[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
23 พฤศจิกายน 2567 14:34:04 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เครื่องรางของขลัง  (อ่าน 49338 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 14 พฤษภาคม 2557 18:40:51 »

.


เครื่องรางของขลัง

การใช้เครื่องรางของขลัง แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยในสังคมดั้งเดิม ที่ยังหวาดกลัวภัยธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ โจรผู้ร้าย ศัตรู และศึกสงคราม

ราศี บุรุษรัตนพันธุ์ เขียนไว้ นานานุกรมขนบประเพณีไทย หมวดประเพณีราษฎร์ เล่ม 3 (คติความเชื่อ กรมศิลปากรพิมพ์ พ.ศ.2552) ว่า การคิดสร้างเครื่องรางของขลัง เกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลายประการ ป้องกันตัวเอง สร้างเสริม หรืออำนวยประโยชน์ ในอาชีพการงาน

ผู้ออกรบ จะพกพาพระเครื่อง และสวมเสื้อยันต์เพื่อป้องกันอันตราย

ผู้ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนา จะหาวัวธนู ควายธนู เพื่อป้องกันอาเพศไม่ให้มาสู่ไร่นาพืชผลของตนเอง  

นักแสดง จะสรรหาสาลิกาลิ้นทองมาพกขณะทำงาน เพื่อให้ผู้คนรักใคร่เมตตาปรานี

เครื่องรางของขลังเหล่านี้ ถูกส่งต่อให้คนในสังคมเดียวกัน ครูอาจารย์มอบให้ศิษย์ พ่อแม่มอบให้ลูกหลาน

ผู้ใดมีความรู้ความสามารถสร้างเครื่องรางของขลัง จะต้องเป็นผู้มีความสำคัญ มีวัตรปฏิบัติดีงาม เป็นที่ยอมรับในสังคม

วัตถุที่นิยมนำมาใช้สร้างเครื่องรางของขลัง มักเป็นวัตถุหายากและสิ่งของผิดธรรมชาติ เช่น เขี้ยวสัตว์ เขี้ยวหมูตัน หอยเบี้ย กระดูกช้าง สะเก็ดดาว เขาสัตว์บางประเภท แร่เหล็กไหล ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ เชื่อกันว่ามีคุณพิเศษในตัวเอง จะเข้าพิธีปลุกเสกหรือไม่ก็ใช้ได้

เครื่องรางที่ตั้งใจประดิษฐ์ต้องมีการปลุกเสกลงคาถาอาคม เพื่อความศักดิ์สิทธิ์เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด ปลัดขิก มีดหมอ วัวธนู ควายธนู สาลิกาลิ้นทอง รวมถึงพระเครื่อง  เหรียญพระ

ในทางพุทธศาสนา มีการกล่าวถึงพระพุทธคุณและการบูชาพระพุทธเจ้า อาจเป็นเครื่องป้องกันอันตราย บรรเทาความหวาดกลัว และการปองร้ายของภูตผี มีความเชื่อว่าพระพุทธรูป พระพิมพ์ที่สร้างเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการสร้างระบบเลขยันต์ มนตรา คาถาอาคม ซึ่งนิยมในพุทธศาสนาลัทธิตันตระ

ประเภทเครื่องรางของขลัง...มีตั้งแต่คัมภีร์พระปถมัง คัมภีร์นี้ถือเป็นปฐมบทเรื่องเวทมนตร์ ที่คนศึกษาต้องเริ่มเรียนรู้ ถือกันว่าเป็นคัมภีร์ที่บรรจุพระคาถาพุทธบริสุทธิ์ที่มีอานุภาพสูงสุด

ธงชัยเฉลิมพล ใช้ในการนำทัพ เป็นธงที่จะประจุอาคมอาถรรพณ์ไว้จำนวนมาก เพื่อให้กองทัพมีอำนาจเหนือคู่ต่อสู้ พระชัยหลังช้าง คือพระพุทธรูปที่จะอัญเชิญไปออกศึก โดยจะประทับอยู่บนหลังช้าง เชื่อว่าจะทำให้ชนะศึก

พระเครื่อง หรือพระพิมพ์ ที่จัดเป็นเครื่องราง ตัวอย่าง พระลีลาเม็ดขนุน พระพิมพ์นี้สร้างในสมัยสุโขทัย พระโคนสมอ พระเครื่องที่สร้างในสมัยอยุธยา พบในกรุตามวัดโบราณ เป็นพระที่เชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์พลานุภาพด้านคงกระพันชาตรี

เรื่องที่ร่ำลือกันมาก คือเรื่อง พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นำพระแสงปืนยิงใส่พระโคนสมอ แต่เกิดเรื่องอภินิหาร ยิงไม่เข้า

มีดหมอเทพศาสตราวุธ นิยมกันมากในสมัยอยุธยา ใช้ถอนอาถรรพณ์ป้องกันภูตผีปีศาจ

เสื้อยันต์ ใช้ทางด้านคงกระพัน แคล้วคลาด เช่น เสื้อยันต์ที่ลงด้วยคาถา นะโมพุทธายะ ไตรสรณคมน์ และหัวใจคาถามหาอุด หรือลงด้วยพระนวโลกุตรธรรม คาถาพระเจ้าห้ามอาวุธ

ผ้าซิ่นแม่ เป็นเครื่องรางที่ทหารไทย นำติดตัวไปรบ ผ้าซิ่นแม่คือชายผ้าถุงของแม่ ผืนที่คลอดครั้งแรก ที่ลูกชายจะนำไปใส่ไว้ในหมวก

หำยนต์ คือยันต์ที่ติดไว้บนบานประตู ป้องกันคุณไสย เพราะเชื่อกันว่า ขณะนอนหลับ มนต์ถาคาจะเสื่อมลง

เขี้ยวเสือโปร่งฟ้า เป็นเขี้ยวเสือกลวง (ปกติเขี้ยวเสือจะตัน) เพชรตาแมว เป็นดวงตาแมวที่ตาย หรือยังมีชีวิตอยู่ ลักษณะกลายเป็นหิน งากำจัด งากำจาย เป็นงาช้างที่ชนต้นไม้หักคาทิ้งไว้ เป็นสิ่งที่พบได้ยาก คด วัสดุธรรมชาติที่กลายเป็นหิน เช่น เม็ดมะขาม เม็ดขนุน  เครื่องรางเหล่านี้ ใครมีติดตัวจะมีพลานุภาพด้านมหาอำนาจ ป้องกันภัย อันตราย ภูตผีปีศาจ

ในอดีต เครื่องรางของขลังถือเป็นของมีค่าทางจิตใจ บุคคลที่มีอยู่ในครอบครองจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ มีความประพฤติดี และจะมีได้เมื่อถึงโอกาสอันควร

แต่ปัจจุบัน เครื่องรางของขลังมีขายเกลื่อนกลาด ทำง่าย ซื้อง่าย คุณค่าจึงวิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากแนวทางของบรรพบุรุษไป จนไม่อาจเทียบกันได้เลย.


..www.thairath.co.t

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 พฤษภาคม 2557 18:44:38 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 03 กันยายน 2559 18:30:13 »



เครื่องรางของขลัง

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน สำหรับท่านที่นิยมพระเครื่องโดยส่วนใหญ่ประมาณ 70% จะชื่นชอบเครื่องรางของขลังด้วย และมีเครื่องรางของขลังเก็บไว้บ้างไม่มากก็น้อย เกี่ยวกับเครื่องรางของขลังนั้น มีการสร้างมาช้านานแล้ว น่าจะก่อนการสร้างพระเครื่องเสียอีก พระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าๆ ส่วนใหญ่ท่านจะสร้างเครื่องรางของขลังมาก่อนสร้างพระเครื่องแทบทั้งนั้น บางท่านอาจสร้างตะกรุด ผ้ายันต์หรือเครื่องรางอื่นๆ มาก่อน

เครื่องรางของขลังนั้น พระเกจิอาจารย์ท่านจะสร้างโดยมีอุปเท่ห์การใช้เฉพาะทาง เช่น ทางด้านมหาอุด อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด หรือเมตตามหานิยม ทางด้านค้าขาย ทางด้านแก้กัน ทางด้านคุ้มครองป้องกันภัยต่างๆ ในสมัยโบราณนั้นกรรมวิธีการสร้างมักจะสร้างด้วยการลงจารทีละชิ้นทีละอันตามที่มีลูกศิษย์หรือมีผู้มาขอ และปลุกเสกให้เข้มขลังตามตำรับที่ท่านเล่าเรียนมา

คนไทยในสมัยก่อนมักมีเครื่องรางของขลังพกติดตัวแทบทุกคน ส่วนใหญ่ที่เห็นก็เป็นจำพวกตะกรุด แต่เครื่องรางของขลังของไทยนั้นจะมีหลายอย่างเช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ ลูกอม เครื่องรางรูปตัวสัตว์ต่างๆ ปลัดขิก เบี้ยแก้ ฯลฯ ในบรรดาเครื่องรางของขลังนั้นก็สร้างด้วยวัตถุต่างๆ กัน เช่น ตะกรุดก็มีสร้างทั้งเนื้อตะกั่ว เนื้อทองแดง เนื้อเงิน และเนื้อทองคำ เครื่องรางรูปตัวสัตว์ก็มีสร้างด้วยวัสดุต่างๆ เช่น แกะจากไม้ ครั่ง เขี้ยว งา กะลา เขา เป็นต้น ส่วนเบี้ยแก้ก็สร้างมาจากเปลือกหอยบรรจุด้วยปรอท อุดด้วยชันโรง

เครื่องรางรุ่นเก่าๆ ที่มีชื่อเสียงและนิยมกันมากก็มีอยู่หลายเกจิอาจารย์ เช่น ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ตะกรุดหลวงพ่อกุน วัดพระนอน ตะกรุดหลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ตะกรุดหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตะกรุดหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ตะกรุดหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ตะกรุดหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ฯลฯ เครื่องรางรูปสัตว์ก็ เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน ลิงหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว สิงห์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ คชสิงห์หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน วัวหลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง กะลาราหูหลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง ฯลฯ ส่วนเบี้ยแก้ก็ เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง เบี้ยแก้หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เบี้ยแก้หลวงพ่อพัก วัดโบสถ์ เบี้ยแก้หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน เบี้ยแก้หลวงพ่อคำ วัดโพธิ์ปล้ำ เบี้ยแก้หลวงพ่อซำ วัดตลาดใหม่ ฯลฯ ปลัดขิกก็ต้อง หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ เป็นต้น เครื่องรางเหล่านี้ล้วนเป็นของรุ่นเก่าหายากและมีสนนราคาสูงมาก

การพิจารณาเครื่องรางรุ่นเก่าว่าแท้หรือไม่นั้นยากมาก เนื่องจากกรรมวิธีการสร้างนั้น ทำด้วยมือไม่ได้ใช้เครื่องจักร ตะกรุดก็จารด้วยลายมือ เครื่องรางแกะก็แกะทีละอัน ซึ่งจะไม่ เหมือนกันเป๊ะทุกอัน แต่ก็จะมีเอกลักษณ์ของช่างผู้แกะ การลงเหล็กจารด้วยลายมือของพระเกจิอาจารย์รูปนั้นๆ การลงรักถักเชือกลวดลายของการถักก็จะมีเอกลักษณ์ของแต่ละอาจารย์ การศึกษาก็ค่อนข้างยาก ต้องเคยเห็นและจดจำได้ในแต่ละอาจารย์ จึงจำเป็นที่ต้องเห็นมามากๆ ใช้ความชำนาญเฉพาะตัว ต้องดูรักเก่าเป็น ดูเชือกเก่าเป็น เพราะส่วนใหญ่ก็จะมีการลงรักถักเชือกด้วย พิจารณาความเก่าตามอายุกาลและวิเคราะห์ได้

ในปัจจุบันเครื่องรางของขลังเก่าๆ ของเกจิอาจารย์ดังๆ มีสนนราคาสูง จึงมีการปลอมแปลงกันเยอะมาก และมีการยักย้ายวัดกันก็เยอะ

     ชมรมพระเครื่อง
     แทน ท่าพระจันทร์
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 03 กันยายน 2559 18:37:06 »




ปลัดขิก ของหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก

สวัสดีครับ ผู้อ่านที่รักทุกท่าน คนไทยเรานอกจากจะนิยมพระเครื่องฯ แล้วยังนิยมเครื่องรางของขลัง ซึ่งเรื่องความเชื่อในเครื่องรางของขลังนั้นมีมานานแล้ว และสมัยโบราณก็มักจะนิยมห้อยเครื่องรางของขลังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของทนสิทธิ์ที่เกิดจากธรรมชาติ หรือเครื่องรางของขลังที่สร้างโดยพระเกจิอาจารย์ที่เคารพนับถือก็ตาม เครื่องรางชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ปลัดขิก" ก็เป็นที่นิยม ในสมัยก่อนก็มีพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่หลายรูป เช่น หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก เป็นต้น

ในย่านแม่น้ำบางปะกงชาวแปดริ้ว ในสมัยก่อนมักเสาะหาปลัดขิกของหลวงพ่อเหลือห้อยเอวกัน โดยเฉพาะชาวสาวชะโงก โลงเล่า 10 ศอก แหลมบน จุกเฌอ บ้านหมู่ ต่างโจษจันกันทั่ว

พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ) เกิดที่ตำบลบางเล่า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ.2406 โยมบิดาคือแขวงรุ่ง กำนันตำบลบางเล่า ในเยาว์วัยศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านที่วัดสาวชะโงก และติดตามบิดามารดาไปวัดอยู่เสมอ หลวงพ่อเป็นคนขยันขันแข็งช่วยงานบ้านทำสวนและอื่นๆ จนเป็นที่รักใคร่ของครอบครัว พออายุได้ 22 ปี ก็ได้ขอบิดามารดาอุปสมบท และได้อุปสมบทที่วัดสาวชะโงก ซึ่งเป็นวัดที่โยมบิดาของท่านเคารพนับถือหลวงพ่อขริกอยู่ โดยมีหลวงพ่อคง วัดใหม่บางคล้า เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อขริกเป็นพระ กรรมวาจาจารย์ เมื่อท่านอุปสมบทแล้วก็อยู่จำพรรษาที่วัดสาวชะโงก และศึกษาพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรม นอกจากนี้หลวงพ่อเหลือยังสนใจศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมต่างๆ จากหลวงพ่อขริก ซึ่งหลวงพ่อขริกก็มีชื่อเสียงโด่งดังในหลายด้าน และวิชาแพทย์แผนโบราณด้วย มีชาวบ้านมาให้รักษากันอยู่ตลอด

หลวงพ่อเหลือได้ศึกษาจนเชี่ยวชาญ และช่วยหลวงพ่อขริกในกาลต่อมา เมื่อหลวงพ่อขริกชราภาพมากๆ ก็ให้หลวงพ่อเหลือช่วยเหลือชาวบ้านแทนรวมทั้งสร้างเครื่องราง ของขลังต่อจากหลวงพ่อขริก เมื่อหลวงพ่อขริกมรณภาพหลวงพ่อเหลือก็ได้รับนิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน นอกจากศึกษาวิทยาคมจากหลวงพ่อขริกแล้ว ยังได้ธุดงค์ไปศึกษาจากหลวงปู่จีน วัดท่าลาด หลวงพ่อดำ วัดกุดศรีธรรม ซึ่งเก่งกล้าทางด้านมหาอุดคงกระพันและแคล้วคลาด หลวงพ่อเหลือออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้พบกับหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน หลวงพ่อนก วัดสังกะสี ก็ได้ศึกษาวิทยาคมจากทั้งสองท่านนี้ด้วย

หลวงพ่อเหลือนอกจากปลัดขิกที่โด่งดังแล้ว เครื่องรางของท่านที่มีชื่อเสียงในสมัยสงครามโลกก็ยังมีเสื้อยันต์ ผ้าประเจียด ปลัดขิกของหลวงพ่อเหลือส่วนมากจะทำจากไม้แก่นคูน ซึ่งอยู่ภายในวัด มีลูกศิษย์คือนายจวง นายเล็ก นายตี๋ นายเจียม เป็นผู้ทำตัวปลัดขิก โดยมีคนมาขอปลัดขิกจากหลวงพ่อมากท่านก็จะให้ไปหาบุคคลเหล่านี้ให้แกะปลัดขิกให้ แล้วจึงนำมาให้หลวงพ่อเหลือจารและปลุกเสกให้อีกครั้งหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่าปลัดขิกของหลวงพ่อเหลือมีหลายแบบหลายช่างแกะ

ปลัดขิกของหลวงพ่อเหลือนั้น เด่นทางด้านเมตตามหานิยมคงกระพัน และแคล้วคลาด แล้วแต่ผู้ใช้จะอาราธนาขอพวกแม่ค้าแม่ขายก็มักจะนำไว้ที่ร้านเพื่อให้ขายของดี พวกเจ้าชู้ก็อาราธนาให้สาวๆ ชมชอบ พวกนักเลงก็เอาทางแคล้วคลาด อยู่คง เป็นต้น เรียกว่าดีครบเครื่องเลยทีเดียวครับ และอุปเท่ห์ในการใช้ต่างๆ กัน ว่ากันว่าเคยมีผู้ทดลองโดยอาราธนาแล้วเอาปลัดขิกไปลอยในแม่น้ำบางปะกง ปรากฏว่าปลัดขิกวิ่งทวนกระแสน้ำได้อย่างน่าอัศจรรย์ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับประสบการณ์จากปลัดขิกของท่านอีกมากมาย จึงโด่งดังมากในสมัยก่อน มีคนเข้ามาขอปลัดขิกกันทุกวัน

หลวงพ่อเหลือท่านมีเมตตามาก ช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อน และมาขอเครื่องรางของขลังจากท่านเสมอมา จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2490 หลวงพ่อเหลือก็มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 84 ปี พรรษาที่ 62

ในวันนี้ผมได้นำรูปปลัดขิกของหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก จากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมครับ

     ด้วยความจริงใจ
     แทน ท่าพระจันทร์


บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 03 กันยายน 2559 19:09:26 »


กุมารทอง

โปรดใช้วิจารณญาณ เพราะนี่เป็นเรื่องรู้ไว้ใช่ว่าล้วนๆ มิได้ชวนเชื่อ ชวนเช่าแต่อย่างใด

กุมารทอง เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ของไทยเกี่ยวกับจิตวิญญาณและเครื่องรางของขลัง ที่มาของกุมารทองมาจากการเลี้ยงภูตผีปีศาจไว้ใช้งาน เชื่อกันว่ามีวิญญาณของเด็กผู้ชายสิงสถิตอยู่ และสามารถแสดงตัวให้คนในบ้านเห็น หรือดูแลบ้านในยามที่เจ้าของบ้านไม่อยู่

กุมารทองนั้นแรกเริ่มเดิมทีมาจากวิญญาณของเด็กที่ตายในท้องแม่ หรือที่เรียกว่าตายทั้งกลม ผู้มีวิชาอาคมจะไปนำพาวิญญาณเด็กนั้นมาเลี้ยงไว้เป็นลูก จากหลักฐานที่พบในเอกสารโบราณระบุถึงการทำกุมารทองสรุปว่า ต้องหาศพที่ตายทั้งกลม แล้วประกอบพิธีกรรมผ่าเอาศพทารกในท้องนั้นมาย่างไฟให้แห้งสนิทก่อนรุ่งอรุณ แล้วจึงลงรักปิดทองให้ทั่ว จึงเรียกว่า กุมารทอง ต่อมาสภาพสังคมและวัฒนธรรมพัฒนาไปมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถสร้างกุมารทองจากศพทารกจริงๆ ได้ กรรมวิธีการสร้างจึงดัดแปลงโดยใช้ดินเจ็ดป่าช้าบ้าง ไม้รักซ้อนหรือไม้มะยมบ้าง ไปจนถึงโลหะ มาสร้างเป็นรูปกุมาร แล้วปลุกเสกตั้งจิต ตั้งธาตุทั้ง 4 และเรียกอาการสามสิบสองให้บังเกิดเป็นจิตวิญญาณของเด็กขึ้นมา

กุมารทองนิยมสร้างเป็นรูปเด็ก ลักษณะเป็นเด็กไว้จุก นุ่งโจงกระเบนอย่างโบราณ กลายเป็นเครื่องรางของขลัง เชื่อกันว่าเสมือนมีวิญญาณเด็กอยู่ในรูปกุมารนั้น ผู้บูชาต้องเลี้ยงดูเหมือนลูกของตน ต้องให้ข้าวน้ำเซ่นสรวงและต้องเรียกให้กินข้าวด้วย ผู้เชื่อถือกล่าวว่า หากปฏิบัติดูแลดีกุมารทองจะช่วยค้ำคูน อาทิ คุ้มครองป้องกันเจ้าของและครอบครัวจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ให้ทำมาค้าขึ้น ไปจนถึงเตือนภัยล่วงหน้า และจะคอยติดตามเฝ้าระวังบ้านเรือนจากโจรผู้ร้ายและศัตรูไม่ให้มากล้ำกราย ปัจจุบันผู้บูชานิยมไหว้ด้วยน้ำแดง

กุมารทองที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดคือตำนานกำเนิดกุมารทองในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ตอนที่ขุนแผนจับได้ว่านางบัวคลี่ผู้เป็นเมียคิดวางยาพิษเพื่อจะฆ่าตน จึงลงมือฆ่านางบัวคลี่เสียก่อน แล้วผ่าท้องของนางเพื่อเอาบุตรชายภายในท้องมาทำพิธีย่างศพเด็กและปิดทองคำเปลวจนกระทั่งกลายเป็นผีกุมารทอง แล้วใส่ห่อผ้าไว้ กุมารทองนั้นสำคัญกับขุนแผนมาก เพราะก็เป็นบุตรคนหนึ่งเช่นเดียวกัน และกุมารทองถูกจัดให้เป็นของวิเศษอย่างหนึ่ง สันนิษฐานว่าได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยขุนแผนซึ่งอยู่ในยุคกรุงศรีอยุธยา แต่การสร้างกุมารทองไม่สามารถทำแบบขุนแผนได้ เนื่องจากผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม

ตำรากุมารทอง เป็นไสยศาสตร์ในยุคที่เรียกว่ากรรมฐานนิพพานสูตร มีอยู่ในสมุดข่อยสมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งกุมารทองเป็น 2 ประเภท คือ

1.กุมารทองทำร้าย มีฤทธิ์ทางทำร้ายศัตรู มีความดุร้ายอยู่มาก แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ
     1.เพชรมั่น
     2.เพชรดับ
     3.เพชรคง และ
     4.เพชรสูญ รวมเรียกว่า เพชรภูติงาน หรือ เพชรปราบ ซึ่งแต่ละชนิดมีวิธีทำร้ายศัตรูต่างกัน เพชรสูญมีฤทธิ์ทำให้เป็นบ้า เพชรคงและเพชรมั่นดีจัดการคนที่มาบุกรุกบ้าน โดยเพชรคงมีอำนาจไล่ตามศัตรูได้ ขณะที่เพชรมั่นอยู่แต่ภายในอาณาเขตบ้านเท่านั้น ส่วนเพชรดับสามารถหักคอศัตรูอย่างรวดเร็วฉับพลัน มีไว้สำหรับปลิดชีวิตโดยเฉพาะ

2.กุมารทองใช้งาน หรือกุมารทองเมตตามหานิยม ไม่มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ โดยทั่วไปผู้บูชาจะตั้งชื่อเอง เลือกเอาชื่อที่เป็นมงคลเรียกทรัพย์ต่างๆ กุมารทองชนิดนี้จะไม่ดุร้าย ไม่มีอันตรายเหมือนอย่าง 4 เพชรดังกล่าว




กุมารทอง เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ของไทยเกี่ยวกับจิตวิญญาณ
ที่มาของกุมารทองมาจากการเลี้ยงภูติผีปีศาจไว้ใช้งาน
โดยกุมารทองจะเป็นวิญญาณของเด็กผู้ชาย
หากเป็นวิญญาณผู้หญิงที่คนเลี้ยงไว้จะเรียกว่า "โหงพราย"

กุมารทองนั้นแรกเริ่มเดิมทีมาจากวิญญาณของเด็กที่ตายในท้องแม่หรือที่ เรียกว่าตายทั้งกลม ผู้มีวิชาอาคมจะไปนำพาวิญญาณเด็กนั้นมาเลี้ยงไว้เป็นลูก จากหลักฐานที่พบในเอกสารโบราณระบุถึงการทำกุมารทองสรุปว่า ต้องหาศพที่ตายทั้งกลม แล้วประกอบพิธีกรรมผ่าเอาศพทารกในท้องนั้นมาย่างไฟให้แห้งสนิทก่อนรุ่งอรุณ แล้วจึงลงรักปิดทองให้ทั่ว ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่ากุมารทอง ต่อมาสภาพสังคมและวัฒนธรรมพัฒนาไปมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถสร้างกุมารทองจากศพทารกจริง ๆ ได้ จึงได้มีการดัดแปลงกรรมวิธีการสร้างกุมารทองขึ้น

โดยใช้ดินเจ็ดป่าช้าบ้าง ไม้รักซ้อนหรือไม้มะยมบ้าง ไปจนถึงโลหะ มาสร้างเป็นรูปกุมาร แล้วปลุกเสกตั้งจิต ตั้งธาตุทั้ง 4 และเรียกอาการสามสิบสองให้บังเกิดเป็นจิตวิญญาณของเด็กขึ้นมา กุมารทองปัจจุบันนิยมสร้างเป็นรูปเด็ก ลักษณะเป็นเด็กไว้จุก นุ่งโจงกระเบนอย่างโบราณ กลายเป็นเครื่องรางของขลัง เชื่อกันว่าเสมือนมีวิญญาณเด็กอยู่ในรูปกุมารนั้น ผู้บูชาต้องเลี้ยงดูเหมือนลูกของตน ต้องให้ข้าวน้ำเซ่นสรวงและต้องเรียกให้กินข้าวด้วย

ซึ่งของที่มักจะถวายให้กุมารทอง ได้แก่ -น้ำแดง น้ำผลไม้ -กล้วยน้ำว้า ขนมหวานโบราณ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด -ผลไม้ที่มีรสหวานน่ารับประทาน -น้ำเปล่า (ห้ามขาดโดยเด็ดขาด) หากปฏิบัติดูแลดีกุมารทองก็จะช่วย ช่วยคุ้มครองป้องกันเจ้าของและครอบครัวจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ช่วยให้ทำมาค้าขึ้น ไปจนถึงเตือนภัยล่วงหน้าอีกด้วย และจะคอยติดตามเฝ้าระวังบ้านเรือนจากโจรผู้ร้ายและศัตรูไม่ให้มากล้ำกราย ปัจจุบันผู้บูชานิยมไหว้ด้วยน้ำแดง เรื่องราวของกุมารทองถูกกล่าวถึงใน วรรณคดีไทย เช่น ขุนช้างขุนแผน บ้างก็นับลูกกรอก เป็นกุมารทองด้วย

แต่ปัจจุบันจากข่าวที่ได้ยินกันในขณะนี้ ว่ามีการเอาเด็กมาดองเพื่อจะทำเป็นกุมารทองนั้น ถึงว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง แต่อาจเป็นเพราะความเชื่อของคนไทย ที่มีมานานเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ จึงไม่สามารถห้ามไม่ให้คิดว่าเรื่องแบบนี้สามารถช่วยส่งเสริมให้พวกเค้าอยู่ดีมีสุขหรือป้องกัยอันตรายได้  แม้ไม่มีใครสามารถพิสูจณ์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ของแบบนี้ก็ไม่มีใครอยากลบหลู่เช่นกัน แต่ก็ยังมีบางคนกลุ่มไม่เห็นด้วยกับเรื่องราวเหล่านี้เพราะคิดว่าเป็นเรื่องงมง่าย ของแบบนี้ไม่มีอยู่จริง จึงออกมาต่อต้านการดองเด็กเพื่อมาทำกุมารทอง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในเรื่องแบบนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ขอแนะให้ทำตามแต่อย่างใด อยู่ที่ตัวบุคคล จะใช่วิจารณญาณ พิจารณาเองว่าควรหรือไม่ควร ไม่เชื่ออย่าลบหลู่


horoscope.sanook.com & daily.khaosod.co.th
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 26 กันยายน 2559 16:01:12 »




แมลงภู่

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงเครื่องรางของขลังประจำถิ่น ซึ่งจะพบเห็นได้ทางภาคเหนือหรือถิ่นล้านนา เครื่องรางชนิดนี้เป็นรูปแมลงภู่ ส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้แกะ ที่เป็นงาแกะก็มีอยู่บ้างแต่พบน้อยกว่า

ผมเองได้พบเครื่องรางแมลงภู่ เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว จากเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบเครื่องรางของขลัง พอผมเห็นก็เกิดความสงสัยและชอบศิลปะที่แกะรูปแมลงภู่ จึงสอบถามดู เขาก็ไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับเครื่องรางชนิดนี้ บอกเพียงว่าเห็นว่าเก่าดีจึงซื้อไว้ และเท่าที่รู้เป็นเครื่องรางของทางล้านนา ไม่ทราบประวัติความเป็นมานัก ผมจึงได้ขอแบ่งมาจากเพื่อนและเริ่มค้นหาข้อมูล

พอดีได้รู้ว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ท่านมีความรู้เรื่องราวของวัฒนธรรมและความเชื่อของล้านนา จึงได้เขียนไปถามท่านเกี่ยวกับเรื่องเครื่องรางรูปแมลงภู่ ท่านก็กรุณาเล่าให้ฟังอย่างละเอียด ถึงถิ่นกำเนิดเครื่องรางรูปแมลงภู่ วิธีการสร้างและวิธีใช้ว่าดีอย่างไร นอกจากนั้นท่านยังกรุณาเล่าเรื่องเครื่องรางของขลังชนิดอื่นอีกด้วย

แมลงภู่ หรือออกเสียงแบบทางล้านนาว่าแมงบู้ เป็นเครื่องรางที่มีขนบความเชื่อมาจากชาวไทยใหญ่ และชนกลุ่มน้อยในพม่า ต่อมาก็เข้ามาทางล้านนา แมลงภู่ส่วนใหญ่จะทำจากไม้ แต่ไม้ที่จะนำมาทำนิยมไม้ที่มาจากดุมล้อเกวียนมาแกะเป็นรูปแมลงภู่ เจาะรูที่ก้นของตัวแมลงภู่ บรรจุปรอท แล้วอุดด้วยไม้มะเขือบ้าหรือต้นลำโพง เวลาเขย่าจะมีเสียงขลุกๆ อยู่ภายในคล้ายเบี้ยแก้ บ้างก็บรรจุเข็มไว้ก็มี ที่ทำด้วยงาของเก่านั้นพบน้อย สันนิษฐานว่าคงจะเป็นของคนชั้นเจ้านาย

การสร้างแมลงภู่นั้น ผู้สร้างจะต้องเป็นผู้เรืองเวท มีทั้งที่เป็นฆราวาสและพระภิกษุ ตามคติความเชื่อใช้ในทางป้องกัน การเตือนภัย ไล่สิ่งชั่วร้าย คนที่คิดจะทำร้าย กลับใจไม่ทำร้าย ดีทางเมตตามหานิยม โชคลาภ กันโจรภัย กันภูตผีปีศาจ เป็นที่รักแก่คนและเทวดา สำหรับชาวไทยใหญ่นั้นนิยมบูชาไว้กับเรือน 4 ตัว พกติดตัวหนึ่งตัว ทำมาค้าขายก็นำไว้ที่ร้านค้าขายดี ว่ากันว่า เมื่อพกแมลงภู่ติดตัว เวลาจะมีภัย จะได้ยินเสียงหึ่งๆ เหมือนเสียงแมลงภู่บินมาเตือนภัย

ครับแมลงภู่เป็นเครื่องรางทางล้านนาแบบหนึ่งที่มีศิลปะในการแกะสวยงาม และมีความเชื่อในด้านการคุ้มครองป้องกันภัยอีกแบบหนึ่ง ปัจจุบันมีการทำแมลงภู่ใหม่ก็มี บ้างก็ทำให้ดูเก่าก็มี ดังนั้นเวลาจะเช่าหาก็ควรพิจารณาให้ดี ส่วนของที่สร้างใหม่ในเมืองไทยเราก็มีของครูบาบุญยัง วัดห้วยน้ำอุ่น จังหวัดลำพูน ที่สร้างตามขนบเดิม บรรจุปรอท ฝีมือการแกะสวย งามมาก มีทั้งที่ทำด้วยไม้ดุมล้อเกวียนและแบบงา แต่ก็สร้างไว้หลายปีแล้วเหมือนกัน

สุดท้ายขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ที่กรุณาบอกเล่า และคุณโจ๊ก ลำพูน ที่กรุณาเอื้อเฟื้อภาพแมลงภู่ มาด้วยครับ (ภาพจากหนังสือ อมตะเครื่องราง แดนล้านนา)

    ด้วยความจริงใจ
     แทน ท่าพระจันทร์




วัวธนูของครูบานันตา วัดทุ่งม่านใต้

สวัสดีครับ ผู้อ่านที่รักทุกท่าน เครื่องรางของขลังชนิดหนึ่งที่เราๆ ท่านๆ เคยได้ยินได้ฟังกันมานมนานแล้วก็คือ วัวธนูหรือควายธนู ซึ่งก็มีเรื่องเล่าต่างๆ กันมา ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการป้องกันภูตผี ปีศาจและสิ่งไม่ดี เช่น พวกคุณไสย เฝ้าทรัพย์สินบ้านเรือนเรือกสวนไร่นา ยังมีเรื่องเสือสมิงที่วัวธนูออกไปต่อสู้ป้องกันเจ้าของ ซึ่งเรื่องต่างๆ ก็เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณ

วัวธนูเป็นเครื่องรางของขลังที่มีมาแต่โบราณ วิธีการทำนั้นก็แตกต่างกันไป มีทั้งที่เป็นเนื้อผงว่านยาทำจากครั่ง ทำจากไม้ไผ่สาน ทำด้วยโลหะ และทำจากเขาสัตว์ ก็แล้วแต่ตำราของแต่ละสำนัก และมี การสร้างแทบทุกภาค ทั้งทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และทางภาคใต้ แม้แต่ทางประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเช่นประเทศพม่า ลาว และเขมรก็มีการสร้างเช่นกัน เห็นได้ว่าเป็นที่นิยมสร้างกันอย่างแพร่หลาย เพื่อคุ้มครองป้องกันตัวเองและทรัพย์สิน

วัวธนูที่ในสังคมพระเครื่องรู้จักกันดีก็คือ วัวธนูของหลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง นครปฐม ที่ทำจากครั่ง มีโครงเป็นลวดทองแดง มีทั้งตัวใหญ่สำหรับไว้ประจำบ้าน และชนิดตัวเล็กที่สามารถนำพกติดตัวไปได้ ซึ่งปัจจุบันหายากมากและมีมูลค่าสูงมาก

ส่วนวัวธนูที่ในถิ่นล้านนาก็มีหลากหลายสำนัก แต่ที่นิยมมากที่สุดก็คือของครูบานันตา วัดทุ่งม่านใต้ จังหวัดลำปาง ท่านเป็นบุตรของโยมพ่อเฒ่าคำปา โยมมารดาชื่อแม่เฒ่าอินตา เกิดปี พ.ศ.2415 ที่บ้านทุ่งม่านใต้ ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เมื่ออายุได้ 12 ปี บิดามารดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์ท่านเจ้าไชยสาร เจ้าอาวาสวัดทุ่งม่านใต้ ต่อมาเมื่ออายุได้ 13 ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ครูบาธิ วัดบ้านแคร่ เป็นพระอุปัชฌาย์ พออายุได้ 21 ปี พ.ศ.2435 จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีครูบาขัตติโย วัดหนองร่อง เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาสิทธิวังโส วัดหนองหล่ม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ครูบาเจ้าพรหมสโร วัดหลิ่งก้าน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า นันทาภิกขุ ต่อมาอีก 3 พรรษาก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งม่านใต้ ครูบายันตาครองวัดทุ่งม่านใต้จวบจนมรณภาพเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2504 สิริอายุได้ 90 ปี พรรษาที่ 69

ครูบานันตาได้สร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์หลายอย่าง เช่น วัวธนู และกะลาแกะราหู ส่วนวัวธนูใช้พกติดตัวเวลาเดินทางภูตผีปีศาจสัตว์ร้ายไม่กล้ากล้ำกราย อยู่กับบ้านเรือนป้องกันภัยอันตรายต่างๆ จากโจรผู้ร้ายหรือป้องกันคุณไสยต่างๆ ปัจจุบันหายากมาก ของเลียนแบบมีมากมาย เวลาจะเช่าหาควรพิจารณาให้ดีๆ หรือให้ผู้ชำนาญการตรวจสอบก่อนที่จะเช่าหา

วันนี้ผมได้นำรูปวัวธนูของครูบานันตา วัดทุ่งม่านใต้ จากหนังสืออมตะเครื่องรางแดนล้านนา มาให้ชมครับ

   ด้วยความจริงใจ
    แทน ท่าพระจันทร์


บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 13 ธันวาคม 2559 20:23:36 »



เครื่องรางของขลังจากหนังสือ ตามรอยตำนานเครื่องราง ของขลัง ขมังเวทย์

สวัสดีครับ ผู้อ่านที่รักทุกท่าน ศรัทธาความเชื่อหรืองมงาย มีบางท่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกันแต่ความจริงนั้นแตกต่างกัน ในด้านพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง ความศรัทธาความเชื่อ เป็นเรื่องของการเคารพศรัทธาในพระเกจิอาจารย์รูปนั้นๆ ความเชื่อก็คือเชื่อตามคำบอกเล่าของปู่ย่าตายายหรือผู้หลักผู้ใหญ่ในอดีตบอกเล่ากันต่อมาที่ได้ประสบพบมา หรือได้เคยพบเห็นมา หรือจากประสบการณ์ที่ตนเองเคยได้พบหรือประสบกับตนเองมา และมักจะเป็นเรื่องที่เหนือธรรมชาติ แต่รู้ได้เฉพาะตนเอง

ความเชื่อความศรัทธาก็มีเหตุผลในการเชื่อของแต่ละบุคคล ส่วนงมงายนั้นเป็นเรื่องที่หาเหตุผลไม่ได้ แต่ก็เชื่อตามใครๆ ไปตามเขาอย่างไร้เหตุไร้ผล และเชื่อว่าการที่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วจะดี ร่ำรวย ได้โชคอย่างไร้เหตุผล แบบถูกหวยรวยเบอร์อะไรทำนองนั้น หรือมีของสิ่งนั้นๆ แล้วไม่ตายไม่เจ็บไม่จน โดยไม่ต้องทำอะไรเลย หาที่มาที่ไปไม่ได้อย่างนี้แหละที่เรียกว่างมงาย ศรัทธาความเชื่อกับงมงาย มีเส้นบางๆ คั่นอยู่ ถ้าเชื่อโดยไร้เหตุผลหรือเกินความศรัทธาไปก็เข้าขั้นงมงายครับ

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง ก็มีความศรัทธาเป็นที่ตั้งและมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องและเครื่องรางของขลังนั้นๆ และต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วย ซึ่งพระเกจิอาจารย์ที่สร้างก็จะสั่งสอนให้เป็นคนดีมีศีลธรรมจึงจะใช้พระหรือเครื่องรางนั้นๆ ได้ผล

ในส่วนตัวผมเองชื่นชอบในพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง โดยเฉพาะเครื่องรางของขลังเก่าๆ ซึ่งในเรื่องของพระเครื่องผมก็เสาะหาและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องที่ผมศรัทธาและชื่นชอบ ว่าแท้ไม่แท้ต่างกันอย่างไร ศึกษาประวัติความเป็นมาไม่ว่าจะเป็นพระกรุหรือพระเกจิอาจารย์รูปนั้นๆ ในส่วนเครื่องรางของขลังผมเองก็ชื่นชอบด้วย ซึ่งก็ศึกษาหาความรู้ถึงที่มาที่ไป

ประวัติของเครื่องรางของขลังนั้นๆ ซึ่งพอเริ่มศึกษาดูก็มีเรื่องที่น่าสนใจมาก ไม่เพียงแต่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ยังมีความเชื่อและอุปเท่ห์การใช้ต่างๆ มากมายในการใช้ ยิ่งเป็นเครื่องรางของขลังยุคเก่าๆ ยิ่งน่าสนใจมาก วิธีการสร้างก็ซับซ้อนมหัศจรรย์มาก ฤกษ์พานาทีในการสร้าง นอกจากนี้เครื่องรางของขลังนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ ทั้งตะกรุด ลูกอม เบี้ยแก้ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด แหวนพิรอด หมากทุย เครื่องรางแกะรูปสัตว์ต่างๆ ตะกรุดหนังสัตว์ สีผึ้ง น้ำมันมนต์ และของทนสิทธิ์ต่างๆ เช่น เขี้ยวเสือกลวง เขี้ยวหมูตัน เขากวาง เขาเก้งหด งากำจัด งากำจาย งาช้างดำ และคดต่างๆ เป็นต้น

เครื่องรางของขลังเป็นของคู่กันกับมนุษยชาติมาช้านานตั้งแต่ยังไม่มีศาสนา โดยเฉพาะเมืองไทยเราก็มีมาช้านานเช่นกันไม่รู้ว่ามีมาแต่ครั้งใด แต่เท่าที่เป็นชาติเรามานักรบหรือทหารก็มีเครื่องรางของขลังติดตัวไปรบด้วยกันทั้งสิ้น

ส่วนใหญ่ก็มาจากพระสงฆ์หรืออาจารย์ฆราวาสเป็นผู้สร้างให้ติดตัวในยามสงบก็ใช้ติดตัวคุ้มครองป้องกันภัย ทำมาค้าขายต่างๆ ในประเทศไทยก็มีทั่วทุกภูมิภาค และในส่วนที่เป็นของเฉพาะภูมิภาคก็มี ผมลองศึกษาดูก็น่าสนใจมาก ยิ่งในส่วนของเฉพาะภูมิภาคที่เป็นของเก่าๆ นั้น ถ้าศึกษาดูก็จะเห็นไปจนถึงวัฒนธรรมและขนบความเชื่อ การเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของพื้นถิ่นนั้นๆ ไปด้วย ยิ่งค้นคว้ายิ่งศึกษาก็ยิ่งสนุกและได้รับความรู้มากมายครับ

เครื่องรางของขลังนั้นกรรมวิธีการสร้างและใช้ต่างจากพระเครื่อง ซึ่งพระเครื่องโดยส่วนใหญ่จะปลุกเสกรวมๆ ครอบคลุมเกือบทุกด้าน อาจจะเน้นไปด้านใดด้านหนึ่งด้วยแล้วแต่ความถนัดของแต่ละอาจารย์ ส่วนเครื่องรางของขลังนั้น สร้างโดยเฉพาะเจาะจงในด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ ยิ่งเครื่องรางของขลังในสมัยเก่าๆ นั้น

พระเกจิอาจารย์จะสร้างด้วยตัวท่านเอง เริ่มจากการหาวัสดุที่นำมาสร้าง ลงจารอักขระเอง หาฤกษ์พานาทีในการสร้างเพื่อเจาะจงอุปเท่ห์ในการใช้ เช่น ตะกรุดสาลิกา ก็ใช้ในทางเสน่ห์เมตตามหานิยม ตะกรุดมหาลาภก็ใช้ในทางทำมาค้าขาย ตะกรุดมหาอุดก็ใช้ในทางอยู่ยงคงกระพันแคล้วคลาด ตะกรุดมหากัน ก็ใช้ในทางป้องกันและระงับเหตุ เบี้ยแก้ใช้แก้กันสิ่งชั่วร้าย คุณไสยต่างๆ เป็นต้น

ครับวันนี้คุยกันเสียยืดยาว ก็ยังไม่ไปถึงไหนเท่าไร ไว้วันพรุ่งผมแนะนำเครื่องรางของขลังบางอย่างมาคุยกันต่อนะครับ สำหรับวันนี้ผมขอนำรูปเครื่องรางของขลังจากหนังสือ ตามรอยตำนานเครื่องราง ของขลัง ขมังเวทย์ มาให้ชมกันก่อนนะครับ

ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์



แหวนพิรอด ของหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่ชาวเมืองกาญจน์เคารพนับถือมาก ท่านสร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง แต่ปัจจุบันหายากทั้งสิ้น เช่น แหวนพิรอด ตะกรุด และเหรียญรูปเหมือนของท่าน ซึ่งมีราคาสูงในปัจจุบัน

พระครูสิงคิคุณธาดา (ม่วง จันทสโร) เกิดเมื่อปี พ.ศ.2378 เป็นชาวอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โยมบิดาชื่อมั่น โยมมารดาชื่อใบ หลวงพ่อม่วงบวชเณรเมื่ออายุได้ 13 ปี ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับพระอธิการศรี เจ้าอาวาสวัดบ้านทวนในสมัยนั้น อายุ 20 ปี จึงอุปสมบทที่วัดบ้านทวน โดยมีพระอธิการศรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า "จันทสโร"

ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและพุทธาคมจากพระอธิการศรีและท่านอาจารย์ช้าง ต่อมาท่านก็ได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ พอพรรษาที่ 12 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านทวน หลวงพ่อม่วงได้ดูแลอบรมสั่งสอนพระเณรในวัดและสอนวิปัสสนากรรมฐาน อบรมชาวบ้านให้อยู่ในศีลธรรม จนถึงปี พ.ศ.2419 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ชาวบ้านในแถบนั้นต่างก็มาบวชกับหลวงพ่อ บางครอบครัวหลวงพ่อม่วงบวชให้ตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงลูกหลานเลยก็มี

หลวงพ่อม่วงเป็นพระสมถะไม่สะสมใดๆ ใครมาขออะไร ถ้ามีท่านก็ให้ไปจนหมด ใครมานิมนต์ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลท่านก็ไปให้ทุกที่ ท่านสวดมนต์ทำวัตรลงอุโบสถไม่ได้ขาด และปฏิบัติสมถะวิปัสสนาธุระทุกวัน ชาวบ้านต่างเคารพเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อมาก และมักมาขอวัตถุมงคลกับท่านอยู่เสมอ หลวงพ่อก็ให้ วัตถุมงคลที่มักมีคนมาขอก็คือ แหวนพิรอด และตะกรุด

แหวนพิรอดของท่านเข้มขลังมาก ท่านจะทำเองและปลุกเสกเองทั้งหมด เมื่อหลวงพ่อม่วงปลุกเสกแหวนจนได้ที่แล้ว ท่านก็จะเอาแหวนโยนเข้าไปในกองไฟ ดูว่าถ้าแหวนไม่ไหม้ไฟจึงจะใช้ได้ จากนั้นหลวงพ่อจึงมอบให้แก่ผู้ที่มาขอ ส่วนตะกรุดหลวงพ่อก็จะให้หาแผ่นโลหะมาเอง แล้วท่านก็จะจารและปลุกเสกให้ โดยหลวงพ่อจารเสร็จแล้วก็จะม้วนตะกรุดแล้วนำไปใส่ในบาตรปลุกเสกจนตะกรุดวิ่งไปมาในบาตรท่านจึงจะมอบให้ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อต่างยืนยันว่าเห็นมากับตา

นอกจากนี้ยังมีหวายคาดเอวของหลวงพ่อ ซึ่งท่านจะทำให้กับศิษย์ที่จะอยู่ประจำทิศเวลามีงานของวัดบ้านทวน ซึ่งงานวัดบ้านทวนสมัยที่หลวงพ่อยังอยู่นั้นไม่เคยมีเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งเลย

ในปี พ.ศ.2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็โปรดให้เจ้าอธิการม่วง วัดบ้านทวน เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูสิงคิคุณธาดา ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัด ลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อม่วงได้ขออนุญาตหลวงพ่อสร้างเหรียญที่ระลึก และหลวงพ่อก็อนุญาตให้สร้างในปี พ.ศ.2463 มีเหรียญหน้าแก่ และเหรียญแบบหน้าหนุ่ม ปัจจุบันค่านิยมสูงมาก

หลวงพ่อม่วงเป็นเจ้าอาวาส วัดบ้านทวนมาจนถึงปี พ.ศ.2471 มรณภาพเมื่อ 28 สิงหาคม พ.ศ.2471 สิริอายุได้ 92 ปี พรรษาที่ 71

วัตถุมงคลของหลวงพ่อม่วงหายากมาก ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด แหวนพิรอด หรือเหรียญ ในวันนี้ผมได้นำรูปแหวนพิรอด ของหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน จากหนังสือตามรอยตำนาน เครื่องรางของขลังขมังเวท มาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์




เหรียญหางแมงป่อง เนื้อชินตะกั่ว และตะกรุดพอกครั่ง ของหลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เหรียญหางแมงป่องของหลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ จ.พิจิตร เป็นเหรียญหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในอดีต เป็นที่หวงแหนของชาวพิจิตรเหรียญหนึ่งเลยทีเดียว

พระครูธุรศักดิ์ เกียรติคุณ (ภู ธัมโชติ) เกิดที่อยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2398 ที่บ้านผักไห่ โยมบิดาชื่อ แฟง โยมมารดาชื่อ ขำ ต่อมาบิดามารดาได้ย้ายมาทำมาหากินอยู่ที่บ้านหาดมูลกระบือ ต.ไผ่ขวาง อ.เมือง จ.พิจิตร ได้ศึกษาหนังสือไทย-ขอมกับพระอาจารย์นิ่ม วัดหาดมูลกระบือ พออายุได้ 16 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรศึกษาพระปริยัติธรรม 1 ปี จึงสึกออกมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา จนกระทั่งอายุได้ 23 ปี ได้อุปสมบทที่วัดท่าฬ่อ โดยมี พระครูศีลธรารักษ์ (จัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการนิ่ม วัดหาดมูลกระบือ กับพระอาจารย์เรือน วัดท่าฬ่อ เป็นพระคู่สวด ได้ฉายาว่า "ธมฺมโชติ"

เดิมตั้งใจว่าจะบวชแค่เพียงพรรษาเดียว แต่บวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาพระธรรม และออกรุกขมูลธุดงค์ ได้ติดตามหลวงพ่อเงิน วัดวังตะโก บางคลาน ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ฝึกจิตจนกล้าแกร่ง ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมสารพัดอย่างจากหลวงพ่อเงิน รวมทั้งพระอาจารย์อื่นๆ ที่พบกันกลางป่า นอกจากนี้ท่านยังมีความรู้ในเรื่องสมุนไพรใบยาและวิชาแพทย์แผนโบราณ

หลวงปู่ภูได้ช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยโรคต่างๆ มากมาย จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว ทั้งทางด้านน้ำมนต์รดอาบหายเคราะห์หายโศก ผีเจ้าเข้าสิงหายทุกราย ในด้านวัตถุมงคลนั้นมีผู้เข้ามาขอจากท่านเสมอ และท่านก็เมตตาทำให้ทุกราย

จนกระทั่งพรรษาที่ 10 วัดท่อฬ่อว่างเจ้าอาวาสลง ทางคณะสงฆ์พร้อมด้วยทายกทายิกา ได้ขอร้องท่านให้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าฬ่อ หลวงปู่ภูปกติชอบทางวิเวกไม่มีความประสงค์จะเป็นเจ้าอาวาส แต่ก็ขัดความศรัทธาของชาวบ้านมิได้จึงรับนิมนต์เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าฬ่อสืบต่อมา เมื่อเป็นเจ้าอาวาสแล้วก็ได้พัฒนาวัด และพัฒนาจิตใจชาวบ้านเต็มความสามารถ จนวัดท่าฬ่อเจริญรุ่งเรือง

ภายในวัดท่าฬ่อ สมัยที่หลวงปู่ภูเป็นเจ้าอาวาสนั้น มีคนนำสัตว์ต่างๆ มาปล่อยที่วัด หลวงปู่ก็เมตตารับเลี้ยงไว้มีทั้งไก่ เป็ด ห่าน สุนัข แมว จนกระทั่งถึงกวางและไก่ป่าก็มี หลวงปู่จะเสกข้าวเสกหญ้าให้กิน ก็จะเชื่องทุกตัว เคยมีคนมาลองดี เอาปืนมาแอบยิงสัตว์ต่างๆ ของวัด โดยเฉพาะกวาง แต่ยิงเท่าไหร่ก็ยิงไม่ออกจนคนยิงเข็ดไปเอง วัตถุมงคลของหลวงปู่ภูทำไว้หลายอย่าง ทั้งพระเครื่องเป็นพระปิดตา พระพุทธ เหรียญหางแมงป่อง เหรียญใบมะยม แต่เป็นเหรียญที่ลงอักขระไว้เฉยๆ ไม่มีรูปองค์พระ ตะกรุด ผ้าประเจียดและไม้ครู เป็นต้น

วัตถุมงคลของหลวงปู่ภูมีประสบการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องคงกระพันชาตรีเชื่อถือได้ คนพิจิตรทราบดี แต่ปัจจุบันวัตถุมงคลก็หายากเช่นกัน ของปลอมมีกันมานานแล้ว เวลาเช่าหาก็ต้องดูให้ดี

วันนี้ผมขอนำรูปเหรียญหางแมงป่อง เนื้อชินตะกั่ว และตะกรุดพอกครั่ง ของหลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ จากหนังสือตามรอยตำนาน สุดยอดอมตะภาพถ่าย 108 คณาจารย์แดนสยามมาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 16 มกราคม 2560 07:18:20 »



รูปลูกอมเนื้อผงคลุกรักของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี ท่านได้สร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก ซึ่งในปัจจุบันหาพบยากมาก และเป็นพระปิดตายอดนิยม ที่มีผู้ปรารถนาจะมีไว้บูชามาก นอกจากนี้หลวงปู่เอี่ยมยังได้สร้างวัตถุมงคลประเภทเครื่องรางของขลังไว้ด้วย เช่น ตะกรุดมงคลโสฬส แต่ที่ไม่ค่อยมีใครรู้และไม่ค่อยได้พบเห็นกันเลยก็คือ ลูกอมเนื้อผงคลุกรักของหลวงปู่เอี่ยมที่มีเฉพาะลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดเท่านั้น

หลวงปู่เอี่ยมมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในพระนครต่างก็นับถือและมานมัสการหลวงปู่เสมอ หนึ่งในนั้นก็คือหลวงพิบูลย์สมบัติ บ้านท่านอยู่ปากคลองบางลำพู ได้เดินทางมานมัสการหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่ได้ปรารภถึงความยากลำบาก ด้วยเรื่องการทำพระอุโบสถและสังฆกรรม เนื่องจากสถานที่เดิมนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก จึงอยากจะสร้างให้เป็นถาวรสถานแก่วัดให้เจริญรุ่งเรือง

หลวงพิบูลย์ฯ จึงได้บอกบุญเรี่ยไรหา เงินมาเพื่อก่อสร้างโบสถ์และถาวรสถานขึ้น หลวงปู่เอี่ยมจึงได้เริ่มสร้างพระปิดตาและตะกรุดขึ้น เพื่อแจกเป็นของชำร่วยแก่ผู้บริจาคทรัพย์และสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้างพระอุโบสถในครั้งนั้น ต่อมาถึงปี พ.ศ.2431 ก็ได้สร้างศาลาการเปรียญ หลังจากนั้นอีก 8 ปี หลวงปู่เอี่ยมก็ได้สร้างพระเจดีย์ที่วัดสะพานสูง และหลวงปู่เอี่ยมก็ได้สร้างตะกรุดมงคลโสฬส เพื่อสมนาคุณแก่ผู้บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือในการก่อสร้างองค์พระเจดีย์ด้วย

มีเรื่องกันต่อมาว่าก่อนที่หลวงปู่เอี่ยมจะมรณภาพนั้น นายหรุ่น ซึ่งเป็นศิษย์รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ได้ขอร้องหลวงปู่ว่า "ท่านอาจารย์มีอะไรจะกรุณาได้สั่งและให้ศิษย์ไว้เป็นครั้งสุดท้าย" หลวงปู่เอี่ยมตอบว่า "ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น ให้ระลึกถึงท่านและเอ่ยชื่อท่านก็แล้วกัน" หลวงปู่เอี่ยมมรณภาพในปี พ.ศ.2439 สิริอายุได้ 80 ปี พรรษาที่ 59

วัตถุมงคลของหลวงปู่เอี่ยมที่ท่านได้สร้างไว้ มีพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก เช่น พิมพ์ชะลูด พิมพ์ตะพาบ พิมพ์พนมมือ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีตะกรุดมงคลโสฬส มีทั้งที่เป็นเนื้อตะกั่ว และเนื้อทองแดง ซึ่งปัจจุบันหายากยิ่งทั้งพระปิดตาและตะกรุดครับ สนนราคานั้นสูงมาก

วัตถุมงคลอีกอย่างหนึ่งที่หายากยิ่งก็คือลูกอมเนื้อผงคลุกรัก ซึ่งเป็นเนื้อเดียวกับพระปิดตาผงคลุกรัก เข้าใจว่าเมื่อตอนสร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักนั้นลูกศิษย์ที่ช่วยทำพระปิดตาได้นำเนื้อพระมาปั้นเป็นลูกอมไว้ แต่ก็คงมีไม่มากนัก และให้หลวงปู่ปลุกเสกให้ ปัจจุบันจึงไม่ได้เคยเห็นกันเลย และผู้ที่มีหรือรู้เรื่องนี้ต่างก็เป็นทายาทของลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของหลวงปู่เท่านั้น

ในวันนี้ผมได้นำรูปลูกอมเนื้อผงคลุกรักของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จากหนังสือ ตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชม และลูกอมลูกนี้จะเห็นรอยจารอักขระลายมือของหลวงปู่เอี่ยมด้วยครับ นับว่าหายากสุดๆ ครับ




รูปสร้อยตะกรุดประคำคาบ ของท่านเจ้าคุณสนิท

สวัสดีครับท่าน ผู้อ่านที่รักทุกท่าน วัดท้ายตลาด ฝั่งธนฯ กทม.เป็นวัดที่มีความสำคัญ และมีพระเครื่องอันโด่งดังหลายยุค เช่น พระเนื้อผงผสมใบลานที่บรรจุไว้ในกรุองค์พระเจดีย์ พระปรกใบมะขามของท่านเจ้าคุณสนิท นอกจากนี้ก็ยังมีตะกรุดทองคำชุด 19 ดอก ซึ่งเรียกกันว่า "สร้อยตะกรุดประคำคาบ" ซึ่งนิยมเสาะแสวงหา และหาได้ยากยิ่งครับ

วัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีนามเดิมว่า วัดท้ายตลาด ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาใน รัชสมัยของรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาศรี วัดราชสิทธิ เป็นพระเทพโมลี แล้วให้มาครองวัดนี้ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงเปลี่ยนนามพระอาราม เป็น "วัดพุทไธศวรรยาวาส" พอมาถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์พระอารามโดยตลอด พร้อมกับพระอารามอื่นๆ อีก และทรงเปลี่ยนนามเป็น "วัดโมลีโลกยาราม" มาจนทุกวันนี้ แต่ชาวบ้านก็มักเรียกกันจนติดปากว่า "วัดท้ายตลาด"

วัดท้ายตลาดมีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นสถานการศึกษาของพระราชโอรสในรัชสมัยที่ 2 อนึ่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) สมัยที่ยังเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ของรัชกาลที่ 3 และถวายอักษรรัชกาลที่ 4 ต่อมาเมื่อสมเด็จ พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) มรณภาพ รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูป พร้อมกับหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) ประดิษฐานไว้ในหอที่ทรงสร้างไว้ในวัด เรียกกันว่า "หอสมเด็จ"

ท่านเจ้าคุณสนิทสมณคุณ (เงิน เขมจารี) อดีตเจ้าอาวาสวัดท้ายตลาด เกิดที่เมืองพระตะบอง เมื่อปีพ.ศ.2396 ท่านมีความสนิทสนมกับพระยาคทาธร ธรณินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ต่อมาท่านจึงย้ายมาอยู่ที่วัดท้ายตลาด ท่านเจ้าคุณสนิทนอกจากจะเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาคมแล้ว ยังมีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านแพทย์แผนโบราณด้วย และได้ช่วยรักษาชาวบ้านจนมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น ชาวบ้านต่างเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านมาก และช่วยบูรณปฏิสังขรณ์วัดท้ายตลาดตลอดมา

ท่านเจ้าคุณสนิทได้สร้างวัตถุมงคลไว้และมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ที่รู้จักกันดีก็คือ พระปรกใบมะขาม ซึ่งถือกันว่าเป็นอันดับ 1 ของพระปรกใบมะขามเลยทีเดียวครับ ปัจจุบันหายากมากครับ นอกจากนี้วัตถุมงคลที่หายากมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ สร้อยตะกรุดประคำคาบ ซึ่งแทบไม่ได้พบเห็นกันเลย ผู้ที่ได้รับมักเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดเท่านั้น ตะกรุดสร้อยประคำคาบจะเป็นตะกรุดทองคำพวงจำนวน 19 ดอก พร้อมด้วยลูกประคำทองคำคั่นระหว่างดอกตะกรุด และสร้อยทองคำสวมคอร้อยตะกรุดไว้ ในสมัยโบราณเรียกว่า "สร้อยตะกรุดประคำคาบ" ปัจจุบันนับว่าหายากมากที่สุด และนิยมมาก แต่ก็แทบจะไม่เคยได้เห็นของแท้กันเลยครับ

ท่านเจ้าคุณสนิทมรณภาพราวปีพ.ศ.2463 สิริอายุได้ 68 ปี

ในวันนี้ผมได้นำรูปสร้อยตะกรุดประคำคาบ ของท่านเจ้าคุณสนิท จากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมกันครับ

    ด้วยความจริงใจ
     แทน ท่าพระจันทร์




เบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่ม
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้จะมาคุยกันถึงพระพุทธวิถีนายก(หลวงปู่เพิ่ม) วัดกลางบางแก้วกับวัตถุมงคลของท่าน ถ้าพูดถึงวัดกลางบางแก้วหลายๆ ท่านก็คงจะรู้จักกันดี และมักจะนึกถึงหลวงปู่บุญ แต่ในวันนี้ผมจะมาพูดถึงหลวงปู่เพิ่มศิษย์เอกของหลวงปู่บุญบ้าง

ก่อนอื่นก็คงต้องพูดถึงประวัติของวัดกลางบางแก้วกันซะหน่อย วัดกลางบางแก้วแต่เดิมมีชื่อว่า "วัดคงคาราม" เป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ในอดีต ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อกันเรื่อยมา ในนิราศพระปฐมของสุนทรภู่ยังมีกล่าวไว้ว่า

"ถึงบางแก้วมองเขม้นไม่เห็นแก้ว
เห็นแต่แนวคงคาพฤกษาสลอน
มีวัดหนึ่งโตใหญ่ใกล้สาคร
สง่างอนช่อฟ้าศาลาตะพาน
ดูเบื้องบนอาวาสก็ลาดเลี่ยน
ต้นตะเคียนร่มรกปกวิหาร"

แสดงว่าวัดกลางบางแก้วนั้นเป็นวัดใหญ่ที่เจริญรุ่งเรือง สะอาดสะอ้านร่มรื่นมาตั้งแต่สมัยนั้น และตั้งอยู่ริมน้ำ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จมาที่วัดคงคารามเห็นว่าเป็นวัดที่อยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรีตรงปากคลองบางแก้ว ตั้งอยู่ระหว่างกลาง 2 วัด คือวัดตุ๊กตาและวัดใหม่สุประดิษฐ์ ท่านจึงได้ประทานนามวัดให้ใหม่ว่า "วัดกลางบางแก้ว" เมื่อราวๆ พ.ศ.2465 ในสมัยที่หลวงปู่บุญเป็นเจ้าอาวาส

พระพุทธวิถีนายก(หลวงปู่เพิ่ม ปุณณวสโน) นามเดิมว่า "เพิ่ม" ท่านเกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2429 ที่ตำบลไทยวาส อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โยมบิดาชื่อ เกิด โยมมารดาชื่อ วรรณ ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 8 ขวบ สืบต่อมาจนอายุครบบวช จึงได้อุปสมบทในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2450 ณ พัทธสีมาวัดกลางบางแก้ว โดยมีสมเด็จพระสังฆราชแพ ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการจอม เจ้าอาวาสวัดตุ๊กตาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูทักษิณานุกิจ วัดสรรเพชญ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อท่านอุปสมบทแล้วก็ได้เล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดกลางบางแก้วตลอดมา และถือได้ว่าท่านเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดหลวงปู่บุญมากที่สุด เพราะท่านบวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ก็อยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่บุญมาตลอดจนกระทั่งหลวงปู่บุญมรณภาพ เป็นเวลาถึง 39 ปี ตลอดเวลานั้นท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนเวทวิทยาคมต่างๆ ไว้มากมาย

หลวงปู่เพิ่มเป็นพระสงฆ์ที่บริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยศีล สมาธิ และปัญญาธรรม เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาธรรม หมดสิ้นกิเลสทั้งปวง หลวงปู่เป็นพระที่พูดจาไพเราะอ่อนหวาน สำเนียงของท่านนั้นมีแววความเมตตาผสานเอาไว้ ใครได้ฟังแล้วจะรู้สึกชุ่มชื่นใจ ใครๆ ได้สนทนากับท่านแล้วจะรู้สึกเคารพศรัทธาท่านทุกคนไป

หลวงปู่เพิ่มได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 ปี พ.ศ.2482 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ปี พ.ศ.2483 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอนครชัยศรี ปี พ.ศ.2489 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูพุทธวิถีนายก ปี พ.ศ.2495 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอกในราชทินนามเดิม

ปี พ.ศ.2503 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญมีราชทินนามว่า พระพุทธวิถีนายก หลวงปู่เพิ่มมรณภาพด้วยโรคชราด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2526 สิริอายุได้ 97 ปี พรรษาที่ 76

หลวงปู่เพิ่มได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น ตะกรุด เบี้ยแก้ ยาเม็ดวาสนาจินดามณี อีกทั้งเหรียญ และพระเครื่องต่างๆ ในวันนี้ผมได้นำรูปเบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่มมาให้ชมกันครับ

    ด้วยความจริงใจ
     แทน ท่าพระจันทร์




ปลัดขิกของหลวงพ่ออี๋
สวัสดีครับ ผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีผู้คนเคารพนับถือกันมาก โดยเฉพาะชาวบ้านและทหารเรือแถวสัตหีบ เสมือนหนึ่งเทพเจ้าแห่งภาคตะวันออกในสมัยนั้น เครื่องรางของขลังที่มีชื่อเสียงก็คือปลัดขิก กล่าวกันว่าถ้าปลุกปลัดขิกของท่านแล้วปล่อยลงน้ำจะสามารถวิ่งทวนน้ำได้ทีเดียว

พระครูวรเวทย์มุนี (หลวงพ่ออี๋) เกิดที่ชลบุรี เมื่อปี พ.ศ.2408 โยมบิดาชื่อ กองคำ โยมมารดาชื่อ เอียง ในวัยเด็กเป็นเด็กที่มีความฉลาดหลักแหลม และชอบช่วยเหลือ ผู้ตกทุกข์ได้ยากเสมอ ผิดกว่าเด็กทั้งหลายในวัยเดียวกัน ต่อมาพออายุได้ 21 ปี จึงได้อุปสมบทที่วัดอ่างศิลา ชลบุรี โดยมีหลวงพ่อจั่น วัดเสม็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “พุทธสโร” อยู่จำพรรษาที่วัดอ่างศิลา และได้ศึกษาวิชาวิปัสสนาธุระ ที่สำนักพระอาจารย์แตง วัดอ่างศิลานั่นเอง ท่านจึงพิจารณาเห็นสังขารไม่เที่ยงแท้ เมื่อถึงเวลาออกพรรษาก็เริ่มออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อหาแหล่งอันสงบวิเวกนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อได้พบกับ พระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านใด หลวงพ่ออี๋ก็จะศึกษาหาความรู้กับพระอาจารย์ท่านนั้น พร้อมทั้งปฏิบัติจนเห็นจริง แล้วก็จะเริ่มธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ บรรดาพระคณาจารย์ของหลวงพ่ออี๋จึงมีมากมาย แต่ที่พอสรุปได้ก็คือ พระอาจารย์แตง วัดอ่างศิลา พระอาจารย์จั่น วัดเสม็ด หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

หลวงพ่ออี๋ยึดการธุดงค์และสันโดษเป็นหลัก จนกระทั่งมีฌานสมาบัติ พลังจิตสูงองค์หนึ่ง สามารถนำพระเวทมาใช้ได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะธุดงค์ไปไหนๆ ก็ตาม มักจะให้ความเมตตาช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ได้ป่วยเสมอ พร้อมทั้งแสดงธรรมให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังเสมอ จนกระทั่งชื่อเสียงของหลวงพ่อโด่งดัง จากปากหนึ่งไปอีกปากหนึ่ง ต่อมาหลวงพ่ออี๋ธุดงค์มาจนถึงอ่าวสัตหีบในราวปี พ.ศ.2450 ณ ที่นั้นเป็นบริเวณที่สงบเงียบพอที่จะยึดเป็นที่ปฏิบัติธรรม หลวงพ่ออี๋จึงปักกลดจำวัดที่นั่น พอบรรดาพวกชาวบ้านรู้ข่าวว่าหลวงพ่อมา ปักกลดอยู่ต่างก็มานมัสการหลวงพ่ออี๋กันมาก นำอาหารมาถวาย และผู้คนก็เดินทางมานมัสการกันแทบทุกวัน

บรรดาชาวบ้านในแถบนั้นต่างมีความเห็นตรงกันว่า ควรนิมนต์หลวงพ่ออี๋ให้สร้างวัด ณ ที่ตรงนั้น เพื่อชาวบ้านจะได้พึ่งบารมีหลวงพ่อ จึงได้พากันนิมนต์หลวงพ่ออี๋ให้อยู่จำพรรษาหลวงพ่ออี๋ก็ไม่ขัดข้อง พวกลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ดีอกดีใจ ช่วยกันคนละไม้คนละมือและบริจาคทรัพย์สร้างวัดขึ้น และได้นามวัดต่อมาว่า “วัดสัตหีบ” จนมาถึงทุกวันนี้ หลวงพ่ออี๋ได้อยู่เป็นมิ่งขวัญจนถึงปี พ.ศ.2489 ก็มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 81 ปี พรรษาที่ 60

หลวงพ่ออี๋ได้สร้างเครื่องรางของขลังเป็นรูปปลัดขิก แจกแก่ลูกศิษย์ลูกหา โดยเฉพาะพวกทหารเรือมาขอกันมาก และมีประสบการณ์ต่างๆ มากมายจนเป็นที่เลื่องลือ ปัจจุบันเป็นเครื่องรางที่หายากมาก ในวันนี้ผมได้นำรูปปลัดขิกของหลวงพ่ออี๋ จากหนังสือ ตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมกันครับ

    ด้วยความจริงใจ
     แทน ท่าพระจันทร์

บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 31 มกราคม 2560 10:27:40 »







ชูชก-ยอดเครื่องรางแห่งการขอ
"ชูชกมีอานุภาพทางด้านเสริมดวงในทางด้านขอโชคขอลาภ กู้หนี้ยืมสิน ขอลาภเงินทอง เจรจาขอผัดผ่อนหนี้สิน ขอเลื่อนและขอลาภจากผู้ใหญ่ และด้านการขอทุกชนิด จึงเป็นที่มาของการบูชา"

พราหมณ์เฒ่าขอทานนามว่า "ชูชก" ผู้มีเรื่องราวกล่าวถึงในตำนานพุทธประวัติและพระไตรปิฎกมากมาย ในฐานะเป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อเป็นคู่บารมีของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ทั้งเป็นผู้รับและผู้ให้ นอกจากนี้ยังเป็นคนที่เก็บหอมรอมริบ มัธยัสถ์จนถึงขั้นมั่งมีเงินทอง มีภรรยาสวยงดงามและมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถหลุดพ้นด่านต่างๆ จนไปถึงเขาวงกตขอชาลี-กัณหาจากพระเวสสันดรจนสำเร็จ

ดังนั้น บรรดาพระเกจิคณาจารย์และผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องของไสยเวท จึงมีความเชื่อว่า "ชูชก" เป็นเจ้าแห่งโภคทรัพย์ เจ้าแห่งสติปัญญา เจ้าแห่งการขอที่ยิ่งใหญ่ และได้นำรูปลักษณ์ของชูชกมาสร้างเป็นเครื่องรางของขลัง โดยใช้มวลสารมงคลต่างๆ เช่น เป็นเนื้อดินผสมผงโลหธาตุที่เป็นมงคลและมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว ผสมกับด้าย แผ่นยันต์ แผ่นจาร เครื่องใช้สำริด ทองโบราณ เงินโบราณ แร่ธาตุกายสิทธิ์ที่มีคุณวิเศษเหมือนเหล็กไหล สร้างเป็น "เฒ่าชูชก" ซึ่งมีความเชื่อว่าขอได้ทุกอย่างเหมือนดั่ง "ชูชก" ในพุทธประวัติ

ในบรรดาเครื่องรางของขลังที่มีนามว่า "ชูชก" ที่มีอานุภาพทางด้านเสริมดวงในทางด้านขอโชคขอลาภ กู้หนี้ยืมสิน ขอลาภเงินทอง เจรจาขอผัดผ่อนหนี้สิน ขอเลื่อนและขอลาภจากผู้ใหญ่และด้านการขอทุกชนิดนั้น มีการสร้างด้วยกันหลายสำนักสืบต่อมาถึงปัจจุบัน ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดเห็นจะเป็นของหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน จ.สมุทรสาคร ซึ่งหายากมากๆ และสนนราคาสูงมาก ต่อมาก็เป็น หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง หลวงพ่อแล วัดพระทรง จ.เพชรบุรี หลวงพ่อไสว วัดปรีดาราม จ.นครปฐม หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ จ.ระยอง และ หลวงพ่อมี วัดมารวิชัย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

กล่าวถึง หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน จ.สมุทรสาคร พระเกจิชื่อดังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีเรื่องราวอิทธิปาฏิหาริย์เป็นที่กล่าวขวัญกันมากมาย

ท่านเป็นชาวปทุมธานี เชื้อสายรามัญ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2406 ในวัยเด็กท่านมีร่างกายอ่อนแอขี้โรค บิดามารดาจึงนำไปถวายเป็นบุตรบุญธรรมหลวงพ่อแค วัดบางน้ำวน พระเถระเชื้อสายรามัญ ที่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวรามัญในสมัยนั้น

หลังจากนั้นปรากฏว่าท่านกลายเป็นเด็กเลี้ยงง่ายห่างหายจากโรคภัยไข้เจ็บ หลวงพ่อแคจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า "รอด" ตั้งแต่บัดนั้นมา พออายุได้ 12 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อแค จนอายุครบบวชจึงได้อุปสมบทที่วัดบางน้ำวน โดยมีหลวงพ่อแค เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา "พุทธสัณโฑ"

หลวงปู่รอดอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแค พระอุปัชฌาย์ และศึกษาวิทยาคมต่างๆ ทั้งเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี วิชาทำธงไม่ให้ฝนตกและป้องกันฟ้าผ่า วิชาปลุกเสกของหนักให้เบาดั่งปุยนุ่น ฯลฯ รวมทั้งศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน จนเป็นที่ไว้ใจของพระอุปัชฌาย์

หลังจากหลวงพ่อแคมรณภาพ ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ท่านรับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่รอดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงมาช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจนเจริญรุ่งเรืองจวบจนทุกวันนี้

นอกจากจะพัฒนาวัดบางน้ำวนแล้ว หลวงปู่รอดยังให้ความช่วยเหลือวัดอื่นๆ ตลอดถึงเรื่องการศึกษาท่านก็ได้จัดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมและสร้างโรงเรียนประชาบาล ชื่อ "โรงเรียนรอดพิทยาคม" ให้กุลบุตรกุลธิดาในแถบนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนด้วย ท่านมีตำแหน่งทางด้านการปกครองสงฆ์เรื่อยมา จนสมณศักดิ์สุดท้ายเป็นพระครูชั้นประทวน และเป็นกรรมการศึกษา ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2488 สิริอายุ 82 ปี พรรษา 62

หลวงปู่รอด เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่งกล้าทางด้านวิทยาคมมาก ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูง มีอาทิ ตะกรุดโทน, เหรียญหล่อ เหรียญปั๊มรุ่นแซยิด, เหรียญหล่อพิมพ์พนมมือ และเหรียญปั๊มพิมพ์เสมาอัลปาก้า เป็นต้น

ส่วนด้านเครื่องรางของขลังที่โดดเด่นและหายากก็มี สิงห์ ไม้ขนุนแกะ และ "ชูชกทำจากไม้ขนุน และงาช้างแกะ" ซึ่งถือว่าเป็นต้นตำรับของเครื่องรางของขลังที่นำ "ไม้ที่เป็นมงคล" มาแกะ เช่น ไม้ขนุน และ "งาช้างแกะ" โดยท่านจะนำเอางากำจัด งากำจาย งากระเด็น ตามความเชื่อว่าเป็นของคงทนสิทธิ์ มีดีอยู่ในตัวไม่มีอะไรมาทำให้เสื่อมสลายได้ ผู้ที่ได้รับมาจากท่านแล้วนำเอาไปบูชาพกพาอาราธนาติดตัวนั้น

ว่ากันว่า นอกจากอานุภาพแห่ง "เฒ่าชูชก" แล้ว ยังปรากฏพุทธคุณทุกด้านแบบครอบจักรวาลทีเดียวครับผม




ตะกรุดไม้รวก หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงพ่อที่ชาวบ้านแถบนครปฐมในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตมักเรียกท่านว่า "หลวงพ่อเสือ" ท่านก็คือพระครูอุตรการบดี (หลวงพ่อทา) วัดพะเนียงแตกครับ

ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าแก่ของนครปฐม การสืบค้นประวัติของท่านจากการบันทึกจากปากคำของศิษยานุศิษย์ของท่าน ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคต่อๆ มาอีกหลายรูป เช่น หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง พระครูพรหมวิสุทธิ์ (วงศ์) วัดทุ่งผักกรูด พระอุปัชฌาย์เต๋ วัดสามง่าม เป็นต้น และค้นหลักฐานรูปถ่ายคู่กับพัดยศ ระบุ ร.ศ.127 (พ.ศ.2452) ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป ก็พอจะสรุปดังต่อไปนี้

หลวงพ่อทาเป็นชาวโพธาราม จังหวัดราชบุรี บางกระแสว่าโยมบิดาของท่านมีเชื้อสายมาจากทางเวียงจันทน์ จากการนับอายุจากปีที่ท่านมรณภาพก็พอสันนิษฐานได้ว่าท่านเกิดปีพ.ศ. 2366 เมื่อท่านมีอายุได้ 6 ปี โยมบิดามารดาได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือที่วัดโพธาราม จนอ่านออกเขียนได้ และพอท่านอายุได้ 15 ปี พ.ศ.2381 ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดโพธาราม โดยมีหลวงพ่อทาน เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้น

จนกระทั่งท่านมีอายุครบบวช ปีพ.ศ.2386 ท่านจึงได้อุปสมบทที่วัดบ้านฆ้อง (วัดฆ้อง) อ.โพธาราม ซึ่งในสมัยนั้นเป็นสำนักปฏิบัติธรรมและสอนวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ท่านก็ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์มอญรูปหนึ่ง ซึ่งมีวิทยาคมกล้าแข็งมาก หลวงพ่อทาเป็นผู้ที่ขยันใฝ่ศึกษาหาความรู้และปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงเป็นที่รักใคร่ของพระอาจารย์ทั้งสอง และถ่ายทอดวิชาให้ทั้งหมด

ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดฆ้องหลายปี ศึกษาวิปัสนากรรมฐานจนเชี่ยวชาญแล้ว ท่านจึงได้กราบขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ เพื่อออกธุดงค์ไปยังป่าเขาลำเนาไพรเพื่อแสวงหาวิเวกและปฏิบัติกรรมฐานต่อไป ท่านออกธุดงค์ตามป่าเขาดงดิบอยู่หลายปี และพบพระเกจิอาจารย์ในป่าที่มีจิตกล้าแข็ง ท่านก็ได้ศึกษาพุทธาคมด้วย จนถึงประมาณปีพ.ศ.2417 ท่านได้ธุดงค์มาถึงตำบลพะเนียงแตก (ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นตำบลมาบแค) ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ 51 ปี ท่านได้พบสถานที่เป็นป่ารกชัฏนอกเมือง ท่านเห็นว่าเป็นที่วิเวก เหมาะแก่การเจริญภาวนาธรรม ท่านจึงได้ปักกลดพักแรม และได้ทราบต่อมาว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน แต่กลับมาเป็นวัดร้างรกเรื้อ

ชาวบ้านได้มาพบท่านปักกลดพักจำวัดอยู่ที่นี่ จึงพากันขอนิมนต์หลวงพ่อทาจำพรรษาอยู่ที่วัดร้างแห่งนี้ ท่านก็อยู่จำพรรษาและได้พัฒนาวัดขึ้นมาใหม่ ในปีพ.ศ.2430 พร้อมทั้งเสนาสนะต่างๆ และพระอุโบสถ นอกจากนี้ ท่านยังได้สร้างวัดอื่นๆ ในแถบนั้นอีกพร้อมๆ กันคือวัดบางหลวง วัดดอนเตาอิฐ และวัดสองห้อง เป็นต้น หลวงพ่อทาเป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านรักและเคารพนับถือมาก ท่านอบรมสั่งสอนชาวบ้านจนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก มีพระเณรมาบวชอยู่วัดพะเนียงแตกมากมาย ท่านดำริจะสร้างอะไรก็มีชาวบ้านและศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันร่วมสร้างให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หลวงพ่อทามีชื่อเสียงโด่งดัง มีลูกศิษย์ไปทั่วทั้งในจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี ชัยนาท เพชรบุรี ราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียงอีกมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงเกียรติคุณดังกล่าว จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ อยู่เสมอๆ ดังจะเห็นได้ว่า พระราชพิธีหลวงต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้นิมนต์หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตกเสมอ เช่น พิธีพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านก็ได้รับนิมนต์ด้วย และรับถวายพัดยศ เนื่องในพิธีหลวงการ พระศพดังกล่าว ซึ่งปรากฏรูปถ่ายของหลวงพ่อทาในปี พ.ศ.2452 พัดที่อยู่ทางด้านขวาของท่านเป็นพัดยศพุดตานปักลายใบเทศรักร้อย และทางด้านซ้ายของท่านเป็นพัดรองการ พระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา ปวเรศวริยาลงกรณ์

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเถระ 4 รูป เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์และเฉลิมพระเกียรติองค์พระปฐมเจดีย์ ประจำทิศทั้ง 4 คือ

1.พระครูอุตรการบดี ประจำทิศเหนือ พระเถระ คือ หลวงพ่อทา ได้รับการแต่งตั้งเป็นรูปแรกของตำแหน่งนี้

2.พระครูทักษิณานุกิจ ประจำทิศใต้ พระเถระ คือ หลวงพ่อเงิน วัดสรรเพชร

3.พระครูปริมานุรักษ์ ประจำทิศตะวันออก พระเถระ คือ หลวงพ่อคต วัดใหม่

4.พระครูปัจฉิมทิศบริหาร ประจำทิศตะวันตก พระเถระ คือ หลวงพ่อนาค วัดห้วยจระเข้

หลวงพ่อทาเป็นที่รักเคารพของประชาชนมาก เป็นที่เกรงขามของบรรดานักเลงหัวไม้ทั้งหลาย ดังจะเห็นได้ว่างานวัดพะเนียงแตกในสมัยหลวงพ่อทานั้น ท่านไม่เคยขอให้กำนันผู้ใหญ่บ้านหรือทางตำรวจมารักษาความสงบเลย และในสมัยนั้นในงานวัดทุกวัดก็จะเป็นการรวมพวกนักเลงหัวไม้ต่างถิ่นที่เข้ามาเที่ยวงานวัดทุกวัด และมักมีเรื่องตีรันฟันแทงกันอยู่เนืองนิตย์ แต่ที่วัดพะเนียงแตกกลับไม่มีใครกล้าจะมีเรื่องในเขตวัดเลย หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง เล่าให้ฟังว่า พวกนักเลงตำบลตาก้องกับตำบลพะเนียงแตกต่างก็ไม่ถูกกัน เจอกันที่ไหนก็มักจะต้องมีเรื่องกันทุกที แต่ที่ในงานวัดพะเนียงแตกกลับไม่กล้าตีกัน เนื่องจากหลวงพ่อทาจะถือไม้พลองตรวจตราทั่วงาน เป็นที่ยำเกรงแก่พวกหัวไม้ทั้งหลาย ขนาดคนเมาเอะอะพอเห็นหลวงพ่อเดินมาก็แทบจะหายเมาเลยทีเดียว ทุกคนต่างเคารพยำเกรงหลวงพ่อทามาก จนมักเรียกท่านว่า "หลวงพ่อเสือ" ท่านมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อปี พ.ศ.2462 สิริอายุได้ 96 ปี พรรษา 76

วัตถุมงคลที่ท่านได้สร้างก็มีอยู่หลายอย่าง เช่น ตะกรุด พระปิดตาทั้งเนื้อสัมฤทธิ์และเนื้อเมฆพัด มีหลายแบบ ทั้งเกลอเดี่ยวและ สามเกลอ เป็นต้น อีกทั้งเหรียญหล่อรุ่นแรกและรุ่นสอง ทุกอย่างล้วนเป็นที่นิยมทั้งสิ้นครับ ในวันนี้ผมได้นำรูปตะกรุดไม้รวกของท่าน จากหนังสือตามรอยตำนาน เครื่องรางของขลังขมังเวท มาให้ชมครับ


ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์ - ชมรมพระเครื่อง
บันทึกการเข้า
GooD
มือใหม่หัดโพสท์กระทู้
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 1


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 55.0.2883.87 Chrome 55.0.2883.87


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 06 กุมภาพันธ์ 2560 20:54:15 »

 หงุดหงิด
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 24 พฤษภาคม 2560 18:49:16 »




รูปเขี้ยวเสือหลวงพ่อนก วัดสังกะสี

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ในบรรดาเครื่องรางฯ ที่เป็น รูปเสือ นั้น หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ถือว่าเป็นสุดยอดของเครื่องรางฯ รูปเสือ และหายากมากๆ เครื่องรางฯ รูปเสือที่แกะมาจากเขี้ยวที่สร้างโดยลูกศิษย์ของหลวงพ่อปานและมีชื่อเสียงโด่งดังก็คือ หลวงพ่อนก วัดสังกะสี ในสมัยก่อนนั้นสำหรับผู้ที่หาเขี้ยวเสือของหลวงพ่อปานไม่ได้ก็หาเขี้ยวเสือของหลวงพ่อนก วัดสังกะสีใช้แทน แต่ปัจจุบันก็หายากเช่นกัน

หลวงพ่อนก เกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2392 ที่ตำบลบางกะเจ้า อำเภอนครเขื่อนขันธ์ (อำเภอพระประแดง) จังหวัดสมุทรปราการ โยมบิดาชื่อนวล โยมมารดาชื่อเคลือบ บิดามารดาได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือกับพระอธิการโต วัดบางบ่อ พออายุได้ 15 ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดกองแก้ว ตำบลบางยอ โดยมีพระครูวิบูลย์ธรรมคุตเป็นผู้บรรพชาให้ท่านได้ศึกษา พระธรรมวินัยจนแตกฉาน

เมื่ออายุครบบวช บิดาได้ถึงแก่กรรม โยมมารดาจึงได้ให้อุปสมบทที่วัดบางเหี้ย (วัดมงคลโคธาวาส) ตำบลคลองด่าน โดยมีพระครูพิพัฒน์นิโรจกิจ (หลวงพ่อปาน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เรือน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมโชติ” เมื่ออุปสมบทแล้วก็อยู่จำพรรษาที่วัดบางเหี้ย ศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคมต่างๆ กับหลวงพ่อปาน พระอาจารย์ทอง พระอาจารย์เรือน และได้รับคำชมเชยจากหลวงพ่อปานอยู่เสมอ

หลวงพ่อปานจะออกธุดงค์อยู่เป็นนิจ และมีพระสงฆ์ทั้งในวัดเองและจากวัดต่างๆ มาร่วมธุดงค์กับหลวงพ่อปานเสมอ หลวงพ่อนกก็ได้ออกธุดงค์กับหลวงพ่อปานด้วย และได้ไปพบกับหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก และหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ รวมทั้งพระเกจิอาจารย์เก่งๆ อีกหลายรูป หลวงพ่อนกก็ได้แลกเปลี่ยนวิชากับหลวงพ่อต่างๆ หลวงพ่อนกมีจริยวัตรที่งดงาม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย อีกทั้งยังเข้มขลังในวิทยาคม บางครั้งที่ออกธุดงค์ ก็มีชาวบ้านมาขอน้ำมนต์ ท่านก็ได้ทำให้ พวกพ่อค้าแม่ค้าเอาไปประพรมของที่ขายปรากฏว่าขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า บางคนเอามาประพรมตัวเองแล้วมีประสบการณ์แคล้วคลาด เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว

ต่อมามีขุนสำแดงเดชและภรรยาชื่อนางนุ่ม มีจิตศรัทธาถวายที่ดินให้สร้างวัดและขอนิมนต์ให้หลวงพ่อนกมาปกครองวัด หลวงพ่อนกจึงได้นำความมาปรึกษาหลวงพ่อปาน หลวงพ่อปานก็อนุญาต โดยเห็นว่าหลวงพ่อนกเป็นพระภิกษุที่ดีพร้อม สามารถดูแลพระภิกษุและพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง

อีกทั้งยังสามารถอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้เป็นคนดีได้ หลวงพ่อปานจึงสนับสนุนให้หลวงพ่อนกไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสังกะสี ชาวบ้านต่างๆ ก็มาช่วยกันสร้างพระอุโบสถและกุฏิเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดจนเจริญรุ่งเรือง หลวงพ่อนกมรณภาพ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2475 สิริอายุได้ 83 ปี พรรษาที่ 63

หลวงพ่อนกได้สร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ศิษย์และชาวบ้านอยู่หลายอย่าง แต่ที่นิยมสูงสุดก็คือเขี้ยวเสือแกะ เป็นการแกะแบบเต็มเขี้ยวและลงอักขระเต็มตลอดตัวเสือ หลวงพ่อนกจะนำเขี้ยวเสือที่แกะแล้วไปปลุกเสกในพระอุโบสถ ว่ากันว่าจะปลุกเสกจนเขี้ยวเสือหมุนได้อยู่ในบาตรจึงเป็นอันเสร็จพิธี แล้วจึงนำมาแจกให้อีกทีหนึ่ง พุทธคุณเด่นทั้งด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด เมตตามหานิยม เจริญรุ่งเรือง ค้าขายดี ปัจจุบันก็หาเขี้ยวเสือหลวงพ่อนกแท้ๆ ยากครับ ของปลอมเลียนแบบมีกันมานานแล้วเช่นกัน เนื่องจากมีผู้ที่ต้องการกันมากรองจากหลวงพ่อปานเลยทีเดียวครับ

ในวันนี้ผมก็ได้นำรูปเขี้ยวเสือหลวงพ่อนก วัดสังกะสี จากหนังสือตามรอยตำนาน เครื่องรางของขลังขมังเวทย์มาให้ชมครับ





หมูทองแดง หลวงปู่เส็ง วัดบางนา รุ่นแรก

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เครื่องรางของขลังที่ยังพอหาได้และยังไม่เก่ามากนักคือหมูทองแดง ของหลวงปู่เส็ง วัดบางนา อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีพุทธคุณสูงและมีประสบการณ์มากมาย ถึงแม้จะไม่เก่ามากนักแต่พุทธคุณเชื่อถือได้ครับ

พระครูมงคลธรรมสุนทร (หลวงปู่เส็ง) เกิดเมื่อปี พ.ศ.2444 โยมบิดาชื่อจู เป็นชาวจีน โยมมารดาชื่อเข็ม เชื้อสายรามัญ พออายุได้ 21 ปี ในปี พ.ศ.2465 บิดามารดาได้ให้อุปสมบทที่วัดบางนา อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โดยมีท่านเจ้าคุณนันทมุนี เจ้าอาวาสวัดบางหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูบวรธรรมกิจ (หลวงปู่เทียน) วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการทัต เจ้าอาวาสวัดบางนา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “จนฺตรงฺสี”

เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้เล่าเรียนกับพระอธิการทัต ด้วยอุปนิสัยรักสงบ จิตใจเยือกเย็น พูดน้อยอยู่เป็นนิจ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวตลอดมา และท่านก็ยังได้ไปกราบหลวงปู่เทียน เพื่อขอศึกษาในด้านวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมทั้งวิชาต่างๆ ไปพร้อมกัน จนเป็นที่กล่าวขวัญของคนทั่วไป ว่าต่อไปท่านจะเป็นตัวแทนของหลวงปู่เทียน

หลวงปู่เส็งปฏิบัติงดงามรักษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นผู้สงบเสงี่ยม พูดน้อย ใจดี มีอะไรแล้วใครขอเป็นต้องให้ผู้นั้นเสมอ เมื่อมีผู้ใดนำปัจจัยสี่มาถวาย ท่านมิได้เก็บไว้เป็นส่วนตัวเลย โดยจัดเฉลี่ยให้พระสงฆ์ที่อยู่ในวัด ถ้ามีมากก็จะมอบให้ท่านพระครูใบฎีกาแสวงไว้เป็นค่าก่อสร้างถาวรวัตถุ

พอบวชได้ 18 พรรษาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาส ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.2488 พระอธิการทัต เจ้าอาวาสวัดบางนามรณภาพ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนา และในปี พ.ศ.2518 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูมงคลธรรมสุนทร หลวงปู่ได้อบรมสั่งสอนพระเณรและอุบาสกอุบาสิกาจวบจนถึงวันที่ 21 มกราคม ปี พ.ศ.2531 จึงได้มรณภาพ สิริอายุได้ 87 ปี พรรษาที่ 66

หลวงปู่ได้เริ่มสร้างวัตถุมงคลไว้ให้แก่ลูกศิษย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ที่โด่งดังและรู้จักกันมากก็คือหมูทองแดง มูลเหตุในการสร้างก็คือ ในราวปี พ.ศ.2515 มีคนนำหมูตัวหนึ่งไปโยนน้ำ หวังจะให้ตาย แต่เดชะบุญหมูลอยมากับผักตบชวาและมาหยุดอยู่ที่ตรงท่าน้ำวัด มีคนได้ยินเสียงร้องและได้ช่วยชีวิตไว้

หลวงปู่จึงเลี้ยงหมูตัวนี้ ชั่วระยะเวลาไม่ถึงปี หมูตัวนี้ก็เติบใหญ่กินนอนอยู่ข้างกุฏิหลวงปู่ ต่อมาในปี พ.ศ.2521 หมูตัวนี้เกิดตาย ญาติโยมบริเวณวัดก็ได้ช่วยกันนำหมูออกไปจากวัด โดยไม่ได้แจ้งหลวงปู่ จากนั้นก็นำไปแล่เนื้อ แต่ปรากฏว่าแล่ไม่เข้า หมูตัวนี้มีเขี้ยวงอกยาวออกมาและปรากฏว่าเป็นเขี้ยวตัน

ต่อมาหลวงปู่เส็งจึงได้ให้ลูกศิษย์ออกแบบสร้างเครื่องรางรูปหมูทองแดง โดยหลวงปู่ได้ลงจารอักขระในแผ่นทองสามกษัตริย์ เป็นชนวนหล่อ เมื่อหล่อเสร็จแล้วก็ได้ทำพิธีภายในพระอุโบสถของวัดบางนา โดยมีพระเกจิอาจารย์ในจังหวัดปทุมธานี 10 รูป นั่งสวดในพิธีกรรม และหลวงปู่เส็งได้นำไปปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็แจกจ่ายให้ศิษยานุศิษย์และญาติโยมที่มาทำบุญบูชา ต่อมาเกิดประสบการณ์ต่างๆ มากมาย

ปัจจุบันนี้มีของปลอมเลียนแบบ เนื่องจากมีพุทธคุณขลัง มีผู้นิยมเช่าหาจึงมีคนทำปลอม เวลาจะเช่าหาก็ต้องตรวจสอบดูให้ดีครับ

ในวันนี้ผมก็ได้นำรูปหมูทองแดงของหลวงปู่เส็ง วัดบางนา รุ่นแรกจากหนังสือ ตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์มาให้ชมกันครับ





ปลาตะเพียนเงินตะเพียนทอง

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีพระเกจิอาจารย์ที่เก่งๆ มากมาย ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน วันนี้เราจะมาคุยกันถึงพระเกจิอาจารย์ของอยุธยาที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยสงครามอินโดจีน คือหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก

หลวงพ่อจงเป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 4 ปี พ.ศ.2415 โยมบิดาชื่อ ยอด โยมมารดาชื่อ ขลิบ ในสมัยเด็กๆ หลวงพ่อจงเป็นเด็กขี้โรค และเกือบตายมาหลายครั้ง นอกจากนี้นัยน์ตาฝ้าฟางมองอะไรไม่ถนัด จึงต้องอยู่กับบ้านจนอายุครบบวช จึงได้อุปสมบทที่วัดหน้าต่างใน โดยมี พระอธิการสุ่น เจ้าอาวาสวัดหนองปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “พุทธสฺสโร”

เมื่ออุปสมบทแล้วก็เจริญในทางธรรม ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและพุทธาคมกับ หลวงพ่อสุ่น วัดหนองปลาหมอ และ พระอาจารย์โพธิ์ วัดหน้าต่างใน อีกทั้งยังได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับพระอธิการปั้น วัดพิกุล จนกระทั่งปี พ.ศ.2450 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกว่าง ลงจึงย้ายกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก

หลวงพ่อจงมีความชำนาญแตกฉานในทุกๆ ศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาทั้งพุทธาคม พระปริยัติธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อครั้งสงครามอินโดจีนในปี พ.ศ.2483 หลวงพ่อจงได้รับนิมนต์เข้าร่วมปลุกเสกเสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ตะกรุด และวัตถุมงคลพร้อม หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม และ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ

ในปีนี้ปรากฏว่าทหารไทยที่ร่วมสงครามได้รับประสบการณ์ต่างๆ มากมาย และกลับมาได้อย่างปลอดภัย ชื่อเสียงของพระเกจิอาจารย์ทั้งสี่รูป จึงเป็นที่เลื่องลือขจรขจายไปทั่ว ผู้คนมักกล่าวขวัญชื่อรวมๆ ว่า “จาด จง คง อี๋”

ชาวบ้านทั้งใกล้ไกลเมื่อมีทุกข์หรือมีปัญหาใดๆ ก็จะมาหาหลวงพ่อให้ช่วยขจัดปัดเป่าให้ เช่น ทำน้ำมนต์ ให้ศีลให้พร ทุกคนที่ไปจะไม่ผิดหวัง บางรายขอของขลังท่านก็จะแจกตะกรุด บางรายจนมากท่านก็จะให้เงิน แต่เป็นแผ่นกระดาษลงยันต์ บางรายทำมาค้าขายท่านก็ให้ปลาตะเพียน บรรดาวัดต่างๆ ที่จะจัดพิธีพุทธาภิเษกทั้งในกทม. และจังหวัดใกล้เคียง นิยมนิมนต์หลวงพ่อจงมาร่วมในพิธีทั้งสิ้น เช่น ในงานหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ปี พ.ศ.2481 หลวงพ่อจงก็ได้ รับเกียรตินิมนต์เข้าร่วมพิธี

หลวงพ่อจงมีเมตตาธรรมสูง มีอยู่ครั้งหนึ่งมีขโมยเข้ามาลักโอ่งวัดในตอนกลางคืน หลวงพ่อยังไม่ได้จำวัด ท่านรู้เห็นมาตลอด แต่ก็อดเมตตาขโมยไม่ได้จึงลุกออกมาจากที่นอนไปปรากฏตัวหลังขโมยพร้อมกับแนะนำว่า “ไม่ต้องรีบร้อนเดี๋ยวจะแตกเสียหาย ค่อยๆ ขนไปอย่าโลภมากเอาไปครั้งละใบก็จะไม่เสียหาย” ขโมยตกใจกันมากก้มกราบ และพากันเดินจากไป เพราะไม่คิดว่าหลวงพ่อจะใจดีมีเมตตาจึงละอายแก่ใจตนเอง หลวงพ่อจงมรณภาพเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2508 สิริอายุได้ 93 ปี พรรษาที่ 72

เครื่องรางของขลัง เรื่องทำมาค้าขายของหลวงพ่อจงที่นิยมกันมากก็คือปลาตะเพียน ซึ่งทำเป็นคู่ เป็นตะเพียนเงินกับตะเพียนทอง ในสมัยก่อนจะเห็นตามร้านค้าในอยุธยาจะแขวนเครื่องรางรูปปลาตะเพียนของหลวงพ่อจงกันแทบทุกร้าน และก็ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง

ในปัจจุบันตะเพียนเงินตะเพียนทองของหลวงพ่อจงแท้ๆ หาได้ยาก เนื่องจากใครมีไว้ต่างก็หวงแหนเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี บางครั้งไปเจอก็ไม่ครบคู่จะเจอเพียงตัวใดตัวหนึ่ง

สันนิษฐานว่าเจ้าของเดิมอาจจะทำหายหรือไม่ก็ได้รับตกทอดมาโดยการแบ่งกันไว้คนละตัว จึงเช่าหาครบคู่ค่อนข้างยาก สนนราคาก็เริ่มสูงขึ้นมากครับ ของปลอมมีมานานแล้ว เวลาจะเช่าหาก็ต้องระวังสังเกตดูให้ดีครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปปลาตะเพียนเงินตะเพียนทองจากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์มาให้ชมครับ


ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์




รูปเสืองาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เครื่องรางของขลังเป็นของคู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน เครื่องรางของขลังชนิดหนึ่งที่เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ก็เป็นที่นิยม เช่น เครื่องรางรูปเสือก็มีอยู่หลายพระเกจิ อาจารย์ที่สร้าง มีทั้งเก่าและใหม่ ที่เป็นรุ่นเก่าๆ ก็จะหายากและมีราคาสูง อย่างเช่นเสือของหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน เสือหลวงพ่อนก วัดสังกะสี นอกจากนี้ก็ยังมีทางนครสวรรค์คือเสือหลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน นครสวรรค์

หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่า ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2402 พออายุครบบวชจึงได้อุปสมบทที่วัดมหาโพธิ์ อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ หลวงพ่อเฮงได้ศึกษาวิทยาการต่างๆ มากมาย ทั้งวิทยาคม วิชาโหราศาสตร์ อีกทั้งแพทย์แผนโบราณ หลวงพ่อได้ออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และได้พบกับพระเกจิอาจารย์หลายรูปในป่าที่ได้ธุดงค์ไป

ระหว่างทางที่ท่านได้ธุดงค์ไปนั้นก็ได้พบกับงากำจัด และงากำจาย งาช้างประเภทนี้เป็นงาช้างตัวผู้ที่ตกมัน และแทงงาหักปักติดต้นไม้ในป่าบ้าง หักคาตลิ่งน้ำในป่าบ้าง หรือที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงกันเป็นจ่าโขลงแล้วเกิดแตกหักตกหล่นอยู่ในป่าบ้าง หลวงพ่อเฮงก็ได้เก็บไว้ เมื่อกลับมาก็รักษาไว้ในกุฏิ พอหลายๆ ปี ท่านก็มีงากำจัดและงากำจายมากขึ้นทุกปี

ต่อมาหลวงพ่อเฮงจึงได้นำมาให้ช่างแกะสลัก เป็นรูปคชสิงห์บ้าง รูปเสือบ้าง รูปหมูโทนบ้าง แล้วท่านจึงปลุกเสก และแจกจ่ายให้แก่บรรดาลูกศิษย์ เพื่อไว้คุ้มครองป้องกันตัว เครื่องรางงาแกะของหลวงพ่อเฮงนี้ใครได้รับไปก็จะหวงแหนมาก เนื่องจากมีประสบการณ์ในด้านต่างๆ มากมาย ลูกศิษย์ของท่านจะมีทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง

คนที่ได้รับจะมีอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี และชัยนาท จะได้รับเครื่องรางของขลังจากท่านมากหน่อย แต่ก็หายากมากในปัจจุบัน เนื่องจากจำนวนงากำจัดและงากำจายที่ท่านเก็บมาจากในป่านั้นแกะได้จำนวนไม่มากนักครับ และใครได้ไว้ก็จะหวงแหนและเป็นมรดกตกทอดกันต่อมา

เครื่องงาแกะของหลวงพ่อเฮงจะพบเห็นมากก็จะเป็นรูปคชสิงห์ ส่วนรูปหมูโทนและเสือนั้นมีจำนวนน้อยกว่ามาก ช่างที่แกะงาของหลวงพ่อเฮงจะแกะได้สวยงาม รูปเสือก็แกะได้สวยงามนักรักมากครับ โดยส่วนตัวผมชอบศิลปะรูปเสือแกะของหลวงพ่อเฮงมาก แต่ก็หายากและมีราคาสูงครับ

หลวงพ่อเฮงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ์ใต้ ในปี พ.ศ.2434 และในปี พ.ศ.2449 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาดินอีกหนึ่งวัด ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสถึง 2 วัดด้วยกัน หลวงพ่อเฮงมรณภาพในปี พ.ศ.2485 สิริอายุได้ 83 ปี พรรษาที่ 63

เครื่องรางของขลังรูปสัตว์แกะจากงาของหลวงพ่อเฮงมีพุทธคุณเด่นทางด้านอยู่คง แคล้วคลาด และเมตตามหานิยมครับ ปัจจุบันหาแท้ๆ ยากมาก ของปลอมมีมากและทำกันมานานแล้ว เวลาจะเช่าหาก็ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบครับ

วันนี้ผมได้นำรูปเสืองาแกะของหลวงพ่อเฮง วัดเขาดินมาให้ชมกันครับ


ชมรมพระเครื่อง
แทน ท่าพระจันทร์





เหรียญเจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช

ณ วังนาคินทร์คำชะโนด ก็มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมามากมาย โดยเชื่อว่าเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกบาดาลกับโลกมนุษย์ เป็นที่สิงสถิตของพญานาคและสิ่งลี้ลับต่างๆ

…ใน 1 เดือน พญาศรีสุทโธนาคราช ผู้ครองเมืองบาดาล จะกลายร่างเป็นมนุษย์ใน 15 วันข้างขึ้น มีชื่อว่า “เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ” พำนักอยู่ ณ วังนาคินทร์คำชะโนดแห่งนี้ และจะกลายร่างเป็นพญานาคใน 15 วันข้างแรม โดยใช้ทางขึ้นลงที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่ใจกลางป่าคำชะโนด…

ซึ่งมีการสังเกตได้ว่า ในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้นบางครั้งมักจะเกิดฟองอากาศขึ้นคล้ายมีการหายใจอยู่ในน้ำ และบ่อยครั้งที่ชาวบ้านในละแวกนั้นได้พบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญพระเวท รวมถึงหญิงสาวที่มายืมเครื่องมือทอผ้าอยู่เป็นประจำ

หรือ “ผีจ้างหนัง” ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของทีมงานหนังเร่ที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้จ้างปริศนา แม้แต่จากคำบอกเล่าจากชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นว่า ทุกคืนวันพระ ชาวบ้านรอบๆ มักจะได้ยินเสียงดนตรีดังออกมาจากป่าคำชะโนด พร้อมการปรากฏกายของบรรดาชาวคำชะโนดในชุดสีขาว ซึ่งต่างเชื่อกันว่าเป็นบรรดางูบริวารของพญาศรีสุทโธนาคราช เป็นต้น

ตราบจนปัจจุบัน ตำนานและความเชื่อทั้งหลายยังคงสร้างความศรัทธาอย่างต่อเนื่อง ผู้คนมากมายจากทั่วสารทิศต่างเดินทางมากราบสักการะ “พญาศรีสุทโธนาคราช” หรือ “เจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช” กันอย่างเนืองแน่น ทั้งขอพร ขอลาภ ขอให้ช่วยปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ ฯลฯ มีการขออนุญาตจัดสร้าง “วัตถุมงคลเจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช” เพื่อนำรายได้สมทบทุนในการกุศลต่างๆ และเพื่อให้ผู้ศรัทธาได้ร่วมบุญพร้อมรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพศรัทธาไปสักการะยังเคหสถานหรือพกพาติดตัวเพื่อความเป็นสิริมงคล

เจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช รุ่นพญานาคราชประทานทรัพย์ก็เช่นกัน ได้ประกอบพิธีบวงสรวงและพุทธาเทวาภิเษก ณ วังนาคินทร์คำชะโนด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมานี้ ด้วยความงดงามทางพุทธศิลป์ที่สร้างสรรค์ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะ “รูปบูชา” รังสรรค์ได้งดงามอย่างไร้ที่ติจริงๆ กอปรกับเหตุการณ์ปาฏิหาริย์มากมาย ณ วันประกอบพิธี ทั้งปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด และเทียนชัยที่หลอมละลายแปรเป็นรูปพญานาค แสดงให้เห็นถึงการรับรู้ของเจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช ยิ่งสร้างความเข้มขลัง เชื่อมั่น และศรัทธา เป็นทวีคูณ

เจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช รุ่นพญานาคราชประทานทรัพย์ ประกอบด้วย พระบูชาปิดทองแท้ สูง 75 ซ.ม. สร้างจำนวน 39 องค์, พระชุด ประกอบด้วย พระบูชา, เหรียญทองคำ 22 กรัม, เหรียญเงิน และเหรียญนวโลหะ จัดสร้าง 19 ชุด, เหรียญเงิน สร้าง 108 เหรียญ, เหรียญนวโลหะ สร้าง 108 เหรียญ, เหรียญสองกษัตริย์ (พื้นเงิน-พื้นทอง) สร้าง 9,999 เหรียญ, เหรียญเนื้อทรายทอง-ทรายเงิน สร้าง 9,999 เหรียญ, เหรียญเนื้อทองแดงสีรุ้ง สร้าง 4,999 เหรียญ, เหรียญทองแดงนอก, ทองระฆัง และอัลปาก้า สร้างชนิดละ 4,999 เหรียญ

นอกจากนี้ยังมีเหรียญเนื้อทองแดงนอก หน้ากากสีประจำวัน สร้างจำนาน 7,000 เหรียญ โดยทุกองค์ทุกเหรียญมีเลขและโค้ดกำกับ ประการสำคัญคือ สั่งบูชาทุกเหรียญ แถมฟรี หนังสือ “วังนาครินทร์คำชะโนด…เปิดตำนานลี้ลับประตูวังบาดาล” ซึ่งผ่านพิธีพุทธาเทวาภิเษกเป็นที่เรียบร้อย 1 เล่ม

ผู้ศรัทธามากมายให้ความสนใจสอบถามข้อมูลและเช่าบูชากันอย่างต่อเนื่อง จนตอนนี้ใกล้หมดแล้ว ต้องรีบติดต่อด่วนที่ โทร.08-6372-6514 ครับผม





กุมารทองรุ่นแรก”หลวงปู่แย้ม”

นอกเหนือจาก “เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่แย้มรุ่นแรก ปี 2516” ที่ถือว่าเป็น “เหรียญ 2 พระเกจิผู้ทรงพุทธาคมแห่งวัดสามง่าม” อันโด่งดัง ที่นอกจากจะเป็นที่แสวงหาอย่างสูงในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้เคารพศรัทธา “หลวงพ่อเต๋และหลวงปู่แย้ม” แล้ว ปัจจุบันน่าจะกลายเป็นที่สนใจอย่างยิ่งยวดในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ และทวีค่านิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ

ยังมีประเภทเครื่องรางของขลังของ “หลวงปู่แย้ม” ที่น่าจะเป็นที่จับตากันในวงการ ดังที่กล่าวแล้วว่า หลวงปู่แย้ม ฐานยุตโต ท่านถือเป็นหนึ่งในศิษย์เอกผู้สืบทอดพุทธาคมของ “หลวงพ่อเต๋ คงทอง” ยอดพระเกจิชื่อดังผู้ทรงพุทธาคม เจ้าตำรับตะกรุดโทน ตะกรุดหนังเสือ และกุมารทองเนื้อดินโป่งแห่งวัดสามง่าม ซึ่งเมื่อท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อจาก “หลวงพ่อเต๋” ท่านก็ได้เดินตามรอยพระอาจารย์ ในการสืบสานพระศาสนาและสร้างคุณูปการมากมายต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติมาโดยตลอด เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั่วหล้า ประการสำคัญคือ ท่านได้สืบทอด “ตำรับตำรามหา พุทธาคมของวัดสามง่าม” ที่ได้รับจากพระอาจารย์ได้อย่างสมบูรณ์

ดังนั้น สุดยอดเครื่องรางของขลังที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่ฮือฮาในยุคหลวงปู่แย้ม ก็คือกุมารทองทั้งเนื้อดิน-เนื้อโลหะ ตะกรุดโทน ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ และตะกรุด 3 ห่วง ที่ได้ถือตามแบบฉบับตำรับโบราณของ “หลวงพ่อเต๋” อันเป็นเอกลักษณ์ของกุมารทองวัดสามง่ามอย่างแท้จริง ยิ่งชื่อเสียงด้านความเข้มขลังด้านพลังจิตและความเชี่ยวชาญในพระเวทวิทยาคม ของ “หลวงปู่แย้ม” โดยเฉพาะการลงอักขระเลขยันต์ที่ท่านได้จารด้วยตัวเอง เขียนเอง ปลุกเสกเองนั้น ก็ยิ่งสร้างให้เครื่องรางของขลังต่างๆ ที่ท่านสร้างเข้มขลังด้วยพุทธาคม อิทธิฤทธิ์ และปาฏิหาริย์เป็นทวีคูณ โดยเฉพาะ “กุมารทองรุ่นแรก เนื้อดินเผา” ที่โดดเด่นทั้งทางโชคลาภ ค้าขายร่ำรวย และเงินทองมีใช้ไม่ขัดสน

คนเก่าคนแก่ที่ครอบครอง “กุมารทองรุ่นแรก หลวงปู่แย้ม” และบูชาอย่างสม่ำเสมอ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “กุมารทองรุ่นแรกนี้เฮี้ยนที่สุดในบรรดากุมารทองทุกรุ่นของหลวงปู่เลยทีเดียว” เรียกว่าโด่งดังเป็นที่กล่าวขวัญทั้งในเมืองไทยและไปถึงต่างประเทศ และเป็นที่แสวงหาอย่างสูงมาเนิ่นนานแล้ว

กรรมวิธีการสร้างกุมารทองของหลวงปู่แย้ม เริ่มจากมวลสารที่ใช้สร้างกุมารทองครบองค์ประกอบตามตำรา “หลวงพ่อเต๋” ซึ่งล้วนเป็นมวลสารอาถรรพ์ทั้งสิ้น เช่น ดิน 7 ป่าช้า, ดิน 7 ถ้ำ, ดิน 7 โป่ง, ดิน 7 ท่าน้ำ, ขี้เถ้ากระดูกคนมีชื่อเสียงจากเมรุเผาศพ 7 เมรุ, เส้นผมของสาวพรหมจรรย์และหลวงพ่อแย้ม ฯลฯ มาผสมเป็นมวลสารจัดสร้าง “กุมารทอง” แล้วอุดด้วยมวลสารใต้ฐานอีกรอบหนึ่ง จากนั้นจารอักขระทั้งองค์ด้วยลายมือของท่านทุกองค์ เจิมเรียกดวงจิต ดวงวิญญาณ อีกหลายรอบ เมื่อแล้วเสร็จ ท่านก็จะปลุกเสกอธิษฐานจิตเดี่ยวอีก 7 วัน โดยเน้นเฉพาะวันแข็ง คือ “วันเสาร์และวันอังคาร” บางครั้งท่านนั่งปลุกเสกจนมีคนได้ยินเสียงดังขลุกขลักๆ แล้วท่านก็จะบอกว่าองค์ไหนที่ใช้ได้แล้ว

กุมารทองรุ่นแรก เนื้อดินเผานี้ นับเป็นสุดยอดแห่งเครื่องรางของขลังของหลวงปู่แย้ม ที่คาดว่าจะทวีค่านิยมและการแสวงหาอย่างสูง ณ ปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของ “หลวงปู่แย้ม” แม้จะไม่ใช่รุ่นที่กล่าวถึงนี้ ทั้งกุมารทองทั้งเนื้อดิน-เนื้อโลหะ ตะกรุดโทน ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ ตะกรุด 3 ห่วง หรือเหรียญ ก็นับว่าเป็นสิริมงคลสูงส่งและเข้มขลังในพุทธาคมเฉกเช่นกัน


พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 ตุลาคม 2560 18:48:53 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #10 เมื่อ: 11 ตุลาคม 2560 18:56:31 »



ตะกรุดเก้ากลุ่มสามกษัตริย์ และตะกรุดจำปา 4 ต้น ของครูบาวัง วัดบ้านเด่น

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระเกจิอาจารย์ทางภาคเหนือที่เปี่ยมล้นด้วยความเมตตารูปหนึ่ง คือหลวงพ่อครูบาวัง วัดบ้านเด่น จังหวัดตาก ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนโดยทั่วไป วัตถุมงคลของท่านนั้นมีผู้ที่มีประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งด้านเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดครับ

หลวงพ่อครูบาวัง วัดบ้านเด่น เกิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2434 ที่บ้านเหมืองจี้ อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นบุตรของเจ้าคำปวนและเจ้าบัวเงา ซึ่งมีเชื้อสายของเจ้านายทางเหนือ เมื่อยังเยาว์ได้ศึกษาเล่าเรียนกับครูบาสมที่วัดเหมืองจี้ ต่อมาจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพ.ศ.2445 และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย

จนอายุครบบวช จึงได้อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.2455 ที่วัดบ้านแป้น โดยมีพระครูกันธิยะ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการปั้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระอธิการปุ้ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านแป้น 2 พรรษา แล้วจึงย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเหมืองจี้

ท่านสนใจศึกษาพระวิปัสสนากรรมฐานและได้ออกธุดงค์ไปจนถึงเชียงแสน ได้ศึกษาพระกรรมฐานจากพระเกจิอาจารย์หลายรูป พร้อมทั้งได้ศึกษาวิทยาคมต่างๆ ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ท่านก็ยังศึกษาเรื่องวิชาแพทย์แผนโบราณควบคู่ไปด้วย เส้นทางที่ท่านธุดงค์ผ่านไปหลายจังหวัดจนทะลุออกประเทศพม่า

ท่านธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ อยู่หลายพรรษา ในที่สุดก็เข้ามาถึงป่าเด่นกระต่ายจังหวัดตาก หลวงพ่อเห็นว่าเป็นที่สงบเหมาะที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน และมีหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ใกล้ๆ กัน ท่านจึงปักกลดพักอยู่ที่นั่น ชาวบ้านพบหลวงพ่อก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ในคำเทศน์สั่งสอนของท่านจึงนิมนต์ขอให้หลวงพ่ออยู่จำพรรษาที่นี่ หลวงพ่อก็รับนิมนต์และชาวบ้านก็ร่วมใจกันสร้างกุฏิเล็กๆ มุงแฝกขึ้น ต่อมามีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาด้วย ในตอนแรกๆ ก็มีกุฏิมุงแฝกอยู่ 3 หลัง

ต่อมาได้มีผู้ที่ได้ยินข่าวของหลวงพ่อครูบาวังที่ท่านได้ช่วยรักษาคนป่วยไข้ให้หายได้ จึงมาฝากตัวเป็นศิษย์กันมากขึ้น ได้มีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์ช่วยกันสร้างศาลามุงกระเบื้องขึ้น กิติศัพท์ของหลวงพ่อครูบาวังเริ่มขจรขจายไปทั่ว

ในปีพ.ศ.2508 หลวงพ่อจึงได้สร้างพระอุโบสถจนสำเร็จโดยท่านไม่มีเงินเลย แต่ลูกศิษย์และประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อได้ร่วมใจกันสร้างจนสำเร็จลุล่วง นอกจากนี้ท่านยังสร้างหอระฆัง แท็งก์น้ำ และเสนาสนะอื่นอีกจนวัดบ้านเด่นมีความเจริญรุ่งเรือง ด้วยศรัทธาของผู้คนที่มีต่อหลวงพ่อ

หลวงพ่อครูบาวังมีเมตตาสูง ได้เลี้ยงดูเด็กที่พ่อแม่ยากจนมาให้ได้มีการศึกษา บางคนได้เข้ามาศึกษาต่อใน กทม. เล่าเรียนสูงจนจบมหาวิทยาลัย ในส่วนของชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยหลวงพ่อก็ช่วยรักษาจนหาย หลวงพ่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตลอดชีวิตของท่าน สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า และล่วงรู้จิตใจคน ใครมาขออะไรท่านก็ให้หมด มีพระสงฆ์มาบวชกับท่านมากมาย

วัตถุมงคลของหลวงพ่อใครมาขอถ้ามีท่านให้หมด และมีการสร้างอยู่หลายแบบ เช่น ตะกรุดเก้ากลุ่ม ตะกรุดจำปา 4 ต้น ตะกรุด สามกษัติรย์ ผ้ายันต์ สีผึ้ง เหรียญรูปท่าน และพระกริ่ง เป็นต้น วัตถุมงคลของท่านคนที่ได้รับไปมีประสบการณ์มากมายทางเมตตามหานิยม โชคลาภค้าขาย แคล้วคลาดมีมากมาย และมีคนไปขอท่านแทบทุกวัน ท่านก็เมตตาแจกให้ ลูกศิษย์ของท่านมีทั้งชาวบ้านธรรมดาตลอดจนเจ้าใหญ่นายโต พ่อค้าวาณิช ท่านเมตตาทุกคนเสมอกันไม่เลือกชั้นวรรณะ เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนมาก

หลวงพ่อครูบาวังมรณภาพเมื่อวันที่ 18 ม.ค. พ.ศ.2516 สิริอายุได้ 82 ปี พรรษา ที่ 62

ในวันนี้ผมขอนำรูปตะกรุดเก้ากลุ่มสามกษัตริย์ และตะกรุดจำปา 4 ต้น ของครูบาวัง วัดบ้านเด่น จากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมครับ (ปัจจุบันหายากครับ)





หนุมาน เนื้อนวโลหะ หลวงปู่ทิม

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง เป็นพระเกจิอาจารย์ในยุคกลางๆ ที่ประชาชนเคารพนับถือมาก โดยเฉพาะพี่น้องชาวภาคตะวันออกจะเคารพศรัทธามากเป็นพิเศษ วัตถุมงคลมีอยู่หลายอย่าง ทั้งพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง ทุกอย่างล้วนเข้มขลังในพุทธคุณและมีค่านิยมสูงทั้งสิ้น

หลวงปู่ทิมปลุกเสกวัตถุมงคลทุกอย่างจะเข้มขลังเป็นพิเศษ และมีประสบการณ์ต่างๆ มากมาย จึงเป็นที่นิยมและเป็นที่เสาะหากันมาก จึงทำให้วัตถุมงคลมีราคาสูงขึ้นมาก คนที่บูชาวัตถุมงคลของท่านถ้าเป็นคนดีมีศีลธรรมและขอในสิ่งที่ถูกต้องจะสัมฤทธิผลทุกราย พระกริ่งชินบัญชร นับว่าเป็นพระกริ่งที่มีสนนราคาสูงที่สุด สนนราคาหลายแสนบาท แต่ก็หายากเช่นกัน

นอกจากนี้พระชุดผงพรายกุมาร เช่น พระขุนแผนผงพรายกุมารทั้งใหญ่และเล็กก็หลักแสนทั้งสิ้น เนื่องจากผู้ที่ใช้บูชาต่างก็มีประสบการณ์มากมาย ความนิยมไม่เคยเสื่อมคลาย ไม่ว่าจะเป็นเหรียญต่างๆ ของท่านก็หายากทุกรุ่น ส่วนในเรื่องเครื่องรางของขลังก็ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน และก็หายากมาก

เครื่องรางของขลังไม่ว่าจะเป็น ผ้ายันต์พัดโบก ผ้ายันต์สารพัดกัน ตะกรุด ปลัดขิก ลูกอมผงพรายกุมาร หรือหนุมานบรรจุผงพรายกุมาร ล้วนแต่เป็นของหายากและมีผู้ต้องการมาก สนนราคาก็สูงตามไปด้วย ของปลอมเลียนแบบก็ออกมามากตามไปด้วย การจะเช่าหาก็ต้องพิจารณาให้ดี ควรปรึกษาผู้รู้หรือเช่าหากับผู้ชำนาญการสายตรงก็จะปลอดภัย

หนุมานของหลวงปู่ทิมถือเป็นเครื่องรางยอดนิยมประเภทหนึ่ง หลวงปู่ทิมสร้างไว้เป็นรุ่นเดียวและรุ่นสุดท้ายในปี พ.ศ.2518 มีเนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ ใต้ฐานจะบรรจุผงพรายกุมาร ลงจารทุกตัว และจะตอกโค้ดไว้ทุกตัว ทำให้ใช้ในการพิจารณาได้ โค้ดของปลอมจะทำไม่เหมือน สนนราคาเนื้อนวโลหะในปัจจุบันสมบูรณ์ๆ ราคาขึ้นหลักแสน

ส่วนเนื้อเงินก็จะสูงกว่า พุทธคุณเด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม มีประสบการณ์มากมาย จึงทำให้มีผู้เสาะหากันมาก ของปลอมก็หายห่วงมีแน่นอนครับ แต่ไม่เหมือนถ้าพิจารณาดีๆ ของแท้รายละเอียดคมชัด และที่ปลอมไม่เหมือนอีกอย่างก็คือ โค้ด เพราะของแท้จะคมชัดมาก และใช้เป็นจุดพิจารณาได้เป็นอย่างดี

ในส่วนหนุมานที่เป็นเนื้อชินตะกั่วของ วัดละหารไร่นั้น ครั้งแรกคณะกรรมการก็จะสร้างให้หลวงปู่ทิมปลุกเสกเช่นกัน แต่สร้างเสร็จไม่ทัน จึงให้หลวงปู่แก้ว เจ้าอาวาสองค์ต่อจากหลวงปู่ทิม และเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ทิมปลุกเสก ปัจจุบันก็นิยมเช่นกัน จะต่างกันหน่อยที่ราคาเท่านั้นครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปหนุมาน เนื้อนวโลหะของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จากหนังสือตามรอยตำนาน เครื่องรางของขลังขมังเวทย์ ซึ่งมีทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ใต้ฐาน และโค้ดมาให้ชมครับ


ชมรมพระเครื่อง
“แทน ท่าพระจันทร์”
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 ตุลาคม 2560 19:04:45 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 08 พฤศจิกายน 2560 16:43:02 »


ลูกอมมหากัณฑ์ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน สำหรับผู้นิยมพระเครื่องนอกจากพระเครื่องที่ชื่นชอบแล้วก็ไม่แคล้วจะสนใจเครื่องรางของขลังพ่วงไปด้วย ผมเองก็เช่นกันในสมัยก่อนจะชอบหาเครื่องรางของขลังมาก แต่ก็ได้ของแท้บ้างของไม่แท้บ้าง (ส่วนมากจะได้ของไม่แท้เสียเป็นส่วนใหญ่) ก็เริ่มศึกษาตามสมควรแต่โอกาส

ครับเครื่องรางของขลังของไทยมีด้วยกันหลากหลายมาก ตั้งแต่ตะกรุด เขี้ยว งา กะลา เขา ของทนสิทธิ์ต่างๆ ผ้ายันต์ แหวนพิรอด ลูกอมและอื่นๆ เครื่องรางของขลังเก่าๆ นั้นโดยส่วนใหญ่จะทำกันเองที่วัดมิได้จ้างโรงงานทำให้แต่อย่างไร

ดังนั้นจึงพิจารณายากมาก ในเวลาต่อมาภายหลัง เพราะไม่ได้มีแบบพิมพ์หรือแม่พิมพ์แต่ประการใด การศึกษาต้องเคยเห็นของแท้ๆ มามากๆ จดจำลายมือ เนื้อหาของวัตถุมงคลนั้นๆ หรือวิธีการทำของแต่ละเกจิอาจารย์ให้ได้อย่างแม่นยำ ผมเองยอมรับว่ายากมากๆ ครับ แต่ก็พยายามเสาะหาจากท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้รับมาในยุคนั้นๆ และพยายามศึกษาได้มั่งไม่ได้มั่ง

ผมเองในสมัยก่อนก็สนใจเรื่องลูกอม เพราะสนนราคาจะถูกกว่าวัตถุมงคลอื่นๆ ของหลวงพ่อนั้นๆ สังเกตดูก็มีน่าสนใจอยู่หลายพระอาจารย์ เช่น ลูกอมของหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ลูกอมของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ลูกอมของหลวงพ่อทับ วัดทอง ลูกอมของหลวงพ่อทับ วัดอนงค์ ลูกอมของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ เป็นต้น

ผมก็ติดตามเสาะหาจนได้ลูกอมของหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอกเป็นลูกแรก ต่อมาก็ได้ลูกอมของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม และลูกอมของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ของหลวงปู่ทิมนั้นได้ง่ายหน่อย เนื่องจากเช่าไว้ในสมัยที่หลวงปู่สร้าง ส่วนลูกอมของหลวงพ่อคงนั้นก็เริ่มศึกษาจากผู้หลักผู้ใหญ่สายลูกศิษย์ของหลวงพ่อคง เช่นท่านอาจารย์เภา และคุณตาท่านหนึ่งนามสกุล ณ บางช้าง ซึ่งท่านเกิดทันหลวงพ่อคงและเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อคง

การสอบถามจึงเข้าใจลูกอมของหลวงพ่อคงมากขึ้นและได้ไว้หนึ่งลูก จากการสอบถามก็ทราบว่าลูกอมของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อมนั้น สร้างด้วยเนื้อผงสีขาวผสมด้วยผงดินสอพองที่หลวงพ่อเขียนจารลงบนแผ่นกระดานชนวนลบและเก็บรวบรวมไว้นำมาคลุกเคล้าปั้นเป็นลูกอม มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ไม่แน่นอน ที่สำคัญหลวงพ่อคงจะจารอักขระขอมตัว นะ ไว้เพียงตัวเดียวในกระดาษสา ม้วนแบบตะกรุดแล้วจึงนำเนื้อผงที่เตรียมไว้มาหุ้มแล้วปั้นเป็นลูกกลมๆ




ลูกอมนี้มักเรียกกันว่า “ลูกอมมหากัณฑ์” เรื่องพุทธคุณนั้นศักดิ์สิทธิ์มาก คงกระพันชาตรีนั้นเป็นที่หนึ่ง ของแหลมไม่ได้กินเลือด แม้แต่สุนัขก็กัดไม่เข้า (ท่าน อาจารย์เภาเล่าให้ฟัง) และแคล้วคลาดก็มีประสบการณ์มาก

นอกจากนี้เรื่องเมตตามหานิยมก็ดีเยี่ยม หลวงพ่อคงจะให้ลูกอมใครท่านก็จะสอนก่อนทุกคนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ห้ามนำไปใช้ในทางที่ผิด คดโกงหรือไปปล้นไปลักของใคร ห้ามผิดลูกผิดเมียใครเด็ดขาด ทุกคนที่ได้ไปก็จะรับปากหลวงพ่อทุกคน แต่ก็มีบางคนที่ไปทำผิดหลวงพ่อจะรู้ได้ทันที เนื่องจากลูกอมนั้นจะแตกออกหรือไม่ก็หายไปจากตัวและกลับมาอยู่ที่กุฏิที่หน้าหิ้งบูชาของหลวงพ่อ อาจารย์เภาเล่าให้ฟังว่า

วันหนึ่งได้ไปกราบหลวงพ่อคง หลวงพ่อบอกว่าเมื่อวานกลับมา 2 หน่วย หมายถึงลูกอมของท่านที่ให้ลูกศิษย์ไปแล้วไปทำผิด ลูกอมจึงกลับมาหาหลวงพ่อคง และก็มีบางรายเมื่อลูกอมแตกหรือหายไปกลับมากราบหลวงพ่อและขอลูกอมลูกใหม่ แต่หลวงพ่อจะไม่ให้ และจะบอกกับผู้นั้นว่า “รอไปก่อนนะจ๊ะให้มีความประพฤติดีเสียก่อนจึงค่อยมาเอาใหม่” ลูกอมของหลวงพ่อคงนั้นศักดิ์สิทธิ์นักครับ

ลูกอมของหลวงพ่อคงท่านจะมอบให้ก็เป็นลูกอมเนื้อผงสีขาวๆ ธรรมดานี่แหละครับ คนที่ได้ไปบางคนก็ใช้อมในปากอย่างนั้นเลย บางคนก็นำไปถักเชือกลงรักถักหูเพื่อห้อยคอ ในสมัยก่อนหาเช่าก็ยังไม่แพงนัก ปัจจุบันหาแท้ๆ ยากมากครับ และไม่รู้ว่าแท้หรือไม่ จะเช่าหาก็ต้องได้จากคนที่ไว้ใจได้เท่านั้น ราคาก็ค่อนข้างสูงแล้วในปัจจุบัน

ในวันนี้ผมได้นำรูปลูกอมมหากัณฑ์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ทั้งแบบเปลือยๆ และแบบลงรักถักเชือก จากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์มาให้ชมครับ
ชมรมพระเครื่อง “แทน ท่าพระจันทร์”



ท้าวเวสสุวัณ ท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์)

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เรามาคุยกันถึงท้าวเวสสุวัณของท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) กันสักหน่อยนะครับ ท้าวเวสสุวัณนั้นท่านเกจิอาจารย์ในสมัยก่อนมักจะทำเป็นแบบผ้ายันต์ไว้กันผีหรืออมนุษย์ต่างๆ นิยมติดไว้ตามประตูบ้าน เพื่อคุ้มครองไม่ให้สิ่งชั่วร้ายหรือภูตผีปีศาจต่างๆ มารบกวน สำหรับที่เป็นแบบรูปหล่อโลหะในสมัยก่อน ก็เห็นจะมีของท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) วัดสุทัศน์นี่แหละครับ

เรื่องมูลเหตุที่ท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) ท่านได้สร้างรูปหล่อท้าวเวสสุวัณ ก็เนื่องมาจากท่านได้ขึ้นไปสร้างพระอุโบสถวัดตีนโนนหรือวัดศรีจอมทอง ที่เป็นวัดแถบบ้านเกิดของท่าน ในตำบลป่าหวายฯ ท่านได้เริ่มสร้างพระอุโบสถมาตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นลำดับมา ขณะที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น ท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) ก็ได้ขึ้นไปดูการก่อสร้างอยู่เสมอ ได้มีชาวบ้านและพวกช่างก่อสร้างได้มาปรารภกับท่านเสมอว่า ในพื้นที่นี้มีภูตผีปีศาจมาหลอกหลอนรบกวนอยู่เสมอ ไม่เป็นอันทำงานทำการ มีข่าวว่าคนถูกผีปอบเข้าสิงกินตับไตไส้พุงเป็นที่เล่าลือกันมาก

เมื่อท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) ท่านได้ทราบเรื่องราวแล้ว และท่านได้กลับมาที่วัดสุทัศน์ จึงได้สร้างรูปท้าวเวสสุวัณ แบบรูปลอยองค์ ลักษณะคล้ายกับยักษ์วัดแจ้ง คือยืนถือกระบองแล้วนำไปแจกแก่ญาติโยมเพื่อไว้กันผีปอบ และหลังจากที่ท่านได้นำไปแจกแล้วเรื่องผีปีศาจก็เงียบหายไป

ทำไมท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) จึงสร้างรูปท้าวเวสสุวัณไว้กันผี ในตำนานได้มีเรื่องกล่าวถึงท้าวเวสสุวัณหรือยักษ์ตนนี้ว่า แม้รูปร่างหน้าตาของท้าวเวสสุวัณจะเป็นยักษ์ แต่ก็เป็นยักษ์ฝ่ายธรรมะ เทวดารบกับยักษ์ครั้งไร ท้าวเวสสุวัณเป็นต้องเข้าข้างเทวดาทุกที ในศาสนาพราหมณ์ว่าท้าวเวสสุวัณเป็นหนึ่งในจตุโลกบาล คือมีหน้าที่เฝ้าดูแลรักษาโลกด้านทิศเหนือ โดยถือว่าท่านเป็นนายผีนายอสูรยักษ์ทั้งหลาย

มีดหมอของเกจิอาจารย์รุ่นเก่าๆ ยังนิยมทำด้ามเป็นรูปท้าวเวสสุวัณ หรือไม่ก็จารอักขระลงในใบมีด เป็นอาวุธของเทพต่างๆ รวมทั้งกระบองของท้าวเวสสุวัณด้วย อย่างในมีดหมอของ หลวงพ่อเดิม เป็นต้น นอกจากนี้เราจะเห็นว่า ตามวัดต่างๆ ที่สร้างมาตั้งแต่ในอดีตนั้น จะเห็นมีรูปยักษ์ยืนถือกระบองเฝ้าตามจุดต่างๆ หรือตามหน้าพระอุโบสถ ก็คือรูปจำลองของท้าวเวสสุวัณนั่นเองครับ เพื่อเป็นการ ปกปักรักษาหรือกำราบอสูรหรือภูตผีต่างๆ เพราะท่านเป็นนายผีอยู่แล้ว ภูตผีต่างๆ ก็ไม่สามารถเข้ามาในวัดได้นั่นเองครับ

ในปี พ.ศ.2492 ท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) จึงได้สร้างรูปท้าวเวสสุวัณไปแจกญาติโยมตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เนื้อท้าวเวสสุวัณจะเป็นเนื้อทองเหลืองผสม วรรณะออกเหลืองอมเขียว ปัจจุบันเริ่มหายากแล้ว ของปลอมก็พบอยู่มากครับ นอกจากรูปท้าวเวสสุวัณจะปกป้องคุ้มครองจากสิ่งชั่วร้ายต่างๆ แล้ว ยังมีผลทางโชคลาภโภคทรัพย์ด้วยครับ วันนี้ผมได้นำรูปท้าวเวสสุวัณของท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) มาให้ชมกันครับ
ชมรมพระเครื่อง “แทน ท่าพระจันทร์”



วัตถุมงคลเจ้าปู่ศรีสุทโธ รุ่นพญานาคราชฯ

พลังแห่งศรัทธาจากสาธุชนทั่วแคว้นแดนสยามต่างมุ่งไปยัง “ป่าคำ ชะโนด” เพื่อครั้งหนึ่งในชีวิตได้มากราบ สักการะขอพรจาก “พญาศรีสุทโธนาคราช” หรือ เจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช และ “นางพญา นาคิณีศรีปทุมมาวิสุทธิเทวี” หรือ เจ้าย่าศรีปทุมมา พระมเหสีเอก อันจะเป็นมิ่งมงคลแก่ชีวิต ทั้งยังมีการจัดสร้างวัตถุมงคลมากมาย เพื่อเป็นองค์แทนเจ้าปู่ฯ แม่ย่าฯ ไว้สักการบูชายังเคหสถานหรือพกพาติดตัวเพื่อความอบอุ่นใจว่ามีบารมีปกป้องคุ้มครอง

เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีการจัดสร้างวัตถุมงคลเจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช รุ่นพญานาคราชประทานทรัพย์ ประกอบด้วย รูปบูชาและเหรียญ โดยแบ่งเป็น “พระบูชาปิดทองแท้” ความสูง 75 ซ.ม., “พระชุด” : พระบูชา เหรียญทอง 22 กรัม เหรียญเงิน เหรียญนวโลหะ เหรียญสองกษัตริย์ เหรียญอัลปาก้า เหรียญทองเหลือง และเหรียญทองแดง รวม 7 รายการ สร้าง 19 ชุด และแยก “เหรียญเดี่ยว” คือเหรียญทองคำ หนัก 22 กรัม, เหรียญเงินและเหรียญนวโลหะ สร้างชนิดละ 108 เหรียญ, เหรียญสองกษัตริย์ สร้าง 999 เหรียญ, เหรียญอัลปาก้า ทองเหลือง และทองแดง สร้างชนิดละ 9,999 องค์ ทุกองค์มีเลขและโค้ดกำกับ

ประกอบพิธีบวงสรวงพุทธาเทวาภิเษก ณ วังนาคินทร์คำชะโนด ในวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นวันหยุด จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไหว้ “เจ้าปู่ศรีสุทโธและเจ้าย่าศรีปทุมมา” จำนวนนับหมื่น ในระหว่างประกอบพิธีได้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์มากมาย จนผู้ร่วมงานและผู้คนในบริเวณโดยรอบต่างตื่นตะลึง …
 
ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ข้างสะพานเข้าไปในคำชะโนด ซึ่งจัดเป็นปะรำพิธีบวงสรวงพุทธาเทวาภิเษก โดยมีนายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระมงคลสุธี (หลวงพ่อแขก) วัดสุนทรประดิษฐ์ จ.พิษณุโลก เป็นเจ้าพิธีและประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมพระเกจิผู้ทรงคุณสายพญานาคจากอุดรธานีและภาคอีสานหลายรูป

นับเป็นพิธีที่สมบูรณ์และยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา … ขณะที่หลวงพ่อแขกกำลังจุดเทียนชัยตามมงคลฤกษ์เวลา 11.00 น.นั้น บนท้องฟ้าได้เกิดปรากฏการณ์ “พระอาทิตย์ทรงกลด” อากาศที่ร้อนอบอ้าวกลับมีลมพัดผ่าน เป็นที่น่าอัศจรรย์ จนได้ยินเสียง “สาธุๆ” ดังมาจากทั่วบริเวณ และหลายๆ คนก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “พ่อปู่ศรีสุทโธ”

ความอัศจรรย์ครั้งที่ 2 ยิ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจ เมื่อเทียนชัยที่จุดนั้นค่อยๆ หลอมละลายแปรสภาพเป็นรูป “พญานาค” อย่างชัดเจน … ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะเห็นจากสายตาทุกคู่ของผู้เข้าร่วมพิธีมากมาย ทั้งผู้มาสักการะอีกนับหมื่นคน ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้มีให้เห็นกันบ่อยครั้ง สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาเพิ่มพูน อีกสิ่งหนึ่งที่ถึงแม้ไม่งมงาย แต่ก็อัศจรรย์จนต้องกล่าวถึง นั่นคือตั้งแต่เริ่มกำหนดวันพุทธาเทวาภิเษก บรรดาเซียนหวยต่างนำไปเล่นกลับไปกลับมา บางคนตีเลขเพิ่มเติม “นาค” คือ หนึ่ง ปรากฏออกมาตรงๆ ถูกหวยรวยเบอร์กันถ้วนทั่ว เห็นได้จาก “ไข่” หนึ่งแสนฟอง ที่นำมาแก้บนจากการถูกหวย 60 ล้านบาท

จากเหตุอัศจรรย์ต่างๆ ใน “วันบวงสรวงพุทธา เทวาภิเษก” ทำให้มั่นใจได้ว่า วัตถุมงคลเจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช แห่งคำชะโนด รุ่นพญานาคราชประทานทรัพย์นี้ “เจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช” ทรงร่วมรับรู้และทรงเมตตาประทานพรอันประเสริฐแก่ผู้สักการะอย่างแน่นอน ประการสำคัญ!! สำหรับผู้ที่ สั่งจองบูชาทุกเหรียญ จะได้รับหนังสือ “วังนาคินทร์คำชะโนด…เปิดตำนานลี้ลับประตูวังบาดาล” ที่รวบรวมประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับพญานาค, พญาศรีสุทโธนาคราชแห่งวังนาคินทร์คำชะโนด และสถานที่ต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับพญานาค มูลค่า 499 บาท ฟรี 1 เล่ม เพื่อเป็นวิทยาทานเก็บรักษาตำนานต่างๆ สู่รุ่นลูกหลานสืบไป
คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง ราม วัชรประดิษฐ์



เจ้าปู่ศรีสุทโธ-เจ้าย่าศรีปทุมมา รุ่นนาคราชประทานทรัพย์

“พิพิธภัณฑ์บ้านบุญบวงสรวง” ถนนลาดพร้าว ซอย 31 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์หนึ่งเดียวในประเทศไทย งานศิลปะที่หลากหลาย งานศิลปะการถ่ายภาพ งานจิตร กรรมโดยศิลปินชื่อดัง และงานประติมากรรมต่างๆ

โดยชั้น 1 เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์นาคานาคราช, ชั้น 2 เป็นพิพิธภัณฑ์พระ พิฆเนศวร, ชั้น 3 เป็นพิพิธภัณฑ์พระคณาจารย์ และชั้น 4 เป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จาก 10 ประเทศ และพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง 77 จังหวัด

ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ “ทศพล จังพานิชย์กุล” นักเขียนชื่อดัง ช่างภาพรางวัลพระราชทานปี 2542 และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพญานาคคนแรกๆ ของประเทศ โดยแรงบันดาลใจในการสร้างเกิดขึ้นหลังจากได้รับรางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2542

จึงนำความรู้ความสามารถในการถ่ายภาพวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อจัดพิมพ์เป็นเล่ม

หลังจากถ่ายภาพเสร็จแล้วได้บูชาพระพุทธรูป (จำลอง) ขนาด 9 นิ้วของวัดนั้นๆ มาด้วย กลายเป็นการสะสมพระพุทธรูปต่างๆ ตลอดมาจนมีจำนวนมาก จึงเกิดแนวคิดเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ผู้ที่มีความเคารพศรัทธามาเยี่ยมชมและสักการบูชาขอพรจากพระพุทธรูปองค์ต่างๆ นับเป็นการสืบสานงานพุทธศิลป์ และเป็นศูนย์รวมความศรัทธาเลื่อมใสที่งดงามอลังการ โดยเปิดให้ชมฟรี ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น.

สืบเนื่องจากปัจจุบันมีกระแสความนิยมศรัทธา ต่างมุ่งไปยัง “ป่าคำชะโนด” เพื่อครั้งหนึ่งในชีวิตได้มากราบสักการะขอพรจาก “พญาศรีสุทโธนาคราช” หรือ เจ้าปู่ศรีสุทโธนาคราช และ “นางพญานาคิณีศรีปทุมมา วิสุทธิเทวี” หรือ เจ้าย่าศรีปทุมมา พระมเหสีเอก อันจะเป็นมิ่งมงคลแก่ชีวิต ทั้งยังมีการจัดสร้างวัตถุมงคลมากมาย เพื่อเป็นองค์แทนเจ้าปู่ฯ แม่ย่าฯ ไว้สักการบูชายังเคหสถาน หรือพกพาติดตัวเพื่อความอบอุ่นใจว่ามีบารมีปกป้องคุ้มครอง

พิพิธภัณฑ์จึงจัดสร้างวัตถุมงคล “รุ่นนาคราชประทานทรัพย์” เพื่อให้ผู้ที่เคารพศรัทธาพญานาคบูชาเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ซึ่งเชื่อกันว่าผู้ที่บูชาพญานาคจะมีโชคลาภ มีความสุข ธุรกิจการค้าการงานเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้น

รูปแบบพญามุจลินท์นาคราช เนื้อโลหะเพนต์สี, พญาศรีสุทโธนาคราช พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก เนื้อไฟเบอร์ตัน ล็อกเกตรุ่นแรก เจ้าปู่ศรีสุทโธ-เจ้าย่าศรีปทุมมา ขนาดใหญ่สูง 4 ซ.ม. ด้านหลังบรรจุมวลสารสำคัญที่หายาก เช่น เทียนชัยพิธีใหญ่สนามหลวง หงอนพญานาค และข้าวสารหิน

พิธีพุทธา-เทวาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มิ.ย.2560 เวลา 15.26 น. ซึ่งเป็นมหัทธโนฤกษ์ ทางโหราศาสตร์อินเดีย (ภารตะ) เรียกว่า “สมบัติ มหัทธโนฤกษ์” แปลว่า “คนมั่งมี ผู้รุ่งเรือง เศรษฐี” เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับการมงคลพิธีสำคัญต่างๆ ที่ต้องการความเจริญรุ่งเรือง มีเงินทองทรัพย์สินมากมาย

พระคณาจารย์ชื่อดังและปู่ฤๅษีร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต พระราชพัฒนโสภณ (หลวงพ่อเณร ญาณวินโย) วัดทุ่งเศรษฐี เขตประเวศ กรุงเทพฯ ประธานจุดเทียนชัย พระมงคล วโรปการ (หลวงพ่อชำนาญ อุตตมปัญโญ) ดับเทียนชัย อธิษฐานจิตโดย หลวงปู่ชัยวิทย์ ปวโร สำนักสงฆ์อุดมปู่นาคาย่านาคี อ.เมือง จ.ชัยภูมิ, พระครูสุนทรคุณธาดา (หลวงพ่อทองกลึง สุนทโร) วัดเจดีย์หอย อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี, หลวงพ่อบุญอุ้ม อาภัสสโร วัดป่าโนนแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม และ ปู่ฤๅษีนพเก้าแก้วมณี อาศรมบ่อทอง อ.ศรี สงคราม จ.นครพนม
  คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง ราม วัชรประดิษฐ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2560 16:53:52 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: 11 มกราคม 2561 11:11:54 »




แมงภู่
ของเก่าจากหนังสือคง เข้ม ข่าม ขลัง เครื่องรางล้านนา  

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เครื่องรางของขลังเป็นเรื่องของศรัทธาและความเชื่อ โดยเฉพาะเครื่องรางของขลังนั้นมีความเชื่อด้วยกันเกือบทุกประเทศในโลก เพียงแต่ในบางประเทศอาจจะไม่ค่อยได้พูดถึงกันหรืออาจจะเหลือน้อยลง แต่ความจริงก็มีด้วยกันทั้งนั้น วันนี้ผมจะพูดถึงเครื่องรางของขลังที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้านเรา แม้กระทั่งในประเทศเราเองทางตอนเหนือที่มีเขตแดนติดต่อกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีชาติพันธุ์ที่หลากหลายอาศัยอยู่ในประเทศไทย

เครื่องรางของขลังที่ผมจะพูดถึงก็คือแมลงภู่ ครับบางท่านอาจจะงงๆ อยู่ เมื่อหลายปีก่อนผมได้พบกับเครื่องรางชนิดหนึ่งทำจากไม้แกะเป็นรูปแมลงภู่ ซึ่งแกะได้สวยงามมากและดูแล้วมีความเก่าก็สนใจ จึงสอบถามเจ้าของว่าคืออะไร เจ้าของก็บอกว่าเป็นเครื่องรางทางล้านนาไว้คุ้มครองป้องกันตัว เขาก็บอกได้เพียงเท่านี้ ผมเกิดความสนใจจึงค้นหาเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องรางแมลงภู่จนได้เขียนไปสอบถามท่านอาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ท่านก็กรุณาบอกเล่าถึงเรื่องราวอย่างละเอียด ผมก็ยิ่งสนใจมากขึ้นและก็หาเก็บไว้เช่นกัน

เครื่องรางรูปแมลงภู่คนทางเหนือมักเรียกว่าแมงภู่ บ้างก็ออกเสียงเป็นแมงปู้ หรือแมงภู่คำบ้าง ครับก็คือชนิดเดียวกัน จากความรู้ที่ได้จากท่านอาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ก็พอจะเล่าต่อได้ว่า แมงภู่เป็นเครื่องรางที่ชาวไทใหญ่นิยมมีติดตัวติดเรือนไว้คุ้มครองป้องกันภัย หรือแม้กระทั่งการทำมาค้าขายให้โชคลาภ ส่วนมากชาวไทใหญ่จะเชื่อถือกันมาก นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญก็ยังเชื่อถือเช่นกัน

เด็กชาวไทใหญ่พ่อแม่ก็จะผูกแมงภู่ห้อยคอเด็กไว้คุ้มครอง พ่อค้าแม่ขายก็มักนำแมงภู่พกติดตัวติดร้านค้าไว้เพื่อช่วยให้ค้าขายดี ท่านอาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง เล่าว่ายังเคยเห็นชาวไทใหญ่ ชาวกะเหรี่ยง และทหารว้าแดงบางคนก็ห้อยแมงภู่ติดตัว เท่าที่สอบถามท่านอาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ซึ่งท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องราวต่างๆ พร้อมขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมทางล้านนาได้เล่าให้ฟังว่า การสร้างแมงภู่นั้นผู้สร้างมักจะเป็นพระภิกษุผู้เรืองเวท หรือพ่อครูฆราวาสผู้ขมังเวท ส่วนมากจะสร้างจากไม้ประดู่ดุมเกวียนหรือลูกสะบ้าที่แกะจากงานั้นพบน้อย ภายในตัวแมงภู่จะบรรจุปรอทหรือเข็ม มีฤทธิ์ทางป้องกัน การเตือนภัย ไล่สิ่งชั่วร้าย ทำให้คนที่คิดร้ายกลับใจ บ้านเรือนของชาวไทใหญ่จะนำแมงภู่ตั้งไว้บนหิ้งเพื่อคุ้มครองป้องกันบ้านเรือนจากภัยต่างๆ ตลอดจนโจรผู้ร้าย ส่วนที่พกติดตัวไว้เพื่อคุ้มครองป้องกันตัวและมีโชคลาภ ทำมาค้าขายคล่อง

ครับเครื่องรางของขลังแมงภู่นี้ในเมืองไทยเราแถบถิ่นล้านนาก็เชื่อถือและมีการสร้างอยู่บ้างเช่นกัน ส่วนแมงภู่เก่าที่มีขายกันอยู่ทางเชียงรายแถบแม่สายก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ก็เป็นของที่นำมาจากทางประเทศพม่าบ้าง ทำในเมืองไทยบ้าง มีทั้งมีพิธีกรรมปลุกเสกบ้าง ไม่มีบ้าง เวลาจะเช่าหาก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนหน่อย เพราะบางทีก็เก่าไม่จริง ทำเป็นเก่าก็มีครับ

ผมเองก็ได้แมงภู่เก่าจากเพื่อนคนหนึ่ง มีที่เป็นงาแกะและเป็นไม้แกะอย่างละหนึ่งตัว ส่วนที่เป็นของใหม่ที่มีพิธีกรรมปลุกเสกแน่ๆ ก็มีไว้บ้าง คือของครูบาเลิศ วัดทุ่งม่านใต้ ครูบาบุญยัง วัดห้วยน้ำอุ่น และของครูบาอู่วิจายะ ซึ่งท่านเป็นพระสงฆ์ชาวไทใหญ่อยู่ที่เชียงตุง ทั้ง 3 พระอาจารย์เป็นของที่สร้างใหม่นะครับ แต่ก็มีพิธีกรรมปลุกเสกแน่นอน ศิลปะการแกะสวยงามมากครับ เหมือนตัวแมงภู่จริงๆ เลย น่ารักดีครับ

ก็เล่าเรื่องเครื่องรางของขลังของทางล้านนาตามประสาคนชอบเรื่องเครื่องรางของขลังให้อ่านกันเล่นๆ นะครับ

ในวันนี้ผมขอนำรูปแมงภู่ซึ่งเป็นของเก่าจากหนังสือคง เข้ม ข่าม ขลัง เครื่องรางล้านนา ของอาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง มาให้ชมครับ


ชมรมพระเครื่อง
 แทน ท่าพระจันทร์
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #13 เมื่อ: 10 พฤษภาคม 2561 12:03:11 »


รูปตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เรื่องเครื่องรางของขลังประเภทตะกรุดยุคเก่าของจังหวัดพิจิตร และเป็นต้นตำรับของตะกรุดเมืองพิจิตร ก็คือตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า สำหรับท่านที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงพระเครื่องก็อาจจะไม่ค่อยรู้จัก เนื่องจากเป็นพระยุคเก่ามากๆ ประวัติของท่านก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้ เพียงแต่มีการบอกเล่ากันต่อมา และหลวงพ่อโพธิ์เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ที่มีคนเคารพนับถือกันมาก เรามารู้จักกับตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า กันนะครับ

หลวงพ่อโพธิ์เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าแก่ของจังหวัดพิจิตร จากการสืบค้นจาก คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ได้รับคำบอกเล่าจากพ่อแม่เล่าต่อกันมาว่า ท่านเป็นพระมอญ เดินธุดงค์มาจากเมืองปทุมธานี เมื่อมาถึงตำบลบางคลาน ท่านก็สร้างกุฏิมุงด้วยหญ้าคาเล็กๆ อยู่ริมน้ำ ที่บริเวณนี้เป็นคุ้งน้ำและมีน้ำวน และมักจะมีหมาเน่าที่ลอยมาตามน้ำก็มักจะลอยมาวนติดอยู่ที่คุ้งน้ำแห่งนี้ บางครั้งก็มีจำนวนมากนับสิบตัว จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกบริเวณแถบนี้ในสมัยก่อนว่า "วังหมาเน่า"

สมัยก่อนเป็นป่าหญ้าคาเงียบสงบ ไม่มีผู้คน หลวงพ่อโพธิ์จึงปักหลักเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่บริเวณนี้ ท่านมิได้สนใจกับกลิ่นเหม็นจากหมาเน่า ตัดกลิ่นรบกวนจนหมดสิ้น มีคำเล่าลือกันว่าในหน้าแล้งมักจะเกิดไฟไหม้ป่าหญ้าคาแถวกุฏิท่านบ่อยๆ ท่านก็นิ่งเฉย นั่งสมาธิสงบอยู่ในกุฏิ เมื่อไฟลามมาถึงก็จะดับลงหรือไม่ก็เปลี่ยนทิศไปทางอื่น กุฏิของท่านเป็นไม้เตี้ยๆ มุงหญ้าคาซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างดี แต่ไฟก็ไม่เคยไหม้ลามไปถึงกุฏิท่านเลย ชาวบ้านในสมัยนั้นเคารพเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อโพธิ์มาก แม้แต่หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ซึ่งจำพรรษาอยู่ไม่ไกลกันนักก็มาศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อโพธิ์

หลังจากหลวงพ่อโพธิ์มรณภาพแล้ว บรรดาญาติทางเมืองปทุมธานีได้ขึ้นมาขนข้าวของของท่านกลับไปจนหมด จึงแทบไม่เหลือหลักฐานใดๆ ไว้เลย ส่วนวัดวังหมาเน่าต่อมาถึงปี พ.ศ.2482 ก็ได้รับจัดตั้งเป็นวัดอย่างเป็นทางการ มีชื่อใหม่ว่า "วัดโพธิ์ศรี" โดยนำชื่อของหลวงพ่อโพธิ์มาตั้งเป็นชื่อวัด ในส่วนของลูกศิษย์ของท่านก็ได้นำตำราเก่าของหลวงพ่อโพธิ์ที่ตนเองเก็บรักษาไว้กลับมาเก็บไว้ที่วัด ทำให้ยังพอมีตำราเก่าของหลวงพ่อโพธิ์หลงเหลืออยู่ที่วัดโพธิ์ศรีในปัจจุบัน จากการรวบรวมสืบค้นประวัติของท่านและอายุตอนที่ท่านมรณภาพ จึงสันนิษฐานได้ว่าหลวงพ่อโพธิ์น่าจะเกิดในราวปี พ.ศ.2314 มรณภาพในราวปี พ.ศ.2416 สิริอายุราว 102 ปี พรรษาที่ 82

วัตถุมงคลของหลวงพ่อโพธิ์เท่าที่ทราบก็คือตะกรุดโทน ซึ่งจากผู้ที่ครอบครองโดยได้รับมรดกตกทอดมานั้น แกนกลางของตะกรุดจะเป็นตะกรุดทองแดงแล้วหุ้มด้วยแผ่นตะกรุดตะกั่วอีก และมีหลายชั้น ซึ่งอาจจะเป็นโลหะทองแดงหรือโลหะอื่นสลับกันไปหลายชั้นก็มี ตะกรุดของท่านจึงมักจะมีขนาดหนาใหญ่ทั้งสิ้น ส่วนความยาวก็มีตั้งแต่ 4 นิ้วไปจนถึง 6 นิ้ว เท่าที่พบส่วนใหญ่มักมีทั้งลงรักถักเชือก และไม่ได้ถักก็มี

พุทธคุณนั้นเด่นทางอยู่ยงคงกระพันและแคล้วคลาด หลวงพ่อเปรื่อง อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ก็มีตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์เก็บไว้อยู่ดอกหนึ่ง เป็นตะกรุดที่ตกทอดมาจากผู้ที่โดนจระเข้งับลากลงในแม่น้ำ แต่กัดไม่เข้า และแกก็ได้ใช้มีดแทงเข้าที่ตาจระเข้จึงรอดมาได้ นอกจากนี้ก็มีผู้ที่ถูกยิงมาก็มากที่ไม่เข้า ตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์จะมีจำนวนน้อย เนื่องจากเมื่อมีคนไปขอท่านก็จะให้เตรียมวัสดุมาเอง แล้วท่านจึงลงจารอักขระ และปลุกเสกของท่านเอง แล้วจึงเอามาคืนให้แก่เจ้าของในภายหลัง

ตะกรุดของจังหวัดพิจิตรในยุคต่อมาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้สร้างตามตำรับของหลวงพ่อโพธิ์ ก็เริ่มมาตั้งแต่ตะกรุดหลวงพ่อเงิน หลวงพ่อพิธ หลวงพ่อเตียง เป็นต้น ซึ่งเป็นตะกรุดที่โด่งดังมากในปัจจุบันและหายาก ในส่วนตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์นั้นหายากมากๆ ครับ แต่เท่าที่เล่ามาก็เพื่อพอให้ทราบว่าตะกรุดคู่ชีวิต ตะกรุดสายพิจิตรนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และในวันนี้ผมก็ได้นำรูปตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า จากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์

บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 07 กรกฎาคม 2561 13:05:51 »



หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน

ชุดเบญจภาคีเครื่องรางของขลังองค์สุดท้าย คือ หนุมานหลวงพ่อสุ่น อันถือเป็นต้นตำนานการสร้าง "หนุมาน" ที่ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ มีอานุภาพคุ้มครองป้องกันภัย คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม เป็นที่ปรากฏแก่ผู้บูชา จนได้รับสมญา "ขุนกระบี่วานร ฤทธิเกริกไกร หนึ่งในสยาม" ถึงขนาดมีคำเปรยว่า "เขี้ยวเสือต้องยกให้หลวงพ่อปาน ส่วนหนุมานก็ต้องหลวงพ่อสุ่น" ซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันและแสวงหาอย่างสูงของบรรดานักนิยมสะสมเครื่องรางของขลัง แต่จะหาของแท้ได้ยากยิ่งนัก

หลวงพ่อสุ่น จันทโชติ หรือพระอธิการสุ่น วัดศาลากุน เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เดิมชื่อ "สุ่น" เป็นชาวเกาะเกร็ดโดยกำเนิด แต่ไม่มีการบันทึกประวัติของท่านเก็บไว้ ดูจากปีที่มรณภาพและสิริอายุ ประมาณการว่าน่าจะเกิดในราวปี พ.ศ.2403-2404 เมื่ออุปสมบทได้ฉายา "จันทโชติ"

ย้อนไปเมื่อครั้งยังเป็นพระลูกวัด ปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณกุฏิ 2 ชนิด คือ "ต้นรักซ้อนและต้นพุดซ้อน" และหมั่นดูแลรดน้ำ โดยนำน้ำสะอาดมาทำเป็นน้ำมนต์เพื่อรดต้นไม้ทั้งสองทุกครั้งจนเจริญเติบโต กระทั่งเมื่อท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงเข้าใจกระจ่างว่า เหตุใดท่านจึงให้ความสนใจดูแลต้นไม้ทั้งสองนี้เป็นพิเศษ เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตได้ที่ ท่านจึงดูฤกษ์ยามทำพิธีพลีและสังเวยก่อนแล้วลงมือขุดด้วยตัวเอง

จากนั้นนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วให้ช่างแกะเป็นรูปหนุมาน รวบรวมห่อด้วยผ้าขาวใส่บาตรเพื่อปลุกเสกในกุฏิ จนถึงวันเสาร์ซึ่งถือว่าเป็นวันแรง ท่านก็จะเข้าไปปลุกเสกในอุโบสถ โดยจะนั่งบริกรรมบนศาสตราวุธต่างๆ ที่นำมากองรวมกัน หนุมานจะกระโดดโลดเต้นอยู่ในบาตรจนท่านเห็นว่าขึ้นแล้ว จึงเก็บไว้แจกจ่ายบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้ถวายปัจจัยในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด นอกจากหนุมานแกะที่ทำจากต้นรักซ้อนและต้นพุดซ้อนแล้ว ท่านยังแกะหนุมานจาก "งาช้าง" ด้วย แต่สร้างในรุ่นหลัง ไม่ค่อยได้พบเห็นกันนัก และสนนราคาค่อนข้างสูงมาก

หนุมานแกะหลวงพ่อสุ่น แบ่งได้เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าโขน และพิมพ์หน้ากระบี่ "พิมพ์หน้าโขน" นั้น เรียกกันว่า "หนุมานทรงเครื่อง" คือจะเก็บรายละเอียดต่างๆ จนครบ มีความสวยงามและแลดูเข้มขลังยิ่งนัก ส่วน "พิมพ์หน้ากระบี่" จะเป็นแบบเรียบง่าย ไม่ค่อยมีเครื่องเครา แต่ก็คงความเข้มขลังงดงามในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยมีคาถากำกับหนุมาน เริ่มด้วยตั้งนะโม 3 จบ แล้วว่า "นะมัง เพลิง โมมัง ปากกระบอก ยะ มิให้ออก อุดธังโธอุด ธังอัด อะสังวิสุ โรปุสะพูพะ มะอะอุ โอมยะพุทธา ทะโยสตรี สตรี นิสังโห"

มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475 โดย คณะราษฎร ซึ่งนำโดย พ.อ.พระยาพหลพลหยุหเสนา ท่านได้ไปหาหลวงพ่อสุ่น หลวงพ่อก็ให้ "หนุมานหน้าโขน" มาตัวหนึ่ง พร้อมบอกในเชิงว่า "ผ่านไปสักพักเรื่องเลวร้ายก็ผ่านไปด้วยดี" แล้วก็เป็นดังที่หลวงพ่อกล่าว กิตติศัพท์และชื่อเสียงของ "หนุมานหลวงพ่อสุ่น" จึงขจรไกลนับแต่นั้นมา

ณ ปัจจุบัน จะหาดูหาเช่า "หนุมานแกะหลวงพ่อสุ่น" นั้นยากยิ่งทุกเนื้อทุกพิมพ์ ด้วยผู้ที่มีไว้ต่างหวงแหน อีกทั้งสนนราคาสูงมาก นอกจากนี้ยังมีการทำเทียมเลียนแบบสูงอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ถ้าเป็น "เนื้อไม้" ให้นึกถึงสภาพไม้ที่ตากแห้งที่นำมาแกะ เมื่อผ่านกาลเวลาเนิ่นนาน เนื้อจะแห้งสนิทและมีน้ำหนักเบา ถ้าผ่านการสัมผัสจะฉ่ำมัน แต่ตามซอกยังคงแห้งอยู่ ส่วน "เนื้องา" ให้ดูความเก่าของงาเป็นสำคัญ จะออกเป็นสีเหลืองธรรมชาติ ถ้าผ่านการสัมผัสจะฉ่ำมัน สีดูใสและเข้มกว่าส่วนที่ไม่ผ่านการสัมผัส เวลาคนจะทำงาให้เก่าเขาจะเอาด่างทับทิมมาผสมน้ำแช่งาลงไป แล้วนำขึ้นมาขัดจะปรากฏคราบความเก่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ต้องสังเกตให้ดีให้เป็น จึงจะได้ของแท้ครับผม

พันธุ์แท้พระเครื่อง
 ราม วัชรประดิษฐ์
 



เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน

ถ้ากล่าวถึง "เขี้ยวเสือ" ทุกคนต้องนึกถึง "เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน" ด้วยมีกิตติศัพท์เลืองลือเป็นที่กล่าวขวัญมาแต่อดีต ทั้งเมตตามหานิยม โชคลาภและมหาอำนาจ และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน "ชุดเบญจภาคีเครื่องรางของขลัง" ของไทย

หลวงพ่อปานเป็นชาวคลองด่านโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2370 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

บรรพชาเมื่ออายุ 15 ปี ณ สำนักวัดอรุณราชวราราม และอุปสมบทโดยมี พระศรีศากยมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระอยู่หลายปี จึงลาพระอุปัชฌาย์กลับภูมิลำเนาจำพรรษาที่วัดบางเหี้ย

มีความสนใจด้านวิปัสสนากรรมฐานและไสยศาสตร์ต่างๆ เป็นอย่างมาก เมื่อออกพรรษาก็จะออกธุดงค์แสวงหาความรู้และฝึกวิปัสสนากรรมฐานให้แก่กล้า ท่านได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจากพระเกจิชื่อดังหลายรูปจนเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะหลวงปู่แตง วัดอ่างศิลา จ.ชลบุรี ผู้เข้มขลังด้านวิปัสสนาธุระและไสยเวท ก่อนกลับสู่วัดบางเหี้ย และขึ้นเป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา

ตัวอย่างแสดงถึงกิตติศัพท์ของ "เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน" อันเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว มีอาทิ

เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จวางศิลาฤกษ์เขื่อน คนเก่าๆ เล่ากันว่า หลวงพ่อปานนำ "เขี้ยวเสือ" ใส่พานถวาย 5 ตัว แต่เณรที่ถือพานเกิดทำตกน้ำไปหนึ่งตัว ท่านจึงให้เอาเนื้อหมูผูกเชือกหย่อนลงน้ำ บริกรรมพระคาถาจนเขี้ยวเสือติดชิ้นหมูขึ้นมาต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์ทรงศรัทธาหลวงพ่อปานมาก โปรดให้เป็นที่ "พระครูนิโรธสมาจารย์" และทรงเรียกเป็นส่วนพระองค์ว่า "พระครูปาน" มีปรากฏในพระราชหัตถเลขาว่า

"พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้เป็นที่นิยมกันในทางวิปัสสนาและธุดงควัตร คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากนั้นคือ รูปเสือแกะด้วยเขี้ยวเสือเล็กบ้างใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสกต้องใช้เนื้อหมู เสกเป่าไปยังไรเสือนั้นกระโดดลงไปยังเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อย ในการ ที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีหนีไปอยู่ป่าช้าที่พระบาท หรือหนีขึ้นไปอยู่เสียที่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามขึ้นไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ในการทำอะไรๆ ขาย มีแกะรูปเสือ เป็นต้น ถ้าปกติราคาตัวละบาท เวลาแย่งชิงกันก็ขึ้นไปตัวละ 3 บาท 6 บาท ก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครู ปลุกเสก สังเกตดูอัชฌาสัยก็เป็นอย่างคนแก่ใจดี กิริยาเรียบร้อย อายุ 70 ปีแล้ว ยัง ไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคน พูดน้อย"

เขี้ยวเสือของหลวงพ่อปานนั้นท่านจะใช้ "เขี้ยวเสือโคร่ง" เพียงอย่างเดียว แล้วให้ช่างแกะที่เป็นลูกศิษย์ซึ่งมีด้วยกัน 5 คน แต่ละคนก็จะแกะไม่เหมือนกันซะทีเดียว และมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก นั่งปากเม้มหุบสนิท ตากลม ขาหน้าทั้งสองใหญ่ เล็บจิกลงบนพื้น ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็จะมีช่างแกะคอยไว้ เวลาหลวงพ่อปานไปธุดงค์ก็จะให้ปลุกเสก หลวงพ่อปานท่านจะลงเหล็กจารด้วยตัวเอง ที่สำคัญ "รอยจารใต้ฐาน" ท่านมักจะจารเป็น "นะขมวด" ที่เรียกกันว่า "ยันต์กอหญ้า" และตัว "ฤ ฤา" จากนั้นปลุกเสกด้วย "พระคาถาหัวใจเสือโคร่ง"

จากรูปทรงและการจารอักขระ จึงกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่กล่าวติดปากกันว่า "เสือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์ กอหญ้า" ซึ่งมีทั้งเสือหุบปาก และเสืออ้าปาก เขี้ยวต้องกลวง มีทั้งแบบซีกและเต็มเขี้ยว เขี้ยวหนึ่งอาจแบ่งทำได้ถึง 5 ตัว ตัวเล็กๆ เรียก "เสือสาลิกา" เป็นปลายเขี้ยว ส่วนใหญ่พบว่าเป็นซีก คนโบราณนิยมเลี้ยงไว้ในตลับสีผึ้งทาปาก

การพิจารณาต้องดูความเก่าของเขี้ยวเสือให้เป็น คือ ต้องแห้งเป็นธรรมชาติ วรรณะเหลืองใส ผิวเป็นมันวาวไม่ด้าน มีรอยหดเหี่ยวโบราณเรียก "เสือขึ้นขน" เห็นเป็นเสี้ยนเล็กๆ อาจมีรอยแตกอ้า หากผ่านการใช้สียิ่งเข้ม และรูเขี้ยวเสือจะเป็นวงรีหรือกลมค่อนไปทางรีครับผม 

พันธุ์แท้พระเครื่อง
 ราม วัชรประดิษฐ์
 





ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ

"ปลัดขิก" หนึ่งในเครื่องรางของขลังยอดนิยมของคนไทยมาแต่โบร่ำโบราณ แต่ที่ถือเป็นสุดยอดของเมืองไทย เป็น 1 ใน "ชุดเบญจภาคีเครื่องรางของขลัง" ต้องยกให้ ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

พระครูนันทธีราจารย์ หรือหลวงพ่อเหลือ นันทสาโร นามเดิมว่า เหลือ เป็นชาวฉะเชิงเทราโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2405 ที่ ต.บางเล่า อ.บางคล้า

ปี พ.ศ.2428 เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสาวชะโงก อ.บางคล้า โดยมี พระอาจารย์คง วัดใหม่บางคล้า เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการขิก วัดสาวชะโงก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์โต วัดสาวชะโงก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "นันทสาโร"

ศึกษาอักษรขอม-บาลี และวิปัสสนากรรมฐาน จากพระอธิการขิก พระกรรมวาจารย์ผู้มีอาคมเข้มขลังจนแตกฉาน จากนั้นเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์กับพระเกจิผู้ทรงคุณอีกหลายสำนัก เช่น หลวงพ่อดำ วัดกุฎี จ.ปราจีนบุรี และหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี เป็นต้น

ปี พ.ศ.2461 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงก และในปี พ.ศ.2474 ได้เป็น เจ้าอาวาสวัด ท่านปกครองและพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่องจนวัดเจริญรุ่งเรืองเป็นที่เชิดหน้าชูตา ทั้งยังพัฒนาด้านการศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ได้สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่วัดสาวชะโงก ชื่อ "โรงเรียนวัดสาวชะโงก (นันทประชาสรรค์)" ซึ่งเป็นถาวรวัตถุชิ้นสุดท้าย ก่อนมรณภาพในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2488 ซึ่งทางวัดได้สร้าง "พระเจดีย์" บรรจุอัฐิไว้เป็นอนุสรณ์

หลวงพ่อเหลือนับเป็นพระเกจิที่มีคุณวิเศษในหลายด้าน ท่านมักได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีปลุกเสกใหญ่ๆ เสมอ นอกจากนี้ เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน ท่านก็เป็น 1 ในพระเกจิที่สร้าง"ผ้ายันต์แดง"แจกทหารในสงคราม ปรากฏว่ายิงแทงไม่เข้า แต่ที่โดดเด่นเป็นที่กล่าวถึงก็คือ "ปลัดขิก" ที่ว่ากันว่าพุทธานุภาพฉมังนัก ทั้งคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ป้องกันภูตผีปีศาจ ขับเสนียดจัญไร และคุณไสยต่างๆ

ปลัดขิกของหลวงพ่อเหลือ ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้คูน นอกนั้นก็จะเป็นไม้ชะอมและไม้แก่นคูน โดยท่านจะทำน้ำมนต์แล้วราดลงไปบนไม้ นำไปตากให้แห้งแล้วจึงนำมาแกะเป็น "ปลัดขิก" ในยุคแรกๆ ท่านทำเองทั้งหมด แต่ต่อมาท่านให้ลูกศิษย์เหลาปลัดขิกให้ แล้วท่านจึงลงพระคาถาหัวใจโจร "กันหะ เนหะ" ตรงกลางตัวปลัดขิก ด้านข้างซ้าย-ขวาลง "อุมะอุมิ" และ "อิติ กัตตา" แล้วจารอักขระตัว "อุ" ที่หัวปลัดขิก โดยส่วนใหญ่จะจาร 3 อุ แต่ก็มี 1 อุ บ้าง ในกรณีที่ปลัดขิกตัวเล็กมาก และกรณีพิเศษ "วันไหว้ครูปลัดขิก" ท่านจะลงทั้งหมด 5 อุ จากนั้นปลุกเสกในยามดึกสงัด การปลุกเสกของท่านนั้นมีเคล็ดสำคัญ คือ "ต้องปลุกเสก จนปลัดขิกดิ้นได้หรือกระดุกกระดิกได้" โดยท่านจะใส่ปลัดขิก ไว้ในบาตร แล้วบริกรรมคาถาจนกว่าปลัดขิกจะขึ้นมากระโดดโลดเต้นว่ายวนอยู่ในบาตร ตัวไหนมีกำลังดีแล้วก็จะกระโดดออกมานอกบาตรถือเป็นอันใช้ได้

ตัวอย่างตำนานที่เล่าขานมาจนทุกวันนี้ คือ มีหญิงสาวคนหนึ่งพายเรือมาขอของดีจากหลวงพ่อ ท่านได้หยิบปลัดห่อกระดาษไว้มอบให้ แล้วสั่งว่า "ถึงบ้านแล้วค่อยเปิดออก" เมื่อหญิงสาวพายเรือมาถึงกลางทาง ทนความอยากรู้ไม่ได้ จึงหยิบมาเปิดดู พอเห็นว่าเป็นปลัดขิก ก็คิดในใจว่าหลวงพ่อให้ของพิเรนทร์อย่างนี้มาได้อย่างไร จึงเกิดโมโหขว้างทิ้งน้ำ

พอพายเรือถึงท่าหน้าบ้าน ได้ยินเสียง จ๋อมๆ มาจากข้างหลัง หันไปมองเห็นปลัดขิกว่ายทวนน้ำตามมา ก็เกิดปีติขนลุกซู่ แล้วช้อนปลัดขิกขึ้นมา นำไปสักการ บูชาและหวงแหนยิ่งครับผม

พันธุ์แท้พระเครื่อง
 ราม วัชรประดิษฐ์
 



เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง

ในบรรดา "เบี้ยแก้" ที่เกจิอาจารย์ชื่อดังมากมายนิยมสร้างกันตามสูตรโบราณเฉพาะของแต่ละท่านนั้น ที่ได้รับความนิยมยกย่องให้เป็นที่สุดแห่งเบี้ยแก้ของไทย หนึ่งใน "เบญจภาคีประเภทเครื่องรางของขลัง" ก็คือ เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ธนบุรี

ดังคำกลอนคล้องจอง ดังนี้ ... "หมากดีที่วัดหนัง ถ้าเบี้ยขลังวัดนายโรง ไม้ครูคู่วัดอินทร์ ส่วนมีดบินวัดหนองโพธิ์ พิสมรวัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง ราหูคู่วัดศีรษะทอง เเหวนอักขระต้องวัดหนองบัว ลูกเเร่ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน ทุกสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหา ติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาเเผ้วพาน"

หลวงปู่รอด เป็นชาวบ้านบางพรม เขตอำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี เมื่ออายุครบบวชอุปสมบท ณ วัดเงิน หรือวัดรัชฎาธิษฐาน ที่คลองบางพรม อันเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงทางด้านวิปัสสนากรรมฐานฝ่ายอรัญวาสี

ต่อมาย้ายมาจำพรรษาที่วัดนายโรง จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ด้วยความที่ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระระดับสูง และร่ำลือถึงคุณวิเศษทางพุทธาคมและวิทยาคม และเป็นพระคณาจารย์ในยุคสมัยเดียวกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง และอีกหลายๆ รูปที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น

เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดจะใช้วัตถุอาถรรพ์ต่างๆ เป็นองค์ประกอบ อันได้แก่ เบี้ยพู ปรอท ชันโรงใต้ดิน (เป็นสัตว์ตระกูลผึ้งนำรังมาใช้ผสมสร้าง) และแผ่นตะกั่วทุบ โดยมีขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ มากมายอันนับเป็นเคล็ดระดับตำนาน

เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกตัวหอยเบี้ยหรือเบี้ยพูที่สมบูรณ์ตามสูตรโบราณ คือ มีฟัน 32 ซี่ ตามอาการ 32 ของมนุษย์ จากนั้นตั้งศาลเพียงตา พร้อมเครื่องสังเวยบัดพลีเพื่อขอแบ่งปรอทจากวิทยาธรคนธรรพ์ในอากาศ นําใบหญ้าคาลงพาดที่ปากเบี้ย ปรอทก็จะมาจากในอากาศมีลักษณะเป็นเม็ดและจะวิ่งเข้าตัวเบี้ย 32 ตัวตามจํานวนฟันของเบี้ยแก

เมื่อปรอทเต็มก็จะกลายเป็น "หนึ่งธาตุขันธ์" แล้วจึงนําแผ่นตะกั่วมาหุ้มปิดกันปรอทวิ่งออกจากตัวเบี้ย การหุ้มตะกั่วที่ตัวเบี้ยของหลวงปู่รอดนั้น ส่วนใหญ่จะหุ้มด้วยแผ่นตะกั่วทุบทั้งลูก มีบ้างบางตัวอาจเปิดด้านหลังเบี้ยไว้ หรือบางตัวอาจไม่มีแผ่นตะกั่วหุ้มก็มี หากมีแผ่นตะกั่วหุ้มจะมีอักขระเลขยันต์เรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย และยังพบว่ายังมีที่ใช้ชันโรงใต้ดินอุดปิดปรอท หรือแม้กระทั่งใช้ผ้ายันต์ก็มีเช่นกัน

จากนั้นท่านจะปลุกเสกลงอักขระขอมโบราณที่ตัวเบี้ยด้วยพระคาถาพระเจ้า 16 พระองค์ และกํากับด้วยยันต์ตรีนิสิงเห แล้วปลุกเสกอีกครั้งจึงจะแล้วเสร็จมอบแก่ลูกศิษย์ลูกหาไว้พกติดตัว เรียกได้ว่าพุทธาคมแก่กล้าครบถ้วน ทั้งเมตตามหานิยม มหาอุตม์ คงกระพัน และแคล้วคลาดทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเสนียดจัญไร คุณไสย ยาสั่ง ฯลฯ

ดังนั้น คุณลักษณะเฉพาะที่พิเศษของ "เบี้ยแก้หลวงปู่รอด" ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณา คือ ตัวเบี้ยจะมีขนาดไล่เลี่ยกัน และหากนำเบี้ยแก้มาสั่นฟังข้างๆ หู จะมีเสียงดังคลิกเบาๆ อันเป็นเสียงของปรอทที่บรรจุไว้ภายใน นอกจากนี้ ที่ใต้ท้องเบี้ยจะต้องมีรังชัน โรงใต้ดินปิดและเกาะติดแน่นอยู่ในสภาพเก่าและแห้ง และต้องดูความเก่าให้ออกตามวันเวลากว่า 100 ปี

ข้อพิจารณาสำคัญอีกอย่าง คือ เบี้ยแก้หลวงปู่รอดนั้น ส่วนใหญ่จะถักเชือกหุ้มทับเอาไว้ มีทั้งหุ้มปิดหลังเบี้ยและเปิดหลังเบี้ย เบี้ยที่ถักเชือกหุ้มนั้นส่วนมากจะทายางลูกมะพลับ บ้างลงรัก หรือชุบรักเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อความคงทน ยางมะพลับหรือรักที่ลงจะมีลักษณะแห้ง มีความเก่า มีสีดำ อมแดงไม่ดำสนิททีเดียว หากมีการลงรักปิดทองให้สังเกตความเก่าของรักกับทองให้เป็น และเบี้ยแก้ของท่านจะปรากฏทั้งแบบมีห่วงและไม่มีห่วง

บางตัวยังทำพิเศษบรรจุตะกรุดเอาไว้ด้วยแต่มีน้อยมากๆ ครับผม

พันธุ์แท้พระเครื่อง
 ราม วัชรประดิษฐ์
 



ตะกรุดมหาโสฬสมงคล หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง

นอกเหนือจาก "พระปิดตา" อันลือชื่อ สุดยอดแห่งพระปิดตาอันดับต้นๆ ของเมืองไทยแล้ว เครื่องรางของขลังของ หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี ก็ไม่เป็นสองรองใคร ดังเช่น "ตะกรุดมหาโสฬสมงคล" ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "จักรพรรดิแห่งตะกรุดของไทย" หนึ่งในห้าชุดเบญจภาคีเครื่องรางของขลัง มีอายุการสร้างยาวนานกว่า 100 ปี ปัจจุบันหาดูหาเช่าของแท้ได้ยากยิ่งนัก อีกทั้งสนนราคาก็สูงเอามากๆ ทีเดียว

หลวงปู่เอี่ยม เป็นชาวนนทบุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2358 ในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นบุตร นายนาค-นางจันทร์ ชาวตำบลบ้านแหลมใหญ่ฝั่งใต้

อายุได้ 22 ปี อุปสมบทที่วัดบ่อ ต.ปากเกร็ด ต่อมาย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี เพื่อศึกษาด้านพระปริยัติธรรมและแปลพระธรรมบท แล้วย้ายไปจำพรรษาที่วัดประยุรวงศาวาส จนเมื่อญาติโยมนิมนต์ให้กลับภูมิลำเนา จึงมาครอง "วัดสว่างอารมณ์"

ซึ่งต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จทอดพระเนตรเห็นสะพานสูงข้ามคลองหน้าวัด ได้ประทานนามวัดใหม่ว่า "วัดสะพานสูง"

ท่านเป็นพระเกจิผู้มีวิทยาอาคมเข้มขลังและมีชื่อเสียงโด่งดังด้านวิปัสสนาธุระกัมมัฏฐาน มีวาจาสิทธิ์ มักน้อย สันโดษ มีเมตตาธรรม ทั้งเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและเจ้านายผู้ใหญ่ในพระนคร มีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วประเทศ

เป็นเถราจารย์ร่วมสมัยกับพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายๆ รูป อาทิ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม, หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, กรมพระยาปวเรศฯ วัดบวรนิเวศวิหาร, หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย และหลวงพ่อเอี่ยม วัดหนัง เป็นต้น

มรณภาพในปี พ.ศ.2439 รวมอายุได้ 80 ปี 59 พรรษา ปัจจุบัน "รูปหล่อเท่าองค์จริง" ยังคงประดิษฐานหน้าพระอุโบสถ

กล่าวถึงตะกรุดมหาโสฬสมงคลนั้น ขั้นตอนการจัดสร้างและปลุกเสกท่านถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยจะสร้างและปลุกเสกขึ้นมาด้วยอำนาจ "กฤตยะ" และ "พลังจิตพิเศษ" ผ่านเหล็กปลายแหลมจาร ถ่ายทอดลงสู่แผ่นโลหะในรูปแบบเลขยันต์ นอกจากอักขระเลขจารึกแห่ง "สูตรมหาโสฬสมงคล" แล้ว ท่านจะลง "พระไตรสรณคมน์หรือตรีนิสิงเห" เพื่อป้องกันภัยจากภูตผี ปีศาจ หรือกันการถูกกระทำจากเวทอาคมคุณไสย และล้อมรอบด้วย "บารมี 30 ทัศ" อันพิเศษสุด พร้อมด้วย "มนต์ปัสสาสะปราณชีพ" อันกล้าแกร่ง

จากนั้นปลุกเสกเดี่ยว "โองการมหาทะมึน" จนครบ 10,000 จบ เป็นเวลาถึง 3 ปี (3 พรรษา) จึงม้วนตัวตะกรุดแล้วถักด้วยเชือก โรยผงมหาโสฬสมงคลซึ่งเป็นผงชนิดเดียวกับที่ทำพระปิดตา สุดท้ายนำมาลงรักปิดทับ เป็นอันแล้วเสร็จ ทั้งหลายทั้งมวลดังกล่าว จึงสร้างให้ "ตะกรุดโทนมหาโสฬสมงคล" มีอานุภาพครอบคลุมทุกด้าน เรียกได้ว่า "ครอบจักรวาล" ทั้งมหาอุตม์ แคล้วคลาด คงกระพัน และเสน่ห์เมตตามหานิยม

ตะกรุดมหาโสฬสมงคล ที่ท่านสร้างเองโดยส่วนใหญ่ทำจากโลหะแก่ทองเหลือง หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "เนื้อฝาบาตร" นอกจากนี้ยังมี "เนื้อเงิน" เป็นของพวกคหบดีโบราณนำมาให้ท่านลง ท่านมิได้สร้างเอง มีจำนวนน้อยมาก "เนื้อตะกั่วถ้ำชา" ที่สร้างในยุคต้น และ "เนื้อทองแดง" มีความยาวตั้งแต่ 2.5 นิ้ว, 3.5 นิ้ว และ 4.5 นิ้ว แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งจะยาวประมาณ 3.5 นิ้ว ในรุ่นหาทุนสร้างพระเจดีย์ เมื่อราวปี พ.ศ.2419

อานุภาพและพุทธคุณของ "ตะกรุดมหาโสฬสมงคล" เป็นที่ร่ำลือ ผู้ใดมีไว้ครอบครองและหมั่นบูชากราบไหว้ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น จะเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนและวงศ์ตระกูล พ้นจากภัยพิบัติต่างๆ เป็นมหามงคลยิ่งใหญ่ มีเมตตามหานิยม เจริญด้วยลาภผล แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี บำบัดและป้องกันเจ็บไข้ได้ป่วย กันไฟ พ้นภัยอันตรายจากศัตรูหมู่มารและสัตว์ร้าย ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ครอบครองได้สัมฤทธิผลได้นั้น คือ ต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมด้วย

ผู้มีไว้บูชาต่างหวงแหน จึงไม่ค่อยมีออกมาให้ดูให้ชมกันนักครับผม

พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์
 
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #15 เมื่อ: 16 กรกฎาคม 2561 13:37:24 »



รูปหล่อนารายณ์ แปลงรูป สมเด็จโต

ในช่วงปีพุทธศักราช 2557-2558 วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง ได้จัดสร้าง "รูปหล่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)" ขนาดหน้าตัก 3.99 เมตร ประดิษฐานไว้บริเวณลานหน้าพระอุโบสถ เพื่อเป็นการน้อมระลึกเมื่อครั้งที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เคยมาอยู่จำพรรษา และบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่อายุกว่า 600 ปี ณ วัดขุนอินทประมูลแห่งนี้

ครั้งนั้นทางวัดก็ได้จัดสร้าง "เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระพุฒาจารย์โต รุ่นมนุษย์สมบัติ" ขึ้นมาเป็นรุ่นแรก

ต่อมาในปีพ.ศ.2559-2560 ได้จัดสร้าง "เหรียญมนุษย์สมบัติ พิมพ์สมาธิและชินบัญชร" รวมทั้ง "เหรียญนารายณ์แปลงรูป" ตามลำดับ

วัตถุมงคลนารายณ์แปลงรูปมีมูลเหตุจาก "วิชานารายณ์แปลงรูป" ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจาก "ขรัวตาแสง" แห่งวัดมณีชลขันธ์ และสามารถนำมาใช้ได้อย่างแตกฉานและชำนาญในพระเวท ดังหลักฐานที่ปรากฏในบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรีพระยาทิพโกษา (สอน โลหนันท์) ตอนหนึ่ง ถึงเรื่องราวของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ กับนารายณ์แปลงรูป ความว่า

"ครั้นถึงปีกุน ยังเป็นโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ ปี วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เวลาค่ำ แปดทุ่ม ๕ บาท สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา กับ ๑๑ วัน ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี ๗ เดือน ๒๓ วัน พระมหาโตอายุได้ ๖๔ ปี ๔๒ พรรษา พวกข้าราชการได้ทูลเชิญเสด็จฯ ทูลกระหม่อมพระราชาคณะ วัดบวรนิเวศวรวิหาร ให้เสด็จนิวัติออกเถลิงราชย์ พระมหาโตเลยออกธุดงค์หนีหายไปหลายเดือน ครั้นล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงระลึกได้ ทรงรับสั่งให้หาตัวมหาโตก็ไม่พบ ก็รับสั่งว่า "ฉันจะตามเอง" ครั้นถึงเดือน ๗ ปีนั้น มีกระแสรับสั่งถึงเจ้าเมืองฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ทั่วพระราชอาณาจักร จับพระมหาโตส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ ให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ตก ออก ออกค้นหาพระมหาโต เลยสนุกกันใหญ่ทั้งฝ่ายพุทธจักร อาณาจักร แต่ถึงแม้จะมีท้องตรารับสั่งเร่งรัดอย่างไรก็ยังเงียบอยู่ เจ้าเมือง เจ้าหมู่ ฝ่ายพระ ร่วมใจกันจับพระอาคันตุกะทุกองค์ส่งมายังศาลากลาง คราวนี้พระมหาโตลอง "วิชาเปลี่ยนหน้า" ทำให้คนรู้จักกลับจำไม่ได้เห็นเป็นพระองค์อื่นปล่อยท่านไปก็มี (อาคมชนิดนี้พระอาจารย์เจ้าเรียกว่า นารายณ์แปลงรูป) "

เริ่มแรกทางวัดได้จัดสร้างรูปหล่อนารายณ์แปลงรูป ขนาดบูชา ความสูงจากฐานถึงปลายชฎาประมาณ 18 นิ้ว โดยแบ่งเป็น รายการทั่วไป 99 องค์ กรรมการ 18 องค์ และกรรมการพิเศษ 9 องค์เท่านั้น ปรากฏว่าทุกรายการหมดลงภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ซึ่งได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกและส่งมอบให้แก่ผู้ที่สั่งจองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และจากการร้องขอของสาธุชนจึงมีการสร้างเพิ่มเป็น "ขนาดตั้งโต๊ะ" ซึ่งมีขนาดสูงจากฐานถึงปลายชฎาประมาณ 9.9 นิ้ว ถ้าวัดถึงปลายรัศมีก็เกือบ 11 นิ้ว แบ่งเป็น 4 สี สีละ 199 องค์ ประกอบด้วย สีเงิน เทวฤทธิ์, สีเขียวพาติน่า สั่งจอง 7,900 บาท สีแดงทองเทวฤทธิ์, สีเหลืองทองเทวฤทธิ์ สั่งจอง 6,900 บาท โดยทางวัดแจ้งมาว่า "สีเงินเทวฤทธิ์" นั้นหมดแล้ว ส่วนสีอื่นๆ ก็เหลือจำนวนไม่มากนัก

รูปหล่อนารายณ์แปลงรูปทุกองค์จะมีลักษณะและรายละเอียดทุกอย่างครบถ้วน เพราะได้ใช้เทคนิคสมัยใหม่ "การย่อพิมพ์" ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในเวลานี้มาใช้ในการย่อส่วน ซึ่งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ทำให้ชิ้นงานที่หล่อออกมามีความสวยงามไม่ผิดเพี้ยนไปจากต้นแบบเลย โดยทางวัดจะได้ประกอบพิธี พุทธาภิเษกในวันที่ 18 ก.ค.ที่จะถึงนี้ และเริ่มทยอยจัดส่งให้แก่ผู้สั่งจองตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.เป็นต้นไป

การจัดสร้างรูปหล่อนารายณ์แปลงรูปให้มีความงดงามอลังการในครั้งนี้ ก็เพื่อมอบไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินและเป็นที่ระลึกสำหรับผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์ในการจัดสร้าง "ที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม วัดขุนอินทประมูล" อันจะเป็นบุญกุศลร่วมกัน

ติดต่อสอบถามโดยตรงได้ที่ วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง โทร. 09-2557-7511

พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์





รูปหล่อพระอินทร์ประทานพร วัดขุนอินทประมูล อ่างทอง

ศาสนาพราหมณ์ หรือ ศาสนาฮินดู แต่ครั้งโบราณกาล ถือ "พระอินทร์" เป็นเทพเจ้าองค์แรกและยิ่งใหญ่สูงสุด มีอานุภาพสูงที่สุดกว่าบรรดาเทพทั้งปวง เป็นราชาแห่งสรวงสวรรค์ สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆ ได้ทั้งบนสวรรค์และโลกมนุษย์

พระอินทร์ มีพระวรกายสีเหลืองทอง กระจ่างสดใส บ้างก็ว่ามีผิวสีแดงเข้ม แต่ในปัจจุบันมักเห็นพระวรกายเป็นสีเขียว ทรงเครื่องประดับที่งดงามอลังการ ทรงอิทธิฤทธิ์สามารถเนรมิตให้ร่างกายเล็กดั่งผงธุลีหรือใหญ่โตดั่งภูเขา มีวัชระหรือสายฟ้า เป็นศาสตราวุธคู่กายอันทรงพลานุภาพ สามารถบันดาลให้ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ใช้ปราบอสูรและสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวง และทรงพาหนะทั้งรถม้าและช้างเอราวัณ

ถือเป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่เหนือชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีหน้าที่ปกป้องดูแลโลกให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

ในศาสนาพุทธ พระอินทร์ ยังเป็นเทพผู้รักษาและค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ธำรงอยู่สืบไป และจะทำลายผู้ที่จะนำพาพระพุทธศาสนาไปในทิศทางเสื่อม...

พระอินทร์ มีพระนามอีกพระนามหนึ่ง "ท้าวสักกะเทวราช" เมื่อครั้งเกิดเป็นมนุษย์ชื่อ "มฆมาณพ" มีเพื่อนผู้มีจิตใจอันดีงามรวม 33 คน ได้ร่วมกันสร้างศาลาและร่วมกันทำเส้นทางเพื่อถวายเป็นกุศลทาน เมื่อตายไปจากโลกมนุษย์ได้ไปเกิดอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มฆมาณพได้มาเกิดเป็นพระอินทร์ ส่วนเพื่อนที่เหลือก็ได้เป็นเกิดเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เช่นกัน และทำหน้าที่เป็นช้างทรงของพระอินทร์ชื่อ ช้างเอราวัณ

พระอาสน์ (ที่นั่ง) ของพระอินทร์นั้นมีความสำคัญมาก เมื่อใดที่เกิดร้อนขึ้นมา ก็แสดงว่าโลกมนุษย์ได้เกิดเหตุร้ายหรือมีผู้ขอพร เมื่อนั้นพระองค์จะลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อมาขจัดทุกข์ภัยให้หมดสิ้นไป ด้วยเมตตาบารมีสูงส่ง คอยปกป้องคุ้มครองผู้กระทำความดีอยู่เสมอไป

พระอินทร์ประทานพร บนทิพย์อาสน์เหนือช้างทรงเอราวัณ มีวัชระเป็นอาวุธ งานจัดสร้างรูปหล่อประติมากรรม เพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธา ในโครงการจัดสร้างที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมและศาลาอเนกประสงค์ วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง โดยการรังสรรค์ผลงานครั้งนี้ เป็นความต่อเนื่องทั้งรูปลักษณ์และขนาดองค์จากการจัดสร้างรูปหล่อนารายณ์แปลงรูป ขนาดสูง 16 นิ้ว ที่หมดไปแล้วก่อนหน้านี้ และได้ส่งมอบงานทั้งหมดถึงมือผู้สั่งจองเป็นที่เรียบร้อย เหลือเพียงขนาด 9.9 นิ้ว ที่กำลังเร่งมือผลิตเพื่อให้ทันกำหนดส่งมอบ ในเดือน ก.ค.นี้ โดยยังคงไว้ซึ่งความงามตาม รายละเอียดของงานต้นแบบทุกประการ

รูปหล่อพระอินทร์ประทานพร นับเป็นสุดยอดประติมากรรมต้นแบบที่มีความงดงามอลังการ และวิจิตรบรรจงเหนือคำบรรยาย ผลงานการออกแบบโดย นายเกรียงกมล นาคบางแก้ว ศิลปินดาวรุ่งแห่งสำนักช่างสิบหมู่ และรังสรรค์งานปั้นโดย อ.สุชาติ แซ่จิว สุดยอดประติมากรแห่งยุค ฉายา มือปั้นเทพสถิต ที่ในวงการรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยได้นำภาพงานต้นแบบที่เสร็จสมบูรณ์แล้วมาให้ชมกัน

รูปหล่อพระอินทร์ประทานพร หล่อด้วยโลหะสูตรทองเหลืองผสม ขนาดหน้าตักกว้าง 6 นิ้ว ฐานชั้นล่างกว้าง 10 นิ้ว ลึก 8.5 นิ้ว ฐานชั้นบนกว้าง 6 นิ้วครึ่ง วัชระ อันเป็นอาวุธคู่กาย บรรจุชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ ที่ผ่านพิธีมหามงคลมาแล้วถึง 9 วาระ

การจัดสร้างรายการทั่วไป สร้าง 4 สี สีละ 199 องค์ มีสีเขียวพระอินทร์, สีเงินเทวฤทธิ์, สีแดงทองเทวฤทธิ์ และสีเหลืองทองเทวฤทธิ์ ราคาจอง 14,900 บาท

รายการกรรมการ สร้าง 4 สี สีละ 22 องค์ ราคาจอง 17,900 บาท และกรรมการพิเศษ เนื้อบรอนซ์สัมฤทธิ์ ออสเตรเลีย โรงหล่อ เอเชีย ไฟน์ อาร์ท สร้าง 9 สี สีละ 1 องค์ ราคาจอง 29,900 บาท ค่าจัดส่ง 300 บาทต่อ 1 องค์ รับที่วัดไม่มีค่าส่ง รับได้ปลายเดือนตุลาคม 2561


พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์





เครื่องรางจระเข้ หลวงปู่ทองคำ
 
"หลวงปู่ทองคำ สุวโจ" เดิมท่านจำพรรษาปฏิบัติธรรมอยู่ที่สำนักสงฆ์วังงูเหลือม ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก

ในปี 2561 ย้ายมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่อาศรมสุวโจ บ้านหนองเกราะ ต.สำโรง ทาบ จ.สุรินทร์ จวบจนปัจจุบัน

ด้วยความที่หลวงปู่มีวัตรปฏิบัติที่สมถะเรียบง่าย อาศรมแห่งนี้ จึงถูกสร้างเป็นเพียงโรงเรือนชั้นเดียวเปิดโล่ง 3 ด้าน ใช้วัสดุก่อสร้างที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเพียงใช้ประโยชน์กันแดดกันฝนเท่านั้น

ปัจจุบัน อายุ 91 ปี พรรษา 37

หลวงปู่ทองคำ เกิดเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2472 ที่บ้านมะโม ต.หนองซอน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม

อายุ 16 ปี บรรพชา ที่วัดบ้านคำครั่ง อ.กระนวน จ.ขอนแก่น นอกจากจะมุมานะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ยังสนใจวิปัสสนากัมมัฏฐาน จึงเดินทางไปกราบสักการะขอฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ขณะจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์ฝั้น

ศึกษาพระธรรมวินัยและสรรพวิชาต่างๆ จากหลวงปู่ฝั้น ด้วยความขยันพากเพียร

ด้วยความจำเป็นบางประการ ท่านลาสิกขาและกลับมาอุปสมบทในปี 2523 อีกครั้ง ที่อุโบสถวัดราชพิสัย ต.หนองซอน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม

หลังเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ท่านออกธุดงค์ไปจำพรรษาอยู่ตามวัดป่าหลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน นอกจากนี้ ยังข้ามไป สปป.ลาว ศึกษา วิทยาคมตำราสายสำเร็จลุน และศึกษาการใช้สมุนไพรรักษาโรค จนมีความชำนาญอีกทั้งยังเดินทางไปศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติมจากหลวงปู่ทองมา ถาวโร จ.ร้อยเอ็ด และไปมาหาสู่กันตลอดเวลา จนกระทั่งหลวงปู่ทองมามรณภาพ

ต่อมาในปี 2561 ย้ายมาปฏิบัติธรรม อยู่ที่อาศรมสุวโจ บ้านหนองเกราะ ต.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ จวบจนปัจจุบัน

เนื่องจากหลวงปู่เป็นผู้มีความรู้ด้านพืชสมุนไพร ยามใดที่ญาติโยมเกิดอาการเจ็บป่วย ท่านจะนำความรู้ด้านสมุนไพรช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้น แต่มีปัญหา คือ สมุนไพรบางชนิดเริ่มหายาก

หลวงปู่จึงมีโครงการที่จะจัดซื้อที่ดิน เพื่อปลูกสมุนไพรไว้รักษาโรค แต่ยังขาดปัจจัยอยู่เป็นจำนวนมาก คณะศิษยานุศิษย์รวมทั้งญาติโยมที่เลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่ทองคำจึงมีมติจัดสร้างเครื่องรางเป็นรูปจระเข้ จัดสร้างรวม 3 เนื้อ ประกอบด้วย เนื้อตะกั่ว 500 ตัว เนื้อทองแดง 1,000 ตัว เนื้อทองทิพย์ 2,000 ตัว

ติดต่อ โทร. 06-1795-7556

ข่าวสดออนไลน์



ปลัดขิกของหลวงพ่ออี๋

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีผู้คนเคารพนับถือกันมาก โดยเฉพาะชาวบ้านและทหารเรือแถบสัตหีบ เสมือนหนึ่งเทพเจ้าแห่งภาคตะวันออก ในสมัยนั้นเครื่องรางของขลังของท่านที่มีชื่อเสียงก็คือปลัดขิก กล่าวกันว่าถ้าปลุกปลัดของท่านแล้วปล่อยลงน้ำจะสามารถวิ่งทวนน้ำได้ทีเดียว

พระครูวรเวทย์มุนี (หลวงพ่ออี๋) ท่านเกิดที่ชลบุรี เมื่อปีพ.ศ.2405 โยมบิดาชื่อกองคำ โยมมารดาชื่อเอียง ในวัยเด็กท่านเป็นเด็กที่มีความฉลาดหลักแหลม และชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเสมอ ผิดกว่าเด็กทั้งหลายในวัยเดียวกัน ต่อมาพออายุได้ 21 ปีท่านจึงได้อุปสมบทที่วัดอ่างศิลา ชลบุรี โดยมีหลวงพ่อจั่น วัดเสม็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า "พุทธสโร"

อยู่จำพรรษาที่วัดอ่างศิลา และท่านก็ได้ศึกษาวิชาวิปัสสนาธุระที่สำนักพระอาจารย์แตง วัดอ่างศิลานั่นเอง ท่านจึงพิจารณาเห็นสังขารไม่เที่ยงแท้ เมื่อถึงเวลาออกพรรษาท่านก็เริ่มออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อหาแหล่งอันสงบวิเวกนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อท่านได้พบกับพระอาจารย์มีชื่อเสียงท่านใด หลวงพ่ออี๋ก็จะศึกษาหาความรู้กับพระอาจารย์ท่านนั้น พร้อมทั้งปฏิบัติจนเห็นจริง แล้วก็จะเริ่มธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ

บรรดาพระคณาจารย์ของหลวงพ่ออี๋จึงมีมากมาย แต่ที่พอสรุปได้ก็คือ พระอาจารย์แตง วัดอ่างศิลา พระอาจารย์จั่น วัดเสม็ด หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

หลวงพ่ออี๋ยึดการธุดงค์และสันโดษเป็นหลัก จนกระทั่งท่านมีญาณสมาบัติ พลังจิตสูงองค์หนึ่ง ท่านสามารถนำพระเวทมาใช้ได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าท่านจะธุดงค์ไปไหนๆ ก็ตาม ท่านมักจะให้ความเมตตาช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ได้ป่วยเสมอ พร้อมทั้งแสดงธรรมให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังเสมอ จนกระทั่งชื่อเสียงของหลวงพ่ออี๋โด่งดัง จากปากหนึ่งไปอีกปากหนึ่ง ต่อมาหลวงพ่ออี๋ธุดงค์มาจนถึงอ่าวสัตหีบในราวปีพ.ศ.2450 ณ ที่นั้นเป็นบริเวณที่สงบเงียบพอที่จะยึดเป็นที่ปฏิบัติธรรม หลวงพ่ออี๋จึงปักกลดจำวัดที่นั่น พอบรรดาพวกชาวบ้านรู้ข่าวว่าหลวงพ่ออี๋มาปักกลดอยู่ต่างก็มานมัสการหลวงพ่ออี๋กันมาก ต่างก็นำอาหารมาถวาย และผู้คนก็เดินทางมานมัสการกันแทบทุกวัน

บรรดาชาวบ้านในแถบนั้นต่างมีความเห็นตรงกันว่าควรนิมนต์หลวงพ่ออี๋ให้สร้างวัด ณ ที่ตรงนั้น เพื่อชาวบ้านจะได้พึ่งบารมีหลวงพ่อ จึงได้พากันนิมนต์หลวงพ่ออี๋ให้อยู่จำพรรษาและสร้างวัดที่ตรงนั้น หลวงพ่ออี๋ก็ไม่ขัดข้อง พวกลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ดีอกดีใจ ช่วยกันคนละไม้คนละมือและบริจาคทรัพย์สร้างวัดขึ้น และได้นามวัดต่อมาว่า "วัดสัตหีบ" จนมาถึงทุกวันนี้

ต่อมาในปีพ.ศ.2473 ทางวัดสัตหีบได้กำหนดหล่อพระพุทธรูปพระประธาน ประจำพระอุโบสถ คณะศิษย์จึงได้ขออนุญาตหลวงพ่ออี๋สร้างเหรียญรูปเหมือนของหลวงพ่ออี๋ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมสมทบทุนสร้างในครั้งนั้น ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงมาก หลวงพ่ออี๋ได้อยู่เป็นมิ่งขวัญจนถึงปีพ.ศ.2489 ก็มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 85 ปี พรรษาที่ 64

ปลัดขิกของหลวงพ่ออี๋โด่งดังมาก ชาวบ้านแถบชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียงในสมัยก่อนมักนิยมคาดปลัดขิกของหลวงพ่ออี๋ไว้คุ้มครองป้องกันตัว ปัจจุบันหาแท้ๆ ยากมากครับ ในวันนี้ผมนำรูปปลัดขิกของหลวงพ่ออี๋จากหนังสือตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์มาให้ชม

ชมรมพระเครื่อง
แทน ท่าพระจันทร์


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 กันยายน 2561 15:47:09 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #16 เมื่อ: 18 กันยายน 2561 15:49:11 »



ผ้ายันต์นกคุ้มกันภัยของ พระวิเชียรโมลี (หลวงพ่อปลั่ง)

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เครื่องรางของขลังที่เราพบเห็นนั้นมีอยู่หลายอย่าง ที่เป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น เสือ สิงห์ หนุมาน วัวธนู ควายธนู เต่า นกสาลิกาและอื่นๆ นั้น ความจริงล้วนแต่มีอุปเท่ห์ในการนำมาสร้าง และนำมาปลุกเสกเพื่อการปกป้องคุ้มครองทั้งสิ้น

เครื่องรางของขลังชนิดหนึ่งที่เป็นรูปนกคุ้ม ซึ่งเป็นรูปนกชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายๆ กับนกกระทา แต่ตัวเล็กกว่า ชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งชายไร่ชายป่า ในสมัยก่อนผมเคยเห็นพระเกจิอาจารย์ต่างๆ ท่านสร้างไว้ก็เคยสงสัยจึงได้สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ และท่านก็ได้เล่าให้ฟังว่า สมัยหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธเพื่อโปรดสัตว์ พร้อมพระสาวกเป็นจำนวนมาก เวลาเสด็จกลับจากบิณฑบาตได้เกิดไฟไหม้ป่าลามมาถึงทางที่พระสาวกกำลังจาริกอยู่นั้น

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับยืนอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง ครั้นไฟไหม้ลามมาห่างจากที่ประทับออกไปโดยรอบ 16 กรีส ไฟก็ดับไปเอง พระภิกษุเห็นเช่นนั้นก็พากันสรรเสริญคุณสมเด็จพระบรมศาสดาว่า มีอานุภาพเป็นมหัศจรรย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ไฟไหม้มาภูมิประเทศแห่งนี้ดับไปแล้ว หาใช่เพราะกำลังแห่งพระองค์ไม่ ไฟย่อมดับลงเพราะกำลังแห่งความสัตย์ของพระองค์ในกาลก่อน

พระภิกษุทั้งหลายจึงทูลอาราธนาเพื่อทราบเรื่อง พระองค์จึงได้นำชาดกเรื่องนี้มาแสดงว่า ในอดีตสมัยพระโพธิสัตว์ได้เสวยชาติปฏิสนธิในกำเนิดนกคุ้มอยู่ในแคว้นมคธนั้น ในกาลเมื่อออกจากไข่แล้วยังไม่มีกำลังที่จะเดินและบินได้ วันหนึ่งนกบิดามารดาพระโพธิสัตว์ออกไปหาอาหาร นกโพธิสัตว์นอนอยู่ในรัง ครั้งนั้นไฟป่าได้ไหม้เข้ามาในที่ใกล้รังแห่งนกโพธิสัตว์นั้น นกบิดามารดาของพระโพธิสัตว์กลับมาเห็นไฟไหม้ป่าก็กลัวพากันบินหนีไปไม่อาจที่จะกลับมาคุ้มครองลูกน้อยได้

นกพระโพธิสัตว์หมดที่พึ่งอย่างอื่นแล้ว จึงระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าในอดีต คุณพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และความสัตย์ที่มีอยู่ ความสัตย์นั้นลูกนกได้กล่าวว่า ปีกทั้งสองของเรามีอยู่แต่บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเรามีอยู่แต่เดินไม่ได้ มารดาบิดาทั้งสองของเราไม่อยู่ออกไปหาอาหาร ถ้าสิ่งทั้งปวงที่กล่าวนี้เป็นเป็นความจริงแน่แล้วไซร้ขอเปลวไฟจงกลับไปเสียจากที่นี้เถิด ด้วยความสัตย์ที่พระโพธิสัตว์กล่าวมานั้นไฟที่กำลังไหม้อยู่ห่างจากพระโพธิสัตว์ 16 กรีส โดยรอบก็ดับลง ไฟมิได้ไหม้จนตลอดกัลป์นี้ ที่อันนั้นก็คือที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ เมื่อไฟป่ากำลังไหม้อยู่นั้น พระปริตรบทนี้จึงได้นำมาเป็นอุปเท่ห์ในการปลุกเสกรูปนกคุ้มไว้คุ้มครองป้องกันไฟและคุ้มครองภัยต่างๆ

ครับก็มีอุปเท่ห์ในการปลุกเสกและนำมาสร้างรูปเครื่องรางของขลังเป็นรูปนกคุ้มตามนี้ครับ รูปนกคุ้มหรือผ้ายันต์รูปนกคุ้ม เราจะเห็นว่ามีการสร้างมาแต่โบราณแล้ว มักจะนิยมไว้บูชาในบ้านเรือนร้านค้าเพื่อปกป้องคุ้มครองภัยโดยเฉพาะอัคคีไฟ ก็มีอยู่หลายพระเกจิอาจารย์ที่สร้างไว้

ในวันนี้ผมขอนำรูปผ้ายันต์นกคุ้มกันภัยของ พระวิเชียรโมลี (หลวงพ่อปลั่ง) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นที่หวงแหนของชาวกำแพงเพชรมาให้ชมครับ

ชมรมพระเครื่อง
แทน ท่าพระจันทร์





น้ำเต้ากันไฟของ พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) วัดพลับ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เครื่องรางของขลังแบบหนึ่งที่เป็นรูปน้ำเต้า ที่รู้จักกันดีก็คงจะเป็นน้ำเต้าของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ และที่เก่าแก่ขึ้นไปหน่อยก็จะเป็นน้ำเต้าของพระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) วัดพลับ ในปัจจุบันหายากมากครับ

น้ำเต้าของพระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) หรือที่นักนิยมพระเครื่องมักเรียกท่านสั้นๆ พระสังวราชุ่มนั้น เด่นทางด้านป้องกันอัคคีไฟชะงัดนัก ท่านสร้างแจกลูกศิษย์ไปส่วนหนึ่ง และนำไปบรรจุเจดีย์ไว้พร้อมกับพระเครื่องของท่านอีกส่วนหนึ่ง มูลเหตุในการสร้างน้ำเต้ากันไฟของท่านนั้นมีมูลเหตุดังนี้คือ ในสมัยก่อนท่านนิยมออกธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพรอยู่เสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านได้ธุดงค์ไปยังกลางป่าลึก เมื่อใกล้ค่ำท่านก็ได้เห็นศาลาร้าง ท่านกับคณะของท่านจึงเข้าไปพัก ในคืนนั้นเองก็เกิดไฟป่าโหมเข้ามาทั่วทุกทิศ ตัวท่านเองก็ได้แต่นั่งภาวนาจวบจนรุ่งเช้าไฟป่าจึงดับลง ท่านก็นั่งคิดดูถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนและพิจารณาที่ศาลาแห่งนี้ที่น่าจะถูกไฟไหม้ แต่ก็ไม่ไหม้แม้แต่หญ้าและต้นไม้ที่รกรุงรังรอบๆ ศาลาก็ไม่ไหม้ ท่านจึงคิดว่าที่ศาลานี้ต้องมีอะไรดีอยู่อย่างแน่นอน ท่านจึงตรวจดูรอบๆ ศาลาตามชายคาและบนขื่อ ก็ได้พบกับน้ำเต้าลงอักขระลูกหนึ่ง ภายในน้ำเต้ามีตำราเรื่องน้ำเต้ากันไฟสอดไว้ ท่านก็นำเอาน้ำเต้าลูกนั้นมาเก็บไว้ที่กุฏิ โดยมิได้สนใจเท่าใด

ต่อมาอีก 2-3 ปี ท่านก็ได้ออกธุดงค์ผ่านมายังศาลากลางป่าแห่งนั้น แต่ปรากฏว่าศาลาได้ถูกไฟป่าเผาไหม้หมด ท่านรู้สึกสลดใจและคิดไว้ว่าเป็นเพราะท่านได้นำน้ำเต้ากันไฟไปจากศาลา เมื่อท่านกลับมายังวัดพลับ ท่านจึงได้นำตำราน้ำเต้ามาศึกษาจนแตกฉาน และสร้างน้ำเต้าขนาดเล็กทำด้วยไม้ และทำด้วยผงพุทธคุณ ปิดทองทั้งลูก แจกให้แก่ศิษย์และส่วนหนึ่งก็นำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ที่ท่านสร้าง เป็นการขอลุกะโทษแก่เจ้าของศาลาที่ท่านหยิบน้ำเต้ามา หลังจากนั้นท่านก็ได้ออกธุดงค์กลับไปสร้างศาลาไว้ที่เดิม และเมื่อสร้างศาลาเสร็จ ท่านก็นำน้ำเต้าลูกเดิมมาเก็บคืนไว้ และเพิ่มน้ำเต้าที่ท่านสร้างมาไว้ด้วย หลายปีต่อมาท่านก็ได้ธุดงค์ผ่านมาดู ศาลาก็ยังอยู่เหมือนเดิมไม่ปรากฏว่ามีไฟป่ามาไหม้ศาลาอีกเลย

ครับก็เป็นอุปเท่ห์และมูลเหตุในการสร้างน้ำเต้ากันไฟของพระสังวราชุ่ม วัดพลับ ปัจจุบันหาน้ำเต้าของท่านแท้ๆ ยากครับ ใครมีก็หวงแหน ของปลอมเลียนแบบก็มีมานานแล้ว เวลาเช่าหาก็ต้องพิจารณาดีๆ หรือเช่าหาจากผู้ที่ไว้ใจได้เท่านั้นครับ

วันนี้ผมนำรูปน้ำเต้ากันไฟของพระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) วัดพลับ จากหนังสือ ตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมครับ

ชมรมพระเครื่อง
แทน ท่าพระจันทร์

บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #17 เมื่อ: 26 กันยายน 2561 17:52:44 »



ตะกรุดทองคำ หลวงพ่อพร้า

"หลวงพ่อพร้า อัตตสันโต" หรือ "พระครูวิจิตรชยานุรักษ์" ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอสรรคบุรี และเจ้าอาวาสวัดโคกดอกไม้ ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เจ้าของสมญานาม "หลวงพ่อพร้า เจ้าตำรับน้ำมนต์บาทเดียว"

ปัจจุบันสิริอายุ 95 ปี พรรษา 75

พื้นเพเป็นชาวชัยนาท เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค.2466 เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 พ.ค.2486 ที่พัทธสีมาวัดโคกดอกไม้ โดยมีพระครูปัตย์ วัดสนามชัย เป็นพระอุปัชฌาย์

ฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อโต วัดวิหารทอง ซึ่งเป็นหลวงลุง ทั้งได้เรียนสรรพวิชามากมายจากหลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม อีกด้วย

ด้วยความที่เมื่อท่านเยาว์วัย ท่านอยากเรียนแต่ไม่มีโอกาสเนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน ท่านจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานเอาไว้ว่า "....หากมีโอกาสได้บวช จะอุปถัมภ์การศึกษาแก่เด็กที่พ่อแม่ฐานะยากจน จะช่วยให้เต็มความสามารถ...."

ตั้งแต่นั้นมา ก็มุ่งปฏิบัติตนตามคำอธิษฐานมาโดยตลอด ด้วยการอุปถัมภ์เด็กๆ ที่ยากจน และทำนุบำรุงปูชนียสถานถาวรวัตถุภายในวัดจนรุ่งเรือง

ในปี พ.ศ.2561 จัดสร้างวัตถุมงคล "ตะกรุดทองคำ" เพื่อหารายได้สมทบทุนก่อสร้างมณฑป

ตะกรุดทองคำ รุ่นแรก ขนาด 1 นิ้ว คูณ 1 นิ้ว จำนวน 128 ดอก สั่งจองหมดภายใน 1 สัปดาห์ ต่อมาสร้างตะกรุดทองคำ รุ่นที่สอง มีขนาดเล็ก 1 นิ้ว คูณ 1 นิ้ว จำนวน 199 ดอก และขนาดใหญ่ 1.8 นิ้ว คูณ 1.8 นิ้ว จำนวน 161 ดอก

"ตะกรุดทองคำ หลวงพ่อพร้า" ทั้งรุ่นแรกและรุ่นสอง (ขนาดเล็ก-ใหญ่) เป็นเนื้อแผ่นทองคำ ภายในบรรจุเส้นเกศา, จีวร, พลอยเสก และข้าวสารดำ หลวงพ่อพร้าปลุกเสกเดี่ยว

ตะกรุดทองคำหลวงพ่อพร้า ขนาด 1 นิ้ว คูณ 1 นิ้ว ทั้งรุ่นแรกและรุ่นสอง ที่วัดหมดแล้ว ยังพอมีเหลือบ้างเฉพาะรุ่นสอง (ขนาดใหญ่) ขนาด 1.8 นิ้วคูณ 1.8 นิ้ว เท่านั้น

เป็นวัตถุมงคลที่มีรูปลักษณ์โดดเด่น วัตถุประสงค์ดี ตั้งใจสร้างและปลุกเสกเดี่ยว สวยงามกะทัดรัด

สอบถามได้ที่วัดโคกดอกไม้ ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท โทร.0-5648-2948

หนังสือพิมพ์ข่าวสด

บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #18 เมื่อ: 17 ตุลาคม 2561 15:36:13 »


     

มีดเทพศาสตรา หลวงปู่จื่อ

"วัดเขาตาเงาะอุดมพร" ตั้งอยู่เลขที่ 12 หมู่ 4 บ้านหัวหนอง ต.หนองบัวระเหว อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ทัศนียภาพโดยรอบสวยงาม ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่พุทธศิลป์งดงาม มีภาพวาดพระเวสสันดรชาดกที่ประณีตงดงาม

มีพระคณาจารย์ชื่อดังสายวิปัสสนา คือ พระครูสุวิมลภาวนาคุณ หรือ "หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต" สิริอายุ 76 ปี พรรษาที่ 43 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขาตาเงาะอุดมพร

ปัจจุบันคณะศิษย์จากทั่วสารทิศ เข้ามากราบนมัสการหลวงปู่จื่อ พบเห็นงานก่อสร้างมหาวิหารภายในวัดและขุดสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ (บึงหนองบัวระเหว) ด้านหลังวัดกว่า 2,000 ไร่ ยิ่งเกิดความศรัทธาต่อปฏิปทา ความตั้งใจมั่นที่จะช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านของหลวงปู่จื่อในครั้งนี้ ประชาชนและสานุศิษย์ทั้งหลายต่างยินดีและเต็มใจร่วมบุญกันตามกำลังแรงศรัทธา

ในโอกาสนี้ หลวงปู่จื่อเมตตาให้จัดสร้างมีดหมอรุ่นแรก ซึ่งมีดหมอจัดเป็นเครื่องรางของขลังในอีกรูปแบบหนึ่ง มีชื่อเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น บ้างเรียกมีดครู บ้างเรียกมีดปราบไพรีพินาศ บ้างเรียกมีดเทพศาสตราวุธ บ้างเรียกมีดด้ามงา บ้างเรียกมีดเหน็บ และบางที่เรียกมีดควาญช้างก็มี ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะของมีดหมอที่สร้างขึ้น

มีดหมอ มีจุดเริ่มมาจากกรรมวิธีในการสร้างที่พิถีพิถันทุกขั้นตอน มีเรื่องเล่ากันว่า ในยุคแรกนั้นใบมีดมีส่วนผสมของตะปูสังฆวานร ตะปูโลงผี เหล็กน้ำพี้ มาหลอมรวมแล้วตีเป็นตัวมีด ซึ่งต่อมาในยุคหลังอาจใช้เพียงเหล็กกล้าอย่างเดียวเท่านั้น

สำหรับมีดหมอหลวงปู่จื่อ แห่งวัดเขาตาเงาะอุดมพร จ.ชัยภูมิ ท่านสร้างไว้ 3 แบบ และถือได้ว่าเป็นมีดหมอรุ่นแรกของท่าน มีดังนี้

1.มีดหมอด้ามแกะรูปท้าวเวสสุวัณ
2.มีดหมอด้ามแกะเสือมหาอำนาจ
3.มีดหมอด้ามแกะไม้ราชพฤกษ์

เพื่อสมทบทุนบูรณะศาลาการเปรียญและส่งเสริมพระพุทธศาสนาสาธารณสงเคราะห์


เปิดตลับพระใหม่ ข่าวสดออนไลน์
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2476


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #19 เมื่อ: 11 ธันวาคม 2561 15:22:44 »


เครื่องรางหนุมาน
วัดราษฎร์สามัคคี ตั้งอยู่ที่บ้านหนองแฮ หมู่ 5 ต.หนองเม็ก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม เป็นวัดที่เก่าแก่ตั้งวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 พร้อมกับการตั้งชุมชน

เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในชนบท สภาพที่ปรากฏ จึงยังคงขาดแคลนในทุกด้าน อาทิ ถาวรวัตถุภายในวัดหลายอย่างก็ยังไม่มี ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ กำแพงแก้ว ประตูโขง เป็นต้น ล้วนยังต้องรอให้ผู้มีจิตอันเป็นกุศล เข้ามาร่วมกันพัฒนาวัดแห่งนี้

ปัจจุบัน "วัดราษฎร์สามัคคี" มี พระครูสุตศีลวุฒิ หรือพระมหาธรรมวุฒิกร อธิปัญโญ อายุ 33 ปี พรรษา 14 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด

ถาวรวัตถุที่อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปก่อน สร้างไว้ คือ ศาลาการเปรียญ แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ท่านก็มรณภาพไปก่อน

ครั้นเมื่อพระครูสุตศีลวุฒิเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแห่งหนี้ จึงมีโครงการเร่งด่วน คือ เดินหน้าก่อสร้างศาลาการ เปรียญที่ยังค้างคาอยู่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 ด้วย มีความจำเป็นในการใช้ปฏิบัติศาสนกิจ แต่เนื่องจากการก่อสร้างต้องใช้ปัจจัยกว่า 2 ล้านบาท วัดยังขาดแคลนปัจจัยที่จะดำเนินการต่อ

เพื่อให้การก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังนี้แล้วเสร็จ จึงมีมติจัดสร้างวัตถุมงคลเครื่องรางหนุมาน รุ่นเศรษฐีรวยทันใจ เพื่อให้ญาติโยมเช่าบูชา สมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญหลังดังกล่าว

สำหรับวัตถุมงคลเครื่องรางหนุมาน รุ่นเศรษฐีรวยทันใจ มวลสารได้รับความเมตตาจากพระเกจิอาจารย์หลายรูป เมตตาจารอักขระยันต์ใส่แผ่นทองนำมาหลอมเป็นชนวน

ลักษณะเครื่องรางรุ่นนี้เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดไม่ซ้ำกับที่ใด จึงออกแบบรูปหนุมานนั่งสมาธิ ประทับนั่งบนบัลลังก์ ส่วนด้านหลังจะมีอักขระยันต์ที่ชายผ้าและที่บัลลังก์

ประกอบด้วย เนื้อเงินก้นทองคำ สร้าง 11 ตน เนื้อเงินบริสุทธิ์ สร้าง 56 ตน เนื้อเหล็กน้ำพี้ สร้าง 99 ตน เนื้อชนวนสร้าง 499 ตน นอกจากนั้นยังมีชุดกรรมการ ประกอบด้วยนวะแก่เงิน เนื้อชิน และเนื้อทองแดงเถื่อน สร้างจำนวน 132 ชุด

พิธีพุทธาภิเษก จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ก.ย.2561 ภายในศาลาการเปรียญวัดราษฎร์สามัคคี

พระเกจิอาจารย์ที่ร่วมพิธีนั่งปรก ประกอบด้วย หลวงปู่ขำ เกสโร, หลวงปู่ทองดำ ฐานทัตโต วัดหนองโพธิ์ อ.นาเชือก, หลวงปู่บาล วัดหนองโจด จ.บุรีรัมย์, หลวงปู่ภู วัดสระบัวแก้ว จ.ขอนแก่น, หลวงพ่อหนู สุวัณโณ วัดอัมพวนาราม จ.ร้อยเอ็ด, ครูบาโฮม วัดป่าโนนตะคร้อ จ.บุรีรัมย์ ฯลฯ

จัดเป็นวัตถุมงคลอีกรุ่นหนึ่งที่มีอนาคตเนื่องจาก หลวงปู่ขำร่วมพิธีนั่งปรกทำให้ นักสะสมและคณะศิษยานุศิษย์ที่เคารพเลื่อมใส หลวงปู่ขำ เข้ามาร่วมทำบุญ จำนวนมาก

สนใจติดต่อได้ที่พระครูสุตศีลวุฒิ โทร. 09-3050-0990

ที่มา ข่าวสดออนไลน์



แหวนอสุรินทราหูฯ
นายสุชาติ จิตทรานนท์ ประธานชมรมนาคราชอู่ทอง จัดสร้าง "แหวน อสุรินทราหูทรงครุฑนาคราช มหามงคล" ประกาศเกียรติคุณราหู ครุฑ นาค มรดกศิลปะแห่งแผ่นดิน

เป็นแหวนที่ประกอบด้วยดวงตราพญาราหู ซึ่งเป็นอุปราชของท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวัณ ซึ่งเป็น 1 ในเทพยดาที่คุ้มครองโลกมนุษย์ เรียกว่า "โลกบาล" ในชั้นจาตุมหาราชิกา และราหูก็เป็นเจ้าแห่งทรัพย์แห่งภูตผีปีศาจ คนจีนเรียก "ไฉ่ซิงเอี้ย" ถือว่าจะได้ประทานทรัพย์สมบัติ ใน 3 โลก ให้แก่ผู้ที่ได้ครอบครองแหวนนี้

ชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ประกอบด้วย ทองคำบริสุทธิ์ 88 บาท เงินบริสุทธิ์ 25 กิโลกรัม เนื้อชนวนนวโลหะ อันเกิดจากชนวนนวโลหะสายวัดสุทัศน์, นวโลหะสายวัดไตรมิตร, นวโลหะสายวัดสระเกศ, นวโลหะสายต่างๆ อันเกิดจากชนวนทองเหลืองหล่อพระพุทธมหาเศรษฐีนวโกฏิ, ชนวนทองเหลืองหล่อพระกริ่งนเรศวรยุทธหัตถี, ชนวนทองเหลืองจากการหล่อพระกริ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, ชนวนเหลือจากการเททองหล่อพระกริ่งพระปริตร, และชนวนศักดิ์สิทธิ์จากที่ต่างๆ อีกจำนวน 100 กิโลกรัม ผสมกับทองแดงบริสุทธิ์และโลหะ รวมทั้งหมด 9 ชนิด ที่เรียกว่า "นวโลหะ" เต็มสูตร

ใต้ท้องแหวนทุกวงมีเทียนชนวนอันเกิดจากเทียนชัยหล่อพระพุทธรูป ศักดิ์สิทธิ์ ในพิธีอันเป็นมหามงคล 108 พิธี มีชนวนสีผึ้งมหามงคล มหาเสน่ห์ของพระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย) มีชนวนสีผึ้งมหาเสน่ห์ ชนวนสีผึ้งเมตตามหานิยม น้ำมันช้างตกมันจากพระอาจารย์ หมู วัดทรงธรรมวรวิหาร จ.สมุทรปราการ ถือว่ามีชนวนมวลสาร ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่ให้เอาเทียนผสมสีผึ้งมหามงคลของครูบาอาจารย์อัดอยู่ใต้ท้องแหวน แล้วอธิษฐานให้เกิดความเป็นสิริมงคล

ประกอบพิธีต่างๆ ด้วยฤกษ์งามยามดี ในวันมาฆบูชา พิธีพุทธาเทวาภิเษก ถึง 2 รอบ ถือว่าเป็นมหามงคล ที่ผ่านพิธี ณ พระอุโบสถ วัดไตรมิตร และพิธีที่วัดอาวุธวิกสิตาราม เขตบางพลัด โดยมีพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมอธิษฐานจิตปลุกเสก

ลักษณะของแหวนดังกล่าว หัวแหวนนิลสีดำรับพลังราหูรับทรัพย์มหาอุด ป้องกันคุณไสย อวิชชา

- พระราหู 4 ทิศ พิทักษ์รักษา ประทานบารมี ประทานทรัพย์ โชคลาภ

- ครุฑ หมายถึงอำนาจ บารมี พลังชีวิต สำหรับผู้กตัญญู

- นาคราช ประทานแก้วแหวนเงินทอง สมบัติในนาคาพิภพ

- ท้องแหวนบรรจุเทียนชัย 108 พิธี สีผึ้งเจ้าคุณธงชัย สีผึ้งหลวงพ่อคูณ สีผึ้งผสมน้ำมันช้างตกมันพระอาจารย์หมู วัดทรงธรรมฯ

ที่มา ข่าวสดออนไลน์




เบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เบี้ยแก้ สายวัดกลางบางแก้วถือว่าเป็นเบี้ยแก้สายที่นิยมกันมาก ที่นิยมที่สุดก็คือ เบี้ยแก้ของ หลวงปู่บุญ ซึ่งปัจจุบันหายากมากครับ การสร้างเบี้ยแก้ของสายวัดกลางบางแก้วนี้ก็สืบต่อมาถึงหลวงปู่เพิ่ม พระอาจารย์ใบ และหลวงปู่เจือ เบี้ยแก้ของวัดกลางบางแก้ว ทุกหลวงปู่นั้นมีพุทธคุณคุ้มครองป้องกันภัยดียอดเยี่ยม วันนี้ขอพูดถึงหลวงปู่เพิ่มกันครับ

พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่เพิ่ม ปุณณวสโน) นามเดิมว่า "เพิ่ม" ท่านเกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2429 ที่ตำบลไทยวาส อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โยมบิดาชื่อ เกิด โยมมารดาชื่อ วรรณ ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 8 ขวบ สืบต่อมาจนอายุครบบวช จึงได้อุปสมบทในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ณ พัทธสีมาวัดกลางบางแก้ว โดยมีสมเด็จพระสังฆราชแพ ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการจอม เจ้าอาวาสวัดตุ๊กตา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูทักษิณานุกิจ วัดสรรเพชญ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อท่านอุปสมบทแล้วก็ได้เล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดกลางบางแก้วตลอดมา และถือได้ว่าท่านเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดหลวงปู่บุญมากที่สุด เพราะท่านบวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ก็อยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่บุญมาตลอดจนกระทั่งหลวงปู่บุญมรณภาพ เป็นเวลาถึง 39 ปี ตลอดเวลานั้นท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ ทั้งทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนเวทวิทยาคมต่างๆ ไว้มากมาย หลวงปู่เพิ่มเป็นพระสงฆ์ที่บริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยศีล สมาธิ และปัญญาธรรม เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาธรรมหมดสิ้นกิเลสทั้งปวง หลวงปู่เป็นพระที่พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน สำเนียงของท่านนั้นมีแววความเมตตาผสานเอาไว้ ใครได้ฟังแล้วจะรู้สึกชุ่มชื่นใจ ใครๆ ได้สนทนากับท่านแล้วจะรู้สึกเคารพศรัทธาท่านทุกคนไป

หลวงปู่เพิ่มได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้วเมื่อ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 ปี

พ.ศ.2482 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ปี พ.ศ.2483 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอนครชัยศรี ปี พ.ศ.2489 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูพุทธวิถีนายก ปี พ.ศ.2495 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอกในราชทินนามเดิม ปี พ.ศ.2503 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญมีราชทินนามว่า พระพุทธวิถีนายก หลวงปู่เพิ่มมรณภาพ ด้วยโรคชราด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2526 สิริอายุได้ 97 ปี พรรษาที่ 76

หลวงปู่เพิ่มท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น ตะกรุดและเบี้ยแก้ นอกจากนี้ก็ยังมีพระเครื่องอีกหลายอย่าง ในส่วนของเบี้ยแก้ ผมได้เคยไปกราบหลวงปู่เพิ่มเพื่อขอเบี้ยจากหลวงปู่ในครั้งนั้นผมเองก็ไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก จึงเข้าไปกราบหลวงปู่เพิ่มเพื่อขอเบี้ยแก้เอาดื้อๆ เลย เนื่องจากนึกว่าจะขอได้เลย แต่ปรากฏว่าไม่ได้นะครับ ใครที่เคยไปขอให้หลวงปู่สร้างเบี้ยให้จะทราบดี แต่ผมเองไม่ได้รู้เรื่องมาก่อนก็ดุ่ยๆ ไปขอหลวงปู่เลย หลวงปู่เพิ่มมีเมตตามาก ท่านบอกว่าให้ไปจัดหาหอยเบี้ยและปรอทมา โยมที่อยู่กับหลวงปู่ก็ช่วยบอกให้ว่า ต้องไปจัดหาหอยเบี้ยและปรอทมาเอง ที่วัดไม่มี ใครอยากได้ก็ต้องไปจัดหามาขอให้หลวงปู่ช่วยสร้างให้ และช่วยแนะนำว่าให้ไปที่ตลาดที่ร้านขายเครื่องบวชเขาจะรู้ และจัดชุดให้ หลังจากนั้นจึงนำมาถวายหลวงปู่ แต่ก็ยังไม่ได้เลยนะครับ หลวงปู่บอกอีก 3 เดือนให้กลับมาดูอีกที ผมเองก็งงๆ อยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่กล้าถามหลวงปู่ จึงออกมาถามโยมที่อยู่กับท่านก็บอกว่า หลังออกพรรษาให้กลับมาดูว่าใช้ได้หรือไม่ (ช่วงที่ผมไปนั้นเป็นช่วงที่เข้าพรรษาพอดี) ผมก็ถามต่อว่าใช้ได้หรือไม่คืออะไร โยมท่านนั้นเลยกระซิบว่าหลวงปู่จะปลุกเสกเบี้ยจนกว่าจะเดินได้ ถ้ายังไม่ได้ก็ยังไม่มอบให้ ผมจึงเข้าใจ

ครับเบี้ยแก้สายวัดกลางบางแก้วนั้นไม่ใช่จะสร้างกันง่ายๆ ยังมีกรรมวิธีการสร้างนอกจากนี้อีกมาก กว่าจะเป็นเบี้ยแก้ของวัดกลางบางแก้ว จึงเป็นเบี้ยแก้ที่มีคนเชื่อถือกันมาก และใครมีไว้ต่างก็หวงแหนกันมากครับ วันนี้ผมขอนำรูปเบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว จากหนังสือ ตามรอยตำนานเครื่องรางของขลังขมังเวทย์ มาให้ชมครับ

ที่มา ชมรมพระเครื่อง แทน ท่าพระจันทร์ข่าวสดออนไลน์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 ธันวาคม 2561 16:01:49 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า:  [1] 2 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
กำเนิดความเป็นมา เครื่องรางของขลัง
เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
ไอย 6 5342 กระทู้ล่าสุด 23 ธันวาคม 2552 19:41:00
โดย Sweet Jasmine
ความจริงของ "วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง" โดยหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ
เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
That's way 1 2913 กระทู้ล่าสุด 27 เมษายน 2556 03:33:56
โดย That's way
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.725 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้