[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
21 ธันวาคม 2567 16:19:19 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระมหากรุณาของพระพุทธองค์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  (อ่าน 2147 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 20 ธันวาคม 2560 15:42:07 »



พระมหากรุณาของพระพุทธองค์

ท่านมหาน้อย อาจารยางกูร ชาวแปดริ้ว เปรียญ ๗ ประโยค แห่งสำนักวัดสระเกศวรมหาวิหาร (วัดที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์สถิตอยู่ในปัจจุบันนี้แหละครับ)

ท่านผู้นี้เป็นปราชญ์ในด้านภาษาบาลีและภาษาไทย ได้แต่งตำราภาษาไทยที่คนรุ่นพ่อผมได้เรียนกัน (รุ่นผมไม่ได้เรียน) อาทิ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน พิศาลการันต์

บรรดาศักดิ์ของท่าน พระยาศรีสุนทรโวหาร ท่านได้แต่งคำประพันธ์มนัสการพระรัตนตรัยไพเราะมาก ที่คนรุ่นผมสวดในโรงเรียนประจำ (รุ่นลูกผมไม่ได้สวดแล้ว) คือบทขึ้นต้นด้วย องค์ใดพระสัมพุทธ นั้นแล

ตอนหนึ่งว่า “องค์ใดประกอบด้วย พระกรุณาดังสาคร โปรดหมู่ประชากร มะละโอฆะกันดาร ชี้ทางบรรเทาทุกข์และชี้สุขเกษมศานต์ ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย”

ครับ พรรณนาพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้าด้วยคำไม่กี่คำแต่ครอบคลุม ลึกซึ้ง และกินใจเป็นอย่างยิ่ง พระมหากรุณาของพระพุทธองค์นั้นไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ

พระเทวทัตผู้ตั้งตัวเป็นศัตรูจองล้างจองผลาญพระองค์แบบแลกด้วยชีวิต ภายหลังอาพาธหนัก สำนึกในความผิดมหันต์ของตน รำพึงเบาๆ ว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงมีความขุ่นเคืองในตัวท่านแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ตัวท่านร้ายต่อพระองค์ปานฉะนี้ แล้วคิดจะไปกราบขอขมา แต่ไม่ทันได้ขอขมาก็มีอันเป็นไปก่อน

พระอรรถกถาจารย์สำนองความรู้สึกของพระเทวทัต กล่าวคาถายืนยันว่า “พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงมีพระทัยเสมอกัน (ทรงรักเท่ากัน) ในคนและสัตว์ทั้งหมดนี้คือ นายขมังธนู (ที่ไปยิงพระองค์) พระเทวทัต โจรองคุลิมาล ช้างธนบาล (ช้างนาฬาคิรี) และพระราหุล พุทธชิโนรส”

เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ ผมขอนำเรื่องของผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาจากพระพุทธองค์มาเล่าให้ฟังสัก ๓-๔ ตอน หรือมากกว่านั้น ท่านเหล่านี้ถ้าไม่ได้พระพุทธองค์ทรงช่วยเหลือ ก็ไม่แน่ใจว่าชีวิตจะจมปลักอยู่นานแสนนานสักเท่าใด

เริ่มด้วยเรื่องพระสงฆ์องค์เจ้าก่อนก็แล้วกัน พระหนุ่มรูปหนึ่งบวชด้วยศรัทธาที่จะประพฤติพรหมจรรย์เพื่อมรรคผลนิพพาน ดุจดังสาวกรูปอื่น ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามกำลังสามารถ อยู่มาวันหนึ่งได้ยินพระหนุ่มด้วยกันพูดถึงนางนครโสเภณีคนหนึ่ง ว่านางเป็นคนใจบุญสุนทาน ใส่บาตรพระทุกวัน

และเหนืออื่นใด นางสวย สวยมากจริงๆ ขนาดผมเจริญอสุภกรรมฐานเป็นนิตย์ ยังอดชมความงามของเธอมิได้ ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งพูด

พูดเล่นหรือพูดจริงไม่รู้ละครับ แต่ภิกษุหนุ่มรูปนี้ได้ยินเข้าก็เป็นอย่างที่เมียน้อยนักปฏิวัติท่านหนึ่งพูดกับผู้สื่อข่าวว่า พอพบท่านเท่านั้นก็วูบทันทีว่านี่แหละเนื้อคู่เรา อะไรทำนองนั้น กามเทพซุกซนแผลงศรปักอกหนุ่มเข้าให้แล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นหน้า

คืนนั้นทั้งคืนนอนหลับหรือไม่ไม่ทราบ เดาเอาว่าคงหลับๆ ตื่นๆ แหละน่า ตื่นเช้าขึ้นก็ครองจีวรเดินตรงไปยังคฤหาสน์ของนางนครโสเภณีคนนั้น (ตำแหน่งนครโสเภณี พระราชาทรงแต่งตั้ง มีเงินเดือนกินแพงๆ ย่อมไม่อยู่บ้านกระจอกแน่นอน)

ไปถึงก็ยืนสงบสำรวมที่หน้าคฤหาสน์

พระหนุ่มหารู้ไม่ว่า เมื่อวันก่อนหลังใส่บาตรเสร็จ นางนครโสเภณีคนนี้ อ้อ ลืมบอกไปเธอคือ นางสิริมา น้องสาวของหมอชีวก โกมารภัจจ์ ป่วยกะทันหัน แต่รุ่งเช้าขึ้นก็ไม่งดใส่บาตร ให้สาวใช้พยุงมาใส่บาตรพระเช่นเคย

ภิกษุหนุ่มเห็นนางสิริมาแล้ว ก็รำพึงว่า โอ ขนาดนางป่วยหนัก ไม่แต่งหน้าทาปากอะไร ยังสวยปานนี้ ถ้าไม่ป่วยนางจะสวยปานไฉนหนอ ก็ช่างคิดห่างไกลพรหมจรรย์ดุจดังยันดะอะไรปานนั้น

เธอรับข้าวจากนางสิริมาแล้วก็รีบกลับวัด ไปถึงก็วางบาตรไว้ตรงนั้นแหละ ไม่ฉันไม่เฉินมันแล้วข้าว นอนคลุมโปงครางหงิงๆ อยู่ มิไยเพื่อนภิกษุด้วยกันจะปลอบโยนอย่างไรก็ไม่ฟัง

ภิกษุหนุ่มมัวรำพึงรำพันถึงนางสิริมา หารู้ไม่ว่าหลังจากใส่บาตรให้เธอเช้าวันนั้นแล้ว นางก็สิ้นชีวิตลง พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่าสาวกผู้น่าสงสารของพระองค์กำลังป่วยเป็นไข้ใจอย่างหนัก สบโอกาสจะเยียวยารักษาพอดี จึงมีพุทธบัญชาไปยังพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า อย่าเพิ่งเผาศพนางสิริมา ให้นำนางไปไว้ที่ป่าช้าผีดิบ (อามกสุสาน สุสานที่ไม่เผาศพ เอาศพทิ้งไว้ให้แร้งกามากิน)

แล้วพระองค์ก็ให้ประกาศทั่วพระเชตวันว่า พระบรมศาสดาจะเสด็จไปทอดพระเนตรนางสิริมา ภิกษุรูปใดจะตามเสด็จไปดูบ้าง

กำลังครางหงิงๆ อยู่ ได้ยินดังนั้นภิกษุหนุ่มก็ลุกพรวดรีบเทข้าวบูดออกจากบาตร ล้างบาตรแล้ว ครองจีวรจ้ำอ้าวๆ ตามไปยืนข้างหลังภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงยืนหน้าศพนางสิริมา ทรงให้ประกาศดังๆ ว่า ใครอยากได้นางสิริมาไปอภิรมย์จ่ายเงินมาหนึ่งพันกหาปณะ

สิ้นเสียงประกาศมีแต่ความเงียบ ไม่มีใครแจ้งความจำนงสักราย

เสียงประกาศลดลงเรื่อยๆ ห้าร้อย…สี่ร้อย…สามร้อย…สองร้อย…หนึ่งร้อย…ห้าสิบ…ฯลฯ จนกระทั่งถึงกากณิกหนึ่ง (คงประมาณสลึงเฟื้องทำนองนั้น) ก็ยังคงมีแต่ความเงียบเช่นเคย

ถ้าเช่นนั้น ให้เปล่าๆ ใครอยากได้นางสิริมา เอาไปเลย

เสียงประกาศก้องเป็นครั้งสุดท้าย เงียบเช่นเคย ไม่มีใครสักคนร้องบอกว่า ฉันเอง พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูเอาเถอะท่านทั้งหลาย เมื่อนางยังมีชีวิตอยู่ เขาต้องจ่ายถึงพันกหาปณะ เพื่ออภิรมย์กับนางเพียงครู่เดียว บัดนี้ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีใครต้องการ” แล้วตรัสพระคาถาว่า

จงดูร่างกายที่ว่าสวยงามนี้เถิด เต็มไปด้วยแผล สร้างขึ้นด้วยกระดูก มากด้วยโรค มากด้วยความครุ่นคิดปรารถนาหาความยั่งยืนถาวรมิได้

ว่าแล้วก็ทรงหันมายังภิกษุหนุ่มที่ยืนเจี๋ยมเจี้ยมอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ เธอดุจดังคนสร่างเมา ดุจดังคนหลับฟื้นตื่นจากการหลับฝันร้าย สติสัมปชัญญะกลับสู่เนื้อสู่ตัว ก้มลงกราบแทบพระบาท ขนลุกชูชัน เกือบไปไหมล่ะกู อะไรทำนองนั้น

นับว่าเป็นพระมหากรุณาของพระพุทธองค์ที่ทรงช่วยไว้ทันท่วงที หาไม่คงกลายเป็นยันดะที่หนึ่ง ก่อนยันดะในศตวรรษที่ยี่สิบหกไปแล้ว


ที่มา : บทความพิเศษ พระมหากรุณาของพระพุทธองค์ (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๗๑ ฉบับที่ ๑๙๔๗ ประจำวันที่ ๘-๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๐



พระมหากรุณาของพระพุทธองค์ (๒)

สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ๖ พระองค์ออกบวช มี นายภูษามาลา หรือ บาร์เบอร์ คนหนึ่งชื่ออุบาลีบวชด้วย เจ้าชายทั้งหลายอนุญาตให้นายภูษามาลาบวชก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อจะถอดทิฐิมานะ ให้ลูกน้องบวชก่อน อายุพรรษามากกว่า พวกตนจะได้กราบไหว้

ยิ่งไปกว่านี้ บวชแล้วถือว่าตัดขาดจากตระกูลวงศ์ เป็นคนของพระศาสนา ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป ไปมีสกุลวงศ์ใหม่คือ “ศากยปุตติวงศ์” วงศ์แห่งสมณะศากยบุตร มีพระบรมศาสดาเป็นพ่อ

มีเพื่อนพระภิกษุด้วยกันเป็นพี่เป็นน้อง คอยช่วยเหลือดูแลกัน

นี้ว่าโดยหลักการ แต่โดยปฏิบัติก็อาจย่อหย่อนไปบ้าง ดังเกิดกรณีพระปูติคัตตะขึ้น นามเดิมท่าน ติสสะ ต่อมาได้สมญานามว่า ปูติคัตตะ (แปลว่า ผู้มีกายเน่าเหม็น) สาเหตุที่ท่านได้นามอันไม่พึงปรารถนาเช่นนี้ เนื่องมาจากท่านป่วยเป็นโรคผิวหนัง

แรกๆ ก็ไม่เป็นอะไรมาก แต่เนื่องจากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง ร่างกายก็เกิดตุ่มขึ้นเต็มตัว คันยุบยิบ ยิ่งเกาก็ยิ่งแสบยิ่งคัน หนักเข้าก็เป็นหนองแตกไหลเยิ้มไปทั่วร่าง ส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนา

เพื่อนสหธัมมิกด้วยกันต่างก็รังเกียจเดียดฉันท์ ปล่อยให้เธอดูแลตัวเองตามบุญตามกรรม

ท้ายสุด เธอถูกเพื่อนพระด้วยกันทอดทิ้ง นอนแซ่วอยู่บนแคร่รอความตายอย่างน่าสงสาร

พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณจึงทรงชักชวนพระอานนท์เสด็จไปยังสถานที่อยู่ของท่านติสสะ ไปถึงก็รับสั่งให้อานนท์ก่อไฟตั้งน้ำ น้ำเดือดแล้วก็ทรงผสมน้ำอุ่นด้วยพระองค์เอง ทรงยกถังน้ำอุ่นไปเช็ดตัวให้ท่านติสสะ โดยมิได้ทรงรังเกียจในกลิ่นเน่าเหม็นแต่ประการใด

ภิกษุทั้งหลายเห็นพระพุทธองค์ทรงลงมือทำด้วยพระองค์เองดังนั้น ก็รู้สึกสำนึกผิด มารับอาสาทำเอง พระองค์ตรัสว่า ไม่ต้อง ตถาคตทำเอง

หลังจากพระพุทธองค์ทรงเช็ดร่างกายสักพัก ภิกษุหนุ่มก็มีร่างกายเบา เธอรู้สึกปลื้มปีติล้นพ้นที่พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อตน ทั้งๆ ที่เพื่อนภิกษุด้วยกันไม่เหลียวแล แล้วเมื่อร่างกายเบา จิตใจก็สงบรำงับขึ้น พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาเตือนสติสั้นๆ ว่า

ไม่นานหนอ ร่างกายจะนอนทับแผ่นดิน ปราศจากวิญญาณ ดุจท่อนไม้ไร้ค่าที่ถูกทิ้งในป่า ฉะนั้น

เธอพิจารณาไปตามกระแสพระพุทธดำรัส ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับสิ้นชีวิต เป็นพระอรหัตที่ตำราเรียกว่า “สมสีสี” (อ่านว่า “สะ-มะ-สี-สี” แปลว่า ผู้ดับกิเลสและดับชีวิตพร้อมกัน)

เป็นอันว่าเธอได้พ้นทุกข์แล้ว เป็นการพ้นทุกข์จากสังสารวัฏอย่างถาวร ก็ยังเหลือแต่ภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นเพื่อนสหธัมมิกของติสสะนั้นแหละ จะต้องเวียนว่ายต่อไป

พระผู้มีพระภาคทรงหันมายังภิกษุทั้งหลายที่ยืนอยู่ข้างๆ ตรัสสอนว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอละบ้านเรือนมา ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีญาติพี่น้อง พวกเธอพึงดูกันและกัน ถ้าพวกเธอไม่ดูแลกันเองแล้วใครเล่าจะมาดูแล”

แล้วตรัสต่อไปว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าใครพึงหวังอุปฐากตถาคต ก็พึงอุปฐากดูแลภิกษุไข้เถิด ความหมายของพระองค์ก็คืออย่ามามัวเอาใจพระพุทธเจ้าเลย จงไปดูแลภิกษุไข้เถิด การดูแลภิกษุไข้ มีอานิสงส์เท่ากับดูแลพระพุทธทีเดียว

ถึงตอนนี้ก็ทำให้นึกถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ทิ้งหน้าที่การงานไปคอยตามตูดเจ้านาย สารพัดจะเอาใจเขา ข่าวว่าบางรายถึงขั้นให้ขี่คอข้ามน้ำก็มี เพื่อให้เจ้านายเมตตาปรานี ถ้าเจ้านายที่มีสำนึก ก็คงจะสอนลูกน้องดุจดังสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ รับสั่งว่า “ถ้าอยากเอาใจฉัน จงเอาใจใส่หน้าที่การงานให้ดี”

น่าตำหนิทั้งเจ้านายและลูกน้องนั่นแหละ แต่ผู้ที่ควรตำหนิมากกว่าก็คือข้าราชการผู้น้อย ไอ้พวกลิ้นทาชะแล็กทั้งหลายอยากได้ใคร่ดีมากจนลืมความเป็นคน ทำตนเป็นวัวควายให้เขาขี่เชียวหรือ ดูถูกศักยภาพของมนุษย์เช่นนี้ไม่ควรมาเป็นข้าราชการแล้วครับ

ส่วนจะไปเป็นอะไร เด็กๆ ก็ตอบได้



ที่มา : บทความพิเศษ พระมหากรุณาของพระพุทธองค์ (๒) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๗๑ ฉบับที่ ๑๙๔๘ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 มกราคม 2561 10:42:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.397 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 06 พฤศจิกายน 2567 09:33:15