.ป่วยมะเร็งปอดรักษาหายได้เรียนรู้สู้โรค-อย่าหมดกำลังใจ มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้มากในไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชายและอันดับ 4 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่เฉลี่ยประมาณ 18,000-20,000 รายต่อปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 70% เนื่องจากรักษาให้หายขาดยาก และผู้ป่วยมักจะเข้ารับการรักษาในระยะท้ายๆ แล้ว
รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ นายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และเลขาธิการศูนย์โรคมะเร็งครบวงจรแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า มะเร็งปอดพบมากในผู้สูงอายุ เฉลี่ยประมาณ 45-60 ปี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรค เนื่องจากในบุหรี่มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด ยิ่งสูบนานก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะนอกจากการสูบบุหรี่แล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอดได้ เช่น บุหรี่มือสอง (ผู้ที่อยู่ภายในแวดล้อมของคนสูบบุหรี่) มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่หรือเขตอุตสาหกรรม ควันไฟจากการเผาขยะ เป็นต้น
มะเร็งปอดตรวจพบในระยะเริ่มแรกได้ยากเพราะอาการจะไม่ปรากฏ ผู้ที่สูบบุหรี่จัดอย่างน้อย 1 ซองบุหรี่ต่อวันติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 30 ปี ถือเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพราะหากตรวจพบในระยะแรก จนถึงระยะที่ 3 หากรักษาทันท่วงทีโอกาสสูงที่จะหายเป็นปกติ
ตรงกันข้าม ผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของโรคแล้วหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะเสียชีวิตภายใน 6 เดือน
ทั้งนี้ สาเหตุที่ผู้ป่วยไม่ยอมเข้ารับการรักษาเพราะท้อถอยหมดกำลังใจ และกลัวผลข้างเคียงจากการรักษา หรือแพ้ยาเคมีบำบัด เช่น ปวดท้อง อาเจียน อ่อนเพลีย ผมร่วง ฮอร์โมนเปลี่ยน จนผู้ป่วยบางรายไม่ยอมรักษาต่อและเกิดการสูญเสียชีวิตในที่สุด
"การรักษามะเร็งปอดในปัจจุบันพัฒนากว่าเมื่อก่อนมาก และมีอยู่หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดเป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุด หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก ปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว การฉายแสงด้วยเครื่องฉายรังสีที่มีความแม่นยำสูง ควบคุมด้วยเครื่องประมวลผลคอมพิวเตอร์ การใช้ยาเคมีบำบัดและการใช้ยาแบบที่ให้ผลเฉพาะจุด ออกฤทธิ์ทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งหรือ targeted therapy ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งปอดในปัจจุบัน พัฒนาตัวยาเพื่อลดผลข้างเคียง" รศ.นพ.วิโรจน์กล่าว
หลังการรักษามะเร็งปอดระยะ เริ่มต้นในช่วง 5 ปีแรก แพทย์จะเฝ้าระวังและติดตามผลการรักษาเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะหายขาด โดยผู้ป่วยจะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาเพื่อทำให้มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น ได้แก่ เลิกการสูบบุหรี่ ทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้