สันโดษ เคล็ดลับของความสุข
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโกเคล็ดลับของความสุขที่คนเรามักจะมองข้ามไป คือ “ความสันโดษ” ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ซ่อนอยู่ในตัวเราที่นี่ เดี๋ยวนี้ อวิชชา ความไม่รู้ และตัณหาความทะยานอยาก เป็นสิ่งที่ปิดบังทำให้เรามองไม่เห็นวิถีแห่งความสุขอันเกิดจากความสันโดษ
ความสันโดษ เป็นมงคลข้อที่ 24 ในมงคล 38 ประการ มงคลเป็นเหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนนำไปปฏิบัติ นำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า
คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความสุขความเจริญ
ความสุขอันเกิดจากความสันโดษนั้นเราไม่ต้องแสวงหาอะไรนอกตัวเราไม่ต้องทำอะไรพิเศษไปกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเดิม เราเพียงแต่เปิดใจให้กว้าง ยอมรับความจริงตามกฎธรรมชาติด้วยจิตใจที่เป็นธรรม แล้วยินดีพอใจในสิ่งที่มี ที่เป็น ที่หามาได้ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักคิดดี คิดถูก เท่านั้นแหละ ความสันโดษ อันเป็นบ่อเกิดของความพอใจสุขใจมันก็ผุดขึ้นมาเอง โดยอัตโนมัติ ที่นี่ เดี๋ยวนี้
นัสรูดิน กับ มุตตาฟานัสรูดินมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อ มุสตาฟา มุตาฟาเป็นคนที่ไม่ฉลาด..นัสรูดินเป็นคนเฉลียวฉลาด แต่ชอบทำเป็นคนโง่ และชอบล้อเลียนเพื่อนบ้าน วันหนึ่ง มุตาฟาตื่นแต่เช้ามืด ด้วยความท้อแท้ก็ไปหานัสรูดินบอกว่า เพื่อนเอ๋ย...บ้านที่ผมอยู่มันแคบ กลิ่นอับ ไม่คล่องตัวเลย ผมไม่มีความสุข กลัดกลุ้มมาหลายปีแล้ว ช่วยผมหน่อยได้ไหม เงินที่ขยายห้องก็ไม่มี
นัสรูดินบอกว่า เอาล่ะแกต้องเชื่อข้านะ เชื่อทุกอย่างนะ แล้วจะช่วยให้สบายขึ้น มุสตาฟาบอกว่าผมจะเชื่อทุกอย่างที่นายบอก นัสรูดินได้ทีก็บอกว่า คืนนี้นะเอาแพะเข้าไปล่ามในห้องนอนของแก มุตาฟางงแต่ก็เชื่อฟังนัสรูดิน รุ่งเช้าตื่นมาตาแดง มาหานัสรูดิน ผมนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ เจ้าแพะวายร้ายมันร้องทั้งคืน ไหนว่าจะช่วยผมให้มีความสุข
นัสรูดินบอกว่า เอาน่าเชื่อฉัน คืนนี้เอาลาเข้าไปอีกตัวหนึ่งไปล่ามด้วยกัน มุสตาฟาคนโง่ก็ทำตาม เอาลาเข้าไปล่าม รุ่งเช้าก็โผเผมาบอกว่า เจ้าแพะกับลามันทะเลาะกันทั้งคืน ร้องและเตะกันและถ่ายมูลออกมา ห้องผมเล็กอยู่แล้ว เหม็นคลุ้งไปหมดไหนว่าจะช่วยผมให้สบายขึ้นไงล่ะ นัสรูดินบอกว่าเอาน่า คืนนี้ได้เรื่อง เอาม้าเข้าไปอีกตัวหนึ่ง
พอรุ่งเช้ามุสตาฟาไม่มีแรง เพราะไม่ได้นอนทั้งคืน บอกนัสรูดินช่วยผมด้วย ช่วยผมให้มีความสุขหน่อย นัสรูดินบอกว่า เอาละได้ที่แล้ว คืนนี้เอาแพะออกจากห้องไป พอรุ่งเช้ามุสตาฟามาหา นัสรูดินก็ถามว่าเป็นไงบ้าง มุสตาฟาจึงบอกว่าค่อยยังชั่วนิดหนึ่งแล้ว
นัสรูดินบอกว่า งั้นคืนนี้เอาลาออกไป รุ่งเช้ามุสตาฟาบอกว่า ผมรู้สึกว่าห้องผมกว้างขึ้น นัสรูดินบอกว่า เอ้าคืนนี้แกเอาม้าออกไปจากห้อง รุ่งเช้ามุสตาฟาเดินยิ้มเผล่บอกว่า แหม ผมรู้สึกเป็นสุขเหลือเกิน ห้องผมรู้สึกมันกว้างขวางดี
คงมีหลายคนที่เป็นแบบมุสตาฟานี่แหละ ไม่รู้จักพอใจตนเอง เที่ยวคิดฟุ้งซ่านไป ครั้นสูญเสียไปทีละน้อยพอได้คืนมาจึงเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนมีอยู่ ถ้ารู้จักคิดดี คิดถูกเสียตั้งแต่ต้น ก็จะสุขใจ สบายใจ ไม่ต้องกระวนกระวายใจให้เป็นทุกข์
สันโดษมาจากภาษาบาลีว่า สันโตสะ สัน แปลว่า ตน โตสะ แปลว่า ยินดี สันโดษจึงแปลว่า ยินดี พอใจ อิ่มใจ สุขใจ กับของของตน กล่าวโดยย่อคือ ให้รู้จักพอ ให้รู้จักประมาณตน ลักษณะของสันโดษ 3 ประการ คือ
ยินดีตามมี
ยินดีตามได้
ยินดีตามควร
เมื่อเราเข้าใจกฎแห่งกรรม ยอมรับกฎแห่งกรรมด้วยปัญญาชอบ แล้วก็จะพอใจในสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ตามฐานะของตนในปัจจุบัน ยอมรับว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน สมบูรณ์แล้วด้วยเหตุผล
อดีต............เป็น............เหตุ
ปัจจุบัน.......เป็น............ผล.........มันเป็นกรรมเก่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร่างกายจิตใจของเรา รวมทั้งสิ่งที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยของกาย เช่น พ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา ลูก ๆ บุคคลต่าง ๆ ตลอดจนทรัพย์สมบัติ สถานที่ บ้าน สังคม ประเทศชาติ ที่เราต้องไปเกี่ยวข้อง ล้วนเป็นกรรมเก่า
อิทธิบาท 4 คู่กับสันโดษคนจำนวนมากเข้าใจความหมายของสันโดษผิดไป คิดว่าสันโดษคือการพอใจอยู่คนเดียว หรือการไม่ทำอะไร หากนำหลักของสันโดษไปใช้แล้วจะทำให้ประเทศชาติไม่เจริญ ประชาชนจะไม่รู้จักพัฒนาตน เพราะพอใจในสภาพตามมีตามเกิดตามธรรมชาติ เป็นอยู่อย่างไรก็พอใจแค่นั้น มีน้อยแค่ไหน ก็ไม่ต้องขวนขวายไปหามาเพิ่ม
ความจริงแล้ว.... การพอใจอยู่คนเดียว ภาษาบาลีเรียกว่า ปวิวิตตะ ไม่เรียกสันโดษ ส่วนการไม่ทำอะไรนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า โกสัชชะ คือความเกียจคร้าน คำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องสันโดษ ไม่ได้สอนให้คนเกียจคร้านท้อถอย ไม่ขยันหมั่นเพียรในการทำหน้าที่การงานซึ่งเป็นอุปสรรคขวางกั้นความเจริญอย่างที่มีการเข้าใจผิดกัน
พระพุทธเจ้าสอนเรื่องสันโดษ เพื่อให้เรารู้จักพอใจกับสิ่งที่ตนมีอยู่ สิ่งที่ตนได้มา และสิ่งที่สมควรแก่ฐานะของตน เมื่อเรามีความสันโดษเป็นคุณธรรมประจำใจแล้วก็จะขจัดเสียซึ่งความโลภ ไม่มีการเบียดเบียน แก่งแย่งชิงดี อิจฉาริษยา ทุจริตฉ้อโกง มุ่งร้ายลำลายกัน
พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตว่าด้วยหลักอิทธิบาท 4 ซึ่งหมายถึง ทางแห่งความสำเร็จในกิจอันเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นทางโลก หรือทางธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จตามที่ตั้งใจถ้าเราปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท 4 ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
ฉันทะ มีความพอใจในสิ่งที่ทำ โดยเราควรตั้งเป้าหมายไว้ตามความเหมาะสมกับฐานะ และกำลังความสามารถของเรา
วิริยะ ความเพียรพยายามและตั้งใจทำสิ่งนั้น
จิตตะ ความเอาใจใส่ จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่
วิมังสา ปัญญาที่พิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
เมื่อเราอยากมี อยากได้ อยากเป็นอะไรก็ตาม ก่อนอื่นให้เข้าใจตัวเอง รู้จักฐานะ ความรู้ ความสามารถของตน แล้วตั้งเป้าหมายไว้ ลงมือทำตามเป้าหมายนั้นด้วยความพอใจ เพียรพยายามเต็มกำลังความสามารถ เอาใจใส่เพื่อให้สำเร็จตามที่ตั้งใจ เมื่อได้ผลออกมาอย่างไร ก็ให้ยินดีพอใจตามที่ได้ ตามที่เป็น
ถึงแม้ว่าไม่บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ตาม ก็ให้สันโดษ
อิทธิบาท 4 เป็นการสร้างเหตุที่ดีของการกระทำ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ สันโดษ เป็นความยินดีพอใจในผลที่ได้รับ
เมื่อเราดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรม ตามหลักอิทธิบาท 4 และสันโดษแล้ว ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไรมากมาย สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ตกงาน ผิดหวังในความรัก ไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ก็ให้เข้าใจว่าเมื่อเราตั้งใจทำดีด้วยใจที่สงบ เราได้ทำเหตุที่ดีแล้ว ก็ต้องยอมรับผลด้วยใจที่สงบเหมือนกันจึงจะเรียกว่าทำงานด้วยความปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น รักษาหัวใจของนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
ความพ่ายแพ้ไม่ได้ทำให้ท้อถอย แต่ให้มีความหวังในอนาคต ตั้งใจทำความดีในปัจจุบันด้วยสุขภาพใจดี ตั้งใจทำความดี ด้วยหลักอิทธิบาท 4 ยอมรับผลด้วยความสันโดษ
อาจารย์เดินทางออกจากญี่ปุ่นมาอยู่ต่างประเทศตั้งแต่อายุ 20 ปี กลับไปเยี่ยมบ้านครั้งแรกหลังจากที่มาประมาณ 15 ปี ประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนไปมาก สถานีรถไฟใหญ่ที่สุดในกรุงโตเกียวสมัยก่อนที่เป็นอาคารชั้นเดียวเปลี่ยนเป็นชานชาลาที่ขุดลงไปใต้ดิน 3 ชั้นบนตึกสูง เมื่อก่อนเคยเดินทางด้วยรถไฟใช้เวลา 9 ชั่วโมง
เดี๋ยวนี้เหลือ 3 ชั่วโมงถึงที่หมาย อาหารการกินสมบูรณ์ อาหารบางอย่างที่เคยเป็นเมนูพิเศษเดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นอาหารธรรมดา ๆ
แต่พี่สาวอาจารย์บอกว่ายังคิดถึงสมัยเด็ก ๆ อยู่เสมอ ในฤดูร้อน เอาแตงกวามาแช่ในน้ำพุธรรมชาติที่เย็นจัดซึ่งอยู่ใกล้บ้านแล้วเอาจิ้มกินกับมิโสะ มันก็อร่อยดี มีความสุขกันแล้ว ทุกวันนี้ถึงจะกินอาหารอุดมสมบูรณ์มากกว่าแต่เมื่อนึกถึงความสุขในการกินทีไรก็นึกถึงสมัยเด็ก ๆ ทุกครั้ง
สมัยที่อาจารย์ยังเด็ก แม่พูดอยู่เสมอว่า ชีวิตในชนบทดีที่สุด มีข้าวปลาอาหารพออยู่พอกินไม่ต้องเครียดอะไร แม่ไม่เคยบอกให้อาจารย์ต้องเรียนหนังสือสูง ๆ ต้องรวย ต้องมียศ มีตำแหน่งสูงถึงจะมีความสุข
อาจารย์รู้สึกว่าน่าจะจริงตามที่แม่พูด คำพูดของแม่ทำให้รู้จักสันโดษ พอใจกับชีวิตแบบเรียบง่าย พออยู่พอกิน รักกันสามัคคีกันในครอบครัวก็มีความสุขแล้ว
ต้นทางแห่งความสุขที่แท้ “คำสอนตามหลักพระพุทธศาสนากล่าวว่า ยิ่งสันโดษต่อสามิสสุขมากเท่าไร ก็ยิ่งได้นิราสิสสุขมากขึ้นเท่านั้น”สามิสสุข หมายถึง ความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุภายนอกมาตอบสนองความต้องการทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และความคิดอยากต่าง ๆ ถือเป็นความสุขชั้นหยาบที่มีทุกข์เจือปนมาตลอดเวลา เพราะต้องแสวงหาดิ้นรนกระวนกระวายเป็นอาการนำหน้า เมื่อได้มาก็ต้องระวัง รักษา ยึดติด หวงแหน ผูกพัน กลัวสูญหาย ถ้าไม่ได้มา ถูกขัดขวางก็ขัดเคือง
ไม่พอใจ
นิรามิสสุข เป็น ความสุขภายในที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอกมาสนองความอยาก เป็นความสุขที่เกิดจากใจที่สงบ สะอาด ไม่ดิ้นรนกระวนกระวายไปตามกิเลส
นิรามิสสุขจึงเป็นความสุขที่แท้จริง เป็นภาวะสุขที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ ตามมาและยังช่วยขจัดปัญหาต่าง ๆ ด้วย ผู้ที่จะมีนิรามิสสุขได้จะต้องมีสภาพใจที่สงบไม่ดิ้นรน คือมีความสันโดษเสียก่อน แล้วก็หมั่นฝึกหัดพัฒนาจิตใจด้วยการเจริญอานาปานสติและเมตตาภาวนาเป็นประจำสม่ำเสมอ
เพื่อเข้าถึงความสุขที่แท้หรืออย่างน้อยก็เพื่อความสุขภาพใจดี มีความสบายใจ สุขใจ
ขอขอบคุณข้อมูลจากห้องสมุดบ้านจอมยุทธ์ค่ะ