เพราะเลยช่วงวัยรุ่นมานานมากมายหลายพรรษาแล้ว ดังนั้นกระแสเพลง“เคป็อบ”จากแดนกิมจิที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาขย่มเขย่าชาร์ตเพลงเมืองไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงไม่สามารถสั่นคลอนจิตใจผมได้ จะมีที่เรียกความสนใจให้หันมาชม(MV)บ้างก็พวกเกิร์ลแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ปบางวง ที่รวมดาวประเภทสาวๆ สวยใส น่ารัก ขาวอวบ เซ็กซี่ และแอ๊บแบ๊ว เข้าไว้ด้วยกัน
งานนี้แม้จะรู้ทั้งรู้ว่ากว่า 70% ขึ้นไปเป็นประเภทสวยด้วยมีดหมอ ผ่านการผ่าตัดชำเราหน้าตาและร่างกายมาแล้วก็ตาม แต่ถึงยังไงการได้ดูน้องๆเธอๆเหล่านี้ ร้อง เล่น เต้น โยก มันย่อมเพลินอุรากว่าการดูบรรดา เสือ สิง กระทิง แรด และตั้วเฮีย ในสภา(สวนสัตว์นรก) แสดงพฤติกรรมอุบาทก์ ถ่อย สถุล โกหกพกลม เป็นไหนๆ
แต่ถ้านำความน่ารักและเซ็กซี่ของน้องๆเกิร์ลแบนด์ไปเปรียบกับนางเอกหนัง AV เกรดเอ(ย้ำว่าต้องเกรดเอ)ระดับแม่เหล็กของญี่ปุ่น ผมขอเลือกอย่างหลังและเชื่อว่าหนุ่มๆหลายคนคงเลือกอย่างผม
ส่วนถ้านำเพลงเกาหลีไปเปรียบกับเพลงญี่ปุ่นผมก็เทใจให้อย่างหลังอีกเช่นกัน เพราะหูของผมมันไม่ค่อยคุ้นชินกับเพลงเกาหลีเท่าใด(ที่คุ้นที่สุดมีเพลงเดียวคือ“อารีรัง”) ผิดกับเพลงญี่ปุ่นที่เคยฟังมานานนมตั้งแต่สมัยวัยละอ่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เพลงสุกี้ยากี้ ซูบารุ หน้ากากเสือ ไอ้มดแดง ซามูไรพ่อลูกอ่อน โอราเอมอน อิ๊กคิวซัง เป็นต้น
ที่สำคัญก็คือเหล่านักร้องนักดนตรีญี่ปุ่นฝีมือเยี่ยมที่เอ็กซ์พอร์ตออกไปสร้างชื่อระดับโลก และส่งอิทธิพลมาถึงนักฟังเพลงบ้านเราจากอดีตถึงปัจจุบันนั้น มีอยู่ไม่น้อยแถมยังมีหลากหลายแนวทางให้เลือกฟังกัน ไม่ว่าจะเป็น เคียว ซาคาโมโต้ :ป็อบ,ซาดาโอะ วาตานาเบ้-เดอะ สแควร์-คาซิโอเปีย : แจ๊ซ,คีทาโร่ : นิวเอจ,เอ๊กซ์ เจแปน-ลูซิเฟอร์-เกลย์ : ร็อค,เซจิ โอซาว่า-อุจิดะ มิตซึโกะ : คลาสสิค,เดป้าเปเป้-บรรเลงกีตาร์
รวมไปถึงเธอคนนี้ “ลิซ่า โอโนะ”ที่ถือเป็นหนึ่งในนักร้องจากแดนปลาดิบที่ได้รับความนิยมในบ้านเราไม่น้อย
ลิซ่า เป็นนักร้องเลือดแซมบ้าผสมปลาดิบผู้ช่ำชองในแนวแจ๊ซ บอสซาโนว่า บราซิลเลี่ยน นอกจากความสามารถในการร้องเพลงแล้ว เธอยังเป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรี และโปรดิวเซอร์ เรียกว่ามีความสามารถรอบจัดเอาเรื่อง
แม้จะลืมตาดูโลกที่เมืองเซาเปาโล บราซิล แต่ลิซ่าได้ย้ายตามครอบครัวไปตั้งรกรากอยู่ในญี่ปุ่นตั้งแต่เด็ก ด้วยเชื้อสายบราซิลที่มีอยู่ ทำให้เธอคุ้นเคยกับสรรพเสียงดนตรีในแบบบราซิลเลี่ยนเป็นอย่างดี โดยก่อนเป็นเป็นนักร้องอาชีพลิซ่ารับหน้าที่เป็นนักร้องในร้านอาหารของพ่อเธอ
ลิซ่า โอโนะ เธอไม่ใช่นักร้องเพลงประเภทโชว์ลีลาพลังเสียงร้องแบบสุดคอหอย โชว์พลังเสียงสูงปรี๊ด หรือเล่นลูกคอพิสดาร 7 ชั้น 9 ชั้น แต่เธอเป็นนักร้องที่มีสไตล์การร้องเพลงแบบนุ่มเนิบ เย็นสบาย ปานประหนึ่งพี่สาวใจดีกำลังขับกล่องบทเพลงเพราะๆซึ้งๆชวนฝันให้ฟัง ซึ่งก็เข้ากับน้ำเสียงนุ่มๆและแนวทางดนตรีบอสซ่า ป็อบแจ๊ซ ของเธอได้เป็นอย่างดี ทำให้เธอได้รับความนิยมจากกลุ่มคนที่นิยมฟังเพลงสบายๆในแนวนี้จากทั่วโลกไม่น้อยเลย โดยเฉพาะในเอเชียนั้น ลิซ่าฮอตฮิตจนได้ชื่อว่าเป็น“ราชินีเพลงบอสซ่าแห่งเอเชีย”เลยทีเดียว
ลิซ่ามีผลงานเพลงชุดแรกคือ “Catupiry” ในปี ค.ศ.1989 จากนั้นในปีถัดมา(1990)อัลบั้มชุดที่สอง “NaNã” ได้หนุนส่งให้ลิซ่าคว้ารางวัล "Grand Prix Gold Disk Award for Jazz" ในญี่ปุ่นมาครอง พร้อมกับสร้างชื่อเสียงให้เธอโด่งดังขึ้นมา ก่อนที่ชุดที่สาม “Menina” ในปี 1991 จะคว้ารางวัลเดียวกันนี้ให้เธออีก ซึ่งหลังจากนั้นลิซ่าก็มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัลบั้มน่าสนใจ อาทิ Bossa Carioca(1998),Dream(1999), Romance Latino vol.1,2,3(2005) รวมถึงการนำเพลงดังในอดีต อาทิ “You've Got A Friend”,”Geogia On My Mind”,”I Can't Stop Loving You”,”Unchain My Heart” มาร้องในสไตล์ของเธอในอัลบั้ม “Soul & Bossa”(2007) และการคารวะปรมาจารย์บอสซาโนว่าในอัลบั้ม “Music Of Antonio Carlos Jobim: Ipanema”(2007)
สำหรับล่าสุดลิซ่า โอโนะ ได้ส่งอัลบั้มใหม่ “เอเชีย”(Asia)ออกมา งานเพลงชุดนี้ลิซ่านำ 10 บทเพลงยอดฮิตอมตะของหลายชาติในเอเชียรวมทั้งของไทยเรา มาขับร้องถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงอันไพเราะนุ่มเนิบของเธอในภาษาแม่ของชาตินั้นๆ นำโดยเพลง “เหอ ยื่อ จวิน ไจ้ ไหล” ที่ “เติ้ง ลี่ จวิน” ราชินีเพลงจีนสมัยใหม่ชาวไต้หวัน เคยขับร้องเอาไว้เป็นที่โด่งดัง
เพลงนี้ลิซ่า ร้องถ่ายทอดออกมาในอารมณ์เนิบๆตามสไตล์ถนัดของเธอ ด้วยภาษาจีนสำเนียงญี่ปุ่น เคล้าคลอไปกับเสียงกีตาร์บางๆ เป็นบอสซ่าช้าๆ ช่วงโซโลท่อนกลางเปิดพื้นที่ให้กีตาร์เล่นสอดรับไปกับเสียงทรัมเป็ต ฟังแล้วให้อารมณ์ออกเศร้านิดๆ
ในอัลบั้มเอเชียยังมีเพลงจีนอีกหนึ่งเพลงที่โด่งดังมาจากการขับร้องของ“เติ้ง ลี่ จวิน” เหมือนกัน นั่นก็คือ “เย่ ไหล เซียง” หรือ “ดอกราตรี” ที่หลายๆคนน่าจะคุ้นหูและเคยผ่านหูผ่านโสตมาบ้าง เพราะถูกใช้ทั้งเป็นเพลงประกอบหนังและละครในหลายๆเรื่องด้วยกัน รวมถึงถูกนักร้องเพลงในร้านอาหาร คาเฟ่ นำมาขับร้องอยู่บ่อยๆ
“เย่ ไหล เซียง” มาในอารมณ์ช้าเนิบคล้ายๆเหอ ยื่อ จวิน ไจ้ ไหล ต้นเพลงเปิดนำมาด้วย เสียงเคาะเปียโน ก่อนส่งต่อด้วยเสียงฟลู้ตหวานๆ ลิซ่าร้องเพลงนี้ได้เสียง นุ่ม ลึก ชวนล่องลอย
นอกจาก 2 เพลงจีนแล้ว อัลบั้มเอเชียยังมีเพลงมองโกล “Buuvein Duu” ที่อาจไม่เป็นที่คุ้นหูคนไทยเท่าไร เป็นเพลงช้าท่วงทำนองสวยงาม มีคลาริเนตเสียงเย็นๆมาเป่าช่วยเพิ่มสีสัน
ส่วนอีกหนึ่งเพลงยอดฮิตในโซนเอเชียตะวันออก อย่าง“อารีรัง”(Arirang) เพลงดังระบือโลกของเกาหลีนั้น คนไทยส่วนใหญ่ต่างเคยฟังและรู้จักเพลงนี้ บางคนถึงกับร้องเพลงนี้ได้เลยทีเดียว
“อารีรัง”หรือที่คนไทยเรียกเพี้ยนว่า “อารีดัง” เป็นเพลงพื้นบ้านประจำชาติเกาหลี ที่เป็นสรรพเสียงแสดงถึงความเป็นเกาหลีที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี
ด้วยความที่เคยฟังเพลงอารีรังมาหลายเวอร์ชั่นทำให้เมื่อได้ฟังลิซ่าโอโนะร้องแล้ว ผมรู้สึกเฉยๆ เพราะเพลงนี้เธอร้องออกมาแบบพื้นๆธรรมดาทั่วไป แต่สิ่งที่น่าสนใจในอารีรังเวอร์ชั่นนี้กลับเป็นการเรียบเรียงที่ค่อนข้างมีสีสัน มีการใช้เสียงเชลโลเป็นตัวเดินเรื่อง เล่นคลอไปตลอดเพลง ในช่วงท้ายมีการใส่ความยิ่งใหญ่เข้าไปด้วยเสียงคอรัสและไดนามิคที่เพิ่มดังขึ้น ชวนให้นึกถึงสาวๆเกาหลีหน้าตาจิ้มลิ้มออกมารำพัดในชุดฮันบกได้ไม่น้อยเลย เสียดายก็แต่ว่าจังหวะในเพลงนี้มันหน่วงช้าเนิบไปหน่อยเท่านั้นเอง
ข้ามฟากจากเอเชียตะวันออกไปเอเชียใต้ มาฟังเพลงแขกของอิน-ตะ-ระ-เดีย กันบ้างกับ “Vande Mataram”
“Vande Mataram” เป็นเพลงประจำชาติอินเดีย แต่งโดย “Bankim Chandra Chatterjee” โดยผู้ที่นำเพลง Vande Mataram มาร้องเป็นคนแรกให้รู้จักเป็นที่แพร่หลาย คือท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวียอดนักคิดเจ้าของรางวัลโนเบลชื่อก้องโลก นอกจากเป็นผู้เผยแพร่เพลงประจำชาติอินเดียอย่าง Vande Mataram แล้ว ท่านรพินทรนาถ ฐากูร ยังเป็นผู้แต่งเพลง “Jana Gana Mana” ที่เป็นเพลงชาติของอินเดียอีกด้วย
สำหรับเพลง Vande Mataram เวอร์ชั่นของลิซ่า โอโนะนั้น แม้เธอจะร้องถ่ายทอดออกมาในสไตล์ถนัดของเธอ แต่มันก็เจือไปด้วยกลิ่นอายเพลงแขก ด้วยการให้ฟลู้ตมาเป่าในสำเนียงแขกคลอเคล้าสร้างสีสันไปตลอด ซึ่งมันก็ชวนให้ผมอดนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Slumdog ไม่ได้
สรรพสำเนียงเพลงแบบเอเชียใต้ในชุดนี้ยังมีอีกหนึ่งเพลงกับเพลงดังของศรีลังกา อย่าง “Olu Pipila” เป็นเพลงเร็วที่ลิซ่าร้องออกมาได้อย่างสนุกสนาน สอดประสานกับเสียงกีตาร์ตีคอร์ดกระฉับกระเฉงฟังมีชีวิตชีวา
จากเอเชียใต้มาสัมผัสกับบทเพลงดังประจำชาติในแถบอาเซียนบ้านเราบ้าง ซึ่งในอัลบั้มเอเชียมีเพลงของชาติอาเซียนอยู่ถึง 4 เพลงด้วยกัน ได้แก่ “Dahil Sa Iyo” เพลงฟิลิปปินส์กับจังหวะปานกลางฟังเรื่อยๆสบายๆ ส่วนเพลงอินโดนีเซียอย่าง “Bengawan Solo” ที่มีท่วงทำนองคุ้นหูชาวไทย มีจังหวะกระชับขึ้นมาหน่อย เป็นบอสซ่าสนุกๆ มีเครื่องเป่าอย่างฟลู้ต เฟรนด์ฮอร์น แซ็กโซโฟน มาช่วยแต่งเติมเพลงให้มีสีสันมากขึ้น
“Rasa Sayang” เพลงประจำชาติมาเลเซีย เพลงนี้เป็นอีกหนึ่งเพลงที่คุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดี ผมเคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆในแถบจังหวัดภาคใต้
Rasa Sayang ในแบบของลิซ่า โอโนะ มีสนุก ลงตัว ด้วยจังหวะคึกคักกับดนตรีสนุกๆ ลิซ่าร้องถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะในช่วงท้ายที่ร้องไปพร้อมกับเสียงคอรัสของเด็กๆนั้น น่ารักน่าฟังมากทีเดียว
ส่งท้ายกันด้วย“สายชล”เพลงไทยอมตะของคุณ“จันทนีย์ อูนากูล” หนึ่งในผู้หญิงเสียงหวานสวยที่มีน้ำเสียงน่าฟังมากคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งลิซ่าเคยนำเพลงนี้มาร้องก่อนมีอัลบั้มเอเชียในคราวที่มาเล่นคอนเสิร์ตในเมืองไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
ลิซ่า โอโนะ แม้จะร้องเพลงสายชลในภาษาไทยออกมาได้ไม่ชัด ในลักษณะคนญี่ปุ่นพยายามพูดไทย แต่ไม่ได้ทำให้เพลงนี้ฟังแล้วเกิดอารมณ์สะดุดแต่อย่างใด เพราะในเรื่องการถ่ายทอดอารมณ์เพลงแบบบอสซ่าตามสไตล์ถนัด เธอสามารถทำออกมาได้อย่างน่ารักน่าฟัง
สายชลเปิดนำด้วยเสียงเปียโนหวานๆ ในบทเพลงบอสซ่าจังหวะปานกลาง ก่อนตามด้วยเสียงร้องแบบสบายๆนุ่มเย็นเหมือนสายชลที่ไหลริน ฟังแล้วชวนชวนเคลิบเคลิ้ม แถมยังสอดรับกับปกอัลบั้มที่ออกแบบให้ลิซ่านั่งอยู่ริมหน้าต่างยามเย็นด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม มองออกไปในเห็นแม่น้ำเจ้าพระยายามไหลเอื่อย มีเรือหางยาวแล่นผ่าน ท่ามกลางฉากหลังเป็นเงามืดของพระปรางค์วัดอรุณ อันสุดแสนจะคลาสสิค จนใครบางคนที่ผมรู้จักบอกว่า ภาพของปกอัลบั้มนี้ภาพเดียว สามารถโปรโมทการท่องเที่ยวเมืองไทยได้ดีกว่าหลายๆแคมเปญของททท.เสียอีก
อย่างไรก็ดีหากพูดถึงภาพรวมของผลงานเพลงในอัลบั้ม“เอเชีย”ชุดนี้ แม้ว่าหลายเพลงจะฟังช้าเนิบนาบจนกลายเป็นเนือย และบางเพลงเมื่อฟังแล้วยังไม่สามารถผสมซาวนด์แบบพื้นบ้านเอเชียกับแนวดนตรีบอสซ่าและป็อบแจ๊ซให้เข้ากันได้อย่างกลมกล่อม แต่การนำเพลงดังประจำชาติของหลายๆชาติในเอเชีย มานำเสนอในแบบบอสซาโนว่าและป็อบแจ๊ซตามสไตล์ถนัดของลิซ่านั้น นับเป็นความแปลกใหม่ที่ฉีกหนีไปจากสรรพเสียงในแบบเดิมๆของลิซ่า โอโนะได้พอสมควร
โดยเฉพาะการที่เธอพยายามที่จะร้องเพลงในภาษาประจำชาติของชาตินั้นๆ ถือเป็นความพยายามสร้างความแปลกใหม่ที่น่ายกย่อง อีกทั้งนี่ยังเป็นการแสดงความเป็นตัวตนและสรรพเสียงอันงดงามแห่งความเป็นเอเชียให้โลกรับรู้
ในขณะที่ถ้ามองกันในมิติด้านการตลาด เอเชียถือเป็นงานเพลงที่สามารถขยายฐานกลุ่มแฟนเพลงได้ของลิซ่าได้เป็นอย่างดี เพราะหลายคนอาจไม่ได้ต้องการที่จะฟังเพลงบอสซ่าในสไตล์ลิซ่า โอโนะ หากแต่ต้องการที่จะฟังบทเพลงประจำชาติของเขาอย่างภาคภูมิ ภายใต้การขับร้องและนำเสนอของลิซ่า โอโนะ
นับได้ว่านี่เป็นผลงานเพลงที่แฝงอิงไว้กับแผนการตลาดที่แยบยลพอตัว
*****************************************
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9540000030254