธรรมและญาติทางสายโลหิตกับพระพุทธองค์

พระราชาพระองค์นี้ทรงมีพระวรกายตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยแต่ทรงพระเยาว์แล้ว ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น สาเหตุแห่งความอ้วนก็มิใช่อะไร "อติพหุโภชน์" นั่นแหละครับ (แปลว่า การ เจี๊ยะมาก) วันหนึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินอุ้ยอ้ายๆ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงทักว่า

"มหาบพิตร ทรงมีอาการเหน็ดเหนื่อยเหมือนวิ่งมาจากทางไกล"

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า หามิได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะอ้วนมากเกินไปนั่นเอง ถึงเดินมาเฉยๆ ก็เหนื่อยใจแทบขาดยังกับวิ่งมาราธอนก็มิปาน

"อยากลดความอ้วนไหม มหาบพิตร" พระพุทธองค์ตรัสถาม

"อยาก พระเจ้าข้า"

"ถ้าอย่างนั้น ทุกครั้งที่พระองค์เสวยพระกระยาหาร ให้ใครสักคนสวดคาถานี้ให้ฟัง ความอ้วนจะค่อยลดลงอย่างน่าอัศจรรย์" แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสบอกคาถาให้ว่า

มะนุชัสสะ สะทา สะตีมะโต มัตตัง ชานะโต ลัทธะโภชะเน

ตะนุกัสสะ ภะวันติ เวทะนา สะณิกัง ชีระติ อายุ ปาละยัง

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้อุตตรมาณพ นายทหารคนสนิท ท่องคาถานั้นทุกครั้งที่พระองค์เสวยพระกระยาหาร อุตตระก็ท่องคาถาออกมาดังๆ



ตาบอดคลำช้าง

วันนี้อยากเล่านิทานชาดกสักเรื่อง ก็เรื่องเก่าๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว แต่สาระของนิทานไม่รู้จักเก่า ไปด้วย

เรื่องนั้นชื่อเรื่อง "ตาบอดคลำช้าง" ครับ

เรื่องตาบอดคลำช้างนี้ มีอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๓๖ ภายใต้หัวเรื่องว่า "กิรสูตร ว่าด้วยความเห็นแย้งกัน"

สำนวนแปลภาษาไทยท่านใช้ภาษาเก่า ติดจะแก่วัดไปหน่อย แต่ก็พออ่านเข้าใจ ผมขอเรียบเรียงใหม่ให้ฟังง่ายขึ้นดังนี้ครับ

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมือง สาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล ได้รับ คำบอกเล่าจากเหล่าสาวกว่า ในเมืองสาวัตถีมีสมณพราหมณ์และปริพาชกมากมาย ต่างคนต่างเชื่อ ต่างความเห็น แต่ละฝ่ายก็ยึดทฤษฎีของตนว่าถูกต้อง ดูถูกเหยียดหยามกัน ทำให้ประชาชนลังเลสงสัยว่าจะเชื่อใครดี ใครผิดใครถูก

แทนที่จะชี้ว่าฝ่ายไหนผิด ฝ่ายไหนถูก พระพุทธองค์ได้ชักนิทานมาเล่าให้สาวกฟัง

นานมาแล้ว ในเมืองสาวัตถีนี่แหละมี พระราชาองค์หนึ่ง รับสั่งให้ประชุมคนตาบอดแต่กำเนิดทั่วประเทศ ท่านไม่ได้บอกว่าเกณฑ์คนตาบอดมาได้มากน้อยแค่ไหนแต่เชื่อว่าคงจำนวนมากพอดูแหละครับ

เมื่อคนตาบอดมากันพร้อมแล้ว พระราชาจึงให้แบ่งออกเป็น ๘ พวก ให้นำช้างมาให้พวกเขาคลำดูพวกละแห่ง คือ ศีรษะบ้าง งวงบ้าง ตลอดจนปลายหาง ตามลำดับ

เสร็จแล้วตรัสถามว่า ช้างมีลักษณะเป็นอย่างไร

พวกที่คลำศีรษะก็กราบทูลว่า "ช้างเหมือนหม้อน้ำพ่ะย่ะค่ะ"

พวกที่คลำหูกราบทูลว่า "เหมือนกระด้ง พ่ะย่ะค่ะ"

"สองพวกนั้นผิด พ่ะย่ะค่ะ ช้างไม่ได้เหมือนอย่างที่ว่าเลย มันเหมือนผาลไถต่างหาก" พวกที่คลำงากราบทูล

พวกที่คลำงวงกราบทูลว่า "เหมือนงอนไถ"

พวกที่คลำลำตัวกราบทูลว่า "เหมือนฉางข้าว"

"เหมือนเสาเรือน" อีกพวกที่คลำเท้าพญาคชสารตอบ

"ไม่จริง เหมือนครกตำข้าวต่างหาก" อีกฝ่ายที่คลำหลังแย้ง

"เหมือนสากต่างหาก" พวกที่คลำโคลนหางโต้

"ขอเดชะ พวกที่กราบทูลมาตั้งแต่ต้น ล้วนไม่รู้จักช้าง ข้าพระพุทธเจ้ารู้จักดี ช้างเหมือนไม้กวาดไม่ผิดเพี้ยน พ่ะย่ะค่ะ" พวกสุดท้ายที่คลำปลายหางกราบทูลด้วยความมั่นใจ

คลำช้างตัวเดียวกัน แต่เห็นไม่เหมือนกันเลย ต่างฝ่ายต่างเถียงกันว่าตนถูก จนเกิดวิวาทกันต่อหน้าพระที่นั่ง "ช้างเป็นเช่นนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น (โว้ย)"

พระราชาพระองค์นั้น ทรงพระสรวลกั๊กๆ ด้วยความสำราญพระราชหฤทัย

เล่านิทานเสร็จ พระพุทธองค์ก็ตรัส สรุปว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก (หมายถึง พวกนับถือลัทธิศาสนาอื่น) เหมือนคนตาบอด ไม่รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ อะไรมิใช่ประโยชน์ อะไรคือธรรม อะไรมิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้ก็ทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก"

"คนที่มองอะไรมุมเดียวแล้วยึดติดอยู่ ในแง่มุมที่ตนมองเห็นนั้น ไม่แคล้วต้องวิวาทกัน"

นิทานเรื่องนี้ไม่สรุป มันก็สรุปอยู่ในตัวแล้วมิใช่หรือครับ

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #34 เมื่อ: 09 มีนาคม 2560 17:03:59 »



ค่านิยมเก่า

อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน เจอข่าวสะเทือนใจทุกวัน (ไม่อ่านก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะก้าวไม่ทันโลก) วันนี้มีข่าวสาวโสดอายุสามสิบกว่า (สามสิบกับอีกเท่าไรก็จำไม่ได้) ฆ่าตัวตาย อ่านแล้วก็สะท้อน

สาเหตุมาจากพ่อของสาวดังกล่าวบอกให้พิจารณาตัว ที่อายุป่านนี้แล้วยังไม่ได้แต่งงาน หรือถ้าจะพูดภาษาตลาดก็ว่า "ยังหาผัวไม่ได้" สาวเจ้าเกิดน้อยใจ เลยพิจารณาตัวจริงๆ ผลการพิจารณาออกมาว่า ตายเสียดีกว่า "นี่คือทางออกที่ดีที่สุดแล้ว" เธอว่าอย่างนั้น

ผมไม่เข้าใจว่า คุณพ่อของสาวที่เป็นข่าว เขาถือเป็นความเสียหายอะไรนักหนากับการที่ลูกสาวอยู่มาจนอายุเลยเลขสามสิบแล้วไม่แต่งงาน หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า การที่ผู้หญิงอยู่เป็นโสดไม่ยอมแต่งงานเป็นความเสียหายอะไร หรือน่าอับอายอะไรนักหนา

ค่านิยมเก่าๆ ที่ว่า สามีเป็นศรีสง่าของภริยานั้น น่าจะเลิกได้แล้ว เดี๋ยวนี้ผู้หญิงหลายต่อหลายคนที่ชีวิตต้องหวานอมขมกลืน ก็เพราะได้ผู้ชายที่ไม่เอาไหนเป็นสามี ซึ่งถ้าเธอไม่เอาชีวิตมาจมปลักอยู่กับชีวิตครอบครัวที่ผู้นำครอบครัวไม่เอาไหน เธออาจมีชีวิตที่สุขสดใสและประสบความสำเร็จมากกว่านี้ก็ได้

ยอมรับกันไหมว่า ผู้ชายไทยยุคปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีคุณภาพเท่าที่ควร ความรับผิดชอบต่อครอบครัวมีน้อย ตกเป็นทาสอบายมุขเป็นส่วนมาก ที่ร้ายคือมักชอบผิดศีลข้อสาม คือชอบมีบ้านเล็กบ้านน้อยกันจนเกือบกลายเป็นประเพณี - ประเพณีที่อัปยศ!

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนเรานั้นมีความประสงค์ไม่เหมือนกันคือ โจรต้องการความมืด พ่อค้าหรือนักธุรกิจต้องการความสำเร็จในธุรกิจ พราหมณ์ต้องการเข้าถึงพระพรหม สมณะต้องการนิพพาน พระราชาหรือผู้ปกครองต้องการความเป็นใหญ่ สตรีต้องการความเป็นหนึ่งของสามี (หมายถึงไม่ต้องการให้สามีมีเมียน้อย)

พระพุทธวจนะบทนี้ ฟ้องความจริงว่า ยุคสมัยพระพุทธองค์ ผู้ชายคงนิยมมีเมียน้อย (คือมีเมียมาก) ดังเช่นสมัยนี้ ผู้หญิงจึงต้องตั้งความปรารถนาไว้ว่าถ้าจะแต่งงานแล้ว อย่าได้เคราะห์ร้ายมีสามีที่มีเมียหลายคนเลย เจ้าประคู้น อะไรทำนองนั้น

ใครจะคิดอย่างไรไม่รู้ สำหรับผม ถ้ามีลูกสาว (ป่านนี้ก็ยังไม่มี) จะสอนลูกว่าถ้าหาผู้ชายที่ดีไม่ได้ (มีแต่ประเภทไม่เอาไหน) สู้อยู่เป็นโสดเสียดีกว่า เพราะถ้าพลาดท่าไปร่วมหอลงโรงกับอสุรกุ๊ยที่ไม่มีความรับผิดชอบ จะชีช้ำกะหล่ำปลีเปล่าๆ ดังเรื่องของกุณฑลเกสี

กุณฑลเกสี เป็นธิดาเศรษฐี พ่อแม่กักขังไว้บนปราสาทเจ็ดชั้น ไม่ยอมให้ไปไหนเพราะหวงมากนั่นเอง วันหนึ่งเห็นเขาแห่มหาโจรนักโทษประหารประจานรอบเมืองก่อนจะนำไปสู่ตะแลงแกง เกิดความรักความสงสาร จึงให้สาวใช้เอาสินบนไปให้เจ้าพนักงาน นำตัวมหาโจรมาเป็นสามี

สันดานโจรยังเป็นโจรวันยังค่ำ ได้อยู่ดีกินดีขนาดนั้นยังไม่พอใจ อยากจะได้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดไว้ครอบครอง จึงบอกภรรยาว่า ที่รอดตายได้เพราะบนบานเจ้าป่าเจ้าเขาไว้ จนบัดนี้ยังไม่ได้แก้บนเลย จึงชวนภรรยาไปแก้บนด้วยกัน โดยให้ภรรยาแต่งตัวด้วยเพชรนิลจินดาแพงๆ นำทรัพย์สินติดตัวไปมากมาย พอขึ้นไปถึงยอดเขาลายเก่าก็ออก มันพูดยิ้มแสยะว่า อีนางหน้าโง่เอ๋ย ฉันมิได้บนบานอะไรไว้ดอก ฉันหลอกเธอมาฆ่าเอาทรัพย์สินต่างหาก

มีสามีที่ไร้คุณภาพก็อย่างนี้แหละครับ ดีไม่ดีอาจเข้า "มุมอับ" ดังกุณฑลเกสี ก็ได้ เคราะห์ดี (เรียกให้ถูกคือ "โชคดี") ที่นางยังตั้งสติได้ คิดแวบขึ้นมาว่า "ปัญญามิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน หากแต่มีไว้เพื่อพิจารณาเหตุผล เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อเอาตัวรอดปลอดภัย"

นางกล่าวกับสามีมหาโจรว่า "ไหนๆ ฉันก็จะต้องตายแล้ว ฉันขอรำอำลาท่านเป็นครั้งสุดท้ายเถิด"

มหาโจรยอมตาม ยืนตระหง่านอยู่บนยอดเขา กระหยิ


กุณฑลเกสี เป็นธิดาเศรษฐี พ่อแม่กักขังไว้บนปราสาทเจ็ดชั้น ไม่ยอมให้ไปไหนเพราะหวงมากนั่นเอง วันหนึ่งเห็นเขาแห่มหาโจรนักโทษประหารประจานรอบเมืองก่อนจะนำไปสู่ตะแลงแกง เกิดความรักความสงสาร จึงให้สาวใช้เอาสินบนไปให้เจ้าพนักงาน นำตัวมหาโจรมาเป็นสามี

สันดานโจรยังเป็นโจรวันยังค่ำ ได้อยู่ดีกินดีขนาดนั้นยังไม่พอใจ อยากจะได้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดไว้ครอบครอง จึงบอกภรรยาว่า ที่รอดตายได้เพราะบนบานเจ้าป่าเจ้าเขาไว้ จนบัดนี้ยังไม่ได้แก้บนเลย จึงชวนภรรยาไปแก้บนด้วยกัน โดยให้ภรรยาแต่งตัวด้วยเพชรนิลจินดาแพงๆ นำทรัพย์สินติดตัวไปมากมาย พอขึ้นไปถึงยอดเขาลายเก่าก็ออก มันพูดยิ้มแสยะว่า อีนางหน้าโง่เอ๋ย ฉันมิได้บนบานอะไรไว้ดอก ฉันหลอกเธอมาฆ่าเอาทรัพย์สินต่างหาก

มีสามีที่ไร้คุณภาพก็อย่างนี้แหละครับ ดีไม่ดีอาจเข้า "มุมอับ" ดังกุณฑลเกสี ก็ได้ เคราะห์ดี (เรียกให้ถูกคือ "โชคดี") ที่นางยังตั้งสติได้ คิดแวบขึ้นมาว่า "ปัญญามิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน หากแต่มีไว้เพื่อพิจารณาเหตุผล เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อเอาตัวรอดปลอดภัย"

นางกล่าวกับสามีมหาโจรว่า "ไหนๆ ฉันก็จะต้องตายแล้ว ฉันขอรำอำลาท่านเป็นครั้งสุดท้ายเถิด"

มหาโจรยอมตาม ยืนตระหง่านอยู่บนยอดเขา กระหยิ่มยิ้มย่องว่าอีกไม่กี่วินาทีเราก็จะรวยแล้ว "ฮะๆ ฮ่าๆ" มันเผลอหัวเราะออกมาด้วยความสำราญใจ หาได้รู้สึกตัวไม่ว่ากำลังยืนหันหลังให้ภรรยาอยู่

พอได้จังหวะ กุณฑลเกสีก็ผลักสามีใจโหดลอยลิ่วลงก้นเหวแหลกละเอียดแล้วมันจะเหลืออะไร เทวดาที่สิงสถิตอยู่ ณ ยอดเขานั้นได้กล่าวโศลกสาธุการขึ้นว่า

"ใช่ว่าชายจะฉลาดทุกคนก็หาไม่ สตรีที่รู้จักใช้ปัญญาให้เป็นประโยชน์ก็ฉลาดได้เหมือนกัน"

เห็นหรือยังว่า การได้สามีเฮงซวยอย่างนายมหาโจรคนนี้ เกือบทำให้นางกุณฑลเกสีถึงชีวิตักษัย ดีว่าปฏิภาณแก้ปัญหาไว จึงรักษาชีวิตไว้ไปบวชเป็น พระเถรี (แน่ะ พูดคล้องจองยังกับกลอนนิ)

หาผู้ชายดีไม่ได้ ไม่มีสามีเสียดีกว่า เชื่อผมเถอะ

"แหม ฉันว่าจะได้อ่านประโยคสุดท้ายนี้มาก่อนนะ" เสียงใครไม่รู้บ่นอยู่ข้างๆ ฮิฮิ


คาถาเรียนหนังสือเก่งของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าของเรานั้นได้ชื่อว่าเป็น ผู้ฉลาดในการเทศนาสั่งสอนประชาชน ไม่มีใครพระองค์ตั้งพระทัยแสดงธรรมให้ฟังแล้วจะไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน แม้กระทั่งคนบาปหนาที่น่าจะหมดโอกาสโดยสิ้นเชิงแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงสามารถสร้างอุปนิสัยปัจจัยที่ดีงาม อันจักส่งเสริมเขาในชาติหน้า

ตัวอย่างเช่นพระเทวทัต และพระเจ้า อชาตศัตรู เป็นต้น รายแรกทำ "สังฆเภท" ก่อความแตกแยกในวงการสงฆ์ ประทุษร้ายพระพุทธเจ้าถึงขั้นทำให้พระโลหิตห้อ (ห้อเลือดนั่นแหละครับ) ถูกแผ่นดินสูบตาย ก่อนจะจมมิดดินสำนึกผิด กล่าววาจาถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ลองมาฟังวาจาของ "เสือสำนึกบาป" ดูสิครับ ว่า "ซึ้ง" ขนาดไหน

"ข้าฯ ขอถึงพระพุทธองค์ผู้เป็นบุคคลเลิศเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นยอดนักฝึกฝนคน มีพระจักษุรอบด้าน มีพระลักษณะงดงามอันเกิดจากบุญมากมายเป็นที่พึ่ง พร้อมด้วยลมหายใจและกระดูกเหล่านี้"

สมัยเรียนแปลบาลี เราเรียกข้อความตอนนี้ว่า "เทวทัตถวายคาง" เพราะขณะที่แกกำลังถูกแผ่นดินสูบมาถึงคาง ไม่รอดแน่แล้ว สำนึกผิด จะกลับเนื้อกลับตัวทำดีอย่างอื่นไม่ได้แล้ว จึงกล่าววาจาถวายกระดูกคางเป็นพุทธบูชา นั่นคือ ความดีอย่างหนึ่งท่ามกลางความชั่วมากมายของเธอ

ผลจากการสำนึกผิดกล่าววาจาถวายกระดูกคาง เทวทัตเธอจักได้เป็นพระปัจเจกพุทธนามว่า "อัฏฐิสสระ" หลังจากใช้กรรมหมดแล้ว พระอรรถกถาจารย์ผู้แต่งอรรถกถากล่าวว่า พระพุทธองค์ตรัสพยากรณ์ไว้อย่างนั้น

ส่วนอชาตศัตรู คู่อุปถัมภ์เดิมของเทวทัต จับพ่อขังคุกตาย ทำอนันตริยกรรม (กรรมหนัก) นอนสะดุ้งผวาทุกคืน เพราะภาพกรรมชั่วคอยหลอกหลอน หมอชีวกโกมารภัจจ์แนะนำให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระองค์แล้วทูลขอขมาพระองค์และพระสงฆ์แล้วประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ถึงอชาตศัตรูไม่สามารถบรรลุมรรคผลอะไร เพราะพลาดทำอนันตริยกรรมเสียแล้ว อชาตศัตรูก็ได้กลับเนื้อกลับตัวเป็นสัมมาทิฐิบุคคล สร้างบุญกุศลอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรืองต่อมา นี่แหละคือผลจากการได้ฟังธรรมะเทศนาของพระพุทธเจ้า

คนที่น่าจะหมดโอกาสโดยสิ้นเชิงขนาดนี้ พระพุทธองค์ยังสามารถช่วยเอาไว้ได้ ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์ทรงมี "เทคนิควิธี" ในการสั่งสอนคน ทรงรู้ว่าคนเช่นใดควรสอนอะไร แค่ไหน โดยใช้เทคนิควิธีอะไร

พระบาลีแห่งหนึ่งพูดเปรียบเทียบเทคนิคการเทศน์ของพระองค์เหมือนราชสีห์จับเหยื่อว่า พญาราชสีห์นั้นเวลาจะจับเหยื่อ ไม่ว่าสัตว์ใหญ่หรือสัตว์เล็กมันจะจับอย่างแม่นยำ ไม่พลาดฉันใด เวลาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เพื่อมุ่งให้ใครเข้าถึงธรรมคนนั้นย่อมจะเข้าถึงได้โดยไม่พลาดฉันนั้น

แม้กระทั่งคนโง่ขนาดไหน ท่องหนังสือข้อความสั้นๆ แค่สี่บรรทัดสามเดือนไม่ได้ พระพุทธองค์ยังสามารถสอนให้เข้าใจได้เลยครับ คนโง่ทึบที่พูดถึงนี้ภายหลังได้บรรลุอรหัตแล้วกลายเป็นผู้แตกฉานในธรรมหาตัวจับยากคนหนึ่ง (พูดให้ถูกว่ารูปหนึ่งเพราะว่าท่านเป็นพระ)

ไม่เล่าเรื่องเดี๋ยวไม่รู้กัน เรื่องมีดังนี้ครับ ท่านสารวัตร มีพระพี่น้องชายสองรูปบวชอยู่วัดเดียวกัน พระพี่ชายเฉลียวฉลาดมาก เป็นอาจารย์สอนพระอื่นๆ ในวัด ส่วนผู้น้องนั่นโง่ทึบมาก พี่ชายให้ท่องคาถาสี่บรรทัด (ความยาวขนาดกลอนสุภาพบทหนึ่ง) สามเดือนก็ท่องไม่ได้ ถูกพี่ชายไล่ออกจากวัดเสียใจมาก ตั้งใจจะไปฆ่าตัวตายให้รู้แล้วรู้รอด

บังเอิญพระพุทธองค์เสด็จมาพบเข้า ถามไถ่ได้ความแล้ว ตรัสว่า เรามีวิธีให้เธอเข้าใจได้โดยไม่ต้องท่อง ว่าแล้วก็นำผ้าขาวม้าให้เธอผืนหนึ่ง รับสั่งว่า

"เธอจงนั่งลูบผ้าผืนนี้ พร้อมบริกรรม (ท่อง) คำว่า "รโชหรณ์ รโชหรณ์" (อ่าน "รโชหะระนัง") ไปด้วย ตั้งแต่เช้าจนเกือบเที่ยง จิตใจแน่วดิ่งเป็นสมาธิ เมื่อเห็นผ้าขาวเปรอะเปื้อนด้วยเหงื่อมือ ก็ได้ความคิดเปรียบเทียบว่า จิตใจคนก็คงเหมือนผ้าขาว เดิมทีก็บริสุทธิ์ต่อมาถูกกิเลสครอบงำทำให้เศร้าหมองได้ฉันใดฉันนั้น พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง ในที่สุดก็ได้บรรลุอรหัต

คนโง่ทึบที่สุดพระพุทธองค์ทรงมีวิธีสอนให้กลายเป็นคนฉลาดที่สุดได้ด้วยประการฉะนี้แหละครับ ผู้รู้ท่านหนึ่งบอกผมว่า คำที่พระพุทธเจ้าสั่งให้พระรูปนี้ท่องนั่นแหละคือ "คาถาเรียนหนังสือเก่ง" ถ้าใครอยากเรียนหนังสือเก่ง อ่านหรือท่องอะไร จำได้รวดเร็ว ก็ให้สวดคาถานี้ทุกครั้งก่อนอ่านหรือท่องหนังสือท่านว่าอย่างนั้น

นี่ก็จะเปิดเทอมแล้ว นักเรียนนักศึกษาลองเอาไปใช้ดูบ้างสิครับ

ข้อสำคัญท่องคาถาแล้วต้องท่องหนังสือด้วยนะ จึงจะเป็นคนฉลาดขึ้นมาได้ ไม่ใช่ท่องคาถาแล้วบังอรเอาแต่นอน อย่างนั้นยิ่งท่องคาถาก็ยิ่งโง่





พระไตรปิฎกกับเพลงลูกทุ่ง


มีเพลงบทหนึ่งและบทเดียวในพระไตรปิฎก คือเพลงที่คนธรรพ์ชื่อ ปัญจสิขะ ขับร้องถวายพระพุทธเจ้า มีบันทึกไว้ใน "สักกปัญหสูตร" ผมเคยเขียนถึง (ในที่อื่น) มาแล้ว ใครอยากรู้เนื้อหาว่าอย่างไร ไปหาอ่านเอา

ที่จั่วหัวเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเพลงบทนั้น บังเอิญได้อ่านบทความของคุณสุกรี เจริญสุข ในมติชน ฉบับวันที่ ๑๕ ตุลาคม ที่ผ่านมา เกิดสะดุดใจกับคำพูดของคุณสุกรีว่า เพลงกับพระไตรปิฎกไม่ต่างกัน

หลังจากงาน "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย" ผ่านมาหลายทิวาและราตรีแล้ว ดูเหมือนจะมี "ควันหลง" ติดต่อกันมาในหน้าหนังสือพิมพ์หลายครั้งหลายครา ผมไม่ได้ติดตามโดยตลอด เพียงอ่านผ่านๆ พอจับความได้ว่า มีผู้ท้วงติง ท่านรัฐมนตรีกร ทัพพะรังสี และคุณศันสนีย์ นาคพงศ์ ร้องเพลงลูกทุ่งว่าเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิม ทำให้คุณค่าของเพลงลูกทุ่งเสียไปหรืออะไรทำนองนั้น

หลายคนไม่เห็นด้วยกับคำท้วงติงนั้น คุณสุกรี เจริญสุข คือหนึ่งในหลายคนนั้น ดังได้พูดไว้ตอนหนึ่งว่า

"การร้องเพลงไม่ได้อยู่ที่รูปแบบว่าจะเป็นของคนนั้นคนนี้เฉพาะ ถ้าไปยึดแบบเดียวเช่นนั้นแล้วเพลงจะตายหมด แม้แต่ดนตรีที่บรรเลงคืนนั้นก็ไม่ได้บรรเลงตามแบบเก่า เพราะเพลงจะอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลง

อ่านไปจนเกือบจบก็ยังไม่สะดุดหรอกครับ พอถึงย่อหน้าเกือบจะท้ายๆ ก็สะดุดกึกทันที คุณสุกรีสรุปว่า

"เพลงก็เหมือนพระไตรปิฎก ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ปฏิบัติเข้าใจอย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติไปจนกว่าจะเข้าใจเป็นอย่างอื่น จะบอกว่าอย่างนี้ถูกอย่างนี้ผิดเป็นไม่มี ไม่มีผิดและไม่มีถูก เพียงแต่ว่าใครจะเห็นคุณค่ามากกว่ากัน"

ผมขอพูดดังๆ ว่า ไม่เห็นด้วยกับคุณสุกรีครับ เพลงก็เพลง พระไตรปิฎกก็พระไตรปิฎก เหมือนกันไม่ได้

ไม่ว่าจะลักษณะ เนื้อหา หรือจุดมุ่งหมาย ไปด้วยกันไม่ได้เอาทีเดียว เพลงนั้นคนแต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเป็นจุดประสงค์หลัก อาจสอดแทรกคติธรรมหรือแง่คิดสอนใจบ้างก็เป็นผลพลอยได้ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ สมหวัง ผิดหวัง เคียดแค้น ชิงชัง ของคนที่เวียนว่ายอยู่ในโลกียวิสัย พูดง่ายๆ ว่าเพลงเป็นเรื่องของกิเลส

ส่วนเนื้อหาของพระไตรปิฎกเป็นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา มุ่งสอนคนให้พัฒนาตนเองตามหลักอริยมรรค มีองค์แปด หรือศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อลด ละกิเลส ความบันเทิง จากการอ่านพระไตรปิฎก ถ้าจะมีก็เป็นผลพลอยได้

ยิ่งเรื่องการตีความด้วยแล้ว ยิ่งไม่เหมือนกันใหญ่ เพลงเพลงหนึ่งคนอาจตีความหรือวาดภาพเอาตามที่ตนเข้าใจ ไม่มีผิด ไม่มีถูก อาจจะใช่ แต่กับพระไตรปิฎกนี้ จะตีความหรือวาดภาพเอาตามชอบใจโก๋หาได้ไม่

หลายคนมีความเห็นว่า ทุกคนมีสิทธิตีความและแปลความพระไตรปิฎก หรือพระธรรมวินัยตามชอบใจและความเข้าใจของตน โดยอ้างสิทธิเสรีภาพในการตีความเหมือนที่อ้างกับกรณีอื่นๆ

เมื่อเห็นว่าทำได้ก็มีคนทำกันออกมาเป็นที่สนุกสนาน แล้วเป็นยังไง หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์และภาษาบาลีที่บันทึกคำสอนของพระพุทธองค์ เอามาแปลมาตีความกันป่นปี้ยับเยิน จนผู้รู้เขาตกอยู่ในภาวะที่หนังกำลังภายในเขาเรียกว่า "หัวเราะก็มิได้ ร้องไห้ก็มิออก" ไปตามๆ กัน

ครั้นผู้รู้ตำหนิติติงก็หาว่า ใจคับแคบบ้าง หวังจะผูกขาดพระศาสนาไว้คนเดียวบ้าง กระทั่งนักวิชาการหัวหงอกบางคนบอกว่า เมื่อพระอรรถาจารย์เช่น พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น ตีความได้ พระ ก. พระ ข. ก็มีสิทธิ์ตีความได้ หัวหงอกอีก บางคนก็ว่า คนที่ท้วงติงการแปลบาลีผิดๆ เป็น "การทำร้ายกันทางภาษา" มากกว่าเป็นงั้นไป

คนจะตีความพระธรรมวินัยได้ก็ต้องเรียนรู้พระธรรมวินัยจนแจ่มแจ้ง รู้ภาษาบาลีอย่างดี ถึงจะตีความภาษาบาลีได้ ไม่ใช่นาย ก. นาย ข. ไม่เคยเรียน นึกสนุกขึ้นมาก็จับเอามาตีความเอาตามชอบใจ

คนจะตีความกฎหมายได้ ก็ต้องเรียนรู้กฎหมายอย่างดี ไม่ใช่ใครก็ได้ ขืนทำอย่างนั้นกฎหมายเขาจะยับเยินป่นปี้ขนาดไหน

นักกฎหมายที่ไหนเขาจะปล่อยให้ไอ้บ้าที่ไหนสักคนมาทำกับกฎหมายของเขา ฉันใดก็ฉันนั้น



วิธีจับเหี้ยของเณรน้อย
ถ้าจะให้คำจำกัดความอย่างพจนานุกรม สมัยก่อนก็ต้องพูดว่า เหี้ยที่กำลังพูดถึงนี้คือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีลิ้นเป็นแฉกๆ คล้ายแลน แล้วก็ไปเปิดคำว่า "แลน" ได้ความว่า ได้แก่สัตว์สะเทินน้ำ สะเทินบก มีลิ้นเป็นแฉกๆ คล้าย "เหี้ย"

"เดี๋ยวนี้ไม่มีคำจำกัดความอย่างนั้นแล้ว ไม่เชื่อไปเปิดดูฉบับชำระล่าสุด ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ก็ได้" ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ บอกผมอย่างนี้ พร้อมทำตาเขียวใส่ "คุณละก็ชอบหาเรื่องค่อนแคะพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน แล้วมาทำงานที่สำนักราชบัณฑิตฯ ทำไมวะ" ผมได้แต่หัวเราะแหะๆ แล้วชวนท่านคุยเรื่องอื่น

อ่านพระคัมภีร์ (เณรคัมภีร์ยังไม่ได้อ่าน) มีเรื่องเณรน้อยอรหันต์อายุ ๗ ขวบหลายรูป ล้วนมีประวัติน่าสนใจทั้งนั้น อย่างเณรสังกิจจะ คลอดจากครรภ์ขณะศพแม่ถูกสัปเหร่อเอาขอเกี่ยวพลิกไปมาบนเชิงตะกอนเพื่อให้ไฟไหม้ให้ทั่ว รอดตายอย่างปาฏิหาริย์ อายุ ๗ ขวบ ออกบวชได้บรรลุอรหัต ขณะกำลังโกนผมบวชแล้วไม่นานถูกโจรห้าร้อยคนจับไปจะฆ่าบูชายัญ บังเอิญเหนียว ฟันแทงยังไงก็ไม่เข้า โจรห้าร้อยเลยพากันมอบตนเป็นศิษย์บวชเณรอยู่ด้วย

ก็เพิ่งเจอนี่แหละ เณรเป็นอุปัชฌาย์บวชเณรด้วยกันได้

อีกรูปหนึ่งก็น่าสนใจ เป็นลูกภิกษุณี อ๊ะๆ อย่างทิ้งขยะ เอ๊ย เธอตั้งครรภ์ก่อนมาบวชโดยไม่รู้ พอบวชแล้วครรภ์โตขึ้นๆ จนกระทั่งลูกน้อยโตมาอายุ ๗ ขวบ ไปบวชเณรลาแม่ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่อื่นไม่นานก็บรรลุอรหัต วันหนึ่งขณะเดินบิณฑบาตอยู่ ภิกษุณีผู้มารดาเห็นเข้า เดินรี่เข้าไปหา รำพึงรำพันว่า ลูกจ๋า เจ้าจากแม่ไปตั้งนาน แม่คิดถึงเหลือเกิน เณรน้อยเลยดุเอา "อะไร แค่ความรักระหว่างแม่กับลูกยังตัดไม่ขาด แล้วจะหวังตัดกิเลสอะไรที่ใหญ่กว่านี้"

แม่ฟังลูกพูดเสมือนหนึ่งไม่ไยดี เสียอกเสียใจมาก ในที่สุดก็หักห้ามใจได้ ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียร ไม่นานก็บรรลุอรหัต นับว่าลูกช่วยโดยแท้ ลูกที่ดีย่อมช่วยพ่อแม่ให้ได้สิ่งที่ประเสริฐสุดอย่างนี้แหละ

เณรอีกรูปหนึ่ง สอนวิธีจับเหี้ยให้เจ้าสำนักชื่อดังจนบรรลุอรหัต เสียดายตำราไม่ได้บอกว่าเณรชื่ออะไร บอกแต่ว่าเจ้าสำนักชื่อ "โปฐิละ" (แปลว่าใบลานหรือคัมภีร์) ท่านใบลานรูปนี้เป็นพระนักเทศน์ฝีปากเอก รู้เจนจบพุทธวจนะ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

เมื่อรู้มากทิฐิมานะย่อมมากเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าขืนปล่อยไว้นานเธอจักลืมตัวหนักขึ้น แล้วโอกาสจะได้ลิ้มรสพระธรรมก็จะไม่มี วันหนึ่งขณะเธอเข้าไป เฝ้าพระองค์ตรัสปฏิสันถารว่า

"อ้อ ท่านใบลานเปล่าก็มาด้วย" ครั้นเธอกราบทูลลากลับ พระองค์ก็ตรัสว่า "กลับแล้วหรือ ท่านใบลานเปล่า"

กลับไปถึงวัด ท่านโปฐิละ มานั่งคิดนอนคิดตีลังกาคิดอยู่หลายวัน เราก็รู้พุทธวจนะจนแตกฉาน มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วเมือง ทำไมหนอ พระพุทธองค์จึงทรงเรียกเราว่า ใบลานเปล่า คิดมากจนหาทางออกไม่ได้ จึงเข้าไปหาพระเถระซึ่งเป็นศิษย์ของตน ยกมือไหว้อ้อนวอนว่า "ท่านขอรับ ช่วยสอนผมบ้างเถิด"

"โอ ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรอย่างนั้น ท่านเป็นเจ้าสำนัก เป็นอาจารย์คนอื่นมากมาย พูดอย่างนี้ได้อย่างไร เดี๋ยวขี้กลากกินหัวผมดอก" พระลูกศิษย์กล่าวขึ้นอย่างตกใจ

ไปหารูปไหนๆ ก็ได้รับคำตอบว่า "ผม มิบังอาจสอนท่านอาจารย์ได้" ในที่สุดท่านจึงไปหาสามเณรน้อยอรหันต์อายุ ๗ ขวบ ยกมือไหว้ปลกๆ ขอให้เณรช่วยสอนให้

"ท่านอาจารย์ก็รู้มากอยู่แล้ว จะให้ผมสอนอะไรเล่าครับ" เณรอรหันต์ตอบ

"พระพุทธองค์ตรัสว่าผมเป็นใบลานเปล่า แสดงว่าความรู้ของผมช่วยอะไรไม่ได้ สามเณร ได้โปรดช่วยผมเถิด" วิงวอนอย่างน่าสงสาร

"ถ้าเช่นนั้น ผมบอกอะไร ท่านอาจารย์ จะทำตามไหม" เณรอรหันต์ถาม

"โปรดสั่งมาเถิดครับ ผมยินดีทำตาม" มาถึงตอนนี้ทิฐิมานะไม่เหลือแล้ว โปฐิละพร้อมจะรับฟังเณรน้อยทุกอย่าง เณรน้อยจึงสั่งให้เดินลงน้ำ ท่านก็ลงไปอย่างว่าง่าย บอกให้หยุดก็หยุด บอกให้ขึ้นมาก็ขึ้น แล้วเณรน้อยก็บอกปริศนาว่า

"มีจอมปลวกหนึ่งมีรู ๖ รู เหี้ยตัวหนึ่งเดินหนีเด็กเลี้ยงโคเข้าไปในจอมปลวกนั้น เด็กๆ จึงอุดรูจอมปลวก ๕ รู เปิดไว้รูหนึ่งแล้วคอยดักจับเอาทางรูที่เปิดนั้น แล้วก็จับเหี้ยไปย่างกินอร่อยไปเลยครับ ท่านอาจารย์"

ท่านโปฐิละคิดใคร่ครวญตามสามเณรน้อยสอนก็เข้าใจว่าหมายถึงอะไร จึงเจริญวิปัสสนาพิจารณารูปนาม จนกระทั่งบรรลุอรหัตในที่สุด

ปริศนาที่เจ้าสำนักท่านไขได้ก็คือ ผู้ปฏิบัติต้องปิดรูทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วเปิดไว้รูเดียวคือ ใจ คอยควบคุมใจให้ดี

อุบายจับเหี้ยของเณรน้อยนี้ฉลาดจริงๆ อยากให้เณรมีชีวิตอยู่ในยุคนี้จัง จะได้จับเจ้าสำนักเถื่อนทั้งหลายมาฝึกจับเหี้ยบ้าง      







การแปลพระไตรปิฎก

เมื่อไม่นานมานี้ มีท่านผู้หนึ่งปรารภในที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า อ่านพระไตรปิฎกแปลแล้วต้องมานั่งแปลไทยเป็นไทยอีก บางครั้งแปลยังไงก็แปลไม่ออก อยากเห็นฉบับแปลที่อ่านเข้าใจง่ายๆ ทำอย่างไรดี

ท่านอาจารย์สวนิต ยมาภัย ได้นำสำนวนแปลของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวิชิรญาณวโรรส หรือสมเด็จพระสังฆราช (สา) ผมก็จำไม่แม่น มาอ่านให้ฟังเป็นตัวอย่าง ถึงท่านจะแปลไว้นานแล้ว ยังอ่านเข้าใจง่าย ความกระชับยิ่งกว่าฉบับแปลในยุคนี้เสียอีก

ผมจึงขออาสาว่า ว่างๆ ถ้าเขาไล่ออกจากงานเมื่อใด (ตอนนี้ก็ใกล้แล้ว เพราะถ้าเขาไม่ไล่ผม ผมก็จะไล่เขาอยู่เหมือนกัน) ผมจะจับงานแปลพระไตรปิฎกเพื่อให้คนอ่านเข้าใจเสียที พูดแล้วจะหาว่าคุย ก็คุยมันเสียเลย ผมเองได้ลูบๆ คลำๆ ภาษาบาลีที่บันทึกพระพุทธพจน์มาครึ่งค่อนชีวิต คิดว่าตนเองมีความสามารถทำได้ จึงได้เริ่ม "ฟอร์ม" คณะทำงานขึ้น ถ้าไม่มีอะไรขัดข้อง คงได้เริ่มงานกันภายในปีใหม่นี้

ที่คำแปลพระไตรปิฎกคนทั่วไปอ่านเข้าใจยาก เพราะ

(๑) ท่านมิได้แปล (ในความหมายจริงๆ) เพียงแต่ตัดวิบัติออกแล้วทับศัพท์หรือรักษารูปประโยคบาลีไว้เท่านั้นเอง เช่น ประโยคที่ควรจะแปลว่า "คนทำชั่วตายไปแล้วตกนรก" ท่านก็แปลว่า "บุคคลผู้ทำบาปเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงนรก" ดังนี้ เป็นต้น

(๒) ธรรมะของพระพุทธองค์นั้นลึกซึ้ง ถ้าจะ "เก็บความ" พอให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจ ท่านกลัวว่าจะทำให้เสียความเดิม อันอาจทำให้คำสอนวิปริตผิดไปจากพุทธประสงค์สู้แปลแบบรักษาโครงสร้างไวยากรณ์ไว้ ดีกว่า

ผมถามตัวเองอยู่เสมอว่า ถ้าเราจะแปลโดยใช้ภาษาง่ายๆ ทันสมัย ที่คนทั่วไปอ่านเข้าใจทันที ขณะเดียวกันก็รักษาสาระสำคัญของหลักคำสอนอยู่ครบถ้วน จะทำได้ไหมเสียงกระซิบข้างหูผมว่า "ทำได้ เอ็งนั่นแหละจงทำ"

ครับ เง็กเซียนฮ่องเต้ สั่งมาแล้ว เห็นท่าจะต้องทำเสียแล้ว ฮิ ฮิ

ต่อไปนี้ผมขอยกตัวอย่างคำแปลในพระไตรปิฎกฉบับสังคายนาเสร็จใหม่ๆ มาสักตอน แล้วนำมาแปลเป็นไทยอีกสองชั้น ชั้นแรกแปลพออ่านง่ายขึ้นนิดหน่อย ชั้นที่สองแปลให้อ่านง่ายมากขึ้น ท่านผู้อ่านลองเทียบเคียงดูนะครับ

(สำนวนฉบับสังคายนา) "ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้งแล้วทรงดำริต่อไปว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร นี้แล เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในจักษุน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไรเราพึงแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ทีนั้นเทวดาอันตรธาน (จากสวรรค์) มากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว พระพุทธเจ้า แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่าอาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว จึงทรงดำริว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน"

(คำแปลพอเข้าใจขึ้นนิดหน่อย) "ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า จะแสดงธรรมให้ใครฟังก่อนดี มีใครบ้างที่จะสามารถเข้าใจธรรมที่แสดงได้อย่างฉับพลัน ทันใดนั้นพระองค์ทรงรำลึกได้ว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา และมีกิเลสเบาบาง หากได้ฟังธรรมก็จักสามารถเข้าใจได้ฉับพลัน แต่แล้วพระองค์ก็ได้ทรงทราบจากเทวดาซึ่งตรงกับที่ทรงทราบด้วยพระญาณของพระองค์ว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว จึงทรงรำพึงในพระทัยว่า อาฬารดาบส พลาดโอกาสสำคัญไปเสียแล้ว"

(สำนวนที่คิดว่าน่าจะอ่านง่ายกว่า) "ในเวลานั้น พระพุทธองค์ทรงตรึกตรองพิจารณาว่า ควรจะเสด็จไปแสดงธรรมแก่ใครก่อน ที่มีสติปัญญาสามารถพอที่จะเข้าใจธรรมที่ทรงตรัสรู้ได้ ชั้นแรก ทรงระลึกได้ว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร นั้น เป็นผู้มีกิเลสน้อย และมีสติปัญญาลึกซึ้ง เฉลียวฉลาด หากทรงแสดงธรรมให้ฟัง ก็จะเข้าใจแจ่มแจ้งได้โดยทันที แต่แล้วก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่าอาฬารดาบสได้สิ้นชีวิตไปแล้ว เป็นอันว่าหมดโอกาสที่จะได้รับฟังธรรม"

เป็นไงครับ อ่านแล้วพอจะเข้าใจง่ายขึ้นไหม หรือว่ายังยากอยู่ ถ้าเช่นนั้นจะพยายามให้ง่ายขึ้นกว่านี้ ไอ้กระผมมันคนมีอัตตาหนาแน่น เพียงแค่กินอะไร ไม่กินอะไร หรืออยากทำอะไรก็มักประกาศให้รู้กันทั่ว

เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎกแปลฉบับนี้จะตั้งชื่อว่า "ฉบับ ไต้ ตามทาง" เสียเลย รู้แล้วรู้รอด  



เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนเด็ก

มีเวลาว่างเมื่อใดก็มักจะหยิบพระสูตรขึ้นมาอ่าน อ่านทีไรได้ความคิดใหม่ๆ ให้เอามาเขียนขายกินเมื่อนั้น วันนี้ก็เหมือนกัน ถึงเวลาจะต้องส่งต้นฉบับ ไม่รู้จะเขียนอะไร เปิดพระสุตตันตปิฎก เจอเรื่องพระพุทธเจ้าทรงสอนเด็กเข้าพอดี ขอนำมาขยายต่อเสียเลย

น่าสังเกตว่า พระสูตรที่ทรงสอนนั้นส่วนมากจะทรงสอนผู้ใหญ่ ไม่ว่าบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่สอนเด็กๆ มีน้อย เท่าที่นึกออกและเปิดพบขณะนี้มีอยู่สองสูตร สูตรแรกชื่อ ทัณฑสูตรความย่อว่า ขณะพระพุทธองค์เสด็จออกบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ทอดพระเนตรเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งเอาไม้ไล่ตีงู จึงตรัสถามว่า "พวกเธอตีงูทำไม"

"กลัวมันกัด พระเจ้าข้า" เด็กน้อยรายงาน

พระองค์ทรงเห็นว่าพวกเด็กเบียดเบียนสัตว์โดยไม่มีเหตุผล จึงตรัสถามว่า
"ถ้าเผื่อใครเขาตีพวกเธอ พวกเธอจะเจ็บไหม"
"เจ็บ พระเจ้าข้า"
"อยากให้เขาตีไหม"
"ไม่อยาก พระเจ้าข้า"

"งูก็เหมือนพวกเธอนั่นแหละ มันไม่อยากให้ใครตีมัน มันเจ็บเหมือนกัน ถ้าพวกเธอไม่อยากให้ใครรังแก ก็อย่ารังแกคนอื่นสิจ๊ะ" พระองค์ทรงถือโอกาสสั่งสอนพวกเขา พวกเขาต่างเห็นด้วย ทิ้งท่อนไม้เลิกไล่ตีงูทันที

หลายคนเวลาเห็นเด็กไล่ตีสัตว์อยู่อาจดุด่าหรือตะเพิดไล่ วิธีนี้ได้ผลเหมือนกัน คือเด็กเลิกรังแกสัตว์ แต่พอลับตาผู้ใหญ่เด็กอาจทำเช่นเดิมอีก เพราะไม่ได้ให้เหตุผลให้เด็กเข้าใจ หลายคนอาจใช้วิธีขู่ให้เด็กกลัว วิธีนี้นอกจากไม่ช่วยให้เด็กเติบโตด้วยสติปัญญาและเหตุผลแล้ว ยังจะเพาะเชื้อแห่งความเก็บกดก้าวร้าวในสันดานของพวกเขาอีกด้วย

พระสูตรนี้น่าจะเป็นตัวอย่างแก่พ่อแม่ ครู อาจารย์ ได้กระมังว่า ไม่ควรเลี้ยงดูปลูกฝังเด็กด้วยอารมณ์ แต่ควรเลี้ยงดูปลูกฝังด้วยเหตุผล  

สูตรที่สองชื่อ ราหุโลวาทสูตร คราวนี้ทรงเทศน์สอนพระโอรสของพระองค์ พระราหุลน้อย ยังไงเล่าครับ เย็นวันหนึ่ง ขณะทรงถือขันน้ำล้างพระบาท ทรงเหลือน้ำในขันไว้หน่อยหนึ่ง แล้วหันมาตรัสถามราหุลว่า "เห็นน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งในขันนี้ไหม ราหุล"

"เห็น พระเจ้าข้า" ราหุลกราบทูลตอบ
"จำไว้นะ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้จะมีคุณธรรมเหลือในตัวนิดเดียว ดุจน้ำในขันนี้" แล้วทรงเทน้ำออกหมด ตรัสถามต่อไป "เธอเห็นน้ำที่เราเททิ้งทั้งหมดหรือไม่"

"เห็น พระเจ้าข้า"
"จำไว้นะ ราหุล คนที่ชอบพูดเท็จทั้งที่รู้ก็จะ "เทคุณธรรมทิ้งหมด" เหมือนอย่างนี้แหละ" จากนั้นทรงคว่ำขันลงแล้วตรัสถามว่า "เห็นขันที่คว่ำนี่ไหม" เมื่อเธอรับว่าเห็น พระองค์ตรัสถามต่อไปว่า "จำไว้นะ คนที่ชอบพูดเท็จทั้งที่รู้ จัดว่า "คว่ำคุณธรรมทิ้ง" เหมือนขันคว่ำนี้แหละ"

จากนั้นทรงหงายขันอันว่างเปล่าขึ้นตรัสถามว่า
"ราหุล เห็นขันอันว่างเปล่าไม่มีน้ำสักหยดนี้ไหม"
"เห็นพระเจ้าข้า"
"จำไว้นะ คนที่ชอบพูดเท็จทั้งที่รู้ จะไม่มีคุณงามความดีอะไรเหลืออยู่เลย ว่างเปล่าเหมือนขันน้ำใบนี้แหละ"

บทสนทนาระหว่าง "พ่อลูก" นี้น่าศึกษายิ่ง ทรงใช้อุปกรณ์หรือที่เรียกในภาษาสมัยใหม่ว่า

ทรงใช้ "สื่อการสอน" แสดงเป็นขั้น เป็นตอนให้เห็นภาพชัดเจน
- ทรงถือขันน้ำ
- เทน้ำจนเหลือนิดเดียว
- เทน้ำจนหมดขัน
- คว่ำขันลง
- หงายขันเปล่าขึ้น

แล้วทรงเปรียบเทียบให้เห็น ให้เกิดการเรียนรู้ทีละขั้น ทีละตอนว่า คนชอบพูดเท็จทั้งที่รู้ เทคุณงามความดีทิ้งตามลำดับจนไม่เหลืออย่างไรบ้าง

แสดงชัดแจ๋วแหววอย่างนี้ อย่าว่าแต่สามเณรราหุลเลย ต่อให้เด็กปัญญาทึบทั่วไปก็เข้าใจได้



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 เมษายน 2560 13:00:50 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #35 เมื่อ: 14 พฤษภาคม 2560 16:09:03 »




พุทธภาษิต กับ พุทธศาสนสุภาษิต

พุทธภาษิต คือ พระวจนะของพระพุทธเจ้า หมายถึงเป็นถ้อยคำที่ (เราเชื่อกันว่า) พระพุทธองค์ตรัสจริงๆ ส่วนมากมักจะเป็น "คาถา" หรือเป็นบทกวีนิพนธ์ เช่น คาถาธรรมบท เป็นต้น

ส่วน "พุทธศาสนสุภาษิต" แปลว่า คำสุภาษิตของพุทธศาสนา หมายถึงถ้อยคำที่พูดดีมีเหตุผล ที่สอดคล้องกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เน้นตรงที่ "สอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า"

เพราะอะไร? เพราะคำพูดที่ไพเราะ มีเหตุมีผล ในเรื่องอื่นๆ มีมากมาย แต่ถ้าขัดแย้งกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่นับว่าเป็นพุทธศาสนสุภาษิต อย่างมากก็ได้ชื่อว่า "สุภาษิต" (พูดไว้ดี พูดไว้ถูก) เท่านั้น

พุทธศาสนสุภาษิตส่วนมาก เป็นบทประพันธ์ที่นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนารุ่นหลังๆ แต่งขึ้น บางบทไพเราะ งามทั้งอรรถ และพยัญชนะ เทียบเท่าหรือเทียบเท่าพุทธภาษิต (ในแง่ความไพเราะและความถูกต้องตามหลักไวยากรณ์) ก็มี

ในเมืองไทยเอง ยุคที่มีผู้แต่งพุทธศาสนสุภาษิตแพร่หลายที่สุด เห็นจะเป็นยุครัตนโกสินทร์ พูดให้ชัดลงไปสมัยรัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ เมื่อสมัยยังทรงผนวช ทรงพระราชนิพนธ์คาถาสุภาษิตมากมาย ไม่เฉพาะแต่บทสวดมนต์ หรือพระปริตต์ต่างๆ เท่านั้น ศิษย์เอกในพระองค์ เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงนิพนธ์งานชิ้นสำคัญเจริญรอยตามสมเด็จพระอุปัชฌายะแต่น่าเสียดายงานชิ้นนี้เป็นที่รู้กันในวงแคบ มหามกุฏฯเองพิมพ์หนังสืออื่นมากมาย ไม่เห็นพิมพ์พระนิพนธ์ชิ้นนี้ออกเผยแพร่เลย

หนังสือเล่มนี้ชื่อ สุคตวิทัตถิวิธาน (วิธีนับคืบพระสุคต) ครับ

คืบพระสุคต คือ มาตราวัดชนิดหนึ่ง บอกว่าคืบของพระพุทธเจ้ายาวกว่าคืบของคนทั่วไป สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงตั้งคำถามว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างเราๆ ใช่ไหม ถ้าเป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างเราลักษณะทางกายภาพ พูดง่ายๆ ว่ารูปร่างก็ต้องมีสัดส่วนไม่ต่างจากคนอื่นๆ คืบของพระองค์ ศอกของพระองค์ ก็ไม่น่าจะยาวกว่าคนทั่วไป เสร็จแล้วก็ทรงยกหลักฐานจากพระไตรปิฎกมายืนยัน สมเหตุสมผลน่าฟังอย่างยิ่ง

ที่ผมทึ่งก็คือ เรื่องนี้ทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลีที่ Perfect ที่สุด (ขอดัดจริตใช้คำฝรั่งหน่อย) ยังไม่เห็นงานยุคหลังๆ เล่มใดแต่งดีขนาดนี้

อีกสองท่านคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชสา ปราชญ์ทั้งสองนี้ได้ทรงนิพนธ์พุทธศาสนสุภาษิตไว้มากมาย สุภาษิตหลายบทเราจำกันได้ขึ้นใจ หลงนึกว่าเป็นพุทธสุภาษิต แท้ที่จริงหาใช่ไม่ จะขอยกมาเตือนความจำกันบางบท เช่น

นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตัญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของ คนดี บทนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแต่งเพื่อเลียนพุทธพจน์ว่า ภูมิ เว สปฺปุริสานํ กตญฺญกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐานของคนดี

อีกบทที่จำกัดได้แม่น รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธํ ลวณํ โลณตํ ยถา พึงรักษาความดีของตนไว้ ดั่งเกลือรักษาความเค็ม บทนี้สมเด็จพระสังฆราชสาทรงนิพนธ์ไว้

อีกบท (บาทสุดท้ายแล้ว) โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก สุภาษิตบทนี้ไพเราะกินใจมาก และเป็นความจริงที่สุด เป็นพระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครับ

ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมพุทธศาสนสุภาษิต พิมพ์เป็นสามภาษา คือ ภาษาบาลี ไทย และอังกฤษ เพื่อให้นำไปวางไว้ตามโรงแรมชั้นหนึ่ง ตามห้องพักคนป่วยในโรงพยาบาล และเพื่อมอบให้ห้องสมุดสถาบันการศึกษา และส่วนราชการ ตามพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช เข้าใจว่าพิมพ์เป็นจำนวนมากพอจะแจกจ่ายโรงแรม โรงพยาบาล หรือสถาบันการศึกษาใดต้องการนำไปเผยแพร่ ติดต่อได้ที่ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา

มีข้อสังเกตอยู่นิดเดียว เวลาบอกที่มาของสุภาษิตนั้นๆ ให้อักษรย่อไว้ท้ายสุภาษิตและชื่อคัมภีร์เต็มไว้ครบ แต่ที่เป็นบทประพันธ์ของปราชญ์รุ่นหลัง เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ มิได้บอกไว้ด้วย บอกแต่อักษรย่อ เช่น ว.ว. ส.ส. ผมก็เดาเอาว่า ว.ว. ก็คือ "วชิรญาณวโรรส" ส.ส. ก็คือ "สังฆราชสา"

อีกข้อหนึ่ง คำแปลทั้งภาษาไทย และอังกฤษ บางแห่ง (ส่วนมาก) ยัง "โบราณ" อยู่ น่าจะขัดเกลาให้ทันสมัยกว่านี้ เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะถอดออกเป็นภาษาร่วมสมัยที่อ่านเข้าใจทันที โดยไม่กังวลถึงโครงสร้างภาษาบาลีมากนัก

มีประเพณีอย่างหนึ่งของไทยที่ประเทศนับถือพระพุทธศาสนาอื่นเขาไม่มีกัน คือประเพณีพระราชปุจฉา

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปุจฉาถามไปยังพระสงฆ์ผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่พระองค์ทรงสงสัย พระสงฆ์ได้รับพระราชปุจฉาแล้ว จะเรียบเรียงคำวิสัชนาถวาย โดยอาจมอบหมายให้พระเถระผู้ทรงภูมิความรู้รูปใดรูปหนึ่งรับหน้าที่ตอบ หรืออาจประชุมปรึกษาหารือกันเป็นคณะก็ได้

ว่ากันว่าประเพณีพระราชปุจฉานี้ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะมีสำเนาหนังสือพระราชปุจฉาหลงเหลือมาให้เห็นอยู่หลายเรื่อง ต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีมากที่สุด เท่าที่มีหลักฐานในหอสมุดถึง ๓๙ เรื่อง มากกว่ารัชกาลใดๆ

เหตุที่มีมากขนาดนั้นตอบได้ง่าย เพราะหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้วก็ตาม พระสงฆ์องค์เจ้าที่รอดตายมาครั้งกระโน้นก็คงหาผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกน้อยมาก พอถึงรัชกาลที่หนึ่ง พระองค์ก็ทรงทำสังคายนารวบรวมพระไตรปิฎกให้ครบสมบูรณ์ และหาอุบายให้พระสงฆ์ศึกษาพระไตรปิฎกให้แตกฉาน โดยทรงมีพระราชปุจฉาถามไปเนืองๆ ให้พระท่านช่วยกันวิสัชนา

บางปัญหาดูพื้นๆ เช่น มหาโจรฆ่าคนเป็นร้อยคน ทำไมฟังเทศน์ครั้งเดียวได้บรรลุอรหัต หรือพุทธศาสนาสอนว่า คนเราจะเป็นอย่างไรแล้วแต่กรรมที่ทำไว้ในปางก่อนบันดาล ถ้าเช่นนั้นเมื่อเดินไปเจอเสือก็ไม่ต้องหนีสิแล้วแต่กรรมจะบันดาลให้เป็นไป ปัญหาเหล่านี้เชื่อว่า พระมหากษัตริย์ก็ทรงทราบคำตอบอยู่แล้ว แต่ที่ทรงถามไปก็เพราะต้องการให้พระสงฆ์ท่านค้นคว้ามาตอบให้เป็นหลักเป็นฐาน

ตอบส่งเดชไม่ได้ ต้องอ้างพระบาลี อ้างอรรถกถา ฎีกา และการจะอ้างได้ขนาดนั้น ต้องศึกษาค้นคว้าไม่บันเบาทีเดียว นับว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีกุศโลบายให้พระศึกษาเล่าเรียนพระศาสนาอย่างแยบยลทีเดียว

ไม่เรียน ไม่ค้นคว้าไม่ได้ ในหลวงจะถามมาเมื่อไหร่ไม่รู้ เมื่อถามมาแล้วตอบไม่ได้จะอับอายขายหน้าเอา สำนวนสมัยนี้ว่า "หน้าแตก" ถ้าเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ขืนตอบไม่ได้ อาการหน้าแตกก็มากหน่อยถึงขั้น "หมอไม่รับเย็บ" เลยแหละครับ จะมามัวฉันแล้วเอน เพลแล้วนอน เย็นพักผ่อน ตอนค่ำจำวัดไม่ได้เป็นอันขาด ว่างั้นเถอะ

ถ้าถามว่า ธรรมเนียมพระราชปุจฉานี้พระมหากษัตริย์ไทยได้มาจากไทย ผมขอใช้เวิร์บทูเดาเอาว่า คงสืบเนื่องมาแต่สมัยพุทธกาลกระมังครับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ ตลอดพระชนม์ชีพ หนึ่งใน ๕ ประการ คือ "ทรงแก้ปัญหาเทวดา" เทวดา ที่ว่านี้นอกจากหมายถึงเทวดาจริงๆ แล้วยังหมายถึง พระราชามหากษัตริย์ด้วย เวลาว่างจากพระราชภารกิจ พระราชามหากษัตริย์ก็มักไปทูลถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ กับพระพุทธเจ้าเสมอ

กษัตริย์ที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ่อยกว่าใครคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล จนกระทั่งในพระไตรปิฎกมีบันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้ต่างหากเรียกว่า "โกศลสังยุตต์"

กษัตริย์องค์นี้แหละครับที่เสวยมากจนอ้วนฉุ แล้วเสด็จไปขอคาถาลดความอ้วนจากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานก็ลดความอ้วนมีหุ่นสเลนเดอร์หล่อเฟี้ยวกว่าเดิม ดังที่ผมได้เขียนเล่าไว้แล้วในคอลัมน์นี้แหละ (เมื่อไรก็จำไม่ได้แล้ว)

คราวหนึ่งขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีชฏิลิ (นักบวชเกล้าผม) ๗ คน นิครนถ์ (นักบวชศาสนาเชน) ๗ คน อเจลก (พวกชีเปลือย) ๗ คน เอกสาฏิกนิครนถ์ (นิครนถ์ประเภทนุ่งผ้าผืนเดียว) จ คน เดินมาแต่ละคนหน้าตาพิลึกพิสดาร ขนรักแร้ดำปื้ด เล็บยาว ขนยาวน่าเกลียด พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลุกขึ้นคุกพระชานุ (คุกเข่า) ทรงประคองอัญชลี ตรัสว่า "พระคุณเจ้าผู้ทรงศีล ข้าพเจ้า ปเสนทิโกศลขอนมัสการ" แล้วหันมา กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "สมณะเหล่านั้นเป็นอรหันต์"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม มีลูกมีเมีย ทรงรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่" แล้วตรัสต่อไปว่า "จะรู้ว่าใครมีศีลจริงหรือไม่ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ จะรู้ใครมือสะอาดจริงหรือไม่ต้องดูจากการทำงาน จะรู้ว่าใครกล้าจริงต้องดูเมื่อถึงคราวมีอันตราย จะรู้ว่าใครมีปัญญาแค่ไหนต้องดูจากการสนทนา"

พระพุทธดำรัสนี้ทำให้พระเจ้า ปเสนทิโกศลถึงกับสะอึก ในที่สุดก็สารภาพออกมาว่า แท้ที่จริงพระพวกนั้นมิใช่อรหันต์ แต่เป็น "สปาย" ที่พระองค์ส่งไปสอดแนมตามชนบทต่างๆ

เดี๋ยวนี้มีข่าวว่ามีอรหันต์เกิดขึ้น เยอะแยะ ส่วนมากก็พวก "อรหันต์ตั้ง" คือตั้งกันเอง หรือตั้งตัวเอง เผลอๆ อาจมี "สปาย" หวังทำลายพระพุทธศาสนา ดังสปายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ใครจะรู้  

ถ้าถามว่า ธรรมเนียมพระราชปุจฉานี้พระมหากษัตริย์ไทยได้มาจากไทย ผมขอใช้เวิร์บทูเดาเอาว่า คงสืบเนื่องมาแต่สมัยพุทธกาลกระมังครับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ ตลอดพระชนม์ชีพ หนึ่งใน ๕ ประการ คือ "ทรงแก้ปัญหาเทวดา" เทวดา ที่ว่านี้นอกจากหมายถึงเทวดาจริงๆ แล้วยังหมายถึง พระราชามหากษัตริย์ด้วย เวลาว่างจากพระราชภารกิจ พระราชามหากษัตริย์ก็มักไปทูลถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ กับพระพุทธเจ้าเสมอ

กษัตริย์ที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ่อยกว่าใครคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล จนกระทั่งในพระไตรปิฎกมีบันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้ต่างหากเรียกว่า "โกศลสังยุตต์"

กษัตริย์องค์นี้แหละครับที่เสวยมากจนอ้วนฉุ แล้วเสด็จไปขอคาถาลดความอ้วนจากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานก็ลดความอ้วนมีหุ่นสเลนเดอร์หล่อเฟี้ยวกว่าเดิม ดังที่ผมได้เขียนเล่าไว้แล้วในคอลัมน์นี้แหละ (เมื่อไรก็จำไม่ได้แล้ว)

คราวหนึ่งขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีชฏิลิ (นักบวชเกล้าผม) ๗ คน นิครนถ์ (นักบวชศาสนาเชน) ๗ คน อเจลก (พวกชีเปลือย) ๗ คน เอกสาฏิกนิครนถ์ (นิครนถ์ประเภทนุ่งผ้าผืนเดียว) ๗ คน เดินมาแต่ละคนหน้าตาพิลึกพิสดาร ขนรักแร้ดำปื๊ด เล็บยาว ขนยาวน่าเกลียด พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลุกขึ้นคุกพระชานุ (คุกเข่า) ทรงประคองอัญชลี ตรัสว่า "พระคุณเจ้าผู้ทรงศีล ข้าพเจ้าปเสนทิโกศลขอนมัสการ" แล้วหันมากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "สมณะเหล่านั้นเป็นอรหันต์"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม มีลูกมีเมีย ทรงรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่" แล้วตรัสต่อไปว่า "จะรู้ว่าใครมีศีลจริงหรือไม่ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ จะรู้ใครมือสะอาดจริงหรือไม่ต้องดูจากการทำงาน จะรู้ว่าใครกล้าจริงต้องดูเมื่อถึงคราวมีอันตราย จะรู้ว่าใครมีปัญญาแค่ไหนต้องดูจากการสนทนา"

พระพุทธดำรัสนี้ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับสะอึก ในที่สุดก็สารภาพออกมาว่า แท้ที่จริงพระพวกนั้นมิใช่อรหันต์ แต่เป็น "สปาย" ที่พระองค์ส่งไปสอดแนมตามชนบทต่างๆ

เดี๋ยวนี้มีข่าวว่ามีอรหันต์เกิดขึ้นเยอะแยะ ส่วนมากก็พวก "อรหันต์ตั้ง" คือตั้งกันเอง หรือตั้งตัวเอง เผลอๆ อาจมี "สปาย" หวังทำลายพระพุทธศาสนา ดังสปายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ใครจะรู้




ล้มแล้วลุกหรือเปล่า?

วันปีใหม่ เพิ่งผ่านไปหยกๆ ขอถือโอกาสคุยอะไรเบาๆ สบายๆ เพื่อให้เหมาะแก่บรรยากาศสักวันเถอะครับ

แต่เดิมคนไทยเราเฉลิมฉลองปีใหม่กันเดือนเมษายน นับเดือน ๕ เป็นเดือนแรกของปี เรียกว่าวัน "สงกรานต์"

คำว่า สงกรานต์ เป็นคำไทยที่แผลงมาจากคำสันสกฤตว่า "สังกรานตะ" แปลว่า "ก้าวไปแล้ว" "ย่างเข้าไปแล้ว" อะไรก้าว อะไรย่าง ท่านก็คงสงสัยใช่ไหมครับ

ดาวอาทิตย์โคจร (แปลว่าเดิน) ผ่านราศีต่างๆ เดือนหนึ่งย้ายราศีครั้งหนึ่ง โคจรไปเรื่อยๆ ตามเรื่องของมัน พอมันย้ายจากราศีมีน ก้าวเข้าสู่ราศีเมษวันแรกเขาก็เรียกว่า ดาวอาทิตย์ "สงกรานต์" เข้าราศีเมษแล้ว

กำหนดเอาวันนั้นแหละเป็นวันแรกของปีใหม่ ซึ่งตามปกติจะ ตกราวๆ วันที่ ๑๓ ของเดือนเมษายน ปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ นี้ วันสงกรานต์ก็ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนเช่นเดียวกัน

พอเริ่มวันใหม่ ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์อุจจาระเหม็นจะต้องยินดีปรีดาเฉลิมฉลองกัน อันการจะฉลองกันวันเดียวนั้นไม่มีเสียละ ไหนๆ ก็จะสนุกสนานกันแล้ว ก็ขอว่ากันสักสองสามวันเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นวันสงกรานต์จึงต้องมี ๓ วัน เริ่มวันที่ ๑๓ สิ้นสุดวันที่ ๑๕

วันที่ ๑๓ เป็นวันสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก ถึงวันนี้ ชาวไทยต่างเฉลิมฉลองกันมโหฬาร มีการทำบุญตักบาตร บังสุกุลอัฐิอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ ให้ของขวัญกันและรื่นเริงตามประเพณีนิยม เดิมเรารดน้ำเพื่ออวยพรกัน ต่อมาได้ขยายออกไปจนกลายเป็นการสาดน้ำใส่กัน ปัจจุบันนี้ออกจะเลยขอบเขตไปไกลถึงขั้นเอาน้ำสกปรก หรือน้ำผสมน้ำแข็ง ก้อนโตๆ สาดใส่คนเดินผ่านไปมา จนเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าเขา หรือทำให้เขาบาดเจ็บไปก็มี ที่ก้าวหน้ากว่านั้น คือ เอาน้ำใส่กระบอกฉีด ฉีดเข้าตาคนอื่นด้วยความคึกคะนองก็มี

แม้ว่าเราจะเลิกนับเดือนเมษายน หรือเดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ หันมานับแบบสากลแล้ว เราก็ยังมีประเพณีวันสงกรานต์อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เลิกแต่ไม่เลิกว่างั้นเถอะ ตกลงเลยได้โอกาสเฉลิมฉลองเพิ่มขึ้นอีกวัน วันสงกรานต์ก็ฉลอง วันปีใหม่แบบสากลก็ได้ฉลอง หนำใจประชาชนคนไทยผู้ชอบสนุกนักแล

บัตรอวยพรดูเหมือนจะขายดีในเทศกาลนี้ ร้านหนังสือทั่วไป ส่วนมากจะเก็บหนังสือเอาบัตรอวยพรมาวางขายแทน (คนพิมพ์หนังสือเขียนหนังสือขายอย่างผมจะรู้สึกเดือดร้อนเหมือนกัน เพราะหนังสือโดนเก็บหมด)

พูดถึงการอวยพร ผมอยากฝากข้อคิดเห็นส่วนตัวสักเล็กน้อย ธรรมเนียมไทยเราไม่นิยมให้ผู้น้อยอวยพรผู้ใหญ่นะครับ เรามีคำพูดติดปากว่า เราไปรดน้ำ "ขอพร" จากผู้ใหญ่ เพราะผู้น้อยด้อยอาวุโสไม่อยู่ในฐานะจะอวยพรให้ผู้ใหญ่ ผู้ใดทำถือว่า "บังอาจ" ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ธรรมเนียมไทยเขาไม่ปฏิบัติกัน

แต่ปัจจุบันนี้เห็นเด็กๆ ไปอวยพรผู้ใหญ่กันหน้าตาเฉย คงถือว่าเป็นความปรารถนาดี ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ย่อมมีสิทธิ์แสดงต่อกันได้ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ถือว่าถูกต้องโดยปริยาย ถึงไม่ถูกก็ทำอย่างไรได้ เพราะทำกันมาจนเลอะแล้ว ทั้งหัวหงอกและหัวดำ

บางอย่างเลอะจนไม่รู้ว่าจะเอายังไงกันแน่ เช่น เราสอนเด็กว่า เวลาผู้ใหญ่ให้ของเด็กต้องยกมือไหว้นะจ๊ะ เด็กมันก็จดจำเอาไปปฏิบัติ พอถึงเวลาสำคัญผู้ใหญ่มอบรางวัลให้เด็ก (เช่น รางวัลดีเด่นผู้ชนะประกวดมารยาทและวัฒนธรรมไทย) เด็กยกมือไหว้อย่างอ่อนน้อมสวยงาม เห็นแล้วชื่นใจ

แต่แล้วความชื่นใจชั่วครู่ก็กลายเป็นความ "ขัดใจ" เมื่อผู้ใหญ่ยื่นมือให้เด็กจับตามแบบฝรั่ง เด็กบางคนยืนงงไม่จับตอบ หน้าแตกไปเลยก็มี (สมน้ำหน้า)

ขอเรียนถามผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตรงนี้เลยครับว่า ท่านจะเอาแบบไหนกันแน่

ผู้รู้ท่านหนึ่งท่านบอกว่า เวลาผู้ใหญ่อวยพรเด็ก อยากให้อะไรก็กล่าวไปเลย ไม่ต้องอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น "ขอให้เธอมีความสุขความเจริญ" อะไรก็ว่าไป แต่เวลาผู้น้อยอยากอวยพรผู้ใหญ่ควรอ้างอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นสักขีพยาน เช่น "ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ขอให้คุณปู่จงอายุมั่นขวัญยืน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร (ให้นกน้อยๆ ได้เกาะรับประทานต่อไป)" อะไรอย่างนี้

อ้างพระศรีรัตนตรัย เพื่อเลี่ยงมิให้เด็กอวยพรผู้ใหญ่โดยตรง นับว่าเป็นทางออกที่ดี

ผมในฐานะผู้น้อยด้อยอาวุโส (ไม่อยากแก่ว่างั้นเถอะ) ขอให้คติธรรมสั้นๆ สำหรับต่อสู้กับชีวิตในกาลข้างหน้าสักบทเถอะครับ

"โคอาชาไนยตัวประเสริฐ
พลาดล้มแล้วลุกได้
สาวกของพระพุทธเจ้าเช่นเรา
จงถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง"

ครับ จะล้มสักกี่ครั้งกี่หนไม่สำคัญ สำคัญที่ล้มแล้วเราลุกขึ้นก้าวต่อไปหรือไม่



พระราชปุจฉา

มีประเพณีอย่างหนึ่งของไทยที่ประเทศนับถือพระพุทธศาสนาอื่นเขาไม่มีกัน คือประเพณีพระราชปุจฉา

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปุจฉาถามไปยังพระสงฆ์ผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่พระองค์ทรงสงสัย พระสงฆ์ได้รับพระราชปุจฉาแล้ว จะเรียบเรียงคำวิสัชนาถวาย โดยอาจมอบหมายให้พระเถระผู้ทรงภูมิความรู้รูปใดรูปหนึ่งรับหน้าที่ตอบ หรืออาจประชุมปรึกษาหารือกันเป็นคณะก็ได้

ว่ากันว่าประเพณีพระราชปุจฉานี้ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะมีสำเนาหนังสือพระราชปุจฉาหลงเหลือมาให้เห็นอยู่หลายเรื่อง ต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีมากที่สุด เท่าที่มีหลักฐานในหอสมุดถึง ๓๙ เรื่อง มากกว่ารัชกาลใดๆ

เหตุที่มีมากขนาดนั้นตอบได้ง่าย เพราะหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้วก็ตาม พระสงฆ์องค์เจ้าที่รอดตายมาครั้งกระโน้นก็คงหาผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกน้อยมาก พอถึงรัชกาลที่หนึ่ง พระองค์ก็ทรงทำสังคายนารวบรวมพระไตรปิฎกให้ครบสมบูรณ์ และหาอุบายให้พระสงฆ์ศึกษาพระไตรปิฎกให้แตกฉาน โดยทรงมีพระราชปุจฉาถามไปเนืองๆ ให้พระท่านช่วยกันวิสัชนา

บางปัญหาดูพื้นๆ เช่น มหาโจรฆ่าคนเป็นร้อยคน ทำไมฟังเทศน์ครั้งเดียวได้บรรลุอรหัต หรือพุทธศาสนาสอนว่า คนเราจะเป็นอย่างไรแล้วแต่กรรมที่ทำไว้ในปางก่อนบันดาล ถ้าเช่นนั้นเมื่อเดินไปเจอเสือก็ไม่ต้องหนีสิแล้วแต่กรรมจะบันดาลให้เป็นไป ปัญหาเหล่านี้เชื่อว่า พระมหากษัตริย์ก็ทรงทราบคำตอบอยู่แล้ว แต่ที่ทรงถามไปก็เพราะต้องการให้พระสงฆ์ท่านค้นคว้ามาตอบให้เป็นหลักเป็นฐาน

ตอบส่งเดชไม่ได้ ต้องอ้างพระบาลี อ้างอรรถกถา ฎีกา และการจะอ้างได้ขนาดนั้น ต้องศึกษาค้นคว้าไม่บันเบาทีเดียว นับว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีกุศโลบายให้พระศึกษาเล่าเรียนพระศาสนาอย่างแยบยลทีเดียว

ไม่เรียน ไม่ค้นคว้าไม่ได้ ในหลวงจะถามมาเมื่อไหร่ไม่รู้ เมื่อถามมาแล้วตอบไม่ได้จะอับอายขายหน้าเอา สำนวนสมัยนี้ว่า "หน้าแตก" ถ้าเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ขืนตอบไม่ได้ อาการหน้าแตกก็มากหน่อยถึงขั้น "หมอไม่รับเย็บ" เลยแหละครับ จะมามัวฉันแล้วเอน เพลแล้วนอน เย็นพักผ่อน ตอนค่ำจำวัดไม่ได้เป็นอันขาด ว่างั้นเถอะ

ถ้าถามว่า ธรรมเนียมพระราชปุจฉานี้พระมหากษัตริย์ไทยได้มาจากไทย ผมขอใช้เวิร์บทูเดาเอาว่า คงสืบเนื่องมาแต่สมัยพุทธกาลกระมังครับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ ตลอดพระชนม์ชีพ หนึ่งใน ๕ ประการ คือ "ทรงแก้ปัญหาเทวดา" เทวดา ที่ว่านี้นอกจากหมายถึงเทวดาจริงๆ แล้วยังหมายถึง พระราชามหากษัตริย์ด้วย เวลาว่างจากพระราชภารกิจ พระราชามหากษัตริย์ก็มักไปทูลถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ กับพระพุทธเจ้าเสมอ

กษัตริย์ที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ่อยกว่าใครคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล จนกระทั่งในพระไตรปิฎกมีบันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้ต่างหากเรียกว่า "โกศลสังยุตต์"

กษัตริย์องค์นี้แหละครับที่เสวยมากจนอ้วนฉุ แล้วเสด็จไปขอคาถาลดความอ้วนจากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานก็ลดความอ้วนมีหุ่นสเลนเดอร์หล่อเฟี้ยวกว่าเดิม ดังที่ผมได้เขียนเล่าไว้แล้วในคอลัมน์นี้แหละ (เมื่อไรก็จำไม่ได้แล้ว)

คราวหนึ่งขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีชฏิลิ (นักบวชเกล้าผม) ๗ คน นิครนถ์ (นักบวชศาสนาเชน) ๗ คน อเจลก (พวกชีเปลือย) ๗ คน เอกสาฏิกนิครนถ์ (นิครนถ์ประเภทนุ่งผ้าผืนเดียว) จ คน เดินมาแต่ละคนหน้าตาพิลึกพิสดาร ขนรักแร้ดำปื้ด เล็บยาว ขนยาวน่าเกลียด พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลุกขึ้นคุกพระชานุ (คุกเข่า) ทรงประคองอัญชลี ตรัสว่า "พระคุณเจ้าผู้ทรงศีล ข้าพเจ้า ปเสนทิโกศลขอนมัสการ" แล้วหันมา กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "สมณะเหล่านั้นเป็นอรหันต์"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม มีลูกมีเมีย ทรงรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่" แล้วตรัสต่อไปว่า "จะรู้ว่าใครมีศีลจริงหรือไม่ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ จะรู้ใครมือสะอาดจริงหรือไม่ต้องดูจากการทำงาน จะรู้ว่าใครกล้าจริงต้องดูเมื่อถึงคราวมีอันตราย จะรู้ว่าใครมีปัญญาแค่ไหนต้องดูจากการสนทนา"

พระพุทธดำรัสนี้ทำให้พระเจ้า ปเสนทิโกศลถึงกับสะอึก ในที่สุดก็สารภาพออกมาว่า แท้ที่จริงพระพวกนั้นมิใช่อรหันต์ แต่เป็น "สปาย" ที่พระองค์ส่งไปสอดแนมตามชนบทต่างๆ

เดี๋ยวนี้มีข่าวว่ามีอรหันต์เกิดขึ้น เยอะแยะ ส่วนมากก็พวก "อรหันต์ตั้ง" คือตั้งกันเอง หรือตั้งตัวเอง เผลอๆ อาจมี "สปาย" หวังทำลายพระพุทธศาสนา ดังสปายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ใครจะรู้  

ถ้าถามว่า ธรรมเนียมพระราชปุจฉานี้พระมหากษัตริย์ไทยได้มาจากไทย ผมขอใช้เวิร์บทูเดาเอาว่า คงสืบเนื่องมาแต่สมัยพุทธกาลกระมังครับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ ตลอดพระชนม์ชีพ หนึ่งใน ๕ ประการ คือ "ทรงแก้ปัญหาเทวดา" เทวดา ที่ว่านี้นอกจากหมายถึงเทวดาจริงๆ แล้วยังหมายถึง พระราชามหากษัตริย์ด้วย เวลาว่างจากพระราชภารกิจ พระราชามหากษัตริย์ก็มักไปทูลถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ กับพระพุทธเจ้าเสมอ

กษัตริย์ที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ่อยกว่าใครคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล จนกระทั่งในพระไตรปิฎกมีบันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้ต่างหากเรียกว่า "โกศลสังยุตต์"

กษัตริย์องค์นี้แหละครับที่เสวยมากจนอ้วนฉุ แล้วเสด็จไปขอคาถาลดความอ้วนจากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานก็ลดความอ้วนมีหุ่นสเลนเดอร์หล่อเฟี้ยวกว่าเดิม ดังที่ผมได้เขียนเล่าไว้แล้วในคอลัมน์นี้แหละ (เมื่อไรก็จำไม่ได้แล้ว)

คราวหนึ่งขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีชฏิลิ (นักบวชเกล้าผม) ๗ คน นิครนถ์ (นักบวชศาสนาเชน) ๗ คน อเจลก (พวกชีเปลือย) ๗ คน เอกสาฏิกนิครนถ์ (นิครนถ์ประเภทนุ่งผ้าผืนเดียว) ๗ คน เดินมาแต่ละคนหน้าตาพิลึกพิสดาร ขนรักแร้ดำปื๊ด เล็บยาว ขนยาวน่าเกลียด พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลุกขึ้นคุกพระชานุ (คุกเข่า) ทรงประคองอัญชลี ตรัสว่า "พระคุณเจ้าผู้ทรงศีล ข้าพเจ้าปเสนทิโกศลขอนมัสการ" แล้วหันมากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "สมณะเหล่านั้นเป็นอรหันต์"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม มีลูกมีเมีย ทรงรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่" แล้วตรัสต่อไปว่า "จะรู้ว่าใครมีศีลจริงหรือไม่ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ จะรู้ใครมือสะอาดจริงหรือไม่ต้องดูจากการทำงาน จะรู้ว่าใครกล้าจริงต้องดูเมื่อถึงคราวมีอันตราย จะรู้ว่าใครมีปัญญาแค่ไหนต้องดูจากการสนทนา"

พระพุทธดำรัสนี้ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับสะอึก ในที่สุดก็สารภาพออกมาว่า แท้ที่จริงพระพวกนั้นมิใช่อรหันต์ แต่เป็น "สปาย" ที่พระองค์ส่งไปสอดแนมตามชนบทต่างๆ

เดี๋ยวนี้มีข่าวว่ามีอรหันต์เกิดขึ้นเยอะแยะ ส่วนมากก็พวก "อรหันต์ตั้ง" คือตั้งกันเอง หรือตั้งตัวเอง เผลอๆ อาจมี "สปาย" หวังทำลายพระพุทธศาสนา ดังสปายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ใครจะรู้



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 ตุลาคม 2560 13:37:43 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #36 เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2560 15:32:05 »




เนื้อคู่กระดูกคู่

ผมได้รับจดหมายจากท่านผู้ใช้นามว่า "คนหมดหวังในชีวิต" ถามปัญหาซึ่งเกินวิสัยที่ผมจะตอบได้

ท่านผู้นี้เล่าเรื่องมายืดยาว พร้อมถามคำถามตอนท้ายว่า "ผมแต่งงานกับคนรักอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ช่วงแห่งความสุขช่างสั้นเหลือเกิน เพียงสามปีเธอก็ด่วนจากไปด้วยโรคมะเร็งร้าย ผมแทบหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ผมตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้พบเธอในชาติหน้าทุกๆ ชาติไป และชาตินี้จะไม่ขอแต่งงานใหม่ อยากเรียนถามคุณในฐานะผู้รอบรู้ศาสนาว่า คำอธิษฐานของผมจะเป็นไปได้ไหม"

ขอขอบพระคุณครับ ที่ให้เกียรติผมเป็นที่ปรึกษาปัญหาหัวใจ ไว้วางใจในความรู้ของผมขนาดถามปัญหาถึงชาติหน้าโน้นแน่ะครับ ผมเห็นจะต้องยืมสำนวนกำลังภายในมาตอบว่า "ผู้น้อยมิบังอาจ"

คุณน่ารักจังเลย แม้ภรรยาจะสิ้นชีวิตไปแล้ว คุณยังซื่อสัตย์มั่นในรักเดียวใจเดียวไม่ขอมีภรรยาใหม่ ผู้ชายอย่างคุณหาได้ยาก มีแต่ประเภทที่ภรรยายังไม่ตายก็แช่งชักหักกระดูก "เมื่อไหร่คุณเหี่ยวจะตายๆ สักที" อะไรอย่างนี้ หรือไม่ก็แอบไปมีบ้านเล็กๆ ไว้ไม่ให้บ้านใหญ่รู้ หยิบยื่นตำแหน่ง "ภรรยาหลวง" ให้ โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม สามี "กะหรั่ว" ประเภทนี้มีเยอะครับ

ว่าแต่คุณอย่า "ซีเครียด" นักครับ ต่อไปภายหน้าถ้าคุณพบสุภาพสตรีที่ดีและน่ารักเท่าภรรยาผู้ล่วงลับก็ตกลงปลงใจกับเธอเถอะครับ ผมเชื่อว่าอดีตภรรยาคุณคงไม่ว่ากระไรเพราะอยู่กันคนละโลกแล้ว

ผีอยู่ส่วนผี คนอยู่ส่วนคน ว่างั้นเถอะ

อย่าให้ความคิดมาหลอกหลอนตัวเองเหมือนไอ้หนุ่มในนิทาน (ที่จะเล่านี้) เลย จะทุกข์ใจเปล่าๆ เรื่องมีอยู่ว่า ชายหนุ่มคนหนึ่งรับปากกับภรรยาผู้ป่วยหนักกำลังจะล่วงลับไปว่า ถ้าเธอตายไป เขาต้องไม่มีภรรยาใหม่ ถ้ามีเมื่อใดเธอจะมาหลอกหลอนไม่สิ้นสุด

เขารักษาสัญญามาหลายปี จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบหญิงสาวคนหนึ่งน่ารักไม่แพ้ภรรยาผู้จากไป จึงขอแต่งงานกับเธอ คืนนั้นผีภรรยามาปรากฏตัวชี้หน้าด่าว่าเขาผิดสัญญาที่ให้ไว้

เขาจึงไปหาอาจารย์เซ็นท่านหนึ่ง ขอคำแนะนำจากท่าน อาจารย์เซ็นบอกว่า ถ้าผีภรรยามาให้เห็นอีก ให้กำถั่วเขียวขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วถามเธอไปว่า ในมือเขานั้นมีถั่วเขียวกี่เม็ด ถ้าเธอตอบถูก แสดงว่าเป็นอดีตภรรยาเขาจริง แต่ถ้าเธอตอบผิด ก็มิใช่ผี หากแต่เป็นเพียงภาพหลอนเท่านั้น

กลับถึงบ้าน เขาตระเตรียมหาถั่วเขียวใส่ชามนำมาวางไว้ข้างเตียง คืนนั้นผีภรรยาเขาปรากฏตัวอีก ชี้หน้าด่าเขาทันที

"พี่ไปพบพระเซ็นมาใช่ไหม"
"น้องรู้ได้ยังไง" เขาสะดุ้ง นึกไม่ถึงว่าเธอจะรู้
"มีอะไรบ้างที่น้องไม่รู้ พระเซ็นบ้านั่นถือดียังไง มาแนะนำให้สามีเขาเบี้ยวสัญญาภรรยา" นางบ่นอุบ
ชายหนุ่มหลับหูหลับตาคว้าถั่วเขียวมาเต็มกำมือ ถามว่า "น้องรู้ไหม ในกำมือนี้มีถั่วกี่เม็ด"

นางอึ้ง สักพักก็หายวับไปในความมืด

ตั้งแต่นั้นมา ไม่มีผีอดีตภรรยามารบกวนเขาอีกเลย และชายหนุ่มก็ได้แต่งงานอยู่กินกับภรรยาคนใหม่อย่างสุโขสโมสร

เล่านิทานให้ฟัง เผื่อกาลข้างหน้าคุณไปพบเนื้อคู่กระดูกคู่คนใหม่จะได้ไม่รู้สึกผิดต่ออดีตภรรยาที่อยู่กันคนละโลก ทุกอย่างมันแน่นอนเสียเมื่อไหร่เล่าครับ

ที่คุณถามว่า คุณตั้งปรารถนาไว้ขอให้พบเธอทุกภพทุกชาติจะเป็นไปได้ไหม ผมขอเรียนสารภาพว่า ไม่รู้ เพราะผมเองก็จำไม่ได้ว่า ภรรยาเมียที่อยู่ด้วย กันสุขบ้างทุกข์บ้างทุกวันนี้ เป็นคนที่ผมตั้งความปรารถนาขอให้ไปพบในชาติก่อนหรือไม่ ผมไม่มีอตีตังสญาณ (การหยั่งรู้อดีตชาติ) จึงหาประจักษ์พยานมายืนยันกับคุณไม่ได้

ขอนำเอาพระพุทธพจน์มายืนยันก็แล้วกัน พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๗ ว่า "ดูก่อนพ่อบ้านและแม่บ้าน ถ้าภรรยาและสามีหวังจะพบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้งสองจงมีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน และมีปัญญาเสมอกัน แล้วจะได้พบกันทุกชาติ"

หมายความว่า ทั้งคู่จะต้องครองชีวิตคู่ให้เป็น "คู่สร้างคู่สม" ให้สมกันทั้งในด้านศรัทธา (ความเชื่อ) ศีล (ความประพฤติ) จาคะ (น้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่) และปัญญา (ความรู้ความเข้าใจ) และอธิษฐานจิตขอให้พบกันในชาติหน้า อย่างนี้มีหวังได้พบแน่ๆ พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนั้น

แต่ถ้าใครคนหนึ่งคนใดเข็ดเขี้ยวอีกฝ่ายหนึ่งแล้วไม่ขอพบด้วยก็เห็นจะลำบาก

เคยอ่านจารึกบนหลุมฝังศพบทหนึ่งว่า

ภรรยาของฉันนอนอยู่ที่นี่ My wife lies here,

ที่นี่ภรรยาของฉันนอนอยู่ Here lies my wife;

หล่อนได้พักผ่อนแล้ว She is at rest,

และฉันก็เช่นกัน And so am I.

ขณะยังมีชีวิตอยู่ เธอคงเอาแต่ฉอดๆ จนหูชา บัดนี้ หูทั้งสองข้างเขาได้พักแล้ว เชื่อว่านายคนนี้คงไม่ปรารถนาจะพบเธออีกแน่นอน ฮิฮิ



ล้มแล้วลุกหรือเปล่า?

วันปีใหม่ เพิ่งผ่านไปหยกๆ ขอถือโอกาสคุยอะไรเบาๆ สบายๆ เพื่อให้เหมาะแก่บรรยากาศสักวันเถอะครับ

แต่เดิมคนไทยเราเฉลิมฉลองปีใหม่กันเดือนเมษายน นับเดือน ๕ เป็นเดือนแรกของปี เรียกว่าวัน "สงกรานต์"

คำว่า สงกรานต์ เป็นคำไทยที่แผลงมาจากคำสันสกฤตว่า "สังกรานตะ" แปลว่า "ก้าวไปแล้ว" "ย่างเข้าไปแล้ว" อะไรก้าว อะไรย่าง ท่านก็คงสงสัยใช่ไหมครับ

ดาวอาทิตย์โคจร (แปลว่าเดิน) ผ่านราศีต่างๆ เดือนหนึ่งย้ายราศีครั้งหนึ่ง โคจรไปเรื่อยๆ ตามเรื่องของมัน พอมันย้ายจากราศีมีน ก้าวเข้าสู่ราศีเมษวันแรกเขาก็เรียกว่า ดาวอาทิตย์ "สงกรานต์" เข้าราศีเมษแล้ว

กำหนดเอาวันนั้นแหละเป็นวันแรกของปีใหม่ ซึ่งตามปกติจะ ตกราวๆ วันที่ ๑๓ ของเดือนเมษายน ปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ นี้ วันสงกรานต์ก็ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนเช่นเดียวกัน

พอเริ่มวันใหม่ ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์อุจจาระเหม็นจะต้องยินดีปรีดาเฉลิมฉลองกัน อันการจะฉลองกันวันเดียวนั้นไม่มีเสียละ ไหนๆ ก็จะสนุกสนานกันแล้ว ก็ขอว่ากันสักสองสามวันเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นวันสงกรานต์จึงต้องมี ๓ วัน เริ่มวันที่ ๑๓ สิ้นสุดวันที่ ๑๕

วันที่ ๑๓ เป็นวันสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก ถึงวันนี้ ชาวไทยต่างเฉลิมฉลองกันมโหฬาร มีการทำบุญตักบาตร บังสุกุลอัฐิอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ ให้ของขวัญกันและรื่นเริงตามประเพณีนิยม เดิมเรารดน้ำเพื่ออวยพรกัน ต่อมาได้ขยายออกไปจนกลายเป็นการสาดน้ำใส่กัน ปัจจุบันนี้ออกจะเลยขอบเขตไปไกลถึงขั้นเอาน้ำสกปรก หรือน้ำผสมน้ำแข็ง ก้อนโตๆ สาดใส่คนเดินผ่านไปมา จนเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าเขา หรือทำให้เขาบาดเจ็บไปก็มี ที่ก้าวหน้ากว่านั้น คือ เอาน้ำใส่กระบอกฉีด ฉีดเข้าตาคนอื่นด้วยความคึกคะนองก็มี

แม้ว่าเราจะเลิกนับเดือนเมษายน หรือเดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ หันมานับแบบสากลแล้ว เราก็ยังมีประเพณีวันสงกรานต์อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เลิกแต่ไม่เลิกว่างั้นเถอะ ตกลงเลยได้โอกาสเฉลิมฉลองเพิ่มขึ้นอีกวัน วันสงกรานต์ก็ฉลอง วันปีใหม่แบบสากลก็ได้ฉลอง หนำใจประชาชนคนไทย ผู้ชอบสนุกนักแล

บัตรอวยพรดูเหมือนจะขายดีในเทศกาลนี้ ร้านหนังสือทั่วไป ส่วนมากจะเก็บหนังสือเอาบัตรอวยพรมาวางขายแทน (คนพิมพ์หนังสือเขียนหนังสือขายอย่างผมจะรู้สึกเดือดร้อนเหมือนกัน เพราะหนังสือโดนเก็บหมด)

พูดถึงการอวยพร ผมอยากฝากข้อคิดเห็นส่วนตัวสักเล็กน้อย ธรรมเนียมไทยเราไม่นิยมให้ผู้น้อยอวยพรผู้ใหญ่นะครับ เรามีคำพูดติดปากว่า เราไปรดน้ำ "ขอพร" จากผู้ใหญ่ เพราะผู้น้อยด้อยอาวุโสไม่อยู่ในฐานะจะอวยพรให้ผู้ใหญ่ ผู้ใดทำถือว่า "บังอาจ" ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ธรรมเนียมไทยเขาไม่ปฏิบัติกัน

แต่ปัจจุบันนี้เห็นเด็กๆ ไปอวยพรผู้ใหญ่กันหน้าตาเฉย คงถือว่าเป็นความปรารถนาดี ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ย่อมมีสิทธิ์แสดงต่อกันได้ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ถือว่าถูกต้องโดยปริยาย ถึงไม่ถูกก็ทำอย่างไรได้ เพราะทำกันมาจนเลอะแล้ว ทั้งหัวหงอกและหัวดำ

บางอย่างเลอะจนไม่รู้ว่าจะเอายังไงกันแน่ เช่น เราสอนเด็กว่า เวลาผู้ใหญ่ให้ของ เด็กต้องยกมือไหว้นะจ๊ะ เด็กมันก็จดจำเอาไปปฏิบัติ พอถึงเวลาสำคัญผู้ใหญ่มอบรางวัลให้เด็ก (เช่น รางวัลดีเด่นผู้ชนะประกวดมารยาทและวัฒนธรรมไทย) เด็กยกมือไหว้อย่างอ่อนน้อมสวยงาม เห็นแล้วชื่นใจ

แต่แล้วความชื่นใจชั่วครู่ก็กลายเป็นความ "ขัดใจ" เมื่อผู้ใหญ่ยื่นมือให้เด็กจับตามแบบฝรั่ง เด็กบางคนยืนงงไม่จับตอบ หน้าแตกไปเลยก็มี (สมน้ำหน้า)

ขอเรียนถามผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตรงนี้เลยครับว่า ท่านจะเอาแบบไหนกันแน่

ผู้รู้ท่านหนึ่งท่านบอกว่า เวลาผู้ใหญ่อวยพรเด็ก อยากให้อะไรก็กล่าวไปเลย ไม่ต้องอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น "ขอให้เธอมีความสุขความเจริญ" อะไรก็ว่าไป แต่เวลาผู้น้อยอยากอวยพรผู้ใหญ่ควรอ้างอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นสักขีพยาน เช่น "ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ขอให้คุณปู่จงอายุมั่นขวัญยืน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร (ให้นกน้อยๆ ได้เกาะรับประทานต่อไป)" อะไรอย่างนี้

อ้างพระศรีรัตนตรัย เพื่อเลี่ยงมิให้เด็กอวยพรผู้ใหญ่โดยตรง นับว่าเป็นทางออก ที่ดี

ผมในฐานะผู้น้อยด้อยอาวุโส (ไม่อยากแก่ว่างั้นเถอะ) ขอให้คติธรรมสั้นๆ สำหรับต่อสู้กับชีวิตในกาลข้างหน้าสักบทเถอะครับ

"โคอาชาไนยตัวประเสริฐ

พลาดล้มแล้วลุกได้

สาวกของพระพุทธเจ้าเช่นเรา

จงถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง"

ครับ จะล้มสักกี่ครั้งกี่หนไม่สำคัญ สำคัญที่ล้มแล้วเราลุกขึ้นก้าวต่อไปหรือไม่



กรณียเมตตสูตร

"คุณได้เขียนเรื่องพระได้อาวุธ คือ เมตตา จากพระพุทธเจ้าแล้วไปจำพรรษาอยู่ในป่า พวกเทวดาทั้งหลายปกปักรักษาให้ปลอดภัย คุณบอกว่าว่างจะนำพระสูตรที่พระพุทธเจ้าประทานแก่พระท่องมาแปลให้ฟัง ผมก็รอมาจนบัดนี้ก็ไม่เห็นคุณเขียนถึง จึงเขียนมาทวงครับ ผมยังรออ่านอยู่ และเชื่อว่าผู้อ่านอื่นๆ ก็คงอยากทราบด้วย"

ข้อความข้างต้นเป็นจดหมายจากท่านผู้ใช้นามว่า "ชาวพุทธแก่" ผมต้องขอโทษที่หมู่นี้ออกจะแก่เกินวัยไปหน่อย จำไม่ได้ว่าได้ให้สัญญาอะไรแก่ท่านผู้อ่านไว้บ้าง บางทีก็เป็นเพียง "สไตล์" การเขียนนะครับ เขียนถึงอะไรแล้วเห็นว่ายังมีข้อที่น่าสนใจก็มักจะพูดว่า "ว่างๆ จะเล่าให้ฟัง" บอกแล้วก็บอกเลยแสดงว่าไม่ว่าง ฮิฮิ

คราวนี้ขอใช้หนี้เรื่องนี้ก่อน (มีหนี้อะไรอีกที่ผมก่อไว้ ก็โปรดทวงมาอีกนะครับ) พระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "พุทธาวุธ" ชื่อเต็มว่า กรณียเมตตสูตร มีเนื้อความดังนี้ "สิ่งที่ผู้ฉลาดในประโยชน์ ผู้มุ่งหวังในนิพพานจะพึงกระทำคือ เป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย (ไม่วุ่นวายในกิจการต่างๆ) มีความเป็นอยู่เบา (คล่องตัว) สำรวมอินทรีย์ มีปัญญารักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุล ไม่ทำชั่วแม้เล็กน้อยที่ผู้รู้จะพึงตำหนิได้

พึงแผ่เมตตาจิตไปยังสัตว์ทั้งหลายว่า

ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข มีความเกษมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะอ่อนแอหรือแข็งแรง ไม่ว่าจะสูง (ยาว) หรือใหญ่ ปานกลางหรือต่ำ (สั้น) ผอมหรืออ้วนพี สัตว์ทั้งหลายที่เรา (เคย) เห็นหรือว่าไม่ (เคย) เห็น อยู่ใกล้หรืออยู่ไกล เกิดมาแล้วหรือกำลังแสวงหาที่เกิด ขอจงมีความสุขโดยทั่วกันเทอญ

ขออย่าได้ข่มขู่กัน อย่าได้ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่ว่าในกาลไหนๆ ขออย่าได้ปรารถนาทุกข์แก่กันเพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้นเลย

มารดาถนอมบุตรสุดที่รักคนเดียว ปกป้องบุตรน้อยคนเดียว แม้ด้วยชีวิตฉันใด ผู้ฉลาดในประโยชน์พึงแผ่ความรักอันหาประมาณมิได้ไปยังสัตว์ทั้งปวงดุจเดียวกัน

พึงเจริญเมตตาจิตอันหาประมาณมิได้ในสัตว์ทั้งหลายในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไร้ความเคียดแค้น ไร้เวร ไร้ศัตรู

ไม่ว่าจะยืนหรือเดิน นั่งหรือนอน พึงตั้งจิตประกอบด้วยเมตตานี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วงหลับไป

บัณฑิตเรียกความเป็นอยู่อย่างนี้ว่า "พรหมวิหาร" (ความเป็นอยู่อย่างประเสริฐ)

กุลบุตรผู้เจริญเมตตา เป็นผู้มีศีล ไม่เห็นผิด มีความเห็นถูกต้อง คลายความกำหนัดในกามทั้งหลายได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีกแน่นอน"

พระสูตรนี้มีอยู่สามส่วนคือ ส่วนแรกพูดถึงคุณสมบัติที่บุคคลพึงมีหรือพึงฝึกฝนตนให้ได้ เช่น ต้องเป็นคนอาจหาญ (ในความดี) ซื่อตรง อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง เป็นต้น

ส่วนที่สองบอกวิธีแผ่เมตตาจิต แผ่ความรัก อันหาประมาณมิได้ไปยังสรรพสัตว์ ไม่ยกเว้นแม้ศัตรู ทำใจให้เป็นกลางปราศจากอคติใดๆ ขอให้สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุขๆ อย่าได้มีเวรมีภัยแก่กันเลย

ส่วนที่สามสรุปว่า ถ้าทำได้อย่างนี้เป็นนิจ เขาจะมีศีลสมบูรณ์ มีความเป็นถูกตามคลองธรรม หรือมีสัมมาทิฐิ คลายกามราคะได้ และบรรลุนิพพานในที่สุด

ใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย บอกว่า ผู้เจริญเมตตาเป็นนิจได้รับอานิสงส์ (ผลดี) ๑๑ ประการ คือ หลับสบาย, ตื่นเป็นสุข, ไม่ฝันร้าย, เป็นที่รักของอมนุษย์,

เทวดาพิทักษ์รักษา, ไม่ต้องอัคคีภัย, ยาพิษ, หรือศัตราวุธ, จิตเป็นสมาธิเร็ว, ใบหน้าผ่องใส, ถึงคราวตายก็ตายด้วยอาการสงบ, ถ้าไม่บรรลุคุณธรรมชั้นสูงตายไปก็ไปเกิดในพรหมโลก

ครับ ไม่มีอะไรดีเท่าแผ่เมตตา "ขอให้มีความสุขโดยทั่วกันเทอญ ขออย่าได้ขุ่มขู่กัน อย่าได้ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่ว่าในกาลไหนๆ ขออย่าได้ปรารถนาทุกข์แก่กันเพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้นเลย"

ที่แผ่ให้กันลำบากหน่อย ก็เห็นจะเป็นพวกที่กำลังแย่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครอยู่ขณะนี้แหละครับ





วัสสการพราหมณ์ต้นตำรับแผนเจ็บตัว

ในเกมการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งมีมากมายหลายวิธีนั้น วิธีหนึ่งที่ดูเหมือนจะล้าสมัยแต่ยังใช้ได้ผลตลอดกาลคือ "แผนเจ็บตัว" แบบวัสสการพราหมณ์

วันนี้ขอพูดถึงคนดังคนนี้สักหน่อยเถอะครับ วัสสการพราหมณ์แกเป็นคนชั้นมันสมองของกรุงราชคฤห์ รู้ว่ากษัตริย์ลิจฉวี เขาปกครองเมืองไพศาลีอย่างสมัครสมานสามัคคีกัน โจมตีอย่างไรก็ไม่แตก จึงยอมตนให้พระเจ้าอชาตศัตรูเฆี่ยนจนหลังลายแล้วไปขออาศัยอยู่กับกษัตริย์ลิจฉวี บอกว่าตนได้พยายามทัดทานมิให้พระเจ้าอชาตศัตรูรุกรานเมืองไพศาลี แต่พระเจ้าอชาตศัตรูกลับพิโรธหาว่าตนเข้าข้างศัตรู จึงสั่งเฆี่ยนและเนรเทศตนออกจากเมือง

พวกลิจฉวีรู้ไม่ทันอุบายของวัสสการพราหมณ์ นึกว่าที่แกพูดเป็นความจริง จึงรับแกมาอยู่ด้วย มอบหน้าที่ให้เป็นครูสอนเจ้าชายลิจฉวีทั้งหลาย ปีศาจในคราบครูผู้ถือศีลยุยงเด็กพักเดียวได้เรื่อง ก็ทะเลาะกันวุ่นวายนั่นแหละจะอะไรเสียอีก ลามไปถึงพ่อแม่ของเด็ก ในที่สุดพวกกษัตริย์ลิจฉวีที่ว่าสามัคคีกันนักหนาก็แตกคอกัน

เพื่อทดสอบว่าเขาแตกสามัคคีกันจริงหรือไม่ จึงลองไปตีกลองเรียกประชุม (ดังที่พวกเขาทำอยู่ประจำ) ปรากฏว่าไม่มีใครมาสักคน วัสสการพราหมณ์จึงส่ง "ซิก" ให้พระเจ้าอชาตศัตรูทราบ พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพมาล้อมเมือง พวกลิจฉวีได้แต่เกี่ยงกันว่า "มึงว่ามึงแน่ มึงก็ไปรบสิวะ" ไม่มีใครออกไปรบกับข้าศึกสักคน

เมืองไพศาลีที่มั่งคั่งมหาศาลก็ตกอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าอชาตศัตรูอย่างง่ายดาย วัสสการพราหมณ์แกยอมเจ็บตัวนิดหน่อย แต่ก็ได้ผลตอบแทนมหาศาล

สมัยนี้จะมีใครถนัดใช้แผนเจ็บตัวอย่างวัสสการพราหมณ์ผมไม่ทราบ เคยอ่านแต่นิทานเก่าแก่ชื่อ "พาหิรชาดก" มีเรื่องคล้ายกันนี้ ขอเล่าย่อๆ ดังนี้

ณ หมู่บ้าน "อันธภูต" ในเมืองพาราณสี (นิทานเรื่องไหนก็เกิดที่เมืองนี้ทั้งนั้นแหละ) มีการคัดเลือกหัวหน้าหมู่บ้าน (คงคล้ายตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของเรากระมัง) มีผู้มาสมัครหลายคน ต่างก็พรรณนาคุณภาพตัวเองว่าเหมาะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านทั้งนั้น

อยู่ดีๆ ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดทั่วหมู่บ้านว่า ผู้สมัครคนหนึ่งชื่อ "ภินนสัตยะ" เป็นผู้สัตย์ซื่อมือสะอาด ถูกผู้สมัครคนอื่นๆ รุมทำร้าย ชาวบ้านที่ทราบเรื่องต่างก็พูดด้วยความเห็นใจว่า น่าสงสารเขาจริงๆ เขาเป็นคนดีแท้ๆ ยังถูกรุมรังแกได้

ข่าวแรกไม่ทันจางหาย ข่าวลือใหม่ก็แพร่เข้ามาอีก คราวนี้ลือกันว่าท่าน "อิสิปาโมกข์" พระฤๅษีผู้อาวุโสในหมู่บ้านเรียกประชุมเหล่าฤๅษีทั้งหมดให้หาทางกีดกันมิให้ภันนสัตยะเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน นัยว่ารังเกียจที่ภินนสัตยะแกไปสนับสนุนฤๅษีนอกคอกอาจารย์ของแก ซึ่งไม่ยอมปฏิบัติตามอิสิวัตร (ข้อปฏิบัติของพวกฤๅษีทั้งหลาย) นึกจะพูดนึกจะทำอะไรก็พูดหรือทำตามชอบใจ สร้างความปั่นป่วนให้เกิดแก่วงการฤๅษีไม่น้อย

ข่าวที่ว่าท่านอิสิปาโมกข์จะเข้าฌานขั้นสูงใช้อำนาจสะกดจิตให้ชาวบ้านทั้งหมดเกลียดชังภินนสัตยะ

อีกสามวันต่อมาข่าวลือก็สะพัดมาอีกว่า ฤๅษีหนุ่มจำนวนพันประชุมกันคัดค้านนายภินนสัตยะ สอดรับกับท่านอิสิปาโมกข์ ทำให้ชาวบ้านงุนงงสงสัยว่าเพราะเหตุใดพวกฤๅษีซึ่งทรงศีลและทรงฌานสมาบัติจึงไม่สนับสนุนคนดี ฤๅษีถึงคราวที่หมู่บ้าน "อันธภูต" จะถึงการล่มสลาย แม้แต่ฤๅษียังมองเห็นคนดีเป็นคนชั่ว คนชั่วเป็นคนดีไปเสียแล้ว ชาวบ้านรำพึงระทดท้อ

หลากเสียงเรียกร้องให้ภินนสัตยะผู้น่าสงสารปรากฏตัว อยากรู้ว่าเขาถูกทำร้ายหนักหนาสาหัสอย่างใดบ้าง แต่ไม่ปรากฏแม้เงาของภินนสัตยะ มีเพียงผู้นำสารมาอ่านให้ชาวบ้านฟังว่า พ่อแม่พี่น้องไม่ต้องห่วง ขณะนี้ภินนสัตยะคนดีของพวกท่านอยู่ในที่ปลอดภัย ที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ระยะนี้ก็เพราะกำลังถูกตามล่าสังหาร โดยผู้สมัครหัวหน้าหมู่บ้านคนอื่นๆ

"พ่อจ๋าแม่จ๋า ช่วยภินนสัตยะด้วยเถิด เขาถูกรุมรังแกโดยไม่เป็นธรรม" เสียงอ่านสารสั่นเครือ

เขียนๆ ไป ชักจะเป็นนวนิยายไปทุกที เอาเป็นว่า พอถึงวันคัดเลือกจริงชาวบ้านต่างเห็นพ้องต้องกันเลือกนายภินนสัตยะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านของพวกเขา และขับไล่ผู้สมัครคนอื่นๆ หนีกระเจิดกระเจิงออกนอกหมู่บ้าน

ขณะที่พวกเขาวิ่งหนีตายอยู่นั้น รุกขเทวดาปรากฏตัวกล่าวแก่พวกเขาว่า "นี่แหละคือผลของการรุมรังแกคนดี"

พวกเขาวิ่งต่อไปสุดชีวิตจนมาสิ้นแรงล้มสลบลง ณ ชายป่าแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะครางออกมาด้วยความสิ้นหวังว่า

"โอ แม้กระทั่งเทวดายังหลงเชื่อว่า พวกเรารังแกเขา"



คุณธรรมที่คนส่วนมากขาด

ไปร่วมอภิปรายในงานสำคัญงานหนึ่ง ผู้อภิปรายท่านหนึ่งกล่าวว่า คนไทยมักขาดความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ชอบแต่ให้คนอื่นฉิบหาย แล้วท่านก็ยกตัวอย่างว่า จะเห็นได้เลยเวลาไฟไหม้บ้านคนอื่นก็ดี เวลาคนอื่นประสบอุบัติเหตุ เช่น โดนรถชน เป็นต้น ก็ดี จะมี "ไทยมุง" มากมาย มายืนดูความฉิบหายของคนอื่น ท่านว่าอย่างนั้น

ความจริงแล้วจะเหมาเอาว่าคนที่มายืนมุงดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่ว่ามานั้น เป็นพวกชอบให้คนอื่นฉิบหายก็คงไม่ถูกนัก เพราะธรรมชาติของคนทั่วไป ไม่ว่าชาติไทยหรือชาติไหน เมื่อเห็นอะไรผิดปกติก็อดจะมาดูไม่ได้ การมามุงดูก็เพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จะไปเหมาเอาหมดว่ามาดูเพื่อให้สะใจ เพื่อสุขใจที่เห็นคนอื่นฉิบหายก็คงไม่ถูก

แต่ถ้าจะพูดว่า คนไทยมักไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการอนุโมทนา หรือยินดีด้วยกับความสำเร็จ หรือความสุขของคนอื่นล่ะก็พอฟังขึ้น ทั้งๆ ที่สมัยโบราณท่านปลูกฝังเรื่องนี้มาก แต่ปัจจุบันนี้ได้จางคลายลงไปมาก

ในพระพุทธศาสนามีวิธีทำบุญอยู่อย่างหนึ่ง (ในสิบวิธี) คือการพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี เรียกว่า "อนุโมทนามัย" บุญกุศลสำเร็จด้วยการแสดงอาการ "พลอยยินดีด้วย"

ผู้ใหญ่จะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น เวลาผู้ใหญ่ท่านไปฟังธรรมมา หรือได้บริจาคเงินทำบุญอะไรมา ก็จะมาบอกลูกหลานว่า "พ่อแม่-ปู่ย่า ได้ทำบุญอย่างนั้นๆ มา ขอให้ลูกอนุโมทนาด้วยนะ" แล้วลูกหลานก็จะยกมือไหว้อนุโมทนาด้วย

ด้วยการทำอย่างนี้ ลูกหลานก็ได้บุญด้วย เป็นการแสดงออกซึ่งจิตใจที่บริสุทธิ์ พลอยยินดีกับการทำความดี ไม่อิจฉาริษยาที่เห็นคนอื่นทำดี

การทำเช่นนี้นับเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งชื่อ มุทิตา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลัก "พรหมวิหาร" (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) พระท่านว่าเป็นธรรมที่ทำให้คนเป็นผู้ประเสริฐ (พรหม แปลว่า ประเสริฐ) หรือเป็นธรรมสำหรับผู้ใหญ่ (พรหม แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ใหญ่)

สังคมใดถ้าผู้ใหญ่มีมุทิตา สังคมนั้นจะมีแต่ความสมัครสมานสามัคคี และมีความเจริญก้าวหน้า เพราะมุทิตานับเป็นคุณธรรมที่ "เสริมแรง" หรือกระตุ้นให้คนทำความดี

ว่ากันว่า ผู้ใหญ่ทำดีนั้นง่าย เพียงแค่พูดแสดงความชื่นชมยินดีกับลูกน้องประโยคเดียว ก็นับว่าได้ทำความดีแล้วเช่น "ดีใจด้วยนะ ขอแสดงความยินดีด้วย ที่ได้ทราบว่าคุณได้รับรางวัล" "งานนี้สำเร็จด้วยดี ก็เพราะคุณมีส่วนสำคัญมากขอขอบใจ ขอให้ช่วยกันนะ" ฯลฯ

ผู้ใหญ่ที่มีมุทิตาต่อผู้น้อยอย่างนี้ ย่อมเป็นที่รักและเคารพของผู้น้อยอย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องง่ายที่จะทำ แต่ก็ปรากฏว่าไม่ค่อยจะทำกัน ส่วนมากนอกจากจะไม่ชื่นชมยินดีกับความดีของลูกน้องแล้ว ยังแสดงความอิจฉาริษยาออกนอกหน้าเสียอีก

ผู้ใหญ่บางคนถือคติว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ใต้ตนทุกอย่าง จะปล่อยให้เกินหน้าเกินตาไม่ได้ เดี๋ยวเหลิงปกครองยาก ยิ่งเห็นหรือได้ยินคนอื่นชื่นชมลูกน้องของตนให้รู้สึกว่า ทนไม่ได้

เห็นผู้ใต้บังคับบัญชาคนใด ทำท่าจะแข่งรัศมีของตน ก็คอยกดขี่หรือกลั่นแกล้ง เพราะกลัวว่าตนเองจะด้อย จะหมดความสำคัญ

ผู้ใหญ่ที่คิดเช่นนี้ เป็นผู้ใหญ่ที่ขาดมุทิตาธรรม ถึงจะปกครองลูกน้องได้ก็ปกครองได้แต่กายของเขา หา "กำใจ" ของเขาได้ไม่

ถ้าอยากให้ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงานรักท่านอย่างสุดชีวิตจิตใจ ก็หัดรู้จักพลอยยินดีกับความสุขความสำเร็จของคนอื่นบ้างเถิด

ทำความดีอย่างนี้ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย



รู้อย่างเดียวก็ได้ แต่ให้เชี่ยวชาญ

คงจำกลอนของสุนทรภู่กันได้ว่า "รู้อะไรให้กระจ่างเพียงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล"

สมัยผมเป็นเด็ก ตาเล่านิทานสนุกๆ ให้ฟังหลายเรื่อง จำได้แม่นเรื่องหนึ่งคือเรื่อง "คนตดเก่ง" เรื่องมีว่ากระทาชายนายหนึ่งได้ลาพ่อแม่ไปศึกษาศิลปวิทยาจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ กับบรรดาเพื่อนๆ ทั้งหลาย

พวกเพื่อนๆ ต่างก็เลือกเรียนวิชาที่คนนิยมกันสมัยนั้น เช่น วิชาฟันดาบ ยิงธนู รัฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง ฯลฯ แต่กระทาชายนายนี้กลับเรียนไม่เหมือนเขา คือเรียนวิชาตด เรียนจนกระทั่งสามารถตดได้อย่างพิสดาร ตดเป็นเสียงดนตรีก็ได้ ร้องเพลงก็ได้ เป็นเสียงสัตว์ร้องนานาชนิดก็ได้

กลับมาถึงบ้านได้เล่าวิชาที่ตนจบมาให้พ่อแม่ฟัง พ่อโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ หาว่าลูกเฮงซวยอุตส่าห์เสียเงินเสียทอง เสียเวลาไปร่ำเรียนศิลปวิทยา หน็อยแน่เรียนอะไรไม่เรียน (เสือก) ไปเรียนวิชาอัปมงคล จึงตะเพิดออกจากบ้าน

เขาเร่ร่อนไปยังต่างแดน ไปถึงเมืองหนึ่ง พระราชธิดาของเจ้าเมืองป่วยเป็นโรคประหลาด ตาผมเรียกว่า "โรคกึก" คือไม่พูดไม่จากับใคร ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอะไรผิดปกติมาก่อน ไม่ยิ้มไม่หัวกับใครเศร้าซึมตลอดเวลา จนหมอหลวงทั้งหลายไม่มีปัญญารักษา เจ้าผู้ครองเมืองนั้นประกาศว่า ใครสามารถให้พระราชธิดาของพระองค์ยิ้ม หัวเราะ หรือพูดได้จะให้รางวัลอย่างงาม

เจ้าหนุ่มผู้สำเร็จวิทยายุทธ์กระบวนการตด เข้าไปอาสากับเจ้าผู้ครองเมืองว่าจะลองใช้วิชาของตนดู เผื่อได้ผล เขาแสดงเพลงตดสารพัดวิธีให้นางฟัง สาวน้อยผู้ไม่เคยพูดจา หรือแม้แต่ยิ้มหัวกับใครมาก่อนหัวร่อท้องคัดท้องแข็ง พูดว่าเขาช่างเก่งจัง ตดได้พิลึกกึกกือจริงๆ ว่าพลางก็สั่งให้เขาตดเป็นเสียงนั้นเสียงนี้อย่างสนุกสนาน

เจ้าผู้ครองเมืองดีพระทัยมากที่เจ้าหนุ่มสามารถรักษาให้ลูกสาวของตนหาย จึงปูนบำเหน็จให้อย่างงาม คือยกพระราชธิดาให้เป็นรางวัลเลย ตกลงเจ้าหมอนี่ไม่รู้อะไรเลย นอกจากวิชาตด ก็สามารถเป็นถึง "พระฮู่เบ๊" (ราชบุตรเขย) ของพระราชาได้

แล้วตาผมก็สรุปว่า "ขอให้รู้จริงๆ เถอะหลาน วิชาอะไรก็ได้ จะช่วยให้ทำมาหากินได้อย่างสบาย" ผมจำคำของตามาตลอด ออกจากโรงเรียนประถม แล้วก็ไปบวชเณรเรียนบาลีจนจบมีความรู้ภาษาบาลีจนแตกฉาน (ขอคุยสักหน่อย) รู้วิชาเดียวจริงๆ แล้วก็อาศัยหากินมาได้จนทุกวันนี้ คือเอาภาษามาประยุกต์ตั้งชื่อคนนั่นไง พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย "ลูกค้า" ผมมีมากมายทั่วประเทศ เสียแต่ผมไม่เอามาเป็นวิชาหากินเท่านั้น ทำเป็นวิทยาทาน

โปรดจำไว้เถอะครับ วิชาชีพอะไรก็ได้ ขอแต่ให้มีใจรักศึกษาและทำไปจนกระทั่งชำนิชำนาญ อำนวยประโยชน์ให้แก่เราแน่นอน ดังครูสุนทรภู่ว่า "ขอให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล" นั่นแหละครับ

ขอย้ำว่า ต้องเป็นวิชาชีพที่สุจริตชอบธรรมด้วยนะครับ ไอ้การหลอกลวงต้มตุ๋น หรือทุจริตมิจฉาชีพอื่นๆ ไม่นับนะครับ ถึงจะมีวิทยายุทธ์ล้ำเลิศเพียงใดก็ตาม




ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 ตุลาคม 2560 13:41:05 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #37 เมื่อ: 13 มิถุนายน 2560 14:37:13 »




เดียร์ถีย์

ปะหน้าท่านอุปนายกราชบัณฑิตยสถาน ดร.บุญพฤกษ์ จาฏามระ เมื่อสองสามวันก่อนท่านบอกว่า มหาไต้น่าจะเขียนถึง "เดียรถีย์" บ้างนะ อยากรู้ว่าเดียรถีย์ คือคนประเภทไหน ครั้งผมจะบอกว่า อยากรู้ก็ไปเปิดพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับที่ท่านเป็นกรรมการจัดทำเอาสิครับ ก็ไม่กล้า กลัวท่านเตะเอา

เรื่องพจนานุกรมนี่มีอะไรพิลึกๆ อยู่ เช่น จะเปิดหาความหมายของคำว่า "แลน" พบคำอธิบายว่า "สัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งปากแหลม ลิ้นสองแฉกเหมือนเหี้ย" เปิดคำว่า "เหี้ย" เจอคำอธิบายว่า "สัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ปากแหลม ลิ้นสองแฉก คล้ายแลน" เลยไม่รู้ว่าไอ้เหี้ยกับแลนมันหน้าตาเป็นยังไง

วิธีอธิบายอีกอย่างหนึ่งที่พบบ่อยคือ ท่านมักจะบอกเราไปดูที่โน่นที่นี่ แต่ไม่ยักมีให้ดูนี่่สิมันน่าโมโห เช่น "ตะกวด" ดู "แลน" ครั้งเปิดแลนก็เจอทำนองเดียวกันว่า "แลน" ดู "ตะกวด" อย่างนี้จะไปเห็นอะไรเล่าครับ ทั้งตะกวดทั้งแลนไม่มีให้ "ดู" สักตัว

ที่ว่านี้ผมมิได้หมายถึงพจนานุกรมฉบับใดฉบับหนึ่งดอกนะครับ (ก็ผมมิได้ระบุชื่อเลยสักเล่มนี่ใช่มั้ย)

ทีนี้มาว่าถึง "เดียรถีย์" ที่จั่วหัวไว้ข้างต้น พจนานุกรมให้คำจำกัดความว่า เดียรถีย์ หมายถึงนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาในอินเดีย "สมัยพุทธกาล" ถ้าถือตามนี้ ไม่ว่าใครถ้าบวชในศาสนาอื่นจากศาสนาพุทธ เป็นเดียรถีย์ทั้งนั้น มีความหมายในแง่ดี มิใช่แง่ลบหรือดูถูกดูหมิ่นแต่ประการใด แต่ยุคหลังนี่ต่างหากที่กลายมาเป็นเป็นคำต่ำ ใครขืนอุตริใช้เรียกคนอื่นมีหวังโดนเตะ

ดุจเดียวกับคำว่า "สมี" เดิมเป็นคำสูง ย่อมาจากคำว่า "สามี" (ผู้เป็นใหญ่) ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่เราใช้ตามอย่างพระลังกาวงศ์ คนที่บวชเรียนเป็น "สามี" หรือ "สมี" สึกออกมาชาวบ้านยังเรียกสามี หรือสมี อยู่ด้วยความเคารพนับถือ แต่ปัจจุบันกลายเป็นคำต้องห้ามไปแล้ว ใครอย่าเผลอนำไปใช้เป็นอันขาด หยั่งผมนี่ใครบังอาจมาเรียกว่า "สมีไต้" เมื่อไหร่ พอฆ่าได้ฆ่าทันที ถึงผมจะจับปืนไม่เป็น ยิงไม่เก่ง เหมือนเดียรถีย์ เอ๊ย เจ้ากูบางรูปก็เถอะ

สมัยพุทธกาล เดียรถีย์ที่ถูกกล่าวขวัญบ่อยคือพวกนักบวชศาสนาเชน ศิษย์ศาสดามหาวีระ หรือนิครนถ์นาฏบุตร เมื่อพระพุทธเจ้าประกาศศาสนามีคนเลื่อมใสนับถือมากขึ้น ทำให้สถานภาพของศาสนาเชน ซึ่งครองความเป็นใหญ่เหนือจิตใจชาวอินเดียมานานกระทบกระเทือน หนำซ้ำศิษย์เอกคนหนึ่งชื่ออุบาลีละทิ้งศาสนาเดิมหันมานับถือพุทธด้วย พวกเชนจึงเป็นเดือดเป็นแค้น วางแผนจองเวรอันสุนทรต่อพระพุทธองค์อย่างต่อเนื่อง

แผนแรกให้สาวกสาวสวยหยดย้อยหยาดเยิ้ม ไม่แพ้หนูปุ๋ย หนูนุชของไทยนามว่าจิญจมานวิกา ใส่ร้ายพระพุทธองค์ นางเที่ยวอ้างกับใครต่อใครว่า พระสมณโคดมนั้นไซร้ใช่อื่นไกล พระสวามีของน้องหนูเอง

วันหนึ่งขณะพระองค์แสดงธรรมอยู่ น้องหนูจิญฯ เธอเอาท่อนไม้กลมๆ ผูกพุงเอาผ้าเคียนให้ป่องเหมือนคนมีครรภ์ ใส่ชุด "ทรงกุมาร" เข้าไปต่อว่าต่อขานท่านกลางพุทธบริษัทที่กำลังฟังธรรมอยู่ "เด็จพี่มัวเทศน์อยู่นั่นแหละ น้องจิญฯ ตั้งท้องตั้งสี่เดือนแล้วยังไม่พาไปฝากครรภ์เลย จะฝากรามา หรือศิริราชก็รีบจัดการซะ" เอาละซิครับ เล่นเอาประชาชีงงงันไปตามๆ กัน

พระพุทธเจ้าตรัสตอบด้วยพระอาการสงบว่า "น้องหญิง ที่เจ้าพูดนั้นเรากับเธอเท่านั้นที่รู้ว่าจริงหรือไม่"

"ใช่สิๆ ก็เป็นเรื่องของสองคนผัวเมียนี่คะ" ยายเม้าปากม้านึกว่าตัวได้ทีเลยขี่แพะไล่ แต่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมต่อไปเฉย ไม่สนใจไยดี เธอเต้นเร่าด้วยความโกรธจัด จะเป็นด้วยเต้นแรงไปหน่อยหรือไงไม่รู้ ท่อนไม้ที่ผูกไว้กับพุงหล่นลงมา แผนการเลยแตก ประชาชนลุกฮือขึ้นมาไสหัวออกไปจากพระเชตวันวิหาร

ตำรากล่าวว่า เธอถูกแผ่นดินสูบ อ้ายนี่คงมิได้หมายความตามตัวอักษรดอกนะครับ เธอคงวิ่งกะเล่อกะล่าหนีฝูงชนเลยตกท่อผู้ว่าจำลอง เอ๊ย ตกหลุมตายหรือไม่ก็คงประชาชนรุมกระทืบตายนั่นเอง

แผนครั้งแรกล้มเหลว แผนที่สองตามมา คราวนี้จ้างนักเลงฆ่าสาวกสาวของตัวเอง นำศพไปทิ้งข้างพระเชตวัน ไปแจ้งความว่าสาวกของตนเองหายตัวไป สงสัยถูกล่อลวงไปในทางไม่ดี เมื่อคนพบศพอยู่ข้างวัดพุทธ เดียรถีย์จึงใส่ไคล้ว่าพระสมณโคดมเป็นตัวการ แต่ผลการสอบสวนของพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตัวฆาตกร เจ้านั่นสารภาพว่ารับจ้างพวกเดียรถีย์ฆ่านางเอง เป็นอันว่าขว้างงูไม่พ้นคอเป็นครั้งที่สอง พวกเดียรถีย์ตัวการจึงเข้าซังเตไปตามระเบียบ

เรื่องของเดียรถีย์มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ (ซึ่งต่างจาก เณรคัมภีร์!) มากมาย ส่วนมากเป็นเรื่องไม่ดีไม่งามของพวกเขาทั้งนั้น ถ้าไม่ได้เขียนขึ้นด้วยอคติ ก็แสดงว่าพวกเดียรถีย์นี่คง "ถ่อย" น่าดูชม เพราะพฤติกรรมถ่อยๆ เยี่ยงนี้กระมัง เวลาอาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์เอ่ยถึงพวกเดียรถีย์จึงมักมี "น้ำเสียง" ดูหมิ่นอยู่ในที เหตุนี้กระมังที่ทำให้คำนี้ตกต่ำไป

จากเดิมซึ่งหมายถึงนักบวชนอกพุทธศาสนาทั่วไป กลายมาเป็นนักบวชทุกศาสนาที่ทุศีลอลัชชีมีพฤติกรรมน่ารังเกียจ พูดให้ชัดก็คือ เดิมคำว่าเดียรถีย์หมายเอาเฉพาะนักบวชนอกพุทธศาสนา ต่อมาหมายเอาเฉพาะพวกที่ไม่ดี ต่อมาอีกพระในพุทธศาสนาที่ไม่ดีก็เรียกว่าเดียรถีย์

ประเภทพกปืนก๋า ตบหน้าลูกวัดที่ขัดขืน ไม่ฆ่าไก่แกงให้ฉันดินเนอร์เป็นนั่นแหละเดียรถีย์ละ



โอวาทปาติโมกข์-อาณาปาติโมกข์  

คําว่า ปาติโมกข์ เดิมทีเขียนว่า ปาฏิโมกข์ แปลกันว่า เป็นประธาน หรือเป็นหลักสำคัญ โอวาทปาติโมกข์ ก็คือ โอวาทหรือคำสั่งสอนอันเป็นหลักสำคัญ อาณาปาติโมกข์ ก็แปลว่า อำนาจหรือระเบียบวินัยที่เป็นหลักสำคัญ

ในพระพุทธศาสนามีปาติโมกข์สองอย่าง และมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกัน วันมาฆบูชา วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ "ปาติโมกข์" อย่างหนึ่งในสองปาติโมกข์เพิ่งผ่านไป จึงขอนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง ถ้าหนักไปก็โปรดหายาแก้ปวดกินหลังจากอ่านจบก็แล้วกัน

ตลอดระยะเวลา 20 ปีแรกหลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติพระวินัยหรือสิกขาบทเป็นข้อๆ ให้พระได้รักษา เพราะพระสงฆ์สาวกในยุคแรกล้วนแต่ผู้ที่เบื่อโลกแล้วมาบวช การประพฤติปฏิบัติจึงถูกต้องโดยอัตโนมัติ วินัยหรือสิกขาบทจึงไม่จำเป็น

พระพุทธองค์เพียงแต่แสดงโอวาทที่เป็นหลักสำคัญให้เหล่าสาวกฟังเพื่อเตือนสติทุกกึ่งเดือน เรียกว่า "โอวาทปาติโมกข์" วันแรกที่ทรงแสดงคือวันเพ็ญมาฆะ ๙ เดือนหลังจากตรัสรู้ ทรงแสดงท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันบาต" ณ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ดังที่ทราบกันดีแล้ว

โอวาทปาติโมกข์นี้ เป็นบทกวีบาลีที่ไพเราะเพราะพริ้ง (สำหรับคนอ่านบาลีออก) สามถาคากับอีกกึ่งคาถา มีหัวข้อธรรม ๑๓ หัวข้อ สรุปใจความได้ ๔ ประเด็นใหญ่ๆ คือ

-พูดถึงเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
-พูดถึงหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนา
-พูดถึงคุณสมบัติของพระสงฆ์ผู้มีหน้าที่เผยแพร่พระพุทธศาสนา
-พูดถึงวิธีการเผยแพร่พระพุทธศาสนา

สำหรับชาวพุทธไทย พอพูดถึงโอวาทปาติโมกข์ ก็นึกถึงเฉพาะหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนา ๓ ข้อ (คือการไม่ทำชั่วทั้งปวง การทำความดีให้พร้อมมูล และการทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายบัญญัติกันว่าเป็น "หัวใจพระพุทธศาสนา" ไม่เคยคิดว่าโอวาทปาติโมกข์มีมากกว่านั้น (เพราะมิได้สอนกัน) แต่ไม่เป็นไร จำได้แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว  

ระยะ ๒๐ ปีแรก พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกกึ่งเดือนติดต่อกันมา จนวันหนึ่งพระองค์ทรงงดแสดง เพราะทรงเห็นว่าบริษัทไม่บริสุทธิ์ (คือมีพระทุศีลเข้าร่วมฟังอยู่ด้วย จนพระโมคคัลลานะต้องจัดการดึงแขนท่านผู้นั้นออกจากที่ประชุม) กอปรกับเวลานั้นได้มีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้วจำนวนหนึ่ง จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์สาวกสวดให้กันฟังเอง

ตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์จึงประชุมกันฟังสวดปาติโมกข์ที่ว่านี้กันเองทุกกึ่งเดือน เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "ลงโบสถ์" เพราะท่านสวดกันที่ "โบสถ์" (ย่อมาจาก "พระอุโบสถ")

ปาติโมกข์ที่พระสงฆ์สวดนี้เรียกว่า "อาณาปาติโมกข์" (หรือภิกขุปาติโมกข์) มีหลักฐานว่าในช่วงแรกๆ มี ๑๕๐ สิกขาบทเท่านั้น ต่อมาเพิ่มเป็น ๒๒๗ สิกขาบท และสวดสืบต่อกันมาจนบัดนี้

ต่อไปนี้ขอนำเอาโอวาทปาติโมกข์มาลงไว้ให้อ่านทั้งหมดพร้อมคำแปลเพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจใคร่ศึกษา ดังนี้ครับ

(๑) ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติขฺขา นิพฺพานํ ปรมฺ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต

(๒) สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺทปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

(๓) อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมี ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

(๑) ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยอด นิพพานพระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า เป็นยอด ผู้ที่ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้ที่ยังเบียดเบียนคนอื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

(๒) ไม่ทำชั่วทุกชนิด ทำความดีให้พร้อม ทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

(๓) ไม่ว่าร้ายใคร ไม่กระทบกระทั่งใคร ระมัดระวังในปาติโมกข์ บริโภคพอประมาณ อยู่ในสถานสงัด ฝึกหัดจิตให้สงบ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ข้อไหนเป็นเป้าหมายสูงสุด เป็นหลักการทั่วไป เป็นคุณสมบัติของนักเผยแพร่และเป็นวิธีการเผยแพร่ ขอเชิญขบคิดเอาเองเทอญ



เมื่อสาวถามเรื่องภิกษุณี

ผู้ใช้นามว่า "สาวชอบธรรม" ถามว่าจริงหรือไม่ที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าผู้หญิงมีปัญญามากกว่าผู้ชาย คุณ "สาวชอบธรรม" บอกว่าเคยอ่านผ่านตาที่ไหนสักแห่งเกี่ยวกับพระเถรีชื่ออะไรก็จำไม่ได้ ที่ลูกตายแล้วมาบวช แล้วได้รับการยกย่องว่ามีปัญญามากกว่าพระอื่นๆ "เห็นว่า คุณไต้ ตามทาง เป็นพหูสูต คงทราบเรื่องนี้ดี ขอความรู้ด้วยค่ะ" เธอหยอดท้ายอย่างนี้

สงสัยว่าคุณ "สาวชอบธรรม" คงเป็นนักอ่านตัวยง อ่านมากเล่มเข้าความรู้เลยสับสนปนเปกันไปหมด ผมเคยมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งเป็นเช่นนี้ แกอ่านหนังสือสารพัด จำจากที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง คนละเรื่อง แต่เอามาปะติดปะต่อกันเป็น "คนละเรื่องเดียวกัน" อย่างน่าอัศจรรย์

เรื่องที่คุณถามมา หลังจากที่ผมนั่งงงอยู่หลายนาที ก็พอนึกได้ว่า คุณได้ปะติดปะต่อพระเถรีสองรูปเป็นเรื่องเดียว คือพระเถรีที่ลูกตาย แล้วเสียสติถึงกับแก้ผ้าเดินโทงๆ เข้าไปวัดขณะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ ได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมได้สติ แล้วขอบวชนั่นรูปหนึ่ง ส่วนพระเถรีที่อดีตเป็นเมียโจร ถูกโจรลวงขึ้นเขาหมายจะฆ่าเอาทรัพย์ แต่ใช้สติปัญญาเอาตัวรอดมาได้ แล้วไปบวชได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นผู้ตรัสรู้ฉับพลัน นี่อีกรูปหนึ่ง

ส่วนที่คุณจำมาว่า พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าผู้หญิงมีปัญญามากกว่าผู้ชายนั้น คงไม่มีที่ไหนตรัสไว้อย่างนี้ เท่าที่ผมทราบ ความจำคุณคงเลือนมาจากคาถาที่รุกขเทวดากล่าวชมภรรยาโจร หลังจากใช้สติปัญญาเอาตัวรอดว่า มิใช่ชายเท่านั้นที่ฉลาด สตรีที่รู้จักใช้ปัญญาก็นับว่าเป็นคนฉลาดเหมือนกัน

ขอเล่าประวัติพระเถรีทั้งสองโดยย่อๆ ดังนี้ครับ

เรื่องที่หนึ่ง ลูกสาวเศรษฐีเมืองราชคฤห์ เห็นเขาแห่นักโทษประหารประจานไปตามถนนก่อนนำไปสู่ตะแลงแกง เกิดปฏิพัทธ์รักใคร่ ให้คนนำเงินไปติดสินบนผู้คุมนักโทษ นำมหาโจรมาเป็นสามี อยู่ด้วยกันนานมา สามีโลภอยากครอบครองทรัพย์สมบัติเพียงผู้เดียวตามนิสัยโจร จึงออกอุบายพาภรรยาขึ้นไปแก้บนบนยอดเขา ให้ภรรยาแต่งตัวด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์เต็มที่ พอไปถึงยอดเขาจริง กลับบอกว่าตนหลอกเธอมาฆ่าเพื่อเอาทรัพย์สิน นางรู้ตัวว่าเสียรู้สามี จึงบอกสามีว่าไหนๆ จะตายแล้วขอให้เธอได้แสดงความจงรักภักดีต่อสามี ด้วยการอำลาเป็นครั้งสุดท้าย สามีอนุญาต เธอจึงฟ้อนรำรอบๆ สามี พอสามีเผลอจึงผลักเขาตกเหวตาย เอาชีวิตรอดมาได้ รุกขเทวดาเห็นเหตุการณ์นั้นได้กล่าวคาถาเชิงชมเชยดังกล่าวข้างต้น

จากนั้นนางก็ไปบวชเป็นปริพาชิกา ฝึกวาทศิลป์โต้ตอบปัญหาเอาชนะใครต่อใครมาทั่ว ได้พบพระสารีบุตรวาทะสู้พระสารีบุตรไม่ได้ จึงมาบวชเป็นภิกษุณี ไม่ช้าไม่นานก็ได้เป็นพระอรหันต์ ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยม) ในทางตรัสรู้ฉับพลัน ภิกษุณีรูปนี้ชื่อ กุณฑลเกสี ครับ

เรื่องที่สอง ลูกสาวเศรษฐีอีกเหมือนกันหนีตามผู้ชายจนๆ คนหนึ่ง อยู่ด้วยกันจนมีลูกสองคน แต่ละคนคลอดระหว่างทางทั้งนั้น (เวลาจะคลอดลูกทีไรนึกถึงบ้าน หนีสามีไป สามีตามทันระหว่างทางแล้วคลอดลูก) คืนที่คลอดลูกคนสุดท้ายฝนตกหนัก สามีถูกงูพิษกัดตาย เธออุ้มลูกที่เพิ่งคลอด อีกมือหนึ่งจูงลูกชายคนโตเดินมุ่งหน้าเข้าเมือง ถึงลำธารแห่งหนึ่งให้ลูกคนโตรออยู่ฝั่งนี้ อุ้มลูกคนเล็กลุยข้ามน้ำไปวางที่ฝั่งโน้น ลุยน้ำกลับมารับคนโต พอมาถึงกลางกระแสน้ำ เหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลงมาจะจับเอาลูกคนเล็กนึกว่าเป็นชิ้นเนื้อ นางโบกไม้โบกมือไล่อยู่กลางน้ำ ลูกชายคนโตนึกว่าแม่กวักมือเรียกกระโดดลงน้ำ ถูกกระแสน้ำพัดหายไปต่อหน้าต่อตาแม่ น่าสงสาร พอไปถึงในเมือง รู้ข่าวว่าบ้านถูกพายุพัดพังพินาศ พ่อแม่เสียชีวิตหมด จึงเสียใจจนเสียสติ เดินเข้าไปวัดพระเชตวันโดยไม่รู้ตัว พระพุทธองค์ตรัสเตือนให้มีสติ เธอได้สติขึ้นมาแล้วทูลขอบวช บวชแล้วไม่นานก็บรรลุอรหัต

ภิกษุณีรูปนี้ชื่อ ปฏาจารา ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็น "เอตทัคคะ" (ผู้ยอดเยี่ยม) ในทางเป็นผู้ทรงพระวินัย

พอพูดถึงหญิงที่เสียสติเพราะลูกตาย พระพุทธองค์ทรงโปรดไว้ นึกขึ้นได้อีกคนหนึ่งคือ นางกีสาโคตมี ลูกตายไม่ยอมรับความจริง เที่ยวอุ้มลูกไปหายารักษาให้ฟื้น มีคนแนะนำให้ไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงบอกให้เธอไปหาเมล็ดผักกาดมากำมือหนึ่ง จากบ้านเรือนที่ไม่มีใครตายเลย ได้มาแล้วจะทรงประกอบยาให้ นางเที่ยวตระเวนถามทั่วหมู่บ้านไม่ได้เมล็ดผักกาดแม้แต่เมล็ดเดียว เพราะแต่ละหลังคาเรือนล้วนมีคนเคยตายมาแล้วทั้งนั้น

นางก็ได้คิดขึ้นมาว่า มิใช่แต่ลูกนางเท่านั้นที่ตาย คนอื่นก็ตาย และตายมามากแล้ว จึง "ปลงตก" ในที่สุด

ครับ คนที่เข้าใจความจริงแห่งชีวิต จนปลงตกได้เป็นคนที่มีความสุขอย่างน่าอิจฉาที่สุด 



ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิต

ผมเป็นคนมีกรรม (กรรม ในความหมายที่ชาวบ้านเข้าใจ) ไม่ว่าจะเป็นอะไร ทำอะไร ต้องเสียเวลาอธิบายซ้ำซากมากกว่าชาวบ้านเขาจะเข้าใจ อย่างเมื่อครั้งผมสึกใหม่ๆ คนมักถามว่า "สึกทำไม อยู่จวนจะเป็นเจ้าคุณอยู่แล้ว" ครั้นผมบอกเหตุผลไปก็ซักอยู่นั่นแล้วจนรำคาญ ในที่สุดจึงคิดคำตอบ "ทีเด็ด" ขึ้นมาได้คือ "ผมอยากมีเมียว่ะ"

ได้ผลครับ ไม่มีใครซักต่อ

ครั้นสึกมาทำงานก็มีปัญหา คือ คนเขาถามว่า คุณมหาทำงานอะไรตอนนี้ บอกเขาว่า อยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

"เล่นเป็นตัวอะไร" เอาเชียว แกนึกว่ากรมศิลปากร ผมรีบอธิบายว่าไม่ใช่กรมศิลป์นะครับ มหาวิทยาลัยครับ

"อ๋อ เข้าใจแล้ว มหาวิทยาลัยกรมศิลปากร"

เป็นงั้นไป ถ้าไม่ใช่กรมศิลป์ก็มหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ละครับ ที่อ่อนการประชาสัมพันธ์กันเหลือเกิน ตั้งมาเป็นสิบๆ ปี คนยังแยกกันไม่ออกว่า ที่ไหนเป็นที่ไหน ฤๅจะอ่อนปวกเปียกกันทั้งสองสถาบันก็ไม่รู้

เดี๋ยวนี้ผมพยายามศึกษาจนรู้เรื่องสายงานทั้งสองแห่งเป็นอย่างดี เผื่อคุยกับคนเขาได้ไม่เคอะเขิน วันหนึ่งคุณพี่คนหนึ่งได้ยินว่า ผมอยู่ "ศิลปากร" แกถามว่า "คุณเล่นเป็นตัวอะไร"

"ลิงครับ" ผมตอบทันที คุณพี่แกยิ้มชอบใจ คงนึกว่าหุ่นและหน้าตาอย่างผมแสดงบทลิงได้ไม่เลวเชียวแหละ วันหนึ่งหลังจากผมไปอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่สถาบันแห่งหนึ่ง จบเดินลงมา ท่านผู้นั้นเข้ามาทัก

"แหม นึกว่าเก่งแต่เล่นโขน พูดเรื่องพระพุทธศาสนาก็เก่งด้วย"

ผมก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร

วันดีคืนดีผมก็ไปเกี่ยวข้องกับราชบัณฑิตยสถานในฐานะภาคีสมาชิก เมื่อบอกใครต่อใครถึงสถาบันแห่งนี้ เขาส่ายหัวดิก ไม่รู้จัก อย่างเก่งก็รู้เพียงว่า

"อ๋อ ทำพจนานุกรมฯ" แค่นั้นจริงๆ ครับ

นี่ก็อ่อนประชาสัมพันธ์ไม่แพ้ศิลปากรของผมเหมือนกัน

ความจริงสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ทำอะไรต่ออะไรให้แก่สังคมไทยมากมาย (มิใช่เฉพาะทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) เช่น งานบัญญัติศัพท์สาขาวิชาการแขนงต่างๆ อาทิ ศัพท์ปรัชญา ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ศัพท์รัฐศาสตร์ ฯลฯ จัดทำสารานุกรมชุดต่างๆ เป็นต้น ว่างๆ จะนำมาเล่าให้ฟัง วันนี้ขอพูดถึงเรื่องที่ศัพท์บัญญัติสักเล็กน้อย

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีศัพท์บัญญัติใหม่ๆ แปลกๆ ออกมาเป็นระยะๆ บางคำก็ "สวย" ดี (คือเขียนแล้วดูสวยงาม) บางคำก็ "ขี้เหร่" (คือดูไม่สวย แถมยังฟังกระด้างๆ อีกด้วย) บางคำสังคมยอมรับมาใช้กันแพร่หลาย ติดปากคนทั่วไป บางคำก็อายุสั้น ประชาชนรับไม่ได้ปล่อยให้ตายไปก่อนเวลาอันสมควร หลายคำพวกราชบัณฑิตท่านไม่ได้บัญญัติแต่ได้รับความนิยมแพร่หลายจนท่านต้องจัดเข้า "ทำเนียบศัพท์บัญญัติ" ด้วย

ยกตัวอย่างเช่นคำฝรั่งว่า automatic ท่านบัญญัติว่า "อัตโนวัติ" แปลว่า เป็นไปด้วยตนเอง ชาวบ้านไม่ชอบ อ่านไม่คล่องปาก มีคนอ่านเพี้ยนเป็น "อัตโนมัติ" (ถ้าจะแปลตามศัพท์ก็แปลว่า มีความคิดเป็นของตนเอง) ซึ่งไม่ตรงกับความหมายของ automatic แต่เสียงใกล้เคียงกว่า คนอื่นเห็นเข้าทีดี จึงนิยมใช้กันแพร่หลาย จนกระทั่งราชบัณฑิตท่านยอมแพ้ ยอมรับคำ "อัตโนมัติ" ว่าใช้ได้ ถึงแม้จะเพี้ยนก็เป็นคำ "เพี้ยนที่ใช้ได้"

พูดถึงตอนนี้นึกเสียดายอยู่คำหนึ่งคือ "ทัศนคติ" ที่ชาวบ้านทั่วไปเขาใช้แทนคำฝรั่งว่า attitude จนติดแล้ว แต่ท่านไม่ต้องการให้ใช้ บัญญัติใช้คำเป็นทางการว่า "เจตคติ" แต่รู้สึกว่าจะไม่ค่อย "ติด" ยังมีคนติดใจใช้ "ทัศนคติ" กันอยู่ ก็เห็นจะต้องรอพิสูจน์กันว่าสองคำนี้คำไหนจะ "อยู่รอด" ต่อไปในกาลข้างหน้า

อีกคำคือ "มลภาวะ" (แต่เขาอ่าน "มน-พา-วะ" แทนที่จะอ่านให้ถูกต้องว่า "มน-ละ-พา-วะ") ต่อมาราชบัณฑิตท่านเห็นว่า คำนี้ยังไม่ตรงกับคำเดิมนัก จึงบัญญัติใหม่ว่า "มลพิษ" แต่คนก็ไม่นิยมใช้ ยังชอบใช้ "มลภาวะ" อยู่เป็นส่วนมาก

เดี๋ยวนี้เกิดคำใหม่ผสมกันระหว่าง "มลภาวะ" กับ "มลพิษ" เป็น "มลภาวะเป็นพิษ" (ได้ยินอ่านกันว่า "มน-พา-วะ-เป็น-พิด") ข้าราชการผู้ใหญ่ และนักวิชาการหาง (หมายถึงปริญญา) ยาวๆ หลายท่านอ่านอย่างนี้ สงสัยราชบัณฑิตท่านคงจะต้องยอมรับว่าเป็น "คำเพี้ยนที่ใช้ได้" เสียแล้วล่ะครับ

มีหนังสือเล่มหนึ่งเป็นผลงานของราชบัณฑิตยสถานคือ ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ควรที่ท่านผู้ใฝ่รู้จะหามาไว้เป็นคู่มือศึกษาหาความรู้ ราคาเท่าไรผมจำไม่ได้ ที่มีอยู่เล่มหนึ่งก็ได้รับแจกฟรี

ลืมเปิดดูว่า condom ท่านบัญญัติศัพท์ไว้หรือยัง ถ้ายัง ควรใช้ "มีชัย" เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณมีชัย ผู้รณรงค์เรื่องการวางแผนครอบครัวและป้องกันโรคเอดส์ซึ่งกำลังระบาดอย่างน่ากลัวในปัจจุบัน

อ้อ ถ้าใครคิดจะบัญญัติศัพท์ genitals ล่ะก็ ขอเสนอคำว่า "ซ่วน" ไว้พิจารณาด้วย เพราะคนชื่อนี้ปั้นสิ่งนี้จนได้รับเกียรติเป็นถึงด๊อกเตอร์เชียวนะครับจะบอกให้




ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 ตุลาคม 2560 13:45:19 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #38 เมื่อ: 20 กรกฎาคม 2560 17:05:29 »




เรื่องของศัพท์แสง

หลังจากเขียนถึงศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตเมื่อคราวก่อน มีจดหมายเข้ามาหลายฉบับบอกว่าน่าสนใจคุณ (หมายถึงผม) น่าจะนำมาเขียนให้อ่านเรื่อยๆ เพื่อประกันความรู้ บางท่านถามเกี่ยวกับศัพท์บางศัพท์ที่ถูกเป็นอย่างไร บางท่านก็เข้าใจผิดไปใหญ่โต

เข้าใจว่าผมเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้บัญญัติคำเหล่านี้เสียเอง (อะไรจะขนาดนั้น)

หามิได้ขอรับท่าน "นักปราชญ์" ผมก็ไม่ได้เป็น "ราชบัณฑิต" ก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องศัพท์แสงก็เคยเป็นเพียงอนุกรรมการบัญญัติศัพท์อุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัยมาระยะหนึ่ง (ตอนนี้โดนปลดแล้ว) กับเป็นกรรมการบัญญัติศัพท์ศาสนาสากล (ซึ่งเพิ่งจะเริ่มทำ งาน) แค่นั้นเอง

ศัพท์บัญญัติที่ผมนำมาเขียนให้ท่านอ่านนั้น เป็นผลงานของคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ชุดก่อนๆ ท่านทำมาและได้พิมพ์เผยแพร่แล้ว หากท่านสนใจ ลองไปหาซื้ออ่านได้ ชื่อหนังสือ "ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน" (โฆษณาให้เป็นครั้งที่สองแล้วนะเนี่ย)

คุณ ศ.ว. บ่นมาว่า ทำไมราชบัณฑิตท่านไม่บัญญัติคำไทยแทนภาษาอังกฤษว่า technology สักที เห็นใช้คำ "เทคโนโลยี" กันเกร่อ อ่านออกเสียงแตกต่างกันไป บ้างก็อ่านว่า "เทคโนโลยี่" บ้างก็อ่าน "เทคโนโลจี้" คุณ (คือผม) ช่วยบัญญัติคำไทยๆ ให้ทีเถอะ รำคาญเต็มทน ว่าอย่างนั้น

นี่ไง ผมจึงอยากให้ไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านกัน คำที่ว่านี้ท่านบัญญัติไว้แล้วครับ ท่านบัญญัติว่า "ประยุกตวิทยา" หรือ "วิชาการเทคโนโลยี"

ให้เขียนว่า "เทคโนโลยี" เวลาอ่านคุณจะเน้นเสียงว่า "เทคโนโลยี่" หรืออ่าน "เทคโนโลยี" ก็ตามแต่จะบริดวก เอ๊ยสะดวก

คุณธงชัย ช่อพฤกษา สงสัยว่าแต่ก่อนเราใช้คำว่า "สังสันทน์" จนแพร่หลาย แต่ทำไมพจนานุกรม

ราชบัณฑิตยสถานไม่เก็บคำนี้ มีแต่ "สังสรรค์" ผมเคยเห็นเหมือนกันครับ

บางครั้งได้รับเชิญให้ไปร่วม "สังสันทน์" แต่ระยะหลังๆ เห็นเขียน "สังสรรค์" (ตามที่พจนานุกรมต้องการให้เขียน)

ความจริงคำว่า สังสรรค์ ก็มาจากคำเดียวกันกับ สังสนทนา, สั่งสนทนา (ที่มีในพจนานุกรม) นั้นแหละครับ เพียงแต่ใส่การันต์ตัวท้ายเพื่อให้อ่านออกเสียงสองพยางค์เท่านั้น ถ้าดูรากศัพท์ สังสันทน์, สังสนทนา หรือ สั่งสนทนา มาจากคำว่า สํสนฺทน แปลตามศัพท์ว่าการเทียบเคียง, การพูดจากัน หรือสนทนากันฐานกันเอง สังสรรค์ มาจากคำเดิมว่า สํสรฺค (สันสกฤต) หรือ สํสคฺค (บาลี) แปลว่า การเกี่ยวข้องสัมพันธ์, ความสนิทสนม, การพบปะกันด้วยความสนิทสนม

คุณ "คนไทยไม่รู้ภาษาไทย" ถามว่า เครื่องวีดิทัศน์คืออะไร เคยเห็นหนังสืออะไรพูดถึงสิ่งนี้ก็จำไม่ได้ เป็นศัพท์บัญญัติหรือเปล่า ใช่แล้วครับ วีดิทัศน์เป็นศัพท์บัญญัติแทนคำว่า video ครั้งแรกที่ผมเห็นศัพท์นี้ ผมเดาเอาเองว่า ท่านคณะกรรมการคงบัญญัติขึ้นจากคำว่า วิ (วิเศษ, แจ้ง) + อติ (ยิ่ง) + ทัศน์ (การเห็น) รวมแล้วเป็น วีติทัศน์ แล้วเขียนแผลงเป็นคำไทยว่า วีดิทัศน์ แปลตามตัวว่า "มองเห็นยิ่งอย่างวิเศษ หรืออย่างแจ่มแจ้ง" ก็คือ video นั่นเอง เพราะ video ตามความหมายเดิมก็คือ "สิ่งที่มองเห็นเป็นรูปภาพได้"

เมื่อคิดดั่งนี้แล้ว ก็นึกชมท่านผู้บัญญัติศัพท์อยู่ในใจว่า คิดได้ไม่เลว นอกจากได้รับความหมายแล้ว ยังได้เสียงอ่านใกล้เคียงคำเดิมอีกด้วย

แต่พอมาอ่านคำอธิบายที่มาของการบัญญัติคำนี้ กลับไม่ใช่ ท่านศาสตราจารย์ คุณบรรจบ พันธุเมธา ผู้เป็นต้นคิดคำนี้ ท่านว่ามาจากคำสันสกฤตว่า วีติ + ทัศน์ แล้วแผลงเป็นคำไทยว่า วีดิทัศน์ วีติ แปลว่า "ความสนุกสนาน, ความเพลิดเพลิน" เพราะฉะนั้นวีดิทัศน์ จึงแปลได้ว่า "เครื่องที่แสดงภาพเพื่อความเพลิดเพลิน"

อย่างไรก็ตาม ผมยังเห็นว่าคำนี้ท่านบัญญัติเข้าท่าดี แต่ก็มีที่ฟังแล้วพิลึกๆ อีกหลายคำ ต้องถามผู้รู้ว่ามันแปลว่าอะไร พอท่านบอกว่ามาจากคำฝรั่งว่าอย่างนั้นๆ ไงเล่า ถึงได้ร้องอ๋อ

ที่ผมไม่เข้าใจจนบัดนี้ก็คือ ในขณะที่เราบ่นว่าพระเดี๋ยวนี้เทศน์ไม่รู้เรื่อง ชอบใช้แต่คำศัพท์บาลีสูงๆ แต่ทำไมเวลาจะบัญญัติศัพท์อะไรขึ้นใช้ใหม่ เรากลับไปเอาคำบาลียากๆ มาใช้เสียเอง



เรื่องของพระพุทธศาสนา บนจอทีวี

เคยดู คุณวิทวัส สุนทร วิเนตร์ เธอสัมภาษณ์นางสาวไทยและรองนางสาวไทย ผมกำลังคิดจะทำงานอย่างอื่นอยู่ก็ต้องงดไว้ชั่วคราว หันมานั่งจ้องทีวีดูความสวยความงามของบรรดานางงามทั้งหลาย และฟังเสียงสัมภาษณ์แบบ "หวัดเกมบรรจง" ของคุณวิทวัส พร้อมเน้นเสียงสูงต่ำอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร (เช่น "คุณตุ๊ก ตุ๊ง-คะมะนี" อะไรเงียะ น่ารักออก)

นางสาวไทย (ลืมชื่อเธอแล้ว เพราะเอาแต่จ้องดูความงาม) เธอเล่าว่าก่อนเข้าประกวดได้เสี่ยงเซียมซีวัดพระเจ้าทันใจ (ชื่อวัดอะไรก็จำไม่ได้อีก ที่มีพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเรียก "พระเจ้าทันใจ" อยู่) ได้เบอร์ ๑ ทายว่าจะได้เป็นหนึ่ง คือได้เป็นนางสาวไทยแน่ๆ เธอเล่าต่อไปว่า เคยเสี่ยงมาหลายครั้งก่อนเข้าประกวดครั้งก่อนๆ ได้เบอร์ ๑ และก็ชนะที่ 1๑ทุกครั้ง ตอนท้ายเธอออกตัวว่ามิใช่หญิง (ชื่อเล่นเธอ) งมงายนะคะ แต่เชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของพระท่าน คุณวิทวัสย้ำว่า "ไม่เป็นไร เราเป็นชาวพุทธ" แล้วเธอก็หันไปถามรองนางสาวไทย คนที่อิมพอร์ตมาจากอเมริกา ว่า What were you saying to the Buddha? คุณพูดอะไรกับพระพุทธเจ้าท่านบ้าง (ขณะสั่นติ้วเสี่ยงทาย)

คำพูดของคุณวิทวัส คล้ายกับจะบอกว่า การเสี่ยงโชค สั่นติ้วเสี่ยงเซียมซีอะไรเหล่านี้เป็นวิถีของชาวพุทธ ซึ่งที่จริงมันไม่ใช่ มันเป็นวิถีของคนไทยมากกว่า คนไทยที่สืบทอดความเชื่อลัทธิถือผีถือสางมาแต่บรรพบุรุษ มิใช่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

การไหว้พระสวดมนต์ของชาวพุทธมิใช่เพื่ออ้อนวอนขอนั่นขอนี่ แต่เราไหว้รำลึกถึงคุณความดีของท่าน เพื่อนำเอามาเป็นแบบอย่างดำเนินชีวิต นี่คือการไหว้พระที่ถูกต้อง ส่วนใครจะเข้าเจ้าทรงผี เสี่ยงเซียมซีขอหวย หรือปลัดขิดจากด๊อกเตอร์ซ่วนมาแขวนก็ทำไปตามอัธยาศัย แต่ต้องตระหนักว่านั่นมิใช่วิถีแห่งชาวพุทธ (แม้ว่าผู้ให้ปลัดขิกจะอยู่ในคราบของภิกษุก็ตาม) ไม่ควรเอามาปะปนกัน

ท่านผู้อ่านที่ใช้นามว่า "ชาวพุทธเชียงใหม่" เขียนมาให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์บางรายการว่า "รายการหนังจีนในแนวพระพุทธศาสนาทางทีวีช่องสาม รู้สึกคนพากย์จะสอดแทรกความหมายและยกย่องศาสดาศาสนาอื่นเข้ามาในเรื่องมิใช่น้อย ทำให้คนดูเข้าใจผิด เช่นตอนตั๊กม้อไหว้พระพุทธรูป ผู้พากย์พูดออกมาว่า "พระผู้เป็นเจ้าโปรดอภัยด้วยเถิด" เป็นต้น และมีอีกมากที่เพี้ยนๆ อย่างนี้ ถ้าปล่อยไว้ในรูปแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความไขว้เขวเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา คุณไต้เคยดูหรือป่าว ลองติดตามดูบ้าง"

ระยะนี้ผมไม่ได้ดูหนังจีนครับ ถ้าดูก็คงหงุดหงิดเหมือนคุณนั่นแหละ ผมเคยดูละครเรื่องลูกทาสคุณพระเอก (ชื่ออะไรก็จำไม่ได้ ผมมันคนความจำเสื่อม) ไปบวชตลอดเวลาที่บวชอยู่ ผมก็เห็นวัดทั้งวัดมีพระอยู่รูปเดียว คือพระใหม่รูปนี้ อุปัชฌาย์อาจารย์ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน ปล่อยให้ลูกศิษย์ถูกสีกาสองคนรุมทึ้งไปมา ขัดนัยน์ตาพิลึก ไหนๆ ก็เกณฑ์ให้พระเอกบวชทั้งที ก็น่าจะแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้มีส่วนกล่อมเกลาพระบวชใหม่อย่างไรบ้าง และสอดแทรกหลักธรรมคำสอนเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ดูหนังละครบ้างก็ยังดี นี่อะไรก็ไม่รู้มีแต่บทสีกา "ชิงพระ"!

หยิบจดหมายฉบับที่สองขึ้นมา บ่นเรื่องที่กำลังพูดถึงอยู่พอดี (ช่างบังเอิญเสียจริงๆ) ผู้ใช้นาม "ชาวพุทธ" เล่าว่า ได้ดูรายการทีวีที่เอาสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาสร้างภาพยนตร์แล้วหงุดหงิด ฝากถามคำถามผ่านคอลัมน์นี้ ๔ ข้อ คือ ทำไมผู้สร้างหนังละครไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อจิตใจชาวพุทธ ทำเหมือนดูถูกพระศาสนา? ทำไมผู้แสดงบทพระไม่มีความรู้เรื่องจริยาวัตรและกิจของสมณะกิริยาของสงฆ์ควรวางตัว ควรพูดอย่างไร ทำไมไม่ศึกษาและทำตามให้ถูกต้อง? ทำไมเวลาจะสร้างหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาผู้สร้างจึงไม่ปรึกษาขอคำแนะนำจากผู้รู้เสียก่อน ภาพที่ขัดหูขัดตาจะได้ไม่ออกมาอย่างที่เห็น? และคำถามสุดท้าย ทางคณะสงฆ์หรือกรมการศาสนามีมาตรการอะไรที่เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัดและพระศาสนาไหม หรือว่าใครใคร่สร้างหนังสร้างละครบิดเบือนย่ำยีพระศาสนาอย่างไรก็ทำได้

คุณ "ชาวพุทธ" มิได้บอกว่าหนังหรือละครที่ว่านี้คือเรื่องอะไร หรือพูดรวมๆ ไป ผมก็ฝากไว้เป็นที่สังเกตนะครับ ถ้าต่อไปใครจะเอาเรื่องพระเรื่องพระศาสนาไปเกี่ยวข้องกับหนัง ละคร ก็ขอให้พิถีพิถันระมัดระวังให้ออกมาถูกต้องหน่อยก็แล้วกัน อย่าให้ออกมาเป็นการละลาบละล้วงหรือบิดเบือนพระศาสนา ครับ ก็ขอกันแค่นี้

สื่อมวลชนนั้น ตามปกติก็ไม่ได้มีบทบาทช่วยเผยแผ่พระศาสนาสักเท่าไหร่อยู่แล้ว อย่านำมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายพระศาสนาเลยครับ มือไม่พายแล้วเท้าอยู่เฉยๆ ไม่ควรเอามาราน้ำ ว่างั้นเถอะ

พูดมาถึงบรรทัดนี้ก็ขอชมเชยคุณศันสนีย์ นาคพงศ์ นักอ่านข่าวสาวคู่กับคุณจักรพันธุ์ ยมจินดา ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลเมื่อเร็วๆ นี้ ชมที่เธอนำเอาพุทธศาสนสุภาษิตมาอ่านตบท้ายข่าววันละบท และอ่านคำบาลีได้ถูกต้องเป็นส่วนมากด้วย (คนไม่มีโอกาสได้บวชเรียน อ่านได้แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว) แม้จะชั่วเวลาเล็กน้อยก็ยังดี นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง หากทีวีช่องอื่นจะสอดแทรกพุทธวจนะเช่นนี้บ้างวันละเล็กละน้อย ก็น่าอนุโมทนายิ่งนัก รายการมาตามนัดก็ทำเก๋ฉายตัวอักษรวิ่งบนจอขณะรายการดำเนินไปอยู่ แต่น่าเสียดายว่าเป็นการโฆษณาการไหว้ครูของหลวงพ่อ ก.หลวงพ่อ ข.เสีย แทนที่จะเป็นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า!

ไหนๆ ก็มีไอเดียเก๋ๆ อย่างนี้แล้ว ทำไมไม่เอาพุทธวจนะมาฉายมาอ่านกันเล่าครับ ถ้าไม่รู้จะหาเอาที่ไหน ผมยินดีจัดส่งให้



ภิกษุณียังมีอยู่หรือ?

คุณผู้ใช้นามว่า "ชาวบ้าน" ตัดข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ มาให้ผมอ่านพร้อมตั้งคำถามดังนี้ครับ

"อ่านข้อความในหนังสือลงข้อความว่า แม่ของต๋องบวชเป็นภิกษุณี รู้สึกงงเอามากๆ ผมเคยอ่านหนังสือธรรมะมาบ้าง เห็นบอกว่าภิกษุณีนั้นหมดมาตั้งนานแล้ว ในภาพนั้นเห็นแม่ต๋องนุ่งผ้าขาวห่มขาว โกนหัว น่าจะใช้คำว่าบวชชีหรือคำอื่นมากกว่า ไม่ใช่คำว่าภิกษุณี ถ้าเป็นภิกษุณีก็น่าจะมีการนุ่งห่มแบบเดียวกับพระสงฆ์ เท่าที่อ่านมาภิกษุณีมีศีลมากกว่าภิกษุสงฆ์ใช่หรือไม่ ภาพในหนังสือพิมพ์นั้นแม่ชีใช้คำว่าภิกษุณี ผมอยากทราบว่าแม่ของต๋องตอนบวชนั้นทำพิธีเช่นเดียวกับบวชพระหรือเปล่า ถือศีลเท่าภิกษุณีหรือเปล่า ภิกษุณีกับแม่ชีต่างกันหรือเปล่า ผมเห็นว่าคุณไต้เป็นผู้มีความรู้ในทางศาสนา จึงอยากให้คุณเขียนอธิบายลงในหนังสือพิมพ์ เพราะผู้ไม่รู้ยังมีอีกมาก ที่เดลินิวส์ลงไปนั้นผิดหรือถูก ถ้าผิดก็ไม่น่าให้อภัยที่ทำให้ประชาชนสับสน บุคลากรของเขาคงไม่มีความรู้ทางด้านนี้"

ทั้งหมดนั้นคือ จดหมายพร้อมข้อข้องใจของคุณ "ชาวบ้าน" เรื่องเกี่ยวกับพระและพระพุทธศาสนานั้น เดี๋ยวนี้มีการพูดการเขียนผิดพลาดมากมายตามสื่อมวลชนต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องที่เป็นพื้นฐานง่ายๆ ซึ่งชาวพุทธทุกคนควรจะทราบ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ทราบ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมคนไทยสมัยนี้ไม่ประสีประสาต่อพระพุทธศาสนามากขึ้นทุกที ต่างจากปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา

คนทำหนังสือพิมพ์นั้น ไม่ว่าฉบับที่คุณ "ชาวบ้าน" อ้างถึงหรือฉบับไหนไม่ค่อยมีคนรู้เรื่องพระเรื่องเจ้าเท่าไหร่ดอกครับ คุณเชื่อไหมว่า เวลาเขาจะเปิดคอลัมน์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หาคนเขียนไม่ค่อยจะได้ จึงเอาใครก็ไม่รู้มาขีดมาเขียน เข้ารกเข้าพงไปนักต่อนัก บางคน รู้ก็ไม่รู้แล้วยัง "เสือกชี้" ก็มีถมไป อาศัยอิทธิพลปลายปากกาที่สะสมมานาน เขียนเผยแพร่มิจฉาทิฐิ และลัทธิเดียรถีย์ ก็มี ไม่น้อย

เมื่อครั้งพระสารีบุตร กับพระโมคคัลลานะ (สมัยยังเป็น อุปติสสะกับโกลิตะ) พากันไปชักชวนสัญชัย อาจารย์ของพวกท่านให้ไปบวชอยู่กับพระพุทธเจ้า สัญชัยไม่ยอมไป เพราะถือว่าตนก็เป็นเจ้าสำนักชื่อดัง ครั้นศิษย์รบเร้าหนักเข้าจึงถามว่า "ในโลกนี้คนโง่กับคนฉลาด พวกไหนมีมากกว่ากัน" ศิษย์ทั้งสองตอบว่า คนโง่มากกว่า คนฉลาดมีน้อย อาจารย์สัญชัยพูดตัดบทว่า "ถ้าเช่นนั้นคนฉลาดๆ อย่างเธอทั้งสองจะไปบวชอยู่กับสมณโคดมก็ตามใจ คนโง่ๆ ซึ่งมีอีกมากจะมาเป็นศิษย์เราเอง"

พูดง่ายๆ ว่ายังมีคนโง่เซ่อมาให้หลอกให้ต้มอีกเยอะ ไม่ต้องห่วง อลัชชีหรือเดียรถีย์บางคนก็เช่นกัน กล้าพูดกล้าทำอะไรเลอะๆ เทอะๆ ก็เพราะคิดว่าคนโง่ยังมีอีกมากมายที่จะมาหลงเชื่อ ซึ่งก็เป็นจริงดังนั้น คนบ้าบางคนได้รับยกย่องให้เป็นวิมุตหลุดพ้นไปก็มี

คนเรานั้นลงได้บ้าถึงที่สุดก็มีคนนับถือเอง!

ขนาดแจกปลัดขิก ยังมีคนโง่มาให้ปริญญาด๊อกเตอร์เลย เมื่อสองวันมานี้พระฝรั่ง (ฝรั่งที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา) บ่นกับผมว่า เมืองไทยนี้แปลกๆ ดูเผินๆ ก็รุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธไทยรู้สาระของพุทธน้อยเต็มทีและที่ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนายิ่งน้อยลงไปอีก ผมบอกท่านไปว่า ไม่ต้องงงดอกครับพระคุณเจ้า นี่แหละเขาเรียกว่า พุทธแบบไทยๆ ล่ะ

แบบไทยๆ ไม่ซีเรียส โนพร็อบเบล็ม

วกมาพูดถึงเรื่องที่เป็นข่าว ผมดูภาพแม่ของ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย นุ่งขาวห่มขาว บอกได้ทันทีว่าเธอเป็นแม่ชีครับ ไม่ใช่ภิกษุณี ดังคำบรรยายใต้ภาพ แม่ชีก็คือ อุบาสิกา ธรรมดาๆ นี่แหละ เพียงแต่โกนหัว นุ่งขาวห่มขาว รับศีลจากพระ ๘ ข้อ เราเรียกหลวมๆ ว่า "บวช" ความจริงไม่ใช่ "บวช" ในความหมายที่เรียกว่าบรรพชิตดอกครับ แม่ชีมิใช่บรรพชิต มิใช่สมณะ มิใช่พระ มีสถานภาพเป็น "อุบาสิกา" ธรรมดานี่เอง

อุบาสิกาทั่วไปถือศีล ๕ ข้อ แม่ชีถือศีล ๘ ข้อ มากกว่าหน่อย

เมื่อไม่ใช่พระ ไม่ใช่บรรพชิต จึงไม่มีสิทธิ์ออกบิณฑบาตเหมือนพระทั่วไป ที่เห็นเดินมาดสำรวมขอข้าวชาวบ้าน และที่ชาวบ้านหลงใส่บาตรนั้น ถือว่าให้ทานคนขอทาน มิใช่ใส่บาตรพระ เรื่องอย่างนี้ถ้ากวดขันจริงๆ ก็ปล่อยให้ทำกันไม่ได้ แต่ก็อย่างว่า อะไรๆ มันก็หละหลวม หย่อนยานกันไปหมด มันถึงได้เลอะอยู่อย่างนี้

ภิกษุณีนั้นคนที่บวชคนแรกคือ นางมหาปชาบดีโคตมี พระแม่น้าของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงประทานอุปสมบทให้เองเป็นคนแรก แล้วบัญญัติมาตรการการบวชต่อไปอย่างเคร่งครัด คนจะบวชภิกษุณีได้ต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย คือบวชจากภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วมาทำพิธีบวชจากภิกษุสงฆ์อีกต่อหนึ่ง บวชแล้วถือสิกขาบท (ศีลเป็นข้อๆ) ๓๑๑ ข้อ ปวัตตินี (อุปัชฌาย์) รูปหนึ่งมีสิทธิ์บวชลูกศิษย์ได้ปีเว้นปี ครั้งละไม่เกิน ๑ รูป จำนวนภิกษุณีจึงมีไม่มาก เพราะพุทธองค์มิประสงค์จะให้มีปริมาณมาก (ยากแก่การควบคุม) หลังพุทธปรินิพพานแล้วประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศก ยังปรากฏว่ามีภิกษุณีสงฆ์อยู่ เพราะมีเอ่ยถึงนางสังฆมิตตา พระราชธิดาพระเจ้าอโศกบวชภิกษุณี และนำต้นพระศรีมหาโพธิมาลังกาทวีป หลังจากนั้นไม่นานภิกษุณีวงศ์ก็สูญสิ้นไป

เมื่อสูญวงศ์ไปแล้วใครจะมาฟื้นฟูขึ้นใหม่ก็ย่อมไม่ได้ เพราะจะบวชภิกษุณีต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ผู้จะบวชให้ไม่มีแล้วนี่ครับ ส่วนในสายมหายานมีอ้างว่าภิกษุณีวงศ์ยังไม่ขาดสูญ ยังสืบทอดกันมาอยู่ ก็เป็นเรื่องของเขา เพราะมหายานเขาถนัดแก้ไขอะไรๆ ดังที่รู้กันอยู่แล้ว

เดี๋ยวนี้ได้ทราบว่าพระสงฆ์ลังกาที่อยู่อเมริกา ท่านรัตนสาระ (หรือหลวงพี่อ้วนที่ผมเขียนถึงในสองทศวรรษในดงขมิ้น) ฟื้นฟูภิกษุณีขึ้นโดยทำตัวเป็นอุปัชฌาย์ ก็เพิ่งรู้ว่าหลวงพี่อ้วนของผมไปไกล วงการพุทธศาสนาจะยอมรับกันหรือไม่กับการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ คอยติดตามดูเอาก็แล้วกันครับ



ใครว่าพุทธศาสนาไม่สนับสนุนสิทธิสตรี?

คอลัมน์นี้ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นคอลัมน์ตอบปัญหาธรรมะ ก็เป็นไปแล้วโดยปริยาย เพราะท่านผู้อ่านถามข้อข้องใจมามากมาย ผมตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่แน่ ไปๆ ผมอาจจะเปลี่ยนเป็นคอลัมน์ตอบปัญหาธรรมะก็ได้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยดี ที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์อะไรออกไป แม้ว่าจะ "สะใจ" หลายท่านที่เห็นในแนวเดียวกัน ก็เป็นที่หงุดหงิดของอีกบางคน

วันนี้ตอบปัญหาดีกว่า คุณสมชาย ชมเชย อยากทราบว่า พุทธสุภาษิตสองข้อคือ สักการะย่อมฆ่าคนชั่ว กับ สามีเป็นเครื่องปรากฏของสตรี บาลีว่าอย่างไร ความหมายเป็นอย่างไร บทแรกบาลีว่า สกฺกาโร กาปุริสํ หนฺติ = สักการะย่อมฆ่าคนถ่อย (กาปุริส คือคนถ่อย, คนชั่ว) ความหมายชัดเจนอยู่แล้วครับ คนที่ไม่ดี พอได้ลาภได้สักการะขึ้นมาก็หลงระเริงลืมตัว ผลที่สุดก็หายนะ เพราะลาภสักการะนั้น

ดูชาวบ้านอย่างเรา ใครได้เลื่อนยศศักดิ์ขึ้นสูงๆ แล้วเห็นแก่ได้ เห็นแก่กิน ไม่ว่าตามน้ำหรือไม่ตามน้ำ ในที่สุดความฉ้อฉลทุจริตก็ฆ่าเขาเอง

พูดถึงพระภิกษุสงฆ์ตอนแรกๆ บางรูปก็ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ พอมีคนนับหน้าถือตามากเข้าชักลืมตัว ญาติโยมจนๆ เข้าไม่ถึง คุณหญิงคุณนาย นายพลนั่งรถเบนซ์ เข้ามาล่ะก็ต้อนรับขับสู้อย่างดี เห็นแก่ลาภเห็นแก่สักการะอย่างนี้นานเข้าคุณธรรมที่ได้จากการปฏิบัติก็เสื่อม

ผมมีเพื่อนเป็นอาจารย์ดังรูปหนึ่ง (เอ่ยชื่อคงร้องอ๋อทันที) ท่านนั่งสมาธิมองเห็นนิมิต ใครจะมาขอให้ช่วยเหลือ

ท่านจะนั่งสงบพักเดียวมองเห็นเลยว่าจะช่วยได้หรือไม่ได้

ผลอย่างนี้เกิดจากการปฏิบัติทางจิต ต่อมาไม่นานกลายเป็นหลวงพ่อที่มีคนนับถือมาก (เป็นหลวงพ่อตั้งแต่อายุไม่ถึงสามสิบ) ญาติโยมขึ้นมากมายลาภสักการะหลั่งไหลมาไม่ขาด หนักเข้าหลวงพ่อลืมตัว ญาติโยมจนๆ ที่เคยอุปถัมภ์มาชักไม่รู้จักเขาเสียแล้ว เข้าไม่ถึง จะเข้าหาได้เฉพาะอาเสี่ยกระเป๋าหนักๆ

ขณะผมไปเรียนหนังสืออยู่ประเทศอังกฤษ (ผมก็นักเรียนนอกนะครับฮิฮิ) หลวงพ่อองค์นี้ไปเยี่ยมเยียนผม บ่นกับผมว่า เดี๋ยวนี้นั่งสมาธิไม่เห็นภาพอย่างที่เคยเป็นแล้ว ใครมาขอให้ช่วยอะไรให้ ก็ตอบส่งเดชไปตามเรื่อง ไม่กล้าบอกความจริงว่าทำไม่ได้เหมือนก่อน เพราะนั่งหลังเสือแล้วลงไม่ได้

ผมเอ่ยพุทธภาษิตว่า สกฺกาโร กาปุริสํ หนฺติ ท่านถามว่าแปลว่าอะไร (มัวแต่ตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์ไม่รู้ดอกครับ) ผมหัวเราะหึๆ ไม่แปลให้ฟังกลัวท่านโกรธ

ต่อมาไม่นานหลวงพ่อองค์นี้ก็เสื่อมลงเรื่อยๆ กระทั่งวาระสุดท้ายถึงแก่มรณภาพ ศพไม่มีใครเต็มใจเผาให้ ร้อนถึงอุปัชฌาย์ของท่าน (ที่เคยเตือนบ่อยๆ แต่ศิษย์ไม่ยอมเชื่อฟัง เพราะถือว่าดังกว่า) ต้องลงมารับศพขึ้นไปเผาให้ที่เมืองเหนือโน่น อย่างนี้เป็นตัวอย่างของพุทธภาษิตว่า สกฺกาโร กาปุริสํ หนฺติ

ส่วนภาษิตที่สอง บาลีว่า ภตฺตา ปญฺญาณมิตฺถิยา = ภัสดา เป็นเครื่องปรากฏแห่งสตรี ความหมายก็ชัดอยู่แล้ว

ในสังคมที่ยกย่องบุรุษมากกว่าสตรี ได้ลูกชายมาดีใจกว่าได้ลูกสาวถึงกับพูดว่า ใครแต่งงานแล้วไม่ได้ลูกชายจะตกนรกขุมปุตตะ (ยังไม่ตายก็ตกนรกทั้งเป็นอยู่แล้ว เพราะกลุ้มใจที่ไม่ได้ลูกชาย) ลูกสะใภ้ที่มีลูกชายให้เขาไม่ได้ เขาส่งคืนพ่อแม่เลยทีเดียว ผู้หญิงโตมาต้องแต่งงาน แต่งงานก็คือส่งให้ไปรับใช้สามี สามี แปลว่า เจ้านายหรือผู้เป็นเจ้าของ ความหมายก็บอกอยู่แล้ว เขาจะสับจะโขกอย่างไรเป็นสิทธิ์ของเขา ภรรยาจึงอยู่ในฐานะเครื่องประดับของสามี สามีเป็นใหญ่เป็นโต มีหน้ามีตาในสังคม ภรรยาก็พลอยได้หน้าได้เกียรติด้วย

สตรีใดที่ไม่ได้แต่งงาน แสดงว่าไม่มีค่าพอที่จะมีบุรุษเหลียวแล ตกนรกทั้งเป็น ยิ่งใครถูกสามีทอดทิ้งส่งคืนพ่อแม่ เสียหายมากขนาดไม่มีใครคบค้าสมาคมเป็นเสนียดแก่บ้านเมือง ค่านิยมเหยียดหยามสตรีมันมากมายขนาดนี้นะครับ

ในสมัยโบราณ อย่าว่าแต่ "ช้างเท้าหลัง" เลย ขี้ช้างก็ไม่มีสิทธิ์ได้เป็น

ใครไม่รู้ความจริงมักจะกล่าวหาว่า พระพุทธศาสนาไม่สนับสนุนสิทธิสตรี หารู้ไม่ว่า แค่อนุญาตให้บวชได้นี้ถือว่าให้เกียรติและเห็นคุณค่าสตรีมากมายอยู่แล้ว ในสังคมที่ไม่เปิดโอกาสแก่สตรีเลย สังคมอินเดียยุคโน้นผู้หญิงไม่มีสิทธิ์

เล่าเรียนคัมภีร์พระเวท ไม่มีสิทธิ์บวชหรือทำกิจกรรมอื่นใดทัดเทียมชาย มีแต่พุทธศาสนาเท่านั้นที่เห็นความสำคัญของสตรี ยอมให้มาบวชบำเพ็ญสมณธรรมเช่นเดียวกับบุรุษ อย่างนี้จะหาว่าไม่ให้เกียรติสตรีกระไรได้

อีกคำถามหนึ่ง คุณจำเนียร ศิรินันท์ ถามว่าคำว่า พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ เกี่ยวกับพระพุทธองค์สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณอย่างไร คาถานี้เป็นคำอาราธนาธรรม หรือคำเชิญให้พระเทศน์ ว่าอย่างนั้นเถอะ มีประวัติดังนี้ครับ เมื่อตรัสรู้แล้วพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ธรรมะที่ตรัสรู้ลึกซึ้งเกินไป จึงไม่คิดจะสั่งสอนใคร พอดีท้าวสหัมบดีพรหม มากราบทูลอัญเชิญให้ทรงแสดงธรรม เพราะคนที่มีสติปัญญาพอฟังรู้เรื่องก็คงมี พระองค์ทรงพิจารณาเปรียบเทียบระดับปัญญาของคนดุจดอกบัวสามระดับ (บัวสามเหล่าครับ ไม่ใช่สี่เหล่าดังสอนกันมา เหล่าที่สี่เพิ่มเติมภายหลัง) พระพุทธองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปสอน ทีแรกว่าจะสอนอาฬารดาบสกับอุทกดาบส พระอาจารย์เก่า แต่ทั้งสองท่านสิ้นชีพไปก่อนหน้านั้นแล้วเจ็ดวัน จึงเสด็จไปสอนปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ข้อความตรงนี้มีผู้ถอดสัญลักษณ์ว่า พระพรหม ในที่นี้คือ พรหมวิหาร มีเมตตา กรุณา เป็นประธาน "พระพรหม" มาอัญเชิญให้แสดงธรรม ก็คือ "ความรู้สึกสงสาร สัตว์โลก" ที่ตกอยู่ในความมืดบอดนั่นเอง เป็นแรงกระตุ้นให้พระองค์ต้องตัดสินพระทัยออกไปสั่งสอนพูดอีกนัยหนึ่ง เพราะพระกรุณาอย่างใหญ่หลวงนี้เอง สัตว์โลกทั้งหลายจึงได้มีโอกาสได้ลิ้มรสพระธรรมจากพระองค์

จากเหตุการณ์ครั้งนี้จึงเกิดเป็นธรรมเนียมว่า ก่อนจะให้พระเทศน์สอนธรรมญาติโยม จึงกล่าวคาถาอาราธนา เรียกว่า "อาราธนาธรรม" ใจความของคำอาราธนามีดังนี้ครับ "สหัมบดีพรหมผู้เป็นใหญ่กว่าชาวโลก ได้ประคองอัญชลีกราบทูลอาราธนาว่า เหล่าสัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อยยังมีอยู่ (หมายถึงมีสติปัญญาพอจะเข้าใจธรรม) ขอพระพุทธองค์ทรงโปรดกรุณาแสดงธรรมแก่เหล่าสัตว์ด้วยเถิด"

ธรรมเนียมมีมาด้วยประการฉะนี้แหละครับ



หัวใจพระพุทธศาสนาแต่ละสมัย

เพื่อนคนหนึ่งบ่นว่า หมู่นี้ ไต้ ตามทาง เขียนหนังสืออ่านไม่รู้เรื่องเข้าไปทุกที ผมก็เลยเล่าเรื่อง มหาแสง มนวิทูร กับ เจ้าคุณอนุมานฯให้เพื่อนฟัง มันฟังจบแล้วแยกเขี้ยวฟันยังกะจะกินเลือดกินเนื้อผม

มหาแสงเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและสันสกฤตคนหนึ่งของเมืองไทย ได้แปลคัมภีร์จากสองภาษานั้นสู่ภาษาไทยหลายเล่ม แต่ละเล่มล้วนเป็นเรื่องยากๆ ทั้งนั้น เช่น ลิลิตวิสตระ ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น พระยาอนุมานราชธน ถามขึ้นในวันหนึ่งว่า ทำไมมหาจึงแปลแต่เรื่องยากๆ

มหาแสง ตอบท่านเจ้าคุณยังไงรู้ไหมครับ แกตอบว่า "ผมไม่ได้แปลให้คนโง่อ่านนี่ครับ" เท่านั้นแหละ ท่านเจ้าคุณฉุนมหาแสงเสียไม่มีดี ว่ากันว่าปราชญ์สองท่านนี้ตึงกันไปหลายปี กว่าจะกลับมาคืนดีกันอีก

ผมเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนที่ต่อว่าผมว่าเขียนหนังสือยากให้ฟัง ได้ผลแบบเดียวกับมหาแสง เจ้าเพื่อนมันตึงกับผมไปเลย ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เพื่อนมันจะกลับมา "หย่อน" กับผมอีก

ไหนๆ ก็ถูกหาว่าเขียนให้อ่านไม่รู้เรื่องแล้ว วันนี้ขอเขียนถึงเรื่องที่รู้กันเพียงสองคน คือ พระผู้เป็นเจ้า กับผมผู้เขียน (สำนวนนี้ยืมคำพูด นาย Wordsworth กวีอังกฤษมานะครับ) นั่น คือ คาถา เย ธัมมาฯ

อุปติสสมาณพ (ต่อมาเป็น พระสารีบุตร อัครสาวก) พบพระอิสสชิกำลังบิณฑบาตอยู่ในเมืองราชคฤห์ เข้าไปขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง พระอัสสชิกล่าวคาถาสองบรรทัดให้ฟัง ฟังจบอุปติสสะได้ "ดวงตาเห็นธรรม" (คือบรรลุเป็นพระโสดาบัน) คาถานั้นมีข้อความเต็มดังนี้ครับ

เย ธัมมา เหตุปปะภะวา เตสัง เหตุง ตะถาคะโต (อาหะ)  เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวังวาที มะหาสะมะโณ แปลกันว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และการดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้

คาถานี้ประพันธ์เป็นฉันทลักษณ์เรียกว่า ปัฐยาวัตรฉันท์ มีสี่บาท บาทละแปดคำ น่าสังเกตว่า บาทที่สองมีถึงสิบคำ คือเติม อาหะ ในวงเล็บเข้ามาด้วย ไม่ทราบว่าใครเติม เติมตั้งแต่เมื่อใด

ผู้เติมเข้ามาคงเข้าใจว่า ข้อความทั้งสองบรรทัดนี้ไม่มีคำกริยา หรือ Finite Verb จึงต้องเติม อาหะ (กล่าวแล้ว) เข้ามาเพื่อให้ได้ความ

ที่จริงไม่ต้องเติมก็ได้ความอยู่แล้ว คำกริยามีอยู่แล้ว ดูไม่ดีเองหรือดูดีแล้ว แต่ไม่เข้าใจเอง รหัสอยู่ที่คำ "ตถาคต" นั่นเองครับ

ตถาคโต คำนี้มิใช่คำเดียวที่แปลว่า "พระตถาคต" อันเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า แต่แยกออกเป็น ตถา (อย่างนั้น กับ คโต (กล่าวแล้ว)

คโต มาจา คทฺ ธาตุ แปลว่า กล่าว ลง ต ปัจจัยกริยากิตก์ สำเร็จรูปเป็น คโต แปลว่า กล่าวแล้ว (คนละคำกับ คโต ที่แปลว่าไปแล้วนะครับ)

ไม่ต้องเติม อาหะ เข้าหาให้ซ้ำซ้อนและให้เสียฉันทลักษณ์ก็แปลได้ความอยู่แล้ว

ถอดใจความง่ายๆ ว่า "พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า สรรพสิ่งเกิดจากเหตุถ้าจะดับสิ่งนั้นต้องดับที่ต้นเหตุ"

คาถานี้คือ สรุป "แก่น" ของอริยสัจสี่นั่นเอง ไม่ใช่อะไรอื่น คือ ทรงสอนว่า ชีวิตมนุษย์มีปัญหาสารพัด ปัญหาของชีวิตมิใช่เกิดขึ้นลอยๆ มันมีสาเหตุให้เกิด การจะแก้ปัญหาชีวิตได้ต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหา มิใช่ไปมัวแก้ที่ปลายเหตุหรือที่อื่นที่ไม่ตรงจุด

เมื่อครั้งพระโสณะกับพระอุตตระมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ (เชื่อกันว่าคือภูมิภาคแถบนี้ มีเมืองนครปฐมเป็นศูนย์กลาง) ได้จารึกคาถานี้ลงบนแผ่นศิลาด้วยอักษรคฤนถ์ ฝังไว้คู่กับธรรมจักรกวางหมอบที่สถูปทรงโอคว่ำแบบสาญจิสถูปของพระเจ้าอโศก ในภูมิภาคแถบอื่นๆ ที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปถึงก็มีผู้ค้นพบจารึกคาถานี้เช่นกัน จึงน่าเชื่อว่าชาวพุทธโบราณถือคาถา เย ธัมมาฯ เป็น "หัวใจ" พระพุทธศาสนา

ต่อมาเปลี่ยนเป็นคาถาธรรมกาย (คนละธรรมกายกับของบางสำนักนะครับ) ต่อมาถือโอวาทปาติโมกข์ (ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส) แทน ต่อมามีผู้สอนว่า ที่ถูกคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา คือ สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ (สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น)

ทั้งสามข้อที่กล่าวมานั้น จะว่าถูกก็ถูกหมด จะว่าผิดก็ผิดหมด ไม่ควรเถียงกันมากความ บอกแล้วไงว่าวันนี้จะเขียนให้อ่านรู้เรื่องเพียงสองคนคือพระเจ้ากับคนเขียน!




ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 ธันวาคม 2560 13:00:11 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #39 เมื่อ: 31 ตุลาคม 2560 16:18:06 »



พุทธธรรมกับฟุตบอล  
อดหลับอดนอนดูบอลจนตาโหล ดูๆ ไป ทำให้เกิดความสว่างในธรรมเข้าโดยบังเอิญ มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างฟุตบอลกับพุทธธรรม จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง ถึงจะไม่ถึงขั้นบรรลุ "โล่ง เบาหวิว" เหมือนอรหันต์ตั้ง (ตั้งตัวเอง) บางคนก็ดีใจที่ได้แง่คิดขึ้นมา

ว่ากันว่า (ว่ากันมานานแล้ว) คนไทยมีลักษณะเด่น (หรือด้อยก็ไม่รู้) อยู่อย่างหนึ่งคือ ทำงานเป็นหมู่คณะหรือทีมเวิร์กไม่ค่อยเป็น รวมกันทำงานเมื่อใดพังเมื่อนั้น แต่ถ้าจะให้เด่นดังคนเดียวละก็คนไทยถนัดนัก จริงหรือไม่ก็ลองคิดกันดู คิดเล่นๆ พอ อย่า "ซีเครียด"

เพื่อนนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะบรรพบุรุษเราปลูกฝังกันมาผิด (แน่ะ อะไรไม่ดีก็โยนให้บรรพบุรุษ) เพื่อนขยายว่า บรรพบุรุษเรามักสอนให้ยกย่องคนเด่นคนดังเพียงคนเดียว หรือยกย่อง "เอกชนวีรชน"

เวลาเรียนประวัติศาสตร์ครูก็สอนว่า ที่ชาติไทยเรารอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ครองความเป็นอิสรเสรีมาจนบัดนี้ ก็เพราะท่านนั้นผู้นี้เป็นสำคัญ อันที่จริงก็ถูกแต่ถูกไม่หมด เพราะชาติไทยทั้งชาติประกอบขึ้นด้วยประชาชนมากมาย คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมทำให้รักษาเอกราชคงอยู่ได้ ยิ่งเวลาออกศึกสงคราม ชัยชนะที่เกิดขึ้นมิใช่เพราะแม่ทัพนายกองคนเดียว หากเพราะทหารทั้งกองทัพเป็นปัจจัยสำคัญ

การเน้นแต่ "จุดเด่น" เพียงจุดเดียว ทำให้ละเลยความสำคัญขององค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นานเข้าก็หล่อหลอมเป็นลักษณะพิเศษของคนไทย เห็นได้จากการแสดงออกหลายด้าน โดยเฉพาะด้านกีฬา เพื่อนผมสรุปว่าอย่างนั้น

เมื่อผมถามว่า มันเป็นอย่างไร เพื่อนขยายต่อว่า คนไทยชอบดูกีฬาประเภทที่มีผู้แพ้ ผู้ชนะเด็ดขาดเพียงคนเดียว พูดง่ายๆ ประเภทที่มีคนเด่น หรือฮีโร่ เช่น มวย เป็นต้น กีฬาประเภทเล่นเป็นทีม ทุกคนมีบทบาททัดเทียมกันไม่ค่อยชอบดู แม้ระยะหลังนี้จะหันมาสนใจกีฬาฟุตบอลกันมากขึ้น ก็ยังให้ความสำคัญตรงที่ว่า ใครเด่นที่สุด ใครเป็นดาวซัลโวที่ฉกาจที่สุด ซึ่งเป็นการมองแบบ "เอกชน วีรชน" อยู่นั่นเอง

ฟังเพื่อนพูดแล้วทำให้นึกถึงหลักพุทธธรรมขึ้นมาหลักหนึ่ง ชื่อ ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา อันว่าด้วยปัจจัยสัมพันธ์ที่สอนให้มองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มิใช่เกิดขึ้นลอยๆ โดยไร้สาเหตุ และมิใช่ เกิดขึ้นเพราะ "เหตุ" ใดเหตุหนึ่งโดยเฉพาะ หากเกิดขึ้นเพราะ "ปัจจัย" หรือเงื่อนไขหลายๆ อย่างมารวมกัน

ปฏิจจสมุปบาทมีรายละเอียดถึง ๑๒ องค์ประกอบ เพียงยกชื่อมาก็เวียนหัวแล้ว จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ ขอยกหลักกว้างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มาให้ดูก็พอ มีหลักกว้างๆ ว่า เมื่อสิ่งเหล่านี้มี สิ่งเหล่านี้ก็มี เพราะสิ่งเหล่านี้เกิด สิ่งเหล่านี้ก็เกิด เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มี สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้ดับ สิ่งเหล่านี้ก็ดับ"

ถอดความว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก "เงื่อนไข" หลายๆ อย่างรวมกัน มิใช่จากเหตุใดเหตุหนึ่งโดยเฉพาะ เท่ากับสอนให้หัดมองอะไรกว้างและรอบคอบ ไม่ด่วนสรุปโดยไม่มีมูลเพียงพอ

เคล็ดลับของหลักธรรมนี้อยู่ที่คำว่า "ปัจจัย"  (เงื่อนไขหรือ condition) ท่านไม่ใช้คำว่า "เหตุ" (เหตุ หรือ cause)

ถ้าชี้ไปที่ต้นไม้ที่เจริญงอกงามกิ่งก้านสาขาสมบูรณ์ต้นหนึ่ง ถามว่า เพราะเหตุไรต้นไม้ต้นนี้จึงเจริญงอกงามดี "เพราะดินดี อย่าว่าแต่ต้นนี้เลย เอาพืชอย่างไหนปลูกก็งามทั้งนั้น" นาย ก. อาจตอบเช่นนี้ การตอบของ นาย ก. เป็นการมองแบบ "เหตุ" เด่นเหตุเดียว คือดินดีเป็นสาเหตุทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามดี

นาย ข. อาจตอบว่า "เมล็ดพืชดี ดินดี การเอาใจใส่ดูแลดี ตลอดจนดินฟ้าอากาศทุกอย่างทำให้ต้นไม้นี้เจริญงอกงามขนาดนี้ได้" คำตอบของ นาย ข. เป็น การมองไปที่ "เงื่อนไข" หลายๆ อย่างรวมกัน ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม แต่ละเงื่อนไขนั้นมีความสำคัญทัดเทียมกัน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคำตอบของ นาย ข. ถูกต้องมากกว่า การมองแบบนี้รอบคอบกว่า ถ้าฝึกหัดท่าทีการมองโลกมองชีวิตแบบนี้บ่อยๆ เขาจะกลายเป็นคนมองอะไรกว้าง จิตใจไม่คับแคบ ยอมรับความสำคัญของคนอื่นเท่าหรือมากกว่าตน เป็นหัวหน้าหน่วยงานก็จะเห็นความสำคัญ เห็นความสามารถของลูกน้อง ทุกคนเหมือนกัน งานอะไรสำเร็จออกมาก็ยกให้เป็น ผลของความร่วมมือร่วมใจของทุกคน มิใช่ "ยกหาง" ตัวเองว่า ข้าเก่งคนเดียว อะไรทำนองนั้น

หันมาพูดถึงฟุตบอล ทีม ก. ชนะทีม ข. มิใช่เพราะผู้เล่นหมายเลข ค. คนเดียวที่ชู้ตลูกเข้าโกลของฝ่าย ตรงข้าม มองให้ลึกซึ้งแล้วจะได้คำตอบว่า ผู้เล่นทุกคนนั่นแหละเป็น "ปัจจัย" (เงื่อนไข) ทำให้เกิดชัยชนะขึ้นมาได้ แม้กระทั่งผู้เล่นของทีม ข. ก็มีส่วนแห่งชัยชนะ โดยเฉพาะโกลของทีม ข. ก็สำคัญนะครับ ถ้าเตะไป ทุกครั้งแกรับได้หมดแล้วจะชนะหรือครับ เพราะโกล์ของทีม ข. แกรับพลาดนั่นเอง ชัยชนะของทีม ก. จึงมีได้

เห็นหรือยังครับ นั่งลุ้นบอลดึกๆ ดื่นๆ ก็อาจตรัสรู้สัจธรรมได้



ปาราชิกกถา กับหมาขี้เรื้อน  
ข่าวพระปาราชิกกำลังดัง ดังจนเอียนเมื่อไรจะ "จบ" กันเสียทีก็ไม่รู้ สงสารพระพุทธศาสนา สงสารศรัทธาของชาวพุทธ ที่ต้องกระทบกระเทือนเพราะอลัชชีทุมมังกุ (แปลว่า หน้าด้าน) เพียงคนสองคน

เพื่อความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไป วันนี้ขอ "เทศน์นอกธรรมาสน์" เรื่องพระเรื่องเจ้าสักเล็กน้อย (รับรองไม่พาไปทัวร์นรกสวรรค์อย่างอลัชชีลวงโลกดอกครับ) สมัยพุทธกาลว่ากันว่า ประมาณ ๒๐ ปีแรกหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบท (หรือศีล) สำหรับพระ เพราะผู้มาบวชส่วนมากเป็นผู้เบื่อโลกแล้วมุ่งมั่นประพฤติพรหมจรรย์เพื่อพ้นทุกข์ การประพฤติปฏิบัติจึงถูกต้องโดยอัตโนมัติ

ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรกราบทูลว่าทำอย่างไรพรหมจรรย์ (ศาสนา) จึงจะดำรงอยู่ได้ยาวนานที่สุด พระองค์ตรัสว่า การบัญญัติสิกขาบท วางระเบียบข้อบังคับให้พระประพฤติปฎิบัติ เป็นสาเหตุทำให้พระศาสนาอยู่ได้นาน พระสารีบุตรกราบทูลให้ทรงบัญญัติสิกขาบท พระองค์ตรัสว่า ยังไม่ถึงเวลา รอให้พระสงฆ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ลาภสักการะมากขึ้น อาวัฏฐานียธรรม (เหตุแห่งความมัวหมองเสื่อมเสีย) จะมีมาแล้วความจำเป็นที่จำต้องบัญญัติสิกขาบทย่อมเกิดขึ้น

ไม่นานจากนั้นก็เกิดสาเหตุแห่งปฐมปาราชิกขึ้น ลูกเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อ สุทินมาบวชด้วยความไม่ค่อยจะยินยอมพร้อมใจของพ่อแม่นัก เพราะเป็นลูกโทน พ่อแม่อยากให้สืบสกุล แต่สุทินอดอาหารประท้วง ถ้าไม่ให้บวชจะยอมตาย พ่อแม่จึงอนุญาตให้บวช หลังจากบวชแล้ว พระสุทินเธอก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม วันหนึ่งกลับมายังบ้านเดิมของตน พ่อแม่อ้อนวอนให้สึก ท่านก็ยืนกรานว่า ท่านซาบซึ้งในรสพระธรรมแล้ว ไม่หวนกลับมาสู่โลกียวิสัยเด็ดขาด

"ถ้าเช่นนั้นโยมพ่อ โยมแม่ขอ “หน่อ” (พีช) ไว้สักหน่อยเถอะลูก" โยมพ่อเสนอ หมายความว่าขอให้พระสุทินทำหลานให้สักคน (ทำโดยวิธีใดฟังต่อไปเดี๋ยวรู้เอง)

พระสุุทินเห็นว่าเป็นทางเดียวที่ตัดรำคาญ ไม่ให้โยมพ่อโยมแม่ตามตื๊ออีกต่อไปจึงตอบตกลง หันไปบอกอดีตภรรยา (ที่ยังสาว) ว่า เธอพร้อมเมื่อไหร่ให้บอก

เมื่ออดีตภรรยาพร้อม (พร้อมยังไงคงรู้กันนะครับ) ได้บอกพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าจึงเกี่ยวก้อยเธอเข้าไปในห้อง "จัดการ" ให้ตามที่ปรารถนา ตรงนี้ตำราท่านว่าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่พลาด จึงกระทำซ้ำถึงสามหนในเวลาไล่เลี่ยกันแล้วก็สำเร็จจริงๆ จากนั้นไม่นานนางก็ตั้งครรภ์ คลอดลูกเป็นชายหน้าตาน่ารัก ปู่ย่าตั้งชื่อให้ว่า "พีช" (แปลว่าไอ้พืช หรือไอ้หน่อ)

ความจริงสุทินเธอบวชด้วยศรัทธา มิได้แอบแฝงมาบวชเพื่อเหตุผลอย่างอื่น ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อตัดปัญหามิให้โยมพ่อโยมแม่อ้อนวอนให้สึก แต่เมื่อทำไปแล้วนึกได้ภายหลังว่าการกระทำของตนน่าจะไม่ถูกต้อง จึงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เมื่อเรื่องถูก เปิดเผยขึ้นจึงถูกตำหนิติเตียน ทั้งจากประชาชนและพระสงฆ์ทั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ให้ตามพระสุทินมาชำระสะสางคดี

สุทินเธอยอมรับผิด พระพุทธองค์ทรงตำหนิว่า เป็นการกระทำที่ก่อความเสียหายแก่พระศาสนามาก ต่อไปห้ามพระภิกษุรูปใดกระทำอย่างนี้เป็นอันขาด ถ้าทำถือว่าขาดจากความเป็นพระ ถูกขับออกจากหมู่ คณะทันที ทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่หนึ่งว่า "ภิกษุรูปใดไม่บอกลาสิกขา เสพเมถุน ภิกษุนั้นต้องปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ อยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ไม่ได้"

เนื่องจากสุทินเธอเป็นคนทำผิดคนแรก พระพุทธองค์มิได้เอาผิด ให้ถือเป็น "อาทิกัมมิกะ" โบราณจารย์แปลว่าเป็นคน "ต้นบัญญัติ" คือเป็นคนทำผิดคนแรก

แปลไทยเป็นไทยอีกทีก็คือ เป็นตัวอย่างในทางชั่วให้อ้างอิงกันไม่รู้จบสิ้นนั้นแล โยมเอ๋ย ต่อไปภายหน้าใครมาบวช อุปัชฌาย์อาจารย์จะได้สั่งได้สอนว่าบวชมาแล้วให้ตั้งใจปฏิบัติตนอยู่ในศีลวินัยให้ดีหนา อย่าได้ทำชั่วถึงขนาด "เมกเลิฟ" กับผู้หญิงเหมือนอย่างพระสุทินเชียวนะ อะไรทำนองนั้น

จนกระทั่งบัดนี้ ความชั่วของพระสุทินยังถูกกล่าวขวัญถึงอยู่ และจะเป็นอยู่อย่างนี้ตราบเท่าที่ยังมีพระไตรปิฎกอยู่ เพราะพฤติกรรมนี้ได้บันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก เอ๊ย พระไตรปิฎก

หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น สุทินเธอหาความสงบใจไม่ได้ มีแต่ความว้าวุ่นใจ มรรคผลนิพพานถูกตัดขาดแล้ว เป็นดุจ "ตาลยอดด้วน" ไม่มีทางงอกงามในพระศาสนา ในที่สุดก็เฉาตายไปเอง

ต่อมาไม่นานมีพระพิเรนรูปหนึ่งทำมิดีมิร้ายกับนางลิงเข้า รู้ถึงพระพุทธองค์ พระองค์ตรัสถามว่า ไม่รู้หรือว่าเราตถาคตห้ามมิให้เสพเมถุน เธอก็เถียงว่า "ก็พระองค์มิได้บอกว่าห้ามทำกับสัตว์นี่" เอากะพ่อสิ!

พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า อนฺตมโส ติรจฺฉานคตายปิ = (ห้ามเสพเมถุน) แม้กระทั่งกับสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้ นั่นแหละครับ เรื่องจึงเรียบร้อย ต่อมาใครหน้ามืดหน้าด้าน เสพกับคนหรือกับสัตว์ก็ถูกขจัดออกจากพระศาสนาหมดสิ้น

พระศาสนาของพระพุทธองค์เป็นของบริสุทธิ์ อลัชชีไร้ยางอายที่ทำการย่ำยีพระธรรมวินัย ถึงจะมีอิทธิพล มีชื่อเสีย (ง) แค่ไหน ผลที่สุดก็วิบัติจากพระศาสนาแน่นอน เชื่อผมเถอะครับ

จริงอย่างที่คุณพี่จิ้งจกสีเขียว ว่า หมาขี้เรื้อนเพียงตัวเดียวตายขวางถนนซูเปอร์ไฮเวย์ มิได้ทำให้ถนนเสียหายอะไร เขี่ยมันทิ้งให้พ้นทางก็สิ้นเรื่อง แม้จะมี "ขี้เรื้อน" อีกตัว มาเห่าอยู่ข้างทาง ก็เพียงทำให้รำคาญหูเท่านั้น

ปล่อยมันไปเถอะ มันจะตายเพราะโรคเรื้อนอยู่ดี



ควรเรียนภาษาบาลี
คนไทยควรเรียนภาษาบาลี ด้วยเหตุผล ๔ ข้อ ดังนี้ครับ

๑.บรรพบุรุษของไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ คำสอนของพระพุทธศาสนา (ฝ่ายเถรวาท) บันทึกไว้ด้วยภาษาบาลี

๒.ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ละม้ายคล้ายกับภาษาไทยมากกว่าภาษาอื่น (เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ภาษาจีน เป็นต้น) ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เรียนกันอยู่ขณะนี้

๓.เมื่อคนไทยมีความรู้ภาษาบาลีอย่างกว้างขวางและแตกฉานแล้ว ผลพลอยได้ก็คือ เยาวชนของชาติจะสนใจค้นคว้าหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพิ่มเติมด้วยตนเองต่อไป เพราะหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามีเสน่ห์อยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อตั้งใจศึกษาแล้วจะแตกฉานและมีฉันทะในการปฎิบัติด้วยตนเองโดยอัตโนมัติ

๔. กระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดวิชาภาษาบาลีในหลักสูตรภาคบังคับตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษา และต่อยอดไปจนถึงอุดมศึกษา โดยให้ค่อยๆ เรียนทีละเล็กละน้อยและลุ่มลึกขึ้นตามลำดับ

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณไพรัช และข้อเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมเล็กน้อยเกี่ยวกับภาษาบาลีดังนี้ครับ

ภาษาอินเดียโบราณมีอยู่ ๒ ตระกูล คือ ตระกูลพระเวท (ภาษาไวทิกะ ต่อมาเรียกว่า ภาษาสันตสกฤษ) กับตระกูลปรากฤต (ภาษาธรรมชาติ, ภาษาพื้นบ้าน หรือภาษาตลาด) ทั้งสองตระกูลนี้จัดอยู่ในสาย "อินโด ยุโรเปียน" หรือ "อินเดีย-ยุโรป"

พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธที่จะใช้ภาษาตระกูลพระเวทถ่ายทอดคำสอนของพระองค์ (เหตุผลนั้นไม่ชัดแจ้งว่าเพราะเหตุใด) ทรงอนุญาตให้ใช้ภาษาตระกูลปรากฤตถ่ายทอดแทน และเชื่อกันว่า แขนงของภาษาตระกูลปรากฤตที่ใช้บันทึกพุทธวจนะนั้นคือ มาคธี (ภาษาถิ่นแคว้นมคธ) และต่อมาเมื่อพุทธวจนะถูกบันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วได้เปลี่ยนชื่อเป็น บาลี หรือ ตันติภาษา

ปัจจุบันชาวพุทธเรียกภาษาที่บันทึกพระไตรปิฎกสามชื่อด้วยกัน คือ ภาษามคธ, ภาษาบาลี และ ตันติภาษา ซึ่งก็อันเดียวกันนั่นแหละครับ

ส่วนพระไตรปิฎกของฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตแทนภาษาบาลี (ยกเว้นนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นแขนงของนิกายเถรวาท ที่ใช้ภาษาสันสกฤต แต่เดี๋ยวนี้นิกายนี้ ก็สูญไปแล้ว

ทั้งภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต เป็นภาษา "ฝรั่ง" เพราะฉะนั้น จะละม้ายคล้ายภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส...มากกว่าภาษาไทย แต่ก่อนผมไม่เชื่อ ต่อเมื่อไปเรียนบาลี-สันสกฤต เพิ่มเติมที่เมืองฝรั่ง เห็นเพื่อนๆ ฝรั่งมันเรียนรู้ได้รวดเร็วมาก จึงชักอยากจะเชื่อขึ้นมาบ้าง ว่างๆ ผมลองเอาคำภาษาบาลีกับภาษาอังกฤษมาเทียบๆ กันดู ในที่สุดผมเชื่อโดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว

ลองดูมาเป็นแซมเปิ้ลสักสองสามคำซิครับ สิว (เย็บ) ภาษาฝรั่งเขียนเหมือนกัน (เพียงแต่อ่านออกเสียงแผกไป) ว่า sew พนฺธ (ความผูกพัน) ตรงกับฝรั่งว่า bond เอราวณ (ช้างเอราวัณ) นั้นก็คือภาษาฝรั่งว่า elephant นั่นเอง ลองออกเสียงดูสิครับ

คนไทยนับถือพระพุทธศาสนามานาน ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตได้มีอิทธิพลต่อภาษาไทยมาก โดยผ่านทางหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาและวรรณคดีพระพุทธศาสนา คำไทยที่ใช้สื่อสารอยู่ในชีวิตประจำวันกว่า ๘๐เปอร์เซ็นต์ มีรากฐานมาจากสองภาษานั้นทั้งนั้น

ไม่เชื่อลองเอ่ยชื่อและนามสกุลใครสักคนที่ท่านรู้จักสิครับ หาที่เป็นคำไทยแท้ๆ ยาก จนเราไม่คิดว่ามันเป็นภาษาอื่นแล้ว คิดว่ามันเป็นภาษาไทยทั้งนี้และทั้งนั้น เพราะเรามิได้นำมาใช้ทั้งดุ้น นำมาดัดแปลงให้เป็นแบบไทยๆ ถ้าคำเดิมมันยาวไป ออกเสียงยากนักก็ใส่การันต์ตัวท้ายให้มันสั้นเข้า (เช่น อภิวฑฺฒน เขียนใหม่ว่า อภิวัฒน์) หรือออกเสียงให้เข้ากับลิ้นไทยๆ (เช่น กมล อ่านว่า "กะมน" แทนจะอ่านว่า "กะ มะละ")

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไวยากรณ์ไม่ยาก มีข้อยกเว้นน้อยมาก ถ้าใส่ใจเรียนสักพักเดียวก็จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เมื่อรู้บาลีกว้างขวางถึงขั้นแตกฉานแล้ว จะกลายเป็นคนรู้ภาษาไทยอย่างแตกฉานด้วย

ผมจึงเห็นด้วยที่จะวางเป็นหลักสูตรให้เด็กเรียนบาลีตั้งแต่ระดับประถมขึ้นไป โดยปูพื้นฐานจากง่าย ไปหายากตามลำดับ เด็กเรียนแล้วจะได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ดีด้วย ดีกว่าให้เด็กมันท่อง เดอะบอย = เด็กผู้ชาย เดอะเกิน = เด็กผู้หญิง เทเลวิชั่น = โทรทัศน์ โตจนเข้ามหาวิทยาลัยแล้วยัง "เทเลวิชั่น" อยู่ฝรั่งฟังแล้วสั่นหัวดิกว่า มันพูดภาษาอะไรกัน



จับบวช
ได้ยินเพื่อนฝูงนักภาษาไทยบางคนบ่นผู้ที่บัญญัติศัพท์ (ใครบ้างไม่ทราบ เพราะมีหลายคนหลายคณะกรรมการ) ว่า ชอบจับบวชจังเลย ไม่คิดจะหาคำไทยเพราะๆ มาใช้บ้าง ทั้งนี้ เพราะท่านผู้นั้นเห็นว่า ศัพท์ที่บัญญัติที่ออกมาแต่ละครั้งนั้นไม่บาลีก็สันสกฤตปนกัน

ผมเคยเกี่ยวข้องเป็นกรรมการบัญญัติศัพท์อุดมศึกษาอยู่ครั้งหนึ่ง เวลามีคำจะต้องบัญญัติ ท่านผู้หนึ่งจะเปิดพจนานุกรมบาลีหรือพจนานุกรมสันสกฤต ดูว่าคำคำนั้น สองภาษานั้นว่าอย่างไรแล้วก็เสนอว่า คำนี้น่าจะเหมาะสม อะไรทำนองนั้น

ถ้าคนเสนอนั้นเป็นที่ยอมรับในคณะกรรมการด้วย ก็มีแนวโน้มที่คำบาลีสันสกฤตจะได้รับการคัดเลือก นำมาใช้ตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิท่านนั้น

ภาพของการประชุม ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น และความรู้ความสามารถ มติจากที่ประชุมเป็นผลจากการกลั่นกรองจากมันสมองของสมาชิกทุกคนในที่ประชุม นั่นคือภาพภายนอก

ความเป็นจริงภายในอาจไม่ "เริ่ดหรู" ขนาดนั้น

ว่ากันว่าการประชุมองค์กรสูงสุดทางการปกครองทางพุทธศาสนา ท่านถือความเป็นอาวุโสมาก ไม่นิยมถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นคำพูดของพระเถระผู้ใหญ่เพียงผู้เดียวกลายเป็น "มติ" ที่ประชุมได้

ไม่ใช่เผด็จการดอกครับ เป็นการให้เกียรติเคารพในความ "สุกงอม" แห่งสติปัญญาและประสบการณ์ของสังฆวุฑฒาจารย์ ว่ากันอย่างนั้น

คำว่า บวช เองก็ถูกนักธรรมะ "จับบวช" มาแล้ว โดย อธิบายว่า คำนี้มาจาก ปวช (ปะวะชะ) เอาตัว ป เป็น บ แล้วอ่านออกเสียงแบบไทยว่า "บวด" แปลว่า "การเว้นทั่ว" หรือ "การเว้นทั้งหมด" หมายถึงเว้นสิ่งที่เคยประพฤติสมัยเป็นคฤหัสถ์ (กรุณาอย่าใช้ "ฆราวาส") ไม่ว่าจะเป็นการนุ่งห่ม กิริยาอาการ การพูดการจา การกระทำทุกอย่าง มารับเอารูปแบบแห่งการดำเนินชีวิตแบบใหม่ คือ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เรียกว่า เว้นทุกอย่างที่เคยทำมา

การจับบวช นี้ความจริงโบราณาจารย์ท่านก็ทำมาก่อน ดังพระสิริมังคลาจารย์ผู้แต่ง ชินกาลมาลีปกรณ์ จับเอาชื่อสถานที่บ้าง ชื่อคนบ้าง ที่เป็นคำไทยแท้ มา "บวช" ให้เป็นภาษาบาลี เช่น "หนองขวาง" ก็จับบวชเป็น ติริยวาปี (ติริย=ขวาง+วาปี=หนอง) "เจ้าแสนเมืองมา" จับบวชเป็น ลักขปุราคโม (ลักข=แสน+ปุร=เมือง+มา=อาคโม) อะไรไม่ขำเท่าเกณฑ์ให้ขุนหลวงพะงั่ว เป็นพาลราชา (พาล=โง่เง่า-ราชา=ขุนหลวง)

ท่านคงเห็นว่า "งั่ว" กับ "ง่าว" มันใกล้เคียงกันกระมัง  



ตำราดูพระ  
เรื่องพระกับสีกากำลังดัง (ที่ถูกควรเรียกว่า เรื่องอลัชชีกับสีกามากกว่า) ดังระดับอินเตอร์เชียวแหละ ขนาดออกข่าวรอยเตอร์แพร่ไปทั่วโลก น่าอับอายขายหน้า แต่อลัชชีผู้สร้างเรื่องมัวหมองแก่พระศาสนาไม่อายดอกครับ คนพรรค์นี้พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "ทุมมังกุ" แปลตามตัวว่า "ผู้เก้อยาก" คนเก้อยากก็คนหน้าหนาหน้าทนนั่นแหละ ท่านผู้เจริญเอ๋ย คอนกรีตเสริมเหล็กยังไม่หนาไม่ทนเท่า คนพวกนี้มักมีพฤติกรรมสวนทางกับคำสอนของพระพุทธองค์เป็นส่วนมาก

พระพุทธองค์ตรัสว่า "พรหมจรรย์ (ศาสนา) ของพระองค์ มิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนบ่นเพ้อถึง มิใช่เพื่อตั้งตนเป็นเจ้าลัทธิ มิใช่เพื่อลาภสักการะเป็นอานิสงส์ มิใช่เพื่อชื่อเสียงให้คนเขารู้จัก แต่เพื่อสำรวมระวัง เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส โดยสิ้นเชิง" พูดง่ายๆ ว่า มิใช่บวชมาเพื่อลวงโลก ตั้งตนเป็นเจ้าสำนักเถื่อน หรือบวชมาทำพระพุทธพาณิชย์ขายพระศาสนาหากินจนร่ำรวยเป็นอาเสี่ย แต่ให้บวชมาเพื่อลดละกิเลส

แล้วเป็นอย่างไร ปฏิบัติตามพุทธดำรัสกันบ้างไหม

อลัชชีบางคนบวชมายังไม่พ้นภาวะ "นิสัยมุตตกะ" เลย (นี่ภาษาพระหมายถึง ยังไม่พ้นการดูแลของอุปัชฌาย์อาจารย์ คือยังไม่ครบ ๕ พรรษาขึ้นไป) ไม่อยากเป็นลูกวัดเขา อยู่เป็นพระผู้น้อยมันอึดอัด จึงปลีกตัวไปตั้งสำนักสงฆ์เถื่อนอยู่องค์เดียว อาศัยที่ประเทศนี้ ระเบียบกฎเกณฑ์อะไรมันหละหลวมไปหมด หรือระเบียบมีแต่ปล่อยปละละเลยกันมานาน ใครคิดจะตั้งสำนักเถื่อนที่ไหนเมื่อใดก็ตั้งได้ อธิบดีกรมการศาสนาก็ไม่มีปัญญาอะไรมากไปกว่าบ่นว่า "เดี๋ยวนี้สำนักสงฆ์เถื่อนมากเหลือเกิน"

เจ้าสำนักเถื่อนเหล่านี้ ร้อยทั้งร้อย ไม่ประสีประสาพระธรรมวินัย อริยสัจสี่ ไตรสิกขาคืออะไร อย่าไปถาม ไม่รู้เรื่อง รู้อย่างเดียวคือปลุกเสกลงเลขยันต์ อมน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก บอกใบ้ให้หวย แจกเหรียญแจกพระเครื่อง หรือไม่ก็โอ้อวดคุณวิเศษที่ตัวเองทำไม่ได้ เรียกตามภาษาศาสนาว่า "อวดอุตริมนุสธรรม" นั่นแหละ วิธีอวดอ้างทำตื้นๆ เช่น อ้างนรกสวรรค์ อ้างวิมาน อ้างชาติก่อนชาติหน้าให้คนเขาหลงเชื่อ เช่น ถ้าใครบริจาคเงินจำนวนตั้งแต่เท่านั้นเท่านี้แสนขึ้นไป จะมีวิมานปรากฏรออยู่ที่สรวงสวรรค์ มีเทพธิดาคอยเฝ้าดูแลให้ โดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง เจ้ากูก็นั่งหลับตาดูให้ว่าวิมานนั้นสวยยังไง วิลิศมาหราแค่ไหน ถ้าอยากวิมานงามเพริศแพร้วกว่าเดิม มีเฟอร์นิเจอร์ครบถ้วนจะต้องเพิ่มทุนอีกกี่ล้าน เมื่อเพิ่มแต่ละครั้งก็จะนั่งหลับตาดูให้ว่า สวยงามเพิ่มขึ้นเพียงใด

ประสกสีกา (โง่ส่วนมาก) ก็นั่งประนมมือปลื้มเสียไม่มี แต่คนที่ปลื้มกว่าคือเจ้ากูบัญชีเงินฝากส่วนตัวเพิ่มตัวเลขมากขึ้นตามลำดับ พฤติการณ์ลวงโลกมันช่างแนบเนียน คนถูกหลอกถูกลวงไม่รู้ตัวหาเงินมาถมให้ไม่รู้จักเต็ม

อีกวิธีหนึ่งก็อ้างชาติก่อนชาติหน้า โยมคนไหนรวยๆ เจ้ากูแกอ้างว่าเคยเป็นแม่แกมาก่อน และมักจะแถมว่า ชาติก่อนนั้นโยมแม่ร้ายไม่เบาเชียวนะ ไม่เลี้ยงดูลูกเลย ปล่อยให้ตกระกำลำบาก มาชาตินี้โยมแม่ต้องชดใช้กรรมเก่า ชดใช้ยังไง ก็เลี้ยงดูชาตินี้ให้เต็มอิ่มสิครับ มีเงินเท่าใดก็เอามาประเคนให้หมด จึงมักมีข่าวว่า มีโยมแม่คนนั้นคนนี้ยกมรดกให้เท่านั้นล้าน เท่านี้ล้าน เจ้ากูประเภทนี้มักจะมี "แม่" ในอดีตมากมาย ล้วนแต่รวยๆ ทั้งนั้น คนจนๆ ไม่มีวาสนาได้เป็นแม่ของแกดอกครับ

วิธีนี้นิกรแกนำมาใช้ได้ผลเกินคาด ยกฐานะจากพระอันดับธรรมดาเป็นเจ้าสัวร้อยล้านชั่วเวลาไม่นาน เมื่อเงินมา ผู้หญิงก็มา อย่างที่ท่านเจ้าคุณพระราชธรรมนิเทศว่านั่นแหละ จึงมีข่าวสิวนิกรพัวพันกับผู้หญิงมากหน้าหลายตา มีลูกด้วยกันแล้วส่งเสียอยู่ก็มี กำลังอยู่ในท้องเกิดเรื่องอื้อฉาวกันอยู่ก็มี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไปฟังการอภิปรายที่วัดสามพระยา ท่านผู้อภิปรายท่านหนึ่งพูดว่า พระประเภทนี้มักไม่รู้พระธรรมวินัย ไม่ค่อยมียางอาย ทำความผิดฉกาจฉกรรจ์แล้วมักดื้อด้านอยู่ให้พระศาสนามัวหมอง แทนที่จะสึกหนีไปเสีย "ไอ้สมีเจี๊ยบถึงยังไงก็น่าชื่นชมที่ทำชั่วแล้วรีบสึกเลย แต่เจ้านี่ยังด้านอยู่ เพราะมีแบ๊กมีอิทธิพลหนุนหลัง" ท่านว่าอย่างนั้น ผมสงสัยมานานแล้วว่า ตำแหน่งพระครูใบฎีกาของคนคนนี้ เป็นฐานานุกรมของเจ้าคุณรูปใด (สำนวนชาววัด "ฐานานุกรม" คือตำแหน่งพระช่วยกิจการงานของพระราชาคณะหรือพระเจ้าคุณ เช่น ตำแหน่งพระครูปลัด พระครูสมุห์ พระครูใบฎีกา...") ยังไม่ทันได้ถาม ก็มีเจ้ากูระดับเจ้าคุณชั้นราชประกาศหราออกมาว่า "นิกรเป็นศิษย์อาตมาเอง อาตมาส่งไปเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่อายุ ๑๒" (ตรงนี้สงสัยพิมพ์ผิด เด็กอายุ ๑๒ ปี เป็นเจ้าอาวาสมันก็เกินไปละครับ)

พระเจ้าคุณรูปนั้นก็คือ กิตฺติวุฑฺโฒ นั่นเอง

ผมจึงร้องออกมาดังๆ ว่า "อ้อ แม่นแล้ว I see" จะไม่ให้ร้องออกมาหลายภาษาได้ยังไงครับ เมื่อได้ความแจ่มกระจ่างขนาดนี้  กิตฺติวุฑฺโฒ กระโดดออกมาปกป้องเต็มที่ ขณะเขียนต้นฉบับนี้ (วันที่ ๒๐ ก.ค.) เห็นหนังสือพิมพ์พาดหัวว่า หิ้วปีกลูกศิษย์ไปขอเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช แต่ไม่ได้เข้าเฝ้า ประกาศว่าสีกาอรสำนึกผิดแล้ว จะทำพิธีขอขมานิกร จนแล้วจนรอดสีกาก็ไม่โผล่ จัดฉากเสียดิบดี ฉากล้มเสียแล้ว

เห็นใจครับ อาจารย์ก็ปกป้องศิษย์เป็นธรรมดา และศิษย์คนนี้ก็ทำเงินเก่งเสียด้วย ถูกแล้วละครับ ถูกต้องตามพระพุทธดำรัสว่า ยํ เว เสวติ ตาทิโส = คบคนเช่นใดก็เป็นคนเช่นนั้น

ผมขอแปลให้ฟังง่ายว่า "อาจารย์เป็นเช่นใด ลูกศิษย์ก็เป็นเช่นนั้นแหละ"



พระพุทธเจ้าไม่มีจริง  
เขียนคอลัมน์ธรรมะธัมโม้ (มีไม้โท ด้วยนะ) ก็ดีไปอย่าง เมื่อไม่มีเรื่องอะไรจะเขียนก็หยิบจดหมายท่านผู้อ่านมาพลิกๆ ดู มีคำถามบ้าง คำแนะนำบ้าง ที่มีประโยชน์พอให้หยิบฉวยมาเขียนเล่าสู่กันฟัง จึงกราบขอบคุณแฟนๆ ที่อนุเคราะห์ผมในด้านนี้ แต่เนื่องจากคอลัมน์นี้มิใช่คอลัมน์ตอบปัญหาธรรมะ จดหมายที่ท่านเขียนมา จึงได้รับ ตอบบ้าง ไม่ได้ตอบบ้าง มิใช่เลือกที่รักมักที่ชังดอกครับ บางเรื่องตอบสั้นๆ คงไม่กระจ่าง ควรเขียนเป็นหนังสือสักเล่มหนึ่งต่างหากมากกว่า บางเรื่อง แฮ่ะๆ ผมก็ตอบไม่ได้ ก็เลยทำลืมๆ ไป ต้องขออภัยมณี

ท่านผู้ใช้นามว่า "มรรคทายก" แสดงข้อกังขามาหลายเรื่อง ขอยกมาให้ดูเรื่องเดียว (ซึ่งไม่น่าเป็นเรื่อง) คือ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงนิยาย (อะไรจะขนาดนั้น) ท่านมรรคทายก (ไม่รู้วัดไหน สงสัยจะวัดสิ้นศรัทธาธรรม ฮิฮิ) คงหมายความว่าพระพุทธเจ้าของพวกเราชาวพุทธสงสัยจะไม่มีตัวตนจริง เป็นเทพนิยายที่แต่งขึ้นมาเหมือนเทพปกรณัม ทั้งหลาย

ความจริงปัญหานี้ "กล้วย"มาก เคยมีคนถามอย่างนี้มาแล้ว และมีคนตอบให้หายสงสัยมาแล้ว เป็นคำตอบที่ "แจ้งจางปาง" ชนิดไม่มีทางเถียงเลยแหละครับ บุคคลที่ว่านี้มีนามกรฉันใด

พระยามิลินท์ กับพระนาคเสนเถระ ยังไงเล่าครับ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕ (ศักราชอะไรแน่ยังถกเถียงกันอยู่) มีกษัตริย์เชื้อสายกรีก องค์หนึ่งชื่อเมนันเดอร์ภาษาบาลีเขียนว่า มิลินฺท ไม่รบเก่งอย่างเดียว ยังเป็นนักปรัชญาและนักโต้วาทีชั้นยอดอีกด้วย มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องศาสนาผิดหลายเรื่อง แต่ไม่มีพระสงฆ์รูปใดสามารถชี้แจงให้ท้าวเธอเข้าใจถูกต้องได้ เพราะหาเหตุผลมาหักล้างไม่ได้เมนันเดอร์จึงได้ใจ ท้าโต้กับใครก็ได้ที่คิดว่าเก่งจริง

โต้กันเอาเป็นเอาตายเลยครับ มิใช่โต้กันเล่นๆ สนุกๆ อย่างเวทีวาทีของคุณแอ้ กรรณิกา

เหนือฟ้ายังมีฟ้า ใต้กะลายังมีกบ (แน่ะ พูดเป็นปรัชญาเสียด้วย) พระคุณเจ้ารูปหนึ่งชื่อ นาคเสน พุทธสาวกผู้ทรงความรู้และปฏิภาณ ตกลงไปสนทนากับเมนันเดอร์ แล้วการโต้วาทีระหว่างพระกับโยมก็ได้เริ่มขึ้น เรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ถูกหยิบยกขึ้นมาปุจฉา-วิสัชนาอย่างน่าสนใจ หลังจากสนทนาจบลง กษัตริย์เมนันเดอร์ประกาศตนเป็นพุทธมามกะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

เรื่องทั้งหมดมีบันทึกไว้เป็นภาษาบาลีชื่อว่า มิลินทปัญหา (ปัญหาของพระยามิลินท์) ข้อเด่นพิเศษของหนังสือนี้คือ อ่านเข้าใจง่าย แม้จะพูดถึงเรื่องยากๆ เช่น กรรม สังสารวัฏ นิพพาน เพราะท่านยกอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ยังกับยกมาวางให้ดูตรงหน้ายังไงยังงั้น

ฉบับแปลภาษาไทยก็มีครับ หอสมุด แห่งชาติตีพิมพ์ หรือจะอ่านฉบับย่อที่ท่านอาจารย์อัศวศิน อินทสระ เก็บความมาก็ได้ ชื่อ "อธิบายมิลินทปัญหา"

พระยามิลินท์ หรือเมนันเดอร์ถามพระนาคเสนว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่จริงหรือป่าว พระนาคเสนตอบว่า มีจริง มหาบพิตร

"พระคุณเจ้าเคยเห็นหรือ"

"อาตมภาพเกิดไม่ทัน มหาบพิตร"

"อาจารย์ทั้งหลายของพระคุณเจ้าเคยเห็นหรือเปล่า"

"อาจารย์ทั้งหลายของอาตภาพก็ไม่เคยเห็น มหาบพิตร"

"อ้าว ในเมื่อพระคุณเจ้าก็ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า อาจารย์ทั้งหลายของพระคุณเจ้าก็ไม่เคยเห็น แล้วรู้ได้อย่างไรว่าพระพุทธเจ้ามีพระองค์จริง" พระยามิลินท์รุกฆาตทันที นึกในพระทัยว่าเสร็จแน่คราวนี้

พระนาคเสนท่านสงบนิ่งพักหนึ่ง แล้วถามว่า "มหาบพิตร กษัตริย์ที่เป็นต้นราชวงศ์ของพระองค์มีอยู่หรือไม่"

"มีสิ พระคุณเจ้า" มิลินท์ตรัสตอบ ยังงงๆ อยู่ว่าพระเถระถามทำไม

"พระองค์เคยเห็นไหม"

"ไม่เคย พระคุณเจ้า ก็มันนมนานกาเลแล้วนี่"

"พระราชบิดาของพระองค์ทรงเคยเห็นไหม"

"เสด็จพ่อของโยมก็ไม่เคยเห็น"

"พระอัยกาของพระองค์ทรงเคยเห็นไหม"

"เสด็จปู่ก็ไม่เคยเห็น"

"แล้วทรงรู้ได้อย่างไรว่า พระปฐมบรมกษัตริย์มีจริง" พระเถระซัก

"ก็รู้ได้จากมีตัวโยมเองซึ่งสืบทอดมาจากเสด็จพ่อ เสด็จปู่...ขึ้นไปเรื่อยๆ กับรู้ได้จากประจักษ์พยานคือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สืบทอดต่อๆ กันมาสิ พระคุณเจ้า" พระยามิลินท์ทรงอธิบาย

พระนาคเสนตอบว่า "เช่นเดียวกันนั่นแหละ จากตัวอาตมภาพที่ถือเพศบรรพชิตที่ได้รับสืบทอดมาจากพระพุทธองค์โดยไม่ขาดสาย จากหลักธรรมคำสอนที่ทรงสั่งสอนไว้และให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติตามตลอดมาทุกวันนี้ คือ สติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด อริยมรรคมีองค์แปด ทำให้รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีพระองค์จริง"

เป็นยังไงครับ หายสงสัยหรือยัง ถ้ายังไม่หายจะให้ผมงัดหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาพิสูจน์อีกก็ยังได้



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 ตุลาคม 2560 16:29:52 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  1 [2] 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.154 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 16 พฤศจิกายน 2567 09:26:18