คาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย กับ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ผู้ถวายคำพยากรณ์ แด่ ร.๕บทความในตอนนี้ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ในพระราชหัตถเลขา หรือพระราชนิพนธ์ "ไกลบ้าน" แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องเล่าสืบทอดกันมาจากบรรดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ และปู่ย่า ตาทวดละแวกวัดโคนอน เขตภาษีเจริญ ที่ได้รู้ได้เห็นได้ประสบเหตุการณ์ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เข้านมัสการ "หลวงปู่เอี่ยม" เจ้าอาวาสวัดโคนอนในสมัยนั้น เพื่อขอรับการพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าในการเสด็จประพาสยุโรป จริง เท็จ ประการใด เชื่อได้หรือไม่ ? ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ
ขอเริ่มเรื่องที่ "หลวงปู่เอี่ยม วัดโคนอน" หรือ "เจ้าคุณเฒ่า วัดหนัง" ที่หลายท่านโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่อง รู้จักกันดี เหรียญรูปเหมือนของท่านทั้งสองรุ่นที่ทันท่านปลุกเสก ค่านิยมในการบูชาอยู่ในหลักแสนมานานนับสิบปีแล้ว เหตุที่มีชื่อเรียกอีกนามหนึ่งนั้น เพราะภายหลังท่านได้มาปกครองวัดหนัง ภาษีเจริญ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ "พระภาวนาโกศล" ก็คงจะเป็นด้วยคุณงามความดีของท่านที่ถวายคำพยากรณ์ โดยที่ผลของคำพยากรณ์ออกมาเป็นจริง ทำให้ไทยเราไม่ต้องสูญเสียองค์พระปิยมหาราช ในขณะที่เสด็จรอนแรมอยู่กลางทะเล มหาสมุทร และแผนอันชั่วร้ายของ "เศษฝรั่ง" ที่คิดปลงพระชนม์ชีพพระองค์อย่างแยบยล ชนิดที่ชาวโลกไม่กล้าตำหนิ
หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง บางขุนเทียนหลวงปู่เอี่ยมนั้น ท่านเป็นศิษย์เอกของ "พระภาวนาโกศล (รอด) " อดีตเจ้าอาวาสวัดนางนอง วรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรีพระวิปัสนาจารย์ที่เก่งกล้าในด้านพุทธาคม มีตบะเดชะที่กล้าแข็ง สำเร็จวิชาแปดประการมีหูทิพย์ ตาทิพย์ ล่วงรู้จิตใจคน รู้อดีต รู้อนาคต แสดงฤทธิ์ได้ ฯลฯ หลวงปู่รอดนี้ ต่อมาภายหลังท่านได้ถูกฝ่ายอาณาจักร และศาสนจักร ลงโทษด้วยการปลดออกจากตำแหน่ง ริบสมณศักดิ์คืนเพราะท่านไม่ยอมถวายอดิเรกแด่ล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๔ ในคราวเสด็จถวายผ้าพระกฐิน อาจจะเป็นเพราะความคิดที่ไม่เห็นด้วย ในการที่ล้นเกล้า ฯรัชกาลที่ ๔ ตั้ง "ธรรมยุติกนิกาย" ขึ้นมา ทำให้สงฆ์ต้องแตกแยกกันนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ใดไม่เห็นด้วย ก็ไม่ควรเป็น "พระราชาคณะ" อีกต่อไป เพราะคำว่า "ราชาคณะ" นั้น แปลว่า "พวกของพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระราชา"
เมื่อหลวงปู่รอดถูกถอดจากสมณศักดิ์แล้ว ก็ออกจากวัดนางนอง กลับไปยังวัดบ้านเกิดที่ห่างไกลจากความเจริญ คือ "วัดโคนอน"ด้วยความกตัญญูรู้คุณแด่องค์พระอาจารย์ หลวงปู่เอี่ยม ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียง "พระปลัดเอี่ยม" ก็อ้อนวอนขอติดตามองค์อาจารย์ ไปปรนนิบัติรับใช้ ท่านไปไหนก็ไปด้วย เรียกว่าเห็นใจในยามทุกข์ ก็คงจะไม่ผิด แสดงให้เห็นถึงความไม่ยึดติดในลาภสักการะ ถิ่นที่อยู่ที่เจริญด้วยอาหารบิณฑบาต และปัจจัยในองค์หลวงปู่เอี่ยม นอกเหนือไปจากความกตัญญูกตเวที ที่ปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ จวบจนวาระสุดท้าย
หลวงปู่เอี่ยมนั้นเป็น "ศิษย์มีครู " ดังนั้น จึงถอดแบบอย่างมาจากองค์หลวงปู่รอดแทบจะเป็นพิมพ์เดียวกัน หลวงปู่รอดเก่งอย่างไร หลวงปู่อี่ยมก็เก่งอย่างนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ท่านจะมีศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือมากมาย ทั้งที่วัดอยู่ในถิ่นห่างไกลความเจริญ การเดินทางไปมาหาสู่ไม่สะดวก แม้แต่พระเจ้าน้องยาเธอ "กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์" เจ้ากรมพระนครบาล (มหาดไทยในปัจจุบัน) ยังน้อมตัวเป็นศิษย์ และท่านผู้นี้แหละ ที่ถวายคำแนะนำและทูลเชิญเสด็จล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๕ให้เสด็จมาขอรับคำพยากรณ์จากหลวงปู่เอี่ยม ก่อนที่จะเสด็จประพาสยุโรป
ในการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น ไม่ได้เป็นการเสด็จเพื่อแสวงหาความสำราญแต่อย่างใด แต่เป็นการเสด็จเพื่อดำเนินพระราชวิเทโศบายด้านการต่างประเทศอย่างชาญฉลาด เป็นการเสด็จเพื่อเจริญพระราชไมตรีกับราชวงศ์ต่าง ๆ ของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซียและเยอรมัน ซึ่งเป็นศัตรูคู่แค้นของอังกฤษ และฝรั่งเศส ด้วยหลักการที่ว่า "ศัตรูของเพื่อนก็คือศัตรูของเรา" เมื่อผูกสัมพันธ์กับรัสเซีย เยอรมัน และกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ได้แล้ว อังกฤษ และฝรั่งเศสก็จะไม่กล้ารุกราน หรือยึดเอาประเทศไทยเป็น "อาณานิคม" อีกต่อไป ซึ่งส่งผลทำให้ไทยเราดำรงความเป็นเอกราชมาจนทุกวันนี้
การเสด็จประพาสยุโรปในสมัยนั้น ทำได้ทางเดียว คือ "ทางเรือ" ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางแรมเดือน การออกทะเลหรือมหาสมุทรนั้น แม้ในปัจจุบันที่มีการพัฒนาการเดินเรือ มีเรือที่มั่นคงแข็งแรง ประสิทธิภาพสูง มีการติดต่อสื่อสารที่ทันท่วงที ก็ยังไม่วายจะ "อับปาง" เลยครับ หากออกเดินทางในช่วงมรสุม หรือ "สุ่มสี่สุ่มห้า" ล่ะก็ เป็นเสร็จทุกราย คนโบราณจึงสอนเอาไว้ว่า "อย่าไว้ใจทะเลคืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล มีภยันตรายรอบด้าน ทุกเวลานาที" ท่านผู้อ่านลองหลับตาวาดภาพการเดินเรือในสมัยเมื่อร้อยกว่าปีล่วงมาแล้วซิครับ ว่ายากลำบาก และมีอันตรายเพียงใด แต่ล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๕ท่านก็ทรงเสด็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย เป็นการเสียสละพระองค์อย่างสูงสุด ที่ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกจะทำได้ ตอนหน้าจะได้กล่าวถึงคำพยากรณ์และการแก้ไขเหตุร้ายแรงที่ประสบตามคำพยากรณ์ เป็นเรื่องของความเชื่อถือในคุณพระ และคาถาอาคม หากท่านเห็นว่า "ไม่ไร้สาระ" จนเกินไป