the dharma chapter place
.................................โทษของการฆ่าตัวตาย.......................
<-- ถาม –->การฆ่าตัวตายถือเป็นปาณาติบาตหรือเปล่า ?
...................................<--คำตอบ-->..............................
การฆ่าตัวตายไม่ใช่ปาณาติบาต แต่เป็นอัตวินิบาต เป็นกรรมคนละอย่างปาณาติบาตคือปลงชีวิตสัตว์อื่น
มีผลให้ชีวิตของสัตว์อื่นขาดก่อนถึงอายุขัย พรากสิทธิ์ในการมีชีวิตไปจากเขา โดยเฉพาะหากเขามีบุญมาก ก็เท่ากับตัดโอกาสเสวยสุขของเขาทิ้งทั้งยวงส่วนอัตวินิบาตคือการปลงชีวิตตนเอง มีผลให้ไม่ได้ใช้กรรมที่ควรใช้ก่อนถึงอายุขัย โดยเฉพาะหากมีบาปมาก ก็เท่ากับพยายามแหกคุกเพื่อหนีโทษด้วยทางลัดการไม่
รอให้มีการล้างไพ่ใหม่ตามกาลจัดเป็นการตัดตอนสร้างปมยุ่งเหยิงขึ้นไม่ให้เป็นไปตามวิถีธรรมชาติกรรมวิบากเปรียบกับหนี้ก็ซับซ้อนกว่าหนี้ชนิด
ไหน ๆ เนื่องจากการทบหนี้กรรมนั้นแตกต่างจากการทบต้นทบดอกของหนี้สินเงินทองมาก ถ้าคุณฆ่าคนมีบุญ โอกาสเสวยบุญของเขาที่ถูกตัดทิ้งย่อมสะท้อนกลับมาเป็นความหมดโอกาสเสวยบุญของคุณเช่นกัน คุณจะมีอายุมากในอัตภาพที่เป็นทุกข์ แต่จะมีอายุสั้นในอัตภาพที่เป็นสุข
และถ้าฆ่าตัวเองขณะต้องใช้บาป การหนีโทษย่อมเป็นการเพิ่มโทษในตัวเอง ทุกข์ที่ยังไม่เสวยก็ต้องเสวยอยู่ดี แถมพ่วงทุกข์อันเกิดจากการพยายามแหกคุกเข้าไปอีกกระทง นั่นคือแทนที่จะต้องทนทุกข์ในสภาพมนุษย์ตามเดิม ก็ต้องไปทนทุกข์ในสภาพเปรต สภาพเดรัจฉาน หรือสภาพสัตว์นรก ซึ่งเป็นอัตภาพที่แย่หนักเข้าไปใหญ่
ข้อแตกต่างระหว่างปาณาติบาตกับอัตวินิบาตยังมีอีกมาก เช่น ปาณาติบาตมีผลในกาลต่อไปเป็นความโหดเหี้ยมของจิตใจ มีใบหน้าเหี้ยมเกรียม
มีความเดือดร้อนเรื่องสุขภาพกาย อาจถูกรังแก อาจถูกฆ่าให้ตายก่อนวัยอันควร ส่วนอัตวินิบาตมีผลในกาลต่อไปเป็นความอ่อนแอทางใจมีใบหน้าเศร้าหมอง มีความเดือดร้อนเรื่องสุขภาพจิต คิดมากและน้อยใจเก่ง รู้สึกอ่อนแอ อยากตายด้วยเหตุบีบคั้นแค่ง่าย ๆ เป็นต้น
การฆ่านั้น ไม่ว่าฆ่าผู้อื่นหรือฆ่าตนเอง ย่อมได้ชื่อว่าทำจิตให้เศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองย่อมมีคติวิบัติเป็นที่หวัง แต่หากฆ่าตนเองโดยไม่มีจิตเศร้าหมอง ทำจิตให้ขาดจากอุปาทานว่าเป็นตัวตน อันนั้นพระพุทธเจ้าสรรเสริญ การสิ้นชีวิตขณะไร้อุปาทานไม่ถือเป็นบาปด้วยประการทั้งปวง ที่ทำอย่างนั้นได้ก็มีแต่ผู้ศึกษาธรรมจนเข้าใจ และปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงแล้วเท่านั้น