.อ่างทอง เป็นดินแดนหนึ่งในภาคกลาง แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะเป็นแนวกึ่งกลางระหว่างอารยธรรมขอมและมอญโบราณ
ตามหลักฐานที่ปรากฏในจารึกภาษามอญ ที่ขุดพบวัตถุโบราณ
อันเป็นหลักฐานที่แสดงว่า "อ่างทอง" เคยเป็นชุมชนอารยธรรม "ทวารวดี"
ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน
ทำให้จังหวัดอ่างทอง เต็มไปด้วยวัดวาอารามที่มีความเก่าแก่น่าสนใจมากมายกว่า ๒๐๐ วัด
อันเป็นสถานที่ที่น่าศึกษาประวัติศาสตร์ และเรื่องราวความเป็นมาของชนชาติไทยในอดีต ภาพจิตรกรรมฝาหนังในอุโบสถวัดเขียน
จิตรกรรมวัดเขียน (WAT KHIAN)ตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง วัดในจำนวนมากมายหลายร้อยวัดในอ่างทอง มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ให้เห็นอยู่หลายวัด
วัดเขียน เป็นวัดหนึ่งที่ขอนำท่านไปชมจิตรกรรมฝาผนัง ที่เขียนขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยได้รับอิทธิพลจากภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย เขียนแบบคตินิยมทั่วไป คือ ด้านหลังพระประธานเขียนลายดอกไม้ร่วง บนพื้นสีดำ ตอนบนสุดเป็นลายเฟื่องอุบะ ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนเรื่องสุธนชาดก ผนังด้านซ้ายพระประธานเขียนเป็นเรื่องทศชาติ เท่าที่ปรากฏมีมหาชนก สุวรรณสาม มโหสถ จันทกุมาร วิทูรบัณฑิต และเวสสันดร
บริเวณเหนือหน้าต่างของผนังทั้งซ้ายขวาเขียนลายหน้ากระดานรองรับภาพเทพชุมนุมชั้นเดียว ภายในเส้นสินเทา พื้นทาแดงชาด เหนือขึ้นไปเป็นภาพนักสิทธิ์ วิทยาธร เขียนได้สนุกสนานยิ่ง บ้างก็แต่งกายแบบจีนแมนจู ผมเปีย บ้างก็ดำทะมึน บ้างอุ้มมักกะลีผล บ้างก็ยิ้มเริงร่า ห้อยคอด้วยปลัดขิก บ้างก็ยกขวดเหล้าเท
• ประวัติวัดเขียน (เขียนโดย น. ณ ปากน้ำ)
วัดเขียน เป็นวัดเล็กๆ ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๕๐ บ้านคงกะพัน หมู่ที่ ๘ ตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง บนที่ราบลุ่มริมแม่น้ำน้อย มีหมู่บ้านและลำคลองโดยรอบบริเวณวัด เดิมถูกปล่อยให้รกร้างอยู่เป็นเวลานาน เมื่อมีผู้คนมาอาศัยอยู่มากขึ้นกลายเป็นชุมชน วัดแห่งนี้จึงเป็นศูนย์รวมของชุมชนในเวลาต่อมา
สำหรับคำว่า วัดเขียน อาจสันนิษฐานได้ ๒ กรณีคือ
กรณีแรก เนื่องจากภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนที่สวยงามจึงเรียก วัดเขียน ตามอย่างโบสถ์เขียนหรือวิหารเขียนที่วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ตามแนวคิดของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อีกกรณีหนึ่ง เดิมวัดนี้ชื่อ วัดเขียน อยู่แล้ว แต่เพื่อให้สมกับชื่อจึงมีการเขียนภาพไว้ในพระอุโบสถ
เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการสร้างวัดแห่งนี้ จึงไม่สามารถกำหนดอายุที่แน่นอนได้ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากสภาพแวดล้อมและลักษณะของวัดบริเวณใกล้เคียง สันนิษฐานว่าวัดเขียนและวัดบริเวณใกล้เคียงเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน และได้ถูกปล่อยทิ้งร้างไปนานก่อนจะมีการบูรณะขึ้นใหม่ แต่จากหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุสถานของวัดแห่งนี้ เช่น อุโบสถ ใบเสมา เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ล้วนสนับสนุนการกำหนดอายุของวัดแห่งนี้ว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายทั้งสิ้น ดังนั้นก็เป็นที่น่าเชื่อว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถก็เป็นภาพที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกันศิลปะโบราณวัตถุสถานที่น่าสนใจภายในวัดเขียน ได้แก่ อุโบสถ อุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อุโบสถหลังเดิมมีขนาดย่อมก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าทางเดียวทางด้านหน้าพระประธาน ส่วนด้านหลังพระประธานเป็นประตูหลอก ผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ ๓ บาน เป็นหน้าต่างสี่เหลี่ยมเล็กๆ ๒ บาน ที่เหลืออีกบานหนึ่งเป็นหน้าต่างหลอก เสาภายในอาคารเป็นเสาเหลี่ยมติดผนัง บัวหัวเสาเป็นหัวกลีบยาวซึ่งเป็นลักษณะของบัวหัวเสาในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาพระราชทานกฐิน ณ วัดเขียนนี้ เมื่อทรงทอดพระเนตรสภาพความทรุดโทรมของอุโบสถจนทำให้น้ำฝนไหลชะภาพเขียนภายในเสียหายเป็นอันมาก จึงทรงรับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถขึ้นใหม่ จากนั้นจึงได้มีการสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้าง ๗.๔๐ เมตร ยาว ๙.๖๐ เมตร ครอบอุโบสถหลังเดิม แต่ยังคงลักษณะของอาคารหลังเดิมคือมีทางเข้าทางเดียว และเปลี่ยนโครงเครื่องบนใหม่ทั้งหมดทำเป็นหลังคาชั้นเดียวแต่มีชั้นลดเพิ่มเป็น ๒ ชั้น มุงหลังคาด้วยกระเบื้องแผ่นตามแบบปัจจุบัน
ใบเสมา ใบเสมาหินทรายสีขาวที่ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถทั้ง ๘ ทิศ เป็นใบเสมาเก่าสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งลักษณะพิเศษของใบเสมาสมัยนี้คือ ใบเสมาจะทำด้วยหินทรายขาวทั้งหมดเป็นชนิดใบเสมานั่งแท่น ซึ่งตั้งอยู่บนฐานสิงห์และฐานบัวกลุ่ม เนื่องจากใบเสมามีขนาดเล็กและแบบบาง จึงต้องมีการก่ออิฐถือปูนเป็นฐานรองรับ มีแถบเส้นกลางขนาดใหญ่เท่าขอบเสมา ตรงกลางแถบจะมีนมเสมาซึ่งทำเป็นลายประจำยามลักษณะคล้ายทับทรวง ส่วนอกเสมาเหนือนมเสมาเป็นรูปดอกไม้กลมทั้งสองข้าง เรียกว่า ตาเสมา ยอดเสมาทำเป็นรูปมงกุฎครอบท้องเสมาเป็นลายประจำยามครึ่งเดียว และมีกระหนกตัวเหงาอยู่ที่เอวเสมา เนื่องจากการสร้างพระอุโบสถจะต้องมีการกำหนดพัทธสีมาในคราวเดียวกัน ดังนั้นจึงชื่อว่าพระอุโบสถหลังเก่านี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายภาพพระอุโบสถหลังเดิมของวัดเขียน ก่อนการบูรณะ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรสภาพความทรุดโทรมของอุโบสถ
จนทำให้น้ำฝนไหลชะภาพเขียนภายในเสียหายเป็นอันมาก จึงทรงรับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถขึ้นใหม่
พระอุโบสถที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ ครอบอุโบสถหลังเดิม
พระประธานอุโบสถวัดเขียน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิตั้งอยู่บนฐานชุกชี
ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปอีกหลายองค์ เหนือพระเศียรพระประธานเป็นฉัตร ๗ ชั้น
(สังเกตให้ดีจะเห็นร่องรอยอุโบสถหลังเดิม และหลังใหม่ที่สร้างครอบ ปรากฎชัดเจนเหนือภาพ)
หน้าบันอุโบสถเดิมก่อนได้รับการบูรณะ
เป็นหน้าบันไม้ขนาดเล็กแกะสลักลวดลายเป็นลายเทพนมและลายกระจังรวนอ่อนช้อยงดงาม
ในคราวที่มีการปฏิสังขรณ์อาคารใหม่หลังจากได้เคยถูกทิ้งร้างมาครั้งหนึ่ง หน้าบันทั้ง ๒ ชิ้นได้ถูกรื้อลง
ท่านเจ้าอาวาสรูปก่อนหน้าปัจจุบัน ได้นำไปประกอบกับซุ้มประตูทางเข้าวัดด้านถนนชลประทาน