เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ประเพณีการเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษในช่วงเทศกาลตรุษจีน ถือกำเนิดขึ้นจากรากฐานแห่งคุณธรรมความกตัญญูกตเวที ที่ชาวจีนยึดมั่นและให้ความสำคัญยิ่ง
ตามประเพณีแบบดั้งเดิม แต่ละบ้านจะนำบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลหรือที่เรียกว่า ‘เจียพู่’ ( 家谱) หรือรูปภาพของบรรพบุรุษหรือแผ่นป้ายที่สลักชื่อบรรพบุรุษ เป็นต้น มาวางไว้ที่โต๊ะเซ่นไหว้ ที่มีกระถางธูปและอาหารเซ่นไหว้
ในประเทศจีน บางแห่งจะทำพิธีสักการะเทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือไฉเสิน (财神) หรือที่ไฉ่สิ่งเอี๊ย ในภาษาแต้จิ๋ว พร้อมๆกับเซ่นไหว้บรรพบุรุษ โดยอาหารที่นำมาใช้ถวายเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ตามความนิยมของชาวจีนทางเหนือ โดยมากประกอบด้วย เนื้อแพะ อาหารคาว 5 อย่าง ของหวาน 5 อย่าง ข้าว 5 ชาม ขนมที่ทำจากแป้งสาลีไส้พุทรา 2 ลูก ( คล้ายกับขนมถ้วยฟูในบ้านเรา) และหมั่นโถวขนาดใหญ่ 1 ลูก
แท้จริงแล้วการสักการะบูชาเทพเจ้าและไหว้บรรพบุรุษนั้น ก็คือการกล่าวอวยพรปีใหม่กับเทพและบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วนั่นเอง ขณะเดียวกันก็เพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกถึงบรรพชน หลังจากทำพิธีไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษแล้ว ลูกหลานจะช่วยกันเผากระดาษเงิน กระดาษทอง
สำหรับช่วงเวลาในการประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษนั้น จะแตกต่างกันออกไป กล่าวคือบางบ้านจะเซ่นไหว้ก่อนการรับประทาน ‘เหนียนเย่ฟั่น’ หรืออาหารมื้อแรกของปีใหม่ ขณะที่บางบ้านนิยมเซ่นไหว้ก่อนหรือหลังคืนส่งท้ายปีเก่าหรือ ที่เรียกว่า ‘ฉุ่เย่’ บางบ้านก็นิยมประกอบพิธีในช่วงเช้าของในวันที่ 1 เดือน 1 หรือ ชูอี ( 初一)
มื้อส่งท้ายปีเก่า
มื้อส่งท้ายปีเก่า
‘เหนียนเยี่ยฟ่าน (年夜饭)’ หมายถึงอาหารค่ำของคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญก่อนขึ้นปีใหม่ ที่ชาวจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมักไหว้บรรพบุรุษ และจุดประทัดกันก่อนที่จะลงมือรับประทานอาหารมื้อพิเศษนี้
‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ มีความพิเศษ ตรงที่เป็นมื้อใหญ่ที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกวัยและทุกเพศจะพร้อมหน้าพร้อมตาล้อมวงร่วมรับประทานอาหารกัน สมาชิกที่แยกไปอยู่ที่อื่นจะพยายามกลับมาให้ทันวันส่งท้ายปี แต่หากกลับมาไม่ได้จริงๆ ครอบครัวจะเว้นที่ว่างพร้อมวางชามและตะเกียบไว้เสมือนหนึ่งว่ามากันครบ หลังจากทาน ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ เสร็จแล้ว ผู้ใหญ่จะให้ ‘ยาซุ่ยเฉียน (压岁钱)’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘อั่งเปา’ แก่เด็กๆ
ความพิเศษของ ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ ยังอยู่ที่อาหารหลากหลาย ให้สมาชิกที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งปี ได้ผ่อนคลายร่วมทานอาหารอย่างมีความสุขอยู่กับครอบครัวในคืนสุดท้ายของปี
ขณะที่ชื่อของอาหารที่นำมาตั้งโต๊ะยังแฝงไว้ด้วยความหมายที่เป็นสิริมงคล จานบังคับที่ทุกโต๊ะต้องมีคือ ‘จี’ (鸡 ไก่) และ ‘อี๋ว์’(鱼 ปลา) แทนความหมาย ‘จี๋เสียงหยูอี้ (吉祥如意 เป็นสิริมงคลสมดังปรารถนา)’ และ ‘เหนียนเหนียนโหยวอี๋ว์ (年年有余 มีเงินทองเหลือใช้ทุกปี)’
กิน “เกี๊ยวข้ามปี” โชคดีตลอดไป
กิน “เกี๊ยวข้ามปี” โชคดีตลอดไป
ประเพณีการกินเจี่ยวจือ 饺子หรือเกี๊ยวต้มจีนในวันตรุษจีนเริ่มเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) โดยคนในครอบครัวจะต้องห่อเจี่ยวจือให้เสร็จก่อนเที่ยงคืนของวันสิ้นปี รอจนยามที่เรียกว่า 子时 -จื่อสือ ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 23 - 1 นาฬิกาของวันถัดมาก็จะเริ่มรับประทานกัน และเป็นเวลาเริ่มต้นวันใหม่ของปีใหม่พอดี การทานเจี่ยวจือจึงมีความหมายว่า ‘เปลี่ยนปีเชื่อมเวลา更岁交子'เพราะคำเรียกอาหารชนิดนี้饺-เจี่ยวก็ออกเสียงคล้าย交-เจียวซึ่งมีความหมายว่าเชื่อมต่อกัน และ子-จื่อก็คือ子时 -จื่อสือนั่นเอง
นอกจากนั้น การรับประทานอาหารชนิดนี้ยังมีความหมายสำคัญของการรวมตัวของคนในครอบครัวอีกด้วย เมื่อแป้งที่ห่อไส้เรียกว่า和面-เหอเมี่ยน คำว่า 和พ้องเสียงกับคำว่า 合 -เหอ ที่แปลว่าร่วมกัน และ饺 - เจี่ยวก็ออกเสียงคล้ายกับคำว่า 交 ที่มีอีกความหมายว่า มีความสัมพันธ์ต่อกันด้วย
การที่เกี๊ยวเป็นอาหารสำคัญที่ไม่อาจขาดได้ในวันตรุษจีน ยังมีเหตุผลมาจากรูปลักษณ์ของเจี่ยวจือ ที่เป็นรูปทรงคล้ายเงินในสมัยโบราณ การรับประทานเจี่ยวจือ จึงเหมือนการนำเงินทองเข้ามาสู่ตัว
นอกจากนั้น ไส้ในเจี่ยวจือก็ยังสะดวกต่อการบรรจุสิ่งที่เป็นมงคลลงไปให้เป็นความหวังต่อคนที่รับประทานด้วย เช่น ลูกกวาด ถั่วลิสง พุทราแดง เม็ดเกาลัด เหรียญเงิน โดยคนที่กัดเจอลูกกวาด ชีวิตในปีใหม่ก็จะยิ่งหอมหวาน ในขณะที่ถั่วลิสงมีความหมายว่าแข็งแรงและอายุยืนนาน ส่วนพุทราแดงและเกาลัด ก็จะมีบุตรภายในปีนั้น และหากกัดเจอเหรียญเงินก็จะยิ่งร่ำรวยเงินทอง
อาหารรับขวัญวันปีใหม่
อาหารรับขวัญวันปีใหม่
การตระเตรียมอาหารการกินในเทศกาลตรุษจีน นับเป็นงานช้างแห่งปีทีเดียว โดยราวสิบวันก่อนวันปีใหม่ชาวจีนจะเริ่มสาละวนกับการซื้อหาข้าวของ อาทิ เป็ด ไก่ ปลา เนื้อ ชา เหล้า ซอส วัตถุดิบเครื่องปรุงสำหรับอาหารผัดทอด ขนมนานาชนิด และผลไม้
อาหารการกินในวันตรุษจีน ยังโปรยประดับด้วยคำที่เป็นสิริมงคล ชาสำหรับคารวะแขก ในวันปีใหม่ของคนเจียงหนันยังใส่ลูกสมอ 2 ลูกไว้ในจานรองถ้วยชาหรือถาดชุดชา เพื่อสื่อความหมายว่า ‘ชาเงิน’ และในสำรับอาหารจะต้องมีผัดผักกาดรวมอยู่ด้วย เพื่อเป็นเคล็ดว่า กินแล้วจะบันดาล ‘ความสนิทสนมอบอุ่น’ เนื่องจาก ‘ผัดผักกาด’ ในภาษาจีนคือ เฉ่าชิงไช่ (炒青菜) ซึ่งมีเสียงใกล้เคียงกับ ชินชินเย่อเย่อ (亲亲热热) ที่แปลว่า ‘ความสนิทสนมอบอุ่น’ และอาหารสำคัญอีกอย่างคือ ผัดถั่วงอก เนื่องจากถั่วงอกเหลืองมีรูปร่างคล้ายกับ ‘หยกหยูอี้’ ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า หยูอี้ (如意) ที่แปลว่า สมปรารถนา
นอกจากนี้ ตามประเพณีการกินอาหารปีใหม่จะต้องกินหัวปลา แต่อย่าสวาปามจนเกลี้ยงจนแมวร้องไห้ ธรรมเนียมการกินปลาให้เหลือนี้เพื่อเป็นเคล็ดว่า ‘เหลือกินเหลือใช้’ ซึ่งในภาษาจีน มีคำว่า ชือเซิ่งโหย่วอี๋ว์ (吃剩有鱼) คำว่า ‘鱼-อี๋ว์’ ที่แปลว่าปลานั้น พ้องเสียงกับ ‘余 -อี๋ว์’ ที่แปลว่า เหลือ จึงเป็นเคล็ดว่า ขอให้ชีวิตมั่งมีเหลือกินเหลือใช้
สำรับทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีงามของวันรุ่งอรุณแห่งปี
หลังจากรับประทานอาหารมื้อแรกของวันตรุษแล้ว ชาวจีนนิยมไปศาลบรรพบุรุษบูชาบรรพบุรุษ และยังมีวิถีปฏิบัติเพื่อขอพรและขอความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่อื่นๆ ได้แก่ จุดโคมไฟ จุดประทัด ถวายเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้า ไปวัด ออกจากบ้านไปทัศนาจร รวมถึงการไปเก็บต้นงา เพราะเชื่อว่าชีวิตจะเจริญยิ่งๆขึ้นไปเหมือนต้นงาที่งอกขึ้นเป็นข้อๆชั้นๆ
กินขนมเข่ง อำนวยพรชีวิตเจริญยิ่งๆขึ้นทุกปีๆ
กินขนมเข่ง (年糕) อำนวยพรชีวิตเจริญยิ่งๆขึ้นทุกปีๆ
อาหารที่ขาดไม่ได้ในวันตรุษจีนอีกอย่างคือ ขนมเข่ง ขนมที่ชาวจีนเรียก เหนียนเกา (年糕) นิยมทำกินในหมู่ชาวจีนทางใต้ ประเพณีกินเหนียนเกาในวันตรุษมีมา 7,000 กว่าปีแล้ว เดิมทีทำขึ้นเพื่อเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ ภายหลังกลายเป็นอาหารนิยมในช่วงตรุษจีน มีความหมายอำนวยพรให้ชีวิต ‘เจริญยิ่งๆขึ้นทุกปีๆ ’ (生活年年提高)
จุดประทัดรับปีใหม่
นอกจากคืนวันส่งท้ายปีเก่าและวันที่ 5 เดือน 1 ที่จะมีการจุดประทัดกันแล้ว ประเพณีการจุดประทัดในเช้าวันแรกของปีใหม่ก่อนออกจากบ้าน ก็เป็นความเชื่อของชาวจีนว่า จะเป็นการเริ่มต้นปีด้วยความคึกคักหรือที่เรียกว่า 开门炮 (ไคเหมินเพ่า) เพื่อต้อนรับวันแรกของปี
ประทัดของจีนมีประวัติศาสตร์มายาวนาน เดิมทีใช้ปล้องไม้ไผ่ตั้งไฟเผาให้ระเบิดจนเกิดเสียงดัง ใช้ในการขับไล่ภูตผีป้องกันเสนียดจัญไร ต่อมาใช้ในพิธีไสยศาสตร์ของพ่อมดหมอผีและการเสี่ยงทาย จนในที่สุดกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการอธิษฐานขอความสงบร่มเย็น
เดินสายอวยพรตรุษจีน
กิจกรรมอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ช่วงตรุษจีน คือ “ไป้เหนียน (拜年)” หรือ การอวยพรตรุษจีน หากกล่าวว่า “จี้จู่ (祭祖)” เป็นการเซ่นไหว้รำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ “ไป้เหนียน” ก็จะเป็นการสังสรรค์กับญาติสนิทที่ยังมีชีวิตอยู่ในวันขึ้นปีใหม่ กิจกรรมทั้ง 2 อย่างต่างเป็นการแสดงออกถึงการสื่อสัมพันธ์กับญาติที่ใกล้ชิด
ในอดีตหากญาติสนิทมิตรสหายมีมาก แวะไปเยี่ยมเยียนได้ไม่ทั่วถึง พวกชนชั้นสูงมักจะส่งคนรับใช้นำบัตรอวยพร หรือ “ฝูเต้า (福倒)” (ความสุขมาถึงแล้ว) ไปให้แทน ฝ่ายที่รับการ “ไป้เหนียน” ที่เป็นผู้สูงอายุมักจะให้ “ยาซุ่ยเฉียน (压岁钱)” แก่เด็กๆ ที่มาไหว้เยี่ยมเยียน
ส่วนการ “ไป้เหนียน” ของชาวบ้านทั่วไปก็มีอิทธิพลต่อชนชั้นสูงเช่นกัน ซึ่งราชสำนักในสมัยหมิงชิงนิยมจัดงาน “ถวนไป้ (团拜)” หรืองานที่ชุมนุมญาติๆ ไว้ด้วยกัน ให้ทำการ “ไป้เหนียน” ซึ่งกันและกันในคราเดียว มาถึงปัจจุบันยังนิยมจัดงานเช่นนี้อยู่ ซึ่งคล้ายกับเป็นงานฉลองปีใหม่กับหมู่ญาติสนิทมิตรสหายไปในตัว
สำหรับการ “ไป้เหนียน” ในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคไฮเทค นอกจากการไปเยี่ยมเยือนถึงบ้านแล้ว ยังนิยมส่งบัตรอวยพร โทรศัพท์ อีเมล์ หรือส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งความสุขซึ่งกันและกัน
กลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่
กลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่
หลังจากวันแรกของปีใหม่ผ่านพ้นไป บรรดาหญิงสาวที่ออกเรือนไปแล้วจะกลับไปอวยพรตรุษจีนพ่อแม่และญาติพี่น้อง พร้อมกับสามีและลูกๆ ที่ชาวจีนเรียกกันว่าการกลับบ้านแม่ หรือ ‘หุยเหนียงเจีย (回娘家)’ ซึ่งถือเป็นโอกาสพาเด็กๆ ไปเยี่ยมคารวะคุณตา คุณยาย คนเฒ่าคนแก่ และรับอั่งเปามาเป็นเงินก้นถุง
ส่วนใหญ่จะไม่กลับบ้านแม่มือเปล่า แต่จะนำขนมคุกกี้ ลูกอม ไปฝากญาติพี่น้องและบ้านใกล้เรือนเคียง ตลอดจนพกอั่งเปาไปแจกหลานๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อแสดงออกซึ่งความห่วงหาอาทรต่อบ้านเกิดของหญิงที่ออกเรือนไปแล้ว แต่การกลับไปบ้านแม่นี้ จะแค่กินข้าวเที่ยง ไม่มีการนอนค้าง
ตามธรรมเนียมเดิม ก่อนกลับคุณตาคุณยายจะแต้มสีแดงที่หน้าผากหลาน เพื่อให้เป็นสิริมงคล และป้องกันภูติผีปีศาจมารังควาญ ด้วยหวังให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ปราศจากโรคภัย
กิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างในวันนั้นก็คือ การเชิญเทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยแต่ละบ้านจะทำการติดภาพเชิญเทพเจ้าโชคลาภเข้ามายังบ้านของตน
เรื่องต้องห้ามก่อนวันที่ 5 ‘พ่ออู่ (破五)’
ตรุษจีนเป็นเทศกาลแห่งความสุขสนุกสนาน และยังเป็นเทศกาลที่คงธรรมเนียมประเพณีดั่งเดิมไว้ ซึ่งในช่วงนี้จะมี ‘คำพูดหรือการกระทำต้องห้าม’ เช่น ในวันชิวอิก หรือวันขึ้นปีใหม่ ผู้หญิงห้ามออกจากบ้านไปอวยพรปีใหม่และห้ามกลับไปบ้านแม่ เด็กน้อยห้ามร้องไห้กระจองอแง ทุกคนห้ามพูดเรื่องอัปมงคล เพื่อนบ้านห้ามทะเลาะเบาะแว้ง รวมทั้งห้ามทำอุปกรณ์เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์แตกเสียหาย ตลอดจนห้ามเชิญหมอมาที่บ้าน
ตั้งแต่ชิวอิก หรือ ชูอี (初一) จนถึงชูซื่อ (初四) หรือวันที่ 1-4 ของปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ห้ามคนในบ้านทำสิ่งที่ไม่เป็นสิริมงคลทั้งหลายตั้งแต่ใช้เข็มเย็บผ้า กรรไกร กวาดบ้าน และยังห้ามกินข้าวต้มในวันที่ 1 ด้วย เพราะข้าวต้มจัดเป็นอาหารของขอทานคนยากจน
เมื่อเข้าวันที่ 5 หรือชูอู่ (初五) จึงจะเริ่มผ่อนคลายกฎต้องห้ามต่างๆ และเข้าสู่ภาวะปกติ ชาวบ้านจึงเรียกว่า ‘พ่ออู่ (破五)’ ซึ่งหมายถึง ทำให้แตก หรือยกเลิกข้อห้ามในวันที่ 5 โดยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ หุงหาอาหารได้ตามเดิม ส่วนอาหารยอดนิยมในวันนี้จะเป็นเกี๊ยวจีน (饺子) ที่ในสมัยก่อนเรียกว่า ‘เนียอู่ (捏五)’ โดยแทนการห่อเงินห่อทอง นำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวย
นอกจากนั้น นับตั้งแต่วันที่ 5 ผู้คนจะสามารถนำขยะไปทิ้งข้างนอกได้ อย่างที่ชาวจีนเรียกว่า ‘เต้าฉานถู่ (倒残土)’ และยังถือวันที่ 5 นี้ เป็นวันเกิดของเทพเจ้าแห่งโชคลาภเงินทองที่ประจำทั้ง 5 ทิศ ซึ่งตามร้านค้าต่างๆ จะประกอบพิธีไหว้ เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยเปิดกิจการรับปีใหม่ด้วย
อั่งเปา
การแจกอั่งเปา (红包ซองแดง) หรือ *แต๊ะเอีย (กด/ทับเอว) สำหรับเด็กสมัยใหม่ต่างคาดหวังหรือหลงระเริงไปกับตัวเงินในซอง แต่หารู้ไม่ว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่ซองแดงต่างหาก
ชาวจีนนิยมชมชอบ “สีแดง” เป็นที่สุด อย่างที่มีคนเคยพูดว่า “จะถูกจะแพง ก็ขอให้แดงไว้ก่อน” เพราะว่า ตามความเชื่ออย่างจีน สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิตชีวา ความสุข และโชคดี
เรามอบอั่งเปาให้แก่บุตรหลาน หรือญาติผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการมอบโชคลาภและพรอันประเสริฐต่างๆ ให้แก่พวกเขา เงินในซองแดงแค่เพียงต้องการให้เด็กๆ ดีใจ แต่ตัวเอกของประเพณีนี้อยู่ที่ซองแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโชคดี ดังนั้น การเปิดซองอั่งเปาต่อหน้าผู้ให้ถือเป็นเรื่องที่ไม่สุภาพเช่นกัน
อั่งเปาสามารถมอบให้ในระหว่างไหว้ตรุษจีนในหมู่ญาติพี่น้อง หรือวางไว้ข้างหมอนเวลาที่ลูกๆ หลับในคืนวันสิ้นปีก็ได้
ประเพณีการให้แต๊ะเอียได้สืบทอดสู่ชาวจีนรุ่นต่อรุ่น ทั้งในประเทศจีนและจีนโพ้นทะเล ครอบครัวจีนส่วนใหญ่ถือว่า ลูกหลานที่ทำงานแล้ว จะไม่ได้แต๊ะเอีย แต่จะกลายเป็นผู้ให้แทน การให้อั่งเปา ว่าเป็นวิธีการกระชับสัมพันธ์ในหมู่ญาติอีกแบบหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังมีตำนานโบร่ำโบราณเกี่ยวกับเรื่องอั่งเปาอีกว่า เมื่อครั้งโบราณกาลมีปีศาจเขาเดียวนามว่า “ซุ่ย” (祟) อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก ทุกคืนวันส่งท้ายปีมันจะขึ้นฝั่งมาทำร้ายเด็กๆ โดยซุ่ยจะใช้มือลูบศีรษะเหยื่อ หลังจากนั้นเด็กจะจับไข้ จากเด็กฉลาดเฉลียวจะกลายเป็นเด็กที่สมองเชื่องช้า
ชาวบ้านเกรงว่า ปีศาจซุ่ยจะมาทำร้ายลูกหลาน เมื่อถึงคืนวันสุดท้ายของปี ก็จะจุดไฟเฝ้ายาม ไม่หลับไม่นอนตลอดทั้งคืน เรียกว่า “โส่วซุ่ย” (守祟 หรือ เฝ้าตัวซุ่ย) ต่อมาแผลงเป็น “โส่วซุ่ย” (守岁) ประเพณี“เฝ้าปี” ที่ชาวจีนนิยมปฏิบัติกันในค่ำคืนก่อนผัดเปลี่ยนสู่ปีใหม่แทน
ในคืนนั้นเองมีเรื่องเล่าว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งแซ่ กวน นำเงินเหรียญออกมาเล่นกับลูก ครั้นลูกน้อยเหนื่อยล้าหลับไป จึงได้นำเงินเหรียญห่อใส่กระดาษแดงแล้ววางไว้ข้างหมอนลูก เมื่อปีศาจซุ่ยบุกเข้าบ้านสกุลกวนหวังทำร้ายเด็ก แต่เพราะแสงทองจากเหรียญโลหะข้างหมอนกระทบเข้าตา ทำให้ซุ่ยตกใจและหนีไป
เรื่องราวดังกล่าวแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านอื่นๆ ต่างพากันลอกเลียนแบบ โดยทุกวันสิ้นปีผู้อาวุโสจะมอบเงินห่อกระดาษแดงแก่ลูกหลาน “ซุ่ย” จะได้ไม่กล้ามาทำร้าย นับแต่นั้นมาจึงเรียกเงินที่ให้นี้ว่า “ยาซุ่ยเฉียน” (压祟钱หรือ เงินทับตัวซุ่ย)ต่อมาแผลงเป็น “เงินทับซุ่ย (ปี)” แทน
* ที่มาของคำว่า “แต๊ะเอีย” มาจากสมัยก่อนเงินตราที่ชาวจีนโบราณใช้กันเป็นโลหะ ขณะนั้นยังไม่มีชุดเสื้อผ้าที่มีกระเป๋า จึงได้นำเงินใส่ถึงและผูกรอบเอว เงินยิ่งมากน้ำหนักยิ่งกดทับที่เอวมากตาม
กินบัวลอยแล้วออกไปชมโคมไฟ ในคืน‘หยวนเซียว’
เทศกาลหยวนเซียว(元宵节) คือวันที่ 15 เดือนอ้ายในปฏิทินจันทรคติ คำว่า 元หยวน มีความหมายว่า แรก ส่วน宵เซียว แปลว่า กลางคืน จึงใช้เรียกคืนที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกในรอบปีหลังผ่านพ้นตรุษจีน สำหรับคืนนี้ มีประเพณีว่า ชาวจีนจะต้องรับประทานบัวลอยกันในครอบครัวและออกไปชมโคมไฟที่จะนำมาประดับประดากันอย่างสวยงาม ดังนั้น จึงมีการเรียกเทศกาลนี้อีกอย่างว่า เทศกาลโคมไฟ (灯节)
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งที่ถึงค่ำคืนเทศกาลหยวนเซียว ผู้คนก็จะหลั่งไหลไปตามท้องถนนเพื่อชมโคมไฟที่มีรูปทรงต่างๆ ทายปัญหาเชาวน์ที่ซ่อนอยู่ในโคมไฟ เล่นดอกไม้ไฟ จุดประทัด แห่สิงโต ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมบันเทิงใจ
นอกจากการชมโคมไฟแล้ว สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือการรับประทานบัวลอยที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า ภายในมีไส้ทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วนำไปต้มหรือนำไปทอด ในยุคแรก ชาวจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า浮圆子ฝูหยวนจื่อ (,浮-ลอย 圆子-ลูกกลมๆ) ต่อมาก็เรียกว่า 汤团ทังถวน(汤-น้ำแกง团-ลูกกลมๆ ) หรือ 汤圆ทังหยวน โดยมีความหมายเหมือนกัน ทั้งออกเสียงใกล้เคียงกัน และ 团圆เมื่อรวมกันแล้ว ก็ได้ความหมายถึงการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว