[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 13:36:45 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา(1)  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การพระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์  (อ่าน 1898 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 18 กันยายน 2560 18:47:13 »






การพระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์
พระราชพิธีออกพระเมรุ

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ กำหนดการดังนี้

วันพุธที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เวลา ๑๗.๓๐ น. พระราชพิธีพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เวลา ๐๗.๐๐น. พระราชพิธีเชิญพระบรมศพออกพระเมรุ ท้องสนามหลวง โดย ริ้วกระบวนที่ ๑ ริ้วกระบวนที่ ๒ และริ้วกระบวนที่ ๓ เวลา ๑๗.๓๐ น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เวลา ๒๒.๐๐ น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง

วันศุกร์ที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๐๐ น. พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ เชิญพระบรมอัฐิสู่พระบรมมหาราชวัง โดย ริ้วกระบวนที่ ๔ วันเสาร์ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เวลา ๑๗.๓๐ น. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๓๐ น. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดย ริ้วกระบวนที่ ๕ เวลา ๑๗.๓๐ น. พระราชพิธีเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร โดยริ้วกระบวนที่ ๖

การเชิญพระบรมศพ จากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ การเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศไปสู่พระบรมมหาราชวัง และการเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ตามโบราณกาลจะเชิญด้วยขบวนพระราชอิสริยยศ ซึ่งเรียกว่า ริ้วกระบวน หรือ ริ้วขบวน โดยแต่ละริ้วขบวนมีคนหาม คนฉุดชักจํานวนมาก พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระอิสริยยศ

ทั้งนี้ การจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีขบวนพระบรมราชอิสริยยศ จำนวน ๖ ริ้วขบวน โดยบูรณะตกแต่งราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร รวมทั้งซักซ้อมการเคลื่อนขบวนให้งดงามประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์

เส้นทางขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ ๑ เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปยังพระมหาพิชัยราชรถ หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, ริ้วขบวนที่ ๒ เชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง, ริ้วขบวนที่ ๓ เชิญพระโกศทองใหญ่โดยราชรถปืนใหญ่ เวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) ๓ รอบ แล้วเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุมาศ

ริ้วขบวนที่ ๔ เชิญพระโกศพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง, ริ้วขบวนที่ ๕ เชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และริ้วขบวนที่ ๖ ขบวนกองทหารม้าเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและวัดบวรนิเวศวิหาร

เกี่ยวกับราชสกุลที่จะเข้าร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พล.ท.ม.ล. กุลชาติ ดิศกุล ในฐานะผู้ประสานงานราชสกุลทุกมหาสาขา กล่าวถึงหลักการคัดเลือกพระประยูรญาติในการเข้าร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศว่า ครั้งนี้มีราชสกุลทุกมหาสาขาจำนวน ๑๐๐ ราชสกุล จาก ๑๒๙ ราชสกุล มาร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เนื่องด้วยอีก ๒๙ ราชสกุลนั้นไม่มีผู้สืบทอดแล้ว โดยคณะกรรมการพิจารณา ๒ เรื่องด้วยกัน ๑.คัดเลือกจากผู้ที่เคยร่วมในพระราชพิธีริ้วขบวนพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

และ ๒.ดูความเหมาะสมในเรื่องพระชันษาหรืออายุ เพราะหม่อมเจ้าบางพระองค์ทรงมีชันษามากแล้ว ไม่สามารถอยู่ในริ้วขบวนได้เป็นเวลานาน โดยในริ้วขบวนที่ ๒ ประกอบด้วยหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ขณะที่ริ้วขบวนที่ ๓ จะเป็นราชสกุลต่างๆ ทุกมหาสาขา จะเดินในริ้วขบวนการเชิญพระบรมโกศเวียนพระเมรุมาศ




พระเมรุมาศ

เว็บไซต์ kingrama9.net รวบรวมข้อมูลจากกรมศิลปากรไว้ว่า พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วย อาคารทรงบุษบก จำนวน ๙ องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๓ ชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ และทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมศิลปากรยึดหลักแนวคิดในการออกแบบโดยคำนึงถึงความสมพระเกียรติตามหลักโบราณราชประเพณี และคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ

โครงสร้างพระเมรุมาศ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้ ลาน อุตราวรรต หรือพื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาตทั้งสี่ทิศและเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์ ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ

ฐานชาลาชั้นที่ ๑ เป็นชั้นล่างสุด มีฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัติ ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน

ฐานชาลาชั้นที่ ๒ มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี

ฐานชาลาชั้นที่ ๓ ฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุม จำนวน ๑๐๘ องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ ๓ นี้ เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรม ๔ สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ

จุดกึ่งกลางชั้นบนสุด มีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ เป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน ๗ ชั้น ภายในมีพระจิตกาธาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร (ม่าน) และฉากบังเพลิงเขียนภาพพระนารายณ์อวตารตอนบน และภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตอนล่าง ที่ยอดบนสุดประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว ๙ ชั้น)

พระเมรุมาศ สร้างตามคติจักรวาลวิทยา ซึ่งในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้บรรยายไว้ว่า จักรวาลมีลักษณะเป็นวงกลม มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล บนเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีไพชยนต์ปราสาทอยู่กลางเมือง

เขาพระสุเมรุล้อมรอบด้วยทะเล ๗ ชั้น เรียกว่า ทะเลสีทันดร สลับด้วยภูเขา ๗ ลูก เรียกว่า สัตบริภัณฑ์ ส่วนเชิงเขาพระสุเมรุนั้นเป็นที่ตั้งของ ป่าหิมพานต์ และสระอโนดาต ถัดออกมาเป็นทวีปทั้ง ๔ และมหาสมุทรทั้ง ๔ ซึ่งมนุษย์อาศัยอยู่ในชมพูทวีป

คติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลนี้เป็นที่มาของการสร้างพระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ไทยองค์ก่อนๆ โดยพระเมรุมาศเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและมีอาคารรายล้อมเสมือนสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมจักรวาล อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะระบุความหมายอjavascript:void(0);ย่างแน่ชัดในแบบแผนของพระเมรุมาศทั้งหมด เนื่องจากสิ่งก่อสร้างบางอย่างก็สร้างขึ้นตามประโยชน์ใช้สอย อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อเสด็จฯ ไปงานถวายพระเพลิง

การสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพคือการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เป็นโบราณราชประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา





ประติมากรรมพระเมรุมาศ

ในการดำเนินการออกแบบพระเมรุมาศและอาคารประกอบในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้ยึดแนวคิดในการออกแบบคือ

๑.ออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
๒.ศึกษาและออกแบบตามโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และ
๓.ศึกษาและออกแบบโดยใช้แนวคิดคติไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนาและคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเสมือนสมมติเทพตามระบอบเทวนิยม

โดยมี "พระเมรุมาศ" เป็นประธานในพื้นที่ ซึ่งเปรียบได้กับ "เขาพระสุเมรุ" อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ส่วนการออกแบบภูมิทัศน์ได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริต่างๆ นำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบสร้างสรรค์ในแต่ละส่วนพื้นที่รอบมณฑลพิธี

และหนึ่งในส่วนประกอบที่ทำให้พระเมรุมาศมีความสมบูรณ์ คืองานจัดสร้างประติมากรรมปั้นลวดลายและหล่อส่วนประกอบประดับตกแต่งพระเมรุมาศ

สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวถึงความสำคัญของการจัดสร้างประติมากรรมปั้นลวดลายและหล่อส่วนประกอบประดับตกแต่งพระเมรุมาศ ว่า ประติมากรรมเหล่านี้เป็นส่วนประกอบซึ่งแสดงความเป็นทิพยสถานที่เป็นสิ่งที่ไปยากลำบากยิ่ง เพราะเป็นสวรรค์ ได้ออกแบบโดยใช้แนวคิดตามคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสมมติเทพอวตารลงมาจากสวรรค์เพื่อมาปราบยุคเข็ญ

"เราเปรียบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เป็นพระนารายณ์อวตารมาปราบยุคเข็ญ มาปราบความยากจน ทำให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อพระองค์สวรรคตก็ทรงกลับคืนสู่ทิพยสถานของพระองค์เช่นเดิม การส่งเสด็จกลับสู่สวรรคาลัยต้องทำให้สมพระเกียรติ คือเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทพเจ้าที่ได้แบ่งภาคลงมา อวตารลงมา สิ่งต่างๆ ในพระเมรุมาศจึงต้องจัดทำให้สมพระเกียรติ แสดงให้เห็นถึงความเป็นสวรรค์ จักรวาล มีเขาสัตบริภัณฑ์ รวมทั้งมีสัตว์ป่าหิมพานต์ มหาเทพ และเทพยดาต่างๆ" นายสมชายกล่าว

งานจัดสร้างประติมากรรมปั้นลวดลายและหล่อส่วนประกอบประดับตกแต่งพระเมรุมาศ ประกอบด้วย
๑.ประติมากรรมนูนต่ำพระโพธิสัตว์
๒.เทพนม ประดับรอบท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน
๓.ครุฑยุดนาค ประดับรอบท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน
๔.เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ เป็นเทวดาถือพุ่มโลหะ และเทวดาเชิญฉัตร
๕.เทวดานั่งรอบพระเมรุ เป็นเทวดาเชิญฉัตร และบังแทรก
๖.เทพชุมนุมรอบฐานท้องไม้พระเมรุมาศชั้นล่าง
๗.มหาเทพ ประกอบด้วยพระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม
๘.ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ
๙.ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ประกอบด้วยท้าวกุเวร ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก
๑๐.ราวบันไดนาค ๑ เศียร (ชั้นที่ ๑) นาค ๓ เศียร (ชั้นที่ ๒) และนาค ๓ เศียร (ชั้นที่ ๓ และ ๔)
๑๑.คชสีห์-ราชสีห์ ประทับบันได (ชั้นที่ ๒)
๑๒.สัตว์มงคลประจำทิศ ประกอบด้วยช้าง ม้า วัว สิงห์ ประดับทางขึ้นบันได (ชั้นที่ ๑)
๑๓.สัตว์หิมพานต์ ช้าง ๑๐ ตระกูล สิงห์ ๔ ตระกูล ม้า และวัว
๑๔.ครุฑประดับหัวเสา





แนวทางที่ยึดถือในการจัดสร้างประติมากรรมปั้นลวดลายและหล่อส่วนประกอบประดับตกแต่งพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๙

สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร อธิบายว่า ประติมากรรมเหล่านี้สร้างตามคติความเชื่อโลกและจักรวาล มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ สัตว์ป่าหิมพานต์อยู่ชั้นแรกของพระเมรุมาศ ขณะที่ทางขึ้นบันไดพระเมรุมาศมีสัตว์มงคลประจำทิศ ได้แก่ ช้าง ม้า วัว สิงห์ ทิศละ ๑ คู่ รวมทั้งหมด ๔ ทิศ นอกจากนี้จะมีสระอโนดาต

ส่วนราวบันไดนาคมีทั้งหมด ๔ ชั้น ชั้นที่ ๑ นาคมีหนึ่งเศียร, ชั้นที่ ๒ นาคมีสามเศียร, พอขึ้นมาชั้นที่ ๓ นาคมีเศียรทรงเครื่องสวมยอดมงกุฎ และชั้นที่ ๔ นาคมีสามเศียร แต่เป็นนาคจำแลงเป็นมนุษย์ มีใบหน้าเหมือนคน ตัวเป็นนาค

ส่วนมหาเทพทั้ง ๔ จะประดับข้างบันไดนาค และเมื่อได้ยึดพระบรมศพเป็นพระนารายณ์ ซึ่งมีอีกพระนามว่า พระวิษณุ ที่มีพาหนะเป็นพญาครุฑ ตามหัวเสาต่างๆ รอบพระเมรุมาศจึงเปลี่ยนจากเสาหงส์เป็นเสาครุฑ

ลักษณะของประติมากรรมในงานพระเมรุมาศครั้งนี้มีความพิเศษหลายอย่าง โดยเฉพาะเทวดาหรือเหล่าทวยเทพต่างๆ ปั้นในลักษณะที่เหมือน "คน"

เดิมเราจะปั้นเทวดาแบบไทย ทรงเครื่อง มีหน้าตาแบบหัวโขน แต่เมื่อมาผนวกเข้ากับฉากบังเพลิงที่จะเขียนเรื่องราวโครงการพระราชดำริ ซึ่งจะมีรูปคนที่เป็นแบบเหมือนจริง จึงสรุปกันว่า รูปแบบศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรืออะไรก็ตาม ก็จะเป็นแบบค่อนข้างเหมือนจริง

โดยนำแนวคิดของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม มาใช้ในการออกแบบเทวดา มหาเทพ ท้าวจตุโลกบาล ให้มีลักษณะเหมือนคน มีกล้ามเนื้อ ต่างจากงานออกพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มีรูปแบบค่อนข้างโบราณ




นับได้ว่าศิลปะงานพระเมรุมาศครั้งนี้เป็นการรังสรรค์ศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๙

"ครั้งนี้ เราได้แนวคิดจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สร้างพระเมรุมาศให้เป็นแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๙ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เป็นลักษณะเฉพาะ"

นายสมชายกล่าวด้วยว่า การสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ โดยรวมเป็นศิลปะยุคสมัยรัชกาลที่ ๙ เพียงแต่รูปแบบการจัดสร้างเป็นการนำเอารูปแบบโบราณมาจัดสร้าง ยึดตามแนวความคิดเดิม แต่วิธีการทำใช้วิธีสมัยใหม่ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า ทำอะไรก็ได้ที่สมัยนี้มีเทคโนโลยี เราสมัยนี้แล้วก็ควรจะทำอะไรให้เหมาะสมกับยุคสมัย

ความพิเศษอีกด้าน คือจะมีประติมากรรม "คุณทองแดง" สุนัขทรงเลี้ยงประจำรัชกาลตั้งอยู่บริเวณฐานพระจิตกาธาน หรือแท่นที่เผาพระบรมศพ ทั้ง ๔ มุม

ทั้งนี้ การจัดสร้างประติมากรรมจัดทำโดยกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง
....ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด





พระมหาพิชัยราชรถ

“พระมหาพิชัยราชรถ” เป็นราชรถที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๓๘โดยปรากฏบันทึกการสร้างในพระราชพงศาวดารว่า “ปีเถาะ สัปตศก พระโองการรับสั่งให้ช่างทำพิชัยราชรถที่จะทรงพระโกศพระอัฐิ ๗ รถ ให้ตัดเสาพระเมรุตั้งทรงประดับเครื่อง ให้แล้วเสร็จในปีเถาะ”

พระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถทรงบุษบกขนาดใหญ่ สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกตกแต่งด้วยชั้นเกรินประดับกระหนกเศียรนาค กระหนกท้ายเกริน และรูปเทพนมโดยรอบ มีความกว้าง ๔.๘๕ เมตร ความยาวรวมงอนรถ ๑๘.๐๐ เมตร (ความยาวเฉพาะตัวรถ ๑๔.๑๐ เมตร) สูง ๑๑.๒๐ เมตร น้ำหนัก ๑๓.๗๐ ตัน ปัจจุบันใช้กำลังพลฉุดชักจากกรมสรรพาวุธทหารบก ๒๑๖ นาย

เมื่อแรกสร้างนั้นโปรดให้สร้างขึ้นเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามโบราณราชประเพณีที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อใช้ทรงพระบรมโกศเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ในปี พ.ศ.๒๓๓๙ หลังจากนั้นเมื่อสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ.๒๓๔๒ ก็โปรดให้เชิญพระโกศทรงบนพระมหาพิชัยราชรถออกพระเมรุ นับจากนั้นก็นำพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีและพระบรมวงศ์ผู้ทรงศักดิ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าในสมัยต่อๆ มา

พระมหาพิชัยราชรถชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา แต่ได้รับการซ่อมแซมอยู่เสมอ ดังที่ปรากฏในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งนอกจากการซ่อมแซมให้สวยงามแล้ว ยังโปรดให้เพิ่มล้อขึ้นอีก ๑ ล้อ เพื่อให้รับน้ำหนักตัวราชรถ บุษบกยอด และพระโกศ ที่ตั้งอยู่บนราชรถได้ทั้งหมด รวมถึงครั้งที่กรมศิลปากรบูรณะซ่อมแซมให้งดงามและมั่นคงถาวร แล้วเสร็จในปี ๒๕๓๐




อย่างไรก็ตาม ภายหลังเชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แล้ว (คราวนั้นพระมหาพิชัยราชรถชำรุดจนไม่สามารถฉุดชักออกมาจากที่ตั้งได้ จึงได้ใช้พระเวชยันตราชรถเป็นราชรถทรงพระบรมศพ โดยออกนามในหมายเรียกว่า พระมหาพิชัยราชรถ เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบรมศพตามราชประเพณี) ก็มิได้เชิญพระมหาพิชัยราชรถออกอีก โดยเชิญ “พระเวชยันตราชรถ” ออกใช้การแทน แต่ให้ขนานนามตามหมายกำหนดการว่า พระมหาพิชัยราชรถ

จนกระทั่งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ จึงได้บูรณะพระมหาพิชัยราชรถครั้งใหญ่โดยกรมศิลปากรและกรมสรรพาวุธทหารบก เพื่อเชิญพระบรมโกศประกอบพระราชอิสริยยศ และครั้งล่าสุดพระมหาพิชัยราชรถได้เชิญพระโกศทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๕

นอกจากนี้ พระมหาพิชัยราชรถยังเคยใช้เชิญพระโกศประกอบพระอิสริยยศของพระราชวงศ์ที่ไม่ได้ประทับในพระโกศ และจะได้เชิญออกใช้งานเชิญพระบรมโกศประกอบพระบรมราชอิสริยยศอีกครั้งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทางราชการมีหมายกำหนดการให้วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง

ปัจจุบันพระมหาพิชัยราชรถเก็บรักษาไว้ ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร





พระเวชยันตราชรถ
“พระเวชยันตราชรถ” เป็นราชรถทรงบุษบก มีความกว้าง ๔.๘๕ เมตร ยาว ๑๘ เมตร (รวมงอนรถ) สูง ๑๑.๒๐ เมตร หนัก ๑๒.๒๕ ตัน เป็นราชรถอีกองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

เมื่อแรกเริ่มพระเวชยันตราชรถได้ใช้เป็นรถพระที่นั่งรองในงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกในปี พ.ศ.๒๓๓๙ มีศักดิ์เป็นชั้นที่ ๒ รองจากพระมหาพิชัยราชรถ

ต่อมาได้ใช้ทรงพระโกศสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าแก้ว) คู่พระโกศสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสา) ซึ่งทรงพระมหาพิชัยราชรถ ออกพระเมรุท้องสนามหลวงคราวเดียวกัน พ.ศ.๒๓๔๒

หลังจากนั้นจึงได้ใช้ราชรถองค์นี้เป็นราชรถรองในงานออกพระเมรุของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มา และเป็นราชรถทรงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงศักดิ์สูง

จนถึงงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาพิชัยราชรถชำรุดจนไม่สามารถฉุดชักออกมาจากที่ตั้งได้ จึงได้ใช้พระเวชยันตราชรถเป็นราชรถทรงพระบรมศพ โดยออกนามในหมายเรียกว่า “พระมหาพิชัยราชรถ” เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบรมศพตามราชประเพณี

พระมหาพิชัยราชรถชำรุดไม่พร้อมต่อการอัญเชิญพระบรมศพ กระทั่งในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้ใช้เวชยันตราชรถเป็นรถทรงพระบรมศพ โดยออกหมายเรียก พระมหาพิชัยราชรถ และไม่มีราชรถรองในริ้วกระบวน

และแม้ในการพระเมรุอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ก็ได้ใช้เวชยันตราชรถเป็นรถอัญเชิญพระบรมศพ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๘ ซึ่งกรมศิลปากรได้ซ่อมแซมเสริมความมั่นคงและตกแต่งความสวยงามด้วยการลงรักปิดทองประดับกระจกในการนี้ ทั้งออกหมายเรียกว่า พระมหาพิชัยราชรถ

สำหรับงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ นั้น เดิมจะได้เชิญพระศพขึ้นทรงพระเวชยันตราชรถตามพระอิสริยยศ

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพด้วยพระมหาพิชัยราชรถ เพื่อถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี พระเวชยันตราชรถจึงไม่ได้อัญเชิญออกมาใช้งาน

ปัจจุบันพระเวชยันตราชรถได้เก็บรักษาไว้ ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ในกระบวนแห่พระบรมศพไปยังพระเมรุมาศ นอกจากพระมหาพิชัยราชรถและพระเวชยันตราชรถ ยังมี “ราชรถน้อย” อีก ๓ องค์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายราชรถองค์ใหญ่ทั้งสององค์ คือมีส่วนตัวรถที่แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก คานที่ยื่นออกมาเป็นรูปนาคราช บนราชรถมีบุษบกตั้งอยู่เช่นเดียวกัน แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก

ราชรถน้อยองค์หนึ่งใช้เป็นรถที่สมเด็จพระสังฆราชประทับ ทรงสวดนำกระบวนพระมหาพิชัยราชรถ ราชรถองค์ที่สองเป็นราชรถโยงผ้าจากพระบรมโกศ จัดเป็นราชรถตาม จากนั้นเป็นราชรถน้อยอีกองค์หนึ่ง ใช้เป็นรถสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ประทับ เพื่อทรงโปรยทานพระราชทานแก่ประชาชนที่มาเฝ้ากราบพระบรมศพตามทางสู่พระเมรุมาศ

ต่อจากนั้นตามด้วยราชรถรอง คือพระเวชยันตราชรถ และรถประทับอื่นๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าราชรถที่ใช้ในการพระบรมศพจริงๆ มี ๕ องค์ ซึ่งล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้นำออกใช้งานพระเมรุมาศทุกรัชกาลจนปัจจุบัน





ราชรถรางปืน-พระยานมาศสามลำคาน

ราชรถรางปืน และราชรถปืนใหญ่ เป็นราชรถที่ใช้เชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อครั้งดำรงพระชนม์ชีพ แทนพระยานมาศสามลำคานตามธรรมเนียมเดิม จากพระบรมมหาราชวัง หรือวังของพระบรมวงศ์พระองค์นั้นๆ สู่พระเมรุมาศ หรือพระเมรุ และแห่อุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ ๓ รอบ

เป็นธรรมเนียมใหม่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ เป็นครั้งแรก และครั้งหลังสุดในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓





ในหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เรียกราชรถนี้ว่า “ราชรถปืนใหญ่รางเกวียน” ส่วนในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เรียกว่า รถปืนใหญ่ เกวียนรางปืน รถปืนใหญ่รางเกวียน รางเกวียนปืนใหญ่

พระยานมาศสามลำคานสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้เชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นราชยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ ๓ ด้าน และมีคานหาม ๓ คาน จึงเรียกว่าพระยานมาศสามลำคาน หรือพระยานมาศสามคาน คนหามมี ๒ ผลัด ผลัดละ ๖๐ คน ใช้สำหรับเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถที่จอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เมื่อพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพไปถึงพระเมรุมาศแล้ว ก็จะใช้พระยานมาศสามลำคานนี้เชิญพระโกศพระบรมศพจากพระมหาพิชัยราชรถเวียนรอบพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงอีกครั้งหนึ่งในกรณีที่มิได้ใช้ราชรถปืนใหญ่เวียนพระเมรุมาศ

ยังมีข้อมูลจากหนังสือ ราชรถ ราชยาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยกรมศิลปากรว่า พระยานมาศสามลำคานที่ใช้เชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถที่จอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ขนาดความยาว ๗.๗๓ เมตร (พร้อมคานหาม) สูง ๑.๗๘ เมตร น้ำหนัก ๗๐๐ กิโลกรัม ส่วนพระยานมาศสามลำคานที่ใช้เพื่อการเชิญพระบรมโกศจากพระมหาพิชัยราชรถเวียนอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ขนาดความยาว ๘.๒๔ เมตร (พร้อมคานหาม) สูง ๑.๑๐ เมตร น้ำหนัก ๕๔๐ กิโลกรัม

มีรายละเอียดจากวิกิพีเดียว่า พระยานมาศสามลำคานเป็นคานหามขนาดใหญ่ กลางตั้งแท่นทำด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจกสี ลักษณะเป็นแท่นซ้อนลด ๔ ชั้น ย่อมุมไม้สิบสอง ชั้นบนสุดทำเป็นแผงราชวัติจำหลักลายประดับกระจกกั้น เว้นช่องที่ส่วนหน้าและส่วนหลัง และมีมุขยื่นออกมา

ฐานชั้นที่ ๓ ประดับรูปครุฑแกะสลักโดยรอบ ๓๘ ตัว ชั้นที่ ๔ ประดับเทพนม ๒๖ องค์ ตัวแท่นยานมาศตั้งยึดติดกับลำคานทั้ง ๓ บนยานมีแผ่นไม้ขนาดใหญ่รูปแปดเหลี่ยมพร้อมขอเกี่ยว ๔ ตัวติดไว้ พื้นไม้ด้านบนทาสีแดง รอบข้างสลักลายปิดทอง เป็นที่สำหรับตั้งพระโกศให้มั่นคง

คานทั้ง ๓ เป็นไม้กลึงกลมทาสีแดง สร้างจากไม้เนื้อแข็งจำนวนสามลำ ปลายสลักเป็นหัวเม็ดปิดทองประดับกระจกสี
  ที่มา - หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 ตุลาคม 2560 16:52:42 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 19 กันยายน 2560 16:10:41 »





พระเมรุมาศรัชกาลที่ ๙

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร  เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๕๒ นาฬิกา ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช รัฐบาลประกาศไว้ทุกข์ถวายความไว้อาลัยเป็นเวลา ๑ ปี สำนักพระราชวังมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพระหว่างวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ถึง ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

และรัฐบาลกำหนดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ หลังจากการจัดสร้างพระเมรุมาศแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายนปีเดียวกัน แต่ทั้งนี้ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้มีพระราชวินิจฉัยเสียก่อน

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์วินิจฉัยในการจัดสร้างพระเมรุมาศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานอำนวยการพระราชพิธี

การเตรียมจัดงานพระราชพิธี การจัดสร้างพระเมรุมาศ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ มีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างเป็นครั้งแรก โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เป็นประธาน โดยมีการเปิดเผยร่างแบบพระเมรุมาศ พร้อมด้วยพระโกศจันทน์ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และส่งมอบพื้นที่ให้กรมศิลปากรจัดสร้างพระเมรุมาศในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐ โดยการจัดสร้างในทุกๆ ด้าน คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปีเดียวกัน และจะจัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา ๒ เดือน ก่อนรื้อถอน

องค์ประกอบพระเมรุมาศ ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ ประกอบด้วย สตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร  ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการ และ ธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ  พระเมรุมาศออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณี รูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์

เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง ๕๐.๔๙ เมตร (ต่อมาได้ขยายเป็น ๕๓ เมตร) มีชั้นเชิงกลอน ๗ ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๖๐ เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นที่สูง มี ๓ ชั้น ชั้นบน ที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วย ซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ ๒ ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน

รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ ๙ ยอด โดยยอดกลางจะเปรียบเหมือนเป็นเขาพระสุเมรุ และอีก ๘ ยอดเป็นเหมือนยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเปรียบเป็นระบบจักรวาล โดยเปรียบพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนสมมติเทพ ทั้งนี้ มีเสาโครงเป็นครุฑและสัตว์หิมพานต์ ครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ มีความเชื่อตามสมมติเทพว่า พระมหากษัตริย์เป็นพระนารายณ์อวตารลงมา





อาคารประกอบพระราชพิธี ได้แก่ พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง ๔๔.๕๐ เมตร ยาว ๑๕๕ เมตร เป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี ตลอดจนเป็นที่ประทับสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวงศ์ต่างประเทศ พระราชอาคันตุกะ รวมทั้งจัดเป็นที่ประทับและที่นั่งสำหรับพระราชวงศ์ สมาชิกราชสกุล ราชินิกุลทุกมหาสาขา ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า สตรีผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯ คณะองคมนตรี สมุหราชองครักษ์ เลขาธิการพระราชวัง ราชเลขาธิการ ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชบริพาร ข้าในพระองค์ นางสนองพระโอษฐ์ นางพระกำนัล และผู้ตามเสด็จ นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งทหารและตำรวจ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคณะทูตานุทูตและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนข้าทูลละอองธุลีพระบาท และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทภายในพระที่นั่งทรงธรรม และเป็นที่ตั้งอาสนะพระสงฆ์และธรรมาสน์ เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล รองรับได้ประมาณ ๒,๘๐๐ ที่นั่ง

ซ่าง เป็นทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น ที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ ในช่วงพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ, หอเปลื้อง เป็นทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับเป็นที่เก็บพระโกศทองใหญ่ หลังจากอัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานพระจิตกาธานประกอบพระโกศจันทน์บนพระเมรุมาศแล้ว และเป็นที่เก็บเครื่องใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ศาลาลูกขุน แบบที่ ๑ ใช้เป็นที่เฝ้าฯ ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการสำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขาธิการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี, ศาลาลูกขุน แบบที่ ๒ ใช้เป็นที่เฝ้าฯ ของข้าราชการและผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี และศาลาลูกขุน แบบที่ ๓ ใช้เป็นที่พักสำหรับทหารมหาดเล็ก และใช้เป็นห้องสุขา ตลอดจนใช้เป็นห้องส่งสำหรับส่งสัญญาณในการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี

ทับเกษตร สำหรับใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและวงปี่พาทย์ และใช้เป็นที่เฝ้าฯ ของข้าราชการและผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี ตลอดจนเป็นที่พักสำหรับทหารมหาดเล็ก และเจ้าพนักงาน รวมทั้งใช้เป็นที่เฝ้าฯ ของข้าราชการ และผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี และทำเป็นห้องสุขา, ทิม สำหรับทหารมหาดเล็ก เจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก ใช้เป็นที่เฝ้าฯ ของข้าราชการและผู้ที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธี และทำเป็นห้องสุขา

พลับพลายกท้องสนามหลวง อยู่ด้านนอกเขตรั้วราชวัติด้านทิศเหนือ ใช้สำหรับที่ประทับ สำหรับเสด็จรับพระบรมศพลงจากพระมหาพิชัยราชรถ สู่ราชรถปืนใหญ่, พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ใช้สำหรับที่ประทับ สำหรับเสด็จรับพระบรมศพจากพระยานมาศสามลำคาน สู่พระมหาพิชัยราชรถ, พลับพลายกพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท อยู่ด้านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท หน้าพระบรมมหาราชวัง สำหรับเจ้านายฝ่ายในประทับทอดพระเนตรกระบวน และถวายบังคมพระบรมศพ และ เกยลา ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง สำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน

การออกแบบภูมิทัศน์จะจำลองพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสร้างสระน้ำบริเวณ ๔ มุม จำลองกังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ ส่วนการออกแบบงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วยงานศิลปกรรมประกอบอาคาร ฉัตร เทวดา สัตว์หิมพานต์ ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ งานเขียนฉากบังเพลิงและจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ที่มา - หนังสือพิมพ์ข่าวสด




ประโคมย่ำยาม

การประโคมย่ำยามเป็นราชประเพณีโบราณในพระบรมมหาราชวัง จัดเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างหนึ่ง เพื่อเป็นสัญญาณให้ข้าราชการรู้กำหนดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในพระราชพิธีพระบรมศพ หรือพระศพพระราชวงศ์ ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ ทั้งนี้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นพิธีที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา แต่มีการจดบันทึกชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๔ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติที่ควรได้รับการอนุรักษ์และสืบสานอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ว่า การประโคมดนตรีในงานพระราชพิธีจัดเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานพระราชพิธีที่จะต้องบรรเลงไปตามขั้นตอนของพระราชพิธีควบคู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง

การประโคมย่ำยาม มีความหมายดังนี้ “ประโคม” หมายถึง บรรเลงดนตรีเพื่อเป็นสัญญาณในพิธีบางอย่างเพื่อสักการบูชาหรือยกย่อง เป็นต้น, “ย่ำ” หมายถึง ตีกลองหรือฆ้องถี่ๆ หลายครั้งเพื่อบอกเวลา

สำหรับเปลี่ยนยาม เรียกว่า ย่ำกลอง ย่ำฆ้อง ย่ำยามก็เรียก ถ้ากระทำในยามเช้า เรียกว่า ย่ำรุ่ง (ราว ๐๖.๐๐ น.) ถ้ากระทำในเวลาค่ำ เรียกว่า ย่ำค่ำ (ราว ๑๘.๐๐ น.) “ยาม” หมายถึงชื่อส่วนแห่งวัน ยามหนึ่งมี ๓ ชั่วโมง รวมวันหนึ่งมี ๘ ยาม

รวมเป็น “ประโคมย่ำยาม” หมายถึงการบรรเลงดนตรีเพื่อการสักการบูชาและเป็นสัญญาณแจ้งให้ทราบถึงเวลาที่จะต้องปฏิบัติงาน โดยมีระยะห่างกันครั้งละ ๓ ชั่วโมง เริ่มเวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา ประโคมครั้งที่ ๑ จนถึงเวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา นับเป็นการประโคมครั้งที่ ๘ ครั้งสุดท้ายของแต่ละวัน ปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่ครั้งสมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบัน โดยมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์

การรื้อฟื้น ย้อนไป พ.ศ.๒๕๓๘ ในการพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ที่จะรื้อฟื้นการประโคมดนตรี เพื่อที่แสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมและขนบประเพณีที่มีมาแต่โบราณ

โดยมีพระราชดำริกับนายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในขณะที่ถวายการบรรเลงดนตรีไทยในงานพิธีไหว้ครูช่าง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่ ของกรมศิลปากร ไปประโคมย่ำยามควบคู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง

เริ่มเข้าไปประโคมย่ำยามครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๘ กำหนดให้ประโคมวันละ ๕ ครั้ง คือ ประโคมครั้งที่ ๑ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา ประโคมครั้งที่ ๒ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา ประโคมครั้งที่ ๓ เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ประโคมครั้งที่ ๔ เวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา ประโคมครั้งที่ ๕ เวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา และหลังจากบำเพ็ญพระราชกุศลครบ ๑๐๐ วัน แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่เข้าไปประโคมย่ำยามเฉพาะเวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา และเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา จนถึงพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ

ล่วงถึงการพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่เข้าประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวังจนครบ ๑๐๐ วัน เริ่มวันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยกำหนดให้ประโคมวันละ ๖ ครั้ง ดังนี้ ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๑ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๒ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๓ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๔ เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๕ เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ประโคมย่ำยามครั้งที่ ๖ เวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา

ส่วนวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง โดยปกติมี ๒ วง คือ

๑.วงสังข์แตร มี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง (จำนวนของเครื่องดนตรีทั้งวงตามพระราชอิสริยยศ) และ ๒.วงปี่ไฉนกลองชนะ มี ปี่ไฉน ๑ (มี ๒ คนสลับกันเป่า) เปิงมาง ๑ กลองชนะแดงลายทอง (จำนวนตามพระราชอิสริยยศ)




พระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่เข้าประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวังจนครบ ๑๐๐ วัน

เริ่มวันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งในการประโคมย่ำยามครั้งนี้ ตามโบราณราชประเพณีและพระราชอิสริยยศ วงประโคมของงานเครื่องสูงจะมีกลองมโหระทึก จำนวน ๒ ใบ ตีประโคมอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น วงประโคมย่ำยามในการพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงมีวงประโคมและเครื่องดนตรี ดังนี้

๑.วงประโคมของงานเครื่องสูง ประกอบด้วย มโหระทึก ๒ ใบ วงสังข์แตร และวงปี่ไฉนกลองชนะ วงสังข์แตร มีเครื่องดนตรี ได้แก่ สังข์ ๔ ขอน แตรงอน ๑๐ คัน แตรฝรั่ง ๑๐ คัน ส่วนวงปี่ไฉนกลองชนะ มีเครื่องดนตรี ได้แก่ ปี่ไฉน ๑ เลา เปิงมาง ๑ ลูก กลองชนะแดงลายทอง ๔๐ ใบ

๒.วงประโคมของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ใช้วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ เครื่องดนตรีทุกชิ้นประดับด้วยมุก ประกอบด้วย ปี่ชวา ๑ เลา ระนาดเอก ๑ ราง ระนาดเอกเหล็ก ๑ ราง ระนาดทุ้ม ๑ ราง ระนาดทุ้มเหล็ก ๑ ราง ฆ้องวงใหญ่ ๑ วง ฆ้องวงเล็ก ๑ วง กลองทัด ๒ ลูก ฉิ่ง ๑ คู่

การประโคมเริ่มด้วยวงสังข์แตรกับวงปี่ไฉนกลองชนะ (ประโคมสลับต่อเนื่องกัน) เป็นวงประโคมลำดับที่ ๑ วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ เป็นวงประโคมลำดับที่ ๒ มีลำดับการประโคม ดังนี้

วงประโคมลำดับที่ ๑ เริ่มด้วยประโคมมโหระทึก(ตีประโคมตลอดเวลาจนกระทั่งจบการประโคมลำดับที่ ๑) วงสังข์แตรประโคมเพลงสำหรับบท จบแล้ว วงปี่ไฉนกลองชนะประโคมเพลงพญาโศกลอยลม เมื่อจบกระบวนเพลงแล้ว วงสังข์แตรประโคมเพลงสำหรับบทอีกครั้ง ต่อด้วยวงปี่ไฉนกลองชนะประโคมเพลงพญาโศกลอยลมอีกครั้งหนึ่ง จบกระบวนเพลง และวงสังข์แตรประโคมเพลงสำหรับบทครั้งสุดท้าย เป็นการจบการประโคมลำดับที่ ๑

วงประโคมลำดับที่ ๒ วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ ประโคมเพลงเรื่องนางหงส์ ประกอบด้วย เพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน เพลงสาวสอดแหวน เพลงกระบอกทอง เพลงคู่แมลงวันทอง และเพลงแมลงวันทอง เป็นเพลงสุดท้าย เมื่อประโคมจบ เป็นการเสร็จการประโคมย่ำยาม ๑ ครั้ง

นอกจากนี้ในพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในแต่ละวันนั้น ขณะที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้า วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเช้า และในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (๗ วัน) ปัณรสมวาร (๑๕ วัน) ปัญญาสมวาร (๕๐ วัน) และในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (๑๐๐ วัน) วงปี่พาทย์พิธี บรรเลงเพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเพล ดั่งเช่นได้ถือปฏิบัติมา

ทั้งนี้ วงประโคมของสำนักพระราชวังใช้คำเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่า “เจ้าพนักงาน” เช่น เจ้าพนักงานประโคมมโหระทึก เจ้าพนักงานจ่าปี่ เจ้าพนักงานจ่าเปิง เป็นต้น

แต่งกายด้วยชุดสีแดงตามโบราณราชประเพณีซึ่งแต่งเหมือนกันหมดทั้งในงานพระราชพิธีมงคลและพระราชพิธีอวมงคล, วงสังข์แตร เครื่องแต่งกายประกอบด้วย หมวกปัสตูแดงรูปกรวยปลายพู่ขาว เสื้อปัสตูแดง แขนบานขลิบลูกไม้ใบข้าว กางเกงปัสตูแดงขลิบเหลือง รองเท้าดำ

เจ้าพนักงานมโหระทึก จ่าปี่ และจ่ากลอง (เปิงมาง) เครื่องแต่งกายประกอบด้วย หมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดบัวตูม เสื้อเข็บขาบไหม กางเกงมัสรู่ไหม เข็มขัดแถบทองหัวครุฑ รองเท้าดำ, เจ้าพนักงานจ่ากลอง (ชนะ) เครื่องแต่งกายประกอบด้วย หมวกกลีบลำดวนปัสตูแดงขลิบเหลือง เสื้อปัสตูแดง กางเกงปัสตูแดงขลิบเหลือง รองเท้าดำ

วงประโคมของกรมศิลปากร ใช้คำเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่า “นักดนตรี” หากมีชื่อเรียกตามตำแหน่งว่า “ดุริยางคศิลปิน” แต่งกายตามหมายกำหนดการที่กำหนดไว้ให้ ได้แก่ เครื่องแบบเต็มยศไว้ทุกข์ เครื่องแบบครึ่งยศไว้ทุกข์ และเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์

ในการประโคมย่ำยามครั้งนี้ ตามโบราณราชประเพณีและพระราชอิสริยยศ วงประโคมของงานเครื่องสูงจะมีกลองมโหระทึก จำนวน ๒ ใบ ตีประโคมอยู่ตลอดเวลา
....ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 มกราคม 2561 10:19:05 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 26 ตุลาคม 2560 17:23:38 »



พระราชสรีรางคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
(รัชกาลที่ ๘) ซึ่งก่อนเสด็จสวรรคตได้กราบทูล พระราชมารดาให้บรรจุพระราชสรีรางคาร

พระบรมอัฐรัชกาลที่ ๘ ประดิษฐานที่วัดสุทัศน์

พระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ มิได้ประดิษฐานรวมอยู่ ณ อนุสรณ์สถาน “รังษีวัฒนา” สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (ภายในบรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) รวมทั้งสมาชิกสายราชสกุลมหิดล) ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อสวรรคตนั้น ยังมิได้ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี แต่มีขึ้นในตอนหลัง

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ขึ้นเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมล รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช” รวมทั้งยังได้ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางองค์ เช่น พระมหาเศวตฉัตรหรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งใช้ในการกางกั้นพระบรมศพและพระบรมอัฐิ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พระวิมานพระบรมอัฐิ หอพระธาตุมณเฑียร บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคาร เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบบรรจุพระบรมราชสรีรางคารไปยังวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งถือเป็นวัดประจำรัชกาล และอัญเชิญบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ (ผ้าทิพย์ด้านหน้าพระพุทธบัลลังก์) “พระศรีศากยมุนี” พระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม

อีกส่วนหนึ่งของพระบรมราชสรีรางคาร อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์ราชสกุลมหิดล วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ที่พระเจดีย์แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้ามุขด้านทิศตะวันออกของโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นที่บรรจุ
        ๑.พระบรมราชสรีรางคาร ส่วนหนึ่ง และพระตัจจะพระนลาฏ (ผิวหนังหน้าผาก) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
        ๒.พระทนต์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อัญเชิญมาบรรจุไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ ทรงให้อัญเชิญมาบรรจุพร้อมกันกับพระราชสรีรางคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ ตรัสว่า “ไว้เป็นเพื่อนลูกแดง”
        ๓. พระราชสรีรางคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งก่อนเสด็จสวรรคตได้กราบทูล พระราชมารดาให้บรรจุพระราชสรีรางคาร ส่วนหนึ่งของพระองค์ไว้ ณ พระสถูปเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล เพื่อให้หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ได้มีโอกาสมาถวายสักการะได้โดยสะดวก โดยไม่ต้องเข้าไปถึงหอพระธาตุมณเฑียรบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งอาจจะเป็นการลำบากสำหรับหม่อมสังวาลย์
        ๔.พระอัฐิส่วนหนึ่งของพระโสณี (สะโพก) ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพระอัฐิเมื่อคราวที่ทรงหกล้มและเสด็จเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช
        ๕.พระทนต์ของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และ
        ๖.พระทนต์และพระเกศาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ดังนั้น พระสถูปเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จึงมีครบทุกพระองค์ที่ล่วงลับไปแล้วแห่งราชสกุลมหิดล ซึ่งสืบสายตรงจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยทรงสร้างพระสถูปเจดีย์แห่งนี้ มีลักษณะเป็นพระสถูปเจดีย์ครึ่งองค์ เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิ พระอัฐิ และพระราชสรีรางคารของพระประยูรญาติ




พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑๔๖ ถนนตีทอง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชดำรัสให้สร้างขึ้น (ประมาณ พ.ศ.๒๓๕๐-๒๓๕๑) เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย อย่างไรก็ตามเมื่ออัญเชิญเข้ามาแล้วพระวิหารยังสร้างไม่เสร็จ สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง

ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงให้สร้างต่อไป และแสดงฝีพระหัตถ์ไว้เป็นอนุสรณ์ที่บานประตูกลางของพระวิหาร ร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี ดังในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า “ปีมะเมียจัตวาศกนั้น มีพระราชดำริว่า พระโต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้อัญเชิญลงมาจากวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย และได้สร้างวัดประดิษฐานไว้กลางพระนครที่ใกล้เสาชิงช้า

โดยพระราชดำริจะสร้างวิหารใหญ่ขนาดวิหารวัดพนัญเชิงที่กรุงเก่า พระวิหารนั้นยังค้างอยู่ จึงโปรดให้สร้างพระวิหารนั้นต่อมา จนยกเครื่องบนเสร็จ ค้างอยู่แต่ยังไม่ได้ยกช่อฟ้าใบระกา อนึ่งบานประตูพระวิหารนั้นโปรดให้สลักลายขุดด้วยไม้แผ่นเดียว กรมหมื่นจิตรภักดี เป็นนายงาน เมื่อคิดอย่างสำเร็จแล้ว ให้ยกเข้ามาในท้องพระโรงทรงสลักด้วยฝีพระหัตถ์ก่อน แล้วจึงให้ช่างทำต่อไป” แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์

ถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะสร้างพระวิหารจนสำเร็จ รวมถึงให้สร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ สัตตมหาสถานและกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม พระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม”

ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในวันที่ ๙ มิถุนายนของทุกปี

“พระศรีศากยมุนี” พระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยเนื้อโลหะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่ง มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓ วา ๑ คืบ นับเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยยุคก่อน ๒๕ พุทธศตวรรษ เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ครั้นเวลาผ่านไปพระวิหารหลวงของวัดหักพังลงทำให้พระพุทธรูปองค์ต้องตากแดดกรำฝน

ล่วงถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาเพื่อประดิษฐานยังวัดที่จะสร้างขึ้นกลางพระนคร ใกล้เสาชิงช้า โดยมีพระราชดำริจะสร้างพระอารามที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิงที่อยุธยา

พระราชพงศาวดารกล่าวถึงการอัญเชิญพระศรีศากยมุนีมายังกรุงเทพฯ ในครั้งนั้นว่า “ลุจุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรง สำริดศก (พ.ศ.๒๓๕๑) เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลที่ ๑ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ลงมาจากเมืองสุโขทัย หน้าตัก ๓ วาคืบ สมโภชที่หน้าตำหนักแพ ๓ วัน ครั้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เชิญชักพระขึ้นจากแพทางประตูท่าช้าง ไปทำร่มไว้ข้างถนนเสาชิงช้า

ประตูนั้นเรียกว่า ประตูท่าพระ มาจนทุกวันนี้ เหตุว่าต้องรื้อประตู จึงเชิญเข้าไปได้ พระพุทธรูปองค์นี้ภายหลังได้ถวายพระนามว่า พระศรีศากยมุนี





เก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิ

จากหนังสือ “คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” จัดทำโดยกรมศิลปากร ดังนี้

เก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิ เป็นพิธีที่กระทำขึ้นหลังจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว โดยประกอบพิธี ณ พระจิตกาธาน โดยเมื่อเสด็จขึ้นพระเมรุมาศ เจ้าพนักงานภูษามาลาเปิดผ้าคลุมพระบรมราชสรีรางคาร ทรงสรงพระบรมอัฐิด้วยน้ำพระสุคนธ์ เจ้าพนักงานแจงพระบรมอัฐิ โดยเชิญพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคารเรียงเป็นลำดับให้มีลักษณะเหมือนรูปคน หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก

จากนั้นหันพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคารที่แจงไว้มาทางทิศตะวันออก เรียกว่า แปรพระบรมอัฐิ แล้วจึงถวายคลุมด้วยผ้า เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคลุมด้วยผ้า ๓ ชั้น คือ แพรขาว ผ้าตาด และผ้ากรองทอง

ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองน้อย ทรงกราบถวายบังคมพระบรมอัฐิ แล้วเสด็จลงมาประทับพระที่นั่งทรงธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เหล่าราชนิกุล ข้าราชการ เดินสามหาบ ต่อมาเปลี่ยนเป็นการทำสำรับภัตตาหารสามหาบตั้งถวาย พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองน้อย ทรงทอดผ้าไตร สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะสดับปกรณ์ ทรงโปรยเหรียญทองเหรียญเงินพระราชทาน เจ้าพนักงานภูษามาลาเปิดผ้าคลุมพระบรมอัฐิ ทรงเก็บพระบรมอัฐิลงสรงในขันทรงพระสุคนธ์

การเก็บพระบรมอัฐิจะเลือกเก็บแต่ละส่วนของพระสรีระอย่างละเล็กน้อย พร้อมกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในที่ได้รับพระบรมราชานุญาตขึ้นรับพระราชทานพระบรมอัฐิไปสักการบูชา แล้วทรงประมวลพระบรมอัฐิบรรจุพระโกศ หลังจากนั้นเชิญพระโกศพระบรมอัฐิไปยังพระที่นั่งทรงธรรมทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญลงบรรจุในพระผอบโลหะปิดทองประดิษฐานบนพานทองสองชั้นคลุมผ้าตาดพักรอไว้บนพระเมรุมาศ]”




การเก็บรักษาพระบรมอัฐิ พระอัฐิ การนำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ ที่ถวายพระเพลิง พระราชทานเพลิงแล้ว บรรจุใส่พระบรมโกศ พระโกศขนาดเล็กไปเก็บรักษานั้น ในสมัยอยุธยามีธรรมเนียมการสร้างพระสถูปเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิและพระอัฐิตรงที่ถวายพระเพลิง พระราชทานเพลิง และสถานที่อื่นๆ ต่อมาได้เชิญพระบรมอัฐิไปบรรจุไว้ ณ ท้ายจระนำพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์ ส่วนพระอัฐิก็เชิญบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดแห่งอื่นในกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกประดิษฐานไว้ ณ หอพระธาตุมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง ในรัชกาลต่อๆ มาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร รวมทั้งพระอัฐิพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงบางพระองค์ ส่วนพระบรมวงศ์ฝ่ายในที่ทรงศักดิ์เสมอพระองค์เจ้าลูกหลวงที่ไม่มีเจ้าพี่เจ้าน้องที่ออกวังเป็นส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิของพระบรมชนกนาถจากหอพระธาตุมณเฑียรมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งมหิศรปราสาท ในรัชกาลต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญกลับไปประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียรตามเดิม

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จึงโปรดให้จัดชั้นบนภายใต้ยอดปราสาทองค์กลางเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ภายหลังจึงเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของรัชกาลต่อๆ มา รวมทั้งพระบรมอัฐิสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ส่วนชั้นบนภายใต้ยอดปราสาทองค์ตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิพระประยูรญาติที่ทรงศักดิ์สูงและใกล้ชิด




เดินสามหาบ

จากหนังสือ "คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" จัดทำโดยกรมศิลปากร ดังนี้

เดินสามหาบ เป็นคำที่ปรากฏในเอกสารเก่าในหมายกำหนดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระราชทานเพลิงพระศพ รวมทั้งในงานปลงศพของสามัญชนในอดีต ก่อนการเก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ได้จัดพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าออกเป็น ๙ ชุด ชุดละ ๓ คน ทำหน้าที่ถือและหาบสิ่งของต่างๆ คนที่หนึ่งถือผ้าไตร (ผ้าไตรสามหาบ) นำหน้า คนที่สองหาบสาแหรกซึ่งวางตะลุ่มและเตียบบรรจุภัตตาหารถวายพระสงฆ์ (ภัตตาหารสามหาบ) คนที่สามถือหม้อข้าวเชิงกรานซึ่งเป็นเตาไฟสำหรับตั้งหม้อหุงต้มในสมัยโบราณ ในหม้อใส่ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม กะปิ ฯลฯ เดินเวียนรอบพระเมรุมาศ พระเมรุโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) ๓ รอบ

จากนั้นพระมหากษัตริย์เสด็จฯ ขึ้นบนพระเมรุมาศ พระเมรุ ทรงทอดผ้าไตรสามหาบบนผ้าที่ถวายคลุมพระบรมอัฐิ พระอัฐิ สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะขึ้นสดับปกรณ์บนพระเมรุมาศ พระเมรุ จากนั้นทรงเก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เสด็จฯ ยังพระที่นั่งทรงธรรม ทรงประเคนภัตตาหารสามหาบแด่สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะที่สดับปกรณ์ผ้าไตร เมื่อรับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา




ทั้งนี้ ในพระราชพิธีปัจจุบันยกเลิกการเดินสามหาบรอบพระเมรุมาศ พระเมรุ คงไว้แต่เพียงการถวายผ้าไตรสามหาบก่อนเก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิ และถวายภัตตาหารสามหาบเมื่อเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระอัฐิมาประดิษฐานบนบุษบก

เหนือพระแท่นแว่นฟ้าทอง ณ พระที่นั่งทรงธรรม โดยภัตตาหารสามหาบจัดตามพระเกียรติยศคือ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี จัด ๓ ชุด (เก้าสำรับ) ชั้นเจ้าฟ้า จัด ๒ ชุด (หกสำรับ) ชั้นพระองค์เจ้าจัด ๑ ชุด (สามสำรับ)

มีข้อมูลจากสำนักราชบัณฑิตยสภาว่า เดินสามหาบเป็นคำเรียกพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ทำเมื่อเผาศพแล้ว วันรุ่งขึ้นเจ้าภาพจะต้องไปเก็บอัฐิเพื่อนำมาเก็บในที่อันควร และนำเถ้าที่เหลือไปลอยน้ำ เรียกว่าลอยอังคาร ในการเก็บอัฐิเดิมลูกหลานจะจัด๓ หาบ

ในสมัยโบราณจะให้ลูกหลาน ๓ คนแต่งกายสีขาว นำหาบทั้งสามไปเดินเวียนรอบที่เผาศพ กู่ร้อง ๓ ครั้ง แล้วนำหาบทั้ง ๓ นั้นไปถวายพระภิกษุ ๓ รูป พร้อมกับผ้าบังสุกุลอีกรูปละ ๑ ชุด เมื่อพระชักผ้าบังสุกุลและรับถวายหาบแล้วก็เสร็จพิธี

ปัจจุบันมักไม่ใช้หาบ แค่จัดอาหารใส่ปิ่นโต หรือถาดตามสะดวก ก็เรียกว่าทำสามหาบเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ คำว่าสาม ในเดินสามหาบ และทำสามหาบ ต้องเขียนเป็นตัวหนังสือ


ที่มา : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.822 วินาที กับ 30 คำสั่ง

Google visited last this page 16 พฤศจิกายน 2567 09:22:24