.วัดต้นแกว๋น (วัดอินทราวาส)อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ชมวัดอันงดงาม เงียบสงบ และเป็นสถาปัตยกรรมต้นแบบหอคำหลวง ในงานพืชสวนโลกเรื่อง-ภาพ :
Kimleng เมืองเชียงใหม่ หรือนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ได้ชื่อเป็นเมืองศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนามาแต่โบราณ มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านประเพณี ศิลปวัฒนธรรม มี “คำเมือง” เป็นภาษาท้องถิ่น
ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๙-๒๑๐๑ เชียงใหม่มีฐานะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา นครรัฐอิสระ ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์มังราย รวมระยะเวลา ๒๖๑ ปี ในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ เชียงใหม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ยาวนานร่วมสองร้อยปี ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงกอบกู้อาณาจักรล้านนาไทยคืนกลับมาจากพม่า ภายใต้การนำของพระยากาวิละและพระยาจ่าบ้านในการทำสงครามขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่และเมืองเชียงแสนได้สำเร็จกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย
เมืองเชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาที่สำคัญยิ่งของล้านนา ครั้งหนึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ดังปรากฏหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ว่า เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๐๒๐ หรือเมื่อ ๕๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว เชียงใหม่ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๘ ของโลก และเป็นครั้งแรกในดินแดนสยาม ณ วัดเจ็ดยอด ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของการสังคายนา คือการประชุม รวบรวม ตรวจชำระ และจัดหมวดหมู่ พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ให้เป็นแบบแผนเดียวกัน เพื่อธำรงรักษาคำสอนเอาไว้ไม่ให้สูญหายหรือวิปลาสคลาดเคลื่อนอันจะเป็นอันตรายต่อพุทธศาสนา
ความรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาดังกล่าวยังดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะไปทางไหนก็มักจะพบเห็นวัดอยู่เกือบทุกพื้นที่ของเมือง จนมีคำกล่าวถึงวัดต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ว่า “วัดในเมืองเชียงใหม่นั้นมีมากมายให้พบเห็น ชนิดวัดชนวัด” ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือตามหมู่บ้านชนบท เราก็สามารถพบเห็นวัดได้ทั้งนั้น
“วัดต้นแกว๋น” เป็นวัดเก่าแก่สำคัญวัดหนึ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ ระยะทางไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก
ภายในบริเวณวัด มีถาวรวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปะและโบราณคดีที่น่าสนใจ เช่น มณฑปจัตุรมุขสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนาไทยโบราณ ลักษณะอ่อนช้อยงดงาม ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุชั่วคราว และใช้เป็นที่สำหรับประชาชนมาสรงน้ำพระบรมธาตุ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ตาปูตีไม้ระแนงทำขึ้นเองจากไม้ และพระวิหารที่สร้างด้วยไม้ ฐานล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนประกอบที่ทำจากไม้ ตามหน้าจั่ว หน้าบัน ช่อฟ้าใบระกา แกะสลักรูปลายเครือดอก ลายรูปสัตว์หิมพานต์ ฝีมืองดงามยิ่งนัก และยังคงความงดงามและสมบูรณ์ทางสถาปัตยกรรมแบบล้านนามากที่สุดวัดหนึ่งของเชียงใหม่ก็ว่าได้ โดยเฉพาะ “พระวิหาร” นั้น ได้รับการจำลองนำไปเป็นต้นแบบของการออกแบบก่อสร้าง “หอคำหลวง” ในงานมหกรรมพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ เชียงใหม่ เมื่อปี ๒๕๔๙
ความเงียบสงบและสง่างามของวัดต้นแกว๋น ทำให้เรานึกถึงอดีตของวัดในชนบทแห่งนี้ ที่มีบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า ครั้งหนึ่ง วัดต้นแกว๋น เป็นสถานที่สำคัญ เป็นจุดพักขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ จากวัดพระธาตุจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเดินทางต่อยังเมืองเชียงใหม่ โดยอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดสวนดอก ๓ วัน หรือ ๗ วัน แล้วก็อัญเชิญต่อขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นประจำทุกปีสืบเนื่องมาแต่โบราณ อันเป็นเรื่องของเจ้านายฝ่ายเหนือในอดีต แม้ว่าปัจจุบันการเดินทางจากวัดพระธาตุจอมทองจะสะดวกรวดเร็วขึ้น ทำให้ขบวนแห่ไม่ต้องหยุดพักค้างแรมที่นี่เหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ศาสนสถานต่างๆ ที่เคยใช้ในพิธีดังกล่าวยังคงหลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่ ทำให้เรามองย้อนไปถึงอดีตของวัดนี้ที่เคยมีความสำคัญต่อพิธีดังกล่าว พระประธานในวิหาร ประดิษฐานอยู่บนชุกชีแกะสลักลายรูปปั้นดอกกูด ฝาหนังด้านหลังพระประธานเป็นซุ้ม
และมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนังพระพิมพ์มี ๒ แบบ คือ แบบใบโพธิ์ปางมารวิชัย และแบบนาคปรก
นอกนี้แล้วยังมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่วาดด้วยสีน้ำซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
วัดต้นแกว๋น แทบจะเป็นวัดเดียวในล้านนาก็ว่าได้ที่ยังคงอนุรักษ์สภาพภูมิทัศน์ และสถาปัตยกรรมสมัยเก่าเอาไว้อย่างเหนียวแน่น รายรอบบริเวณวัดยังเป็นดินทรายเช่นในอดีต ยังคงมีต้นตาล ต้นไม้คู่วัด ที่ยังแข็งแรงยืนยง ทนแล้ง ทนฝน ทนกระแสลมร้อน และลมหนาว จึงทำให้ดูวัดแห่งนี้ดูเคร่งครึมสมกับเป็นวัดเก่าวัดแก่
วัดต้นแกว๋นหรือวัดอินทราวาส สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่เมื่อประมาณ จ.ศ. ๑๒๑๘-๑๒๓๑ หรือ พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๑๒ คำว่า “ต้นแกว๋น” เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งตามภาษาพื้นเมืองล้านนา หรือทั่วไปเรียกต้นตะขบป่า แต่เดิมนั้นมีปลูกอยู่ในบริเวณวัดเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ชาวบ้านจึงพากันเรียกชื่อวัดว่า “วัดต้นแกว๋น” แต่ปัจจุบันต้นแกว๋นที่ปลูกอยู่ในบริเวณวัดแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เหลืออยู่เพียงต้นเดียวเท่านั้น ต่อมาวัดต้นแกว๋นได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดอินทราวาส” ซึ่งมาจากชื่อของเจ้าอาวาสที่สร้างวัดนี้ คือ อินทร์ ผสมกับ อาวาส
ความสำคัญของวัดต้นแกว๋น ในสมัยก่อนเป็นวัดที่ยั้งพักกระบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุศรีจอมทอง จากวัดพระธาตุจอมทองเข้ามายังเมืองเชียงใหม่ ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ของเจ้าหลวงเชียงใหม่ และประชาชนทั้งหลาย วัดต้นแกว๋นแห่งนี้อยู่ในเส้นทางสายเดิมที่กระบวนแห่จะต้องหยุดพัก เพราะในอดีตการเดินทางเข้ามายังเมืองเชียงใหม่นั้นค่อนข้างลำบาก ถนนหนทางยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน ใช้ช้าง ม้า เป็นพาหนะ ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุจะต้องหยุดพักประดิษฐานที่ศาลาจตุรมุขเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน เพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้สักการบูชาสรงน้ำสมโภช ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าปัจจุบันขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุจะไม่ได้หยุดพักที่วัดนี้แล้วก็ตาม แต่ภายในวัดยังหลงเหลือสิ่งปลูกสร้างที่เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุอยู่ ทั้งศาลาจัตุรมุข, รินรองน้ำสรง และมีกลองโยน (กลองบูชา) หรือ กลองปู่จ่า โบราณเรียกว่า “ก๋องปูจา”
ความสวยงามและเก่าแก่กว่าร้อยปีของสถาปัตยกรรมในวัดต้นแกว๋นเรียกได้ว่างดงามไม่แพ้ที่ใด การอนุรักษ์และบูรณะสถาปัตยกรรมได้รับการซ่อมแซมอยู่เสมอมา โดยเฉพาะตัววิหารของวัดต้นแกว๋นยังคงปรากฏลวดลายทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนมากที่สุดแห่งหนึ่ง
วิหารวัดต้นแกว๋นนี้ สร้างขึ้นเมื่อ จ.ศ.๑๒๒๐ หรือประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ที่ใต้เพดานด้านเหนือด้วยตัวอักษรไทยวนหรือตัวเมืองลานนา นายช่างผู้สร้างวิหารมีความชำนาญสามารถสลักลวดลายดอกไม้ ลายรูปสัตว์ไว้ที่หน้าจั่วและช่อฟ้า พระประธานเป็นลายรูปปั้นดอกกูด ฝาผนังด้านหลังพระประธานในวิหารมีรูปคล้ายซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะซึ่งหล่อเป็นองค์ติดฝาผนัง
มณฑปแบบจัตุรมุข เป็นศิลปกรรมแบบล้านนา ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุชั่วคราว และใช้เป็นที่สำหรับประชาชนมาหล่อน้ำพระบรมธาตุ สร้างด้วยไม้ มุงกระเบื้องขอดินเผาแบบสมัยล้านนาโบราณ บนหลังคามีช่อฟ้าและหงส์ประดับอยู่เหนือราวหลังคา ที่มุมของสันหลังคามีการปั้นรูปยักษ์ไว้ที่เหลี่ยมเสา ปัจจุบันมีร่องรอยปรากฏที่ชัดเจนมาก ในวัดยังมีเครื่องประกอบพิธีในการสรงน้ำพระบรมธาตุ รวมทั้งมีอาสน์สำหรับตั้งโกศพระบรมธาตุ รินรองน้ำหรือสุคนสินธุธารา คือน้ำอบ น้ำหอม ที่ประชาชนนำมาสรงน้ำพระบรมธาตุ รวมทั้งเสลี่ยงสำหรับหามบั้งไฟหรือบอกไฟจุดบูชา ที่สมัยก่อนเรียกกันว่า “เขนัย” และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ กลองโยนหรือ “กลองปู๋จา” มีครบทุกลูก และลูกใหญ่นั้นใช้สำหรับตีในวันพระ ถ้าตีจะได้ยินไปทั่วทั้งตำบลนองควายเลยทีเดียว
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ยกย่องให้กลุ่มสถาปัตยกรรมในวัดต้นแกว๋นแห่งนี้เป็น “อาคารอนุรักษ์ยอดเยี่ยม” นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อเสียงของวัดต้นแกว๋น กลายเป็นที่รู้กันว่าเป็นวัดที่มีรูปแบบทางศิลปกรรมที่งดงามลงตัวอย่างยิ่งวิหารศิลปกรรมล้านนาไทย ยังคงสภาพเดิมแต่แรกสร้าง
หน้าบันลายดอกกูดไม่ซ้ำแบบใคร โดยเฉพาะลายเมฆพื้นเพดานในวิหาร
มีจำนวนหลายร้อยดอกและไม่ซ้ำแบบกัน
ศาลาจัตุรมุขสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนาไทยโบราณ
ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุชั่วคราว และใช้เป็นที่สำหรับประชาชนมาสรงน้ำพระบรมธาตุ
ลักษณะอ่อนช้อยงดงาม หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ตาปูตีไม้ระแนงทำขึ้นเอง
ลิ่มไม้ยึดความมั่นคงแข็งแรงอาคารทั้งหลังตั้งแต่เมื่อแรกสร้าง นับเวลาราว ๑๕๐ ปีเศษ
ศาลาที่สร้างคราวเดียวกันนี้จะหาดูไม่ได้ที่ไหนในจังหวัดเชียงใหม่
นอกจากวัดอินทราวาส หรือวัดต้นแกว๋น แห่งเดียวเท่านั้น
รูปหล่อโลหะ ครูบาศรีวิชัย ประดิษฐานในศาลาจตุรมุข
กลองโยนหรือ “กลองปู๋จา”
ต้นตาลยืนเรียงราย ปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นอยู่มาก
ต้นมะแกว๋น ที่ยังเหลืองเพียงหนึ่งต้นในวัด
ต้นแกว๋นชื่ออื่นๆ : เบนโคก (อุบลราชธานี), ตานเสี้ยน, มะแกว๋นนก, มะแกว๋นป่า, มะขบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : flacourtiaindica (Burm.f.) Merr.
ชื่อวงศ์ : flacourtiaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง ๒-๑๕ เมตร ลำต้นและกิ่งใหญ่ๆ มีหนามแหลม กิ่งแก่ๆ มักจะไม่มีหนาม กิ่งอ่อนมีหนามแหลมตามซอกใบ หนามยาว ๒-๔ เซนติเมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ปลายกิ่งโค้งลง เปลือกสีเหลืองอมเทาแตกเป็นร่องลึกมีช่องอากาศรูปรีกระจายห่างๆ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ ขนาดค่อนข้างเล็กมักเรียงชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปร่าง ขนาด เนื้อใบและขนที่ปกคลุมแตกต่างกัน ผลกลม หรือรี เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๘-๑ เซนติเมตร ออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม เป็นพวงเล็กๆ ตามกิ่ง เมื่ออ่อนสีเขียว สุกสีแดงคล้ำ ลักษณะชุ่มน้ำมี ๕-๘ เมล็ด ผลจะสุกประมาณเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม รับประทานได้ รสหวานอมฝาด พบตามป่าเต็งรัง ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าผสมผลัดใบ ตลอดจนริมแม่น้ำ
สรรพคุณ เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน ใช้แก่น ต้มน้ำดื่ม แก้ผิดสำแลง แก้ปวดเมื่อย แก้คัน ใช้แก่นหรือราก ๑ กำมือ ต้มน้ำพอท่วมยา ดื่มวันละ ๓-๕ ครั้ง แก้โรคไตพิการ ตำรายาไทย ทั้งต้นหรือราก แก้โรคผิวหนัง ผื่นคันตามตัว ลำต้น ผสมหัวเอื้องหมายนา ผักแว่นทั้งต้น หอยขมเป็นๆ ๓-๔ ตัว แช่น้ำให้เด็กอาบ แก้อีสุกอีใส อีดำอีแดง น้ำยางจากต้น ใช้แก้อหิวาตกโรค เปลือก แก้เสียงแห้ง อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ น้ำยางจากต้นและใบสด กินเป็นยาลดไข้สำหรับเด็ก แก้โรคปอดอักเสบ แก้ไอแก้บิดและท้องเสีย ช่วยย่อย เปลือก ตำรวมกับน้ำมัน ใช้ทาถูนวด แก้ปวดท้อง แก้คัน นำเปลือกมาแช่หรือชงเป็นยากลั้วคอ น้ำต้มใบแห้ง กินเป็นยาฝาดสมาน ขับเสมหะแก้หืดหอบ หลอดลมอักเสบ แก้ไข้ แก้ไอ แก้ท้องร่วง ขับลม และบำรุงร่างกาย ใบที่ย่างไฟจนแห้งใช้ชงกินหลังคลอดบุตร เมล็ด ตำพอกแก้ปวดข้อ ผลกินได้มีวิตามินซีสูง แก้อ่อนเพลีย บรรเทาอาการโรคดีซ่าน ม้ามโต แก้คลื่นไส้อาเจียนและเป็นยาระบาย