[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 พฤศจิกายน 2567 09:46:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 2 [3]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เครื่องรางของขลัง  (อ่าน 49360 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2478


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #40 เมื่อ: 14 มิถุนายน 2566 09:42:01 »



เหรียญหนุมานแบกพระสาวก พระโมคัลลานะ-พระสารีบุตร หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2566
คอลัมน์   โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2566


พระอุปัชฌาย์คง หรือหลวงพ่อคง ธัมมโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นพระเกจิอาจารย์ลุ่มแม่น้ำแม่กลองอีกรูปที่วัตรปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาไม่แพ้หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย

วัตถุมงคลโดยเฉพาะเหรียญปั๊มรุ่นแรกปี พ.ศ.2484 นับว่ายอดเยี่ยม จัดอยู่ในชุดเบญจภาคีเหรียญยอดนิยม เหรียญปั๊มอีกเหรียญที่นิยมมากเช่นกัน คือ เหรียญปาดตาล พ.ศ.2486 ก็เป็นเสาะแสวงหา ส่วนประเภทเหรียญหล่อก็เป็นที่นิยมกันมาก เพราะสมัยโบราณคนท้องถิ่นนิยมเหรียญหล่อมากกว่าเหรียญปั๊ม สร้างแจกชาวบ้านและลูกศิษย์อยู่หลายรุ่น ที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง คือ เหรียญหล่อหนุมานแบกพระสาวก สร้างช่วงประมาณปี 2484-2485 ในยุคสงครามอินโดจีน เป็นเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้บันทึกไว้

เหรียญหนุมานแบกพระสาวก ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงรี มีรูปพระพุทธเจ้าปางประทานพร มีรูปพระโมคัลลานะ-พระสารีบุตร พระอัครสาวกอยู่ด้านซ้ายและด้านขวา ด้านล่างลงมามีรูปหนุมานกางแขนแบกพระอัครสาวกไว้อีกที ส่วนพระบาทของพระพุทธองค์ชิดติดกับศีรษะหนุมาน  ด้านหลังเป็นรูปยันต์ เม อะ มะ อุ และยันต์ นะ มะ พะ ทะ เด่นทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด มีประสบการณ์มากมายมาตั้งแต่อดีต

เหรียญหล่อพิมพ์นี้ หลวงพ่อคง เคยปรารภว่า หนุมานเป็นลูกลมและมีอิทธิฤทธิ์มาก  ปัจจุบันหายากพอสมควร สนนราคาค่อนข้างสูง ของปลอมเลียนแบบก็มีอยู่มาก ถ้าจะเช่าหาควรศึกษาให้ดี 





หลวงพ่อคง ธัมมโชโต เกิดในสกุล จันทร์ประเสิรฐ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2407 ณ ต.บางสำโรง อ.บางคนที จ.สุมทรสงคราม บิดา-มารดา ชื่อ นายเกตุ และนางทองอยู่ จันทร์ประเสิรฐ  เล่ากันว่าท่านเกิดในเรือนแพ ซึ่งมีความเชื่อกันว่า ถ้าใครถือกำเนิดในห้องเล็กที่ใต้เรือนแพ จะต้องเป็นผู้ชายและครองสมณเพศเป็นพระภิกษุตลอดชีวิต โดยบิดา-มารดาซื้อเรือนนี้มาอีกทอดหนึ่ง  พออายุได้ 12 ปี บรรพชาที่วัดเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ระหว่างเป็นสามเณรมีความสนใจในวิชาเมตตามหานิยม  กระทั่งอายุได้ 19 ปี ลาสิกขาเพื่อไปช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ

ครั้นเมื่อมีอายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดเหมืองใหม่ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนสิงหาคม 2427 มีพระอาจารย์ด้วง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการจุ้ย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการทิม วัดเหมืองใหม่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ธัมมโชโต แปลว่า ผู้รุ่งเรืองในธรรม

จำพรรษาอยู่ที่วัดเหมืองใหม่ คอยอุปัฏฐากรับใช้พระอุปัชฌาย์ ด้วยอุปนิสัยที่รักการศึกษาเล่าเรียน ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางคันถธุระ วิปัสสนาธุระกับพระอุปัชฌาย์เป็นพื้นฐาน ต่อมาได้ไปศึกษากับพระเถระชื่อดังในยุคนั้นอีกหลายรูป

ได้ศึกษาคัมภีร์มูลกัจจายน์ ซึ่งเป็นตำราเรียนบาลีไวยากรณ์ในสมัยโบราณ กับอาจารย์นก ซึ่งเป็นอุบาสกในละแวกนั้นเป็นเวลา 13 ปี จนมีความคล่องแคล่วสามารถแปลธรรมบทตลอดจนคัมภีร์ต่างๆ ได้

นอกจากนี้ ยังสนใจการศึกษาวิทยาคม โดยร่ำเรียนกับพระเกจิชื่อดัง เริ่มแรกศึกษาคัมภีร์นี้กับพระอาจารย์ด้วง ซึ่งท่านเชี่ยวชาญการลบผงวิเศษ เป็นที่นับถือในสมัยนั้นต่อมาเล่าเรียนกับหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง พระเถระผู้ที่มีวิทยาคมอันแก่กล้า โดยเฉพาะวิชานะปัดตลอด  อีกทั้งยังได้ไปศึกษากับหลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก ผู้เชี่ยวชาญในพระกัมมัฏฐาน

หลวงพ่อคง ธัมมโชโต ในพรรษา 19 เกิดอาพาธ จึงหยุดพักผ่อน หันมาสอนสมถะกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานลูกศิษย์ลูกหา  เอาใจใส่การดูแลก่อสร้างเสนาสนะ เนื่องจากมีฝีมือในเชิงช่าง ในเบื้องต้นซ่อมแซมพอไตรที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมให้มีสภาพที่ดีขึ้น พร้อมกันนั้นก็ปั้นพระป่าเลไลย์ด้วยมือ  จนกระทั่งพรรษาที่ 21 ในปี พ.ศ.2448 ชาวบ้านใน ต.บางกะพ้อม อาราธนามาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งในขณะนั้นวัดบางกะพ้อมไม่มีสมภารปกครองวัด และวัดก็อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม ได้ฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัด ซึ่งชำรุดทรุดโทรม ด้วยท่านมีฝีมือในการพัฒนาเป็นทุนเดิม จึงทำให้การสร้างความเจริญให้แก่วัดสำเร็จลุล่วงในเวลาอันสั้น

พ.ศ.2464 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลบางกะพ้อม และแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

แม้จะมีภาระงานปกครองวัด แต่ในเดือน 4 ของทุกปี จะไปปักกลดในป่าช้าข้างวัดเป็นเวลาราว 1 เดือน เรียกกันว่า รุกขมูลข้างวัด ชำระจิตใจให้สะอาด หลังจากยุ่งกับเรื่องราวทางโลกเกือบตลอดทั้งปี

ช่วงบั้นปลายชีวิตอาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากมีงานอยู่หลายอย่างต้องทำ ด้วยเป็นกิจของสงฆ์ ทั้งงานการสร้างพระพุทธรูป การสร้างวัตถุมงคล ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2486 ขณะนั่งร้านเพื่อตกแต่งพระขนงพระพุทธรูปประธานองค์ใหม่ เมื่อสวมพระเกตุพระประธานแล้วเสร็จ ก็เกิดอาการหน้ามืด คล้ายจะเป็นลม แต่มีสติดี เอามือประสานในอิริยาบถนั่งสมาธิจนหมดลมถึงแก่มรณภาพในอาการอันสงบ

คณะศิษย์เห็นท่านนั่งอยู่นาน จึงประคองร่างลงมาจากนั่งร้าน จึงรู้ว่ามรณภาพไปแล้ว

สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58 •
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2478


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #41 เมื่อ: 14 พฤศจิกายน 2566 16:00:31 »


เครื่องรางเสือ-งาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน พระเกจิชื่อดังนครสวรรค์

เครื่องรางเสือ-งาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน พระเกจิชื่อดังนครสวรรค์

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม - 6 เมษายน 2566
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ.2566


“พระครูพิสิษฐสมถคุณ” หรือ “หลวงพ่อเฮง คังคสุวัณโณ” วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ พระเกจิชื่อดัง ต้นตำรับเครื่องรางงาแกะอันโด่งดัง พระอาจารย์ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์

เครื่องรางของขลังเป็นของคู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน ชนิดที่เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ก็เป็นที่นิยม เช่น เครื่องรางรูปเสือ มีพระเกจิอาจารย์หลายท่านที่จัดสร้างอาทิ เสือของหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน, เสือหลวงพ่อนก วัดสังกะสี

แต่หากเป็นในแถบพื้นที่ จ.นครสวรรค์ คือ “เสืองาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน”

ศึกษาวิทยาการต่างๆ มากมาย ทั้งวิทยาคม วิชาโหราศาสตร์ อีกทั้งแพทย์แผนโบราณ ออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อศึกษาวิปัสสนา และได้พบกับพระเกจิอาจารย์หลายรูปในป่าที่ได้ธุดงค์ไป

ระหว่างทางก็ได้พบกับงากำจัดและงากำจาย งาช้างประเภทนี้ เป็นงาช้างตัวผู้ที่ตกมัน และแทงงาหักปักติดต้นไม้ในป่าบ้าง หักคาตลิ่งน้ำในป่าบ้าง หรือที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงกันเป็นจ่าโขลงแล้วเกิดแตกหักตกหล่นอยู่ในป่าบ้าง จึงได้เก็บรักษาไว้

ต่อมาจึงได้นำมาให้ช่างแกะสลัก เป็นรูปคชสีห์ เสือ หมูโทน ฯลฯ จึงปลุกเสกและมอบให้แก่บรรดาลูกศิษย์ เพื่อไว้คุ้มครองป้องกันตัว

เครื่องรางของขลังรูปสัตว์แกะจากงา เชื่อกันว่ามีพุทธคุณเด่น ด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม

เสืองาแกะ หลวงพ่อเฮง มีอายุการสร้างร่วม 100 ปี เป็นเสือที่มีศิลปะในการแกะ มีตาคล้ายลูกเต๋า บริเวณแผงคอมีเส้นขนเป็นขีดยาว หางพาดหลังมีรอยบั้ง

หายากมากในปัจจุบัน เนื่องจากจำนวนงากำจัดและงากำจายที่ท่านเก็บมาจากในป่า แกะได้จำนวนไม่มาก

ดังนั้น ผู้ที่มีไว้ในครอบครองจึงหวงแหนและเป็นมรดกตกทอดกันต่อมา




หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน

อัตโนประวัติ หลวงพ่อเฮง คังคสุวัณโณ : เกิดเมื่อปี 2402 ที่บ้านมหาโพธิ์ ต.มหาโพธิ์ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ บิดาชื่อ นายสังข์ มารดาชื่อ นางเปี่ยม หลังเกิดมาครอบครัวก็มีฐานะดีขึ้นตามลำดับ บิดา-มารดาจึงตั้งชื่อให้ว่า “เฮง”

มีนิสัยเมตตาต่อสัตว์และชอบให้ทานแก่สัตว์มาตั้งแต่เด็กๆ ขนาดบิดาให้ไปเฝ้านา เห็นนกมากินข้าวก็ยังไม่ยอมไล่ เพราะถือว่าเป็นการให้อาหารทาน

ในเยาว์วัย เป็นคนที่รักการศึกษา เมื่อมีเวลาว่างจะไปหาหลวงพ่อทับ วัดมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้น เพื่อให้สอนวิชาให้ คือ วิชาแพทย์แผนโบราณ คชศาสตร์ และวิทยาคมต่างๆ พออายุได้ 12 ปี บรรพชาที่วัดมหาโพธิ์ใต้ อยู่ได้ 4 ปี ก็ลาสึกออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ

ครั้นอายุครบบวช เมื่อปี พ.ศ.2423 จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดมหาโพธิ์ใต้ โดยมีพระครูกิ่ม เจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ์ใต้ เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนโหราศาสตร์ และวิทยาคมต่างๆ อีกมากมายจากพระ อาจารย์กิ่ม ขณะเดียวกัน วัดมหาโพธิ์ใต้ ยังเป็นแหล่งรวบรวมวิชาการและตำราต่างๆ ไว้มากมาย อีกทั้งอุโบสถของวัดก็เป็นแบบมหาอุด ซึ่งเป็นที่ปลุกเสกเครื่องรางของขลังได้ยอดเยี่ยม และมีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี

วัดมหาโพธิ์ใต้ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง จึงมีพระเกจิอาจารย์ที่ออกธุดงค์มาแวะพักอยู่เสมอๆ จึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ จากพระเกจิอาจารย์เหล่านั้นไปด้วย

ต่อมาได้ออกธุดงค์ไปในป่าดงดิบต่างๆ ถึงพม่า เขมร และลาวหลายครั้ง

กลับมาจากธุดงค์พอดีกับทางวัดว่างเจ้าอาวาส ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสปกครองวัดมหาโพธิ์ใต้

พ.ศ.2449 เป็นเจ้าอาวาสปกครองถึง 2 วัด คือ วัดมหาโพธิ์ใต้ และวัดเขาดิน ซึ่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง ต่อมาได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาดิน เนื่องจากกำลังก่อสร้างศาลาการเปรียญอยู่

มีเหตุการณ์ที่ทำให้เป็นที่เลื่อมใสมาก คือ ได้บอกกับชาวบ้านว่า ให้จัดทำปะรำพิธีต้อนรับที่วัดเขาดิน ชาวบ้านต่างไม่เข้าใจว่าให้สร้างทำไม?

กระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จประพาสต้นไปกำแพงเพชร ทางชลมารคได้จอดเรือพระที่นั่งแวะที่วัดเขาดิน โดยไม่มีหมายกำหนดการ และชาวบ้านแถบนั้นไม่มีใครรู้

จดหมายเหตุของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 บันทึกไว้ว่า

“เมื่อมาถึงวัดเขาดินได้ยินเสียงมโหรีและพระสวด เห็นเวลายังวันอยู่จึงได้คิดแวะถ่ายรูป แต่ชายหาดน้ำตื้นเรือใหญ่เข้าไปไม่ถึง ต้องลงเรือเล็กลำเลียงเข้าไปอีก เดินหาดร้อนเหลือกำลังทั้งเวลาก็บ่ายสี่โมงแล้ว ไม่ตั้งใจจะขึ้นเขา แต่ครั้นเข้าถ่ายรูปที่เขาแล้วเห็นวัด วัดตระเตรียมแน่นหนามาก จึงเลยไปถ่ายรูป

ครั้นเข้าไปใกล้ดูคนตะเกียกตะกายกันหนักขึ้น จะต้องยอมขึ้นวัดวัดนี้มีเจ้าอธิการชื่อเฮง รูปพรรณสัณฐานดีกลางคน ไม่หนุ่มไม่แก่ เป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่คนจะนับถือมาก เพิ่งมาจากวัดมหาโพธิ์ใต้ที่ฝั่งตรงกันข้ามได้ 2 ปี แต่มีคนแก่สัปปุรุษและชาวบ้านหลายคนมาคอยอธิบายชี้แจงโน้นนี่ เจ้าอธิการว่าได้สร้างศาลาไว้หลังหนึ่งขัดเครื่องมุง จึงให้เงิน 100 บาท ช่วยศาลานั้น แล้วสัปปุรุษทายกชักชวนให้เข้าไปดูในวัด”

พัฒนาวัดเขาดิน จนมีความเจริญรุ่งเรือง เมื่อท่านได้พัฒนาวัดเขาดินแล้ว ท่านยังไปพัฒนาวัดมหาโพธิ์ใต้อีก ในที่สุดชาวบ้านจึงให้ท่านปกครองทั้ง 2 วัด คือ วัดมหาโพธิ์ใต้และวัดเขาดิน ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามฝั่งแม่น้ำถือว่าเป็นวัดพี่วัดน้อง

มรณภาพในเดือน 12 ปี พ.ศ.2485 สิริอายุ 83 ปี พรรษา 63 •




หมูทองแดง หลวงปู่เส็ง

เครื่องรางหมูทองแดง หลวงปู่เส็ง จันทรังสี วัดบางนา จ.ปทุมธานี

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 เมษายน 2566
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ.2566


วัดบางนา อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นวัดเก่าแก่ที่ชาวรามัญสร้างขึ้น และเป็นสถานศึกษาแก่บรรดาลูกหลานในย่านนั้น

เดิมอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันตก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดบางนา ต่อมาย้ายร่นลงไปอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา

ในอดีตมีชื่อเสียง มีคนไปทำบุญที่วัดมากที่สุด เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ มีพระไปบวชศึกษาเล่าเรียนมาก ปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด ชาวบ้านจึงเลื่อมใสศรัทธา

โดยเฉพาะ “พระครูมงคลธรรมสุนทร” หรือ “หลวงปู่เส็ง จันทรังสี” อดีตเจ้าอาวาสวัดบางนา ถือว่าเป็นพระที่ได้รับสมณศักดิ์รูปแรก และเป็นผู้เริ่มทำพระเครื่องวัตถุมงคลของวัดบางนา จนโด่งดัง

เริ่มสร้างวัตถุมงคลตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง

ที่โด่งดังและรู้จักกันมาก คือ หมูทองแดง

มูลเหตุในการสร้าง คือ ในราวปี พ.ศ.2515 มีคนนำหมูตัวหนึ่งไปโยนน้ำ หวังจะให้ตาย เดชะบุญหมูลอยมากับผักตบชวา และมาหยุดอยู่ที่ตรงท่าน้ำวัด มีคนได้ยินเสียงร้องและได้ช่วยชีวิตไว้

จึงเลี้ยงหมูตัวนี้ ชั่วระยะเวลาไม่ถึงปี หมูตัวนี้ก็เติบใหญ่กินนอนอยู่ข้างกุฏิ

ต่อมาในปี พ.ศ.2521 หมูตัวนี้เกิดตาย ญาติโยมจึงช่วยกันนำออกไปจากวัด โดยไม่ได้แจ้งหลวงปู่ จากนั้นก็นำไปแล่เนื้อ แต่ปรากฏว่าแล่ไม่เข้า หมูตัวนี้มีเขี้ยวงอกยาวออกมาและปรากฏว่าเป็นเขี้ยวตัน

หลวงปู่เส็งจึงได้ให้ลูกศิษย์ออกแบบสร้างเครื่องรางรูปหมูทองแดง โดยจารอักขระในแผ่นทองสามกษัตริย์ เป็นชนวนหล่อ เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ประกอบพิธีภายในอุโบสถของวัดบางนา โดยมีพระเกจิอาจารย์ในจังหวัดปทุมธานี 10 รูป นั่งสวดในพิธีกรรม

จากนั้นนำไปปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็มอบให้ศิษยานุศิษย์และญาติโยมที่มาทำบุญบูชา จนเกิดประสบการณ์ต่างๆ มากมาย

จัดเป็นเครื่องรางยอดนิยมที่ต่างก็เสาะแสวงหา




หลวงปู่เส็ง จันทรังสี ชาติภูมิ เป็นคนพื้นเพละแวกวัด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2444 พ่อเป็นชาวจีนล่องเรือสำเภาจากเมืองจีนมาอยู่ที่สามโคก บิดาชื่อ จู แซ่บุญเซ็ง เป็นชาวจีน มารดาชื่อ เข็ม เชื้อสายรามัญ ครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด 7 คน พี่น้องเสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษด้วยกันหมด เหลือเพียงท่านเท่านั้น

บวชเมื่อปี พ.ศ.2465 โดยเจ้าคุณพระรามัญมุนี วัดบางหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูบวรธรรมกิจ หรือหลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงปู่ทัด ลาหุโล เจ้าอาวาสวัดบางนา มีศักดิ์เป็นน้าชาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า จันทรังสี

เล่าเรียนอักขระเลขยันต์จากพระอาจารย์ต่างๆ และมีการเรียนภาษาขอมและภาษารามัญ ศึกษาเล่าเรียนทั้งสองภาษาจนแตกฉาน

นอกจากนี้ ยังไปศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงปู่เทียน ที่วัดโบสถ์อีกด้วย

มีปฏิปทาในการใฝ่หาวิชาความรู้มาก ใครแนะนำสั่งสอนท่านก็จดจำไว้เป็นอย่างดี หลวงปู่ท่านเชี่ยวชาญด้านภาษาขอมเป็นพิเศษ เรื่องอักขระเลขยันต์ต่างๆ

กระทั่งปี พ.ศ.2486 หลวงปู่ทัด เจ้าอาวาสวัดบางนามรณภาพ จึงได้รับแต่งตั้งให้รักษาการเจ้าอาวาส

ในปี พ.ศ.2487 สามารถสอบนักธรรมชั้นเอก และ พ.ศ.2489 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ

ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็บูรณปฏิสังขรณ์วัดจนรุ่งเรือง รับงานการสร้างโบสถ์ต่อจากหลวงปู่ทัด อดีตเจ้าอาวาสที่ทำคั่งค้างไว้จนสำเร็จลุล่วงลงด้วยดี

เป็นพระปฏิบัติมักจะออกธุดงค์ไปปริวาสกรรม ทุกปีมิได้ขาด มีปฏิปทาในทางสมถะ บริกรรมภาวนาเจริญพระคาถาวิชาอาคมต่างๆ

เล่ากันว่าเวลาว่างจากงานที่ต้องกระทำ จะนั่งนับลูกประคำที่คล้องคออยู่ บริกรรมพระคาถาเนืองนิตย์

เป็นสมภารปกครองวัดเรื่อยมาจนกระทั่งอายุ 65 ปี จึงเริ่มทำวัตถุมงคล การทำวัตถุมงคลครั้งแรกนั้นสร้างพระผงสมเด็จ 3 ชั้น รุ่นแรกของวัดบางนา ในปี พ.ศ.2510 หลังจากสร้างพระผงสมเด็จ 3 ชั้นมอบให้ลูกศิษย์ลูกหา

นอกจากนี้ ยังสร้างพระกริ่งรูปเหมือนท่าน มีทั้งแบบหลังตรงและหลังค่อม เนื้อทองแดงผสม สร้างพระปิดตาเนื้อทองเหลืองผสม สร้างเหรียญรูปไข่ รุ่นขี่วัวเนื้อทองแดงผสม สร้างเหรียญจอบรูปเหมือน มีทั้งจอบเล็กและจอบใหญ่ สร้างเหรียญหยดน้ำเนื้อทองแดงผสม สร้างรูปหล่อเนื้อผงปิดทอง

ที่กล่าวมานี้เป็นวัตถุมงคลรุ่นเก่าๆ ที่หลวงปู่สร้างขึ้นมา

วัตรปฏิบัติงดงามเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นผู้สงบเสงี่ยม พูดน้อย ใจดี มีอะไรแล้วใครขอเป็นต้องให้ผู้นั้นเสมอ เมื่อมีผู้ใดนำปัจจัยสี่มาถวาย มิได้เก็บไว้เป็นส่วนตัวเลย โดยจัดเฉลี่ยให้พระสงฆ์ที่อยู่ในวัด ถ้ามีมากก็จะมอบให้เป็นค่าก่อสร้างถาวรวัตถุ

นำเงินไปสร้างวัดวังหิน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ได้ทำนุบำรุงหมู่กุฏิเสนาสนะวัดบางนาที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น

สาเหตุที่ไปสร้างวัดวังหินอีกแห่งหนึ่งนั้น ก็เนื่องจากท่านเห็นว่าสมัยนั้นชาวบ้านยากจนมาก ถิ่นที่อยู่ก็ทุรกันดารเป็นแหล่งหลบซ่อนของเหล่าเสือปล้น เกรงว่าชาวบ้านและลูกหลานจะมีนิสัยดุร้ายกันไปหมด

วันที่ 21 มกราคม 2531 มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 87 ปี พรรษา 66 •
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2478


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 121.0.0.0 Chrome 121.0.0.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #42 เมื่อ: 09 กุมภาพันธ์ 2567 07:59:56 »






เครื่องรางลิงไม้แกะสลัก หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว พระเกจิลุ่มน้ำบางปะกง

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 เมษายน 2566
คอลัมน์ - โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันพฤหัสที่ 13 เมษายน พ.ศ.2566


พระเกจิที่ได้รับการยกย่อง “พระครูพิบูลย์คณารักษ์” หรือ “หลวงพ่อดิ่ง คังคสุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอุสภาราม (บางวัว) อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง ได้รับความนิยมสะสม ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ คือ “ลิงแกะ” ที่แกะสลักจากรากต้นรักและรากต้นพุดซ้อน ซึ่งต้องมีเคล็ดลับหรือกรรมวิธีเฉพาะในการขุดรากของต้นไม้ทั้งสองชนิด ดังนี้

1. เวลาขุดรากต้องดูฤกษ์หามยามดี

2. ไม้ที่นำมาแกะตามตำรากล่าวไว้ว่า แกะจากรากต้นรักซ้อนหรือรากต้นพุดซ้อนที่ตัวรากชอนไปทางทิศตะวันออก

3. ผู้ที่ขุดต้องนุ่งขาวห่มขาว และอยู่ในมุมที่ห้ามทับเงาตัวเอง จึงจะเป็นรากที่ใช้ได้

4. ขณะขุดต้องคิดแต่สิ่งที่ดี และภาวนาพระคาถาตลอดเวลาที่ทำการขุด

เริ่มสร้างแจกลูกศิษย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 เป็นต้นมา ในแต่ละครั้งจะทำจำนวนไม่มาก โดยจะให้ลูกศิษย์จำนวน 4-5 คน ช่วยกันแกะ โดยมีรูปแบบเป็นลิงนั่งยอง มีหางพันเป็นฐาน และในมือถืออาวุธ เช่น กระบอง พระขรรค์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีแบบไม่ถืออาวุธด้วย

ในส่วนขั้นตอนการปลุกเสก ทำได้เข้มขลัง ด้วยการให้ลูกศิษย์นำศัสตราวุธนานาชนิด นำมากองรวมไว้ในอุโบสถ และนำหนังเสือผืนใหญ่มาห่มทับบนกองอาวุธ ท่านนั่งทับบนหนังเสือ ส่วนลิงที่แกะเอาไว้นำมารวมใส่ไว้ในบาตร ตั้งไว้ด้านหน้า

ร่ำลือกันว่า จะปลุกเสกจนลิงไม้เหล่านั้นกระโดดออกจากบาตรจนหมดทุกตัว เป็นอันเสร็จพิธี

ลิงหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว เชื่อว่ามีพุทธคุณสูงล้ำด้านเมตตามหานิยมและด้านคงกระพันชาตรี

ผู้ที่มีลิงแกะจะใช้คาถาหนุมาน เริ่มจากตั้งนะโม 3 จบ กล่าวพระคาถา ดังนี้ “หนุมานะ นะมะพะทะ” อุปเท่ห์การใช้พระคาถาดังกล่าว คือ ให้เสกตามกำลังวัน เช่น เสาร์ 10 อาทิตย์ 6 จันทร์ 15 อังคาร 8 เป็นต้น




หลวงพ่อดิ่ง คังคสุวัณโณ

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2420 ที่บ้านบางวัว ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

เข้าวัยการศึกษา บิดามารดานำไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับพระภิกษุที่วัดบางวัว ซึ่งรับการอุปถัมภ์ด้วยดี ยามว่างจะเข้ามาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนา

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันเสาร์ที่ 10 เมษายน 2440 ที่พัทธสีมาวัดบางวัว มีพระอาจารย์ดิษฐ์ พรหมสโร วัดบางสมัคร ต.บางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์จ่าง วัดบางสมัคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ปลอด วัดบางวัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า คังคสุวัณโณ มีความหมายว่า “ผู้มีจิตชุ่มเย็นเช่นดังแม่น้ำ และแกร่งเช่นดังทองคำ”

อยู่จำพรรษาที่วัดบางวัว ศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นเวลา 2 พรรษา หลังจากนั้น เดินทางเข้ากรุง ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดไตรมิตรวิทยาราม (วัดสามจีน) ในสมัยที่พระครูวิริยกิจจการี หรือหลวงพ่อโม ธัมมสโร ยังมีชีวิต

จากบันทึกที่เล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า “ขณะที่มาอยู่ที่วัดไตรมิตรฯ เพียง 1 พรรษา พระอธิการเปีย เจ้าอาวาสวัดบางวัว มรณภาพลง พระภิกษุในวัดและญาติโยม ประชุมปรึกษากัน มีมติให้ไปนิมนต์กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อไป”

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจขัดศรัทธาและเดินทางมาครองวัดบางวัวตั้งแต่ปี พ.ศ.2443

เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เริ่มพัฒนาถาวรวัตถุต่างๆ ในวัด ซึ่งขณะนั้นกำลังชำรุดทรุดโทรม จึงพัฒนาให้ศึกษาพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณร

เคยปรารภให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเสมอ ว่า “อาจารย์ที่ฉันได้เล่าเรียนวิชามาด้วยกันจริงๆ มีอยู่ 3 องค์ คือ หลวงพ่อดิษฐ์ พรหมสโร วัดบางสมัคร ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเปิ้น วัดบ้านเก่า ต.บ้านเก่า อ.พานทอง จ.ชลบุรี และหลวงพ่อเปอะ วัดจวนเขื่อนขันธ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ”

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2443 เป็นเจ้าอาวาสวัดบางวัว

พ.ศ.2452 เป็นเจ้าคณะตำบลบางวัว

พ.ศ.2463 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2479 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอบางปะกง

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่พระครูพิบูลย์คณารักษ์

ด้านวัตถุมงคล กล่าวขานกันว่า ในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีเหรียญดังที่สนนราคาเหรียญค่อนข้างสูง เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการเหรียญพระคณาจารย์ คือเหรียญหลวงพ่อโสทธร รุ่นปี พ.ศ.2460, เหรียญหลวงคง วัดซำป่างาม และเหรียญหลวงพ่อดิ่ง วัดอุสภาราม

เป็นพระเถราจารย์ที่เคร่งในวัตรปฏิบัติ มีเมตตาจิต และเชี่ยวชาญแตกฉานในทุกสาขาวิชา รวมถึงพุทธาคมต่างๆ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา วัตถุมงคลของท่านล้วนเป็นที่นิยมสะสมทั้งสิ้น ความโดดเด่นเป็นพิเศษและปัจจุบันนับว่าหาดูหาเช่าได้ยากยิ่ง

ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ขณะที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมสวดปาติโมกข์ ตรงกับวันที่ 6 สิงหาคม 2495 สิริอายุ 75 พรรษา 55

ทุกวันนี้ วัตุมงคล โดยเฉพาะเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปี พ.ศ.2481 เป็นอีกวัตถุมงคลที่เสาะแสวงหา •
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2478


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 121.0.0.0 Chrome 121.0.0.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #43 เมื่อ: 01 มีนาคม 2567 14:48:41 »



ท้าวเวสสุวัณ เจ้าคุณศรี (สนธิ์)

รูปหล่อท้าวเวสสุวัณ ต้นตำรับ ‘เจ้าคุณศรี’ วัดสุทัศนเทพวราราม

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 เมษายน 2566
คอลัมน์ - โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2566


ช่วงปี พ.ศ.2565-2566 กระแสความนิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่โด่งดัง คงไม่พ้น “ท้าวเวสสุวัณ” ผู้ที่มีความศรัทธาไปกราบไหว้ขอพร เชื่อว่าจะบันดาลโชคลาภ ความสำเร็จ รวมถึงปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้หมดไป

กล่าวกันว่า ท้าวเวสสุวัณ ในวัดหลายแห่ง มักจะทำรูปยักษ์ไว้ ซึ่งสร้างไว้เพื่อให้คุ้มครองป้องกันภัยให้กับวัดจากภูตผีปีศาจ จะไม่สามารถเข้ามาในเขตอารามได้

ท้าวเวสสุวัณ ความจริงเป็นเทพองค์หนึ่งที่คุ้มครองรักษาด้านทิศเหนือ ในทางศาสานาพราหมณ์ ถือว่าเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลทั้ง 4 องค์ ซึ่งสถิตอยู่บนโลกเป็นผู้รักษาโลกตามทิศต่างๆ ถือกระบองเป็นอาวุธ ถือกันว่าเป็นหัวหน้าหรือเป็นนายของภูตผี ยักษ์ และอมนุษย์ทั้งปวง

ท้าวเวสสุวัณเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งเรื่องเครื่องรางของขลัง โดยถือเอากระบองของท้าวเวสสุวัณมาเป็นเคล็ดเพื่อให้ภูตผีปีศาจกลัวเกรง

“พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร)” หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกขานในสมณศักดิ์เดิมว่า “ท่านเจ้าคุณศรี”

เป็นศิษย์สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม

สร้างวัตถุมงคลพระเครื่อง และพระกริ่งรุ่นต่างๆ ไว้หลายรุ่น ล้วนได้รับความนิยมกว้างขวาง

กล่าวกันว่า ในสำนักวัดสุทัศน์ เคยสร้างรูปหล่อท้าวเวสสุวัณองค์เล็ก โดยท่านเจ้าคุณศรี

มูลเหตุการสร้างท้าวเวสสุวัณ เนื่องมาจากครั้งที่ท่านเจ้าคุณศรีไปก่อสร้างอุโบสถวัดศรีจอมทอง (วัดตีนโนน) อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านเกิด ชาวบ้านแถวนั้นมักจะปรารภเสมอว่า ในพื้นที่นี้มีภูตผีปีศาจมาหลอกหลอนรบกวนอยู่เสมอ จนไม่เป็นอันทำงานทำการ

“ท่านเจ้าคุณศรี” จึงสร้างรูปท้าวเวสสุวัณ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2492 มอบให้แก่ช่างก่อสร้างและชาวบ้าน หลังจากนำรูปหล่อท้าวเวสสุวัณมาแจกแล้ว เรื่องผีปีศาจก็เงียบหายไป เป็นการบำรุงขวัญให้แก่ชาวบ้านแถบนั้นได้เป็นอย่างดี

ท้าวเวสสุวัณที่ “ท่านเจ้าคุณศรี” สร้างนั้น สร้างเป็นรูปท้าวเวสสุวัณยืนถือกระบอง เนื้อเป็นเนื้อทองผสม วรรณะออกเหลืองอมเขียว โดยนำเอาชนวนที่ได้จากการเทพระกริ่งรุ่นก่อนๆ มาผสมลงไปในเนื้อโลหะ เป็นการหล่อแบบเทตัน

เท่าที่พบมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่ฐานมีผ้าทิพย์ กับแบบที่ฐานไม่มีผ้าทิพย์ แบบฐานมีผ้าทิพย์จะมีค่านิยมสูงกว่าแบบฐานไม่มีผ้าทิพย์

เชื่อว่าพุทธคุณเด่นในทุกด้าน โดยเฉพาะปราบภูตผีปีศาจ




พระมงคลราชมุนี (สนธ์ ยติธโร)

นามเดิม สนธิ์ พงศ์กระวี เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2446 ที่ ต.บ้านป่าหวาย กิ่ง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายสุขและนาง ทองดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 11 คน

อายุ 11 ขวบ บิดาถึงแก่กรรม มารดาจึงนำมาฝากไว้กับพระภิกษุบุญ (หลวงตาบุญ) ซึ่งเป็นญาติที่วัดสุทัศนเทพวราราม คณะ 15 เพื่อให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ตามคตินิยมที่เล่าเรียนกันในยุคนั้น คือ เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์

อายุ 13 ปี บรรพชาโดยมีพระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ ฐานานุกรมในพระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมจนถึงเดือนเมษายน 2459 ย้ายไปอยู่ที่วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ในความปกครองของพระพุทธิวิถีนายก เจ้าคณะจังหวัดนครปฐมขณะนั้น

จนถึง พ.ศ.2460 จึงย้ายกลับมาอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ ตามเดิม พ.ศ.2464 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2465 สอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ.2466 เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระพิมลธรรม (นาค สุมนนาโค) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพเวที และยังอยู่ที่วัดสุทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า ยติธโร

พ.ศ.2468 สอบเปรียญธรรมได้ 4 ประโยค พร้อมทั้งได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมรักขิต ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุฒาจารย์

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2469 เวลาประมาณ 04.00 น.เศษ ประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก ถูกคนวิกลจริตฟันด้วยมีดตอก ได้รับบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่ง

ผลจากการถูกทำร้ายอย่างสาหัสในคราวนั้น ทำให้อาพาธหนักไปประมาณ 3 เดือน เมื่อหายแล้วจึงกลับคืนอยู่ที่วัดสุทัศน์ตามเดิม และเมื่อมาถึงได้ขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) ทรงรับสั่งว่า “อ๋อ! มหาสนธิ์ เธอหายดีแล้วหรือ” แล้วท่านก็รับสั่งเรียกให้เข้าไปใกล้ ทรงจับศีรษะไว้แล้วทรงเป่าให้ 3 ครั้ง พร้อมกับทรงรับสั่งต่อไปอีกว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไปจะไม่มีอะไรอีกแล้ว”

พ.ศ.2474 สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค

รับตำแหน่งฐานานุกรมต่างๆ ตามลำดับ พร้อมกับได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งโหรศาสตร์ ไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา ฯลฯ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2481 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีสัจจญาณมุนี

วันที่ 8 ธันวาคม 2493 ได้เลื่อนจากตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ ขึ้นเป็นพระราชาคณะเสมอชั้นราชที่ พระมงคลราชมุนี

เป็นผู้เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ หลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) พระอุปัชฌาย์ ทรงประสาทศิลปวิทยาการ คือ ตำรับและพิธีกรรมการสร้างพระพุทธรูปและพระกริ่ง ให้แก่ท่านจนหมดสิ้น

สืบสานพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ในเวลาต่อมาอย่างถูกต้องตามตำราทุกประการ

เมื่อว่างในด้านปริยัติศึกษา กลับเพิ่มภารกิจในหน้าที่ของพระมหาเถราจารย์ ได้รับนิมนต์ให้ไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นเนืองนิตย์ รวมทั้งต้องนั่งปรกเข้าพิธีสวดพุทธาภิเษก นั่งปรกไปจนกว่าจะได้ฤกษ์เททอง การประกอบพิธีเช่นนี้แต่ละครั้งทำให้สุขภาพค่อยๆ เสื่อมทรุดลงทุกที

ท้ายที่สุด เมื่ออาการอาพาธกำเริบ ทรุดหนัก จนสุดที่คณะแพทย์จะเยียวยา

คืนวันที่ 16 มกราคม 2495 เวลา 21.20 น. จึงมรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ •
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2478


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #44 เมื่อ: 24 มีนาคม 2567 19:28:56 »


เบี้ยแก้ หลวงพ่อพัก

‘เบี้ยแก้’ หลวงพ่อพัก วัดโบสถ์ พระเกจิชื่อดัง จ.อ่างทอง

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 มิถุนายน 2566
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2566


หลวงพ่อพัก (ภักตร์) จันทสุวัณโณ วัดโบสถ์ จ.อ่างทอง พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีเมตตาธรรม มักน้อย ถือสันโดษ มีพลังจิตที่เข้มขลัง วิทยาคมแก่กล้า นามขจรขจายไปแสนไกล

สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ เช่น เหรียญรูปเหมือน มีทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง แต่ค่อนข้างหายากและสนนราคาสูง

เครื่องรางของขลัง ทั้งสิงห์งาแกะ, ตะกรุดโทน, ตะโพนงาแกะ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นที่นิยม

ส่วนเบี้ยแก้ ก็เป็นสุดยอดเครื่องรางของขลัง ครบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านป้องกันคุณไสย ยาสั่ง แก้เหตุร้ายให้กลายเป็นดี แคล้วคลาดปลอดภัย และคงกระพันชาตรี

สร้างจากตัวหอยเบี้ยบรรจุปรอท โดยนำเบี้ยใส่พานทองเหลือง นำปรอทใส่ขวดเล็ก ตั้งอยู่อีกพานหนึ่งวางคู่กันใช้หญ้าคาแห้งทำเป็นสะพานต่อจากขวดปรอทถึงตัวเบี้ย บริกรรมคาถาให้ปรอทไหลเข้าไปอยู่ในตัวเบี้ยจนเต็ม อุดด้วยชันโรงใต้ดิน แล้วปิดทับด้วยตะกรุดที่ม้วนแล้วทุบให้แบน แปะทับบนชันโรง

เมื่อรวบรวมเบี้ยแก้ได้จำนวนหนึ่ง ก็จะให้ลุงประเสริฐ มาลัยนาค เป็นผู้ถักเชือกหุ้ม

การถักเชือกนั้น จะถักเปิดด้านบนของตัวเบี้ยให้เห็นลายหอยเบี้ย ลายถักส่วนมาก ถักเป็นลายกระสอบ วนเป็นเส้นรูปไข่ตามตัวเบี้ย

การถักห่วงจะถักเป็นด้านหลังสองห่วง หรือด้านบนหูเดียวก็มี บางตัวอาจจะมีที่ทำเป็นตะกรุดร้อยเชือกคาดเอวก็มี มีทั้งจุ่มรักและไม่จุ่มรักก็มี

หลังจากถักเชือกเสร็จ หลวงพ่อพักจะปลุกเสกซ้ำอีกครั้งหนึ่งแล้วมอบแก่ให้แก่ลูกศิษย์ลูกหา

เครื่องรางของขลังล้วนเป็นของดีที่น่าเสาะหาไว้คุ้มครอง ครอบคลุมในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบี้ยแก้ นับเป็นสิ่งดีเยี่ยม ซึ่งคนเก่าแก่หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในอดีตจนถึงปัจจุบันของเมืองอ่างทอง ล้วนต้องการหามาติดตัว

มีความเชื่อว่าเพื่อจะได้เติบโตในหน้าที่การงานให้ดียิ่งขึ้นไป




หลวงพ่อพัก จันทสุวัณโณ

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2425 ตรงกับวันอังคาร เดือน 11 ปีมะเมีย ที่บ้านท่ามะขาม ต.ดอนปรู อ.วิเศษชัยชาญ (ปัจจุบัน ขึ้นกับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี) บิดาชื่อ นายถมยา เป็นชาวบ้านอบทม มารดาชื่อ นางพุก เป็นชาวจังหวัดปทุมธานี มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3

ในวัยเด็ก บิดานำไปฝากเรียนหนังสือกับหลวงปู่เถื่อน เจ้าอาวาสวัดหลวง ต.ยี่ล้น อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง จนอ่านออกเขียนได้

อายุครบ 20 ปี ในปี พ.ศ.2445 เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดอ้อย อ.วิเศษชัยชาญ มีหลวงปู่เถื่อน วัดหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า จันทสุวัณโณ

หลังอุปสมบท ติดตามพระรัตนมุนี ซึ่งเป็นพระพี่ชายมาอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาคันถธุระและวิปัสสนากัมมัฏฐาน อยู่ที่สำนักพระอาจารย์อูฐ โดยเรียนอยู่ 9 พรรษา จนเชี่ยวชาญทั้งคันถธุระ โดยเฉพาะทางด้านวิปัสสนา

ต่อมาในปี พ.ศ.2454 หลวงปู่เนตร เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ มรณภาพ ด้วยความศรัทธาของญาติโยมและชาวบ้านแถบบ้านอบทม และบ้านโคกจันทร์จึงได้นิมนต์ให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดโบสถ์ และในปี พ.ศ.2455 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส

หลวงพ่อพัก มีอาจารย์อยู่หลายท่าน ได้แก่ อาจารย์วาต ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชาย อยู่ที่บ้านท่ามะขาม ต.ดอนปรู อดีตเคยเป็นขุนโจรผู้ยิ่งใหญ่แถวชานเมืองอ่างทองและสุพรรณบุรี และเป็นผู้ที่มีวิทยาคมสูง

ต่อมาได้เลิกราในอาชีพทุจริตโดยสิ้นเชิง แล้วหันเข้าสู่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เคยถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้แก่หลวงพ่อพักจนหมดสิ้น โดยเฉพาะวิชาเบี้ยแก้ ตะกรุดโทน ผ้ายันต์แดง ฯลฯ

พระอาจารย์อีกรูปหนึ่ง คือ หลวงปู่บุญ จากแขวงเมืองพิจิตร ซึ่งได้ธุดงค์ล่องมาถึงแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ จนได้มาพบกับหลวงพ่อพัก และถ่ายทอดวิชาปลุกเสกเขี้ยวเสือแกะ งาช้างแกะ และวิทยาคมต่างๆ ให้

นอกจากนี้ ยังมีสหธรรมิก คือ พระครูวิตถารสมณกิจ (คำ ปัญญาสาโร) วัดโพธิ์ปล้ำ, พระอุปัชฌาย์ (ซำ) วัดตลาดใหม่, หลวงปู่ภู วัดดอนรัก, หลวงปู่จัน วัดนาคู เป็นต้น

ห้วงเวลาที่เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนเดินทางมาทําบุญกับวัดเป็นประจํา ด้วยต่างมาขอให้หลวงพ่อพัก ช่วยเป็นที่พึ่งในเรื่องต่างๆ เช่น ในเรื่องค้าขาย หรือขอเครื่องรางของขลังไว้คุ้มครองตัว โดยสมัยนั้นท่านมีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์เป็นจํานวนมาก

หลวงพ่อพัก ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี พ.ศ.2461 เป็นเจ้าคณะตำบล พ.ศ.2462 ตามลำดับ

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อราวปี พ.ศ.2485 ตรงกับปีจอ สิริอายุ 60 ปี พรรษา 40

สร้างความเศร้าสลดแก่คณะศิษย์และผู้ที่ศรัทธาเป็นอย่างมาก •
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2478


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 123.0.0.0 Chrome 123.0.0.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #45 เมื่อ: 07 เมษายน 2567 13:24:37 »


พระปิดตา พ่อท่านมุ่ย

พระปิดตาน้ำนมควาย วัตถุมงคล ‘พ่อท่านมุ่ย’ พระเกจิชื่อดังปากพนัง

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มกราคม 2567
คอลัมน์ - โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2567


“พ่อท่านมุ่ย จันทสุวัณโณ” หรือ “พระครูนิโครธจรรยานุยุต” วัดป่าระกำเหนือ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ชาวใต้ให้ความเลื่อมใสศรัทธา

หนึ่งในพระเกจิอาจารย์ในพิธีพุทธาภิเษก จตุคามรามเทพรุ่นแรก ปี 2530 พระเครื่องและวัตถุมงคลแต่ละชนิดแต่ละรุ่น เช่น พระปิดตา พระพิมพ์ประทานพร ลูกอม จะปลุกเสกเดี่ยว

พระเครื่องที่โด่งดัง เป็นที่นิยมกันมากและหายาก คือ “พระปิดตาน้ำนมควาย” สร้างจำนวนไม่มาก

รุ่นแรก มีทั้งพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ซึ่งพิมพ์ใหญ่จะเป็นที่นิยมมากกว่า

พระปิดตาน้ำนมควายรุ่นแรกนั้น กรรมวิธีการสร้างพิถีพิถัน และสร้างยากมาก ขั้นแรก จะทำแท่งดินสอที่จะนำมาเขียนอักขระ โดยทำจากข้าวเม่าตำผสมกับสมุนไพรและมวลสารต่างๆ ตามตำราโบราณ ปั้นเป็นแท่งใช้เขียนอักขระลงบนกระดานชนวนพร้อมบริกรรมคาถาไปด้วย แล้วลงอักขระทำผงปถมังด้วยนะต่างๆ จนผงทะลุกระดานชนวน

ในครั้งแรกๆ ผงหายไปหมด จึงไปปรึกษากับพ่อท่านหมุน วัดเขาแดงตะวันออก ซึ่งเป็นสหธรรมิก ได้รับคำแนะนำให้ใช้ใบกล้วยทองลงอักขระยันต์ผูกธรณีรองรับ จึงจะได้ผงปถมัง จากนั้นก็เพียรสร้างผงวิเศษเป็นเวลาหลายปีเก็บไว้ ก่อนจะนำมาสร้างเป็นพระเครื่อง โดยใช้น้ำนมควายเป็นตัวประสาน

พ่อท่านมุ่ยบอกว่า “น้ำนมวัว น้ำนมควาย ชุบเลี้ยงคนบนโลกนี้มานานแล้ว เป็นสัตว์ที่มีคุณต่อมนุษย์”

ด้วยเหตุที่น้ำนมควาย มีความข้นกว่าน้ำนมวัว จึงใช้น้ำนมควายเป็นตัวประสาน ขั้นตอนในการเคี่ยวน้ำนมควายนั้นก็พิถีพิถัน ขั้นแรกก็ต้องนำก้อนเส้าที่จะใช้ทำเตามาลงอักขระบนก้อนเส้าทุกก้อน ฟืนก็ใช้ไม้มงคลต่างๆ และลงอักขระทุกท่อน ภาชนะที่จะใช้เคี่ยวน้ำนมควาย แม้แต่ไม้พายที่จะใช้ในการเคี่ยวก็ต้องลงอักขระทุกชิ้น ขณะเวลาเคี่ยวก็ต้องบริกรรมคาถาตลอดการเคี่ยวจนเสร็จ

เมื่อน้ำนมควายข้นดีแล้ว จึงนำมาคลุกเคล้ากับผงปถมังที่เขียนไว้ โดยมิได้ผสมปูนหรือสิ่งอื่นใดเลย เป็นเนื้อผงปถมังล้วน เมื่อเหนียวดีแล้ว จากนั้นจะกดลงบนพิมพ์ และตกแต่งที่ด้านหลังทุกองค์ ทุกขั้นตอนจะทำผู้เดียวตลอดทุกองค์ หลังจากนั้นจึงมาทาแล็กเกอร์บ้าง เชลแล็กบ้าง ในส่วนนี้มีลูกศิษย์มาช่วยทา

หลังจากนั้นจะนำพระไปปลุกเสกเดี่ยวเป็นเวลานาน ส่วนมากก็จะตลอดช่วงเข้าพรรษา แล้วจึงนำมาแจก

จัดเป็นพระปิดตาที่หายาก เนื่องด้วยจำนวนการสร้างที่น้อย




พ่อท่านมุ่ย จันทสุวัณโณ

มีนามเดิม มุ่ย ทองอุ่น เกิดเมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน 2442 ที่บ้านป่าระกำ หมู่ที่ 6 ต.ป่าระกำ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช บิดา-มารดาชื่อ นายทองเสน และนางคงแก้ว ทองอุ่น

เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2462 ที่วัดป่าระกำเหนือ อ.ปากพนัง และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูนิโครธจรรยานุยุต เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2498 และในปี พ.ศ.2477 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าระกำเหนือ และเจ้าคณะตำบลป่าระกำ ในปีเดียวกัน

ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระกับอาจารย์จืด และอาจารย์ศักดิ์ วัดถ้ำเขาพลู อ.ปะทิว จ.ชุมพร ออกธุดงค์ในป่าลึก แถบจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี เป็นเวลาหลายปี ร่วมกับหลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นสหธรรมิกที่รักใคร่นับถือกันมาก

เป็นพระวิปัสสนาธุระ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นเลิศ นอกจากนั้น ยังมีความรู้ด้านต่างๆ อีกมาก เป็นหมอยาสมุนไพร เป็นผู้รู้เวทมนตร์คาถา เป็นพระนักเทศน์ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เคารพนับถือของคนทั่วไป

เป็นพระเถระที่มากด้วยเมตตาบารมี ประพฤติพรหมจรรย์มั่นคงยาวนานปี ศีลาจารวัตรเรียบร้อย เป็นที่เคารพนับถือ เป็นพระสุปฏิปันโนอีกรูปของนครศรีธรรมราช มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนทุกระดับชั้น

กล่าวสำหรับคลองใหม่พ่อท่านมุ่ย เป็นคลองขุดอยู่ในพื้นที่ตำบลชะเมา เป็นคลองที่ขุดเชื่อมระหว่างคลองชะเมาที่บ้านโอขี้นาก เชื่อมกับคลองค้อที่บ้านหัวสวน เริ่มขุดเมื่อ พ.ศ.2495 และขุดเสร็จเมื่อ พ.ศ.2497 มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ผู้ดำเนินการขุดคลองนี้ คือหลวงพ่อมุ่ยนั่นเอง

ขุดโดยใช้แรงงานคน ส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ตำบลชะเมา ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง และ ต.เชียรเขา อ.เชียรใหญ่ มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับผิดชอบออกปากคนในหมู่บ้านไปขุด เริ่มแรกคลองมีขนาดกว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร คนทั่วไปเรียกชื่อคลองนี้ว่า “คลองใหม่พ่อท่านมุ่ย” ตามชื่อของผู้ดำเนินการขุด

คลองใหม่พ่อท่านมุ่ย มีประโยชน์ในด้านคมนาคมระหว่างคลองค้อกับคลองชะเมา แต่เดิมนั้นการเดินทางจากคลองค้อไปคลองชะเมาต้องไปออกทางบ้านเกาะแก ตำบลชะเมา คลองใหม่พ่อท่านมุ่ยจึงช่วยย่นระยะทาง และช่วยให้การเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปบ้านหัวสะพานชะเมา บ้านเสาธง ในหน้าน้ำชาวบ้านเข้าไปหาไม้ในป่าพรุ และล่องแพมาทางคลองนี้ และยังมีประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม มีน้ำใช้ เพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะเพื่อการทำนา เพราะทั้งสองฝั่งคลองนี้เป็นพื้นที่นาทั้งหมด

คลองใหม่พ่อท่านมุ่ยนี้ บ่งบอกถึงวิสัยทัศน์พระนักพัฒนา ผู้นำและบารมีอย่างแท้จริง เป็นคลองประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ

มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2535 เวลา 04.46 น. สิริอายุ 93 ปี 1 เดือน 18 วัน พรรษา 73 •

บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2478


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0 Chrome 124.0.0.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #46 เมื่อ: 25 เมษายน 2567 13:31:31 »


เหรียญหล่อนารายณ์ทรงครุฑ หลวงปู่เพิ่ม (หน้า)


เหรียญหล่อนารายณ์ทรงครุฑ หลวงปู่เพิ่ม (หลัง)

เหรียญนารายณ์ทรงครุฑ มงคล ‘หลวงปู่เพิ่ม วัดแค’ พระเกจิพระนครศรีอยุธยา

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2566
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2566


“วัดแค” หรือ “วัดร่างแค” หรือ “วัดท่าแค” เดิมชื่อ “วัดราชานุวาส” ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่โบราณ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

เว็บไซต์ของกรมศิลปากร ลงเรื่องราววัดแค ไว้ใน “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ตอนหนึ่งว่า

“วัดแค เป็นวัดค่อนข้างใหญ่ มีความสำคัญมาก เป็นศูนย์กลางของชุมชนใหญ่ และคงจะมีความสำคัญมาโดยตลอด จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2310 วัดแคจึงถูกทิ้งให้รกร้างปรักหักพังเรื่อยมา จนถึง พ.ศ.2542 กรมศิลปากรได้เข้าไปดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี ทำให้ได้เห็นรูปแบบศิลปะของโบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดแค ซึ่งสามารถกำหนดอายุการสร้างและบูรณะวัดแคในสมัยอยุธยา”

อีกตอนหนึ่งของเว็บไซต์กรมศิลปากร ลงไว้ว่า… “วัดแคแห่งนี้มีตำนานเล่าว่า เคยเป็นที่พักอาศัยของ หลวงพ่อทวด วัดพะโคะ อ.สทิงพระ จ.สงขลา เมื่อครั้งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา เพื่อศึกษาพระอภิธรรมที่วัดลุมพลีนาวาส…”

“หลวงพ่อทวดเป็นพระภิกษุที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการพระราชทานที่กัลปนาแก่หัวเมืองพะโคะ ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ และเป็นภิกษุผู้มีอิทธิปาฏิหาริย์อภิญญาแก่กล้า จนได้สมญานามว่า ‘หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด’ และยังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ อีกด้วย”

ย้อนไปเมื่อประมาณ พ.ศ.2480 มีพระเกจิอาจารย์ผู้เคร่งครัดและแก่กล้าในญาณสมาบัติรูปหนึ่ง ซึ่งชาวเมืองกรุงเก่ารู้จักกันเป็นอย่างดี คือ หลวงปู่เพิ่ม ฐิติญาโณ พระผู้สมถะไม่ยินดียินร้ายในลาภยศสรรเสริญ วัตถุมงคลที่สร้างมีประสบการณ์มากมาย

ที่ได้รับความนิยม “เหรียญหล่อพระนารายณ์ทรงครุฑ”

สำหรับการสร้างวัตถุมงคลนั้น ครั้งแรกไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตอนไหน แต่คาดว่าราว พ.ศ.2490 เนื่องจากแจกชาวบ้านในปีนั้นเป็นครั้งแรก

วัตถุมงคลนี้ คือ พระนารายณ์ทรงครุฑ ขนาดสูงประมาณ 2 นิ้ว กว้างประมาณ 1.2 นิ้ว เนื้อโลหะผสม เทหล่อแบบโบราณ

ด้านหน้าเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ด้านหลังเป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอุณาโลม 3 ตัวบนหัวยันต์ จำนวนสร้างคาดว่าคงไม่เกิน 1,000 องค์

ชาวบ้านเล่าว่า ในการสร้างพระเครื่อง หลวงปู่เพิ่ม จะแกะแม่พิมพ์เอง และทำทุกอย่างด้วยตัวท่านเอง เมื่อสร้างเสร็จแล้วท่านจะแจกให้ลูกศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือทุกคนที่ไปกราบท่าน ทำให้พระรุ่นนี้หมดไปในเวลาอันรวดเร็ว

วัตถุมงคลไม่เคยนำออกให้เช่า มีแต่แจกเท่านั้น

ปัจจุบัน พระนารายณ์ทรงครุฑรุ่นนี้ หายากมาก




หลวงปู่เพิ่ม ฐิติญาโณ  

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2424 ที่บ้านคลองทราย ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ คุณพระปริญญา เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.พระนครศรีอยุธยา มารดาชื่อ เต่า

ในวัยเด็กท่านศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่าน และช่วยทางบ้าน ซึ่งมีฐานะดี เมื่อถึงวัยเกณฑ์ทหาร ท่านก็เข้ารับเลือกเป็นทหารอยู่ 7 ปี หลังจากนั้น เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดสระเกศ กทม. ได้รับฉายาว่า ฐิติญาโณ ต่อมาท่านได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดแค

เป็นพระที่สมถะ เคร่งครัดอยู่ในพระธรรมวินัย กิจวัตรของท่าน คือ วิปัสนากัมมัฏฐานทุกวัน ภายในวัดมีต้นตะเคียนเต็มไปหมด และร่ำลือกันว่ามีผีดุ บ้างก็ว่าชาวบ้านเคยถูกหลอกหลอน

วัดแคเป็นที่สงบวิเวก เป็นที่พอใจของหลวงปู่เพิ่ม และท่านฉันอาหารเพียงมื้อเดียวเท่านั้น

มีอยู่ครั้งหนึ่ง นั่งสมาธิอยู่ที่ในกุฏิ และถอดกายทิพย์ไปยืนอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ ในตอนเช้ามืด มีแม่ค้าขายผักพายเรือผ่านมาเห็นท่านเข้า ก็ยกมือไหว้และเอ่ยถามว่าจะออกรับบาตรหรือเจ้าคะ

ท่านก็ไม่ตอบอะไรแต่วักน้ำสาดหัวเรือและโบกมือไล่ให้ไป แม่ค้าคนนั้นก็รีบไปตลาด ปรากฏว่าผักที่แกนำมาขาย ขายดี ผักหมดในเวลารวดเร็ว ยังไม่สว่างก็หมดแล้ว

จากนั้นแม่ค้าคนนั้นก็เลยแวะซื้อหวย ก.ข. พอตอนสายหวยออกก็ถูกหวยอีก

จึงซื้อของเพื่อจะนำมาถวาย พอมาถึงวัดก็สอบถามถึงหลวงปู่เพิ่ม พระในวัดก็บอกว่า หลวงปู่ยังไม่ได้ออกมาจากกุฏิเลยตั้งแต่เช้า แม่ค้าก็บอกว่าเมื่อเช้ามืดเจอหลวงปู่ที่ท่าน้ำ พระที่วัดก็ยืนยันว่ายังไม่ได้ออกจากกุฏิเลย และเห็นนั่งสมาธิอยู่ในกุฏิตั้งแต่ตี 4 ยังไม่ได้ไปไหน แม่ค้าจึงมองเข้าไปในกุฏิเห็นนั่งสมาธิหลับตาอยู่

หลวงปู่เพิ่มลืมตาขึ้นและถามแม่ค้าว่า “ถูกหวยมาละซี” และท่านก็บอกต่อว่า “ทีหลังอย่าไปเล่นหวยอีกนะ คราวนี้เรามีโชคก็ควรจะพอ ข้าวของที่เอามาก็ให้เอาไปฝากลูกหลานที่บ้านเถอะ เอาก๋วยเตี๋ยวแห้งไว้ห่อเดียวพอ”

แม่ค้าก็แปลกใจ เพราได้ซื้อก๋วยเตี๋ยวแห้งมาถวายหลวงปู่ด้วยพอดี แล้วรู้ได้อย่างไร

ต่อมา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ มีผู้มาขอบวชด้วยเป็นจำนวนมาก

มรณภาพลงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2504 สิริอายุ 80 ปี •
บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า:  1 2 [3]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
กำเนิดความเป็นมา เครื่องรางของขลัง
เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
ไอย 6 5367 กระทู้ล่าสุด 23 ธันวาคม 2552 19:41:00
โดย Sweet Jasmine
ความจริงของ "วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง" โดยหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ
เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
That's way 1 2913 กระทู้ล่าสุด 27 เมษายน 2556 03:33:56
โดย That's way
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.38 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 15 พฤศจิกายน 2567 08:22:00