.เครื่องรางของขลัง การใช้เครื่องรางของขลัง แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยในสังคมดั้งเดิม ที่ยังหวาดกลัวภัยธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ โจรผู้ร้าย ศัตรู และศึกสงคราม
ราศี บุรุษรัตนพันธุ์ เขียนไว้ นานานุกรมขนบประเพณีไทย หมวดประเพณีราษฎร์ เล่ม 3 (คติความเชื่อ กรมศิลปากรพิมพ์ พ.ศ.2552) ว่า การคิดสร้างเครื่องรางของขลัง เกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลายประการ ป้องกันตัวเอง สร้างเสริม หรืออำนวยประโยชน์ ในอาชีพการงาน
ผู้ออกรบ จะพกพาพระเครื่อง และสวมเสื้อยันต์เพื่อป้องกันอันตราย
ผู้ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนา จะหาวัวธนู ควายธนู เพื่อป้องกันอาเพศไม่ให้มาสู่ไร่นาพืชผลของตนเอง
นักแสดง จะสรรหาสาลิกาลิ้นทองมาพกขณะทำงาน เพื่อให้ผู้คนรักใคร่เมตตาปรานี
เครื่องรางของขลังเหล่านี้ ถูกส่งต่อให้คนในสังคมเดียวกัน ครูอาจารย์มอบให้ศิษย์ พ่อแม่มอบให้ลูกหลาน
ผู้ใดมีความรู้ความสามารถสร้างเครื่องรางของขลัง จะต้องเป็นผู้มีความสำคัญ มีวัตรปฏิบัติดีงาม เป็นที่ยอมรับในสังคม
วัตถุที่นิยมนำมาใช้สร้างเครื่องรางของขลัง มักเป็นวัตถุหายากและสิ่งของผิดธรรมชาติ เช่น เขี้ยวสัตว์ เขี้ยวหมูตัน หอยเบี้ย กระดูกช้าง สะเก็ดดาว เขาสัตว์บางประเภท แร่เหล็กไหล ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ เชื่อกันว่ามีคุณพิเศษในตัวเอง จะเข้าพิธีปลุกเสกหรือไม่ก็ใช้ได้
เครื่องรางที่ตั้งใจประดิษฐ์ต้องมีการปลุกเสกลงคาถาอาคม เพื่อความศักดิ์สิทธิ์เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด ปลัดขิก มีดหมอ วัวธนู ควายธนู สาลิกาลิ้นทอง รวมถึงพระเครื่อง เหรียญพระ
ในทางพุทธศาสนา มีการกล่าวถึงพระพุทธคุณและการบูชาพระพุทธเจ้า อาจเป็นเครื่องป้องกันอันตราย บรรเทาความหวาดกลัว และการปองร้ายของภูตผี มีความเชื่อว่าพระพุทธรูป พระพิมพ์ที่สร้างเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการสร้างระบบเลขยันต์ มนตรา คาถาอาคม ซึ่งนิยมในพุทธศาสนาลัทธิตันตระ
ประเภทเครื่องรางของขลัง...มีตั้งแต่คัมภีร์พระปถมัง คัมภีร์นี้ถือเป็นปฐมบทเรื่องเวทมนตร์ ที่คนศึกษาต้องเริ่มเรียนรู้ ถือกันว่าเป็นคัมภีร์ที่บรรจุพระคาถาพุทธบริสุทธิ์ที่มีอานุภาพสูงสุด
ธงชัยเฉลิมพล ใช้ในการนำทัพ เป็นธงที่จะประจุอาคมอาถรรพณ์ไว้จำนวนมาก เพื่อให้กองทัพมีอำนาจเหนือคู่ต่อสู้ พระชัยหลังช้าง คือพระพุทธรูปที่จะอัญเชิญไปออกศึก โดยจะประทับอยู่บนหลังช้าง เชื่อว่าจะทำให้ชนะศึก
พระเครื่อง หรือพระพิมพ์ ที่จัดเป็นเครื่องราง
ตัวอย่าง พระลีลาเม็ดขนุน พระพิมพ์นี้สร้างในสมัยสุโขทัย พระโคนสมอ พระเครื่องที่สร้างในสมัยอยุธยา พบในกรุตามวัดโบราณ เป็นพระที่เชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์พลานุภาพด้านคงกระพันชาตรี
เรื่องที่ร่ำลือกันมาก คือเรื่อง
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นำพระแสงปืนยิงใส่พระโคนสมอ แต่เกิดเรื่องอภินิหาร ยิงไม่เข้า
มีดหมอเทพศาสตราวุธ นิยมกันมากในสมัยอยุธยา ใช้ถอนอาถรรพณ์ป้องกันภูตผีปีศาจ
เสื้อยันต์ ใช้ทางด้านคงกระพัน แคล้วคลาด เช่น เสื้อยันต์ที่ลงด้วยคาถา นะโมพุทธายะ ไตรสรณคมน์ และหัวใจคาถามหาอุด หรือลงด้วยพระนวโลกุตรธรรม คาถาพระเจ้าห้ามอาวุธ
ผ้าซิ่นแม่ เป็นเครื่องรางที่ทหารไทย นำติดตัวไปรบ ผ้าซิ่นแม่คือชายผ้าถุงของแม่ ผืนที่คลอดครั้งแรก ที่ลูกชายจะนำไปใส่ไว้ในหมวก
หำยนต์ คือยันต์ที่ติดไว้บนบานประตู ป้องกันคุณไสย เพราะเชื่อกันว่า ขณะนอนหลับ มนต์ถาคาจะเสื่อมลง
เขี้ยวเสือโปร่งฟ้า เป็นเขี้ยวเสือกลวง (ปกติเขี้ยวเสือจะตัน)
เพชรตาแมว เป็นดวงตาแมวที่ตาย หรือยังมีชีวิตอยู่ ลักษณะกลายเป็นหิน
งากำจัด งากำจาย เป็นงาช้างที่ชนต้นไม้หักคาทิ้งไว้ เป็นสิ่งที่พบได้ยาก
คด วัสดุธรรมชาติที่กลายเป็นหิน เช่น เม็ดมะขาม เม็ดขนุน เครื่องรางเหล่านี้ ใครมีติดตัวจะมีพลานุภาพด้านมหาอำนาจ ป้องกันภัย อันตราย ภูตผีปีศาจ
ในอดีต เครื่องรางของขลังถือเป็นของมีค่าทางจิตใจ บุคคลที่มีอยู่ในครอบครองจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ มีความประพฤติดี และจะมีได้เมื่อถึงโอกาสอันควร
แต่ปัจจุบัน เครื่องรางของขลังมีขายเกลื่อนกลาด ทำง่าย ซื้อง่าย คุณค่าจึงวิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากแนวทางของบรรพบุรุษไป จนไม่อาจเทียบกันได้เลย.
..
www.thairath.co.t