[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
16 ธันวาคม 2567 09:00:59 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปกาเกอะญอต้าโป้ป่อและผ้าทอกี่เอว  (อ่าน 1896 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2490


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 05 กรกฎาคม 2561 11:31:16 »



ปกาเกอะญอต้าโป้ป่อและผ้าทอกี่เอว

ลูกไม้ปลิดปลิวตามแรงลมอ่อน พัดล่วงออกไปไม่ใกล้ไม่ไกลจากต้นแม่สักเท่าไรนัก หล่นไปรวมกับเศษซากใบไม้อื่นๆ ที่ปกคลุมผืนดินทับถมรวมกัน มันแข็งแกร่งพอที่จะหยั่งรากลงผืนดินได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการคัดสรรตามธรรมชาติ

ตามหลักสุภาษิตไทย “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ถือเป็นความหมายที่ดี แต่ตามหลักชีววิทยาแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้นแม่พยายามหลีกเลี่ยงและวิวัฒนาการให้ลูกไม้ตกไกลออกไปจากต้นแม่ ยิ่งลูกไม้หล่นไกลต้นได้นับเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะนั่นหมายความว่าโอกาสที่ต้นไม้จะได้เติบโตโดยไม่ต้องแย่งสารอาหารกันเองมีมากกว่าลูกไม้ที่ตกใกล้ต้น

ไม่ไกลจากจุดตกของลูกไม้เมล็ดนั้น ปรากฏพู่ชายผ้าขาวยาวกรอมเท้าลู่ตามแรงลม รอยยิ้มแสนกลยกกว้างเหนือมุมปาก ร่างมอมแมมรวมถึงชุดสีขาวถูกแต่งแต้มด้วยร่องรอยของความซุกซนดั่งเช่นเด็กน้อย เสียงหัวเราะ จังหวะการวิ่งที่กระโดดโลดเต้นจนพู่รอบเอวโบกสะบัดไปมาแสดงถึงความสนุกสนานเคล้าเสียงท่วงทำนองเตหน่า (เครื่องดนตรีประเภทสายของปกาเกอะญอชนิดหนึ่ง) ที่ดังลอยมาตามสายลมขณะกำลังร่วมงาน “ต้าโป้ป่อ”


            

ณ บ้านหม่องกั๊วะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในป่าผืนใหญ่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ยังมีหมู่บ้านที่ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญออาศัยร่วมกับธรรมชาติ ดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม คนกับป่าคอยเกื้อหนุนกัน

อัตลักษณ์ของชาวปกาเกอะญอมีอยู่ด้วยกันสามอย่าง หนึ่ง ยาสูบหอมกลิ่นสมุนไพรที่มีประโยชน์ในการไล่ยุง สอง หมากที่เคี้ยวกันจนติดปาก และสาม เครื่องนุ่งห่มที่พวกเขาสวมใส่

ควันยาสูบปรากฏเด่นชัดเมื่อมันถูกพ่นลอยขึ้นกระทบลำแสงที่ลอดผ่านจั่วย่ามบ่ายแก่ๆ ของวัน แสงส่องตกกระทบพื้นปูนเปลือยข้างวงล้อมเวทีต้าโป้ป่อ แวดล้อมด้วยกลุ่มเยาวชนตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่จำนวนหนึ่งคอยสนับสนุนข้างๆ เวที โดยฉันได้รับฉายาว่า “โคชูก่อ” ที่แปลได้ว่าสาวผมแดง ทันทีที่พิธีกรแนะนำผู้ร่วมงาน เรียกเสียงหัวเราะพร้อมเสียงเซ็งแซ่ชวนให้ฉันมองตาปริบๆ ก่อนที่จะทราบความหมายจากล่ามส่วนตัว หลังจากนั้นฉันก็ถูกเรียกว่า “โคชูก่อ” เป็นต้นมา

นอกจากเด็กนักเรียนชั้นประถมฯ ที่เดินทางมาพร้อมครูจากโรงเรียนแล้ว ทุกคนสวมใส่ชุดประจำถิ่นทั้งสิ้น ฉันอ้อยอิ่งอยู่กับภาพเบื้องหน้าสักพัก ชุดที่พวกเขาสวมเป็นชุดทรงกระบอก ผู้หญิงสวมชุดยาวกรอมเท้าบ้าง ครึ่งหน้าแข้งบ้าง ส่วนมากพื้นสีขาวมีลายทอที่หน้าอกและชายเสื้อลวดลายแตกต่างกันไป เรียกชุดเหล่านี้ว่าเชวา ส่วนผู้ชายสวมเสื้อลายทางแนวตั้งเรียกว่าเชโปล้ นุ่งโสร่งหรือกางเกงและสะพายย่าม

เครื่องนุ่งห่มเหล่านี้ได้จากหัตถกรรมการทอผ้าด้วยฝีมือการกี่เอวของชาวปกาเกอะญอ พวกเขาสวมชุดประจำถิ่นมาร่วมงานประเพณี พิธีกรรม หรืองานวัฒนธรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีส่งนก การทำบุญต้นไทร ทำบุญรับขวัญข้าว ทำบุญยุ้งข้าว ทำบุญเจดีย์ และงานต้าโป้ป่อที่ทุกคนสวมใส่ชุดประจำถิ่น รวมถึงตัวฉันเองก็เช่นกัน


            

สมหมาย ทรัพย์รังสิกุล ผู้อาวุโสแห่งหมู่บ้านหม่องกั๊วะ เป็นเหมือนผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน ใบหน้าเต็มด้วยริ้วรอยตามอายุที่ก้าวเข้าวัย 69 ปี ทว่าดวงตายังคงแจ่มชัดฉายแววรอบรู้ เขาสวมเสื้อผ้าทอกับโสร่งสีดำแดงลายขวาง มัดผมจุกไว้ด้านหน้าและโพกผ้าเหนือศีรษะ หนวดเคราครึ้มขาวเหมาะกับคำว่าผู้เฒ่า เขาขยับมือล้วงยาสูบจากย่ามผ้าทอใบเก่ง หยิบใบยาสูบขึ้นม้วนและจุดไฟขึ้นสูบควันลอยเอื่อย ก่อนจุดและยื่นอีกมวนมาให้ฉันขณะบอกเล่าเรื่องราวของประเพณีอันเก่าแก่

“ต้าโป้ป่อหรือปริศนาคำทายเป็นประเพณีดั้งเดิมทั่วไปของชาวปกาเกอะญอ กระทั่งความเจริญคืบคลานเข้ามาประเพณีวัฒนธรรมเหล่านี้ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา” ฉันยิ้มรับฟังภาษาไทยสำเนียงแปร่งๆ ปนภาษาปกาเกอะญอพร้อมยื่นมือออกไปรับยาสูบด้วยความนอบน้อม “ในพื้นที่เราจะจัดขึ้นทุกปี แม้เดิมจะเป็นงานเล็กๆ แต่เราก็ยังไม่เคยลืมประเพณีดั้งเดิมที่มักจะจัดขึ้น 3 วัน 3 คืน โดยมีเงื่อนไขว่าหากข้าวไม่ตั้งท้องก็ไม่สามารถจัดประเพณีนี้ขึ้นมาได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนหากเราไม่มีเล่นคำทำนายปริศนานานถึง 3 ปี ข้าวที่เราปลูกก็ไม่สามารถเก็บเกี่ยวไว้กินได้ ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าการเล่นต้าโป้ป่อจะทำให้ได้รวงข้าวสวยงามและให้ผลผลิตที่ดี”

ประเพณีนี้จะจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนของทุกปีในช่วงข้าวเริ่มตั้งท้อง กิจกรรมภายในงานเป็นการเล่านิทาน การละเล่นแอซีน่อ ขับร้อง เล่นดนตรีเตหน่า และผู้อาวุโสจะตั้งปริศนาให้เยาวชนแต่ละกลุ่มช่วยกันทาย 50 คำถาม โดยจะมีรางวัลให้แก่หมู่บ้านผู้ชนะ เช่น หมู ไก่ และขนม เป็นต้น คำถามล้วนเป็นปริศนาให้เยาวชนได้ขบคิดเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต การอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ

และงานหัตถกรรมการทอผ้าและย้อมผ้าก็เป็นอีกหนึ่งในวิถีชีวิตที่สำคัญของปกาเกอะญอ


            

“คุเนอะเล แฮเก่แฮเก่ กะลอโจ่เกโจ่เนอะมึเอ…”  (คุเนอะเลเนอะมึเอถูกงูจับไป…)

เสียงนกเขาร้องเป็นท่วงทำนองเพลงซ้ำไปซ้ำมาขณะบินไปเมืองต่างๆ มันถือกำเนิดขึ้นมาจากการปลุกเสกม้วนด้ายผ้าทอเพื่อให้ไปตามชายหนุ่มชื่อคุเนอะเลที่ไปทำงานห่างไกลบ้านเกิด และแจ้งข่าวเรื่องมึเอ แฟนสาวของเขาซึ่งถูกงูยักษ์ลักพาตัวไป

ปกาเกอะญอสืบทอดประวัติศาสตร์ คำสอน เรื่องราวนับร้อยพันเรียงร้อยเก็บไว้ผ่านนิทานและบทเพลง ขับขานต่อกันมารุ่นสู่รุ่น รวมไปถึงที่มาของลวดลายผ้าทอดั้งเดิมที่พวกเขาบอกเล่าผ่านนิทาน “ลายหนังงูใหญ่”

มาลัย นทีฤทธิรงค์ หัวหน้ากลุ่มสตรีบ้านมะโอโคะ อายุ 57 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้า มีความสนใจและประสบการณ์ทอผ้ามาอย่างยาวนานถึง 50 ปี เธอสวมเสื้อเชิ้ตสบายๆ อยู่กับบ้าน คู่กับผ้าถุงสีสดใสที่ทอด้วยฝีมือการกี่เอวโดยมีลวดลายดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอเป็นลายน้ำไหล เธอมีนิทานและบทเพลงมากมายเกี่ยวกับผ้าทอมาเล่าสู่กันฟัง

นิทานเรื่องมึเอเป็นเรื่องราวของนางเอกชื่อมึเอซึ่งถูกงูเหลือมขนาดใหญ่ที่ตกหลุมรักเธอแล้วใช้กลอุบายลักพาตัวไปขังไว้ในถ้ำ โดยมีพระเอกชื่อคุเนอะเล แฟนหนุ่มที่ทราบข่าวการหายไปของเธอคอยตามหา แต่เดิมมึเอชื่นชอบการทอผ้า ระหว่างที่อยู่ในถ้ำงูจึงเปลี่ยนลายเกล็ดของตัวเองทุกวันให้หญิงสาวได้ทอผ้าตามลวดลายเหล่านั้น เรื่องราวจบลงด้วยความเศร้า คุเนอะเลเสียชีวิตจากการเสียเลือดมากเกินไป มึเอนำผ้าที่ทอระหว่างติดอยู่ในถ้ำออกมาพร้อมกันกับเธอ ระหว่างพิธีกรรมร่างแฟนหนุ่มถูกเผา หญิงสาวกระโดดลงไปในกองเพลิง ดับชีพตามคนรัก เหลือไว้เพียงผ้าทอที่มีลวดลายสวยงาม ชาวบ้านนำลายผ้าทอเหล่านั้นมาถักทอต่อๆ กันมา

จากนิทานตำนานการก่อเกิดลายผ้าทอลวดลายต่างๆ บรรพบุรุษเล่าต่อกันมาจากรุ่นต่อรุ่นควบคู่ไปกับการทอผ้าลายดั้งเดิม อาทิ ลายมัดหมี่ ลายดวงตา ลายงูเหลือม การปักลูกเดือย เป็นต้น


            

ภูมิปัญญาการทอผ้าด้วยกรรมวิธีการกี่เอวของชาวปกาเกอะญอสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น จากแม่สู่ลูก เป็นระยะเวลาหลายร้อยปีแล้ว พิถีพิถันตั้งแต่กระบวนการปลูกฝ้าย เก็บเกี่ยว ย้อมสี ม้วนและปั่นด้ายก่อนเข้าสู่กรรมวิธีการทอผ้าแบบกี่เอวที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

การทอผ้าเป็นงานสำคัญสำหรับผู้หญิงชาวปกาเกอะญอเพราะนั่นหมายถึงเสื้อผ้าที่ต้องสวมใส่ในชีวิตประจำวันของพวกเธอและครอบครัว การทอผ้าจึงเป็นการผลิตเครื่องนุ่งห่มหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ถือว่ามีความสำคัญ เพราะยุคสมัยที่ผ่านมาพวกเขาไม่สามารถหาเสื้อผ้าได้ตามท้องตลาดดังเช่นปัจจุบันนี้ ยามว่างหลังการทำงานหลักอย่างการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น สุกร โค กระบือ ผู้หญิงก็จะใช้เวลาว่างทอผ้าเป็นของตัวเอง ดังนั้นนอกจากความขยันแล้วต้องมีใจรักการทอผ้าอีกด้วย

ผ้าทอจึงมีความผูกพันตลอดช่วงชีวิตชาวปกาเกอะญอเริ่มตั้งแต่การเป็นทารกจนถึงเวลาสุดท้ายของชีวิต

“ตามประเพณีดั้งเดิมเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 3 วัน เราจะไม่ให้ใส่เสื้อผ้า เมื่อเลย 3 วันไปแล้วจะทำการมัดข้อมือและเย็บเสื้อผ้าให้ เมื่อเด็กใส่เสื้อผืนแรกจะนำก้อนหินสอดเข้าไปใส่เสื้อและนำออกมา เป็นความเชื่อว่าเด็กจะอายุยืนและแข็งแรงเหมือนดั่งก้อนหิน” หัวหน้ากลุ่มสตรีบ้านมะโอโคะกล่าว

การทอผ้าผืนแรกเพื่อรับขวัญลูก ระหว่างที่ขึ้นด้ายวนด้านหากระหว่างนั้นมีคนเสียชีวิตในหมู่บ้านผ้าผืนนั้นต้องทิ้งและเริ่มทอใหม่ โดยภายใน 1 วันต้องทอให้เสร็จ สำหรับชุดผู้ชายที่เรียกว่าเชโปล้ที่เป็นสีแดงเป็นการย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ประดู่หรือยางของต้นไม้ที่มีสีแดง ส่วนชุดผู้หญิงที่เรียกว่าเชวา สีขาว

เมื่อลูกสาวเข้าสู่ช่วง 5-7 ขวบ คนเป็นแม่จะเริ่มสอนให้ลูกหัดทอผ้าจากของชิ้นเล็กๆ เช่นถุงย่ามที่ยังไม่มีลวดลาย

พอย่างเข้าวัยสาวก็สามารถทอผ้าใส่เองได้แล้ว ความน่ารักของสาวปกาเกอะญอเมื่อปลื้มหนุ่มคือจะทอผ้าเป็นย่ามหรือเสื้อมอบให้ชายหนุ่ม ส่วนผู้ชายก็สานหมวกให้ผู้หญิง

เมื่อแต่งงานผู้หญิงต้องเปลี่ยนจากชุดเชวาที่เดิมเป็นสีขาวไปใส่ชุดเชโม้ซูที่เป็นชุดสองท่อน เสื้อจะเป็นสีดำแดงถักทอด้วยลวดลายต่างๆ สวมผ้าถุงที่มีลายน้ำไหล มีความเชื่อว่าหากสวมผ้าถุงที่มีลายน้ำไหลในพิธีแต่งงานชีวิตคู่จะราบรื่นและยืนยาว หนึ่งร้อยคนจะมีเพียงคนเดียวที่เลิกกัน

ซึ่งเงื่อนไขของผู้ที่จะทอผ้าที่มีลายน้ำไหลนั้นมีจำนวนมาก หัวหน้ากลุ่มสตรีบ้านมะโอโคะกล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะทอผ้าลายน้ำไหลนั้นต้องไม่เป็นประจำเดือน คนในครอบครัวต้องไม่มีคนเสียชีวิต หากคนทอมีการขึ้นบ้านใหม่ก็ไม่สามารถทอได้ วัสดุทั้งหมดต้องมาจากธรรมชาติทุกอย่าง อีกทั้งกระบวนการย้อมสีเพื่อนำมาย้อมผ้าทอต้องทำในป่าและทิ้งไว้ในป่าหนึ่งคืนจึงจะนำออกมาทอผ้าที่บ้านได้

พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวปกาเกอะญอเสริมว่า “ในสมัยก่อนหากผู้หญิงที่แต่งงานแล้วสวมชุดเชวาเข้าป่าเสือจะกัด เธอตีความความหมายในเชิงเปรียบเทียบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำผิดจารีตประเพณี”

ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตเมื่อชาวปกาเกอะญอเสียชีวิต ในพิธีศพครอบครัวและเพื่อนสนิทจะนำผ้าทอในหีบของผู้เสียชีวิตทั้งหมดมาแขวนไว้ในงานศพ ตามความเชื่อว่าผ้าทอของผู้ตายเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรให้ร่มเงาแก่ผู้เสียชีวิต และคนในหมู่บ้านจะช่วยกันร้องเพลงเพื่อส่งผู้เสียชีวิตไปสู่ภพภูมิที่ดี

มุมมองของมาลัยมองว่า วิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอนั้นมีลักษณะเดียวกันกับหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับการทอผ้าเป็นการลดรายจ่ายอย่างหนึ่ง การทอผ้าไว้ใช้เองไม่จำเป็นต้องไปซื้อเสื้อผ้าจากที่อื่น ผ้าทอที่เหลือสามารถนำไปขายมีรายได้เสริม ช่วยลดการพึ่งพิงป่าได้ในระดับหนึ่ง และเธอกลัวว่าการทอผ้าจะสูญหายไป จึงพยายามสอนคนรุ่นใหม่ให้ทอผ้าเป็นเพื่อสืบทอดวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมไม่ให้สูญหายไป

ในความรู้สึกของผู้เป็นแม่ น่อบือ ทรัพย์รังสิกุล สมาชิกกลุ่มผ้าทอ ให้ความเห็นว่า “การส่งลูกเรียนอย่างเดียวมันไม่ได้ มีลูกก็ต้องสอนลูกให้ลูกสืบทอดภูมิปัญญาความรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมที่แม่มีให้ลูกได้เรียนรู้ต่อไป ไม่ใช่ว่าลูกสามารถเรียนหนังสือมีความรู้จากโรงเรียนเท่านั้น แต่วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอเองก็ต้องไม่ถูกลืมด้วย”

เธอยังยกตัวอย่างอีกว่า “หากเราเข้าไปในเมืองแล้วมีคนถามว่าเราเป็นใครมาจากไหน เมื่อเราตอบว่าเราเป็นกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ แล้วคนไทยถามว่าแล้วเราทำอะไรเป็นบ้าง มีวิถีวัฒนธรรมอะไรบ้าง หากเราทำไม่เป็นเราจะไม่สามารถตอบได้ ฉะนั้นเราจึงต้องเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม ฟื้นฟูและสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราที่มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย การสืบทอดรุ่นต่อรุ่นไม่ให้สูญหายไป ซึ่งปัจจุบันนี้คนทอผ้าไม่เป็นมีอยู่จำนวนมาก”

การสืบสานวิถีวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวปกาเกอะญอนอกจากจะบอกเล่าผ่านบทเพลงหรือนิทานปรัมปราแล้ว กรรมวิธีการทอผ้าเองก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่แม่พยายามถ่ายทอดวิชาให้แก่ลูกๆ เพื่อรักษามรดกซึ่งตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นไม่ให้สูญหายไป ไม่ต่างจากต้นไม้ใหญ่ที่พยายามวิวัฒนาการให้ลูกไม้มีปีก มีขนหนาม หรือผลสีสดใสเหมาะแก่การกระจายเมล็ดพันธุ์เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ความเป็นตัวของตัวเองไว้ไม่ให้สูญพันธุ์

ลูกไม้ของปกาเกอะญอจะนำพาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาติพันธุ์ตัวเองไปได้ไกลสักเพียงใดไม่มีใครสามารถตอบแทนได้ นอกเสียจากความตั้งใจของกลุ่มเยาวชนปกาเกอะญอในแต่ละยุคสมัยที่จะเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นและตั้งมั่นในความตั้งใจที่จะเรียนรู้เพื่อสานต่อวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ให้ตนเองกลายเป็นกล้าไม้ใหญ่ยืนต้นและแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาแก่ลูกหลานรุ่นต่อไป


ที่มา นิตยสาร สารคดี
ปกาเกอะญอต้าโป้ป่อและผ้าทอกี่เอว
เรื่อง : พัชริดา พงษปภัสร์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.608 วินาที กับ 30 คำสั่ง

Google visited last this page 09 พฤศจิกายน 2567 08:52:24