ภิกษุ-สมณะ-พระ-สงฆ์ คำว่า ‘ภิกษุ-สมณะ-พระ-สงฆ์’ ที่ดูเหมือนเป็นคำธรรมดาที่ใช้เรียกนักบวชได้เหมือนๆ กันนั้น
แต่จริงๆ แล้ว แต่ละคำมีที่มาและความหมายต่างกัน ดังที่
รศ.ดนัย ไชยโยธา ได้เขียนไว้ใน
หนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ดังนี้
๐ ภิกษุ-ภิกขุ ภิกษุ เป็นคำภาษาสันสกฤต ส่วนภิกขุ เป็นคำภาษาบาลี เป็นนักบวชชายในพระพุทธศาสนา
แปลตามคำศัพท์ว่า ผู้ขอ คือ สละโลก สละเคหสถาน และสละทรัพย์สมบัติ เพื่ออุทิศตน
ศึกษาปฏิบัติและเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้
คนจำนวนมากในสมัยพุทธกาลได้ออกบวชถือเพศบรรพชิต มิได้ประกอบอาชีพ อยู่ได้ด้วย
ปัจจัยที่ผู้เลื่อมใสนำมาให้ ก็ถือว่าเป็นผู้ขอเหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่าภิกษุ เรียกว่า ดาบส บ้าง
มุนี บ้าง ฤาษี บ้าง ส่วนไทยใช้คำเรียกนักบวชชายในพระพุทธศาสนา เช่น พระภิกษุ
พระสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์
๐ สมณะ คำว่า สมณะ เป็นคำภาษาบาลี แปลว่า
ผู้สงบ ประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล เรียกนักบวช
ในลัทธิหรือศาสนานั้นโดยทั่วไปว่า สมณะ ชาวอินเดียที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา เรียกพระพุทธเจ้า
ว่า
สมณโคดม ซึ่งหมายถึงนักบวชแห่งตระกูลโคตมะ คำว่า สมณะ ตามความหมายดั้งเดิม หมายถึง ผู้ที่ต้องมีความสงบ น่าเลื่อมใส น่าศรัทธา มีวัตรปฏิบัติ
ควรแก่การนับถือ แต่ความหมายของคำว่า สมณะ ในพระพุทธศาสนามีความลึกซึ้งกว่าความหมายเดิมมาก
เพราะผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นสมณะนั้น ต้องเป็นพระอริยบุคคล ตัดกิเลสตัณหา ระงับบาปกรรมได้ทั้งสิ้น
ทั้งปวงแล้ว
๐ พระ คำว่า ‘พระ’ หากไม่มีคำนำหน้าหรือตามหลัง หมายถึง พระภิกษุในพระพุทธศาสนา มาจากคำบาลีว่า
‘วร’ แปลว่า ‘ประเสริฐ’ โดยมีตัวอย่างต่างๆ ในการใช้ ดังนี้
๑. ใช้กับของคำสำคัญ ของสูง ของอันเป็นที่เคารพบูชา เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๒. ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง ดังนี้
๒.๑ เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวรหรือพระศิวะ พระนารายณ์หรือพระวิษณุ พระพิรุณ
๒.๒ พระเจ้าแผ่นดิน หรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์
พระราชวงศ์ พระเจ้าอยู่หัว
๒.๓ สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี พระธรรมปัญญาบดี พระพรหมมุนี
๒.๔ นักบวช เช่น พระแดง พระจันทร์ พระวิมล
๒.๕ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ พระเครื่อง
๒.๖ อิสสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา
๐ สงฆ์ พระสงฆ์เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตาม คุณสมบัติของผู้ที่จะได้ชื่อว่า ‘พระสงฆ์’ ต้องผ่านการบวชโดย
วิธีใดวิธีหนึ่งใน ๓ วิธีดังต่อไปนี้
(๑) การบวชโดยพระพุทธเจ้าประทานให้เอง เรียก เอหิภิกขุอุปสัมปทา
(๒) การบวชโดยการรับไตรสรณคมน์ เรียก ติสรณคมนูปสัมปทา
(๓) การบวชที่คณะสงฆ์ยอมรับเข้าหมู่ โดยมติเอกฉันท์ เรียก ญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา
พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามี ๒ ประเภท ดังต่อไปนี้ ๑. สมมติสงฆ์ แปลว่า พระสงฆ์โดยสมมติ หมายถึง บุรุษที่มีอายุ ๒๐ ปีครบบริบูรณ์
ผ่านการอุปสมบทถูกต้องตามหลักการญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา สมมติสงฆ์แบ่ง
ออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑.๑ สมมติสงฆ์ในแง่พระวินัย หมายเอาพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป
ต่ำกว่านั้นไม่นับว่าเป็นสงฆ์ การกำหนดจำนวนแบ่งตามกิจกรรมแต่ละอย่าง
ที่สงฆ์จะพึงกระทำ ดังนี้
- พระภิกษุ ๔ รูป เรียกว่า สงฆ์จตุวรรค ทำอุโบสถกรรมได้ คือ การประชุมกัน
ฟังสวดสิกขาบท หรือศีล ๒๒๗ ข้อ เพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์ทุกกึ่งเดือน
- พระภิกษุ ๕ รูป เรียกว่า สงฆ์ปัญจวรรค ทำปวารณาได้ คือ การยอมตน
ให้พระภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนได้
- พระภิกษุ ๑๐ รูป เรียกว่า สงฆ์ทสวรรค ทำการอุปสมบทกุลบุตรได้
- พระภิกษุ ๒๐ รูป เรียกว่า สงฆ์วีสติวรรค ทำกิจกรรมได้ทุกชนิด
๑.๒ สมมติสงฆ์ในแง่พระธรรม หมายเอาพระภิกษุ แม้เพียงรูปเดียวที่ผ่านการอุปสมบท
โดยถูกต้อง
๒. อริยสงฆ์ แปลว่า พระสงฆ์ที่เป็นพระอริยบุคคล หมายถึง ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป
จนถึงพระอรหันต์เป็นที่สุด พระอริยสงฆ์นี้กำหนดเอาคุณธรรมเป็นตัวกำหนดคฤหัสถ์ผู้บรรลุธรรม
ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปก็นับเป็นพระอริยสงฆ์ได้ แต่เดิมเรียกว่าสาวกสงฆ์