[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
14 พฤศจิกายน 2567 05:14:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 2 [3]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 27833 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #40 เมื่อ: 13 กันยายน 2554 12:06:41 »





ครั้งที่ ๒๗ ลักษณะพุทธศาสนา- จิตตภาวนา ()
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

จะแสดงจิตตภาวนา ซึ่งได้ใช้คำนี้ในการปฏิบัติอบรมจิต และก็ได้ใช้ตามพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ซึ่งมีปรากฏในเอกนิบาตอังคุตรนิกาย แปลความว่า ภิกษุทั้งหลายจิตนี้ประภัสสรคือผุดผ่อง แต่ว่าจิตนี้ก็เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา พระองค์ตรัสว่า จิตตภาวนาไม่มีแก่ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ดั่งนี้ และได้ตรัสไว้อีกว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสรคือผุดผ่อง แต่จิตนี้ก็เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา แต่ว่าจิตนี้ก็บริสุทธิ์ได้ พระองค์ตรัสว่า จิตตภาวนาย่อมมีแก่อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ดั่งนี้

สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
คำว่า “จิตตภาวนา” ในพระพุทธภาษิตที่อ้างมานี้ ย่อมมีความหมายถึงการอบรมจิตที่เศร้าหมองแล้วให้บริสุทธิ์ได้ ในการอบรมจิตให้บริสุทธิ์ได้นี้ ก็จะต้องอาศัยสัญญมวิธี วิธีสำรวมระวังซึ่งได้แก่สติ และทมวิธี วิธีฝึกดัดอันได้แก่ปัญญา หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งต้องอาศัย สมถกรรมฐาน กรรมฐานที่ทำจิตให้สงบ และ วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่ทำให้ได้ปัญญาเห็นจริงรู้แจ้งหรือรู้แจ้งเห็นจริง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ได้แก่สมาธิและปัญญาในไตรสิกขา ตามข้อธรรมที่อ้างมานี้จะรู้สึกว่าขาดศีลไป แต่อันที่จริงนั้นก็ต้องมีศีลเป็นภาคพื้น เพราะว่าศีลนั้นตรัสเปรียบไว้ว่าเหมือนอย่างพื้นดิน ซึ่งจะต้องมีเป็นภาคพื้นไว้ ถ้าไม่มีพื้นดินก็ไม่มีที่ยืนไม่มีที่ตั้งสิ่งของทั้งหลายฉันใด ไม่มีศีลก็ไม่มีที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลายฉันนั้น เพราะฉะนั้นจึงจะต้องมีศีลอันเป็นกุศลธรรมข้อที่เป็นพื้นฐาน กุศลธรรมอื่นๆ จึงจะอาศัยศีลเกิดขึ้นมาได้

เพราะฉะนั้นจึงตกลงว่าต้องปฏิบัติให้มีขึ้นทั้งศีลสมาธิและปัญญาครบไตรสิกขา หรือจะกล่าวขยายออกไปอีก ก็ให้ครบมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีทั้ง
ศีลทั้งสมาธิทั้งปัญญา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ เป็นปัญญา สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมกัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ เป็นศีล สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ เป็นสมาธิ และในไตรสิกขาได้ใช้คำว่าจิตในขั้นสมาธิคือเรียกว่า สีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา จิตตสิกขาก็เป็นขั้นสมาธิ หากจะนำคำว่าภาวนามาแทนสิกขาในไตรสิกขา เป็นสีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนาก็ได้ แต่ก็จะต้องเข้าใจ ว่าจิตตภาวนาในไตรสิกขานี้ก็มีความหมายแค่สมาธิ แต่ว่าจิตตภาวนาตามพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ อันสืบมาจากที่ตรัสว่าจิตนี้ประภัสสรคือผุดผ่องนั้น ย่อมมีความหมายไม่ใช่จำเพาะแต่จิตตสิกขาหรือสมาธิ แต่มีความหมายครอบไปทั้งหมด คือจิตตสิกขาปัญญาสิกขาหรือสมาธิปัญญา หรือสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน หรือสัญญมวิธี ทมวิธี รวมทั้งศีลอันเป็นภาคพื้นอีกด้วย เพราะฉะนั้นก็พึงเข้าใจความหมายของคำว่าจิตตภาวนาที่ได้กล่าวมานี้

อันวิธีอบรมจิตที่แสดงอธิบายกันทั่วไปนั้น ก็มักจะยกเอาสัญญมวิธีและทมวิธี แต่ว่าก็มีความหมายถึงกรรมฐานทั้งสอง เป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะสัญญมะนั้นก็อยู่ในขั้นของสมาธิ ทมะนั้นก็อยู่ในขั้นของปัญญา ได้กล่าวมาแล้วถึงเรื่องจิต จิตที่อบรมแล้ว จิตที่ไม่ได้อบรมแล้ว และก็ได้กล่าวมาแล้ว ว่าจิตที่เป็นธรรมชาติธรรมดาคือเป็นตัวธาตุรู้ดังที่ตรัสแสดงไว้ธาตุ ๖ ก็ล้วนเป็นจิตที่ไม่ได้อบรม จึงได้มาเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่งกับธาตุไม่รู้เกิดเป็นสัตวโลกเป็นต้นว่ามนุษย์และเดรัจฉานทั้งหลาย ตลอดจนถึงโอปปาติกะทั้งหลาย และจิตที่ไม่ได้อบรมนี้ก็ย่อมมีอวิชชาคือความไม่รู้หมายถึงไม่รู้จริง ฉะนั้นจึงได้เศร้าหมองไปได้ด้วยเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา อันเรียกว่าอุปกิเลส ก็คือกิเลสนั่นเอง แต่ในที่นี้เรียกว่าอุปกิเลสเพื่อจะชี้ให้ชัด ว่าบรรดากิเลสนั้นล้วนเป็นเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา คือเป็นอาคันตุกะที่เราแปลกันว่าผู้เข้ามาหาหรือแขก ไม่ใช่เป็นเจ้าของบ้าน แต่ว่าเมื่อจรเข้ามาแล้วก็ไม่ยอมออกไปยึดอยู่ในจิต เป็นอาสวะเป็นอนุสัย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้ประกอบกรรม กรรมก็ส่งวิบากคือผล ผลนั้นก็ก่อเพิ่มเติมกิเลสขึ้นอีก ก็เป็นอันว่าเกิดวัฏฏะคือวน จิตที่มิได้อบรมจึงต้องท่องเที่ยววนอยู่ในกิเลสกรรมวิบาก อันเรียกว่าวัฏฏสังสาระหรือวัฏฏสงสารดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

อริยสาวกย่อมมีจิตตภาวนา
ปุถุชนผู้ยังมิได้สดับ คำว่า “ปุถุชน” นั้นแปลว่าคนหนา มีความหมาย ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือเป็นคนมีกิเลสหนา เพราะว่ายังมีสังโยชน์ที่เป็นเครื่องประกอบผูกไว้อยู่ครบทั้ง ๑๐ ประการ ละไม่ได้สักประการเดียว อีกอย่างหนึ่งปุถุชนแปลว่าคนจำนวนมาก หรือว่ามีมาก ผู้มิได้สดับแล้วหมายถึงผู้ที่ยังมิได้สดับฟังคำสั่งสอนที่พระอริยะประกาศไว้แล้ว ยังไม่เข้าถึงธัมมะจนถึงตัดกิเลสได้บางส่วนหรือสิ้นเชิง ย่อมไม่มีจิตภาวนาหรือการอบรมจิตตามวิธีที่พระอริยะประกาศไว้ เพราะฉะนั้นจึงทำจิตให้บริสุทธิ์ไม่ได้ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วย่อมมีจิตตภาวนา คำว่า “อริยสาวก” นั้นแปลได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งแปลว่าศิษย์ของพระอริยะตามศัพท์ “สาวก” แปลว่า ผู้ฟังหรือผู้สดับฟัง ก็รวมแปลว่าศิษย์ของพระอริยะ อีกอย่างหนึ่งแปลว่าสาวกผู้เป็นอริยะ คือศิษย์ผู้เป็นอริยะด้วยตนเอง คำว่า “อริยะ” ในที่นี้หมายถึงบุคคลผู้ตัดกิเลสได้แล้วบางส่วนจนถึงสิ้นเชิง คือโสดาบัน บุคคลผู้ตัดสังโยชน์ได้ ๓ สกทาคามี บุคคลผู้ตัดสังโยชน์ได้ ๓ เหมือนกัน กับทำกิเลสกองราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางยิ่งขึ้นไปกว่าโสดาบันอีก

อนาคามีบุคคลตัดสังโยชน์ได้ ๕ อรหันตบุคคลตัดสังโยชน์ได้ ๑๐ สังโยชน์นั้นมี ๑๐ กิเลสทั้งหมดก็รวมอยู่ในสังโยชน์ ๑๐ นี้แหละ ฉะนั้นเมื่อตัดสังโยชน์ได้หมดก็เป็นอันว่าตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ถ้าแปลว่าสาวกผู้เป็นอริยะ ก็ต้องหมายถึงสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วตัดกิเลสได้ตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปจนถึงขั้นพระอรหันต์ แต่ถ้าแปลว่าสาวกแห่งพระอริยะคือศิษย์ของพระอริยะ ก็ย่อมรวมถึงศิษย์ผู้ที่ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตั้งแต่เบื้องต้น คือตั้งแต่เป็นปุถุชนอยู่ เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และได้ปฏิบัติตามธัมมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นไป ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นอริยสาวกได้ ผู้ได้สดับแล้วก็คือผู้ที่ได้สดับตรับฟังได้เรียนได้ศึกษาธัมมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและได้ปฏิบัติ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว มีจิตตภาวนาคือการอบรมจิต ปฏิบัติในสัญญมวิธีทมวิธี ปฏิบัติในสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติอบรมจิตนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเครื่องประกาศว่าได้เป็นอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติก็ยังไม่ได้ชื่อว่าอริยสาวกผู้สดับแล้ว แต่ชื่อว่าเป็นปุถุชนผู้ยังมิได้สดับ เป็นการแสดงชี้ให้เห็นความสำคัญของการปฏิบัติอบรมทางจิตใจว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติ และเมื่อได้ปฏิบัติอบรมจิตใจให้บริสุทธิ์แล้วอย่างเต็มที่อย่างสิ้นเชิง คือเป็นอรหันตบุคคล ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีจิตอันได้อบรมแล้ว จิตที่ได้อบรมแล้วนี้ย่อมไม่มาเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่งกับธาตุที่ไม่รู้ทั้งหลายอีก หยุดวัฏฏะคือหยุดวน เพราะเมื่อไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุให้กระทำกรรมก็ไม่ประกอบกรรม เมื่อไม่มีกรรมอันเป็นเหตุส่งวิบากก็ไม่มีวิบาก และความไม่มีวิบากนั้นก็เริ่มต้นแต่ไม่มีวิบากขันธ์คือขันธ์ที่ไม่เป็นวิบากอีกต่อไป ที่เรียกว่าไม่เกิดอีกเพราะความที่เกิดอีกนั้นเป็นการก่อวิบากขันธ์ขึ้นอีกต่อไป เมื่อตัดกิเลสออกได้ก็ตัดกรรมก็ตัดวิบาก จึงหยุดวัฏฏะคือหยุดวน เป็นวิวัฏฏะคือไม่วน มีความวนไปปราศแล้วซึ่งสภาพธรรม ดังนี้เรียกว่า “นิพพาน

สอุปาทิเสสนิพพานและอนุปาทิเสสนิพพาน
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีวิบากขันธ์เหลืออยู่คือยังดำรงชีวิตอยู่ แต่ว่าวิญญาณธาตุหรือจิตก็ไม่มาปรุงแต่งเป็นสังขาร คือไม่ปรุงแต่งเป็นกิเลสไม่ปรุงแต่งเป็นกรรมไม่ปรุงแต่งเป็นวิบาก หยุดวัฏฏะคือหยุดวน ยังเหลือแต่วิบากขันธ์ ซึ่งท่านก็ใช้วิบากขันธ์นี้บำเพ็ญประโยชน์ อย่างพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้วิบากขันธ์นี้บำเพ็ญประโยชน์ อันเรียกว่า อัตถจริยา ประพฤติประโยชน์ คือ โลกัตถจริยา ประพฤติประโยชน์ต่อโลก ญาตัตถจริยา ประพฤติประโยชน์ต่อพระญาติ พุทธัตถจริยา ประพฤติประโยชน์ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า โลกัตถจริยาประพฤติประโยชน์ต่อโลกนั้นก็คือ เสด็จจาริกไปทรงแสดงธรรมสั่งสอนโปรดสัตวโลกทุกถ้วนหน้า โปรดเวไนยนิกรคือหมู่ชนที่ฝึกอบรมสั่งสอนได้ ให้บรรลุประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งคือมรรคผลนิพพานบ้าง ตามภูมิตามชั้น ญาตัตถจริยาประพฤติประโยชน์ต่อพระญาตินั้นก็คือ โปรดพระญาติในโอกาสพิเศษเป็นบางคราวหรือเป็นบางประการ เพราะพระญาตินั้นนับตั้งแต่พระพุทธบิดาพระพุทธมารดาย่อมมีอุปการคุณแก่พระองค์มา และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ในฐานะเป็นพระญาติ พุทธัตถจริยาประพฤติประโยชน์ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่ได้ทรงแสดงธรรมบัญญัติพระวินัย ตั้งพระพุทธศาสนาและพุทธบริษัททั้ง ๔ ขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์อยู่ถึง ๔๕ ปี จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ที่เรียกว่า “ดับขันธปรินิพพาน” ดับขันธ์ก็คือดับวิบากขันธ์ทั้ง ๕ นี้ซึ่งเป็นวิบากขันธ์ครั้งสุดท้ายของพระองค์ ความดับขันธ์คือขันธ์ ๕ อันเป็นความแตกดับหรือที่เรียกว่าตายในโวหารโลกทั่วไปนั้น ก็เป็นความแตกดับหรือเป็นความตายของขันธ์ ๕ ครั้งสุดท้าย จึงเรียกว่าปรินิพพาน แปลว่าดับโดยรอบ เพราะคำว่านิพพานนั้นมี ๒ อย่าง คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสที่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ เป็นความดับกิเลสของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ยังมีเบญจขันธ์อยู่ อีกอย่างหนึ่ง อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือดับขันธ์ขั้นปรินิพพานดังกล่าวนั้น ดังโวหารสามัญเรียกว่าตายหรือแตกดับ ดับขันธ์ แต่ก็พึงทราบด้วยว่าอธิบายในดับขันธ์ทั้ง ๒ นี้ก็ยังมีต่างกันอีก อธิบายอีกอย่างหนึ่งว่าตัดกิเลสของพระโสดาบันของพระสกทาคามีของพระอนาคามี เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสของพระอรหันต์ คือดับกิเลสทั้งหมด เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน ก็เป็นอันว่าอธิบายตามนัยหลังนี้ นิพพานทั้งสองก็เป็นดับกิเลสด้วยกันทั้งหมด ในขณะที่วิบากขันธ์ยังเหลืออยู่นั้น วิบากขันธ์ก็เป็นสังขารที่ปรุงแต่ง เพราะว่านามรูปก็ยังปรุงแต่งกัน ยังมีรูปที่ต้องหายใจเข้าหายใจออกต้องผลัดเปลี่ยนอิริยาบถมีอาการ ๓๒ มีธาตุทั้ง ๔ ประกอบกันทำงาน ต้องอาศัยอาหาร ยังมีเวทนาสัญญาสังขาร แปลว่า
ขันธ์ ๕ ที่ยังเหลืออยู่นั้นก็ต้องเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ยังผสมยังปรุงแต่งกันอยู่ตลอดเวลา โดยที่เป็นที่อาศัยของจิตที่บริสุทธิ์ จิตที่ได้อบรมแล้วจิตที่บริสุทธิ์แล้ว

ประโยชน์สุขที่บริสุทธิ์เกิดจากจิตที่บริสุทธิ์
เพราะฉะนั้นจิตที่บริสุทธิ์แล้วจิตที่อบรมแล้วของพระอริยเจ้า คือของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น เมื่อยังอาศัยอยู่ในวิบากขันธ์ ก็ออกมาปฏิบัติประโยชน์ต่างๆ โดยที่ไม่ได้มีความยึดถือมุ่งหวังประโยชน์ตนแม้แต่น้อย ประกอบด้วยกรุณาอันบริสุทธิ์คือมุ่งจะช่วยให้พ้นทุกข์ ฉะนั้นพระพุทธเจ้ามีพระมหากรุณาเป็นปุเรจาริกคือนำไปข้างหน้า จึงได้ทรงใช้พระสัพพัญญุตาญาณ พระทศพลญาณและพระปาฏิหาริย์ต่างๆ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่โลกแก่เวไนยนิกรทั้งสิ้น โดยไม่มีมุ่งลาภยศสรรเสริญสุขเพื่อตนแม้แต่น้อย เพราะว่าพระองค์ไม่มีตนที่ยึดถือ ไม่ยึดถือว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณของเรา ไม่ยึดถือว่าอะไรเป็นของเรา หรือไม่ยึดถือว่าเราเป็นอะไร จึงไม่มีความเห็นแก่ตนแม้แต่น้อย มุ่งประโยชน์สุขแก่โลกเวไนยนิกรเพียงอย่างเดียว ด้วยพระมหากรุณา เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระองค์ปฏิบัติกระทำนั้นจึงเป็นตัวประโยชน์ที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นกรรมที่บังเกิดขึ้นแก่พระองค์ แม้ว่าประโยชน์ที่กระทำอย่างบริสุทธิ์นั้นจะเข้าใจกันว่าเป็นกรรมดีเป็นกรรมเกื้อกูล

แต่สำหรับพระองค์แล้วไม่เป็นตัวกรรม เพราะว่าไม่ได้มีกิเลสสร้างขึ้นมา เพราะฉะนั้นจิตที่บริสุทธิ์อย่างยิ่งนี้ทำอะไรออกไปก็เป็นตัวประโยชน์ที่บริสุทธิ์ และทรงประกอบกระทำด้วยพระญาณปัญญา จึงเป็นสิ่งที่มีคุณโดยส่วนเดียวไม่มีโทษแม้แต่น้อย เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รับไปปฏิบัติทั้งนั้น ถ้าเป็นคนที่ยังมีกิเลสจะกระทำไม่ได้ เพราะคนที่มีกิเลสนั้นจะต้องมีความเห็นแก่ตัวถ้ามีตัว เมื่อมีตัวก็ต้องมีความเห็นแก่ตัวแม้เล็กน้อย จะไม่มีความเห็นแก่ตัวก็ต้องไม่มีตัว และจะไม่มีตัวได้ก็ต้องไม่มีอุปาทานความยึดถือตัวเราทั้งหมด เป็นจิตที่บริสุทธิ์เป็นจิตที่มีอิสระเสรีด้วยประการทั้งปวง อิสระเต็มที่เสรีเต็มที่ ส่วนอิสระเสรีประการอื่นนั้นอันที่จริงไม่ใช่อิสระไม่ใช่เสรี เพราะยังเป็นทาสของตัณหาทั้งนั้น รู้สึกว่าจะเป็นอิสระเสรีอยู่ข้างนอก แต่ข้างในนั้นไม่ใช่ เป็นทาสของตัณหาทั้งนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกว่าตัณหาธิปไตย ตัณหาเป็นใหญ่ ถ้าไม่ใช่เป็นตัณหาธิปไตยก็ต้องเป็นธรรมาธิปไตย ธัมมะเป็นใหญ่ ท่านผู้มีจิตที่บริสุทธิ์นั้นไม่เป็นตัณหาธิปไตย แต่ว่าเป็นธรรมาธิปไตย ธัมมะเป็นใหญ่

ดังที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าเองนั้น ได้ทรงพิจารณาไปในทิศทั้งหมด ว่าจะมีใครบ้างที่เป็นบุคคลหรือเป็นเทพก็ตามที่จะทรงให้ความเคารพ ก็ไม่ทรงเห็นว่ามีบุคคลหรือมีเทพหรือมีอะไรที่จะทรงให้ความเคารพได้ ก็ได้ทรงเห็นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่พระองค์ทรงพึงเคารพคือธัมมะหรือธรรม พระพุทธเจ้าจึงทรงเคารพพระธรรม และก็ตรัสว่าพระพุทธเจ้าทั้งปวงนั้นเคารพพระธรรม และวิธีเคารพพระธรรมของพระองค์เป็นอย่างไรพระองค์ก็ได้ทรงบอกไว้ด้วยคือตรัสว่า ได้ทรงมีพระมหากรุณาแผ่ทั่วเหมือนกันไปหมด ทรงแสดงธรรมสั่งสอนด้วยพระกรุณาแผ่เหมือนกันไปหมด คือว่าจะทรงสั่งสอนแก่คนจนมั่งมีหรือว่าคนชั้นต่ำหรือว่าคนชั้นสูงทุกชั้นในโลก ทั้งมนุษย์ทั้งสัตว์เดรัจฉาน ทรงมีพระกรุณาแผ่เสมอเหมือนกันหมด

แล้วทรงแสดงธรรมเพื่อให้ทุกคนได้บรรลุสุขประโยชน์เหมือนกันไปหมดทั่วกันไปหมด ไม่มีความลำเอียงไม่มีความลดหลั่น ตามสมควรแก่อัธยาศัย นิสัยของแต่ละบุคคล ทรงปฏิบัติดั่งนี้คือทรงเคารพพระธรรม เพราะฉะนั้นระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ปฏิบัติประโยชน์นั้น จึงเป็นประโยชน์ที่แท้จริง เป็นประโยชน์ที่บริสุทธิ์ ไม่ได้บังเกิดจากกิเลสเพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นกรรมที่จะส่งวิบากอันเป็นวัฏฏะคือความวนต่อไป ไม่มีความยึดถือด้วยประการทั้งปวง จนดับขันธ์ในที่สุด และเมื่อดับขันธ์แล้วก็เป็นอันว่าสิ้นสมมติบัญญัติที่จะเรียกต่อไป ไม่เรียกว่าจิต ไม่เรียกว่าวิญญาณธาตุ ไม่เรียกว่าดิน ไม่เรียกว่าน้ำ ไม่เรียกว่าลม ไม่เรียกว่าไฟ ไม่เรียกว่าอะไรทั้งหมด ไม่มีความมา ไม่มีความไป ไม่มีความตั้งอยู่ ไม่มีอารมณ์ เป็นอันว่าถอนธรรมทั้งหลายขึ้นทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงสิ้นสมมติบัญญัติ ไม่มีถ้อยคำที่จะพูดถึง แต่ว่าไม่สูญ หากว่าจะสมมติถ้อยคำขึ้นเรียก ก็เรียกว่าดำรงอยู่เป็นธรรม หรือเป็นสภาพธรรมดา หรือเป็นตัวธาตุแท้ ซึ่งสิ้นสมมติบัญญัติสิ้นถ้อยคำที่จะพูดถึงทั้งสิ้น

๓๐ กันยายน ๒๕๒๖

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #41 เมื่อ: 13 กันยายน 2554 12:22:28 »





ครั้งที่ ๒๘ ลักษณะพุทธศาสนา
- วิสุทธิ ข้อสีลวิสุทธิ
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

แนวปฏิบัติในการทำจิตตภาวนา
ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงจิตตภาวนา และก็ได้แสดงอธิบายความหมายของคำว่าจิตตภาวนา จึงจะเริ่มแสดงวิธีปฏิบัติทำจิตตภาวนา เห็นว่าวิสุทธิ ๗ เป็นหลักธรรมที่จะแสดงอธิบายเป็นวิธีปฏิบัติในการทำจิตตภาวนาได้ เพราะว่าการทำจิตตภาวนานั้นก็มุ่งทำจิตให้บริสุทธิ์ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า จิตนี้ประภัสสรคือผุดผ่อง เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมา และพระองค์ก็ตรัสว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับไม่มีจิตภาวนา และก็ได้ตรัสว่าจิตที่ประภัสสรคือผุดผ่องซึ่งได้เศร้าหมองไปนี้ ปฏิบัติทำให้บริสุทธิ์ได้ ให้หลุดพ้นได้จากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง พระองค์ตรัสว่า อริยสาวกผู้สดับแล้วย่อมมีจิตตภาวนา ดั่งนี้ อันส่องความว่าจิตตภาวนานั้นเป็นวิธีทำจิตให้บริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ก็แหละวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น อันทำให้จิตบริสุทธิ์จากความเศร้าหมองไปโดยลำดับ เพราะฉะนั้นจึงจะแสดงอธิบายวิสุทธิ ๗ เป็นแนวปฏิบัติหรือเป็นวิธีปฏิบัติในการทำจิตตภาวนา

วิสุทธิ ๗ ก็คือ
๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือไม่ใช่ทาง
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ

โดยที่วิสุทธิทั้งเจ็ดนี้เป็นทางปฏิบัติ จับตั้งแต่ศีลไปสู่สมาธิและปัญญา ฉะนั้นจึงรวมทางปฏิบัติทั้งหมดจนถึงญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ จะได้แสดงข้อที่ ๑ คือ สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล

ศีลและวินัย
ศีลนั้นได้แก่ความประพฤติงดเว้นจากความประพฤติที่เป็นภัยเป็นเวร ความประพฤติที่ไม่งดงามตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ตลอดจนถึงความที่ควรงดเว้นทั้งปวง อันเป็นเครื่องทำกายวาจาตลอดถึงใจให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม ศีลนี้เนื่องด้วยวิรัติคือความงดเว้น ฉะนั้นจึงต้องมีวิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้นจากข้อที่พึงงดเว้นตามภูมิตามชั้นของตน เช่นเมื่องดเว้นจากข้อที่พึงงดเว้น ๕ ประการ ก็เรียกว่าศีล ๕ ๘ ประการก็เรียกว่าศีล ๘ ๑๐ ประการก็เรียกว่าศีล ๑๐ ๒๒๗ ประการก็เรียกว่าศีล ๒๒๗ ฉะนั้นจึงเนื่องด้วยวินัย วินัยนั้นก็ได้แก่พระบัญญัติของพระพุทธเจ้า ที่เป็นเครื่องห้ามกันความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควรไม่งดงามต่างๆ ที่ไม่ถูกไม่ชอบต่างๆ ดังเช่นศีล ๕ ก็คืองดเว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้ เป็นการห้ามมิให้กระทำ ๕ ประการ ดั่งนี้เป็นต้น ข้อที่ทรงบัญญัติไว้ห้ามมิให้กระทำก็เรียกว่าเป็นสิกขาบท คือเป็นทางแห่งการศึกษาข้อหนึ่งๆ ดังที่ตามกฏหมายเรียกว่ามาตราหนึ่งๆ และในพระวินัยของภิกษุ ก็ได้ทรงมีบัญญัติข้อที่พึงปฏิบัติ คือทรงบัญญัติไว้ให้กระทำอีกส่วนหนึ่งด้วย เช่นทรงบัญญัติไว้ให้เก็บอติเรกจีวรไว้ไม่ให้เกิน ๑๐ วันโดยมิได้วิกัป ต้องทำการวิกัปคือทำการอนุญาตให้ภิกษุหรือสามเณรเป็นต้นมาร่วมเป็นเจ้าของด้วย เรียกว่าเป็นสองเจ้าของ เมื่อเป็นดั่งนี้ ผ้าที่วิกัปแล้วจึงจะเก็บเอาไว้เกิน ๑๐ วันได้ การที่ตรัสสั่งให้ทำวิกัปนี้เป็นการบัญญัติให้กระทำ ฉะนั้นจึงมิใช่เป็นการบัญญัติให้เว้นอย่างเดียว บัญญัติให้กระทำด้วย สำหรับที่เป็นพระวินัยสำหรับภิกษุ

ฉะนั้นเมื่อรวมความเข้าแล้ว พระบัญญัติที่เป็นพระวินัยของพระพุทธเจ้านั้น จึงเป็นการบัญญัติให้เว้นอย่างหนึ่ง เป็นการบัญญัติให้กระทำอีกอย่างหนึ่ง พระวินัยนี้เป็นที่ตั้งของศีลฉะนั้นจึงต้องมีความเชื่อฟังปฏิบัติตามพระวินัย เมื่อจะรักษาศีล ๕ ก็ต้องมีความเชื่อฟัง ปฏิบัติตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้ ๕ สิกขาบท หรือที่เรียกว่า ๕ มาตรา คือเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยอาการเป็นขโมย เว้นจากประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความประมาท ในการเชื่อฟังปฏิบัติตามพระบัญญัตินี้ จึงต้องมีวิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้น เพราะฉะนั้นอะไรชื่อว่าศีล ก็อาจจะจับเอาวิรัติคือความงดเว้น ว่าวิรัติชื่อว่าศีลก็ได้ จับเจตนาคือความตั้งใจงดเว้นว่าชื่อว่าศีลดั่งนี้ก็ได้ หรือว่าจับเอาตัวความสังวรคือความระวังความสำรวมชื่อว่าศีล ดั่งนี้ก็ได้ แต่ว่าศีลตามพระวินัยบัญญัติตามที่กล่าวมานี้ ย่อมมีหลายประเภท

เมื่อย่อลงไปแล้วก็ย่อมเป็นอาคาริยวินัย วินัยสำหรับคฤหัสถ์ ก็เป็นศีลสำหรับคฤหัสถ์ คือศีล ๕ ศีล ๘ อนาคาริยวินัย วินัยสำหรับบรรพชิต ก็ศีลสำหรับบรรพชิต ก็ได้แก่ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗
เพราะฉะนั้นศีลที่กำหนดด้วยพระวินัยบัญญัติเป็นข้อๆ ดั่งนี้ จึงมีจำนวนและก็มีหลายประเภท แต่ก็อาจย่อรวมเข้าเป็น ๑ ได้ ศีลนั้นมีลักษณะรวมกันเข้าเป็นอย่างเดียวกัน ได้แก่ความเป็นปรกติ คือความที่กายวาจาใจเป็นปรกติ อาการที่กายวาจาใจเป็นปรกตินี้เป็นลักษณะที่เป็นอันเดียวกันของศีลทั้งปวง และลักษณะที่เป็นอันเดียวกันของศีลทั้งปวงคือความเป็นปรกตินี้ ย่อมเป็นเครื่องรองรับกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความที่กายวาจาใจของบุคคลเป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลายได้ ดั่งนี้ก็เป็นลักษณะอันหนึ่งอันเดียวกันของศีล ฉะนั้นเมื่อเพ่งการที่กายวาจาใจเป็นปรกติ ก็เรียกว่าความปรกตินี่แหละเป็นลักษณะที่เป็นอันเดียวกันของศีล เมื่อเพ่งความที่อาการของกายวาจาใจเป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลายได้ก็เรียกว่านี่แหละเป็นลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของศีล

อริยกันตศีล
ฉะนั้นความที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้นจึงต้องรักษาศีลให้ถึงใจ อันหมายความว่าใจจิตนี้ต้องเป็นศีลด้วย ใจจิตที่เป็นศีลนี้ก็คือใจจิตที่เป็นปรกติที่เป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลาย ได้พร้อมไปกับกายวาจาที่เป็นปรกติที่รองรับกุศลธรรมทั้งหลาย ศีลที่มีอยู่ในกายวาจาจิตคือกายวาจาจิตเป็นศีล เป็นปรกติเป็นที่รองรับกุศลธรรมทั้งหมดได้นี้ ชื่อว่าเป็นความหมดจดแห่งศีล เพราะฉะนั้นท่านจึงได้มีการแสดงลักษณะแห่งศีลดังกล่าวนี้ไว้ ว่าคือศีลที่ไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ เป็นไปเพื่อสมาธิ ศีลที่มีลักษณะดั่งนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนี่งว่า อริยกันตศีล คือศีลที่พระอริยะรักใคร่ปรารถนา ฉะนั้นก็ควรจะทำความเข้าใจในลักษณะของศีลดังกล่าวนี้ไปทีละข้อ คือข้อที่ว่าไม่ขาดนั้น ก็คือไม่ประพฤติละเมิดศีลอย่างรุนแรงจนถึงกับศีลขาด ยกตัวอย่างข้อปาณาติบาต คำว่าปาณาติบาตนั้นแปลว่าการทำสิ่งที่มีชีวิตให้ตกล่วง ท่านแสดงไว้ว่าการฆ่าสัตว์หรือการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง จะต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสญฺญิตา ตนรู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
๔. อุปกฺกโม ทำความเพียรที่จะฆ่า
๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความเพียรนั้น


เมื่อปฏิบัติละเมิดศีลข้อที่ ๑ ครบทั้ง ๕ องค์นี้ คือสัตว์มีชีวิต ตนก็รู้ว่าสัตว์มีชีวิต จิตคิดจะฆ่า ทำความเพียรที่จะฆ่า สัตว์ก็ตายด้วยความเพียรนั้น ดั่งนี้เรียกว่าละเมิดศีลอย่างแรงศีลขาด ฉะนั้นศีลที่จะบริสุทธิ์นั้นจึงต้องเป็นศีลที่ไม่ขาด คือไม่มีการละเมิดศีลจนถึงทำสัตว์ให้ตายครบองค์ ๕ ของการฆ่า ข้อว่าไม่เป็นช่อง ก็คือละเมิดแต่ว่าไม่ถึงที่สุด ที่กล่าวข้างต้นว่าไม่ร้ายแรงคือไม่ถึงที่สุดสัตว์ไม่ตาย เช่นว่าสัตว์มีชีวิต รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต ทำความเพียรที่จะฆ่า แต่ว่าสัตว์ไม่ตาย ดั่งนี้เรียกว่าศีลเป็นช่อง ศีลที่บริสุทธิ์นั้นแม้ว่าไม่ขาดเป็นท่อน ก็ต้องไม่เป็นช่องดังกล่าว ข้อว่าไม่ด่างก็คือละเมิดศีลที่อ่อนลงไปกว่านั้น เช่นว่าสัตว์มีชีวิต จิตคิดจะฆ่า แต่ว่าทำความเพียรที่จะฆ่าอ่อนๆ หรือแค่ทำให้ร่างกายบอบช้ำลำบากไปบ้าง ดั่งนี้เรียกว่าศีลด่าง ฉะนั้นศีลที่บริสุทธิ์นั้นแม้ว่าไม่ขาดไม่เป็นช่อง ก็ต้องไม่ด่าง ข้อว่าไม่พร้อย ศีลพร้อยนั้นก็คือมีการละเมิดศีลชนิดที่ไม่รุนแรงเพียงในใจ เช่นว่าสัตว์มีชีวิต รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต จิตคิดจะฆ่า แต่ว่าไม่ได้ประกอบกระทำอะไร คิดอยู่ในใจเท่านั้น ยังไม่ประกอบกระทำอะไรออกไป ดั่งนี้เรียกว่าศีลพร้อย ฉะนั้นศีลที่บริสุทธิ์นั้นจึงต้องไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง และไม่พร้อย ดั่งกล่าวนี้ด้วย

ปฏิบัติในศีลเพื่อชำระกิเลส
อนึ่ง ยังต้องประกอบด้วยลักษณะอื่นๆ อีก คือว่าเป็นไท หมายความว่าไม่เป็นทาสของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก อันหมายความว่าปฏิบัติในศีลเพื่อชำระกิเลส เพื่อกำจัดกิเลสไม่ใช่เพื่อมุ่งหวังความสำเร็จในลาภในผลเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีลในวัตร เช่นการปฏิบัติเป็นการถือของขลัง เพื่อให้เกิดลาภเพื่อให้เกิดยศดังกล่าวนั้นเป็นต้น ฉะนั้นจึงชื่อว่าศีลยังไม่เป็นไท ยังเป็นทาสของตัณหา ตัณหาเข้ามาบงการให้รักษาให้ปฏิบัติ ยังไม่เป็นไทแก่ตน การปฏิบัติในศีลต้องปฏิบัติด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ด้วยตัณหาอีกด้วยจึงจะชื่อว่าเป็นไท วิญญูชนสรรเสริญก็คือผู้รู้สรรเสริญ จะเป็นตนเองก็ตามผู้อื่นก็ตาม ซึ่งเป็นวิญญูคือผู้รู้ ก็ติเตียนตนโดยศีลมิได้ เพราะเป็นศีลที่มีลักษณะไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย และเป็นไท ดั่งนี้

ปฏิบัติในศีลเพื่อสมาธิหรือความสงบใจ
และอีกข้อหนึ่งคือเป็นไปเพื่อสมาธิ ก็หมายความว่าเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้ได้สมาธิดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นในข้อนี้จึงควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษอีกสักหน่อยหนึ่ง ก็ต้องอธิบายเพิ่มเติมในข้อที่เป็นไทอีกด้วย คือว่าศีลที่ไม่เป็นไปเพื่อสมาธินั้นเพราะเหตุหลายอย่าง ดังเช่นผู้ที่เข้ามาบวชทีแรกก็มีสมาธิดี แต่ว่าเมื่อใกล้จะออกพรรษา บางทีก็รู้สึกว่าออกพรรษาไม่ทัน ก็อึดอัดในศีล จิตใจกลุ้มกลัด ดั่งนี้ศีลก็ไม่เป็นไท เพราะการปฏิบัติในศีลนั้นจะต้องปฏิบัติ เพราะยังไม่ถึงกำหนดที่จะลาสิกขา แต่ว่าจิตอยากจะลาสิกขา รู้สึกว่าพอ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็รู้สึกอึดอัดดั่งนี้ศีลก็ไม่เป็นไท เป็นทาสของตัณหาแล้วเหมือนกัน และศีลก็ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ คือไม่ได้สมาธิ ไม่ได้ความสงบใจ ต้องอึดอัดรำคาญ แต่ก็มีหิริโอตตัปปะ ความละอายใจไม่ละเมิดศีลรักษาศีลได้ ไม่ใช่รักษาไม่ได้ แต่ว่ารักษาด้วยความจำใจหรือว่าต้องต่อสู้ใจอย่างรุนแรง ก็อยากจะทิ้งศีล แต่ว่าทิ้งไม่ได้เพราะยังไม่ถึงกำหนด ก็ต้องรักษา แต่ก็กลุ้มกลัด ดั่งนี้เรียกว่าศีลไม่เป็นไท และก็ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ฉะนั้นจึงต้องให้เป็นไท คือไม่ให้เป็นทาสของตัณหา ต้องข่มตัณหาได้แล้วก็ต้องเป็นไปเพื่อสมาธิ คือใจต้องให้ได้ความสงบด้วย ดั่งนี้จึงจะใช้ได้

สรุปสีลวิสุทธิ
ศีลที่มีลักษณะดังกล่าวมานี้ทั้งหมด ที่ท่านเทียบหรือใช้ถ้อยคำว่าไม่เป็นท่อนไม่เป็นช่องไม่ด่างไม่พร้อยนั้น ก็เทียบด้วยผ้าขาว ผ้าขาวที่เป็นท่อนก็คือว่าขาดจนถึงหลุดเป็น ๒ ท่อน ๓ ท่อน และที่เป็นช่องนั้นก็คือว่าไม่ถึงกับขาดแต่ว่าทะลุเป็นช่องๆ ด่างก็คือเหมือนอย่างผ้าด่าง พร้อยก็คือเหมือนอย่างผ้าพร้อยหรือด่างที่อ่อนลงมา เทียบกับผ้าขาวได้ดังนี้ เพราะฉะนั้นสีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งศีลหรือความหมดจดแห่งศีล จึงต้องเป็นศีลที่ไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทคือไม่เป็นทาสของตัณหา อันวิญญูชนสรรเสริญ และเป็นไปเพื่อสมาธิ และศีลที่กล่าวมานี้ก็มีชื่อว่าอริยกันตศีล ศีลที่พระอริยะรักใคร่ปรารถนาอีกชื่อหนึ่งด้วย การที่จะรักษาศีลให้เป็นสีลวิสุทธิได้นั้นก็จะต้องอาศัยความมีหิริ ความละอายใจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว จะต้องมีสังวรคือความสำรวมระวัง จนถึงอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์เป็นต้น และจะต้องมีจิตใจที่มีสมาธิเข้าช่วยอีกด้วยศีลจึงจะเป็นไปเพื่อสมาธิ และเมื่อได้สมาธิ สมาธิก็ช่วยศีลให้ดำรงอยู่ด้วยดีอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงได้มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบท ว่าภิกษุรูปหนึ่งรู้สึกอึดอัดว่าศีลมีมากมายเหลือเกิน จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขอประทานเพื่อจะลาสิกขาออกไป พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อเธอเห็นว่ามีมากมายหลายข้อจะรักษาเพียงข้อเดียวได้ไหม ท่านก็กราบทูลว่าถ้าข้อเดียวพอรักษาได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าให้รักษาจิต เมื่อรักษาจิตได้เพียงข้อเดียวแล้ว ก็รักษาข้ออื่นๆ ได้ทั้งหมด ภิกษุนั้นก็รับเอาพุทธโอวาทนั้นไปปฏิบัติรักษาจิตใจให้สงบ เมื่อรักษาจิตใจให้สงบได้แล้ว การรักษาศีลก็ง่ายเข้าไม่ลำบาก

๑ ตุลาคม ๒๕๒๖


: http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&date=12-01-2011&group=19&gblog=3

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 6.0.2 Firefox 6.0.2


ดูรายละเอียด
« ตอบ #42 เมื่อ: 28 กันยายน 2554 13:36:07 »





ครั้งที่ ๒๙ ลักษณะพุทธศาสนา - ธรรมบรรยายพิเศษ
เรื่องชาติ - ความเกิด
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยาย
ของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ชาติคือความเกิดเป็นทุกข์
ทางพุทธศาสนา พระบรมศาสดาได้ตรัสแสดงทุกขอริยสัจ ตั้งต้นแต่ “ชาติปิ ทุกฺขา” แม้ความเกิดเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นชาติคือความเกิดจึงเป็นตัวทุกข์ ซึ่งเมื่อมีชาติคือความเกิดก็มีทุกข์ข้ออื่นๆ ติดตามมา และความเห็นว่าความเกิดเป็นตัวทุกข์นี้เป็นสิ่งสำคัญ อันนำให้พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม เมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ทรงตรัสรู้ ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาโดยลำดับ ก็เพื่อพระโพธิญาณคือความตรัสรู้พระธรรม และเมื่อทรงเป็นพระสิทธัตถราชกุมาร ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตคือคนแก่คนเจ็บคนตายและสมณะ จึงได้ทรงพิจารณาน้อมเข้ามาถึงพระองค์ ว่าแม้พระองค์จะทรงเป็นอะไรในโลก ตลอดจนถึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระราชาเอกในโลก

ดังที่ได้ทรงรับถวายพยากรณ์ แต่ก็ไม่ทรงพ้นจากความแก่ความเจ็บความตายไปได้ เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงน้อมพระหฤทัยไปในทางที่เป็นสรณะ คือผู้ที่หลีกออกจากบ้านเรือน เป็นอนาคาริยะคือเป็นผู้ไม่มีเรือน เพื่อที่จะตัดกังวลห่วงใยทั้งปวง พ้นความประพฤติปฏิบัติ แสวงหาโมกขธรรมคือธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากความแก่ความเจ็บความตาย ทรงเห็นว่าธัมมะที่เป็นโมกขธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอมตธรรม ธัมมะของผู้ที่ไม่ตายหรือธัมมะที่ไม่ตาย จะต้องมีอยู่ เพราะเมื่อมีแก่มีเจ็บมีตาย ก็จะต้องมีไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายเป็นคู่กัน เหมือนอย่างมีมืดก็มีสว่าง จึงได้ออกทรงผนวช

นิพพาน - ภาวะที่พ้นสมมติบัญญัติ
ในพุทธประวัติตอนนี้ไม่ได้กล่าวถึง ว่าทรงเห็นเทวทูตความเกิดว่าเป็นตัวทุกข์ด้วย และโมกขธรรมที่ทรงต้องการพบนั้น ก็ปรารภว่าพ้นจากแก่เจ็บตาย ยังมิได้แสดงว่าพ้นจากเกิดจึงน่าจะเป็นเหมือนอย่างความต้องการของคนทั่วไป ที่ต้องการที่จะไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย แต่ไม่ได้กล่าวว่าไม่ต้องการที่จะไม่เกิด เพราะว่าส่วนใหญ่นั้นยังไม่ได้นึกถึงเรื่องไม่เกิด แต่นึกถึงเรื่องว่าทำอย่างไรจึงจะไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย จึงได้มีลัทธิปฏิบัติที่จะให้ประสบผลเป็นความไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายมาแต่โบราณกาล และบางลัทธิที่แสดงว่าสามารถที่จะบรรลุถึงผลนั้นๆ ได้ทั้งที่เป็นมนุษย์ เช่นในลัทธิของจีนที่มีผู้ออกประพฤติในป่าเขา จนสำเร็จเป็นเซียนและก็ดูเหมือนจะเป็นผู้ที่เรียกว่าไม่ตาย คือดำรงอยู่อย่างนั้น หรือว่าคล้ายๆ กับไม่ตาย อยู่ได้นานมาก แต่ว่าส่วนใหญ่นั้นยังเห็นว่ายากที่จะปฏิบัติให้เป็นผู้ที่ไม่ตายในมนุษยโลก คือเป็นมนุษย์ มีร่างกายเป็นมนุษย์อยู่ดั่งนี้ ยากจะปฏิบัติให้ดำรงอยู่ไม่ตายได้ จึงได้มีลัทธิแสดงว่าต้องปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ก็จะไปเกิดในชาติภพที่ไม่ตาย เช่นในสรวงสวรรค์ อยู่กับเทพผู้เป็นที่นับถืออย่างสูงสุดและก็เป็นผู้ไม่ตาย

แม้ในพุทธศาสนาเองที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธัมมะสั่งสอนไว้ชัดเจนแล้วถึงความที่เมื่อมีเกิดก็จะต้องมีตาย เมื่อไม่ตายก็ต้องไม่เกิด และเมื่อไม่เกิดก็คือบรรลุนิพพานในพุทธศาสนา และก็ต้องพ้นสมมติบัญญัติที่จะกล่าวถึงว่าเป็นอะไรทั้งสิ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สูญ ภาวะที่ไม่เกิดและพ้นสมมติบัญญัติดั่งนี้ ก็ต้องขอยืมคำมาพูดถึง เรียกว่านิพพาน หรือว่าอมตธรรมอมตธาตุ แต่ชี้ว่าเป็นอะไรนั้นไม่ได้ เป็นอันว่าได้สิ้นสุดกันเสียทีหนึ่ง ไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นอะไรต่อไป แต่ตัวที่เป็นอมตธรรมอมตธาตุนั้นมีอยู่ แต่ว่าเป็นอะไรนั้นพูดไม่ได้ทั้งนั้น จะเป็นดินเป็นน้ำเป็นไฟเป็นลมเป็นต้นไม่ได้ ภพนี้ภพหน้า เทพดามารพรหมอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ดังที่ได้กล่าวอธิบายมาแล้ว เป็นอันว่ายุติกันหมด กระนั้นก็ไม่จบ แต่แม้เช่นนั้นก็ได้มีลัทธิในพุทธศาสนาเอง ซึ่งแยกออกไปและเรียกตัวเองว่ามหายานหรืออาจริยวาท เราเรียกทางฝ่ายที่ยังนับถือตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ต้นมา ว่าฝ่ายหินยานหรือฝ่ายเถรวาท

ฝ่ายมหายานหรือฝ่ายอาจริยวาทนี้ก็มาแสดงเมืองนิพพานขึ้นใหม่ เหมือนอย่างว่าตั้งอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าองค์ต้นเดิมประทับอยู่ และบรรดาพระอรหันต์พระโพธิสัตว์ทั้งหลายก็ไปเกิดอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้น และเมื่อถึงกาลเวลาก็ส่งพระมนุษย์พุทธเจ้ามาเกิดในโลกมนุษย์ ให้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกมนุษย์เป็นครั้งๆ คราวๆ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายก็เป็นพระมนุษยพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และเมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็เสด็จไปอยู่ในสรวงสวรรค์นั้นอีกเป็นนิรันดร ก็เข้าใจว่าการแสดงแบบเถรวาทนั้นเป็นอนัตตา ไม่มีอัตตาตัวตน คนเข้าใจยากและรู้สึกว่าเคว้งคว้าง เพราะว่าปฏิบัติเพื่อไปสู่อมตธรรมอมตธาตุ ซึ่งไม่มีอัตตาตัวตนที่จะสัมผัสได้ ที่จะเห็นได้ ได้ยินได้ ก็ทำให้ไม่เข้าใจหรือเข้าใจยากนั้นอย่างหนึ่ง หรือทำให้เข้าใจว่าปฏิบัติไปเพื่อไม่เป็นอะไรหรือไม่มีอะไร คล้ายๆ กับละลายไปหมด ซึ่งคนจำนวนมากนั้นก็น่าจะยังไม่ชอบไม่พอใจ พอใจที่จะไปเป็นอะไรชนิดที่เต็มไปด้วยความสุขไม่มีทุกข์

คือแปลว่าให้มีเกิดชนิดที่ไม่ต้องมีทุกข์ ไม่ต้องมีเจ็บ ไม่ต้องมีแก่ ไม่ต้องมีตาย สุขกันตลอด มีตัวมีตนที่สัมผัสได้ คนส่วนใหญ่ในโลกจะต้องการอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้แตกเป็นฝ่ายมหายาน แสดงนิพพานเป็นบุคคลาธิษฐาน ยกบุคคลเป็นที่ตั้ง เพราะว่าตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเดิมนั้นเป็นธรรมาธิษฐาน ยกธัมมะเป็นที่ตั้ง จึงมาแสดงเป็นบุคคลาธิษฐาน ยกบุคคลเป็นที่ตั้ง
สร้างให้เป็นเมืองนิพพานขึ้นมา และให้ธัมมะเป็นบุคคลตัวตนขึ้นมาให้สัมผัสได้ ให้เห็นได้ ให้ได้ยินได้ แต่อันที่จริงนั้นก็ไม่เห็นไม่ได้ยิน สัมผัสไม่ได้อยู่นั่นเอง เป็นแต่เพียงว่าทำให้บุคคลที่พอใจในทางนี้มีศรัทธาคือความเชื่อเท่านั้น แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงต้องการให้ใช้ปัญญาคือตัวความรู้เป็นหลักสำคัญ แม้จะเชื่อก็ให้เชื่อด้วยความรู้ ในขณะที่ยังไม่เชื่อก็ให้รู้ไว้ก่อน ในขณะที่ยังไม่รู้ก็ให้เชื่อไว้ก่อน ในบุคคลที่ควรเชื่อในวัตถุที่ควรเชื่อ แต่ก็ให้ปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงและก็รู้ด้วยใจของตนเอง และการที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงด้วยปัญญานี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ทำได้

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่าอายตนะนั้นมีอยู่ คำว่า “อายตนะ” ในที่นี้หมายถึง “นิพพาน” ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่ภพนี้ ไม่ใช่ภพหน้า ไม่ใช่อะไรๆ ทั้งสิ้นที่เป็นภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง และที่ใช้คำว่าอายตนะก็น่าฟังน่าคิดว่าทำไมจึงใช้คำว่าอายตนะหมายถึงนิพพาน เพราะอายตนะนั้นก็ใช้หมายถึงอายตนะภายในภายนอกที่ต่อกัน คืออายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ตรงนี้เองที่น่าคิด คือความหมายของอายตนะนั้นแปลว่าที่ต่อได้ เช่นตากับรูปที่ต่อกันได้ หูกับเสียงที่ต่อกันได้ แล้วก็ต่อเข้าไปถึงจิต ดั่งนี้เป็นต้น

ฉะนั้นแม้นิพพานจะเป็นอมตธาตุอมตธรรมก็เป็นอายตนะคือต่อได้ ต่อได้นั้นหมายความว่าบรรลุถึงได้ ถ้าต่อไม่ได้ก็บรรลุถึงไม่ได้ การที่ต่อได้นั้นก็บรรลุถึงได้ คำนี้จึงเป็นเครื่องแสดงว่านิพพานนั้นแม้จะเป็นอมตธาตุอมตธรรมก็บรรลุถึงได้ ไม่ใช่บรรลุถึงไม่ได้และอายตนะคือนิพพานนี้ก็เป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวง และจะสิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวงได้นั้นก็จะต้องละกิเลสได้ทั้งหมด ฉะนั้นการปฏิบัติในพุทธศาสนานั้นจึงเน้นอยู่ที่การปฏิบัติเพื่อจะละกิเลส หรือว่าที่สรุปเข้าในพระโอวาท ข้อคือ ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส และเมื่อได้ปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทที่ตรัสโดยย่อนี้ จิตได้เป็นศีลเป็นสมาธิปัญญาขึ้นแล้ว ตัวปัญญานี้เองก็จะทำให้เกิดความรู้แจ่มแจ้งในสัจจธรรมทั้งปวง และเมื่อเป็นวิชชาขึ้นแล้วอวิชชาก็ดับ บรรดากิเลสทั้งปวงก็ดับจะเป็นโลภโกรธหลงเป็นตัณหาเป็นอะไรก็ดับหมด

เพราะฉะนั้นปัญญาหรือวิชชาหรือวิญญาณที่หยั่งรู้จึงเป็นยอดปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา และเมื่อได้ปัญญาได้วิชชาขึ้นมาแล้ว กิเลสทั้งหมดก็ดับ โลภโกรธหลงตัณหาอุปาทานเป็นต้นมีขึ้นเพราะอวิชชา ไม่รู้ตามเป็นจริงหรือรู้ไม่จริงทั้งนั้น จึงทำให้เกิดโมหะคือความหลง หลงโลภหลงโกรธและก็หลงหลงเองด้วย และก็หลงดิ้นรนเป็นตัณหาเป็นอุปาทานเป็นทุกอย่าง เมื่อได้วิชชาขึ้นแล้วกิเลสทั้งปวงก็ดับ และเมื่อกิเลสทั้งปวงดับแล้ว ก็เป็นอันว่าดับกิเลสวัฏฏะตัดกิเลสวัฏฏะได้ กรรมวัฏฏะก็เป็นอันว่าตัด วิบากวัฏฏะก็เป็นอันว่าตัด เมื่อตัดวิบากได้ก็เป็นอันว่าไม่เกิดอีก ซึ่งความไม่เกิดอีกนี้เป็นตัวที่สืบเนื่องมาจากการตัดกิเลสได้ เป็นอันว่าไม่เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่ไปบังคับให้ไม่เกิด บังคับไม่ได้ เมื่อตัดกิเลสวัฏฏะได้แล้ว ก็เป็นอันว่าตัดกรรมวัฏฏะวิบากวัฏฏะได้ ก็ไม่เกิดขึ้นเองเป็นธรรมดา

สรุปเรื่องความเกิดในพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์นั้น แม้พุทธประวัติที่แสดงไว้ตอนนั้นก็ยังไม่แสดงว่าได้ทรงเห็นชาติเป็นเทวทูต แต่เมื่อมาปรากฏว่าได้ทรงเห็นชาติเป็นเทวทูต คือเห็นสัจจะว่า “ชาติปิ ทุกฺขา” ขึ้นนั้น เมื่อได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมา ทรงทำสมาธิ ศีลทรงมีเป็นภาคพื้นแล้ว และก็ทรงได้ทำปัญญาในอริยสัจ จึงได้ตรัสรู้ขึ้น ตั้งต้นแต่ ชาติปิ ทุกฺขา ชาติความเกิดเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นชาติคือความเกิดเป็นทุกข์นั้น จึงเป็นธัมมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน นับว่าเป็นพิเศษ เรียกว่าไม่มีในศาสนาอื่นก็ได้ ศาสนาอื่นนั้นยังเกิดทั้งนั้น คือว่าอย่างดีที่สุดก็ไปเกิดอยู่ในสรวงสวรรค์กับเทพผู้เป็นใหญ่ ศาสนาที่เกิดก่อนพุทธศาสนา ศาสนาที่เกิดทีหลังพระพุทธศาสนา ก็ไม่มี ชาติปิ ทุกฺขา เหมือนกัน มีเกิดทั้งนั้น พุทธศาสนาเท่านั้นเป็นพิเศษ แม้เป็นพิเศษดั่งนี้แล้วก็ยังมาแก้ในฝ่ายมหายานสร้างให้เป็นบุคคลาธิษฐานขึ้นมาดังที่กล่าวแล้ว

เพื่อที่จะได้เรียกร้องศรัทธาของคนให้นับถือมากๆ ขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกตัวเองว่าเป็นมหายาน ยวดยานพาหนะที่ใหญ่โต แต่ว่าเรียกฝ่ายที่ถือตามพุทธศาสนาตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนนั้นว่าหินยาน แปลว่ายวดยานพาหนะที่คับแคบที่เล็ก เพราะฉะนั้นเรื่องความเกิดในพุทธศาสนาจึงมีแสดงไว้ดั่งนี้ และที่เรียกว่าวันเกิดเป็นมงคลสำหรับที่จะทำบุญนั้น ก็เป็นอันว่าเป็นเหตุปรารภวันใดวันหนึ่งสำหรับบำเพ็ญกุศลเท่านั้น เพราะว่าในการบำเพ็ญกุศลนั้นก็จะต้องปรารภวันใดวันหนึ่งเป็นที่ตั้งที่จะทำบุญทำกุศลกัน และก็ถือว่าอายุล่วงไปปีหนึ่งๆ รอดพ้นอันตรายต่างๆ ไปได้ ก็เป็นอันว่าได้ผ่านพ้นไปด้วยดีปีหนึ่งๆ และก็ที่จะดำรงต่อไปก็ให้ผ่านพ้นไปด้วยดีเช่นเดียวกัน ก็ย่อมจะมีความตั้งใจดีต่อกันดั่งนี้ และการที่ปรารภเหตุใดเหตุหนึ่งหรือว่าวันใดวันหนึ่งสำหรับทำบุญทำกุศลนี้ ก็ต้องเป็นธรรมดา และก็เป็นธรรมเนียมเมื่อยังมีชีวิตอยู่ของแต่ละบุคคลนั้น ก็มักจะปรารภวันเกิดเป็นวันที่บำเพ็ญกุศลให้ สำหรับคนที่ยังอยู่ ยังไม่ตายก็ปรารภวันเกิดสำหรับคนที่มีกัลยาณจิตต่อกัน ที่ยังอยู่ด้วยกัน ก็แสดงความยินดีกัน ถ้าตายไปแล้วก็ปรารภวันตาย สำหรับคนที่ยังอยู่บำเพ็ญกุศลให้ ก็เป็นวันสำหรับที่จะกำหนดทำบุญเพราะฉะนั้นจึงได้เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา และในวันนี้ก็ปรารภถึงเรื่องชาติคือความเกิดแสดงเป็นข้อธรรมบรรยาย และก็ขออำนวยพรให้แก่นวกภิกษุทุกท่าน


เต อตฺถลทฺธา สุขิตา
วิรุฬฺหา พุทฺธสาสเน
อโรคา สุขิตา โหถ
สห สพฺเพหิ ญาติถิ


๒ ตุลาคม ๒๕๒๖
: http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&date=16-01-2011&group=19&gblog=4

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 7.0.1 Firefox 7.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #43 เมื่อ: 05 ตุลาคม 2554 16:57:43 »





ครั้งที่ ๓๐ ลักษณะพุทธศาสนา - วิสุทธิ ข้อจิตตวิสุทธิ

ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยาย
ของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาโดยลำดับถึงจิตตภาวนา และได้แสดงวิธีปฏิบัติทำจิตตภาวนาด้วยวิสุทธิ ๗ ในวิสุทธิ ๗ นั้นเริ่มด้วยสีลวิสุทธิ ความหมดจดบริสุทธิ์แห่งศีล ซึ่งได้แสดงแล้ว จึงถึงข้อ ๒ จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต ข้อนี้หมายถึงสมถะหรือสมาธิ ฉะนั้นจึงจะได้อธิบายศัพท์ทั้ง ๒ นี้ก่อน

คำว่า สมถะ นั้นใช้ในคำว่า สมถกรรมฐาน แห่งกรรมฐาน ๒ คือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ตามศัพท์แปลว่าความสงบ หรือกรรมฐานที่เป็นเหตุทำให้ใจสงบ ส่วนสมาธิใช้ในคำว่าศีลสมาธิปัญญา แต่ว่าในไตรสิกขานั้น เมื่อใช้คำว่าสิกขาที่แปลว่าศึกษาสำเหนียกปฏิบัติ ก็ใช้ว่า สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ซึ่งคำว่าจิตตสิกขานั้นก็หมายถึงสมาธินี้เอง คำว่า สมาธิ แปลว่า ตั้งจิตมั่น และคำว่า จิตตสิกขา ในไตรสิกขานั้น ก็หมายถึง จิตตวิสุทธิ ความหมดจดบริสุทธิ์แห่งจิตนี้เอง อันเป็นขั้นสมาธิหรือขั้นสมถะ

อารมณ์ ๖
อันจิตนี้ดังที่ได้กล่าวอธิบายมาในตอนต้นๆ แล้ว เป็นจิตที่ต้องรับอารมณ์คือเรื่องมีเรื่องรูปเรื่องเสียงเป็นต้น รวมกันเข้าเป็นอารมณ์ ๖ โดยสรุปตามอายตนะภายนอก ซึ่งต้องผ่านทวาร ๖ ทวารก็คือประตูหรือช่องทาง ทวาร ๖ ก็เป็นทวารแห่งจิตนั่นเองที่รับอารมณ์เพราะว่าจิตนั้นจะรับเอาวัตถุมาใส่เข้าไปไม่ได้ รับได้แต่อารมณ์คือเรื่องของวัตถุนั้นๆ เช่นว่ารูปารมณ์ อารมณ์คือรูป ก็คือรูปที่ตาเห็น เป็นคนเป็นต้นไม้เป็นภูเขา จิตจะรับเอาคนเอาต้นไม้เอาภูเขาเป็นต้นเข้ามาใส่ไว้ในจิตไม่ได้ รับได้แต่อารมณ์คือเรื่อง คือเรื่องของรูปที่ตาเห็นรับเอาเรื่องเข้ามา เรื่องนั้นไม่มีรูปร่างสัณฐาน เหมือนอย่างจิตเองก็ไม่มีสรีรสัณฐาน เรื่องที่จิตรับเข้ามาก็ไม่มีสรีรสัณฐานเช่นเดียวกัน และกิริยาที่ว่ารับนั้นก็ไม่ใช่เหมือนอย่างที่ร่างกายรับเช่นว่ารับด้วยมือเป็นต้น แต่ว่ารับด้วยรู้ เพราะว่าจิตเป็นธาตุรู้ ก็รับรู้รูปที่ประจวบทางตา เรื่องของรูปที่รับรู้นั้นก็เป็นรูปารมณ์ อารมณ์คือรูป เพราะว่าการรับรู้นั้น ก็จะต้องถามว่ารับรู้ซึ่งอะไร รับรู้ซึ่งรูป ก็คือซึ่งเรื่องของรูปนั่นเอง รับตัวเรื่องเข้ามาเป็นรูปารมณ์ รับรูปนั่นแหละ แต่ว่าอันที่จริงรับเรื่องของรูปเข้ามา รูปเป็นสิ่งที่จิตรู้ คราวนี้เมื่อเป็นเสียงที่ประจวบทางหู ก็รับรู้ซึ่งเสียง ก็รับรู้ซึ่งกลิ่นทางประตูจมูก รับรู้ซึ่งรสทางประตูลิ้น รับรู้ซึ่งโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องทางประตูกาย รับรู้ซึ่งเรื่องของเรื่องเหล่านั้นทางประตูใจคือมโน ใจในที่นี้คือมโน แต่ว่าใจนั้นจะเห็นได้ว่าบางทีก็หมายถึงจิต บางทีก็หมายถึงมโน ก็สุดแต่ว่าถ้อยคำที่พูดนั้นจะมีความหมายถึงอะไร เพราะว่าใจนี่เป็นภาษาไทย เราใช้เป็นกลางๆ เพราะฉะนั้นอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นจึงเป็นเรื่องที่จิตรับรู้ รับรู้ซึ่งรูปซึ่งเสียงซึ่งกลิ่นซึ่งรสซึ่งโผฏฐัพพะซึ่งธัมมะคือเรื่องราว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จิตรับรู้นี้เราเรียกว่าเรื่องคืออารมณ์

นิวรณ์ ๕
จิตมีกิเลสคือมีอาสวะอนุสัยนอนจมหมักหมมอยู่ ดองจิตสันดานอยู่ เมื่ออารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะหรือโลภะอันเป็นตัวกิเลสเกิดขึ้น ราคะหรือโลภะก็เกิดขึ้น อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโทสะความโกรธเกิดขึ้น โทสะก็เกิดขึ้น อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลงเกิดขึ้น โมหะก็เกิดขึ้น ก็มาเป็นนิวรณ์อันทำจิตให้กลัดกลุ้มวุ่นวายไม่สงบกระสับกระส่ายดิ้นรนกวัดแกว่งไปด้วยอารมณ์และกิเลสทั้งหลายดังกล่าวมานั้น ซึ่งท่านก็จัดนิวรณ์นี้ไว้เป็น ๕ คือ

กามฉันท์ ความยินดีรับใคร่อยู่ในกาม คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่พอใจทั้งหลาย
พยาบาท ความกระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง ซึ่งพยาบาทในนิวรณ์ ๕ นี้มีความหมายเพียงที่เป็นความโกรธขัดเคืองอยู่ในจิตใจ ยังไม่มุ่งร้ายออกไป อันเรียกว่าโทสะที่แปลว่าประทุษร้ายใจ คือประทุษร้ายใจตัวเอง ยังไม่คิดออกไปประทุษร้ายผู้อื่น นี่เป็นแค่นิวรณ์
ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และ
วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย

นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้กามฉันท์ก็จัดเข้าในกิเลสกองราคะ พยาบาทก็จัดเข้าในกิเลสกองโทสะ ส่วนอีก ๓ ข้อก็จัดเข้าในกิเลสกองโมหะ แต่พระอาจารย์ท่านอธิบายว่าสำหรับกุกกุจจะ ความรำคาญใจจัดเข้าในกิเลสกองโทสะ เป็นปริยุฏฐานะ คือกิเลสที่กลุ้มรุมจิตใจ อันหมายความว่าทำจิตใจให้กลัดกลุ้มวุ่นวายไม่สงบ เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นจิตที่ไม่บริสุทธิ์คือไม่เป็นวิสุทธิ ไม่สงบคือไม่เป็นสมถะ และไม่ตั้งมั่นคือไม่เป็นสมาธิ อันหมายความว่าไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวอันเป็นอารมณ์ที่ดี เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นดั่งนี้ การที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ก็ยากเพราะว่าเมื่อจิตไม่บริสุทธิ์ไม่ตั้งมั่นไม่สงบดั่งนี้ จึงง่ายที่จะก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรมทางกายทางวาจาทางใจ อันเป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมฝ่ายอกุศล ก็ทำให้ศีลไม่บริสุทธิ์ ทำให้ศีลเป็นท่อนเป็นช่องด่างพร้อยไม่เป็นไท เพราะยังเป็นทาสของกิเลส และวิญญูชนยังไม่สรรเสริญ เพราะยังถูกกิเลสลูบคลำจับต้องและไม่เป็นไปเพื่อสมาธิได้

ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติทำจิตให้บริสุทธิ์ ตั้งต้นแต่ทำจิตให้สงบเป็นปรกติ เพื่อให้ศีลนั้นเป็นศีลที่สนับสนุนสมาธิ ที่เรียกว่าเป็นไปเพื่อสมาธิดังที่กล่าวมาแล้ว ให้ศีลเป็นพื้นฐานของสมาธิ และก็ปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธิด้วยวิธีที่เป็นสมถกรรมฐานหรือกรรมฐานที่ทำจิตให้สงบ อันกรรมฐานนั้นแปลว่าที่ตั้งของการงาน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทราบกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งของการงาน คือการงานอันได้แก่การทำจิตให้สงบให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นการงานทางจิตใจ การปฏิบัติทำจิตให้สงบก็เป็นการงานทางจิตใจอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นการงานก็จะต้องมีการตั้งการงานขึ้นมา คือว่าจับกระทำจับปฏิบัติ ความจับกระทำจับปฏิบัตินั้นเรียกว่า วิริยารัมภะ เริ่มความเพียร โดยที่ศึกษาให้รู้จักกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งของการงานทางจิตนั้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ และก็นำมาปฏิบัติคือทำจิตให้ตั้งอยู่ในกรรมฐานข้อนั้นๆ การที่นำจิตมาตั้งไว้ในกรรมฐานข้อนั้นๆ นี่แหละเรียกว่าทำกรรมฐาน เมื่อเป็นสมถกรรมฐานก็คือว่าทำสมถกรรมฐานหรือปฏิบัติในสมถกรรมฐาน

กรรมฐานสำหรับแก้จริต ๖
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงกรรมฐานไว้ในที่ต่างๆ ซึ่งพระอาจารย์ผู้รวบรวมเรียบเรียงวิสุทธิมรรคได้นำมาแสดงไว้ ๔๐ ประการ ก็คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ สัญญา ๑ คืออาหาเรปฏิกูลสัญญา ความกำหนดหมายว่าปฏิกูลในอาหาร ววัตถานะคือความพิจารณากำหนด ๑ คือจตุธาตุวัตถานะ ความกำหนดพิจารณาธาตุ ๔ และท่านแสดงว่าคนเรานั้นจัดเป็นจริตทางจิตใจ ๖ คำว่าจริตนั้นคู่กับคำว่าจริยา คำว่าจริยา แปลว่าความประพฤติ เป็นคำที่เป็นกิริยาอาการ และถ้าเป็นบุคคลผู้ประพฤติเรียกว่าจริต คำว่าจริต จึงหมายถึงบุคคลผู้ประพฤติ และเราเรียกกันในภาษาไทยว่าจริต ๖ ก็คือบุคคลปันออกเป็น ๖ พวกตามจริยาคือความประพฤติทางจิตใจของตนๆ

จำพวกที่
๑ ราคจริต คือคนที่ประพฤติทางจิตใจด้วยอำนาจของราคะคือความติดใจยินดีอยู่เป็นปรกติ
๒. โทสจริต คือคนที่ประพฤติด้วยอำนาจของโทสะอยู่เป็นปรกติ
๓. โมหจริต คือคนที่ประพฤติด้วยอำนาจของโมหะคือความหลงอยู่เป็นปรกติ
๔. วิตกจริต คือคนที่ประพฤติด้วยอำนาจของวิตกคือความคิดมากอยู่โดยปรกติ
๕. สัทธาจริต คือคนที่ประพฤติด้วยอำนาจของความเชื่ออยู่โดยปรกติ และ
๖. พุทธิจริต คือคนที่ประพฤติด้วยอำนาจของความรู้อยู่โดยปรกติ

และพระอาจารย์ได้แสดงว่าคนที่เป็นราคจริตนั้นมักจะรักสวยรักงาม ท่านแนะให้ปฏิบัติในกรรมฐาน ๑๑ ประการ คือ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ คนโทสจริตมีปรกติโกรธง่ายใจน้อย ท่านสอนให้ปฏิบัติในพรหมวิหาร ๔ และวัณณกสิณ กสิณที่เกี่ยวด้วยสี ๔ รวมเป็น ๘ คนโมหจริตที่ปรกติหลงใหลง่าย และคนที่เป็นวิตกจริตคือคนมีปรกติคิดมาก เรื่องเล็กคิดเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสั้นคิดเป็นเรื่องยาว ท่านสอนให้ทำอานาปานสติ คนที่เป็นสัทธาจริตมักจะเชื่อง่าย ชอบที่จะใช้ศรัทธามากกว่าจะใช้ปัญญา ท่านสอนให้ปฏิบัติในอนุสสติ ๖ ข้างต้น ส่วนคนที่เป็นพุทธิจริตมีปรกติชอบใช้ปัญญา ไม่ยอมที่จะเชื่ออะไรนอกจากจะต้องรู้ ท่านสอนให้ปฏิบัติในมรณสติ ในอุปสมานุสสติ ในจตุธาตุววัตถานะ และในอาหาเรปฏิกูลสัญญา คือความกำหนดหมายพิจารณาให้เห็นปฏิกูลในอาหาร ส่วนกสิณที่เหลือกับอรูป ๔ ท่านแสดงว่าอนุกูลแก่จริตทั้งสิ้น ในที่นี้จะไม่อธิบายกรรมฐาน ๔๐ ประการและจริตทั้ง ๖ กับกรรมฐานที่เหมาะแก่จริตทั้ง ๖ ตามที่พระอาจารย์ได้กล่าวอธิบายไว้ในวิสุทธิมรรค แต่ว่าจะกล่าวโดยสรุป

จริต ๔ และสติปัฏฐาน ๔
สำหรับในกรรมฐาน ๔๐ ประการนี้ไม่มีสติปัฏฐานทั้ง ๔ สำหรับในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น พระอาจารย์ได้แสดงบุคคลไว้ ๔ จำพวก คือแบ่งว่าบุคคลเป็นจริตทั้ง ๔ อีกนัยหนึ่งที่เรียกว่าอีกนัยหนึ่งนั้นไม่ใช่หมายความว่าเป็นอีกจำพวกหนึ่งจากจริต ๖ ก็บุคคลที่เป็นประชาโลกหรือสัตวโลกด้วยกันทั้งหมดนี้แหละ ท่านแสดงว่าเป็นจริต ๖ ไว้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งท่านแสดงไว้เป็นจริต ๔ คือ ตัณหาจริตอย่างหยาบ ตัณหาจริตอย่างละเอียด ทิฏฐิจริตอย่างหยาบ ทิฏฐิจริตอย่างละเอียด

ตัณหาจริตอย่างหยาบนั้น คือคนที่มีปรกติติดอยู่ในกาย ชอบแต่งกายให้งดงาม ชอบความงดงามของร่างกาย ท่านสอนให้ปฏิบัติในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ตัณหาจริตอย่างละเอียดนั้น คือคนที่ติดเวทนา ไม่ค่อยจะติดร่างกายเท่าไหร่ คือต้องการสุขเวทนาให้สบายก็แล้วกัน ร่างกายจะสวยงามไม่สวยงาม เครื่องแต่งกายจะสวยงามไม่สวยงามก็ไม่ใคร่จะว่า ต้องการให้สบาย ให้อยู่อย่างสบายๆ ท่านสอนให้ปฏิบัติในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ทิฏฐิจริตอย่างหยาบ คือคนที่มีความเห็นผิด อันหมายความว่ามีความเห็นยังไม่บริสุทธิ์นั่นแหละ ยังติดโน่นติดนี่อยู่มาก มักจะเป็นคนที่ชอบเอาใจตนเองเป็นประมาณ ต้องการให้ถูกใจตนเอง และการถูกใจตนเองนั้นก็หมายความว่าถูกกับความเห็นความชอบใจของตนเองนั้นเอง อันนี้ก็เป็นทิฏฐิอันหนึ่ง ก็ไม่ได้เป็นความเห็นผิดอะไรมากมาย เป็นความเห็นผิดชนิดที่เอาแต่ใจตนเอง ชอบที่จะทำตามความเห็นของตนเองตามความชอบใจของตนเองดั่งนี้ ท่านสอนให้ปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ทิฏฐิอย่างละเอียด ซึ่งยังมีความยึดถืออยู่ในตัวเราของเราเป็นต้น ท่านสอนให้ปฏิบัติในธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าแม้สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ก็เหมาะสำหรับทุกๆ คนที่จะปฏิบัติและทุกๆ คนนั้นอันที่จริงก็ต้องมีจริต ต้องเป็นจริตทั้ง ๔ นี้อยู่ด้วยกันน้อยหรือมาก บางทีก็ติดกาย บางทีก็ติดเวทนา บางทีก็ติดจิต บางทีก็ติดธัมมะคือเรื่องในจิต ซึ่งจะพูดง่ายๆ สรุปเข้ามาอีกคือติดกายก็ชอบให้ร่างกายสวยงามก็แล้วกัน ติดเวทนาก็คือว่าชอบสบาย ร่างกายจะสวยงามไม่สวยงามก็ไม่ว่ากระไร ให้สบายก็แล้วกัน ติดจิตก็คือว่าให้ถูกใจก็แล้วกัน บางทีก็ไม่ทำให้ร่ายกายสวยงามนัก บางทีก็ไม่ต้องเป็นสุขนัก แต่ถูกใจชอบใจก็แล้วกัน ติดธัมมะก็คือติดเรื่องราวในจิตใจ เมื่อเป็นเรื่องที่จิตชอบละก็เป็นอันว่าใช้ได้ เพราะฉะนั้นก็ให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ก็ใช้แทนกรรมฐานทั้ง ๔๐ ประการนั้นได้ด้วย

๙ ตุลาคม ๒๕๒๖

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 8.0 Firefox 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #44 เมื่อ: 18 พฤศจิกายน 2554 04:51:05 »





ครั้งที่ ๓๑ ลักษณะพุทธศาสนา
- วิสุทธิ ข้อจิตตวิสุทธิ (๒)
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยาย
ของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

กรรมฐาน ๘๔,๐๐๐
จะแสดงจิตตวิสุทธิต่อ กรรมฐาน ๔๐ ประการและสติปัฏฐาน ๔ ได้แสดงแล้ว ก็เป็นอันว่ายังไม่หมดกรรมฐานแม้สำหรับเพื่อสมาธิอันเรียกว่าสมถกรรมฐาน พระอาจารย์ผู้อธิบายกรณียเมตตสูตรได้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนกรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย ๘๔,๐๐๐ กรรมฐาน อันจำนวน ๘๔,๐๐๐ นี้เป็นคำที่พระอาจารย์ได้แสดงจำนวนพระธรรมขันธ์ เรียกว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โดยที่ได้แสดงไว้ว่าพระไตรปิฏกคือ พระวินัยปิฏก พระสุตตันนปิฏกและพระอภิธรรมปิฏก ที่แบ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอันจารึกไว้เป็นตัวอักษรเป็น ๓ หมวด คำว่า “ปิฏก” แปลว่า ตะกร้า ไตร แปลว่า สาม ติ- ปิ - ฏะ - กะ ไตรปิฏก ก็แปลว่า ๓ ตะกร้า เหมือนอย่างว่าเอาพระวินัยมาใส่ไว้ตะกร้าหนึ่ง ก็เรียกว่าวินัยปิฏก เอาพระสูตรมาใส่ไว้ตะกร้าหนึ่ง ก็เรียกว่าสุตตันตปิฏก เอาพระอภิธรรมมาใส่ไว้ตะกร้าหนึ่ง ก็เรียกว่าอภิธรรมปิฏก ความหมายก็คือว่าหมวดหรือกอง เช่นเดียวกับคำว่าธรรมขันธ์ที่แปลว่ากองของธรรมอันหมายความว่าธัมมะหลายๆ ข้อที่เป็นเรื่องเดียวกัน ก็รวมอยู่เป็นหมวดเดียวกัน ก็เป็นธรรมขันธ์อันหนึ่งเรียกว่ากองแห่งธรรม สมมติว่าธัมมะหมวดที่มีอุปการะมากในทุกะหมวด ๒ ก็มี ๒ ข้อ คือสติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ก็เป็นธรรมขันธ์หนึ่ง คือกองแห่งธรรมกองหนึ่งดั่งนี้เป็นต้น และ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้เอา ๒ หาร ก็เป็น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คราวนี้ส่วนวินัยปิฏกกับสุตตันตปิฏกนั้น ก็เหลืออีกครึ่งหนึ่งมาแบ่งเป็น ๒ เมื่อแบ่งเป็น ๒ ส่วนหนึ่งก็เป็น ๒๑,๐๐๐ เพราะฉะนั้นพระวินัยปิฏกจึงมี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฏกก็มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมเข้าก็เป็น ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ว่าจะมีใครเคยนับหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ก็เป็นจำนวนที่พระอาจารย์ท่านตั้งเอาไว้ ก็เห็นจะต้องถือเอาความหมายว่ามีมากนั้นเอง และพระอาจารย์ผู้อธิบายพระสูตรดังกล่าวข้างต้น ท่านบอกว่า พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานภิกษุทั้งหลายนั้น ๘๔,๐๐๐ กรรมฐาน หรือ ๘๔,๐๐๐ ข้อ ก็เป็นอันว่าพระธรรมขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นกรรมฐานทั้งนั้น

อันที่จริงพิจารณาดูแล้ว ก็เห็นว่าทุกๆ อย่างผู้ที่เป็นบัณฑิตถือเป็นข้อกรรมฐานได้ทั้งนั้น คือว่าอารมณ์ทั้ง ๖ ซึ่งจิตรับทางทวารทั้ง ๖ ดังที่กล่าวมาแล้วอยู่ทุกๆ วัน ทุกๆ เวลานั้น ก็เป็นกรรมฐานได้ทั้งหมด รูปที่ตาเห็นทั้งหมด เสียงที่หูได้ยินทั้งหมด กลิ่นรสโผฏฐัพพะที่จมูกลิ้นกายได้ทราบทั้งหมด และธัมมะคือเรื่องราวที่ใจได้รู้ได้คิดทั้งหมด บัณฑิตถือเป็นกรรมฐานได้ทั้งนั้น เพราะว่าเมื่อมีสติกำหนดในอารมณ์ทั้งปวงเหล่านั้นอยู่ทุกอิริยาบถ อารมณ์ทั้งปวงเหล่านั้นก็เป็นกรรมฐานทั้งนั้น ดังเช่นที่มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุหรือภิกษุณีรูปหนึ่งท่านไปบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตก็เอาน้ำล้างเท้า น้ำที่เทล้างเท้านั้น เมื่อเทลงไปทีแรกก็ปรากฏเป็นน้ำไหล แล้วค่อยๆ ซึมไหลไปในแผ่นดินหมด ท่านก็มาจับอาการที่น้ำไหลซึมลงไปในแผ่นดินหมดนั้นมาพิจารณา ว่าทุกอย่างที่เป็นสังขารก็เป็นสิ่งที่เกิดและดับ ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรมอันที่จริงนั้นเมื่อเข้ามาบวชก็ต้องบิณฑบาตกันอยู่ทุกวันๆ และก็ต้องมีน้ำล้างเท้ากันอยู่ทุกวันๆ แต่ในวันอื่นนั้นไม่ได้ตั้งสติที่จะพิจารณา สติไม่เกิดก็ไม่เป็นกรรมฐาน แต่เมื่อสติเกิดขึ้นจิตที่กำหนดก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ เป็นจิตตวิสุทธิขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นจึงได้ปัญญามองเห็นเกิดดับจากน้ำที่เทล้างเท้า ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลแล้วก็ค่อยๆ ซึมหายไปในแผ่นดินหมด อันแสดงว่าสังขารทั้งหลายเป็นสิ่งที่เกิดดับ ชีวิตนี้ก็เกิดดับดั่งนั้น ก็เป็นตัวปัญญาซึ่งเป็นวิปัสสนาขึ้นมา

หรือแม้ในสมัยหลังนี้ที่ท่านแสดงถึงพระเถระรูปหนึ่งที่มีชาวบ้านหลังวัดเขาด่ากัน ท่านก็เอาธูปเทียนมาจุดพนมมือฟัง ว่านานๆ จะได้ยินเสียงด่าแบบนี้สักทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นแม้ที่เสียงด่ากันนี้ก็เป็นกรรมฐานเหมือนกัน ในเมื่อกำหนดพิจารณาลงไป ว่าคนเราเมื่อโทสะเกิดขึ้นก็เป็นดั่งนี้ ด่ากันโครมครามอย่างนี้ ตีกันด่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าใครเห็นเป็นกรรมฐานในคำด่าได้ก็แปลว่าโทสะก็สงบ จิตก็บริสุทธิ์ แม้เสียงเพลงที่ร้องก็มีเล่าไว้ ว่าพระเถระรูปหนึ่งไปบิณฑบาต ได้ยินเสียงเพลงที่ชาวบ้านร้อง ก็กำหนดเสียงเพลงและเนื้อเพลงที่แสดงถึงความเกิดดับ คือว่าท่านไปจับความไปในความเกิดดับ แต่เนื้อเพลงนั้นจะว่าอย่างไรท่านไม่ทราบ แต่ว่าท่านจับความไปในทางสิ่งที่แสดงถึงการเกิดดับ ก็เป็นกรรมฐานขึ้นได้เหมือนกัน ก็เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นได้เหมือนกัน ก็เป็นอันว่าทั้งเสียงด่าทั้งเสียงร้องเพลงนั้นบัณฑิตถือเป็นกรรมฐานได้ทั้งนั้น ให้สำเร็จประโยชน์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่ากรรมฐานนั้นมีอยู่รอบตัวเมื่อรู้จักที่จะคิดให้ถูกทางของกรรมฐานแล้ว ก็เป็นกรรมฐานทั้งนั้น เพราะฉะนั้นที่พระอาจารย์ว่าพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน ๘๔,๐๐๐ แก่ภิกษุทั้งหลายนั้นก็มีเหตุผล คือว่าทรงจับเรื่องที่บังเกิดขึ้นเป็นกรรมฐานทั้งนั้น ผู้ที่ได้อ่านเรื่องธรรมบท หากมาคิดในแง่นี้แล้วก็จะเห็นว่าเป็นเช่นนั้น

การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ที่กล่าวไว้ว่าอาการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ๓ อย่างในนวโกวาทคือ ๑. ทรงแสดงธรรมเพื่อให้รู้ ๒. ทรงแสดงธรรมมีนิทาน คือเหตุที่ตรองตามให้เห็นจริงได้ และ ๓. ทรงแสดงธรรมที่มีปาฏิหาริย์ คือผู้ฟังย่อมได้รับผลตามสมควรแก่ความปฏิบัติ อันนี้เป็นความจริง ปฏิบัติได้ผลจริง และข้อที่ว่าทรงแสดงธรรมเพื่อรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นนั้น ก็คือว่าธัมมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งสิ้นนั้น ทรงแสดงในตนเอง ไม่ใช่ทรงแสดงที่อื่น เหมือนอย่างนายแพทย์ที่ศึกษาวิชาแพทย์นั้นก็ศึกษาภายในร่างกายของมนุษย์และของสัตว์ทั้งนั้น และเมื่อประกอบยารักษา ก็ประกอบยารักษาร่างกายของสัตว์และคนทั้งนั้น ไม่ใช่ที่อื่น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมภายในดั่งนี้ จึงรู้ได้เห็นได้ด้วยตัวเอง ถ้าทรงแสดงที่อื่นข้างนอก เช่นทรงแสดงเรื่องโลกมีที่สุดโลกไม่มีทีสุดเป็นต้น ผู้ฟังก็ได้แต่เชื่อเท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่เชื่อเอาเสียเลย ที่จะรู้นั้นไม่มี ได้แต่เชื่อ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงพยากรณ์ในเรื่องภายนอกทั้งหลายดังกล่าว ทรงพยากรณ์คือแสดงแก้ไขแต่ภายในดังที่แสดงว่าทรงบัญญัติทุกข์ บัญญัติเหตุเกิดทุกข์ บัญญัติความดับทุกข์ บัญญัติทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจนี้เอง ในพระบาลีนั้นท่านใช้คำว่า ทรงแสดงโลก ทรงแสดงเหตุเกิดโลก ทรงแสดงความดับโลก ทรงแสดงทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ก็หมายถึงทรงแสดงทุกข์เป็นต้นนั้นเอง เพราะฉะนั้นจึงรู้ได้เห็นได้

และทรงแสดงธรรมมีนิทานคือเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ คำว่า “นิทาน” นี้เป็นคำบาลีที่ท่านใช้ ว่าทรงแสดงธรรมมีนิทาน แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าเป็นนิทานที่เล่าอ้างกันเป็นเรื่อง แต่หมายความว่ามีเหตุที่ทรงปรารภ และเหตุที่ปรารภนั้นมีแสดงไว้ในธรรมบทมาก คือบางทีก็เสด็จไปบิณฑบาต เห็นเด็กกำลังตีงูกัน ก็ทรงจับขึ้นมาแสดงเป็นธัมมะสั่งสอน ซึ่งโดยความก็คือว่าทุกๆ สัตว์บุคคลต่างก็รักชีวิตของตน ต้องการความสุขอยู่ด้วยกัน จึงไม่ควรทำร้ายกัน ไม่ควรจะก่อทุกข์ให้แก่กัน ก็ทรงปรารภเอาเหตุที่เกิดขึ้นมาจับเป็นธัมมะสั่งสอน ก็เหมือนอย่างที่เล่าทีแรกว่า ภิกษุหรือภิกษุณีรูปหนึ่งท่านกลับจากบิณฑบาตล้างเท้า ก็เห็นน้ำซึมหายไปโดยลำดับ ก็ได้ความคิดถึงความเกิดดับของสังขารทั้งหลายดังที่เล่ามานั้น เพราะฉะนั้นเมื่อจับเอาเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้แหละเป็นตัวนิทานคือตัวเหตุ มาแสดงเป็นธัมมะแล้ว ทุกๆ เรื่องนั้นก็เป็นกรรมฐานทั้งนั้น และก็โดยเฉพาะทุกคนเมื่อเป็นบัณฑิตคือเป็นผู้ฉลาด ได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ ก็ย่อมสามารถจับเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาสอนตัวเอง เป็นกรรมฐานขึ้นได้ทุกๆ อย่างเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องที่เป็นกรรมฐานนั้นจึงมีมากมาย ใช้ได้ทั้งนั้น ดั่งที่กล่าวมาแล้วว่าด่าก็ใช้ได้ ร้องเพลงก็เป็นได้ ดั่งนี้เป็นต้น

สรุปหลักปฏิบัติกรรมฐาน ๕ ประการ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้อีกปริยายหนึ่ง สรุปข้อที่ปฏิบัติเป็นกรรมฐานในการที่จะทำจิตให้บริสุทธิ์เป็นจิตตวิสุทธิไว้เพียง ๕ ประการ เป็นหลัก คือ

ประการที่ ๑ เพื่อสงบกิเลสกองราคะ อันกิเลสกองราคะนั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ที่ยึดถือว่าสวยงาม เพราะฉะนั้นก็ใช้กรรมฐานสำหรับพิจารณาว่าไม่สวยงาม เช่นกายคตาสติ สติพิจารณากาย ดังที่ในสติปัฏฐานแสดงไว้ในหมวดปฏิกูลปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยสิ่งปฏิกูลที่พระอุปัชฌาย์เอามาสอนนาค ผมขนเล็บฟันหนังว่าเป็นสิ่งปฏิกูลไม่สวยงาม หรือว่าพิจารณาอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ดังที่ได้เคยแสดงมาแล้ว เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้จิตสงบจากราคะได้ เพราะว่าราคะนั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เห็นว่าสวยงาม หรืออารมณ์ที่ยึดถือว่างาม เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาว่าไม่งามในทางตรงกันข้าม ซึ่งเป็นสัจจะคือความจริง เพราะว่าสิ่งที่ยึดถือว่างามนั้นอันที่จริงไม่งาม เพราะมองในแง่ที่ปฏิกูลต่างๆ ของผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น

ข้อที่ ๒ เพื่อจะสงบกองกิเลสโทสะ อันกิเลสกองโทสะนั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ที่ยึดถือว่าไม่งามอันตรงกันข้าม เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ต้องใช้กรรมฐานที่จะทำให้เห็นว่างาม จึงได้ตรัสสอนให้เจริญเมตตาแผ่จิตออกไปให้มีความสุข ไม่มีภัยไม่มีเวรไม่มีทุกข์ รักษาตนให้สวัสดีอันตรงกันข้ามกับโทสะ เพราะเมตตานั้นจะทำให้จิตกลับอ่อนโยนเห็นว่างาม ในบุคคลหรือในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะนั้น ดังจะพึงเห็นได้ ว่าคนที่มีเมตตาต่อกันนั้น จะมองเห็นกันด้วยสายตาที่เป็นมิตรจิตใจที่เป็นมิตร ไม่ขัดลูกตาก็คืองาม เหมือนอย่างพ่อแม่เห็นลูก พ่อแม่เต็มไปด้วยเมตตาในลูก เพราะเห็นว่าลูกงามไม่ขัดลูกตา มีความรัก แม้ว่าหน้าตาจะเขลอะขละอย่างไรหรือว่าลูกจะเจ็บป่วยน่าเกลียดอย่างไรก็ยังเห็นว่างามอยู่นั่นเองด้วยความรัก อาบน้ำให้ได้ปฏิบัติได้รักษาให้ได้ไม่รังเกียจในสิ่งไม่สะอาดต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ลูกได้ นี่เป็นข้อ ๒ และเมื่อทำในข้อ ๒ นี้ก็จะดับโทสะได้

เพราะฉะนั้นให้เทียบเคียงกันในระหว่าง ๒ ข้อก่อน คือข้อ ๑ นั้นให้เห็นว่าไม่งามในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะ เพราะว่าราคะนั้นตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ยึดถือว่างาม เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้ด้วยกรรมฐานที่พิจารณาว่าไม่งาม แต่อันที่จริงก็ไม่งาม คือมองในแง่ที่ไม่งามในส่วนที่ไม่งาม เพื่อจะดับกิเลสกองราคะ คราวนี้มาถึงข้อ ๒ กิเลสกองโทสะกลับใช้กรรมฐานข้อเมตตาให้เห็นว่างาม เพราะว่าโทสะนั้นเกิดขึ้นในอารมณ์ที่เห็นว่าไม่งามขัดลูกตา ทำให้ขัดใจเพราะฉะนั้นเมื่อได้เมตตาแล้วก็จะดับโทสะได้ ความที่เห็นว่าไม่งามอันเป็นที่ตั้งของโทสะก็หายไป เพราะฉะนั้นจึงตรงกันข้าม

คราวนี้มาถึงข้อที่ ๓ ให้หัดทำกรรมฐานทั้ง ๒ อย่าง คือว่าในอารมณ์บางอย่างนั้นเป็นที่ตั้งคือชนวนให้เกิดโทสะก็มี เป็นชนวนในเกิดราคะก็มี เพราะฉะนั้นก็หัดทำกรรมฐานในอารมณ์เช่นนั้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่งามได้ คือให้สงบได้ทั้งราคะทั้งโทสะ เพราะว่าแม้กรรมฐานที่กำหนดพิจารณาว่าไม่งาม เช่นกายคตาสติดังกล่าว หรืออสุภกรรมฐาน พิจารณาซากศพก็ย่อมระงับได้ทั้ง ๒ เหมือนกัน ระงับกองราคะก็ได้ ระงับกองโทสะก็ได้ อันหมายความว่าเมื่อปฏิบัติในกรรมฐานสำหรับระงับกิเลสกองราคะโดยตรงคือกายคตาสติ สติที่พิจารณากายว่าไม่งดงาม ก็สงบกิเลสกองราคะลงไปได้ แต่ว่าก็อย่าให้กิเลสกองโทสะเกิดขึ้นด้วย เพราะบางทีกิเลสกองโทสะนั้นบังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าเป็นโทสะ แต่อันที่จริงเป็นโทสะเป็นการประทุษร้าย ดังเช่นที่มีเล่าว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานก็กายคตาสตินี่แหละ ทำให้ภิกษุทั้งหลายมองเห็นว่าร่างกายนี้เป็นสิ่งปฏิกูลไม่สะอาด เต็มไปด้วยของปฏิกูลไม่สะอาดต่างๆ กิเลสกองราคะก็สงบ แต่คราวนี้มันเกินไป คือเกิดรังเกียจร่างกายขึ้นมาว่าสกปรก อยู่กับสิ่งที่สกปรกทุกวัน ทำลายมันเสียดีกว่า ก็เลยฆ่าตัวตาย ดังนี้ไม่ถูก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเมตตาประกอบด้วย เพราะว่าชีวิตร่างกายนี้ต้องเมตตา พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ฆ่า แต่ให้เลี้ยงเอาไว้เพื่อทำประโยชน์ต่อไป อย่างเมตตาที่สอนนั้นก็สอนให้มีเมตตาเอ็นดูอยู่ในชีวิตทั้งหลาย ในสัตว์ทั้งหลาย ไม่ให้ฆ่า ไม่ให้ทำลาย การฆ่าตัวตายนี้ก็เป็นโทสะเหมือนกัน แต่เป็นโทสะอย่างละเอียด มันเป็นโมหะนั่นแหละมากกว่า แต่อาการที่ทำลายนั้นก็เป็นเรื่องคล้ายๆ ของโทสะที่แปลว่าเครื่องประทุษร้ายเพราะฉะนั้นต้องอย่าให้เลยเถิดไป ต้องมีเมตตามากำกับไว้ด้วย บางทีถ้าเบื่อๆ หนักเข้าไปก็โยนทิ้ง นี่ก็ไม่ได้ ไม่ควรที่จะโยนทิ้ง ต้องเลี้ยงไว้ต้องรักษาไว้

คราวนี้มาถึงข้อที่ ๔ ก็เหมือนกัน คือว่ามุ่งเพื่อที่จะทำลายโทสะดับโทสะ ก็เจริญเมตตา แต่เมื่อได้เมตตาแล้วอย่าให้เมตตานั้นกลายเป็นราคะขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงให้พิจารณาให้เห็นความปฏิกูลคู่กันไปด้วย ดังเช่นเจริญเมตตาไปในสัตว์บุคคลทั้งหลาย ก็เกิดจิตเมตตามีความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข แต่บางทีก็เลยเกิดราคะในสัตว์บุคคลนั้นด้วย ดั่งนี้ก็ไม่ถูกต้อง เมตตาก็กลายเป็นราคะไป เพราะฉะนั้นก็ต้องให้พิจารณาในข้อที่เป็นของไม่งามประกอบกันไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องแบ่งกันว่าส่วนไหนควรพิจารณาไปในทางที่ไม่งาม ส่วนไหนควรพิจารณาว่างาม อย่าให้เป็นกิเลสทั้ง ๒ ฝ่าย และเพื่อให้ไม่เป็นกิเลสทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น จึงต้องมีกรรมฐานคู่กันอยู่ดั่งนี้ สำหรับที่จะช่วยกัน เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติกรรมฐานจึงต้องหัดไว้ทั้ง ๒ ส่วน หัดทำกรรมฐานในด้านพิจารณาให้เห็นว่าไม่งาม เช่นกายคตาสติ อสุภกรรมฐานด้วย และก็หัดพิจารณาในด้านว่างามคือเมตตาไว้ด้วย เพราะเมตตาจะเห็นว่างาม แม้ในวัตถุสิ่งเดียวกันนั้น เช่นมุ่งที่จะสงบราคะก่อน พิจารณาว่าไม่งาม แต่ก็ให้มีเมตตากำกับด้วย เพื่อจะได้ไม่ทำลาย แล้วก็ในส่วนที่เพื่อทำลายโทสะก็เหมือนกัน แผ่เมตตาไปเพื่อที่จะระงับโทสะทำลายโทสะก็ต้องหัดที่จะพิจารณาในด้านที่เป็นกายคตาสติหรืออสุภกรรมฐาน คือในทางที่เห็นว่าไม่งามนั้นด้วย เพื่อไม่ให้เมตตากลายเป็นราคะ ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๔

คราวนี้มาถึงข้อที่ ๕ เมื่อปฏิบัติได้ดั่งนี้แล้วก็เว้นได้ทั้ง ๒ คือไม่ต้องใช้กรรมฐานเพื่อระงับราคะ คือในทางพิจารณาว่าไม่งาม และกรรมฐานเพื่อระงับโทสะ คือในทางพิจารณาว่างามอันเป็นทางตรงกันข้ามกันนั้น เว้นได้เสียทั้ง ๒ อย่าง และทำจิตให้เป็นอุเบกขา คือเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ในกลางในภายใน มีสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัวกำกับอยู่ เป็นการตั้งสงบอยู่ภายในเป็นอุเบกขา ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๕

นี้เป็นวิธีปฏิบัติทำจิตตวิสุทธิ์ คือทำจิตให้บริสุทธิ์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนสรุปเอาไว้ ว่าวิธีปฏิบัตินั้นมี ๕ ประการดั่งนี้ กรรมฐานทั้งหมดจะมีกี่ข้อก็ตาม ก็เพื่อให้ได้ผลตามหลักปฏิบัติทั้ง ๕ ประการนี้


๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๖
- http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&date=23-01-2011&group=19&gblog=6

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.52 Chrome 19.0.1084.52


ดูรายละเอียด
« ตอบ #45 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2555 19:28:03 »





ครั้งที่ ๓๒ ลักษณะพุทธศาสนา
- ทิฏฐิวิสุทธิ


ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร ในการอบรมนวกภิกษุ
พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

การชำระทิฏฐิเป็นวิปัสสนากรรมฐาน
จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๓ คือทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็น วิสุทธิข้อที่ ๑ คือ สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล ข้อที่ ๒ จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต ก็คือศีลและสมาธิ ข้อที่ ๑ คือศีลนั้นต้องมีเป็นภาคพื้น ข้อที่ ๒ คือสมาธิต้องมี เป็นบาทของวิปัสสนา คือของปัญญา และตั้งแต่ข้อที่ ๓ ไปจนถึงข้อที่ ๗ เป็นตัวปัญญาหรือเป็นตัววิปัสสนา เพราะฉะนั้นการแสดงอธิบายวิปัสสนากรรมฐานหรือปัญญาในไตรสิกขา จึงอธิบายได้ด้วยวิสุทธิตั้งแต่ข้อ ๓ จนถึงข้อที่ ๗ รวมเป็น ๕ ข้อ

ข้อที่ ๓ นี้เป็นตัววิปัสสนาข้อแรก คือจะต้องปฏิบัติทำทิฏฐิคือความเห็นให้หมดจดบริสุทธิ์ก่อน อันทิฏฐิคือความเห็นนั้น สำหรับขั้นที่ทำให้บริสุทธิ์ในที่นี้ ก็คือความเห็นในตัววิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนา คำว่า “ภูมิ” นั้นเราใช้เรียกกันว่าภูมิชั้นหรือว่าภูมิแผ่นดิน ภูมิของวิปัสสนานั้นก็คืออารมณ์ของวิปัสสนา ที่ตั้งของวิปัสสนา ในการปฏิบัติวิปัสสนานั้น จะต้องได้วิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นที่ตั้งของวิปัสสนา เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา อันเรียกว่า วิปัสสนาภูมิ และวิปัสสนาภูมิในที่นี้หมายถึงการปฏิบัติชำระทิฏฐิคือความเห็นเสียก่อน อันการชำระทิฏฐิคือความเห็นเสียก่อนนั้น ก็จะต้องมีศีลมีสมาธิเป็นพื้นฐานเป็นบาทมาโดยลำดับ

คือว่าศีลนั้นเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ ราคะโทสะโมหะที่เป็นอย่างหยาบ อันเป็นเหตุให้ละเมิดออกไปทางกายทางวาจาทางใจ และก็จะต้องมีสมาธิสำหรับที่จะสงบหรือชำระกิเลสอย่างกลางคือนิวรณ์ ก็คือราคะโทสะโมหะซึ่งเป็นขั้นนิวรณ์ที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะสงบตั้งมั่นลงได้ ก็น้อมจิตที่เป็นสมาธิอันมีศีลเป็นพื้นฐานนี้ ซึ่งเป็นจิตที่สงบ มากำหนดพิจารณาดูอัตภาพนี้ คือความเป็นอัตตาตัวตนนี้ ว่าอัตภาพนี้คือความเป็นอัตตาตัวตนนี้ เป็นอัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวตน เป็นสัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคล อัตตสัญญากับสัตตสัญญานี้ กล่าวรวมกันในภาษาไทยอย่างง่ายๆ ก็คือความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

รู้ขันธ์ ๕ หรือนามรูป
อันความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานี้เกิดขึ้นที่ไหน ก็เกิดขึ้นที่กองทั้ง ๕ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าขันธ์ ๕ คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เพราะเหตุที่มีความยึดถืออยู่ในขันธ์ ๕ นี้ว่า เอตํ มม นี่เป็นของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนี่ เอโส เมอตฺตา นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา หรือกล่าวสั้นว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ จึงชื่อว่าอุปาทานขันธ์ แปลว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือดังกล่าว ฉะนั้นอัตภาพนี้ก็คือตัวอัตตาสัญญา สัตตสัญญา ซึ่งตั้งขึ้นที่ขันธ์ ๕ นี้ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา จึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ เพราะฉะนั้นจึงกำหนดพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕ ว่ารูปเป็นอย่างนี้ ก็คือเป็นมหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ อันได้แก่ธาตุทั้ง ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เรียกว่ามหาภูตรูป และอุปาทายรูป รูปอาศัย ก็คืออาศัยซึ่งมหาภูตรูปนั้นอยู่ เป็นต้นว่าประสาททั้ง ๕ จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท วิสัยคือสิ่งที่ต่อกันกับประสาททั้ง ๕ นั้น ก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ดั่งนี้เป็นต้น ก็เป็นกองหนึ่งเรียกว่ารูปขันธ์ กองรูป

เวทนาเป็นอย่างนี้ คือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ก็รวมเป็นกองหนึ่งเรียกว่าเวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาเป็นอย่างนี้ คือความจำหมายต่างๆ จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะจำเรื่องราวทั้งหลาย ก็รวมเป็นกองหนึ่งเรียกว่าสัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารเป็นอย่างนี้ คือความปรุงคิดหรือความคิดปรุงต่างๆ คิดปรุงรูปคิดปรุงเสียงคิดปรุงกลิ่นคิดปรุงรสคิดปรุงโผฏฐัพพะคิดปรุงเรื่องราวต่างๆ ก็รวมเป็นกองหนึ่งเรียกว่าสังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณเป็นอย่างนี้ คือว่ารู้เห็น คือรู้รูปทางตาที่เรียกว่าเห็น รู้เสียงทางหูที่เรียกว่าได้ยินหรือได้ฟัง ทราบกลิ่นทางจมูก ทราบรสทางลิ้น ทราบสิ่งถูกต้องทางกาย และรู้เรื่องที่คิดที่นึกทางมโนคือใจ ก็รวมเป็นกองหนึ่งเรียกว่าวิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เรียกว่ารูปก็เพราะเป็นสิ่งที่ต้องชำรุดทรุดโทรมไป และอีก ๔ กองนั้นรวมเรียกว่านาม ก็เพราะเป็นสิ่งที่น้อมไปของจิตเพื่อรับอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะว่าจิตที่น้อมออกรับอารมณ์นั้นก็คือรับรู้นั้นเอง เป็นเวทนาก็เป็นรู้อย่างหนึ่ง คือว่ารู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆ ก็ไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นสัญญาก็รู้อย่างหนึ่งคือรู้จำหมาย เป็นสังขารก็รู้อย่างหนึ่งคือรู้คิดปรุงหรือปรุงคิด เป็นวิญญาณก็รู้อย่างหนึ่งคือรู้ที่เรียกว่าเห็นที่เรียกว่าได้ยินเป็นต้น จึงเรียกว่านามดูให้รู้จักว่ารูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ รวมเข้าก็คือว่ารูปเป็นอย่างนี้ นามเป็นอย่างนี้ ดูให้รู้จัก

รู้อายตนะ ๑๒
และก็ดูให้รู้จักสืบไปถึงอายตนะ ๖ ก็คืออายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ที่ต่อกัน ว่าตาเป็นอย่างนี้ รูปเป็นอย่างนี้ หูเป็นอย่างนี้ เสียงเป็นอย่างนี้ จมูกเป็นอย่างนี้ กลิ่นเป็นอย่างนี้ ลิ้นเป็นอย่างนี้ รสเป็นอย่างนี้ กายเป็นอย่างนี้ โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องเป็นอย่างนี้ มโนคือใจเป็นอย่างนี้ ธัมมะคือเรื่องราวเป็นอย่างนี้ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ก็เป็น ๑๒

รู้ธาตุ ๑๘
ต่อจากนี้ก็ดูให้รู้จักธาตุทั้ง ๑๘ ธาตุทั้ง ๑๘ นั้นก็คือ จักขุ ตา รูปและจักขุวิญญาณ โสตะ หู เสียงและโสตวิญญาณ ฆานะ จมูก กลิ่นและฆานวิญญาณ ชิวหา ลิ้น รสและชิวหาวิญญาณ กาย โผฏฐัพพะและกายวิญญาณ มโน ใจ ธัมมะเรื่องราวและมโนวิญญาณ ๖ กับ ๓ ก็เป็น ๑๘ เรียกว่าธาตุ ๑๘ ที่เรียกว่าธาตุ ๑๘ นั้นก็โดยอธิบายว่า ทั้งหมดนี้ทรงหรือดำรงภาวะของตนอยู่ตามประเภท เช่นจักขุคือตาก็ทรงภาวะเป็นตาดำรงภาวะเป็นตาอยู่ รูปก็เช่นเดียวกัน จักขุวิญญาณก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงมีจักขุคือตา มีรูปและมีจักขุวิญญาณ ถ้าหากว่าไม่มีความทรงภาวะของตนอยู่แล้ว ก็จะไม่ปรากฏว่ามีจักขุคือตา ไม่ปรากฏว่ามีรูปและมีจักขุวิญญาณ

ฉะนั้นจึงเรียกว่าธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงอยู่ดำรงอยู่ แต่ไม่ใช่หมายความว่าทรงอยู่หรือดำรงอยู่ตลอดไป หมายความว่าทรงอยู่ดำรงอยู่ในขณะที่ตั้งอยู่ เพราะว่าทั้งหมดนี้ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น หรือเรียกว่าสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ซึ่งมีลักษณะ ๓ คือมีความเกิดขึ้นปรากฏ มีความตั้งอยู่ปรากฏ และเมื่อตั้งอยู่ก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ เพราะฉะนั้นลักษณะที่ ๒ คือความตั้งอยู่ปรากฏนั้น ก็เพราะมีความเป็นธาตุคือยังตั้งอยู่ได้ แม้ว่าจะตั้งอยู่แล้วก็จะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แล้วในที่สุดก็ต้องแตกสลายไปก็ตาม แต่ก็ยังมีภาวะที่ตั้งอยู่ ตรงนี้แหละที่มีความเป็นธาตุ จึงรู้ว่าธาตุ ๑๘


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.52 Chrome 19.0.1084.52


ดูรายละเอียด
« ตอบ #46 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2555 19:31:05 »




การชำระทิฏฐิเป็นวิปัสสนากรรมฐาน  ต่อค่ะ...

รู้สภาพหรือสภาวธรรม
และต่อจากนี้ก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร ความที่มากำหนดดูให้รู้จักขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป และอายตนะ ๑๒ กับธาตุ ๑๘ ดั่งนี้ เรียกว่าเป็นวิปัสสนาภูมิ คือเป็นภูมิของวิปัสสนา และกำหนดให้รู้จักว่าทั้งหมดนี้เป็น สภาวธรรม สภาวธรรมนั้นแปลว่าธรรมที่มีภาวะของตนเอง ที่เรียกว่ามีภาวะของตนเองนั้นก็คือว่ามีความเกิดขึ้น มีความตั้งอยู่ และเมื่อตั้งอยู่ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปของตนเอง คือมีลักษณะของตนเองดังที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๓ นั้น และคำที่ว่าของตนเองนี้ ก็ไม่ใช่หมายความว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย แต่ว่ามีเหตุมีปัจจัยซึ่งจะกล่าวในข้อต่อไป สำหรับในข้อนี้ยังไม่กล่าวถึงเหตุถึงปัจจัย ก็เพราะเหตุและปัจจัยนั้นเอง จึงทำให้มีความเกิดขึ้นปรากฏเป็นต้นดังที่กล่าวมานั้น

และเหตุปัจจัยนี้ก็เป็นเหตุปัจจัยที่เนื่องกับสัตว์บุคคล ไม่ใช่ว่าไม่เนื่องกับสัตว์บุคคล แต่ความที่มีสัตว์บุคคลมาเนื่องนี้ ก็มาเนื่องตามความเป็นไปที่เรียกว่าสภาพภาวะของตนนั้น คือต้องมาเข้าในวงของเหตุผลที่เป็นตัวสภาพคือตัวภาวะของตน มาเข้าวงจรหรือวงกลมหรือเข้าทางของเหตุผลที่เป็นภาวะของตน เอาแต่เพียงว่าความเกิดขึ้นของขันธ์อายตนะธาตุดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด ก็ยังต้องประกอบกับเหตุปัจจัยอื่นๆ เข้ามาอีก เช่นว่าจะต้องมีสัตว์ที่เรียกว่าคันธัพพะ เข้ามาถือปฏิสนธิ โดยที่สัตว์ผู้มาถือปฏิสนธินั้นยังมีกิเลสและมีกรรม ซึ่งเป็นวัฏฏะ มีกรรมเป็นชนกกรรม กรรมที่ทำให้เกิด จึงมาถือปฏิสนธิเกิดขึ้นในครรภ์ของมารดา และก็มีความก่อกำเนิดขึ้นมาไปตามภาวะของตน

รู้สามัญลักษณะ
ฉะนั้น คำว่าสภาพตามภาวะของตนนั้น จึงหมายความว่า ตามเหตุปัจจัยของตนเองเหมือนอย่างต้นไม้ที่บังเกิดขึ้น คนอาจจะเป็นผู้ปลูกคือปลูกเพาะเมล็ดหรือว่าตนเอามาปลูกรดน้ำพรวนดินให้ปุ๋ยเป็นต้น แต่ว่าความแตกออกของเมล็ดเป็นหน่อหรือว่าเป็นต้นโดยลำดับนั้น ต้นไม้แตกเป็นหน่อจนถึงเป็นต้นตามภาวะของตนเอง คือตามเหตุปัจจัยของตนเองหรือของต้นไม้นั้นเอง คนคอยแต่เพียงรดน้ำเป็นต้น คอยบำรุงเท่านั้น แต่ความเกิดของต้นไม้นั้นเป็นไปตามสภาพตามภาวะของตน หมายความว่าตามเหตุปัจจัยของต้นไม้นั้นเอง ดั่งนี้เรียกว่าสภาพและความเป็นสภาพนี้ก็ไม่ได้หยุดเพียงความเกิดขึ้นปรากฏเท่านั้น ยังมีความตั้งอยู่ปรากฏและเมื่อตั้งอยู่ก็ยังมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏอีก ดั่งนี้ก็เป็นไปตามสภาพคือภาวะของตน คนเราจะไปฝืนสภาพของขันธ์อายตนะธาตุไม่ได้ คือจะไปฝืนให้เป็นไปตามที่ชอบใจไม่ได้

ขันธ์อายตนะธาตุเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เติบใหญ่ขึ้น เรียกว่าเจริญขึ้นมา เมื่อเรียกตามถ้อยคำธรรมดาของร่างกาย ก็เรียกว่าเป็นเด็กเล็กเป็นเด็กใหญ่เป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็แก่ลงไปหง่อมลงไป แล้วก็แตกสลายในที่สุด นี้เป็นสภาพคือเป็นไปตามภาวะของตนเองทั้งนั้น ที่เราเรียกว่าคติธรรมดา อันนี้แหละคือตัวสภาพ มีกำลังแข็งแรง ไม่ต้องการที่จะแก่จะหง่อมที่จะแตกสลาย แต่ว่าก็แก้ไขห้ามไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามสภาพ และความที่เป็นไปตามสภาพดั่งนี้ตั้งแต่เกิด ความเกิดขึ้นปรากฏ ความตั้งอยู่ปรากฏ เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ คือปรากฏให้กำหนดรู้ได้ ให้เห็นให้สัมผัสได้ว่าเป็นอย่างนั้นให้รู้ได้ และความที่ปรากฏเกิด ตั้งอยู่ และแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปนี้ ก็มีลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏขึ้น แต่ว่าเมื่อรวมขึ้นโดยทั่วไปแล้ว คือดูที่ตรงกันหมดของสิ่งที่เป็นสังขารที่ปรุงแต่งทั้งหมดแล้ว ก็รวมเข้ามาได้เป็นลักษณะ ๓ อันเรียกว่า สามัญลักษณะ ลักษณะที่ทั่วไปของสังขารทั้งปวง

ก็คืออนิจจลักขณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ทุกขลักขณะ ลักษณะที่เป็นทุกข์ อนัตตลักขณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ซึ่งอันนี้ก็ได้เคยอธิบายมาบ้างแล้ว ก็จะยังไม่พูดไม่อธิบายในสามัญลักษณะนี้ พิจารณาให้รู้จักสามัญลักษณะ คือลักษณะที่ตรงกันหมดเหมือนกันหมดของสิ่งที่เป็นสังขารทุกอย่างให้รู้จัก ส่วนลักษณะที่แตกต่างกันไปนั้น ก็อาจจะมีที่แตกต่างกันไปเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ เช่นว่าขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ มีความเกิดปรากฏ ความตั้งอยู่ปรากฏ มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ ที่ลักษณะที่แตกต่างกันไปก็มีมาก

เช่นว่าโดยรูป ก็อาจจะมีบางคนเตี้ย บางคนสูง บางคนปานกลาง บางคนผิวดำ บางคนผิวขาว อะไรเหล่านี้ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ก็เหมือนกัน ก็ต่างกันอย่างนั้นบ้างต่างกันอย่างนี้บ้าง ตามลักษณะเฉพาะตัวๆ ไป แต่ว่าก็รวมกันได้ว่า ทุกๆ ขันธ์ ๕ ทุกๆ อายตนะ ๑๒ ทุกๆ ธาตุ ๑๘ นั้น ย่อมไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นอนัตตามิใช่ตัวตนเพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เป็นแต่เพียงยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา ดังที่ได้อธิบายแล้วข้างต้นว่าอุปาทานขันธ์หรือสัตตสัญญาอัตตสัญญานั้นเท่านั้น แต่อันที่จริงนั้นไม่มีตัวเราของเราที่แท้จริงอะไรเลย บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ทั้งนั้น ต้องเป็นไปตามสภาพดังที่กล่าวมาแล้ว


สรุปการชำระทิฏฐิ
ผู้ทำวิปัสสนานั้นเมื่อได้มีศีลและได้ทำสมาธิให้ใจสงบ แล้วก็มาจับพิจารณาชำระทิฏฐิคือความเห็น ความเห็นที่ยังยึดถืออยู่ในตัวตนของเรานี้ โดยกำหนดดูให้รู้จัก

๑. ก็คือให้รู้จักขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อันเรียกว่าวิปัสสนาภูมิ ให้รู้จักสภาพของสิ่งเหล่านี้ตามที่กล่าวมาแล้ว ว่าต้องเป็นไปตามสภาพคือภาวะเหตุปัจจัยของตัวเอง ตั้งแต่ความเกิดปรากฏ ตั้งแต่ความตั้งอยู่ปรากฏ ตั้งแต่เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏดังที่กล่าวมาแล้ว ให้รู้จักสภาพว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปตามสภาพคือภาวะเหตุผลของตนเองของแต่ละสิ่งเหล่านี้ และความปรากฏนั้นย่อมปรากฏให้เห็นได้ให้สัมผัสได้เป็นต้น ให้กำหนดพิจารณาให้รู้ได้ โดยที่ต้องมีลักษณะเป็นเครื่องกำหนดหมาย ซึ่งลักษณะเป็นเครื่องกำหนดหมายนั้นปรากฏ ความปรากฏนั้นปรากฏโดยที่มีลักษณะนั้นเป็นเครื่องกำหนดหมาย ถ้าไม่มีลักษณะเป็นเครื่องกำหนดหมายแล้ว ก็ปรากฏให้รู้ไม่ได้ให้พิจารณาไม่ได้ ที่ปรากฏคือปรากฏให้รู้ได้พิจารณาได้ ซึ่งรวมเข้ามาแล้วก็คือว่าในไตรลักษณ์ ลักษณะคือเครื่องกำหนดหมาย กำหนดให้รู้ได้พิจารณาได้ ว่าไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกข์อย่างนี้ เป็นอนัตตาอย่างนี้ ถ้าไม่ปรากฏก็พิจารณาให้รู้ไม่ได้ นี่ปรากฏ เหมือนอย่างว่าจะร้องบอกด้วยซ้ำว่า ฉันไม่เที่ยงนะ ฉันเป็นทุกข์นะ ฉันเป็นอนัตตานะ อย่ามายึดถือ เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วก็คล้ายๆ กับว่าขันธ์ ๕ ที่ย่อเป็นรูปนาม อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ จะตะโกนบอกอยู่ตลอดเวลาว่าอย่ามายึดถือ อันที่จริงนั้นข้าพเจ้าไม่เที่ยง ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ ข้าพเจ้าเป็นอนัตตา

ประการที่ ๒ ก็ให้รู้จักสภาพ
ประการที่ ๓ ก็คือให้รู้จักสามัญลักษณะ

รวมเป็น ๓ ประการ ประการที่ ๑ ให้รู้จักขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ประการที่ ๒ ให้รู้จักสภาพของสิ่งเหล่านี้ และประการที่ ๓ ให้รู้จักสามัญลักษณะของสิ่งเหล่านี้ การปฏิบัติดั่งนี้เป็นการปฏิบัติทำทิฏฐิความเห็นให้หมดจด ให้หมดจดจากความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา และเมื่อพิจารณาไปจนรู้จักทั้ง ๓ ประการนี้ ก็ย่อมจะได้ทิฏฐิวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความเห็น อันเป็นวิสุทธิข้อที่ ๓ อันนับว่าเป็นวิปัสสนาข้อที่ ๒

๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๖

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #47 เมื่อ: 18 มิถุนายน 2555 17:01:30 »





ครั้งที่ ๓๓ ลักษณะพุทธศาสนา
- กังขาวิตรณวิสุทธิ

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุ พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ชำระความสงสัยที่เกิดขึ้น
จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๔ กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย เมื่อได้เริ่มทำปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐาน ชำระทิฏฐิคือความเห็นให้บริสุทธิ์ดังที่ได้กล่าวแล้ว ก็ถึงขั้นที่ปฏิบัติชำระความสงสัยที่เกิดขึ้น เพราะว่าย่อมจะมีความสงสัยถึงตัวเราในอดีตบ้าง ในอนาคตบ้าง ในปัจจุบันบ้าง เพราะว่าเมื่อยังมีอัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวเรา ของเรา สัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าสัตว์ ดังที่จะเรียกรวมกันว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เมื่อยังมีความสำคัญหมายอยู่ ว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาบังเกิดขึ้น เพราะความยึดถือในขันธ์อายตนะธาตุดังที่ได้กล่าวแล้ว ก็ย่อมจะมีกังขาคือความสงสัยเกี่ยวแก่ตัวเราของเราในกาลทั้ง ๓ นั้น และแม้ว่าจะชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ได้ด้วยกำหนดพิจารณาให้พบขันธ์อายตนะธาตุ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าตัวเราของเรานั้น กำหนดให้รู้จักหน้าตาของขันธ์อายตนะธาตุ และกำหนดให้รู้จักสภาพคือภาวะความเป็นของขันธ์อายตนะธาตุนั้น ที่มีที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตน ดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่าเกิดขึ้นตั้งอยู่และเสื่อมดับไป ซึ่งความเกิดขึ้นตั้งอยู่และเสื่อมดับไปนั้น ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของขันธ์อายตนะธาตุนั้นเอง ปรากฏอยู่

ตามที่กล่าวนี้ก็กล่าวตามพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า อุปฺปาโท ปญฺญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ วโย ปญฺญายติ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ จิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ เมื่อยังตั้งอยู่ ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสนี้ ยกเอาข้อเสื่อมดับไปเป็นข้อที่ ๒ เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นข้อที่ ๓ แต่ว่าที่อธิบายนั้นจับตามลำดับเพื่อให้เข้าใจง่าย คือว่าความเกิดขึ้นปรากฏ ความตั้งอยู่ก็ปรากฏ และความเปลี่ยนแปลงเสื่อมสิ้นไป ในที่สุดก็ปรากฏ เอาความตั้งอยู่มาไว้เป็นที่ ๒ เอาความเสื่อมสิ้นไปมาเป็นข้อที่ ๓ ก็มีความเป็นอันเดียวกันกับพระพุทธภาษิตนั้น นี้เป็นสภาพของขันธ์อายตนะธาตุ คือความมีความเป็นที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนเอง และก็กำหนดให้รู้จักสามัญลักษณะ คือลักษณะเครื่องกำหนดที่ทั่วไปของขันธ์

อายตนะธาตุ ก็คือที่ปรากฏทั้ง ๓ นั้นนั่นเอง เมื่อรวมเข้าแล้วก็มีลักษณะทั่วไปก็คือ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ลักษณะที่เป็นทุกข์ ลักษณะที่เป็นอนัตตา กำหนดให้รู้จักไตรลักษณ์ ดั่งนี้เป็นวิธีชำระทิฏฐิความเห็นให้บริสุทธิ์ แต่ว่าในขั้นนี้ก็ยังละอุปาทานไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ย่อมจะมีความสงสัยอยู่เกี่ยวกับตัวเราของเราที่ฝังลึกอยู่ในกาลทั้ง ๓ ตัวเราของเรานี่แหละเป็นที่ตั้งของ “กังขา” คือความสงสัยอย่างยิ่ง และวิจิกิจฉาในนิวรณ์ ๕ ก็มีตัวเราของเรานี่แหละเป็นที่ตั้งของวิจิกิจฉาเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเป็นมูลฐานของวิจิกิจฉาทั้งปวง

ละความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราของเรา
อันความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราของเราในกาลทั้ง ๓ นั้น ก็คือความสงสัยที่ปรารภกาลที่เป็นอดีตคือล่วงไปแล้ว ว่าตัวเราได้มีแล้วได้เป็นแล้วในอดีตหรือไม่หนอ ตัวเราไม่ได้มีแล้วไม่ได้เป็นแล้วในอดีตหรือหนอ ตัวเราได้มีได้เป็นอะไรแล้วในอดีตหรือหนอ ตัวเราได้มีได้เป็นอย่างไรแล้วในอดีตหรือหนอ
ตัวเราได้เป็นอะไรแล้วจึงได้เป็นอะไรอีกต่อไป
ในอดีตหรือหนอ ดั่งนี้ นี้เป็นกังขาความสงสัยในอดีตหรือปรารภส่วนที่เป็นอดีต สรุปเข้าแล้วก็เป็น ๕ ประการ ส่วนความสงสัยที่ปรารภอนาคตกาลข้างหน้าที่ยังไม่มาถึง รวมเข้าแล้วก็ได้แก่ความสงสัยว่า เราจักมีจักเป็นต่อไปในอนาคตหรือหนอ เราจักไม่มีไม่เป็นในอนาคตหรือหนอ เราจักเป็นอะไรหรือหนอในอนาคต เราจักเป็นอย่างไรหรือหนอในอนาคต เราจักเป็นอะไรแล้วจึงจะเป็นอะไรต่อไปในอนาคตหรือหนอ ส่วนความสงสัยที่ปรารภปัจจุบันรวมเข้าก็คือ เดี๋ยวนี้เรามีเราเป็นอยู่หรือหนอ เดี๋ยวนี้เราไม่มีไม่เป็นอยู่หรือหนอ เดี๋ยวนี้เราเป็นอะไรหรือหนอ เดี๋ยวนี้เราเป็นอย่างไรอยู่หรือหนอ เดี๋ยวนี้สัตว์นี้คือตัวเรานี้มาจากไหนหรือหนอ เดี๋ยวนี้สัตว์นี้คือตัวเราจักไปในที่ไหนต่อไปหรือหนอ ดั่งนี้ รวมเข้าก็เป็น ประการ เหล่านี้เป็นความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราของเรา


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #48 เมื่อ: 18 มิถุนายน 2555 17:02:38 »



พิจาณาจับเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ หรือนามรูป
เพราะฉะนั้นเมื่อชำระทิฏฐิคือความเห็นให้บริสุทธิ์ดังกล่าวมาแล้ว เมื่ออัตตสัญญาสัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวเราของเราสงบลงไปได้ ปรากฏเป็นขันธ์อายตนะธาตุขึ้นมาแทน แม้ว่าจะได้พิจารณาให้รู้จักสภาพคือความเป็นไปของขันธ์อายตนะธาตุตามเหตุปัจจัยของตนคือเกิดขึ้นตั้งอยู่เสื่อมดับไปดังกล่าวนั้น และรวมเข้ามาให้รู้จักสามัญลักษณะคือลักษณะที่ทั่วไปของขันธ์อายตนะธาตุ แม้อย่างนั้นก็ย่อมจะมีความสงสัยว่าขันธ์อายตนะธาตุนี้มาจากไหน ปรารภกาลทั้ง ๓ ได้เช่นเดียวกัน ในอดีตขันธ์อายตนะธาตุได้มีหรือไม่มี ในปัจจุบันขันธ์อายตนะธาตุมีอยู่หรือไม่มี ในอนาคตขันธ์อายตนะธาตุมีอยู่หรือไม่มี และถ้ามีอยู่ก็มาจากไหน เหมือนอย่างว่ามองเห็นเด็กที่เขามาวางทิ้งเอาไว้ที่หน้าบ้านของตน หรือที่ถนนหน้าบ้าน ก็ย่อมจะต้องมีความสงสัยว่าเด็กคนนี้ลูกใคร ใครเอามาทิ้งไว้ ฉันใดก็ดี เมื่อพิจารณากำหนดแม้ว่าเห็นขันธ์อายตนะธาตุว่าเป็นอย่างนี้ๆ เห็นหน้าตาของขันธ์อายตนะธาตุ แต่ก็ย่อมจะมีความสงสัยได้ว่าขันธ์อายตนะธาตุนี้มาจากไหน ทั้งในอดีตทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาและโดยเฉพาะในข้อปฏิบัติวิธีทำวิปัสสนาถัดจากชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ดังกล่าวนั้น จึงได้สอนให้พิจารณาจับเหตุปัจจัยของนามรูป ก็ขันธ์ ๕ นั่นแหละ ก็คือขันธ์อายตนะธาตุดังกล่าวมานั้นยกเอาขันธ์ ๕ ที่ย่อเป็นนามรูปขึ้นเป็นที่ตั้ง จับเหตุปัจจัยของนามรูป และก็ได้แสดงเหตุปัจจัยของนามรูปไว้ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาธุระจะพึงจับขึ้นพิจารณา

คือให้รู้จัก สามัญปัจจัย คือเหตุปัจจัยที่ทั่วไปของนามรูปทั้ง ๒ อย่างหรือของขันธ์ ๕ ทั้งหมด ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม เป็นสามัญปัจจัยแห่งนามรูป อวิชชาก็คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ก็คือไม่รู้ในอริยสัจ ตัณหาก็คือความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานก็คือความยึดถือ กรรมก็คือการงานที่บุคคลกระทำทางกายทางวาจาทางใจ เป็นกรรมที่ดีก็มี เป็นกรรมที่ชั่วก็มี เป็นกรรมที่เป็นกลางๆ ก็มี อวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมทั้ง ๔ นี้เป็นสามัญปัจจัยแห่งนามรูป และได้สอนให้รู้จัก วิสามัญปัจจัย คือเหตุปัจจัยที่ไม่เป็นสามัญคือทั่วไปแก่นามรูปเหมือนกันทั้งหมด แต่ว่าเป็นเหตุปัจจัยจำเพาะของแต่ละข้อในขันธ์ ๕ หรือย่อเป็นนามรูป ก็คือให้รู้จักว่าอาหารที่บริโภคเข้าไปเป็นวิสามัญปัจจัยแห่งรูป อาหารที่บริโภคเข้าไปนั้นก็เช่นข้าวสุกและอาหารทั้งปวงสำหรับที่จะทะนุบำรุงร่างกาย รวมเข้าก็คือว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นั้นเอง เป็นอาหารที่บุคคลบริโภคเข้าไปสำหรับทะนุบำรุงร่างกาย เพราะว่ารูปกายนี้ก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุดินน้ำลมไฟ      ธาตุดินน้ำลมไฟที่ประกอบเข้าเป็นรูปกายนี้ ก็สิ้นไปเสื่อมไปอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีอาหารคือธาตุดินน้ำไฟลมใหม่เข้าไปทะนุบำรุงเพิ่มเติมเอาไว้ รูปกายนี้จึงดำรงอยู่ได้

เพราะฉะนั้นในข้อนี้ดูเข้ามาสักหน่อยก็จะเห็นได้ ว่าเป็นสภาวธรรมอย่างไร เป็นสามัญลักษณะอย่างไร ซึ่งเป็นอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ที่เป็นไปตามสภาพหรือที่เป็นตัวสภาพคือความมีความเป็นที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนนั้น ก็ได้กล่าวมาแล้ว เกิดขึ้นตั้งอยู่และแปรปรวนเปลี่ยนแปลงดับไป นี่เป็นตัวสภาวธรรมและก็เป็นไปตามสภาวธรรมดั่งนี้ ธาตุทั้งหลายที่มาประกอบเข้าเป็นรูปกายอันนี้ ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงดับไปอยู่ทุกขณะจิต จึงต้องการอาหารเข้าไปบำรุงเพิ่มเติมอยู่ทุกขณะเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ชัดก็คือว่าทุกคนต้องบริโภคลมอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก คือต้องหายใจเข้าหายใจออกกันอยู่ทุกขณะ หยุดไม่ได้ เพราะว่าต้องการธาตุลมนี้เข้าไปเพิ่มเติมส่วนที่เสื่อมสิ้นไปอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก และในธาตุลมอันนี้อันที่จริงก็มีธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟรวมเข้าอยู่ในธาตุลมนี้ด้วยที่เป็นอย่างละเอียด ถ้าหากว่าต้องหยุดหายใจสักครู่เดียว ชีวิตก็จะดับแล้ว ก็แสดงว่าธาตุที่เข้าไปดำรงเลี้ยงชีวิตอันเป็นส่วนรูปกายนี้ต้องเสื่อมดับอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออกทีเดียว ต้องเข้าไปซ่อมแทนกันให้ได้ทุกขณะลมหายใจเข้าออกทีเดียวจะเว้นเสียไม่ได้ เพราะฉะนั้นอาหารรวมเข้าก็คือธาตุทั้ง ๔ นี้จึงเป็นวิสามัญปัจจัยของรูป ซึ่งต้องการอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

คราวนี้มาถึงนาม อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ เป็นวิสามัญปัจจัยแห่งวิญญาณอันเป็นส่วนจิต ก็คือว่าอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ นี้ต้องประจวบกัน จึงจะเกิดวิญญาณ รู้รูปก็คือเห็นรูป รู้เสียงก็คือได้ยินเสียงเป็นต้น ถ้าหากว่าอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ไม่ประจวบกัน วิญญาณก็ไม่บังเกิดขึ้น ถ้าคนหลับตาเสียไม่ดูอะไร จักขุวิญญาณก็ไม่เกิด คนที่ตาบอดจักขุวิญญาณก็ไม่เกิด หูหนวกโสตวิญญาณก็ไม่เกิด หรือคนที่ตาดีหูดี ถ้าหากว่าไม่ดูไม่ฟัง คือไม่ทำให้อายตนะภายในภายนอกในข้อตาข้อหูนั้นมาประจวบกัน จักขุวิญญาณโสตวิญญาณก็ไม่เกิดเช่นเดียวกัน แต่ว่าคนเรานั้นแม้ว่าจะพิการตาบอดหูหนวก แต่อายตนะคู่ที่ ๖ นั้นยังอยู่คือมโนกับธัมมะ และอาจจะใช้ทดแทนได้ เช่นใช้กายอันเป็นอายตนะภายในข้อที่ ๕ กับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องทดแทนได้บ้าง ทดแทนตาได้ ดังเช่นที่เคยเล่าแล้วถึงคนตาบอดและมาหัดปฏิบัติทางจิตให้อ่านหนังสือได้ หรือดูอะไรได้บ้างเป็นต้น ที่ท่านกล่าวสันนิษฐานกันว่าใช้กายส่วนใดส่วนหนึ่งทดแทน ถ้าไปปิดกายส่วนนั้นเสียวแล้วก็มองไม่เห็น แต่นั่นต้องใช้อาศัยอำนาจสมาธิจิตเข้ามาช่วย แต่โดยปรกติแล้วอายตนะภายในและภายนอกดังกล่าวเป็นวิสามัญปัจจัยของวิญญาณ ผัสสะอันเกิดเพราะวิญญาณกับอายตนะภายในอายตนะภายนอก เป็นวิสามัญปัจจัยโดยตรงและโดยอ้อมแห่งเวทนาสัญญาสังขาร


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #49 เมื่อ: 18 มิถุนายน 2555 17:03:34 »



รู้จักสามัญปัจจัยและวิสามัญปัจจัย 

เพราะฉะนั้นก็ให้พิจารณาจับปัจจัยหรือเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ ย่อเข้าเป็นนามรูปดังกล่าวมานี้ ให้รู้จักทั้งที่เป็นสามัญปัจจัยทั้งที่เป็นวิสามัญปัจจัยดังกล่าวมานั้น และเมื่อพิจารณากำหนดอยู่ดั่งนี้แล้ว ก็ย่อมจะได้ความรู้ที่สรุปเข้ามา ว่านามรูปที่มีมาในอดีตก็ตาม ที่จะมีในอนาคตก็ตาม หรือที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ตาม ย่อมมีสามัญปัจจัยคือเหตุปัจจัยที่เป็นสามัญ อันได้แก่อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และย่อมมีวิสามัญปัจจัย ก็ได้แก่อาหารเป็นวิสามัญปัจจัยของรูป อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ เป็นวิสามัญปัจจัยของวิญญาณ และผัสสะอันเกิดจากวิญญาณประกอบทั้งอายตนะภายในอายตนะภายนอก เป็นวิสามัญปัจจัยทั้งโดยตรงทั้งโดยอ้อมแห่งเวทนาสัญญาสังขาร โดยตรงนั้นก็คือเป็นวิสามัญปัจจัยเวทนา โดยอ้อมนั้นก็คือตลอดถึงสัญญาและสังขาร และทั้ง ๓ นี้ย่อมเป็นปัจจัยของกันและกันอีกด้วย ก็คือเวทนาก็เป็นเหตุปัจจัยแห่งสัญญา สัญญาก็เป็นเหตุปัจจัยแห่งสังขาร ก็คือว่าเมื่อมีเวทนาก็ย่อมจะมีสัญญาคือความจำหมายได้ในอารมณ์ของเวทนานั้น คือเวทนาบังเกิดขึ้นอาศัยผัสสะที่สืบเนื่องมาจากวิญญาณ ประกอบด้วยอายตนะภายในอายตนะภายนอก สัญญาก็ย่อมจำหมายในอายตนะภายในอายตนะภายนอกเหล่านั้น และในวิญญาณเหล่านั้นได้ด้วย

และเมื่อมีสัญญาความจำหมาย ก็ย่อมมีสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดอยู่ ในอารมณ์ที่สัญญาจำหมายได้แล้วนั้น ถ้าหากว่าไม่มีสัญญาจำหมายไว้ได้ สังขารก็ปรุงแต่งอะไรไม่ได้ สังขารจะปรุงแต่งอะไรได้นั้น ก็ปรุงแต่งได้ในอารมณ์คือเรื่องที่สัญญาจำไว้ได้ ดูง่ายๆ ก็คือว่าเราจะคิดปรุงแต่งอะไรที่เราลืมแล้วย่อมไม่ได้ เราจะปรุงแต่งอะไรได้ก็ต้องในเรื่องที่เราจำได้กำหนดไว้ได้ จึงจะปรุงแต่ง คือคิดปรุงแต่งอะไรต่อไปอีกได้ เพราะฉะนั้นสังขารก็ต้องอาศัยสัญญา แต่ก็สืบเนื่องมาจากตัวผัสสะนั้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา แล้วก็สืบมาถึงสัญญาสืบมาถึงสังขาร จะยกเอาผัสสะนั่นขึ้นมาข้อเดียว ว่าเป็นวิสามัญปัจจัยโดยตรงและโดยอ้อม โดยตรงก็คือเวทนา โดยอ้อมก็คือตลอดถึงสัญญาสังขาร แต่ว่าสัญญาสังขารนั้นก็ต้องอาศัยสืบมาจากเวทนาดังกล่าวนั้น เพราะฉะนั้นก็ให้จับพิจารณากำหนดเหตุปัจจัยของนามรูปดังกล่าวมานี้ให้เห็นชัด ว่านามรูปพร้อมทั้งอายตนะธาตุนั้นย่อมมีเหตุปัจจัยของตนดั่งนี้ และเหตุปัจจัยของนามรูปดังที่กล่าวมานี้นั้นเอง ทำให้นามรูปบังเกิดขึ้นตั้งอยู่และแปรดับไป เพราะฉะนั้นการที่กำหนดจับให้รู้เหตุปัจจัยของนามรูปนี้ จึงทำให้รู้จักตัวสภาวธรรมดีขึ้น ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าสภาวะนั้นคือสภาพ ภาวะความเป็นความมีตามเหตุปัจจัยของตน นี้เรียกว่าสภาพ ความมีความเป็นตามเหตุปัจจัยของตน จำเอาไว้ว่าสภาพแปลอย่างนี้

คราวนี้ตัวนามรูปก็เป็นตัวสภาวธรรมเอง คือเป็นสิ่งที่มีขึ้นเป็นขึ้นตามเหตุปัจจัยของตนและตัวนามรูปนี้เมื่อเป็นตัวสภาวธรรมในตัวเอง ก็ต้องเป็นไปตามสภาวธรรมคือเป็นไปตามภาวะตามเหตุปัจจัยของตน เพราะฉะนั้นที่แล้วมานั้นยังไม่ได้จับอธิบายว่าอะไรเป็นตัวเหตุปัจจัย ที่เป็นที่ตั้งของคำว่าสภาวธรรมนี้ มาวันนี้จึงมาอธิบายถึงตัวเหตุปัจจัยอันได้แก่สามัญปัจจัยของนามรูป อันได้แก่อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และวิสามัญปัจจัยของนามรูป อันได้แก่อาหารอายตนะภายในอายตนะภายนอก และผัสสะดังที่กล่าวมานั้น นี้แหละคือตัววิสามัญปัจจัยแห่งนามรูป รวมเข้าแล้วสามัญปัจจัยและวิสามัญปัจจัยแห่งนามรูปทั้ง ๒ นี้ ก็คือเหตุปัจจัยของนามรูป นามรูปจึงเป็นตัวสภาวธรรมและต้องเป็นไปตามสภาวธรรม

กล่าวคือเมื่อมีเหตุปัจจัย นามรูปก็เกิด เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยนามรูปก็ดับ เมื่อมีตัณหา อุปาทาน กรรม นามรูปก็เกิด เมื่อสิ้นอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมนามรูปก็ดับหมด ไม่เกิดอีก เมื่อมีอาหารรูปก็ตั้งอยู่ เมื่อสิ้นอาหารรูปก็ดับ และที่เห็นง่ายก็ดังยกตัวอย่างเช่นธาตุลมที่กล่าวมานั้น ลมยังเดินเข้าออกอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกรูปก็ตั้งอยู่ และเมื่อสิ้นลมเสียเมื่อใดรูปก็ดับ อายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันวิญญาณก็เกิด เมื่ออายตนะภายในภายนอกไม่ประจวบกันวิญญาณก็ดับ เมื่อผัสสะเกิดเวทนา สัญญา สังขาร ก็เกิด เมื่อผัสสะดับเวทนา สัญญา สังขารก็ดับ และในข้อหลังนี้ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเปรียบเทียบไว้ในที่อื่น ว่าเหมือนอย่างไม้สีไฟ ๒ อันที่มาสีกัน ก็เกิดไฟ ก็คือเมื่อมีผัสสะ อันสืบเนื่องมาจากวิญญาณกับอายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันเวทนาก็เกิด เมื่อไม้สีไฟ ๒ อันนั้นแยกกันเสียไฟก็ไม่เกิด และขณะที่สีกันไฟเกิด เมื่อแยกกันเสียไฟก็ดับ เมื่อผัสสะดับเวทนาก็ดับ และสัญญาสังขารก็ดับไปตามกัน

เพราะฉะนั้นความเกิดขึ้นของนามรูปนี้ก็เพราะปัจจัยของนามรูปเกิด คือเมื่อมีปัจจัยนามรูปก็เกิด เมื่อไม่มีปัจจัยหรือว่าปัจจัยนั้นดับ นามรูปก็ดับ จะเป็นในอดีตก็ตามในอนาคตก็ตามในปัจจุบันก็ตามก็เป็นอยู่ดั่งนี้ ไม่มีเหตุปัจจัยอื่นนอกไปจากนี้ มีเหตุปัจจัยอยู่เพียงเท่านี้ เหมือนอย่างว่าเมื่อจับเหตุปัจจัยของฝนตกได้ ฝนที่ตกในอดีตฝนที่ตกอยู่เดี๋ยวนี้ฝนที่ตกต่อไปข้างหน้า ก็เพราะเหตุปัจจัยอันเดียวกัน เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ฝนตกเมื่อใดฝนก็ตกเมื่อนั้น ในอดีตล่วงไปกี่พันกี่หมื่นกี่แสนปีก็อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็อย่างนี้ ต่อไปข้างหน้าก็อย่างนี้ เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปค้นหาถึงเหตุปัจจัยของฝน ว่าเมื่อล้านปีมาแล้วเพราะอะไรจึงตก เดี๋ยวนี้เพราะอะไรจึงตก ต่อไปข้างหน้าอีกล้านปีเพราะอะไรจึงตก แล้วก็ตกมากี่ครั้งไม่จำเป็น ไม่จำเป็นจะต้องไปรวมบัญชี เมื่อจับเหตุปัจจัยได้แน่นอนแล้วก็เป็นอันเดียวกัน นี่เป็นเรื่องฝนที่ยกมาเป็นตัวอย่าง เรื่องของนามรูปก็เช่นเดียวกัน นามรูปในอดีตจะนานเท่าไรก็ตาม ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ก็ตาม ในอนาคตก็ตาม ถ้ายังมีเหตุปัจจัยอยู่ ในอนาคตนานเท่าไรก็ตาม ก็เหตุปัจจัยอันเดียวกันนี้เท่านั้น ไม่มีแตกต่างกันไปอย่างอื่น เมื่อเหตุปัจจัยเกิดนามรูปก็เกิด เมื่อเหตุปัจจัยดับนามรูปก็ดับ เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาจับเหตุปัจจัยให้ได้แน่นอนอย่างนี้เป็นอันเดียวกันอย่างนี้แล้ว ก็สิ้นความสงสัยในนามรูป จิตก็ไม่พะวักพะวน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าได้กังขาวิตรณวิสุทธิความหมดจดแห่งญาณ เป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #50 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2555 14:50:53 »





ครั้งที่ ๓๔ ลักษณะพุทธศาสนา
- มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุ พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

กำหนดพิจารณานามรูป
จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๕ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง เมื่อได้ปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ ทำจิตให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลายอันนับว่าได้ปฏิบัติศีลให้เป็นภาคพื้น เป็นที่รองรับ เป็นที่ทรงไว้แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ทำจิตให้บริสุทธิ์คือให้เป็นสมาธิ สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นบาทของวิปัสสนา จึงได้จับปฏิบัติในวิปัสสนา ตั้งต้นแต่ชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ และกำหนดจับเหตุปัจจัยแห่งนามรูปจนข้ามพ้นความสงสัยเกี่ยวแก่นามรูปทั้งหลาย เพราะจับเหตุปัจจัยได้แล้ว จึงปฏิบัติกำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ กำหนดจับพิจารณารวมเข้ามาในขันธ์ ๕ ย่อลงเป็นนามรูปโดยลักษณะจำเพาะของแต่ละข้อตามที่พระอาจารย์ได้แนะนำไว้ เช่นกำหนดจับพิจารณารูป ว่าเป็นสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม กำหนดจับพิจารณาเวทนา ว่าเป็นความรู้สุขทุกข์และเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข กำหนดพิจารณาสัญญา ว่าเป็นความรู้ที่จำหมาย กำหนดพิจารณาสังขาร ว่าเป็นความรู้ที่ปรุงแต่ง กำหนดจับพิจารณาวิญญาณ ว่าเป็นความรู้ที่เป็นความเห็นรูปได้ยินเสียง ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และรู้เรื่องราวของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ กับรู้เรื่องราวของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหล่านั้น

ที่ประสบพบผ่านมาแล้ว หรือที่คาดคิดล่วงหน้าไปข้างหน้าและก็กำหนดรวมเข้ามาเป็นนามรูป โดยที่รูปก็คือเป็นสิ่งที่ต้องชำรุดทรุดโทรมดังกล่าวนั้นและสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมนั้นก็คือเป็นมหาภูตรูป คือรูปที่เป็นส่วนใหญ่ คือที่เป็นธาตุทั้ง ๔ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม กับอากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง และเป็นอุปาทายรูป รูปอาศัย ก็คือประสาททั้ง ๕ จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท และเป็นวิสัยคือเป็นอารมณ์ของประสาททั้ง ๕ นั้น คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตลอดจนถึงที่เป็นเพศชายเพศหญิงเป็นต้น บรรดาที่อาศัยอยู่กับมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น จึงล้วนเป็นสิ่งที่ต้องชำรุดทรุดโทรม และเป็นนามก็คือเป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ซึ่งเป็นความรู้ดังกล่าว ก็คืออาการที่จิตน้อมออกรู้อารมณ์คือเรื่องทางทวารทั้ง ๖ ก็สมมติเรียกว่าเป็นวิญญาณ ทีแรกก็คือความรู้ที่เป็นความเห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้นตามที่กล่าวแล้ว เรียกว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณเป็นต้น แล้วก็เป็นสัมผัส ก็คืออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกันก็เป็นสัมผัส แล้วก็เป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก

รวมก็เป็นความรู้คือที่จิตน้อมออกรู้อารมณ์ที่เข้ามาทางทวารทั้ง ๖ จึงเรียกว่านาม ที่แปลว่าอาการที่จิตน้อมออกไปรู้อารมณ์คือเรื่องทางทวารทั้ง ๖ ก็ปรากฏเป็นวิญญาณเป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก แต่ว่าในขันธ์ ๕ นั้นไม่กล่าวถึงสัมผัส และเอาวิญญาณไปไว้เป็นข้อท้าย เอาเวทนาไว้เป็นข้อต้น จึงนับว่าเป็นเวทนาสัญญาสังขาร ซึ่งพิจารณาดูแล้วที่ท่านเรียงอย่างนี้ก็สะดวกแก่การพิจารณา เพราะว่าเมื่อจับพิจารณารูป ซึ่งเป็นของหยาบกำหนดได้ง่าย แล้วก็มาเวทนา ซึ่งเวทนานั้นก็บังเกิดขึ้นทั้งทางกายทั้งทางใจ เวทนาก็เป็นของหยาบแม้จะเป็นนามธรรม คือเป็นตัวความรู้ดังกล่าวนั้น แต่ก็บังเกิดขึ้นแก่ทั้งกายทั้งใจ กำหนดได้ง่าย จึงเอามาไว้ในข้อที่ ๒ แล้วก็จับกำหนดพิจารณาสัญญาซึ่งเป็นนามธรรมอย่างเดียวกัน แล้วก็สังขาร แล้วก็จับพิจารณาวิญญาณ เพราะว่าการพิจารณาสังขารนั้น คือการพิจารณาความรู้ที่เป็นการปรุงแต่งของใจ ปรุงแต่งรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธัมมะคือเรื่องราว และเมื่อจับพิจารณาการปรุงแต่งอย่างนี้ ก็เป็นการง่ายที่จะจับพิจารณาวิญญาณ ซึ่งเป็นตัวความรู้เห็น รู้ได้ยิน เป็นต้นดังกล่าวนั้น เพราะว่าวิญญาณนี้ก็เกิดจากความปรุงแต่ง คืออายตนะภายนอกอายตนะภายในประจวบกัน หรืออีกอย่างหนึ่งท่านแสดงว่านามรูป

เพราะฉะนั้นเมื่อจับเอานามรูป ก็นามรูปนี้เองเมื่อมาประจวบกันเข้าก็ให้เกิดเป็นวิญญาณ และหากจะพิจารณาให้ชัดขึ้นก็อายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน เช่นตากับรูปมาประจวบกันเข้าก็เกิดเป็นจักขุวิญญาณ คือว่าความรู้ที่เรียกว่าความเห็นคือเห็นรูปทางตาอันนี้ก็เป็นความปรุงแต่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อจับพิจารณาสังขาร ก็จับพิจารณาวิญญาณได้สะดวกขึ้น แล้วเป็นการจับพิจารณาให้พบต้นทางของนามธรรมทั้งหลายด้วย คือนามธรรมทั้งหลายนั้นก็มาจากอายตนะภายในอายตนะภายนอกที่ประจวบกัน หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเกิดจากนามรูปก็ได้ รูปก็รูปนั้นเอง นามก็คือบรรดานามทั้ง ๔ หรือว่าเอาตัวมโนคือใจนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นทวารในของจิตดังที่ได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อนๆ ซึ่งต้องมีประกอบอยู่ในอายตนะภายในทุกข้อ เช่นว่าเมื่อตากับรูปประจวบกัน ก็ต้องมีมโนเข้ามาประกอบด้วย จึงจะทำให้เกิดจักขุวิญญาณความรู้เห็นรูป อันตัวมโนที่มาประกอบนั้นก็คือตัวนามนั้นเอง ก็แปลว่าทั้งรูปทั้งนาม หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คืออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณเป็นต้น เพราะฉะนั้นการที่มีแสดงเอาไว้ ๒ อย่าง ว่านามรูปเป็นเหตุปัจจัยของวิญญาณ อีกอย่างหนึ่งแสดงว่าอายตนะภายในอายตนะภายนอกเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณนั้น ถ้าหากว่าอธิบายไม่เอามโนเข้ามาประกอบด้วยก็เห็นได้ยาก ถ้าหากว่าอธิบายเอามโนเข้ามาประกอบด้วย ก็จะเห็นได้ง่าย ว่าเรียกว่านามรูปก็ได้เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ก็เพราะว่าจะต้องมีมโนเข้ามาประกอบด้วยทุกข้อดังที่กล่าวมาแล้ว จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณขึ้นได้


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #51 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2555 14:52:47 »



วิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญา 

เพราะฉะนั้นก็กำหนดพิจารณาให้รู้จักลักษณะจำเพาะข้อของแต่ละข้อดังที่กล่าวมานี้ และก็จับพิจารณารวมกันเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ ก็คือรวมกันเข้าขันธ์ ๕ ทุกข้อ นามรูปทั้งหมดซึ่งมีลักษณะจำเพาะๆ ดังที่กล่าวมานั้น ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องไม่เที่ยงคือเป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และต้องถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา และต้องเป็นอนัตตา คือไม่เป็นอัตตาตัวตนเพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ แม้ว่าขันธ์ ๕ หรือนามรูปซึ่งมีลักษณะจำเพาะของแต่ละข้อดังที่กล่าวมานั้น ก็ต้องเป็นสิ่งที่อนิจจะ ไม่เที่ยง ทุกขะ เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ดังที่กล่าวมานั้นทุกข้อไปเหมือนกันเช่นว่าในข้อรูป ทั้งที่เป็นมหาภูตรูป ทั้งที่เป็นอุปาทายรูป ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณที่มีลักษณะเป็นความรู้ของจิตที่น้อมออกรู้อารมณ์ ก็ล้วนเป็นอนิจจะเป็นทุกขะและเป็นอนัตตา

และเมื่อรวมกันเข้าทั้งหมดเป็นหมวดเป็นหมู่ทั้งสิ้น ก็เป็นอนิจจะเป็นทุกขะและเป็นอนัตตาทั้งหมด และเมื่อประมวลเข้าทั้งหมด ทั้งที่เป็นส่วนอดีตทั้งที่เป็นส่วนอนาคตทั้งที่เป็นส่วนปัจจุบัน
อดีตก็คือว่าที่เกิดมาแล้วที่มีมาแล้ว อนาคตก็คือว่าที่จะเกิดจะมีต่อไป ที่เป็นปัจจุบันก็คือที่เกิดตั้งอยู่ในปัจจุบัน และทั้งที่เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอก และทั้งที่เป็นส่วนหยาบทั้งที่เป็นส่วนละเอียด ทั้งที่เป็นสิ่งที่ดีประณีต ทั้งที่เป็นสิ่งที่หยาบหรือเลว ทั้งที่อยู่ไกลทั้งที่อยู่ใกล้ทั้งหมด ก็ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ทุกขะคือเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตนทั้งนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาลงไปในไตรลักษณ์ดั่งนี้ ทีแรกก็ต้องอาศัยสัญญาคือความกำหนดหมาย ความกำหนดหมายหรือว่าความจำ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้และนำเอาความจำนั้นมากำหนดพิจารณาดู ตั้งแต่ชำระทิฏฐิคือความเห็นให้บริสุทธิ์ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยลำดับ ก็จะเกิด วิปัสสนาญาณ คือความรู้ที่เป็นตัวความเห็นแจ้งขึ้นในขันธ์ ๕ ในนามรูป ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยงอย่างนี้ ๆ เป็นทุกขะคือเป็นทุกข์อย่างนี้ ๆ เป็นอนัตตามิใช่ตัวตนอย่างนี้ ๆ ปรากฏชัดขึ้น อันกล่าวได้ว่าเป็นวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญาที่บังเกิดขึ้น

วิปัสสนูปกิเลส
เมื่อได้พบกับวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญาจากการปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐานมาถึงขั้นนี้ ท่านแสดงว่าจะเกิด วิปัสสนูปกิเลส ที่แปลว่าเครื่องที่เข้ามาทำวิปัสสนาให้เศร้าหมองขึ้น ๑๐ ข้ออย่างใดอย่างหนึ่ง


วิปัสสนูปกิเลสดังที่กล่าวนี้ก็คือ โอภาส แสงสว่าง ญาณ ความหยั่งรู้ที่ชัดแจ้งหรือว่าแจ่มแจ้ง ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสิทธิ ความสงบ สุข คือความสุข ความสบายกายความสบายใจ อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ คือมีความเชื่อที่บังเกิดขึ้นอย่างมั่นคง ปัคคาหะ ความเพียร คือรู้สึกว่ามีกำลังความเพียรที่บังเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งชนิดที่ว่าจะปฏิบัติทำวิปัสสนาต่อไปกันอีกนานเท่าไหร่ จะทำเรื่อยไปโดยไม่หยุดก็ทำได้ อุปัฏฐาน คือสติอันได้แก่ความที่มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลาง คือความที่มีจิตเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้ายมั่นคง แม้จิตจะเที่ยวไปในอารมณ์ทั้งหลาย ก็เป็นกลางอยู่ได้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย นิกันติ ความพอใจ คือมีความพอใจต้องการจับจิตจับใจในวิปัสสนาปฏิบัติและในผลที่ได้รับเป็นอย่างยิ่ง

อาการเหล่านี้จะบังเกิดขึ้น และอันที่จริงนั้นอาการที่บังเกิดขึ้นนี้ ก็เป็นเรื่องปรกติหรือเป็นเรื่องสามัญทั่วไปของผู้ที่ปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐานทั้งหลาย เมื่อการปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานได้เข้าถึงระดับที่ปรากฏเป็นตัวความรู้เห็นแจ้ง ในขันธ์ ๕ ในนามรูปโดยไตรลักษณ์ชัดแจ้งปราศจากความสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าข้ามพ้นความสงสัยทั้งหลายได้แล้ว ก็จะเกิดอาการเหล่านี้เป็นผลที่ได้รับในขั้นนี้ เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่เป็นผลโดยตรง เพราะว่าผลโดยตรงนั้นต้องการที่จะกำจัดกิเลสและกองทุกข์ แต่ว่าผลเหล่านี้เป็นผลพลอยได้ซึ่งบังเกิดขึ้นและเมื่อได้รับประสบผลเช่นนี้ ถ้าหากว่าเกิดความหลงเข้าใจผิดขึ้นว่านี้เป็นตัวมรรคตัวผลที่ต้องการและบัดนี้ได้บรรลุมรรคบรรลุผลแล้ว คือได้ประสบความสำเร็จแล้ว หากมีความเข้าใจดั่งนี้ อาการที่ปรากฏเหล่านี้จึงจะเรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส คือเครื่องที่เข้าไปทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง อันผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานและได้ประสบอาการดังที่กล่าวมานี้ บางท่านที่เคยได้ฟังมาปรากฏเป็นเสียงมาร้องบอกก็มี ว่าเธอสำเร็จแล้ว และท่านที่ปฏิบัติเมื่อได้ยินเสียงมาตะโกนบอกว่าสำเร็จแล้ว บางท่านก็เชื่อ รีบไปบอกพระที่เป็นผู้ร่วมปฏิบัติว่าสำเร็จแล้ว เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติซึ่งเป็นผู้รู้หลักก็ชี้แจงให้ฟัง

จึงได้เกิดความเข้าใจขึ้นว่าไม่สำเร็จ ที่เป็นดั่งนี้ก็มี หรือบางทีก็ปรากฏเป็นนิมิตเห็นเป็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานคำแนะนำก็มี ดังที่ท่านรูปหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานคำแนะนำ ครั้งแรกก็แนะนำว่าให้ทำเรื่อยไปไม่ต้องหยุด จึงได้ทำเรื่อยไปไม่นอน แต่ยังยอมฉัน เมื่อถึงเวลาก็ฉัน แต่ต่อมาก็เห็นพระพุทธเจ้ามาประทานคำแนะนำอีกว่าต้องไม่ฉัน เมื่อถึงขนาดนี้เพื่อนฝูงก็ต้องไปตามอาจารย์มาช่วยให้คำแนะนำแก้ไข ก็ประสบความสำเร็จในการแก้ไข ก็รู้ตัวในภายหลัง เหล่านี้เป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอาการเหล่านี้นั้นอันที่จริงไม่ใช่เป็นวิปัสสนูปกิเลส เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นธรรมดา หรือเป็นสามัญของผู้ปฏิบัติ เมื่อเข้าถึงขั้นก็จะเกิดอาการเหล่านี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องทำญาณคือความหยั่งรู้ ว่าอาการที่ปรากฏเหล่านี้ยังไม่ใช่เป็นมรรคยังไม่ใช่เป็นผล
คือไม่ใช่เป็นทางที่บรรลุอันเรียกว่ามรรคและไม่ใช่ผล แต่เรียกว่าเป็นอาการที่บังเกิดขึ้นอันเป็นสิ่งที่พลอยได้ และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ไม่ติดอยู่ในอาการเหล่านี้ มีความรู้ว่าไม่ใช่เป็นตัวมรรคไม่ใช่เป็นตัวผล แต่เป็นอาการที่บังเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติตามขั้นตอนเท่านั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ไม่ติดไม่ยินดี ก็ปฏิบัติต่อไป ปรารภขันธ์อายตนะธาตุหรือขันธ์ ๕ นามรูป พิจารณาในไตรลักษณ์ให้เห็นชัดยิ่งขึ้นต่อไป ดั่งนี้เรียกว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง


๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๖

                         

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #52 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2555 18:26:59 »





ครั้งที่ ๓๕ ลักษณะพุทธศาสนา
- ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุ พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ เมื่อได้ความรู้จักว่าอะไรเป็นทาง อะไรมิใช่ทาง ตามอธิบายในวิสุทธิข้อที่ ๕ แล้ว ก็จะทำให้การปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานได้ดำเนินตรงแน่วไปสู่ทางแห่งวิปัสสนา คือปัญญาที่เห็นแจ้งรู้จริงในสังขารทั้งหลาย โดยไม่มีความรู้ผิดเห็นผิดที่จะทำให้พลัดหรือหลงทางแห่งวิปัสสนาไป เพราะฉะนั้นในขั้นที่จะปฏิบัติแน่วไปตรงทางแห่งวิปัสสนาอันแท้จริงนั้น ก็ใคร่จะกล่าวย้ำตรงหัวต่อนี้ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งก็คือหลงผิดในทางแห่งวิปัสสนาตามที่กล่าวมาแล้วเป็นอันตรายสำคัญแห่งความปฏิบัติก้าวหน้า วิปัสสนูปกิเลส สิ่งที่จะเข้ามาทำให้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงเศร้าหมองไป ที่ท่านยกขึ้นไว้ ๑๐ ประการนั้น ก็เป็นข้อสำคัญ แต่ว่าแม้จะมีข้ออื่นอีกอันหมายความว่าความเห็นผิดเข้าใจผิดในนิมิตเป็นต้น ซึ่งดูเหมือนจะนอกไปจากนั้นอีก เมื่อเป็นทางที่ผิดแล้ว ก็นับเข้าในวิปัสสนูปกิเลสทั้งสิ้น ดังที่ยกมาเล่าแล้วที่พระผู้ปฏิบัติได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแสดงแนะนำนั้น ซึ่งก็ล้วนเป็นนิมิตคือเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นขึ้นมา อันเป็นภาพมายาที่หลอกให้เข้าใจผิด เพราะว่าข้อที่แนะนำนั้นเป็นข้อที่ปฏิบัติมิได้ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องทำความรู้ล่วงหน้าไว้ แม้ว่าจะเกิดนิมิตมองเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสแนะนำอย่างโน้นอย่างนี้อะไรโดยตรง แต่เมื่อข้อแนะนำนั้นๆ ไม่ถูกต้อง ก็เป็นอันว่านั่นเป็นภาพมายา และภาพมายานี้ ถ้าไปปฏิบัติด้วยความหลงผิดก็เกิดอันตราย

มีอีกเรื่องหนึ่ง ได้รู้จักเองกับพระองค์หนึ่ง เป็นพระชาวต่างประเทศซึ่งไปปฏิบัติอยู่ในวัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ก็นั่งปฏิบัติทำกรรมฐาน แต่ว่าจะปฏิบัติด้วยวิธีไหนอย่างไรนั้นไม่ทราบ แต่ก็ได้ปีติได้สุขในการปฏิบัติ ซึ่งปีติสุขในการปฏิบัตินั้นแม้ในขั้นสมาธิก็ย่อมได้ ดังที่มีแสดงไว้ในองค์ของปฐมฌานคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เอกัคคตาก็คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว วิตกก็คือความนำจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐาน วิจารก็คือความที่ประคองจิตไว้ในอารมณ์ของกรรมฐานไม่ให้ตก ปีติ ความอิ่มใจ สุขก็คือความสบายกายสบายใจแล้วก็เอกัคคตา นี่ในขั้นสมาธิ ก็ได้มีนิมิตเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาทางหน้าต่าง และก็เสด็จออกไปทางหน้าต่าง ก็ตามเสด็จออกไปทางหน้าต่าง รุ่งขึ้นก็มีคนเห็นพระรูปนั้นตกมาสลบอยู่ที่ข้างกุฏิตรงหน้าต่างนั้น ก็นำไปส่งโรงพยาบาล พยาบาลแก้ไขกันต่อไป ดั่งนี้อาจจะเป็นสมถูปกิเลสก็ได้ คือสิ่งที่มาทำให้การปฏิบัติในสมถกรรมฐานเศร้าหมองไป และแม้ในขั้นปฏิบัติวิปัสสนานี้ ก็ย่อมจะได้ภาวะของจิตเป็นความสงบเป็นความสุขอย่างยิ่งดังที่แสดงแล้วในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นจะปรากฏนิมิตเป็นประการใดประการหนึ่งก็ตาม ซึ่งนอกทางวิปัสสนาไปแล้วก็อย่าไปยึดถือ อย่าไปหลงผิดว่าเป็นจริงเป็นจัง อันจะทำให้เป็นอันตรายแก่วิปัสสนาปฏิบัติเอง ต้องถือทางปฏิบัติแห่งวิปัสสนา กล่าวคือจับพิจารณาขันธ์ ๕ หรือนามรูปโดยไตรลักษณ์ต่อไปเป็นประการสำคัญ คือไม่ทิ้งวิปัสสนากรรมฐานที่ปฏิบัตินั้นเอง ต้องถือวิปัสสนากรรมฐานที่ปฏิบัตินั้นเป็นหลักต่อไป โดยไม่ไปหลงพะวักพะวงกับภาวะของจิตต่างๆ หรือนิมิตต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น และข้อนี้ก็ได้กล่าวไว้แล้ว ว่าอันภาวะของจิตต่างๆ หรือนิมิตต่างๆ นั้น อาจบังเกิดขึ้นได้แก่ผู้ปฏิบัติทุกคนในข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ บางอย่างก็เป็นผลของวิปัสสนาปฏิบัติเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ คือเมื่อจิตได้ญาณคือความหยั่งรู้ในวิปัสสนาดีขึ้นโดยลำดับ ก็ชำระฟอกจิตให้บริสุทธิ์สะอาด เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ทำให้จิตที่เคยดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายกลับสงบลง และก็ทำให้จิตที่เศร้าหมองด้วยกิเลสนั้นผ่องใสขึ้น จึงได้ความสงบได้ความสุขอันประณีต ก็ปรากฏออกมาเป็นตัวสุขเวทนา กายใจสบาย เหมือนอย่างว่าการนั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้มีลมพัดสบาย คราวนี้ถ้าไปติดกับความสบายนั้นเสียแล้ว ก็ทำให้นั่งพักอยู่นั่นแหละ ไม่ออกจากต้นไม้เดินทางต่อไป เพราะจะต้องเดินทางกันต่อไปอีก ยังไม่สิ้นสุดของการเดินทาง หรือบางทีก็ไปเข้าใจว่าต้นไม้ที่ไปนั่งพักนั้นเป็นสุดทางแล้ว เห็นว่าเป็นความสุขเป็นความสงบพอแล้ว ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าทำให้ชะงักการปฏิบัติอยู่แค่นั้น

อันผลต่างๆ หรือภาวะต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นนั้น ตัวของภาวะนั้นๆ ไม่ใช่เป็นตัวกิเลส ไม่ใช่เป็นตัววิปัสสนูปกิเลส เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงได้จะพึงพบ ก็เป็นอาการหรือเป็นภาวะที่ปรากฏขึ้นตามขั้นตอนของการปฏิบัตินั้นเอง เพราะฉะนั้นในตัวเองของสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นวิปัสสนูปกิเลสดังกล่าว แต่จะเป็นก็ในเมื่อผู้ปฏิบัติได้หลงยึดถือเข้ามาหรือไปหลงติด เมื่อไปหลงติดเข้าเมื่อใด ภาวะหรือสิ่งที่บังเกิดขึ้นนั้นก็กลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไป เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ผู้ปฏิบัติเอง อย่าไปยึดถืออย่าไปติด ปล่อยให้ผ่านๆ ไปเสีย แล้วก็ปฏิบัติในทางวิปัสสนาต่อไปคือเดินทางปฏิบัติต่อไปไม่หยุดอยู่แค่นั้น แม้จะเป็นนิมิตอะไรปรากฏเห็นโน่นเห็นนี่ก็ตาม จะเห็นพระพุทธเจ้าเห็นเทวดามารพรหม ผีสาง เห็นป่าเห็นเขา เห็นอะไรทั้งนั้น นั่นเป็นนิมิตทั้งนั้น อย่าไปยึดถือเกี่ยวเกาะ อย่าไปหวาดกลัว อย่าไปหลงตื่น อย่าไปเชื่อฟัง เป็นนิวรณ์ที่แวบเข้ามาในใจได้ เรียกว่าเป็นสัญญาเก่าก็ได้ หรือว่าจะเป็นมารอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาขัดขวางก็ได้ เพราะฉะนั้นก็อย่าไปหลงยึดถือทั้งนั้น ปล่อยวางไป อะไรจะปรากฏขึ้นมาก็ช่าง ก็จับปฏิบัติคือว่าเดินทางปฏิบัติต่อไป


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #53 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2555 18:30:18 »



  พิจารณาสรุปลงในสังขารโดยไตรลักษณ์

อีกข้อหนึ่งก็คือให้ทำความเข้าใจ ว่าอารมณ์ของวิปัสสนาอันเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐานหรือวิปัสสนาภูมินั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยกเอาขันธ์อายตนะธาตุขึ้นมาพิจารณา หรือว่ายกเอาแต่เพียงขันธ์ ๕ ย่อมาเป็นนามรูป ก็สรุปหมดนั่นแหละ อีกคำหนึ่งก็คือว่ายกเอาคำว่าสังขารขึ้นมาเป็นที่รวมสรุป คำว่าสังขารนั้นแปลว่าสิ่งที่ผสมปรุงแต่ง ทั้งหมดนั่นแหละรวมเข้าในคำว่าสังขารได้ ทั้งขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป ทั้งอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ สิ่งซึ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมดรวมเข้าในคำว่าสังขารนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่าสังขารเป็นบทสรุปก็มี หรือเรียกว่าพิจารณาสังขารโดยไตรลักษณ์ดั่งนี้ก็ได้ หรือว่าเรียกว่าสภาวธรรม พิจารณาสภาวธรรมโดยไตรลักษณ์ดั่งนี้ก็ได้ คำว่าสภาวธรรมนั้นก็ได้อธิบายมาแล้ว ก็เป็นอันเดียวกันทั้งหมดนั่นแหละ สภาวธรรม ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สังขาร ยกเอาคำใดคำหนึ่งขึ้นมาก็ได้ทั้งนั้น คลุมถึงกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นแม้ว่าอะไรจะปรากฏ เป็นเทวดามารพรหม เป็นต้นไม้ภูเขา เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย อะไรที่เป็นนิมิตโผล่เข้ามาในการปฏิบัติแล้วละก็จับเข้าในสังขารนี่ทั้งหมดเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น รวมอยู่ในขันธ์อายตนะธาตุนี่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็อย่าไปตั้งเป็นสมมติบัญญัติอะไรขึ้น อย่าไปตั้งเป็นสมมติบัญญัติว่าเป็นเทวดาเป็นมารเป็นพรหม เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย เป็นภูเขาเป็นต้นไม้

เพราะว่ามาถึงขั้นวิปัสสนานี้ แปลว่าชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิแล้ว ไม่ใช่สัตตสัญญาอัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แต่ว่าพิจารณาจับเข้ามาถึงขันธ์อายตนะธาตุถึงสภาวธรรมถึงตัวสังขารนี้ ก็ต้องจับอันนี้แหละเป็นหลัก อย่าให้กลับวกไปหาอัตตสัญญาสัตตสัญญา ความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาขึ้นมาอีก ถ้าปรากฏอะไรขึ้น เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอะไรขึ้น ก็ให้ปล่อยวางทั้งหมด แปลว่าจะดึงให้ผิดทางไปเสียแล้ว ต้องกลับมาเข้าสู่ขันธ์อายตนะธาตุสภาวธรรมสามัญลักษณะ สภาวธรรม สังขาร โดยสามัญลักษณะนี้นั่นแหละทั้งหมด อันนี้แหละเป็นทางตรงโดยตรง เดินต่อไปในทางนี้ เพราะฉะนั้นอารมณ์หรือภาวะอะไรที่บังเกิดขึ้นอันจะทำให้หลงผิดทางไปนั้น ต้องคิดเสียว่าเป็นเรื่องที่บังเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติทุกคน และก็บังเกิดขึ้นตามขั้นตามตอนเป็นผลพลอยได้ก็มี เป็นนิวรณ์หรือเป็นมารเข้ามาก็มี ฉะนั้นก็อย่าไปหลง สำคัญที่ผู้ปฏิบัติเองอย่าไปหลงเข้า ต้องยึดอยู่ในทางของวิปัสสนา คือจับขันธ์อายตนะธาตุสังขารสภาวธรรม เดินไปทางสามัญลักษณะนี่แหละทั้งหมดตรงแน่วไปทีเดียว ไม่พะวงอะไรทั้งหมด เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว วิปัสสนาญาณ จะบังเกิดขึ้น

วิปัสสนาญาณ
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษ

๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงถึงความเบื่อหน่าย

๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง
๘. สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยความวางเฉยเสีย
๙. สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่กำหนดรู้อริยสัจ


ข้อ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ ก็คือจะได้ความรู้เห็นสังขารทั้งหลายทั้งความเกิดทั้งความดับ คือจะเห็นสังขารสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ว่ามีความเกิดขึ้นมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อจับพิจารณารูปหรือขันธ์ ๕ ก็จะเห็นว่าขันธ์ ๕ นั้นเกิดดับไปอยู่ เมื่อจับพิจารณาอายตนะจับพิจารณาธาตุก็จะเห็น ว่าสิ่งทั้งปวงนี้เกิดดับไปอยู่ อันหมายความว่า สังขารข้อใดโผล่ขึ้นมา ก็จะเห็นเกิดเห็นดับของสังขารข้อนั้นพร้อมกันไปทีเดียว ในขั้นนี้ผู้ปฏิบัติต้องทำความเข้าใจ ว่าเช่นมีบุคคลหนึ่งเดินมา มองเห็นด้วยตาก็ดี ด้วยใจคือคิดไปถึงก็ดี ความรู้ความเห็นของผู้ปฏิบัติทำวิปัสสนานั้นจะไม่เห็นว่าคนเดินมา แต่จะเห็นว่าขันธ์ ๕ มาหรือนามรูปมาหรือสังขารมา และจะไม่เห็นแค่นั้น จะเห็นว่าเกิดว่าดับพร้อมกันไปทีเดียว คือสิ่งที่มานั้นเกิดสิ่งที่มานั้นดับ อะไรที่เห็นทางตาก็จะเห็นอย่างนี้ทั้งหมด อะไรที่ได้ยินทางหูก็จะเห็นดังนี้ทั้งหมด อะไรที่ทราบทางจมูกทางลิ้นทางกาย ก็จะเห็นดังนี้ทั้งหมด อะไรที่เกิดขึ้นทางใจด้วยความคิดก็จะเห็นดังนี้ทั้งหมด คือว่าเห็นขันธ์ ๕ เห็นว่าอายตนะเห็นว่าสังขาร ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทั้งหมด คือไม่ยึดถือว่าเป็นชายเป็นหญิงเป็นช้างเป็นม้าเป็นบ้านเป็นเรือนเป็นโคเป็นกระบือทั้งหมด

แต่จะเห็นเป็นขันธ์เป็นธาตุเป็นอายตนะเป็นสังขาร แล้วขณะที่ได้เห็นที่ได้ยินที่นึกขึ้นนั้น สิ่งเหล่านั้นเป็นสังขารทั้งหมด และเกิดดับทั้งหมด อันนี้จะรู้สึกว่าต่างจากผู้ที่มิได้ปฏิบัติจนถึงขั้นนี้ คือผู้ที่มิได้ปฏิบัติจนถึงขั้นนี้นั้น สิ่งที่ปรากฏทางอายตนะทั้งหมดนี้ดังเช่นทางตาก็จะเป็นชายเป็นหญิงเป็นต้นไม้เป็นภูเขา เป็นแก้วแหวนเงินทองเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ทั้งหมด ทางหูก็เป็นเสียงนั้นเสียงนี้ เสียงสรรเสริญเสียงนินทาเสียงเล่าเรื่องอะไรต่างๆ ทางจมูกก็เป็นกลิ่นที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง รสก็เป็นรสสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถูกลิ้นบ้างไม่ถูกลิ้นบ้าง ทางกายก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง ทางใจก็เป็นเรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้างอะไรต่างๆ เป็นที่ตั้งของกิเลสต่างๆ ทั้งนั้น เพราะว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไปทั้งนั้น แล้วก็ไม่ปรากฏความดับความเกิด ปรากฏเป็นความดำรงอยู่ตั้งอยู่ เกิดข้างต้นก็ไม่เห็น ดับข้างปลายก็ไม่เห็นทั้งนั้น ปรกติเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาแล้วจะไม่เห็นเป็นอย่างนั้น เห็นเป็นสังขารทั้งหมด จะเป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด ไม่เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทั้งนั้น และเป็นสิ่งเกิดสิ่งดับทั้งนั้น แปลว่าเกิดปรากฏดับปรากฏ เห็นเกิดเห็นดับทันทีพร้อมกันไป ดั่งนี้แหละจึงจะเป็นข้อที่ ๑ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ

และเมื่อได้ข้อ ๑ นี้แล้ว เมื่อวิปัสสนาญาณนี้แก่กล้าขึ้น ก็จะเห็นว่าดับ ดับไปแต่เพียงอย่างเดียว อะไรโผล่ขึ้นมาก็เห็นดับทั้งนั้น ไม่มีความตั้งอยู่ปรากฏ เห็นดับเห็นดับไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นในข้อนี้ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่ามารดาที่มีบุตร ๓ คน ที่ทำความผิดถูกเขาตัดสินประหารทั้ง ๓ คน เวลาเขานำบุตร ๓ คนไปประหารก็ประหารทีละคน มารดาก็ไปยืนดูอยู่ด้วย เห็นเขาประหารคนที่ ๑ ไปแล้ว และก็กำลังประหารคนที่ ๒ และคนที่ ๓ นั้นกำลังรออยู่ แต่มารดาก็รู้สึกว่าเหมือนอย่างถูกประหารไปแล้วเหมือนกัน แม้ว่าสังขารนั้นจะตั้งอยู่ แต่ก็รู้สึกว่าไม่มีหวังเสียแล้วที่จะตั้งอยู่ ต้องถูกประหารเป็นอันดับที่ ๓ ต่อไป เพราะฉะนั้นการที่เห็นดับก็เห็นอย่างนี้ แม้ว่าจะเห็นสังขารทั้งหลายปรากฏเป็นรูปเป็นเสียงเป็นต้น แต่ว่าก็จะต้องดับ เพราะฉะนั้นเมื่อวิปัสสนาญาณอันนี้แก่กล้าขึ้นแล้วก็จะเห็นแต่ดับๆ ทั้งนั้น แม้จะตั้งอยู่ก็ดับ ความดับก็จะมาอยู่แล้ว เหมือนอย่างมารดาที่รอบุตรคนที่ ๒ กำลังจะถูกประหาร ยังไม่ถูกประหารก็จริง แต่ว่าก็จะถูกประหารเป็นอันดับต่อไปแล้ว ความหวังที่จะตั้งอยู่ไม่มีแล้ว จึงเห็นดับเห็นดับไปทั้งหมด ดั่งนี้ก็เป็นข้อที่ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #54 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2555 18:31:25 »




คราวนี้มาถึงข้อที่ ๓ เห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ก็โดยที่เมื่อมีความเห็นว่าต้องเกิดต้องดับอยู่ดั่งนั้น ก็จึงเป็นเหมือนอย่างว่าเป็นเรือนที่ถูกไฟไหม้ เพราะฉะนั้นเรือนที่ถูกไฟไหม้นั้นก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ไม่กลัวก็เพราะมายืนดูอยู่ข้างนอก ไม่ได้ตั้งอยู่ในเรือนไม่ได้ยืนอยู่ในเรือนที่กำลังไฟไหม้ แปลว่าดูอยู่ข้างนอก ก็เห็นเรือนกำลังถูกไฟไหม้หมดไปเป็นของน่ากลัว ไม่ควรที่จะเข้าไปใกล้เรือนที่กำลังถูกไฟไหม้นั้น ต้องถอยห่างออกมา ฉะนั้นจึงได้ญาณข้อต่อไปก็คือคำนึงเห็นโทษ เมื่อเป็นของน่ากลัวอย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่มีโทษไม่มีคุณ ก็เป็นข้อที่ ๔ และเมื่อคำนึงเห็นโทษดั่งนั้น แล้วก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ก็เป็นข้อที่ ๕ เมื่อเบื่อหน่ายก็ใคร่ที่จะพ้นไปเสีย ก็เป็นข้อที่ ๖ เมื่อใคร่ที่จะพ้นไปเสีย ก็พิจารณาหาทาง ก็เป็นข้อที่ ๗ การพิจารณาหาทางนั้นก็คือเดินทางปฏิบัติวิปัสสนานั้นต่อไปนั้นเอง และเมื่อได้พบทาง ก็ย่อมจะได้ข้อที่ ๘ คือว่าวางเฉยเสียได้ในสังขารทั้งหลาย ในข้อนี้ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่าคนจับปลาวางข้องจับปลาไปในแม่น้ำ เมื่อรู้สึกว่าปลาจะเข้าข้องก็ยกขึ้นมา ก็เอามือล้วงไปจับที่คอของปลา แล้วก็ยกขึ้นมา ก็ปรากฏว่าไม่ใช่ปลาเสียแล้ว เป็นงู เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดความกลัว มองเห็นโทษของงูว่ากัดเข้าก็ตาย ฉะนั้นก็เกิดความหน่ายในงู ก็ใคร่ที่จะพ้นไปเสีย จึงได้จับงูนั้นให้มั่นไม่ให้กัดได้แล้วก็ชูขึ้น แกว่งไปแกว่งมาให้งูอ่อนกำลังลง แล้วก็เหวี่ยงทิ้งไป เมื่อเหวี่ยงทิ้งไปแล้วก็ได้ความสบาย พ้นภัย

ท่านเปรียบไว้ว่า ความที่จับยึดถือสังขารทั้งหลายว่าเป็นตัวเราของเรานั้น ก็เปรียบเหมือนว่าจับงูด้วยความหลง ก็คือด้วยความไม่รู้ เหมือนอย่างล้วงลงไปในข้องนึกว่าปลา จับมั่นแต่เมื่อยกขึ้นมาดูแล้วปรากฏว่าไม่ใช่ปลาแต่เป็นงู เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นว่าเป็นงูก็เปรียบเหมือนอย่างว่าความที่ยึดถือสังขาร เมื่อได้ปัญญามองเห็นว่าสังขารทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นสิ่งที่ดับๆ ไปโดยส่วนเดียว ก็เกิดความรู้เห็นขึ้นมา ว่าความที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรานั้นยึดถือผิดแต่ว่ายังปล่อยไม่ได้ เพราะว่ายังยึดเอาไว้อยู่ ถ้าปล่อยไม่ดีก็จะเป็นอันตราย ปัญญาที่จะปล่อยก็ยังไม่ถึงในขณะนั้น แต่ก็เรียกว่าไม่มองเห็นแล้วว่ายึดถือผิด และก็ปรากฏว่าเป็นของที่น่ากลัวเพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเห็นโทษ
เหมือนอย่างว่าจับงูขึ้นมาก็เห็นโทษว่างูมันกัดให้ตายได้ จึงมีความหน่ายงู ก็เหมือนอย่างมีความหน่ายในสังขารทั้งหลาย มีความใคร่จะพ้นจากสังขารทั้งหลาย ก็เหมือนใคร่ที่จะพ้นจากงู คราวนี้พิจารณาที่จะพ้นก็คือพิจารณาหาทางที่จะปล่อยวางสังขารนั้นเอง ก็เหมือนอย่างพิจารณาว่าจะหาทางเหวี่ยงงูออกไปอย่างไร งูจึงจะไม่หวนมากัดเอา เพราะฉะนั้นเมื่อหาทางที่จะปล่อยงูได้ ก็ชูงูขึ้นเหนือศีรษะแล้วก็เหวี่ยงงูทิ้งไปเสียให้ไกล ก็เหมือนอย่างความที่วางสังขารได้ ก็มีความเฉย คือความที่ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน มีความเบาสบาย อันเรียกว่าวางเฉย อันเป็นข้อที่ ๘ เพราะเมื่อเหวี่ยงงูไปพ้นแล้ว ก็แปลว่าวางเฉยในงูนั้นได้ เมื่อวางสังขารได้ ก็แปลว่าวางเฉยในสังขารทั้งหลายได้

จึงมาถึงข้อที่ ๙ ที่เมื่อได้ความวางเฉยในสังขารแล้ว ก็พิจารณาโดยสมควร กำหนดรู้อริยสัจ ก็คือพิจารณาถึงความรู้ความเห็นที่ได้มาจนถึงขั้นวางสังขารทั้งหลายลงได้ ได้ความวางเฉยในสังขารแล้ว กับที่ได้ปฏิบัติมาโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ดำเนินมาถูกต้องตามแนวอริยสัจ หรือตามแนวโพธิปักขิยธรรม อันเป็นทางที่ถูกต้อง และที่จะปฏิบัติต่อไป ก็เป็นทางที่ถูกต้องแก่โพธิปักขิยธรรมหรือแก่อริยสัจ ที่ท่านมีอุปมาเหมือนอย่างว่า มีมหาอมาตย์ ๘ คนผู้มีหน้าที่วินิจฉัยอรรถคดีของพระราชา ได้ถวายข้อวินิจฉัย พระราชาก็ทรงอนุมัติไปตามข้อวินิจฉัยของมหาอมาตย์ทั้ง ๘ คนนั้น และข้อที่พระราชทานพระบรมราชานุมัติไปนั้น ก็สอดคล้องกับหลักของนิติธรรม อันเป็นพระราชนิติหรือกฏหมายของแผ่นดิน แปลว่าพระราชาทรงอนุมัติไปตามวินิจฉัยของมหาอมาตย์ทั้ง ๘ และก็โดยถูกต้องต่อหลักนิติธรรมของบ้านเมืองอีกด้วย นี้ก็เป็นข้อที่ เรียกว่าปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ วิปัสสนาญาณทั้ง ๙ นี้เรียกว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติอันเป็นวิสุทธิข้อที่ ๖


๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๖


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #55 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2555 16:50:45 »





ลักษณะพุทธศาสนา ครั้งที่ ๓๖
- ญาณทัสสนวิสุทธิ

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุ พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

วิสุทธิขั้นกำจัดกิเลสได้หรือพ้นโลก

   จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็น ญาณทัสสนวิสุทธินี้ได้แก่ญาณในอริยมรรค ๔ วิสุทธิข้อที่ ๗ นี้จึงเป็นญาณทัสสนะ ความรู้เห็นในอริยมรรค ๔ อันได้แก่ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค จึงเป็นญาณทัสสนะที่เป็นโลกุตระอันแปลว่าอยู่เหนือโลก ฉะนั้นวิสุทธิข้อที่ ๗ นี้ จึงเป็นวิสุทธิซึ่งเป็นโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลก หรือว่าเป็นโลกุตรวิสุทธิ วิสุทธิที่อยู่เหนือโลก ส่วนวิสุทธิ ๖ ข้อข้างต้น ตั้งแต่สีลวิสุทธิจนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นวิสุทธิที่ยังเป็นโลกิยธรรม ธัมมะที่ยังเกี่ยวกับโลก หรือเป็นโลกิยวิสุทธิ วิสุทธิที่ยังเกี่ยวกับโลกหรือยังเป็นขั้นโลก ฉะนั้นจึงพึงเข้าใจว่าขั้นแห่งธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนานั้น เบื้องต้นก็ยังขั้นโลกหรือขั้นโลกิยธรรม ส่วนขั้นที่กำจัดกิเลสได้เรียกว่าขั้นโลกุตรธรรมที่แปลว่าพ้นโลกหรือว่าเหนือโลก และแบ่งบุคคลออกเป็น ๒ คือเป็น ขั้นปุถุชน ที่แปลว่าคนที่ยังมีกิเลสหนาแน่น “ปุถุ” แปลว่าหนาหรือมาก ฉะนั้นจึงหมายถึงคนจำนวนมากก็ได้ กับ ขั้นอริยชน คือคนที่เป็นอริยะ อันหมายถึงว่ากำจัดกิเลสได้ และคำว่าอริยะนี้ก็ใช้เป็นชื่อของหมู่คนที่มีความเจริญ ดังที่แสดงไว้ในพุทธประวัติ ว่าในชมพูทวีป ในขั้นแรกก็เป็นที่อาศัยของหมู่ชนอันไม่มีความเจริญเรียกว่า “มิลักขะ” หรือว่า “ทัสสยุ” แต่ต่อมามีชนที่เรียกตัวเองว่า “อริยะ” ได้ยกเข้ามาอาศัยอยู่ และก็ปราบพวกมิลักขะหรือทัสสยุนั้นให้พ่ายแพ้ไป และทำพวกนั้นให้เป็นทาส พระพุทธเจ้าก็ได้ประสูติขึ้นในหมู่ชนเหล่าอริยะ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงกำจัดกิเลสได้สิ้นเชิง และได้ทรงประกาศพุทธศาสนาสั่งสอนธัมมะให้หมู่เวไนยนิกรได้ดวงตาเห็นธรรมและกำจัดกิเลสได้ และก็ได้เรียกหมู่ชนที่ยังกำจัดกิเลสไม่ได้ว่าปุถุชน และก็เรียกเหล่าชนที่กำจัดกิเลสได้ว่าอริยชน แต่คำว่าอริยะนี้ ภาษาสันสกฤตว่าอารยะ ดังที่เรามาเรียกกันในบัดนี้ว่าอารยประเทศ หรือเรียกหลักธรรมที่ปฏิบัติสำหรับชนที่มีความเจริญหรือหมู่คนที่มีความเจริญว่าอารยธรรม ก็คือคำว่าอริยะในภาษาบาลีนั้นเอง เป็นคำเดียวกัน

อริยบุคคล
อริยชนนั้นก็มาจากปุถุชนนั้นเอง ในเบื้องต้นก็ยังเป็นปุถุชน และปุถุชนนี้เองถ้ายังมีกิเลสหนาแน่นมาก ไม่มีดวงตาที่จะเห็นธัมมะแม้ในขั้นต้นขั้นต่ำ ก็เรียกว่าอันธพาลปุถุชน ปุถุชนที่เป็นอันธพาล คือเป็นผู้เขลาเหมือนอย่างเป็นผู้บอด ไม่ใช่หมายความว่าตานอกหรือตาเนื้อบอด แต่หมายความว่าตาใจบอด คือไม่มีปัญญาที่จะรู้เห็นธัมมะแม้ที่เป็นขั้นต้นขั้นต่ำ พูดง่ายๆ ว่าไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษอะไร เมื่อปุถุชนผู้ได้สดับธัมมะของพระอริยะคือของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้มีศรัทธา ได้มีปัญญา ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ แต่ยังไม่ตัดกิเลสได้ ก็เรียกว่ากัลยาณปุถุชน ปุถุชนที่ดีงาม ต่อเมื่อตัดกิเลสได้จึงจะเรียกว่าอริยชน และสำหรับที่ตัดกิเลสได้นี้ก็ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือที่ตัดกิเลสได้บางส่วนกับตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ตัดกิเลสได้บางส่วนนั้นก็มี ๓ คือ โสดาบัน แปลว่าผู้ถึงกระแสแห่งธรรมตัดสังโยชน์ได้ ๓ สกทาคามี แปลว่าผู้มาอีกก็เพียงครั้งเดียว ก็ตัดสังโยชน์ได้ ๓ เหมือนอย่างโสดาบันนั่นแหละ แต่ทำกิเลสให้เบาบางลง คือทำราคะโทสะโมหะให้เบาบางลงยิ่งขึ้นได้อีก อนาคามี แปลว่าผู้ไม่มาอีก ที่ท่านแสดงว่าไปเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาสและนิพพานในพรหมชั้นนั้น ตัดสังโยชน์ได้ กับอรหันตบุคคลหรือพระอรหันต์ ตัดสังโยชน์ได้ ๑๐

บุคคล ๔ จำพวกนี้เรียกว่า อริยบุคคล ดังที่ได้สวดในบทสังฆคุณว่า ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ คือคู่แห่งบุรุษบุคคล ๔ คือ บุคคล ๔ คู่ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา นับเรียงตัวก็เป็นบุรุษบุคคล ๘ บุรุษบุคคล ๔ คู่ก็คือ คู่ที่ ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล คู่ที่ ๒ พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล คู่ที่ ๓ พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล คู่ที่ ๔ พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผล นับรายบุคคลก็เป็น ๘ นับเป็นคู่ก็เป็น ๔ คู่ดั่งนี้ และท่านผู้ที่ได้บรรลุโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผลแล้ว ก็เรียกว่าโสดาบัน พระผู้ตั้งอยู่ในสกาทาคามิมรรคกับพระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผลแล้ว ก็เรียกว่าสกทาคามีหรือสกทาคามีบุคคล พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรคกับพระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผลแล้ว ก็เรียกว่าอนาคามีหรืออนาคามีบุคคล พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรคอรหัตผลแล้ว ก็ชื่อว่าพระอรหันต์หรืออรหันตบุคคล


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #56 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2555 20:55:40 »



              โลกุตรธรรม 

อันมรรคผลดังกล่าวกับนิพพานอีกหนึ่ง เรียกว่าโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลกหรือธัมมะที่พ้นโลก และนิพพานอันเป็นข้อที่ ๙ นี้ ท่านเรียกว่าอนุปาทาปรินิพพานก็มี คำว่า “อนุปาทาปรินิพพาน” นี้แปลว่าปรินิพพาน คือดับกิเลสได้โดยรอบ คือดับกิเลสได้หมดสิ้น อนุปาทาไม่ยึดมั่น คือไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกทั้งสิ้น เรียกว่าอนุปาทาปรินิพพาน แต่ก็เรียกสั้นคำเดียวว่า นิพพาน อันหมายความว่าดับกิเลส แต่ที่เป็นนิพพานอย่างสูงสุดก็คือดับกิเลสได้ทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาดูนิพพานที่ท่านใช้ในที่ต่างๆ แล้วก็สรุปลงได้ ว่าอันมรรคผลที่ตัดกิเลสก็ยังมีแบ่งเป็น ๒ คือตัดกิเลสได้บางอย่าง กับตัดกิเลสได้ทั้งหมด นิพพาน ก็เป็นอย่างเดียวกัน ตัดกิเลสได้บางอย่างก็เป็นนิพพาน ตัดกิเลสได้ทั้งหมดก็เป็นนิพพาน และที่ตัดกิเลสได้ทั้งหมดนี่แหละจึงเรียกว่า อนุปาทาปรินิพพาน คือดับกิเลสได้โดยรอบ ได้โดยสิ้นเชิง ไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกทั้งหมด เพราะฉะนั้นโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลกในพุทธศาสนานั้น จึงมี ๙ อันได้แก่มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑

อันมรรคผลนิพพานนี้ท่านแสดงไว้ว่ามรรคนั้นเมื่อตั้งเป็นมรรคจิตขึ้น ก็ดับ ผลนั้นเมื่อเป็นผลจิตขึ้น ก็ดับ ส่วนนิพพานนั้นเป็นอมตธรรม ไม่เกิดไม่ดับ เป็นธัมมะที่บรรลุถึง ตามที่ได้เคยอธิบายแล้ว ว่านิพพานนั้นตามศัพท์แปลว่าออกจากกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด คำว่าเครื่องร้อยรัดนั้นมาจากคำว่าวานะ คือนิพพานนั้นประกอบขึ้นด้วยศัพท์ว่า นิ แปลว่าออก กับวานะ แปลว่าเครื่องร้อยรัด หรืออีกอย่างหนึ่งแปลว่าลูกศร มาประกอบเป็นคำว่านิพพาน ก็แปลว่าออกจากกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดหรือว่าออกจากกิเลสที่เป็นเหมือนอย่างลูกศรเสียบแทงจิตใจ เพราะฉะนั้นเมื่อดับกิเลสได้ทั้งหมด สภาพจิตบริสุทธิ์สิ้นเชิงไม่มีกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดทั้งหมด หรือไม่มีลูกศรคือกิเลสเสียบแทงทั้งหมด ถอนลูกศรคือกิเลสเสียบแทงจิตทั้งหมดแล้ว เป็นจิตที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไม่มีทุกข์ด้วยประการทั้งปวง นี้คือนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพจิตที่เป็นนิรามโย ไม่มีโรคคือกิเลส ซึ่งเป็นเครื่องเสียแทงทั้งหมด เป็นจิตที่มีอนามัยสมบูรณ์ มีเสรีอย่างสมบูรณ์ คือไม่มีโรคสิ้นเชิง โรคคือกิเลสเป็นเครื่องเสียบแทงให้เจ็บช้ำลำบาก ไม่มีลูกศรเสียบแทงใจให้เป็นทุกข์ทั้งหมด สภาพจิตที่เป็นดั่งนี้เป็นสภาพจิตที่เป็นนิพพาน หรือเป็นนิพพานธรรมที่ปรากฏขึ้นในจิต ซึ่งดำรงอยู่ตลอดไป แต่ว่ามรรคนั้นทำหน้าที่กำจัดกิเลส เมื่อทำหน้าที่กำจัดกิเลสได้แล้วก็สิ้นหน้าที่มรรค ผลนั้นเล่าก็เป็นผลของการกำจัดกิเลส เมื่อเป็นผลขึ้นแล้วก็หมดหน้าที่ เพราะฉะนั้นสภาพนิพพานจึงดำรงอยู่ตลอดไป

เพราะฉะนั้นจึงมีเปรียบเทียบว่าเหมือนอย่างการเดินทางไปสู่ที่ใดที่หนึ่ง เช่นว่าการเดินทางไปสู่พระปฐมเจดีย์ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ พระปฐมเจดีย์นั้นเป็นที่ไปเพื่อนมัสการ การไปนั้นเป็นมรรค จะไปด้วยรถยนต์ จะไปด้วยรถไฟ หรือจะไปด้วยพาหนะอะไร ตลอดจนถึงเดินไปก็ตาม เป็นการไปที่เทียบได้กับมรรค การถึงพระปฐมเจดีย์เทียบได้กับตัวผล และที่ถึงคือพระปฐมเจดีย์นั้นก็คือนิพพาน อันการไปนั้นเมื่อไปจนถึงก็สิ้นหน้าที่ของการไป เรียกว่าการไปก็ดับ ก็ถึง ถึงนั้นก็มีหน้าที่เท่าที่ไปถึง เมื่อถึงแล้วก็หมดหน้าที่ของการถึง ก็เป็นอันว่าหมดหน้าที่ของผล ผลก็ดับ จึงอยู่แต่ที่ถึงคือพระปฐมเจดีย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นการไปเมื่อถึงก็หมดหน้าที่ของการไป และเมื่อถึงแล้วก็หมดหน้าที่ของการถึง เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงว่ามรรคกับผลนี้เป็นสังขตธรรมธัมมะที่มีปัจจัยปรุง เพราะว่าต้องปรุงต้องแต่งคือต้องปฏิบัติ  ปุถุชนหรือสามัญชนหรือแม้แต่กัลยาณปุถุชนก็ต้องปฏิบัติ เมื่อยกเอาวิสุทธิ ๗ นี้ขึ้นเป็นทางปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติในวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ตั้งแต่สีลวิสุทธิเป็นต้นมา จนถึงข้อที่ ๖ คือปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งข้อที่ ๖ นี้เมื่อปฏิบัติจนถึงวิปัสสนาญาณข้อที่ ๙ คือ สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไปตามสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ ท่านแสดงว่าเป็นวิปัสสนาญาณซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของความเป็นปุถุชน คือเมื่อปฏิบัติในสีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ และจับปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานจับตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้นมา จนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นข้อที่ ๖ ซึ่งทุกข้อนี้คือตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิมาจนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิรวมเป็น ๔ ข้อ นี้คือเป็นการปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน เป็นวิปัสสนาโดยตรง และเมื่อปฏิบัติมาจนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ก็คือวิปัสสนาญาณ ๙ ถึงข้อที่ ๙ คือ สัจจานุโลมิกญาณดังกล่าวนั้น ก็เป็นอันว่าได้ถึงที่สุดของวิปัสสนาญาณในภูมิของปุถุชน


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #57 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2555 21:04:55 »



                   วิปัสสนาญาณ ๑๖ ชั้น

เมื่อได้บรรลุถึงขั้นวิปัสสนาญาณที่สุดของภูมิของปุถุชนดั่งนี้แล้ว สืบขึ้นไปจะบรรลุ โคตรภูญาณ อันแปลว่าญาณครอบโคตร อันหมายความว่าเป็นญาณที่อยู่ในระหว่างแห่งภูมิปุถุชนและภูมิอริยชน เทียบได้เท่ากับเส้นขีดคั่นพรหมแดนระหว่างประเทศ เมื่อจะก้าวข้ามประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ก็จะต้องผ่านเส้นขีดคั่นพรหมแดนนี้ ฉันใดก็ดี ความที่จะก้าวข้ามจากภูมิปุถุชนไปสู่ภูมิอริยชนก็จะผ่านโคตรภูญาณ แปลว่าญาณครอบโคตรคือครอบระหว่างโคตรของปุถุชนกับโคตรของอริยชน โคตรก็คือโคตรตระกูลนี่แหละ ใช้ในความหมายถึงความที่จะข้ามไปจากโคตรคือภูมิปุถุชนไปสู่โคตรคือภูมิของอริยชน และท่านแสดงว่าอันที่จริงนั้นโคตรภูญาณนี้เองเท่ากับเป็นที่สุดของภูมิปุถุชนจริงๆ และวิปัสสนาญาณคือตัวโคตรภูญาณนี้ก็เป็นวิปัสสนาญาณนั้นเอง แต่เป็นวิปัสสนาญาณที่ครอบโคตร เพราะฉะนั้นจึงสูงกว่าเข้าไปสู่โคตรอริยบุคคล จึงบรรลุ มัคคญาณ คือวิปัสสนานั่นเองซึ่งเป็นตัวมรรค กำจัดกิเลสได้บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง และเมื่อได้มัคคญาณคือวิปัสสนาญาณที่เป็นตัวมรรคกำจัดกิเลสได้ ก็ได้ ผลญาณ คือวิปัสสนาที่เป็นตัวผล และต่อจากนั้นก็ได้ ปัจจเวกขณญาณ คือญาณที่พิจารณารู้ว่ากำจัดกิเลสอะไรได้แล้ว และจะต้องกำจัดกิเลสอะไรต่อไป หรือว่ากำจัดกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว กล่าวคือเมื่อได้มัคคญาณผลญาณที่เป็นขั้นโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล สกทาคามิมรรคสกทาคามิผล อนาคามิมรรคอนาคามิผล อรหัตมรรคอรหัตผล หากได้มรรคผล ๓ ข้างต้น ปัจจเวกขณญาณก็พิจารณากิเลสที่ละได้แล้วและกิเลสที่จะละต่อไป เพราะว่ามรรคผลทั้ง ๓ ข้างต้นนั้นละกิเลสได้บางส่วนแล้ว และจะต้องละต่อไป แต่ว่าเมื่อได้อรหัตมรรคอรหัตผลแล้ว ปัจจเวกขณญาณก็พิจารณากิเลสที่ละไปแล้วทั้งหมด

มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ ทั้ง ๓ นี้เป็นโลกุตระ ก็นับรวมเข้าในวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็น เพราะฉะนั้นญาณทัสสนวิสุทธิข้อที่ ๗ นี้ เมื่อจะกล่าวรวมทั้งหมด ก็นับตั้งแต่โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ เป็น ๔ ญาณทั้ง ๔ นี้รวมเข้าในวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ และท่านได้แสดงวิปัสสนาญาณทั้งหมด คือนับจากที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้รวมเป็นญาณ ๑๖ ชั้น กล่าวคือ ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็นเป็นวิปัสสนาญาณข้อแรก เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า นามรูปววัตถานญาณ ญาณเป็นเครื่องกำหนดนามรูป กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้เป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปัจจยปริคคหณญาณ หรือ ปัจจยปริคคหญาณ ญาณเป็นเครื่องกำหนดรู้เหตุปัจจัย ก็มาถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง ก็เรียกว่า มัคคามัคคญาณ หรือ สัมมสนญาณ ญาณที่เป็นเครื่องพิจารณาให้รู้ว่าทางหรือมิใช่ทาง นี่รวมเป็น ๓ กับปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในปฏิปทาคือทางปฏิบัติ อันได้แก่วิปัสสนาญาณ ๙ ๙ กับ ๓ ก็รวมเป็น ๑๒ และมาถึงวิสุทธิข้อที่ ๗ ก็ได้ญาณ ๔ ข้อคือ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ อีก ๔ ก็รวมเป็น ๑๖ ก็ได้แก่ญาณ ๑๖ ก็เป็นวิปัสสนาญาณทั้งหมด แต่ว่าในวิสุทธิข้อ ๗ นี้ท่านมักจะยกแสดงเพียงมัคคญาณ ว่าได้แก่ญาณทัสสนวิสุทธิ อันที่จริงนั้นก็รวมเข้าทั้ง ๔ นั่นแหละ คือ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าวิสุทธิ ๕ ข้อข้างหลัง ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิจนถึงญาณทัสสนวิสุทธินี้เป็นตัววิปัสสนาญาณทั้งหมด

และท่านได้มีแสดงเป็นอุปมาไว้ถึงญาณที่กล่าวในขั้นสูงข้างหลังนี้ ว่าเหมือนอย่างว่าเจ้าของเรือนบริโภคในเวลาเย็น ก็ขึ้นสู่ที่นอนแล้วนอนหลับไป เรือนก็ถูกไฟไหม้ขึ้นมา เจ้าของเรือนตื่นขึ้นเห็นไฟไหม้เรือนก็กลัว จึงได้คิดอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะออกไปได้ไม่ต้องถูกไฟไหม้ เห็นทางแล้วก็รีบหนีออกไป ก็ไปยืนอยู่ในที่ที่พ้นไฟโดยเร็ว การที่มีความยึดถืออยู่ในขันธ์ ๕ ของปุถุชนทั้งหลายว่าตัวเราของเรา ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนที่บริโภคแล้ว ก็ขึ้นไปสู่ที่นอนและก็หลับไป การที่ได้มีญาณโดยที่ปฏิบัติทางปฏิบัติที่ชอบ ได้เห็นไตรลักษณ์ ได้ญาณ คือความหยั่งรู้ปรากฏว่าขันธ์ ๕ เป็นของน่ากลัว ก็เหมือนอย่างเวลาที่เจ้าของเรือนตื่นขึ้นมา เห็นไฟกำลังไหม้เรือนก็กลัว ญาณที่ทำให้ใคร่จะพ้นออกไป ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนใคร่ที่จะออกไปจากเรือนที่ไฟไหม้ ก็มองเห็นทางที่จะออก สัจจานุโลมิกญาณ คือญาณที่อนุโลมแก่สัมมาปฏิปทาที่ปฏิบัติมาแล้ว และแก่อริยสัจหรือโพธิปักขิยธรรมที่จะปฏิบัติต่อไป ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนเห็นทางที่จะหนีออกจากเรือนที่ไฟไหม้ โคตรภูญาณ ก็เหมือนอย่างการที่เจ้าของเรือนที่ไฟไหม้นั้นออกไปจากเรือนที่ไฟไหม้ได้ มัคคญาณ ก็เหมือนอย่างการที่ออกไปได้โดยเร็ว ผลญาณก็เหมือนการที่ออกมาได้แล้วและยืนอยู่ในที่ที่ปลอดภัย ท่านเปรียบไว้อย่างนี้


บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #58 เมื่อ: 24 มิถุนายน 2555 16:17:44 »



                      

โลกุตรธรรมเป็นธัมมะที่บรรลุถึงได้

คราวนี้ก็ใคร่จะได้กล่าวว่า การที่กล่าวถึงโลกุตรธรรมหรือกล่าวถึงอริยบุคคลนั้น ก็ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นธัมมะที่สุดเอื้อม เมื่อเป็นปุถุชนหรือเป็นสามัญชนก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ แต่อันที่จริงนั้นความเข้าใจดั่งนั้นไม่ถูก เพราะว่าการที่จะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอริยบุคคลบรรลุถึงโลกุตรธรรมได้ ก็ต้องปฏิบัติมาตั้งแต่ในขั้นธรรมปฏิบัติที่ยังอยู่ในขั้นโลกหรือสำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชนนั้นเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้แสดงวิสุทธิ ๗ นี้มาตั้งแต่ในข้อ ๑ คือตั้งแต่ในข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ นี้เป็นข้อปฏิบัติสำหรับสามัญชนหรือปุถุชนทั้งนั้น และเมื่อได้ปฏิบัติขึ้นมา โดยลำดับ แล้ว ก็จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นอริยบุคคลหรือก้าวขึ้นสู่โลกุตรธรรมได้เอง เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงถึงโคตรญาณ ก็แปลว่าต้องก้าวขึ้นมาโดยลำดับๆ เหมือนอย่างจะก้าวจากเขตประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งก็ต้องเดินไปโดยลำดับ เมื่อถึงเส้นกั้นเขตแดนอันเป็นโคตรภูญาณ ก็เป็นอันว่าก้าวข้ามเส้นนี้แล้ว ก็ไปสู่อริยภูมิ ไปสู่โลกุตรธรรมได้โดยลำดับ ก็เป็นขั้นตอนของการปฏิบัตินั้นเอง รวมความเข้าแล้วเวไนยชนคือชนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำได้ก็พึงปฏิบัติได้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบวิสุทธิ ๗ นี้ไว้อีกอย่างหนึ่ง ว่าเหมือนอย่างเป็นรถ ๗ ผลัด คือมาจาก รถวินีตสูตร ที่พระสารีบุตรเถระได้สนทนากับพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตรได้ถามท่านพระปุณณมันตานีบุตร ว่าท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่อสีลวิสุทธิหรือ ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็ตอบว่าไม่ใช่ พระสารีบุตรก็ถามไปทีละข้อว่าเพื่อจิตวิสุทธิหรือเป็นต้นไปจนถึงข้อญาณทัสสนวิสุทธิ ว่าท่านปฏิบัติเพื่อญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ คราวนี้ท่านพระสารีบุตรก็ถามอีก ว่าท่านปฏิบัติเว้นไปจากหรือนอกไปจากวิสุทธิทั้ง ๗ นี้หรือ ท่านพระปุณณะท่านก็ตอบว่าไม่ใช่อีกเหมือนกัน ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไป ว่าถ้าเช่นนั้นท่านปฏิบัติพรหมจรรย์นี้เพื่ออะไร ท่านพระปุณณะก็ตอบว่าเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน คือเพื่อความดับกิเลสโดยรอบคือสิ้นเชิงทั้งหมด ไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งหมด ท่านพระสารีบุตรจึงถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อท่านถามว่าท่านปฏิบัติเพื่อสีลวิสุทธิหรือ ก็ตอบว่าไม่ใช่ เมื่อถามไปทุกข้อทั้ง ๗ ข้อท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ และเมื่อท่านถามอีกว่าท่านปฏิบัตินอกไปจากหรือเว้นจากวิสุทธิ ๗ นี้หรือ ท่านก็บอกว่าไม่ใช่อีก ท่านอธิบายอย่างไร

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็ตอบว่าคือว่า การปฏิบัติพรหมจรรย์นี้มิใช่ยุติลงแค่วิสุทธิข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น แต่เพื่อให้ส่งต่อๆ กันขึ้นไปจนถึงอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด และที่ท่านตอบว่าท่านปฏิบัติไม่นอกไปจากทั้ง ๗ ข้อนี้ ก็หมายความว่าท่านก็ต้องปฏิบัติอยู่ในทั้ง ๗ ข้อนี้โดยลำดับนั้นเอง แต่ว่าไม่ใช่พอเพียงเท่านั้น แต่ว่าเพื่อให้บรรลุอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด และถ้าหากว่าท่านตอบว่าไม่ใช่แล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ต้องปฏิบัติกัน เมื่อไม่ต้องปฏิบัติกันแล้ว ใครๆ ก็บรรลุอนุปาทาปรินิพพานกันได้ แต่ว่าไม่ใช่เช่นนั้น ต้องปฏิบัติ แต่ว่าไม่ใช่ยุติลงเพียงข้อใดข้อหนึ่งเพียงเท่านั้น คือไม่ใช่พอเพียงเท่านั้น แต่ว่าต้องให้ส่งต่อๆ กันขึ้นไปจนถึงอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด
จึงเปรียบเหมือนอย่างการเดินทางด้วยรถ ๗ ผลัดของพระเจ้ากรุงสาวัตถี คือเมื่อพระเจ้ากรุงสาวัตถีจะเสด็จจากกรุงสาวัตถีไปสู่เมืองสาเกตโดยรถม้าพระที่นั่ง ก็จะต้องเปลี่ยนกันถึง ๗ ผลัด คราวนี้เมื่อเสด็จโดยรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๑ ไปจนถึงผลัดที่ ๒ ก็ขึ้นรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๒ ก็เรื่อยๆ ไปดั่งนี้จนถึงผลัดที่ ๗ ก็เสด็จขึ้นรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๗ ก็ไปถึงประตูเมืองสาเกต ก็ลงจากรถม้าพระที่นั่งเข้าสู่เมืองสาเกต ฉันใดก็ดี การปฏิบัติในวิสุทธิทั้ง ๗ ข้อนี้ก็ต้องปฏิบัติไปทั้ง ๗ ข้อโดยลำดับ จนถึงข้อที่ ๗ ก็จะบรรลุต่อไปถึงอนุปาทาปรินิพพานอันเป็นข้อที่สุดของพรหมจรรย์ท่านสอนไว้ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นในพรรษากาลนี้ได้สอนลักษณะพุทธศาสนามาโดยลำดับจนถึงวิสุทธิ ๗ ก็เป็นการที่กล่าวลักษณะพุทธศาสนาในด้านสรุปเข้าในไตรสิกขา คือสีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา อันสีลสิกขานั้นก็ได้แก่การปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์เป็นสีลวิสุทธิ จิตตสิกขาเป็นการปฏิบัติทำจิตให้บริสุทธิ์เป็นจิตตวิสุทธิ ปัญญาสิกขานั้นก็ได้แก่ตัววิปัสสนาปัญญาอันได้แก่วิสุทธิอีก ๕ ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิจนถึงญาณทัสสนวิสุทธิ ก็เป็นอันว่าหลักปฏิบัติเหล่านี้เป็นหลักปฏิบัติจิตตภาวนา จะเป็นเครื่องอบรมจิต ทำจิตนี้ให้บริสุทธิ์จากอุปกิเลส คือกิเลสที่เข้ามาทำจิตให้เศร้าหมองไป


ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ถึงจิตตภาวนาว่า
จิตนี้เป็น ธรรมชาติประภัสสร คือผุดผ่อง
จิตนี้เศร้าหมองไปด้วย อุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองที่ จร เข้ามา
อันทำจิตให้เศร้าหมอง จิตนี้บริสุทธิ์หมดจด หลุดพ้นได้ จาก อุปกิเลส
พระองค์ตรัสอริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว ว่าเป็นผู้มี จิตตภาวนา


เพราะฉะนั้นก็เป็นอันยุติการอบรมในพรรษากาลนี้ในวันนี้เพียงเท่านี้
ก็ขอให้มีความเจริญในพระธรรมวินัย ในสัมมปฏิบัติ
พร้อมด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ยิ่งๆ ขึ้นไปทุกท่านเทอญ


๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๖






เรียนขออนุญาต ท่านผู้คัดลอก นำมาแบ่งปันค่ะ...
... sirivajj - http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&date=18-02-2011&group=19&gblog=11
* Agaligo Home บ้านที่แท้จริง อกาลิโก โฮม
กุศลผลบุญใดที่พึงบังเกิดจากธรรมทานเหล่านี้ ขอจงเป็นบุญเป็นปัจจัย
แด่ท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธรรมทานเหล่านี้ ทุกๆท่าน
รวมทั้งท่านเจ้าของภาพ ทุกๆภาพ เรียนขออนุญาตใช้ภาพ
ไว้ ณ ที่นี้... นะคะ

อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กันยายน 2555 19:14:14 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: ตัวสกดค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 19.0.1084.56 Chrome 19.0.1084.56


ดูรายละเอียด
« ตอบ #59 เมื่อ: 24 มิถุนายน 2555 16:20:27 »





ลักษณะพระพุทธศาสนา

ชื่อหนังสือ   ๐   ลักษณะพระพุทธศาสนา
ผู้แต่ง   ๐   สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ  สุวฑฺฒโน)
จำนวนหน้า   ๐   208  หน้า ราคา   ๐   45  บาท
ปีที่พิมพ์/ครั้งที่พิมพ์   ๐   5/2540

เป็นพระนิพนธ์เกี่ยวกับวิปัสสนา  16  ชั้น 
มีอรรถรสควรแก่ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติธรรม 
จะทำให้มีความเข้าใจพระพุทธศาสนากว้างขวางยิ่งขึ้น.

สารบาญ

ทบทวนคำสอนนาค
นิสสัย 4
ปาริสุทธิศีล 4
ลักษณะพุทธศาสนา
ลักษณะพุทธศาสนา - อริยสัจ

ลักษณะพุทธศาสนา - พระรัตนตรัย
ลักษณะพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับกายจิต
ลักษณะพุทธศาสนา - สังสารวัฏ
ลักษณะพุทธศาสนา - สังขตธรรมและอสังขตธรรม
ลักษณะพุทธศาสนา - การรับรู้อารมณ์ของจิต

ลักษณะพุทธศาสนา - กิเลส
ลักษณะพุทธศาสนา - วัฏฏะของกิเลส
ลักษณะพุทธศาสนา - จิตตภาวนา
ลักษณะพุทธศาสนา - วิสุทธิ 7 ข้อสีลวิสุทธิ

ลักษณะพุทธศาสนา ธรรมบรรยายพิเศษเรื่องชาติ - ความเกิด
ลักษณะพุทธศาสนา - ทิฏฐิวิสุทธิ  เป็นต้น

http://mahamakuta.inet.co.th/T-BOOK/P-127.html

บันทึกการเข้า
คำค้น: ธรรมบรรยาย ในการอบรมนวกภิกษุ คัดลอกจากหนังสือ 
หน้า:  1 2 [3]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 4 3988 กระทู้ล่าสุด 07 กุมภาพันธ์ 2554 23:19:56
โดย เงาฝัน
จิต วิญญาณ มโน :สมเด็จพระญาณสังวร
ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
เงาฝัน 7 7854 กระทู้ล่าสุด 06 เมษายน 2554 13:37:48
โดย หมีงงในพงหญ้า
การขอโทษและการให้อภัย :สมเด็จพระญาณสังวร
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 0 1743 กระทู้ล่าสุด 21 กันยายน 2554 16:36:51
โดย เงาฝัน
พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน :สมเด็จพระญาณสังวร
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 1 2286 กระทู้ล่าสุด 05 เมษายน 2555 15:01:44
โดย เงาฝัน
นัยยะภาพพระพุทธเจ้าผจญมาร (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
พัดลมเพดานหมุนติ้ว 2 6480 กระทู้ล่าสุด 04 กันยายน 2557 12:58:57
โดย Compatable
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.866 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 23 สิงหาคม 2567 05:27:21