หลวงปู่หลอด ปโมทิโตวัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนา)ลาดพร้าว บางกะปิ กรุงเทพฯ
ปโมทิตเถรบูชา หลวงปู่เล่าให้ฟัง โดย พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา (หลวงปู่หลอด ปโมทิโต) ถ้อยแถลง จากปกหนังสือ ปโมทิตเถรบูชา หลวงปู่เล่าให้ฟัง...การพิมพ์แจกเป็นธรรมทาน สามารถพิมพ์ได้ตามความประสงค์
โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของประวัติหรือทางวัดแต่อย่างใด
หากพิมพ์เพื่อจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดๆ ขอสงวนสิทธิ์
เนื้อความของหนังสือเล่มนี้ทุกตอน
------------- * -------------
คำปรารภของหลวงปู่ ประวัติของอาตมา ได้เคยพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง ในครั้งนี้คณะศิษยานุศิษย์ได้มาขอพิมพ์อีกครั้ง เพื่อรวบรวมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมได้อ่าน จะได้รู้จักครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานโดยเฉพาะครูบาอาจารย์ผู้มีอุปการคุณ อาตมาภูมิใจที่ได้บรรยายไว้ทุกขั้นตอน ส่วนเรื่องป่า สัตว์ป่า ภูเขาลำเนาไพรที่เล่าไว้นั้น ต่อไปอาจไม่มีให้เห็น ซึ่งอาตมามีความประทับใจอยู่มาก จึงเน้นเขียนชีวประวัติในช่วงที่ออกธุดงค์ตั้งแต่พรรษาแรกที่บวชและชีวิตที่ระหกระเหินในป่า บางครั้งแทบจะเอาชีวิตไม่รอด จนสุดท้ายต้องมาเป็นเจ้าอาวาสในเมืองกรุง
แถมท้ายด้วย โคลงโลกนิติกาพย์ภาษาลาวของเจ้าคุณอุบาลีฯ และคู่มือปฏิบัติธรรมที่อาตมาได้พิมพ์เผยแพร่ ปี ๒๔๙๒ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
ท้ายสุดท้าย อาตมาขออนุโมทนากับลูกศิษย์ ที่ช่วยกันเรียบเรียงหนังสือ และญาติโยมที่ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ทุกๆ ท่านเทอญปโมทิโต
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
หลวงปู่เล่าให้ฟัง• ชาติกำเนิดพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านถือกำเนิด ณ บ้านขาม ตำบลหัวนา อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันเป็น ตำบลบ้านขาม อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู) ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ ของคุณพ่อบัวลา ชุริมน และคุณแม่แหล้ (แร่) ชุริมน มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน ๓ คน คือ
๑.นายเกิ่ง ขุริมน (ถึงแก่กรรม)
๒.นางประสงค์ ขุริมน (ถึงแก่กรรม)
๓.พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา (หลวงปู่หลอด ปโมทิโต)
พระเดชพระคุณหลวงปู่เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ สัปตศก จ.ศ.๑๒๗๗ ตรงกับวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๘ ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง หลวงปู่เคยเล่าว่าช่วงชีวิตในวัยเด็กของท่าน มันก็มิได้ต่างอะไรกับลูกชาวนาทั่วไป ช่วยครอบครัวทำงานไปตามกำลัง เลี้ยงวัว เลี้ยงควายไปตามความสามารถของวัยเด็กที่ควรจะทำได้ เฉกเช่นกับเด็กคนอื่นๆ ที่เติบโตมากับท้องไร่ ท้องนา มีความสุขบ้าง ลำบากบ้างตามเหตุปัจจัย
เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่มีอายุครบเกณฑ์ที่จะเข้าศึกษาเล่าเรียนในชั้นประถมศึกษา คุณพ่อบัวลาจึงได้พาไปฝากเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดบ้านหิน ตำบลหัวนา อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งท่านได้จบการศึกษาตามหลักสูตรในสมัยนั้น คือชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ พออ่านออกเขียนได้ ขณะนั้นหลวงปู่ท่านมีอายุได้ ๑๖ ปี ก็เรียกได้ว่ากำลังหนุ่มแน่นมีกำลังแรงงานดี จึงเป็นแรงสำคัญของทางบ้านในการทำเรือกสวน ไร่นา แต่ก็เป็นอันต้องมีเหตุให้เกิดความเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก เมื่อคุณแม่แหล้ผู้เป็นมารดาล้มป่วยอย่างหนัก และถึงแก่กรรมในที่สุด แต่ทุกคนก็ต้องทนกับชะตาชีวิตที่เกิดขึ้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านตั้งใจว่าจะบรรพชาเพื่ออุทิศกุศลให้แก่มารดา เมื่อถึงเวลาอันสมควร
ไม่นานเวลานั้นก็มาถึง ขณะที่หลวงปู่เจริญอายุได้ ๑๘ ปี จึงได้มีโอกาสเข้าบรรพชาเป็นสามเณรสมดังใจตั้งมั่น ที่วัดศรีบุญเรือง ตำบลหัวนา อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระอธิการคูณ เจ้าอาวาสเป็นอุปัชฌาย์ หลวงปู่ท่านเล่าว่า "อาตมาได้บวชเณรอยู่ได้ไม่นานเท่าไหร่ บิดาก็มาเสียชีวิตไป" เมื่อคุณพ่อบัวลามาด่วนจากไปเสียอีกคน หลวงปู่ท่านจึงต้องลาสิกขาออกมาเพื่อช่วยพี่ๆ ทำเรือกสวนไร่นาต่อไป
เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านได้ลาสิกขาจากสามเณรมาแล้ว ท่านได้ใช้เวลาต่างๆ นั่งขบคิดเปรียบเทียบชีวิตของทั้งสองเพศ คือเพศบรรพชิตและเพศฆราวาส ท่านพบว่าการออกมาใช้ชีวิตในเพศฆราวาสนั้น มันมีแต่กองทุกข์ หลวงปู่ท่านบอกว่าความคิดของท่านที่คิดอยู่ตลอดเวลาในขณะนั้นคือ "ชีวิตเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ จำเจอย่างมาก และมองไม่เห็นความก้าวหน้าความเจริญในชีวิตเลย ถ้าหากใช้ชีวิตฆราวาสก็คงเป็นแบบชาวไร่ชาวนาทั่วไป คงลำบากลำเค็ญ อย่างไม่มีอะไรดีขึ้น ในชีวิตนี้คงต้องเอาดีให้ได้ เมื่อเอาดีทางเพศฆราวาสไม่ได้ ก็ต้องเอาดีทางบรรพชิตให้ได้ เพราะได้มาคิดดูแล้วว่า ชีวิตในทางธรรม คงจะสงบน่าอยู่กว่าทางโลก เนื่องจากได้เคยสัมผัสมาแล้วครั้งหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นเพียงระยะสั้นๆ ยังไม่ทันได้รู้อะไร ก็จำต้องสึกออกมาช่วยงานทางบ้าน เพราะบิดาก็มาเสียชีวิตตามมารดาไปอีกคน แต่นั่นก็พอจะยืนยันได้ว่า ทางนี้เป็นทางที่เหมาะกับตน"• สู่ร่มกาสาวพัสตร์เมื่อความคิดอยากจะบวชอีกครั้งยังมีอยู่ และไม่เคยลบเลือนไปจากจิตใจ พอทุกสิ่งทุกอย่างทางบ้านเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว สองปีต่อมาหลวงปู่จึงได้หาโอกาสที่จะปล่อยวางการงานและภาระทางบ้าน เพื่อมาบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา หลวงปู่เล่าว่าภายในใจนั้นคิดอยู่ตลอดเวลาว่า "ไม่เอาอีกแล้วชีวิตฆราวาสน่าเบื่อหน่ายสิ้นดี อยู่ต่อไปก็ไม่มีอนาคตที่ดีงามที่เจริญเป็นแน่ และความสุขสงบที่เคยปรารถนาจะไม่เกิดมีขึ้นได้"
พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้ก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ สังกัดมหานิกาย ณ พัทธสีมา วัดธาตุหันเทาว์ ตำบลบ้านขาม บ้านเกิดของหลวงปู่นั่นเอง เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๙ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ โดยมีพระอาจารย์ชาลี วัดโพธิ์ชัยสะอาด บ้านจิก อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์ขานเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และได้มาพำนักที่วัดธาตุหันเทาว์
วัดธาตุหันเทาว์ในขณะนั้นมีพระอาจารย์มหาตัน สุตฺตโน เป็นเจ้าอาวาส หลวงปู่ได้เคยพูดถึงชีวิตในการบวชของพระภิกษุในชีวิตการบวชของพระภิกษุให้กับลูกศิษย์ฟังว่า "ผู้ที่บวชย่อมรู้สึกด้วยตนเองว่าสุขทุกข์อย่างไร คนที่ยังไม่ได้บวชนั้นยากที่จะเข้าใจได้ว่า การบวชคืออะไร ถึงแม้บางคนจะอธิบายการบวชได้อย่างละเอียดก็ตาม หรือแม้ว่าเขามีความรู้ดีเท่าผู้บวชก็ตาม เช่นเดียวกับคนหนึ่งติดคุก และอีกคนหนึ่งนั้นไม่เคยติดคุกตะรางเลยแล้ว ทั้งสองคนนี้ใครจะรู้เรื่องความทุกข์ยากได้ดีกว่ากัน คนที่ยังไม่เคยติดคุกตะราง แล้วมาอธิบายเรื่องทุกข์ เรื่องความยาก ความลำบากในคุกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อาตมาไม่เชื่อเลย คนที่เคยใช้ชีวิตบวชเป็นพระมาแล้วย่อมเข้าใจและรู้ดีมากกว่าคนที่ไม่เคยบวชทีเดียว ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างถ้าอยากรู้อย่างชัดเจนต้องประสบมาด้วยตนเองจริงๆ"
เมื่อหลวงปู่ได้อุปสมบทแล้วประมาณ ๓ เดือน พอขึ้นเดือนมิถุนายนท่านก็ได้มีโอกาสพบกับพระอาจารย์มณฑา ซึ่งท่านเดินทางมาจากวัดบ้านโกทา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์มณฑามีพรรษายุกาลได้ ๓ พรรษาและเดินทางมาพักอยู่ที่วัดธาตุหันเทาว์ได้ประมาณ ๑ เดือน
ขณะที่ท่านพักอยู่ที่วัดธาตุหันเทาว์นั่นเอง หลวงปู่จึงได้มีโอกาสพบปะสนทนากับท่าน โดยได้สนทนากันถึงหลายเรื่องหลายราว และมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ท่านนำมาสนทนากันนั้นคือ เรื่องการเรียน โดยท่านพระอาจารย์มณฑาบอกว่า "การบวชกับการเรียนเป็นของคู่กัน ถ้าบวชแล้วไม่เรียนก็เป็นการบวชที่ไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นเหตุให้ตนหูตาแคบ ล้าสมัยไม่ทันการณ์ ยิ่งโลกต่อไปนี้นับวันการศึกษาจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป มีความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงเสมอ ดังนั้นเราจึงควรไปแสวงหาสถานที่ศึกษาเล่าเรียน ณ ถิ่นที่มีการศึกษาเจริญแล้ว เช่นที่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดอุบลฯ ขอนแก่น หรือแม้แต่ในตัวเมืองอุดรฯ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในชีวิต ที่จะได้รับฟังการอบรมจากผู้รู้ หรือแม้กระทั่งได้มีโอกาสสนทนากับนักปราชญ์ราชบัณฑิตอีกด้วย ซึ่งเป็นมงคลอย่างหนึ่งของชีวิตตามแนวแห่งมงคล ๓๘ ประการ คือเป็นหนทางที่จะทำให้ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้าหรือมีความสุขความเจริญอีกด้วย"
หลวงปู่เล่าว่า "เมื่อฟังอาจารย์มณฑายกเหตุผลมากล่าวเช่นนั้น อาตมาก็เห็นดีตามเหตุผลของท่าน จึงตกลงกันว่า จะพากันไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ในตัวจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีพระเดชพระคุณ พระธรรมเจดีย์ (จูม พันฺธุโล) เป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลอยู่ นับว่าเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาคอีสานในขณะนั้นก็ว่าได้"
หลังจากที่หลวงปู่กับพระอาจารย์มณฑา ได้ตกลงคุยกันเป็นที่เรียบร้อย จึงได้พากันเข้ากราบเรียนปรึกษาพระอาจารย์มหาตัน ซึ่งท่านก็อนุญาตและขออนุโมทนาด้วย ในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๙ นั่นเอง หลวงปู่เล่าว่าในวันที่จะเดินทางไปวัดโพธิสมภรณ์ ดูเหมือนจะเป็นช่วงประมาณบ่าย ๓ โมง หลวงปู่กับพระอาจารย์มณฑาจึงได้เดินทางออกจากวัดธาตุหันเทาว์ ซึ่งการเดินทางในครั้งนั้นจะไปในลักษณะธุดงค์ไปในตัว• กรรมฐานประวัติศาสตร์ หลวงปู่ท่านได้เคยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปวัดโพธิสมภรณ์ให้กับบรรดาลูกศิษย์ฟังหลายต่อหลายครั้งว่า
โดยปกติทั่วๆ ไป พระกรรมฐานที่ออกธุดงค์ ท่านจะมีถุงย่ามใบใหญ่สำหรับใส่บริขาร แล้วท่านก็จะสะพายถุงนั้น แต่ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ท่านต้องกลายเป็นกรรมฐานประวัติศาสตร์ คือไม่มีพระกรรมฐานองค์ไหนที่จะทำเหมือนท่านอีกแล้ว ด้วยความจำเป็น สาเหตุก็คือในการออกเดินทางไปวัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานีครั้งนี้ พระอาจารย์มณฑาได้สั่งให้ท่านไปหาไม้รวก หรือไม้ไผ่ยาว ๔-๕ ศอก มาใช้แทนไม้คานหามถุงอัฐบริขาร หลวงปู่เล่าว่า "อาตมาถึงกับตกตะลึง เมื่อได้ยินพระอาจารย์มณฑาสั่งอย่างนั้น อาตมาพยายามคัดค้านยกเหตุผลมาชี้แจง เพื่อให้เห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสม แต่ท่านก็ไม่ยอมท่าเดียว ด้วยความเกรงใจและขมขื่นใจยิ่งนัก อาตมาจึงต้องยอมปฏิบัติตามท่านสั่ง ในตอนนั้นอาตมาคิดนะว่าทำไมหนอ อาจารย์มณฑาท่านก็เรียนจบตั้งนักธรรมเอก แต่กลับสั่งให้อาตมาต้องทำในสิ่งที่ผิดสมณสารูป มันไม่ถูกไม่ควรเลยจริงๆ แต่ก็ต้องทำด้วยความขมขื่นใจ ต้องก้มหน้าก้มตาหามบริขารไปด้วยความละอายเป็นยิ่งนัก ซึ่งการเดินทางนั้น อาตมามีพรรษาน้อยกว่าอาจารย์มณฑา อาตมาจึงเดินหามบริขารตามหลังท่าน"
เมื่อผ่านหมู่บ้านใด หลวงปู่เล่าว่า "ก็จะมีแต่ชาวบ้านแตกตื่นพากันมามุงดู บ้างก็หัวเราะด้วยความขบขัน บางคนก็พูดขึ้นว่า...นั่นครูบาหามอีหยัง มาขายขะหน่อย บ้าง ...ครูบาหามอีหยังมาหนอ สิไปไส บ้าง ถึงแม้จะเป็นคำพูดที่ดูซื่อๆ เขาคงไม่มีเจตจาจะเยาะเย้ยถากถางก็จริง แต่คำพูดนั้นมันเสียดแทงความรู้สึกที่ขมขื่นของอาตมาจริงๆ พออาตมาคิดถึงหรือได้พูดถึงเรื่องนี้ทีไร ก็อดที่จะขำไม่ได้ คงมีแต่อาตมารูปเดียวที่หามบริขาร เพราะตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้อาตมาก็ยังไม่เคยได้ยินว่ามีพระรูปไหนหามบริขารและคิดว่าอนาคตก็คงจะไม่มีเช่นกัน นึกแล้วก็อดสังเวชไม่ได้ ดูแล้วก็เหมือนพวกพ่อค้าขายของอย่างที่ชาวบ้านเขาเข้าใจกันจริงๆ"
หลวงปู่ท่านเล่าว่า ท่านก็ยังโชคที่ที่เจ้าคุณเจ้าคณะอำเภอหนองบัวลำภูได้ช่วยไว้ ไม่งั้นคงต้องหามบริขารไปจนถึงอุดรฯ เป็นแน่
คือมีอยู่ว่าตอนที่หามบริขารไปเพื่อเข้าตัวอำเภอ (ตัวเมือง) หนองบัวลำภู หลวงปู่ท่านได้ขอร้องท่านอาจารย์มณฑาว่าจะเข้าเมืองแล้วขอให้ต่างคนต่างถือถุงบริขารของตนเถอะ แต่พระอาจารย์มณฑาท่านไม่ยอม หลวงปู่เล่าว่า "นี่แหละเหตุมันจะเกิดตอนนี้แหละ เหตุแห่งความดื้อรั้นของพระอาจารย์มณฑา คือเราตกลงกันว่าจะแวะพักค้างแรมที่วัดมหาชัย ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะอำเภอฝ่ายธรรมยุต สมัยนั้นท่านเจ้าคุณพิศาลฯ เป็นเจ้าอาวาส นี่เจอดีตอนนี้แหละเมื่อเดินเข้าไปในเขตวัดมหาชัยเท่านั้นแหละ ท่านเจ้าคุณพิศาลฯ คงจะเห็นอาตมาหามบริขารพะรุงพะรังมาแต่ไกล ท่านเลยเรียกอาตมาและพระอาจารย์มณฑาไปอบรมเป็นการใหญ่เลยว่า
"ทำอะไร...ไม่ดูบ้านดูเมืองบ้าง มีที่ไหนพระกรรมฐานหามบริขารเห็นแล้วมันน่าทุเรศจริงๆ"
หลวงปู่ท่านเล่าถึงเรื่องนี้ต่อไปอีกว่า ท่านรู้สึกเจ็บใจพระอาจารย์มณฑาจริงๆ ที่เป็นเหตุให้ต้องถูกด่าด้วย และท่านต้องเป็นแพะรับบาปทั้งๆ ที่ทัดทานพระอาจารย์มณฑาหลายครั้ง แต่ขณะเดียวกันก็นึกดีใจว่า ดีแล้วสมใจแล้วที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้ช่วยด่าพระอาจารย์มณฑาแทนท่าน จากนั้นก็ได้ขอความอนุเคราะห์ค้างแรมที่วัดมหาชัยหนึ่งคืน รุ่งเช้าก็ออกเดินทางต่อไป คราวนี้พระอาจารย์มณฑาไม่ได้ให้ช่วยหามบริขารอีกแล้ว คงรู้สึกตัวและขยาดที่จะถูกด่าเข้าอีก "คงต้องขอบพระคุณท่านเจ้าคุณพิศาลฯ จริงๆ ที่ทำให้ท่านไม่ต้องขมขื่นใจอีก" หลวงปู่เล่าปิดท้ายเรื่องนี้• หนทางของพระอริยเจ้า พระอาจารย์ผู้ให้กรรมฐานองค์แรกการเดินทางในสมัยนั้นหนทางยังไม่สะดวก จำต้องใช้การเดินทางด้วยเท้าเป็นส่วนใหญ่ ออกเดินทางจากวัดมหาชัยตั้งแต่เช้าผ่านไปหลายหมู่บ้านจนกระทั่งเย็น ก็มาถึงบ้านหนองบัวบาน เขตอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ท่านทั้ง ๒ จึงตัดสินใจเข้าพักที่วัดป่านิโครธาราม ซึ่งวัดนี้หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นเจ้าอาวาสดูแลอยู่ในขณะนั้น
หลวงปู่และพระอาจารย์มณฑาจึงได้ตรงเข้าไปกราบนมัสการ และขออนุญาตเข้าพักต่อท่านหลวงปู่อ่อน ซึ่งท่านก็ได้เมตตาไต่ถามถึงวัตถุประสงค์ที่มาและที่ไป พอทราบเรื่องดีแล้ว ท่านก็ยังเมตตาเทศนาอบรมและสอนการเจริญภาวนาเบื้องต้นแก่หลวงปู่และพระอาจารย์มณฑา
หลวงปู่เล่าว่า "อาตมายังจำคำสอนของพระอาจารย์อ่อนได้ดี ท่านสอนว่า ขอให้หมั่นพิจารณาดูกายของเรานี้เป็นหลักสำคัญ ร่างกายของเราคือ ขันธ์ ๕ นี้ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกอย่างนี้มีอยู่ในร่างกายเราทั้งหมด โดยให้พิจารณาแยกแยะออกเป็นส่วนๆ เป็นเรื่องๆ ไป
รูปได้แก่สิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อ คือปรากฏให้เห็นรับรู้ได้ที่ตา ถ้าเราตาบอดก็จะมองไม่เห็นรูป แต่ถึงแม้เราจะมองเห็นหรือไม่ รูปมันก็คงอยู่อย่างนั้น
เราในฐานะที่เป็นศิษย์ของพระตถาคต และเป็นนักปฏิบัติธรรม จำเป็นต้องรู้จักรูปในขันธ์ ๕ ให้ละเอียดพอสมควร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง
รูปนี้แหละคือนิมิตหมายที่พวกเราต้องนำเอามาแยกแยะให้ละเอียดว่ามันเป็นอย่างไร เมื่อปรากฏขึ้นมาแล้ว รูปนั้นคงอยู่เป็นรูปตลอดได้ไหม?...
สิ่งที่มีวิญญาณ เมื่อปรากฏขึ้นมาแล้ว เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไหม?... คงทนอยู่ไหม?... แล้วทำไมเราจึงไปติดอยู่ในรูปที่ไม่มั่นคงนั้น
เราเป็นคนโง่หรือเปล่า รูปมันจะสวยหรือขี้เหร่ อัปลักษณ์อย่างไรมันก็ไม่สามารถอยู่กับเราได้ตลอดไป ดังนั้นเราไปติดข้องอยู่ทำไม มันไม่ได้ให้อะไรกับเราเลย ถ้าเรามัวไปติดยึดอยู่ในรูป มันก็หยิบยื่นแต่ภพแต่ชาติให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่นั่นเอง
ส่วนเวทนาซึ่งเป็นข้าศึกของเรามันก็ไม่มีอะไรแน่นอน ประเดี๋ยวมันก็เรียกว่าสุขเวทนา มันเป็นมันเกิดขึ้นภายในจิตโดยลำพัง ประเดี๋ยวก็ทุกข์เรียกว่าทุกขเวทนา มันเกิดขึ้นมาเองบ้าง บางครั้งเราก็เรียกร้องหามันบ้าง ฉะนั้น เราจึงต้องพิจารณาดูเวทนา คือการเสวยอารมณ์ในขณะนั้นๆ ให้ละเอียด
เมื่ออารมณ์สุขเกิดขึ้น ก็อย่าไปดีใจกับมัน ถ้าเกิดอารมณ์ที่เป็นทุกข์ก็อย่าไปทุกข์กับมัน จงทำใจให้เป็นกลางๆ จนจิตเราเกิดเป็นอุเบกขาเวทนาคือวางเฉยอารมณ์ที่สุขและทุกข์
เรื่องของสัญญา คือ การจำได้หมายรู้ ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว คือ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่จำหมายเอาไว้ แต่ทุกข์มิได้เกิดขึ้นทุกเวลา สัญญาเป็นธรรมชาติ ทำหน้าที่จดจำทุกข์หรือว่าสุขเอาไว้ต่างหาก
ส่วนสังขารนั้น คือความปรุงแต่งทางจิตของผู้คิดผู้นึก เป็นความคิดดีบ้างไม่ดีบ้าง พอจดจำขึ้นมาแล้ว จิตก็คิดปรุงแต่งไปต่างๆ นานา หาทางระงับดับได้ยาก
สำหรับข้อสุดท้าย คือ วิญญาณก็เป็นธรรมชาติสำหรับรับรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบ เป็นส่วนที่รู้แจ้งในอารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะทั้ง ๖ มีการเห็น การได้ยินเป็นต้น เรียกว่า วิญญาณ ๖
คนเราส่วนมากถูกตัวสัญญาเป็นเครื่องปิดบังใจ ทำให้หลงใหลไปตามกระแสโลก ฉะนั้นเราจึงต้องฝึกฝนปัญญา เพื่อให้รู้ทันมายาของขันธ์ทั้ง ๕ เท่านั้น การที่เราไม่รู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าเราไม่ได้กำหนดในสิ่งทั้ง ๕ นี้ จึงไม่รู้ว่าการเกิดดับของคนเรานั้นมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา ละเอียดมากนะ ยากที่จะกำหนดจิตให้ตามรับรู้ถึงความเป็นไปได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นของละเอียดมาก
เพราะการที่เราจะสู้รบขบเคี่ยวกับกิเลสให้ชนะได้นั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและทำได้ยาก แต่ก็จะเป็นต้องทำ เพราะถ้าเรามัวแต่ปล่อยให้กิเลสมันย่ำยีตัวเราอยู่ ก็เท่ากับเรายอมแพ้มัน และก็เท่ากับเราไม่ได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเราเองเลย ไม่รู้จักกิเลสก็ย่อมถูกครอบงำและหลงอยู่ในวังวนแห่งวัฏสงสารนี้ตลอดไปอย่างไม่สิ้นสุด
หลวงปู่ได้กล่าวว่า "สำหรับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ นี้ อาตมาถือว่าท่านเป็นอาจารย์ผู้ให้กรรมฐานรูปแรกของอาตมาเลย ในครั้งนั้นอาตมาน้อมรับคำเทศนาของท่านด้วยความซาบซึ้งและปีติใจเป็นอย่างมาก ยังคงอยู่ในห้วงลึกของจิตใจอาตมาจนเท่าทุกวันนี้"
รุ่งเช้าหลวงปู่และพระอาจารย์มณฑา จึงได้กราบลาท่านหลวงปู่อ่อนเพื่อออกเดินทางต่อไป มุ่งหน้าไปยังอำเภอเมืองอุดรธานี• พรรษาที่ ๑-๓ (พ.ศ.๒๔๗๙-๒๔๘๒)
ครั้งแรกเมื่อก้าวสู่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี หลวงปู่และพระอาจารย์มณฑาได้เดินทางมาถึงวัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี ในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.๒๔๗๙ นั่นเอง โดยไปพักอยู่กุฏิหลวงพ่อตุ๊ ซึ่งท่านเป็นญาติกับขุนวิสัยอุดรกิจ อดีตนายอำเภอหนองบัวลำภู และมีความคุ้นเคยกับหลวงปู่มาก่อน เมื่อได้ที่พักเรียบร้อยแล้ว พระภิกษุทั้งสองรูปจึงได้พากันเข้ากราบท่านเจ้าคุณ พระเทพกวี (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และแจ้งความจำนงว่ามากราบขอความเมตตาเพื่อขอพักอาศัยอยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมที่สำนักวัดโพธิสมภรณ์ ท่านเจ้าคุณท่านก็สอบถามภูมิลำเนาและประวัติพร้อมทั้งตรวจดูหนังสือสุทธิ เมื่อเห็นว่าทุกอย่างเรียบร้อย ท่านก็เมตตารับพระภิกษุทั้งสองไว้เป็นพระลูกวัดตั้งแต่บัดนั้น เมื่อหลวงปู่พำนักอยู่ที่วัดโพธิฯ เป็นที่เรียบร้อย ท่านจึงได้เข้าสมัครเรียนนักธรรมและพระบาลีตามประกาศของสำนักเรียนวัดโพธิฯ ส่วนพระอาจารย์มณฑา ท่านลงทะเบียนเรียนบาลีอย่างเดียว เนื่องจากท่านจบนักธรรมเอกมาแล้ว เมื่อเปิดเรียนไม่นาน หลวงปู่ก็ลาออกจากการเรียนพระบาลี เหลือแต่นักธรรมอย่างเดียว หลวงปู่ท่านได้เล่าว่า “อาตมาความจำไม่ค่อยดี เพราะการเรียนพระบาลีนั้นยาก และต้องใช้ความจำเป็นอย่างมาก อาตมาเลยตัดสินใจหยุดเรียนพระบาลีในครั้งนั้น เพื่อมุ่งศึกษานักธรรมให้ได้เป็นอย่างดี”
อยู่ที่วัดโพธิฯ ไม่นาน หลวงปู่ก็คุ้นเคยกับพระเณรภายในวัดจนเป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้นมันก็มิได้อำนวยความสะดวกต่อการทำสังฆกรรม เช่น การลงประชุมฟังพระปาฏิโมกข์ หลวงปู่ก็มิได้ลงร่วมฟังสังฆกรรมดังกล่าว เพราะท่านต่างนิกายกันกับภิกษุอื่นในวัด
เมื่อเป็นเช่นนั้นหลวงปู่ท่านก็รู้สึกไม่ค่อยสะดวกและสบายใจเท่าไรนัก จึงได้ตัดสินใจที่จะขอญัตติเป็นพระธรรมยุติกนิกาย และได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพระปลัดทองมา ซึ่งท่านเป็นพระที่กว้างขวางรู้จักคนมาก ทั้งยังชอบสงเคราะห์เพื่อนภิกษุด้วยกันเป็นอย่างดี โดยหลวงปู่ได้ขอให้ท่านช่วยดำเนินการให้ รวมทั้งติดต่อหาเจ้าภาพบวชให้ท่าน พระปลัดทองมาก็ยินดีดำเนินการให้ทุกเรื่อง
ในที่สุด หลวงปู่ก็ได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตสมดังเจตนา โดยได้ติดตามท่านเจ้าคุณจูมไปทำการญัตติที่วัดทุ่งสว่าง เมืองหนองคาย เนื่องจากท่านเจ้าคุณพระเทพกวี (จูม) ท่านขึ้นไปตรวจราชการคณะสงฆ์ที่จังหวัดหนองคาย และประจวบกับมีงานพระราชทานเพลิงศพ อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานีในเวลานั้นด้วย
หลวงปู่ได้ทำการญัตติเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๙ โดยมีท่านเจ้าคุณพระเทพกวี (จูม พนฺธุโล) ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูศาสนูปกรณ์ วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระครูประสาทคณานุกิจ วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปโมทิโต” หมายถึงผู้มีความบันเทิง ผู้ปลื้มใจ ผู้มีใจอันเบิกบาน ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่มีอายุ ๒๑ ปี
หลังจากทำการญัตติเป็นที่เรียบร้อย หลวงปู่จึงได้กลับมาพำนักอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ตามเดิม และยังได้มีโอกาสรับฟังการอบรมธรรมะจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์รูปสำคัญๆ ในวงพระกรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่นหลายต่อหลายรูปดังที่หลวงปู่ได้เคยเขียนเล่าไว้ในหนังสืออัตตโนประวัติว่า “การอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ในยุคโน้น นับว่าเป็นโชคดีแก่ชีวิตหลายอย่าง เพราะนอกจากจะเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังมีพระเถระผู้ใหญ่ผู้มีบทบาทและมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการปกครองด้านการเผยแผ่ ตลอดทั้งด้านสมถะและวิปัสสนา มาพำนักอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์อยู่เรื่อย เพื่อมากราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระเทพกวีบ้าง เพื่อตรวจราชการคณะสงฆ์บ้าง
“อาตมาได้พบได้เห็น และได้ฟังการอบรมจากพระเถระเหล่านั้นมากต่อมากท่าน และหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งอาตมาก็รู้สึกภูมิใจมาตลอดที่พระเถระเหล่านั้นมีส่วนอย่างสำคัญยิ่งที่ช่วยให้อาตมาหูตาสว่างขึ้นมากมาย อาตมาไม่เคยลืมพระคุณของพระเถระเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) พระอาจารย์เทสก์ เทสฺรํสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร
ช่วงนั้นอาตมาได้รับการแนะนำจากพระกรรมฐานรูปหนึ่งว่า งานหลักของพระกรรมฐานก็คือการพยายามเอาราคะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจ เพราะกิเลสทั้ง ๓ นี้ เป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดความชั่วทั้งมวล ฉะนั้นทำอย่างไรจิตใจจึงจะสงบระงับจากราคะ โทสะ โมหะ ก็ให้ทำอย่างนั้น จิตใจอาตมาโน้มไปในทางกรรมฐานเป็นอย่างมาก เพราะได้รับการอบรมจากพระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานอยู่บ่อยๆ แต่อาตมาก็ไม่ค่อยได้ปฏิบัติเต็มที่นัก เพราะโอกาสไม่ค่อยอำนวย เนื่องจากยังเป็นนักเรียนอยู่ ด้านกรรมฐานจึงพอมีความรู้เกี่ยวกับหลักการเพียงขั้นต้นเท่านั้น”
หลวงปู่ท่านยังได้เล่าถึงขั้นตอนแห่งการปฏิบัติธรรมกรรมฐานของท่านที่ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการเจริญภาวนามาตั้งแต่สมัยออกปฏิบัติใหม่ๆ ว่า
“เพราะได้รับการอบรมจากพระเถระฝ่ายกรรมฐานอยู่เสมอ อาตมาจึงมีกำลังใจในการปฏิบัติตามหลักแห่งไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ยิ่งๆ ขึ้นไป สำหรับขั้นตอนในการฝึกด้านจิตภาวนา อาตมายึดถือปฏิบัติดังนี้ อันดับแรก ไหว้พระสวดมนต์ก่อน อันดับสอง ให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติจิตภาวนา ขอให้อำนาจคุณพระรัตนตรัยได้ช่วยเป็นดวงประทีปแก้วส่องทางให้ข้าพเจ้าเดินถูกทาง และได้รับผลสำเร็จ หรือความก้าวหน้าในการปฏิบัติ อันดับสาม ให้บริกรรมว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ สามครั้ง ต่อมาให้นึกบริกรรมว่า พุทโธๆ ๆ คำเดียวอยู่อย่างนั้นคราวละนานๆ จนจิตใจสงบนิ่งเป็นอารมณ์อันเดียว ไม่ฟุ้งซ่านไปทางอื่น (จิตเป็นเอกัคคตา)
ถ้าจิตเคยหรือชำนาญกับการอยู่กับพุทโธนานๆ แล้ว จิตจะสงบได้เร็ว ข้อสำคัญคือผู้ปฏิบัติต้องพยายามควบคุมสติให้อยู่กับพุทโธทุกลมหายใจเข้า-ออก และให้สัมปชัญญะคือให้เกิดความรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะว่าเรากำลังบริกรรมพุทโธอยู่ ต้องให้สติสัมปชัญญะอยู่คู่กันเสมอ (ให้ทำงานอยู่ด้วยกัน) เมื่อสติสัมปชัญญะอยู่กับลมหายใจเข้า-ออกนานๆ ใจก็จะหยุดฟุ้งซ่าน ใจก็สงบเย็น ใจก็จะสว่าง เมื่อเกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นในใจ ผลดีอื่นๆ อีกมากก็จะเกิดตามมา • เป็นครูสอนนักธรรมตรี อยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ไปถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๑ หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับไปยังวัดธาตุหันเทาว์ ขณะที่เดินทางกลับบ้านเกิด ในระหว่างทางหลวงปูก็ได้แวะเข้ากราบคารวะท่านเจ้าคณะอำเภอหนองบัวลำภู ฝ่ายธรรมยุต คือท่านเจ้าคุณพระพิศาลเถระ ซึ่งท่านเป็นพระเถระที่หลวงปู่เคารพอีกรูปหนึ่ง เมื่อกราบคารวะองค์ท่านเจ้าคุณเป็นที่เรียบร้อย ท่านเจ้าคุณก็ได้ไต่ถามถึงสารทุกข์สุขดิบ และผลสำเร็จทางการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม เมื่อองค์ท่านเจ้าคุณทราบว่าหลวงปู่เรียนจบนักธรรมตรีแล้วและพอที่จะช่วยเป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรี ซึ่งขณะนั้นกำลังขาดแคลนครูสอน ท่านเจ้าคุณพิศาลฯ จึงได้ขอร้องให้หลวงปู่อยู่จำพรรษาที่วัดธาตุหันเทาว์ เพื่อเป็นครูสอนนักธรรม ด้วยความเกรงใจในองค์ท่านเจ้าคุณและเห็นใจพระเณรที่ขาดครูสอน หลวงปู่ท่านจึงรับคำอยู่ช่วยสอนนักธรรมตรีจนออกพรรษา และสอบนักธรรมสนามหลวงประจำปี พ.ศ.๒๔๘๑ จนแล้วเสร็จ ท่านจึงได้เดินทางกลับมาที่วัดโพธิสมภรณ์ตามเดิม เพื่อมาศึกษานักธรรมโทต่อที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี และสอบได้ในปีนั้นเอง จากนั้นก็สมัครสอบนักธรรมเอกในปีต่อมา