คมชัดลึก : รอยเลื่อน "นครนายก" ถูกกล่าวขานถึงหลังจากพม่าประสบเหตุแผ่นดินไหว ว่ากันว่าแผ่นดินไหวในวันเดียวกันนั้นก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกันกับรอยเลื่อน "แม่จัน" ไม่ได้เกิดจาก "อาฟเตอร์ช็อก" จากรอยเลื่อน "น้ำมา" ในพม่าตามที่เข้าใจกันเบื้องต้น
แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทยเกิดจาก 2 ปัจจัยด้วยกันคือ ปัจจัยภายนอกและภายใน
ปัจจัยภายนอก หมายถึง เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ต่างประเทศและแรงสั่นสะเทือนส่งมาถึงไทย ส่วนใหญ่มาจากพม่า จีน ลาว และฝั่งทะเลอันดามันคือ ด้านเกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซีย
ส่วนปัจจัยภายใน คือ แผ่นดินไหวที่เกิดจากแนวรอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งเคลื่อนตัวเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตก
ปัญหาที่ถกเถียงกันมานานคือ "จำนวนรอยเลื่อนมีพลังในไทยมีกี่แห่ง ?" นักธรณีวิทยาบอก 9 แห่ง หน่วยงานรัฐระบุ 13 แห่ง นักวิจัยแผ่นดินไหวแจ้งว่าพบ 45 แห่ง
ล่าสุด วันที่ 29 มีนาคม รศ.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศว่าพบ "รอยเลื่อนนครนายก" ซึ่งมีความน่ากลัวเนื่องจากอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด
จากภาพถ่ายดาวเทียมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบรอยเลื่อนนครนายกมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนแม่ปิง ที่พาดผ่าน จ.นครสวรรค์ มาทาง จ.กำแพงเพชร ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้ โดยแนวดังกล่าวมีความยาว 50-100 กิโลเมตร เมื่อ 600 ถึง 700 ปี ที่ผ่านมามีหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า บริเวณนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์มาแล้ว และมีความเป็นไปได้ในการอุบัติซ้ำ พร้อมเสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ ไปสำรวจและเพิ่มแนวรอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทย เป็น 14 แห่ง จากเดิมที่มี 13 แห่ง
วันถัดมา 30 มีนาคม "เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์" ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ให้ข้อมูลว่าเคย สำรวจพบรอยเลื่อนนครนายก และรอยเลื่อนองครักษ์ที่อยู่ใกล้เคียงกันมานานแล้ว จากการติดตามศึกษาต่อเนื่อง 3 ปี ทำให้มั่นใจได้ว่า รอยเลื่อนองครักษ์เป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีพลังแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรอยเลื่อนนครนายกนั้น นายเลิศสินมั่นใจ 75 เปอร์เซ็นต์ ว่า เป็นรอยเลื่อนไม่มีพลัง เนื่องจากไม่พบหลักฐานชัดเหมือนรอยเลื่อนมีพลังอื่นๆ เช่น ลักษณะแม่น้ำที่บิดเบี้ยว มีบ่อน้ำพุร้อนอยู่ใกล้รอยแตกร้าว จึงอยากฝากเตือนประชาชนในละแวกดังกล่าวไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไป
ข้อมูลขัดแย้งข้างต้นทำให้ "รอยเลื่อนนครนายก" กลายเป็นปริศนาว่า มีพลังหรือไม่มีพลัง ?
การระบุว่ารอยเลื่อนใดเป็น “รอยเลื่อนมีพลัง” (active fault) หรือไม่นั้น หน่วยสำรวจธรณีวิทยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey: USGS) ให้นิยามว่า ต้องเป็นรอยเลื่อนที่จะทำให้แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในอนาคต และต้องมีการเคลื่อนที่อย่างน้อย 1 ครั้งภายในระยะเวลา 1 หมื่นปี
ย้อนประวัติศาสตร์งานวิจัยรอยเลื่อนในไทย เมื่อปี 2546 ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ บันทึกว่าทั่วประเทศมีรอยเลื่อนทั้งหมด 121 แห่ง กระจายอยู่ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นรอยเลื่อนไม่มีพลัง สำหรับจำนวนรอยเลื่อนมีพลังนั้น เมื่อปี 2533 ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย อดีตนายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย วิจัยพบว่ามี 9 รอยเลื่อนคือ 1.รอยเลื่อนเชียงแสน-แม่จัน 2.แม่ทา 3.เถิน 4.แพร่ 5.เมย-อุทัยธานี 6.ศรีสวัสดิ์ 7.เจดีย์สามองค์ 8.ระนอง 9.คลองมะรุ่ย
ขณะที่ กรมทรัพยากรธรณีวิทยา ระบุว่า พบ 13 รอยเลื่อน คือ 1.รอยเลื่อนแม่จัน 2.แม่ทา 3.พะเยา 4.แม่ฮ่องสอน 5.ปัว 6.เถิน 7.อุตรดิตถ์ 8.เมย 9.ท่าแขก 10.ศรีสวัสดิ์ 11.เจดีย์สามองค์ 12.ระนอง และ 13.คลองมะรุ่ย
แต่ที่พบมากที่สุดคือ งานวิจัยของ "อดิศร ฟุ้งขจร" หัวหน้ากลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ผู้เชี่ยวชาญรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ตรวจสอบพบรอยเลื่อนมีพลังมากถึง 45 รอยเลื่อนคือ รอยเลื่อนเชียงแสน, แม่จัน, แม่อิง, มูลาว, หนองเขียว, เชียงดาว, เมืองแหง, แม่ฮ่องสอน, ขุนยวม, แม่ลาหลวง, แม่สะเรียง, พร้าว, ปัว, ดอยหมอก, วังเหนือ, แม่งัด, แม่ปิง, ดอยปุย, แม่ทา, อมก๋อย, เมืองปาน, แม่หยวก, แม่ทะ, เถิน, แม่วัง, ท่าสี, งาว, แม่ติป, สามเงา, ผาแดง, ดอยหลวง, แม่ยม, แม่กลอง, แพร่, อุทัยธานี, อุตรดิตถ์, น้ำปาด, เขาดำ, ท่าอุเทน, ศรีสวัสดิ์, เจดีย์สามองค์, เขาราวเทียน, ระนอง, อ่าวลึก และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
“อดิศร” ให้สัมภาษณ์ว่า การสำรวจรอยเลื่อนมีพลังสามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่นิยมมี 3 วิธีคือ 1.การเดินสำรวจเชิงประจักษ์ กลุ่มนักธรณีวิทยามักจะใช้วิธีนี้เป็นหลัก เพื่อตรวจดูรอยแยกของชั้นดิน เนื้อดินและ เนื้อหิน ฯลฯ
วิธีที่ 2 ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมหรือภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลัก บางครั้งอาจเดินสำรวจพื้นที่จริงเพื่อเปรียบเทียบภูมิศาสตร์บริเวณนั้น ส่วนวิธีที่ 3 คือ การใช้คอมพิวเตอร์จับสัญญาณพลังงานการสั่นสะเทือนที่รอยเลื่อนปล่อยออกมา หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “คลื่นแผ่นดินไหว”
วิธีเดินสำรวจนั้นมีข้อจำกัดคือ หากรอยเลื่อนอยู่ต่ำลงไปในชั้นใต้ดินกว่า 10 กิโลเมตร จะสำรวจไม่เห็นจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวแทน หากรอยเลื่อนใดทำให้แผ่นดินไหวเกิน 1 ริกเตอร์ คอมพิวเตอร์จะรายงานทันที ปัจจุบันไทยมีเครื่องตรวจแผ่นดินไหวแบบดิจิทัลออนไลน์ระบบไอริส (Incorporated Research Institutions for Seismology) รุ่น KS-54000-IRIS ติดตั้งที่สถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ เชิงดอยสุเทพ
“เท่าที่ตรวจดูข้อมูลรอยเลื่อนนครนายกและรอยเลื่อนองครักษ์นั้น ตลอดปี 2553 จนถึงปีนี้ ยังไม่พบคลื่นแผ่นดินไหวรายงานเข้ามา หากเป็นรอยเลื่อนมีพลังจริงต้องสั่นสะเทือนอย่างน้อย 1 ครั้งในหมื่นปี แต่เท่าที่ดูบันทึกรายงานตั้งแต่เริ่มใช้เครื่องมือนี้ ย้อนหลังไป 40 ปียังไม่พบการเคลื่อนไหวเลย คงต้องเดินสำรวจและศึกษารายละเอียดด้านภูมิศาสตร์เพิ่มเติม” นายอดิศร กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม หน่วยงานรัฐได้จัดประชุมหารือเบื้องต้น เกี่ยวกับแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนมีพลังที่ส่งผลกระทบต่อเขื่อน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยดินอ่อนนุ่ม และการต่อเติมอาคารให้ปลอดภัย ฯลฯ พร้อมสั่งนักวิชาการให้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรอยเลื่อนนครนายกว่ามีอันตรายหรือไม่ หากจำเป็นอาจต้องจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาประสานงานเรื่องแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ
ที่มา: เวบไซท์พลังจิต