จะเชื่อใครวันนี้มีโยมมาถามเรื่องภาวนาเสร็จ เธอก็บ่นว่า บางทีภาวนาไปก็เบื่อๆ
พระอาจารย์ : พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ไม่เห็นท่านเบื่อเลย จะเชื่อใคร เชื่อกิเลสหรือเชื่อครูบาอาจารย์ เชื่อพระพุทธเจ้า
มันส์จะตาย ภาวนานี้สนุกนะ ท่านภาวนาทุกวันทั้งวันทั้งคืน ท่านสงบของท่าน เรากลับเบื่อ ไปเชื่อมันทำไมกิเลส เราต้องนึกถึงพระพุทธเจ้ามั่งซิ
นึกถึงครูบาอาจารย์ ทำไมชอบนึกถึงแต่กิเลสอยู่เรื่อยๆ เวลากิเลสโผล่ขึ้นมาก็ต้องเอาพระพุทธเจ้าขึ้นมาสู้มัน เราเป็นศิษย์พระพุทธเจ้าไม่ใช่ศิษย์กิเลส เราไม่ฟังกิเลส เดี๋ยวไม่ชนะมันนะ ถ้าเชื่อมันก็จบ เชื่อมัน มันก็เอาไปเลย ทีเวลาดูทีวีนี้มันส์เหลือเกิน ต้องฝืนมันอย่าไปทำตามมัน ต้องสู้มัน ต้องเห็นว่ามันเป็นข้าศึกของเรา ทำตามกิเลสก็เท่ากับให้มันมาฆ่าเรา เปิดประตูให้ข้าศึกเข้าเมือง. ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
เจริญสติการปฏิบัติจึงมองข้ามเรื่องของการเจริญสติไปไม่ได้ เจริญสติเพื่อให้เกิดสมาธิ เพื่อให้ใจสงบ เมื่อใจสงบแล้ว ก็จะสามารถพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ว่าไม่สวยไม่งามได้ ถ้าไม่มีความสงบก็จะไม่สามารถพิจารณาได้ เพราะจะไม่มีกำลังที่จะพิจารณา จะถูกกำลังของกิเลสตัณหาดึงไปให้เห็นว่าเที่ยง ให้เห็นว่าสวยงาม ให้เห็นว่าสุข ให้เห็นว่าเป็นของเรา เป็นตัวเรานั่นเอง
ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในสติปัฏฐาน ๔ นี้ ก็คือการเจริญสติ การเจริญสมาธิ และการเจริญปัญญานี่เอง ผู้ที่ศึกษาอ่านพระสูตรนี้ จึงต้องรู้จักแยกแยะว่า ทรงแสดงหลักธรรมนี้ในส่วนไหน. ธรรมะบนเขา วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๖
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
จิตไม่เที่ยง อารมณ์ของจิตไม่เที่ยงถาม : ขอถามพระอาจารย์ค่ะ คือที่เขาบอกว่านิพพานนี้สูญ คือแสดงว่าจิตของคนเรานี้มีเกิดมีดับตลอดเวลา แต่ว่าไปเวียนว่ายในภพภูมิต่างๆ อยู่ใช่ไหมคะ หนูเข้าใจถูกไหมคะ
พระอาจารย์: ใช่ จิตไม่สูญ แต่จิตมีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวดีใจเดี๋ยวเสียใจ เกิดดับ คือ อารมณ์ในจิตมันเกิดดับ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ตัวจิตเองไม่ดับ เหมือนตัวหิ่งห้อยน่ะ หิ่งห้อยมันมีอยู่แต่แสงหิ่งห้อยมันเกิดดับๆ แต่จิตมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวก็ดีใจเดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็วุ่นวายใจ เดี๋ยวก็สงบ เรียกว่าจิตไม่เที่ยง อารมณ์ของจิตไม่เที่ยง แต่ตัวจิตเองไม่ตาย พอร่างกายนี้ตายไป จิตก็ไปมีร่างกายอันใหม่ เหมือนคนใช้มือถือนี่ พอมือถือเสีย คนเสียไปกับมือถือหรือเปล่า คนใช้เสียไปกับมือถือหรือเปล่า ใช่ไหม มือถือเสียเราก็ไปซื้อมือถือเครื่องใหม่ อันนี้ก็เหมือนกัน พอร่างกายนี้เสียไป คนใช้ร่างกายนี้ก็ไปเอาร่างกายอันใหม่ เราเปลี่ยนร่างกายมาเหมือนเปลี่ยนมือถือเนี่ย เปลี่ยนมามากยิ่งกว่ามือถืออีก เพราะร่างกายที่เราเปลี่ยนนี้เป็นร้อยล้านพันล้านร่างกาย เชื่อไหม น้ำตาที่เราร้องไห้ในแต่ละภพแต่ละชาตินี้ ถ้าเอามารวมกัน พระพุทธเจ้าบอกมากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทร คิดดูว่าจะต้องมีร่างกายกี่ร่างกาย มาร้องไห้กี่ครั้งถึงจะได้น้ำตามากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทร นั่นคือจำนวนภพชาติที่พวกเราได้เกิดแก่เจ็บตายกันมา แล้วยังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตของเราไปถึงนิพพาน ถึงนิพพานก็คือจิตหมดอยาก ไม่อยากจะไปมีร่างกายอีกต่อไป ก็จะไม่ต้องมาร้องห่มร้องไห้อีกต่อไป เข้าใจนะ
ฉะนั้นทุกอย่างที่เราทำนี้เราทำให้กับจิต ทำบุญรักษาศีลภาวนานี้เป็นเครื่องมือที่จะส่งให้จิตไปนิพพาน ถึงแม้ว่าร่างกายนี้ตายไป จิตยังไม่ถึงนิพพาน แต่บุญที่เราได้ทำไว้ มันเหมือนกับน้ำมันที่เราใส่รถไว้เนี่ย ถ้ารถพังเราก็เปลี่ยนรถใหม่ได้ ย้ายน้ำมันไปถ่ายน้ำมันไปใส่อีกคันได้ แต่จิตมันไม่ตาย ฉะนั้นบุญที่เราใส่น้ำมันที่เราให้กับจิตเพื่อส่งไปนิพพานมันก็ไม่หาย มันไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ฉะนั้นทำไป ทำไปเรื่อยๆ ยิ่งทำมากมันก็จะได้ไปถึงเร็ว ทำน้อยก็ไปถึงช้า. สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
การพิจารณาอสุภะการพิจารณาอสุภะนี้ มีเป้าหมายอยู่ที่การดับกามารมณ์ที่คอยมารบกวนใจของเรา ทำให้เราอยู่ในความสงบ อยู่ตามลำพังไม่ได้ เวลาเกิดกามารมณ์แล้วเราจะรู้สึกว้าเหว่ เศร้าสร้อยหงอยเหงา อยากจะมีแฟน อยากจะมีเพื่อน อยากจะมีคู่หลับนอน
แต่การมีกามารมณ์นี้ จะทำให้เราไม่สามารถมีความสุขที่ได้จากความสงบอยู่ตามลำพังได้ ดังนั้น ผู้ที่แสวงหาความสุขจากการทำใจให้สงบนี้ จำเป็นต้องพิจารณาอสุภะเพื่อมาดับกามารมณ์ที่จะทำให้ไม่สามารถตั้งอยู่ในความสงบได้
เป้าหมายของอสุภะนี้ อยู่ที่การดับของกามารมณ์ ไม่ได้อยู่ที่การดับของ อสุภะ อสุภะนี้เป็นเหมือนยา ที่จะมารักษาโรคใจก็คือ กามารมณ์ ความทุกข์ที่เกิดจากการเวลามีกามารมณ์ขึ้นมา ถ้าพิจารณาเห็นอสุภะ กามารมณ์ก็จะดับไป
ฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีกามารมณ์อยู่ การพิจารณาอสุภะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เหมือนกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่จำเป็นต้องรับประทานยาไปเรื่อยๆ จนกว่าโรคจะหาย ถ้าโรคไม่หายก็ต้องกินยาไปเรื่อยๆ รับประทานยาไปเรื่อยๆ
ฉันใดถ้ายังมีกามารมณ์อยู่ ยังอยากเสพกามอยู่ ก็ยังต้องพิจารณาอสุภะไปเรื่อยๆ จนกว่าความอยากเสพกามนี้หมดไปเท่านั้น การพิจารณาอสุภะก็จะหมดไป ไม่มีความจำเป็นต่อไป. สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๖
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ปฏิจจสมุปบาทถาม : ถ้าจะขอความเมตตาจากท่านพระอาจารย์ ได้โปรดช่วยแสดงธรรมเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทให้ผมมีโอกาสได้ฟังเป็นบุญสักครั้ง จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งที่สุดเลยครับ
พระอาจารย์ : ก็เคยแสดงอยู่เรื่อยๆ ปฏิจจสมุปบาท คือการแสดงการเดินทางของความอยากเราเนี่ยแหละ ของกิเลสเรา เริ่มด้วยอวิชชา อวิชชาก็คือความหลงความไม่รู้ว่าความสุขอยู่ที่ไหน ไปหลงไปคิดว่าความสุขอยู่ที่ข้างนอกใจ ก็เลยต้องไปหาตาหูจมูกลิ้นกาย ก่อนจะไปหาตาหูจมูกลิ้นกายก็ต้องคิด พอคิดแล้วก็จะส่งวิญญาณไปเกาะที่ตาหูจมูกลิ้นกาย พอวิญญาณไปเกาะที่ตาหูจมูกลิ้นกาย ก็จะได้สัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ พอได้สัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสก็เกิดเวทนาความรู้สึกความสุขความทุกข์ความไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา พอเกิดความเวทนา เกิดความรู้สึกก็เกิดตัณหาความอยากขึ้นมา ถ้าเจอความสุขก็อยากจะให้
สุขนานๆ ถ้าเจอความทุกข์ก็อยากจะให้มันหายไปเร็วๆ มันก็เลยทำให้เกิดอุปาทานยึดติดกับสิ่งที่เราได้สัมผัสรับรู้ เลยทำให้เราต้องไปมี ภว ไปเกิดใหม่ เวลาสิ่งที่เราสัมผัสรับรู้หมดไป เราก็ไปหาใหม่ ไปหารูปเสียงกลิ่นรสใหม่ พอรูปเสียงกลิ่นรสอันนี้หมดก็ไปหาใหม่ เช่นไปเที่ยวกลับมา ภาพรูปเสียงกลิ่นรสที่เราได้รับจากการไปเที่ยวแล้วมันก็หมดไป เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ไปใหม่ ไปอยู่เรื่อยๆ พอไม่มีร่างกายก็ไปมีร่างกายอันใหม่ ไปเกิดใหม่ อันนี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เริ่มต้นที่อวิชชาความหลงความไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ในใจ ถ้ารู้ว่าความสุขอยู่ในใจก็หยุด หยุดความคิดปรุงแต่งส่งใจไปหารูปเสียงกลิ่นรส ใจอยู่ในความสงบก็จบ ไม่มีความอยากตามมา. ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ให้คิดไปในทางปัญญาความวุ่นวายใจกับความไม่วุ่นวายใจอันไหนจะดีกว่ากัน ตอนนี้ใจเราไม่วุ่นวายใจเราสบาย ทำไมเราไม่รักษามันไว้ให้มันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่รู้จักวิธีรักษามันนั่นเอง เดี๋ยวพอร่างกายไปหิวพอร่างกายไปอะไรก็วุ่นวายขึ้นมา ถ้าไม่ได้กินไม่ได้อะไรเดี๋ยวร่างกายเจ็บ ถ้าไม่ได้ขยับก็วุ่นวายขึ้นมาแล้ว ต้องขยับแข้งขยับขาถึงจะหายวุ่นวาย แต่ถ้ารู้จักฝึก ถ้าจำเป็นจะต้องให้มันนั่งอยู่อย่างนั้นให้มันเจ็บอยู่อย่างนั้นก็ยังสามารถรักษาใจไม่ให้วุ่นวายได้ ถ้ามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา อันนี้จะสามารถสอนใจให้ไม่วุ่นวายกับความเจ็บของร่างกายต่างๆ ได้ นี่แหละประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการที่เรามาฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วเราเอาไปปฏิบัติตามต่อ อันนี้รู้แล้วว่าเราต้องปฏิบัติอะไรกันบ้าง ถ้าเราอยากจะรักษาใจของเราไม่ให้มันวุ่นวายไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ก็คือเราต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา
สมาธิก็คือความนิ่งแบบตอนนี้แหละ ตอนนี้เราก็มีสมาธิกันแล้ว แต่ยังไม่เต็มร้อย ถ้าสมาธิเต็มร้อยนี่มันจะเข้าไปข้างใน ร่างกายจะหายไปจะเหลือแต่ตัวใจตัวเดียว ใจจะกลับเข้าไปสู่ตัวใจ ตอนนี้ยังไม่ได้กลับเข้าไป ตอนนี้เพียงแต่หยุดคิดนึก เพราะตอนนี้เอาความคิดมาฟังเทศน์แทน เพราะเอาใจมาฟังเทศน์ เลยไม่ได้ไปคิดเรื่องอื่น ก็เลยนั่งเฉยๆ ได้ อยู่ในความสงบได้ สมมุติว่าลืมปิดเตาไม่ได้ปิดเตาแก๊สอยู่ที่บ้าน ถ้าคิดถึงปั๊บนี่ เดี๋ยวมันจะนั่งอยู่ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวกลัวบ้านไหม้ต้องรีบกลับบ้านไปปิด แต่ถ้าลืมคิดถึงมัน มันจะไหม้เราก็ไม่รู้ เราก็สงบของเราสบายไป อันนี้คือสมาธิ อย่างไรมันก็ต้องไหม้อยู่ดี ไม่ไหม้มันก็ต้องพังอยู่ดี บ้านสร้างมันไปห้าสิบปีร้อยปีก็ต้องทุบทิ้งอยู่ดี มีอะไรอยู่คงเส้นคงวาบ้าง ดูกรุงศรีอยุธยาสิ มโหฬารใหญ่โตขนาดไหน เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นซากปรักหักพัง
ถ้าจะคิดก็ให้คิดไปในทางปัญญา คิดไปในทางความเป็นจริงว่าทุกอย่างมันจะต้องมีวันจบวันหมด ร่างกายของเราดูแลรักษามันดีขนาดไหน เดี๋ยวมันก็ตาย จะใหญ่โตร่ำรวยขนาดไหน ก็ห้ามมันไม่ได้ ถ้าไปกังวลกับมัน กังวลไปทำไม ห่วงมันทำไม แล้วเราไปเปลี่ยนมันได้หรือเปล่า เปลี่ยนแปลงมันได้หรือ ห้ามมันได้หรือ ก็ไม่ได้อยู่ดี ไปวุ่นวายไปทำไม ไปทุกข์กับมันทำไม พอมันเห็นด้วยปัญญา มันก็ไม่ทุกข์ มันก็เฉยๆ ไป. สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
การภาวนามี ๒ ขั้น ถาม : การภาวนาคือการนั่งสมาธิท่องพุทโธพุทโธใช่ไหมคะ
พระอาจารย์ : ใช่ การภาวนามี ๒ ขั้น ขั้นแรกเรียกว่าสมาธิสมถะภาวนา ก็คอยใช้สติ คอยหยุดความคิด เช่น การท่องพุทโธๆ ไป พอจิตสงบมีสมาธิแล้ว ขั้นต่อไปเวลาออกจากสมาธิ เราก็ใช้ให้ใจคิดทางปัญญาเรียกว่าวิปัสสนา ให้คิดว่าร่างกายของเราเกิดแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ทำไมให้คิดทั้งๆ ที่คิดว่าเรารู้แล้ว แต่เราลืม พอเราไม่คิดปั๊บเราก็ลืม เราก็จะลืมแก่ลืมเจ็บลืมตายได้
ฉะนั้นต้องคิดบ่อยๆ คิดทุกลมหายใจเข้าออก อย่างเมื่อกี้ฝรั่งเขาถามว่าท่านคิดถึงอนาคตใน ๕ ปีข้างหน้าอย่างไร ก็คิดแค่อนาคตแต่ข้างหน้านี่คือหายใจเข้ากับหายใจออกยังงี้ ถ้าหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย คิดแค่นี้ก็จะทำให้ใจเราหายหลง หายวุ่นวาย หายกังวลกับสิ่งต่างๆ อันนี้คือปัญญา
ขั้นที่ ๒ เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา ต้องใช้ความคิด คิดแต่เรื่องความเป็นจริง คิดจนกระทั่งเราไม่หลงไม่ลืม คิดว่าเราจำได้ เราพร้อมที่จะตายทุกเวลานาที พร้อมหรือยัง ตอนนี้ถามตัวเองว่า ตอนนี้เราพร้อมที่จะตายหรือยัง ตอนนี้ถ้ายังไม่พร้อมก็แสดงว่าเรายังไม่เห็นความจริงว่าร่างกายนี้ต้องตาย แล้วจะตายได้ทุกเวลานาที ไม่มีใครไปกำหนดได้. สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ต้องชนะตนไม่ใช่ชนะผู้อื่นถาม : ทำไมคนภาวนาจึงดูเหมือนไม่ค่อยสู้คน ไม่ตอบโต้ ยอมคนอื่นง่ายๆ ทำให้คนรอบข้างมองว่าเป็นคนไม่ทันคน เพราะเหตุใดเจ้าคะ
พระอาจารย์ : เพราะคนฉลาดไง เพราะว่าคนรอบข้างไม่ใช่ศัตรูของเขา ศัตรูของเขาคือกิเลสตัณหา ไอ้ตัวที่มักใหญ่ใฝ่สูง ตัวที่คิดว่าตัวเองเก่งตัวเองดีนี่แหละ ไอ้ตัวนี้แหละเป็นตัวที่สร้างปัญหาให้กับเรา คนรอบข้างเราไม่ใช่เป็นคนที่สร้างปัญหา สร้างความทุกข์ให้กับเรา พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าการชนะคนอื่นเป็นหมื่นเป็นแสนก็สู้ชนะตนไม่ได้ เพราะชนะคนอื่นก็เป็นเวรเป็นกรรมกัน เราชนะเขา เขาก็โกรธแค้นโกรธเคืองเรา เราแพ้เขาเราก็โกรธแค้นโกรธเคืองเขาอาฆาตพยาบาทจองเวรกันไป แต่ถ้าเราชนะความโกรธในตัวเราชนะความโลภในตัวเรา ใจเราก็จะสงบ แล้วเราก็ไม่ต้องไปมีปัญหากับใคร อันนี้แหละคือการชนะที่แท้จริง ต้องชนะตน ไม่ใช่ชนะผู้อื่น คนฉลาดเขาจึงไม่ไปต่อกรกับคนอื่น ก็เลยลักษณะเหมือนกับว่าเป็นคนยอมแพ้ แต่ความจริงกำลังต่อสู้กับข้าศึกศัตรูที่สู้ยากที่สุดก็คือตัวเองนี่แหละ ไอ้ตัวที่จะเอาชนะตนเอง ตัวนี้มันสู้ยาก เอาชนะคนอื่นมันง่าย ทุบหัวเขาตีหัวเขา เขาก็ตายแล้ว แต่ไอ้ตัวนี้มันไม่ตายง่ายๆ ถึงต้องใช้สูตร ๓ ย. เข้าใจไหม ยอม หยุด แล้วก็เย็น ก็ยอมแพ้นั่นแหละ ไม่ยุ่งแล้ว ใครจะพูดอะไร ใครจะด่าอะไรก็ปล่อยเขาด่าไป เรายอมแพ้ ปล่อยให้เขาด่าไป เราจะได้หยุดความโกรธแค้นโกรธเคืองได้ พอเราหยุดได้แล้ว ใจเราก็จะเย็น มีความสุข ดีกว่าไปชนะเขา แล้วใจก็ร้อน หวาดกลัวว่าเขาจะต้องมาทำร้ายเราต่อไป ถ้าแพ้เขาก็ร้อนเพราะความเครียด พยาบาทเคียดแค้นอีก นั่นไม่ใช่วิธีที่ต่อสู้ที่แท้จริงของนักปราชญ์ นักปราชญ์ต่อสู้กับพี่ศัตรูที่แท้จริงก็คือกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจนี่เอง คือความเคียดแค้นอาฆาตพยาบาทจองเวรจองกรรม ชนะตัวนี้แล้วใจเย็นใจสงบใจสบาย ไม่มีเวรมีกรรมกับใครอีกต่อไป. ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ทำไมเราต้องละความอยากทำไมเราต้องละความอยาก เพราะความอยากจะนำเราไปสู่ความทุกข์ไม่ใช่ไปสู่ความสุข ความสุขที่ได้จากการทำตามความอยากเป็นความสุขปลอมเป็นความสุขเดี๋ยวเดียว เป็นเหมือนเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด เหยื่อนี่มันชิ้นเล็กๆ เท่านั้นเอง แต่พอเราไปฮุบเหยื่อแล้วทีนี้เป็นยังไง ถูกตะขอเบ็ดเกี่ยวปาก เสียชีวิตเลยไหมปลา ปลาโง่ไม่ฉลาด เหมือนเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ดคิดว่าเป็นอาหารอันโอชะ พอไปฮุบเหยื่อเข้าก็ถูกตะขอเบ็ดเกี่ยวปาก ถูกเขาดึงไปจับไปฆ่าลงหม้อแกง แต่ถ้าปลาฉลาดเห็นว่าโอยมันมีตะขอเบ็ดซ่อนอยู่นะ อย่าไปฮุบมันดีกว่า ถอยดีกว่า ก็จะปลอดภัย
จิตที่ฉลาดมีปัญญาก็จะเห็นว่าความสุขที่จะได้จากการทำตามความอยากนี้เป็นเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด เพราะถ้าไปฮุบแล้วมันจะติด มันจะต้องอยากได้อยู่เรื่อยๆ ได้มาปั๊บเดี๋ยวมันก็หมดแล้ว เที่ยวมาปั๊บเดี๋ยวกลับมาบ้านเดี๋ยวมันก็หายไปแล้ว พรุ่งนี้ก็อยากไปเที่ยวใหม่แล้ว ถ้าไม่ได้ไปเที่ยวก็ทุกข์หล่ะสิ ทรมานใจแล้ว นี่คือปัญญา ทำไมเราต้องไม่ทำตามความอยาก ทำไมเราต้องละความอยาก เพราะความอยากเป็นผู้ที่จะดึงให้เราต้องไปทุกข์ ไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น เป็นผู้ที่จะดึงให้เราต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ถ้าเรารู้ด้วยปัญญาทุกครั้งเกิดความอยากเราก็จะสู้กับมันด้วยสติ มีสติมีปัญญาแล้วก็ต้องมีสติ สติปัญญานี้เป็นอาวุธเหมือนมือซ้ายมือขวาช่วยกันสนับสนุนกัน ปัญญาจะเป็นผู้สอนว่าทำไมไม่ควรทำตามความอยาก สติเป็นผู้หยุดความอยาก พออยากเราก็พุทโธพุทโธพุทโธไป หยุดคิดถึงเรื่องที่เราอยากเดี๋ยวมันก็หายไป หรือคิดในเรื่องที่ทำให้เราไม่อยาก เช่นคิดถึงแฟนก็คิดถึงศพเขา ก็คิดเขาเป็นซากศพคิดถึงอวัยวะต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกายเขา ก็ไม่อยากจะได้เขามาเป็นแฟน ถ้าเห็นโครงกระดูกเขาเห็นตับไตไส้พุงของเขา เห็นกระดูกเห็นอุจจาระเห็นปัสสาวะของเขา มันก็จะทำให้หายอยากได้ นี่ก็คือการใช้สติ ให้คิดไปในทางที่จะทำให้ไม่อยาก หรือไม่เช่นนั้นก็หยุดคิด ใช้พุทโธหยุดคิดไปได้ทั้งสองอย่าง ถ้าเห็นเป็นอสุภะได้ยิ่งดีใหญ่เพราะมันจะไม่อยากเลยต่อไป เห็นแฟนทีไรก็เห็นเป็นโครงกระดูกเห็นเป็นซากศพไป เห็นอาหารก็เห็นว่ากลายเป็นอุจจาระไป อาหารที่เรากินมันจะกลายเป็นอะไร มันไม่เป็นอุจจาระมันจะเป็นอะไร มันก็ไปเสริมอาการ ๓๒ บางส่วนก็ไปเสริมผมขนเล็บฟันหนัง ส่วนที่ไม่ไปเสริมก็กลายเป็นอุจจาระไป กินอาหารก็เหมือนกับกินอุจจาระนี่เอง ถ้าทุกครั้งที่เราอยากจะกินอาหาร เช่นเราถือศีล ๘ แล้วตอนเย็นนึกอยากจะกินอาหารก็คิดว่ากำลังจะกินอุจจาระ พอคิดอย่างนี้มันก็หายหิวเลย ไม่อยากกิน
นี่คือวิธีการใช้ปัญญาเพื่อหยุดความอยากต่างๆ ต้องมองมุมกลับอย่าไปมองมุมที่มันกิเลสชอบมอง กิเลสชอบมองมุมสวยเราก็ต้องมองมุมที่มันไม่สวย กิเลสชอบมองมุมที่อร่อยเราก็ต้องมองมุมที่ไม่อร่อย แล้วความอยากกินก็ไม่มี ความอยากจะนอนกับแฟนก็ไม่มี นี่คือปัญญาที่จะทำให้เราละความอยากต่างๆ ได้ เมื่อเราละความอยากต่างๆ ได้ การที่จะไปเกิดต่อไปก็ไม่มี เพราะเหตุที่จะดึงไปเกิดมันไม่มี เหมือนน้ำมันที่หมดถ้าเราไม่เติมน้ำมันพอน้ำมันหมดเราไม่เติม รถมันก็วิ่งไม่ได้ น้ำมันที่พาให้จิตเราไปเวียนว่ายตายเกิดก็คือความอยากนั่นเอง แต่ทุกครั้งที่มันอยากเราก็ไม่ไปเติมมัน เราไม่ไปทำตามความอยาก ต่อไปความอยากมันก็หมด หมดแล้วมันก็จะไม่มีอะไรมาดึงให้เราไปเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป. ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต