อารัมภบท จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ผู้เขียนได้เห็นเหตุการณ์ของความทุกข์ยาก เห็นความสับสนในพฤติกรรมของประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรต่างๆ นักการเมือง ทั้งในระดับภูมิภาคอันดามัน ระดับรัฐบาล ยังรวมไปถึงบุคคลภายนอก จากภายในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
สัมผัสที่ได้รับมีความหลากหลายของความรู้สึก อาทิเช่น ความตาย ความเสียหาย ความพลัดพราก ความตระหนก ความสูญเสีย การแสวงหา การรอคอย การอยู่รอด ความวิตก ความกังวล ความหวัง ความเมตตา ความช่วยเหลือ ความเอื้ออาทร การช่วงชิงในความดีเพื่อความเด่น การคิดแสวงหาประโยชน์ในลาภ ยศ ชื่อเสียง ฯลฯ
ติดตามด้วย คำถาม เกิดขึ้น ตามมาอีกอย่างมากมาย ???
เกิดขึ้น ดังมากขึ้น สับสนมากขึ้น ...
๖ เดือนผ่านไปหลังเหตุการณ์ สถานะการณ์เลวร้ายลงไปอีกเพราะ ไม่มีนักท่องเที่ยวกลับมาดังที่คาดการณ์ไว้ จากความเชื่อเดิมๆ จากหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตทำให้เข้าใจว่า นักท่องเที่ยวจะกลับมาท่องเที่ยว อีกภายในระยะเวลาอันสั้น ประมาณการว่า ๒ ถึง ๓ เดือน เพียงแต่คาดคะเนว่าครั้งนี้อาจจะใช้เวลานานกว่าเล็กน้อย หากเร่งจัดทำกิจกรรม ทำการประชาสัมพันธ์ คงสามารถกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับมาเร็วขึ้น งบประมาณจึงใช้ไปจัดทำกิจกรรมให้มีขึ้น เพื่อการออกข่าวประชาสัมพันธ์อย่างมากมาย
แต่แล้วเหตุการณ์หาได้เป็นเช่นดั่งคาดไม่ กลับเลวร้ายรุนแรงมากยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อสายการบินต่างๆทะยอยพากัน ยกเลิกเที่ยวบินอย่างเงียบๆไปที่ละสายการบิน
จนกระทั่ง ๖ เดือนผ่านไป มีเหลือเพียง ๕ ถึง ๖ สายการบินเท่านั้น ที่ยังคงทำการบินอยู่จากเดิมที่มีมากกว่า ๒๐ สายการบิน ส่วนสายการบินที่เหลือแม้ยังคงทำการบินอยู่ กำลังพิจารณาลดเที่ยวบินลงเพื่อความอยู่รอด
ความวิตกกังวลเริ่มขยายผลอย่างกว้างขวาง ทุกกลุ่มต่างวิเคราะห์ สถานะการณ์ แล้วลงความเห็นกันว่าหากปล่อยให้สถานะการณ์เป็นดั่งเช่นนี้ ไม่ดำเนินการอะไรบางอย่าง คงใช้ระยะเวลา ๒ ถึง ๓ ปีเป็นอย่างน้อย สภาวะการณ์ยากจะกลับคืนสู่สภาวะปกติเช่นเดิมในระยะเวลาอันสั้นได้
ในที่สุดผลกระทบต่างๆที่น่าหวาดหวั่นก็ได้เกิดให้เห็นชัดเจนขึ้น ผลกระทบอันดับแรก คือ การประกอบการทุกชนิดไม่ใช่เพียง ธุรกิจทางการ ท่องเที่ยวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่ร้านอาหาร ร้านค้า ที่ทำมาค้าขาย กับคนท้องถิ่น ต่างพากันเงียบเหงา มีรายได้ลดลง เหลือเพียงร้อยละ ๑๐ ถึง ๑๕ จากที่เคยได้รับในอดีต
ด้วยสภาวะแห่งการอยู่รอด ด้วยสภาวะของการว่างงาน ด้วยสภาวะแห่งการประหยัด ลดการใช้จ่าย เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานะการณ์อันไม่ แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า การเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด มีให้เห็นในหลายรูปแบบ บ้างเลิกจ้างพนักงาน บ้างลดเงินเดือน บ้างตัดค่าใช้จ่าย บ้างเลิกกิจการ บ้างย้ายถิ่นฐาน ไม่เว้นแม้แต่การโยกย้ายสถานที่ประกอบการ
ด้านผลกระทบทางสังคม ได้เกิดขึ้นทั้งในทางกว้างและทางลึก ไม่ว่าการสูญหายตายจากของคนในครอบครัวอันเป็นที่พึ่ง ภาวะไร้งาน ภาระหนี้สินเพิ่มพูน ครอบครัวแยกจากกัน การกระจัดกระจายของคน จากที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ต้องโยกย้ายเปลี่ยนแปลงแยกจาก อย่างฉับพลันเพื่อความอยู่รอด ความทุกข์ได้แผ่ขยายกระจายไปอย่างทั่ว ถึงทุกครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางภาวะการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ดีงามให้ได้พบเห็นอยู่ บ้างมีการบริจาคเงินและสิ่งของมากมายจนเกินที่จะจัดการให้ดีได้ บ้างเข้าช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความจริงใจในรูปแบบ อาสาสมัคร บ้างใช้กำลังกาย และกำลังความคิดเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
เมื่อภาระกิจช่วยเหลือเสร็จสิ้น ต่างแยกย้ายสลายตนกลับไป บุคคลเหล่านี้เมื่อได้พบเห็นแล้วรู้สึกเป็นสุขใจยิ่ง นับว่าเป็นทรัพยากรบุคคลอันสูงค่าของประเทศโดยแท้ แต่ในขณะเดียวกันยังให้มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้พบเห็น จนทำให้รู้สึกหดหู่ด้วยเช่นกัน
นั่นคือการฉวยโอกาสในหลากหลายรูปแบบได้เกิดขึ้น บ้างคือผู้แอบอ้างความเสียหายที่ได้รับจากภัยสึนามิ เพื่อมาขอแบ่งปันและรับประโยชน์ บ้างคือบุคคลที่พร้อมด้วยตำแหน่งและฐานะ กลับคอยฉกฉวยโอกาส สร้างภาพของความช่วยเหลือ หวังเพียงเพื่อผลของการประชาสัมพันธ์ ที่จะสร้างชื่อเสียงอันฉาบฉวยเพื่อประโยชน์แห่งตน บ้างคือบุคคลผู้แฝงกายดำรงตำแหน่งสาธารณะ กลับแสวงหาผลประโยชน์สู่ตน ในขณะที่ผู้คนมีความทุกข์เข็ญอยู่ หนำซ้ำกลับยังคิดว่าตนเป็นผู้ที่ฉลาดสามารถ
บุคคลเหล่านี้กลับมีให้เห็นอยู่ และนับวันจะทวีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้ทั้งนั้น หรือเป็นเพราะเหตุที่ว่า สังคมเราได้ขาดหายบางสิ่งไปเช่น หิริ (ความละอายแก่ใจที่ประพฤติปฏิบัติในการทำชั่ว) และ โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวไม่อยากเข้าใกล้ความชั่ว อยากหนีให้ไกลห่างต่อความชั่ว ในการทำบาป และทุจริต) หรือ อาจไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมในข้อนี้ จึงทำตามอย่างกันมากขึ้น
ในที่สุดการระดมความคิด การระดมสรรพกำลัง และทรัพยากรจึงได้เกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาเริ่มเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ๑ ปีผ่านไปบรรยากาศทางการท่องเที่ยวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ปรากฏให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว ปัญหาต่างๆเริ่มคลี่คลายลง นั่นคือการพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า แนวทางแห่งสัมมาทิฎฐิ ย่อมเป็นหนทางออกจากทุกข์สำหรับทุกสิ่งอย่างแท้จริง
๑ ปีภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ความทุกข์ยาก ความต้องการ ความช่วยเหลือ ผู้มีหน้าที่เริ่มตระหนักถึงภาระรับผิดชอบ การแก้ไขปัญหา เริ่มดำเนินการให้เห็นบ้าง ปัญหาต่างๆเริ่มมีความคลี่คลาย แต่ยังคงมีอยู่อีกเป็นจำนวนมากที่ยังหลุดรอด ตกหล่น ละเว้น ที่ยังไม่ทันแก้ไขให้ลุล่วงให้หมดไป ปัญหาทางการเมืองที่ได้สะสมมาเป็นเวลานาน ได้ประทุขึ้นเนื่องจาก เกิดการแสวงหาประโยชน์ที่ปราศจากจริยธรรมที่ดีงามของผู้มีอำนาจ ส่งผลให้สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง ทัศนคติที่มีอยู่ลึกๆ อยู่ในจิตของแต่ละคนได้ผุดขึ้นมาต่อสู้กันอย่างเปิดเผยและรุนแรงอย่างขาดสติ บังเกิดความวุ่นวายขึ้น มีความสับสนเป็นอย่างยิ่ง ความแตกแยกขยายตัวไปทั่วทุกส่วนเสี้ยวของมุมเมือง สังคมขาดความสงบสุข
นั่นคือ การเมืองอนาถาแบบไทยๆ ที่ขาดซึ่งสัมมาปัญญา และได้สะสมมาอย่างยาวนาน เป็นการเมืองในรูปแบบที่สร้างขึ้นหรือเลียนแบบกันมาโดยขาดซึ่งปัญญา คือเพียงการแบ่งข้างและเอาชนะกัน คือเพียงการให้ร้ายต่อกัน คือเพียงเพื่อชื่อเสียงของตนเองด้วยการทำลายชื่อเสียงคู่แข่งขัน คือเพียงเพื่อปกป้องอุดหนุนจุนเจือกลุ่มของตน คือเพียงเพื่อให้ได้มีศักดิ์สถานะในสังคม คือเพียงเพื่อฉวยโอกาสเข้าถึงผู้มีอำนาจ และข้อมูลเพื่อการหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ แต่หาใช่การเมืองที่มุ่งแสวงหาสิ่งที่ดีสุดเพื่อพัฒนาให้บังเกิดความดีความงามความเจริญให้เกิดขึ้นในสังคม และมีความยั่งยืนไปถึงอนุชนรุ่นต่อๆไป
การเมืองที่นักการเมืองได้แสดงบทบาทไว้อย่างผิดๆ มาอย่างยาวนานและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระยะหลัง ทำให้ประชาชนขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ประชาชนมีความรู้สึกว่า กำลังขาดทิศทางและเป้าหมาย ในการดำรงชีพทั้งต่อตนเองและต่อสังคม ในขณะที่สังคมมีความเสื่อมทรามลงทุกวัน ด้วยปัญหาต่างๆที่ยากจะแก้ไขเพิ่มมากขึ้น ดูเหมือนว่าสังคม จะเปลี่ยนเป็นสังคมที่ขาดความหวัง เป็นสังคมที่ขาดเมตตาธรรม เป็นสังคมที่มีความระแวงต่อกัน เป็นสังคมที่ขาดความไว้วางใจต่อกัน เป็นสังคมที่ขาดการพึ่งพาอาศัยต่อกัน เป็นสังคมที่มีความสับสน จนดูเหมือนจะไม่เข้าใจว่า หลักการของความดีความงามที่ควรยึดถือเป็นอย่างไร สิ่งที่เรียกว่า ความดีคืออะไร?
ในที่สุดความเอื้ออาทรที่มีความหมายที่แท้จริง กำลังสูญสลายหายไป ความเชื่อถือไว้วางใจต่อกันสูญหายไป ธรรมะที่ใช้ยึดถือในการครองตน และปฏิบัติต่อผู้อื่นกำลังเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดรู้จัก จนอาจเกิดเป็นคำถามจากคนรุ่นต่อๆไป ที่อาจจะตะโกนร้องถามหาว่า
คำศัพท์โบราณ ที่เขียนอ่านว่า จริยธรรม นั้นคืออะไร?
มีความหมายอย่างไร? มีใครรู้จักบ้าง? ค้นหาได้ที่ไหน?
ปัญหาทางสังคมต่างๆกำลัง ทับถมทวีคูณ ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้ม ว่าจะฝังรากลึกลงไปจนเป็นสิ่งปรกติในวิถีชีวิต และเยาวชนกำลังซึมซับ รับอิทธิพลจากสิ่งเหล่านี้ไปยึดถือเป็นแนวทางปฎิบัติของตน ไม่สามารถแบ่งแยกความดีความชั่วออกจากกันได้ ความแตกแยกทางสังคม มีความรุนแรงมากขึ้น และส่อเค้าว่าอาจจะเกิดความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดได้ เพราะการได้ประโยชน์ด้วยวิธีกลโกง หรือการได้มาโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ยึดถือว่าเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะว่า
การเมืองไทย คือ กระบวนการหล่อหลอมคนดีให้เป็นคนเลว ? ในที่สุดประชาธิปไตยก็เข้าสู่ตาจนและสดุดหยุดลง แต่เหตุไฉน กลับเป็นที่พอใจของคนส่วนใหญ่?
ท่ามกลางสังคมที่ไร้ความหวัง ในขณะที่การเมืองยังคงมีความขัดแย้ง อย่างไม่เลิกรา ปัญหาสังคมเกิดขึ้นให้พบเห็นมากขึ้นทุกวัน จนดูเหมือนจะแก้ไขหรือหาทางออกไม่ได้ ความสับสนจึงได้ก่อตัวขยายผลออกไป อย่างไม่จบสิ้น เกิดกระแสแห่งความเชื่อในการเคารพบูชาเทพ แพร่หลายขยายออกไปทั่วทุกภาคของประเทศ จนเสมือนหนึ่งจะเข้ามาทดแทน ศาสนาพุทธที่นับถือกันอยู่ และมีความเป็นไปอย่างน่าหวั่นใจเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยสับสนในความเชื่อ ระหว่างการนับถือเทพ กับการนับถือศาสนาพุทธ การนับถือทั้งสองเรื่องกำลังจะไม่แตกต่างกันเท่าใด พิเคราะห์ ดูหยาบๆ อย่างผิวเผิน ดุจดั่งเป็นเรื่องเดียวกัน ด้วยพระสงฆ์ในพุทธศาสนา รับการนิมนต์เข้าร่วมทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคล เสมือนหนึ่งบูชาเทพแทน องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ซึ่งเป็นศาสดาแห่งตน ประชาชนทั่วไปจำนวนมาก ต่างแสวงหามาคล้องประดับคอตน ด้วยสิ่งที่ได้รับฟังจากการเล่าขาน เกิดความเชื่อในรูปแบบต่างๆกัน ต่างจึงต้องมีไว้ติดกับตัว หรือว่าสิ่งเหล่านี้ จะกลายเป็นหลักธรรมในการครองตนและประคับประคองสังคมให้ดำรง คงไว้ สร้างความผาสุก ทำให้สังคมมีความสุขสงบในเบื้องหน้าสืบไป
ปัญหาที่ประเทศไทยเราเผชิญอยู่นี้ ได้สะสมมากทับถมทวีพูนจน ยากจะสะสางแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้ แล้วปัญหาใดเล่าที่สำคัญที่สุด ควรแก่การ แก้ไขสะสางก่อน
นับว่าปัญหาเรื่องของ “คน” เป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้ประเทศชาติไม่สามารถพัฒนาให้สังคมเกิดสันติสุขได้ ด้วยเป็นสังคมที่ขาดการใช้คุณธรรม จริยธรรมเป็นเกณฑ์ในการวัดคุณค่า และระดับของคนที่ควรแก่การเคารพ นับถือ เป็นสังคมที่ขาดภูมิคุ้มกันจากความชั่ว จึงเป็นสังคมที่ขาดบันทัดฐาน ในการอยู่ร่วมกัน เพราะว่าสังคมได้ขาดหายสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของ ความพร้อมในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข คือการพัฒนาคนให้มีจิตใจที่ดี มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีหิริ โอตตัปะ
แต่นับวันทุกภาคีในสังคมได้ละเลยไม่ใส่ใจ ด้วยความนิยมนับถือ ในทรัพย์ ฐานะ ตำแหน่ง อันเป็นเมฆหมอกแห่งควาามเลอะเลือน ที่ทำให้ทุกคนในสังคม มองหาหลักธรรมในการครองตนไม่ได้
หากเป็นเช่นนี้เนิ่นนานไป “จริยธรรม”คงโดนโรคร้าย (กิเลสและ ตัณหา) รุมเร้าจนทรุดโทรม และอาจล้มหายตายสูญจากไปได้ จึงนับจากนี้เป็นต้นไป สมควรเป็นภาระที่นักการเมือง ข้าราชการ องค์กรต่างๆ และทุกภาคีในสังคมที่จะพิจารณาเป็นพันธกิจ และดำเนินการเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะนักการเมืองผู้อาสาที่จะทำงานเพื่อสังคม ข้าราชการผู้ควรเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติตน ผู้นำองค์กรต่างๆ ผู้นำชุมชน ในแต่ละระดับ และวงการต่างๆ ผู้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านควรเป็นผู้ชี้นำทางความคิดปฏิบัติ ให้กับสมาชิกขององค์กรรับรู้และเข้าใจ บุคคลเหล่านี้ต้องรับภาระดังกล่าว ที่จะนำเสนอตนเองให้เห็นเป็นแบบอย่างของความดีงาม
แต่หากบุคคลดังกล่าว กลับพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าว หาใช่สาระที่น่าสนใจไม่ ยังลุ่มหลง (โมหะ) ต่อวิธีการที่ทำให้ได้รับความชื่นชอบอย่างฉาบฉวย ด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือเพียงเพื่อให้มีตำแหน่ง เพื่อได้แสดงศักดิ์ ฐานะ ในการไปปรากฏตัวให้ทั่วในทุกแห่งหน ด้วยมีความรวบรัดกว่า สร้างความน่าเชื่อถือได้รวดเร็วกว่า แม้ว่าจะมีเนื้อหาสาระหรือไม่ก็ตาม หรือแม้กระทั่งบางครั้ง ถึงกับขาดซึ่งจริยธรรมให้เห็น ด้วยการใช้ตำแหน่งที่ครองอยู่ฉกฉวยโอกาส แสงหาผลประโยชน์เพื่อสร้างฐานะที่มั่งคั่ง และ คาดคิดไปว่าจะได้รับการนับถือว่าเป็นผู้สามารถ
หากเป็นเช่นนี้ ท่านอาจลืมเลือนหน้าที่และพันธกิจที่แท้จริง นั่นคือ การปฏิบัติหน้าที่ในการคิดค้นแสวงหา และดำเนินการพัฒนาสร้าง สรรสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในสังคม ตามเจตนารมณ์ในการเข้าไปเป็นผู้แทนของปวงชน หรือเป็นผู้นำในชุมชนและองค์กรตามรูปแบบประชาธิปไตย ที่เข้าใจกัน และพบเห็นกันอยู่ในโลกใบนี้
แต่ในประเทศไทย ดูเสมือนสิ่งที่สะท้อนให้ได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นเพียงรูปแบบที่ยึดถือและตามอย่างกันในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าหน่วยงานใด องค์กรใด หรือ บุคคลใด คือ การสร้างภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์อย่างฉาบฉวย คือการแสวงหาและฉกฉวยโอกาส และประโยชน์ คือการแก้เกมทางการเมืองหวังแพ้ชนะกันเป็นที่ตั้ง คือความริษยามุ่งร้ายทำลายกัน คือการใส่ร้ายให้ผู้อื่นเลวร้าย ดุจดั่งว่าตนเองนั้นเป็นผู้ดีงาม คือการขาดความรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง คือเพื่อให้ได้รับคะแนนเสียงหรือให้ได้รับความนิยมชมชอบ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองไทยที่ว่า การให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง คือเนื้อหาของความเป็นประชาธิปไตย หากประชาธิปไตยของไทยยังมีเนื้อหามีรูปแบบ เพียงเท่านี้ และยังคงนำเสนอผ่านนักการเมืองที่ไร้อุดมการณ์เหล่านี้ สถานะการณ์เช่น ในรอบ ๗๕ ปีที่ผ่านมาคงวนเวียนกลับไปกลับมาให้เราได้ เห็นอยู่ตลอดไปเฉกเช่น ภาพยนตร์ หรือละคร เพียงเปลี่ยนแปลงผู้แสดง เท่านั้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นนั้น เราท่านคงได้เห็นวงจรแห่งความเสื่อม เป็นปัญหาที่ไม่ใช่หน้าที่ของใครมาแก้ไข แต่เราท่านนั้นเองคงต้องเป็นผู้แก้ไขเอง มิฉะนั้นคงไม่สามารถหลุดพ้นวงจรนี้ไปได้ และหากยังรักษาวัฒนธรรมเดิมๆว่า ปัญหาที่พบเห็นเป็นภาระของคนอื่น ตนเป็นผู้มีหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น และยิ่งหารู้ไม่ว่าการวิจารณ์ที่เกินความเป็นจริงหรือ บิดเบือนจะกลับกลายให้มีความเสื่อมมากยิ่งขึ้น เพราะหาได์ค้นหาว่าปัญหาเหล่านี้มาจากไหน (สมุหทัย)
ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าทั้งหมดนี้มาจากปัญหาเรื่อง “คน” หรือ "ตัวกู" นั่นเอง เนื่องจาก “คน” กับ “ศาสนา” กำลังห่างกันออกไปทุกขณะ อาจจะเป็นด้วยรูปแบบพิธีกรรมต่างๆทำให้ดูเหมือนว่า ศาสนาเป็นเรื่องของคนอีกสังคมหนึ่งที่ล้าหลัง หรือเป็นเรื่องของคนอีกภพหนึ่ง และอาจด้วยเหตุแห่งความเป็นนามธรรมของศาสนา ในขณะที่สังคมมีความเจริญทางรูปธรรม ให้เห็นชัดมากกว่าเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่มองเห็นได้ชัด ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะเรื่องของศาสนา เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจความเป็นมาเป็นไปตามธรรมชาติของจิต เพื่อนำไปปฏิบัติพัฒนาจิตใจ ประคับประคองจิต ไม่ให้หลงผิด ไปในมรรคาแห่งมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็น หรือทำความเข้าใจได้ยาก หรือหาได้มีผลตอบสนองให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน
แต่ความจริงแล้วทั้ง ๒ เรื่อง เป็นเรื่องเดียวกัน โดยไม่สามารถแยกจากกันได้เลย ด้วยสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมให้เราเห็นนั้น เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่พัฒนาขึ้นมาจากจิตใจของแต่ละ “คน” จึงอาจกล่าว ได้ว่า “จิตคนเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน - สังคมเปลี่ยน จิตคนเปลี่ยน”
จาก
http://www.khuncharn.com/index.phpอีกฉบับ ของ ท่าน อาจารย์ เขมานันทะ
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=maekai&month=10-07-2008&group=15&gblog=1สำรอง
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11568.0.html