สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๔)รอยพระพุทธบาทรอยแรก ว่ากันว่า รอยพระพุทธบาทมีอยู่ ๕ แห่งเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้เพื่อให้ชาวโลกได้นมัสการ คือ (๑)ที่สุวรรณมาลิก (๒)ที่สุวรรณบรรพต (๓)ที่สุมนกูฏ (๔)ที่โยนกประกาศ และ (๕)ริมฝั่งน้ำนัมมทา
๕ แห่งที่ว่านี้จะเป็นพระพุทธบาท original หรือไม่ ไม่ยืนยัน สงสัยจะเป็นพระพุทธบาทจำลองเสียมากกว่า เพราะไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ยุคต้นๆ
ถ้าถามว่า รอยพระพุทธบาทรอยแรก หรือรอยต้นๆ อยู่ที่ไหน
ถ้าศึกษาพุทธประวัติจะพบเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยประทับรอยพระบาทไว้โดยเฉพาะ เข้าใจว่าจากนั้นมาเลยมีการจำลองพระพุทธบาทไว้สำหรับสักการะ
เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณกลางพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวกุรุรัฐ ณ ชนบทแห่งหนึ่ง มีสองสามีภรรยาและลูกสาวสวยคนหนึ่งนามว่า มาคันทิยา ผู้เป็นพ่อไม่ยอมให้แต่งงานกับชายใด
อ้างว่าไม่มีใครเหมาะสมกับลูกสาวของตน
วันหนึ่งพราหมณ์บิดาของสาวงามคนนี้พบพระพุทธเจ้าเข้าก็เกิดติดอกติดใจในบุคลิกภาพอันสง่าของพระพุทธองค์ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า “สมณะ ข้าฯ มีลูกสาวอยู่คนหนึ่งเหมาะกับท่านมาก ข้าฯ ยินดียกให้เป็นภริยาของท่าน โปรดรออยู่ตรงนี้นะ ข้าฯ จะไปพาลูกสาวมาให้”
พระพุทธเจ้ามิได้ประทับ ณ จุดที่พราหมณ์บอก เสด็จไปประทับใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่ไกลจากที่นั้นนัก พราหมณ์รีบไปบอกภริยาให้แต่งตัวให้ลูกสาว บอกว่าได้พบบุรุษผู้เหมาะสมกับลูกสาวแล้ว จะรีบพาไปหา
ชาวเมืองได้ทราบข่าวก็พากันตามไป เพราะเท่าที่แล้วๆ มา พราหมณ์ไม่ยินดียกลูกสาวให้ชายหนุ่มคนใด อ้างว่ายังไม่เหมาะสมกับลูกสาวของตน บัดนี้แกบอกว่าพบชายหนุ่มที่เหมาะสมแล้ว จึงอยากจะไปดูว่าจะหล่อเหลาปานใด
ไปถึงจุดนัดหมาย พราหมณ์ไม่พบพระพุทธองค์ จึงสอดส่ายสายตาไปมา พบรอยพระพุทธบาทที่พระองค์ประทับไว้ จึงร้องบอกภริยาว่า “นี่คือรอยเท้าของเขา เขาต้องอยู่แถวๆ นี้แน่” ว่ากันว่า นางพราหมณีภริยาของพราหมณ์มีความเชี่ยวชาญใน “ปาทศาสตร์” (สาสตร์ว่าด้วยการดูลายเท้า) พินิจพิจารณารอยพระพุทธบาทแล้ว จึงร้องบอกสามีว่า “เจ้าของรอยเท้านี้ไม่สนใจไยดีกามคุณแล้ว ตาเฒ่าเอ๋ย ป่วยการตามหาเขา”
พราหมณ์ดุภริยา “เก็บตำราของแกไว้เถอะ อย่าทำตนเป็นจระเข้ในตุ่มเลย (คล้ายกับสำนวนไทยว่า “จระเข้ขวางคลอง” กระมัง) เจ้าหนุ่มหน้ามันคนนั้นรับปากฉันแล้ว” (ตอนแกบอกพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ประทับดุษณีภาพ พราหมณ์เลยเข้าใจว่า นิ่ง คือการยอมรับ)
นางพราหมณีจึงร่ายโศลก ว่าด้วยการทายลักษณะรอยเท้าให้สามีและประชาชนที่รายล้อมอยู่ ณ บริเวณนั้นฟังดังนี้
รตฺตสฺส หิ อุกฺกฏิกํ ปทํ ภเว
ทุฏฺฐสฺส โหติ สหาสนุปิฬิตํ
มูฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ
วิวฏฉทสฺส อยมีทิสํ ปทํ
คนราคจริต รอยเท้าจะเว้าตรงกลาง
คนโทสจริต รอยเท้าจะจิกปลาย
ส่วนรอยเท้านี้ (ราบเสมอกัน) เป็นของคนหมดกิเลสแล้ว
คำพยากรณ์ไม่สบอารมณ์พราหมณ์มาก บอกให้ภริยาเงียบเสียง ตนเองก็สอดส่ายตามองไปมองมาพบพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไม้ จึงจูงลูกสาวเข้าไปหา ลำล่ำละลักว่า “สมณะ ข้าฯ นำลูกสาวมาให้ท่านแล้ว”
พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า สองสามีภริยามีอุปนิสัยจะได้บรรลุธรรม จึงตรัสว่า
“พราหมณ์ สมัยเราเป็นเจ้าชายแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยนั้น ได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขนานาประการ มีนางสนมกำนัลสวยงาม คอยปรนนิบัติมากมาย ล้วนแต่รูปร่างสะคราญตาดุจนางอุปสรสวรรค์ก็มิปาน เรายังไม่ไยดี สละทิ้งมาหมด ออกบวชมาเป็นสมณะ แสวงหาทางหลุดพ้น จนได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไฉนเราจักยินดีในร่างกายของบุตรสาวท่าน อันเต็มไปด้วยของปฏิกูล อย่าว่าแต่ยินดีเลย แม้เท้าเรายังไม่อยากให้แตะเลย”
พระพุทธดำรัสนี้กระตุ้นให้สองสามีภรรยาเข้าใจความจริงของสังขารร่างกาย เมื่อตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาจบลงก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แต่ทำให้มาคันทิยา ลูกสาวคนสวย ผูกใจเจ็บ หาว่าสมณะ (พระพุทธเจ้า) ดูถูกตน
เมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งกรุงโกสัมพีในภายหลัง ได้พยายามแก้แค้นพระพุทธองค์ต่างๆ นานา
เมื่อเล่นงานพระพุทธองค์โดยตรงไม่ได้ ก็ไปลงที่สาวิกาของพระพุทธองค์ นามว่า สามาวดี ซึ่งเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง จนพระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็น นางมาคันทิยาก็ถูกประหารชีวิต ด้วยการเผาทั้งเป็นเช่นเดียวกัน
รอยพระพุทธบาทรอยนี้ นับเป็นรอยแรก หรือรอยแรกที่ทรงประทับไว้ ด้วยความมุ่งหมายเฉพาะ (คือเป็น “สื่อ” สอนธรรม) ขอสรุปเช่นนี้ไปก่อนจนกว่าจะมีหลักฐานและเหตุผลที่ดีกว่า ข้อมูล : บทความ
พิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๔) รอยพระพุทธบาทรอยแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๗๑ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๔ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๕)
คนแรกที่กล่าวพุทธคุณ ๑๐๐ บท
เราเคยได้ยินพระพุทธคุณ ๙ บท หรือ นวารหคุณ หรือ นวารหาทิคุณ ขึ้นต้นด้วย อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ดังที่เราสวดกันอยู่ทุกวัน หรือสรุปลงในพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการ ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ แต่น้อยคนจะได้ยินพระพุทธคุณ ๑๐๐ บท
ผู้กว่าพระคุณ ๑๐๐ บท คือ อุบาลี คหบดี อดีตสาวกของนิครนถ์นาถบุตร หรือศาสดามหาวีระแห่งศาสนาเชน เมื่อแรกท่านผู้นี้หมายมั่นปั้นมือว่าจะมาได้วาทะแข่งกับพระพุทธเจ้า อาจารย์ของตนคือมหาวีระก็อนุญาต แต่ศิษย์รุ่นพี่คนหนึ่งชื่อทีฆปัสสีไม่เห็นด้วย
แกห้ามอุบาลีว่า อย่าเลย สมณโคดม เขามี “มนต์กลับใจ” ใครได้พูดกับเขา มักจะถูกเขาใช้มนต์กลับใจหันไปเลื่อมใสแทบทุกคน ทางที่ดีอย่าไปสู้กับเขาดีกว่า
อุบาลีถือว่าตนเป็นพหูสูต ไม่มีทางที่จะยอมง่ายๆ จึงไม่ยอมเลิกรา วันเวลาแห่งการโต้วาทะก็ใกล้เข้ามา
ผู้คนต่างก็รอเวลาเพื่อจะดูว่าใครเก่งกว่าใคร ตามประสาแขกมุง (ซึ่งคงไม่ต่างกับไทยมุงสักเท่าไหร่)
วันนั้น อุบาลีหมายมั่นปั้นมือว่าตนเองชนะแน่นนอน เรื่องที่นำมาโต้แย้งคือ เรื่องกรรม ซึ่งทางฝ่ายนิครนถ์เรียกตามศัพท์ของเขาว่า ”ทัณฑ์” โดยเขาเห็นว่า กายกรรม (กายทัณฑ์) นั้นมีโทษมากกว่าวจีกรรม และมโนกรรม พระพุทธองค์ทรงโต้ว่า มโนกรรมนั้นสำคัญกว่า
ในที่สุดอุบาลียอมแพ้ด้วยเหตุผล จึงประกาศยอมแพ้และยอมรับเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามปรามตั้งสามครั้งว่า “อุบาลี คนมีชื่อเสียงอย่างท่านจะทำอะไรขอให้คิดให้ดีก่อน”
อุบาลีก็ยืนยืนยันว่า คิดดีแล้ว ขอยืนยันนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มิไยพระพุทธองค์จะทรงห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ฟัง
เมื่อเห็นว่าเขาไม่ฟัง พระพุทธองค์ก็ตรัสกับเขาว่า ตัวท่านเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกนิครนถ์มาก่อน เมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างนี้ย่อมกระทบกระเทือนต่อพวกนิครนถ์มาก
ในระยะเริ่มต้นนี้ขอให้สำคัญข้าวและน้ำที่เคยให้แก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิมเถิด
น่าสังเกตนะครับ พระองค์แทนที่จะเป็น “ศาสดากระหายสาวก” คือรีบๆ รับ แต่พระองค์กลับทรงแผ่พระมหากรุณาแก่พวกเขาเสียอีก น้ำใจอย่างนี้ยากจะหาได้ และดูเหมือนมันจะเด่นมากในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
เมื่ออุบาลีประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ทีฆปัสสีทราบข่าวก็ไปต่อว่า ศาสดามหาวีระ เห็นหรือยัง ข้าอุตส่าห์ห้ามแล้วก็ไม่เชื่อ เดี๋ยวนี้เป็นยังไง อุบาลีคนเก่งของพวกเราถูกพระสมณโคดม “ดูด” ไปเสียแล้ว
มหาวีระ ไม่เชื่อว่าเป็นจริง จึงเดินทางไปพิสูจน์ความจริงที่บ้านลูกศิษย์ ไปถึงเขาไม่ยอมให้เข้าบ้าน จนต้องขอร้องอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร เข้าไปแล้วเขาก็เชิญให้ไปนั่งที่ศาลาหน้าบ้านรออยู่พักใหญ่
อุบาลีออกมาก็นั่งอาสนะสูงกว่า ถูกอดีตศาสดาต่อว่าต่อขานว่าอุบาลี เจ้าจะบ้าไปแล้วหรือ นี่ศาสดาของเจ้านะ
อุบาลียืนยันว่า ข้าพเจ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นศาสดา หามีใครอื่นใดไม่
มหาวีระกล่าวว่า อุบาลี พระสมณะโคดมมีอะไรนักหนา เจ้าจึงเห็นดีเห็นงามไปกับเขา
อุบาลีกล่าวว่า ถ้าท่านอยากฟังนะ ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระพุทธคุณของพระองค์ให้ท่านฟัง
ว่าแล้วก็กล่าวพระพุทธคุณทั้ง ๑๐๐ บทไปตามลำดับ นัยว่าอุบาลีกล่าวได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง มหาวีระทนฟังไม่ไหว ยกไม้ยกมือร้องห้ามว่า พอแล้วๆ แล้วเลือดอุ่นๆ ก็พุ่งออกจากปาก
พวกลูกศิษย์ทั้งหลายต้องหามแกออกจากคฤหาสน์อุบาลี อดีตสาวกของแก ก่อนหน้านี้ก็สัจจกนิครถ์ทีหนึ่งแล้ว มาคราวนี้ก็อุบาลีอีก ทั้งสองคนเป็นคนดังของพวกนิครนถ์
โดยเฉพาะคนหลังนี้ มิเพียงเป็นพหูสูตเท่านั้น ฐานะความเป็นอยู่ในระดับมหาเศรษฐีคนหนึ่ง นับเป็นเรี่ยวเป็นแรงของพวกนิครนถ์เป็นอย่างดีอีกด้วย เมื่อเขาหันไปนับถือศาสนาอื่นเสียแล้ว ย่อมกระทบกระเทือนไม่น้อย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เขาถวายความอุปถัมภ์แก่ลัทธิดั้งเดิมของตนไปสักระยะหนึ่งก่อน
แต่เชื่อเถอะครับ ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครเชื่อดอก เมื่อออกมาแล้วย่อมจะพยายามหนีไปให้ไกลที่สุดเป็นธรรมชาติ บางคนนับถือพุทธอยู่ดีๆ แสนจะขี้เกียจ พอเข้ารีตนับถือศาสนาอื่นกลับขยันขันแข็ง อ้างว่าเพราะเขานับถือศาสนาอื่น จึงทำให้ชีวิตดีขึ้น อย่างนี้ก็มี
มหาวีระ ตั้งแต่ออกจากบ้านอุบาลีวันนั้น ป่วยกระเสาะกระแสะ สามวันดีสี่วันไข้ ไม่ช้าไม่นานก็นิพพาน เข้าใจว่าคงเสียใจมาก แบบจิวยี่ในเรื่องสามก๊กก็ไม่ปาน
อุบาลีนับเป็นคนแรกที่กล่าวพุทธคุณ ๑๐๐ บท มีบันทึกไว้ในอุบาลิวาทสูตร มัชฌิมนิกาย ด้วย ข้อมูล : บทความ
พิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๔) คนแรกที่กล่าวพุทธคุณ ๑๐๐ บท โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๕ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๖)
สาวใช้คนแรกผู้เป็นอาจารย์พระราชินีเพราะปัญญาเลิศ
พระพุทธศาสนานั้นมีข้อเด่นอยู่อย่างหนึ่งในหลายร้อยหลายพันอย่าง คือให้โอกาสแก่มนุษย์ว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีความเป็น “คน” ทัดเทียมกัน แล้วก็ให้กำลังใจให้พยายามพัฒนาตนไปสู่เป้าหมายสูงสุด ด้วยวิริยะ อุตสาหะ และให้ความทัดเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรี บุรุษบรรลุมรรคผลได้ สตรีก็บรรลุได้ บุรุษมีโอกาสได้บวชเรียน สตรีก็มีโอกาสนั้นเหมือนกัน
นอกจากนี้ พระพุทธศาสนาชี้คุณค่าของคนที่รู้จักใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ใครมีปัญญาไม่ว่าจะเป็นคนเกิดในวรรณะไหนก็ได้รับการยอมรับ
ที่พูดมาหลายบรรทัดนี้ก็เพื่อเข้าหาเรื่องของสาวใช้คนหนึ่ง แถมยังพิการคือ ร่างค่อมด้วย ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้คงแก่เรียน
สาวใช้พิการคนนี้คือ นางขุชชุตตรา ครับ
นางเป็นคนใช้ของนางสามาวดี มเหสีของพระเจ้าอุเทน กษัตริย์ผู้ครองเมืองโกสัมพี นางสามาวดีเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้า ทุกวันมอบเงินให้นางขุชชุตราไปซื้อดอกไม้มาจากนายมาลากร ๘ กหาปณะเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า (เรื่องราวของนางสามาวดี จะนำมาเล่าภายหลัง)
ขุชชุตตรา ขยักไว้ ๔ กหาปณะเพื่อตัวเอง เรียกง่ายๆ ย่า “ยักยอก” เจ้านายนั่นแหละ อีก ๔ กหาปณะก็ซื้อดอกไม้ไปให้นายหญิง
วันหนึ่งนายมาลาการนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน พูดกับนางขุชชุตตราผู้มาซื้อดอกไม้ว่า “หนู วันนี้ฉันอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหารที่บ้าน หนูช่วยเลี้ยงพระก่อนแล้วค่อยเอาดอกไม้ไปให้นายหญิงของหนูได้ไหม”
“ได้จ้ะ” ขุชชุตตราตอบ แล้วก็อยู่ช่วยงานจนแล้วเสร็จ เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ทรงแสดงธรรมแก่นายมาลาการและครอบครัว นางขุชชุตตราทีแรกจะรีบกลับ แต่ใจหนึ่งคิดว่าไหนๆ ก็รอมาแล้ว ลองฟังธรรมก่อนค่อยกลับดีกว่า จึงตั้งใจฟังธรรมจนจบ พอจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
นางขุชชุตราซื้อดอกไม้ ๘ กหาปณะ ได้ดอกไม้กำใหญ่กว่าทุกวัน ไปให้นายหญิงนางสามาวดี นายหญิงของขุชชุตตราเห็นดอกไม้มากกว่าทุกวันจึงถามว่า
“วันนี้พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินค่าดอกไม้แก่ฉันเพิ่มขึ้นหรือ”
“หามิได้ พระแม่เจ้า” นางตอบ
“เพราะเหตุใดดอกไม้จึงมากกว่าทุกวันเล่า”
นางขุชชุตตรา ก็เปิดเผยความจริงว่า
“วันก่อนๆ นางยักยอกเอาไว้ใช้ส่วนตัว ๔ กหาปณะ ซื้อดอกไม้เพียง ๔ กหาปณะเท่านั้น”
“แล้ววันนี้ทำไมเธอไม่เอาไว้เพื่อตัวเอง ๔ กหาปณะเล่า” นายหญิงถาม
“เพราะหม่อมฉันฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุธรรม”
นางสามาวดีไม่โกรธสาวใช้เลย ที่ยักยอกเอาเงินค่าซื้อดอกไม้กลับกล่าวด้วยความยินดีว่า “โอ ดีจังเลย เจ้าช่วยแสดงธรรมที่เธอได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าให้เราฟังได้ไหม” เมื่อขุชชุตตรารับปาก นางสามาวดีจึงให้นางอาบน้ำชำระกายให้สะอาดพรมด้วยน้ำหอมให้นางนุ่งผ้าสาฎกใหม่เอี่ยมเนื้อดีผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ปูลาดอาสนะและวางพัดอันวิจิตรไว้ข้างอาสนะ เชิญนางขุชชุตตราขึ้นนั่งบนอาสนะ
นางขุชชุตตราได้แสดงธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า แก่สตรีจำนวน ๕๐๐ คน มีนางสามาวดีเป็นประธาน นางเป็นคนมีความจำแม่น และมีความสามารถในการใช้คำสละสลวยธรรมเทศนาของนางเป็นที่จับจิตจับใจคนฟังมาก
ว่ากันว่าได้บรรลุธรรมไปตามๆ กัน
นางสามาวดีบอกว่า ต่อแต่นี้ไป เธอไม่ต้องทำงานเป็นคนใช้ ขอให้เธอดำรงอยู่ในฐานะมารดาและอาจารย์ในทางธรรมของพวกเรา ทุกวันขอให้เธอฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วกลับมาแสดงให้พวกเราฟัง
นางขุชชุตตราจึงได้ “เลื่อนขั้น” ขึ้นมาเป็นอาจารย์แสดงธรรมแก่นายหญิง ตั้งแต่วันนั้นมาท่านอาจารย์ขุชชุตตราก็ทำหน้าที่ของตนไม่ขาดตกบกพร่อง นับว่าได้ทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและบรรดาสตรีในวังด้วย
ในทางส่วนตัวก็คือ นางได้ฟังหลากเรื่องหลายปริยาย ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมกว้างขวางพิสดารขึ้น ชนิดที่ไม่สามารถหาเอาจากที่ไหน
ในไม่ช้าไม่นานนางก็กลายเป็น “พหูสูต” (ผู้คงแก่เรียน) เมื่อมีความรู้แตกฉาน นางก็มีลีลาในการแสดงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดารและจับจิตใจยิ่งขึ้น
ความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสยกย่องนางใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางสดับตรับฟังมาก คือเก่งกว่าคนอื่นในทางเป็นพหูสูตหรือผู้คงแก่เรียน
การที่หญิงค่อมขี้ริ้วจนๆ คนหนึ่งได้รับเกียรติปานนี้ ก็เพราะพระพุทธศาสนาเปิดทางให้พระพุทธศาสนามิได้มองแค่เปลือกนอกของคน หากมองที่ศักยภาพภายในมากกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าในหมู่มนุษย์ไม่ว่ายากดีมีจน คนมีปัญญาเป็นผู้ประเสริฐสุด
พระสงฆ์ทั้งหลายกราบทูลถามพระพุทธเจ้าในวันหนึ่งว่า เพราะเหตุใดนางขุชชุตตราจึงมีร่างกายค่อม และเพราะเหตุใดจึงเป็นสาวใช้ของคนอื่น
พระพุทธเจ้าตรัสบุพกรรมของนางให้ภิกษุสงฆ์ฟัง (น่าสนใจมากครับ) ดังนี้
๑.ชาติก่อนนางเคยเป็นอุปัฏฐายิกาของพระปัจเจกพุทธ พระปัจเจกพุทธรูปนั้นร่างค่อม นางนึกสนุกทำร่างค่อมเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะกรรมนั้นนางจึงมีร่างค่อมในปัจจุบันนี้
๒.ชาติก่อนนางถวายข้าวปายาสร้อน ในบาตรพระปัจเจกพุทธ พระปัจเจกพุทธอุ้มบาตรร้อนจึงเปลี่ยนมืออยู่เรื่อย นางจึงถวายวลัยงา ๘ อัน (เรียกอันหรือเปล่าไม่รู้สิครับ) เพื่อให้ท่านรองบาตร ผลแห่งการถวายวลัยงารองบาตรนั้น มาชาตินี้นางจึงเป็นพหูสูต
๓.และเพราะการอุปัฏฐากดูแลพระปัจเจกพุทธ นางจึงบรรลุโสดาปัตติผล
๔.ในชาติก่อนอีกชาตินึง นางเกิดเป็นธิดา นางเกิดเป็นธิดาเศรษฐี วันหนึ่งขณะนางแต่งตัวอยู่ พระเถรีอรหันต์รูปหนึ่งมาเยี่ยมนางที่บ้าน เวลานั้นนางมองหาคนใช้ไม่พบ จึงกล่าวกับพระเถรีอรหันต์ว่าพระแม่เจ้า ดิฉันไหว้ละ ช่วยหยิบกระเช้าเครื่องประดับให้ดิฉันหน่อย พระเถรีอรหันต์คิดว่า ถ้าไม่หยิบให้ นางจักเกิดเป็นคนใช้คนอื่น แต่การเป็นคนใช้เขายังดีกว่า ว่าแล้วพระเถรีอรหันต์จึงหยิบกระเช้าให้นาง มาชาตินี้นางจึงเป็นคนใช้เขา
การทำบาป โดยเฉพาะต่อบุคคลผู้บริสุทธิ์ แม้เพียงเล็กน้อยก็บันดาลผลหนักดังเรื่องของนางขุชชุตตราในชาติก่อน เพราะฉะนั้น เราพึงระวังมิให้เผลอทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร นี่คือข้อสรุปที่ได้ยินจากเรื่องนี้ครับ ข้อมูล : บทความ
พิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๖) สาวใช้คนแรกผู้เป็นอาจารย์พระราชินีเพราะปัญญาเลิศ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๖ ประจำวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ - ๒ มีนาคม ๒๕๖๐
สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๗)คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก ผู้บวชเป็นพระภิกษุ โดยหลักการต้องละทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีในเพศผู้ครองเรือน อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติเลย แม้ชื่อเสียงเรียงนามก็ละหมด ไปใช้ชื่อใหม่อันเรียกในภาษาพระว่า “ฉายา”
เช่นสมมุติชื่อเดิม “ขรรค์ชัย บุนปาน” ก็ต้องทิ้งไป เพราะนาม ขรรค์ชัย บุนปาน มันใหญ่ไป มีอิทธิพลทำให้คนเกรงกลัว ข้าราชการผู้ใหญ่รับตำแหน่งใหม่มาเยี่ยมยังบอกว่า มารับนโยบาย ใหญ่เกินไปจะทำให้เกิดทิฐิมานะ บวชแล้วต้องเปลี่ยนเป็น “ปุญญปาโน” (ผู้ดื่มบุญ) อะไรทำนองนี้
สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ๖ พระองค์ออกบวช มี นายภูษามาลา หรือ “บาร์เบอร์” คนหนึ่ง ชื่ออุบาลีบวชด้วย เจ้าชายทั้งหลายอนุญาตให้นายภูษามาลาบวชก่อน ทั้งนี้เพื่อจะ “ถอนทิฐิมานะ” ให้ลูกน้องบวชก่อนอายุพรรษามากกว่า พวกตนจะได้กราบไหว้
ยิ่งไปกว่านี้ บวชแล้วถือว่าตัดขาดจากตระกูลวงศ์ เป็นคนของพระศาสนา ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป มีสกุลวงศ์ใหม่คือ “ศากยปุตติยวงศ์” วงศ์แห่งพระสมณะศากยบุตร มีพระบรมศาสดาเป็นพ่อ มีเพื่อนพระภิกษุด้วยกันเป็นพี่น้อง คอยช่วยเหลือดูแลกัน
นี้ว่าโดยหลักการ แต่โดยการปฏิบัติก็อาจย่อหย่อนไปบ้าง ดังเกิดกรณีพระปูติคัตตะขึ้น นามเดิมท่าน ติสสะ ต่อมาได้สมญานามว่า ปูติคัตติ (แปลว่า ผู้มีกายเน่าเหม็น) สาเหตุที่ท่านได้นามอันไม่พึงปรารถนาเช่นนี้ เนื่องมาจากท่านป่วยเป็นโรคผิวหนัง
แรกๆ ก็ไม่เป็นอะไรมาก แต่เนื่องจากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง ร่างกายก็เกิดตุ่มขึ้นเต็มตัว คันยุบยิบ ยิ่งเกาก็ยิ่งแสบยิ่งคัน หนักเข้าก็เป็นหนองแตกไหลเยิ้มไปทั่วร่าง ส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนา เพื่อนสหธรรมิกด้วยกันต่างก็รังเกียจเดียดฉันท์ปล่อยให้เธอดูแลตัวเองตามบุญตามกรรม
ท้ายสุด เธอถูกเพื่อนพระด้วยกันทอดทิ้งนอนอยู่บนแคร่ รอความตายอย่างน่าสงสาร
พระพุทธจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ จึงทรงชักชวนพระอานนท์เสด็จไปยังสถานที่อยู่ของท่านติสสะ ไปถึงก็รับสั่งให้พระอานนท์ก่อไฟตั้งน้ำ น้ำเดือดแล้วทรงผสมน้ำอุ่นด้วยพระองค์เอง ทรงยกถังน้ำอุ่นไปเช็ดตัวให้ท่านติสสะ
โดยมิได้ทรงรังเกียจในกลิ่นเหม็นเน่าแต่ประการใด
ภิกษุทั้งหลายเห็นพระพุทธเจ้าทรง “ลงมือทำ” ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น ก็รู้สึกสำนึกผิดกัน มารับอาสาทำเอง พระองค์ตรัสว่า “ไม่ต้อง ตถาคตทำเอง”
หลังจากพระพุทธองค์ทรงเช็ดร่างกายให้สักพัก ภิกษุหนุ่มก็มีร่างกายเบา เธอรู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อตน ทั้งๆ ที่เพื่อนพระภิกษุด้วยกันไม่เหลียวแลแล้ว เมื่อร่างกายเบา จิตใจก็สงบรำงับขึ้น พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาเตือนสติสั้นๆ ว่า ไม่นานหนอ ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ นอนทับแผ่นดิน ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า หาประโยชน์อะไรมิได้ฉะนั้น
เธอพิจาณาไปตามกระแสพระพุทธดำรัส ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับสิ้นชีวิต เป็นพระอรหัตที่ตำราเรียกว่า “สมสีสี” (อ่าน “สะ-มะ-สี-สี” แปลว่า ผู้ดับกิเลสและดับชีวิตพร้อมกัน)
เป็นอันว่าเธอได้พ้นทุกข์แล้ว เป็นการพ้นทุกข์จากสังขารวัฏจักรอย่างถาวร ก็ยังเหลือแต่ภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นเพื่อนสหธรรมิกของติสสะนั้นแหละจะต้องเวียนว่ายต่อไป
พระผู้มีพระภาคทรงหันมายังภิกษุทั้งหลายที่ยืนอยู่ข้างๆ ตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าใครหวังพึงหวังจะอุปัฏฐากตถาคต ก็พึงอุปัฏฐากดูแลภิกษุไข้เถิด” ความหมายของพระองค์ก็คือ อย่ามัวเอาใจพระพุทธเจ้าเลย จงไปดูแลภิกษุไข้เถิด การดูแลภิกษุไข้ มีอานิสงส์เท่ากับดูแลพระพุทธเจ้าทีเดียว
พุทธภาษิตที่ตรัสสอนพระภิกษุหนุ่ม “ปูติคัตตะ” ว่า
อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวี อธิเสสฺสติ
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ
ไม่นานหนอ ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ นอนทับถมแผ่นดิน ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ หาประโยชน์มิได้ฉะนั้น
ว่ากันว่า เป็นที่มีของคาถา “บังสุกุลเป็น” มาจนปัจจุบันนี้ (เดี๋ยวนี้ ประเพณีจะดูหายไปเกือบหมดสิ้น) ข้อมูล : บทความ
พิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๗) คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๗ ประจำวันที่ ๓-๙ มีนาคม ๒๕๖๐
สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๕)
คาถาบังสุกุลครั้งแรก
คราวที่แล้วพูดถึงคาถาบังสุกุลเป็น ที่ (เชื่อว่า) เป็นต้นเหตุประเพณีสวดบังสุกุลแก่คนป่วยหนัก คราวนี้ก็ต้องพูดถึงบังสุกุลคนตาย เพื่อให้ครบเซ็ต
นอกเรื่องนิดหน่อย สมัยเขาสร้างทางรถไฟผ่านดงพญาเย็น (สมัย ร.๕) มีคนตายจำนวนมาก เพราะถูกผีหลอกเป็นไข้หัวโกร๋น นายคนหนึ่งขณะนอนอยู่ ผีมาหลอกหลอน ค่าที่บวชมานานก็สวดคาถาต่างๆ มากมาย ผีไม่กลัว ไม่หนี แกนึกขึ้นมาได้ว่าสมัยบวชเคยสวดบังสุกุลบ่อยๆ จึงสวดคาถาบังสุกุล “อนิจจา วะตะ สังขารา...” เข้าไว้ ไม่เชื่ออย่าหลบหลู่
สมัยพุทธกาล (อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ฉากเรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยพุทธกาล) พี่ชายน้องชายสองคน เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาออกบวชพร้อมกัน
พี่ชายชื่อ พระมหากาล บวชแล้วก็เรียนกรรมฐาน เข้าป่าบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต ส่วนน้องชายชื่อ พระจุลกาล บวชมาแล้วก็ปฏิบัติไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไร วันๆ ครุ่นคิดแต่เรื่องโลกๆ ทั้งๆ ที่บวชมาแล้ว
ดีว่าเป็นสมัยก่อน ถ้าเป็นสมัยนี้คงมีเครื่องเล่นมากกว่าสมัยพุทธกาลมากมาย เช่น เกมอุปกรณ์มือถือต่างๆ ที่เอาไว้เล่นโซเชียลมีเดีย ดูคลิปวาบหวิวต่างๆ นานา
หลวงพี่เพ่งยังไงก็คงไม่เห็นอนิจจัง
วันหนึ่งหลวงพี่จุลกาลไปบิณฑบาตในเมือง อดีต “เมีย” ของพระจุลกาลทั้ง ๒ คนมาพบเข้า ก็มาซุบซิบกัน รู้กันสองต่อสอง แล้วก็ส่งเด็กไปนิมนต์หลวงพี่มาบ้านบอกว่าจะถวายภัตตาหาร พอหลวงพี่มาถึงบ้าน เมียทั้งสองก็ล็อกห้อง
ต่อไปนี้คือคำสนทนาระหว่างทั้งสาม (ผู้มีเทปอัดเทปมาให้)
“หลวงพี่หนีเราไปบวช ใครอนุญาตมิทราบ”
“ก็ขออนุญาตไม่ทัน เพราะพี่ชายชวนกะทันหัน ก็เลยตามไป” หลวงพี่แก้ตัว
“ถ้าเช่นนั้น หลวงพี่ก็ไม่เต็มใจบวชสิ” ทั้งสองซัก
“ก็ประมาณนั้นแหละ” หลวงพี่กล่าว นึกว่าเธอทั้งสองจะเห็นใจ
“ดีแล้ว ไม่อยากบวชแล้วบวชทำไม สึกเดี๋ยวนี้” ว่าแล้ว เมียทั้งสองก็ช่วยกันจับถอดจีวรออกเอากางเกงให้นุ่ง พี่ทิดแกก็คงอยากสึกอยู่แล้วด้วย จึงกระทำสำเร็จได้โดยง่าย เมื่อสึกอดีตสามีสำเร็จ ก็ส่งไปนิมนต์พระพุทธองค์เสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน
ภิกษุทั้งหลายทราบเหตุ ก็พากันซุบซิบ พระพุทธองค์ทรงทราบความคิดของพระสงฆ์ ก็ตรัสคาถาเทศน์สอนว่า”จุลกาล เธอนั่งคิดนอนคิดแต่เรื่องสวยๆ งามๆ ในที่สุดก็ถูกมารผจญ เพราะใจไม่แข็งพอ ดุจต้นไม้อ่อนถูกลมพัดได้ง่าย”
ทำนองจะตรัสบอกว่า อย่าเอาอย่างจุลกาล
ฝ่ายเมียของพระมหากาล ทราบข่าวว่าอดีตภรรยาพระน้องชายสามีได้พากันจับสามีสึก ก็อยากเอาตามอย่างบ้าง จึงให้คนไปนิมนต์พระมหากาลมารับบิณฑบาตที่บ้านตน พระสงฆ์ทราบข่าวก็เป็นห่วง กลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย แต่ดูเหมือนว่าพระพุทธองค์ก็ทรงรู้แต่ไม่เห็นทรงห้ามปรามอะไร พระทั้งหลายจึงไม่กล้าทัดทานอะไร
เมื่อไปถึงบ้าน เมียของพระมหากาล ดูเหมือนจะสี่คนด้วยซ้ำก็ดาหน้าเข้ามาจะล็อกคอหลวงพี่เหมือนกับที่ภรรยาจุลกาลทำกับสามี แต่ขออภัย หลวงพี่มหากาลท่านเป็นอรหันต์ทรงอภิญญา รู้อะไรเป็นอะไร ก็นั่งสมาธิเหาะหนีไปได้อย่างปลอดภัย
พระพุทธองค์ทรงสอนภิกษุทั้งหลายภายหลังว่า “มหากาลนั้น ไม่ได้มองสรรพสิ่งว่าน่ารักน่าใคร่ จึงมิได้ไยดีในกามคุณ คนเช่นนี้มารย่อมทำลายไม่ได้ ดุจต้นไม้ใหญ่ ลมจะแรงขนาดไหนก็ไม่สามารถโค่นได้”
มีข้อมูลเกี่ยวกับการบรรลุพระอรหัตผลของพระมหากาลน่าสนใจ ท่านเรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้ว ได้เข้าไปอยู่ที่ป่าช้า มีนางสัปเหร่อชื่อกาลีคอยดูแลป่าช้าอยู่ นางจะทำหน้าที่เผาศพ ท่านขอกับนางว่า ก่อนเผาศพขอให้ท่านไปพิจารณาศพก่อน
วันหนึ่งท่านเห็นศพคนตายอายุยังน้อยเป็นสาววัยรุ่นอยู่ ก็พิจารณาไป ปลงธรรมสังเวชไปด้วย ว่ากันว่าความตายนี้ไม่ยกเว้นใครเลยนะ เด็กก็ตาย หนุ่มสาวก็ตาย แก่ก็ตาย โง่ก็ตาย ฉลาดก็ตาย ที่แก่แล้วตายก็ช่างเถิด เราเองก็คงจะตายในไม่ช้า จึงไม่ควรประมาทในสมณธรรม
แล้วท่านก็เจริญอสุภกรรมฐาน โดยกล่าวคาถาว่า
อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสมโม สุโข
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดและเสื่อมเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป การระงับสังขารได้เป็นสุข
พิจารณาด้วยคาถานี้แหละ ทำให้ท่านได้เข้าถึงไตรลักษณ์ แล้วก็เจริญตามทางแห่งวิปัสสนาจนถึงที่สุด
คาถานี้ ชาวพุทธได้นำมาเป็นคาถาบังสุกุลมาจนบัดนี้
ข้อมูลอีกแห่งหนึ่ง
สมัยพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน มีบุคคลสำคัญได้กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวชหลายท่าน เช่น พระอานนท์ พระอนุรุทธะ ท้าวสักกะเทวราช ก็ได้มากล่าวด้วยเช่นกัน
ว่ากันว่าท้าวเธอได้ยกเอาคาถา “อนิจจา...” นำมาแสดงด้วย ข้อมูล : บทความ
พิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๓๘) คาถาบังสุกุลครั้งแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๘ ประจำวันที่ ๑๐-๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐